ส.ค.ส.สินค้าประเสริฐ
วันที่ 27 ธันวาคม 2518 ความยาว 26.11 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

ส.ค.ส.สินค้าประเสริฐ

 

         คำว่า “ศาสนา” นั้นเป็นกิริยา หรือเป็นอาการที่ออกมาจาก “ธรรม” แท้ เมื่อแยกออกมาเป็นคำพูด เป็นอาการหรือเป็นคำสอน ไม่ว่าจะเป็น “พระสูตร” “พระวินัย” หรือ “พระปรมัตถ์” เป็นอาการแห่ง “ธรรม” ทั้งนั้น คำว่า “ศาสนา คือ คำสั่งสอน” ถ้าหากมีเพียงเท่านี้ก็ไม่ซึ้ง แต่คำสั่งสอนนี้ออกมาจาก “ธรรมแท้” ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ สิ่งที่พระองค์ทรงครองอยู่ภายในพระทัยนั้นแล คือ “ธรรมแท้” ดังที่เทศน์ผ่านมาแล้ว ท่านนำธรรมที่ท่านแยกเป็นอาการออกมา มาแสดงในทางเหตุ คือ วิธีการปฏิบัติ ออกเป็นผลเพื่อความสุข หรือเพื่อความสงบสุขเป็นขั้นๆ ขึ้นไป จนถึง “ธรรมแท้” ถ้าไม่มี “ปฏิปทา” เครื่องดำเนิน ก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงความสงบสุขเป็นลำดับๆ จนถึงความสุขกับสุดยอดได้

         คำว่า “ผล” ก็เป็นอาการหนึ่ง คือ เป็นชื่อแห่งธรรมที่ปรากฏอยู่ในจิตใจ ตามขั้น ตามภูมิ ของใจ ของธรรม ที่เรียกว่า “ธรรมแท้” เป็นลำดับๆ ขึ้นไป ดังท่านว่า  “โสดาปัตติผล สกิทาคามีผล อนาคามีผล อรหัตผล” นี่เป็นธรรมแท้ คือ แท้ไปตามขั้นแห่งธรรมที่ผู้สำเร็จ หรือผู้บรรลุได้เข้าถึงธรรมขั้นนั้นๆ เรียกว่า “ธรรมแท้”

         ส่วนชื่อ “โสดา สกิทา อนาคา และอรหัต” นี้เป็นอาการอันหนึ่งออกมา ท่านแสดงผล ก็เป็นอาการทั้งนั้นแหละ ผลที่แท้จริง ก็คือใจเป็นผู้ครอง ใจเป็นผู้รู้เห็น เป็นสมบัติของใจ ติดอยู่กับใจ เพราะเกิดขึ้นกับใจ

         ฉะนั้น เมื่อพูดถึงศาสนา หรือศาสนธรรม จึงไม่ค่อยซึ้ง เพราะเป็นอาการออกมาแล้ว ไม่ใช่ตัวจริง แต่เมื่อปฏิบัติเข้าไปโดยลำดับ จนปรากฏผลขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติเป็นขั้น ๆ นั่นแหละ จึงเรียกว่า “ธรรม” ตามขั้นของธรรมแท้ที่ได้บรรลุภายในจิตใจของผู้ปฏิบัติ

         ศาสนธรรมฝ่ายเหตุ ก็เปรียบเหมือนเครื่องมือทำงาน ถ้ามีแต่เครื่องมือ จะมีมากน้อยเพียงไร ก็เพียงกองเต็มอยู่ในบ้านในเรือน ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร ถ้าผู้เป็นเจ้าของไม่นำเครื่องมือนั้นไปประกอบการงานตามหน้าที่ของเครื่องมือนั้นๆ ที่ควรจะใช้ในกิจการใด ตามความต้องการและความฉลาดของตน เครื่องมือนั้นจึงจะสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ทำขึ้นมาเป็นลำดับ

         ศาสนธรรม จะมีแต่คำพูด มีแต่การศึกษาเล่าเรียนจดจำไว้มากน้อยเพียงไร ก็จดจำไว้ที่ใจเปล่าๆ ไม่เกิดผลเกิดประโยชน์อะไร ต้องอาศัยการปฏิบัติตามธรรมที่ได้ฟัง ได้จดจำไว้นั้น จึงจะเกิดผลขึ้นมาภายในใจ นั้นแลชื่อว่า “เป็นผลที่สำเร็จขึ้นมา” จากการปฏิบัติธรรม เช่นเดียวกับบ้านเรือน เป็นต้น ที่สำเร็จมาจากเครื่องมือที่เรานำมาใช้ ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ควรเอาเครื่องมือที่ได้รับจากการศึกษาเล่าเรียน หรืออ่านในหนังสือพุทธศาสนาเล่มใดก็ตาม มาทิ้งไว้กับ “ความจำ” เฉยๆ แล้วถือเอาความจำนั้นมาเป็นสมบัติของตน โดยมีแต่ชื่อ มีแต่เงา ไม่ปรากฏตัวจริงเลย นั้นไม่ถูกต้อง สิ่งที่ถูกและเหมาะสมอย่างยิ่ง คือ การปฏิบัติ! ท่านสอนว่าอย่างไรก็ปฏิบัติตามนั้น เฉพาะอย่างยิ่งสอนให้รักษาจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นต้นเหตุอันยิ่งใหญ่ภายในตัวเรา จึงควรระมัดระวังรักษาจิตนี้ด้วยดีตลอดไป

         จิตนี้ มีสิ่งสลับซับซ้อนแทรกซึมอยู่มากนับไม่ถ้วน จนเต็มไปหมดภายในดวงใจ ซึ่งเป็นนักธุรกิจ และนักสั่งสมอารมณ์ต่างๆ ตลอดเวลา จนมองหาดวงใจแท้ไม่ปรากฏ มีแต่สิ่งจอมปลอมทั้งนั้น คิดออกมาในแง่ใดมีแต่เรื่องจอมปลอม เมื่อพิสูจน์ตามหลักจิตตภาวนาแล้ว ย่อมจะทราบสิ่งจอมปลอมทั้งหลาย ที่แสดงออกมาจากใจ จนนับไม่ถ้วนว่ามีเรื่องอะไรบ้าง ความเป็นทั้งนี้เพราะอะไร? ก็เพราะว่า สิ่งที่บรรจุอยู่ภายในใจนั้นมีมากต่อมาก เหลือจะนับอ่านได้ การแสดงออกของสิ่งที่บรรจุอยู่ภายในใจนั้น ไม่มีที่สิ้นสุด คิดได้วันยังค่ำคืนยังรุ่ง ทุกอิริยาบถ ไม่มีหยุด ไม่มีวันเสาร์ วันอาทิตย์ ไม่มีวันพระวันโกน ไม่มีเดือน ปี นาที โมง ที่จิตไม่คิดปรุง ซึ่งส่วนมากคิดแต่เรื่องเหลวไหล นำไฟกิเลสมาเผาใจเปล่าๆ หาสาระแก่นสารที่เป็นประโยชน์ และความร่มเย็นภายในใจไม่ค่อยมี ทั้งนี้เพราะความคิดปรุงเหล่านี้ออกมาจากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ออกมาจากสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย ที่ฝังอยู่ในใจมากต่อมาก คิดปรุงเท่าไร ก็ส่งผลเป็นทุกข์เข้าไปเผาลนจิตมากเท่านั้น จะหมดจะสิ้นไปได้อย่างไร เพราะความคิดนี้ผลิตสิ่งที่ไม่มีค่านั้นให้เพิ่มตัวขึ้นมาภายในใจเรื่อยๆ หมุนเวียนกันไป หมุนเวียนกันมาอยู่อย่างนั้น จึงไม่มีเวลาจบสิ้นกันได้

         ถ้าจะปล่อยให้เป็นไปตามความคิดความนึกของใจ ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งผลักดันแล้ว จะมีแต่ความหมุนไปเพื่อสั่งสมกิเลสขึ้นให้มาก และเพิ่มผล คือ ความทุกข์ให้เกิดขึ้นจนแก้ไม่หวาดไม่ไหวนั่นแล นี่แหละที่จิตหาความสงบร่มเย็นไม่ได้ เพราะสิ่งที่ร้อนมีอยู่ภายในใจ ไปอยู่ที่ไหนจึงร้อน? นั่งอยู่ก็ร้อน เดินอยู่ก็ร้อน นอนอยู่ก็ร้อน เว้นเสียแต่ขณะที่หลับไปเท่านั้น ในอิริยาบถทั้งสี่ หรือในสถานที่ใดๆ ก็มีแต่ความร้อน

         จิต ไม่มีอิริยาบถ เป็นความร้อนตามเหตุปัจจัย ที่พาให้ร้อนอยู่ภายใน เพราะสิ่งที่ทำให้ร้อนมีอยู่ภายในจิต ท่านจึงสอนให้ชำระ สอนให้ระงับ สอนให้พิจารณา ใคร่ครวญ ดูตามกระแสของจิตที่คิดออกมา แต่ละสิ่งละอย่างว่าเป็นอย่างไร! จะได้กลั่นกรอง เลือกเฟ้น ความคิดความเห็นนั้น ด้วยสติปัญญา อันเป็นเครื่องกำราบปราบปรามสิ่งเหล่านี้ ให้หมดสิ้นไปจากใจโดยลำดับ

         นักปราชญ์ท่านถือกันยิ่งนัก เรื่องการชำระและการรักษาจิต เพราะท่านรักสงวนจิตใจมากยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ในโลก ในวันหนึ่งคืนหนึ่ง เราพอมีเวลาปฏิบัติต่อตนเอง แม้จะมีงานมากเพียงใด ควรถือ “งานอบรมจิต รักษาจิต” เป็นคู่เคียงกันไป ทั้งนี้สำคัญอยู่ที่ความสนใจ ความใคร่ต่อการประพฤติปฏิบัติ เพื่อกำจัดสิ่งไม่ดีออกจากใจ เราพอทำได้ด้วยกัน แม้แต่กำลังเขียนหนังสือ หรือทำงานอะไรอยู่ ความคิดที่เคยคิดปรุง ทำไมจึงคิดปรุงได้ในขณะนั้น แต่ความคิดที่เป็นอรรถเป็นธรรม ทำไมจะคิดไม่ได้ ต้องคิดได้ด้วยกัน ถ้ามีความรักใคร่พอใจคิด

         ในข้อนี้ ที่พอจะเห็นได้ชัดๆ โดยไม่มีความสงสัยเลยนั้น ก็ตอนที่ “สติปัญญา” ออกก้าวเดินตามหลักธรรมชาติของตน ที่เรียกว่า “สติปัญญาอัตโนมัติ” จะอยู่ในท่าใด อิริยาบถใด หรือทำงานอะไรอยู่ก็ตาม สติปัญญาจะทำหน้าที่ปราบปรามกิเลสอยู่ตลอดเวลาไม่ว่า ยืน เดิน นั่ง นอน เว้นเสียแต่หลับเท่านั้น นอกจากนั้นไม่มีว่าง ที่สติปัญญาจะไม่ทำงาน ในการค้นคว้าปราบปรามกิเลสชนิดต่างๆ

         แต่ที่เป็นอย่างนี้ได้ เพราะอะไร? ก็เพราะความฝึกฝน และการอบรมอยู่เสมอ ความเพียรสืบต่อเนื่องกันโดยลำดับลำดา จนกลายเป็นผู้มีสติและปัญญาสืบเนื่องกันเป็นลำดับ ในอิริยาบถต่างๆ ไม่มีความพลั้งเผลอเหมือนขั้นเริ่มแรกฝึกหัดอบรมใหม่ๆ ซึ่งเต็มไปด้วยความเผอเรอ โดยไม่คาดคิดว่า “สติปัญญา” จะเป็นไปได้ถึงเพียงนี้

         เรื่อง “วัฏจักร” ที่เคยหมุนเวียนอยู่ภายในใจของเรานี้ มันหมุนเวียนมานาน ไม่ทราบว่า กี่กัปกี่กัลป์ จนพอตัว แล้วแสดงตัวออกมาโดยอัตโนมัติ คือ ความคิดปรุงต่าง ๆ ที่เป็น “สมุทัย” ยังทุกข์ให้เกิดขึ้น โดยไม่ตั้งอกตั้งใจคิดปรุง แต่จิตมันคิดปรุงขึ้นมาได้โดยลำพัง เรื่องอดีตที่ผ่านมา กี่วัน กี่ปี กี่เดือนแล้ว ใจยังคิดปรุงเป็นอารมณ์กวนใจได้ราวกับเพิ่งเกิด เพิ่งมี อย่างสดๆ ร้อนๆ เมื่อกระทบ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ดีชั่ว  ต่างๆ ก็นำมาครุ่นคิด วุ่นวายอยู่ในใจ ทั้งๆ ที่บางครั้งเราก็อิดหนาระอาใจ ไม่อยากให้มันคิด แต่มันยังคิดได้ และคิดอยู่ตลอดเวลา จนหาทางระงับไม่ได้ กลายเป็นไฟไปหมดทั้งกายทั้งใจก็มี นี่เพราะความเคยชินของจิต ที่อัดฉีดยาพิษเข้าไว้จนเต็มดวง จะบังคับให้คิดหรือไม่ก็เป็นความเคยชินเสียแล้ว ย่อมคิดได้ ปรุงได้ ธรรมด๊า...ธรรมดา!

         เราจะทำการงานอะไร หรืออยู่อย่างไรก็ตาม ความคิดนี้ย่อมเป็นไปได้โดยอัตโนมัติตามธรรมชาติของมัน เพราะมันเคยตัว จนกลายเป็นความเคยชิน เป็นอัตโนมัติ ขึ้นมาในทางนี้

         “สติปัญญา” ในขั้นเริ่มต้นก็ ล้มลุกคลุกคลาน จนเกิดความอิดหนาระอาใจก็มีในบางครั้ง แม้ไม่มาก ก็พอจับความรู้สึกของตนได้ ไม่ว่าจิตก่อกวน ด้วยความคิดปรุงไม่สงบ แต่ก็สงบลงได้ด้วยความพยายามฝึกหัดดัดแปลง ไม่ลดละท้อถอยความเพียร

         แม้ท่านผู้สำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังพระพุทธเจ้า และสาวกท่าน ขณะที่ยังมีกิเลสอยู่ภายในจิตใจท่าน ก็ย่อมมีความอิดหนาระอาใจในบางครั้งได้ เช่นเดียวกับพวกเราทั้งหลายนี้แล เพราะความรุนแรงของกิเลสที่แสดงตัวในเวลานั้นๆ เป็นแต่ท่านคิดไปชั่วกาล แล้วก็ระงับ ดับกันได้ ด้วยความเพียร จึงควรถือท่านเป็นแบบฉบับ เวลากิเลสอาละวาด ขัดขวาง ต้องต่อสู้มันด้วยความเพียร เช่นท่านที่เป็น “สรณะ” ของพวกเรา

         เมื่อเราได้พยายามอยู่โดยสม่ำเสมอ มากน้อย ตามกำลังความสามารถของตน ด้วยการอบรม ด้วยการพยายามรักษาจิต จิตเมื่อได้รับการอบรม ได้รับการดูแลรักษาอยู่เสมอย่อมจะสงบ และปลอดภัยไปเรื่อยๆ แม้จะมีสิ่งกระทบกระเทือน สติสตังก็พอมีขึ้นป้องกันตัวบ้าง ไม่ปล่อยให้อารมณ์ร้ายที่เกิดขึ้นทำลายตน เต็มกำลังของเขา โดยหาเครื่องป้องกันต่อสู้ไม่ได้แบบคนสิ้นท่า เช่น บางคราวเกิดความไม่พอใจในเรื่องอะไร หรือในบุคคลใดขึ้น แต่ก่อนเราไม่ทราบ เราถือเอา “ความโมโหโทโสนั้น เป็นเราอย่างเต็มตัว” เป็นอำนาจอย่างเต็มที่ ถ้าไม่ได้โมโหเต็มที่ตามอารมณ์ เหมือนกับเรานี้ไม่ใช่คน และไม่ศักดิ์สิทธิ์วิเศษ ถ้าได้โมโหโทโสโกรธแค้นให้เขาวันยังค่ำ และได้ด่าทอเขาอย่างสมใจ นั่นแหละ คือเราเป็นเราแท้! เป็นตัวอำนาจวาสนาของเราทั้งคน วันนั้นเราเป็นเราทั้งคน แต่เราไม่ทราบว่า “เราเป็น คลังกิเลส” เป็น “ยักษ์” เป็น “ผี” ในร่างมนุษย์ทั้งคน!

         ต่อเมื่อได้รับการอบรมด้วยธรรม พอมีสติให้ทราบว่า สิ่งนั้นชั่ว สิ่งนี้ดี ไปโดยลำดับแล้ว พอเกิดความไม่สบายใจขึ้นมา หรือหงุดหงิดขึ้นมา โกรธขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องใด หรือบุคคลใดก็ตาม มากระทบกระเทือนจิตใจ ให้สติรับทราบทันทีว่า “อ้อ นี่เราโกรธแล้วยังไงกันนี่” ก็พอมีอุบายสอนตนบ้างว่า “ธรรม และ มรรค ผล นิพพาน คือ ความโกรธ ความหงุดหงิดนี่หรือ?” “ทำไมจึงชอบนักล่ะ นี่ คือ ไฟ เผาใจ เผาตัว รู้ไหม? จะเอานี้หรือ เป็น มรรค ผล นิพพาน น่ะ ถ้าไม่เอา ก็รีบดับไฟนี้เสีย อย่าปล่อยให้ลุกลาม เดี๋ยวเป็น “เถ้า” ไปหมดทั้งร่างนะ!”

        แม้จะระงับดับลงไม่ได้ในขณะนั้นก็ตาม สติเราก็ยังมีว่า “นี่เราโกรธแล้ว” แสดงว่าเราไม่ชอบความโกรธ เพราะกำลังของความโกรธที่เคยตัวมันมีกำลังกว่า จึงรวดเร็วยิ่งกว่าเรา และแสดงตัวขึ้นมาได้ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ด้วยสติ และพยายามกำจัดมันเต็มกำลังความสามารถในขณะนั้น ไม่ยอมคล้อยตามมันดังที่เคยเป็นมา

         นี่ มันผิดกันอย่างนี้แหละ คนที่ได้รับการอบรม กับไม่ได้รับการอบรม!

        ผู้ไม่ได้รับการอบรมมาเลยนั้น ต้องถือความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นตัวของตัว ๑๐๐ % วันไหนได้โกรธ วันไหนได้โลภ ได้หลง ลืมตัว ไปด่าว่าใครต่อใครอย่างเต็มปาก จนหมดความกระดากอายในความเป็นมนุษย์ละก็ วันนั้นถือว่าตัวเป็น “คนทั้งคน” เป็นคน ๑๐๐ % ไม่บกพร่อง เป็นเราทั้งคนทีเดียว เป็นเจ้าอำนาจวาสนา เพราะได้โกรธให้เขาอย่างสมใจที่อยากโกรธ นี่คือ ผู้ไม่ได้รับการอบรม ความรู้สึก และการแสดงออกจึงเป็นเช่นนั้น เมื่อได้รับการอบรมพอสมควรแล้ว คำที่ว่า “เป็นคนทั้งคน” เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่แสดงตัวขึ้นมานั้น กลับเห็นว่าเป็นความผิดของตัวอย่างน่าอับอายขายขี้หน้า แม้ระงับไม่ได้ในขณะนั้น ก็พยายามระงับได้ในวาระต่อไป แม้จะยังไม่ได้ในวาระต่อไป ก็พยายามระงับดับมัน ไม่นอนใจ จนระงับกันลงได้ด้วยความพยายามหลายครั้งหลายหน แม้เช่นนั้น เราก็ยังได้เห็นโทษของตัวว่า “ไม่น่าเลย ไปโกรธเขาทำไม ไปเดือดให้เขาทำไม เรื่องเช่นนั้น คนเช่นนั้น! ก็เราพยายามหาของดี แต่ความโกรธไม่ใช่ของดี เขาโกรธให้เรา โมโหโทโสเรา เรายังไม่พอใจ เหตุใดเราจึงแสดงความไม่พอใจต่อเขาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครปรารถนาเลย นี่แสดงว่า เราก็ผิดมากมาย รู้สึกเสียใจตนเอง” นั่น!

        นี่คือผู้ได้อบรมธรรมะเป็นอย่างนี้! เห็นโทษในสิ่งที่เป็นโทษจริง เห็นคุณในสิ่งที่เป็นคุณจริง ไม่ได้เห็นคุณในสิ่งที่เป็นโทษ เหมือนที่ไปโกรธให้เขา แล้วยังเห็นว่าตัวเป็นคนเต็มคน

         พออบรมไป อบรมไปนานๆ สติสตังค่อยดี ปัญญาค่อยรวดเร็วขึ้นโดยลำดับ สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ค่อยกระทบกระเทือนใจ ให้ต้องแก้กันบ่อยๆ คือ ไม่ค่อยเกิดความกระทบกระเทือนใจง่ายเหมือนแต่ก่อน แม้สิ่งภายนอกจะเข้ามาสัมผัส หรือเขาพูดกระแทกแดกดันอะไรก็ตาม เราพอมีสติยับยั้ง รู้เรื่องรู้ราวของเรื่องนั้นกับเราที่จะออกรับกัน หรือจะออกโดนกันบ้าง ชนกันบ้าง กระทบกระเทือนกันบ้าง ตามวิสัยของโลกมีกิเลส ที่อยู่ร่วมกัน จิตพอยับยั้งและทรงตัวได้ไม่รุนแรง และรู้ความละเอียดขึ้นไปโดยลำดับ กระทั่งพอแสดงความหงุดหงิดขึ้นมาภายในใจ ก็รู้ทันทีว่า “ความหงุดหงิดนี้คือตัวโทษ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วกับเราเวลานี้” และรีบแก้ไขทันที ไม่ปล่อยให้หมักหมมอยู่นาน เมื่อเห็นสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นโทษโดยความเป็นโทษของมันแล้ว ย่อมเชื่อว่า “เป็นผู้เห็นชอบ และพยายามละจนได้” ต่อไปสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ปรากฏขึ้นแก่เราได้อย่างง่ายดาย และค่อยๆ หมดไป หมดไป เพราะสติปัญญาเครื่องปราบปรามมีกำลังแก่กล้าขึ้นทุกวัน

         จิตค่อยใสสะอาดไปด้วยวิธีการชำระ การรักษา การระมัดระวัง โดยลำดับๆ นี่แหละคือ “จิตมีเจ้าของ” คือ มีสติปัญญาคอยระมัดระวังรักษาอยู่เสมอ ไม่ปล่อยตัวกลัวกิเลสที่เคยมีอำนาจบนหัวใจ

         สติปัญญาเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อมีอยู่ในกิจการงานใด งานนั้นย่อมเป็นชิ้นเป็นอันไม่ค่อยผิดพลาด นอกจากจะเหลือวิสัยของสติปัญญาจริงๆ ถ้าอยู่ในวงของสติปัญญาแล้วไม่ค่อยพลาด เพราะนำมาใช้กำกับงานอยู่เสมอ

         คนที่ไม่มีสติ ไม่มีปัญญานั้น ย่อมจะพลาดไปเรื่อยๆ ไม่ว่าอะไร จนเป็นความเคยชิน เพียงเท่านี้ก็พอจะทราบความเคยชินของการรักษาใจเรา ด้วยการอบรม มีอะไรมากระทบกระเทือนในระยะนี้ เราทราบได้ง่ายกว่าระยะที่ยังไม่เคยอบรมมาเลย จนกระทั่งสติปัญญามีภูมิทำหน้าที่การงานโดยลำพังตนเองได้ ซึ่งไม่ต้องบังคับบัญชาใดๆ ด้วยแล้วนั้น ยิ่งมีความคล่องแคล่วแกล้วกล้าต่อสิ่งทั้งหลายที่มาเกี่ยวข้อง ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านั้นก็เป็นต้นเหตุอันหนึ่ง ที่จะให้กิเลสเกิดขึ้นภายในใจ แต่มันก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะจิตใจมีสติปัญญาครอบ หรือรักษาอยู่ตลอดเวลา และหมุนตัวเพื่อแก้ไข และถอดถอนสิ่งที่มีอยู่แล้วให้หมดสิ้นไปโดยลำดับ และพยายามกำจัดสิ่งภายนอก ที่จะมาเกี่ยวข้องใจด้วยสติปัญญารอบด้าน

         การรบกับข้าศึก คือ กิเลสประเภทต่างๆ ทั้งกลางวัน กลางคืน ไม่หยุดยั้ง เมื่อมีกำลังสามารถโดยอัตโนมัติแล้ว อยู่ที่ไหนก็เป็นความเพียรแก้กิเลส เพื่อการรบกิเลส ถอดถอนกิเลส หรือฟาดฟันหั่นแหลกกิเลสไปโดยลำดับ ไม่ว่า จะนั่ง จะเดิน จะยืน จะนอน มีแต่ “ฆ่า ๆ กิเลส” ให้หลุดลอยออกไปจากใจเรื่อย ๆ แล้วกิเลสจะมีมาจากไหนบ้าง เมื่อมีแต่การทำลาย ไม่มีการส่งเสริม ก็หมดไป หมดไป ผลสุดท้าย ก็เป็นใจอิสระเต็มตัว

         คำว่า“อิสระ” นี้ ได้แก่ ความไม่อยู่ในบังคับบัญชาของสิ่งใด ขึ้นชื่อว่า “สมมุติ” ในโลกทั้งสามนี้ เป็นอิสระโดยหลักธรรมชาติของตน คือ เป็นจิตล้วนๆ ไม่มีอะไรเข้ามาแทรกสิงเลย นี่ผลที่เกิดขึ้นมาจากการตะเกียกตะกาย ล้มลุกคลุกคลานมาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งถึงจุดนี้ ล้วนแต่เกิดขึ้นจากการอบรมทั้งนั้น ทุกข์ก็ยอมรับ สุขก็ยอมรับ เราเดินทางจะให้สม่ำเสมอโดยถ่ายเดียวไม่ได้ แม้แต่ทางลาดยาง ก็ยังมีที่สูงๆ ต่ำๆ ตามเนิน ตามที่ลุ่ม ที่ดอน

         การปฏิบัติธรรม ก็ย่อมมีที่สูงที่ต่ำ มีลำบาก มีสะดวกสบายบ้าง เช่นเดียวกัน แต่ทางอยู่ตรงนี้ เราจะแยกแยะเดินลัดตัดไปทางอื่น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ต้องไปตรงนี้ จะยากลำบาก ต้องผ่านไปตรงนี้

         “มัชฌิมา” คือ ตรงไหน ก็เดินตามมัชฌิมา มัชฌิมาพาขึ้นก็ขึ้น พาลงก็ลง เอ้ากิเลสพาขึ้น ก็ขึ้น เพื่อไล่กิเลส ตามกิเลส กิเลสพาลงเหว ลงบ่อ สติปัญญาตามขุดตามค้น ตามฟาดตามฟัน หั่นแหลก กิเลสลงที่ไหน ตามฟันกิเลสที่นั่น เพราะเหตุไร เพราะกิเลสเป็นสิ่งลุ่ม ๆ ดอน ๆ สูง ๆ ต่ำ ๆ ไม่สม่ำเสมอเหมือนธรรม แต่มันอยู่บนหัวใจคน

         เมื่อสติปัญญาผลิตขึ้นมาพอแก่การแก้ไข หรือพอแก่การติดตามปราบปรามกันได้แล้ว กิเลสเคลื่อนไปไหน สติปัญญาก็เคลื่อนไปด้วย เอ้าขึ้นสูง สติปัญญาก็ขึ้นไปด้วย เคลื่อนลงต่ำ ก็ต่ำไปด้วย เอาจนกิเลสตาย ไม่มีอะไรเหลือภายในใจแล้ว สติปัญญาถึงจะปล่อยวาง ปล่อยมือเป็นลำดับ ๆ ตัวไหนตาย ปล่อยไป ตัวไหนยังไม่ตาย ตามฆ่าตามฟัน จนแหลกละเอียดไปตาม ๆ กัน ไม่ให้มีเหลืออยู่ได้

         นั่น! นักรบของพระพุทธเจ้า พุทธสาวกท่านเป็นอย่างนั้น เราเป็นพุทธสาวกคนหนึ่งเป็นลูกศิษย์ตถาคต ด้วยความเป็นพุทธบริษัท อุบาสก อุบาสิกา จะได้แก่ใคร อุบาสก อุบาสิกา ครั้งนั้นกับครั้งนี้เป็นคนเหมือนกัน รับพระโอวาท คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือศาสนธรรมของพระองค์เช่นเดียวกัน นำมาแก้ไขดัดแปลง ปราบปรามกิเลส ซึ่งเป็นประเภทเดียวกันกับครั้งพุทธกาล ให้หมดสิ้นไปจากใจ

         กิเลสครั้งโน้น กับ กิเลสครั้งนี้ กลัวธรรมด้วยกัน ธรรมครั้งนี้ กับ ธรรมครั้งโน้น มีอำนาจที่จะปราบปรามกิเลสได้ด้วยกัน จึงไม่มีอะไรผิดกัน นอกจากว่ากิเลสมันจะหากลอุบายต่าง ๆ หลอกเราให้หลงเชื่อตามมัน แล้วก็เห็นธรรมเป็นกิเลสไปเท่านั้น ถ้าเห็นธรรมเป็นกิเลส หรือเห็นกิเลสเป็นธรรม ก็เรียกว่า “พลิกคมมีดที่เคยฟันกิเลสให้เป็นสันก็ฟันกิเลสไม่ขาด จากนั้นกิเลสก็ฟันเราด้วย “คม” คือ อุบายความฉลาดของมัน เราก็ปล่อยให้มันกล่อมทั้งวัน ทั้งคืน ยืนเดิน นั่งนอน กล่อมอยู่เรื่อยไป ผล คือ ที่มันป้อนให้เรา มีแต่ความทุกข์ทั้งมวล

         ความจริง การบ่นไม่ใช่การระบายทุกข์นี่ ถ้าหากว่าการบ่นว่าทุกข์ เป็นการระบายทุกข์ออกได้แล้ว ทั้งโลก บ่นได้ด้วยกัน เพราะปากมีนี่ เรื่องอื่น พูดได้ บ่นได้ บ่นให้ทุกข์ ทำไมจะบ่นไม่ได้ ถ้ากิเลสมันกลัวบ่น มันฉิบหายไปหมดนานแล้ว แต่กิเลส ไม่หลุดลอยเพราะการบ่น นอกจากการปฏิบัติ กำจัดมัน ด้วยกำลังความเพียรลงที่ใจ ซึ่งเป็นที่อยู่ของกิเลสทุกประเภทนี้เท่านั้น กิเลสถึงจะกลัว จงกำจัดมันที่ตรงนี้

         สุขอะไร ก็ไม่เท่าสุขใจ สุขใจนั้น สุขสวัสดี ไม่ว่าปีใหม่ ปีเก่า สุขอยู่เรื่อย ๆ สวัสดีปีใหม่ เพราะเบื่อหน่ายปีเก่าที่พาให้ทุกข์ ทั้งๆ ที่ปีใหม่ มันก็ทุกข์ ยังตั้งความหวังไว้ว่า ปีใหม่จะมีความสุขอย่างโน้นอย่างนี้ คาดกันไป ยุ่งกันไป ถึงวันปีใหม่ ละ โอ้โฮ ส่ง ส...กันให้ยุ่ง ส... มันเป็นตัวหนังสือ แต่ตัวใจมันไม่สุข มันเป็น ส... ส่งความทุกข์ซี้! เพราะทุกข์มันอยู่ภายในใจนี่

         จง “..วันนี้นะ อย่าไป “..วันนั้น ปีนี้ให้ยุ่งไป อย่าไปหาเกาที่ไม่คัน เดี๋ยวหนังถลอกหมด เอ้า เกาตรงที่มันคันนี้ มันทุกข์อยู่ที่ตรงไหน คันที่ตรงนั้น เกาที่ตรงนั้น แก้กันที่ตรงนั้น ส... กันที่ตรงนั้นแหละ เกิดขึ้นที่นั่น นี่เป็น “... ทางพุทธศาสนา” เป็นความคิดที่ถูกต้อง ที่โลกเขาทำนั้นก็ไม่ได้ผิด แต่เราแยกอันนั้นมาเพื่อสอนเรา คือ “โอปนยิโก”

         เราไม่ได้ตำหนิติเตียนโลกเขาที่ทำมาเป็นประเพณีนิยม จิตใจมีความรื่นเริงบันเทิงไปในแง่ใด ซึ่งไม่ผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง ก็เป็นความดี ไม่ว่าโลกไหน ๆ ต้องมีความรื่นเริงบันเทิง มีความหวังเรื่อยไป

         แต่ถ้าจะพิจารณา หรือคิดไปในแง่เดียวเท่านั้น ก็ไม่เกิดประโยชน์ ให้ย้อนหน้า ย้อนหลัง พลิกสัน พลิกคม ของมีดเล่มเดียว ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง

         การอธิบายถึงเรื่อง “..ที่ย้อนเข้ามาในเรา เพื่อจะให้เห็น “..ภายใน ส... ภายนอก ส... ภายใน ได้แก่ การส่งความสุขให้แก่ใจ ด้วยการประพฤติปฏิบัติกำจัดสิ่งที่มัวหมอง หรือรบกวนจิตใจให้สิ้นไป และมีความสุขแทรกขึ้นมาได้โดยลำดับ จนความสุขเกิดขึ้นภายในใจ เป็น ส... ขึ้นภายในใจ อยู่ที่ไหนก็สบาย ปีใหม่ ปีเก่า ก็สบาย เดือนใหม่ เดือนเก่า ก็สบายทั้งนั้น เพราะทุกข์หมดไปจากใจแล้ว จะไม่สบายยังไงคนเรา ที่เป็นทุกข์ ก็เพราะกิเลส กองทุกข์ มันเป็นเจ้าเรือนอยู่ภายในใจ เมื่อทุกข์หมดไปสุขก็เข้ามาเป็นเจ้าเรือนเท่านั้นเอง!

        การแสดงธรรม ก็เห็นว่าสมควร จึงยุติ

        

ggggggg


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก