นักบวชพึงมุ่งหมุนธรรมจักร
วันที่ 16 พฤษภาคม 2510 ความยาว 32.35 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๐

นักบวชพึงมุ่งหมุนธรรมจักร

 

การท่องเที่ยวหาที่วิเวกสงัด เพื่อบำเพ็ญตนด้วยความสะดวกทางด้านจิตใจนั้น มีเยี่ยงอย่างมาแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ทรงลดละ ทรงสั่งสอนสาวกแล้วก็เปิดโอกาสให้เสาะแสวงหาที่เหมาะสมสำหรับการบำเพ็ญเพียรทางด้านจิตใจ เมื่อมีข้อข้องใจขึ้นมาแก่โยคาวจรนั้นๆ ก็มาทูลถามองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านทรงชี้แจงแสดงให้ได้รับความเข้าใจแล้วก็ออกเสาะหาที่สงัดวิเวกบำเพ็ญตนตามเคย

นี่เป็นประเพณีของนักบวชที่สืบเนื่องมาจากพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ ซึ่งพระองค์ทรงเป็นตัวอย่าง เรียกว่า เป็นบุคคลตัวอย่างในการบำเพ็ญเป็นลำดับมา จากนั้นก็สาวกดำเนินตามพระพุทธเจ้า แล้วสืบเนื่องมาเป็นลำดับ จนถึงสมัยปัจจุบันนี้

หากว่าเราผู้เป็นนักบวชและนักปฏิบัติด้วย เป็นผู้สนใจใคร่ต่อการดำเนินตามขนบประเพณีอันดีงามของพระพุทธเจ้า ที่พาดำเนินมาแล้ว คำว่า ศาสนธรรมเจริญรุ่งเรืองนั้น จะไม่ต้องไปถามที่ไหน ว่าเจริญอยู่ที่ใด เพียงใด เพราะความเดือดร้อนวุ่นวายซึ่งเป็นความไม่สงบ ก่อเรื่องก่อราวใส่ตัวเราอยู่ทุกวันนั้น ปรากฏขึ้นกับใจโดยเฉพาะ ไม่มีที่อื่นเป็นสาเหตุที่เกิดขึ้น ฉะนั้นศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงชี้ลงที่จุดที่มีเหตุ และระงับกันที่นั่น

การเสาะแสวงหาที่บำเพ็ญ ซึ่งเรียกว่า ชัยสมรภูมิ อันเป็นไปเพื่อความสะดวกแก่การปฏิบัติ เพื่อจะถอดถอนสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ใจนั้น เป็นเรื่องของเราทุกท่านจะต้องสนใจ สิ่งที่เป็นข้าศึกภายในใจก็จะค่อยหมดไปด้วยการกำจัด โดยวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนและพาดำเนินมา เมื่อสิ่งที่ปกปิดกำบังหรือเป็นข้าศึกต่อจิตใจค่อยจางหายเป็นลำดับๆ แล้ว เรื่องความเจริญของใจนั้น จะไม่ต้องไปหาที่ตรงไหน และคำว่า ความเจริญของพระศาสนา จะปรากฏขึ้นที่ท่านผู้ปฏิบัติโดยถูกต้องตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่พาดำเนินนั่นแล

นี่เป็นหลักฐานที่ยืนยัน หรือเป็นหลักฐานที่รับรองแห่งความเจริญของพระศาสนา ไม่มีที่อื่นเป็นที่เจริญ นอกจากผู้บำเพ็ญตนให้ถูกต้องตามร่องรอยของพระศาสดาที่สอนไว้เท่านั้น จะเป็นผู้เจริญรุ่งเรือง ขอให้ทุกท่านจงทำความเข้าใจไว้ว่า ศาสนาเสื่อมนั้น เสื่อมอยู่ที่ใดแน่ และเจริญอยู่ที่ไหนแน่

ความเห็นของคนส่วนมาก มักจะเห็นว่า เจริญอยู่ที่ประเทศโน้นประเทศนี้ ที่โน่นที่นี่ และเสื่อมอยู่ที่โน่นที่นี่อะไรที่ไหน ก็คือเรื่องของคนเป็นผู้ทำศาสนาให้เจริญและเสื่อมนั่นแล คำว่าศาสนานั้นจึงอยู่ในจุดเดียวกัน คือหัวใจ

เราเคยได้ยินแต่พระศาสนาในครั้งพุทธกาลเจริญรุ่งเรือง แต่เราไม่คำนึงถึงวิธีการที่ท่านดำเนิน ท่านดำเนินอย่างไรบ้างศาสนาจึงเจริญรุ่งเรือง มาบัดนี้เราเจริญอย่างไร ศาสนาภายในใจของเราจึงไม่เจริญ นอกจากมีแต่กิเลสตัณหาอาสวะซึ่งเป็นข้าศึกเท่านั้น เป็นผู้เจริญทับถมจิตใจเรา จนกลายเป็นของไม่มีคุณค่าภายในตนเลย มองเห็นอะไรก็ไม่มีสาระสำคัญ ชื่อว่าเป็นความดีแล้ว แต่จะมองเห็นแต่สิ่งที่เคยชินมา ซึ่งเป็นเครื่องฉุดลากลงไป แม้จะเลวทรามสักแค่ไหนก็ตาม จะถือว่าเป็นของดีเสมอไป นี่เป็นวิสัยของคนเราที่มีกิเลสเป็นเครื่องฉุดลากและยอมจำนนทุกราย เป็นอย่างนี้ตลอดมาไม่ว่าท่านหรือเรา

หลักศาสนธรรมนั้น เป็นเครื่องฉุดลากจิตใจ ให้ฝืนสิ่งที่เป็นข้าศึก ทั้งๆ ที่ใจของเราชอบ ให้ออกจากนั้นมาเป็นลำดับ นี่ชื่อว่า การบำเพ็ญตนเอง เราบำเพ็ญศาสนาเราจะบำเพ็ญที่ไหนวิธีใดที่เป็นทางถูกต้อง นอกจากจะมากำจัดดัดแปลงตนเองในสิ่งที่เห็นว่าไม่ควร และแก้ไขดัดแปลงเสมอไป โดยไม่ถือว่าเป็นความลำบากแต่อย่างใด เพราะกิจจำเป็น หรือทางเดินอยู่ที่นี่ เช่นเดียวกับสายทางเราเดินจะไปจากจุดนี้สู่จุดโน้น ทางนี้จะลำบากยากเย็นเข็ญใจเท่าไร ก็ต้องเดินไปตามทางสายนี้ เพราะเป็นจุดหรือเป็นทางที่ถูกต้อง

เราจะเลือกทางเดินไปไม่ได้ จะแดด จะฝน ทางขรุขระกันดาร หรือทางราบรื่น ก็จำเป็นสำหรับผู้เดินทางจะต้องผ่านไปเช่นเดียวกันหมด จะเลือกเฟ้นหรือหยุดยั้งเสียไม่ได้ หยุดก็ไม่ถึง เลือกก็ไม่ได้ แดดออกก็ยอมรับ ฝนตกก็ยอมรับ ทางขรุขระก็ยอมเดิน ทางสะดวกก็เช่นเดียวกัน มีจุดประสงค์ที่จะก้าวเดินให้ถึงจุดหมายปลายทางเท่านั้น นี่สำหรับผู้เดินทางมีเข็มทิศมุ่งไว้อย่างนี้ จะเป็นผู้ถึงจุดหมายปลายทางโดยไม่สงสัย

ผู้เดินทางเพื่อสันติสุขภายในจิตใจก็ย่อมถือคติเช่นเดียวกัน ไม่เช่นนั้นจะไปไม่รอด วันนี้ไม่สะดวก ไม่สบาย เวลานี้ธาตุขันธ์ไม่พร้อม การงานยุ่งเหยิง ง่วงเหงาหาวนอน ธาตุขันธ์แปรปรวน อากาศไม่อำนวย เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ตัดหนามกั้นทางตนเองให้เดินไปไม่ได้ทั้งนั้น มื้อ วัน ปี เดือน ก็คือมืดกับแจ้งเท่านั้น ไม่มีอะไรมาเป็น มื้อ วัน ปี เดือน นอกจากมืดกับแจ้ง นับกันแล้ว บวกกันเข้า ก็เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปีเข้าไป นอกจากมืดกับแจ้งนี่เท่านั้น และไม่เคยไปก่อเรื่องก่อราวใส่ผู้ใด ใครจะมีโอกาสไปทางไหน ไม่มีโอกาสไปทางไหน จะมีโอกาสทำดีทำชั่ว มื้อ วัน ปี เดือน เป็นของมืด สว่างอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยเปลี่ยนแปลงตนเองไปเป็นอื่น เราจะหาว่ามื้อ วัน ปี เดือนมาเป็นข้าศึกต่อเราได้ที่ไหน และคำว่าโอกาสก็เหมือนกัน ก็คือผู้จะทำนี้แลเป็นผู้มีโอกาส ถ้าผู้นี้ไม่ทำ แม้ตลอดวันตายก็ไม่มีโอกาสที่จะว่าง

การงานนั้นมีทั้งทางโลกทางธรรม เพราะโลกนี้เกิดอยู่ในท่ามกลางแห่งการงาน เนื่องจากธาตุขันธ์เป็นเครื่องบังคับ ไม่ทำไม่ได้ สัตว์เดรัจฉานก็ต้องทำ แต่เราไม่เรียกว่าเขาทำงาน การที่เขาเสาะแสวงหาอยู่หากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของเขา ทั้งกลางวันกลางคืน สัตว์บางประเภทเที่ยวแสวงหาอาหารในเวลากลางคืน สัตว์บางประเภทเที่ยวหาในกลางวัน บางประเภทหาได้ทั้งกลางวันกลางคืน การเสาะแสวงหาเหล่านี้เรียกว่าเป็นงานเช่นเดียวกับมนุษย์เรา แต่ไม่ให้ชื่อว่าเขาทำงานเท่านั้น ความจริงแล้วก็เป็นงานเหมือนกัน เราจะอยู่โลกไหนจึงจะไม่มีงาน ต้องมีงานประจำตัว เป็นแต่เราจะเลือกเฟ้นหรือไม่เท่านั้น

ถ้าเราเป็นผู้ฉลาดเพื่อดัดแปลงตนเอง กาลใด เวลาใด ควรจะแบ่งรับแบ่งสู้กันแค่ไหน หนักเบาแค่ไหน เป็นหน้าที่ของเรา ผู้จะทำตนให้เจริญทั้งข้างนอกข้างใน ต้องเลือกเฟ้น และบำเพ็ญตนไปตามโอกาสอันควร ไม่ประมาทนอนใจ

นี่เราเป็นผู้บวชในศาสนา เราเป็นผู้มีกาลเวลาอันว่างอยู่ตลอดเวลา ไม่มีกาลใดจะเป็นกาลอื่น นอกจากกาลของพระ เพราะเวลานี้เราเป็นพระด้วยกัน เป็นเณรด้วยกัน ปฏิบัติในหลักธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าโดยไม่มีการหลีกเว้น หรือไม่มีวรรคตอน นับตั้งแต่วันบรรพชาอุปสมบทมา ศีลสิบก็จะต้องมีมาตั้งแต่วันบรรพชา ศีล ๒๒๗ ก็จะเริ่มมีมาตั้งแต่วันอุปสมบท แล้วการบำเพ็ญธรรมในเพศของพระก็ต้องเป็นประจำ การบำเพ็ญธรรมในเพศของเณรก็มีเป็นประจำขึ้นมาตั้งแต่วันบรรพชาอุปสมบท มีหน้าที่ของพระ หน้าที่ของเณรที่จะบำเพ็ญตนให้เป็นไปตาม

ถ้าหน้าที่ของตนทำให้ขาดวรรคขาดตอน เป็นลุ่มๆ ดอนๆ สูงๆ ต่ำๆ ไม่สม่ำเสมอ เป็นความผิดของเรา แล้วเราจะตำหนิว่ากาลเวลาไม่อำนวยที่ไหน นอกจากตัวเราไม่อำนวยเราเสียเอง ก่อความขัดข้องยุ่งเหยิงใส่ตัวเอง จนหาทางเดินไม่ได้

หลักของพระพุทธเจ้าสอนไว้ทุกอย่างก็เพื่อจะฝ่าฟันอุปสรรค ที่กีดขวางทางเดินของเราเท่านั้น ไม่ใช่มาตัดหนามกั้นทางให้เราไปไม่ได้ ไม่มีข้ออรรถข้อธรรมใดที่จะมาตัดหนามกั้นทางตนเอง จนหาทางเดินไปไม่ได้ นอกจากเป็นสวากขาตธรรม ที่ตรัสไว้ชอบ และเป็น นิยยานิกธรรม รื้อถอนสิ่งที่เป็นขวากเป็นหนาม เป็นทุกข์ เป็นภัย ออกจากจิตใจเป็นลำดับๆ ให้เห็นความสุขความเจริญเป็นขั้นๆ ขึ้นไปเท่านั้น นี่เป็นพระโอวาทของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ชอบ และเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์สำหรับผู้ปฏิบัติตาม ไม่เป็นอย่างอื่น

โปรดมองดูตัวทุกระยะ ถ้าเป็นนักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์จริงๆ  อย่ามองดูที่อื่น กองทุกข์ไม่มีอยู่ที่ไหน ภูเขาทั้งลูกจะใหญโตรโหฐาน หรือกว้างแคบแค่ไหน ไม่ปรากฏว่ามีกองทุกข์อยู่ที่นั่น พอที่จะไปเป็นกังวลกับสิ่งเหล่านั้น แต่มีอยู่ในตัวของเรานี้ อุปสรรคก็มีอยู่ที่นี่ ความทุกข์ ความไม่สะดวกกายไม่สบายใจ ก็มีอยู่ที่นี่

เพราะฉะนั้น ศาสนาจึงต้องวางลงที่นี่เพื่อเป็นเครื่องแก้ไข ขัดเกลากันไปหรือชะล้างกันไปให้สะอาด สิ่งเหล่านั้นก็จะค่อยๆ หมดไป หมดไป ความสะดวกสบายก็จะมีขึ้น ทั้งการบำเพ็ญ ทั้งความสุขที่จะได้รับจากการบำเพ็ญของตน วันหนึ่งคืนหนึ่งผ่านไป ผ่านไป ถ้าพูดถึงเรื่องความมืด ความสว่างผ่านไป ผ่านไปนั้น ไม่ได้ผ่านไปไหน มีมืดกับแจ้งหมุนไป เวียนมาอยู่เท่านี้ ไม่นอกไปจากนี้ แต่ชีวิต ลมหายใจ สังขารร่างกายที่ผ่านไป ผ่านไปนั้น ไม่มีวันจะกลับมา ผ่านไปวันละเล็กวันละน้อย สุขภาพลดลง ลดลง ชีวิตเราลดไปทุกวัน ทุกวัน ความดีที่จะเป็นเครื่องตอบรับกันนั้นมีอะไรบ้าง เราต้องคำนึง นักบวชไม่คำนึง ไม่มีอะไรจะเป็นสาระแก่นสารสำหรับนักบวช ต้องประพฤติตนให้เป็นที่ยับยั้ง ให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวของตนได้ จนหาที่ตำหนิตนไม่ได้ แม้จะสอนคนอื่นก็เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่มีที่ตำหนิตนได้

ศาสนานี้เป็นตัวอย่างของโลกหรือเป็นแบบ เป็นแนวทางชีวิตของโลก ผู้ดำเนินทางโลกก็ต้องอาศัยหลักศาสนาเป็นเครื่องดำเนิน ยกตัวอย่างใกล้ๆ ก็คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา นี่เป็นทางเดินทั้งทางโลกและทางธรรม

ทำการงานอันใดให้มีฉันทะ ความพอใจ ในหน้าที่การงานของตน อย่าให้จืดจาง ถ้าจืดจาง จิตใจจะท้อถอย การงานจะไม่สำเร็จ และไม่ทำเต็มเม็ดเต็มหน่วย

วิริยะ ให้มีความเพียรต่อหน้าที่การงานนั้น จนสำเร็จลุล่วงไปได้ตามประสงค์

จิตตะ อย่าทำจิตใจให้เหินห่างจากหน้าที่การงานที่กำลังทำอยู่นั้น

วิมังสา ทำอะไรให้ไตร่ตรอง อย่าเห็นแต่สักว่าทำ เห็นแต่สักว่าพูด เห็นแต่สักว่าคิดขึ้นมาตามนิสัยของจิตที่เคยชอบคิด ต้องมีการไตร่ตรองดูความผิด ถูก ชั่ว ดี ในการทำ การพูด การคิดของตนเสมอและทุกขณะไปยิ่งดี

นี่แหละอิทธิบาททั้งสี่ โลกถ้าขาดอิทธิบาททั้งสี่นี้แล้ว จะเป็นโลกที่เจริญรุ่งเรืองไปไม่ได้ ธรรมก็เช่นเดียวกัน

เวลานี้เรามีเข็มทิศตั้งไว้กับธรรมอย่างไรบ้าง เราควรจะนำธรรมทั้งสี่ประการนี้เข้ามาสนับสนุนบ้างหรือไม่ หรือเพียงอยู่ลำพังเราแล้วก็เห็นว่าสมควร ถ้าเห็นว่าสมควร ผลประโยชน์ที่ได้รับจากคำว่า สมควรนั้นมีแค่ไหน ถ้าไม่มีก็แสดงว่าเราบกพร่องในธรรมทั้งสี่ประการนี้ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา โปรดน้อมเข้ามาภายในใจให้ใกล้ชิดสนิทกับตัวอยู่เสมอ อย่าให้ห่างไกล

ผู้ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ต้องกำหนดดูเรื่องของตัวอยู่เสมอ ผิดพลาดอะไร เราอย่าไปตำหนิคนอื่น ให้ตำหนิความเคลื่อนไหวที่ผิดพลาดของตน เพราะผลเกิดขึ้นจากที่นี่ จะเกิดจากที่ไหน พอผลจะไม่ตามมาได้ ผู้ปฏิบัติต้องโอปนยิโก น้อมเข้ามาเสมอ มองเห็นอะไร อย่าให้เป็นภัยท่าเดียว จงพิจารณาให้เป็นคุณ ชื่อว่าผู้ไตร่ตรอง

นักบวช คือ นักพินิจพิจารณา ไม่เช่นนั้นจะสอนโลกให้ดีไม่ได้ ตัวก็เป็นลุ่มๆ ดอนๆ สูงๆ ต่ำๆ ทั้งข้อวัตรปฏิบัติ ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ได้แต่ชื่อแต่นาม ความจริงแห่งธรรมที่กล่าวเหล่านี้ไม่ปรากฏภายในตัวเลย เราจะเอาอะไรเป็นผลสำเร็จสำหรับเป็นเครื่องพยุงจิตใจเรา แล้วจะนำประโยชน์อะไรไปสอนโลกให้มีความเจริญรุ่งเรือง เป็นไปไม่ได้หากตัวยังตั้งตัวไม่ได้ การสอนเรานี้เป็นสิ่งสำคัญ ศาสนาท่านสอนบุคคลสอนให้เจริญทางจิตใจ ได้ซึมซาบถึงธรรมะอย่างแน่นแฟ้น หน้าที่การงานจะเป็นไปเพื่อความแน่นแฟ้น และมั่นคงเรียบร้อยทุกอย่าง หากว่าธรรมะได้หยั่งเข้าถึงใจ

ผู้ประกอบการงานทางโลกก็แน่นหนามั่งคง ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะหลักธรรมเป็นเครื่องสนับสนุน ผู้บำเพ็ญทางธรรมก็เหมือนกัน ศีลก็มีความบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา เพราะความระมัดระวัง เป็นผู้รักใคร่ต่อศีลของตน ไม่ยอมล่วงละเมิดแม้แต่ข้อหนึ่งข้อใด สงวนยิ่งกว่าชีวิต แม้จะตายก็ยอมสละได้ แต่ไม่ยอมให้ศีลขาด นี่คือนักบวชที่มีความใคร่ต่อหลักธรรม พูดง่ายๆ ก็คือ ใคร่ต่อความพ้นทุกข์ของตนนั่นแล เพราะศีลเหล่านี้เป็นรั้วกั้นสำหรับไม่ให้สิ่งที่เป็นข้าศึกรั่วไหลเข้ามาทางกาย ทางวาจา ตลอดถึงทางใจ

สมาธิก็เช่นเดียวกัน คือ ความสงบใจ ความสงบใจเป็นอย่างไร? เราเคยสงบบ้างไหม? มันเป็นอย่างใด? มองดูจิตเวลาไหน มีแต่ความฟุ้งซ่าน มีแต่ความวุ่นวาย แล้วบ่นกันทั่วโลกทั่วสงสาร ไม่ว่าพระว่าเณร ไม่ว่านักบวช ฆราวาส ไม่ว่าคนมีคนจน ไม่ว่าคนอยู่ในฐานะไหน จะต้องตกอยู่ในความบ่น เพราะวิชาการบ่นนี้ เกิดขึ้นจากตัวเอง ไม่ได้มองดูตัวเองพอที่จะแก้ไขส่วนบกพร่อง จึงปรากฏเป็นทุกข์ขึ้นมา และให้ได้บ่นอยู่ตลอดเวลา เราก็บวชมาเป็นนักบ่นเราอยู่อย่างนี้ จะเป็นประโยชน์ที่ไหน? ถ้าการบ่นเป็นประโยชน์บ้างแล้ว โลกนี้ไม่ต้องทำหน้าที่การงานอะไร เพราะต่างคนต่างมีปาก ต่างคนต่างพูด ต่างคนต่างบ่นได้ บ่นได้ถึงไหนถึงกัน ไม่จำเป็นจะต้องมาอาศัยหลักธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องชี้แนวทาง เพียงการบ่นก็สำเร็จได้แล้ว แต่นี้หาเป็นเช่นนั้นไม่

เพราะฉะนั้น เราจึงควรดูจิตของเรา ความฟุ้งซ่านเป็นที่เราไม่ชอบใจ จิตของเราไม่สงบนี่เป็นเหตุให้เราบ่น เหตุใดจึงไม่สงบ กำหนดดูหาสาเหตุของจิตที่ไม่สงบ ก็เพราะว่าเปิดทางให้จิตเดินสู่อารมณ์ที่เป็นภัยแก่ใจอยู่ตลอดเวลา จะหารั้วหรือสติไม่ได้ ถ้ามีรั้วบ้าง ก็มีประตู และปิดประตูไว้บ้าง มันก็หาทางออกไม่ได้ แต่นี่รั้วไม่มี ประตูจะมีที่ไหน เปิดให้ออกให้เข้าอยู่ตามความสะดวกสบาย อิสรเสรีของกิเลสทุกประเภท มิหนำซ้ำเรายังยอมจำนน พอใจที่จะคิดสิ่งที่เป็นความผิดเสียอีก สิ่งที่เป็นความไม่ดีไม่งาม ไม่ชอบใจ ยิ่งชอบคิด ลองสังเกตดูซิจิตของเรา ถ้าไม่พอใจในผู้ใดนั้น ชอบคิดเรื่องผู้นั้นมาก โกรธให้ใครแล้ว คิดได้ทั้งวันทั้งคืน โดยไม่คำนึงถึงเวล่ำเวลา ไม่คำนึงถึงความผิดความถูก ชั่ว ดีเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะเห็นว่าจิตเราฉลาดที่ไหน

ชั่วก็ทราบแล้วว่าคนนั้นเขาเป็นคนชั่ว ไม่เป็นที่พอใจ เหตุใดจึงสนใจคิดเรื่องเขามากไป เราไม่ทำความพอใจให้เรา จนถึงกับโกรธให้เขา ความโกรธให้เขาก็เป็นความผิดอยู่แล้ว ยังต้องไปคิดเสริมความโกรธเกี่ยวกับบุคคลผู้นั้นให้มากขึ้นไปอีก จะสมชื่อว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติฉลาดเพื่อแก้ทุกข์ เพื่อแก้ความไม่ดีได้อย่างไร นอกจากจะเห็นความไม่ดีนั้นว่าเป็นของดี จึงพอใจโกรธ พอใจนำเรื่องมาคิดมาอ่านอยู่ตลอดเวลา

นี่ก็ได้เปิดโอกาสให้ท่านที่ต้องการไปเที่ยวหาที่วิเวกสงัด เวลาว่างให้ไปได้ตามสะดวกสบาย สถานที่ใดเป็นที่สงัด เป็นที่บำเพ็ญด้วยความสะดวกสบาย แม้ปัจจัยเครื่องอาศัยจะขาดตกบกพร่องบ้าง อย่าถือเป็นหลักสำคัญยิ่งกว่าสถานที่ที่ตนบำเพ็ญว่าเป็นความสะดวกสบาย ถ้าเห็นว่าเป็นความสะดวกแล้ว โปรดถือสถานที่นั้นแหละเป็นสถานที่สำคัญ จิตใจจะได้รับความสะดวกจากสถานที่สะดวกและมีความเจริญก้าวหน้า ใจที่เคยยุ่งเหยิงก็จะเป็นใจที่สงบ

ธรรมดาของใจที่สงบแล้วต้องเย็นสบาย เห็นเหตุเห็นผล เห็นอรรถเห็นธรรม เห็นเรื่องความทุกข์ ความสุข เห็นโทษ เห็นภัย ถ้าไม่สงบไม่เห็นโทษเห็นคุณ แม้จะบ่นว่าเป็นทุกข์วันยังค่ำ ก็คือไม่เห็นนั่นเอง โดนแต่ทุกข์ เจอแต่ทุกข์ทั้งวันทั้งคืน เช่น คนบ่นว่าทุกข์อย่างนี้แหละ บ่นทั้งวันก็ไม่มีเวลาที่จะพ้นจากความทุกข์ ถ้าไม่แก้ไขต้นเหตุแห่งความทุกข์นั้นให้หมดไปมากน้อยเท่าไร พอที่จะให้ทุกข์ลดน้อยลง เพราะการแก้ไข

การบำเพ็ญธรรมเพื่อความหลุดพ้นยิ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ควรจะนอนใจ ในอิริยาบถทั้งสี่ ถ้าเป็นผู้มีสติอยู่ทุกๆ อิริยาบถ นั้นแลผู้เช่นนั้นจะเจริญรุ่งเรืองภายในใจได้อย่างรวดเร็ว จะก้าวเดินเหินไปไหน ความรู้สึกกับตัวให้มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอยู่เสมอ ภายนอกเข้ามาสัมผัสก็ทราบ ภายในแสดงออกก็ทราบ อะไรมาเกี่ยวข้อง ดี ชั่วก็ทราบ เพราะความตั้งใจอยู่เสมอ ความที่ตั้งใจอยู่เช่นนี้แล เป็นอุปกรณ์สำคัญแห่งความเจริญของจิต เราจะทำหน้าที่การงานอะไร ความรู้สึก ความเป็นผู้มีสติ ต้องเป็นเครื่องสนับสนุนหน้าที่การงานนั้นๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ให้พลั้งเผลอ นี้แลจะเป็นกำลัง เมื่อย้อนเข้ามาสู่ภายใน คือการบำเพ็ญใจโดยเฉพาะแล้ว จะเป็นผู้มีสติและสามารถจะทำจิตใจของตนให้เยือกเย็นไปได้อย่างรวดเร็วกว่าธรรมดาอยู่มาก

ดังนั้นการฝึกหัดอบรมสติปัญญา จึงไม่จำเป็นจะฝึกหัดเพียงเวลานั่งสมาธิอย่างเดียว ยังต้องฝึกหัดกับหน้าที่การงานอีกด้วย เกี่ยวกับผู้มาเกี่ยวข้องกับเรา คิดให้หมดรู้เรื่องให้หมดตามสิ่งที่มาเกี่ยวข้อง

สติ เมื่อได้รับการส่งเสริมก็ย่อมมีวันเจริญ ปัญญาเมื่อได้รับการส่งเสริม คือการตั้งใจระวังความคิดความอ่าน ชอบใคร่ครวญเหตุผลเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่เสมอ นี้แลเป็นเครื่องเสริมสติปัญญาให้มีกำลังขึ้น เห็นอะไรก็คิด รู้อะไรก็คิด ดีก็คิด ชั่วก็คิด ไตร่ตรอง สติก็ตั้งไว้เสมอ สติก็เจริญ ปัญญาก็รุ่งเรือง

เมื่อย้อนเข้ามาสู่ภายในถึงสถานที่อับจน จนตรอกจนมุมถึงกับจะไม่สามารถแก้ได้ก็มีทางออก เพราะอำนาจของปัญญาที่เคยค้นเคยคิด เคยแก้ไขตนเอง ย่อมจะมีทางออกได้ด้วยอำนาจของปัญญา เพราะฉะนั้นการฝึกสติปัญญาเกี่ยวกับงานภายนอก จึงเป็นอุปกรณ์เพื่องานภายใน คือด้านจิตใจโดยเฉพาะอีกด้วย ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ทุกสิ่งทุกอย่างถ้าหากได้รับการอบรมส่งเสริมอยู่เสมอจะต้องมีกำลัง ถ้าเป็นคนก็เติบโตขึ้นได้ด้วยอาหาร หากขาดอาหารก็ไปไม่รอด เรามองดูเด็กก็รู้ ตกคลอดมาทีแรกตัวแดงๆ แต่เมื่อได้รับการบำรุงจากบิดารมารดาและพี่เลี้ยงอยู่โดยสม่ำเสมอแล้ว ก็ต้องนับวันเติบโตขึ้นมาอย่างเราๆ ท่านๆ

สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร เมื่อได้อาศัยความสนับสนุนจากเจ้าของอยู่เสมอก็ต้องมีวันเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ มีกำลังมากขึ้นจนสามารถยกภูเขาภูเราออกจากใจได้

สติแม้จะเคยล้มลุกคลุกคลานมาก็ตาม เมื่อได้รับการบำรุงส่งเสริมอยู่เสมอ ก็จะเป็นสติที่ติดต่อสืบเนื่องไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นสัมปชัญญะและกลายเป็นมหาสติที่มั่นคงขึ้นได้ เราจะตั้งใจรักษาหรือไม่ตั้งใจรักษา ตั้งใจระวัง หรือไม่ตั้งใจระวัง สติต้องเป็นอยู่อย่างนั้นเป็นพื้นฐาน นี้ท่านเรียกว่า มหาสติ โดยไม่ต้องตั้งใจไว้ เพราะเคยสั่งสมตัวมาเป็นลำดับๆ จนถึงความเจริญเติบโต เหมือนเด็กที่ได้รับการบำรุงรักษา ผู้เช่นนั้นอยู่ที่ไหนก็มีสติเต็มตัว ปัญญาเต็มใจ

เรื่องของปัญญาก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ถ้าชอบใคร่ครวญเป็นประจำนิสัยแล้วก็ย่อมต้องมีความเจริญรุ่งเรือง อะไรมาสัมผัส สติกับปัญญาจะต้องวิ่งตามคิดค้นให้เห็นเหตุเห็นผล แล้วปล่อยวางไว้ตามสภาพไปโดยลำดับ เพราะตามธรรมดาจิตกับสิ่งที่มาเกี่ยวข้อง ย่อมแสดงความเกี่ยวข้องกันอยู่เสมอ สติกับปัญญา ซึ่งอยู่ในสถานที่แห่งเดียวกันจะนอนตัวไม่ได้ เมื่อมีกำลังพอที่จะรับทราบทุกสิ่งทุกอย่างและสามารถที่จะค้นคิดได้แล้ว ต้องวิ่งหมุนตัวเป็นเกลียวเช่นเดียวกับกงจักร แต่นี้จัดว่าเป็นธรรมจักร ไม่เรียกว่าเป็นวัฏจักร หมุนรอบตัวไปกับเหตุการณ์ทุกระยะที่สัมผัสรับรู้กัน

การพิจารณาภายในก็เหมือนกัน ภายในร่างกายของเรานี้ แต่ก่อนพิจารณาไม่ชัด เรื่องอนิจจังก็ได้ยินแต่ชื่อ ความแปรสภาพที่เห็นประจักษ์ภายในใจไม่ปรากฏ ทุกขัง ทั้ง ๆ ที่เป็นอยู่ภายในใจของเรา แต่ก็ไม่ปรากฏประจักษ์ภายในใจ ซึ่งพอจะเห็นโทษได้ อนัตตาก็เหมือนกัน ท่านบอกไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันก็ถือว่าใช่ อยู่นั่นแล ทั้งๆ ที่หลักธรรมชาติบอกว่าไม่ใช่

แต่พอปัญญาแลสติ เราได้พยายามสั่งสมขึ้นมาเป็นลำดับๆ จนมีกำลังแล้ว อนิจจังไม่มีอะไรลี้ลับ มีอยู่ทุกแห่งทุกหน ทั้งข้างนอกข้างใน ในร่างกายของเรา มีอยู่ทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง ด้านขวาง สถานกลาง มีอยู่หมด แสดงความเปลี่ยนแปลงอยู่ภายในตัวตลอดเวลา คำว่า ทุกขัง ก็เช่นเดียวกัน อนัตตาก็ทราบชัด เพราะสติปัญญาพอตัวแล้ว มองดูอะไรไม่เป็นที่สงสัย ใจยอมจำนนตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่สอนไว้ว่า สวากขาตธรรม ที่ตรัสไว้ชอบแล้ว

กิเลสตัณหามีอยู่ที่ไหน จะพ้นวิสัยของสติปัญญาแทรกซึมหรือขุดค้นไปไม่ได้ และต้องทะลายออกมาเป็นลำดับๆ จนสามารถถอดถอนได้ถึงรากแก้วแห่งวัฏจักร ซึ่งได้แก่ อวิชชา อันแทรกอยู่ที่ใจดวงรู้ๆ นี้เอง

ใจดวงรู้ๆ นี้แล เป็นธรรมชาติที่โกหกพกลมที่สุดในโลก ไม่มีสิ่งใดที่จะเสมอเหมือนใจดวงรู้ๆ ดวงนี้ พระพุทธเจ้าจึงให้นามว่า อวิชชา เมื่อก้าวเข้ามาถึงจุดนี้แล้ว ผู้พิจารณาจะต้องพิจารณาจุดนี้ให้รอบคอบและถอดถอนออกได้ กลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ขึ้นมาทั้งดวง นั่นคืออวิชชาหมดไปแล้ว เมื่ออวิชชาหมดไปแล้ว ความโกหกก็หมดไปพร้อมๆ กัน ไม่มีอันใดเหลืออยู่ นี้แลคำว่า ศาสนาเจริญ เจริญอยู่ที่นี่ นั่งอยู่ก็เจริญ นอนอยู่ก็เจริญ ไม่ว่าหลับว่าตื่นเจริญทั้งนั้น ในอิริยาบถทั้งสี่ ไม่ปรากฏว่าอิริยาบถใด ศาสนาของตัวจะเสื่อมไป เพราะธรรมชาตินี้เป็นธรรมชาติที่ตายตัว บริสุทธิ์อย่างเต็มที่แล้ว นี่คือ ความสุขอันไพบูลย์ ไม่ต้องไปหาที่ไหนอีก

ปัจจัยเครื่องอาศัยก็อาศัยไปอย่างนั้นเอง แต่ไม่มีความมุ่งหวัง พอจะให้เกิดสุข เกิดทุกข์แก่ตนเอง เพราะความสุขนั้นอยู่ในจิตนี้อย่างพอตัวแล้ว จิตที่ไม่พอตัวจึงแสดงความระส่ำระสายยุ่งเหยิง ก่อเรื่องใส่ตัวอยู่ตลอดเวลาที่ท่านเรียกว่า กองทุกข์ เกิดจากจิตไม่พอ จิตจึงหิวโหย กระเสือกกระสนวุ่นวาย ราวกับคนไข้ที่จวนจะสิ้นลม

จงพยายามบำเพ็ญจิตให้ถึงความพอดีด้วยอำนาจของสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร ชำระซักฟอกให้หมดไป ใจจะกลายเป็นความพอดีขึ้นมา ใจพอดีเพียงดวงเดียวเท่านั้นโลกนี้ประหนึ่งว่าเป็นความพอดีไปทั้งนั้น ไม่มีอะไรจะมาเป็นข้าศึกต่อตนเอง เหตุที่ใจเป็นข้าศึกต่อตนเองและสิ่งทั้งหลาย ก็เนื่องจากใจเป็นสาเหตุแห่งข้าศึกเสียเอง

รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เคยมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ แต่ตนไม่รู้เท่าก็เหมือนอย่างเด็กไปคว้าเอาไฟ เมื่อถูกไฟไหม้แล้ว ไปตำหนิไฟว่าร้อนก็ไม่ถูก ที่ถูกก็คือเด็กมันโง่ต่างหาก นี่รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เป็นของมีอยู่ดั้งเดิม แต่ถ้าจิตไม่ฉลาดก็ไปคว้าเอามาเผาตน แล้วตำหนิว่าโลกไม่ดีก็ไม่ได้ เพราะเราโง่ ถ้าเราฉลาดพอตัวแล้วโลกก็ต้องเป็นโลก ธรรมก็ต้องเป็นธรรม เราต้องเป็นเรา ปล่อยได้ตามสภาพแห่งความจริงของเขาด้วยอำนาจของสติปัญญาที่พร้อมมูลแล้ว นี้แลจุดที่ศาสนาเจริญอย่างเต็มที่เจริญที่นี่ ความเสื่อมของศาสนาไม่ปรากฏเพราะสมมุติหมดไปแล้ว เหลือแต่ความบริสุทธิ์เต็มที่ นั้นแลท่านว่า ปรมํ สุขํ

เราจะหา ปรมํ สุขํ สุขยอดเยี่ยมจากที่ไหน หาจากอะไร นอกจากจะหาจากภายในตัวเรานี้เท่านั้น ซึ่งเวลานี้กำลังถูกสิ่งที่ปลอมแปลงทั้งหลายปกคลุมหุ้มห่ออยู่จนธรรมชาติ คือจิตดวงนี้ไม่สามารถจะฉายแสงความศักดิ์สิทธิ์วิเศษของตนออกมาได้ หากเราไม่คลี่คลายหรือชำระรื้อถอนสิ่งที่ปกคลุมอยู่นี้ออกให้หมดเสียด้วยความเพียร จิตดวงนี้ก็จะแสดงตัวขึ้นมาไม่ได้ แล้วจะไม่เห็นจิตตัวเองเป็นของอัศจรรย์ตลอดวันตาย และยังจะเห็นสิ่งอื่นว่าเป็นของแปลกประหลาด เป็นของอัศจรรย์ ตื่นเต้นไปตามกาล สถานที่ บุคคล ตื่นเต้นไปกับโลกสมัยเก่า สมัยใหม่ ไม่มีวันสิ้นสุดยุติลงได้ ไม่มีวันรู้สึกตัว ท่านว่าอะไรดีก็วิ่งเต้นเผ่นกระโดดไปตาม ใจเลยกลายเป็นของไม่มีคุณค่า กลายเป็นผ้าขี้ริ้วไปเสีย เพราะจิตใจนี้ถูกปกปิดความเป็นของมีค่าไว้ จึงกลายเป็นของเหลวแหลกไป แปลกปลอมไป

การฟื้นจิตใจให้เป็นของมีคุณค่าตามหลักธรรมชาติของใจนั้น ฟื้นฟูโดยวิธีนี้ คือโดยวิธีที่กล่าวมานี้และวิธีที่ครูอาจารย์พาดำเนินมานี้ จะไม่หลงโลกหลงธรรม ไม่หลงสุขหลงทุกข์ที่ไหน ไม่ตื่นเต้น เพราะมีหลักความจริงอันแท้จริงแล้ว จะตื่นเต้นไปที่ไหน

จึงขอให้ทุกท่านนำไปพินิจพิจารณา นักบวชต้องเป็นผู้มีความอาจหาญ มีความอดทน มีความขยันหมั่นเพียรในหน้าที่การงานทุกด้านที่เห็นว่าชอบธรรม ตามเพศของพระ ตามเพศของนักบวช ไม่เป็นคนเห็นแก่ปากแก่ท้อง ไม่เห็นแก่หลับแก่นอน จงเห็นแก่ความพากเพียรที่จะเป็นประโยชน์ สิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์จะยากหรือง่ายไม่สำคัญ ไม่ถือว่าเป็นอุปสรรค จะต้องทำสิ่งนั้นให้สำเร็จจนได้ ไม่ปล่อยวางกลางคัน

การพยายามยกตัวเราให้พ้นจากทุกข์ซึ่งเป็นข้าศึกอย่างใหญ่หลวง เพื่อประโยชน์สำคัญอย่างยิ่ง อย่าถือเป็นเรื่องเล็กน้อย ให้พยายามทำความเพียร อย่าได้มีเวลานิ่งนอนใจ เราจะเห็นแดนพ้นทุกข์รออยู่ภายในใจ และความเจริญของศาสนาประจักษ์ใจ โดยไม่ต้องถามใคร เพราะความจริงเท่ากับหนึ่งไม่มีสอง รวมอยู่กับสวากขาตธรรม และนิยยานิกธรรมของพระพุทธเจ้าหมดแล้ว จงเป็นที่แน่ใจตามนี้จะไม่ผิดหวังในความหลุดพ้น

การแสดงธรรมนี้เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติเพียงเท่านี้

 

gggggg


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก