เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙
ขันธ์ห้า(ชุดหัดตาย)
ไปหาท่านอาจารย์มั่นทีแรก เวลาท่านเทศน์ให้ฟังไม่เข้าใจ แต่ก็ดีที่ไม่เคยนึกตำหนิท่าน มาตำหนิตัวเองนั่นเห็นไหม เราโง่ไหม ทีนี้ ว่ายังงั้น เราเคยฟังเทศน์ของนักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านปริยัติมามากต่อมากแล้ว แม้กระทั่งเทศน์สมเด็จก็เคยฟัง และเข้าใจมาเป็นลำดับลำดา แต่พอมาฟังเทศน์ท่านอาจารย์มั่น ผู้เชี่ยวชาญทางด้านปฏิบัติทางจิตใจ กลับไม่เข้าใจ จะว่าตัวโง่หรือตัวฉลาดเล่า นี่ว่าให้ตัวเอง ท่านอาจารย์มั่น เคยปรากฏชื่อลือนามมานานแล้วในด้านปฏิบัติธรรมทางจิตใจ แต่เวลาท่านเทศน์ให้ฟังเกี่ยวกับทางจิตใจจริงๆ แล้ว เราไม่เข้าใจ นี่เห็นชัดหรือยัง เรื่องความโง่ของตัวเองน่ะ
เพราะส่วนมากถ้าท่านเทศน์สอนพระ ท่านเทศน์ทางด้านปฏิบัติล้วนๆ เราไม่เข้าใจ นั่งฟังอยู่ยังงั้นแหละ ท่านพูดเรื่อง จิต เรื่อง ขันธ์ หรือเรื่องอะไรเราก็ไม่ทราบ จนกระทั่งจิตสงบลงได้จึงเริ่มเข้าใจ จิตเริ่มสงบก็เริ่มเข้าใจ จิตมีฐานแห่งสมาธิก็ยิ่งเข้าใจชัดเจนไปโดยลำดับๆ จากนั้นก็กลายเป็น ซึ้ง ไป และซึ้งขึ้นเรื่อยๆ
ท่านเทศน์เรื่อง ปัญญา แม้เจ้าของจะยังไม่สามารถก้าวเดินทางด้านปัญญาได้ก็รู้สึกว่าซึ้งไปตาม ๆ ท่าน เพราะจิตเริ่มรับธรรมปฏิบัติแล้วนี่ เมื่อจิตมีฐานสมาธิได้ดีแล้ว ยิ่งรับธรรมได้ดี ถ้ายังไม่มีฐาน จิตก็ไม่ค่อยรับ ไม่ค่อยเข้าใจ
การฟังเรื่อยๆ การปฏิบัติโดยสม่ำเสมอ เป็น การขัดเกลา จิต โดยตรง การปฏิบัติโดยลำพังตนเองก็เป็นการขัดเกลาจิต การฟังกับท่านก็เป็นการขัดเกลาจิตใจเป็นลำดับ จิตใจก็ยิ่งมีความสงบเยือกเย็น เวลาท่านอธิบายธรรมเป็นตอนๆ เป็นพักๆ เรากำลังมีข้อข้องใจจุดใดอยู่ พอท่านเทศน์ผ่านไปตรงนั้น เราก็ได้รับความเข้าใจทันที แล้วค่อยเข้าใจไปเรื่อยๆ
แต่ก่อนเคยอ่านในประวัติว่า ครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม พุทธบริษัทได้บรรลุ มรรคผลนิพพาน กันเป็นจำนวนมาก จะว่าสงสัยก็ยังไม่ใช่ จะว่าไม่เชื่อก็ไม่เชิง เพราะยังไม่ได้สนใจคิดอะไรกับเรื่องนี้มากนัก จนมาปฏิบัติจึงได้เข้าใจ
ภูมิของผู้เข้ารับการอบรมนั้นมีต่างกัน ฟังเทศน์คราวนี้ จิตเลื่อนความเข้าใจไปถึง นั้น ต่อไปก็สงสัยในจุดนั้น พอท่านเทศน์คราวต่อไป จิตก็ผ่านไปเรื่อยๆ เข้าใจไปเรื่อย ๆ เลื่อน ระดับไปเรื่อย ๆ ต่อไปก็ผ่านไปได้ ยิ่งผู้ที่อยู่ใน ธรรมขั้นละเอียด ด้วยแล้ว ก็ยิ่งไปได้อย่างรวดเร็ว อันนี้หมายถึงผู้ปฏิบัติ เฉพาะอย่างยิ่งภิกษุบริษัทเป็นสำคัญมาก เกี่ยวกับการสมาธิภาวนา เพราะท่านปฏิบัติของท่านอยู่เป็นประจำ ภูมิจิตมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกันเป็นลำดับลำดาของการปฏิบัติ เพราะฉะนั้น การฟังเทศน์จึงเป็นการบุกเบิกทางให้ท่านได้ก้าวไปวันละเล็กละน้อยโดยลำดับ ผู้พอจะผ่านไปได้ในขั้นใด ก็ผ่านไปเรื่อยๆ ที่ว่า สำเร็จมรรคผลนิพพาน ก็เพราะเลื่อนภูมิของจิตไปเรื่อย ๆ จากการปฏิบัติและการฟังธรรมจากท่าน เมื่อท่านเทศน์แก้ความสงสัยได้แล้ว ผ่านไปได้และผ่านไปเลย ยกตัวอย่าง
พระอัญญัตรภิกขุ ท่านกำลังสงสัยธรรมขั้นละเลียด จะไปทูลถามพระพุทธเจ้า พอไปถึงใต้ถุนพระคันธกุฎี พอดีฝนตก ก็เลยยืนอยู่ที่ใต้ถุนนั้น สังเกตดูน้ำฝนที่ตกมาจากชายคา มากระทบน้ำที่พื้น แล้วเกิดตั้งเป็นต่อมเป็นฟองขึ้นมา ฟองน้ำตั้งขึ้นมาเท่าไร มันก็ดับไปแตกไป ท่านก็พิจารณาเทียบเคียงกับสิ่งภายใน คือ สังขาร ความคิดปรุง เพราะขั้นนี้จิตจะพิจารณาเรื่อง สังขารและ สัญญา ความปรุงและความสำคัญต่างๆ ของใจมากกว่าอย่างอื่น
ในเวลาน้ำตกลงมากระทบกัน นอกจากมีความกระเพื่อมแล้ว ก็ตั้งเป็นต่อมขึ้นมาเป็นฟองขึ้นมา แล้วดับไป ๆ ท่านก็พิจารณาเทียบเคียงเข้าไปภายใน คือความคิดปรุงของจิต คิดดีคิดชั่ว มีความเกิดความดับเป็นคู่เคียงกันไปเป็นลำดับๆ เสร็จแล้วก็กลายลงมาเป็นน้ำตามเดิม สังขารนี้เมื่อคิดปรุงเสร็จแล้วก็ลงไปที่จิตตามเดิม ท่านเลยบรรลุธรรมขั้นสูงสุดในสถานที่นั้นเอง พอบรรลุธรรมแล้วฝนก็หยุด ท่านก็กลับไปกุฎี! ไม่ไปทูลถามพระพุทธเจ้าอีกเลย เพราะหมดข้อสงสัยแล้ว นั่น!
ธรรมของจริง เมื่อเข้าถึงจิตดวงใดแล้ว จิตดวงนั้นย่อมหายสงสัยทันที แม้แต่จะไปทูลถามพระพุทธเจ้าอยู่แล้วก็ไม่ทูลถาม เพราะหายสงสัยแล้ว หากจะไปทูลถามท่านๆ ก็จะรับสั่งอย่างที่เข้าใจแล้วนั่นแหละ ก็เลยหมดปัญหา กลับไปกุฎีตามเดิม นี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง
ผู้ปฏิบัติธรรมเมื่อก้าวถึงขั้น ปัญญาแล้ว อยู่ที่ไหนก็ฟังธรรมอยู่ตลอดเวลา มีอะไรมาสัมผัสก็พิจารณาเป็น ธรรม ทั้งสิ้น เพราะสิ่งที่มาสัมผัสเป็นเครื่องเตือนสติ ให้ระลึกรู้ ปัญญาก็วิ่งตามทันที ๆ โดยอัตโนมัติ พิจารณาอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องถูกบังคับเหมือนขั้นเริ่มแรก ซึ่งเป็นขั้น หมูขึ้นบนเขียง แล้วไม่ยอมลง ถ้าไม่ถูกสับให้แหลกเสียก่อน จิตขั้นนี้ อะไรมากระทบย่อมรู้เท่าทัน พิจารณาเป็นอรรถเป็นธรรมทั้งสิ้น ดังที่ท่านอาจารย์มั่นท่านกราบเรียนพระมหาเถระ ซึ่งได้เขียนไว้ในประวัติของท่านว่า
(พระมหาเถระถาม)...ท่านอยู่คนเดียว เวลาเกิดข้อข้องใจขึ้นมา ท่านปรึกษา ปรารภกับใคร? ท่านอาจารย์มั่นตอบว่า ฟังเทศน์อยู่ ทั้งกลางวันกลางคืนไม่ได้หยุดหย่อนเลย พระมหาเถระก็ไม่กล้าค้านท่านว่ายังไง เพราะอาจไม่เข้าใจก็ได้ ประการหนึ่ง ประการที่สอง ท่านพูดออกมาจากความจริง ก็ไม่กล้าจะค้านท่าน
ที่ว่า ฟังเทศน์อยู่ทั้งกลางวันกลางคืน ก็คือ การที่พิจารณาสิ่งที่มาสัมผัสปลุกสติปัญญาอยู่ตลอดเวลานั่นเอง จนเป็นที่เข้าใจไปโดยลำดับ นั้นแลคือการฟังธรรมทั้งกลางวันกลางคืนทางด้านปฏิบัติ เพราะสติปัญญาขั้นนี้เป็นขั้น อัตโนมัติ ทำงานเพื่อ ธรรมล้วน ๆ ไม่มีโลกเข้าแอบแฝงเลย
ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงสอนให้ทำจิตให้มีความสงบ เมื่ออบรมสมาธิให้ได้รับความสงบแล้ว ก็พิจารณาทางด้านปัญญา ปัญญาจะตั้งหน้าทำหน้าที่การงานนั้น ๆ ไปด้วยความไม่หิวโหยกระวนกระวายส่ายแส่ของจิต จิตที่มีความสงบ มีฐานแห่งความสงบอยู่ภายในใจแล้ว ย่อมคิดอ่านไตร่ตรองเรื่องอะไรได้ดี เพราะไม่มีความหิวโหย วุ่นไปกับอารมณ์ต่างๆ ที่เป็นข้าศึกต่อใจ ปัญญาตั้งหน้าตั้งตาทำงาน พิจารณาอะไรก็เป็นการเป็นงาน ดังใจหมายจริง ๆ ไม่เถลไถล ไพล่นั่นเสือกนี่ ไม่เป็นอันทำงาน ท่านจึงว่า
สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาที่สมาธิอบรมด้วยดีแล้ว ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก ย่อมคล่องแคล่วแกล้วกล้า พิจารณาไปได้อย่างรวดเร็วทันใจ ยิ่งกว่าจิตที่ไม่มีฐานแห่งความสงบเป็นไหนๆ เรื่องสมาธิกับปัญญาจึงแยกกันไม่ออก ผู้ปฏิบัติจำต้องนำมาใช้ตามกาลอันควรของแต่ละประเภทอยู่เสมอ แม้แต่ท่านที่เป็น พระขีณาสพ แล้ว ท่านก็ยังต้องใช้ สมาธิ เป็นเรือนพักผ่อนหย่อนใจ ในเวลายังครองขันธ์อยู่ เพราะสมาธิเป็นเครื่องประสับประสาน หรือเป็นเครื่องสมัครสมาน ระหว่างขันธ์กับจิตได้ดี
เวลาจิตคิดอ่านไตร่ตรองอะไรเกี่ยวกับการกับงานมาก จิตย่อมมีความเหน็ดเหนื่อยเป็นธรรมดา ต้องพักจิตในสมาธิ ปล่อยความคิดความปรุง ที่เรียกว่างานภายใน เสียทั้งหมด จิตสงบตัวอยู่โดยลำพัง ไม่เกี่ยวข้องกับ ขันธ์ใด ๆ พอถอยออกมาแล้วก็มีกำลัง ระหว่างขันธ์กับจิต พอเหมาะพอสมกันแล้วทำงานได้ต่อไป ท่านจะต้องปฏิบัติต่อ จิตต่อ ขันธ์ ทำนองนี้ตลอดจนวันปรินิพพาน เรื่อง สมาธิ จะต้องใช้ไปอย่างนั้นตลอดไป จึงเรียกว่า ท่านทำความเพียร เพียรระหว่างขันธ์กับจิตให้อยู่เป็นสุขเท่านั้น ไม่ได้เพียรเพื่อจะถอดถอนกิเลสตัวใด
หากไม่ได้ปฏิบัติให้เหมาะสม ระหว่างขันธ์กับจิตแล้ว ส่วนเสียก็คือ ขันธ์ไม่สามารถจะตั้งอยู่จีรังถาวรได้เท่าที่ควร ส่วนจิตซึ่งเป็นของบริสุทธิ์แล้วนั้น ไม่มีอะไรเป็นปัญหาว่าจิตจะเสียไป นอกจากธาตุขันธ์จะครองตัวไปไม่ถึงกาลอันควรเท่านั้น ท่านจึงปฏิบัติให้เหมาะสมระหว่างขันธ์กับจิต ที่เรียกว่า ทิฏฐธรรมวิหารธรรม คือ ธรรมเครื่องอยู่สบาย ระหว่างขันธ์กับจิตที่กำลังครองตัวอยู่
อะไรเป็นเครื่องเสริมกำลังของขันธ์ ก็คือ ความเพียร ความสงบ เสริมกำลังของขันธ์ เพื่อเป็นปกติสุขตลอดอายุขัย อะไรส่งเสริมจิตที่ยังมีกิเลสครองตัวอยู่ ให้ผ่านพ้นไปได้โดยลำดับ นั่นคือ สติปัญญาเป็นเครื่องส่งเสริม หรือเป็นเครื่องขัดเกลา เป็นเครื่องแก้สิ่งขัดข้องต่าง ๆ เช่นเวลาเราเดินทางไปสู่ที่ต่าง ๆ มีขวากมีหนามกีดขวางทางอยู่ ก็เอามีดพร้าฟันออก เบิกทาง และก้าวเดินไปเรื่อย ๆ อะไรมากีดขวางก็ฟันเรื่อยไป เดินเรื่อยไป จิตที่ดำเนินไปได้สะดวกปลอดภัย ก็เพราะมีสติปัญญาเป็นเครื่องรักษา ขัดข้องที่ตรงไหนก็แก้ไขกันไปเรื่อย ๆ ก้าวไปเรื่อย ๆ ก้าวไป หรือพ้นไปภายในใจ
การปฏิบัติต่อจิตใจ คือ การสอดรู้อาการของจิตที่ส่งออกไปสู่อารมณ์ต่าง ๆ ด้วยสติปัญญาเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้ปฏิบัติ นี่คือการเรียนเพื่อรู้ตัวเองโดยเฉพาะ
การเรียนเรื่องของจิต ต้องทราบทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับจิต และสิ่งที่เข้ามาสัมผัสจิต ไม่ว่าจิตจะส่งกระแสความรู้ไปในทางใด หรือกับอารมณ์ใด สติปัญญาต้องตามรู้ตามรักษา และตามแก้ไขอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้จิตคิดปรุงไปตามลำพัง ถ้าได้ฝึกฝนอบรมสติปัญญาจนมีกำลังแล้ว เพียงจิตกระเพื่อมเท่านั้น ก็เป็นการปลุก สติปัญญา ในขณะนั้นพร้อมๆกัน เพื่อรู้สึกในความคิดปรุงนั้น ๆ ปัญญาก็ตามพิจารณากันทันทีไม่อืดอาดเนือยนาย เมื่อเข้าใจแล้วก็ปล่อยวาง
แต่เรื่องจิต ไม่มีเพียงเรื่องเดียว มันหลายเรื่องด้วยกัน จิตคิดแง่นี้แล้วก็ปรุงแง่นั้น ร้อยสันพันคม ซึ่งล้วนเป็นกลมายาของกิเลสสมุทัย พาให้จิตคิดปรุง สติปัญญาก็ตามพิจารณากันเรื่อย ๆ สุดท้ายจิตก็เข้าใจ เพราะการตามต้อน และพิจารณาด้วยเหตุผล พอใจได้รับเหตุผลที่ถูกต้องแล้ว จิตก็ปล่อยสิ่งนั้น ไม่ไปกังวลยึดถืออีกต่อไป และปล่อยวางกันไปเรื่อย ๆ
การปล่อยวาง อุปาทาน ในขันธ์ ในจิต ด้วยสติปัญญา ปล่อยอย่างนี้!
เพียงขั้นของสมาธิ นั้นเป็นความสงบของใจ ยังไม่ได้ปล่อยวางอะไร สงบลงชั่วระยะๆ พอเป็นบาทเป็นฐานแห่งความสงบสุข ไม่ว้าวุ่นขุ่นมัวดังจิตทั่ว ๆ ไปที่ไม่เคยอบรม
ส่วน สติปัญญา นั้น เป็นเครื่องขุดเครื่องค้น เครื่องตัดฟัน สิ่งที่เกาะเกี่ยวอยู่ภายในจิตมีมากน้อยเป็นเรื่องของปัญญาทั้งนั้น ไม่มีสิ่งใดทำงานแทนในการแก้กิเลสได้
การปฏิบัติธรรม คือ จิตตภาวนาในขั้นเริ่มแรก ย่อมมีความลำบากลำบน นั่งก็เหนื่อยง่าย เพราะผลยังไม่ค่อยปรากฏ การฝึกจิต จิตก็ดื้อดึงฝ่าฝืนมาก บางทีสู้มันไม่ได้ ส่วนมากสู้มันไม่ได้ขั้นเริ่มแรก แต่อาศัยความพยายามฝึกฝนอบรมอยู่โดยสม่ำเสมอ ก็มีวันหนึ่งจนได้ ที่จะก้าวเข้าสู่ความสงบให้เป็นผลขึ้นมา พอเป็นเครื่องพยุงจิตใจ หรือพอเป็นหลักฐานพยาน ให้เกิดความอุตส่าห์พยายามในการดำเนินให้ยิ่งกว่านั้นขึ้นไป
ต่อจากนั้นก็มีความสงบเรื่อย ๆ จิตใจถ้ามีความสงบแล้วก็เย็นใจสบายใจ เหมือนกับเรามีหลักมีแหล่ง มีที่ยึดที่หมาย ถ้าไม่มีความสงบเลย ก็ไม่ทราบว่าที่ยึดที่หมายอยู่ที่ไหน เหมือนอยู่กลางทะเล เรือก็คอยแต่จะล่มจมอยู่แล้วด้วยพายุต่าง ๆ ไม่ทราบจะเกาะอะไร นี่แหละทำให้จิตเกิดความว้าเหว่และว้าวุ่นขุ่นมัวมาก เพราะจิตหาหลักยึดไม่ได้ ฉะนั้นความสงบจึงเป็นหลักฐานอันดีของจิต ในขั้นเริ่มแรกภาวนาท่านจึงสอนให้อบรมใจให้มีความสงบ
ผู้บำเพ็ญไม่ต้องถือว่า ธรรม บทใด ต่ำ ธรรม บทใด สูง ที่ควรจะนำมากำกับจิต ขอให้เหมาะสมกับจริตของตนเป็นที่ถูกต้อง ถ้าจิตชอบคิดออกไปภายนอกบ่อยๆ ก็ให้เร่งคำบริกรรมให้ถี่ยิบเข้าไป สติตามให้ทัน จิตก็จะไม่มีโอกาสเล็ดลอดออกไปภายนอกได้ แล้วจะหยั่งเข้าสู่ความสงบ พอใจสงบแล้วจะเย็นสบาย มีหลักเกณฑ์ มองไปทางไหนก็ไม่เป็นฟืนเป็นไฟเผาตัวเหมือนแต่ก่อน
พอออกมาจากความสงบ ก็พิจารณาทางด้านปัญญา ไตร่ตรองดูกายที่เป็นตัว อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ใจจะมีความสงบแนบแน่นเข้าไปโดยลำดับ ปัญญาก็จะแยบคายไปตาม ๆ กัน
การพิจารณา ขันธ์ ด้วยปัญญา ไม่ว่า ขันธ์นอก ขันธ์ใน ที่ไหนๆ พิจารณาได้ทั้งนั้น เพราะเต็มไปด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เราพิจารณาเพื่อแยกแยะให้เห็นไปตามความจริงของสิ่งนั้น ๆ ใจจะได้ปล่อยกังวล ผลสุดท้ายก็ย้อนเข้ามาพิจารณาเรื่องขันธ์ของตัวเอง
ขันธ์ทั้งห้า ได้เคยพูดแทบทุกวัน ขันธ์ทั้งหลายจะปล่อยไปโดยไม่พิจารณาไม่ได้ เพราะเป็นหลักสำคัญของ สัจธรรม เป็นหลักสำคัญของการก้าวไปแห่งจิต หรือเป็นหลักสำคัญแห่งความรู้ทางปัญญา เพราะเป็น หินลับปัญญา อย่างยิ่ง ถ้าสติปัญญาไม่ทัน จะเป็นข้าศึกต่อตนเองอย่างยิ่ง
ฉะนั้นจึงต้องพิจารณา ขันธ์ ให้รอบ ขันธ์มีติดแนบอยู่กับเราตลอดเวลา ส่อความพิรุธ ส่อความทุกข์ ความลำบากลำบน ความทรมานต่างๆ อยู่กับขันธ์กับจิตตลอดเวลา อะไรเสียดแทงขึ้นในขันธ์มากน้อย ต้องเข้าไปเสียดแทงจิตใจ ให้เกิดความทุกข์วุ่นวายอยู่โดยไม่ขาดระยะเลย เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้สติปัญญาให้ทันกับอาการเหล่านี้แสดงตัว
ความจริง เขาไม่ได้ตั้งใจยุแหย่ก่อกวนเราเลย หากเป็นอาการของจิตไปสำคัญเอาเอง ทุกข์ก็เกิดขึ้น ธรรมด๊า... ธรรมดา เช่นเดียวกับแดดที่ฉายลงมาจากพระอาทิตย์ พอกายเราไปสัมผัสเข้าก็ร้อน แดดเองเขาไม่ได้ทราบความหมายของเขาเลย น้ำ เขาก็ไม่ทราบความหมายว่า เย็น แดด หรือไฟ เขาไม่ทราบความหมายของตนว่า ร้อน แต่ผู้ทราบความหมายนั้น จะตกอยู่กับเราผู้สัมผัสกับน้ำ, กับไฟ, หรือกับแดดนั้น ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นมา เขาก็ไม่ทราบว่าเขาเป็นเวทนา เขาไม่ทราบว่าเขาเป็น ทุกข์ เขาไม่ทราบว่าเขาเป็น สุข เขาเป็นเพียงธรรมชาติอันหนึ่งๆ เท่านั้น
แต่ จิต ผู้ไปสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ นั้น เกิดความสุขความทุกข์ขึ้นมา และเกิดความหมายขึ้นมาอีกแง่หนึ่ง จึงทำให้ทุกข์ทางใจขึ้นอีก ความหมายในแง่หลังนี้เป็นสำคัญ ที่จะกลายเป็นกิเลส เพิ่มทุกข์ขึ้นมาอีก เพราะแง่หลังนี้เป็นเรื่องของกิเลสโดยตรงตามความจริงของสภาวธรรม คือทุกขเวทนา เพียงความทุกข์ในสกลกายตามธรรมดานี้ ใคร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังไม่พ้นที่จะรับทราบทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นภายในพระกาย พระอรหันต์ก็รับทราบ กายเวทนาเหมือนกัน แต่เป็นเรื่องธรรมดาๆ เพราะท่านทราบเรื่องคติธรรมดาโดยสมบูรณ์แล้วว่า เรื่องทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในกาย ก็เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง เช่นเดียวกับสภาวธรรมทั่ว ๆ ไป แต่ธรรมชาตินี้เข้าไปเกี่ยวข้องกับจิต จิตจึงเป็นผู้รับทราบตามความจริงของตน และตามความจริงของสภาวธรรม คือ ทุกขเวทนานั้นเท่านั้น จึงไม่มีอันใดที่จะก่อเป็นตัวทุกข์ขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งภายในจิตท่าน เพราะว่าท่านไม่หลง เมื่อเกิดขึ้นท่านก็ทราบว่า นี้เป็นสภาพอันหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมา ตั้งอยู่ท่านก็ทราบ ดับไปท่านก็ทราบ ท่านทราบทั้ง ๓ ระยะ คือ ระยะที่เกิด ตั้งอยู่ และดับไป, เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อยู่อย่างนี้เป็นประจำขันธ์ ขันธ์มีอยู่อย่างนี้ มีปรากฏขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป มีทุกขเวทนา เป็นต้น
วิญญาณ รับทราบก็ทำนองเดียวกัน แต่ส่วนที่มีความกระเทือนต่อจิตใจมากก็คือ ทุกขเวทนา ท่านจึงสอนให้พิจารณาให้เห็นตามความจริงของมัน เพราะนี่เป็นความจริงล้วนๆ ถ้าจิตได้พิจารณาเห็นตามความจริงของเขาแล้ว จิตก็จะเป็นความจริงอันหนึ่ง ไม่ไปยืดถือเขาให้เป็นความหนักใจ ให้เป็นความเบาใจกับเขา ต่างอันต่างจริง ต่างอันต่างอยู่
แม้วาระสุดท้ายที่เราจะแตกก็ทำนองเดียวกัน ทุกขเวทนาดับไป ขันธ์ก็สลายตัวไป อาการทั้งห้าไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่ไม่ไป คือสิ่งที่รู้อันเดียวเท่านั้น อันนี้ไม่เป็นอื่น เป็น จิต หรือ เป็นผู้รู้ อยู่เท่านั้น อันนี้ไม่แปร นอกจากแปรเฉพาะอาการของจิตเท่านั้น ส่วนจิตจริงๆ จะให้แปรเป็นอย่างอื่นนั้น เป็นไปไม่ได้
การพิจารณาเทียบ ก็เทียบเพื่อจะให้เข้าใจในขันธ์อย่างแท้จริง ขันธ์เป็นอันใด ท่านสอนไว้อย่างตายตัว ถ้าไม่ฝืนความจริงที่ท่านสอนเราก็ไม่เป็นทุกข์ ท่านก็บอกแล้วว่า รูปํ อนิจฺจํ สรุปแล้วว่า รูปํ อนตฺตา, เวทนา อนตฺตา, สญฺญา อนตฺตา, สงฺขารา อนตฺตา, วิญฺญาณํ อนตฺตา นั่น! เป็นตนที่ไหน ! อนตฺตา ๆ บอกชัดเจน อยู่แล้ว ท่านปิดประตูไว้ ไม่ให้เอื้อมออกไปยึดไปถือ ถ้ายึดถือแล้ว แม้จะเป็นอนตฺตาหรือ อตฺตา ไม่เป็นภัยอะไรสำหรับเขาเองก็ตาม แต่ก็เป็นภัยต่อเราผู้หลงอยู่นั่นเอง สุดท้ายความหลงนี้แลมาเป็นภัยต่อเราเอง
ท่านจึงสอนให้แยกแยะดูสิ่งนั้นแล้ว ให้ย้อนจิตเข้ามาดูจิต เพื่อทราบความสำคัญผิดของตนที่ไปหลงยึดสิ่งนั้นๆ แล้วย้อนจิตเข้ามาแก้ภายในอีก เพื่อหายสงสัยกับสิ่งภายนอก ทั้งหายสงสัยในตัวเอง และมาเห็นโทษของตัวผู้ไปหลงเขา แก้สองชั้น คือ ชั้นนอกและชั้นใน
ในขันธ์ห้า ท่านบอกไว้อย่างนี้ว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตาก็ อันเดียวกันนั่นแหละ ไม่ใช่แยกกันออกได้ ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา มันอยู่ด้วยกัน เหมือนข้างหน้าข้างหลัง ข้างซ้ายข้างขวา ของคนๆ หนึ่งนั่นแหละ อันนี้เป็นข้างซ้าย อันนี้เป็นข้างขวา อันนั้นเป็นข้างหน้า อันนี้เป็นข้างหลัง ก็คนๆ เดียวกันนั่นเอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็คือ อาการแห่งสภาพอันหนึ่งๆ ของขันธ์อันเดียวกัน ถ้าจะแยก แยกออกไปมากมายก็ทำให้ฟั่นเฝือไปเปล่า ๆ ไม่เกิดประโยชน์
อันใดเป็นที่ถนัดใจของเรา เช่นพิจารณาเรื่อง ทุกฺขํ เป็นที่ถนัดใจ ก็ให้กำหนดลงไปเลย จะกระจายไปถึง อนิจฺจํ, อนตฺตา ด้วยไม่ว่าอาการใด เช่น พิจารณา อนตฺตา ก็กลมกลืนกันไปหมด พิจารณา อนิจฺจํ ก็ กลมกลืนกันไปหมด ขอให้เป็นความถนัดใจของเราผู้พิจารณาเถิด
ความถนัดใจเป็นสิ่งสำคัญ จะทำให้เห็นตามความจริงของมัน อย่าปีนเกลียวกับความจริงที่พระองค์ทรงสอนไว้อย่างถูกต้อง นี่เป็นกอง ไตรลักษณ์ บอกไว้แล้ว อย่าเอื้อม อย่าไปยึด อย่าไปแบกไปหาม มันหนัก จงปล่อยตามความจริงของมัน ใจจะได้เบาภาระ และหายทุกข์ไปโดยลำดับ
ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา มีอยู่ทุกอาการของขันธ์ รูปก็เป็นกอง ไตรลักษณ์ เวทนาก็ไตรลักษณ์ สัญญาก็ไตรลักษณ์ สังขารก็ไตรลักษณ์ วิญญาณก็ไตรลักษณ์ เขาเป็นความจริงโดยสมบูรณ์อยู่แล้วตามความจริงของตน เราอย่าไปยึด อย่าไปสำคัญ อย่าไปปักปันเขตแดนเอา ว่านั้นเป็นเรา นี้เป็นของเรา เราก็สบาย
นี่แหละการพิจารณาทางด้านปัญญา ให้พิจารณาอย่างนี้ จิตให้รอบคอบต่อตน ให้ฉลาดต่อตนเอง ถ้าไม่ฉลาดก็ไปหลงเขา ความหลงเขา จะตำหนิเขาก็ไม่ถูก เพราะเราหลงเอง ต้องตำหนิเราผู้หลง เมื่อรู้แล้วก็หมดทางตำหนิ อาการเหล่านี้มีอยู่ดั้งเดิมตั้งแต่วันเกิดมาจนกระทั่งวันสลายตัวลงไป ใครเอาไปได้เมื่อไรเพราะเป็นของกลางๆ
กองรูป กองเวทนา กองสัญญา สังขาร วิญญาณ นี้ ปล่อยตามสภาพของมัน พิจารณาให้เข้าใจเสียแต่ในบัดนี้ จะเป็นผู้สะดวกสบายใจ นี่เป็นขั้นหนึ่งของการพิจารณา
ขั้นสุดยอดแห่งทุกข์ แห่งสมุทัย แห่งธรรม ก็คือ ขั้นจิต ขั้นจิต คืออะไร? จิตนั้น หมายถึง จิตกับอวิชชา ที่กลมกลืนกันเป็นความผ่องใส ความสง่าผ่าเผยอย่างยิ่ง ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้เลย ! คือ ความรู้ประเภทที่ปล่อยวางจาก รูป จาก นาม หมดแล้ว นี้แลเป็นความรู้ที่เด่นที่สุด เป็นความรู้ที่อัศจรรย์อย่างมากมาย จนเจ้าตัวก็ต้องหลงเพลินต่อความรู้ประเภทนี้ ถือว่า เป็นของดีอย่างยิ่ง มีความรักความสงวนมากไม่มีสิ่งใดจะเทียบเท่าได้เลย ถือว่าอันนี้เลิศประเสริฐกว่าสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น บรรดาที่พิจารณาผ่านๆ มา บรรดาที่เคยเจอ หรือเคยพบเห็นมา ไม่มีอันใดมีความสง่าผ่าเผยกว่า ไม่มีอันใดที่มีความสว่างกระจ่างแจ้งกว่า เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่าจิตดวงนี้ ท่านว่า จิตอวิชชา แท้ เป็นอย่างนี้ ต้องทำให้หลงได้แน่นอน ถ้าไม่มีผู้เตือนให้รู้ไว้ก่อน อย่างไรก็ต้องหลงในจุดนี้แน่ ๆ ในบรรดาผู้ปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นเมื่อทราบแล้วว่า จุดนี้เป็นอย่างนี้ อวิชชาเป็นเช่นนี้ การพิจารณาจึงต้องหยั่งลงในจิตนี้เพียงอันเดียวเท่านั้น เพราะสิ่งอื่นๆ เข้าใจหมด สังขารปรุงขึ้นมาปั๊บมันก็ดับลงไปอยู่ที่อวิชชานั้นเสีย เพราะอวิชชาเป็นผู้บงการ
ในเมื่ออวิชชายังมีอยู่ สังขารปรุงขึ้น ก็ต้องเป็นเรื่องอวิชชาให้ปรุง รับทราบอะไรก็ตาม เป็นเรื่องอวิชชาที่พาสำคัญมั่นหมายไปต่าง ๆ นานา อะไร ๆ ก็เป็นกิเลสไปหมด เพราะอวิชชาพาให้เป็น เพราะฉะนั้นจึงต้องค้นลงไปที่ จิตอวิชชา
เอา จิตอวิชชา เป็นสถานที่ หรือเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณา หยั่งสติปัญญาลงไปที่ตรงนั้น โดยไม่ถือความรู้นั้นว่าเป็นตน ถ้ายังถือความรู้นั้นว่าเป็น ตน อยู่ การพิจารณาก็ไม่ถนัด กลัวความรู้นี้จะเสื่อมบ้าง จะสลายไปบ้าง จะสูญหายไปไหนบ้าง กลัวจะล่มจมไปต่างๆ นานาบ้าง ไม่อยากแตะต้อง นั้นแลคือกิเลสประเภทหนึ่ง หลอกเราอย่างสนิททีเดียว
เพราะฉะนั้นเพื่อความถูกต้องตามหลักการพิจารณาจริงๆ จึง เอาจุดแห่งความรู้ที่เด่นชัด ที่ว่าอัศจรรย์มากๆ นั้นแหละ เป็นจุดที่พิจารณาคลี่คลายที่จุดนั้น พิจารณาลงจุดนั้น เช่นเดียวกับเราพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย โดยไม่ถือว่าอันนั้นสูง อันนี้ต่ำ ไม่ถืออันนั้นเป็นเรา อันนี้เป็นของเรา แม้แต่จิตคือความรู้ ความรู้อันนี้ก็ไม่ถือเป็นเรา เป็นของเรา พิจารณาให้เข้าใจสิ่งนี้ จึงต้องพิจารณาลงไปที่ตรงนี้มันจะไม่เข้าใจได้อย |