เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙
ถึงเมืองอิ่มพอ
การเริ่มปฏิบัติธรรม ก็เช่นเดียวกับเราเริ่มเรียนหนังสือ เรียนหนังสือทีแรก เต็มไปด้วยความขี้เกียจ พ่อแม่บังคับบัญชาร้องห่มร้องไห้ ไม่อยากเรียน แต่อยากสนุก ถือเป็นความชอบธรรมของเด็กมาก ไม่ว่าเด็กใดๆ ก็เหมือนกันหมด ความเล่นความสนุกนี้เด็กชอบ แต่ผลที่จะเกิดขึ้นเพราะสิ่งที่ทำนั้นเด็กไม่คำนึงถึง พ่อแม่บอกให้ไปโรงเรียนเด็กยังไม่อยากไป ต้องฝืน บางทีหนีเถลไถลไปไหนก็ไม่รู้ เพราะเด็กยังไม่เห็นผลของการเรียน อนาคตเด็กไม่เคยคาดคิด เรื่องของตัวเป็นอย่างไรที่จะเป็นไปในอนาคต ผิด ถูก ชั่ว ดี ประการใด เด็กๆ ไม่เคยคิดและไม่เคยสนใจ เด็กไม่สนใจยิ่งไปกว่าการชอบเล่น สนุกสนานไปตามเพื่อนฝูงตามประสาเด็กเท่านั้น จนกว่าจะเติบโตขึ้นมาแล้วค่อยรู้ภาสีภาษาขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มมองเห็นผลจากการศึกษาเล่าเรียนขึ้นมาบ้าง
พ่อแม่ ครู และใครๆ ก็อบรมสั่งสอนชี้เหตุชี้ผลทางความดี ความชั่ว ความเหลวไหล ตลอดความมีหลักฐานมั่นคง และความรู้วิชาที่จะได้เป็นเนื้อเป็นหนังในอนาคต เมื่อเติบโตขึ้นมาเด็กก็ค่อยเข้าใจในเหตุผลนั้นๆ แล้วก็พยายามศึกษาเล่าเรียน และทำหน้าที่การงานนั้นๆ ด้วยความสนใจบ้าง จนกระทั่งมาเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว จะให้เป็นอย่างเด็กนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุผลและความเข้าใจทุกด้านเกี่ยวข้องกับตัว และความรับผิดชอบตัวเอง ตลอดครอบครัว ซึ่งเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วต้องมีครอบครัว จะทำแบบเด็กนั้นทำไม่ได้ จะไปจนตรอกจนมุมเพราะความขี้เกียจก็ไม่ได้ ต้องทำเพราะเหตุผลบังคับให้ทำ ผลของงานก็เกิดขึ้นตามลำดับลำดา และเป็นเครื่องพยุงจิตใจให้มีความขยันหมั่นเพียรในหน้าที่การงานขึ้นไปเป็นลำดับ ยังเกี่ยวกับยศถาบรรดาศักดิ์เข้าอีก ความมีแก่ใจก็เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
การปฏิบัติธรรมก็เป็นเช่นนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น มีน้อยนักที่จะเกิดความสนใจขึ้นมาตั้งแต่เป็นเด็ก ในการปฏิบัติเบื้องต้นแม้จะมีความเชื่อความเลื่อมใสในศาสนาอยู่ก็ตาม แต่การปฏิบัติก็รู้สึกว่าเป็นความฝ่าฝืนภายในใจอยู่นั่นแล หากมีเหตุมีผลพอถูไถกันไปได้
แต่อย่างไรก็ตามเรื่องจิตนั้น แม้จะมีเหตุผลเป็นเครื่องบังคับอยู่ มันก็ยังเถลไถลเช่นเดียวกับเด็กนั่นแล เพราะยังไม่เห็นเหตุเห็นผลในการประพฤติปฏิบัติ ซึ่งประจักษ์กับใจให้เกิดความสนใจขึ้นมา ตอนนี้เราต้องบังคับ ไม่ว่าแต่ฆราวาสญาติโยม แม้แต่พระผู้ปฏิบัติก็ยังต้องบังคับกัน เพราะเหตุนี้ศาสนาท่านไม่บังคับใครก็จริง คือท่านไม่บังคับให้คนมารับนับถือ เพราะศาสนาเป็นสมบัติกลาง เช่นเดียวกับวัตถุสิ่งของเงินทองไม่ได้บังคับผู้ใด แล้วแต่ผู้นั้นจะมีความสนใจต้องการสิ่งใด ก็ต้องเสาะแสวงในสิ่งนั้น เช่นเราต้องการเงิน เราก็ต้องทำงาน มีงานก็มีเงินเป็นต้น เงินไม่มาบังคับเรา งานไม่มาบังคับเรา แต่เวลาเราไปทำงานก็เป็นเครื่องบังคับตัวเองไปในตัว
การถือศาสนา ศาสนาวางไว้เป็นกลางๆ ไม่บังคับใครให้นับถือศาสนา เมื่อเรานับถือแล้ว เราจะนับถืออย่างไรจึงจะเป็นไปตามแนวทางที่ศาสนาท่านสอนไว้ ทีนี้จิตใจของเราตามธรรมดาก็ไม่ได้เป็นไปอย่างนั้น แล้วทำอย่างไรจึงจะเป็นไปตามหลักศาสนาที่ท่านสอนไว้ที่นี่ เราต้องบังคับเรา นั่น! ความจำเป็นจึงอยู่ตรงนี้
นี่แหละเมื่อนับถือศาสนาแล้ว ก็ต้องบังคับเราให้เป็นไปตามหลักศาสนา เป็นคนละเรื่องกับศาสนาที่เป็นของกลาง ยังไม่เป็นของผู้ใด แต่เมื่อเรายอมรับนับถือแล้วก็เป็นสมบัติของเรา เราต้องปฏิบัติตัวเรา บังคับตัวเราให้เข้ากันได้กับหลักศาสนา ไม่เช่นนั้นความบกพร่องก็มาตกอยู่กับเราเอง
นี้แลในการปฏิบัติเพื่อมรรคเพื่อผล เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขภายในจิตใจ เพื่อความเฉลียวฉลาด ตลอดถึงการถอดถอนกิเลสไปโดยลำดับ ดังที่เราคาดไว้คือวิมุตติ พระนิพพาน เป็นต้น นี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเราที่จะให้เกิดความอุตส่าห์พยายามตะเกียกตะกาย แม้จะลำบากลำบนเพียงใดก็ตาม เข็มทิศทางเดินเราตั้งไว้แล้วอย่างนั้น ต้องตะเกียกตะกายไปจนได้ ทั้งที่กิเลสมันไม่ยอมให้ไป แต่เราผู้หวังพ้นทุกข์จำต้องฝืนกิเลสไป
คำว่า จะไปพระนิพพาน อย่างนี้ กิเลสมัน โอ้โห ขัดข้อง กีดขวางมากทีเดียว ถ้าเป็นธรรมดาแล้วมันฆ่าเราพินาศฉิบหายไป ในขณะที่คิดจะไปนิพพานนั่นแล เพราะมันไม่ยอมให้ไปง่ายๆ นี่ กิเลสมันเป็นนามธรรม และอยู่ภายในจิตใจ มันทำการกีดขวางอยู่ภายในใจ เช่นเราว่าจะบำเพ็ญคุณงามความดียังงี้ มันเป็นต้องหาเรื่องหาราวมาทำการกีดขวางให้เป็นอุปสรรคนั้นอุปสรรคนี้ จนต้องตกอยู่ในเงื้อมมือของมันก็มีในบางครั้ง จนกระทั่งเราผ่านไปได้ด้วยเหตุผล และความฝ่าฝืนของเราจริงๆ มันถึงจะยอมให้เราไปด้วยทั้งความเคียดแค้น ความผูกอาฆาตเรา ไม่ยอมปล่อยมือเอาง่าย ๆ บางครั้งยังต้องล้มไปตามมันก็ยังมี ทั้งที่เราเป็นนักบวช ซึ่งเป็นนักรบกับมันอยู่แล้ว ยังแพ้มันได้ มันเป็นของเล่นเมื่อไรกิเลสนี่น่ะ
เฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิบัติธรรมคือการภาวนา ต้องใช้ความอุตสาหะพยายาม ล้มลุกคลุกคลาน ก็จงพยายามตะเกียกตะกายไปจนได้ อย่าเชื่อมันเป็นเด็ดขาด ไม่งั้นต้องตายในเงื้อมมือมันจนได้ ไปไม่รอด เพราะคาถากล่อมมันเก่งมาก ยากจะฝืนไปได้
เอ้า วันนี้จิตมันดื้อเอ้าดื้อไป เราตั้งใจจะฝึกทรมานจิตตัวดื้อนั้นเอง ปัญญาของเราต้องใช้ในเวลาเช่นนี้ ไม่ดื้อไม่ทรมาน แม้แต่สัตว์ หรือบุคคลใดๆ ก็ตาม เช่นเด็กไม่ดื้อ ไปดุด่าว่ากล่าวเขาทำไม คนในวงงานของเรา คนในครอบครัวของเราไม่ทำผิด ดุด่าว่ากล่าวเขาทำไม ทีนี้จิตที่ดีอยู่แล้วจะไปทรมานกันทำไม
เวลาจิตของเราไม่ดี นี่แหละเป็นเหตุที่เราต้องทรมาน เป็นเหตุที่ต้องบังคับ เป็นเหตุที่ต้องปราบปรามกันให้เต็มที่เต็มฐาน ถึงเหตุถึงผล เต็มสติกำลังความสามารถ อุบายสติปัญญาก็ขึ้นช่องนี้ ถึงจะลำบากขนาดไหน ก็ไม่หลบหน้า เพราะทราบแล้วว่า จิตของเราพยศ จิตของเราดื้อด้าน จะทำอย่างไรจิตเราจึงจะสงบตัวลงได้ เราก็ทราบเหตุผลในเรื่องนี้อยู่แล้ว ฉะนั้น ต้องฝึก ต้องทรมาน ต้องบังคับบัญชาเอากันเต็มเหนี่ยวทีเดียว เมื่อจิตผาดโผนด้วยอำนาจของกิเลส เราก็ผาดโผนด้วยอำนาจของธรรม คือสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ไม่ลดละปล่อยวาง สู้กันจนชนะไปเป็นพัก ๆ ไม่ยอมท้อถอยให้กิเลสหัวเราะเย้ยหยันได้เป็นอันขาด จะขายหน้าตัวเองให้กิเลสย่ำยี
ความชนะเป็นพักๆ นั้นแลคือการแสดงผลงานให้ปรากฏขึ้นมาอย่างประจักษ์ คือจิตหมอบลงไป จิตสงบลงไปด้วยอำนาจแห่งอุบายของการปราบปราม คือทรมานจิตใจ นี่เป็นสักขีพยานขึ้นมาเป็นระยะๆ เพราะความชนะเป็นพักๆ ไป ผลก็ปรากฏขึ้นมาเป็นระยะเช่นเดียวกัน นี้แลเป็นเหตุให้เรามีความอุตส่าห์พยายาม ไม่ท้อถอย ความยากลำบากไม่ได้ยากเฉยๆ ไม่ได้ลำบากเฉยๆ ผลที่เกิดขึ้นมาจากความลำบาก เพราะการฝึกหัดทรมาน การฝืนใจของตนซึ่งเต็มไปด้วยกิเลสนั้น มันแสดงขึ้นมาให้เราเห็นอย่างชัดๆ ว่าเป็นผลดี เป็นผลดีเรื่อยๆ
จิตแม้จะผาดโผนขนาดไหนก็ตาม สู้เราไปไม่ได้ เพราะเรามีเครื่องมือได้แก่ธรรมของพระพุทธเจ้าคือ ขันติ เอามาใช้ วิริยะ เอามาสนับสนุน สติปัญญา ไม่ลดละ เพราะเป็นเครื่องมือที่ติดแนบอยู่กับตัวเรา ฟาดฟันลงไป! กิเลสจะหาอุบายแสดงกลมารยาออกมาด้วยวิธีใด สติ ปัญญา เป็นเครื่องปราบกิเลสต้องนำมาปราบจนได้ ปราบกิเลสไม่ได้เราก็แพ้ และขายหน้าไปจนวันตาย และตลอดกัปกัลป์ไม่มีสิ้นสุดยุติได้เลย
คนแพ้อยู่ที่ไหนจะสบายได้หรือ แม้แต่เล่นกีฬาแพ้เขายังไม่สบายเลย ยิ่งแชมเปี้ยนถ้าแพ้บนเวทีด้วยแล้ว ลือลั่นทั่วโลก ก็เราเวลานี้กำลังก้าวขึ้นเวทีต่อสู้กับกิเลสอยู่แล้ว การแพ้กิเลสเป็นของดีแล้วหรือ นี่เป็นอุบายวิธีที่จะนำสติปัญญามาต่อสู้กับกิเลสไปจนมีชัยชนะ การแพ้ไม่ใช่ของดี นอกจากความชนะหรือตายในสนามรบเท่านั้น พระพุทธเจ้าชนะกิเลสทั้งมวลด้วยพระปรีชาสามารถ จึงได้เป็นพระศาสดาของโลก สาวกท่านชนะกิเลสทั้งปวงด้วยความเพียร จึงได้เป็น สรณะ ของพวกเรา ธรรมจึงปรากฏขึ้นในโลกได้เพราะความชนะของท่าน ส่วนธรรมที่จะปรากฏในจิตเรา เพราะความแพ้นั้นดีอยู่เหรอ? นั่นขัดกันกับศาสนธรรมที่ท่านประกาศสอนไว้ และอุบายวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงพาดำเนินมา มันขัดกันถ้าเราแพ้
เราต้องนำมาคลี่คลาย แยกแยะ เทียบเคียงเหตุผล ด้วยอุบายต่าง ๆ เพื่อให้ทันกับกลมารยาของกิเลส ซึ่งมีความแหลมคม กดขี่ บังคับ จิตใจเรามานาน เราต้องใช้อุบายวิธีนี้ เอาอะไรเป็น มัชฌิมา เครื่องมือปราบปราม กิเลสมีน้ำหนักขนาดไหน มีกำลังมากขนาดไหน เราต้องให้ สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ความอุตส่าห์พยายามกำลังวังชาทุกด้านทุ่มกันลงไป จนกระทั่งกิเลสหมอบราบนั่นแหละ มัชฌิมา สำหรับกิเลสประเภทนั้น จึงเหมาะสม สมกัน นี่แหละ มัชฌิมา ของพระพุทธเจ้าและสาวกท่านพาดำเนินมาอย่างนี้ กิเลสดื้อด้านผลาญหัวใจ มัชฌิมาต้องหนักมือไม่ยับยั้ง และฟาดฟันกิเลสตัวลือนามด้วยมัชฌิมาที่ทันสมัยกับกิเลสประเภทนี้
แม้แต่เขาสร้างบ้านสร้างเรือน เขายังมีเครื่องมือมากมายก่ายกองเป็นลำรถ เราทำไมจะมีเครื่องมือเพียงอันหนึ่งอันเดียวเพื่อปราบกิเลสในดวงใจ กิเลสมีกี่ประเภทมีกี่ชนิด ไม่ใช่มันจะนอนหมอบราบให้เราตีมัน ฟันมัน ฆ่ามันตายระเนระนาดอย่างง่ายดาย ดีไม่ดีมันอาจฟันเราแหลกเสียก่อนแล้ว ก่อนที่เราก้าวเข้าไปยังไม่ถึงเขตแดนของมันเลย มันออกมาดักฆ่าเราอยู่ปากทางก่อนแล้ว และหลอกเราให้ตีป่าตีพงไปเสีย มันเองนอนหัวเราะเรา ซึ่งกำลังหลงตีเงาของกิเลสนั่นแล เรื่องของกิเลสแหลมคมแค่ไหน เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างง่าย ๆ ทำอย่างสบาย ๆ แบบ มัชฌิมา ของกิเลส นั้นไม่ได้
ส่วนมากนักปฏิบัติเราถูกกิเลสหลอกยื่น มัชฌิมา ของมันมาให้ตีโพยตีพายแบบลมๆ แล้งๆ ไปโดยไม่รู้สึกตัวว่าถูกหลอก ผลที่ปรากฏจึงมีแต่ เราเดินสายกลางนี่เถอะ เคร่งนักมักขาด ส่วน มัชฌิมา ของกิเลส คือความขี้เกียจอ่อนแอหารู้ไม่ นั่นหรือเครื่องฆ่ากิเลส
มัชฌิมา ของกิเลสคือความอ่อนแอ ความยอมตามมัน ความจำนนต่อมันอยู่ตลอดเวลา นั่นคือ มัชฌิมา ของกิเลสมันชอบที่สุด แต่ มัชฌิมา ของธรรมแล้วกิเลสจะหมอบราบไปด้วยวิธีใด นำเอาวิธีนั้นมาใช้ เป็นก็ตาม ตายก็ตาม โลกนี้มีป่าช้าอยู่ทุกร่าง เขาก็ตาย เราก็ตาย สู้กิเลสจนตายบนเวทีไม่มีถอย
การตายไม่มีเกียรติ คือตายด้วยความอ่อนแอ ตายด้วยความท้อแท้ เพราะถูกหลอกจากกิเลส ไม่เกิดผลเกิดประโยชน์อะไรเลย ตายด้วยความอับอายขายหน้า ให้กิเลสหัวเราะเปล่าๆ ต้องตายด้วยความมีชัยชนะ ตายด้วยความกล้าหาญ ตายด้วยความเป็นนักรบอย่างเต็มตัว
การต่อสู้ตามหลักพุทธศาสนาที่สอนไว้นั้น สมกับนามว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ เราน้อมเอาพระพุทธเจ้าเข้ามาเป็นธงชัยปราบปรามกิเลส จนได้ชัยชนะขึ้นมาเป็นพักๆ ด้วยมัชฌิมา เป็นขั้นๆ กิเลสผาดโผน มัชฌิมาธรรมก็ผาดโผน สู้แบบให้ถึงไหนถึงกัน กิเลสละเอียดลงไป มัชฌิมาก็ละเอียดตาม กิเลสละเอียดและแหลมคมขนาดไหน มัชฌิมา ซึ่งได้แก่สติปัญญาก็ละเอียดแหลมคมขนาดนั้นหรือยิ่งกว่านั้น ฟาดฟันกันลงไปไม่หยุดหย่อน และตามต้อนให้ทันกันเป็นลำดับๆ ไม่ยอมอับจน เอาให้กิเลสทุกประเภทพินาศไปหมดไม่มีเหลือเลย นั่นแลชื่อว่ามัชฌิมาตามหลักธรรมที่ศาสดาผู้จอมปราชญ์ประทานไว้อย่างพร้อมมูล ไม่อับจน
นี่แหละ ระยะที่เราฝึกอบรมต้องมีความยากลำบากลำบนทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะกิเลสมีมาก จึงมีแต่เรื่องเล่ห์เหลี่ยมแหลมคม ยั่วอย่างนั้น ยั่วอย่างนี้ หลอกลวงอย่างนี้อยู่เรื่อยภายในใจ ไม่ให้เราประกอบความพากความเพียร ตั้งเนื้อตั้งตัวได้เลย มันทำให้เอนไปทางนั้น เอียงไปทางนี้ อยู่อย่างนั้นแล ถ้าอุบายของมัชฌิมาไม่ทันมัน ต้องถูกมันหามลงคลองไม่รู้ตัว โดยสำคัญว่าตนปฏิบัติด้วยมัชฌิมาอันเป็นทางสายกลาง อยู่นั่นเถอะ
จงทราบว่า สิ่งใดที่เป็นภัยต่อความดี นั้นคือกิเลสทั้งหมด เราอย่าเข้าใจว่ากิเลสตั้งป้อมอยู่ที่ไหน ก็ตั้งป้อมอยู่ที่หัวใจนั่นแล เฉพาะอย่างยิ่งขณะที่จะทำความดีนั้นแหละ กิเลสนั้นนอนหลับอยู่ก็ตาม มันจะพลิกตัวตื่นขึ้นทันทีโดยไม่ต้องไปปลุกมัน พอคิดว่าเราจะสร้างคุณงามความดีเท่านั้นแหละ กิเลสมันตั้งท่าสู้เราแล้ว แล้วปราบเราอยู่หมัดด้วย เช่น ว่าจะไปทำบุญทำทาน ไปรักษาศีลภาวนา มันจะต้องหาอุบายขึ้นมาอย่างเหมาะๆ เดี๋ยวงานอย่างนั้น ยุ่งอย่างนี้ ไม่ได้นะ เดี๋ยวงานอย่างนี้ยุ่งอย่างนั้น ไม่ได้นะ จะลำบากลำบน อดข้าวค่ำข้าวเย็นรักษาศีล ทำให้ไม่สะดวก จะไม่สบาย เสียสุขภาพ อายุสั้น เดี๋ยวตาย ยุ่งไปหมด นั่นมันหลอกเรา ก่อนที่เรายังไม่ได้เห็นผลก็ต้องยอมมันแหละ เพราะเราเคยเชื่อมันมานานแล้วจนฝังใจ ไม่คิดนึกบ้างเลยว่ามันเป็นกิเลสจอมต้มตุ๋นทั้งเป็นมาแต่กาลไหน จึงเชื่อเอาๆ ไม่มีทางฟื้นตัวได้ตลอดไป
ทีนี้พอเราจะเป็น นักสู้ เช่น ภาวนาต่อสู้กับสัญญาอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในใจ มันต้องก่อกวนให้เราวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา ก่อนที่จะเกิดความสงบขึ้นมา เมื่อเราชนะมันได้ผลก็คือความเย็นใจ ซึ่งออกมาจากความสงบแล้วปรากฏความมีคุณค่าขึ้นมาภายในตน ทั้งๆ ที่ไม่เคยคิดว่า จิตใจเรา ตัวเรา จะมีคุณค่า มีแต่ความรุ่มร้อน หาแต่ที่เกาะหาแต่ที่อาศัย ซึ่งส่วนมากก็เป็นยาพิษของกิเลสนั่นแล จึงขอเรียนอย่างเต็มใจเต็มปากที่เคยต่อสู้กับกิเลสประเภทต่างๆ มาตามความสัตย์ความจริง ไม่ได้อวดเก่ง นี่ได้เคยสละชีพเพื่อฆ่ากิเลสและเพื่อชัยชนะโดยทางมัชฌิมาแบบรอดตายมาจนจำเจแล้ว จึงได้นำอุบายที่เห็นผลแล้วนี้มาเรียนให้ท่านผู้หนักในมัชฌิมาที่ดำเนินตามทางสายกลางอ่านบ้าง เพราะเราไม่ทราบว่าทางสายกลางนั้นกลางขนาดไหนกันแน่ หรือกลางแบบเอากบไปไสไม้ทั้งต้นก็ไม่อาจทราบได้ เรายังโง่อยู่มาก จึงอยากทราบมัชฌิมาที่ส่วนมากใช้กันมานั้น ใช้แบบไหนกันบ้าง
เขาสร้างตึกรามบ้านช่อง ปรากฏว่าเครื่องมือสำหรับสร้างมีเป็นลำรถ แต่การสร้างจิต ชำระจิตให้ถึงขั้นสมบูรณ์ จะควรมีเครื่องมือที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา อันเป็นทางสายกลางเพียงอย่างเดียวเท่านั้นหรือ อาจจะมีแขนงแห่งมัชฌิมาประเภทต่างๆ บ้างหรือไม่ พอเหมาะสมกับการสร้าง หรือการชำระจิตดวงโสมมด้วยกิเลสชนิดต่างๆ ให้ถึงขั้นสมบูรณ์เต็มภูมิ
คำว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน นั้น จงปราบมันลงไปด้วยกำลังความสามารถของตัวเอง แต่มักจะไม่สนใจ มีแต่พึ่งผู้อื่น พึ่งอะไรก็ไม่ทราบ พึ่งเดือน พึ่งปี พึ่งวัน พึ่งเวล่ำเวลา พึ่งสมบัติพัสถาน พึ่งพี่พึ่งน้อง พึ่งญาติพึ่งวงศ์ พึ่งพ่อพึ่งแม่ พึ่งลูกพึ่งหลาน คิดพึ่งไปหมด ที่จะพยายามพึ่งตนเองนั้นไม่คิด เวลาใจไม่มีหลักยึดย่อมเป็นทำนองนี้ด้วยกัน จะหวนเข้ามาพึ่งธรรม อันเป็นที่พึ่งอันเกษมของใจนั้นไม่ค่อยสนใจคิดกัน จึงมักจะปราศจากที่พึ่งอันน่าเสียดายไปตาม ๆ กัน
แต่เวลาได้สร้างความสงบขึ้นมาภายในใจเป็น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ขึ้นมาแล้ว ต้องอุทานว่า อ๋อ! นี้แลเป็นที่พึ่ง มีความสงบเย็นสบาย หายว้าเหว่ ที่จะไปพึ่งโน้นพึ่งนี้! เมื่อได้หลักขึ้นมาภายในใจแล้ว นี้แลเรียกว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เริ่มปรากฏขึ้นมาแล้วจากความเพียร จากระยะนั้นไปความอุตส่าห์พยายามนั้นมาเอง มาเรื่อยๆ เพราะเห็นผล มีต้นทุนอยู่แล้ว จะค้าขายอะไรก็พอเป็นไปเพราะมีต้นทุน จะประกอบความพากเพียรหนักเบาแค่ไหน ต้นทุน คือ ความสงบเย็นใจ ที่เห็นประจักษ์อยู่แล้วนี้พาให้ดูดดื่มทางความเพียร ไม่เกียจคร้าน อ่อนแอ กระดูกจะหลุดจากกันเหมือนแต่ก่อน
ใจมีความสงบมากเท่าใด ก็ยิ่งเห็นความแปลกประหลาดและอัศจรรย์ เป็นหลักเป็นเกณฑ์ เห็นที่พึ่งของใจโดยลำดับๆ และแน่นหนามั่นคงยิ่งขึ้น ทีนี้ความเพียรต้องเริ่ม ต้องเร่ง เพราะรู้หน้าที่การงานของตน ทำกิจการงานใดอยู่ก็ตาม พอถึงเวลาที่จะบำเพ็ญก็ปล่อยวางและเอาจริงเอาจัง การงานภายนอกนั้นน่ะปล่อยทันทีเลย ทำไมจึงปล่อย? แต่ก่อนทำไมว่ามันยุ่งๆ แล้วทำไมมันปล่อยได้ คนๆ นั้นแท้ๆ เวล่ำเวลาก็เป็นเวลาอันเก่า มืด แจ้งอันเก่า ทำไมเวลานี้มันปล่อยได้ แต่ก่อนๆ ทำไมมันปล่อยไม่ได้ เป็นเพราะเหตุใด ก็เพราะกิเลสผูกมัดไว้นั่นแหละ กิเลสสร้างขวากสร้างหนามไว้ให้เหยียบให้ตำเท้า เดินไปไม่ได้ ให้นั่งคราง นอนครางอยู่อย่างนั้นแหละ จะว่ายังไง
ทีนี้พอถอดถอนเสี้ยนหนาม คือกิเลสอันเป็นตัวอุปสรรคนั้นออกแล้วก็ก้าวไปได้ ก้าวไปได้ ก้าวไปได้ ทำได้ ถึงเวล่ำเวลาแล้วใครจะมาห้ามหรือมาขัดขวางไม่ได้ เพราะคิดถึงเวลาจะตายใครจะมาห้ามได้ มันยังตายได้คนเรา หากไม่มีเวลาว่างเลย ทำไมเวลาตายมันจึงว่างได้? เวลาจะทำความพากเพียรทำไมมันจึงไม่ว่าง นี่คืออุบายวิธีแก้เจ้าของให้ว่าง ตอนนี้แหละเหมาะสมอย่างยิ่ง ตายแล้วมันไม่ว่างหรอก ไม่ว่างอย่างไรก็ไม่ว่างที่จะทำความเพียรนั่นเอง เวลานี้เป็นเวลาที่ว่างที่สุด ตอนยังมีชีวิตอยู่นี่คือตอนว่างอย่างเห็นได้ชัด
การแก้อย่างนี้ เรียกว่า อุบายปัญญา เครื่องปราบกิเลส กิเลสที่มาก่อกวนที่มาทำการกีดขวาง แก้ด้วยวิธีนี้ ผลก็ปรากฏขึ้นมาให้เย็นใจ สบาย เพียงสมาธิเท่านั้นก็เห็นคุณค่าของใจ และเห็นคุณค่าของศาสนา เห็นคุณค่าแห่งความพากเพียรของตน เป็นลำดับลำดาอยู่แล้ว
เอ้า พิจารณาทางด้านปัญญา เมื่อสำเร็จขั้นสมาธิเป็นทุนแล้ว เอาปัญญาออกใช้ พิจารณาทั่วโลกทั่วสงสารนี้เป็นไร มันล้วนแต่กอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เต็มโลก จะเอาปลายเข็มจรดลงไม่ได้ ที่จะไม่ถูกกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เหล่านี้ จิตไปหลงยึดอะไร สติปัญญาตามฟาดฟันให้ขาดสะบั้นลงไป อย่าให้มันมาหลอกได้
โลกนี้มีอะไร? คำว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นี้ต้องได้เทศน์ทุกวัน เพราะโลกนี้เต็มไปด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ในใจของเราก็เช่นนั้น ทุกขณะจิตที่แสดงออกล้วนแล้วแต่เรื่องของ ไตรลักษณ์ ธาตุขันธ์ล้วนแล้วแต่ ไตรลักษณ์ พิจารณาให้เห็นความจริงที่มีอยู่เป็นอยู่ โลกนี้ท่านว่ากว้างแสนกว้าง กว้างอะไรบ้าง พิจารณาดูซิ มันกว้างที่ไหนกัน เราไปเกี่ยวข้องไปยุ่งอะไรกับมันมันถึงกว้าง มันกว้างอยู่ที่ จิตใจตัวคะนอง ไปเที่ยววุ่นวายต่างหาก ใจนี้คือ ตัวยุ่งตัววุ่นวาย ตัวเที่ยวกว้านโน้นกว้านนี้ ไม่อยู่เป็นสุข ยิ่งกว่าลิง เที่ยวเอาไฟจากสิ่งต่างๆ ในที่ต่างๆ เข้ามาเผาตนเอง มันก็กว้างละซี นอกจากกว้างแล้วยังร้อนอีกด้วย
บทเวลามันแคบก็แคบอยู่ที่ใจ เกิดความทุกข์ขึ้นมามากๆ แล้ว โลกกว้างแสนกว้าง แต่ใจตัวเก่งกลับไม่มีที่อยู่เลย เป็นไฟไปหมด นี่ที่เราว่าโลกกว้าง มันไม่ได้กว้าง มันมาคับแคบอยู่ที่จิตใจ ปิดตันที่จิตใจ ร้อนอยู่ที่จิตใจ เพราะฉะนั้นจงสร้างความกว้างขวางให้เกิดขึ้นภายในจิตใจ ด้วยการพินิจพิจารณาโดยทางปัญญา
พิจารณาไปตรงไหน? ดูซี รูปชนิดใด ต้นไม้ ภูเขา ตึกรามบ้านช่อง กี่ชั้นกี่หอ ก็ตามเถอะ มันพินาศฉิบหายลงไปหมดเมื่อถึงกาลของมันแล้ว จะสร้างสักกี่พันชั้นมันก็ออกไปจากอิฐ จากเหล็ก จากหิน จากปูน จากทรายนี่เอง จะไปหลงอะไรมัน กี่พันชั้นมันก็คืออิฐ ปูน หิน ทราย เหล็ก ที่ผสมกัน ซึ่งมีอยู่เต็มแผ่นดินนี้เอง จะพากันไปตื่นอะไรมัน นี่คือการพิจารณาด้วยปัญญาไม่ให้หลงสิ่งเหล่านั้น ซึ่งเท่ากับพวกเรานี่โง่เอาเสียเหลือเกิน เพียงอิฐ ปูน หิน ทราย ก็หลงกันจนจะเป็นบ้ากันทั้งแผ่นดิน คนฉลาดจะไม่มีค้างโลกอยู่แล้ว
คำว่า คน เราก็คน เขาก็คน ตื่นอะไรกัน! คำว่า เสียง เราก็มีเสียง เขาก็มีเสียง กลิ่น เราก็มีกลิ่น เขาก็มีกลิ่น ตื่นอะไรกัน! รส เราก็มี เราก็รู้อยู่ทุกวัน รสอะไรบ้างเราก็รู้ จะตื่นรสอะไรไปอีก! เครื่องสัมผัส มันสัมผัสทั้งวันทั้งคืน ตื่นอะไรกัน สัมผัสตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งบัดนี้ ยังไม่หายตื่นอีกหรือ! อารมณ์เครื่องยั่วยวนภายในจิตใจนี้ เกิดขึ้นเพราะอาศัย รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ซึ่งเคยสัมผัสมาตั้งแต่อดีต ก็เคยเป็นมาอย่างนั้นแล้ว ตื่นอะไรกัน! เหล่านี้คือกองอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา พิจารณาให้ชัดด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง ถ้ารู้ซึ้งแล้วก็เรียกว่า ชัด ชัดแล้วก็ปล่อย!
ความเที่ยวไปเวียนมาของจิต ความเกี่ยวข้อง เที่ยวหาบเที่ยวหาม แบกโน้นแบกนี้ มันเป็นความทุกข์ทั้งนั้นแหละ พระพุทธเจ้าท่านประกาศอยู่แล้วว่า มันเป็นกองทุกข์ เพราะความยึดมั่นถือมั่น ความสำคัญผิดเพราะความโง่เขลาเบาปัญญา พวกเรายังไม่ยอมรับว่าพระพุทธเจ้าฉลาด เพราะเราถือว่าเราฉลาด ความจริงก็คือกิเลสนั่นเองมันฉลาด ตัวเราเองมันโง่จึงไม่ทันเขา แล้วก็คล้อยตาม ให้กิเลสฟันเอา ฟันเอา แม้นอนอยู่กิเลสมันก็นั่งอยู่บนหัวกันทั้งนั้นแหละ คือบนหัวใจไม่ใช่หัวอะไร
ฉะนั้นจงสร้างปัญญาขึ้นพิจารณาให้เห็นความจริงของโลก มีหรือไม่มี มันก็เป็นความจริงของเขาอยู่นั่นเอง ตั้งแต่เรายังไม่เกิด เราตายไปแล้ว มันก็ยังมีตัวอยู่เช่นนั้น และสลายไปเช่นนั้น เปลี่ยนแปลงของมันไปโดยลำดับลำดา นี่คือเรื่องของปัญญาพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย การพิจารณาเช่นนี้ก็เพื่อจะถอดถอนความยึดมั่นถือมั่น ความสำคัญผิด ด้วยความเห็นที่ถูกต้อง คือปัญญานั่นเอง ใจก็เบา ปล่อยไปได้ อารมณ์เครื่องกังวลก็ไม่มี
คนเราเมื่อไม่มีเครื่องกังวลมารบกวนจิตใจก็สบาย เหมือนกับน้ำไม่มีอะไรกวนก็ใสสะอาด ถ้ามีอะไรกวน แม้แต่ไม่มีตะกอนอยู่ที่ก้นเลยมันยังขึ้นฟองได้ เวลาถูกกวน ถูกเขย่าน่ะ
จิตใจที่ถูกก่อกวนอยู่ตลอดเวลาด้วยความโง่เขลาเบาปัญญาด้วยแล้ว จะหาความสุขความสบายมาจากที่ไหน ไปอยู่ไหนก็ไปอยู่เถอะ ถ้าจิตใจมันมีสิ่งก่อกวนให้วุ่นวายเดือดร้อนอยู่ตลอดเวลาแล้ว มันต้องร้อนอยู่ตลอดเวลา นั่งอยู่ก็ร้อน ยืนอยู่ก็ร้อน เดินอยู่ก็ร้อน อยู่บนเครื่องบินก็ร้อนจะว่าอะไร จะเข้าใจว่าที่ไหนมันเป็นที่เย็นล่ะ มันเย็นที่ใจนี้เท่านั้น เมื่อปรับปรุงให้ดีแล้ว
เมื่อเราแก้ หรือถอดถอนสิ่งที่เป็นไฟออกได้แล้วใจมันเย็น อยู่ที่ไหนก็เย็นหมด จะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ถ้าจิตมันเย็นเสียอย่างเดียว จิตเป็นที่พึ่งของตนได้อย่างเดียวเท่านั้นมันสบายหมด นี่เริ่มถึงขั้นปัญญาแล้ว
เราเห็นผลทางด้านสมาธิคือความสงบเย็นใจ และเห็นผลทางด้านปัญญา การถอดถอนเสี้ยนหนามคือกิเลส ความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดในสิ่งต่างๆ ออกจากจิตใจด้วยปัญญาเป็นขั้นๆ ถอดถอนออกโดยลำดับๆ เหมือนที่ท่านสวด ถอนสีมาในโบสถ์ นั่นแล รู้สึกท่านทำเป็นอุบายสำคัญมากทีเดียว
ท่านสวดถอนสีมาท่านสวดถอนอย่างไร เราเคยเห็นท่าน ผูกพัทธสีมา ก่อนผูกท่านสวดถอนเสียก่อน เอาพระสงฆ์มาเป็นจำนวนมากมายืนเป็นแถว แล้วสวด สวดที่ตรงนี้ เสร็จตรงนี้แล้วก็ไปสวดที่ตรงนั้น ไปสวดที่ตรงโน้น ให้รอบทีเดียว จากนั้นก็ทักนิมิต เมื่อรอบข้างนอกแล้วก็สวดข้างใน ทั้งรอบนอกและรอบใน เสร็จแล้วก็สวดผูกพัทธสีมา พอเสร็จแล้ว ตัดลูกนิมิต ตูม ลงไปในหลุม เป็นหมดพิธีวินัยสงฆ์ ใครจะมาถอนก็ถอนไม่ได้ แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ถอนไม่ได้ จะถอนได้ก็เพียงคำว่าถอนเท่านั้น ความจริงนั้นถอนไม่ได้ นอกจากสงฆ์จะมาถอนเอง เมื่อถึงขั้นตัดลูกนิมิตแล้ว เป็นอันว่าหมดธุระหน้าที่ของสงฆ์ในการผูกพัทธสีมา สำเร็จโดยสมบูรณ์เต็มที่แล้ว
การสวดถอนนี้เป็นอุบายวิธีของการพิจารณาทางด้านปัญญา เหมือนเราถอดถอนสิ่งต่างๆ ทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น รส เครื่องสัมผัส กว้างแคบ ที่จิตไปสำคัญมั่นหมายกำหนดพิจารณาทางด้านปัญญา ให้เห็นเหตุผลตามความจริงทั้งหลายที่มีอยู่ ถอนความยึดมั่นถือมั่นเข้ามาโดยลำดับๆ จนกระทั่งเข้ามาถึงธาตุขันธ์ของตัวเอง นี่เป็นสิ่งสำคัญ จงพิจารณาแยกแยะดังที่เคยอธิบายแล้วนั้น
ร่างกายของเรานี้ มันมีความจริงอยู่ทุกสัดทุกส่วนไม่เคยปลอม มันปลอมแต่ความรู้ความเห็นของเราที่ไปสำคัญ ออกไปหาติเตียนเขา เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไปหาชมเขาอย่างนี้ๆ นี่คือ ผู้ผลิต ผลิตอยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านั้นเขาอยู่เฉยๆ เขาไม่มีอะไร แต่เราไปยึดไปถือเขา ไปตำหนิเขาไปชมเขา ความติก็ดี ความชมก็ดี มันก็เกิดจากใจของผู้สำคัญผิดนี้แล ผลมันก็เกิดขึ้นที่นี่ ความยุ่งเหยิงวุ่นวายมันก็เกิดขึ้นที่นี่ เพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณาให้ทราบทั้งภายนอกคือส่วนร่างกาย คือขันธ์ ทราบทั้งภายใน คือเรื่องของจิตล้วนๆ พิจารณาให้เห็นตามความจริง
ส่วนไหนในร่างกายของเรานี้ที่จะตั้งอยู่ได้แน่นหนาถาวรมีไหม? ไม่มี มันก้าวเดินไปตามทางสาย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อยู่ตลอดเวลาทุกอิริยาบถ แม้แต่หลับมันก็ไม่เคยลดหย่อนผ่อนผันไปตาม เดือน ปี นาที โมงเลย เดือนก็เป็นเดือน ปีก็เป็นปี เขาก็หมุนของเขาไป แม้ขณะนี้เขาก็หมุนไปตามหลักธรรมชาติของตน เราจะนอนใจอยู่ได้หรือ
ต้องพิจารณาให้เห็นตามความจริงของเขา เพื่อจะได้ถอดถอนอุปาทาน เหมือนไฟไหม้ลุกลามเข้ามาจนจะถึงบ้านอยู่แล้ว เรายังไม่รีบขนของออกหรือ? ถ้าไม่อยากให้ไฟไหม้จนเป็นเถ้าถ่านไปหมด ก็ต้องรีบขนของออกจากบ้าน
ขันธ์เห็นจะทนไม่ไหวแล้ว เพราะไฟคือไตรลักษณ์ไหม้รอบหมดแล้วนี่ จะทำอย่างไรดี เรารีบขนของออกเสียตั้งแต่ไฟยังไม่มาถึงเต็มที่ ขณะนี้เขากำลังเตือนด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ขณะนี้เขากำลังเตือนประกาศกฎอัยการศึก คืออนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ให้รีบขนสมบัติอันล้ำค่าของเราออก
ความเฉลียวฉลาดสร้างให้พอ กายนี้เราจะดื้อแพ่งดื้ออาญา ไปยึดถือมันอยู่หรือ ไฟจะไหม้แล้ว เป็นเถ้าเป็นถ่านในไม่ช้านี้อยู่แล้ว เราไม่เชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะไปเชื่อใคร อย่าเชื่อเราเกินไปจะทำให้หลงจมอยู่ในขันธ์ มีทุกข์เป็นหอกทิ่มแทงไม่มีเวลายุติลงได้
เอ้า ปล่อยอันไหนที่ควรปล่อย ปล่อย! แต่สติปัญญาไม่ยอมปล่อย ต้องพิจารณาให้เห็นชัดเจน เรื่องไหนที่สติปัญญาควรรู้ กำหนดให้รู้และปล่อยวางโดยลำดับๆ รูปกายเป็นสมบัติอันหนึ่งที่ใครๆ ก็รักสงวน แต่ไฟกำลังไหม้ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มันไหม้ตลอดเวลา จงพยายามพิจารณาปล่อยวางลงไป รูป ก็คือธาตุดินนั่นเอง เอาดินมาแบกไว้ว่าเป็นตน ไม่อายบ้างหรือ เอาดินทั้งก้อนมาแบกมาหาม เมื่อยกดินทั้งแผ่นมาแบกไม่ได้ก็ยกเอาขนาดเท่ารูปกายมาแบกไว้ด้วยความเสกสรรว่าเป็นตน มันหนักขนาดไหน ต้องพายืน พาเดิน พานั่ง พานอน ไม่หยุดเรื่อยมานี่ ไม่ใช่เพราะความหนักหรือ และยังหนักด้วยความหิวโหย ความไม่สะดวก ไม่สบายกาย เจ็บท้อง ปวดหัว ล้วนแล้วแต่ความหนักหน่วงถ่วงใจทั้งนั้น เรายังไม่เห็นโทษของมันหรือ แผ่นดินก้อนนี้มันก็หนักขนาดนี้ ทุกขเวทนาก็เสียดแทงเข้ามาทุกระยะ ด้านไหนไม่เลือก มันแทงเข้ามาทั้งนั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันแทงเข้ามาได้หมด เจ็บนั้นปวดนี้ตลอดเวลา เห็นไหม รู้ไหม เข้าใจหรือยังว่าทุกขเวทนาทิ่มแทงเข้ามารอบด้าน
จงดูให้เห็น ขันธ์มีทุกขเวทนา เป็นต้น ให้ชัดเจนตามความจริงของมัน สติปัญญาเรามีอย่าไปหลงมัน มันไม่ได้หลงเรานี่นา เราเป็นฝ่ายหลงข้างเดียว เราต้องให้รู้จักเขาเพราะเราเป็นคนหลง เราต้องรู้ นั้นเขาไม่ได้หลง เขาไม่ได้รู้อะไรกับเรา และเขาก็ไม่มีปัญหาอะไรกับเรา เรามีปัญหาอยู่กับเจ้าตัวรู้นี่แหละ พาให้หลงก็เพราะเจ้าตัวรู้นี่แหละ รู้ไม่จริง ท่านเรียกว่าอวิชชา รู้งมๆ เดาๆ หาความจริงจังหยั่งรู้ไม่ได้ ก็คือความรู้ที่เป็นอวิชชา นี้แล
จงพิจารณาแล้วพิจารณาซ้ำๆ ซากๆ ให้เป็นความสนิทติดใจ ซึ้งใจ แล้วจะปล่อยเอง ถ้าพิจารณายังไม่พอก็ยังไม่ปล่อย! อย่าเข้าใจว่าพิจารณาเท่านั้นเที่ยว เท่านี้เที่ยวจะพอ อย่าเอาความสำคัญอย่างนั้นเข้ามาเป็นเครื่องกีดขวางทางเดินของเรา จะเดินไปไม่ตลอด และจะขี้เกียจ ท้อถอย จงพิจารณาจนเข้าใจ เราเคยหลงอยู่ที่นี้ หลงมากี่วัน กี่ปี กี่เดือน ยังพอใจหลง การพิจารณาเพื่อความรู้ความเข้าใจ ทำไมจะไม่พอใจพิจารณา จะกี่ครั้งกี่หนก็พิจารณาจนให้รู้ รู้แล้วมันถอนเอง
เอ้า อาการทั้งห้า มีอะไรที่จะแบกจะหามเป็นตนเป็นตัว เป็นเราเป็นของเราบ้าง? ดินทั้งก้อนอยู่ในร่างกายนี้เราก็ทราบชัดๆ แล้วด้วยปัญญา จงปล่อย ปล่อยวางอุปาทาน ถึงจะรับผิดชอบกันอยู่ ก็ปล่อยทางด้านปัญญา ทุกขเวทนาก็ให้รู้เรื่องของมัน มันเป็นสัจธรรม เป็นความจริง แต่ใจมันปลอมก็เป็นทุกข์ได้ เวทนา มีอะไรบ้าง มีสุข มีทุกข์ มีเฉยๆ มีทั้งส่วนร่างกาย ทั้งด้านจิตใจ จงพิจารณาให้เห็นชัด สัญญานี่ตัวสำคัญ สังขารยกให้ สัญญายึดมั่น สังขารยื่นให้ สัญญายึดมั่น ยึดมั่นแล้วกวาดเข้ามา กวาดเข้ามาฝังภายในใจ มีแต่เสี้ยนแต่หนามอยู่เต็มภายในใจ จึงหาที่และเวลาปลอดภัยไม่ได้แม้แต่นิดเดียว ถูกความสำคัญมั่นหมายอันนี้ทิ่มแทงจิตใจ ถ้าใจไม่ทนทานจริงๆ ต้องแหลกไปนานแล้ว วิญญาณ รับทราบขณะที่มีสิ่งมาสัมผัส แย็บๆ ๆ ๆ เท่านั้น มีสาระอะไร! เสียงกระทบปั๊บดับพร้อม อะไรมาสัมผัสวิญญาณก็รับรู้และดับพร้อม จะไปถือเอาสิ่งที่เกิดกับดับพร้อมมาเป็นตน มีอย่างหรือ!
พิจารณาให้ชัด ใครไปหลง ไปงมงายกับสิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่ใช่จิตที่ตัว อวิชชา ครอบหัวมันอยู่นั่นพาให้หลงงมงาย จงค้นเข้าไปพิจารณาเข้าไป ตัวนั้นแหละตัวหลงจริงๆ รากเหง้าของความหลงจริงๆ คือ ใจกับอวิชชาซึ่งกำลังกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน ยากจะทราบได้ว่าอะไรเป็นจิต อะไรเป็นอวิชชา ถ้าไม่ใช้ปัญญาพิจารณา เพราะฉะนั้นใจจึงต้องรับทุกข์รับสุขอยู่ตลอดเวลา สุขทุกข์เกิดขึ้นมาจากไหน? จากความปรุง ความปรุงมาจากไหน สัญญาความจำหมายมาจากไหน? ต่างก็มาจากใจ เกิดขึ้นก็เกิดที่นั่น และดับลงที่นั่น อะไรๆ เกิดที่นั่น ดับลงที่นั่น เพราะรากแก้วมันยังไม่ดับ มันก็ผลักดันขันธ์นั้นๆ ออกมาให้ เกิด ดับ เกิด ดับ อยู่อย่างนั้น
เอ้า พิจารณาลงไป ใจนี้ก็เหมือนหัวเผือกหัวมันที่ยังสดๆ อยู่ ยังไม่ได้ต้มให้สุก หัวเผือกหัวมันแม้จะเป็นของควรแก่ทำอาหาร แต่เมื่อยังไม่สุกก็เป็นพิษ จะควรเป็นอาหารได้อย่างไรในขณะที่ยังสดๆ เวลานี้จิตมันก็เป็นเช่นนั้น มันยังไม่ควรแก่ความบริสุทธิ์ ยังไม่ควรกับวิมุตติพระนิพพานได้ ยังไม่ควรกับความนอนใจอันสมบูรณ์ได้ เพราะมันยังเจือปนอยู่ด้วยยาพิษที่มีอยู่ภายใน เช่นเดียวกับหัวเผือกหัวมันที่เจือด้วยพิษของมัน เราต้องต้มก่อนให้มันสุกและพิษจืดหมด พอจืดหมดแล้วพิษภัยของมันก็ถูกขับไล่ออกหมดด้วยความร้อน เหลือแต่รสธรรมชาติของมัน เช่น หัวเผือก รับประทานเอร็ดอร่อย ไม่เป็นพิษเป็นภัย เพราะเป็นรสธรรมชาติที่มีอยู่ภายในตัวของมัน
จิตใจก็เหมือนกัน เมื่อได้ถูกซักฟอกด้วย ตปธรรม คือ ความเพียรแผดเผากิเลส ซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจนั้นออกจนหมดแล้ว เหลือแต่รสธรรมชาติของจิตแท้ นั้นแลท่านว่า อมตัง รสแห่งธรรมก็คือ รสของใจที่บริสุทธิ์ล้วนๆ มีอยู่ภายในใจนั้นแล รสแห่งธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง บรรดารสในโลกสมมุติ ไม่มีรสแม้ชนิดหนึ่งชนะรสแห่งธรรมได้เลย ก็รสแห่งธรรมนั้นเกิดขึ้นที่ใจ เพราะอำนาจของสติปัญญาขับไล่พิษภัยที่อยู่ภายในจิตใจนั้นออกหมด เหลือแต่รสธรรมชาติล้วนๆ ท่านว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง!
พระนิพพานอยู่ที่ไหน? ใครที่ติดคุกติดตะรางถูกกิเลสตัณหาจองจำอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่ใช่ใจ เมื่อใจได้ถูกปลดเปลื้องออกมาเป็นอิสระจากกิเลสตัณหาแล้ว ใครจะเป็นผู้พ้นโทษ ใครพ้นโทษเราจะเรียกผู้นั้นว่าเป็น นิพพาน จะผิดที่ตรงไหน? นั่นเป็นชื่ออันหนึ่ง คือ นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ใจที่พ้นจากกิเลสแล้วเป็นสุขอย่างยิ่ง! นั่น! เอาให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย! ใจที่หมักหมมอยู่กับกิเลสเป็นใจที่ทุกข์อย่างยิ่ง! ว่ายังไง นิพพานอยู่ที่ไหน? เราหลงนิพพานไปไหนเวลานี้!
วาดภาพนิพพานโน้น วาดภาพนิพพานนี้ วาดไปเถอะ ยุ่งไปหมด เพราะหลอกตัวเองนี่ เอาให้เห็นความจริงซี
พระพุทธเจ้าท่านสอนจริง ท่านไม่สอนหลอกลวง คำว่า เห็นความจริงของนิพพาน คืออะไร? เมื่อไปถึงความจริงแล้ว จะเรียกชื่อ นิพพาน หรือไม่เรียกก็ไม่เป็นปัญหาอะไรทั้งสิ้น เพราะเราตัดปัญหาออกแล้ว เมื่อถึงความจริงแล้ว จะมีปัญหาอะไรอีก ปรมํ สุขํ ปรมํ สุขํ ก็คือจิตดวงที่พ้นจากสิ่งกดถ่วงทั้งหลายโดยสิ้นเชิงแล้วนั้นแล เป็นจิตที่อิสระเต็มที่แล้ว เป็น ปรมํ สุขํ อย่างเต็มดวงทีเดียว ความรู้ รู้อยู่เวลานี้แหละที่เป็น ปรมํ สุขํ
เวลานี้เรากำลังถูกกดถ่วงและกำลังชำระ กำลังซักฟอก กำลังขับไล่จำพวก ปรมํ ทุกฺขํ ออกด้วยความพากเพียร ด้วยวิธีต่างๆ ตามจริตนิสัย ความสามารถของแต่ละราย ละราย ขอให้ทำความพยายาม ให้เห็นคุณค่าที่มีอยู่ภายในตัวเองเถิด ซึ่งเป็นของมีคุณค่าอยู่แล้ว แต่ถูกทับถมด้วยสิ่งที่หาสารประโยชน์มิได้ นอกจากกำลังเป็นนักโทษเท่านั้น จิตจึงไม่ปรากฏตัวขึ้นมาว่า เป็นสิ่งที่แปลกประหลาดอัศจรรย์แต่อย่างใดเลย
เวลานี้เรากำลังบุกเบิกสิ่งที่ปิดบังจิตใจไม่ให้เห็นความจริง ให้เปิดเผยขึ้นมาอย่างเต็มที่ตามกำลังความสามารถ
คำว่า สุขในขั้นใดๆ นั้น เราจะไม่ถามที่ไหน นอกไปจากใจ ที่รู้อยู่โดยลำพังตนเองเท่านั้น จนกระทั่งถึง ปรมํ สุขํ แล้ว จะไม่มีปัญหาอะไรอีก ไม่ต้องไปถามที่ไหนเมื่อถึงความจริงแล้วไม่ถาม!
เมื่อถึงความจริงแล้ว ไม่อยาก? อยากไปนิพพานก็ไม่อยาก อยากไปหาประโยชน์อะไร? ความอยากคือความบกพร่อง ความหิวโหย เป็นความดีอยู่หรือ? ความอยากไปนิพพานนั้น ก็คือความหิวนั่นแล ความบกพร่องอยู่นั่นแลมันถึงอยาก เมื่ออิ่มแล้วอะไรจะอยาก ไม่อยาก หวานก็แล้ว คาวก็แล้ว รสเอร็ดอร่อยขนาดไหนที่เคยรับประทานมา มันไม่อยาก เพราะอิ่มแล้ว พอแล้ว ธาตุขันธ์ พอแล้ว รับอีกไม่ได้อิ่มพอตัวแล้ว?
เมื่อธรรมพอตัวภายในจิตแล้ว คำว่า นิพพาน ก็ไม่อยาก อยากไปทำไมและรู้ด้วยว่า นิพพาน คืออะไร! เอาละ!
ggggggg
|