ชีวิตนี้เป็นของเล็กน้อย
วันที่ 22 ตุลาคม 2511 ความยาว 36.03 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๑

ชีวิตนี้เป็นของเล็กน้อย

         การงานของพระพุทธเจ้าที่ได้เสาะแสวงหา ถือประโยชน์จากการบำเพ็ญที่เรียกว่างานของพระองค์ มาแจกจ่ายบรรดาพุทธบริษัทเราทั้งหลาย ให้เป็นมรดกตกทอดมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ นับเป็นสิ่งที่โลกต้องการตลอดมา นั่นคือผลได้แก่ความสุข นี่คือการบำเพ็ญที่เรียกว่าการงาน การกระทำทุกด้านถ้าเราจะเรียกเป็นแบบทางโลกก็เรียกว่างาน แต่ทางศาสนาท่านเรียกว่าการบำเพ็ญ ความจริงก็คืองานนั่นเอง งานภายนอกงานภายใน งานภายนอกก็ดังที่เราได้ทำกันตลอดมาทั่วโลก

ต่างคนต่างมีงาน ใครจะอยู่ว่างๆ ไม่ได้ เพราะสิ่งบังคับจะไม่ให้ว่างมีอยู่ภายในตัวของเราทุกคน เมื่อมีสิ่งบังคับให้ต้องทำงาน เราก็จำเป็นต้องทำ แม้จะแสนขี้เกียจก็ต้องบังคับ มีสิ่งบังคับให้ทำอย่างนั้น ฉะนั้นโลกจึงมีงานทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใด แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ยังต้องทำงานอยู่ คือหาอยู่หากินเพื่อปากเพื่อท้อง นี่เรียกว่างานทั้งนั้น ถ้าเราจะพูดว่างานแล้วเป็นงานเสียทั้งหมด ไม่ว่างานภายนอก ไม่ว่างานภายใน ไม่ว่างานส่วนที่อยู่ ไม่ว่างานส่วนร่างกาย ไม่ว่างานเพื่อใจ เรียกว่างานทั้งนั้น แต่ทางศาสนาท่านให้ชื่อแปลกออกไปว่าบำเพ็ญ

พระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญเป็นตัวอย่างของพวกเรามา ทุกๆ พระองค์ต้องบำเพ็ญด้วยกัน สืบต่อเป็นลำดับกันมาถึงพระพุทธเจ้าของเรา เพราะโลกนี้มีมืดกับแจ้ง ไม่ขาดวรรคขาดตอน มีมืดกับแจ้งอย่างนี้เป็นมาโดยตลอดสาย เพราะฉะนั้นที่ท่านว่าพระพุทธเจ้ามีจำนวนไม่น้อยนั้นจึงเป็นความจริง เพราะมืดกับแจ้งมีอยู่นี้มาตั้งแต่เมื่อไร ไม่มีใครสามารถจะนับได้ว่ากี่วัน กี่ปี กี่เดือน เพราะมีมืดกับแจ้งๆ สืบต่อกันมาเรื่อยๆ ความเป็นมาของโลกก็เป็นมาในทำนองเดียวกัน จึงไม่ทราบว่ายืดยาวเท่าไรในระยะกาลที่ผ่านมานี้ เมื่อเป็นเช่นนั้นพระพุทธเจ้าก็ต้องมีมากดังที่ว่า พอองค์นี้ท่านผ่านไปองค์นั้นก็ผ่านมา แม้จะเป็นช่วงเวลานานก็ตามแต่ก็เหมือนไม่นาน เพราะมืดกับแจ้งนี้มีเวลานานยิ่งกว่านั้น

งานของพระพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญในเบื้องต้น ที่จะเป็นสาเหตุให้ได้ผลเป็นที่พึงพอพระทัยพระองค์ก็กำหนดอานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออก เพื่อให้จิตยับยั้ง มีอารมณ์เป็นที่ยึดของใจ เพราะตามธรรมดาของใจต้องมีที่อาศัยเสมอจะอยู่โดยลำพังตนเองไม่ได้ นอกจากใจที่มีความเพียงพอสำหรับตนโดยเฉพาะหรือโดยสมบูรณ์แล้วเท่านั้น จะไม่ต้องอาศัยอารมณ์อะไรเลย ก็เป็นที่เพียงพอสำหรับตัว นั่นได้แก่ใจของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่าน ท่านไม่ต้องอาศัยอะไรมาเป็นเครื่องส่งเสริมและกดขี่บังคับ แต่อาศัยธรรมชาติความรู้อันดั้งเดิมของท่านที่มีความบริสุทธิ์เต็มที่แล้วเท่านั้น เป็นที่พอสำหรับใจดวงนั้น ปรกติของสามัญชนเราจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ ต้องมีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเป็นเครื่องยึดเครื่องเกาะอยู่อย่างนั้นเสมอไป นอกจากเวลาหลับที่ไม่ฝัน หลับอย่างสนิทเท่านั้น แต่ความหลับกับความตื่นซึ่งไม่มีอารมณ์นั้นมีความผิดกัน คือผู้ที่บริสุทธิ์ มีความทราบชัดในความบริสุทธิ์ของตนอยู่ตลอดเวลา แต่ผู้ที่หลับแม้จะเป็นความสบาย แต่สติไม่มีในระยะนั้น มีความผิดแปลกกันอย่างนี้

จิตที่มีอารมณ์เป็นเครื่องอาศัยนั่นแล จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่พระพุทธเจ้าจะต้องแนะนำสั่งสอนอารมณ์ที่ดี คืออารมณ์แห่งธรรมเป็นเครื่องกำกับใจ เพื่อให้ใจได้อาศัยอารมณ์ที่ดีนั้นเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและเป็นเครื่องพยุงจิตใจให้มีความเยือกเย็นเป็นสุขภายในตัวเอง ไม่เหมือนอารมณ์ที่ตรงกันข้าม ถ้าอารมณ์ที่เป็นข้าศึกมีจำนวนน้อย ก็แสดงความทุกข์ให้เห็นเท่าที่อารมณ์ที่เป็นข้าศึกปรากฏอยู่กับใจ ยิ่งมีจำนวนมากเท่าไรก็ยิ่งจะทำใจให้เดือดร้อนเป็นทุกข์มากเท่านั้น

ความเป็นทุกข์ถ้าตามธรรมดาของใจล้วนๆ แล้วจะไม่มีอะไรทุกข์ นอกจากจะทุกข์กับอารมณ์เท่านั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงให้กำหนดรู้เรื่องของตัวเองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์อะไรบ้าง การจะสังเกตสอดรู้อารมณ์ของตนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์อะไรบ้างนั้น ต้องอาศัยหลักธรรมะเป็นเครื่องพิสูจน์พิจารณา คือสติกับปัญญาเป็นสิ่งสำคัญ เฉพาะอย่างยิ่งการนั่งภาวนา นั่นเป็นเวลาที่เราจะสังเกตสอดรู้อารมณ์ของใจเรา จะแสดงไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใดมาถือเป็นอารมณ์สำหรับตัวบ้าง เราจะทราบในระยะนั้น คือการนั่งสังเกตใจก็เช่นเดียวกับเรานั่งสังเกตสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสถานที่ใดๆ ก็ตาม เราอาจจะทราบได้ชัดว่ามีสิ่งใดบ้างที่ผ่านสายตาเรามาในเวลาที่เรากำลังนั่งสังเกตการณ์อยู่นั้น

เช่น เรานั่งอยู่ในบ้านเงียบๆ คอยสังเกตผู้คนที่จะเดินผ่านไปมาตามถนนหนทางหน้าบ้านของเรา เราย่อมเห็นได้ชัด และรู้เรื่องรู้ราวว่าเขาพูดกันเรื่องอะไรบ้าง หากเราไม่สนใจแม้เขาจะเดินวันยังค่ำ ผ่านไปผ่านมาอยู่ ก็ไม่ทราบว่ามีใครบ้างเขาพูดกันเรื่องอะไร นี่อารมณ์ของใจก็ย่อมเป็นสิ่งสำคัญ ตามปรกติใจต้องมีอารมณ์ประจำตนอยู่เสมอ นอกจากเราไม่สังเกตเท่านั้นจึงจะไม่ทราบว่า ใจของตนมีอะไรเป็นอารมณ์ จะเป็นอารมณ์ที่ดีหรือชั่วก็ไม่ทราบได้ จึงต้องอาศัยการภาวนา

ในเบื้องต้นรู้สึกจะมีการลำบากอยู่บ้าง แต่จะลำบากแค่ไหนก็ตาม โปรดทราบไว้เสมอว่า อารมณ์ทั้งหมดเหล่านี้จะไม่มีอารมณ์ใดนอกเหนือไปจากธรรมะ ซึ่งจะเป็นเครื่องแก้ไขหรือสังหารให้สิ้นสุดลงไปได้ หรือลดน้อยลงไปเป็นลำดับจนไม่มีสิ่งใดเหลือในโลกภายในใจเรานี้ นี่คือเครื่องมืออันสำคัญ เครื่องที่จะปราบหรือเครื่องที่จะแก้ไขอารมณ์ที่มีอยู่กับใจของเรา หลักธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ทุกแง่ทุกมุม ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องมือที่จะเป็นชัยชนะสำหรับผู้นำมาแก้ไขหรือดัดแปลงตนเองได้เป็นขั้นๆ ขึ้นไป และพระพุทธเจ้าได้ทรงเห็นผลมาแล้วทุกๆ บท ทุกๆ บาทแห่งธรรมะที่ได้นำมาสอนสัตว์โลก ว่ามีธรรมะเท่านี้ที่จะเป็นเครื่องกำจัดปัดเป่าสิ่งมัวหมองภายในใจของตน นับแต่ส่วนหยาบจนกระทั่งถึงส่วนละเอียดสุดออกจากใจเสียได้ ไม่มีสิ่งใดที่จะสามารถเหมือนหลักธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เหมือนกับยาแก้โรค โรคเราเป็นโรคชนิดใดต้องพยายามหายามาให้เหมาะสมกับโรคที่จะหาย และพยายามรับยา จะมีรสชาติประเภทใดก็ตาม ผู้เป็นโรคก็ต้องฝืนรับ ไม่เอาตามความพอใจของตนท่าเดียว

เราที่เป็นโรคภายในเกี่ยวกับเรื่องใจ เรียกว่าโรคกิเลสตัณหาอาสวะ ก็ต้องอาศัยหลักธรรมะ ถ้าความขี้เกียจเกิดขึ้นเราต้องหายาแก้ทันที ความขี้เกียจนั้นจะตั้งอยู่ไม่ได้ เมื่อมียาคือความขยันหมั่นเพียรและมีเหตุผลพร้อมมูลที่จะกำจัดความเกียจคร้านนั้นออกได้ ความเกียจคร้านนั้นจะฝืนตัวไปไม่ได้ถ้าเรานำมาแก้กัน ยกตัวอย่างเพียงย่อๆ พอที่จะเข้าใจ หากเป็นนิสัยคนจับจด ทำอะไรไม่จริงไม่จังก็ให้มีหลักความจริง มีเหตุมีผลตั้งไว้สำหรับตัวโดยเฉพาะ การงานนั้นๆ จะเป็นชิ้นเป็นอันเป็นหลักเป็นฐานขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นงานภายนอกงานภายใน ไม่ว่าจะเป็นงานหยาบหรืองานละเอียด ต้องมียาแก้กันอย่างนี้เสมอไป ถ้าหากไม่มียาแก้จะไปไม่รอด

ไม่ว่าโรคภายนอกคือส่วนร่างกาย ไม่ว่าโรคภายในคือโรคของใจโดยเฉพาะ ถ้าเราจะปล่อยไปตามอำเภอใจแล้ว ใจนั้นมีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งแทรกสิงอยู่ภายในจะต้องพยายามผลักดันสิ่งนั้นออกมา ให้เราทำตามอำนาจของเขา แล้วก็กลายเป็นความไม่ดีไม่งาม ผลก็เกิดความเดือดร้อนให้แก่เราเสมอไป นี่คือสิ่งที่ผลักดันออกมาจากภายใน เพียงตามธรรมชาติของใจล้วนๆ แล้วจะไม่มีสิ่งใดผลักดันออกมาได้เลย ไม่ว่าจะเป็นส่วนดีไม่ว่าจะเป็นส่วนชั่ว เพราะจิตที่บริสุทธิ์ล้วนๆ แล้วจะไม่ปรากฏสมมุติทั้งสองประเภทคือดีกับชั่วนี้แฝงอยู่แม้แต่น้อย ท่านจึงเรียกว่าจิตบริสุทธิ์ นี่คือจิตล้วนๆ จิตประเภทนี้ไม่มีอารมณ์ชนิดใดจะเข้าไปกดขี่บังคับหรือส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านั้น และให้เลวทรามยิ่งลงไปกว่านั้นอีกได้ นี่คือจิตที่พอตัวคือจิตที่บริสุทธิ์แล้วเป็นอย่างนั้น แต่จิตของพวกเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น จึงต้องอาศัยยาคือธรรมะ เป็นเครื่องดัดแปลงแก้ไขเสมอ

ลำพังความอยากของเรานั้นจะหาประมาณไม่ได้ เพราะมีสิ่งที่ไม่มีประมาณอยู่ภายในเป็นเครื่องแสดงออกอยู่เสมอ ใจที่มีกิเลสตัณหาอาสวะ เราอย่าเข้าใจว่าเป็นใจที่มีประมาณ จะไม่มีประมาณเลย ชั่วก็ชอบแต่ดีไม่ค่อยชอบ สิ่งใดที่จะทำความต่ำทรามแก่ตนและผู้อื่น จิตชอบสิ่งนั้น คือมีสิ่งที่ขวางโลกขวางธรรมขวางตนและขวางคนอื่นอยู่ภายในใจนั้น เพราะฉะนั้นจึงแสดงตั้งแต่เรื่องอย่างนี้ออกมาให้เป็นที่ไม่สบายใจตนเอง ทั้งๆ ที่เราทำด้วยความอยากของเรา ทำด้วยความพอใจ แต่ผลที่ปรากฏขึ้นมากลายเป็นสิ่งที่ขวางต่อความต้องการของเราเสียเอง

ก็เพราะความอยากอันนี้มันเป็นสิ่งที่ขวางอยู่แล้วในหลักธรรมชาติของมัน แต่เราเข้าใจว่าเป็นของที่ดีแล้วทำไปตามความอยากนั้นเฉยๆ ผลจึงเป็นที่ขัดข้องหรือกีดขวางกันกับความต้องการของเรา เรียกว่าไม่ลงรอยกันได้ คือเราต้องการดีอย่างนี้ แต่เหตุผลที่จะให้เป็นไปในทางดีนั้นเราจะทำอย่างไร ตอนนี้เราไม่สนใจเสีย แต่อยากจะทำเอาตามความชอบใจของตน เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการมา สิ่งที่ต้องการนั้นจะต้องเกิดขึ้นจากเหตุผลที่พอเหมาะสมกันจึงจะเป็นไปได้ แต่เราไม่ได้คำนึงถึงเหตุผลที่ควรหรือไม่ควรเสียอย่างนี้ จึงชื่อว่าเป็นผู้ที่ย่อหย่อนต่อเหตุผลในการรักษาตัว

เมื่อเราไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรักษาตัวได้ ก็ไม่พ้นจากการตำหนิตัวเองอยู่เรื่อยไป วันนี้เราก็ตำหนิตัวเองได้ วันหน้าเราก็จะต้องตำหนิได้ เพราะเราสั่งสมสิ่งที่ตำหนิตนเองไว้เสมอ โดยไม่ได้มีเหตุผลเป็นเครื่องพิสูจน์กันเลย จึงต้องอาศัยหลักธรรมะเป็นเครื่องพิสูจน์ตนเสมอ จะยากก็ตามลำบากก็ตาม จะขี้เกียจหรือขยันเราต้องเล็งเหตุผลเพื่อสิ่งที่เรามุ่งหวังนั้นเสมอ นี่เรียกว่ายาแก้ กิเลสจะทนอยู่ไม่ได้ถ้าได้ยาแก้ คือหลักธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้าไปดัดแปลงแก้ไขแล้ว จะต้องค่อยสลายลงไปเป็นลำดับๆๆ คนเราไม่ได้ดีมาตั้งแต่วันเกิด จิตไม่ใช่จิตที่บริสุทธิ์มาตั้งแต่วันเกิด แต่เป็นจิตที่โสมมไปด้วยสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา คนเราจึงมีสุขมีทุกข์ มีดีมีชั่วบ้างสับสนปนกันอยู่ภายในจิตใจ ที่จะดีไปเรื่อยๆ ก็เพราะอาศัยการดัดแปลงตนด้วยหลักเหตุผลไปเรื่อยๆ ไม่ยอมปล่อยวางตนเอง นี่ชื่อว่าเป็นคนรักตน

ไม่มีสิ่งใดจะมีคุณค่าเหนือจิตใจในโลกนี้ มีใจดวงเดียวเท่านั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก เมื่อใจประกอบกับสิ่งใดคือส่วนร่างกายเป็นต้น จิตใจของเราทั้งหมดก็กลายเป็นของมีค่าขึ้นมา เพราะฉะนั้นร่างกายกับจิตใจจึงเป็นสมบัติอันล้นค่าในโลกนี้ เอาตัวของเราเป็นผู้ประกันทีเดียว สมบัติเงินทองข้าวของจะมีมากน้อย มีมาไว้สำหรับบำรุงบำเรอให้เราได้รับความสุข สมกับว่าเราเป็นเจ้าของของสมบัตินั้นแท้

อย่าให้สมบัติเหล่านั้นมากลายเป็นข้าศึกศัตรูต่อเรา เพราะความไม่รู้จักวิธีรักษาสมบัติเหล่านั้น และไม่รู้จักวิธีที่จะนำสมบัติเหล่านั้นมาบำรุงบำเรอตนให้มีความสุขเท่าที่ควรจะเป็นได้ สมกับว่ามนุษย์มีความฉลาดกว่าสัตว์ ไม่นอกเหนือไปจากหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ได้เลย ถ้าเป็นฝั่งก็เหมือนฝั่งมหาสมุทร น้ำทะเลจะลึกจะมากเท่าไรก็ไม่สามารถจะล้นฝั่งมหาสมุทรไปได้ หลักธรรมะก็เช่นกัน ไม่มีอะไรผิดแปลกกัน เป็นสิ่งที่มีอำนาจเหนือกว่าสิ่งไม่ดีทั้งหลายอยู่ภายในใจของเราทุกๆ สิ่งคือธรรมะ โปรดได้นำธรรมะนี้เข้าไปแก้ไขจิตใจของเรา

ดังที่ท่านทั้งหลายได้บำเพ็ญคุณงามความดีมาเป็นลำดับ มีทานบารมีเป็นต้น ซึ่งเป็นที่เด่นในหมู่ชนพุทธบริษัทเรา เฉพาะอย่างยิ่งดังทุกๆ ท่านที่ได้มาบำเพ็ญกุศลในครั้งนี้เป็นตัวอย่าง นี้เกิดขึ้นมาจากอะไร ถ้าพูดถึงเรื่องสมบัติแม้แต่สตางค์แดงหนึ่งเราก็สงวนเสียดาย เพราะเราหามาเพื่อเป็นสมบัติของเรา เรามีกรรมสิทธิ์เต็มที่ในสมบัติของเรามากน้อย แต่ทำไมจึงสามารถบริจาคทานออกได้เป็นจำนวนมากๆ และบริจาคตลอดมาไม่เคยละเคยปล่อยวางเป็นลำดับมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ และยังมีความมุ่งมั่นที่จะบำเพ็ญคุณงามความดีประเภทนี้ให้มากมูนขึ้นภายในตนเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายปลายแดนที่จะไม่สามารถบำเพ็ญได้โน้นแลถึงจะหยุดลง นี่ก็เพราะอาศัยหลักธรรมะคือ สติปัญญาพินิจพิจารณาถึงสิ่งที่ควร ไม่ควร ถึงสิ่งที่ได้ผลมากได้ผลน้อย ถึงความเป็นอยู่และความพลัดพรากใจไป ถึงสิ่งที่เราจะควรอาศัยอันใดว่าเป็นสรณะ อันใดว่าเป็นความสุขความสบาย สิ่งใดว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้เราได้รับความผาสุกในปัจจุบันนี้และภพหน้าชาติหน้า นอกจากบุญแล้วจะไม่มีสิ่งใด

อะไรบ้างที่จะทำให้เกิดบุญเกิดกุศลให้เป็นที่พึ่งอันพึงพอใจของเราอย่างแท้จริง นี่ก็เป็นเหตุให้คิดถึงเรื่องการให้ทาน ถึงเรื่องการรักษาศีล ถึงการเจริญภาวนาไปเรื่อยๆ ซึ่งล้วนแล้วตั้งแต่เป็นกองกุศลทั้งนั้น อันจะเกิดแก่บุคคลผู้บำเพ็ญให้มีในตนมากน้อย ดังนั้นทุกๆ ท่านแม้จะมีความอาลัยเสียดายสมบัติตามหลักธรรมชาติของจิตก็ตาม แต่เมื่อมีหลักธรรมะเข้าไปแก้ไขกัน คือมีเหตุผลเป็นที่พร้อมมูลอยู่ภายในใจแล้ว ไม่มีความเสียดาย ให้ด้วยความเต็มอกเต็มใจ ให้เท่านี้แล้วยังไม่พอใจยังอยากจะให้ได้มากๆ ยิ่งกว่านี้และอยากจะให้ตลอดไป ประหนึ่งว่าจะไม่ให้มีใครเทียบเท่าในโลกนี้ นี่คือใจของเราที่ได้รับธรรมะเป็นเครื่องดัดแปลงให้เห็นเหตุเห็นผลไปตามหลักธรรมแล้ว ใจก็กลายเป็นธรรมขึ้นมา เป็นนักเสียสละ ทานบารมีไม่มีอั้น

คิดดูพระภิกษุในเมืองไทยเรานี้จะมีประมาณสักเท่าไร วัดทั้งหลายก็ดี พระภิกษุสามเณรทั้งหลายก็ดี ไม่ว่าเพียงแต่วัด และอยู่สถานที่ต่างๆ ก็ดี ทีนี้เครื่องใช้ไม้สอยทุกอย่าง เครื่องบริขารของพระ ทุกๆ องค์เมื่อบวชเข้ามาในศาสนาแล้วจะต้องอาศัยการนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ปัจจัย การขบการฉันจากศรัทธาญาติโยมทั้งนั้น แล้วพระทั้งหลายยังอยู่ได้เป็นได้จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ไม่ปรากฏว่ามีพระรูปใดบวชเข้ามาแล้ว ไม่มีสบงจีวรอาหารการขบฉัน ที่อยู่ที่อาศัยขาดแคลนไปจนอยู่ไม่ได้แล้วต้องสึกออกมา เพราะไม่มีใครเหลียวแลอย่างนี้ไม่เคยมี นอกจากจะเป็นพระทุศีลที่ไม่มีใครสนใจเท่านั้น เพราะเป็นผู้ที่หมดความหมายแล้วในความเป็นพระ มีใครสามารถจะทำได้ เพราะเราเป็นมนุษย์ต้องทราบดีทราบเรื่องชั่วของกันและกัน

นอกจากนั้นแล้วไม่มีที่ไหนที่ปรากฏว่าท่านยังจะมีความอดอยากขาดแคลน ยิ่งเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเท่าไรแล้ว ก็เป็นเหมือนกันกับแม่เหล็ก แม้จะเป็นผู้ไม่สนใจใคร่ต่อสิ่งทั้งหลายก็ตาม แต่เป็นผู้มุ่งต่ออรรถต่อธรรมอย่างยิ่ง แม้จะมีความขาดเขินบกพร่องเท่าไรก็ไม่สนใจในสิ่งภายนอก แต่สนใจในด้านธรรมะเพื่อความหลุดพ้นโดยถ่ายเดียว ท่านเหล่านี้ก็ยิ่งเป็นที่ได้รับความสนับสนุนจากศรัทธาญาติโยมเป็นอย่างยิ่ง นี้จะเป็นขึ้นมาเพราะอะไร ก็เป็นขึ้นมาเพราะตัวเองเป็นผู้ทำความดี ความดีนั้นก็แสดงผลขึ้นมาให้รู้ แม้จะไม่ต้องการก็มีผู้นำมาถวาย อาศัยเป็นลำดับๆ ไป

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ พูดถึงเรื่องศรัทธาญาติโยมที่ได้ค้ำจุนอุดหนุนพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับ ล้วนแล้วตั้งแต่อาศัยหลักธรรมะคือการสดับตรับฟังพินิจพิจารณาในเหตุผลดีชั่วภายในตนโดยควรแล้วก็ปฏิบัติตน ดังที่ท่านทั้งหลายได้อุตส่าห์มาเสียสละบำเพ็ญคุณงามความดี จาคะเจตนามีจำนวนมาก และนอกจากนั้นยังมีศรัทธาแกล้วกล้าในพระพุทธศาสนา มีความมุ่งหวังอยากจะสดับตรับฟังโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อบำเพ็ญทั้งทานบารมี ศีลบารมี และภาวนาเข้าอีกเป็นสามชั้นด้วยกัน ฉะนั้นวันนี้จึงอธิบายถึงเรื่องภาวนาให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายทราบเกี่ยวกับเรื่องจิตใจ

เบื้องต้นก็ได้ยกถึงเรื่องพระพุทธเจ้าเจริญอานาปานสติ เพื่อเป็นอารมณ์ของใจ ให้ใจได้อาศัยหลักเป็นที่ยึดซึ่งเป็นหลักที่ถูกต้องเรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเข้าในองค์ของอริยสัจอันเป็นทางพ้นทุกข์ล้วนๆ เมื่อพระองค์ท่านได้บำเพ็ญพระองค์ถูกตามหลักของสัจธรรมซึ่งเป็นหลักธรรมชาติแล้ว จิตก็ได้กลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ตามหลักธรรมชาติของตนโดยหลักธรรมที่ถูกต้อง อันเป็นหนทางในหลักธรรมชาติ จึงกลายเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาในโลกแล้วสอนสัตว์โลก พระพุทธองค์ก็ต้องนำหลักเหตุผลที่ได้ทรงดำเนินมาโดยถูกต้องมาสอน ดังนั้นธรรมะทุกบททุกบาทที่สอนไว้จึงเรียกว่า สวากขาตธรรม เป็นธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้วด้วยเหตุด้วยผลอย่างสมบูรณ์ และเป็นนิยยานิกธรรม นำผู้ประพฤติปฏิบัติตามให้พ้นจากทุกข์ไปได้เป็นลำดับเช่นเดียวกัน

นี่เราก็เป็นผู้ที่ทรงธรรมะ เป็นพุทธบริษัท คือเป็นลูกศิษย์พระตถาคตที่ปรากฏเด่นในไตรภพ โลกธาตุนี้ไม่มีใครเสมอเหมือนได้ ก็พยายามดำเนินตามพระพุทธเจ้าเรียกว่าตามเสด็จพระองค์ด้วยการให้ทาน ด้วยการรักษาศีล ด้วยการเจริญเมตตาภาวนาเป็นลำดับๆ ไป ไม่ให้มีความประมาทในชีวิตจิตใจของตน ซึ่งอาศัยลมหายใจเพียงเข้ากับออกเท่านั้น ทำให้มีความเป็นอยู่สำหรับตัวของเรา หากเข้าแล้วไม่ออกก็หมดปัญหากันทันที ออกแล้วไม่เข้าก็เป็นคนหมดความหมายเขาเรียกว่าคนตาย

บัดนี้ธรรมชาตินั้นยังไม่ถึงตัวของเรา เพราะลมหายใจเป็นเครื่องสืบต่อและต้านทานความตายไว้ เราจึงพอมีชีวิตสืบมาในวันหนึ่งๆ จึงไม่ควรประมาท เพราะชีวิตนี้เป็นของเล็กน้อยนิดเดียว เพียงลมหายใจเข้าแล้วไม่ออกเท่านั้นก็หมดปัญหาไปแล้ว ในระยะที่กำลังเข้ากำลังออกอยู่นี้ เราจะได้บำเพ็ญคุณงามความดีเต็มสติกำลังความสามารถของเรา ให้ใจของเราได้รับความสุข ใจนี้แลเป็นรากฐานของโลกของธรรม ใจนี้แลคือนักท่องเที่ยวในวัฏสงสาร เกิดแล้วเกิดเล่าไม่มีหยุดยั้งสักที เช่นเดียวมืดกับแจ้ง หากเราไม่แก้ไขสิ่งที่ปลอมแปลงซึ่งแฝงอยู่ภายในธรรมชาติคือใจนั้นออกได้หมดแล้ว จะต้องเป็นเช่นนั้นอยู่ตลอดไป

แม้ใครจะปฏิเสธว่าภพหน้าไม่มีก็ตาม จะเชื่อก็ตามไม่เชื่อก็ตาม นี้คือกฎธรรมชาติของใจที่มีธรรมชาติอันหนึ่งที่จะทำให้หมุนเวียนมีอยู่ภายในใจ จึงไม่ขึ้นอยู่กับกฎใด นอกจากจะขึ้นอยู่กับกฎธรรมชาติของตนที่เป็นมาแล้วและกำลังเป็นอยู่เวลานี้เท่านั้น จะเป็นไปในอนาคตข้างหน้า เมื่อเป็นเช่นนั้นเราต้องพยายามดัดแปลงจิตใจดวงนี้ หากจะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกับโลกทั้งหลาย ก็ขอให้มีเครื่องสนับสนุนอันดีเป็นเครื่องพามาพาไปพาอยู่ คือบุญกุศล แม้จะได้เกิดในภพนั้นๆ อยู่ยังไม่ได้พ้นก็ตาม ก็จะได้เกิดในสถานที่ดี คติที่เหมาะสมความสุขความสบาย นึกสิ่งใดก็ปรากฏขึ้นมาเพราะเราได้สร้างเอาไว้ บุญกุศลนี้ไม่อยู่ห่างไกลจากใจ จะให้ไปสู่สถานที่เหมาะสมตลอดไป จนกระทั่งถึงจุดสุดท้ายที่เรียกว่าถึงที่แล้ว บันไดไม่เกี่ยวกัน เหมือนคนเดินทางไปสู่จุดต่างๆ เมื่อถึงที่ต้องการแล้วทางก็หมดความหมาย คนขึ้นบนบ้านบนเรือนเมื่อถึงบ้านถึงเรือนแล้ว บันไดก็หมดความหมายจากกันไปเอง โดยไม่ต้องไปแยกไปแยะจากกัน

คำว่าบุญก็เหมือนกันเป็นธรรมชาติสมมุติอันหนึ่ง ในทางฝ่ายดี เป็นเครื่องสนับสนุนจิตใจของเราจนกระทั่งถึงจุดหมายปลายทาง แล้วบุญนั้นก็เป็นเหมือนบันได ก็ปล่อยกันไปเอง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงให้นามบรรดาพระขีณาสพว่า ปุญญปาปปหินบุคคล แปลว่าผู้มีบุญและบาปอันละเสียได้แล้ว คือขาดวรรคขาดตอนไปแล้ว ทำไมบุญจึงต้องละ ก็เป็นของดีแล้วมิใช่หรือ ดีอยู่แต่ดีอยู่ในขั้นบันได ไม่ใช่ดีอันแท้จริงตามจุดที่เรามุ่งหมาย คือเราขึ้นบันไดจะเป็นบันไดดีขนาดไหนก็ตาม เราไม่ต้องการจะอยู่กับบันไดนั้น แต่เราต้องการจะถึงจุดที่อยู่ เช่นบนศาลาหรือบนบ้าน เราต้องการบนบ้านต่างหาก บนศาลาต่างหาก

บุญจึงเป็นเพียงเครื่องสนับสนุนให้เราขึ้นมาถึงที่ถึงใจ ให้ถึงจุดสุดยอด ได้แก่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ เมื่อถึงขั้นบริสุทธิ์ล้วนๆ แล้ว คำว่าบุญซึ่งเป็นสมมุติอันหนึ่งนั้น แม้จะเป็นเครื่องพยุง ก็เมื่อถึงจุดมุ่งหมายแล้วความพยุงก็หมดปัญหาไปเอง ถ้าเทียบก็เหมือนกับพี่เลี้ยงคอยตามเลี้ยงเด็กนั่นเอง เมื่อเด็กสามารถรักษาตัวคุ้มแล้วผู้ใหญ่ก็ไม่จำเป็น นี่มีลักษณะเช่นนั้นเหมือนกัน จึงโปรดได้ทำความรู้สึกกับใจของเราให้ดี

ดังท่านอาจารย์ฝั้นท่านแสดงอยู่ที่วัดท่านสิงห์ทอง ก็รู้สึกว่าเป็นที่จับใจมาก ท่านพูดถึงจุดที่หมายทีเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างไปจากใจ ถ้าหากใจดีแล้วสิ่งภายนอกก็ดี นี่ท่านพูดถูกต้อง แม้ธรรมะอันละเอียดสุดยอดก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ถ้าใจได้ทำตัวให้หมดข้าศึกภายในตัว คือภายในก็ไม่มีสิ่งที่จะผลักดันออกไป ภายนอกจะอาจเอื้อมเข้ามาได้อย่างไร เพราะสื่อภายในไม่มีเป็นเครื่องติดต่อกัน ภายนอกก็ไม่มีปัญหา ใจเป็นผู้มีความบริสุทธิ์แล้วด้วยการชำระ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสที่มีอยู่เต็มโลกธาตุ จะไม่มีสิ่งใดสามารถอาจเอื้อมเข้าไปยุแหย่หรือทำลายจิตใจ ให้มีความลุ่มหลงและเดือดร้อนไปด้วย เพราะใจหมดเชื้อแห่งความลุ่มหลงภายในใจแล้ว นี่ท่านว่าบ่อแห่งความสุข

จะอยู่ที่ไหนก็ลืมวันลืมคืนลืมปีลืมเดือน เพราะวันคืนเดือนปีนั้นเป็นกาลเวลา ส่วนธรรมชาติที่บริสุทธิ์อยู่ภายในใจนี้เรียกว่า อกาลิโก เป็นของมีอยู่ประจำภายในใจ  ไม่ขึ้นอยู่กับเวล่ำเวลา อันนี้ไม่มีเวลา เรียกได้แต่เพียงว่าอกาลิโก เป็นของมีอยู่ และสันทิฏฐิโกรู้อยู่กับของมีอยู่แห่งท่านผู้บริสุทธิ์ นั่นท่านว่านิพพานเที่ยง จะหมายถึงอะไร ถ้าไม่หมายถึงใจที่เรียกว่าเป็นดวงอกาลิโกที่บริสุทธิ์ล้วนๆ นี้ไม่มีอะไรที่จะหมาย นี้แลคือพระนิพพานแท้ ท่านว่าอนุปาทิเสสนิพพาน ปล่อยภาระ ภาระคือขันธ์ทั้งห้าอันเป็นบ่อกังวลนั้นเสียโดยสิ้นเชิง ไม่มีสิ่งใดที่เหลืออยู่ สิ่งที่เหลือคือความบริสุทธิ์ล้วนๆ นั้นแลเป็นธรรมชาติที่ท่านเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน ไม่มีสิ่งใดที่จะไปก่อกวนอีกแล้ว เพราะธาตุขันธ์เครื่องก่อกวนนี้หมดไป

ส่วนสอุปาทิเสสนิพพานนั้น แม้จิตจะเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์แล้วก็ตาม ส่วนธาตุขันธ์ที่ได้เคยเป็นภาระมาดั้งเดิมตั้งแต่วันเกิดมา ก็ต้องไปถึงวันสลายถึงจะหมดภาระการดูแลรักษาทุกด้าน ต้องมีอยู่เป็นประจำเช่นเดียวกับเราๆ ทั้งหลายนี้ไม่ผิดกันระหว่างปุถุชนกับพระขีณาสพ ที่จะต้องปฏิบัติต่อขันธ์มีลักษณะเช่นเดียวกัน ที่ผิดกันก็คือใจของท่านผู้บริสุทธิ์แล้ว แม้ธาตุขันธ์จะแสดงอาการอย่างไรก็ตาม ท่านไม่มีความวิตกวิจารณ์เดือดร้อนวุ่นวายกับความแสดงดีและชั่วของธาตุขันธ์ แสดงอาการเปลี่ยนแปลงเป็นทุกข์ความลำบากต่างๆ ก็ตาม ท่านก็ทราบว่าขันธ์แสดงตัวเช่นนั้น แต่ผู้รู้อันบริสุทธิ์นั้นไม่ได้แสดงไปด้วย

อาการของธาตุจะแสดงขึ้นแง่ใดท่าใดรู้ไปหมด และไม่ซึมซาบถึงกันด้วย รู้วิธีปฏิบัติต่อกันโดยตลอดแล้วก็ไม่ลำบาก เมื่อชีวิตควรจะเป็นไปอยู่ก็หาสิ่งมาเยียวยารักษาไป เมื่อหาไม่แล้ว ไม่มีความสามารถจะรักษาได้ต่อไปแล้วก็ปล่อยลงไปตามสภาพเดิม ดังที่ปัญญาได้พิจารณาไว้โดยละเอียดแล้ว จึงไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นเครื่องกังวลกับพระขีณาสพท่านที่บริสุทธิ์แล้ว ในความเป็นอยู่และการตายไป ทั้ง ๒ ประเภทนี้จะไม่มีสิ่งใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน บรรดาท่านผู้มีความบริสุทธิ์ล้วนๆ ในทางใจแล้ว ที่ท่านจะทำให้มีน้ำหนักต่างกันก็เกี่ยวกับเรื่องของประโยชน์ที่จะทำต่อประชาชน เมื่อมีชีวิตอยู่ประมาณเท่านั้นประชาชนจะได้ประโยชน์จากท่านประมาณเท่านั้น นี่ท่านคำนวณไว้แล้ว ถ้าหากว่าควรจะเป็นไปอยู่ แต่กลับให้เป็นของหาไม่ไปเสียอย่างนี้ ประโยชน์ซึ่งควรจะได้ก็ปล่อยให้ผ่านไปอย่างนี้ไม่สมควร ท่านก็เยียวยารักษาไป นี่ละที่จะทำให้เป็นน้ำหนักว่าควรจะยังอยู่ก่อนยังไม่ควรจะไป

ถ้าพูดตามหลักธรรมชาติของความบริสุทธิ์ล้วนๆ และภายในกายของตนกับความบริสุทธิ์ล้วนๆ แล้ว จะไม่มีปัญหาแง่ใดว่าจะมีความหนักเบาต่างกันในระหว่างความเป็นอยู่กับความตายไปเสียของท่าน จะมีเท่ากัน เพราะความบริสุทธิ์นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเป็นอยู่นี้ และไม่ได้ขึ้นอยู่กับความตายไป แต่ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ล้วนๆ ซึ่งมีความสม่ำเสมออยู่ตลอดกาล ความเป็นอยู่นี้เป็นสภาพอันหนึ่ง ความตายไปเป็นสภาพอันหนึ่งเป็นสมมุติอันหนึ่ง ทั้งๆ ที่ธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟอันเดียวกันนั้นแล แต่ก็มีความแปลกต่างกัน ถ้าพิจารณาให้ถึงที่แล้วจะเป็นอย่างนั้น คือไม่มีสิ่งใดจะมีน้ำหนัก

เพราะจิตของท่านไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเป็นอยู่แห่งขันธ์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสลายไปแห่งขันธ์ แต่ขึ้นอยู่กับความพอตัวแล้วโดยไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดมาเป็นเครื่องส่งเสริมและกดถ่วง นี่คือธรรมชาติแท้อยู่ตรงกลางนั้น ไม่หนักในการไปเสีย ไม่หนักในการให้อยู่เสียก่อน แต่อยู่ในหลักมัชฌิมาที่เป็นหลักธรรมชาติ คือศูนย์กลางแห่งความรู้อยู่เสมอ ความรู้ในจุดเดียวนั้น นี่ท่านเรียกว่าใจที่เป็นของล้นค่า ถ้าทำให้ล้นค่าแล้วล้นค่าอย่างนี้ อยู่ที่ไหนก็รู้ ใครจะติว่าไม่ดีก็ตาม ไม่หิวโหยเอื้อมหยิบโน้นหยิบนี้ตามความเขาติฉินนินทาหรือตามความสรรเสริญ คือพอตัวอยู่แล้วตลอดเวลา ความสรรเสริญก็ดี ความนินทาก็ดี จะนินทาทุกขณะก็ทราบได้ทุกขณะที่เขาพูดออกมาให้ฟัง แต่ใจไม่ติด เขาสรรเสริญก็ทราบว่าเขาสรรเสริญเรา แต่ก็ไม่ติดคือพอแล้วไม่ทราบจะเอาอะไรมาเพิ่มอีก ท่านจึงเรียกว่าพอ

ถ้าไม่พอก็ต้องเอื้อมทันที ไม่ว่าจะเป็นความนินทาไม่ว่าจะเป็นความสรรเสริญ ต้องเอื้อมทันทีทีเดียว ใจที่อยู่ในระหว่างแห่งความหิวโหยกับอยู่ในระหว่างแห่งความพอตัวแล้วนั้นผิดกันในใจดวงนี้ แต่ใจอันแท้จริงนั้นไม่ใช่หิวโหยไม่ใช่จะเป็นความลุ่มๆ ดอนๆ หากมีสิ่งอันหนึ่งซึ่งเป็นของไม่มีเมืองพออยู่กับใจดวงนั้น จึงแสดงออกมาแบบไม่มีเขตมีแดน จะอยู่กับหัวใจใดไม่เป็นสุขทั้งนั้น ทำให้กวัดแกว่งอยู่เสมอ เหมือนน้ำที่ไม่นิ่งหาความใสสะอาดไม่มี ถูกกวนอยู่ตลอดเวลาด้วยอารมณ์ ถ้าข้างนอกไม่มาเกี่ยวข้อง ภายในตัวของตนเองก็ออกกว้านหา เลยยุ่งไปด้วยเรื่อง วันหนึ่งๆ จิตจึงอยู่ด้วยเรื่อง ไปด้วยเรื่องตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนั้นความสุขจึงไม่ค่อยมีที่จะเป็นเครื่องครองใจให้ได้รับความสะดวกสบาย

การอบรมภาวนาก็เพื่อ จะให้จิตของเราแนบแน่นลงไปสู่ความสงบเย็นภายในตัวเอง แม้จะเป็นตัวของตัวชั่วขณะที่มีความสงบลงเท่านั้น เราก็จะได้ทราบชัดระหว่างแห่งจิตที่ไม่มีอารมณ์ กับเวลาอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง จะเป็นอารมณ์ดีชั่วก็ตาม เราจะเห็นความแปลกจากกันในระหว่างแห่งจิตที่มีอารมณ์กับไม่มีอารมณ์มาก่อกวน มีความสุขต่างกันอย่างไรบ้าง ผู้ปฏิบัติจะทราบได้จากหลักภาวนา ถ้าหากจิตไม่มีเวลาสงบเลยก็จะไม่มีอะไรแปลกภายในตัวเอง แต่ถ้าได้ปรากฏเป็นความสงบขึ้นมาแล้วเราจะเห็นความแปลกที่ปรากฏขึ้นในขณะที่สงบนั้นแล ว่าเป็นขณะที่สำคัญมาก ตลอดชีวิตที่ผ่านมาได้เห็นเสียแล้วในขณะนี้ ที่จิตมีความสงบนี้เป็นขณะที่สะดวกสบายเป็นสุขมาก

ดังนั้นการภาวนาก็เพื่อจะให้รู้อย่างนี้ ทีแรกก็ลำบากต่อไปก็มีความสงบลงไปได้ ถ้านานไปๆ เพราะการแก้ไขหรือดัดแปลงอยู่เสมออบรมเสมอก็จะมีความเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ ความสงบนั้นเลยกลายเป็นพื้นฐานของจิตให้เป็นความเย็นใจสบาย เมื่อได้รับการอบรมการส่งเสริม ให้อาหารที่ดีแก่จิตใจอยู่เสมอแล้วจะต้องมีความเจริญขึ้นไปเป็นลำดับๆ จนกระทั่งถึงเจริญสุดขีดดังที่ได้อธิบายผ่านมาแล้วข้างต้น คือถึงขั้นที่พอตัว เป็นความบริสุทธิ์ล้วนๆ นั้นแลท่านเรียกว่าแก้วสารพัดนึก มีคุณค่าอยู่ภายในตัวเสร็จ จะอยู่ที่ไหนก็ไม่ลดคุณค่า สบายทั้งวันทั้งคืน เท่าที่อธิบายมาก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติลงเพียงเท่านี้

 

รับชมรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th

และทางสถานีวิทยุเสียงธรรม FM103.25MHz พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก