อะไรตายกันแน่..
วันที่ 29 มกราคม 2519 ความยาว 27.51 นาที
สถานที่ : ศาลาโรงครัว วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙

อะไรตายกันแน่

 

         ถ้าเทียบเคียงอันตรายระหว่างกิเลสกับเรา ก็เหมือนกับแม่เนื้อกับนายพราน แม่เนื้อเที่ยวหากินไป ถูกนายพรานยิงเอา ๆ ยิงจนกระทั่งแม่เนื้อตาย แม่เนื้อเองไม่มีโอกาสจะทราบว่าใครเป็นคนยิง ใครเป็นคนทำลายตัว เพราะมองไม่เห็นนายพรานนี่ เป็นแต่ยิงปั๊งมาถูกแล้วก็ตาย ตัวที่พอจะรู้เห็นได้บ้างก็ถูกความเจ็บปวดอย่างมากครอบงำเสีย สติปัญญาในเวลานั้นไม่มี ต้องตายเปล่า

            เราก็ถูกกิเลสยิงเอาให้เกิดความทุกข์ ความทรมานทางร่างกายและจิตใจ เฉพาะอย่างยิ่งคือจิตที่ถูกกิเลสยิงเอา ๆ ได้รับแต่ความทุกข์ความทรมาน แต่ไม่ทราบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์นี้เป็นมาจากอะไร เป็นมาจากลูกศรของกิเลสประเภทใดบ้างที่เสียบเอาแทงเอา เพราะฉะนั้นจึงต้องเรียน “วิชากิเลส” และ “วิชาธรรม” คือ สติปัญญา ศรัทธา ความเพียร ให้ทันกัน ทันกันในที่ใดในระยะใด หรือในขั้นใด ก็พอแก้ไขหรือถอดถอนกันได้ในขั้นนั้นๆ ที่ยังไม่ทราบเพลงอาวุธหรือยังไม่รู้ลูกศรของกิเลส ก็จำต้องยอมให้เขายิงเอา ๆ ไปก่อน แต่ต้องเรียนและแก้ไขกันไปเรื่อยๆ

            วิชาที่เรียนเพื่อจะรู้เรื่องของกิเลสนี้ก็มีหลายประเภท ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เฉพาะผู้ปฏิบัติเพื่อความรู้จริงเห็นจริงจริงๆ ท่านก็สอน “สมาธิ” สอน “ปัญญา” ให้ นี่เป็นอาวุธที่ทันสมัย หรือเป็นเครื่องแก้เครื่องถอดถอนลูกศร คือกิเลสทุกประเภทที่ทันสมัย และปราบปรามกิเลส ตัวทำลายสัตว์โลกให้ได้รับความทุกข์ความลำบาก เวียนว่ายตายเกิดใน “วัฏสงสาร” ไม่แล้วไม่เล่าสักที และไม่มีต้นมีปลาย ให้หมอบราบไปได้โดยไม่สงสัย

               ถ้าไม่มีเครื่องมือแก้ ก็เป็นอันว่าต้องทนทุกข์ทรมานไปตลอดอนันตกาล หาเวล่ำเวลาพ้นกองทุกข์ไปไม่ได้ การแก้หรือปลดเปลื้องสิ่งใด การเรียนรู้เรื่องใดก็ตามนั้น ไม่ยากไม่ลำบากเหมือนการเรียนรู้เรื่องความเคลื่อนไหวที่ผิดถูกของตัว ที่เป็นไปกับด้วยกิเลสภายในใจ เพราะเคยถือสิ่งเหล่านี้ว่าเป็น “เรา” เป็น “ของเรา” มานมนาน

            การกระทำ การพูดที่แสดงออกมาจากตัวเราดีหรือชั่ว เราถือว่าเป็นเราเป็นของเราทั้งนั้น ไม่ทราบอะไรผิดอะไรถูก เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงต้องมาเรียนเรื่องตัวเรา เรื่องโง่ เรื่องฉลาด เรื่องดี เรื่องชั่ว นี้มีอยู่กับตัวเราด้วยกัน เฉพาะอย่างยิ่งเวลานี้เราเรียนเรื่อง “จิต”

            เรื่องของเราแท้ๆ คือเรื่องของจิต จิตแสดงอาการแง่งอนต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นมายาของกิเลสที่พาให้แสดงทั้งนั้น ตามธรรมดาของจิตแล้วจะมีแต่ “รู้” เท่านั้น การแสดงอาการ “คิดปรุง” การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในแง่ดีแง่ร้ายเป็นต้น นี้เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงออกทางจิตซึ่งมีกิเลสเป็นเครื่องหนุน เป็นเครื่องผลักดันออกมาให้คิดปรุง ให้พูดให้ทำเช่นนั้น

            ท่านนักปฏิบัติจึงตั้งหน้าปฏิบัติจริงๆ ให้มีเวลาโดยเฉพาะทำงานอันเดียว เช่นนักบวช รู้สึกสะดวกมากกว่าฆราวาสอยู่พอสมควรในเรื่องนี้ จะต้องตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติจริงๆ ตามหน้าที่และเพศของตนซึ่งบอกไว้แล้วว่า “เพศนักบวช” คือเพศแห่งนักรบภายในใจ แต่ไม่ว่าใครก็พ้นอำนาจความขี้เกียจอ่อนแอไปไม่ได้ แม้ออกสู่แนวรบแล้ว ก็ยังตายใจนอนใจ สนุกนอนหลับครอกๆ อยู่ในแนวรบได้ ให้กิเลสมันยิงเอา ๆ ตายตัวแข็งอยู่บนหมอนไม่รู้จักตื่นตัวก็มีเป็นจำนวนมาก บางวันตายสนิทจนลืมเวลาหาภิกขาจารวัตรก็มี หรือจนเลยเถิดไปใครก็ไม่ทราบได้ ทั้งนี้เพราะฤทธิ์ของกิเลสมันแก่หรือธรรมแก่ ก็สุดแต่จะคิดกันเอาเถอะ เรามันเรียนน้อยรู้น้อยไม่อาจทราบได้

            ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้มีความตื่นเนื้อตื่นตัว มีความขยันหมั่นเพียร สถานที่ใดเหมาะสมเป็นเครื่องดัดสันดานกิเลสซึ่งถือว่าเป็นตนๆ นั้น ท่านสอนให้ไปอยู่ในสถานที่นั้น แต่ส่วนมากไม่อยากไปกัน ชอบอยู่สถานที่ซึ่งกิเลสเบื่อๆ จะต้มแกงเป็นอาหารนั่นแล พวกเรานักบวชนักปฏิบัติมันชอบกล้าหาญในสิ่งที่กิเลสเบื่อๆ นั้นแล

               นี่ได้เคยเห็นผลมาตามกำลัง อยู่ในที่ธรรมดากับครูอาจารย์ เพื่อนฝูง ความรู้สึกเป็นอย่างหนึ่ง ความขี้เกียจขี้คร้านก็รู้สึกว่าเด่นไม่มีใครแข่งได้ แทนที่ “ธรรม” จะเด่น กลับเป็นความขี้เกียจอ่อนแอเด่น เรื่องของกิเลสเด่น แต่พอแยกตัวออกจากครูจากอาจารย์ไปแล้ว ความรู้สึกก็เปลี่ยนไปตามสถานที่ และคิดไปว่า ไม่ได้อยู่กับเพื่อนฝูงไม่ได้อยู่ในสถานที่ธรรมดา นี่เป็นสถานที่หนึ่งต่างหาก แล้วมีความรู้สึกแปลกประหลาดขึ้นมา ส่วนมากจะเป็นความระมัดระวังตัว เพราะเราไปหาที่ที่ต้องระวังตัว ไม่ไปหาที่นอนใจ คือหาที่ที่ต้องตั้งใจระวังตัว มีสติ กลางวันก็มีสติ เพราะความกลัว สิ่งแวดล้อมมันบังคับอยู่ตลอดเวลา ในที่บางแห่งห่างจากหมู่บ้านตั้ง ๗-๘ กิโลก็มี และอยู่ในป่าในเขาด้วย ที่เช่นนั้นถ้าเราไม่ออกมาเกี่ยวกับหมู่บ้าน เช่นมาบิณฑบาต ก็ไม่มีวันที่จะพบจะเจอคนเลย เจอก็เจอแต่เราคนเดียวเท่านั้น เพราะอยู่ในป่าในเขา และเป็นป่าเป็นเขา ไม่ใช่เป็นทำเลหากินของคน เขาก็ไม่ไปยุ่งกับเรา แม้เขาจะผ่านไปมาก็ไปที่อื่นไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับเรา จึงไม่มองเห็นใคร นอกจากได้ยินเสียงสัตว์ต่างๆ ส่งเสียงร้องไปตามประสาของเขาเท่านั้น

            สถานที่ก็สงบงบเงียบเป็นที่น่ากลัวอยู่แล้ว มิหนำซ้ำสิ่งที่เรากลัวๆ ก็แสดงออกมา เช่นเสียงเสือร้อง เป็นต้น ร้องคำรามตามประสาของมันนั่นแหละ นิสัยของคนเราชอบกลัวอยู่แล้ว ไม่ว่าคนว่าสัตว์สิ่งที่น่ากลัวต้องกลัว เมื่อความกลัวเกิดขึ้นเราไม่มีที่พึ่ง เพราะเจตนาของเราที่ไปอยู่ในที่เช่นนั้น ก็เพื่อพึ่งตนเองหรือพึ่งธรรมเท่านั้น ไม่ได้หวังพึ่งศาสตราวุธใดๆ ทั้งสิ้น พึ่งอรรถพึ่งธรรม พึ่งตัวเองด้วยอรรถด้วยธรรม เป็นเครื่องมือหรือเป็นที่เกาะเป็นที่ยึด จิตใจจึงหมุนตัวเข้ามาสู่ภายใน จะเป็นจะตายก็ไม่หวังพึ่งอะไรทั้งนั้น แม้เสือเดินเข้ามากัดกินเป็นอาหารในขณะนั้น ก็ไม่ยอมไปคว้าเอาอาวุธหรือเอามีดเอาไม้อะไรออกมาฟันมาตี เพื่อเป็นการต่อสู้ป้องกันตัวเลย ปล่อยให้มันกินตามธรรมชาติไปเลย เมื่อเป็นเช่นนั้นก็แสดงว่า ไม่มีที่พึ่งใดแล้วสำหรับภายนอกเกี่ยวกับด้านวัตถุ นอกจากนามธรรม คือ “ใจ” กับ “ธรรม” จะเป็น “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” ก็แล้วแต่ตามขั้นของจิต ถ้าเป็นขั้นสูงยิ่งกว่านั้น “พุทโธ ธัมโม สังโฆ”ก็เปลี่ยนไป มีความรู้สึกอยู่กับตัวเอง ซึ่งเท่ากับ “พุทโธ” “ธัมโม สังโฆ” เหมือนกัน ใจเป็นธรรมอยู่ในนั้นไม่ยอมเผลอ จิตที่มีสติ จิตที่มีสิ่งแวดล้อมที่น่ากลัวเข้าเกี่ยวข้องย่อมเป็นจิตที่ตั้งตัวได้ดี เป็นจิตที่ระมัดระวัง ความระมัดระวังเป็นเรื่องของสติ

            ความระมัดระวังตัวนี้ ไม่ใช่จะระมัดระวังตัวเพื่อจะเผ่นหนีไปไหน จะเป็นจะตายก็ยอมแล้ว แต่ระมัดระวังตัวเพื่อรักษาจิตใจไม่ให้เคลื่อนคลาดจากหลักธรรม ซึ่งจะทำให้เสียหลักไปได้ จิตมุ่งหน้าต่อธรรมเท่านั้น จะเป็นจะตายก็ไม่ต้องหมายป่าช้า ตายที่ไหนก็ยอมกันที่นั่น แต่ขณะที่จะตายก็ดีหรือไม่ตายก็ดี ขณะที่กลัวนั้นต้องมีธรรมอยู่ภายในจิตใจเสมอ คือสติไม่เผลอจากธรรมที่กำลังพิจารณาหรือกำลังยึด จิตเมื่อถูกสิ่งแวดล้อมบังคับอยู่เช่นนั้น ก็เป็นเหตุให้สงบตัวได้เร็ว หรือมีหลักยึดอย่างรวดเร็ว ถึงกับสงบตัวเข้ารวมอยู่โดยเฉพาะ

               เมื่อจิตรวมตัวเข้าเป็นอันเดียว เป็นตัวของตัวในขั้นนั้นแล้ว ความที่เคยหวาดกลัวต่างๆ ก็หายไปหมด นี่เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการระมัดระวัง และ ความกลัวเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เราประกอบความพากเพียรด้วยสติ ด้วยความจริงใจ เมื่อจิตสงบตัวเข้ามาเป็นตัวของตัวโดยไม่ไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใดแล้ว อยู่ที่ไหนก็สบาย ไม่กลัวอะไรแล้ว จะเดินจะนั่งจะนอนอยู่ตามร่มไม้ชายเขาหรือที่ไหนๆ ก็ไม่มีปัญหากับสิ่งต่างๆ ว่าจะมาทำอย่างนั้น มาทำอย่างนี้แก่ตน เป็นความสะดวกสบายผาสุกใจ เพียงเท่านี้ก็เห็นผลของการอยู่ในสถานที่ที่น่ากลัวซึ่งเราต้องการ และเป็นไปตามความประสงค์ของเรา

               กลางวันก็ตามกลางคืนก็ตาม จิตตั้งตัวอยู่เสมอไม่ละความเพียร ก็แสดงว่าจิตถูกบำรุงรักษาอยู่เสมอด้วยสติ เมื่อพิจารณาเข้ามาข้างใน ก็ถือเอาภัยที่เกิดขึ้นภายในตัวเองมีร่างกายเป็นสำคัญ เพราะความทุกข์ความลำบากนี้เป็นภัยอันหนึ่ง ภัยอันสำคัญก็คือกิเลสที่เสียดแทงจิตใจอยู่ตลอดเวลานี้เป็นภัยอย่างยิ่ง อันนี้เป็นภัยเรื้อรัง ไม่มีเวลาจะหายได้โดยลำพังถ้าไม่ได้ชำระมัน คือถ้าเราไม่มียาคือธรรมโอสถเข้าไปแก้ให้หาย จะไม่มีวันหายจากภัยอันนี้เลย ฉะนั้นจิตจะต้องได้พิจารณาแก้ไขถอดถอนเต็มความสามารถ

            วันคืนปีเดือนเป็นเพียง “มืด” กับ “แจ้ง” เท่านั้น ไม่เห็นมีอะไรสำคัญพอจะแก้กิเลสได้ สำคัญที่ “สัจธรรม” ซึ่งมีอยู่กับตัว ปกปิดกำบังใจให้มืดมิดปิดตา ก็เพราะ “สัจธรรม” ฝ่าย “ทุกข์” กับ “สมุทัย” โดยที่เราไม่รู้ไม่เห็นว่าสิ่งนี้เป็น “สัจธรรม” เครื่องปกปิดกำบัง เมื่อพิจารณาเห็นเป็น “สัจธรรมฝ่ายมรรค” คือสติปัญญา จนเป็นความจริงล้วนๆ ทุกอย่างไป สิ่งเหล่านี้ก็เปิดเผยออกมาตามความจริงของเขาเอง

            เนื่องจากใจได้เห็นความจริงจากสิ่งเหล่านั้นแล้ว ถอนตัวเข้ามาสู่ความจริงของจิต จิตก็สง่าผ่าเผย ไม่อับเฉาเมามัวมืดมิดเหมือนแต่ก่อนที่ยังไม่เข้าใจ

            อะไรเป็นกิเลส? เราอ่านในคัมภีร์ใบลาน ตำรับตำรา อ่านมาเสียจนพอ คำว่า “กิเลส” ๆ คือเครื่องเศร้าหมองที่ให้เกิดทุกข์แก่สัตว์ เพียงแต่ชื่อของมันไม่ทำให้เกิดทุกข์ได้ แต่ตัวกิเลสจริง ๆ คืออะไร อยู่ที่ไหน? สุดท้ายก็มารวมที่ใจนี่แหละ ซึ่งเป็นภาชนะของสิ่งสกปรกโสมมทั้งหลายเหล่านั้น จึงต้องพยายามชะล้างสิ่งเหล่านี้ออก ให้ธรรมอันเป็นคู่เคียงกับใจเข้ามาแทนที่โดยลำดับๆ ผลักไล่สิ่งที่สกปรกออกไปด้วยสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร

               พิจารณาให้เห็นความจริงที่มีอยู่กับตัวทุกคนไม่มีอะไรบกพร่อง ความทุกข์ความลำบากเห็นประจักษ์อยู่ทั้งวันทั้งคืน ในร่างกายก็แสดงให้เห็นอยู่ จิตที่วุ่นกับสิ่งใดก็ปรากฏเป็นความทุกข์ขึ้นมาภายในใจ ก็รู้เห็นอยู่ นี่แหละภัยของใจ

            พิจารณาสร้างป่าช้าขึ้นด้วยตัวเองนี่แหละดี คือสร้างป่าช้าขึ้นมาพิจารณาให้เห็นชัดในเรื่องความตาย ถ้าปล่อยให้กิเลสสร้างให้มันไม่สิ้นไม่สุด ให้เราสร้างป่าช้าขึ้นที่เราด้วยปัญญาของเราว่าป่าช้าอยู่ที่ไหน? อยู่ที่เรากำหนดลงที่นั่นให้เห็นชัด ป่าช้ามีอะไรตายจริงๆ หรือ? ดูไปให้ตลอดทั่วถึง ทำไมกลัวกันนักกลัวกันหนาในโลกธาตุนี้ กลัวแต่เรื่องความตาย ใครมาบอกให้กลัว? ไม่มีใครบอกมันก็กลัวเอง ไม่ต้องตั้งโรงร่ำโรงเรียนสอนกันเรื่องความตาย สัตว์โลกรู้กันทั้งนั้น ทำไมจึงกลัวโดยไม่ต้องพร่ำสอนกัน? ตัวเราเองก็เช่นเดียวกันทำไมกลัว เราเรียนธรรมนั้นเรียนเรื่องความกลัวตายไม่ใช่หรือ แต่แล้วจิตทำไมกลัวตายล่ะ ? ทำไมไม่เชื่อธรรมท่านสอนบ้าง อะไรมันตาย?มันถึงได้กลัวกันนักหนา มันตายจริงๆ หรือ?

            จงเรียนลงไปให้เห็นเหตุเห็นผลของมัน ดูเรื่องธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เฉพาะอย่างยิ่งร่างกายของเรานี้ เราเรียนอยู่แล้วว่าเป็นธาตุ คือส่วนที่แข็งๆ ที่มีในร่างกายนี้ท่านเรียกว่า “ธาตุดิน” ธาตุน้ำเราก็ทราบว่าธาตุน้ำมีอะไรบ้าง มีน้ำลายเป็นต้น ธาตุลมธาตุไฟ สิ่งเหล่านี้อะไรตาย? แยกลงไปให้เห็นป่าช้าของสิ่งเหล่านี้จริงๆ ถ้าสิ่งนี้ตายจริงๆ มีป่าช้าจริงๆ แล้ว ดิน น้ำ ลม ไฟ มีอยู่ในโลกได้อย่างไร?

            ดูเรื่องขันธ์ ๕ เวทนาตายแล้ว ที่เผาศพของเวทนาอยู่ที่ไหนเล่า สัญญา เวลาดับไปแล้ว มีสถานที่เผาศพมันอยู่ที่ไหน? สังขาร วิญญาณ สถานที่เผาศพมันอยู่ที่ไหน?ร่างกายของเรานี้เวลาตายแล้ว สถานที่เผาศพจริงๆ มันอยู่ที่ไหน แม้เผาลงไปแล้วมันก็เป็นธาตุดินตามเดิม ส่วนจิตล่ะ ? สถานที่เผาศพของจิตอยู่ที่ไหน? มันไม่มี ! จงค้นคิดด้วยสติปัญญาให้เห็นตามความจริง อย่าคาดคะเน อย่าเดาเอาเฉยๆ เมื่อถึงขั้นควรจริงจังแล้วอย่าด้นเดา ต้องคิดค้นให้ถึงความจริงที่มีอยู่ จึงจะสมนามว่า “ผู้แสวงหาความจริง”

            ทีแรกก็ต้องคาดไปเสียก่อน เพราะยังไม่ชำนาญ คาดหรือวาดมโนภาพสมมุติ จนเข้าถึงความจริงแล้วความคาดหมายทั้งหลายก็หายไป ไม่มีอะไรที่จะรู้จริงยิ่งกว่าปัญญารู้ความจริง ไม่มีอะไรมีน้ำหนักยิ่งกว่าความจริง เพราะสามารถลบล้างความจอมปลอมได้หมด การเรียนวิชานี้เรียนเพื่อถึงความจริงจริงๆ เรียนให้ถึงสถานที่ที่อะไรตายกันแน่ เมื่อรู้ชัดภายในใจว่าไม่มีอะไรตาย นอกจากความสำคัญผิดของจิตที่หลอกตนเองมาเป็นเวลานานนี้เท่านั้น และผู้นี้แหละเป็นผู้หลอก ผู้นี้แหละเป็นผู้กลัว ผู้นี้แหละเป็นผู้ทุกข์ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เขาไม่มีความหมายในตัวเขาเอง เขาไม่ทราบว่าเขาเป็นทุกข์ ผู้ที่หลอกตนเองนี้แหละเป็นทุกข์

               เรียนให้รู้เรื่องกิเลสอาสวะที่มีมายาร้อยสันพันคม ตามไม่ค่อยทันมันง่าย ๆ เวลามันสลายไปจริง ๆ แล้วมันไม่มีป่าช้า ไม่มีหีบโลงเก็บศพ เพราะมันเกิดขึ้นจากใจ เป็นความสำคัญอันหนึ่งที่เกิดขึ้นมาจากภายในใจ เรียนเข้าไปให้ถึงจิต แยกดูธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ปกติก็เป็นธาตุอยู่เช่นนี้ สลายไปก็กลับไปเป็นธาตุเดิมอยู่เช่นนั้น จิตเวลาหลงก็เป็นธาตุ เป็น “มโนธาตุ” อยู่เช่นนี้

            เวลารู้ก็เป็นมโนธาตุอยู่เช่นนี้ เป็นแต่เพียงว่ารู้ด้วยความบริสุทธิ์ตามหลักธรรมชาติของตนจริงๆ ไม่ได้รู้ด้วยความแปลกปลอม หรือมีความลุ่มหลงแฝงอยู่ นี่เรียกว่าเรียนความเกิดและความตาย ความตายอยู่กับเรา เรากลัวอะไร จึงเรียนให้รู้ ? ให้รู้เรื่องของความกลัว เมื่อรู้ชัดเจนแล้วความกลัวก็หายไป

               อะไรๆ มันไม่มีตายดังที่ว่านั้น นั่นเป็นเพราะความสำคัญผิดต่างหาก ความสำคัญผิดนี้ต้องถือว่าเป็นข้าศึกต่อเรา เพราะโกหกเราให้หลงและเป็นทุกข์ แล้วเรายังจะเชื่อความสำคัญนั้นอยู่หรือ ?

            พอปัญญาพิจารณาและตัดลงไป ๆ สิ่งเหล่านี้ก็สลายไปเช่นเดียวกันไม่มีอะไรมาหลอก เหลือแต่ความจริง นี่เรียกว่าเรียนวิชาธรรมโดยภาคปฏิบัติ

               เรียนเรื่องของเราเรียนอย่างนี้ ไม่มีอะไรที่จำเป็นยิ่งกว่าเรื่องของเรา เพราะเราเป็นผู้รับผิดชอบ อะไรมาสัมผัสมากน้อยก็กระเทือนเรา เป็นทุกข์ขึ้นกับเรา เมื่อเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างแล้วใจไม่กระเทือน ใจไม่หวั่นไหว เป็นธรรมทั้งดวง

            ที่ว่า “กิเลสๆ” คืออะไร ? ตัวกิเลสอยู่ที่ไหน ก็ดังที่ว่านี้แล ธรรมชาติที่หลอกตัวนั้นแหละคือตัวกิเลส อย่าเข้าใจว่านั้นเป็นอะไร และอย่าเข้าใจว่านั้นเป็นเราเลย! ถ้าเข้าใจว่านั้นเป็นเรา เราก็หลงเชื่อมัน มันก็หลอกเรา แล้วเชื่อว่ามันเป็นเราไปเรื่อยๆ หาที่ยับยั้งไม่ได้ เหมือนกระต่ายตื่นตูม

            นิทานเรื่องกระต่ายตื่นตูมก็เป็นคติได้ดี กระต่ายกำลังนอนหลับ นอนฝันอยู่ใต้ต้นตาล ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร ลมพัดมาที่ต้นมะตูม มะตูมถูกลมพัดก็หล่นลงมาถูกก้านตาล แล้วตกปึงปังมาที่กระต่ายกำลังนอนหลับ กระต่ายสะดุ้งตื่นทั้งหลับ กระโดดออกวิ่งทันที สัตว์อื่นๆ เจอกระต่ายกำลังวิ่งผ่านไปก็ถามว่า “วิ่งทำไม กระต่ายร้องบอกไปคำเดียวว่า “ฟ้าถล่ม ! ” สัตว์นอกนั้นกลัวตาย ไม่ทันพิจารณาเหตุผลต้นปลายใดๆ ก็วิ่งหนีตามกระต่ายไป จนขาหักแข้งหักก็ยังไม่ยอมหยุด วิ่งไปคลานไปตามกระต่ายตัวแสนโง่ตัวนั้นไป จนกระทั่งไปถึงพระยาราชสีห์ พระยาราชสีห์ตวาดขู่ว่า “วิ่งมาอะไรกัน เป็นหมู่เป็นฝูงมากมาย จนลิ้นห้อยปากแบ็บ ไม่ได้สติสตังกันบ้างเลย จะวิ่งไปอะไรกัน!สัตว์เหล่านั้นก็ตอบว่า “ฟ้าถล่ม ๆ! ” พระยาราชสีห์รีบถามหาความจริงว่า ฟ้าถล่มยังไง ซักไปซักมาก็มาจนตรอกที่กระต่าย พระยาราชสีห์จึงห้ามให้หยุดวิ่ง และให้กลับไปดูตรงที่ว่า “ฟ้าถล่ม” นั้น เมื่อกลับมาดู ที่ไหนได้เห็นมะตูมลูกหนึ่งหล่นอยู่ตรงนั้น มีก้านตาลตกลงมาด้วย พวกสัตว์ที่ตื่นหลงตามกระต่าย ก็เจ็บแข้งเจ็บขาแทบเป็นแทบตาย ขาหักไปก็มีเยอะ แน่ะ!

            เรื่องกระต่ายตื่นตูมนั้น เมื่อนำมาเทียบเคียงแล้วจะได้แก่อะไร ก็ได้แก่พวกเราที่ตื่นเรื่องการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย หลงกันไปตื่นกันมาอยู่นี่เอง!

            พอพวกสัตว์โง่วิ่งไปถึงพระยาราชสีห์ซึ่งเป็นสัตว์ฉลาดห้ามไว้ และพาไปดูต้นเหตุ จึงพากันได้สติ ไม่ตายกันระนาวเพราะกระต่ายตัวโง่พาให้ล่มจม

            คำว่า “พระยาราชสีห์” ที่เป็นสัตว์ฉลาดนั้นได้แก่ใคร ? ได้แก่ศาสดาผู้สอนธรรม สอนความจริงให้แก่สัตว์โลกนั่นเอง เพื่อให้พิจารณาความจริงกัน ไม่ตื่นข่าว ตื่นลมตื่นฝนกันไม่หยุด ซึ่งก็คือความทุกข์ล่มจมแก่ตัวเองผู้โง่นั้นแล สิ่งจอมปลอมทั้งหลายเคยหลอกมาเป็นเวลานานนั้นก็หายไป เพราะบรรดาผู้ที่รู้ตามความจริงทั้งหลายแล้ว เรื่องความหลอกอย่างนี้จะหลอกไม่ได้เลย

            ดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายที่เป็นพระอรหัตอรหันต์ ท่านไม่หลงในเรื่องความเป็นความตาย แต่พวกเรามันพวก “กระต่ายตื่นตูม” จึงต้องให้เรียนให้ฟังคำสั่งสอน อันเป็นความจริงของพระพุทธเจ้า เหมือนกับพระยาราชสีห์ขู่ให้สัตว์เหล่านั้นมาดูต้นเหตุที่ว่า “ฟ้าถล่ม” มันถล่มจริงๆ หรือ เทียบกับการให้ดูเรื่องความตายว่ามันตายจริงๆ หรือ?

            เอ้า ค้นหากันให้เจออะไรมันตาย? มันก็เหมือนผลมะตูมหล่นลงถูกก้านตาลนั้นแล มะตูมหล่นคืออะไร? ก็คือความจริงมันอยู่ตามธรรมชาติของตนๆ เท่านั้น เรามาตื่นเอาเฉยๆ จะว่ายังไง!

            แต่ผู้ที่หลอกจริงๆ คืออะไร? มันคือ “อวิชชา” ออกมาจาก “อวิชชา” จริงๆ ค้นดูภายในจิตให้ละเอียดลออก็รู้กันที่นั่น สลัดปัดทิ้งกันที่นั่น เหลือแต่ธรรมชาติ “รู้” ล้วนๆ นั้นแลคือความจริงสุดส่วน เป็นความบริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง

            เรื่องกระต่ายตื่นตูมก็หมดไม่มีอะไรเหลือเลย นั่นแหละ พระยาราชสีห์หมายถึงปัญญา คือถ้าหมายถึงสมมุติของเราโดยเฉพาะก็ได้แก่ปัญญา ถ้าพูดถึงศาสนาก็หมายถึงองค์ศาสดาประกาศธรรมสอนโลก ฉะนั้นจงเรียนให้ถึงความจริง เพราะความจริงมีอยู่กับทุกคน ความจอมปลอมก็มีอยู่กับทุกคน จึงได้หลงกัน เรียนให้เข้าใจถึงความจริงแล้วไม่หลง อยู่ที่ไหนก็สบาย ความเป็นความตายก็สักแต่เป็นกิริยาที่ผ่านไปผ่านมา คำว่า “เกิด” อยู่ตามสมมุติว่าเกิดว่าตายเท่านั้น

            ส่วนต่างๆ ของธาตุรวมกันเข้าเป็นส่วนผสมแล้วสลายตัวลงไป รวมกันเข้าแล้วก็สลายตัวลงไป มีเท่านั้น ไม่มีอะไรแปลกกว่านั้นไป เข้าใจ รู้เสียอย่างเดียวเท่านั้น รู้ทั้งตัวรู้ทั้งเงาแล้วก็ไม่มีปัญหา อย่างแบบตาบอดคลำช้างมันถึงยุ่ง ถกเถียงกันอยู่ตลอดเวลาภายในพวกตัวเองนั้นแหละ พอถึงความจริงแล้วมันก็ช้าง คือความจริงอันเดียวนั้นแล

            เข้าถึงความจริงแล้วก็มีธรรมแท่งเดียวภายในใจ หายความตื่นตระหนกตกใจอะไรทั้งสิ้น เรื่องกระต่ายตื่นตูมมันหมดไปทันทีภายในใจ

            โลกธาตุจะมีอะไร? แม้มากมายก็ไม่ตื่นไม่เต้น เห็นไปตามความจริงทั้งหมด นี่เรียกว่า “โลกวิทู” รู้แจ้งโลก โลกเป็นอย่างไรรู้แจ้งชัดเจนหมด เป็นสภาพอย่างไรรู้แจ้งชัดเจนโดยตลอดทั่วถึง

            คำว่า “โลกวิทู” เป็นไปได้ทั้งสาวก เป็นไปได้ทั้งพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าท่านรู้ลึกซึ้งกว้างขวางยิ่งกว่าสาวกอีกมากมาย เราก็ให้เป็น “โลกวิทู” ในตัวของเรานี้ รู้แจ้งเห็นจริงในโลกแห่งขันธ์นี้ชัดเจน ไม่หลงขันธ์ไม่ยึดขันธ์ รู้ตามความเป็นจริงของขันธ์นี้ก็ไม่มีอะไรเป็นภัย

            ทุกข์จะเกิดขึ้นมากน้อยภายในร่างกาย เอ้า เกิดขึ้น ความจริงมีอย่างไรก็แสดงขึ้น ผู้ที่รู้ก็รู้จนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย อะไรจะสลาย เอ้า ทนไม่ได้ก็สลายไป ผู้ทนได้หรือผู้อยู่ได้จงอยู่ จิตนั้นเองเป็นผู้อยู่ เพราะผู้นี้ไม่ใช่ผู้สลาย สิ่งใดที่ทนไม่ได้ก็สลายไป สิ่งที่ทนได้ก็ทนไป ถ้าพูดในฐานะที่ว่า “ทน” นะ แต่ผู้รู้นี้ไม่ได้ทนเพราะเป็นความจริง ผู้รู้ ๆ ๆ อยู่อย่างนั้น อะไรจะเกิดขึ้นอะไรจะดับไปก็รู้ อะไรจะสุขอะไรจะทุกข์ก็รู้ เมื่อหมดปัญหาเรื่องความสุขความทุกข์ที่เป็นส่วนสมมุตินี้แล้ว ก็หมดปัญหาภายในใจ คือไม่รับเรื่องที่วุ่นวายต่อไป

            นั่นแหละที่ท่านว่า “ปรมํ สุขํ” เป็นความสุขล้วนๆ อยู่กับจิตล้วนๆ ไม่ปลอมแปลง เราจะไปหา “ปรมํ สุขํ” ที่ไหน? ทำจิตให้บริสุทธิ์เท่านั้นก็ “ปรมํ สุขํ” อยู่ในนั้นเอง นี้ก็เป็นชื่อสมมุติอันหนึ่ง แม้ท่านจะให้ชื่อว่า “ปรมํ สุขํ” แต่เมื่อถึงที่นั่นแล้วจะว่า“ปรมํ สุขํ” หรือไม่ปรมํ ก็ไม่มีปัญหาอะไร ให้รู้เหมือนอย่างเรารับประทานจนอิ่มหนำสำราญแล้ว จะประกาศหรือไม่ประกาศว่า “อิ่มแล้ว” ก็ตาม มันก็ไม่มีปัญหา เพราะรู้อยู่ในธาตุในขันธ์ของตัวเองอยู่แล้ว

            อะไรจะกว้างขวางเหมือนอย่าง “มหาสมมุติ มหานิยม”


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก