ทั่วไปเกี่ยวกับจิตตภาวนา
วันที่ 26 ธันวาคม 2518 ความยาว 30.57 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

ทั่วไปเกี่ยวกับจิตตภาวนา

 

        เรามีศาสนาเป็นเครื่องปกครองจิต เหมือนกับลูกที่มีพ่อแม่ปกครอง อุ่นหนาฝาคั่งเย็นสบาย พ่อแม่ก็มีเหตุมีผล ลูกก็เป็นผู้สนใจในเหตุผล พูดกันก็รู้เรื่อง ครอบครัวนั้นก็ร่มเย็นเป็นสุขทั่วหน้ากัน

         ทางด้านสามีภรรยาก็ต่างคนต่างมีเหตุผล ยอมรับความจริงของกันและกัน ไม่ปีนเกลียวกัน ผิดถูกประการใด ไม่ถือว่า ตนเป็นผู้หญิง ตนเป็นผู้ชาย ตนเป็นลูก ตนเป็นพ่อเป็นแม่ ยิ่งกว่าเหตุผล มี “เหตุผล” เป็นเครื่องปกครอง ครอบครัวนั้นร่มเย็น ที่นั้นร่มเย็น

         พุทธศาสนาก็เป็นเครื่องปกครองให้ประชาชนผู้สนใจในธรรม ร่มเย็นไม่มีประมาณ ตามแต่ความสามารถของผู้ปฏิบัติธรรมได้มากน้อย ศาสนาเป็นทั้งพ่อทั้งแม่ เป็นทุกสิ่งทุกอย่างภายในจิตใจของผู้นับถือพระพุทธศาสนา ด้วยความปลงใจเชื่อเหตุเชื่อผลตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ซึ่งเป็นธรรมที่ถูกต้องดีงาม หาอะไรเสมอเหมือนไม่ได้ นอกจากขณะใดที่จิตใจของเราห่างเหินจากศาสนา เราจะเห็นผล คือโทษทุกข์ต่างๆ เพราะความห่างเหินนั้นแลโดยลำดับ นับแต่น้อยจนถึงมาก

         ขณะใดจิตเรามีความเกี่ยวข้องหรือสัมผัสสัมพันธ์กับศาสนา คือ มีธรรมเป็นเครื่องระลึกอยู่เสมอภายในใจ ขณะนั้นสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยก็ไม่เข้ามาเกี่ยวข้องได้ จิตใจก็มีความร่มเย็นเป็นสุข จะทำหน้าที่การงานอันใดก็เป็นไปด้วยเหตุด้วยผล ไม่ลุกลี้ลุกลนร้อนเกินเหตุเกินผล ซึ่งใช้กิจใช้การอะไรไม่ได้เพราะความร้อนนั้น แม้ร้อนก็ให้เป็นไปตามเหตุผล จะเย็นก็ให้เย็นไปตามเหตุตามผล ผู้นั้นก็ชุ่มเย็น

         ศาสนาจึงเป็นคู่เคียงของชีวิตจิตใจ ตามหน้าที่การงานอย่างแยกไม่ออก เพราะเป็นแนวทางที่ราบรื่นดีงามทั้งทางโลกและทางธรรม ทางโลกถ้าไม่นำศาสนาเข้าไปเป็นเครื่องดำเนิน ก็มีความผิดพลาดได้ เพราะเหตุใด เพราะคนเราย่อมเห็นแก่ตัวเสมอ การเข้าข้างตัวนั้น เราย่อมทราบได้ชัดว่า เป็นสิ่งที่ขัดแย้งต่อธรรม คือเหตุผล และกระทบกระเทือนผู้อื่นไม่มีประมาณ ตามแต่จิตมีความขัดแย้งต่อธรรมมากน้อย

         อันเรื่องความรักตนนั้นใครก็รัก แต่การเข้ากับตัวเองที่ไม่ได้คำนึงว่าถูกหรือผิดทางเหตุหรือผล จึงเป็นความผิดสำหรับการเข้าข้างตน จะเป็นนิสัยฝังใจ อันเป็นของไม่ดีเลย ผู้หวังความเจริญสม่ำเสมอไม่กระทบกระเทือนผู้อื่น จึงควรสังวรระวังให้มาก

         สิ่งไม่ดีดังกล่าวมานี้ แม้แต่สัตว์ก็มีเช่นเดียวกัน เพราะเขาก็มีสิ่งที่ขัดแย้งต่อธรรมหรือเป็นข้าศึกต่อธรรมอยู่ภายในใจเช่นเดียวกับมนุษย์ จึงต้องแก่งแย่งแข่งดีและแย่งกันกิน ตัวใดมีกำลังมากก็ครองความเป็นใหญ่ ตัวมีกำลังน้อยก็ลำบาก และอดกินไปตามประสาสัตว์

         ความรักตนก็ทราบว่ารักด้วยกันทุกคน แต่การที่จะปฏิบัติให้สมเหตุสมผลกับความรักตนโดยธรรมนี้ ต้องอาศัยหลักธรรมเข้าช่วย เข้าเกี่ยวข้องหรือเข้าเป็นแนวทางเพื่อดำเนิน จึงจะเป็นไปเพื่อความสะดวกราบรื่นตลอดไป ไม่เช่นนั้นก็ต้องเขวจนได้ ด้วยเหตุนี้ ศาสนากับเราจึงแยกกันไม่ออก เพราะเกี่ยวกับความสงบสุข ทั้งส่วนตัว ครอบครัว และสังคม ที่ต้องเกี่ยวข้องกันอยู่เสมอ ที่แยกไม่ออกก็เพราะความสุขความสมหวังเป็นสิ่งที่โลกต้องการด้วยกัน ไม่เว้นแต่ละรายเลย นอกจากคนไม่มีสติ เช่น คนบ้าคนบอนั้นอาจไม่ทราบ เพราะไม่เหมือนมนุษย์ มนุษย์ทั่วๆ ไปนี้ย่อมเป็นเช่นเดียวกัน ฉะนั้น ความรักตนเป็นสิ่งสำคัญ! ที่จำต้องนำหลักธรรมเข้ามาเป็นเครื่องดำเนิน เพื่อความรักตนนั้นจะไม่กำเริบเป็นพิษภัยแก่ตนและผู้อื่น

         พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า การรักตนรักอย่างไรเป็นความถูกต้อง

         การรักตนด้วยความถูกต้อง คือ ความไม่ปล่อยตนตามอำเภอใจที่ชอบ โดยหาเหตุผลมิได้ พยายามปกครองตนด้วยธรรม คือ ความถูกต้องดีงามอยู่โดยสม่ำเสมอ ชื่อว่า “ผู้รักตนโดยชอบธรรม” ความรักตน ต้องทำตนเหมือนช้างรักงา ซึ่งพยายามรักษาตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่เผลอตัวปล่อยตัวออกไปหากินในที่ไม่ปลอดภัย เช่นที่โล่งโถง เป็นต้น ไม่กล้าเอางาทิ่มแทงสถานที่ต่างๆ เช่น ริมคลอง อันเป็นที่สังเกตได้ง่ายของนายพรานที่จะตามสังหาร

         ความรักษาตนของคนเรานั้น หมายถึง ศีลธรรมเป็นหลักเป็นแก่นสารภายในใจ ถือเหตุผลเป็นหลักใจ คือ เหตุผลเป็นหลักความประพฤติ อันใดถูก อันใดผิด ควรคำนึงเสมอ พยายามดำเนินให้ถูกต้องตามหลักเหตุผลอันเป็นหลักธรรม คือความถูกต้องดีงามนั้นๆ ยากลำบากก็ไม่ถือว่าสำคัญยิ่งกว่าความถูกต้อง อันเป็นธรรมเครื่องรักษาตนให้ปลอดภัย ซึ่งเป็นคุณธรรมที่มีคุณค่ามาก ดำเนินตนตามนั้น จนมีความเคยชิน

         เมื่อมีความเคยชินแล้ว ความอยากต่าง ๆ ที่เคยฉุดลากเราให้เป็นไปตามอำนาจของมันเสมอนั้น ก็ไม่สามารถกั้นกางหวงห้ามหรือกีดกันเราได้ มีเหตุเป็นทางเดินของความประพฤติและหน้าที่การงานตลอดไป นี่เป็นภาคธรรมทั่วๆ ไป สำหรับผู้รักตนโดยธรรม จะพึงปฏิบัติดำเนินเป็นกิจประจำตัวตลอดไป

         เมื่อย่นเข้ามาหาธรรมโดยเฉพาะ คือ การรักษาใจเรา ชื่อว่า “รักษาตัวเราแท้” “ตัว” นั้นมีอะไรเป็นสำคัญ ก็มีใจเป็นสำคัญ ใจเป็นผู้บงการ “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” กิริยาอาการ ระบาย หรือการแสดงออกทางใด ย่อมส่อถึงใจผู้เป็นเจ้าของคอยบงการเสมอ เพราะฉะนั้นใจผู้บงการจึงควรได้รับการอบรมที่ถูกต้องดีงาม เพื่อจะได้ระบายกายวาจาออกในทางที่ถูก ผลที่ย้อนกลับเข้ามาสู่ตัว จึงเป็นความร่มเย็นไม่เดือดร้อน เพราะทำตามอำนาจฝ่ายต่ำ

         ศาสนาจึงเป็นเหมือน “พ่อ เหมือน แม่” คอยให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติโดยสม่ำเสมอ เฉพาะอย่างยิ่ง “จิตตภาวนา” ซึ่งเป็นสิ่งที่แนบสนิทกับธรรมมากกว่าอย่างอื่น เพราะ ธรรมแท้อยู่ที่จิต ไม่มีอยู่ที่อื่นใด การรู้เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ขณะที่นั่งภาวนา ซึ่งเป็นเวลาที่เราสงบจิตหรือรักษาจิต

         สติคอยสอดส่องดูแลความเคลื่อนไหวของใจ ว่าจะเคลื่อนไหวไปในทางใดบ้าง เมื่อสติมีอยู่เราย่อมทราบ ความอยากคิดอยากปรุงของจิตเป็นลักษณะผลักดันออกมา นั่นคืออะไร? ส่วนมากเป็นอารมณ์ฝ่ายต่ำและทำตนให้เสียคน ถ้าคล้อยตามอารมณ์นั้น ๆ ไม่หักห้ามต้านทานไว้บ้าง พอมีความสงบสุข

         เมื่อทราบเช่นนั้น ก็พยายามตั้งสติให้มากขึ้นจนความกระเพื่อมที่จะคิดปรุงไปในแง่ต่างๆ นั้นระงับไป กลายเป็นความสงบสุขความเย็นใจขึ้นมา นี่เป็นผลที่เกิดจากความระมัดระวังจิตหรือการบังคับจิต โดย “จิตตภาวนา” ไม่ให้คิดไปในทางที่ไม่ถูกไม่ดี ให้คิดปรุงเฉพาะในแง่ธรรมที่จะเป็นไปเพื่อความสุขโดยถ่ายเดียว เช่น คิดปรุงคำบริกรรม “พุทโธ” เป็นต้น ซึ่งเป็นการคิดปรุงที่ถูกทางและเกิดผลดีแก่ใจ

         เมื่อจิตได้รับความร่มเย็นด้วย “จิตตภาวนา” คำว่า “ธรรม” นี้ ไม่ต้องไปถามใคร  ความสงบร่มเย็นนั้นแล คือ ธรรมฝ่ายผล การระมัดระวังนั้นแล คือ ธรรมฝ่ายเหตุ การบังคับบัญชาจิตใจของตนด้วยสติ ไม่ให้คิดไปในทางที่ไม่ดีอันเป็นฝ่ายต่ำ นั่นคือธรรมฝ่ายเหตุ เพราะเหตุกับผลอยู่ด้วยกัน เมื่อเราต้องการผลอันดีเลิศ เราต้องรักเหตุ คือการกระทำที่ตรงแน่วต่อผลที่เราต้องการ อย่าให้คลาดเคลื่อนไปจากนั้น ผลจะขัดต่อความมุ่งหมาย คือกลายเป็นทุกข์

         นี่ชื่อว่า “ดำเนินถูกตามหลักธรรม” ผลจะปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับ โดยไม่นิยมว่าเป็นหญิง เป็นชาย นักบวช หรือฆราวาสใดๆ ทั้งสิ้น เพราะ “ธรรม” เป็นธรรมชาติกลางๆ เป็นสมบัติกลาง จิตก็เป็นเช่นเดียวกัน ตัวจิตแท้ไม่ได้นิยมว่า เป็นหญิง เป็นชาย เป็นนักบวช หรือฆราวาสใดๆ เลย มีความรู้สึกนึกคิดได้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย นักบวชหรือฆราวาส มีความรู้ดี รู้ชั่ว มีความโง่ ความฉลาด เช่นเดียวกัน จิตจึงไม่นิยมเพศ และธรรมซึ่งไม่นิยมเพศด้วยแล้ว จึงเข้ากันได้อย่างสนิทไม่มีปัญหาอันเป็นอุปสรรค

         ธรรมเมื่อได้เข้าถึงจิต จิตย่อมแสดงความแปลกประหลาดภายในตัวเองให้เราเห็นได้อย่างชัดเจน รู้ได้อย่างชัดเจน เมื่อธรรมกับจิตได้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาก เชื่อมโยงเข้าถึงกันมาก จิตจะแสดงความสง่าผ่าเผยขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่เราไม่เคยคาดคิดว่า จิตของเราจะเป็นเช่นนี้ แต่ก็ประจักษ์ขึ้นมา ผลสุดท้ายตนเองก็อัศจรรย์ตนเองได้ ทั้ง ๆ ที่เราเกิดมาไม่เคยอัศจรรย์ตนเองเลย ไม่ว่าเราจะได้ผลสิ่งใดมา ไม่ว่าจะมีความสามารถเฉลียวฉลาดในแง่ใด ในทางโลกที่เราเคยดำเนินมา จะให้เกิดเป็นความอัศจรรย์ตนเองนี้ไม่ค่อยปรากฏนอกจากเป็นความดีใจ ภูมิใจไปบ้าง ชั่วกาลเวลาเท่านั้น แล้วก็กลับตำหนิติเตียนตนได้ อันเป็นคู่เคียงกันกับโลกธรรม ข้อที่ว่า “สรรเสริญกับนินทา”

         แต่เมื่อธรรมเข้าถึงใจของผู้ปฏิบัติ ย่อมปรากฏขึ้นมาเป็นความอัศจรรย์อย่างชัดเจนภายในตัวเอง ที่ไม่ได้คาดฝันว่า ทำไมความอัศจรรย์อย่างนี้จึงปรากฏขึ้นมาได้ หรือไม่ได้คาดฝันว่าจะได้เห็นความอัศจรรย์อย่างนี้ แต่ก็ปรากฏขึ้นมากับใจอย่างชัดเจน

         จิตที่มีธรรมเป็นผล คือความสงบเย็นใจเป็นต้น ได้ปรากฏขึ้นในผู้ใด ในจิตใจดวงใด จิตดวงนั้นย่อมแสดงความแปลกประหลาดภายในตัวเองให้เจ้าตัวรู้ หากว่าจะเป็นสิ่งนำมาจำหน่ายขายตามตลาดแล้ว มีเท่าไรเป็นไม่ค้างร้านเลย หมด! หมด! หมดเกลี้ยง! หมดเกลี้ยง! คนจะแตกตื่นกันมาขอซื้อกันทั้งโลกสงสารเลยนั่นแล

         เพราะใคร ๆ ก็ต้องการความสุข ความเจริญ ความอัศจรรย์ ความสมหวัง และจิตดวงนี้ก็เป็นจิตรับสนองธรรมเหล่านั้นด้วย คือ สนองทั้งความสุข ความเจริญ ความสมหวัง ทั้งความอัศจรรย์ โลกทั้งหลายจะรุมมาซื้อจนทั่วโลก ว่ายังงั้นเถอะ เพราะตนผลิตเองไม่ได้ เนื่องจากไม่รู้วิธีผลิต แม้รู้วิธีผลิต แต่ความขี้เกียจรีบแซงหน้าขวางกั้นไว้ก่อน

         แม้สัตว์เดียรัจฉานเขาไม่รู้ภาสีภาษา แต่เขาก็มีความต้องการความสุข เขาไม่มี “สมมุติ” มากมายอย่างมนุษย์ เขาต้องการความสุข เขาอาจโดดมาขอแบ่งหรือแย่งชิงพวกมนุษย์ก็เป็นได้ สัตว์ชนิดต่างๆ ตลอดเปรต ผี มนุษย์ทั่วโลก เทวดาทุกภูมิในแดนโลกธาตุ ต่างจะรุมกันมายุ่งกับ “ร้านค้านั้น” จนไม่มีเวลาและสถานที่รับรองลูกค้า ซึ่งมีประเภทต่างๆ กันนั่นแล เพราะความสุข ความวิเศษ ความอัศจรรย์ ใครจะไม่ประสงค์ ไม่ต้องการจะมีอยู่หรือ? ในโลกทั้งสามนี้ นอกจากคนตายทั้งเป็นหรือคนที่ตายแล้วเท่านั้น พวกแรกไม่มายุ่งเพราะนอกบัญชี แต่พวกหลังสุดวิสัยที่จะมาขอแบ่งส่วน นอกจากเขาไปเกิดเป็น “ปรทัตตูปชีวีเปรต” นั้น อาจมาขอแบ่งส่วนบุญนี้

         ร้านค้าขายธรรมวิเศษอัศจรรย์อย่างนี้ที่ไหนจะมีในโลก! หากธรรมแปลงเป็นวัตถุได้ อย่างไรต้องเกิดโกลาหลกันโดยไม่ต้องสงสัย เพราะสัตว์โลกหิวโหยโรยแรงกัน ความทุกข์ยากลำบากทรมานกันมานานแสนนาน แต่นี้สุดวิสัยที่จะเป็นไปได้ เพียงพูดแค่นี้โลกก็กระเทือนไปหมดแล้ว! เดี๋ยวจะว่าผู้เทศน์เป็นบ้า หาเรื่องป่าๆ ดงๆ มาพูด ทั้งนี้เพราะโลกหิวกระหายความสุข ไม่ทราบว่ากี่กัปกี่กัลป์ ที่ไม่เคยประสบพบเห็นธรรมชาติที่อัศจรรย์ ธรรมชาติที่เป็นความสุขความเจริญ แบบอัศจรรย์มาก่อนเลย แต่ได้มาเห็นมาเจอเอาขณะนั้น ทำไมจะทนอยู่ได้ล่ะ!

         นี่เพียงขั้นจิตที่มีความสงบตัว มีความผ่องใส ความองอาจ และความรื่นเริงกับธรรมภายในใจ!

        ยิ่งก้าวขึ้นสู่ “สินค้าแห่งปัญญา” ซึ่งเป็นธรรมชาติฉลาดแพรวพราว ซึ่งแสงสว่างใดจะนิ่มนวลยิ่งกว่าแสงสว่างภายในใจ ภายในธรรม ซึ่งมีอยู่ในจิตนี้ ไม่มีในโลกทั้งสามนี้ด้วยแล้ว ร้านที่กล่าวมาก็จะยิ่งเป็นร้านทวีคุณค่าแห่งความอัศจรรย์หาที่เปรียบมิได้

         ร้าน “แสงธรรมสว่างอารมณ์” นี้แล คนและสัตว์ทุกประเภทจะรุมมากยิ่งกว่าร้าน “ปฐมโอภาส” ที่กล่าวมาในเบื้องต้นเป็นไหน ๆ

         สินค้าประเภทที่สาม คือ จิตมีความคล่องแคล่วแกล้วกล้า มีสติปัญญารอบตัว สว่างไสวทั้งกลางวันกลางคืน ยืน เดิน นั่ง นอน หมุนตัวอยู่ด้วย “ธรรมจักร” คือ “สติปัญญาอัตโนมัติ” สง่าผ่าเผย สว่างกระจ่างแจ้งทั่วโลก เพียงขนาดนี้ก็สว่างกระจ่างแจ้งไปทั่วโลกดินแดนอยู่แล้ว แม้จะ “ยังไม่เต็มภูมิ” ก็ตาม นี่คือสินค้าประเภทที่สาม โลกจะรุมแบบไม่เคยมีในโลก

         ทีนี้มาถึง “สินค้าประเภทที่สี่” เป็นประเภทที่หมดจดงดงามอย่างยิ่ง ไม่มี “สมมุติ” แม้ปรมาณูแทรกสิงอยู่เลย นี้เป็นสินค้า “วิมุตติ หลุดพ้นโดยประการทั้งปวง” ได้แก่ “ดวงจิตพระอรหันต์ท่าน”

         สินค้าประเภทนี้กระเทือนทั่วโลกธาตุ แม้แต่หมู่สัตว์อยู่ใต้ดินหรืออยู่ในนรกอเวจี ถ้าจะพอตะเกียกตะกายขึ้นมาได้ จะพากันโดดขึ้นมาทันที เพราะเป็นสิ่งที่อัศจรรย์เหนือโลกเหนือสงสาร

         นี่คืออำนาจของจิต ความสง่าผ่าเผย ความมีคุณค่าของจิตเป็นที่เลิศประเสริฐสุด และชนะบรรดาสิ่งที่มีในโลกทั่วๆ ไป อย่างไม่มีการแข่งขัน เพราะฉะนั้น “ธรรม” จึงเหนือ “โลก” โดยประการทั้งปวง! แม้พระพุทธเจ้าก็ทรงกราบพระธรรม เคารพธรรม ท่านว่า “รสแห่งธรรม ชนะรสทั้งปวง” นั่น! ฟังดูซี ไม่มีรสอะไรจะเหมือนรสแห่งธรรมเลย ถ้าหากรสแห่งธรรมไม่เหนือรสแห่งโลกสมมุติแล้ว ธรรมจะครองโลกได้อย่างไร คนจะนับถือพระพุทธศาสนาและนับถือธรรมได้อย่างไร

         ความอัศจรรย์แห่งจิตแห่งธรรมเป็นขั้นๆ ดังกล่าวมา ทั้งสามโลกธาตุนี้ไม่มีสิ่งใดจะมาเป็นคู่แข่งได้เลย แต่นี้ธรรมไม่สามารถจะแสดงตนเป็นวัตถุสินค้าเช่นนั้นได้ ธรรมจึงเหมือนไม่มีคุณค่า เพราะสายตาของคนไม่สามารถมองเห็นธรรมอันวิเศษนั้น เพราะใจไม่สามารถหยั่งรู้สินค้าประเภทอัศจรรย์นั้นๆ ได้ ธรรมจึงเหมือนไม่ใช่ธรรม เหมือนไม่มี เหมือนไม่มีความศักดิ์สิทธิ์วิเศษอย่างใดเลย ในความรู้สึกแห่งสามัญชนส่วนมาก

         เพราะเหตุใด? เพราะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์วิเศษนั้น มีแต่ของเลอะเทอะเปรอะเปื้อนเต็มไปหมด คือ ภายในจิตมองดูแล้วเหมือน ฉาบทา หุ้มห่อ ด้วยกองมูตร กองคูถ ทั้ง ๆ ที่ธรรมชาติวิเศษอัศจรรย์นั้น ก็อยู่ในท่ามกลางธาตุขันธ์เรานั้นแล คำว่า “มูตรคูถ” นั่นคืออะไร? คือกิเลส ซึ่งเป็นสิ่งโสมมครอบเสียหมด จึงเรียกว่า “จิตเปรอะเปื้อน” เปื้อนด้วยสิ่งเหล่านี้แล จึงไม่มีอะไรอัศจรรย์ จนทำให้เจ้าของน้อยใจ ตำหนิติเตียนตนเองว่า “บุญน้อยวาสนาน้อย” ก็เพราะธรรมชาตินี้แล เป็นเครื่องปิดบังธรรมชาติที่อัศจรรย์ ซึ่งเป็นหลักใหญ่แห่งอำนาจวาสนาไว้อย่างมิดชิด ไม่ให้มองเห็นได้เลย ถึงกับเจ้าของน้อยเนื้อต่ำใจ ว่า ไม่มีอำนาจ ไม่มีวาสนา เกิดมาไม่เหมือนเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย มีแต่ความทุกข์ ความจน จิตใจก็วุ่นวาย ส่ายแส่ แย่ไปตามๆ กัน จึงทำให้คิดและบ่นกันไปต่างๆ นานา ตามแต่จะคิดได้พูดได้ บ่นได้ไม่มีประมาณ

         สิ่งที่ทำให้บ่นเหล่านี้ ล้วนแต่เรื่องของกิเลสโสมมสกปรกทั้งนั้น ไม่ใช่ของดีเลย ฉะนั้น การบ่นต่างๆ จึงไม่เกิดประโยชน์ นอกจากจะเห็นโทษ สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บ่นนี้ แล้วกำจัดสิ่งเหล่านั้นออกไปโดยลำดับๆ จิตใจจะค่อยคลี่คลายตัวออกมา ถ้าเป็นบ้าน ก็พอจะโผล่หน้าต่างออกมามองเห็นเดือนเห็นตะวันบ้าง ไม่มืดมิดปิดตาอยู่ตลอดเวลาราวกับอยู่ภายในตึกมืดตลอดไป

         ทั้งๆ ที่จิตก็อยู่กับตัว แต่ถูกกิเลสปิดบังไว้หมด มองหาธรรมชาติที่ศักดิ์สิทธิ์วิเศษไม่เจอเลย กลายเป็นคนหมดคุณค่าหมดราคาไป ทั้งๆ ที่คนๆ นั้นเป็นคนสำคัญคนหนึ่งและจิตดวงนั้นก็เป็นจิตสำคัญดวงหนึ่ง แต่หาความสำคัญไม่ได้ อันนี้แล ที่ทำให้โลกทั้งหลายเดือดร้อนวุ่นวายไม่มีเวลาสร่างซาหน้ายิ้มได้ ไม่ใช่อื่นไกล แม้ตัวเราเองก็ได้รับความเดือดร้อน วุ่นวาย เพราะสิ่งเหล่านี้มาเต็มอก แทบหัวใจระเบิดในบางกาลเช่นกัน จึงไม่น่าสงสัยว่า สิ่งเหล่านี้จะทำคุณให้เรา พอมีความสุขบ้าง

         แล้วจะนำสิ่งใดเข้ามาแก้ไขชะล้าง จะโดดลงชะล้างในน้ำ ในสระในบึงในบ่อในมหาสมุทรทะเล ก็ไม่สะอาด ไม่เกิดผล “อาบน้ำล้างบาป ลอยบาป” ดังที่เขาพูดว่า มีคนทำกันอยู่ที่เมืองอินเดีย ก็ไปล้างเถอะ ไม่มีทางสำเร็จ เพราะไม่ใช่ฐานะที่จะทำให้บาปกรรมหรือสิ่งมัวหมองทั้งหลายภายในใจให้หมดสิ้นไปได้เพราะน้ำนั้น นอกจากน้ำศีล น้ำธรรม น้ำใจ ที่เต็มไปด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา นี้เท่านั้น ซึ่งเป็น “น้ำสำคัญ” ที่จะชำระสิ่งสกปรกอยู่ภายในใจออกได้ กลายเป็นใจที่ผ่องใสสง่างาม และเกิดความอัศจรรย์ขึ้นภายในโดยไม่คาดฝัน

         อย่าไปตำหนิติโทษสิ่งใดๆ อย่าไปตำหนิโน้น อย่าไปตำหนินี้ อย่าไปตำหนิอำนาจวาสนา! ให้ตำหนิสิ่งสกปรกนี้ ที่ทำให้ทุกข์ร้อนอยู่ไม่ขาดสาย นับแต่วันเกิดถึงวันตาย เหล่านี้แล คือ ตัวกิเลส ตัวพิษตัวภัย สำหรับสัตว์โลก วาสนาไม่ใช่ตัวพิษ เป็นสิ่งที่มีคุณค่า สนับสนุนคนและสัตว์ให้มีความสุขความเจริญ และสนับสนุนให้เรามาเกิดเป็นมนุษย์ ให้มีความสนใจใคร่ต่อศาสนา นับถือพระพุทธศาสนา นี่เป็นตัววาสนาแท้!

         กิเลส ตัวเป็นพิษเป็นภัยนี้ คือตัวข้าศึกของศาสนา ของวาสนา จงแก้ที่ตรงนี้อย่าไปแก้ที่อื่น ถ้าไปแก้ที่อื่น จะเหมือนไปเกาในที่ซึ่งไม่คัน จะทำให้ถลอกปอกเปิกเจ็บปวด เป็นแผลขึ้นมาได้ เพราะเกาไม่ถูกที่คัน จงเกาให้ถูกที่คันๆ ตรงที่มันพาให้เราเดือดร้อนรำคาญวุ่นวายอยู่ไม่หยุดหย่อนนั่นแล คือ จิตตัวคิดปรุงต่างๆ นั่นน่ะ ตัวแสบน่ะ ใจนี้แล เวลานี้เป็นตัวภัยสำคัญ ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า ให้แก้ลงที่ตรงนี้ด้วยความอดทน ด้วยความพากเพียร อย่ากลัวกิเลสจะแพ้และฉิบหาย เดี๋ยวเราจะแพ้ และฉิบหายล่มจมไม่รู้ตัว

         ถ้าจะตำหนิก็ให้ตำหนิตรงนี้ และพยายามระมัดระวัง อย่าสั่งสมมันขึ้นมา ความคิดในแง่ใดก็ตามที่ส่งเสริมความทุกข์ให้เกิดขึ้นภายในใจ เป็นความผิดทั้งนั้น จงแก้ลงที่ตรงนี้ ระงับกันที่ตรงนี้ ชื่อว่า “เราสร้างวาสนาภายในตัวเราเอง” และเป็นการปราบปรามสิ่งลามก หรือสิ่งเป็นภัย เป็นข้าศึกทั้งหลายให้ออกจากใจเราด้วย ในขณะเดียวกันจะได้เห็นสิ่งอัศจรรย์ ซึ่งมีอยู่ภายในใจ คือความรู้อันนี้แล จะแสดงตัวออกมาอย่างเปิดเผยโดยไม่มีอะไรปิดบังเช่นที่เคยเป็นมา

         พระพุทธเจ้าท่านวิเศษ เพราะท่านถอดถอน ท่านชะล้างสิ่งสกปรก สิ่งกดถ่วง สิ่งตัดทอนความดีทั้งหลายออกจนหมด ไม่มีภายในพระทัย จึงสมนามว่าเป็น “ศาสดาแท้” ไม่ใช่ศาสดาทั้งๆ ที่ยังมีกิเลสโสมมอยู่ภายในพระทัย “พระองค์เป็นศาสดาหรือเป็นพระพุทธเจ้า ด้วยความบริสุทธิ์ เพราะสิ่งสกปรกทั้งหลายนั้นหมดไปจากพระทัยแล้ว สาวกทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เพราะชะล้าง ถอดถอน เป็นงานสำคัญยิ่งในโลก

         เราก็เป็นมนุษย์ผู้หนึ่งที่เป็นชาวพุทธ เป็นพุทธบริษัทของพระพุทธเจ้า ดำเนินไปในทางสายเดียวกัน กิเลสตัณหาเป็นประเภทเดียวกัน อุบายวิธีแก้ไขหรือถอดถอน เราก็นำธรรมของพระพุทธเจ้ามาแก้ และถอดถอดกิเลสออกจากใจเช่นเดียวกัน ด้วยความอุตส่าห์พยายาม ความขยันหมั่นเพียรเช่นเดียวกัน ก็เท่ากับว่าเราก้าวตามท่านไปวันหนึ่งๆ ก้าวไปโดยลำดับ ไม่ถอยหลัง ความสมหวังของเราจะไม่เกิดขึ้นจากการดำเนินที่ถูกทาง หรือที่ถูกต้องดีงามนี้ จะมีอื่นใดเล่าเป็นที่เกิดแห่งความสมหวัง ก็มีทางเดียวนี้เท่านั้น ที่เป็นทางเกษมสำราญใจ

         นี่แหละการสร้างวาสนา การฟิตตัวให้ดี ก็ฟิตที่ตรงนี้ คือ แก้สิ่งที่ไม่ดีภายในใจของตนออก จะได้เห็น “ร้านค้าของเรา” สินค้าของเรา ว่าเป็นของอัศจรรย์มากน้อยภายในใจดวงที่เคยอาภัพนี้

         ระหว่างขันธ์กับจิต จะได้เห็นชัดว่า ขันธ์ทั้งห้า มีรูปขันธ์เป็นต้น ก็เหมือนกับร้านค้า ใจที่ทรงคุณธรรมไว้ตามขั้นภูมิของตนก็เปรียบเหมือนสินค้า ตามขั้นแห่งสินค้าที่มีคุณค่ามากน้อยภายในใจ จนกระทั่งสินค้าอันประเสริฐสุด หรือวิมุตติหลุดพ้นภายในใจนี้แล ท่านเรียกว่า “สินค้าอันประเสริฐ” ดังที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้น เป็นสินค้าที่นำออกโชว์ได้อย่างองอาจกล้าหาญภายในตน ไม่ว่าจะอยู่สถานที่ใด ไม่ตำหนิ ติเตียน ดิน ฟ้า อากาศ ไม่ตำหนิสถานที่นั่น ที่นี่ ไม่ตำหนิผู้คน หญิงชาย ไม่ตำหนิอะไรทั้งสิ้น เมื่อสิ่งที่ตำหนิ ตัวการตำหนิ ต้นเหตุตำหนิมันหมดสิ้นไปจากใจแล้ว ไปไหนไม่ตำหนิ เพราะไม่มีธรรมชาติจอมตำหนิอยู่ภายในใจ มีแต่ความดี ไปไหนดีหมด ดูอะไรดีหมด ดูคนทุกข์ก็ดีด้วยธรรม ดูอะไรก็ดีโดยธรรมทั้งนั้น ไม่หาเรื่องหาราวหาเงาต่างๆ มาเป็นการกวนใจตนเอง จึงเรียกว่า “สุคโต” ไปที่ไหน ก็ไม่เป็นภัย มองเห็นอะไรก็ไม่เป็นภัย เป็น “สุคโต” ไปโดยตลอด

         นี่คือ ผู้หมดภัย ไปที่ไหนไม่มีภัยภายในใจ เพราะเชื้อแห่งภัยไม่มี นี่เรียกว่า “ตลาดอัศจรรย์” หรือ “สินค้าอัศจรรย์” นั่งอยู่ก็ครองสินค้าอัศจรรย์เป็นอัตสมบัติ อยู่ก็ครอง ตายไปแล้วก็ครองสมบัติมหัศจรรย์นี้ ไม่มีผู้อื่นใดจะมีความสามารถ อำนาจวาสนามากดขี่บังคับ หรือแย่งชิงสมบัติของเราแท้นี้ไปได้!

        ฉะนั้นจึงขอให้พากันพยายามชำระสิ่งสกปรกทั้งหลาย ภายในใจให้หมดไป หมดไป ให้เหลือแต่ “ทองทั้งแท่ง” ให้เหลือแต่ธาตุแท้ คือมโนธาตุที่บริสุทธิ์แท้ นั้นแลคือแดนแห่งความสมหวัง แดนแห่งความสุขความเกษม ไม่มีในที่อื่นใดในโลกทั้งสาม   อย่าคิดให้เสียเวล่ำเวลาว่า “ไปที่นั่นจะดี ไปที่นี่จะดี” หลอกเจ้าของทั้งนั้นแหละ

         ถ้าเชื่อถือตัวก่อกรรมก่อเวร ก่อเหตุ หรือตัวยุแหย่ก่อกวนนี้ ยังมีอยู่ภายในใจแล้ว มันจะหลอกไปเรื่อยๆ จน ขากุด ขาขาด ก็หาที่สุข ความสุขไม่ได้ตลอดไป

         ธรรมท่านไม่ได้หลอก ธรรมเป็นของจริง ท่านจึงสอนลงในจิตที่จริงจริงๆ ไม่ได้สอนแบบหลอกลวง และไม่ได้สอนจิตคนบ้าคนบอ แต่สอนคนดีๆ ที่มีสติเรานี่เอง จิตนี้เป็นสถานที่รับธรรมโดยแท้ ท่านจึงสอนลงที่จิตให้จิตพินิจพิจารณา ให้จิตนี้รับธรรมไว้ประพฤติปฏิบัติ กำจัดสิ่งที่เป็นภัยต่อตัวเองออกโดยสิ้นเชิง

         จิตนี้ก็เป็นจิตที่ประเสริฐเลิศโลกขึ้นมา ทั้งๆ ที่อยู่ในโลกนี้เอง ท่านผู้ประเสริฐไม่ได้หมายว่า ท่านต้องเหาะเหินเดินฟ้าขึ้นไปที่ไหนจึงจะประเสริฐ อยู่เฉยๆ ธรรมดาเหมือนโลกอยู่กัน ท่านก็ประเสริฐ เพราะท่านประเสริฐที่จิต ไม่ได้ประเสริฐในที่อื่นใด

         จึงขอได้นำไปพินิจพิจารณา เพื่อผลอันพึงใจของเราทุกท่านซึ่งจะพึงเกิดขึ้นจากการปฏิบัติไม่สงสัย

         การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร จึงขอยุติฯ

 

ggggggg

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก