มาฆบูชา
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2519 ความยาว 32.25 นาที
สถานที่ : ศาลาโรงครัว วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙

มาฆบูชา

 

            วันนี้เป็นวันมาฆบูชา คล้ายกับวันปลงพระชนมายุสังขารของพระพุทธเจ้า ที่จะทรงลาโลกลาสงสาร หรือลาเรือนจำแห่งวัฏจักร สละธาตุขันธ์ทิ้ง เพราะเป็น “ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา” มาเป็นเวลาแปดสิบพระพรรษาแล้ว ซึ่งเป็นภาระหนักมาก ทรงแบกมาถึง ๘๐ ปี หนักตลอดเวลา ไม่เคยเบาเลย คือธาตุขันธ์นี้แล อย่างอื่นยังมีเบาบ้างหนักบ้าง พอได้หายใจโล่ง ข้าว น้ำ เราหาบหิ้วมาหนักๆ นี่ เราคดกินไป รินไป ใช้อย่างอื่นไป ก็หมดไป หมดไป แล้วก็เบาไป ส่วนธาตุขันธ์แบกมาตั้งแต่วันเกิดไม่เคยเบา หนักมาเรื่อยๆ ยิ่งเฒ่ายิ่งแก่ กำลังวังชาที่จะแบกจะหามไม่พอ ก็ยิ่งปรากฏว่าหนักขึ้นไปโดยลำดับ ท่านจึงว่า “ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ทั้งห้านี้เป็นภาระอันหนักมาก”

         แบกรูป แบกกายหนักแล้วยังไม่แล้ว ยังแบกทุกขเวทนาที่มีอยู่ในกาย แบกสัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งล้วนแต่เป็นของหนัก และยังทิ่มแทงหัวใจเราอีกด้วยไม่เพียงหนักเฉยๆ มันยังมีหนามอันแหลมคมเสียบแทงเข้ามาภายในกายในใจอีก

         พระพุทธเจ้าท่านทรงอดทนแบกธาตุขันธ์นี้มาจนถึง ๘๐ พระพรรษา วันนี้พูดง่ายๆ ก็ว่า “โอ๊ย! ขันธ์นี้เหลือทนแล้ว ลาเสียทีเถอะอันเป็นการปลงพระทัยว่า จะทรงปลงพระชนมายุสังขาร จากนี้ไปอีกสามเดือนจะทรงสลัดปัดทิ้งภูเขาภูเรานี่เสียที ทรงตรึกในวันเพ็ญเดือนสามเช่นนี้ ในวันเพ็ญเดือนสามนั้นเองปรากฏว่า ยังมีพระสาวก ๑,๒๕๐ องค์ ต่างองค์ต่างมาด้วยอัธยาศัยน้ำใจของตัวเอง ซึ่งไม่ต้องถูกเชื้อเชิญนิมนต์มาแม้แต่องค์เดียว มารวมกันในวันนั้นโดยพร้อมเพรียง จึงได้ประทานพระโอวาท เป็น “วิสุทธิอุโบสถ” ขึ้น ให้บรรดาสาวกอรหันต์ทั้งหลาย เป็นเครื่องรื่นเริงในธรรมของพระพุทธเจ้าที่ประทานในวันนั้น ในบทความย่อ ๆ ว่า

สพฺพปาปสฺส อกรณํ           กุสลสฺสูปสมฺปทา,

สจิตฺตปริโยทปนํ               เอตํ พุทฺธาน สาสนํ.

อนูปวาโท อนูปฆาโต         ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร,

มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ       ปนฺตญฺจ สยนาสนํ,

อธิจิตฺเต จ อาโยโค            เอตํ พุทฺธาน สาสนํ

         นี่เป็นพระโอวาทที่ประทานเป็นเครื่องรื่นเริงแก่บรรดาพระสาวกอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ในเวลาบ่าย ซึ่งคล้ายกับวันนี้ พระโอวาททั้งหมดนั้นเป็นเครื่องรื่นเริงสำหรับสาวกอรหันต์เหล่านั้น ไม่ใช่แสดงเพื่อให้ท่านเหล่านั้นยึดเป็นเครื่องมือ เพื่อซักฟอกกิเลส หรือนำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสอาสวะออกจากจิตใจแต่อย่างใด เพราะท่านเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ล้วนๆ แล้วทั้งนั้น จึงเรียกว่า “วิสุทธิอุโบสถ” ที่ประทานพระโอวาทในท่ามกลางพระสาวกอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ นี้ก็เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่ปรากฏอีกเลยในศาสนาของพระพุทธเจ้า ทั้งตอนที่ยังทรงพระชนม์อยู่และเวลาที่ปรินิพพานไปแล้ว และตลอดไป คงไม่มีซ้ำอีก

         ที่เราระลึกถึงท่านเหล่านั้น ก็เพราะท่านเป็น “อัจฉริยบุคคล” เป็นบุคคลอัศจรรย์ ในท่ามกลางแห่งมนุษย์ทั่วโลกที่ล้วนเป็นผู้มีกิเลสโสมม หมักหมมอยู่ภายในใจ ไม่ปรากฏแม้คนหนึ่งจะบริสุทธิ์อย่างท่าน

         “สพฺพปาปสฺส อกรณํ” การไม่ทำบาป ความเศร้าหมองอันเป็นความทุกข์ทั้งปวง หนึ่ง คือบาปทางใจนั้นสำคัญมาก คนเราสร้างได้ทุกเวลา บาปทางกาย ทางวาจายังมีกาลมีเวลา แต่บาปทางใจที่สร้างความเศร้าหมองขึ้นมาแก่จิตใจนั้น มันเกิดขึ้นด้วยความคิดความปรุงของตัวเอง สิ่งที่ผลักดันออกมาให้ปรุงให้จิตใจเศร้าหมอง ก็คือสิ่งที่เศร้าหมองอยู่แล้ว สิ่งที่สกปรกอยู่แล้วภายในใจ ท่านเรียกว่า “กิเลส” กิเลสเป็นเครื่องปรุงแต่งสัญญา, สังขารออกมา มันเป็นกิเลสอีกประเภทหนึ่ง ที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง การทำบาป คือการสร้างความเศร้าหมอง ไม่ได้หมายความว่าต้องไปเที่ยวฉกลัก ปล้นสะดมใครก็ตาม อันนั้นเป็นส่วนหยาบ บาปส่วนกลาง ส่วนละเอียดนั้น คนเรามักสร้างกันอยู่ภายในใจตลอดเวลา จึงเท่ากับสร้างความเศร้าหมองอยู่ภายในจิตตลอดเวลาเช่นกัน เมื่อใจเป็นความเศร้าหมอง นั่งอยู่ก็เศร้าหมอง เพราะนั่งอยู่ก็สร้างความเศร้าหมองให้แก่ใจ ยืน เดิน นั่ง นอน คิดได้สร้างได้ทั้งนั้น ใจจึงเศร้าหมองได้ทุกอิริยาบถ ท่านสอนให้ไม่ทำความเศร้าหมองนี้ประการหนึ่ง

         จะทำด้วยวิธีใด ใจจึงจะไม่เศร้าหมอง? “กุสลสฺสูปสมฺปทา” จงยังความฉลาดให้ถึงพร้อมเพื่อจะแก้ไข เพื่อซักฟอกความเศร้าหมอง คือ “บาป” นั้นออกจากใจ แล้วกลายเป็น “สจิตฺตปริโยทปนํ” ขึ้นมา คือใจจะผ่องใส เมื่อความฉลาด คือมีสติ มีปัญญา เป็นเครื่องซักฟอกบาปความเศร้าหมอง ความสกปรกทั้งหลายออกจากใจ ใจก็เป็นความผ่องใสขึ้นมาที่เรียกว่า “สจิตฺตปริโยทปนํ” บาปน้อย บาปใหญ่ก็ค่อยหมดไป หมดไป กลายเป็นใจที่บริสุทธิ์ขึ้นมา นี่คือพระโอวาทของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ เป็นอย่างนี้กันทั้งนั้น สอนให้พวกเราทำอย่างนี้ด้วยกัน จึงไม่มีทางอื่นที่จะเลือก

         หากมีทางเลือก พอผ่อนหนักผ่อนเบาได้ ก็ไม่มีใครที่จะเฉลียวฉลาดแหลมคมยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า คงจะสานอู่สานเปลให้พวกเรานอกเอกเขนก ฆ่ากิเลสอยู่ในอู่ในเปลเรื่อยไปจนไม่มีเหลือ สมพระนามว่าเป็น ศาสดาที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณาแก่สัตว์โลกผู้อ่อนแอขี้บ่น แต่พระองค์ทรงทำ “ทางลัด ทางตรง” ให้แล้ว เต็มพระปรีชาสามารถ

         พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาจนได้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงชำระกิเลสออกจากพระทัยไม่มีอันใดเหลือด้วยธรรมใด จึงต้องทรงสอนไปตามแนวทางที่ถูกต้องนั้น พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงเลือกเฟ้นเต็มพระสติกำลังความสามารถแล้ว จึงได้ธรรมที่เหมาะสมแก่บรรดาสัตว์มาสั่งสอนโลก

         คำว่า “เหมาะสม” นั้น ไม่ใช่เหมาะสมกับความชอบใจของบรรดาสัตว์ แต่เป็นความเหมาะสมในการแก้กิเลสของสัตว์โลกต่างหาก ธรรมที่ถูกต้องเหมาะสมมีเท่านี้ ไม่มีธรรมอื่นที่ยิ่งไปกว่า คือ “มัชฌิมาปฏิปทา” ที่ประทานไว้แล้วเท่านั้น นอกจากนี้ไม่มีธรรมใด เครื่องมือใด วิธีการใด ที่กิเลสจะกลัว กิเลสจะหลุดลอยออกไป แม้แต่ผิวหนังถลอก

อนูปวาโท                       อย่าไปกล่าวไม่ดีกับผู้หนึ่งผู้ใด

อนูปฆาโต                       อย่าฆ่า อย่าทำลาย หรือทำร้ายสัตว์ มนุษย์ ไม่ดี

ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร            สำรวมอยู่ในข้ออรรถข้อธรรมที่จะเป็นเครื่องถอดถอนกิเลส

มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ       ให้รู้จักประมาณในการกินอยู่ปูวาย อย่าให้ฟุ่มเฟือยจนเกินเหตุเกินผลสำหรับนักปฏิบัติ ให้รู้จักประมาณในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับตน

ปนฺตญฺจ สยนาสนํ             ให้แสวงหาที่นั่งที่นอนอันสงัด เพื่อกำจัดกิเลสด้วยความวิเวกนั้นๆ

อธิจิตฺเต จ อาโยโค            พึงประกอบจิตให้ยิ่งในอรรถธรรมด้วยสติปัญญาไปโดยลำดับ

        เมื่อขยายความออกก็มีเท่านี้ นี่เป็นพระโอวาทของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หรือเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่ประทานไว้

         เวลาประกาศธรรมให้เป็นเครื่องรื่นเริงแก่บรรดาสาวก ท่านประกาศอย่างนี้ เวลาทรงสอนสาวกเหล่านี้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ท่านก็ทรงสอน “สพฺพปาปสฺส อกรณํ” นี้ทั้งนั้น ซึ่งเป็นความจำเป็นที่พวกเราทั้งหลายจะต้องปฏิบัติตามนั้น มีทางเดียวที่จะทำให้กิเลสหมดสิ้นไปจากใจได้โดยลำดับ พระโอวาทนี้ถึงใจพวกเราไหม? หรือมีเฉพาะอู่กับเปลเท่านั้นที่ถึงใจพวกเราน่ะ

         ธรรมอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ทรงถอดถอนจากพระทัยมาสอนพวกเรา พวกเราถึงใจบ้างไหม? พระองค์ก็ประทานด้วยพระเมตตาเต็มส่วน พวกเรารับด้วยความจงรักภักดี เต็มจิตเต็มใจ มากน้อยประการใดบ้าง? หากว่าการรับธรรมดุจจะทิ้งเสีย ธรรมก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่เรา ไม่สมเจตนาที่พระพุทธเจ้าประทานไว้

         ถึงวันเพ็ญเดือนหก ก็เป็นวันทรงปลงสังขาร ตามที่ทรงประกาศไว้ ตั้งแต่วันเพ็ญเดือนสาม ซึ่งคล้ายกับวันนี้ จากนั้นมา เรื่องธาตุเรื่องขันธ์สิ่งบังคับก่อกวน ก็หมดสิ้นไปจากพระพุทธเจ้า เป็น “อนุปาทิเลสนิพพาน” ล้วนๆ หมดความกังวล หมดความรับผิดชอบในสมมุติทั้งปวง ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย นี่เรียกว่า “ธรรมเหนือโลก” “ธรรมสุดส่วน”

         โลก คือสมมุติทั้งหลายนั้นเอง สมมุติน้อยใหญ่ มีอยู่ในโลกนี้ทั้งนั้น “สามโลก” คือ โลกแห่งความสมมุติแห่งความเสกสรร แห่งความแปรปรวน “โลกแห่งอนิจฺจํ  ทุกฺขํ อนตฺตา” ซึ่งเป็นโลกก่อความวุ่นวายตลอดสาย ไม่ว่าจะเป็นภพใด ชาติใด เป็นโลกที่หมุนไปด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นเจ้าอำนาจ เป็นทางเดิน ใครจะหักห้ามไม่ได้ พอพ้นจากนี้แล้ว ก็หมดปัญหา!

นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต           หมดความหิวโหย ดับสนิท ไม่มีสมมุติใดๆ เหลืออยู่เลย ธรรมนี้เป็นเครื่องกังวานอยู่ในความจริง ที่พระองค์ตรัสไว้ทุกแห่งหน

        ถ้าเราได้น้อมเข้ามาประพฤติปฏิบัติด้วยความซึ้งใจในธรรมเหล่านั้น ธรรมเหล่านั้นก็จะมากังวานอยู่ในจิตของเรา เบื้องต้นก็จะกังวานอยู่ในความสงบร่มเย็นภายในใจ คือสมาธิเป็นขั้นๆ แล้วก็กังวานอยู่ด้วยปัญญา ความคิดค้นหาเหตุผล เพื่อเปลื้องตนให้หลุดพ้นได้เป็นระยะๆ  สุดท้ายก็กังวานถึง “ความบริสุทธิ์” หลุดพ้นโดยประการทั้งปวง นั่น! นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต ดับความหิวโหยอะไรทั้งหมด เพราะกิเลสทุกประเภทเป็นเชื้อแห่งความหิวโหยทั้งนั้น ไม่มีความอิ่มตัว ไม่มีความพอตัว ก็คือกิเลส เราจะยกน้ำในมหาสมุทรมาทั้งมหาสมุทรก็สู้ความหิวนี้ไม่ได้ “นตฺถิ ตณฺหาสมา นที” ความหิวโหยด้วยอำนาจของกิเลสนี้ จะเอาแม่น้ำมหาสมุทรมาแข่งก็สู้ไม่ได้ มีเต็มอยู่ในหัวใจของสัตว์โลก ไม่เคยบกพร่องเลย ตลอดกาลไหน ๆ

         น้ำนี้จะเหือดแห้งด้วยวิธีใด เหือดแห้งด้วยการวิดออกโดยทางความเพียรของผู้ปฏิบัติ ให้ค่อยหมดไป หมดไป ถอนทุกวัน พิจารณาทุกวัน เข้าใจทุกวัน ปลดเปลื้องไปได้ทุกวัน น้ำอันนี้ไม่ใหญ่โตอะไรมากนัก เท่าขันธ์เรานี่แหละ! “รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ มันก็มีเท่านี้ แต่มันเป็นเรื่องใหญ่สำหรับจิตที่ยึดที่ถือ แผ่นดินทั้งแผ่น ใจก็ไม่ไปยึด มันมายึดเอาตรงนี้ เรื่องนี้ก็เลยเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องหนัก เป็นเรื่องร้อน เป็นฟืนเป็นไฟเผาจิตใจ ก็คือธรรมชาติอันนี้ ไฟที่ไหน มันก็ไม่ไหม้ ไม่เหมือนไฟกิเลส ตัณหา อาสวะ ซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจ และเผาที่ตรงนี้ไม่มีวันหยุดวันถอย

         “น้ำท่วม” เราเคยได้ยิน “น้ำท่วมปอด” ให้หมอช่วยสูบเอาออกได้ น้ำกิเลสตัณหาอาสวะ มันท่วมหัวใจ จะเอาอะไรมาสูบ มาดูดออกล่ะ? ถ้าไม่เอาศรัทธา ความเพียร สติ ปัญญา มาดูดออก ฉะนั้นจงค้นคิดพินิจพิจารณาให้เห็นชัดตามเป็นจริง มันไปถืออยู่กับอะไร? ไปสำคัญอะไร? ไม่ฟังเสียงอรรถเสียงธรรม เครื่องรื้อถอนบ้างหรือ?

        ธรรมดากิเลส มักต้องอวดดีต่อพระพุทธเจ้า มันเป็นคู่แข่งกับพระพุทธเจ้า ต้องอวดดีกว่าธรรม จึงเป็น “คู่แข่ง” ของธรรม ความยึดถือนี้เป็นเรื่องของกิเลส การแก้ไข การถอดถอนกิเลสนี้ คือ ธรรม ถอนด้วยปัญญา คือธรรม หลุดพ้นไปได้เป็นความสุข ก็คือ “นิพพานธรรม” “วิสุทธิธรรม” ที่เป็นคู่แข่งกันอยู่ตลอด

         จงพยายาม! อย่าให้แพ้สิ่งเหล่านี้! เวลานี้เราขึ้นเวทีแล้วเอาให้เป็น“แชมเปี้ยน” สู้ไม่ถอย! ตายเท่านั้น จึงจะให้เขาหามลงจากเวที ถ้ายังไม่ตาย ล้มลง พอจะเอาอะไรสู้ได้ สู้ลงไป สู้ไม่ได้ ก็แช่งมันบนเวทีเป็นไร นี่เราเป็นนักสู้ สู้ไม่ได้ก็ด่าพ่อด่าแม่ของกิเลสเข้าไปซิ ก็ฉันมีอาวุธอันนี้น่ะ ฉันล้มลงแล้วต่อยไม่ได้ ปากฉันยังมี ถึงล้มลงก็พูดได้ด่าได้ แช่งได้นี่วะ! สู้กันถึงขนาดนั้นซิ จึงจะเรียก “นักรบ”!

        นี่เราพูดเทียบเคียง “นักรบ” ไม่ได้หมายความให้ไปแช่งไปด่าคนอื่นเขา แต่หมายถึงเราสู้กันกับกิเลส ทำขนาดนั้นทีเดียว จึงเหมาะสมกับเราที่เป็นลูกศิษย์พระตถาคต ผู้เป็นเลือดแห่งนักรบ

         เคยเห็นไหมล่ะ การปฏิบัติของครูบาอาจารย์น่ะ ที่เราได้กราบไหว้บูชาท่าน ท่านมีแต่นักสู้แบบนี้ทั้งนั้นแหละ ท่านได้ชัยชนะมาด้วยวิธีนี้ แล้วจะให้ท่านเอาวิธีไหนมาสอนพวกเรา?

        เอ้า! พิจารณา! พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงเรื่องปัญญา ให้ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ภายใน ปัญญานี่เป็นความเฉลียวฉลาดแหลมคม สามารถที่จะถอดถอนตนได้จากหล่มลึก ที่ปักจมภายในธาตุในขันธ์นี้ เป็นเวลาหลายกัปนับไม่ถ้วน สุดท้ายก็ปักอยู่ที่จิต ถอดถอนออกให้หมด ถอดถอน “เรา” ออกจาก “รูป” จาก “กาย” จากธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ นี้ ถอนจิตเราออกจาก “ทุกขเวทนา” ที่เข้าใจว่าเป็นตนนี้ การถอนรูป ก็ถอนออกจากรูปที่ยึดว่าเป็นตนนี้ ถอนออกจากเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ถือว่าเป็น “เรา” เป็นของเรา พยายามถอดถอนตรงนี้ ด้วยปัญญา เอาให้ทันการณ์

         จิตเป็นของละเอียด เป็นของวิเศษวิโส ธาตุขันธ์ไม่ได้วิเศษวิโสอะไร ถึงจะไปแบกไปหามเขา ไปยึดไปถือเขา ถ้าไม่ใช่เราโง่เสียเต็มภูมิ ถึงได้ยอมแบกสิ่งที่หยาบๆ นั้นไม่ยอมปล่อยวาง ถ้าเราฉลาด เราก็ไม่แบกซิ รู้เท่าทัน ปล่อยลงไปตามสภาพของมัน จะไปแบกมันทำไม! ค้นคิดลงไป สติปัญญามี!

         เราไม่ต้องไปกลัวหรอกเรื่องตายน่ะ กลัวไปทำไม ความกลัวมันเป็นกิเลส สร้างกิเลสขึ้นมาด้วยความกลัวทำไม จงสร้างความกล้าหาญ ซึ่งเป็นธรรมแก้กิเลสขึ้นมาต่อสู้กันให้เห็นความจริงว่า “อะไรมันตายกันแน่?” ความจริงมันไม่มีอะไรตายนี่ กิเลสมันโกหกเราอยู่ตลอดเวลา เผลอแพล็บเดียว มันย่องเข้ามาและกระซิบว่า “เราจะตายวันไหน ตายวันนั้น ตายวันนี้ ตายที่นั่น ตายที่นี่ และจะตายในไม่ช้า” คิดยุ่งตัวเองเข้าอีกแหละ อยู่ ๆ ก็คิดยุ่ง ธาตุมันก็อยู่เฉยๆ ส่วนเราเป็นคนยุ่งเอง เข้าใจว่าเรารับผิดชอบตัวเอง รับผิดชอบอะไร? นั่นมันก่อกวนตัวเอง มันไม่ได้รับผิดชอบนี่ทำอย่างนั้น!

        ถ้าเรารับผิดชอบตัวเองด้วยความจริงใจ ใจเราต้องเต็มไปด้วยสติปัญญา พิจารณาถอดถอน พิจารณาปลดเปลื้องความกังวลวุ่นวายอะไร ที่เกี่ยวกับเรื่องการเป็นการตาย การเจ็บไข้อะไรๆ ออกจากใจ ไม่ลดละ ไม่ให้กิเลสมาหลอกได้ นั่นสมนามของนักธรรมะที่รับผิดชอบตัวเองโดยแท้ อะไรๆ ก็พิจารณาให้รู้รอบขอบชิด และถอดถอนจนหมดสิ้นจากใจ มันก็สบายเท่านั้นเอง!

ความสบายอยู่ที่ตรงนี้ ความรับผิดชอบที่ถูกต้องอยู่ที่ตรงนี้ ชัยชนะก็อยู่ที่ตรงนี้!ได้ยินแต่ข่าว “ท่านเป็นพระอรหัตอรหันต์” เช่นพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ แน่ะ! มีแต่ข่าวว่า “คนนั้นสำเร็จโสดา, คนนั้นสำเร็จสกิทา, คนนั้นสำเร็จอนาคา, คนนั้นสำเร็จพระอรหันต์” ส่วนข่าวของเรา? มีแต่ความอ่อนแอท้อแท้ ท้อถอย ความอับเฉาเบาความคิด ความโศกเศร้า ความวุ่นวาย นี่ข่าวของเรา มันขัดขวางกันกับข่าวของท่านไหมล่ะ?

         ข่าวของเราเป็นไปอย่างนั้น ตรงข้ามกับข่าวของท่านที่เป็นเจ้าของ “อริยทรัพย์” หรือ “ธรรมสมบัติ” ครอบครองใจ เมื่อข่าวของเราเป็นแต่อย่างนั้น ความทุกข์ร้อยแปดก็เป็นข่าวของเรานะซี ความ “จมปลัก” ก็เป็นข่าวของเราอีกแหละ สิ่งที่ไม่ปรารถนามันก็มาเป็นข่าวของเรา เพราะเราสร้างข่าวขึ้นมา เรื่องผลมันก็ต้องเป็นของเราอยู่โดยดี!

        ธรรมะมีไว้เพื่อใคร? ที่สอนไว้นี้สอนเพื่อใคร? พุทธบริษัท คือ ใครบ้าง? ถ้าไม่ใช่เราคนหนึ่งในพุทธบริษัทนั้นๆ ธรรมนี้สอนเพื่อใคร ถ้าไม่ใช่สอนเพื่อเรา สอนเราเพื่อให้แก้อะไร และสิ่งที่เราจะแก้มีอยู่กับเราหรือไม่ มันก็มีอยู่ที่นี่ เหมือนกับพระพุทธเจ้าทรงชี้แจงอยู่ต่อหน้าต่อตาเราเวลานี้อย่างสดๆ ร้อนๆ ห่างไกลที่ไหน! ธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่กับตัวเรา เราไปคาดไปหมายหาประโยชน์อะไรว่า

         “พระพุทธเจ้านิพพานอยู่ที่โน่น นานแสนนานแล้ว พระธรรมท่านสอนแต่ครั้งโน้น นานแสนนาน ธรรมจืดชืดไปหมดแล้ว ไม่มีรสมาถึงสมัยปัจจุบันนี้หรอก” นั่น! ฟังซิ กิเลสมันโกหก พากันได้ยินบ้างไหม!

        โปรดทราบ สังขารมาร มันกำลังทำลายผู้คิดแบบนั้น ให้แหลกเป็น “เลน” ก็เมื่อความจริงไม่มีกาลไม่มีสมัย มีอยู่กับบุคคลทุกคนผู้เสาะแสวงหาความจริงอยู่แล้ว ธรรมจะหมดเขตหมดสมัยไปไหน? คิดทำลายความจริงให้ตัวเองฉิบหายล่มจมไปเปล่าๆ ทำไม? การทำลายตัวเองนั้น ดีที่ไหน?

        ใครจะรู้ยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าในโลกนี้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ประทับบนเวทีแห่งความจริงอยู่ตลอดเวลา ราวกับท้าทายกิเลส แบบ “อกาลิโก” ฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา จึงไม่ได้ล้าสมัย ไม่มีกาล ไม่มีสถานที่ มีอยู่กับบุคคล ผลิตขึ้นเมื่อไรก็ได้ บำรุงเมื่อไรก็เจริญ ดำเนินตามก็ถึง “มรรค ผล นิพพาน” ตลอดกาลสถานที่ เป็น   “อกาลิโก” เช่นเดียวกันกับกิเลส มีอยู่ทุกกาลทุกเวลาในใจของสัตว์โลกนั่นแล

         ไม่ว่าครั้งพุทธกาลโน้น หรือครั้งปัจจุบันนี้ ล้วนเป็นคนมีกิเลสด้วยกัน การแก้กิเลส ก็ต้องแก้ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ด้วยกัน จะห่างเหินเนิ่นนานที่ไหน ไม่ได้ห่างนี่ แก้ให้ถูกจุดเถอะ พ้นทุกข์ไปด้วยกันทั้งนั้น จงบุกเบิกออก ตรงไหนมันปิดกำบังใจ มันมีสิ่งมัวหมองตรงไหน จ่อปัญญา จ่อสติ ลงไปตรงนั้น พิจารณาตรงนั้นเป็นอารมณ์ มันเศร้าหมองที่ตรงไหน ความเศร้าหมองเป็นสภาพอันหนึ่งที่ใจเรารู้นี่ เหมือนกับความมืด ความสว่างมันมาสัมผัสดวงตาของเรา มืดก็มองเห็นว่ามืด ผู้ที่รู้ว่ามืดไม่ได้มืดนี่ สว่างก็รู้ มืดก็รู้ แม้จะมืดขนาดไหน ภายในใจของเราก็รู้อยู่ อับเฉาก็รู้ ผ่องใสก็รู้นี่!

        ผู้รู้ รู้อย่างนี้ จงให้ปัญญาพิจารณาเข้าไป ถือเอาจิต หรือถือเอาสิ่งนั้นเป็นเป้าหมาย แห่งการพิจารณา อย่าไปตกใจ อย่าไปดีใจ เสียใจ กับความเศร้าหมอง และความอับเฉา ที่ปรากฏขึ้นมาภายในใจ จงเห็นว่าสภาพนี้ เป็นสภาพหนึ่งที่จะต้องพิจารณา เพราะเป็นสิ่งที่เกิด ที่ดับ นอกไปจากใจ เป็นแต่เพียงอาศัยใจเกิดขึ้น แล้วเกาะอยู่ที่ใจเท่านั้น จงพิจารณาให้ทราบ ด้วยความพยายาม จะไปแสดงความวิตกวิจารณ์ไปกับมันทำไม อะไรผ่านขึ้นมา ให้รู้หมด ชื่อว่า “นักศึกษา นักปฏิบัติ” ต้องศึกษาให้รู้ สอดส่องด้วยปัญญา ให้เข้าใจกับสิ่งที่ปรากฏกับตน ความรู้แท้ๆ ไม่ได้มีขึ้นมีลง ไม่ได้เป็นอย่างนั้น นั่นเป็นอาการอันหนึ่ง ที่จะให้ผู้ปฏิบัติทราบ

         เมื่ออาการเหล่านี้หมดไป ก็เหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ เท่านั้น ไม่ได้กังวลกับสิ่งเหล่านี้อีกต่อไป การที่เราได้พิจารณา และได้พบได้เห็นสิ่งเหล่านี้เสมอภายในจิตใจ ก็เพราะสิ่งเหล่านี้ยังมี เขาจะต้องประกาศความมีอยู่ของเขาให้เราทราบ ถ้าต้องการความจริง ก็ต้องดู ต้องพิจารณา ตามหน้าที่ และเวทนา ที่ปรากฏขึ้นทั้งความเศร้า ความใส ทั้งความอับเฉา ทั้งความสุข ความทุกข์ ที่ปรากฏขึ้นมา นี่ชื่อว่า “ผู้รู้รอบด้วยปัญญา” เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอาการอันหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในจิต ซึ่งเราต้องรู้ด้วยปัญญากันทั้งสิ้น เรียนจบ จบกันตรงนี้ ไม่ใช่จบที่ไหน!

        จบปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ก็ว่ากันไปอย่างนั้น จบมหาเปรียญประโยค ๓ ประโยค ๔ ประโยค ๕ ประโยค ๙ ว่ากันไปอย่างนั้น ตามสมมุตินิยมของสมัยนั้นๆ สมมุตินิยมของคนมีกิเลสเขาน่ะ มีมาก พรรณนาไม่จบ ไม่เหมือน “ธรรมนิยม” ซึ่งเป็นธรรมชาติตายตัว

         ลำดับลำดาเท่าไรๆ ก็ไม่สิ้นสุด ๑๕ ประโยค ๓๐ ประโยค ว่ากันไปก็ได้ แต่กิเลสไม่ทราบว่ามันมีประโยคไหนซี มันสนุกร้องเพลงบนหัวใจคนตลอดเวลา มันต่ำต้อยน้อยหน้ากว่าคนเมื่อไร อำนาจมันสูงกว่าคน ถ้าเป็นคนโง่! ถ้าเป็นคนฉลาด ก็เหยียบย่ำทำลายมันลงไปได้ นี่เราสร้าง “วุฒิ” ที่ตรงนี้ เรียนความรู้ เรียนที่ตรงนี้

         “ปริญญาตรี” ก็รอบตัว ศีล สมาธิ ปัญญา ปริญญาตรี เอาตรงนี้ซิ

         “ปริญญาโท” ก็เลื่อนขึ้นไป ขั้น “เอก” ก็ทำให้มี “เอกจิต, เอกธรรม” แต่ไม่ใช่ “เอก” ที่มีนัยน์ตาข้างเดียวนะ นั่นมันจวนจะบอดแล้ว อย่าให้เป็นเอกแบบนั้น

         “เอก” ของพระพุทธเจ้าจริงๆ เอกจิต เอกธรรม

         เรียนให้ถึงขั้น “ปริญญาเอก” นี่ซิ ปริญญาก็ต้องรู้รอบซิ ถึงจะเป็นเอก รู้รอบเจ้าของนั่นแหละ เพราะเจ้าของกำลังโง่ นำปัญญาเข้ามาไตร่ตรองพินิจพิจารณา ชำระ ถึง “ธรรมชั้นเอก” “ธรรมแท้” เป็นอันเดียว “จิต กับ ธรรม เป็นอันเดียวกัน”!

            “พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” ลงในธรรมอันเดียวทั้งนั้น

         “ธมฺโม ปทีโป” สว่างกระจ่างแจ้งอยู่ตลอดเวลา “อกาลิโก” นี้คือ ธรรมแท้ ไม่ใช่อาการ แต่เป็น “ธรรมแท้”

            เอ้า! สร้างพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ให้มีขึ้นที่ใจเรา “พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” เราถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ ย่นเข้ามาให้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ในองค์แห่งความบริสุทธิ์ภายในใจนี้ ซึ่งเป็นที่รวมแห่ง “สรณะ” ทั้งสาม ให้เห็นชัดเจนภายในใจ ชื่อว่า “สร้างสรณะขึ้นภายในตัวเอง” “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” เต็มภูมิ ไม่ต้องอาศัยอะไรละ!

        “พุทธนี้ฉันใด ธรรมนี้ฉันใด สังฆะนี้ฉันใด พุทธะ ธรรมะ สังฆะ นั้นก็เหมือนกัน เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว ไม่ทราบว่าจะไปหากราบพระพุทธเจ้าที่ไหน เอาความบริสุทธิ์ใจในนี้บูชาท่านเลย เอาธรรมทั้งดวงในความบริสุทธิ์นี้ บูชาท่านเลย เข้ากันได้สนิท ไม่มีอะไรสนิทยิ่งกว่า พุทธะของท่านฉันใด พุทธะของเราฉันนั้น ธรรมะนั้นฉันใด ธรรมะนี้ฉันนั้น เป็นอันเดียวกัน ไม่สงสัย พระพุทธเจ้านิพพานไปนานแล้ว หรือไม่นาน ไม่สงสัย! เพราะเป็นอาการนี่ เพราะเป็นเรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ ท่านปล่อยธาตุขันธ์ต่างหากในสถานที่นั้น กาลเวลานั้น ปีนั้น พ..นั้น พระสงฆ์สาวก ก็เหมือนกัน ท่านนิพพานไปแล้ว ก็หายไปหมด สูญสิ้นไปหมด อย่างนั้นหรือ? นั้นคือ ความเห็นของ “โมฆบุรุษ, โมฆสตรี” ต่างหาก ไม่ใช่ความจริงของธรรมประเภท “ปรมํ สุขํ” อันเป็นเครื่องรับรองผลจากความบริสุทธิ์

         “สังโฆ” คืออะไร ก็คือผู้ทรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ในขณะนี้ นั้นแลคือสังโฆแท้ หาได้ที่ตัวเราเป็น “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” สร้างที่พึ่งให้เพียงพอตรงนี้เป็นจุดสำคัญ สำคัญที่จิตจะปลดเปลื้องตนออกจากสิ่งที่เป็นภัยทั้งหลายให้หลุดพ้น ที่ไหนเป็นที่พอใจเป็นจุดที่เราต้องการ เอาตรงนี้

         อย่าไปกังวลกับเรื่องอะไรทั้งหมด โลกเราไม่มีอะไรหรอก มีแต่ใจเราไปกังวลกับเขาอย่างเดียว หาเรื่องหาราวให้มันยุ่งไปเอง ตัดออกด้วยสติ ด้วยปัญญาของเรา อยู่ที่ไหนก็เราคนเดียว คนเดียวเท่านั้นแหละ เกิดก็เกิดคนเดียว ญาติที่มุงล้อมอยู่นั้น ไม่ใช่ผู้เจ็บในขณะนั้น เราเท่านั้นเป็นผู้เจ็บ ตายก็เราเท่านั้นเป็นผู้ตาย คนอื่นตายแทนไม่ได้ เจ็บแทนไม่ได้ เราต้องเป็นคนเจ็บ คนตาย เท่านั้น แล้วต้องเป็นผู้ช่วยตัวเอง “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ด้วยสติปัญญาของเราเองนั่นแหละ เป็นความถูกต้องเหมาะสมอย่างยิ่ง

         พระพุทธเจ้าท่านทรงปลงชนมายุสังขารในวันนี้ เราก็ปลงกิเลส ตัณหา อาสวะ ให้มันตกเสียในวันนี้ เพราะตัวนี้เป็นตัวสำคัญ ปลงให้ตกเสีย!

        การตายเมื่อไรก็ตาม จะไปตายวันนั้นวันนี้ ดังพระพุทธเจ้าท่านว่า ก็ไม่สำคัญ สำหรับเราน่ะ มันหมดลมหายใจเมื่อไร วันนั้นเป็นวันตายของเรา เราเอาแต่ลมหายใจหมดนี้เท่านั้น ลมหายใจยังมีอยู่ มันก็ยังไม่ตาย เอ้า! หายใจไปเรื่อยๆ มันไม่เป็นปัญหาอะไร เรื่องเหล่านี้ เรื่องลมๆ แล้งๆ

         ที่สำคัญ ก็คือ สร้างหลักฐาน เตรียมพร้อม เพื่อจิตใจของตน เป็น “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” อย่างเต็มภูมิ นั่นเป็นที่พอใจ การเป็นการตาย ตายที่นั่น ตายที่นี่ กาลนั้นสมัยนี้ ไม่มีอะไรเป็นปัญหาทั้งหมด เพราะมันเป็นเรื่องสมมุตินี่

         เอาละการแสดงธรรม ก็เห็นว่าสมควร ขอยุติฯ

 

ggggggg

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก