โอวาทปาฏิโมกข์
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2524 เวลา 19:00 น. ความยาว 62.14 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระและฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๔

โอวาทปาฏิโมกข์

วันนี้เป็นวันที่เราทั้งหลายระลึกถึงธรรมดวงประเสริฐ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐ พระธรรมเป็นธรรมที่ประเสริฐ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าที่พร้อมกันมาสันนิบาตในสำนักของพระพุทธเจ้าซึ่งคล้ายวันนี้นั้นจำนวน ๑,๒๕๐ องค์ ล้วนแต่เป็นองค์ประเสริฐทั้งสิ้น หาที่ต้องติไม่ได้ ใจของเราได้ทุ่มเทลงไปในธรรมชาติที่ประเสริฐวันนี้ นับว่าเป็นสิริมงคลแก่จิตใจของเราอย่างยิ่ง เพราะชุ่มชื่นด้วยพระธรรมดวงเลิศ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

การทำประทักษิณสามรอบนั้น คือการทำความเคารพต่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มีองค์พระประธานเป็นสักขีพยานว่า คือองค์แทนศาสดา ในครั้งพุทธกาลท่านถือการเดินทำประทักษิณ คือเดินเวียนขวาสามรอบเป็นการเคารพ ถือการยืนเป็นการเคารพ เพราะฉะนั้นเวลาพระยืนอยู่ แต่พวกญาติโยมนั่งอยู่ จึงห้ามแสดงธรรม ถ้ายืนต้องยืนด้วยกัน นั่งต้องนั่งด้วยกัน เพราะฉะนั้นการทำประทักษิณสามรอบซึ่งบางท่านอาจจะไม่เข้าใจ นั่นคือแสดงกิริยาความเคารพด้วยการทำประทักษิณ นี่คือความเคารพ เป็นอาการแห่งความเคารพอาการหนึ่งซึ่งแสดงในวันเช่นนี้ เพื่อท่านทั้งหลายได้ทราบเอาไว้

พระที่เราทั้งหลายระลึกถึงท่านนี้ เป็นพระที่ประเสริฐ ประเสริฐกว่าทุกสิ่งทุกอย่างในสามโลกธาตุนี้ ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน ผู้ที่ก้าวเข้าถึงธรรมอันประเสริฐ จึงเรียกว่าเป็นผู้ประเสริฐ จิตใจเข้าถึงธรรมอันประเสริฐได้โดยสมบูรณ์ ธรรมอันประเสริฐนั้นย่อมปรากฏที่ดวงใจ ใจกับธรรมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะฉะนั้น เวลาท่านปรินิพพานแล้ว จึงไม่อาจจะพูดได้ว่าจิตของท่านบริสุทธิ์หรือพูดได้ว่าจิต เพราะผ่านจากสมมุติไปแล้ว

สมมุติคือธาตุขันธ์ ได้แก่สกลกาย เมื่อมีสกลกายอันเป็นสมมุติที่อาศัยกันอยู่กับจิตที่เป็นวิมุตติหลุดพ้นไปแล้วนั้น จึงเรียกว่าจิตบริสุทธิ์ เรียกท่านว่าเป็นพระอรหันต์ พอผ่านจากขันธ์นี้ไปแล้ว ไม่มีสมมุติใดๆ เข้าเจือปนกับจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นเป็นธรรมทั้งแท่ง เป็นธรรมทั้งดวง จึงไม่เรียกว่าจิตอีก และคำว่าปรินิพพานนั้นก็หมายถึงเรื่องสมมุติได้ดับสนิทไปหมดแล้วไม่มีชิ้นเหลือ ไม่เหมือนท่านที่ยังครองขันธ์อยู่ทั้งที่จิตบริสุทธิ์ แต่ก่อนดับเฉพาะกิเลสภายในใจ พอธาตุขันธ์สลายลงไปสู่สภาพเดิมของตนแล้ว นั้นเรียกว่าปรินิพพานคือดับหมด กิเลสก็เป็นอันว่าดับไปแล้วตั้งแต่ขณะตรัสรู้และขณะบรรลุธรรม ถึงขั้นสุดยอดแห่งธรรมแล้ว วาระสุดท้ายขันธ์ก็สลายไป หมดความรับผิดชอบกันเพียงเท่านั้น

สภาพของขันธ์ก็มีธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ชัด สลายตัวลงไปสู่สภาพเดิมของตน จิตที่บริสุทธิ์ผ่านออกไปแล้วจึงไม่เรียกว่าจิตได้อีก ธรรมชาติที่เรียกไม่ได้นี้แลที่เราทั้งหลายได้กราบระลึกอยู่ทุกวันว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ คือ ธรรมชาตินี้ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ นี้พูดตามอาการจึงมีสามรัตนะ เมื่อเข้าถึงความบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ที่เป็นอาการ รวมเข้าสู่ธรรมดวงเดียว

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อโลกสมมุติยังมีอยู่ ธาตุขันธ์ของเรายังมีอยู่ ต้องระลึกถึงทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ สิ่งที่ระลึกนั้นแลเป็นธรรมชาติที่ประเสริฐ มีอยู่ตลอดกาลเวลาไม่ได้สูญสิ้นไปไหน แต่มิได้มีอยู่แบบสมมุติทั้งหลาย และมิได้สูญแบบสมมุติทั้งหลาย แต่ทรงอยู่แบบนอกสมมุติ คือ แบบวิมุตติล้วนๆ สมมุติเอื้อมไม่ถึง

วันที่ท่านประทานพระโอวาทปาฏิโมกข์นั้นเรียกว่า วิสุทธิอุโบสถ คือ ประทานพระโอวาทแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ล้วนๆ จึงเรียกว่าวิสุทธิอุโบสถ แสดงแก่ท่านผู้บริสุทธิ์ล้วนๆ ในเนื้อความแห่งพระโอวาทที่แสดงนั้น ท่านแสดงไว้ว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำความชั่วทั้งปวงหนึ่ง กุสลสฺสูปสมฺปทา การยังความฉลาดให้ถึงพร้อมหนึ่ง สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ผ่องใสจนกระทั่งถึงความบริสุทธิ์หนึ่ง เอตํ พุทฺธาน สาสนํ นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งสอนเป็นแบบเดียวกันอย่างนี้

จากนั้นท่านก็บรรยายขยายความออกไปว่า อนูปวาโท อย่าไปกล่าวร้ายคนอื่น อนูปฆาโต อย่าทำความเบียดเบียนและทำลายผู้อื่น ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร ให้สำรวมอยู่ในหลักพระวินัยอย่างเรียบร้อยสวยงามในเพศของพระ มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ความรู้จักประมาณในการขบการฉัน   การใช้สอยในทุกสิ่งทุกอย่าง  ไม่ให้ลืมเนื้อลืมตัว  ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ให้มีที่นั่งที่นอนที่พักผ่อนเพื่อการบำเพ็ญสมณธรรม เป็นที่สงบสงัดงบเงียบ อธิจิตฺเต จ อาโยโค การทำจิตของตนให้ยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ จนกระทั่งสุดขีดแห่งความยิ่ง ถึงขั้นแห่งความประเสริฐของจิต  เอตํ พุทฺธาน สาสนนฺติ นี่ก็เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ๆ เช่นเดียวกันและสอนแบบเดียวกัน

ปัจจัยทั้งสี่เป็นเครื่องอาศัย เป็นเครื่องสนับสนุนสำหรับนักบวชผู้มาบวชในศาสนา ขันธ์ห้านี้เป็นเหมือนโลกทั่วๆ ไป เวลาออกมาบวชแล้วก็ต้องมีที่อยู่ที่พักที่อาศัย มีเครื่องนุ่งห่มใช้สอยเป็นธรรมดาเช่นเดียวกับโลก เป็นแต่ปัจจัยเครื่องอาศัยต่างกัน เกี่ยวกับเพศของนักบวชผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมวินัยเท่านั้น ส่วนใหญ่เหมือนกัน เช่น จีวร ก็หมายถึง ผ้านุ่ง ผ้าห่ม สบง สังฆาฏิ ถ้าเป็นฆราวาสก็เรียกว่าเครื่องนุ่งห่ม เป็นพระก็เรียกว่าเครื่องนุ่งห่มเหมือนกัน แต่แยกไปเป็นจีวร เป็นสบง เป็นสังฆาฏิหรือเป็นบริขารเครื่องอาศัยเป็นอยู่ใช้สอย

สรุปความแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยของสมณะ เพื่อบำเพ็ญหรือเพื่ออยู่ด้วยความสะดวกสบาย และเพื่อบำเพ็ญตนด้วยความราบรื่นในธรรมวินัย ไม่ขัดข้องกับสิ่งเหล่านี้ว่าไม่มี

บิณฑบาต ได้แก่ การขบการฉัน มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ให้รู้จักประมาณในการบริโภคขบฉัน นี่อยู่ในโอวาทปาฏิโมกข์ ที่ท่านแสดงเป็นวิสุทธิอุโบสถแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ วันนี้ได้ยกธรรมเหล่านี้มาแสดงให้ท่านทั้งหลายซึ่งเป็นนักบวชฟัง ตลอดถึงประชาชนซึ่งจะต้องเป็นผู้มีขอบมีเขตมีความพอดิบพอดีเช่นเดียวกัน ต่างกันแต่เพียงสูงต่ำหยาบละเอียดเท่านั้น นอกนั้นเหมือนๆ กัน

การนุ่งห่มใช้สอยก็ไม่ฟุ่มเฟือยจนกลายเป็นความฟุ้งเฟ้อ โก้เก๋ เกินเหตุเกินผล เกินเนื้อเกินตัวเกินความพอดีที่ควรจะเป็นสุข เพราะสิ่งเหล่านี้เมื่อไม่รู้ประมาณย่อมทำลายตัวเองได้ ทำไมถึงว่ามาทำลายตัวเอง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างต้องหามาด้วยทรัพย์สมบัติเงินทอง ไม่ใช่จะเกิดมีขึ้นมาเฉยๆ ลอยๆ ตามความต้องการ ต้องได้แลกเปลี่ยนกันมา เช่นเอาเงินไปซื้อเป็นต้น การนุ่งห่มใช้สอยให้พอเหมาะพอสมกับตนความสุขก็มีขึ้น

ถ้าเลยจากความพอดีแล้วไม่ว่าอะไรเป็นความยุ่งเหยิงวุ่นวาย นำความทุกข์มาให้ทั้งนั้น การขบการฉันการรับประทาน โภชเน มตฺตญฺญุตา ก็ให้รู้จักประมาณในการบริโภคการขบฉัน ถ้าการรับประทานเลยเหตุเลยผลเลยความพอดีไปแล้ว ก็ทำความสิ้นเปลืองและทำความเสียหายแก่ตัวเอง และกลายเป็นนิสัยได้ อะไรก็ตามถ้ากลายเป็นนิสัยแล้วย่อมจะแก้ไขได้ยาก ท่านจึงสอนให้รู้จักประมาณในทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตน จะมีส่วนได้ส่วนเสียด้วย

เฉพาะอย่างยิ่งพระเรา มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ นี้ท่านแสดงไว้หลายบทหลายบาทหลายสูตรหลายคัมภีร์ทีเดียว พระพุทธเจ้าทรงย้ำแล้วย้ำเล่ากลัวพระจะลืมตัว กลัวว่าลิ้นจะแซงธรรม ปากท้องจะแซงอรรถแซงธรรมไปเสีย ไปที่ไหนก็มีแต่ลิ้นแต่ปากแต่ท้องออกหน้าออกตา แซงหน้าธรรมไปเสีย ธรรมเลยโผล่ขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะความเห็นแก่ลิ้นแก่ปากแก่ท้องเหนือความเห็นแก่อรรถแก่ธรรม ท่านจึงสอนไว้อย่างนั้น ธรรมเหล่านี้ไม่ใช่เป็นธรรมเล็กน้อย เป็นธรรมสำคัญมาก

การปฏิบัติต้องได้สังเกตสอดรู้ตนอยู่เสมอ ผู้ต้องการความเจริญรุ่งเรืองด้วยธรรม ไม่ต้องการความเจริญด้วยปัจจัยสี่อันเป็นด้านวัตถุ พระพุทธเจ้าไม่ทรงสอนให้เสาะแสวงหาสิ่งเหล่านี้เลยขอบเขตแห่งความดีงามของสมณะ และไม่ให้ใช้สอยและขบฉันให้เลยขอบเขตแห่งความพอดีของสมณะ เพราะจะเป็นการทำลายอรรถธรรมซึ่งควรจะเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วให้เสื่อมสูญอันตรธานไป เพราะสิ่งเหล่านี้เหยียบย่ำทำลาย ท่านจึงสอนแล้วสอนเล่าอยู่เสมอหลายบทหลายบาทหลายสูตรหลายคัมภีร์ เพื่อผู้ศึกษาอบรมจะได้สะดุดใจ เห็นโทษในสิ่งที่ทรงตำหนิแล้วระมัดระวังตัว

เสนาสนะ คือที่อยู่ที่อาศัย ท่านว่า ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ที่นอนที่นั่งอันสงบสงัดนั่น ฟังซิ ที่ไหนเป็นที่สงัด ตั้งแต่วันบวชมาทีแรกพระพุทธเจ้าก็ได้ประทานพระโอวาทไว้แล้วเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย จนมาถึงอุปัชฌายะทุกวันนี้ บวชกุลบุตรสุดท้ายภายหลังก็จะต้องบอกนิสสัย ๔ นี้ให้ เว้นไม่ได้ อุปัชฌายะองค์ใดเว้น เป็นต้องปลดออกจากความเป็นอุปัชฌายะทันที เพราะทำให้ขาดสิ่งสำคัญและจำเป็นแก่ความเป็นพระและหน้าที่ของพระไป

รุกฺขมูลเสนาสนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา. ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย. บรรพชาอุปสมบทแล้วให้ท่านทั้งหลายไปเที่ยวเสาะแสวงหาอยู่ตามร่มไม้ ชายป่า ชายเขา ตามถ้ำ เงื้อมผา ป่ารกชัฏอันเป็นสถานที่สงบสงัด สะดวกแก่การบำเพ็ญสมณธรรม เพราะปราศจากสิ่งพลุกพล่านรบกวนต่างๆ จงพยายามทำอย่างนี้ตลอดชีวิตเถิด นี่คือโอวาทสำคัญที่อุปัชฌายะทุกๆ องค์บวชกุลบุตรสุดท้ายภายหลังเสร็จแล้ว ต้องได้ให้โอวาทข้อนี้ และงานของพระที่จะเป็นไปเพื่อความวิเศษศักดิ์สิทธิ์ภายในจิตใจของตนคืออะไร ก็คือกรรมฐาน ๕ เป็นพื้นฐานไปก่อน

เวลานั้นเป็นระยะที่สั้นมาก ท่านจึงสอนมอบงานให้เพียงสั้นๆ ว่า เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ เพียงเท่านี้ก่อน นี่หมายถึงอะไร หมายถึง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้เอานี้ไปพิจารณาคลี่คลายดูตามหลักความจริงของมัน ในสถานที่สงัดงบเงียบอันเป็นความสะดวกแก่การพิจารณาคลี่คลายงานเหล่านี้ให้รู้แจ้งแทงทะลุ ตลอดถึงอาการ ๓๒ ภายในร่างกายของตนทั้งข้างนอกข้างใน อชฺฌตฺตา วา พหิทฺธา วา เทียบกันได้ทุกสัดทุกส่วน ด้วยความเป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ด้วยความเป็นของปฏิกูลโสโครกเต็มไปหมดในร่างกายของสัตว์ของบุคคล แต่ละสัตว์แต่ละบุคคลไม่มีใครยิ่งหย่อนกว่าใคร เต็มไปด้วยสิ่งเหล่านี้ด้วยกัน นี่แหละคืองานที่ท่านให้ทำให้พิจารณา ท่านสอนเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริง ปัญญาแทงทะลุแล้วปล่อยวางอุปาทาน

ที่สอนให้พิจารณาคลี่คลายร่างกายมี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ก็เพื่อชะล้างของปลอมที่แทรกอยู่ในกายนั้นออก เพื่อความจริงคือธรรมจะได้ปรากฏ กิเลสคือของปลอม ของเทียม เมื่อแทรกจิตจึงทำให้จิตปลอมไปด้วยกิเลส ไม่อาจทรงความจริงไว้ได้ จึงถูกหลอกมาตลอด ถูกฉุดลากมาเป็นประจำ พาเที่ยวปักปันเขตแดนเอาไว้หมด ว่าสิ่งนั้นสวยสิ่งนี้งาม สิ่งนี้เป็นนิจฺจํ ของเที่ยง สิ่งนี้เป็นสุขํ คือความสุข สิ่งนี้เป็นอตฺตา เป็นเราเป็นของเรา แม้กำลังจะเป็นจะตายอยู่ มันก็ว่าเป็นเราเป็นของเรา นี่คือเรื่องของกิเลสต้องขัดขวางธรรมอยู่อย่างนี้

ที่ท่านให้พิจารณาตามความจริงนั้น คือความจริงเป็นอย่างไรท่านก็สอนให้รู้ให้เห็นอย่างนั้น เช่น อนิจฺจํ เป็นของไม่เที่ยง ร่างกายเราทุกส่วนหาความเที่ยงแท้ถาวรไม่ได้ มีแต่ความแปรสภาพอยู่ตลอดเวลาทุกอาการ จนถึงวาระสุดท้ายสลายลงไปสู่ความจริงของตน ทุกฺขํ ก็เคยได้ยินแต่ทุกข์ขังเรา เราไม่เคยได้ขังทุกข์เอาไว้พอให้สบายขยายอำนาจบังคับบัญชากิเลสบ้าง ทั้งนี้เพราะเราไม่ทราบความจริง พอทราบความจริงแล้วทุกข์จะมาขังเราไม่ได้ ดังพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย ไม่มีทุกข์ตัวใดที่จะไปขังจิตขังใจของท่านให้เป็นนักโทษเหมือนอย่างแต่ก่อนเลย ท่านอยู่เหนือทุกข์ทั้งมวล

ดังที่ท่านอาจารย์มั่นเคยพูดให้ฟังและได้เขียนไว้ในประวัติของท่านว่า พระอรหันต์บางองค์ท่านยืนนิพพาน บางองค์ท่านนั่งนิพพาน บางองค์ท่านเดินนิพพาน บางองค์ท่านนอนนิพพาน ทำไมท่านจึงทำผิดแปลกจากมนุษย์ทั่วๆ ไปในโลกนี้เล่า ก็เพราะความรู้ความเห็นความสัตย์ความจริงที่มีอยู่ในใจของท่าน ไม่ได้เหมือนกับโลกทั่วๆ ไป ธรรมนั้นเป็นสมบัติของท่านโดยเฉพาะไม่เกี่ยวกับโลก ท่านจึงไม่ทำเหมือนโลก และโลกก็ทำเหมือนท่านไม่ได้ การที่จะขัดแย้งท่านว่า ท่านทำไม่ได้ ท่านเป็นอย่างนั้นไม่ได้ จึงเป็นโมฆะทั้งสิ้น หาความจริงไม่ได้ เพราะผู้นั้นไม่มีความจริงเหมือนท่าน จะให้ท่านมาเป็นอย่างตัวเองได้อย่างไร ท่านเป็นท่านเต็มตัว เราก็เป็นเราแบบนี้อย่างเต็มยศ (ของปุถุชน ผู้ชอบชนดะ)

ทุกขเวทนาในขันธ์ก็สักแต่ว่าสมมุติอันหนึ่งๆ เท่านั้น เช่น รูปํ คือกองรูป นี่ก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง เวทนาสุข ทุกข์ เฉยๆ นี่ก็เป็นอาการอันหนึ่งๆ ของขันธ์แต่ละอย่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสมมุติทั้งมวล แต่จิตของท่านหลุดพ้นแล้วจากสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ จิตจึงเหนือสิ่งเหล่านี้ ทุกข์ภายในร่างกายวาระสุดท้ายจะหนักมากขนาดไหน ก็ไม่สามารถทำใจของท่านให้กระทบกระเทือน ให้หวั่นให้ไหวเอนเอียงไปได้เลย ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสามารถปรินิพพานตามอัธยาศัย ในท่าที่ตนถนัดในวาระสุดท้าย ได้ตามความสะดวกและอัธยาศัย โดยไม่มีเวทนาตัวใดที่จะสามารถเข้าไปเหยียบย่ำทำลายจิตใจของท่าน ให้เอนเอียงไปได้เหมือนอย่างสามัญชนทั่วๆ ไปเลย ด้วยเหตุนี้ท่านจึงปรินิพพานได้ในท่าต่างๆ ตามอัธยาศัยของท่าน เช่น ยืนนิพพานบ้าง เดินนิพพานบ้าง นั่งนิพพานบ้าง นอนนิพพานบ้าง ด้วยความเป็นอิสรเสรีภายในใจ เพราะท่านไม่มีเวทนาทางใจ

คำว่าเวทนานี้หมายถึงเวทนาภายในจิต เวทนาในร่างกายนั้นมี ท่านรับทราบเพราะท่านรู้ จะไม่รับทราบอย่างไร แม้แต่เรามีกิเลสอยู่ภายในจิตใจเรายังรู้ เจ็บตรงไหนในส่วนร่างกาย เจ็บท้อง ปวดศีรษะ เรายังทราบ ทำไมท่านจะไม่ทราบ แต่ความทราบของเรากับความทราบของท่านมันต่างกัน ความทราบของเราทราบไปตามยถากรรมของคนมีกิเลส ไม่ได้หยั่งทราบด้วยความรู้จริงเห็นจริงเหมือนพระขีณาสพท่าน จึงต้องยึดต้องถือ จึงต้องเกิดความทุกข์ทรมานภายในจิตใจไม่มีประมาณ เวลาร่างกายไม่สมประกอบหรือมีความทุกข์ความลำบากขึ้นในอวัยวะส่วนใด ใจเลยกลายเป็นโรคกังวล โรควุ่นวาย โรคเสียอกเสียใจขึ้นมาด้วย

แต่พระขีณาสพท่านไม่มี เพียงแต่รับทราบทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นภายในขันธ์เท่านั้น ขันธ์ก็เป็นขันธ์ จิตเป็นจิต เวทนาจะไปแทรกจิตท่านได้อย่างไร เมื่อต่างอันต่างจริงแล้วไม่กระทบกัน ขันธ์แสดงตัวจนวาระสุดท้าย คือ ทุกขเวทนาแสดงตัวก็แสดงตัวอยู่ในวงขันธ์โดยเฉพาะ ไม่สามารถไปแสดงตัวในวงจิตของท่านได้ นี่แหละระหว่างพระอรหันต์กับเราต่างกันมากราวฟ้ากับดินหินกับเพชรนั่นแล

พระอรหันต์ท่านไม่มีเวทนาทางใจ เวทนามีอยู่เฉพาะภายในขันธ์นี้เท่านั้น ไม่มีอยู่ภายในจิตของพระอรหันต์ เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านจะไม่ปรินิพพานในท่าต่างๆ ได้ตามความต้องการของท่าน หรือตามอัธยาศัยของท่านได้อย่างไร ท่านต้องเป็นท่านโดยสมบูรณ์ตลอดไป ไม่มีสมมุติใดๆ อาจเอื้อมลบล้างความจริงของท่านได้ตลอดอนันตกาล ความจริงเป็นอย่างนี้ เราจึงยอมในคำพูดของท่านอาจารย์มั่นที่ว่า พระอรหันต์นิพพานในท่าต่างๆ กัน อย่างหมอบราบตามประสาคนโง่ ใครๆ อย่าเอาอย่าง จะกลายเป็นคนโง่ พระโง่ไปหลายคนหลายองค์

คำว่าเวทนานี่เป็นสมมุติ จะเป็นสุขเวทนาก็ตาม ทุกขเวทนาก็ตาม อุเบกขาเวทนาก็ตาม จะมีได้ภายในร่างกาย เกิดขึ้นภายในกาย สุขเกิดขึ้นภายในกาย ทุกข์เกิดขึ้นภายในกาย เฉยๆ เกิดขึ้นภายในกายนี้เท่านั้น ไม่สามารถจะไปเกิดภายในจิตของพระอรหันต์ได้เลย เพราะจิตนั้นเป็นวิสุทธิจิต เป็นวิมุตติจิตที่พ้นจากสมมุติแล้ว ท่านจึงไม่มีเวทนาใดที่จะให้เสวย

ตามหลักความจริง เวทนาทั้งปวงเป็นสมมุติ แต่จิตของท่านเป็นวิมุตติจิต จะเข้ากันได้อย่างไร ฉะนั้นจึงไม่มีเวทนาใดที่จะเข้าเหยียบย่ำทำลายจิตใจของท่านได้ นอกจากสุขในหลักธรรมชาติ ดังที่ท่านว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง สุขในนิพพานหรือสุขของท่านผู้บริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์นั้น ไม่ใช่สุขเวทนา เป็นสุขของวิมุตติจิต เหนือสมมุตินี้ไปแล้ว สุขนั้นจึงไม่มีคำว่า อนิจฺจํ เวทนา อนิจฺจา อย่างนี้ก็ไม่มี สุขก็เป็น อนิจฺจา ทุกข์ก็เป็น อนิจฺจา อุเบกขาเฉยๆ ก็เป็น อนิจฺจา หรือเป็น อนิจฺจํ ถ้าเป็นเวทนาแล้วต้องมี อนิจฺจํ เป็นคู่กันเสมอไป

แต่สุขของพระอรหันต์ สุขของวิสุทธิจิตนั้นไม่ใช่เวทนา จึงไม่มี อนิจฺจํ  ทุกฺขํ  อนตฺตา เข้าไปแทรกได้เลย นี่ผิดกับสุขของโลก เวทนาของโลก ท่านจึงเรียก นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง สุขนั้นเป็นสุขในหลักธรรมชาติของความบริสุทธิ์ ไม่ใช่สุขเสกสรรปั้นยอขึ้นมา สุขแล้วดับ ดับแล้วเกิดอยู่อย่างนั้น นี่แหละจิตของพระอรหันต์ต่างกันอย่างนี่ เราควรทราบเอาไว้ เมื่อเราถึงขั้นของท่านที่ถึงแล้ว ถ้ายังเขี้ยวแหลมคมและกัดเก่งอยู่ ค่อยไปชวนท่านต่อยก็ได้ไม่ห้าม กลัวเป็นบาป

การที่ทราบจากการได้ยินได้ฟังนี้ไม่ได้เป็นความแน่ใจนัก ยังต้องมีความสงสัยอยู่เป็นธรรมดา เพื่อจะทราบตามหลักความจริงในสิ่งที่เป็นจริงนั้น ต้องทราบด้วยภาคปฏิบัติที่เรียกว่าปฏิเวธธรรม พระพุทธเจ้าได้ธรรมมาสั่งสอนโลกก็ได้จากภาคปฏิบัติ ได้เป็นศาสดาเอกของโลกขึ้นมาก็ได้จากภาคปฏิบัติ คือการประพฤติปฏิบัติทางจิตตภาวนา เช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ผลจึงเกิดขึ้นเต็มภูมิและเป็นศาสดาของโลก พระสาวกทั้งหลายท่านก็ประพฤติปฏิบัติเป็นอรหันต์ขึ้นมาด้วยภาคปฏิบัติ ไม่ได้เป็นขึ้นมาด้วยภาคจดจำเฉยๆ หรือภาคจดจำล้วนๆ

ความจำเป็นความจำ ความจริงเป็นความจริง เรานำความจำที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา ไปประพฤติปฏิบัติตามที่เราเข้าอกเข้าใจจากการเล่าเรียนมานั้น กลายเป็นภาคปฏิบัติขึ้นมา เมื่อปฏิบัติตามที่เรียนมาแล้ว ผลคือปฏิเวธ ความรู้แจ้งเห็นจริงย่อมรู้แจ้งเห็นจริงไปโดยลำดับๆ จนกระทั่งรู้แจ้งแทงทะลุเป็นความจริงขึ้นมาเต็มภูมิภายในใจ เมื่อเป็นเช่นนั้นจะไม่ถามในสิ่งที่กล่าวมานี้ เช่น พระอรหันต์ท่านไม่มีเวทนาในจิตอย่างนี้ จะปรากฏในจิตของเราเสียเอง จิตของพระพุทธเจ้ากับจิตของเรานั้นไม่มีอะไรผิดแปลกกัน เมื่อเข้าถึงความจริงเต็มสัดเต็มส่วนเหมือนกันแล้ว ไม่มีอะไรจะสงสัยกัน ไม่มีอะไรจะมาคัดค้านกัน ไม่มีอะไรมาลบล้างกันได้ เพราะเป็นเหมือนกัน จริงเท่ากัน เนื่องจากรู้แบบเดียวกัน

ดังที่กล่าวว่าเวทนาในจิตของพระอรหันต์ไม่มีอย่างนี้ ดูซิว่าใจเราเป็นยังไง เข้าใจทันที อ้อ เป็นอย่างนี้เอง นี่แหละที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต เห็นความจริงอันนี้ซึ่งเป็นเหมือนกัน ของเราฉันใดของท่านฉันนั้น ของท่านฉันใดของเราฉันนั้น นิพพานเที่ยงหรือไม่เที่ยง ดูจิตของเราก็รู้ ถามนิพพานว่าเที่ยงไม่เที่ยงไปทำไม ตัวก็รู้ นิพพานหรือไม่นิพพานอยู่ที่จิตนี้ นั่นเป็นชื่อต่างหาก คำว่านิพพานนั้นเป็นเงา หรือเป็นชื่อของธรรมชาติที่เราทรงอยู่เวลานี้ รู้อยู่เวลานี้ ได้แก่จิตที่บริสุทธิ์นี้ นี่คือตัวประธานแท้ ดูตัวประธานแล้ว รู้ตัวประธานแล้ว สงสัยเงาไปหาอะไร นี่แหละหลักความจริง ใครอยากเป็นเจ้าของก็ปฏิบัติเอา อย่าขี้เกียจ ความขี้เกียจคือตัวสังหารทำลายมรรคผลนิพพาน ความขยันหมั่นเพียรต่างหากเป็นทางเดินเพื่อมรรคผลนิพพาน

ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกบททุกบาท เป็นมัชฌิมาปฏิปทาอยู่เสมอ ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปไหน เพราะเหตุใด เพราะกิเลสทุกประเภทซึ่งเกิดภายในจิตใจหรือมีอยู่ภายในจิตใจของสัตว์โลก ไม่มีกิเลสตัวใดเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาไปเป็นอย่างอื่น พอที่จะเปลี่ยนแปลงมัชฌิมาปฏิปทาให้เป็นอย่างอื่น เพื่อให้ทันกับกิเลสประเภทนั้นๆ กิเลสเหล่านี้ไม่เหนืออำนาจแห่งธรรม จึงไม่ต้องเปลี่ยนแปลงธรรมที่ทรงสอนแล้วนี้ เพราะทรงได้ผลมาแล้วจากปฏิปทาเหล่านี้ จึงต้องนำปฏิปทาเหล่านี้มาปราบกิเลสตามที่พระพุทธเจ้าพาดำเนินมา

ถ้าเราดำเนินตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้นี้ ศาสนธรรมหรือมัชฌิมาปฏิปทานี้ คือตลาดแห่งมรรคผลนิพพานของเราอย่างเต็มสัดเต็มส่วนนั่นเอง หาที่สงสัยไม่ได้เลย นอกจากจิตใจหรือการประพฤติปฏิบัติจะเป็นลุ่มๆ ดอนๆ สูงๆ ต่ำๆ ไม่เป็นไปตามหลักธรรมที่ทรงสอนไว้เท่านั้น จึงไม่สมหวัง ถ้าตั้งใจปฏิบัติตามนี้ คำว่ามัชฌิมา คือธรรมเหมาะสมเพื่อมรรคผลนิพพานตลอดเวลาอยู่แล้ว การประพฤติปฏิบัติก็เหมาะสมกับเหตุ ผลทำไมจะไม่สมดุลกันเล่า ต้องสมดุล ผู้ปฏิบัติเช่นนี้แลจะเป็นผู้รับมรดกที่พระพุทธเจ้าประทานให้

พระพุทธเจ้าไม่ได้เกิดขึ้นจากไหน เกิดขึ้นจากมัชฌิมาปฏิปทานี้ สาวกทุกๆ องค์อย่าว่าแต่ ๑,๒๕๐ องค์นี้เลย เป็นหมื่นๆ แสนๆ ล้านๆ องค์ท่านก็สำเร็จจากมัชฌิมานี้ทั้งนั้น ไม่มีที่อื่นเป็นที่สำเร็จมรรคผลนิพพานได้ นอกจากมัชฌิมาเป็นทางเดิน เป็นเครื่องชำระซักฟอก เป็นเครื่องหล่อหลอมให้จิตแต่ละดวงกลายเป็นจิตบริสุทธิ์ขึ้นมา ขอให้เป็นที่มั่นใจในการประพฤติปฏิบัติธรรม และสถานที่ดังกล่าวมานี้เถิด เพราะเป็นที่ที่เหมาะสมตลอดมาไม่เคยล้าสมัย คือ ในป่า ในเขา ในที่สงัดวิเวก ดังที่ท่านพาอยู่พาดำเนินมา

การขบการฉัน ดังได้กล่าวมาแต่เบื้องต้นว่า เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยของวิบากขันธ์เท่านั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งสำคัญดังวิสุทธิธรรมที่เรามุ่งมั่นอยู่เวลานี้ สิ่งที่เรามุ่งมั่นนั้น คือวิสุทธิธรรมซึ่งเป็นธรรมสำคัญมาก ส่วนปัจจัยเครื่องอาศัยต่างๆ เป็นเพียงเครื่องบำรุงเยียวยาธาตุขันธ์พอให้อยู่ได้ เป็นไปได้วันหนึ่งๆ เท่านั้น อย่าได้ลืมเนื้อลืมตัวกับสิ่งอาศัยว่าเป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นตัวของตัวขึ้นมาจะลืมอรรถลืมธรรม สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นภัยเหยียบย่ำทำลายจิตใจลงไปโดยไม่รู้สึกตัว การเหยียบย่ำทำลายจิตใจ ก็คือการเหยียบย่ำธรรมซึ่งจะเกิดขึ้นภายในใจนั้นแล ให้พากันระมัดระวังเสมอ คำว่า สกฺกาโร ปุริสํ หนฺติ ลาภสักการะฆ่าบุรุษผู้โง่ให้ฉิบหายจากธรรม ก็คือความลืมตัวกับสิ่งเหล่านี้แล จะเป็นอะไรมาจากที่ไหน

การประพฤติปฏิบัติให้เล็งดูจิตอย่าดูที่อื่น กิเลสอยู่กับจิต แสดงออกที่จิต ไม่ว่าดี ว่าชั่ว ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหา คิดมากคิดน้อยคิดขึ้นที่จิต เกิดขึ้นที่จิต เผาลนที่จิตไม่ได้เผาที่ไหน มัชฌิมาปฏิปทามีสติปัญญาเป็นสำคัญ ให้สอดส่องมองดูจิตตลอดระยะเวลา เพราะเรามีหน้าที่อันเดียวเท่านี้

พระบวชมาปล่อยหมดแล้วกิจบ้านการเรือนอะไรๆ ที่โลกจัดทำกัน มีแต่ปฏิบัติศีลธรรมอย่างเดียว ไม่เกาะเกี่ยวกับสิ่งภายนอก ส่วนอาหารปัจจัยสี่ที่กล่าวมาไม่ต้องเป็นกังวล ผิดวิสัยพระศิษย์ตถาคต เป็นหน้าที่ของประชาชนศรัทธาญาติโยมเขาซึ่งพร้อมและบริบูรณ์อยู่แล้ว อยากจะสนับสนุนผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติกำจัดกิเลส เพื่อได้บุญได้กุศลกับท่านเหล่านั้น เอ้า ปฏิบัติลงไป ถ้าเป็นลูกศิษย์ตถาคตเข้าสู่สงครามแล้วไม่ต้องกลัวตาย ผู้ปฏิบัติไม่ได้ตายเพราะการต่อสู้กับกิเลส ดังพระพุทธเจ้าเพียงสลบ แต่กิเลสตายเรียบ ดูเอาในตำรามีให้ดู ไม่โกหก ส่วนมากคนเรามีแต่กิเลสย่ำยีตีแหลก ให้ตายทั้งนั้นแหละ

จงเห็นโทษแห่งการย่ำยีตีแหลกของกิเลสจนถึงขั้นตายแล้วเกิด เกิดแล้วตายอยู่นี้ ในภพน้อยภพใหญ่ไม่หยุดไม่ถอยมาจนบัดนี้ ควรจะเห็นโทษในสิ่งเหล่านี้มากกว่าการกลัวทุกข์กลัวตายที่จะต่อสู้กับกิเลสเป็นไหนๆ เราเป็นนักธรรมะต้องเล็งเหตุผล ยิ่งกว่าความกลัวทุกข์กลัวตายโดยไม่มีเหตุผล จึงถูกหลักของธรรมที่จะทำให้พ้นทุกข์ และผู้เช่นนั้นจะพ้นทุกข์ได้ไม่สงสัย ไม่ต้องกลัว ขึ้นบนเวทีแล้วกลัวตายทำไม ถ้ากลัวตายอยู่บนเวทีต่อยไม่ออก ต่อยไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย กำลังตกเพราะขาดกำลังใจ เดี๋ยวถูกเขาน็อกเอา ให้มีแต่ความหวังชนะกับความชนะเท่านั้นอยู่ในหัวใจขณะต่อสู้ นักต่อสู้ขึ้นบนเวทีแล้วมีแต่ความหวังชนะ ไม่มีคำว่ากลัวคู่ต่อสู้ นี่เราก้าวขึ้นบนเวทีแล้ว เพศของเราเป็นเพศนักรบไม่ใช่เพศนักหลบ นักหลอกตัวเอง และหลอกประชาชนที่เขาศรัทธาในพุทธศาสนา ศรัทธาในพระ ต้องสู้สุดกำลัง สู้จนสุดขีดสุดแดน สู้จนได้ชัยชนะมาสู่สังคมพุทธศาสนาอย่างสง่าผ่าเผยและภาคภูมิในตัวเอง

ทุกสิ่งทุกอย่างเครื่องสนับสนุนมีพร้อมแล้ว อาหารปัจจัยจะกินให้ตายก็ได้ถ้าเราไม่เสียดายธรรม ถ้าเห็นขี้ดีกว่าไส้ก็พุงทะลุพุงระเบิดไม่รู้ตัว ลิ้นแซงอยู่เรื่อย แซงอรรถแซงธรรมน่ะ ท้องปากแซงอยู่เรื่อยๆ หาเวลาว่างไม่มี หาเวลาบกพร่องบ้างไม่มี มีแต่เรื่องกินๆ แบบกิเลสตัณหาอาสวะบรรจุเข้าเต็ม เต็มเท่าไรยิ่งบรรจุเข้าไปๆ สุดท้ายก็ตายเพราะกิเลสไม่มีเมืองพอ ท่านจึงนำธรรมมาสกัดลัดกั้นไว้เพื่อรักษาชีวิตพระไม่ให้ตายเพราะท้องแตกว่า โภชเน มตฺตญฺญุตา ให้รู้จักประมาณ ในการบริโภคขบฉัน

อย่าลืมเนื้อลืมตัวในปัจจัยสี่ซึ่งเป็นเครื่องอาศัยเท่านั้น สิ่งที่มุ่งหวังอย่างแรงกล้า คืออรรถคือธรรม ความประเสริฐเลิศเลออยู่ที่ธรรมในใจ เอา สู้ลงไป จะตายด้วยการต่อสู้กับกิเลสก็ให้เห็นเสียที ไม่เคยมีในศาสนาของพระพุทธเจ้านี้ นักต่อสู้สู้กับกิเลสจนตาย ที่เห็นมามีแต่กิเลสนั่นแหละตายเวลาต่อสู้เข้าไปๆ ดังพระพุทธเจ้าก็สลบสามหนพระองค์ก็ไม่ตาย สุดท้ายกิเลสตายไม่มีเหลือ นั่น สาวกทั้งหลายได้รับความทุกข์ทรมานเพราะการต่อสู้กับกิเลสมามากเท่าไร ก็ไม่ได้ยินว่าท่านตาย สุดท้ายกิเลสตายๆ จึงได้ปรากฏเป็นผู้วิเศษวิโสขึ้นมาเพราะการต่อสู้ นี่แหละคุณค่าแห่งการต่อสู้ ทำให้คนบริสุทธิ์พุทโธขึ้นมาในใจได้อย่างเด่นชัด

เราเป็นลูกศิษย์ของตถาคต ต้องถือเอาเยี่ยงอย่างของพระพุทธเจ้ามาดำเนิน อย่าสักแต่ว่ากล่าว พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ใจลอยเมฆไปไหนหรือลงนรกอเวจีที่ไหนก็ไม่รู้ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ว่าแต่ปากคิดแต่ใจแย็บเดียว ถูกกิเลสฉุดลากไปต้มตุ๋นที่ไหนก็ไม่รู้ วันหนึ่งๆ หาเวลาคิดตามคลองอรรถคลองธรรมเพียงแย็บๆ แทบไม่มี และดำเนินไปนิดๆ หน่อยๆ ก็หาว่าทุกข์ว่าลำบากไปเสีย ซึ่งล้วนแต่เป็นกลมายาของกิเลสมันหลอกมันลวงไม่ให้เข้าช่องอรรถช่องธรรม เพราะกลัวจะผ่านอำนาจมันไปเสีย มันจึงไม่ยอมให้ไป มัดไว้กับความขี้เกียจอ่อนแอ มัดไว้กับความหนุ่มน้อยกำลังเพลิดเพลิน มัดไว้กับความเฒ่าแก่ชราจำศีลภาวนาไม่ได้ มัดไว้กับความยุ่งยากจิปาถะจนประมาณไม่ได้และอยู่ในเงื้อมมือของมันเรื่อยมา นี่แหละคำว่า มารๆ คืออะไร กิเลสมารเป็นเบอร์หนึ่งในหัวใจของคนและสัตว์ เฉพาะอย่างยิ่งในหัวใจของเราซึ่งเป็นนักปฏิบัติ ให้ทราบว่ามารคืออะไร ก็คือกิเลสทุกประเภท ไม่มีอะไรที่เป็นมารเท่ากิเลส ให้เห็นมารรู้มารที่ตรงนี้ และปราบมารที่ตรงนี้

การต่อสู้กับกิเลสก็อย่าออมกำลังอย่าออมแรง เพราะเราไม่เคยเห็นกิเลสตัวใด ตั้งแต่ประพฤติปฏิบัติมาอย่างเต็มสติกำลังความสามารถจนถึงปัจจุบันนี้ ว่าเป็นตัวสุภาพเรียบร้อยอ่อนโยน (เวลาดัดสันดานเรามันทำเบาๆ ออมแรงไว้ กลัวเราทุกข์มาก) พอที่จะต่อสู้มันด้วยความสุภาพอ่อนโยนนิ่มนวล นอนราวกับตาย หลับครอกๆ แทบจะได้ กุสลา มาติกาไม่รู้จักตื่นทำก็ได้ เดินเซ่อๆ ทำก็ได้ จิตเถ่อไปไหนมองไปไหนก็ได้ อยู่สะดวกสบาย กินให้มากนอนให้มากเหมือนกับหมูตัวหนึ่ง กิเลสก็ตายไปอย่างเรียบวุธด้วยวิธีการเหล่านี้ เราไม่เคยเห็น เคยเห็นแต่ฟัดกันเต็มเหนี่ยว เอ้า มันไม่ตายให้เราตาย เราไม่ตายให้มันตายเท่านั้น สู้กันอย่างไม่ถอย

นอกจากนั้นยังทรมานทางกายช่วยจิตตภาวนาอีกด้วย เพราะกิเลสมันมีทางกายเป็นกำลังเครื่องส่งเสริมมันด้วย กินมากๆ เข้าไปร่างกายอ้วนพีขึ้นมา กิเลสมันก็ตัวดีตัวเด่นขึ้นมาแล้วเหยียบย่ำทำลายจิตใจลงไป การภาวนาโงหัวไม่ขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นต้องตัดทอนกำลังทางร่างกาย นอนมากมันทำให้มีกำลังมากและทำให้ทับถมจิตใจมาก กินมากมีกำลังมาก มันทับถมจิตใจมากการภาวนาก้าวไม่ออก ตัดอาหารลงไป ตัดเรื่องการหลับการนอนลงไป ตัดกำลังทางกายในแง่ต่างๆ ลงไปโดยลำดับ จิตใจจะได้ภาวนาสะดวกขึ้น ความจริงก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

เวลาร่างกายมีกำลังน้อยลงไป ลดลงไปๆ จิตใจมีกำลังกล้าแข็งขึ้นทุกระยะ เวลาที่เราประกอบความเพียรอยู่ เห็นได้ชัด เมื่อเป็นเช่นนั้นถึงจะยากลำบากก็ต้องทนเพราะทางไปสายนี้ ยากก็ไปง่ายก็ไป ขุรขระก็ไป เพราะทางไปอยู่นี้ ทางเดินอยู่นี้ ทางเดินเพื่อความพ้นทุกข์อยู่ตรงนี้ อุบายวิธีเพื่อฆ่ากิเลสอยู่ที่ตรงนี้ๆ ก็ต้องได้ทนทุกข์ทรมานตนทำไป เพราะเคยเห็นผลอย่างนี้ นี่ละการประพฤติปฏิบัติจึงต้องใช้อุบายหลายแง่หลายทาง ไม่สักแต่ว่าเดินจงกรมแล้วก็เดินไปเฉยๆ ไม่ได้คำนึงถึงเหตุถึงผลว่าได้ผลมากน้อยเพียงไร เดินสักแต่เป็นกิริยา ใช้ไม่ได้ ต้องเอาให้จริงให้จัง มีสติปัญญากำกับงานและคอยทดสอบผลได้ผลเสียของตนอยู่เสมอ

สติแนบอยู่กับจิต นี้แลคือผู้รักษาจิต สติเป็นสำคัญ ปัญญาเป็นผู้ใคร่ครวญเหตุผลดีชั่วประการต่างๆ ธรรมสองอย่างนี้เป็นสำคัญ วิริยะ คือความเพียร นี่เป็นเครื่องสนับสนุน เป็นกำลังใจเพื่อความเพียร ความจดจ่อต่อเนื่องกันเพื่อทำลายกิเลส แล้วสติปัญญาเป็นสำคัญมาก เราไม่เห็นอันใดที่จะมีคุณค่ายิ่งกว่าสติปัญญาในการปราบปรามกิเลส แม้แต่ขั้นต้นๆ สติปัญญาก็มีความจำเป็นอยู่เช่นนั้น จนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย เอา ลงไป คำว่าวาระสุดท้ายคืออะไร ถึงขั้นกิเลสละเอียด ถึงขั้นธรรมละเอียด สติปัญญาต้องละเอียดไปตามกิเลสไม่อย่างนั้นไม่ทันกัน

ใครจะว่ากิเลสมันโง่เมื่อไร กิเลสจอมฉลาดจึงได้ครองไตรภพ สัตว์โลกเกิดตายอยู่นี้เพราะอำนาจของกิเลสทั้งนั้น ไม่ใช่เพราะอำนาจของอะไร ถ้ากิเลสไม่แหลมคมเหนือกว่าสัตว์โลก ใครจะไปเชื่อ ใครจะไปยอมจำนนกับกิเลส เพราะก็ทราบแล้วว่ากิเลสเป็นภัย เหตุใดจึงไม่ทราบในขณะที่มันกล่อม ก็เพราะอุบายของเรา สติปัญญาของเราไม่ทันมันนั่นเอง จึงจำต้องยอมจำนนมันไปโดยไม่รู้สึกตัว นี่เวลาสติปัญญาเราผลิตขึ้นมาๆ ทันกิเลสประเภทนี้แล้ว ต่อไปก็ทันกิเลสประเภทนั้น เห็นโทษของกิเลสประเภทนี้ เห็นเล่ห์เหลี่ยมของกิเลสประเภทนั้น แก้เล่ห์เหลี่ยมของกิเลสนี้ไปได้ แล้วแก้เล่ห์เหลี่ยมของกิเลสประเภทนั้นได้โดยลำดับและฆ่าได้โดยลำดับด้วย เรื่อยไปๆ จนกระทั่ง เอาพูดกันให้ถึงเหตุถึงผลถึงอรรถถึงธรรม ฟาดกันไปถึงขั้น มหาสติ มหาปัญญาแล้ว เอาละที่นี่

คำว่า มหาสติ มหาปัญญา หมายถึงสติปัญญาอัตโนมัติ หมุนตัวกับเหตุการณ์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่มีคำว่ายืน ว่าเดิน ว่านั่ง ว่านอน จะเผลอตัวขณะใด เว้นแต่ขณะหลับเท่านั้น นอกนั้นสติปัญญาจะต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา จนถึงกับได้ยับยั้งเอาไว้ไม่เช่นนั้นจะเลยเถิด ดังท่านกล่าวไว้ในธรรมสังโยชน์เบื้องบนว่า อุทธัจจะ ความฟุ้ง ความฟุ้งซ่านรำคาญ อุทธัจจะนี้หมายถึงความเพลินในงานของตน ไม่ใช่อุทธัจจกุกกุจจะ แบบนิวรณ์ห้าซึ่งมีอยู่ในสามัญชนทั่วไป

อุทธัจจะนี้เป็นสังโยชน์เบื้องบน จะตัดได้ด้วยอรหัตมรรคเท่านั้น ท่านผู้ที่ดำเนินอรหัตมรรคจะเป็นผู้เพลิดเพลินในธรรมข้อนี้ จึงเรียกว่า อุทธัจจะ ความเพลินเกินตัวก็ไม่ถูกนะ ถ้าจะพูดเป็นการเตือนก็บอกว่า ความเพลิดเพลินเกินไปไม่ถูกนะ งานแม้จะได้เพราะการกระทำก็จริง แต่การกระทำงานทั้งหลายนั้นย่อมมีการพักผ่อนเป็นธรรมดา พักผ่อนนอนหลับ พักผ่อนรับประทานอาหาร แม้แต่รถวิ่งไปตามถนนยังต้องเติมน้ำมันยังต้องพักเครื่อง

ผลจะได้เพราะการทำงานก็จริง แต่เมื่อทำไปจนหมดกำลังแล้ว ผลของงานจะได้มาจากไหน นี่สติปัญญาเมื่อหมุนตัวไม่หยุด ไม่พักผ่อนหย่อนตัวบ้างเลยก็เหนื่อย จิตเหนื่อยเมื่อยล้าจึงต้องพักในวงสมาธิ ท่านบอกให้เข้าพักในสมาธิเสีย ให้จิตมีความสงบ พอได้รับความสงบเป็นกำลังแล้ว จิตมีกำลังออกพิจารณา เช่นเดียวกับคนที่ทำงานจนกำลังกายและจิตเหนื่อยเมื่อยล้า แล้วก็มาพักผ่อนนอนหลับ มารับประทานอาหารให้สะดวกสบาย ถึงเวลาจะเสียไป อาหารการบริโภคเหล่านั้นจะเสียไปก็ตาม แต่ได้กำลังขึ้นมาชดเชยกันเพื่อการงานต่อไปอีก และเพื่อเพิ่มผลแห่งงานขึ้นไปโดยลำดับ เพราะกำลังเกิดจากการพักผ่อนและการรับประทานนั้น

นี่การพักผ่อนในสมาธิจะเสียเวล่ำเวลาบ้างไม่เป็นไรเพราะกำลังชาร์จ พูดง่ายๆ ชาร์จแบตเตอรี่ทางด้านจิตใจ ให้จิตมีความสงบมีกำลังทางสมาธิ ในขณะที่พักต้องพักจริงๆ ไม่ยุ่งกับสติปัญญาใดๆ ทั้งสิ้น พอออกจากการพักแล้วจิตจะมีกำลังวังชา สติปัญญาแหลมคม กิเลสตัวนั้นแล สติปัญญาประเภทที่เคยแก้กิเลสนี้แล ใส่เข้าไปขาดสะบั้นๆ เพราะกำลังสติปัญญามีมากเนื่องจากได้พักผ่อนอย่างสะดวกสบายแล้ว นี่วิธีการดำเนินวิปัสสนาโดยสม่ำเสมอ

เมื่อถึงขั้นนี้แล้วความขี้เกียจขี้คร้านหายหน้าไปหมด นอกจากได้รั้งเอาไว้เท่านั้น ความเห็นโทษก็ถึงใจนอนใจได้ยังไง ความเห็นคุณก็ถึงใจ เห็นโทษแห่งกิเลสทุกประเภท เห็นอย่างถึงใจเห็นอย่างซึ้ง เห็นอย่างน่าเข็ดน่าหลาบ เห็นอย่างน่ากลัว คนเราเมื่อกลัวแล้วอยู่ได้ยังไง ที่ไหนจะเอาตัวรอดได้ต้องเผ่น ที่ไหนเห็นว่าจะพ้นภัยต้องเผ่นไปที่นั่น นี่จิตเห็นว่าจะพ้นภัยด้วยวิธีไหนก็ต้องโดดออก จะพ้นภัยด้วยวิธีต่อสู้กับกิเลสก็ต้องต่อสู้ เหมือนที่ต่อสู้ด้วยปัญญา เพราะความเห็นคุณแห่งความพ้นทุกข์ และเพราะธรรมอัศจรรย์ตามขั้นที่ปรากฏอยู่ในใจพาให้ฮึกหาญ

แม้จะไม่ถึงขั้นอัศจรรย์เต็มภูมิก็ตาม ขึ้นชื่อว่าธรรมแล้วย่อมเป็นของแปลก ของอัศจรรย์อยู่ภายในจิตใจของผู้รู้ผู้เห็นนั้นแล้ว นั้นแลเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอยู่ภายในใจอยู่แล้ว และเป็นเครื่องสนับสนุนให้มีกำลังใจเพิ่มขึ้นที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมเบื้องสูงขึ้นไปไม่หยุดหย่อน ว่าให้พ้นเท่านั้น ไม่พ้นก็ให้ตายเท่านั้น คำว่าถอยมีไม่ได้แล้ว นี่สติปัญญาอัตโนมัติเป็นอย่างนั้น ในครั้งพุทธกาลท่านว่า มหาสติ มหาปัญญา คือ หมุนตัวเป็นเกลียวอยู่ตลอดเวลา อัตโนมัติ ไม่คำที่ว่าบังคับบัญชานอกจากต้องได้รั้งเอาไว้ เพราะจะเป็นอุทธัจจะ คือฟุ้งเกินไป เพลินกับการกับงานการพิจารณาค้นคว้าจนเกินความพอดีไป แต่ไม่ได้ผลเท่าที่ควร จึงต้องให้พักผ่อนในสมาธิเสีย เมื่อมีกำลังแล้วจึงพิจารณาค้นคว้าต่อไป จนกระทั่งทะลุปรุโปร่งไปหมด

อุทธัจจะ คือ ความฟุ้ง ความเพลิดเพลินในงานของจิต มานะ ความถือความรู้ที่เต็มไปด้วยอวิชชานั่นเอง จะเป็นอะไร เอาให้มันถึงนั่นซิ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นของปลอมเมื่อไร มีอยู่กับนักปฏิบัติ ฝึกให้ได้ จิตเป็นสิ่งที่ฝึกได้ ฝึกไม่ได้พระพุทธเจ้าดีไม่ได้ เป็นศาสดาของโลกไม่ได้ พระธรรมกระเทือนโลกธาตุอยู่เวลานี้ ออกจากจิตท่านที่ได้ฝึกมาทั้งนั้น จิตเป็นสมบัติของเราไม่ใช่สมบัติของใคร เราเป็นผู้รับผิดชอบภายในจิตของเรา เป็นก็เราตายก็เรา สุขก็เราทุกข์ก็เรารับทั้งนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจะปล่อยให้กิเลสเหยียบย่ำทำลายอยู่ตลอดไปสมควรแล้วเหรอ ต้องเอาให้จริงให้จังนักปฏิบัติ

อย่ามองอะไรยิ่งกว่าใจซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ มหาเหตุอยู่ที่นั่น โรงผลิตงานของกิเลสประเภทต่างๆ อยู่ที่นั่น ในขณะเดียวกันโรงผลิตอรรถผลิตธรรมก็อยู่ที่นั่น เอา แยกแยะกันเข้าไป จิตนี้เป็นตัวสำคัญมาก เอาให้ถึงเหตุถึงผล จิตนี้เป็นเหมือนนักโทษเวลานี้ ธรรมเป็นเครื่องแก้เครื่องปลดเปลื้อง กิเลสเป็นเจ้าอำนาจบังคับบัญชาจิตใจ แก้ลงไปๆ เมื่อแก้ลงไปได้มากน้อยจิตจะดีดขึ้นมาๆ โดยลำดับลำดา จนกระทั่งแก้ได้หมดโดยสิ้นเชิงไม่มีสิ่งใดเหลือแล้ว นั้นแลความหมุนตัวของสติปัญญาที่เป็นไปกับเหตุการณ์ต่างๆ ในวงความเพียรย่อมยุติลงเอง เหมือนกับนักรบเมื่อได้ชัยชนะเต็มที่แล้ว การรบพุ่งชิงชัยที่เป็นไปทั้งวันทั้งคืนนั้นก็ยุติกันลง

สติปัญญากับกิเลสเมื่อได้ฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไป จนไม่มีกิเลสตัวใดมาต่อกรแล้ว เรื่องความหมุนติ้วๆ อยู่ด้วยสติปัญญานี้ก็หมดหน้าที่ไป เหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ เอาอยู่ไหนอยู่เถอะที่นี่ ไม่มีกาลไม่มีสถานที่ ไม่ยุ่งกับอดีตว่าเคยเป็นมาอย่างไร ไม่ยุ่งกับอนาคตว่าจะไปเกิดเป็นอะไรต่อไปอีก ปัจจุบันก็รู้เท่า ไม่ยึดมั่นถือมั่นในความรู้ความเป็นของตน ต่างอันต่างจริงทุกสัดทุกส่วน จิตก็จริงตามจิต จริงตามหลักธรรมชาติ จริงในความประเสริฐของตน เมืองพออยู่ที่นี่ พอจิตหมดภัยแล้วทุกสิ่งทุกอย่างได้คลายไปตามๆ กัน นั้นแลคือผลแห่งการประพฤติปฏิบัติอันเป็นที่พึงใจ

พระพุทธเจ้าก็ดี สาวกทั้งหลายก็ดีได้นำจิตดวงนี้ขึ้นมาประกาศธรรมสอนโลกนั้น ได้มาด้วยภาคประพฤติปฏิบัติและได้มาด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความเป็นนักต่อสู้ ไม่ใช่ได้มาด้วยความขี้เกียจขี้คร้าน ความเห็นแก่ปากแก่ท้อง ความเห็นแก่หลับแก่นอน ขี้เกียจอ่อนแอ นั่นไม่ใช่ทางของผู้จะดำเนินตนเพื่อความพ้นทุกข์ แต่เป็นทางอันเตียนโล่งของกิเลสที่จะสั่งสมฟืนไฟขึ้นมาภายในใจโดยถ่ายเดียว

นี่ท่านทั้งหลายมาจากที่ต่างๆ ได้มาอบรมศึกษาอยู่ในสำนักนี้ ผมมีความเมตตาสงสาร ถึงจะอยู่ด้วยกันมากบ้างก็ทนเอา ท่านองค์นั้นก็มีหัวใจองค์นี้ก็มีหัวใจ เป็นผู้มุ่งมาเพื่ออรรถเพื่อธรรม ผมเองก็ได้คิดเทียบเคียงทุกสัดทุกส่วนแล้วกับหมู่กับเพื่อน เพราะเราเคยเป็นผู้น้อยมาแล้ว ไปเสาะแสวงหาครูอาจารย์ที่ไหนที่ต้องจิตต้องใจ เป็นผู้ที่น่าเคารพกราบไหว้เป็นที่ลงใจของเรานั้น  มันหายากนักยากหนากว่าจะพบเห็นท่าน

เมื่อไปถึงครูบาอาจารย์องค์ใดที่เป็นที่สนิทติดใจกับท่าน ด้วยความเชื่อความเลื่อมใสจริงๆ แล้ว เราพอใจที่จะอยู่ อยากให้ท่านเมตตาสงสารรับไว้สั่งสอน ใจจะขาดออกจากหทัยของเรา ถึงขนาดนั้นทีเดียวสำหรับผม นี้หมู่เพื่อนมาศึกษาอบรมก็เห็นใจอย่างนั้นเหมือนกัน ถึงจะไม่ได้อยู่ แต่ได้รับการอบรมชั่วกาลชั่วเวลาก็ยังดี นี่แหละขอให้คิดเห็นอรรถธรรมที่กล่าวมาเหล่านี้ นำไปประพฤติปฏิบัติ อย่าท้อถอยอ่อนแอ สิ่งเหล่านี้เคยมีอยู่ในหัวใจเราอยู่แล้ว ไม่เห็นเป็นของประเสริฐของอัศจรรย์จากมัน นอกจากธรรมอันประเสริฐที่จะเกิดขึ้นจากความเพียร ความหนักเอาเบาสู้เท่านั้น

นี่วันนี้ได้อธิบายธรรมภาคปฏิบัติให้ท่านทั้งหลายได้เข้าอกเข้าใจ ทางพระเป็นสำคัญ เพราะเป็นจุดศูนย์กลางแห่งจิตใจของประชาชน และเป็นผู้รักษาศาสนาในวงภายใน และมีหน้าที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพศก็ประกาศอย่างเด่นชัดแล้วว่า เพศนี้เป็นเพศสมณะ เป็นเพศที่บำเพ็ญอรรถธรรมโดยถ่ายเดียว จึงได้แสดงให้ท่านทั้งหลายได้เข้าอกเข้าใจ เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตนตลอดผู้เกี่ยวข้องมากน้อย

บรรดาศรัทธาญาติโยมทั้งหลาย จิตใจก็เหมือนกันกับพระ ต่างกันก็สักแต่เพศเท่านั้น จิตใจไม่มีคำว่าเป็นผู้หญิงผู้ชาย มีความรักใคร่ชอบใจศรัทธาในศาสนาเช่นเดียวกัน การประพฤติปฏิบัติตนในคุณงามความดีทั้งหลายเป็นสิริมงคลแก่เรา เช่นเดียวกับพระท่านประกอบหน้าที่การงานทางด้านธรรมะของท่าน เป็นสิริมงคลแก่ใจของท่าน เรามาประกอบบำเพ็ญคุณงามความดีทั้งหลายมีทาน ศีล ภาวนา เป็นสำคัญ ก็เป็นสิริมงคลแก่จิตใจของเรา ใจเป็นสำคัญมาก ขอให้พยายามบำรุงใจ ใจเป็นหลักใหญ่ ใจเป็นนักท่องเที่ยวดังที่ท่านอาจารย์มั่นท่านพูด หาข้อแย้งไม่ได้

จะท่องเที่ยวไปไหนก็ตาม ขอให้ท่องเที่ยวไปด้วยบุญด้วยกุศล ด้วยคุณงามความดีเป็นเครื่องสนับสนุนเถิด จะเป็นที่เบาอกเบาใจ เป็นที่สะดวกสบาย เป็นสุคโต ไปก็ดีอยู่ก็เป็นสุข เกิดในภพใดชาติใดถ้ามีคุณงามความดีเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ เป็นเครื่องบำรุงจิตใจ สนับสนุนจิตใจ เป็นเครื่องเสวยของใจอยู่แล้ว อยู่สบายทั้งนั้น ความดีจึงไม่ล้าสมัย ให้พากันพยายามบำเพ็ญ

วาระนี้เป็นวาระที่เหมาะสมมากสำหรับเราทุกท่าน หากชีวิตหาไม่แล้วก็ต้องหยุดชะงักในงานทั้งหลาย ก้าวไม่ออก เพราะคนตายแล้วไม่มีงาน ทำไม่เป็น ขณะนี้ยังมีชีวิตอยู่จะรีบเร่งขวนขวายสิ่งใดก็รีบเร่งเสีย สมบัติภายในก็ให้มีสมบัติภายนอกก็ให้มี อยู่ก็เป็นสุข ไปก็เป็นสุข ไม่ขาดทุนสูญดอกทั้งอยู่ทั้งไป สำหรับคนมีธรรมมีบุญกุศล อยู่ที่ใดไปที่ใด ไม่อดไม่จนในที่ทุกสถานตลอดกาลทุกเมื่อ

การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควรจึงขอยุติเพียงแค่นี้


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก