สุญญกัป ภัทรกัป
วันที่ 21 มกราคม 2519 ความยาว 28.49 นาที
สถานที่ : ศาลาโรงครัว วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙

สุญญกัป-ภัทรกัป

 

         ตามหลักธรรมท่านกล่าวไว้ว่า “สุญญกัป” คือระยะที่ว่างเปล่าจากศาสนา ไม่มีอรรถไม่มีธรรม คำว่า “ศีล” ว่า “ธรรม” ว่า “บาป” ว่า “บุญ” นี้ไม่ปรากฏในความรู้สึกของประชาชนทั้งหลาย คงไม่มีความสนใจกันและไม่ทราบว่า “ศีลธรรม” หรือ “บาป-บุญ-คุณ-โทษ” เป็นประการใดบ้าง ท่านว่าเป็นระยะที่ร้อนมาก แต่ไม่ได้หมายถึงดินฟ้าอากาศร้อนผิดปกติธรรมดาที่เคยเป็น แต่มันร้อนภายในจิตใจของสัตว์โลกที่เต็มไปด้วยกิเลสซึ่งเป็นธรรมชาติที่เผาลนใจสัตว์ เพราะเป็นธรรมชาติที่ร้อนอยู่แล้ว เมื่อเข้าไปสิงในสถานที่ใดจุดใด จุดนั้นต้องร้อน ในหัวใจใดหัวใจนั้นต้องร้อน เพราะไม่มีน้ำดับคือ ศาสนธรรม

         คำว่า “น้ำ” ก็ได้แก่ “ศีลธรรม” เป็นเครื่องดับความรุ่มร้อนภายใน คือกิเลสที่สุมใจ แม้ศาสนามีอยู่เช่นทุกวันนี้ ถ้าไม่สนใจนำ “น้ำศีลธรรม” เข้ามาชะล้างเข้ามาดับความรุ่มร้อนนี้ก็ไม่วายที่จะร้อน เช่นเดียวกับ “สุญญกัป” คำว่า “สุญญกัป” ในครั้งโน้นกับ”สุญญกัป” ของเราในบางเวลา หรือของบุคคลบางคนนั้น มีอยู่เป็นประจำ ผู้ที่ไม่เคยสนใจกับศีลกับธรรม หรือกับคุณงามความดีอะไรเลยนั้นน่ะ เป็น “สุญญกัป”  ผู้ไม่สนใจอย่างนั้นเราอย่าเข้าใจว่าเขามีเกียรติมีคุณงามความดี เขาเป็นคนเฉลียวฉลาด เขาเป็นคนมีฐานะดี เขาเป็นมนุษย์ที่มีสง่าราศี ตรงกันข้ามหมด! คือภายในจิตใจที่ไม่มีศีลธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงและเป็นน้ำดับไฟแล้ว จะให้ความร่มเย็นเกิดขึ้นได้อย่างไร

เพราะกิเลสมันฝังลึกอยู่ภายในจิตใจนั้นเป็นประจำ แม้มีสิ่งที่จะดับแต่ไม่สนใจที่จะนำมาดับ แล้วจะหาความสุขความสบายมาจากที่ไหน โลกเรามองกันส่วนมาก มองอย่างเผินๆ คือมองตามความคาดความหมาย ตามความรู้สึกของโลกและของตัวเอง โดยไม่ได้นำเหตุนำผลนำอรรถนำธรรมเข้ามาเทียบเคียง หรือวัดตวงกับคนและสิ่งเหล่านั้น เนื่องจากเราไม่มีความรู้และมีปัญญาลึกซึ้งทางด้านธรรมซึ่งเป็นความจริง และเป็นหลักเกณฑ์อันตายตัว มาทดสอบกับเรื่องทั้งหลาย จึงไม่ทราบความจริงซึ่งมีอยู่ในหัวใจด้วยกันทุกคน

         ที่ล้วนแล้วแต่ความจริงคือธรรม ท่านสอนอรรถสอนธรรมแก่สัตว์โลกนั้น ท่านสอนความจริงไม่ได้สอนความปลอม แต่จิตใจของเรามันชอบปลอมกับธรรมอยู่เสมอ เป็นข้าศึกต่อตัวเองอยู่เรื่อยๆ เวลาจะประกอบศีลธรรมคุณงามความดีเข้าสู่จิตใจ มักจะหาเรื่องหาราวก่ออุปสรรคให้ขัดข้องต่อการประกอบความดีนั้นๆ กลายเป็นมารสังหารตนเองโดยไม่รู้สึก โดยที่เราก็คิดว่าเป็นทางออกของเราอย่างดี นี่ก็เป็นเรื่องไฟที่จะทำความรุ่มร้อนให้แก่เราแง่หนึ่ง

เพราะฉะนั้นคำว่า “สุญญกัป” อันเป็นเรื่องใหญ่นั้น จึงมาเป็นได้กับเรื่องย่อยๆ ในบรรดาเราทั้งหลาย แม้จะนับถือพระพุทธศาสนาอยู่ก็ตาม ระยะใดที่ห่างเหินจากศีลธรรม จากการประกอบคุณงามความดี เฉพาะอย่างยิ่งคือการอบรมจิตใจให้มีความร่มเย็น ระยะนั้นมันก็เป็น “สุญญกัป” ได้ ระยะใดที่เป็นสุญญกัปภายในใจ ระยะนั้นใจก็ร้อน ความร้อนนั้นมันเป็น “สุญญกัป” ในหัวใจคน มันจะร้อนของมันไปเรื่อยๆ

         คำว่า “สุญญกัป” คือว่างเปล่าจากเหตุจากผล จากคำว่า “อรรถ” ว่า “ธรรม” คำว่า “บาป” ว่า “บุญ” ไม่ได้ระลึกพอที่จะหาทางแก้ไขและส่งเสริมเลย ท่านเรียกว่า “สุญญกัปภายในจิตใจของสัตว์โลก” และ เมื่อ “สุญญกัป” เข้าสู่จิตใจได้ แม้จะมีศาสนาอยู่โดยที่ตนก็ปฏิญาณตนว่านับถือศาสนาก็ตาม แต่ขณะที่ไม่มีศาสนา ไม่มีเหตุมีผลเป็นเครื่องยับยั้งชั่งตวงทดสอบตนเองว่าผิดหรือถูกประการใดบ้าง ระยะนั้นเป็นความวุ่นวายรุ่มร้อนของจิตไม่น้อย ที่เรียกว่า “สุญญกัป” ฉะนั้นสุญญกัป คือความว่างเปล่าจากศีลธรรมเครื่องให้ความร่มเย็น จึงมักเด่นอยู่ที่จิตใจคนไม่เลือกกาลว่าเข้าถึงสุญญกัปหรือไม่ นี่เราเทียบเข้ามาให้ทราบเรื่อง “สุญญกัป” ตามหลักธรรมที่ท่านกล่าวไว้ พอเลยจากนั้นก็มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ และทรงสั่งสอนธรรมแก่โลก โลกก็เริ่มรู้ศีลรู้ธรรมแล้วปรับตัวเป็นคนดี มีความร่มเย็นไปโดยลำดับ เพราะอำนาจแห่งศีลธรรมเป็น “น้ำ” สำหรับดับ “ไฟกิเลสตัณหาอาสวะ” ซึ่งเป็นความรุ่มร้อนโดยหลักธรรมชาติของมัน

         ท่านกล่าวไว้อย่างนั้น นี่เราย่นเข้ามาด้วย “โอปนยิโก น้อมเข้ามาสู่ตัวของเรา” ในวันหนึ่งคืนหนึ่ง เดือนหนึ่งปีหนึ่ง ตั้งแต่วันเกิดมานี้ กี่วันกี่คืน กี่เดือนกี่ปี กี่ชั่วโมงนาที ระยะใดบ้างในช่วงที่เกิดมาจนกระทั่งบัดนี้ซึ่งเป็น “สุญญกัป” ภายในตัวเรา? ในระยะใดบ้างที่มีศาสนาประจำใจ เฉพาะอย่างยิ่งแม้ในขณะที่นั่งภาวนามันก็เป็น“สุญญกัป” ได้อีก นั่งภาวนา “พุทโธ ๆ” สักประเดี๋ยวเผลอไปลงนรกแล้ว คือยุ่งกับเรื่องนั้น ยุ่งกับเรื่องนี้ วุ่นวายกับอารมณ์นั้น วุ่นวายกับอารมณ์นี้ นั่นแหละมันเป็น “สุญญกัป” แล้วโดยที่เราไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่เราก็ว่าเรานั่งภาวนานี่ แต่มันนั่งวุ่นนั่น นั่งวุ่นนี่ จึงกลายเป็นนั่ง นั่งสุญญกัปไป! ในหัวใจของนักภาวนาที่ชอบนั่งสัปหงกงกงัน และจิตใจฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ โดยไม่มีสติปัญญาตามรักษาและแก้ไข

         เพื่อให้เข้าใจในเรื่องเหล่านี้ และเพื่อให้ทันกับกลมารยาของกิเลส คือความลุ่มหลงอันเป็นกิเลสประเภทหนึ่ง จำต้องตั้งสติตั้งท่าตั้งทางระมัดระวังและพินิจพิจารณา มีเจตนามุ่งหน้าต่อการงานของตนในขณะที่ทำ อย่าให้ความพลั้งเผลอเหล่านั้นเข้ามาแบ่งสันปันส่วนเอาไปกิน และเอาไปกินเสียหมดกระทั่งไม่มีอะไรเหลือติดตัว

         พอออกมาจากที่ภาวนา “เฮ้อ! ทำไมนั่งภาวนาจึงไม่ได้เรื่องได้ราวอะไรเลยวันนี้ สิ่งที่ได้เรื่องไม่พูดได้เรื่องอะไร? ก็เรื่องยุ่งเรื่องวุ่นวายนะซี เรื่องไปตกนรกทั้งเป็นที่ไหนบ้างนั้นไม่พูด แล้วจะมาทวงเอาหนี้เอาสินจากอรรถจากธรรม เหมือนศาสนาเป็นหนี้สินของตน ทำเหมือนเราเป็นเจ้าหนี้ศาสนา ทวงอรรถทวงธรรมเอากับท่าน มันก็ไม่ได้น่ะซี เพราะเราทำเหตุไม่ดีให้แก่ตัวต่างหากนี่

         “นั่งภาวนาตั้งนมตั้งนานไม่เห็นเกิดผลเกิดประโยชน์อะไร! วาสนาน้อย เรานี่อยู่เฉยๆ ไม่ทำเสียดีกว่า นั่น! เอาอีกแล้วนั่น หลอกไปเรื่อยๆ

         แต่นั่งภาวนาอยู่มันยังไม่ได้เรื่อง สิ่งที่ต้องการมันไม่ได้เพราะเหตุไร? เพราะเป็นเพียงเจตนาขณะหนึ่งเท่านั้นที่ว่าต้องการจะทำภาวนา แต่เจตนาที่แฝงขึ้นมาและเพิ่มพูนขึ้นโดยลำดับๆ จนถึงฉุดลากจิตไปสู่ที่ไหนๆ ไม่รู้ ไม่มีศีลมีธรรมประจำจิตใจในขณะนั้นเลย ใจไปตกนรกทั้งเป็นอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ นั่นเราไม่คิดไม่เอามาบวกมาลบ ไม่เอามาเทียบเคียงดูทดลองดูพอให้ทราบข้อเท็จจริงกัน แล้วก็ไปทวง “เอาหนี้เอาสิน” จากอรรถจากธรรมว่า “ทำแล้วไม่เกิดประโยชน์ ไม่เกิดความสุขความสบาย ไม่เกิดความสงบเย็นใจ” แน่ะ!

         ก็เราไม่หาความสงบ หาแต่ความวุ่น ผลมันก็ได้แต่ความทุกข์ความวุ่นนั่นน่ะซี

         ความจริงตามหลักธรรมที่ท่านแสดง ที่ท่านสอนไว้โดยถูกต้องนั้น ท่านไม่ได้สอน “ของปลอม” ให้พวกเราเลย สิ่งใดที่มีอยู่ภายในจิตใจเราทั้งดีทั้งชั่ว ท่านสอนให้เข้าใจดังที่กล่าวมา ซึ่งมีอยู่กับจิตใจของทุกคนที่เรียกว่า “สุญญกัป”ๆ น่ะ ความว่างเปล่าจากอรรถจากธรรม ทั้งๆ ที่นั่งภาวนาอยู่แต่ใจเผลอไปไหนก็ไม่รู้ ปล่อยไปเรื่อย ๆ แล้วว่าตนนั่งภาวนา ผลก็ไม่ปรากฏอยู่โดยดี เพราะใจเป็น “สุญญกัป”!

         ถ้าหากมีสติสตังกำหนดดูอยู่นั่น สมมุติว่าจะกำหนดลมหายใจ ก็ตั้งหน้าตั้งตาให้รู้เฉพาะลมหายใจไม่ยุ่งกับอะไร ก็ย่อมจะปรากฏผลเท่าที่ควรเป็นได้ตามกำลัง อันความอยากมันเป็นเครื่องผลักดันออกมาให้คิดให้ปรุง มันอยากอยู่ตลอดเวลาไม่มีความอิ่มพอในการคิดปรุงเพื่ออารมณ์ ให้ทราบว่าความอยากนี้เป็นภัยต่อความสงบ เพราะมันผลักดันจิตใจให้คิดปรุงในเรื่องต่างๆ ตามนิสัยที่เคยเป็นมา พยายามให้เห็นภัยในจุดนี้ แล้วบังคับไว้ไม่ให้ใจคิดในแง่ที่เราไม่ต้องการจะคิด เราต้องการรู้ในสิ่งใดให้กำหนดจิตใจไว้ด้วยดีเพื่อรู้สิ่งนั้น เช่น รู้อานาปานสติหรือลมหายใจเข้าออก ลมเข้าออกก็ให้รู้อยู่ด้วยสติ ใจย่อมจะสงบเย็นได้

         พระพุทธเจ้าจะหลอกคนโกหกคนจริงๆ หรือ? หากพระองค์เป็นนักโกหกคน ทำไมพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ด้วยธรรมของจริงล่ะ ถ้าไม่ทำจริงจะรู้ “ธรรม” ของจริงได้อย่างไร? เมื่อรู้ตามความจริงแล้วจะมาโกหกโลกได้อย่างไร มันเข้ากันไม่ได้ เหตุผลไม่มี! ท่านทำจริง รู้จริงเห็นจริง สอนจริง!ที่มันขัดกันก็ตรงที่เราเรียกเอาผลก่อนทำเหตุนี่เอง! หากการดำเนินของตนขัดกับธรรมที่ตรงไหน ควรรีบแก้ไขดัดแปลงจนเข้ากับธรรมได้ใจก็สงบ

         ส่วนมากผู้ที่ “ปลอม” ก็คือเราผู้รับโอวาทจากท่านมา เอามาขยี้ขยำแหลกเหลวหมด ทั้งๆ ที่เราว่าเรานับถือท่าน นับถือศาสนาเทิดทูนศาสนา แต่เราทำลายศาสนาซึ่งมีอยู่ภายในตัวของเรา และทำลาย “ตัวเอง” โดยไม่รู้สึก เพราะความเผลอความไม่รอบคอบในตัวเรานั้นแลเป็นข้าศึกต่อเรา

        ฉะนั้นเพื่อให้ได้ผลเท่าที่ควรหรือให้ได้ผลยิ่งๆ ขึ้นไป จึงควรคำนึงถึงเหตุที่ตนทำ คอยจดจ้องมองดูจุดที่ทำอย่าให้เผลอ เช่นกำหนด “พุทโธ” ก็ให้เป็น “พุทโธ”จริงๆ ให้รู้อยู่กับ “พุทโธ” เท่านั้น ไม่ต้องการสวรรค์วิมานที่ไหนละ นอกจากคำว่า “พุทโธ” ให้กลมกลืนกันกับความรู้ มีสติกำกับงานอยู่เท่านั้น เราจะเห็นความสงบ ที่เคยได้ยินแต่ชื่อก็จะมาปรากฏที่ตัวของเรา ความเย็นความสบายความเป็นสุขที่เกิดขึ้นเพราะจิตใจสงบ ก็จะเห็นภายในตัวเรา เราจะเป็นผู้รู้ จะเป็นผู้เห็น เราจะเป็นผู้รับผลอันนี้เพราะเป็นผู้ทำเอง ด้วยเจตนาที่ถูกต้องตามหลักธรรม จะไม่เป็นอย่างอื่น

         ศาสนาเคยสอนโลกมาอย่างนี้ ถ้าผู้ปฏิบัติทำตามหลักธรรมที่ท่านสอนนี้แล้วจะไม่เป็นอื่น ใจต้องหยั่งเข้าถึงความสงบเป็นอย่างน้อย และจะสงบขึ้นไปเรื่อยๆ โทษที่เคยกลุ้มรุมภายในจิตใจก็จะเห็นกันรู้กัน เพราะอยู่กับใจ คุณค่าที่เกิดขึ้นจากใจเพราะการชำระการฝึกทรมานปราบปรามกิเลสออกไปได้มากน้อย ก็จะปรากฏขึ้นภายในใจเราเอง เราจะเป็นผู้เห็นเองรู้เองโดยไม่ต้องฟังข่าวของใครๆ ทั้งนั้น เราเป็นตัวจริง เราเป็นตัวรู้ ผู้รับทราบ เราเป็นผู้เสวยผลเกิดขึ้นจากการกระทำของเรา เราจะทราบเรื่องต่างๆ เอง

         เรื่องภาวนาไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เป็นงานที่อัศจรรย์มากมายในผลที่เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้โลกดีก็เพราะการทำภาวนา ทรงกำหนด “อานาปานสติ” ตามหลักท่านกล่าวไว้อย่างนั้น แต่ก่อนทรงอดพระกระยาหาร โดยมุ่งหวังความตรัสรู้จากการอดพระกระยาหารเท่านั้น ไม่เสวย แต่ไม่ได้ทรงพิจารณาทางใจซึ่งเป็นความถูกต้องประกอบกันเลย จึงไม่ได้สำเร็จ เมื่อย้อนพระทัยหวนกลับไประลึกถึงเรื่องเมื่อคราวยังทรงพระเยาว์ ที่พระราชบิดาทรงพาเสด็จไปแรกนาขวัญ ได้ทรงเจริญอานาปานสติ จิตใจมีความสงบ จึงทรงนำเรื่องนั้นเข้ามาพิจารณาด้วยอานาปานสติ และทรงปรากฏผลขึ้นมาแต่เริ่มแรกพิจารณา เพราะพระจิตมีความสงบ และสงบละเอียดไปโดยลำดับ ก็ทรงมีทางที่จะทรงพิจารณาไตร่ตรองโดยทางพระสติปัญญา

         ทรงยก “ปฏิจจสมุปบาท” ขึ้นมา “อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา” เป็นต้น เพราะมีอยู่ในพระกาย มีอยู่ในพระจิตนั้นด้วยกัน ทรงไตร่ตรองตามเหตุตามผล ตามความสัตย์ความจริงที่มีอยู่ด้วยพระปัญญาปรีชาสามารถ และได้ตรัสรู้ “เญยยธรรม” โดยตลอดทั่วถึงในปัจฉิมยามแห่งราตรีของเดือนหกเพ็ญ

         เมื่อ “อวิชฺชาปจฺจยา” ที่จูงมนุษย์จูงสัตว์ทั้งหลายให้ท่องเที่ยวอยู่ใน “วัฏวน”เหมือนกับคนหูหนวกสัตว์ตาบอด มาตั้งกัปตั้งกัลป์ พระองค์ได้ทรงสลัดปัดทิ้งบรรดาความบอดหนวกทั้งปวงในราตรีวันนั้น ปรากฏในพระทัยว่า “อาสวักขยญาณ” ได้สิ้นไปแล้วจากอาสวะความมืดมนอนธการทั้งหลาย นอกจากนั้นยังทรงรู้ “ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ” ทรงระลึกชาติย้อนหลังของพระองค์ได้จนไม่มีประมาณ และทรงรู้ “จุตูปปาตญาณ” รู้ความเกิดความดับของสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ ญาณไหนๆ ก็ทรงทราบโดยทั่วถึง แล้วก็ทรงนำสิ่งที่ทรงทำแล้ว ทรงรู้เห็นแล้วทั้งเหตุทั้งผลนั่นอันเป็นความถูกต้องแม่นยำ มาสั่งสอนโลกให้พอลืมตาอ้าปาก พูดเป็นเสียงผู้เสียงคนขึ้นมาเป็นลำดับ ไม่หลับหูหลับตาอ้าปากพูดแบบป่าเถื่อนเลื่อนลอย เหมือนแต่ก่อนที่ยังไม่มีศาสนธรรมมาโสรจสรง ซึ่งไม่มีโอวาทคำสั่งสอนของผู้ใดที่จะถูกต้องแม่นยำ และสะอาดยิ่งกว่าพระโอวาทของพระพุทธเจ้า “เอกนามกึ” คือ พระโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่เป็นหนึ่งไม่มีสองนั่นแล และ “พระญาณ” ความหยั่งทราบในเหตุการณ์ต่างๆ ก็เป็นหนึ่งไม่มีสอง ทรงรู้ทรงเห็นตรัสมาอย่างใด ต้องเป็นไปตามความจริงนั้นโดยไม่เป็นอื่นไปได้เลย นี่แหละ “เอกนามกึ” แปลว่า หนึ่งไม่มีสอง

         พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ขึ้นมาแต่ละพระองค์นั้น ไม่ได้ตรัสรู้ซ้ำกัน มีพระองค์เดียวเท่านั้นที่ตรัสรู้แต่ละครั้ง ๆ นี่อันหนึ่งที่เรียกว่า “เอกนามกึ” มีพระพุทธเจ้าครั้งละพระองค์เดียวเท่านั้น

         เอ้า!ทีนี้ย่นเข้ามาหาพวกเรา ที่กล่าวมาทั้งนี้เป็นได้ทั้งเราทั้งพระพุทธเจ้า เป็นแต่เพียงว่ากว้างแคบต่างกัน สำหรับหลักฐานแห่งความจริงนั้นเหมือนกัน

         “จุตูปปาตญาณ” ความรู้ความเกิดความดับ รู้ที่ไหนถ้าไม่รู้สังขารที่เกิดขึ้นและดับไปทั้งดีทั้งชั่วอยู่ภายในจิตใจ เอาตรงนี้ ปรุงแต่งเรื่องภพเรื่องชาติ เรื่องกิเลสตัณหาอาสวะ ก็คือตัวนี้แหละ ปัญญาพิจารณาให้เห็นอย่างนี้ “อาสวะ”ก็หมายถึงกิเลส รู้กันที่ตรงไหนก็ดับไป ๆ ที่ตรงนั้น จนกลายเป็น “อาสวักขยญาณ” ความรู้แจ้งในความสิ้นอาสวกิเลสทั้งหลายโดยสิ้นเชิง เราอยู่ในกัปไหนเวลานี้?

         เราต้องทดสอบเราว่า อยู่ในภัทรกัปหรือในสุญญกัป?

         “ภัทรกัป” แปลว่า กัปที่เจริญ เจริญในการประกอบความพากเพียร ในความมีสารคุณภายในใจ ในวันหนึ่งๆ ถ้าได้สร้างสารธรรมขึ้นมาภายในจิตใจ ก็เป็น “ภัทรกัป”เป็นขณะเป็นเวลา เป็นกาลที่เจริญรุ่งเรือง นั่งสมาธิภาวนาก็เป็นสมาธิภาวนา ไม่เป็น “หัวตอ” ไม่มีสติสตัง ทั้งๆ ที่ไม่หลับแต่ก็หลับอยู่เรื่อยๆ ด้วยความไม่มีสติ คิดฟุ้งซ่านวุ่นวาย ฝันดิบฝันสุกไปเรื่อยๆ เรื่องนั้นเรื่องนี้ต่อกันไป ถึงลูกถึงหลาน ถึงบ้านถึงเรือน ถึงกิจการต่างๆ ตลอดเมืองนอกเมืองนาที่ไหนไปหมด อดีตอนาคตยุ่งไปไม่หยุดหย่อน นี่เป็น “กัป” อะไร? ดูซี

         ถ้าไม่มีสติสตังก็เป็นอย่างนั้น ถ้ามีสติแล้วจะไม่ไป เราบังคับนี่ เวลานี้เราต้องการจะทำหน้าที่นี่อย่างเดียว “ให้เป็นภัทรกัป อย่าเป็น สุญญกัป” นั่นมันเป็น “สุญญกัป”ที่กล่าวไปแล้วนั้นมันนำ “ไฟ” มาเผาเจ้าของผู้เป็น “สุญญกัป”ที่ไม่มีศาสนาแฝงเลยขณะนั้นน่ะ คือไม่มีสติสตัง ไม่มีปัญญาตามรักษาเลย ปล่อยแต่กิเลส ให้กิเลสฉุดลากจิตใจถ่ายเดียวโดยเจ้าของไม่รู้สึก กว่าจะรู้สึกน่ะเขากินของดีหมดแล้ว เขาปล่อยแล้วถึงรู้ตัว เวลาถูกเขาฉุดเขาลากไปนั้น ฝันสดไปกับเขา เวลาเขาปล่อยแล้วจึงมารู้ตัว!

         “โอ๊ยตาย! มันคิดไปอะไร? เรื่องราวอะไร ก็ยังดีอยู่ที่รู้ว่าคิดไป ไอ้ที่ไม่รู้เลยนั่นซิ พอรู้ตัวลากกลับมา “เอ!มันยังไง? มานั่งภาวนาเป็นเวลาตั้งหลายนาที หรือเป็นชั่วโมงๆ ไม่เห็นได้เรื่องอะไร นั่งอะไรไม่ได้เรื่องอย่างนี้น่ะ นอนเสียดีกว่า ล้มไปเลย สิ่งที่ได้เรื่องได้ราวก็คือ “หมอน” แม้หมอนเองถ้ามีวิญญาณ ก็จะเบื่อคนประเภทธรรมไม่ได้เรื่องนี้เต็มประดา เพราะ “สุญญกัป” บนหมอนไม่ยอมปล่อย เมื่อเป็นเช่นนั้นมันจะดีกว่ายังไง? นอกจากมัน “ดีหมอน” เท่านั้น

         ถ้าดีกว่าด้วยหมอนดังความเข้าใจนั้น ใครๆ ก็พ้นทุกข์ไปได้ด้วยกันทั้งนั้นแหละ! แต่นี่มันไม่ดีกว่า มันเป็นเรื่องกิเลสหลอกเรา กล่อมเราให้หลับว่าเป็นของดีกว่า คือดีกว่าภาวนา!

         กิเลสมันต้องแทรกธรรมอยู่เสมอ พวกนี้พวกก่อกวน พวกยุแหย่ พวกทำลาย หาทำลายทุกแง่ทุกมุม ทุกกาลทุกเวลาทุกอิริยาบถ ล้วนเป็นเรื่องของกิเลส พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ปราบกิเลสพวกที่แทรกซึมอยู่ภายในใจ ด้วยสติปัญญา มีความเพียรเป็นเครื่องหนุนหลัง ความอดความทน ความพยายาม เราทำหน้าที่การงานอันเป็นสารประโยชน์สำคัญเพื่อเรา ให้เป็น “ภัทรกัปบุคคล” ขึ้นภายในใจ จึงต้องอาศัยความขยันหมั่นเพียร

         งานทุกด้านที่เป็นผลเป็นประโยชน์ เราอย่าสร้างอุปสรรคมากีดขวางไม่ให้งานนั้นๆ เป็นผลสำเร็จ

         จิตถ้าสงบก็สบาย ถ้าไม่สงบไม่ว่าแต่กาลไหนๆ จนกระทั่งวันตายก็หาความสบายไม่ได้ เพราะจิตวุ่นนี่จะหาความสบายที่ไหน จงทำความเข้าใจไว้ว่า “สุญญกัป” ก็อยู่กับความไม่เอาไหนนั่นแล ส่วน “ภัทรกัป” ก็อยู่ในผู้มีความเพียร มีสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตัว “สุญญกัป” ก็คือการปล่อยตามเรื่องตามราว ตามอารมณ์ ตามบุญตามกรรม ไม่ทราบบุญที่ไหนกรรมที่ไหน ปล่อยเรื่อยไป ความปล่อยเรื่อยไปนั้นคือความผูกมัดตนเองโดยไม่รู้สึกตัว แล้วก็จนตรอกจนมุม เจอแต่สิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ความทุกข์ใครปรารถนาเล่าในโลกนี้? แต่ทำไมเจอกันทั่วโลกดินแดน นี่ก็เพราะความปล่อยตามบุญตามกรรมนั่นเอง มันไม่มีเหตุผลนี่การปล่อยอย่างนั้น

         ถ้าปล่อยกิเลสวางกิเลสด้วยสติปัญญา นั่นมีเหตุมีผล! พระพุทธเจ้าท่านทรงปล่อยอย่างนั้น รู้เหตุรู้ผลทุกสิ่งทุกอย่างแล้วปล่อยไปโดยลำดับ จนกระทั่งปล่อยได้โดยสิ้นเชิง สุดท้ายก็ปล่อยกิเลสหมด เหลือแต่พระทัยที่บริสุทธิ์ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ปล่อยอย่างนี้

         พวกเรามีแต่เที่ยวยึดเที่ยวถือ เที่ยวแบกเที่ยวหาม หนักเท่าไรอย่างมากก็บ่นเอาแล้วก็ไม่วายที่จะแบกจะหาม หามาเพิ่มเติมเรื่อยๆ ไม่ว่าหนุ่มสาวเฒ่าแก่ชราเป็นตัวขยันที่สุด ก็คือการแบกการหามอารมณ์ความคิดความปรุงต่างๆ นั่นเอง ไม่ได้คิดคำนึงถึงวัย ถึงปีถึงเดือน อายุสังขารเจ้าของบ้างเลย

         ขยันที่สุดก็คือเรื่องแบกเรื่องหามกองทุกข์ แบกสัญญาอารมณ์ การพูดเช่นนี้ก็เพื่อให้เราระลึกถึงตัวเรา ให้รู้ว่าเราเคยเป็นอย่างนี้มานานเท่าไร แล้วยังจะฝืนให้เป็นอย่างนี้อยู่หรือ ผลที่เป็นมาเพราะการกระทำอย่างนี้เป็นอย่างไร? เราก็ทราบในตัวเราเองเวลานี้ เราจะแก้ไขตัวเราอย่างไรบ้าง? พอได้มีความผ่อนคลายภายในใจ ได้รับความสะดวกกายสบายใจ

         ดังที่ท่านทั้งหลายได้อุตส่าห์มานี้ ก็นับว่าเป็นบุญเป็นกุศล เป็นเจตนาดีที่สุดที่มาบำเพ็ญ นี่ชื่อว่า “มาหาสารประโยชน์” เพราะฉะนั้นจึงกรุณาบำเพ็ญจิตตภาวนาให้เหมาะสมกับกาลเวลาที่มา นั่งสมาธิภาวนาดูตัวของเรา ตัวของเราเป็นอย่างไรถึงต้องดู ถ้าเป็นคนไข้ก็ต้องหมอเป็นผู้ตรวจผู้รักษา เวลานี้จิตเรามันเป็น “โรค” เป็นโรคอะไร ใครจะเป็นผู้ตรวจผู้รักษา นี่แหละสำคัญ

         โรคของจิตคือเรื่องของกิเลส “ยา” ก็คือธรรม “หมอ” ก็ได้แก่ครูแก่อาจารย์ หรือตำรับตำราที่ท่านสอนไว้ เรานำมาประพฤติปฏิบัติกำจัดเชื้อโรคอันสำคัญที่ฝังอยู่ภายในอย่างจมมิดนี้ ให้ถอนด้วยความพากเพียรอย่าลดละท้อถอย ความหวังที่ปรารถนาด้วยกันนั้นจะพึงสำเร็จไปโดยลำดับๆ

         เฉพาะอย่างยิ่งคือการพิจารณาเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ เรื่องความเป็นความตายในสกลกายนี้ เป็นสิ่งสำคัญมากยิ่งกว่าไปคิดถึงเรื่องอื่นๆ เรื่องความตายติดแนบกับตัวเราทุกคน ความเจ็บ ความทุกข์ ความลำบาก ในร่างกายและจิตใจ ก็ติดแนบอยู่กับร่างกายและจิตใจเราไม่ได้ปล่อยไม่ได้วาง นอนอยู่มันก็ทับ นั่งอยู่มันก็ทับ อิริยาบถทั้งสี่มีแต่เรื่องความแก่ ความเจ็บ ความตาย นี่ทับเราอยู่ทั้งนั้น ความทุกข์ความลำบากทับเราอยู่ตลอดเวลา เราจะหาอุบายวิธีไหนเพื่อจะให้รู้เท่าทันกับสิ่งเหล่านี้ เพื่อจะถอดถอนสิ่งที่ควรถอดถอนด้วยอุบายวิธีใดบ้าง?

         นี่เรียกว่า “เรียนรู้ตัวเราเอง” สิ่งที่เกี่ยวกับตัวเรามีอะไรบ้างให้รู้ให้เข้าใจ สมกับศาสนาที่ออกมาจากท่านผู้ฉลาดแหลมคม มาสอนเราซึ่งเป็นพุทธบริษัท เพื่อความฉลาดแหลมคมให้ทันกับกลมารยาแห่งความโง่ของตนที่มีอยู่ภายใน ความโง่ก็คือกิเลสพาให้โง่ ธรรมพาให้ฉลาด เราว่ากิเลสมันโง่น่ะ แต่ความจริงกิเลสมันฉลาดที่สุด แต่ทำคนให้โง่และโง่ที่สุดได้อย่างสบายมาก เช่น เราถูกกล่อมไว้เรื่อยอย่างนี้ ด้วยความแหลมคมของกิเลสทั้งนั้น แล้วจะว่ากิเลสมันโง่ได้อย่างไร ผู้ที่เชื่อกิเลสนั้นแลคือผู้โง่ ว่าอย่างนี้ถูกต้องดี แล้วใครล่ะเชื่อกิเลสโดยลำดับลำดา มีใครบ้าง? ก็สัตว์โลกนี้เองเป็นพวกโง่เพราะเชื่อ กิเลส มันกล่อมเมื่อไรก็หลับเมื่อนั้น เคลิ้มเมื่อนั้น ราบไปเมื่อนั้น ยิ่งกว่าเด็กถูกกล่อมด้วยบทเพลง ไม่เคยตื่นเนื้อตื่นตัว  ไม่เคยเห็นภัยแห่งการกล่อมของมันก็คือพวกเรานี่แล

         พระพุทธเจ้าและพระสาวกท่าน เป็นผู้รู้สึกพระองค์และรู้สึกตัว ได้นำธรรมเข้าไปรื้อถอนตนออกจากไฟทั้งหลายเหล่านี้เสียได้ แล้วนำธรรมเหล่านั้นมาสั่งสอนพวกเรา ประกาศทั้งคุณทั้งโทษ “โทษ”


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก