พุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นโอสถ
วันที่ 8 มกราคม 2519 ความยาว 32.03 นาที
สถานที่ : ศาลาโรงครัว วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙

พุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นโอสถ

 

        คนแทบทั้งโลกมีความเห็นอันเดียวกัน และจากความเห็นอันเดียวกัน คำพูดก็เป็นเหมือนๆ กันว่า “ถ้าชาติหน้ามี ขอให้เป็นอย่างนั้นๆ !” ทำไมจึงพูดอย่างนั้น? ก็เพราะเข้าใจว่า ชาติหน้าไม่มี ภพหน้าไม่มีนั่นเอง มีแต่ความสิ้นหวังความหมดหวังเต็มหัวใจ ทั้งๆ ที่ ตัวจิต “ผู้พาให้เกิด ตาย” สืบเนื่องกันโดยลำดับ ก็คือ “ตัวภพ, ตัวชาติ” เต็มตัวอยู่แล้ว เป็นเพียงจิตไม่ทราบความเป็นมาของตนเท่านั้น จึงทำให้เกิดความรู้ความเห็นไปว่า “ถ้าภพหน้า ชาติหน้ามี ขอให้เป็นอย่างนั้นๆ” ที่คิดหรือพูดอย่างนี้ก็เพราะเข้าใจว่า ภพหน้า ชาติหน้า ไม่มีนั่นเอง

         นี่คือ ความคิด ความสำคัญของคนส่วนมากเป็นอย่างนี้ โดยไม่มีหลักประกันรับรองแต่อย่างใด เป็นความคิดเห็นอย่างลอยๆ แต่เชื่อเอาเป็นจริงเป็นจัง ไม่สนใจจะถอนเลย จึงจัดว่าเป็นความเห็นที่ทำลายตัวเองอย่างช่วยไม่ได้ ถ้าไม่ค้นหาความจริงจาก    “ศาสนธรรม” ที่ยืนยันความเกิด ความตายของสัตว์โลกอยู่แล้ว ด้วยการปฏิบัติธรรมดังที่พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายดำเนินมา

         ความจริง อัตภาพร่างกายของคนและสัตว์แต่ละราย ก็คือ ตัวภพ ตัวชาติ อยู่แล้ว ซึ่งเกิด ตาย ถ่ายเทมาโดยลำดับจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่พาให้โลกเกิด ตาย ไม่มีเวลาจบสิ้นลงได้ ก็คือ “อวิชชา” แปลว่า รู้แบบงูๆ ปลาๆ ดังเราๆ ท่านๆ นี้แล ไม่อาจรู้ความเป็นมาละความจะเป็นไปในภพชาติต่อไปของตน รู้เพียงความเป็นอยู่นี้เท่านั้น ว่าตนเป็น “คน” แต่ไม่รู้ว่ามาจากภพใด กำเนิดอะไร ทั้งนี้เพราะ “อวิชชา” พาให้หลง พาให้เกิด แต่มิได้พาให้สูญ และมิได้ปิดทางภพหน้า ชาติหน้า ไม่ให้สัตว์ไปเกิด อวิชชาเปิดไว้เสมอ แต่ปิดมิให้สัตว์โลกรู้ ว่าภพหน้าชาติหน้ามีอยู่  การปิดมิให้สัตว์โลกรู้ว่าภพหน้าชาติหน้ามี ก็คือกลอุบายลวงสัตว์โลกอยู่โดยดี ฉะนั้นจึงพากันเคลิ้มหลับตามเพลงลูกทุ่งของอวิชชากล่อม

         ใจความของเพลง “อวิชชา” ที่สัตว์โลกเคลิบเคลิ้มและรับมา เล่าสู่กันฟังว่า “ภพหน้า ชาติหน้าไม่มี ตายแล้วก็สูญพันธุ์กันไปเลย ไม่ได้เกิดอีก”

         แต่กรุณาย้อนมาคิดดู สัตว์ที่เกิดมาเป็นประจำทุกเวลา เฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์นับวันมากขึ้นทุกวันเวลา เมื่อดูตามนี้มันขัดกันไหม กับความเห็นที่ว่า ภพหน้า ชาติหน้าไม่มี ตายแล้วสูญพันธุ์น่ะ? ดูมันขัดมันขวางกันจนเกินกว่าจะหลงเชื่ออวิชชาจนลืมนึกลืมฝัน ไม่ลืมหูลืมตาดูความจริง คือใจอันเป็นตัวภพตัวชาติ พาให้เกิด ตาย กันบ้างเลย

         “อวิชชา” ที่พาให้เกิด ตาย อยู่กับใจ ผู้เป็นเชื้อ รังแห่งภพชาติจึงคือใจโดยแท้ รู้ “อวิชชา” เมื่อใด ถึงจะทราบโดยสมบูรณ์ว่า “ภพหน้า ชาติหน้า มีแก่สัตว์โลก” เพราะมีเครื่องยืนยันว่า “อวิชชา” เป็นตัวการพาให้เกิดตาย อวิชชาหมดจากใจ ใจก็บริสุทธิ์ ไม่มีผู้พาให้เกิดตาย แต่ไม่ได้สูญ และไม่ใช่มีอยู่แบบโลกเข้าใจกัน แต่มีแบบ “วิมุตติ” ที่นอกสมมุติแล้ว ซึ่งใครๆ ในไตรโลกธาตุไม่อาจคาดหมายและด้นเดาได้ เพราะไม่ใช่วิสัยจะคาดหมาย เหมือนสมมุติทั่ว ๆ ไป

         การปฏิบัติธรรม ก็เพื่อรู้เรื่องของตัวโดยชัดแจ้งนั่นแล สิ่งที่กล่าวมานี้  มี “อวิชชา” เป็นต้น เป็นของมีอยู่ในตัว ในใจเราทุกคน มี “วิชชา” ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะสามารถเปิดสิ่งที่จอมปลอมทั้งหลาย ซึ่งปิดบังจิตใจอย่างมิดชิดจนไม่รู้เนื้อรู้ตัวนี้ ให้เปิดเผยออกมาตามความเป็นจริงได้ และ “ละ” ได้ตามความจริงก็มี “ธรรมของพระพุทธเจ้า” นี่เท่านั้น อย่างอื่นยังมองไม่เห็น ใครๆ อย่าไปหาญมองหาญคว้า ถ้าไม่อยากเจอ “น้ำเหลว” น่ะ จะว่าไม่บอก

         “มรรคแปด” ท่านเรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” คือทางสายกลาง กลางต่อจุดมุ่งหมาย กลางต่อความจริง จึงไม่เป็นธรรมที่ล้าสมัย ดังคนที่ไม่มีสมัยไร้สาระพูดอยู่เสมอ แต่เป็นสิ่งที่ทันกับเหตุการณ์เสมอไป ไม่เช่นนั้นท่านก็ไม่เรียกว่า “มัชฌิมา” คือ ศูนย์กลางที่พร้อมจะรับเหตุการณ์ดีชั่วอยู่เสมอ ไม่มีคำว่า “ผิดพลาด หรือไม่ทันกิเลสชนิดใดชนิดหนึ่ง” แต่  “มัชฌิมาปฏิปทา” ปราบได้ทุกชนิด จนกิเลสทุกประเภทดับสนิทในพระทัยและสะเทือนโลก จึงทรงประกาศธรรมนี้สอนสัตว์โลก เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้

         ท่านแสดงเรื่องความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็คือพูดเรื่องของทุกข์อันสำคัญ ที่เกิดขึ้นในสี่วาระ ซึ่งล้วนเป็นเรื่อง “ทุกข์ในอริยสัจสี่” พูดอย่างนี้ก็กระเทือนไปทั่วโลกธาตุอยู่แล้ว “ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ, โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสาปิ ทุกฺขา” นี้ ที่เป็นอยู่ในธาตุในขันธ์ของสัตว์ และบุคคลทั่วๆ ไป เป็นแต่สัตว์ไม่ทราบเรื่อง “สมมุติ” กว้างขวางละเอียดลออเหมือนอย่างพวกมนุษย์เรา ความจริงก็มีเต็มตัวเช่นเดียวกัน แต่เขาไม่ใช่สัตว์ “ขี้บ่น” เหมือนมนุษย์ ซึ่งเป็นจอมโลกในการบ่น แทบยาที่นำมารักษา สู้ไม่ได้

         มนุษย์เราทราบในสิ่งเหล่านี้ได้ดี ศาสนาจึงควรแก่มนุษย์ที่จะพึงปฏิบัติ พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสอนเรื่องของ “ทุกข์” เป็นอย่างนี้ๆ แก่มนุษย์ ใน “อริยสัจสี่” ท่านแสดงไว้ใน “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” สมุทัย อริยสจฺจํ คืออะไร ? “นนฺทิราคสหคตา ตตฺร ตตฺราภินนฺทินี เสยฺยถีทํ กามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหา” ความเพลิดเพลินด้วยอำนาจราคะตัณหาทั้งสามนี้ เป็นเหตุให้สัตว์ลุ่มหลงลืมตัว ไม่มีวันเวลาสร่างซา ถ้าไม่บรรเทา หรือแก้มันเสียบ้าง พอมีความสงบเย็นใจ ด้วยธรรมเครื่องซักฟอกหรือกำจัดให้หมดไป

         สามอย่างนี้เป็นรากใหญ่ เป็นส่วนใหญ่ของกิเลสทั้งหลาย ท่านก็แสดงว่า อยู่ที่จิตนี้ ไม่ได้แสดงว่าอยู่ที่ไหน ผู้ฟังเมื่อเอาจิต คือผู้รู้ตั้งไว้ดีแล้ว จะทราบความจริงที่ท่านแสดงเรื่องของกิเลส ซึ่งมีอยู่กับตัวไปทุกระยะ มันเป็นอยู่ มีอยู่กับจิตกับกายของเรานี้ด้วยกันทั้งนั้น เช่น “ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา” เป็นต้น ก็คือ ร่างกายเป็นผู้เกิด ผู้แก่ แต่ใจเป็นผู้รับทุกข์ทั้งมวล ความเกิดเป็นทุกข์ ก็หมายถึง จิตใจของผู้รับทราบนั้นเองเป็นทุกข์ ไม่ได้หมายถึงร่างกายเป็นทุกข์ ร่างกายไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร นอกจากจิตจะเป็นผู้รับทราบให้เท่านั้น ความรับทราบของจิต ในขณะเดียวกันก็รับความทุกข์ด้วย

ชาติปิ ทุกฺขา คือจิตผู้มาก่อกำเนิดเกิดขึ้นมา เป็นผู้รับผิดชอบ เป็นผู้ทุกข์ แต่ท่านแยกออกมาว่า “สิ่งนี้เป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นทุกข์” ให้จิตได้เห็นโทษในสิ่งเหล่านี้เต็มที่ จะได้ไม่ลุ่มหลงและเป็นทุกข์ไปตาม “ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ” คือ เกิดก็เป็นทุกข์ แก่ ชราภาพ ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ให้เห็นโทษแห่งความทุกข์นี้ เพื่อจะได้ถอดอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นนั่นเสีย ไม่ใช่เพื่ออะไร ก็ร่างกายส่วนต่างๆ มิใช่ “ธาตุรู้” พอจะรับรู้ และเสวยเวทนา ฉะนั้นที่ท่านว่า “ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา” จึงเพื่อจิต ผู้เป็นเจ้าของนั่นเอง ให้รู้เท่าทันเหตุการณ์ระหว่างกายกับจิตที่เกี่ยวเนื่องกัน

         ที่ท่านแสดงไว้ใน “อนัตตลักขณสูตร” ก็เหมือนกันว่า “สิ่งนั้นเสียดแทง สิ่งนี้เสียดแทง มันเป็นไปเพื่อความอาพาธ หรือเป็นไปเพื่ออะไรก็ตาม ความเป็นไปนั้นๆ เมื่ออะไรผิดปกติ ก็เสียดแทงเข้ามาที่ใจ เสียดแทงมาที่ใจ ใจเป็นผู้รับเคราะห์ทั้งหมด และให้เห็นโทษในสิ่งนั้นๆ ด้วย ให้เห็นความหลงของตน ที่ไปเกี่ยวข้องผูกพันเขาด้วย

         เทศน์นี้ไม่มีหนีจากจิต เทศน์อยู่ในจิตล้วนๆ เพราะเรื่องทั้งปวงเป็นเรื่องของจิต ซึ่งเป็นผู้รู้ ผู้หลง ร่างกายมิใช่ผู้รู้ มิใช่ผู้หลง จึงไม่จำเป็นต้องสอนเขาให้เป็นอะไร นอกจากเป็นร่างกาย ตามที่สมมุติให้เท่านั้น

         ในข้อที่สามท่านว่า “นิโรธ อริยสจฺจํ” ที่พึงทำให้แจ้ง ซึ่ง “นิโรธ” ความดับทุกข์อะไรจะเป็นเครื่องทำ “นิโรธ” ให้แจ้ง ถ้าไม่ใช่ “มรรค” มีสมาธิ สติปัญญา เป็นต้น ซึ่งเป็นธรรมเกี่ยวโยงกัน “มรรค” อะไรเป็นสำคัญ? คือ “สัมมาทิฏฐิ” “สัมมาสังกัปโป” ได้แก่ “องค์ปัญญา” ต้องเป็นผู้นำเสมอ คนฉลาดต้องเป็นหัวหน้างาน เอาคนโง่ไปเป็นหัวหน้างานไม่ได้ จะทำให้งานแหลกเหลวป่นปี้ไปหมด ผลได้ไม่ค่อยมี แล้วยังทำให้งานนั้นเสียไปด้วย จึงต้องเอาคนฉลาดเป็นหัวหน้างาน ใน “มรรคแปด” “สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป” ท่านก็เอา “ปัญญา” เป็นผู้นำหน้า

         “สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ” ที่จะ “ชอบ” ไปได้ ก็ต้องมีปัญญาเป็นผู้ควบคุม “สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ” ก็เหมือนกัน คือต้องมี “ปัญญา” เคลือบแฝงอยู่ด้วยเช่นกัน ไม่ยังงั้นจะเป็น “สมาธิหัวตอ” หรือเป็น “สมาธิมังกี้ (ลิงโดดไปนอกโลก ไปสู่สวรรค์พรหมโลก กระทั่งนิพพาน ทั้งๆ ที่กิเลสยังพอกพูนเต็มหัวใจ กลายเป็นสมาธิที่น่าสังเวชเอ็นดู ทั้งที่เจ้าตัวภูมิใจ โอ่อ่า สง่าผ่าเผย แทบจะเหาะจะบิน ทั้งที่ไม่มีปีก

         “สัมมาสติ” คือ ระลึกชอบ ระลึกชอบ ระลึกที่ไหน ระลึกชอบ ใคร ๆ ก็ทราบว่าคืออะไร แล้วระลึกที่ไหน ถึงจะเรียกว่า “ชอบ”? ระลึกใน “สติปัฏฐานสี่” คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ก็ย้อนเข้ามาอยู่ที่นี่ (จิต) อีกนั่นแหละ สัจจะ ซ้อน สัจจะ! ฉะนั้น “สัจธรรม” กับ “สติปัฏฐาน” จึงใช้แทนก็ได้ในวงปฏิบัติ

         “สัมมาสมาธิ” เมื่อระลึกชอบแล้ว สัมมาสมาธิก็สงบโดยชอบ ไม่ใช่เที่ยวรู้นั้นรู้นี้ หลวกลวงตนเอง โดยไม่มี “สติ ปัญญา” เป็นเครื่องควบคุมคุ้มกัน กลั่นกรองสิ่งเหล่านั้นว่า ผิด หรือ ถูก

         “มรรคแปด” เหล่านี้แล เป็นกุญแจเปิดพระนิพพาน! ที่ว่า “การทำพระนิพพานให้แจ้ง” ก็ทำด้วยข้อปฏิบัติ ด้วย “สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปโป จนกระทั่ง สัมมาสมาธิ” อาการแห่งการกระทำทั้ง ๘ นี้ เป็นการทำพระนิพพานให้แจ้ง

         “นิโรธ” คือ ความดับทุกข์ นั่นดับได้ ถ้าดับตามวิธีที่ถูกต้อง คือด้วย “มรรค” นี้ ถ้าไม่ใช่วิธีนี้แล้ว ทำอย่างไรทุกข์ก็ไม่ดับ ต้องบ่นวันยังค่ำคืนยังรุ่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มความทุกข์ความลำบากขึ้นอีก จนหาทางปลงวางจิตไม่ได้

         การดับทุกข์ ตามความคล่องปาก คล่องใจ ของโลกปัจจุบัน มักดับด้วยวิธีเพิ่มเชื้อ เช่น เวลาเกิดความกลัดกลุ้มขึ้นมา มักจะหาทางระบาย หรือดับทุกข์ด้วยวิธีดื่มเหล้า เข้าโรงหนัง โรงบาร์ ซึ่งเป็นทางส่งเสริมให้คนเป็นบ้ายิ่งขึ้นไปอีก แทนที่จะหาอุบายแก้โดยถูกต้องถูกทาง พอให้ทุกข์เบาบางลงไป สมกับมนุษย์เป็นสัตว์ฉลาด แต่การระบายทุกข์แบบนี้กลับทำคนให้โง่ลงไปอีก จนไม่มีสิ้นสุดยุติ

         ธรรมทั้งหมด สอนลงที่ใจ ใจนี้แล คือที่อยู่ของกิเลส ที่อยู่ของ “วัฏวน” ทั้งหลาย คลังแห่งกิเลสคือ ใจ คลังแห่งธรรม ก็คือใจ เมื่อถ่ายเท “กองแห่งกิเลส” ออกหมดธรรมก็เข้าแทนที่ ใจก็เป็นคลังแห่ง “ธรรม” ขึ้นมา

         “วัฏฏะ” หรือ วิวัฏฏะ” ไม่นอกเหนือไปจากใจดวงเดียวนี้ เมื่อถ่ายเทสิ่งที่เป็น “วัฏฏะ” ออกแล้ว “วิวัฏฏะ” ก็ปรากฏตัวขึ้นมาเอง เช่นเดียวกับสถานที่รกรุงรัง เมื่อถากถางและตัดฟันต้นไม้ใบหญ้าออกให้หมดแล้ว ก็เตียนโล่งขึ้นมาในสถานที่รกรุงรังนั้นเอง ความรกรุงรังนั้นเองปกคลุมสถานที่ ไม่ให้แสดงความเตียนโล่งขึ้นมาได้ ผู้ต้องการสถานที่ให้เตียน และสะอาด จำต้องถากถางสิ่งปกคลุม และปัดกวาดให้ดี สถานที่นั้นก็เตียน และ สะอาดขึ้นมาเอง

         จิตเวลานี้กำลังรกรุงรังด้วยอะไร? ความโลภก็ทับถมจิต ปกคลุมจิต ความโกรธ ความหลง กิเลสน้อยใหญ่ ก็ปกคลุมจิตดวงนั้นจนโงหัวไม่ขึ้น ถ้าเป็นคนถูกอะไรทับถมปกคลุมขนาดนั้น ต้องตายไปนานแล้ว

         กิเลสไม่ปกคลุมที่ไหนเลย ไม่ปกคลุมที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่มันปกคลุมที่ใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัส เป็นเพียงทางเดินของกิเลส ไม่ใช่กิเลสจริง ตัวกิเลสจริงมันปกคลุมอยู่ที่ใจ ท่านจึงสอนลงที่ใจ ก็จิตใจมีความเกี่ยวเนื่องกับอะไร ท่านจึงสอนแยกแยะออกไป ให้เห็นโทษเห็นภัยในสิ่งต่างๆ ตามที่จิตไปเกี่ยวข้อง เช่น ให้พิจารณา รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆ ว่าเป็นเหมือนลูกศรทิ่มแทงจิตใจของบุรุษตาฟาง ทำให้ใจติดพัน รักใคร่ ชอบใจ หรือ เกลียดชังต่างๆ แยกสิ่งนั้นๆ และแยกดูจิตของตัว ให้เห็นเป็นฝักเป็นฝ่าย เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ให้ระคนคละเคล้ากัน อันเป็นการฝืนความจริงอย่างยิ่ง เพราะสภาพที่รู้ คือจิตต่างกับ ตา หู ฯลฯ และ รูป เสียง ฯลฯ เหล่านั้น ยิ่งกว่าฟ้ากับดิน

         ท่านสอนข้างนอก (เสียง) และข้างใน (หู) ก็เพื่อให้รู้ข้างนอก ให้รู้ข้างใน สอนข้างใน ก็ให้รู้ข้างในโดยตลอดทั่วถึง ธรรมทั้งหลายจึงรวมอยู่ที่ใจ สอนด้วยอุบายใดก็เพื่อใจทั้งนั้น เพราะใจเป็นตัวการสำคัญ ที่เรียกว่า “จอมหลง” ก็คือใจ “จอมรู้” ก็คือใจ “จอมปราชญ์” ก็คือใจ เมื่อชำระความโง่เขลาออกจากใจได้แล้ว ความฉลาดไม่ต้องบอกหากเกิดขึ้นเอง! เมื่อกิเลสตัวพาให้โง่ออกจากใจโดยสิ้นเชิงแล้ว ความเข้าใจว่าตนฉลาดที่กิเลสพาให้คิดโง่ๆ เช่นนั้น ก็หมดไป สติปัญญาซึ่งเป็นธรรมช่วยให้ฉลาด ก็จะพาให้ผู้นั้นฉลาดขึ้น และจะพาไม่ให้ลืมตัว เพราะความโง่กับความฉลาดอยู่ในฉากเดียวกัน เหมือนกับมีด มีทั้ง “สัน” ทั้ง “คม” ตามแต่จะมีอุบายใช้มัน จิตก็เช่นกัน ตามแต่ผู้เป็นเจ้าของจะพาให้เป็นไป ทั้งความโง่ ความฉลาด เป็นได้ทั้งนั้น

         ขอย้ำอีกครั้ง “ชาติปิ ทุกฺขา” เกิด ก็คือกายของเรานี้ เกิดมาแล้วมันเป็นอย่างไรมันก่อความวุ่นวายอะไร? แก่เราบ้าง ที่เห็นได้ชัดเจน เปลี่ยนไปทั้งวัน ทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน มีแต่การเปลี่ยน เป็นการบรรเทาทุกข์ทั้งนั้น นั่งนานก็ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนไปเดิน เดินก็เปลี่ยนไปยืน ยืนก็เปลี่ยนไปนอน เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างนั้น ไม่เปลี่ยนไม่ได้ อยู่ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งนานๆ ก็เป็นทุกข์ขึ้นมา เพราะฉะนั้นอิริยาบถจึงเป็นวิธีการบรรเทาขันธ์ และปิดบังทุกข์ด้วยในตัว

         ถ้าจะเปรียบเทียบดู ก็เหมือนเอาถ่านเพลิงมาไว้บนฝ่ามือ จะให้มันค้างอยู่บนฝ่ามือข้างหนึ่งไปเรื่อยๆ ไม่ได้ ต้องร้อนมาก และ ฝ่ามือต้องพองไปหมด จึงต้องโยนขึ้นไปบนอากาศ และตกลงบนฝ่ามือ แล้วโยนขึ้นไปอีก โยนขึ้น ตกลง เช่นนี้จนถึงที่ปลง ความร้อนของถ่านเพลิง ก็ไม่รุนแรงมากนัก

         ธาตุขันธ์ก็เหมือนกัน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถทั้งสี่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน เรื่อยๆ ไปจนกระทั่งถึงวันตาย คิดดูซิ! วันตายของเรานั่นแหละ คือ วันปล่อยวางธาตุขันธ์ ธาตุขันธ์ก้อนนี้จะพิจารณาอย่างไร จิตเรายังยึดยังถือ ไม่ยอมปล่อยวางเลย?

        เอ้า พิจารณาลงที่นี่ เพื่อปลดปลงปล่อยวาง ปัญญามีไว้เพื่ออะไร หุง ต้ม แกงกินก็ไม่ได้? เอาไว้สำหรับแก้สิ่งงมงาย สิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ ซึ่งมีอยู่ในใจของเรา จงพยายามแก้ลงที่ตรงนี้ คือใจ พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย ที่พ้นจากทุกข์ทั้งมวลไปแล้ว ท่านพิจารณาแก้กันที่นี่ทั้งนั้น ไม่มีที่อื่นเป็นที่พิจารณาและปล่อยวาง เอาธาตุขันธ์นี้แหละเป็นสนามรบ เป็นที่พิจารณา ทุกข์เกิดขึ้นที่ไหนก็ตาม ไม่เกิดขึ้นก็ตาม ให้เห็นตามสภาพแห่งความจริงของมันโดยสม่ำเสมอ เมื่อทุกข์เกิดขึ้นก็ให้พิจารณาเรื่องทุกข์ เราเคยพิจารณามาแล้วเป็นอย่างไร มันเป็นความจริงอยู่ตลอดเวลา การพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงของมันอยู่อย่างนั้นเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตมีความสม่ำเสมอตัว อะไรจะเกิดขึ้นก็รับทราบ รับทราบไปตามความจริง เพราะความคล่องแคล่วแกล้วกล้าของสติ ปัญญา ที่เคยพิจารณาช่ำชองมาแล้ว ความจริงมันเป็นอย่างนั้น ถ้ายังตื่นเต้นอยู่ ก็พิจารณาให้ชัดเจนลงไปจนแหลกละเอียด ไม่ตื่นเต้นแล้วพอ! พอตัว พอตัวเรื่อย ๆ จนพอเต็มที่แล้ว ก็ปล่อยวางได้เด็ดขาด ไม่มีเงื่อนต่อกับสิ่งนั้น ๆ

         การเรียนวิชาแก้ “วัฏวน” ภายในจิตใจ ท่านเรียนอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ วิชานี้เป็นวิชาที่เลิศ วิชาที่ประเสริฐ แต่เป็นงานที่ทำได้ยาก เพราะเป็นงานใหญ่ในวงศาสนา ท่านเรียกว่า “งานกรรมฐาน กัมมัฏฐาน” ดังที่เขียนไว้ในหนังสือ “ปฏิปทาพระกรรมฐาน สายท่านอาจารย์มั่น” นั่นเอง

         “กัมมัฏฐาน” แปลว่า อะไร? แปลว่า ที่ตั้งแห่งงาน “ฐาน” แปลว่า ที่ตั้ง คือที่ตั้งแห่งงาน เป็นงานที่ชอบ แต่งานนี้เป็นงานที่ใหญ่โตมากมาย เป็นงาน “รื้อวัฏสงสาร”ออกจากใจ ได้แก่การพิจารณากัมมัฏฐาน คือ ร่างกายส่วนต่างๆ ตลอดขันธ์ห้า อวิชชา เป็นที่สุด จึงเป็นงานที่หนักมาก “งานนี้เป็นงาน รื้อภพ รื้อชาติ รื้อวัฏสงสาร” คือรื้อกิเลสตัณหาชนิดต่างๆ ออกจากใจ จนกลายเป็น “วิวัฏฏะ” ขึ้นมา จึงเป็นงานที่ยาก ต้องหาที่หาทำเลที่เหมาะสม เป็นที่ประกอบบำเพ็ญ เพื่องานนี้สะดวก และเร็วขึ้นตามใจหวัง เมื่อหาไม่ได้ที่ไหน ก็ให้พิจารณาลงไป ไม่ให้เสียเวลาความพากเพียรในวันหนึ่งคืนหนึ่ง แต่ถ้าได้ทำเลที่เหมาะก็เป็นการดี ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระว่า “รุกฺขมูลเสนาสนํ” เป็นต้น

         ทรงสอนให้ไปอยู่ตามป่า ตามเขา รุกขมูล ร่มไม้ ในถ้ำ ซอกเหว ที่ไหนก็ได้ ขอแต่สะดวกในการบำเพ็ญ เพื่อแก้กิเลส หรือปราบปรามกิเลส ให้อยู่ในเงื้อมมือ หรือสิ้นซากไปจากจิตใจ การเป็นอยู่ปูวาย ไม่ได้คำนึงว่าจะอดอยากขาดแคลนประการใด มีแต่การประกอบความพากเพียร ตามความมุ่งหมายอย่างเดียว

         ไปอยู่ในสถานที่ใด ที่เป็นไปเพื่อความสะดวกแก่การแก้กิเลสอาสวะ ด้วยความพากเพียรโดยลำดับ สถานที่นั้นเป็นที่เหมาะสม กับผู้ที่หวังรื้อถอนกิเลสด้วย “กัมมัฏฐาน” คือ งานอันใหญ่โตนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้อย่างเหมาะสมทุกประการแล้ว ทั้งวิธีการแก้กิเลส ทั้งสถานที่อันเป็น “ชัยสมรภูมิ” สำหรับผู้ตั้งหน้าฆ่ากิเลสจริง ๆ

         พระบวชมาแม้องค์หนึ่งก็ตาม อุปัชฌาย์ไม่สอนกรรมฐานห้า เป็นต้นให้ ไม่ถูก!เมื่อบวชแล้ว ต้องสอน “กัมมัฏฐานห้าให้” และ “รุกขมูล ฯ” ร่มไม้ ให้เที่ยวตามป่าตามเขา สอนให้บิณฑบาต ที่หาด้วยกำลังปลีแข้งของตน เป็นงานชอบธรรมอย่างยิ่ง ยิ่งกว่างานการแสวงหาด้วยวิธีอื่น ๆ

         ท่านสอนไว้ “อยนฺเต ปตฺโต” นั่น “นี่บาตรของเธอ” หรือ “ของเจ้านะ” ท่านบอกไว้เลย ทั้งๆ ที่บาตรก็อยู่ในมือ ท่านก็รู้ ยังชี้บอกอีกว่า “นี่บาตรของเจ้านะ” เพื่อประทับใจลงไปอีกทีหนึ่ง บอกซ้ำอีกว่า “นี่บาตรของเจ้านะ” ก็คือว่า “นี่คู่ชีวิตของเจ้านะ” นั่นเอง ให้บิณฑบาตมาฉัน ได้มาแล้วเอาใส่ลงในบาตรนั่นแหละ ไม่มีภาชนะใดที่ควร และเหมาะสมสำหรับสมณะยิ่งกว่าบาตร สอนลงไปที่ตรงนั้น บาตรเป็นสิ่งที่สมที่ควรสำหรับพระ เมื่อไปบิณฑบาต ก็เอาบาตรลูกนี้มาฉัน ก็ลงในบาตรนี่ เป็นกิจที่ควรและเหมาะสมที่สุด ท่านจึงสอนว่า “อยนฺเต ปตฺโต” คือ ยุ้งข้าวของพระนั่นเอง

         ถ้าไม่สำคัญ ท่านไม่สอน ท่านไม่บอก “อยํ สงฺฆาฏิ อยํ อุตฺตราสงฺโค (ผ้าห่ม) อยํ อนฺตรวาสโก (ผ้านุ่ง)” “นี่ผ้าสังฆาฏิ, นี่จีวร, นี่สบง” นี่บาตร ท่านบอกแล้ว” ราวกับย้ำว่า “นี่ๆ สมบัติของเธอผู้เป็นพระ” บริขารนี้เป็นสมบัติที่ชอบธรรมสำหรับพระ นอกนั้นท่านไม่ได้ว่าอะไร เช่น ให้สั่งสมนั้น สั่งสมนี้ ให้หานั้นหานี้มากอง หรือพอกพูนเต็มกุฏิ เต็มที่อยู่อาศัย ท่านไม่ได้ว่า ท่านบอกลงในจุดสำคัญ ๆ ว่า “นี้เป็นที่เหมาะสมที่สุด” “ไปเถอะ” จะไปที่ไหน แล้วชี้บอกสถานที่ “ไปรุกขมูล ตามร่มไม้ ชายป่า ชายเขา ไปหาอยู่ เพื่อความสะดวกสบาย ในการบำเพ็ญสมณธรรมเถิด

         ครั้งพุทธกาลท่านสอนสาวกทั้งหลายให้ไปบำเพ็ญ ด้วยความแกล้วกล้าสามารถในทางความเพียร และทางสติปัญญา ให้รื้อถอนกิเลส กองทุกข์ที่มีอยู่ภายในใจ และฝังจมกันมาเป็นเวลานาน ให้หมดสิ้นไปด้วยวิธีการนี้ ยุทธวิธีแบบนี้ ในสถานที่เช่นนั้น ซึ่งเป็นสถานที่เหมาะสมที่สุด นี่ท่านสอน!

        สบง จีวร เครื่องบริขาร สำหรับใช้สอย ก็มีเท่านั้น ไม่ต้องมีมากมายเหลือเฟือพะรุงพะรัง น่าสังเวช เอือมระอา มีบาตรใบเดียวเท่านั้น เป็นภาชนะที่เหมาะสมที่สุด ไปเถอะ ไปไหนก็สบาย ไม่ต้องพะรุงพะรัง ห่วงหน้าห่วงหลัง เตรียมการอยู่การกินให้ยุ่งไป ยุ่งกันแต่เรื่องอยู่ เรื่องกิน การยุ่งกับความพากเพียร ยุ่งกับการฆ่ากิเลส ทำลายกิเลสไม่มี!

        มีแต่ยุ่งกับการสั่งสมกิเลส ด้วยการเตรียมนั้น เตรียมนี้ วุ่นไปหมด ราวกับแข่งพระตถาคตบรมศาสดาด้วยการสั่งสมกิเลสวัฏวน ในอาการของผู้มักมาก เสริมความอยาก ไม่มีวันอิ่มพอ ซึ่งเป็นการผิดจากหลักของศาสดาที่ได้สอนไว้แล้ว คำที่ว่า “ฆ่ากิเลส” ก็ไม่ปรากฏ มีแต่สั่งสมกิเลสโดยไม่รู้สึกตัวเท่านั้น จะมีกิเลสตัวไหนหายหน้าไป กิเลสตัวไหนตายไป นอกจากจะแตกลูกแตกหลานออกมาจนเต็มหัวใจ กระจายไปทั้งข้างนอกข้างในเต็มโลกเต็มสงสาร มีแต่กิเลส

         การบวชมาบำเพ็ญเพื่อแก้กิเลส แต่กลายมาเป็นผู้สั่งสมกิเลส ย่อมผิดกับโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” คือ การปฏิบัติที่ถูกเป้าหมายของการทำลาย การสังหารกิเลสให้สิ้นไป

         การทำลายกิเลสทั้งมวล ต้องดำเนินตามหลักของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอน ไม่มีหลักใดที่จะเหมาะสมยิ่งกว่าหลักพระโอวาทที่ทรงสั่งสอนไว้แล้ว ไม่ว่าพระ ไม่ว่าฆราวาสสอนลงที่หัวใจ ด้วยการประพฤติปฏิบัติ และอุบายที่สอน ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ล้วนแต่เป็นอุบายวิธีสอน เพื่อแก้กิเลสทั้งนั้น ไม่ใช่เพื่อสั่งสมกิเลสเลย!

        ถ้าการปฏิบัติปีนเกลียวกับพระโอวาทที่ทรงสอนนั้น ก็เป็นการสั่งสมกิเลสขึ้นโดยไม่รู้สึกตัว แม้เจ้าของจะว่าไม่สั่งสมก็ตาม ก็คือ การสั่งสมโดยหลักธรรมชาติอยู่นั่นแล

         การอยู่ป่า ถ้าจิตคิดเป็นเรื่องโลก เรื่องสงสาร เรื่องวุ่นวายต่างๆ ก็เท่ากับอยู่ป่าธรรมดา เหมือนกระรอก กระแต ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร อยู่ในบ้าน ถ้าคิดอรรถคิดธรรม ก็ยังดีกว่า มันสำคัญอยู่ที่ใจ ที่คิดถูกหรือผิด

         การพิจารณา เมื่อพิจารณาร่างกาย ก็เอาให้แหลกลงไปโดยลำดับ ดูตั้งแต่ข้างบนลงไปข้างล่าง ข้างล่างขึ้นมาข้างบน ดูภายใน ดูภายนอก ดูให้ตลอดทั่วถึง มันมีอะไรบ้างอยู่ภายในนี้ ที่ท่านว่า “กรรมฐานห้า” คือ อะไร? คือ “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ” ไปถึงนั่นท่านหยุดเสีย เพราะว่า “ตโจ” คือ หนัง หุ้มห่อไปหมดแล้วในร่างกาย คนเราไม่มีหนัง ดูกันไม่ได้เลย ไม่ว่าสัตว์ ไม่ว่าบุคคล เมื่อถลกหนังออกแล้วดูไม่ได้เลย ว่าเป็นหญิง เป็นชายที่ไหน ดูไม่ได้ นี่! มันครอบแล้ว ท่านจึงไม่ได้บอกต่อไป

         เมื่อขยายออกไป ท่านก็ว่าไปถึง “อาการ ๓๒” เอ้า ให้ดูไป อาการไหนก็ดูเถิดเป็นสัจธรรมทั้งนั้น เพื่อจะรื้อถอนกิเลสออกจากใจ ให้พิจารณาจนมีความชำนิชำนาญ แล้วดูอันไหน มันก็เป็นความจริงไปหมด ไม่ตื่นเต้น ไม่ตกใจ ไม่หวั่นไหว จิตใจก็ปราศจากอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น เป็นลำดับๆ จะว่ายังไงอีกล่ะ!

        เมื่อมันปล่อยวางภาระออกมาด้วยการพินิจพิจารณาแล้ว ทำไมจิตจะไม่เบา จิตจะฟุ้งซ่านไปไหน ฟุ้งซ่านก็ฟุ้งซ่านด้วยความหลง เมื่อรู้แล้วจะฟุ้งซ่านไปทำไม หาความฟุ้งซ่านไม่มี มีแต่ความสงบตัวเข้าไปเรื่อยๆ ทำไมจิตจะไม่เย็นไม่สบาย เย็นสบายอยู่ภายในจิตใจเท่านั้น

         ถ้าจิตสงบตัวได้ ไม่วุ่นวายส่ายแส่ คนเราต้องมีความสุข เท่าที่โลกมีความทุกข์ร้อนตลอดมา ไม่มีวันพักผ่อนหย่อนใจได้บ้าง ก็เพราะจิตไม่ได้สงบตัวจากความคิดปรุงต่างๆ บ้างเลยนั่นเอง

         ถ้าพิจารณาตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว มีแต่สอนให้ถอดถอนกิเลส และความทุกข์ความทรมานภายในใจออกโดยถ่ายเดียว ไม่มีพระโอวาทข้อใดที่สั่งสอนให้สั่งสมกิเลส ให้สัตว์โลกได้รับความทุกข์ความลำบากเลย จึงเรียกว่าเป็น “สวากขาตธรรม” ตรัสไว้ชอบยิ่งแล้ว เป็น “นิยยานิกธรรม” ธรรมเครื่องนำผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์ไปโดยลำดับ จนถึงความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง

         พ้นทุกข์น่ะ พ้นที่ไหน? ก็เวลานี้ทุกข์อยู่ที่ไหน มันก็อยู่ที่หัวใจเรานี้แล มันจะอยู่ที่ไหน ทุกข์ที่กายก็ไปรวมที่หัวใจ ถ้าใจไม่รอบคอบ ทุกข์ที่ตรงไหน อวัยวะส่วนต่าง ๆ ที่ปรากฏเป็นความผิดปกติขึ้นมา ก็จะต้องไปทุกข์ที่หัวใจ เพราะใจไปเที่ยวกว้าน เที่ยวกอบโกยเอาความทุกข์ที่เกิดขึ้น ณ สถานที่ต่าง ๆ จาก “อาการต่าง ๆ ของร่างกาย” เข้ามาสู่ตัว แล้วก็เป็นไฟเผาตัวเองขึ้นมา นั่นแหละ เลยทุกข์ไปหมด! ทุกข์ใจนั้นเป็นทุกข์สำคัญยิ่งกว่าทุกข์ใด ๆ และทุกข์มากยิ่งกว่าทุกข์ใดภายในร่างกายเรา

         ถ้าใจมีความฉลาด ตามที่ได้เคยพิจารณาเห็นตามความจริงของมันแล้ว ก็ไม่ทุกข์ ร่างกายส่วนไหนเป็นทุกข์ ก็ทราบว่าเป็นทุกข์ เมื่อเกิดทุกข์ “อ้อ เกิดทุกข์ที่นี่” ก็รับทราบกัน ทุกข์เพราะเหตุนั้น ทุกข์ที่ตรงนั้น ก็รับทราบกัน ด้วยสติปัญญาเป็นผู้กำกับ ทุกข์มันจะดับไปก็ดับไป ไปปรุงแต่งมันทำไม เรื่องของทุกข์ เวลามันจะเกิดเราก็ไม่ได้ปรุงแต่งให้มันเกิด เวลามันเกิดขึ้นมา มันก็เป็นอยู่ตามธรรมชาติของมัน มันตั้งอยู่ตามธรรมชาติของมัน มันดับไปตามเรื่องของมัน นั่น! ความจริงเป็นอย่างนั้น ไปฝืนความจริงทำไม การฝืนความจริง เป็นการฝืนธรรม และส่งเสริมกิเลสไปในตัว

         การพิจารณา ก็ให้รู้ตามความจริงของมันทุกระยะ ทุกระยะ เราก็ไม่ทุกข์ใจเสียใจ เอ้า มันจะทนไม่ไหวจริงเหรอ? เคยทนกันมาตั้งแต่วันเกิดจนถึงวันนี้ ทีนี้จะทนต่อไปไม่ไหวเหรอ? ทนไม่ได้ก็ปล่อยเสีย แน่ะ! นั่นแหละเรื่องของปัญญา ไม่ฝืนความจริง เมื่อพอทนได้ก็ทนไป พิจารณาไป อย่าหลงขันธ์?

         อย่างพระพุทธเจ้าท่านรับสั่งถามพระสาวก เช่น พระกัสสปะ เป็นต้นว่า “เป็นอย่างไร กัสสปะ? ขันธปัญจกของเธอ พออดทนอยู่เหรอ?” นี่ ท่านถามความสุขความสบายกัน ถามอย่างนั้นแหละ ครั้งพุทธกาลเป็นยังไง ขันธปัญจกของเธอ พออดทนอยู่บ้างเหรอ? นั่น! พอทนได้ก็ทนไป เพราะเคยทนมาแล้วแต่วันเกิด ไม่น่าตื่นเต้นตกใจ เมื่อเหลือที่จะทนต่อไปได้ก็ปล่อยวางเสีย ให้หมดภาระความรับผิดชอบต่อไป

         พวกเราก็ “สบายดีเหรอ ?” ถามเรื่องกองทุกข์ มันจะเอาความสบายมาจากไหน! “ฮึ มันเป็นยังไง สบายดีเหรอ ? หลวงตาบัว ไม่อยากจะถามใคร เพราะถามไป มันก็ฝืนภายในใจชอบกล คำว่า “สบาย ๆ” ก็ฝืนว่าไปตามโลกอย่างนั้นเอง ทั้ง ๆ ที่ไม่สนิทใจว่าสบายดี สบายอะไร กองทุกข์เต็มอยู่ภายในร่างกายไม่มีเวลาเบาบาง “สบายดีเหรอ ภายในใจชำระกิเลสตัวก่อทุกข์ให้โลก ได้แค่ไหนแล้วเวลานี้? ได้ผ่านอุปสรรค หรือได้ผ่านพ้นกองทุกข์ที่กลุ้มรุมอยู่ภายในใจไปได้มากน้อยเพียงไร กิเลสตัวสำคัญๆ ที่เป็นภัยแก่จิตใจนั้น มันได้ตายไปบ้างหรือเปล่า หลานๆ เหลนๆ มัน อย่างน้อยเหลนๆ มันได้ตายบ้างหรือเปล่า ลูกมันตายบ้างหรือเปล่า ยังไม่ต้องพูดถึงพ่อถึงแม่มันตายหรือเปล่า?” ถ้าพูดอย่างนั้น น่าฟัง! จนกระทั่ง “เป็นยังไง ปู่ย่าตายาย มันตายหรือยัง ยิ่งหลานเหลนไม่ต้องว่านะ ถ้ามันตาย ฉิบหาย ไปหมดแล้ว ปู่ย่าตายาย ตัวสำคัญได้ฆ่ามันแล้วหรือยัง?

        “ฆ่าแล้ว ตายหมดแล้ว!” “อ้อ! สวัสดีนา!” ไม่ต้องถาม ก็สวัสดีอย่างสมบูรณ์ภายในใจแล้ว

         นี่แหละ พระพุทธเจ้าท่านรับสั่งถาม พระกัสสปะ เป็นต้น ว่า “เป็นยังไง กัสสปะขันธปัญจกของเธอ พออดพอทนอยู่เหรอ?” พระกัสสปะก็กราบทูลว่า “พระเจ้าข้า พออดพอทนกันไป”

         นั่นฟังซินักปราชญ์ท่านตอบกัน โอ๊ย น่าฟังมาก! “พออดพอทนกันไป!” ถ้าไม่พออดพอทนก็ทิ้งเสียเท่านั้น เรื่องมันก็มีอยู่เท่านั้นเอง ต่อความยาวสาวความยืดให้วุ่นไปทำไม ชาวพุทธผู้ปฏิบัติธรรมแท้ ถามความสวัสดีกัน ควรถามให้กิเลสสะเทือนบ้าง ไม่ควรถามแบบกิเลสหัวเราะเยาะดังที่เคยเป็นมา

         “เป็นยังไง สบายดีเหรอ? จิตใจเป็นยังไง? มีหลักมีเกณฑ์ยังไงบ้างหรือเปล่า? พยายามรักษาใจอยู่บ้างหรือหรือเปล่า หรือรักษายังไม่ได้ วุ่นรักษากันแต่ภายนอก ลืมแล้วเหรอตัวสำคัญอยู่ภายในจิตนั้น ได้รักษาบ้างหรือเปล่า? ได้มองดูบ้างหรือเปล่า? ตัวสาระสำคัญคือใจนั่นน่ะ ถูกกิเลสพอกพูน จนต้องเป็นมูลสดมูลแห้งหมดแล้วเวลานี้ ไม่ได้มองดูบ้างเหรอ?” อยากให้ดูตรงนั้น แพทย์คือเรา รักษาพยาบาลใจเรา ดีอยู่หรือ? ว่า “สบายดีเหรอ มันถึงเหมาะสมกับผู้ปฏิบัติไม่ลืมตัว นี่นักปฏิบัติเรา ถามความสวัสดีกันให้ถามอย่างนี้ เหมาะสมที่สุดแล้ว เพราะการพิจารณาแก้กิเลสต่างๆ ทุกวัน ทุกวันนี่

         ยาแก้ลงไป “โอสถํ อุตฺตมํ วรํ” นี่!

               สกฺกตฺวา พุทฺธรตนํ โอสถํ อุตฺตมํ วรํ,

                 สกฺกตฺวา ธมฺมรตนํ โอสถํ อุตฺตมํ วรํ,

                 สกฺกตฺวา สงฺฆรตนํ โอสถํ อุตฺตมํ วรํ,

         พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นโอสถอันใหญ่ เป็นโอสถอะไร ก็แก้กิเลสตัณหาอาสวะภายในใจของเรานี้เอง นั่น!

        “พุทธะ” แปลว่า ผู้รู้ เอาผู้รู้ผู้ฉลาดนี้ละมาแก้

         “ธรรมะ” ที่ปรากฏขึ้นภายในจิตใจเพราะความเพียร ย่อมระงับดับโรคความวุ่นวายไปได้หมด

         “สังฆะ” ผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมอัศจรรย์ ตามเสด็จพระพุทธเจ้าทัน

         นี่เป็นโอสถแต่ละอย่าง ละอย่าง หรือแต่ละธรรมชาติ จึงเป็นเครื่องพยุงจิตใจได้อย่างดีเลิศ อยู่ที่ไหนอย่าลืม “พุทธะ ธรรมะ สังฆะ” ซึ่งมีความประเสริฐแท้อยู่ภายในใจนี้ จิตของเรานี้แลจะเป็นภาชนะสำคัญ สำหรับรับ “พุทธะ” อันแท้จริงจากพระพุทธเจ้ามาเป็น “พุทธะ” ของเรา “ธรรมะ” อันแท้จริงจากธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมะของเรา ด้วยการชำระได้ จากสังฆะของพระสงฆ์สาวกท่าน มาเป็น “สังฆะ” ของเราผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมทั้งหลายที่มีอยู่ภายในใจ ด้วยการปฏิบัติธรรมของตน

         นี้ “พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” ถึงที่จิตนี้แล้ว อยู่ที่ไหน ก็ได้เฝ้าพระพุทธเจ้า เฝ้าพระธรรม เฝ้าพระสงฆ์ อยู่ตลอดเวลา “อกาลิโก” เพราะพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ รวมเป็นหลักธรรมชาติอยู่ในจิตของเราดวงเดียว ท่านพูดไว้เป็นเพียงอาการเท่านั้นแหละ เช่น

         “พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ จาติ นานาโหนฺตมฺปิ วตฺถุโต” เป็นต้น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้ากล่าวโดยอาการแล้วก็เป็นคนละอย่างจริง แต่อาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อพูดโดยธรรมตามหลักธรรมชาติแล้วเป็นอันเดียวเท่านั้น ท่านว่าเป็นอันเดียว ก็คือ “ธรรมทั้งแท่ง” “ธรรมทั้งดวง” คือ ใจดวงเดียวที่บริสุทธิ์นั้นแล เป็นธรรมแท้ของท่านผู้นั้น

         “พุทธะอันใด ธรรมะอันนั้น ธรรมะอันใด สังฆะอันนั้น” รวมลงไปในธรรมชาติ คือ จิตที่บริสุทธิ์ดวงเดียวเท่านั้น “ความประเสริฐอยู่ที่ความรู้ ให้แก้สิ่งจอมปลอมทั้งหลายที่กดขี่บังคับใจจนหาคุณค่าไม่ได้ออกให้หมด ด้วยอุบายแห่งสติปัญญาของเราเอง

         เอ้า แก้ลงไป แก้ลงไป สาระสำคัญจะค่อยๆ ปรากฏขึ้นโดยลำดับ แล้วก็ถึง “บางอ้อ” ที่เขียนไว้ในประวัติท่านอาจารย์มั่น บางคนเข้าใจว่าเป็น “หนองอ้อ” บึงนั้นบึงนี้ จริงๆ ก็มี คำว่า “หนองอ้อ” นั้น ท่านเจอเข้าที่ภายในจิตใจนี้เอง “อ้อๆ นี่เหรอ!” ไปถึงหนองอ้อแล้ว อ้อนี้เหรอ ธรรมชาติที่เที่ยวหาแทบล้มแทบตาย มาปรากฏแล้วเหรอ? นี่อยู่ภายในจิตนี้ หมายถึงอันนี้ต่างหาก

         คนที่ไปเที่ยวหาดู “หนองอ้อ” ก็มีนะ ไปเที่ยวเชียงใหม่ ก็ไปเที่ยวหาดูหนองอ้อที่ท่านอาจารย์มั่นท่านเจอ ไปจนตายก็ไม่ได้เจอ ความสำคัญของคน “ผิด” ขนาดนี้แล นี่ได้ยินต่อหูเจ้าของเองนะ เราก็เกิดสลดสังเวชขึ้นมา ที่ได้ฟังเขาพูดว่า “เขาไปหาหนองอ้อ ที่ท่านอาจารย์มั่นท่านเจอ” ว่ายังงั้น

         ท่านไปเจอ “ธรรม” อยู่ที่หนองอ้อ ไปหาตรงไหน ก็ไม่เจอ เราก็ยิ้มนิดหนึ่ง สลดสังเวช นี่ได้ยินด้วยหูตัวเองจริงๆ ไม่ทราบจะอธิบายให้ฟังได้อย่างไร ขนาดนั้นแล้ว ทั้งๆ ที่มีความสนใจอยู่ก็จริง แต่ถ้าเราจะพูดว่า “หนองอ้อนี้ต่างหาก” เขาก็ไม่พอจะเกิดความเข้าใจอะไรนัก ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติแล้วจะถึงใจทันที “หนองอ้อที่ไหน” คำเดียวเท่านั้น ปฏิบัติเพื่ออะไร ปฏิบัติเพื่อรู้อะไร รู้ที่ไหน เท่านั้นเข้าใจทันทีสำหรับผู้ปฏิบัติ

         พวกเรา เวลาพยายามให้เจอ “หนองอ้อ” มีแต่หนองวุ่นหนองวาย หนองยุ่งไปหมด ทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน หนองอันนี้มันหนองอะไร? ทำคนให้ล่มจมไปมากมาย นอนจมอยู่กับหนองวุ่นหนองวายนี้ ความเดือดร้อนอยู่ที่นี่ ไม่เจอหนองอ้อ บึงอ้อ ภายในจิตใจสักที!

        เอ้า แกะออกให้หมด แก้ออกให้หมด อะไรไม่ดีไม่งาม พิจารณาให้เข้าใจโดยถ่องแท้ เฉพาะอย่างยิ่งคือ เรื่องขันธ์ห้า อย่าปล่อยอย่าวาง จงพิจารณาให้รู้ นี่แหละเป็นตัวสำคัญ ไม่มีอะไรเป็นข้าศึกยิ่งกว่าขันธ์ห้าเป็นข้าศึกต่อเรา เพราะความหลงมัน

         การพิจารณาขันธ์ห้า จึงเป็นเรื่องบุกเบิกทางให้ถึงความเกษมได้อย่างไม่มีอะไรสงสัย เอ้า พิจารณาลงไป รูป ดังที่เคยสอนแล้ว มันเป็นยังไง กำหนดลงให้เห็นว่า รูป คือความจริงอันหนึ่ง เวทนา คือ ความจริงอันหนึ่ง วันนี้มันก็จริง ขณะนี้มันก็จริง ขณะหน้ามันก็จริง กาลใดๆ มันเกิดขึ้นมา มันก็เป็นความจริงของมันตลอดสาย เราอย่าไปหลงความจริงของเขาให้เป็นความปลอมขึ้นมา ว่านั้นเป็นเรา นี้เป็นของเราก็พอ นี่ได้ชื่อว่า “ปัญญา” ให้ตามความจริงให้เห็น เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่กับตัวตลอดเวลา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่าง ละอย่าง มันจริงของเขา ปรากฏขึ้นมาเป็นระยะ ๆ แล้วดับไป ดับไป โดยที่เขาเองก็ไม่มีความหมายกับเขาแต่อย่างใดเลย มีแต่เราไปให้ความหมายเขาแล้วก็หลง พายุ่งไปหมด

         ถ้าเห็นตามความจริงนี้แล้ว ก็ปล่อยกันสบายๆ เบิกออก อะไรที่มาหุ้มห่อจิตใจ ให้เหลือแต่จิตที่เป็นธรรมชาติ มีปัญญาเป็นเครื่องแก้ไขดัดแปลง และรักษาจิตใจ สลัดออกได้จนหมดไม่มีอะไรเหลือ ขันธ์กับจิตอยู่ด้วยกัน เขาจะเป็นอะไรไป เขาเคยอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่วันเกิดอยู่แล้วนี่ เราเคยอยู่ด้วยความพัวพัน ถือเขาว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตนมาเป็นเวลานาน ทีนี้มาแยกกันได้แล้ว ต่างอันต่างอยู่ ต่างอันต่างจริงแล้วจะเป็นพิษเป็นภัยกันที่ไหน นอกจากเป็นพิษเป็นภัยต่อกันเพราะความถือขันธ์ว่าเป็นเราว่าเป็นของเราเท่านั้น เมื่อรู้ความเป็นจริงของกันและกันแล้ว จิตก็เป็นจิตด้วยความบริสุทธิ์ของตนแล้ว ก็อยู่ด้วยกันได้อย่างสบายหายห่วง จนถึงวันตายด้วยกัน ก็ตายไปอย่างผู้รู้ ผู้ปล่อยวาง

         เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้ว ก็เป็น “วิมุตติ” ที่นั่นเอง วิมุตติ ไม่ต้องไปหาที่ไหน! เอาละ การแสดงธรรม ก็เห็นว่าสมควรยุติ

 

ggggggg


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก