เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑
ที่สุดของจิต
พูดเมื่อเช้านี้ก็บอกว่าจิตเป็นของสำคัญ วันนี้ก็ต้องย้ำอีกว่าจิตเป็นของสำคัญ จิตเป็นธรรมชาติรู้ มีรู้อย่างเดียว..จิต รู้ดีรู้ชั่ว รู้เป็นคำวิพากษ์วิจารณ์ นั่นเป็นกิริยาของจิตแสดงออก ว่าเป็นเรื่องของสติบ้าง เป็นเรื่องของปัญญาบ้าง แต่จิตแท้ ๆ ไม่มีกิริยาอาการออกใช้ เป็นความรู้เท่านั้น ถ้ากิริยาแสดงออกจากจิตก็รู้ดีรู้ชั่ว รู้สุขรู้ทุกข์ รู้นินทารู้สรรเสริญ นี่เป็นกิริยาอาการออกมาแล้ว
สิ่งเหล่านี้เป็นของไม่แน่นอน เพราะเป็นกิริยา เป็นอาการของจิต มีการเกิดการดับ รับทราบแล้วก็ดับไป ๆ เช่นเดียวกับท่านเรียกว่าวิญญาณ คือความรับทราบจากอายตนะภายนอก เช่น รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เข้ามาสัมผัสกับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ทำให้เกิดวิญญาณขึ้นมา คือรับทราบตามขณะที่สิ่งนั้นมาสัมผัส แล้วดับไปในขณะที่สิ่งนั้นผ่านไป
ความรู้อย่างนี้ท่านเรียกว่าวิญญาณ หรือเรียกว่าอาการของจิต เช่น สังขารความคิดความปรุง ก็เป็นอาการของจิต จิตเมื่อแสดงอาการแล้วก็หาประมาณไม่ได้ แต่เมื่อไม่มีอาการใด ไม่แสดงอาการใดเลย ก็มีอย่างเดียวคือรู้
แต่รู้ของเรากับรู้ของท่านผู้บริสุทธิ์นั้นผิดกันมาก รู้ของเรามีสิ่งเจือปนอยู่ภายใน รู้ของพระขีณาสพคือพระอรหันต์ท่าน ไม่มีอันใดเจือปน มีแต่ความรู้ล้วน ๆ ความรู้ล้วน ๆ ที่ไม่มีอะไรเจือปนนั้นแลเป็นความรู้ที่วิเศษ เป็นความรู้ที่อัศจรรย์ เป็นความรู้ที่ทรงไว้ซึ่งความสุขเต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มภูมิฐานของจิตที่บริสุทธิ์ สุขก็เต็มภูมิ คงเส้นคงวา ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแปรปรวนเหมือนโลกทั้งหลาย เหมือนอาการต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ในโลกซึ่งเต็มไปด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แต่จิตนี้ไม่เป็นอย่างนั้น นี่หมายถึงจิตของท่านผู้ชำระได้บริสุทธิ์เต็มภูมิแล้ว
แต่หลักแห่งการท่องเที่ยวในวัฏสงสาร คือในภพชาติต่าง ๆ นั้น จิตเป็นหลัก จิตเป็นตัวสำคัญ จิตเป็นตัวการ ท่านจึงเรียกว่าสังสารจักร ก็คือหมายความว่าความเปลี่ยนไปตามกฎแห่งกรรม เพราะจิตอยู่ใต้อำนาจของกฎแห่งกรรม กรรมพาหมุนไปอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามกฎแห่งกรรมนั้น ๆ เนื่องจากจิตยังไม่พ้นวิสัยของกรรม
นอกจากจิตพระขีณาสพเท่านั้น นั่นท่านพ้นแล้ว ขึ้นชื่อว่าสมมุติไม่เข้าไปเกี่ยวข้องได้เลย ไม่ว่าสมมุติดีสมมุติชั่ว สมมุติประเภทใด ท่านอยู่เหนือสมมุติ คำว่าเหนือก็คือว่าไม่มีอะไรเข้าไปเกี่ยวข้องได้ จิตนั้นก็ไม่เกี่ยวข้องกับอะไร เป็นความรู้โดยหลักธรรมชาติของตนอยู่เช่นนั้นเมื่อบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว นี่เป็นที่สุดของจิต สุดที่ตรงนี้ สุดที่ตรงบริสุทธิ์
การท่องเที่ยวเกิดแก่เจ็บตายในภพน้อยภพใหญ่ สูง ๆ ต่ำ ๆ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เมื่อมาสิ้นสุดก็มาสิ้นสุดที่ตรงนี้ เหตุใดจึงต้องมาสิ้นสุดที่ตรงนี้ เพราะสาเหตุที่ให้ท่องเที่ยว ได้แก่เชื้ออันหนึ่งที่แฝงหรือแทรกซึมอยู่ภายในจิตหมดสิ้นไป มีแต่จิตล้วน ๆ จึงไม่เข้าไปปฏิสนธิในภพกำเนิดใดทั้งสิ้น
ถ้ายังไม่บริสุทธิ์เราจะปฏิเสธว่าตายแล้วไม่ได้เกิด หรือจะเป็นความเห็นโดยถ่ายเดียวตามความเข้าใจของตนว่าตายแล้วสูญก็ตาม ธรรมชาติอันนี้ไม่เป็นไปตามความเข้าใจความคาดหมายของผู้หนึ่งผู้ใด เพราะธรรมชาตินี้เหนือความคาดความหมาย แต่เป็นใหญ่ในตนของตนเอง คือเรื่องของกรรม สัตว์โลกจึงต้องหมุนไปด้วยกัน
ไม่ว่าชนิดใด ไม่ว่าสัตว์ในน้ำ บนบก บนอากาศ ภพละเอียด ภพหยาบ เช่น พวกภพที่เป็นทิพย์ อย่างภูตผี เทวบุตรเทวดา อินทร์ พรหม เหล่านี้เรียกว่าภพละเอียดที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเนื้อ แต่จิตก็ยังไปกำเนิดเกิดได้ในภพเช่นนั้น ภพหยาบ ๆ เช่น ภพสัตว์ ภพบุคคล เกิดเป็นสัตว์เป็นบุคคล ในน้ำบนบกก็เกิดได้ ขอแต่กรรมพาให้ไปเกิด กรรมเป็นผู้กำหนด กรรมเป็นผู้พาให้ไป
ในระหว่างที่จิตท่องเที่ยว ต้องท่องเที่ยวเพราะอำนาจแห่งกรรม ไม่ได้ท่องเที่ยวเพราะอะไร ท่านจึงสอนให้สร้างกรรมดี เพื่อกรรมดีนั้นจะได้พาไป ในเวลาที่ยังไม่ได้พ้นโลกพ้นสงสาร พ้นจากความเกิดแก่เจ็บตายในภพน้อยภพใหญ่ ก็ขอให้เป็นสุขในระยะแห่งภพนั้น ๆ ก็ยังดี เช่นเดียวกับเราเดินทางมีเครื่องป้องกันตัว ร่มเราก็มี รองเท้าเราก็มี ฝนตก แดดออก เราก็กั้นร่มกันฝน ร้อนทางพื้นเราก็ใส่รองเท้ากันร้อน ไม่ร้อนแผดเผา ไม่หนาวจนเกินไป เพราะมีสิ่งป้องกันตัว สิ่งป้องกันตัวนั้นแลเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งหลายได้ ผิดกับคนที่ไม่มีเครื่องป้องกันตัวใด ๆ อยู่มาก
มีคนสองคนเดินทางไปด้วยกันนั้นแล คนหนึ่งไม่มีเครื่องป้องกันตัวอะไรเลย ฝนตกก็ถูก แดดออกก็ถูก เรียกว่าตากทั้งแดดทั้งฝน ทางพื้นก็ร้อน ข้างบนก็ร้อน ข้างล่างก็ร้อน คนทั้งสองนี้เดินทางไปด้วยกันในระยะทางขนาดเดียวกัน จะมีความบอบช้ำต่างกันอยู่มาก คนผู้มีเครื่องป้องกันตัว มีความบรรเทาทุกข์อยู่ในตัว ไม่เหมือนคนที่ไม่มีเครื่องป้องกันตัว มีแต่ความทุกข์เต็มที่เต็มฐาน
การท่องเที่ยวในวัฏสงสารก็มีลักษณะเช่นนั้น ไม่ผิดจากสิ่งนี้ไปได้เลย พระพุทธเจ้าจึงสอนให้สร้างเครื่องป้องกันตัวจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง เหมือนคนเดินทาง จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางต้องมีเครื่องป้องกันตัวและเสบียงกรังต่าง ๆ เพื่อไม่ให้อดอยากขาดแคลนในเวลาเดินทาง เดินไปก็ต้องมีสิ่งเสวย มีสิ่งอาศัย อยู่ก็ต้องมีสิ่งอาศัย จะอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้ เพราะไม่ใช่พระนิพพาน พระนิพพานนั้นเป็นผู้พอแล้ว จิตที่บริสุทธิ์เต็มภูมิแล้วเป็นจิตที่พอทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ไม่ต้องการอันใดเข้าไปส่งเสริม เพราะไม่มีความบกพร่อง
แต่จิตธรรมดาสามัญทั่ว ๆ ไป ยังต้องอาศัยการส่งเสริมการบำรุงการรักษา การไปจึงต้องอาศัยความสุขความเจริญเพื่อเป็นเครื่องบรรเทา ได้รับความสุขความสบาย แม้มีทุกข์ก็มีเครื่องบรรเทา มีสุขก็เป็นความสะดวกสบายในภพชาตินั้น ๆ
ท่านจึงสอนให้สร้างคุณงามความดีไว้เป็นเครื่องประดับใจ ไว้เป็นเครื่องส่งเสริมหรืออุ้มชูจิตใจของเรา เวลาจนตรอกจนมุมจนจริง ๆ ไม่มีที่พึ่งที่อาศัย สิ่งที่เราเคยอาศัยภายนอกมาเป็นเวลาเท่าไรก็ตาม เมื่อสุดวิสัยจะอาศัยสิ่งเหล่านั้นได้แล้วก็ไม่มีอะไรจะอาศัย นอกจากบุญจากกุศลที่เราได้สร้างไว้ เป็นแก้วสารพัดนึกอยู่ภายในจิตใจของเรา เกิดในภพใดชาติใดก็ให้มีความสุขความสบาย พอเป็นเครื่องบรรเทากันไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าภพใดชาติใดก็พออยู่พอเป็นพอไปไม่เดือดร้อนวุ่นวายอะไรมากนัก ผิดกับที่ไม่มีอะไรเป็นเครื่องเสวยเป็นเครื่องบรรเทาเลยอยู่มาก
คนที่คิดอยากย้ายบ้านย้ายเรือนไปอยู่บ้านโน้นบ้านนี้ ก็เพราะความทุกข์ยาก ความขัดสนจนใจเป็นเครื่องบีบบังคับ ไปอยู่ที่โน่นเห็นจะดีกว่าที่นี่ ไปอยู่ที่นั่นเห็นจะดีกว่าที่นี่ จิตใจจึงต้องเสาะต้องแสวงให้ไป ไปแล้วก็อย่างว่านั่นแหละ ถ้าหากตัวของตัวไม่มีความสามารถอยู่แล้ว ไปอยู่ที่ไหนก็ได้รับความลำบากลำบน เช่นเดียวกับอยู่สถานที่นี่นั่นแล
ถ้าเป็นผู้มีความสามารถอยู่แล้ว มีความสมบูรณ์พูนสุขด้วยสมบัติเงินทองข้าวของ คนเราย่อมไม่คิดอยากจะย้ายบ้านย้ายเรือนไปอยู่ที่ไหน เพราะการทำมาหาเลี้ยงชีพก็เป็นความสะดวกสบายอยู่แล้ว ก็ไม่ทราบจะโยกย้ายบ้านเรือนไปสู่สถานที่นั่นที่นี่ ได้รับความลำบากลำบนวุ่นวายอะไร อยู่สบายแล้วก็อยู่ไป นี่คือความทุกข์มันพาให้กระเสือกกระสนกระวนกระวาย ให้ไปที่นั่นว่าจะดี ไปที่นี่ว่าจะดี ถ้าหากเจ้าของไม่ดีอยู่แล้วไปไหนก็เท่าเดิม เพราะฉะนั้นธรรมของพระพุทธเจ้าจึงต้องสอนให้สร้างเจ้าของให้ดี
ภพใดก็ตามถ้าเป็นภพของผู้ไม่มีบุญ ภพของผู้มีบาปหนัก จะมีแต่ฟืนแต่ไฟไปทุกภพทุกชาติ ดิ้นรนกวัดแกว่งไปอยู่ตลอดเวลา ด้วยอำนาจแห่งกรรมเผาผลาญจิตใจในภพชาตินั้น ๆ หาความสุขไม่ได้ ถ้าเป็นไปเพราะอำนาจแห่งบุญแห่งกุศล ไปภพใดก็มีแต่ความสุขความสบาย ไม่ดิ้นรนกวัดแกว่งไม่วุ่นวาย อยู่ไหนก็อยู่ได้คนเราถ้าไม่มีทุกข์มาบีบคั้นเสียอย่างเดียว แม้แต่มนุษย์เรานี้ถ้าไม่มีทุกข์มาบีบคั้นเราก็อยู่ได้ ทำไมจะอยู่ไม่ได้
ยิ่งทำจิตใจให้บริสุทธิ์ด้วยแล้ว ก็อยู่ในมนุษย์นี้แหละ เป็นมนุษย์ทั้งคนนี้แหละ แต่จิตก็เป็นอริยจิต เป็นวิสุทธิจิต จิตสบายไม่กระทบกระเทือนกับอารมณ์อะไร อะไรก็เข้าไม่ถึง มีแต่ความสบายอยู่ทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอน หากจะมีอยู่บ้างก็เพียงธาตุเพียงขันธ์มันรบกวน เพราะความเจ็บนั้นปวดนี้ ตามเรื่องของธาตุขันธ์ที่ว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มันก็แสดงไปตามเรื่องของมัน ส่วนจิตใจนั้นไม่มีอะไรเข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นความผาสุกเย็นใจ หากว่าร่างกายไม่แตก อยู่ตั้งกัปตั้งกัลป์ก็อยู่ไปได้ ไม่คิดอยากตายเพราะไม่มีทุกข์อันใดมาบีบบังคับ
บุญกุศลนั้นแหละเป็นเพื่อนสองของเราในเวลาเดินทางหรือท่องเที่ยวในสังสารวัฏ คือความหมุนไปเปลี่ยนมาแห่งภพแห่งชาติ ต้องมีบุญกุศลสมภารที่เราสร้างไว้เป็นเครื่องสนับสนุน เป็นเพื่อนสอง นึกถึงอะไรก็เป็นมาเกิดมาสนองความต้องการ ให้มีความสุขความสบาย อยู่ภพใดชาติใดก็พออยู่ถ้ามีบุญ
บุญคือความสุข ความสุขไม่ว่าสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย อย่าว่าแต่มนุษย์เราต้องการเลย เขาก็ต้องการเช่นเดียวกับเรา แต่เขาไม่มีความเฉลียวฉลาดเหมือนมนุษย์ พอที่จะสร้างความสุขขึ้นที่จิตใจได้เหมือนเราเท่านั้น เขาก็อยู่ตามประสาของเขาไป เราเป็นมนุษย์ที่มีความฉลาดแหลมคมยิ่งกว่าสัตว์ และมีศาสนาเครื่องชี้แนวทางฝ่ายเหตุให้เราได้ดำเนินด้วยความถูกต้อง และเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติศาสนา คือความสุขความพึงใจภายในใจของเรา จิตใจเมื่อมีบุญมีกุศล อยู่ก็พออยู่ ไปก็พอไป ไปไหนก็พอไป เพราะมีความชุ่มเย็นอยู่ภายในตัวอยู่แล้ว ท่านจึงสอนให้สร้างตรงนี้
ใจเป็นของสำคัญมากยิ่งกว่าวัตถุสิ่งใดทั้งสิ้น ใจเป็นรากเป็นฐาน ใจเป็นผู้ท่องเที่ยวในภพน้อยภพใหญ่ ตามท่านกล่าวไว้ว่า อเนกชาติสํสารํ สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ ดังนี้เป็นต้น การท่องเที่ยวในวัฏสงสารนับประมาณไม่ได้มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ บัดนี้เราได้ทำลายแล้วซึ่งกงจักรคืออวิชชา ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว บัดนี้เราเป็นผู้ไม่เกิดอีกแล้ว นี่คือพระอุทานของพระพุทธเจ้าที่ทรงรื้อกงจักรที่พัดผันอยู่ภายในจิตใจ ให้ได้หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปในภพน้อยภพใหญ่ สิ่งนี้ขาดสะบั้นลงไปแล้ว เหลือแต่วิวัฏฏะคือไม่หมุน เป็นความบริสุทธิ์ล้วน ๆ นี่ก็หมายถึงใจ
เราทุกคนมีวาสนาด้วยกัน พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนไม่ให้ประมาทอำนาจวาสนาของกันและกัน เพราะมีอยู่ภายในจิตใจโดยเฉพาะ ไม่เป็นสิ่งที่จะมาออกร้านค้าขายเหมือนสิ่งของต่าง ๆ แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ภายในจิต ฝังอยู่อย่างลึก ไม่มีใครทราบ แม้ตัวเองก็ยังไม่อาจทราบได้ เพราะมีสิ่งหนึ่งปิดบังอยู่ภายในตัวของตัวเราเอง
แต่พอที่จะทราบได้ว่าเรามีความเชื่อความเลื่อมใสในศาสนธรรม พอใจในการทำบุญให้ทาน รักษาศีล ภาวนา นี่เป็นเชื้อเดิมแห่งนิสัยของผู้ที่เคยสร้างคุณงามความดี เคยถือศาสนา เคยสร้างบุญญาภิสมภารมาแล้ว จึงยึดหลักนิสัยเดิมนี้ไว้ พอใจกับการบำเพ็ญของตนที่เคยเป็นมา แม้เราจะจำไม่ได้ว่าเราเกิดภพใดชาติใด ได้เคยสร้างคุณงามความดีอย่างนี้หรือไม่ประการใดก็ตาม เราก็ถือเอาความเป็นของใจเราซึ่งแสดงอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นสักขีพยานได้เลย จิตเคยอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น นี่เป็นหลักใหญ่
วาสนาอยู่ที่ใจ สร้างแล้วก็รวมเข้าไปสู่ใจ ๆ โดยลำดับ ๆ เมื่อวาสนาบารมีของเราแก่กล้าแล้ว เรื่องมีวาสนามากน้อยหากจะรู้ภายในตัวของเรา นั่นตอนนั้นเป็นตอนที่เปิดเผยเต็มที่แล้ว เจ้าของเห็นได้อย่างชัดเจน ได้ชมสมบัติ คือ ธรรมชาติอันล้นค่าอยู่ภายในจิตใจของตน ทำให้เราเกิดความภาคภูมิในการบำเพ็ญของเรา แม้ชาติปัจจุบันถ้าหากเราระลึกชาติใดไม่ได้ เราก็ได้ภาคภูมิจิตใจว่าเราได้เคยทำมาอย่างนั้น ๆ จิตใจของเราจึงได้เป็นอย่างนี้ ๆ อย่างนี้เป็นต้น เป็นสิ่งที่ส่อให้เราเห็นได้อย่างชัด
ในโลกนี้ภพภูมิของสัตว์นั้นน่ะ มีมาก เราอย่านับเพียงหมื่น ๆ แสน ๆ ภพภูมิเลย มีมากกว่านั้น ที่จิตมีทางที่จะเป็นไปได้ต่าง ๆ นานา เพราะสิ่งที่ไม่แน่นอนเหล่านี้แล และสิ่งที่ไม่ไว้ใจเหล่านี้แลซึ่งมีมาก พระพุทธเจ้าจึงสอนลงในจุดรวมว่า ผู้ใดเป็นผู้ที่จะไปสู่ในภพชาติใด ๆ ต้องขึ้นอยู่กับจิตนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นจงสร้างจิต ฝึกฝนอบรมจิตให้ดีเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าอบรมจิตนี้ด้วยดี คือโดยศีลโดยธรรมแล้ว จะมีสักกี่ร้อยล้านภพภูมิของสัตว์ก็ตาม จิตจะเกิดในภพภูมิที่ดีเท่านั้น เหมาะสมกับวาสนาบารมีของตน สิ่งเหล่านั้นก็เป็นโมฆะไปหมดกับจิตดวงที่มีความดี
ถ้าจิตไม่มีความดีสิ่งเหล่านั้นใกล้อยู่มาก ใกล้กับจิตดวงนี้ที่จะสวมใส่เข้าไปได้อย่างง่ายดาย พระพุทธเจ้าต้องกีดต้องกันเอาไว้ด้วยพระโอวาทคำสั่งสอน ให้สัตว์โลกทั้งหลายได้พินิจพิจารณาและประพฤติปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้องแม่นยำไม่เป็นอย่างอื่น สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย การสั่งสมขึ้นซึ่งบุญย่อมนำมาซึ่งความสุข สุขทั้งชาตินี้ สุขทั้งชาติหน้าภพหน้า สุขไม่มีจืดมีจาง สุขไม่เบื่อ ก็คือ สุขด้วยอำนาจแห่งบุญแห่งกุศล คือความสุขใจ จึงขอให้พากันอุตส่าห์พยายาม
นี่เรามาบำเพ็ญเป็นกาลเป็นเวลา เพราะเราเป็นฆราวาส ต้องวิ่งเต้นขวนขวายเพื่อปากเพื่อท้อง เพื่อลูกเพื่อหลาน เพื่อญาติเพื่อวงศ์ เพื่อผู้เกี่ยวข้องมากน้อย มนุษย์เราอยู่ที่ไหนต้องมีความวุ่นวายกับกิจการงานเหล่านี้เหมือน ๆ กันหมด นั่นเป็นความจำเป็นส่วนหนึ่งที่เราจะต้องทำ ส่วนจิตใจคือการสร้างบุญสร้างกุศลก็อย่าปล่อย อย่าลดละ ให้พยายามทำเป็นคู่เคียงกันไป
ข้างนอกสมบัติภายนอกเราก็มี อาศัยได้ตลอดไป สมบัติภายในเราก็อาศัยได้ตลอดไปเช่นเดียวกันกับสมบัติภายนอก และเป็นสมบัติที่เฉพาะของตัวละบุคคล ๆ ที่จะต้องพึ่งพิงอิงอาศัยสมบัติอันนี้ อันเป็นแก้วสารพัดนึกอยู่ภายในจิตใจ ให้มีความสุขความเจริญในภพชาติต่อไป สมกับมนุษย์เรามีปัญญาเฉลียวฉลาด คาดหน้าคาดหลังเพื่อตัวเองได้โดยถูกต้อง แล้วบำเพ็ญประพฤติปฏิบัติธรรมตามหลักคำสั่งสอน ซึ่งเป็นสวากขาตธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว เราก็ไม่ผิดหวัง
อยู่ในโลกนี้ก็เกิดถูกต้องเหมาะสมแล้ว คือภูมิมนุษย์ ภพหน้าก็จำต้องเหมาะสมเช่นเดียวกัน เพราะอำนาจแห่งบุญแห่งกุศลเป็นผู้พาให้เกิดเป็นผู้พาให้เป็น นี่คือความแน่ใจของผู้สร้างบุญ
ฉะนั้นในอวสานแห่งการแสดงธรรมนี้ ขอบุญญานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ จงคุ้มครองท่านทั้งหลายให้มีความสุขกายสบายใจ อย่าได้มีโรคาพยาธิอันใดมาเบียดเบียนทำลาย ให้ได้บำเพ็ญคุณงามความดีเต็มสติกำลังความสามารถของตน จนถึงอวสานสุดท้าย ให้สมกับความมุ่งมาดปรารถนาดังที่ท่านทั้งหลายมุ่งไว้แล้วโดยทั่วกัน จึงขอยุติเพียงเท่านี้
*************
|