พระพุทธเจ้าเลิศด้วยธรรม
วันที่ 10 พฤษภาคม 2545 เวลา 8:00 น. ความยาว 29.58 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)   วิดีโอแบบ(Win High Band)

ค้นหา :

พระพุทธเจ้าเลิศด้วยธรรม

วันนี้วันที่ ๑๐ ใช่ไหม แน่ะ วันที่ ๑๒ ก็ไปเทศน์ที่วัดโยธาฯ พอดีตรงกับวันเราบวช เราบวชวันที่ ๑๒ พฤษภา ไปเทศน์ที่วัดโยธาฯ ตรงกับวันที่ ๑๒ พฤษภา วันที่ ๑๒ สิงหา เกิด วันที่ ๑๒ พฤษภา บวช แต่ พ.ศ.ต่างกัน

ทองคำเมื่อวานนี้ได้ ๑ บาท ดอลลาร์ได้ ๓๗ ดอลล์ เราเหนื่อยมากไม่อยากพูดอะไรมาก ทุกวันนี้เหนื่อย เวลาเทศน์นี่เหนื่อย ในขณะที่เทศน์มันก็เป็นของมันไป พอจบเทศน์ลงแล้วเหนื่อย ในขณะเทศน์มันก็ทำงานปัจจุบันของมัน มันก็ไม่สนใจ นอกจากโรคอันนี้มันจะแย็บขึ้นมาเตือน ถ้าธรรมดาแล้วมันจะเรื่อย ๆ จบลงแล้วก็เหนื่อย เทศน์เร่งก็เป็นไปตามเนื้อธรรม เนื้อธรรมสูงขึ้นละเอียดเท่าไร ละเอียดเข้าไปเท่าไร เครื่องมือจะหมุนไปเร่งเข้า ๆ ลมก็ใช้มากขึ้น มันเป็นหลักธรรมชาติของมัน ลมก็แรงขึ้น ประกอบพอดี ๆ กันในหลักธรรมชาติของมัน ลมก็ใช้แรงขึ้น เสียงก็ดังขึ้นเข้มข้นขึ้น ทุกอย่างมันเป็นไปพอดีกันนั่นแหละ ถ้าธรรมะธรรมดา ๆ มันก็ธรรมดา พูดออกมาก็ธรรมดาไป ถ้าธรรมะละเอียดเข้าไป ๆ อากัปกิริยาของสุ้มของเสียงของลมอะไรนี้ มันจะแสดงของมันเพิ่มขึ้น ๆ เรื่อย ๆ ถ้าเป็นธรรมะสูง สูงสุดแล้วพุ่งเลย บางทีจะหายใจไม่ทัน พูดให้มันตรงศัพท์ความสัตย์ความจริงซิ คือพลังของธรรมพุ่ง หนุนทุกอย่างออก พูดแทบไม่ทัน คือไม่ทันใจไม่ทันธรรมที่ผลักดันออกมา นี่คือทางภาคปฏิบัติ

ภาคปริยัติจะพูดธรรมะขั้นไหนก็เป็นคำบอกเล่าธรรมดา คำบอกเล่าไปเรื่อย ๆ เล่าตั้งแต่ต้นนรกอเวจีขึ้นมาแดนมนุษย์ แดนสัตว์ก็เล่า เพราะตำราท่านเขียนไว้อย่างนั้น เป็นคำเล่าเรื่องไปเฉย ๆ คำเล่าเรื่องคำบอกเล่าไปเรื่อย ๆ จนถึงนิพพาน ตามตำราท่านแสดงเอาไว้ก็เป็นคำบอกเล่า นี่คือภาคความจำ จะต่ำจะสูงก็เป็นคำบอกเล่าด้วยกัน ไม่มีขึ้นสูงต่ำ สูงต่ำก็บอกเล่าสูงต่ำธรรมดา คลื่นกระทบตามความสูงต่ำไม่มีภาคปริยัติ พูดไปถึงไหนก็เป็นคำบอกเล่าธรรมดาไปเรื่อย ๆ เป็นธรรมดาไปตลอด เพราะเจ้าของไม่เห็น เจ้าของไม่รู้ ได้แต่ความจำมาเฉย ๆ เช่นอย่างเขียนหนังสือบอกว่า เสืออยู่ในป่าละเมาะนี้ เสือร้ายคอยกินคนตลอดเวลา ใครอยากตายก็ให้เข้าไป ทีนี้เวลาอ่านไปก็อ่านว่า เสือร้ายคอยกินคนตลอดเวลา ใครอยากตายก็เข้าไป ก็อ่านธรรมดามันไม่สนิทกับเสือร้ายเข้าใจไหม เพราะเป็นคำบอกเล่า เสือร้ายตัวนั้นก็เป็นเสือร้าย เราก็เป็นเรา บอกเล่าไปธรรมดา ไม่เห็นมีอะไรตื่นเต้นใช่ไหมล่ะ

ถ้าเป็นภาคปฏิบัติว่าเสือร้ายอยู่ในนั้น มันดูจริง ๆ มันเห็นจริง ๆ ว่าเสือร้าย มันเห็นจริง ๆ โดดผางเลย นี่เป็นคลื่นหนึ่ง ๆ คลื่นของธรรม เพราะพูดอะไรเห็นจริง ๆ ไม่ได้พูดหลอกลวง ไม่เป็นคำบอกเล่า อย่างที่พูดนี่ยกตัวอย่างได้แล้ว เช่นอย่างเสือร้ายมันอยู่ในป่าละเมาะนี่ คอยกัดคนเป็นอาหาร เวลานี้เขากำลังหิวโหยมาก ใครอยากตายก็ให้เข้าไป ก็บอกเล่าไปเฉย ๆ เสือร้ายก็เสือร้าย อะไรก็อันนั้นแหละ ก็ไม่เห็นตื่นเต้นอะไร ถ้าเป็นหลักความจริงคือไปรู้เห็นเองแล้วจะเป็นยังไง ดีดผึงเลย นี่จิตที่รู้ธรรมก็เหมือนกัน ที่ท่านบอกไว้ยังไงเป็นความจริงล้วน ๆ ทีนี้เราไม่เห็น ได้ยินแต่ชื่อแต่นามแต่เรื่องราวเฉย ๆ เราก็ไม่กลัวไม่กล้า ถ้าเราไปเห็นจริง ๆ ในสิ่งที่น่ากลัว กลัวทันที สิ่งที่น่ากล้ากล้าหาญทันที

ทั้งกล้าทั้งกลัวเป็นคลื่นทั้งนั้น สะดุดในหัวใจปึ๋ง ๆ เร่ง ๆ ธรรมะขั้นสูงเท่าไร ๆ ยิ่งประจักษ์ยิ่งละเอียดลออยิ่งอัศจรรย์ นั่น มันก็หมุนไปตามนั้นผาง ๆ ผางไปเลย นี่ภาคปฏิบัติให้ท่านทั้งหลายจำเอาไว้เสีย หลวงตาบัวตายจะไม่มีใครพูดนะ พูดจริง ๆ เราไม่ยกตนข่มท่าน เราก็บวชมานานก็ยังไม่เห็นใครมาพูดออกสนามอย่างที่เราพูดเรื่อยมาในระยะ ๔ ปีนี้ อันนี้เราพูดธรรมะทุกขั้นให้พี่น้องทั้งหลายฟังทั่วถึงกัน ตั้งแต่ขั้นพื้น ๆ จนกระทั่งขั้นวิมุตติพูดหมด ไม่ได้พูดเป็นคำบอกเล่านะ เป็นคำพูดที่เจอมาจริง ๆ นี่น่ะ ๆ เรื่อย นี่น่ะ ๆ เรื่อย เพราะฉะนั้นการเทศนาว่าการจึงเปลี่ยนตัวไปเรื่อย ๆ ตามขั้นของธรรม ถ้าธรรมพื้น ๆ ก็ไปพื้น ๆ พอธรรมสูงขึ้น ทางนี้ก็ขยับเรื่อย ขยับตามกันนี้เลย เรียกว่าเครื่องร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ธรรมะสูงเท่าไรเครื่องร้อนจี๋เลย พุ่ง ๆ

อย่างเราเป็นอยู่ทุกวันนี้ก็มีโรคหัวใจคอยเตือน คืออันนี้กระตุก เวลาเร่งธรรมะขั้นสูงมันออกรุนแรง ถ้าว่าน้ำก็เรียกว่าเปิดกันทั้งถังเลย มันก็พุ่งใหญ่ซิ เปิดกันทั้งถังกับเราเปิดเป็นช่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มันต่างกันนะ น้ำเปิดแคบ ๆ ก็ได้ เปิดใหญ่กว่านั้นก็ได้ เปิดจนฟาดทั้งถังมันก็พุ่งของมันเลย นี่ธรรมะจะให้ออกมากออกน้อยตามที่จะเปิดออกใส่สิ่งเพาะปลูกอะไรบ้าง รดอะไรบ้าง อะไรสมควรกับน้ำมากน้อยเพียงไร มันจะออกพอดิบพอดี ๆ พอถึงขั้นที่ควรจะพุ่งทีเดียว รออยู่ปากคอกแล้ว ถ้าเป็นวัวรออยู่ปากคอกแล้ว เปิดคอกปึ๋งก็ออกเลย นี่ธรรมพระพุทธเจ้าท่านสอน อย่างท่านสอนเบญจวัคคีย์ทั้งห้ามีที่ไหนคำว่าศีล ท่านไม่ได้สอนศีลนี่ สมาธิท่านก็ยังไม่สอน แต่มันเริ่มกลมกลืนกันไปกับเรื่องปัญญา

เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา ขึ้น กามสุขัลลิกานุโยค และ อัตตกิลมถานุโยค ทั้งสองอย่างนี้ผิดทั้งนั้น มัชฌิมาปฏิปทาพุ่งเข้าไปตรงกลาง ทั้ง ๆ ที่ศีลก็มีอยู่ในนั้นแต่ท่านไม่กล่าวถึง ศีลกับธรรมก็อยู่ในหัวใจดวงเดียวกัน กล่าวไปนี้ก็กระเทือนถึงกันหมด เทฺวเม ภิกฺขเว ขึ้นไปตลอดกัณฑ์ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ท่านไม่กล่าวถึงศีล เรื่องสมาธิท่านก็ไม่กล่าว ก็มันกลมกลืน แต่ท่านเอาปัญญาเป็นหลักใหญ่ สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป นั่นละปัญญา ขึ้นพุ่ง ๆ ทีนี้พวกศีลพวกสมาธิก็อยู่ในนั้นหมด ในมรรค ๘ ทั้งหมด ก็ไปด้วยกันเลย พุ่ง นี่จวนเข้าแล้ว หลังจากนั้นมาก็เทศน์ อนัตตลักขณสูตร อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ให้ปล่อยวางทั้งหมด คราวนี้ปล่อยแล้ว กลับมาดูโทษของมัน ทุกสิ่งทุกอย่างให้เห็นทั้งคุณทั้งโทษ กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค นี้เป็นเรื่องของโทษล้วน ๆ ไม่มีคุณ มัชฌิมาปฏิปทานี้เป็นคุณล้วน ๆ ไม่มีโทษแก้เข้าไป ให้เห็นชัด ๆ อย่างนี้

จากนั้นก็ ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา อนัตตลักขณสูตร เทศน์ไตรลักษณ์ทั้งนั้นให้ปล่อย ๆ เห็นชัด ๆ แล้วปล่อยทีนี้ เอ้า ปล่อย มันก็ปล่อยหมดโดยสิ้นเชิงด้วย อนัตตลักขณสูตร ที่ท่านบอกออกอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนนั้นท่านก็บอก เช่น อนุปุพพิกถา ๕ เรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องสวรรค์ อาทีนพ เนกขัมมะ เป็นชั้น ๆ ไป เหมือนเครื่องบินเหินฟ้า ขึ้นแต่พื้นแล้วขึ้นสูงเรื่อย ๆ ตั้งแต่ทานแต่ศีล สวรรค์ อาทีนพ จากนั้นก็เนกขัมมะ ออก เป็นชั้น ๆ ขึ้นไป อย่างนั้นท่านก็กล่าวไว้ในชุมนุมชนและสัตว์โลกที่จะควรรับธรรมะโดยลำดับ ท่านก็สอนเป็นพื้นโดยลำดับ ถ้าผู้ที่พร้อมแล้วที่จะออกโดยถ่ายเดียวก็ขึ้นเรื่องปัญญาไปเลย

ธรรมะภาคปฏิบัติท่านพร้อมทุกอย่าง ในหัวใจท่านพร้อมหมดเลย เพราะฉะนั้นท่านเทศน์อะไรไปจึงไม่มีบกพร่องที่จะแก้ว่า เทศน์คราวก่อนนั้นผิดไป เทศน์คราวนี้จึงถูก มาแก้ใหม่อย่างนี้ไม่มี ธรรมะภาคปริยัติกับภาคปฏิบัติเหมือนเป็นคนละโลกนะ นี่ถ้าเราไม่ได้เรียนใครก็จะว่าหลวงตาอุตริมาทั้งโคตรนั่นแหละ แต่เราเรียนมาเต็มเหนี่ยว เต็มกำลังความสามารถของเรา ภาคปฏิบัติก็แบบเดียวกัน ทีนี้มันก็รับกันได้ทันที ๆ แยกแยะตรงไหนได้ทันที ภาคปริยัติเป็นภาคบอกเล่า สายทางเดิน ทั้งละทั้งบำเพ็ญ ภาคปฏิบัติเป็นภาคที่ก้าวเดินตาม ก้าวเดินเพื่อละเพื่อบำเพ็ญ มันก็เห็นทั้งสิ่งที่จะละ เห็นทั้งสิ่งที่จะบำเพ็ญ มันเห็นทั้งสอง ๆ ก้าวไปทั้งสองก็ไปเจอเอาตัวจริงเข้า ๆ นี่ภาคปฏิบัติเจอตัวจริง ไม่ได้เจอแต่คำบอกเล่าเหมือนปริยัติ มันต่างกัน

ทีนี้เวลาภาคปฏิบัติจับเข้าเหนียวแน่นขึ้นเรื่อย ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างแม่นยำไปตลอด แน่นหนามั่นคงไปตลอด ละเอียดไปตลอด แม่นยำไปตลอด อย่างนั้นนะภาคปฏิบัติ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้ามาสอนโลกจึงไม่มีคำว่าลูบ ๆ คลำ ๆ ท่านสอนด้วยความรู้แจ้งตลอดทั่วถึงหมด ดึงออกมาอันไหนร้อยเปอร์เซ็นต์ ๆ ทั้งนั้น เห็นด้วยกันไม่ว่าหยาบละเอียด เห็นเหมือนกันหมด เสมอกันหมดเลย เพราะฉะนั้นจึงหยิบยกออกมาพูดได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยตามธรรมขั้นนั้น ๆ หรือกิเลสประเภทต่าง ๆ ธรรมขั้นต่าง ๆ ท่านจึงพูดได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย จากหัวใจของท่านที่ได้ประมวลมาไว้หมดแล้ว นี่ละท่านว่า ปริยัติ ปฏิบัติ

ศาสนาเราถ้ามีแต่ปริยัติมันก็มีแต่แปลนบ้านแปลนเรือน ไม่มีตึกรามบ้านช่อง เพราะไม่เอาแปลนออกมากางปลูกบ้านปลูกเรือนก็ไม่มีผลประโยชน์อะไร ก็มีแต่แปลนเต็มห้อง เรียนปริยัติมาหมดพระไตรปิฎกก็มีแต่แปลนพุทธศาสนาเต็มหัวใจคือความจำเต็มหัวใจนั่นแหละ ไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา วิชชา วิมุตติหลุดพ้น ประจักษ์หรือใจที่บรรจุไว้เลย ไม่มี มีแต่ความจำ ความจริงคือเป็นความจริงที่ตัวเองได้รู้ได้เห็นจากภาคปฏิบัติ ซึ่งนำจากปริยัติมาเป็นแบบแปลนแผนผังก้าวเดิน พอก้าวเดินเท่านั้นมันก็รู้ก็เห็น เหมือนอย่างเราลากแปลนออกมาจะปลูกบ้านปลูกเรือนตึกรามบ้านช่องขนาดไหน เอากี่ชั้นกี่ห้องกี่หับ เอาแปลนมากางปั๊บก้าวตามนั้น มันก็สำเร็จเป็นรูปร่างขึ้นมา เป็นบ้านเรือนขนาดนั้น ๆ เรื่อยมา จนกระทั่งสำเร็จเป็นบ้านเป็นเรือนโดยสมบูรณ์

อันนี้พระไตรปิฎกก็คือแปลนแห่งพุทธศาสนา แปลนแห่งมรรคผลนิพพาน ทุกอย่างอยู่นั้นหมดเลย อันใดควรแยกออกตัดออกปัดออก อะไรควรเสริม-เสริมเข้า ๆ เรื่อย ๆ ทีนี้ก็ทรงมรรคทรงผลล่ะซี ปฏิเวธคือผลของงาน รู้แจ้งว่าผลของงานเรานี้เวลานี้ได้ขนาดไหน มันก็เห็นอยู่ด้วยตา เช่น ขุดร่อง ดินที่จะเทคานเทเสา มันเป็นร่อง ขุดลงไปก็เริ่มเห็นแล้วมันเป็นร่อง เริ่มผูกโครงเหล็กก็เห็น เอาโครงเหล็กวางลงก็เห็น นี้เป็นปฏิเวธ เห็น ๆ เป็นลำดับ นี่เรียกปฏิเวธ ผลของงาน พอปลูกสร้างเสร็จขั้นนี้ก็เห็นชัดเจน นี่ได้เทคานเรียบร้อยแล้วก็เห็นประจักษ์ แล้วขึ้นต้นเสา ขึ้นขื่อขึ้นแปอะไรมันก็เห็นขึ้นเป็นลำดับ นี่เรียกปฏิเวธ เห็นตามสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาจากภาคปฏิบัติ ท่านเรียกปฏิเวธ

ศาสนาของเราจึงมีทั้งปริยัติคือแบบแปลนแผนผัง ปฏิบัติคือการก่อสร้างบ้านสร้างเรือน เทียบกับการปฏิบัติของตนเอง ปฏิเวธมีผลขึ้นมา อ้อ สมาธิสงบใจเป็นอย่างนี้ สมาธิขั้นนี้เป็นอย่างนี้ ๆ เห็นเป็นลำดับ ตลอดถึงปัญญาก้าวออกเดินก็เห็น แก้กิเลสได้ชนิดนั้น ๆ เป็นลำดับลำดาไปมันก็เห็นประจักษ์ นั่น นี่ทางภาคปฏิบัติมันเห็นประจักษ์อย่างนั้นนะ เรื่อย ๆ ๆ เห็นประจักษ์ไปโดยลำดับ ปฏิเวธแทรกไปด้วยกัน พอสมาธิพอปัญญาก้าวถึงขั้นไหน จิตใจก็รู้ ๆๆ จนกระทั่งวิมุตติหลุดพ้นจากภาคปฏิบัติ ปฏิเวธก็รับยืนยันเลยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านให้นามว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ ได้เสร็จงานแห่งพุทธศาสนา ทั้งการละกิเลสทั้งการบำเพ็ญธรรมเพื่อเข้าสู่ใจ เรียกว่ายุติสิ้นสุดลงไปแล้ว ถ้าเป็นรับประทานก็อิ่มแล้วทั้งหวานทั้งคาว ไม่มีอะไรบกพร่องแล้ว

นี่เรียก วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ คือเสร็จงานในพุทธศาสนา หรือเทียบว่าเสร็จงานในการกินแล้ว ว่างั้นก็ได้ ทั้งหวานทั้งคาวรวมกันอยู่ในคำว่า เสร็จหมด อิ่มแล้ว นั่น หวานก็อิ่ม คาวก็อิ่มเรียบร้อยแล้ว เรียกว่ากินข้าวอิ่มแล้ว วุสิตํ ละกิเลสก็ละได้โดยสิ้นเชิงแล้ว จิตกับธรรมบริสุทธิ์เป็นอันเดียวกันแล้ว นั่นเรียกว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ ตั้งแต่บัดนั้นต่อไป พระอรหันต์ไม่เคยละกิเลส ตั้งแต่บัดนั้นต่อไป พระอรหันต์ไม่เคยละกิเลสตั้งแต่วัน วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ ได้โผล่ขึ้นหัวใจเท่านั้น เสร็จงานแล้ว ฆ่ากิเลสนี่ฆ่าหมดโดยสิ้นเชิงแล้ว ธรรมะเต็มภูมิ บริสุทธิ์เต็มตัวแล้ว ท่านว่า กตํ กรณียํ งานที่จะทำให้ยิ่งกว่านี้ไปอีกไม่มี นั่น บอกแล้ว ไม่มี มีเท่านี้เสร็จแล้ว ตั้งแต่วันนั้นต่อมา พระอรหันต์ทุก ๆ พระองค์ท่านจึงไม่มีคำว่า ได้ละกิเลสอีกแม้เม็ดหินเม็ดทรายไม่มี หมด ที่นี้ทุกข์ก็หมดไปกับกิเลสตัวเป็นสาเหตุสร้างทุกข์นั้นแหละ

กิเลสมีมากมีน้อยมันก็สร้างทุกข์ ซึ่งเป็นเสี้ยนเป็นหนามอยู่ภายในใจ มากกว่านั้นเป็นหอกเป็นแหลมหลาวทุ่มเข้าไปในหัวใจสัตว์โลก โลกจึงดีดจึงดิ้นตลอดเวลา หาความสุขไม่ได้ เพราะแหลมหลาวของกิเลสมีหลาย ๆ ขนาดมันทิ่มแทงลงไป บางขนาดถึงเป็นบ้าไปเลยก็มี นั่น มันหนักมาก คิดมากยุ่งมากวุ่นมาก จนไม่มีสติสตังยับยั้งตัวเอง แล้วกลายเป็นคนบ้าไปเลย นี่คือพวกหอกพวกแหลมหลาวของกิเลส ละเอียดลงไป จากนั้นก็เป็นคนธรรมดาเรา ที่ไม่เป็นอย่างนั้นก็เป็นคนธรรมดา แต่ยอมรับว่าทุกข์เหมือนกัน หากไม่ทุกข์ถึงขนาดนั้น

ละเอียดลงไปกว่านั้น ทีนี้มีสติปัญญาพิจารณาเห็นเหตุผลความเคลื่อนไหวของใจ ว่าคิดไปชั่วหรือดีประการใด มันตบมันตีกันเรื่อย ๆ ลากกันไปเรื่อย จนกระทั่งสิ้นสุดไม่มีอะไรเหลือแล้วภายในใจ วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ ก็ประกาศป้างขึ้นภายในใจพร้อมกับ สนฺทิฏฐิโก ด้วยความเป็นผู้รู้เองเห็นเองประจักษ์ ตั้งแต่บัดนั้นมาแล้ว กิเลสตัวใดก็ไม่เคยมี พระอรหันต์จึงไม่มีการละกิเลสอีก กิเลสไม่มีแล้ว พระอรหันต์จึงไม่มีคำว่าทุกข์ ภายในหัวใจของพระอรหันต์ทุกดวงไม่มีคำว่าทุกข์เลย แม้เม็ดหินเม็ดทรายไม่มี มีก็มีแต่ทุกข์ตามธาตุตามขันธ์ ซึ่งเป็นเรื่องของสมมุติที่ทั่ว ๆ ไปก็ยอมรับกัน ท่านก็เป็นธาตุเป็นขันธ์อยู่เหมือนโลก อันนี้ไม่ใช่อรหันต์มันธาตุขันธ์ ดินน้ำลมไฟ มันก็ยอมรับสิ่งที่เป็นสมมุติด้วยกัน ความทุกข์ความสุขมันก็ยอมรับกัน เจ็บท้องปวดศีรษะมีเหมือนกัน เป็นแต่ว่ามีอยู่ภายในขันธ์ ไม่ได้ไปเข้าแทรกซึมอยู่ในจิตใจให้ท่านได้รับความทุกข์เดือดร้อนเหมือนแต่ก่อนที่มีกิเลสอุปาทานอยู่เลย นั่น กิเลสเป็นตัวอุปาทานมันสิ้นสุด

คำว่า บรมสุข ก็มีตั้งแต่ขณะกิเลสขาดสะบั้นลงไป ธรรมะบริสุทธิ์เต็มที่แสดงบรมสุขขึ้นมา ท่านจึงเรียกว่า นิพพานเที่ยง ความสุขอย่างยิ่งคือพระนิพพาน นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง หรือความสุขอย่างยิ่งคือพระนิพพานก็ไม่ผิด นั่นแหละท่านว่าเที่ยง คือคำว่าเที่ยง กฎไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นสมมุตินี้ไม่เข้าไปแทรกได้ กฎ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็ไม่มี เรียกว่านิพพานเที่ยง นั่นเป็นอย่างนั้น นี่เต็มภูมิของพุทธศาสนาเรานี่สอนเต็มภูมิ หาที่ต้องติไม่ได้

พุทธศาสนาเป็นศาสนาชั้นเอก เป็นศาสนาของผู้สิ้นกิเลสมาสอนโลก เพื่อความสิ้นกิเลสโดยสิ้นเชิง เหมือนกันไม่ผิดทาง เรียกว่า สวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบ ตรัสไว้สมบูรณ์แบบแล้ว ให้ก้าวเดินตามนี้ มรรคผลนิพพานจะคงเส้นคงวาหนาแน่นไปตามผู้ปฏิบัติ ตามสายทางของพระพุทธเจ้าที่สอนไว้เรียบร้อยแล้ว ถ้าผิดจากนี้ไม่เป็นผลแหละ ใครก็ตาม ถ้าผิดจากคำสอนแล้วผิดทางแล้ว นี่แหละภาคปริยัติกับภาคปฏิบัติ มันต่างกันอย่างนี้แหละ

ถ้าหากว่าเราไม่ได้เรียนมา ก็ต้องโดนตลอดแหละเรื่องเขาติฉินนินทาโจมตี เพราะหลวงตาทุกวันนี้ไม่ได้เทศน์ภาคปริยัติ เรียนมาอย่างนั้นจิตมันก็ไม่แย็บออกไปเลย ก็มาเห็นตัวมันแล้ว ไปตามรอยมันหาอะไร หือ ก็พูดอย่างนี้ซิ ตามรอยโคเข้าไปถึงตัวโคแล้ว แล้วยังจะตามหารอยโคอีกหาอะไร ก็ตามรอยเพื่อหาตัวมัน เจอตัวมันแล้วไปหารอยมันที่ไหน มันเงาของมันต่างหากนี่ เงาก็อยู่กับตัวของมันแล้ว

นี่เมื่อภาคปฏิบัติจับเข้าไป ๆ เจอตัวจริง ๆ เช่น โคเป็นต้น เจอเข้าไปแล้ว ไปหาอะไรอีก นี่แหละภาคปริยัติ ให้ตามรอย สอนวิธีตามรอยโค ภาคปฏิบัติคือการตามรอยโค ไม่ปล่อยไม่วางรอยก็เข้าถึงตัวโค เมื่อถึงตัวโคแล้ว ปริยัติก็ความจำเป็นหมดไป สอนให้เข้าหาตัวจริง ๆ เมื่อเจอตัวจริงแล้วก็ละก็ถอนกันเท่านั้นเอง ก็ไม่มีอะไร จะไปหางมเงาอะไร

เวลาเทศน์เราพูดอย่างตรงไปตรงมา ภาษาธรรมตรงไปตรงมา ไม่มีคำว่าเหยียบย่ำหรือยกยอ เอาความจริงออกมากางกันเลย ว่าไปตามความจริง อย่างทุกวันนี้ที่ว่าเทศน์เราว่ามันไม่ไปปริยัติ ยอมรับทันที ก็มันไม่ไป เวลาเทศน์ก็ถอดออกจากนี้เลย ก็มันอยู่กับนี้นี่ธรรม ไม่ได้อยู่กับตำรับตำรา อันนั้นแปลนของธรรม ชื่อของธรรม ตัวองค์ธรรมจริง ๆ อยู่ที่นี่ กิเลสจริง ๆ อยู่ที่ใจ ละกันที่นี่ถอนที่นี่ตามที่ท่านสอนไว้ แล้วมันก็เจอกันที่นี่ทั้งหมด นั่น เวลาเทศน์ก็ขึ้นนี้เลย มากน้อยหนักเบาอะไรมันอยู่นี้หมดแล้ว จะไปหาที่ไหนอีก เทศน์ออกจากที่นี่ไปเลย นี่ภาคปฏิบัติจึงต่างกัน

การเทศน์ภาคปฏิบัติเข้าข้างในล้วน ๆ เทศน์ภาคปริยัติออกนอก วิ่งใส่คัมภีร์นั้นวิ่งใส่คัมภีร์นี้ เราเรียนมากี่คัมภีร์ปริยัติเรียนมา มันจะแย็บ ๆ ๆ ไปสู่คัมภีร์นั้นคัมภีร์นี้ที่เรียนมา นี่ภาคปริยัติ เวลาเทศน์ก็ออกนอก ภาคปฏิบัติมันรู้ภายใน เวลาเทศน์ก็ออกจากภายใน ไม่ว่าธรรมะขั้นใด ออกจากภายในล้วน ๆ ยิ่งจิตบริสุทธิ์สุดส่วนด้วยแล้วออกจากภายในทั้งนั้นเลย ไม่ออกไปข้างนอก นั่น ธรรมแท้อยู่ที่ใจ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ใจ แล้วถอดออกไปเป็นพระไตรปิฎก เป็นธรรมะนอกใจไป เป็นเงาของธรรมไปก็ไม่ผิด หรือร่องรอยของธรรมก็ไม่ผิด เวลาปฏิบัติแล้วมันก็รวมที่นี่หมด ที่ใจ ตรัสรู้ปึ๋งที่ใจแล้ว เทศน์จนกระทั่งวันนิพพาน นั่น ขึ้นที่ใจ ๆ ธรรมะอยู่ที่ใจ

เมื่อยังมีผู้ปฏิบัติอยู่ ชาวพุทธของเรานี้จะได้ตักตวงเอาความสงบเย็นใจ มรรคผลนิพพานด้วยกัน ๆ ไม่มีแต่คำว่าตำรับตำรา คำว่านกขุนทองแก้วเจ้าขา ๆ เต็มปากอยู่เฉย ๆ นะ มีนกแก้วด้วยอยู่ในนั้น แก้วเจ้าขาด้วย มีทั้งชื่อนกแก้วด้วย มีทั้งธรรมจริงด้วย ทั้งธรรมความจำด้วยประจักษ์ที่ใจอันเดียว ถ้าตั้งใจปฏิบัติ ทางฆราวาสก็ให้ตั้งใจปฏิบัติตามเพศของฆราวาส พอความร่มเย็นเป็นสุขได้ทั่วหน้ากันนะ มีศีลมีธรรม เมตตาสงสารซึ่งกันและกัน เห็นใจเขาใจเรา ไม่เอาแต่ใจเราเป็นประมาณอย่างเดียว ซึ่งเป็นความเสียหาย เพราะเป็นการกระทบกระเทือนคนอื่นให้เขาเดือดร้อนเสียใจ จากใจของตัวที่พอใจดุพอใจโกรธพอใจแค้นเขา

ความโกรธไม่ใช่ของดีออกไปที่ไหน ไประบาดเป็นฟืนเป็นไฟไปเหมือนกันหมด เราระงับความโกรธไม่ให้มันออกก็ไม่กระทบกระเทือนคนอื่น ไม่เสียหาย นี่เรียกว่า รักษาน้ำใจกันเพราะมนุษย์อยู่ร่วมกัน เขามีใจเรามีใจ จะพูดแต่ละคำพินิจพิจารณาก่อนที่จะพูด เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษประการใด ถ้าเป็นโทษเราระงับไว้เสีย ถ้าจะเป็นประโยชน์มากน้อยก็เปิดออกไปตามเหตุตามกาลนั้นก็ถูกต้อง อยู่ด้วยกันเป็นผาสุก

นี่ละมนุษย์เรา ศีล ๕ พอสมบูรณ์แล้วนะมนุษย์เรา ถ้ามีศีล ๕ เต็มแล้วสมบูรณ์ทั้งนั้นละโลกนี้ แต่มันไม่มีจะทำยังไง ไม่มีก็ขอให้มี ไม่มากก็น้อยอยู่ภายในศีล ๕ นี่ จะหนักแน่นในข้อใดก็ให้หนักแน่น เบาข้อไหนเจ้าของก็รู้เอง อ่อนแอข้อไหนเจ้าของก็รู้เอง เราหนักแน่นข้อใด มั่นใจข้อใดเจ้าของรู้เอง แล้วได้ผลมากเพียงไร โทษที่เกิดขึ้นจากการล่วงละเมิดศีลนี้ มีทั้งใกล้ทั้งไกลไปโดยลำดับ แล้วศีลข้อไหนที่กระทบกระเทือนใกล้เคียงที่สุดคือศีลคือไหน ดูเอา นั่นก็เป็นอย่างนั้น ความจริงมันก็ใกล้เคียงเหมือนกันนั่นแหละ ที่มันจำเจอยู่ตลอดเวลามันมี เราก็พยายามระวังเสีย

ธรรมก็อบรมจิตใจให้มีความสงบเย็นวันหนึ่ง ๆ พักใจบ้างด้วยภาวนา ปล่อยใจตั้งแต่ตื่นนอน ถ้าไม่มีความหลับมาดับเครื่องแล้วตายทิ้งคนเรา นี้พออยู่ได้ก็เพราะมีการหลับนอนมาดับเครื่อง คือความคิดความปรุงด้วยสมุทัยกิเลสตัณหา ปรุงได้ตลอดเวลา เวลาจะหลับนอนก็ระงับอันนี้ไปเสีย กิเลสตัวปรุงก็ระงับ นั่น เป็นยังไง นี้ให้เราระงับด้วยธรรมบทบริกรรมภาวนาเป็นน้ำดับไฟปัจจุบัน จะเห็นความสงบเย็นใจเกิดขึ้นในขณะที่ภาวนา เรียกว่า เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นแหละ เกิดแน่ ๆ ไม่สงสัย ไม่มากก็น้อยถ้าเราได้พยายามระมัดระวัง เข้มงวดกวดขัน ไม่ยอมให้มันคิด เช่น มันจะคิดไปเรื่องอะไรเอาพุทโธอัดเอาไว้ไม่ให้คิด

พระพุทธเจ้าเลิศด้วยธรรมต่างหาก ไม่ได้เลิศด้วยกิเลสนี่นะ เราจะเอากิเลสมาเก่งกว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ เอาพระพุทธเจ้าเข้ามา พุทโธ ธัมโม สังโฆ เรียกว่า ธรรม เอามาบังคับใจเรา บังคับหลายครั้งหลายหน ต่อไปจิตก็สงบ สงบให้เห็นชัด ๆ เมื่อสงบให้เห็นชัด ๆ แล้ว เราก็เห็นโทษแห่งความวุ่นวายของใจ ที่กิเลสลากออกไปเอาไฟมาเผาตัวเราในทันทีทันใดนั้น เห็นความสงบเย็นใจ เห็นคุณค่าแล้วเห็นโทษของมัน แห่งความวุ่นวายในขณะเดียวกัน นี่ให้พากันพิจารณาภาวนานะ พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ลงในจุดภาวนานะ รากแก้วอยู่ในนั้น แก่นพุทธศาสนาอยู่ในภาวนานะ ทาน ศีล เหล่านี้เป็นกิ่ง,ก้าน,สาขา,ดอก,ใบ แตกไปจากลำต้นคือภาวนานี้ทั้งนั้น ให้รักษาลำต้นนี้ให้ดี กิ่ง,ก้าน,สาขา,ดอก,ใบ จะชุ่มเย็นไปหมด

คนมีความหนักแน่นในธรรม ในจิตใจคือด้านภาวนาแล้วไม่ต้องบอกเรื่องการให้ทาน รักษาศีล มันเป็นของมันไปเองนะ มันหากหนักแน่น เข้าไปเอง ๆ เมื่อรากแก้วของมันได้ฝังแน่นแล้ว พากันจำเอานะ เอาละพอ

เปิดดูข้อมูล วันต่อวัน ทันต่อเหตุการณ์ หลวงตาเทศน์ถึงเรื่องอะไร ทาง internet

www.luangta.com


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก