อมตธรรม
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2519 ความยาว 40.05 นาที
สถานที่ : ศาลาโรงครัว วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙

อตมธรรม

 

            เวลาฟังเทศน์กรุณาให้จิตอยู่กับตัว อย่าได้ส่งออกไปดูอารมณ์นั้นนี้ อย่าเสียดายอารมณ์ที่เคยคิดปรุงมาซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไรในเวลานี้ จงพยายามบรรจุธรรมนี้เข้าสู่ดวงใจ ใจนี้เคยแห้งผากจากธรรมเป็นเวลานาน เช่นเดียวกับสถานที่ป่าไม้ที่ใดก็ตามที่แห้งผาก ไม่มีน้ำเป็นที่ชุ่มชื่นบ้างเลย สถานที่นั้นเป็นเชื้อไฟได้เร็ว แผดเผาไม้ทุกชนิด ทุกลำเป็นทุกลำตายให้พินาศไปได้ เพราะความชุ่มชื้นไม่มี หน้าฝนไฟไม่ค่อยจะไหม้ที่นั่นที่นี่ตามป่าเขาลำเนาไพร แต่หน้าแล้งไฟชอบไหม้ที่ต่างๆ แม้ที่สุดภายในวัดก็ไหม้ถ้าแห้ง สถานที่แห้งไฟไหม้ได้ง่าย อย่างวัดป่าบ้านตาดเคยถูกไฟไหม้มาแล้วหลายหน นี่เพราะความแห้งแล้งนั่นเอง

            จิตใจแห้งแล้งจากธรรม ไม่มีธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ไม่มีธรรมเป็นเครื่องทำความเย็น ไฟกิเลสตัณหาอาสวะย่อมก่อตัวขึ้นได้เร็ว อะไรผ่านเข้ามาเป็นไหม้และไหม้หมดไม่มียกเว้น ไหม้ในสถานที่ใดสถานที่นั้นย่อมเสียหาย ก็เมื่อกิเลสตัณหาอาสวะไหม้ภายในจิตใจ ทำไมจิตใจจะไม่เสียหาย แม้มีคุณค่าขนาดไหนก็อับเฉาไปได้ จนกระทั่งหาคุณค่าราคาไม่ได้ภายในใจ ดวงใจดวงที่ถูกไฟไหม้อยู่ตลอดเวลานั้นแล จะลดคุณค่าของตัวลงอย่างน่าใจหาย สมบัติใดก็ตามที่ถูกไฟไหม้แล้ว ย่อมเสียหายมากน้อยไปตามส่วนที่ถูกไฟไหม้ นอกจากเก็บไว้ในที่ปลอดภัยที่เขาเรียกว่า “ตู้นิรภัย” เช่นธนาคารต่างๆ เขามีไว้ประจำ

            เรามี “ตู้นิรภัย” บ้างหรือไม่ภายในจิตใจเวลานี้ ? หรือเปิดรับภัยอยู่ทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน เปิดไม่หยุดไม่ถอยไม่มีอะไรเหลือหลอ ไม่คิดเสียดายใจที่มีคุณค่าบ้างหรือ? นี่เป็นอุบายแห่งความคิดสั่งสอนตนเอง!

            ที่จิตใจหาความผาสุกไม่ได้ก็เพราะถูกไฟกิเลสไหม้อยู่ตลอดเวลา “ไฟคือ ราคคฺคินา โทสคฺคินา โมหคฺคินา” ตาม อาทิตตปริยายสูตร ท่านแสดงไว้แล้วไม่มีอะไรที่จะน่าสงสัย เป็นความถูกต้องมาตลอดกาล ถ้าเราไม่นำแง่แห่งธรรมที่ท่านแสดงไว้นี้น้อมเข้ามาสู่ตัว และเทียบเคียงเหตุผลตามหลักธรรมที่ท่านแสดงไว้แล้วนั้น ก็พอมีทางพอจะหลบหลีกปลีกตัวหาที่ชุ่มเย็นได้ตามกาลเวลา ไม่ถูกไฟเหล่านี้ไหม้ไปเสียตลอดกาล ดังที่ท่านทั้งหลายได้อุตส่าห์มาบำเพ็ญในเวลานี้ก็ชื่อว่า “มาเสาะแสวงหาที่เก็บทรัพย์” คือบุญ แสวงหา “ตู้นิรภัย” สร้างตู้นิรภัย เพื่อความปลอดภัยจากไฟทั้งสามกองอันเป็นกองใหญ่ๆทั้งสิ้น ไม่ให้เผาไหม้ไปเสียจนหมดตัวโดยไม่มีอะไรเหลือเลย

            การดับไฟภายนอกก็เป็นความยากลำบาก ถ้าติดมากๆ ดีไม่ดี น้ำยังสู้มันไม่ได้! และหัวสูบก็มักอุดตันอยู่เสมอ ถ้าไม่มีเครื่องเปิดบ้างไม่ได้! เดี๋ยวตึกรามบ้านช่องจะเห็นแต่เถ้าถ่าน

            ฉะนั้นการดับไฟภายในจึงต้องพยายามสั่งสมอบรมความดีโดยสม่ำเสมอ มีการเจริญเมตตาภาวนาเป็นต้น เพื่อให้จิตใจสงบตัวรวมตัว สงบเย็นและมีกำลังมาก ควรแก่การปราบปรามสิ่งที่เป็นภัยแก่จิตใจคือไฟดังที่กล่าวมาได้ดี

            ขึ้นชื่อว่า “ไฟ”แล้วต้องร้อนทั้งนั้น แม้แต่ดอกของมันกระเด็นออกมาถูกตัวเรายังร้อนและเจ็บ ยิ่งถ้าปล่อยให้เผาทั้งคืนทั้งวันแล้วจะหาอะไรมาเหลือ ต้องไม่มีเหลือแน่นอนภายในจิตใจ!

            ร่างกายของเราก็เหลือแต่ร่างกาย จิตใจก็เหลือ “สักแต่ว่ารู้” ไม่มีคุณค่าแฝงอยู่ได้เลย เพราะถูกนำไปทุ่มเทให้กับไฟคือกิเลสเผาผลาญอยู่ตลอดเวลา รู้ก็รู้ไปด้วยทุกข์ ไม่ใช่รู้ไปด้วยความสบาย ไม่ใช่รู้ไปด้วยความเฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง ความรู้อันนี้อยู่ในใต้อำนาจแห่งความทุกข์ ให้ความทุกข์เหยียบย่ำทำลายอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นเหมือนใจที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

            การสร้าง “จิตตภาวนา”ขึ้นโดยสม่ำเสมอด้วยความอุตส่าห์พยายาม ความขยันหมั่นเพียร นี้เป็นทางที่จะดับไฟภายในจิตใจของเรา ให้ปรากฏความร่มเย็นขึ้นมาโดยลำดับได้ สิ่งที่ทำได้ สิ่งที่เป็นฐานะ คือคู่ควรแก่สัตว์โลกจะทำได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ทั้งสิ้น สิ่งที่ไม่เป็น “ฐานะ”คือเป็นไปไม่ได้ ก็ไม่ทรงนำมาสั่งสอนโลก

            การที่นำมาสอนมากน้อยในบรรดาธรรมทั้งหลาย ล้วนแต่อยู่ในวิสัยของ “พุทธบริษัท” จะพึงประพฤติปฏิบัติได้ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าจะทรงสั่งสอนแบบสุ่มเดา

            เราผู้ปฏิบัติพึงเห็นอรรถเห็นธรรมเป็นสำคัญและซาบซึ้งถึงใจ เช่นเดียวกับเรื่องที่เราขยะแขยงไม่ปรารถนาในความทุกข์ทั้งหลาย อันจะเกิดขึ้นทางกายและทางใจ เป็นสิ่งที่โลกไม่พึงปรารถนาด้วยกัน ก็สิ่งใดที่จะพึงนำมาแก้สิ่งที่ไม่พึงปรารถนานี้นอกจากธรรม!

            เมื่อได้ทราบโดยเหตุผลแล้วเช่นนี้ การบำเพ็ญธรรมจะยากหรือง่ายนั้นไม่สำคัญ เพราะความปลงใจเชื่อ ความพอใจ และเหตุผลเป็นเครื่องบังคับอยู่แล้วให้ต้องทำ คนต้องทำได้ตามกำลังของตน ความขี้เกียจ ใครจะไม่ขี้เกียจเพราะอยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัวขี้เกียจ ไม่อยากทำในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ มีด้วยกันทุกคน ความขี้เกียจต้องขึ้นหน้าเสมอ แต่ความขี้เกียจไม่ใช่ธรรมที่จะยังบุคคลให้พ้นจากทุกข์ เป็นสิ่งที่จะทำให้นอนใจ ประมาท และล่มจมลงไปโดยลำดับ ตามอำนาจของกิเลสจอมโกหกพกลมเท่านั้น

            พระพุทธเจ้าท่านก็เคยมีมาแล้ว แต่ทำไมพระองค์จึงมีความสามารถนอกเหนือสิ่งที่เคยกดถ่วงจิตใจนี้ได้ เราควรนำเข้ามาเทียบเคียงแล้วยึดหลักของท่านไว้เป็นคติเตือนใจ เวลาความเกียจคร้านอ่อนแอเกิดขึ้นจะมีทางพอต่อสู้กันบ้าง ไม่หมอบราบไปทีเดียว ยากก็ทำไป!

            ถ้าเราเห็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์จริง การแก้ทุกข์ก็ต้องถือเป็นของสำคัญ ไม่เช่นนั้นสิ่งที่เราขยะแขยง สิ่งที่เราเกลียดกลัวนั้น จะไม่พ้นจากการเจอกันตลอดไปจนได้ จะหาทางหลบหลีกปลีกตัวด้วยความคิดเฉยๆ โดยไม่มีการกระทำหรือแก้ไขดัดแปลงย่อมเป็นไปไม่ได้

            เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่ควรแก่การทำด้วยวิธีใด จะยากหรือง่าย เราต้องทำตามวิธีนั้นๆ ซึ่งเป็นทางถอดถอนสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาออกจากจิตใจ

            เรานี้เป็น “หนึ่ง” ด้วยกันทุกคน พูดถึงเรื่องการเกิดตายแล้ว พูดถึงเรื่องความทุกข์ในระหว่างภพนั้นๆ จนกระทั่งบัดนี้ เป็น “หนึ่ง” ด้วยกันทุกคน ไม่มีใครเป็น “สอง” รองลงไป! เพราะต่างคนต่างเกิด ต่างคนต่างทุกข์ ต่างคนต่างเป็นมาอย่างนั้นด้วยกัน ภพน้อยภพใหญ่ ทุกข์น้อยทุกข์ใหญ่ ทุกข์มาด้วยกัน ไม่มีใครจะนำภพชาติมาแข่งขันกันได้เพราะมีมากด้วยกัน ความทุกข์ก็มีเต็มกายเต็มใจเช่นเดียวกัน เรานำมาแข่งขันกันไม่ได้ ที่ท่านเรียกว่า “หนึ่งด้วยกัน” พวกเรานี่ได้คะแนน “เอก” ด้วยกัน มันได้แบบนี้

            ทีนี้ควรให้ “เอก” ด้วยจิต “เอก” ด้วยธรรม ! เรื่องกองทุกข์ความทรมานนี้เคย “เอก” มาด้วยกันแล้ว ไม่มีใครจะสามารถอาจหาญนำมาแข่งขันกันได้ ว่าใครมีทุกข์มากน้อยกว่ากันอย่างไรบ้าง เพราะมีเหมือนๆ กัน พอๆ กัน

            ขึ้นชื่อว่า “กิเลส” เป็นผู้นำทาง เป็นผู้ฉุดลากแล้ว เป็นผู้พาเดินแล้ว ต้องเดินไปเพื่อความเป็นทุกข์มากน้อยโดยลำดับเช่นเดียวกันหมด ถ้าหากว่าเราจะขืนยอมเชื่อกิเลสอยู่ร่ำไปแล้ว เราก็จะต้องได้รับความทุกข์เพราะอำนาจของกิเลสร่ำไป เรื่อยไป ไม่มีเบื้องปลายว่าเมื่อไรเราจะพ้นจากกองทุกข์นี้ได้ ถ้าเราไม่ฝืน!

            การฝืนกิเลสเป็นเรื่องของธรรม ฝืนด้วยเหตุด้วยผลของเราที่ทราบแล้วว่า สิ่งนั้นเป็นภัย สิ่งนั้นเป็นทุกข์ จะต้องแก้ด้วยวิธีนี้ แก้ด้วยวิธีนั้น วิธีใดที่ถูกต้องในการแก้กิเลสแก้กองทุกข์เราต้องนำมาใช้ จะยากหรือง่ายไม่สำคัญ เช่นเดียวกับเครื่องมือทำงาน จะหนักหรือเบา นายช่างต้องยกมาทำหยิบมาทำทั้งนั้น ถึงวาระงานใดที่จะต้องทำด้วยเครื่องมือใด หนักก็ต้องยกเอาขึ้นมาทำ เบาก็ต้องเอามาทำ จนสิ่งที่ต้องการนั้นสำเร็จลุล่วงไปโดยลำดับ ถึงขั้นสำเร็จอันสมบูรณ์

         นี่เครื่องมือที่จะบำเพ็ญเพื่อแก้กิเลสตัณหาอาสวะ ที่จะปลูกสร้างจิตใจขึ้นให้เป็นรากเป็นฐาน เป็นตัวเป็นตนขึ้นมาอย่างแท้จริง ก็จะต้องสร้างด้วยเครื่องมือคือ “ธรรม” ธรรมที่เป็นเครื่องมือมีหลายประเภทที่เราจะต้องนำมาใช้ในเวลานั้นๆ บางกาลบางเวลา จิตใจไม่ถูกกิเลสยั่วเย้า ไม่ถูกกิเลสก่อกวนให้ฟุ้งซ่านรำคาญมากนัก การแก้ไขด้วยการฝ่าฝืนการปราบปรามกันก็ไม่หนักมือเท่าไร การใช้สติปัญญาอันเป็นเครื่องมือก็ไม่หนักมาก อาการแห่งการกระทำโดยท่าต่างๆ ก็ไม่หนักมาก เช่น นั่งนานไม่นานไม่สำคัญ เดินนานไม่นานไม่สำคัญ การพิจารณานานไม่นานก็ไม่ค่อยสำคัญ เพราะงานยังไม่สำคัญ

            เมื่อจิตถูกกิเลสก่อกวนวุ่นวายมากจนหาที่ปลงที่วางไม่ได้ กาลนั้นเราจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ขึ้นชื่อว่าความเพียรแล้วมีเท่าใดต้องทุ่มเทลงเพื่อต่อสู้กันในเวลานั้น เป็นก็เป็น ตายก็ตาย ไม่ยอมแพ้ไม่ยอมถอย นอกจากตายเสียเท่านั้นเพราะมันสุดวิสัย สติปัญญามีเท่าไรจะต้องนำมาใช้ในเวลานั้น หนักก็ต้องใช้ ลำบากยากเย็นเข็ญใจขนาดไหนก็ต้องใช้ ทุกข์ขนาดไหนเพราะความเพียรก็ต้องนำมาใช้ ทุกข์เพราะความเพียรไม่เป็นไร ทุกข์เพราะกิเลสนี้พิลึก จมแล้วหาวันผุดวันโผล่หน้าขึ้นมาไม่ได้ ส่วนทุกข์ด้วยการประกอบความพากเพียรนี้เราทราบ ทุกข์ทางกายเราก็ทราบ เช่น นั่งนานเดินนานเราทราบ อุบายวิธีต่างๆ ที่เราคิดค้นขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับกิเลสประเภทต่างๆ เป็นความยากลำบากเพียงไรก็ทราบ แต่ผลที่ปรากฏขึ้นมาจากความยากลำบากเพราะความเพียรนี้ นั้นเป็นความสุขความอัศจรรย์และความแยบคายของใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพึงหวังพึงปรารถนากันอยู่แล้วนี่

            เมื่อมีเหตุมีผลเป็นเครื่องเทียบเคียงกันอยู่เสมอ และมีเครื่องตอบรับกันอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้ แม้จะลำบากเพียงไรก็พอตะเกียกตะกายไปได้ด้วยกัน ถ้าจะมีแต่ความลำบากอย่างเดียว ไม่มีผลคือความสุขความสบายเป็นเครื่องตอบแทนเลย ใครก็เป็นไปไม่ได้ในโลกนี้ อย่าว่าแต่คนเราสามัญธรรมดาเลย แม้พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้ขึ้นมาไม่ได้ สาวกอรหัตอรหันต์ที่เราเปล่งวาจาหรืออุทิศน้ำใจต่อท่านว่า “พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” ก็ไม่ปรากฏมีในโลกเลย

            ความจริงมันก็ต้องมีจังหวะมีโอกาสที่จะพอสู้กันได้ คนเราสำคัญที่ความพยายาม เหตุผลอย่าปล่อยวางสำหรับนักธรรมะ ถ้าเหตุผลจางไปเมื่อไรกิเลสจะแหลมคมเข้ามาทุกที ถ้าความเพียรจืดจางกิเลสต้องเค็ม ถ้าความเพียรเข้มแข็ง สติปัญญาเข้มแข็ง กิเลสจะค่อยจางลงไป ๆ เพราะกิเลสกลัวธรรมเท่านั้นไม่กลัวอะไรในโลกนี้ ธรรมเท่านั้นเป็นเครื่องปราบกิเลส

            ธรรมก็ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา!

            “ศรัทธา” ความเชื่อต่อผลที่พระพุทธเจ้าทรงได้รับแล้ว และประกาศธรรมสอนโลกว่าเป็น “นิยยานิกธรรม” จริงๆ นี่เป็นศรัทธาความเชื่อ แม้เราเองเมื่อประพฤติปฏิบัติดังที่พระองค์สอนไว้ ก็แน่ใจว่าจะต้องได้รับผลเป็นที่พึงพอใจโดยลำดับ นี่ศรัทธา 

            “วิริยะ” คือความพากเพียร ทำอะไรก็ทำด้วยความพากเพียรแล้วดีทั้งนั้น ไม่ว่ากิจนอกการใน ถ้ามีความพากเพียรเป็นเครื่องสนับสนุน ต้องสำเร็จและสวยงามน่าดูน่าชม

         “สติ” เป็นสิ่งสำคัญที่คอยกำกับงานนั้นๆ ไม่ให้พลั้งเผลอผิดพลาดไปได้             “สมาธิ” มีความมุ่งมั่นต่อกิจการของตน ไม่หวั่นไหวคลอนแคลน เอาจนถึงขั้นสำเร็จ นี่เรียกว่า “สมาธิในทางเหตุ”, ส่วน “สมาธิในทางผล” ปรากฏขึ้นมาเป็นความแน่วแน่มั่นคงของจิต เป็นความสุขความสบายเกิดขึ้นจากเหตุ คือความมั่นคงในการกระทำ ไม่วอกแวกคลอนแคลน ไม่เอนเอียง ตั้งหน้าตั้งตาทำจริงๆ นี่คือสมาธิฝ่ายเหตุ สมาธิฝ่ายผลคือความสงบของใจ จนกระทั่งเป็น “เอกัคคตา” ที่ท่านเรียกว่า มีอารมณ์เป็นอันเดียวเท่านั้น ไม่มีอะไรเข้ามาพึ่งพิง

            “ปัญญา” คือความสอดส่องมองทะลุไปหมด อะไรๆ ก็ตามต้องใช้ปัญญาเป็นสิ่งสำคัญสอดส่องมองดูเหตุการณ์ หน้าที่การงานอันนั้นจะได้ผลเสียหายหรือผลสมบูรณ์อย่างไรบ้าง ต้องอาศัยปัญญาพินิจพิจารณา บวก ลบ คูณ หาร ไปในตัว นี่แหละธรรมที่จะยังบุคคลให้พ้นจากทุกข์ไปได้โดยลำดับ

            ไม่ว่ากิจการงานอะไรที่จะสำเร็จสมบูรณ์ไปได้ ประการหนึ่งท่านก็เรียกว่า“อิทธิบาทสี่” นั่นก็เป็นสิ่งสำคัญพอๆ กับธรรมหมวดที่กล่าวมาแล้ว คือ

            () ฉันทะ เราพอใจกับอะไร ฉันทะพอใจกับกิเลส มันก็เป็นกิเลสขึ้นมา คนมีความพอใจในสิ่งใด ย่อมเสาะแสวงหาในสิ่งนั้น ต้องเป็น “นั้น” ขึ้นมา แต่ “อิทธิบาทสี่”นี้มิได้หมายถึงความต่ำทรามเช่นนั้น หมายถึงความดีที่จะให้เป็นผลสำเร็จขึ้นมาตามความมุ่งหวัง ท่านเรียกว่า “อิทธิบาท” คือสิ่งที่จะทำให้สำเร็จตามความมุ่งหวัง ไม่สุดวิสัยของมนุษย์ที่จะพึงทำได้ “ฉันทะ” มีความพอใจ

            () วิริยะ ความพากเพียร

            () จิตตะ ใฝ่ใจ ไม่ให้ห่างเหินกับกิจการที่ทำ

            () วิมังสา คือปัญญา ความเฉลียวฉลาดรอบตัว รวมแล้วก็เป็นอันเดียวกัน คือเพื่องานและผลงานอันเดียวกัน

            นี่แหละธรรมที่จะสร้างมนุษย์ให้เป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ ที่จะสร้างจิตใจให้มีรากมีฐาน สร้างหน้าที่การงานให้เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นสัดเป็นส่วน มีกฎมีระเบียบ มีขนบประเพณีอันดีงาม

            สำหรับตนเองผู้บำเพ็ญในธรรมทั้งหลาย ไม่ให้ปีนเกลียวกับหลักธรรมที่ท่านสอนไว้นี้ เมื่อจิตใจมีความเป็นไปกับธรรมดังที่กล่าวแล้วก็ชื่อว่า “จิตใจมีอารักขา” คือธรรมรักษา ธรรมเป็นเครื่องรักษาจิตใจ ใจย่อมมีความเจริญขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่เคยเป็นภัยต่อจิตใจก็ค่อยจางลงไป ๆ ใจที่เคยอาภัพอับเฉามาเป็นเวลานาน ก็เพียงอับเฉาเท่านั้น ไม่ใช่จิตฉิบหายไปจนหาอะไรคิดอะไรรู้ไม่ได้ เมื่อถูกชำระด้วยความพากเพียรวิธีต่างๆ ย่อมจะมีความผ่องใส มีความสงบเย็นใจ มีความสุขความสบายขึ้นมา เพราะข้าศึกห่างไกลออกไปด้วยการชำระจิตของผู้มี “ความเพียร”

            นี่เป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่จะไขสิ่งที่พึงปรารถนาทั้งหลายให้สำเร็จขึ้นมาโดยสมบูรณ์ได้ ไม่ใช่เพียงความคิดความต้องการเฉยๆ โดยมีความท้อแท้อ่อนแอเป็นเครื่องฉุดลากเอาไว้ ไม่ให้ดำเนินงานนั้นๆ เป็นไปโดยสมบูรณ์

            เราจะทำอะไรคิดอะไรก็ตาม อย่าลืมพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นศาสดาของพวกเรา การกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเมื่อเกิดความท้อแท้อ่อนแอขึ้นมา ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยความพากเพียรในธรรมที่กล่าวมานี้ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญานี้แล หรือตรัสรู้ด้วยอะไรถ้าไม่ใช่ด้วยธรรมเหล่านี้

            เราจะเอาอะไรมาบำรุงจิตใจของตน มาส่งเสริมจิตใจของตนให้เป็นความสุขความเจริญ อย่างน้อยก็เป็น “ศิษย์ที่มีครู” ถ้าไม่ใช่ธรรมดังที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญ และทรงรู้เหตุรู้ผลมาแล้วนี้ ไม่มีทางอื่นเป็นที่น่าดำเนินเลย

            คำว่า “ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ” เกิดขึ้นมาได้ด้วยเหตุใด ถ้าไม่เกิดขึ้นได้ด้วยธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา นี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ “ธมมํ สรณํ คจฺฉามิ” เกิดขึ้นได้ด้วยเหตุนี้เอง เกิดขึ้นจากพระพุทธเจ้าผู้มีธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ประจำพระองค์

            “สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” ก็ไปในแนวเดียวกัน พระสงฆ์สาวกทั้งหลายไม่ใช่ผู้อ่อนแอท้อถอย แม้จะออกมาจากสกุลใดๆ ก็ตาม ตั้งแต่พระราชามหากษัตริย์ลงมาพ่อค้า เศรษฐี กุฎุมพี ถึงบุคคลธรรมดา เมื่อก้าวเข้าสู่ความเป็น “พุทธชิโนรส” ที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาแล้ว เป็นผู้พร้อมด้วยความเพียรทั้งนั้น เพราะฉะนั้นความเพียรจึงเป็นธรรมสำคัญมาก ที่จะยกฐานะของจิตใจบุคคลให้ขึ้นสู่ระดับสูงโดยลำดับ

            สรุปความแล้วเรียกว่า ธรรมห้าประการ คือ “ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา” นี้แหละสามารถยกจิตใจแม้จะล่มจมลงขนาดไหนก็ตาม ถ้าได้ยกธรรมทั้งห้านี้มาเป็นเครื่องพยุงแล้ว ต้องดีดขึ้นมาโดยลำดับ จนถึงความพ้นทุกข์ได้โดยไม่สงสัย

         อิทธิบาททั้งสี่ก็พึงทราบว่าเป็นธรรมเกี่ยวโยงกัน นี่แหละธรรมที่จะยกฐานะของจิตใจให้สูงส่ง ไม่ได้ถูกกดถ่วงเหมือนอย่างสิ่งที่เคยกดถ่วงอยู่ภายในใจของสัตว์โลก

            ท่านเดินจงกรม บางองค์ฝ่าเท้าแตก นั่น! ฟังซิ เพียรหรือไม่เพียรขนาดฝ่าเท้าแตก บางองค์ไม่นอนตลอดไตรมาสคือสามเดือนจนจักษุแตกบอด เช่นพระจักขุบาลเป็นต้น ท่านลำบากไหมท่านประกอบความเพียร

            เราพิจารณาดูซิ เราไม่ถึงกับให้ตาแตกขนาดนั้น ขนาดกิเลสทุรนทุรายหาที่หลบที่ซ่อนก็ยังดี อย่าให้กิเลสมันเรรวนป้วนเปี้ยนไปหมด ทั้งทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีแต่เรื่องของกิเลสป้วนเปี้ยนไปหมด หาตัวหาตนหาอรรถหาธรรมภายในใจไม่มีเลย แล้วเราจะหาความร่มเย็นมาจากไหนพอเป็นกำลังเพื่อตัดกิเลสซึ่งเคยเป็นใหญ่เป็นโตภายในจิตใจของเรา จึงต้องอาศัยหลักธรรมที่กล่าวนี้ให้แนบสนิทติดกับใจ อย่ารักอันใดยิ่งกว่าธรรมนี้ซึ่งเป็นเครื่องแก้กิเลสให้กับใจ อันเป็นที่รักที่สงวนอย่างยิ่งในชีวิตของเรา พอได้มีอิสรเสรีขึ้นไปโดยลำดับ

            ใจอิสระกับใจที่หมอบอยู่ภายใต้อำนาจกิเลส อันไหนดี ?

            คนเราที่หมอบอยู่ใต้อำนาจของเขาไม่มีอิสรภาพในตนเลย กับคนที่มีอิสรเสรี คนไหนดี?

            จิตใจที่หมอบอยู่กับกิเลสตัณหาอาสวะทั้งหลายมาเป็นเวลานาน ถ้าเรายังไม่เบื่อพออยู่แล้ว เราจะต้องหมอบราบไปเรื่อยๆ ถ้าหากมีความเบื่อความพอ ความอิดหนาระอาใจ ความเห็นโทษของสิ่งเหล่านี้บ้าง ก็จะพอมีทางต่อสู้ และสู้กันด้วยวิธีการต่างๆ สุดท้ายก็มาลงในธรรมห้าข้อที่เป็นเครื่องมืออันสำคัญ กำราบปราบปรามกิเลสทั้งหลายเหล่านี้ให้แหลกละเอียดไปได้

            สนามรบของผู้ปฏิบัติคือสถานที่ใด ? เช่น ท่านเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาหามรุ่งหามค่ำ ท่านเอาอะไร “เป็นสนามรบ” เป็นสถานที่พิจารณา ?

            ในหลักธรรมท่านสอนว่า “สัจธรรมทั้งสี่” “สัจธรรมทั้งสี่” นั้นมีอยู่ในที่ใด ถ้าไม่มีอยู่ภายในกายในจิตของมนุษย์เรานี้ เราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เพื่อหาอรรถหาธรรม เราจะหาที่ตรงไหน ? ถ้าไม่หาใน “สัจธรรม” การหาในสัจธรรมหาอย่างไร ?

            ทุกข์ก็ทราบแล้วว่าทุกข์ มันเกิดขึ้นในกายในจิตของบุคคลและสัตว์ สัตว์เขาไม่รู้เรื่องวิธีปฏิบัติแก้ไข แต่เรารู้วิธีแก้ไข คำว่า “ทุกข์” เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาแล้วหรือ ?เกิดขึ้นในกายก็ไม่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาเลย กายอยู่เป็นปกติสุขก็ตาม ถ้าทุกข์เกิดขึ้นจะมีความระส่ำระสาย อากัปกิริยาจะไม่น่าดูเลย ถ้ามันเกิดขึ้นมากๆ ยิ่งดูไม่ได้ จิตใจที่มีความทุกข์เกิดขึ้นมากๆ มันน่าดูแล้วหรือ? แสดงมาทางใดเป็นภัยไปหมด คือระบายทุกข์ด้วยอาการต่างนั้น ความจริงเป็นการเพิ่มทุกข์ขึ้นทั้งนั้นโดยเจ้าตัวไม่ทราบเลย คนที่มีความทุกข์มากจึงต้องระบายออกในท่าต่างๆ ดังที่เราทราบกัน นั่นเขาถือว่าเป็นทางระบายออกแห่งทุกข์ แต่ความจริงแล้วเป็นการสั่งสมหรือส่งเสริมทุกข์ให้มากขึ้น เป็นความเข้าใจเฉยๆ ว่าตนระบายทุกข์ออก คนอื่นเดือดร้อนกันแทบตาย เพราะความดุด่าว่ากล่าวแสดงกิริยาอาการที่ไม่ดีไม่งาม ออกมาจากของไม่ดีไม่งามซึ่งมีอยู่ภายในใจของตน เมื่อระบายออกไปที่ตรงไหนมันก็เดือดร้อนที่ตรงนั้น สกปรกไปด้วยกันหมด

            เรื่องความทุกข์เกิดขึ้นมาเพราะเหตุใด เราค้นหาสาเหตุ นี่แหละคือสัจธรรมข้อหนึ่ง

            เราทราบแล้วว่าทุกข์ เราจะแก้ด้วยวิธีใดถ้าไม่แก้สาเหตุที่เป็นเครื่องผลิตทุกข์ขึ้นมา คือ “สมุทัย” “สมุทัย” คืออะไร คือ “กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา” นี้ส่วนใหญ่ท่านเรียกว่า”สมุทัย”ความอยากในสิ่งที่ตนรักใคร่ ความเกลียดในสิ่งที่ตนไม่ชอบ แล้วให้เกิดทุกข์ขึ้นมา เหล่านี้ล้วนแต่เรื่องของ “สมุทัย”

            ความคิดความปรุงอันใดที่จะเป็นเครื่องสั่งสมกิเลส เป็นเครื่องสั่งสมทุกข์ขึ้นมา ท่านเรียกว่า “สมุทัย” ทั้งนั้น เป็นกิ่งเป็นก้านแตกแขนงออกไปจากไม้ต้นเดียว คือใจนี่แหละ

            ความโกรธ ความโลภ ความหลง ราคะ โทสะ โมหะ รากเหง้าของมันจริงๆ อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ใจ มันฝังอยู่ที่ใจนี้ทั้งนั้นไม่ได้ฝังอยู่ที่ไหน เราพิจารณาค้นคว้าเข้าไปภายในร่างกายเรานี้ แล้วก็ย้อนเขามาหาใจ มันคิดมันปรุงเรื่องอะไร ปรุงทั้งวันทั้งคืน ปรุงแต่เรื่องความทุกข์ความร้อนให้ตนและผู้อื่นจนหาที่ดับไม่ได้ ท่านจึงสอนให้ใช้สติปัญญาพิจารณาตรวจตราความคิดความปรุงของตน มันหวงในขันธ์หวงไปอะไร เกิดมาแล้วจะไม่มีป่าช้าเหมือนโลกทั้งหลายเขาหรือ? ถึงได้หวงได้ห่วงนัก แล้วจะสำเร็จประโยชน์ไหม? ความหวงของเรานี้สำเร็จไหม? มันจะไม่กลายเป็น “ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ ตมฺปิ ทุกฺขํ” ขึ้นอีกเหรอ? ปรารถนาเมื่อไม่สมหวังแล้ว “มันจะเกิดความทุกข์” ขึ้นมาภายในหัวใจอีก ท่านจึงไม่ให้ปรารถนา ท่านให้พิจารณาตามความจริง

            รูปขันธ์นี้ มันตั้งขึ้นมาแล้วเพื่อจะแตกไป ไม่ใช่เพื่ออื่นใด ตั้งเพื่อแตกไปเราก็ทราบ ถ้าพิจารณาทางด้านปัญญาหาที่ขัดแย้งไม่ได้ เมื่อหาที่ขัดแย้งไม่ได้แล้วจะไปหวงห้ามมันทำไม ทราบด้วยปัญญาแล้วก็วางไว้ตามความจริงของรูปขันธ์ ที่มันกำลังจะแตกหรือมันทรงอยู่ ก็ทราบว่ามันทรงอยู่เพื่อจะแตกจะสลายไปท่าเดียวเท่านั้น โลกอันนี้มีป่าช้าเต็มไปหมดทุกตัวสัตว์ทุกบุคคล เราสงสัยป่าช้าที่ไหนจึงไม่อยากตาย


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก