เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘
อาโลโก อุทปาทิ ความสว่างบังเกิดขึ้นแล้ว
ถ้ามีแต่ละคน อยู่กันคนละหนละแห่ง ก็ไม่เป็นเครื่องสะดุดใจอะไรมากนัก แต่ถ้ามารวมกันเข้า รวมกันเข้า รวมกันมากเข้าก็กลายเป็นสังคมแห่งทุกข์ กลายเป็นครัวเรือนแห่งทุกข์ กลายเป็นบ้านแห่งกองทุกข์ เมืองแห่งกองทุกข์ เมืองๆ หนึ่ง เต็มไปด้วยกองทุกข์อย่างเห็นประจักษ์ แล้วขยายออกไปถึงประเทศ ประเทศทั้งประเทศเป็นกองทุกข์ โลกเป็นกองทุกข์ และคนทั้งโลกเป็นแบบเดียวกันนี้ จะเป็นยังไง?
ใครอยากจะอยู่ล่ะในโลกแห่งกองทุกข์นี้! เมื่อรวมกันเข้ามันหากทำให้เกิดพลังอันหนึ่งขึ้นมา ที่จะให้ความทุกข์สะดุดภายในใจ ถ้าโดยลำพังต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทุกข์ไม่มองเห็นกัน และไม่ค่อยได้ยินเสียงร้องครวญครางอะไรมากนัก มันก็เป็นโลกที่พอน่าอยู่บ้าง
เราก้าวเข้าไปสู่โรงพยาบาล กับเราอยู่ปกติ ความรู้สึกนั้นต่างกัน ไม่ค่อยสะเทือนใจที่เกี่ยวกับทุกข์มากนัก พอก้าวเข้าโรงพยาบาลอันเป็นสถานที่รวมแห่งกองทุกข์ทั้งหลาย มองดูคนไข้ ทั้งได้ยินเสียงครวญครางของคนไข้ในที่ต่างๆ ย่อมหาความเบิกบานและชื่นใจไม่ได้ พอก้าวเข้าสู่โรงพยาบาล ใจมันผิดปกติไม่น้อยเลย คนที่เข้าไปในโรงพยาบาลส่วนมากมีแต่คนเป็นทุกข์ทางใจที่เข้าไปเยี่ยมทุกข์กัน ซึ่งเต็มโรงพยาบาล แทบไม่มีห้องว่างเลย ทุกข์ทางกาย ทุกข์ทางใจ รวมเต็มอยู่ในที่นั้น สำหรับคนไข้ก็ทุกข์ทางร่างกายและจิตใจ ผู้เกี่ยวข้องก็ทุกข์ทางจิตใจ คนไปเยี่ยมไข้ส่วนมากเป็นคนทุกข์ทางใจ ก้าวเดินไปห้องไหนเตียงใดที่คนไข้เรียงรายกันอยู่ มีแต่คนเป็นทุกข์ทรมานทางกาย ทรมานใจ เป็น คนจนตรอกจนมุม ไปเยี่ยมก็ไปเยี่ยมคนจนตรอกจนมุม อับเฉาด้านจิตใจไปด้วย!
โรงพยาบาลทุกแห่ง นอกจากจะเป็นห้องคนทุกข์จนตรอกจนมุมแล้ว ยังเป็นสถานที่ตาย และสถานที่เก็บศพของคนอีกด้วย ไม่ใช่จะเป็นที่รักษาพยาบาลจนหายจากโรคแล้วออกมาโดยถ่ายเดียว เมื่อทนไม่ไหว สุดกำลังของหมอของยาแล้ว คนไข้ก็ต้องตายอยู่ในห้องนั้นๆ และเตียงนั้นๆ แต่ละห้อง แต่ละเตียง มันต้องเป็นห้องคนตาย เตียงคนตายหรือเป็นป่าช้าก่อนฝัง ก่อนเผากันทั้งนั้น แต่เราไม่ได้คิดกันบ้าง ถ้าคิดซอกแซก อย่างนี้บ้างก็จะเป็นเหตุให้มีสติปัญญา เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมาโดยลำดับ ไม่ประมาทลืมตัวจนเกินไปดังที่เป็นอยู่นี้
แม้ที่สุด ก้าวเข้าไปในครัวไฟ เตาไฟในบ้านหนึ่ง บ้านหนึ่ง ซึ่งเป็นที่เผาศพสัตว์ชนิดต่างๆ อยู่เป็นประจำวันเวลา มิได้ว่างเว้น เราก็พอปลง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้แล้ว เพราะเป็นป่าช้าของสัตว์เต็มไปหมด ไม่ทราบว่าเผากันมาตั้งแต่เมื่อไร แต่เราถือเป็น อาหาร จึงไม่เคยสะดุดใจว่าสถานที่นั้นคือป่าช้า การต้มการแกง จะเป็นเนื้ออะไรก็ตามขึ้นชื่อว่าสัตว์เป็นสัตว์ตายแล้ว มันก็เป็นเรื่องป่าช้าทั้งนั้น แต่เราถือว่า นั่นเป็นอาหาร ก็ไม่ค่อยสนใจคิดกัน และไม่ได้คิดว่าสถานที่นั้นเป็นป่าช้า มันมีผิดกันที่แง่ความรู้สึกเท่านั้น
ถ้าความรู้สึกคิดไปในแง่ใด ผลมันก็ตามๆ กันไปให้เกิดความขยะแขยง เกิดความกลัว เกิดความกล้าหาญ เกิดความดีใจ เสียใจขึ้นมาจากแง่ความรู้สึกนั้นๆ พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนไม่ให้ประมาทนอนใจ!
ในวันที่ไปแจกสิ่งของแก่พวกคนอพยพ ที่จังหวัดหนองคาย พอเขาเห็นคณะเราไปเท่านั้นก็หลั่งไหลกันออกมา ตาจดจ้องมองดูเป็นลักษณะความหิว ความกระหาย ความสมหวังไปพร้อมๆ กัน เวลาแจกสิ่งของ โอ้โห! น่าสังเวช น่าสงสาร และน่าสงสารอย่างมากทีเดียว ไม่ทราบว่ามาจากทิศไหนแดนใด หลั่งไหลออกมาจากทุกทิศทุกทางเต็มไปหมด สนามกว้างๆ จนจะหาที่เดินไม่ได้ นี่ก็คือ พวกที่ได้รับความทุกข์ ความลำบาก ไม่มีผู้จะให้ความสงเคราะห์ช่วยเหลือเท่าที่ควรจะเป็น พอมองเห็นผู้ใจบุญมาเยี่ยม ก็มีความหวังว่าจะได้รับการสงเคราะห์ช่วยเหลือ เพราะความจำเป็นบังคับ ไม่ว่าท่านว่าเราทนอยู่ไม่ได้ต้องออกมา ไม่ว่าเด็ก ไม่ว่าผู้ใหญ่ ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย เต็มไปหมดในสถานที่นั้น
เมื่อได้รับแจกไปแล้ว ซึ่งพอเป็นเครื่องบรรเทา ขณะได้ไปก็ดีอกดีใจเพราะสมหวัง ทั้งเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ เช่น คืนนี้ความหนาว แม้จะหนาวอยู่ตามปกติ แต่ความอบอุ่นรู้สึกจะดีขึ้นกว่าทุกๆ วันซึ่งไม่มีผ้าห่ม อาหารการกินก็เหมือนกัน ซึ่งกำลังขาดแคลนอยู่แล้ว หรือกำลังหมด วันนี้อาหารและเครื่องนุ่งห่มต่างๆ ก็เข้าไปถึงพอดี พอเป็นเครื่องสนับสนุนให้ได้รับความสุข ความเบาใจ เย็นใจไปบ้าง ความปีติยินดีย่อมเกิดขึ้น เพราะการแจกของวันนี้ไม่ใช่น้อย แจกมากมายก่ายกอง คนที่มารับแจกนั้น ก็รู้สึกสมหวังด้วยกันทุกครอบครัว ใครเล่าจะไม่ดีใจ!
นี่แลการทำบุญ การให้ทาน ย่อมเห็นผลประจักษ์อย่างนี้ สิ่งของหลุดออกจากมือเราด้วยการเสียสละโดยเจตนาอันบริสุทธิ์ แล้วก็ไปอยู่ในมืออีกคนหนึ่ง คือออกจากมือของผู้ให้ ก็ไปปรากฏอยู่ในมือของผู้รับ ผู้ให้ก็มีความดีใจ ผู้รับก็มีความดีอกดีใจ บางรายจนถึงกับน้ำตาร่วง ดังที่มองเห็นแล้ว เพราะความดีใจหรืออะไรก็ยากจะเดาได้ถูก
นี่แหละอำนาจแห่งการสงเคราะห์กัน เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากทางด้านจิตใจเป็นสำคัญ ความปีติยินดีจะเกิดขึ้นมากเพียงไร บางรายก็ต้องเกิดขึ้นมากมาย บางรายก็เกิดขึ้นเฉพาะว่าวันนี้มีความสะดวกสบาย เพราะได้อาหารและได้ผ้าห่มมาห่มกันหนาว บางคนก็ต้องคิดถึงเจ้าของท่านผู้นำมาบริจาค เพราะคนเรามีความรู้สึกลึกตื้นหนาบางต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามสรุปแล้วผู้รับมีความภาคภูมิใจ ผู้ให้มีความภาคภูมิใจ คือภาคภูมิใจด้วยการให้ ภาคภูมิใจด้วยการรับ เรื่องของ ทาน จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อโลกอย่างยิ่งแต่กาลไหนกาลใดมา
คำว่า ทาน คือการให้ การเสียสละเพื่อผู้อื่นนี้ เป็นของมีมาดั้งเดิมแต่กาลไหนๆ มาแล้ว หากงดการให้ทานนี้เสีย งดการเสียสละเพื่อกันและกันนี้เสีย โลกก็จะเป็นโลกไปไม่ได้ เพราะคำว่า ทาน นี้แม้แต่สัตว์เขาก็ทำต่อกันเช่นเดียวกับมนุษย์เรา เขายังแบ่งกันกินเหมือนมนุษย์เรา พ่อแม่ของสัตว์ เขาให้ลูกเขา เขาเลี้ยงลูกเขา เขาอยู่ด้วยกันเขากินด้วยกัน เช่นมดง่ามเป็นต้น ต่างตัวต่างขน หรือสัตว์ต่างชนิดคาบอาหารเข้าไปในรูหรือในโพรงไม้ที่อยู่เขา แล้วก็กินด้วยกัน
มนุษย์เราก็อยู่ในครอบครัว อยู่ในสังคม เกี่ยวเนื่องกันมากน้อยเพียงไร ย่อมมีความเสียสละต่อกัน นับตั้งแต่พ่อแม่กับลูกลงไปเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงส่วนรวม หรือส่วนใหญ่เป็นไปด้วยทานการเสียสละทั้งนั้น ชีวิตจิตใจความเป็นอยู่ เกี่ยวเนื่องถึงความพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกัน จำต้องมีความเสียสละต่อกัน
พระพุทธเจ้าของเรา ตั้งแต่ครั้งบำเพ็ญพระบารมีเพื่อโพธิสมภาร ก็ทรงบำเพ็ญทานมาโดยลำดับ จนกระทั่งกิตติศัพท์กิตติคุณของพระองค์ร่ำลือกระฉ่อนไปทุกทิศทุกทาง เพราะการให้ทาน เวลามาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ไปที่ไหนก็มีแต่คนสักการะบูชา นำสิ่งของมา ให้ทาน ตลอดเทวดาเทวบุตรก็ให้ทานเช่นเดียวกัน ไปที่ไหนมีแต่ของทิพย์ ของทำขึ้น ที่มาเองโดยไม่ต้องขอร้องจากใครๆ ใครก็มีความเชื่อ ความเลื่อมใส อยากจะให้ทั้งนั้นต่างนำมาถวายพระองค์ จนกระทั่งพระสงฆ์สนทนากันในธรรมสภาที่ชุมนุมว่า
ที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปในสถานที่ใด มีแต่คนนับถือ มีแต่คนทำบุญให้ทานเกลื่อนไปหมดด้วยวัตถุไทยทานนั้น เป็นเพราะอำนาจแห่งความเป็นพระพุทธเจ้าของพระองค์
พระองค์ทรงทราบ ได้รับสั่งคัดค้านว่า เมื่อเราตถาคตไปที่ไหน มีแต่ผู้นำสิ่งของมาให้ทานจำนวนมากมายนั้น ไม่ใช่เพราะความเป็น พระพุทธเจ้า ของเรา แต่เป็นเพราะอำนาจแห่งทานของเรา ที่ได้ทำมาโดยลำดับๆ ต่างหาก แม้แต่ความเป็นพระพุทธเจ้าของเรา ก็เป็นมาจากความดี มีทาน เป็นต้น ไม่ใช่จะเกิดขึ้นมาเฉยๆ และมีฤทธาศักดานุภาพ ด้วยความเป็นพระพุทธเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น แม้แต่ความเป็นพระพุทธเจ้า ยังต้องอาศัยคุณงามความดีทั้งหลาย มีทานบารมีเป็นต้น จึงได้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ท่านรับสั่งอย่างนั้น
ฉะนั้น การให้ทานจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่มากสำหรับโลกที่อยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มเป็นคณะ นอกจากนั้นยังเป็น อุปนิสัย ติดตามผู้มีนิสัยเช่นนั้นอีกด้วย คนที่ชอบให้ทานไปไหนมีแต่อยากให้ทานเรื่อยๆ เป็นนิสัยฝังอยู่ภายในจิตใจ ยิ่งมีคนแนะนำสั่งสอนอบรมให้รู้เรื่องรู้ราวเรื่องการทำบุญสุนทานด้วยแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มนิสัยนั้นให้มากมูนขึ้นไป จนกลายเป็น นักเสียสละ ประจำนิสัยวาสนา นอกจากนั้นไปเกิดในสถานที่ใด คนนั้นพวกนั้นไม่อดอยากขาดแคลน เพราะอำนาจแห่งทานที่ตนได้ทำไว้แล้วใน บุพชาติ เป็นเครื่องสนับสนุน ยกตัวอย่างเช่น พระสีวลี เป็นต้น ท่านไปในสถานที่ใด มีแต่คนถวายวัตถุปัจจัยไทยทานเต็มไปหมด ตามถนนหนทาง ตามบ้านตามเมือง ท่านไปที่ไหนไทยทานเต็มไปหมด รองพระพุทธเจ้าลงมา พระสาวกองค์หนึ่งที่มีอติเรกลาภมาก คือพระสีวลี
ในอดีตชาติท่านเป็นนักเสียสละ ไปที่ไหนก็มีแต่ให้ทานเป็นพื้นเป็นนิสัย ทานอย่างไม่อัดไม่อั้น ให้ทานตามนิสัยจริงๆ จะอดอยากขาดแคลนหรือจะมั่งมีศรีสุขขนาดไหนก็ไม่เคยลดละในการให้ทาน ขอแต่มีพอจะให้ทานเป็นให้ทานไม่ถอย จึงเป็นอุปนิสัยติดตัวมาโดยลำดับ เพราะฉะนั้นวาระสุดท้ายที่ท่านมาบวช และบรรลุธรรมเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงเป็นเลิศในทาง อติเรกลาภ มาก ไม่มีองค์ใดเสมอเหมือน ยกพระพระพุทธเจ้าเสียเท่านั้น นี่เป็นเพราะอุปนิสัยของท่านเอง
บรรดาพระสาวกที่เป็นพระอรหันต์ด้วยกันจึงมี เอตทัคคะ คือ ความเลิศต่างๆ กัน ไม่ค่อยจะซ้ำกัน เนื่องจากจริตนิสัยที่มีความหนักแน่นในแง่ต่างๆ แห่งความดีทั้งหลายนั้นต่างกัน บางองค์สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีคนเคารพนับถือ ไม่มีอติเรกลาภก็เยอะ แต่ท่านดีในทางอื่น ซึ่งเป็นความดีเช่นเดียวกัน จึงเป็นเครื่องสนับสนุนให้ท่านบรรลุธรรมถึงความพ้นทุกข์ แต่สิ่งที่ได้ก็แสดงให้เห็นชัดเจนอยู่ แม้ถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว สิ่งที่ได้ก็คือ ไม่มีคนถวายจตุปัจจัยไทยทานมากสมกับความเป็นพระอรหันต์ของท่านก็มี นี่เป็นเพราะอุปนิสัยที่เคยสร้างมาต่างกัน
คำว่า อุปนิสัย เป็นสิ่งที่ฝังแนบภายในจิตใจ ทำมาจนเกิดเป็นความเคยชินภายในจิตใจไม่มีใครบอก ก็เป็นความถนัดใจ เป็นความอยากทำไปเอง นั่นท่านเรียกว่า เป็นอุปนิสัย แล้ว หรือเป็น นิสัยปัจจัย แล้ว
วันนี้พูดถึงเรื่อง กองทุกข์ ในเบื้องต้น คือ กองทุกข์มีแต่ละรายๆ ถ้าต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างแยกกันไป ก็ไม่สู้เท่าไร ถ้ามารวมกันเข้าเป็นจำนวนมาก ก็ยิ่งเป็นความทุกข์ และสลดสังเวชมากขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นบ้านเป็นเมืองแห่งกองทุกข์ไปด้วยกันเสียสิ้น โลกนี้ไม่มีใครต้องการมาอยู่ จะมาอยู่ทำไม มีแต่กองทุกข์
เมื่อเราประมวลเข้าหาตัวเรา กองทุกข์มันมีอยู่ตลอดเวลา เราต้องการอะไรเพื่อขันธ์อันนี้? ขันธ์นี้มีแต่กองทุกข์ทั้งนั้น ถ้าผู้จะทำตัวให้พ้นไปเสียจากทุกข์ไม่มีเยื่อใยในอันใดเลย เห็นความทุกข์เป็นตัวภัยต่อตนอย่างยิ่งแล้ว ก็ต้องเร่งความพากเพียร อะไรๆ ก็หนักแน่นทุกสิ่งทุกอย่าง มีความมั่นคง ความพากเพียรก็มาก ความอุตส่าห์พยายาม ความอด ความทนก็มากไปตามๆ กัน เพราะความอยากพ้น สติปัญญาก็พยายามหาอุบายคิดค้น ที่จะให้ผ่านพ้นไปได้โดยลำดับๆ
แต่ถ้าเป็นความนอนใจแล้ว มันไม่เป็นอย่างนั้น พอมีความสุขบ้างเล็กน้อย ก็นอนใจไปเสีย เช่นเดียวกับคนไม่มีความฉลาด หาเงินมาได้บาทสองบาท จะพยายามเก็บหอมรอมริบก็ไม่เก็บ ซื้ออะไรให้เพลินไป จำเป็นหรือไม่จำเป็นก็ไม่สนใจ ขอแต่ได้ซื้อ ซื้ออย่างไม่อัดไม่อั้น ซื้ออย่างไม่คิดไม่ไตร่ตรอง เลยกลายเป็นนิสัยแห่งการซื้อการจ่าย โดยไม่คำนึงถึงเหตุถึงผลถึงความจำเป็น เวลาจนตรอกจนมุมมาก็หาทางไปไม่ได้ เลยจมอยู่ในทุกข์เพราะความอดอยากขาดแคลน อันสืบเนื่องมาจากความสุรุ่ยสุร่าย ไม่รู้จักประมาณในการจับจ่าย คิดเห็นแต่เฉพาะสดๆ ร้อนๆ ไม่คิดคาดการณ์ไกล เพราะไม่มีปัญญา ความฉลาดคาดการณ์
ส่วนผู้ที่ใช้สติปัญญา ที่จ่ายก็จ่ายไปด้วยความจำเป็น จ่ายสิ่งใดก็เห็นความจำเป็นในสิ่งนั้น และเป็นผลเป็นประโยชน์จาการจ่ายจริงๆ สิ่งที่เก็บไว้ ก็เพื่อความจำเป็นจริงๆ ในกาลต่อไป อย่างนี้เรียกว่า ผู้มีปัญญา นี่พูดถึง ทรัพย์ภายนอก
ทีนี้ การพยายามสั่งสมทรัพย์ภายในก็เช่นเดียวกัน เราอยู่ในโลกนี้ เราพอเป็นพอไปในธาตุในขันธ์ไม่อดอยากขาดแคลน บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ปัจจัยที่เกี่ยวกับส่วนร่างกายจะต้องอาศัย ก็มีพอเป็นพอไป ทีนี้ปัจจัยภายใน คือ อริยทรัพย์ ทรัพย์ที่พ้นจากข้าศึกโดยประการทั้งปวงนั้น ได้แก่บุญ ได้แก่กุศล ไม่มีใครจะมาแย่งชิงหรือฉกชิงวิ่งราว
หากเรามีเชื้อ จะเกิดในภพใด สถานที่ใดอยู่ตามเรื่องของคนมีกิเลส ก็ให้ได้มีธรรม มีความดีเป็นที่พึ่งพิงอาศัย จะไม่ทุกข์ร้อนเกินไป พอเป็น พอไป พออด พอทน นี่แหละเป็นสมบัติอันสำคัญ หรือเป็นเครื่องมืออันสำคัญ ที่จะบุกเบิกทางให้ถึงแดนแห่งความเกษม
ความอ่อนแอมีแต่เรื่องตัดรอนตัวเองโดยลำดับ ผลประโยชน์ที่พอจะได้ไม่มี ท่านจึงสอนให้ละ เพราะความอ่อนแอ ความขี้เกียจ ความมักง่าย เป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องของธรรม พอจะให้เกิดความร่มเย็นได้
ถ้าเป็นเรื่องของธรรมแล้ว ก็ตรงกันข้ามทีเดียว ธรรมของพระพุทธเจ้า บทใดก็ดี บาทใดก็ดี มีแต่สอนให้พินิจพิจารณา สอนให้มีความขยันหมั่นเพียร หนักก็เอาเบาก็สู้ ขอแต่ให้เหตุผลไปจุดนั้น ไปทางนั้น เดินตามสายนั้น จะยากลำบากแค่ไหนก็ตาม ก็พยายามทำไปโดยลำดับ นั่นแหละทางของนักปราชญ์! ท่านมีความสมบุกสมบันอย่างนั้น ท่านไม่เห็นว่า ร้อนนัก หนาวนัก ขี้เกียจ สายนัก เช้านัก ดึกนัก ขี้เกียจ ท่านไม่ได้ว่า
นั่นเป็นลักษณะของคนขี้เกียจ หาเรื่องผูกมัดคอตัวเองต่างหาก จะทำสิ่งที่ดี จะทำความดี มีแต่เรื่องแต่ราว สร้างขึ้นมาให้เป็นขวากเป็นหนามกั้นทางตัวเองเสียหมด หาทางไปไม่ได้ สุดท้ายก็นอนจมหนามอยู่นั่นแหละ ตอนจะนอนจมหนามไม่คิด เอาแต่ความสะดวกสบายในปัจจุบัน แต่เรื่องของความทุกข์ที่จะเกิดขึ้น เพราะความสะดวกนี้ ไม่ได้คำนึงถึง จึงโดนเอา โดนเอาแต่สิ่งที่ไม่พึงปรารถนา
นักปราชญ์ท่านใช้สติปัญญา พิจารณาคาดหน้าคาดหลัง ให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนแล้ว ท่านก็บุกไม่ยอมถอย! ตายก็ตาย คนทั้งโลกตายด้วยกันทั้งนั้น สัตว์ทั้งโลกตายด้วยกันทั้งสิ้น ไม่มีใครจะยังเหลืออยู่แม้รายเดียว! ตายก็ขอให้ตายดี จะทำความเพียรก็ทำได้ เมื่อยังมีชีวิตอยู่นี่ ตายแล้วทำอะไรไม่ได้ จะแก้ตัวก็แก้ในเวลามีชีวิตอยู่นี้ ตายแล้วแก้ไม่ได้ เหตุผลก็บอกอยู่อย่างนี้
ให้พยายามแก้นะ แก้ให้จนหมด แก้โทษหมดแล้วก็ไม่มีโทษ เหมือนนักโทษพ้นจากความเป็นนักโทษ พ้นจากเรือนจำก็ก้าวเข้าสู่ ความอิสระ จิตใจพ้นจากโทษ จากกรรมภายในใจแล้ว ก็กลายเป็น ใจอิสระ ความเป็นอิสระ เราผู้เป็นอิสระ แสนสบาย! ไม่มีใครมากดขี่บังคับได้ จิตใจที่เป็นอิสระ ก็ยิ่งผาสุกสบายยิ่งกว่านี้ร้อยเท่าพันทวี จนหาที่เทียบที่เปรียบไม่ได้!
ใครจะต้องการเป็น บ๋อย ใครจะต้องการเป็นทาส ของใคร? แต่เวลาเป็นทาสของกิเลส เราไม่ค่อยจะคำนึง จึงต้องติดอยู่ในห่วงของกิเลส กิเลสจึงบังคับบัญชาให้รับความทุกข์ ความทรมาน เพราะฉะนั้นจงเห็นกิเลสนี้เป็นข้าศึก แล้วต่อสู้กิเลส เพื่อชัยชนะ ใจเป็นอิสระแก่ตัวเอง ต่อสู้ไม่หยุดไม่ถอย กิเลสจะมีมากน้อยบนหัวใจก็สลายตัวไปได้ เพราะอำนาจแห่งการต่อสู้ การต้านทาน การทำลาย ใจก็กลายเป็นอิสระขึ้นมา
ใจเป็นอิสระแล้ว ก็ไม่มีอะไร มีแต่ความเกษมสำราญเท่านั้น ไม่มีอะไรที่จะสบายยิ่งกว่าความเป็นอิสระของใจ!
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ เป็นธรรมอันประเสริฐเลิศโลก เกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของพระองค์ และการประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นแล เป็นทางที่จะก้าวเข้าสู่ธรรมอันเกษม
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ พระสงฆ์องค์ประเสริฐทั้งหลาย ท่านเดินนำหน้าเรา เราเดินตามหลังท่านไปโดยลำดับด้วยข้อปฏิบัติดี ท่านเหล่านี้เป็นผู้พ้นทุกข์ไปแล้ว ตามเสด็จพระพุทธเจ้าทัน เราก็ตามรอยของท่านด้วยการประพฤติปฏิบัติดี อยู่ที่ไหนให้มีธรรมภายในใจ คนมีธรรมภายในใจ กิเลสกลัว ไม่ใช่กิเลสจะไม่กลัว กิเลสมันมีทั้งกล้า ทั้งกลัวอยู่ในตัวของมัน แต่มีอยู่ในใจของเรา เราจึงมีความกล้าความกลัวไปตามกิเลส ถ้าหมดกิเลสจริงๆ แล้ว ความกล้าก็ไม่มี ความกลัวก็ไม่มี มีแต่ความเสมอภาค มีแต่ความสม่ำเสมอ ความคงเส้นคงวา ปรากฏชื่อลือนามว่า ประเสริฐ อยู่อย่างนั้นตลอดไป นี่ไม่ใช่กิเลส แต่เป็นธรรมแท้ เป็นอย่างนั้น
เราต้องพยายามรีบเร่งขวนขวาย ลมหายใจหมดไปทุกวินาที แม้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกอยู่ เหมือนไม่หมดก็ตาม แต่มันหมดไปในหลักธรรมชาติของมัน ทีละเล็กละน้อยโดยลำดับ แล้วเอากลับคืนมาไม่ได้ เมื่อหมดไปๆ ก็ถึงที่สิ้นสุด คือ หมดไปเสียจริง ๆ จนไม่มีอะไรเหลือ เมื่อไม่มีลมหายใจเหลืออยู่แล้ว เขาจะเรียกว่าอะไร? ก็เรียกว่า คนตาย
การตายขอให้ตายแต่ร่างกาย จิตใจอย่าให้ตายจากคุณงามความดี ให้ได้เกาะ คุณงามความดีนี้ไป เพราะสาระสำคัญก็คือใจ และเป็น มหาสมบัติ ให้พยายามบำรุง ให้พยายามรื้อฟื้นขึ้นมา ด้วยความพากเพียร ให้เด่นดวงภายในจิต นี่แลท่านว่า สมบัติอันประเสริฐ คือใจ
สมบัติอื่นเหล่านั้น เป็นสมบัติภายนอก พอได้อาศัยเป็นวันๆ ไม่ได้ประมาท เกิดขึ้นมาก็ต้องอาศัยสมบัติภายนอกนี้แหละ เป็นเครื่องบำรุงส่งเสริมร่างกายของเราให้เจริญเติบโตขึ้นมา สุดท้ายก็ต้องอาศัยความดีที่เป็นสาระสำคัญภายในใจ พาไปตั้งรากตั้งฐานในภพชาติต่อไป หากกิเลสยังไม่สิ้น
เมื่อกิเลสสิ้นไปแล้ว เพราะความพากเพียรอันถึงเหตุถึงผล ถึงที่ถึงแดนนั้น ก็หมดปัญหาเรื่องเกิดๆ ตายๆ กลายเป็น มหาสมบัติ ดังพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็คือ ตรัสรู้มหาสมบัติ สาวกบรรลุก็บรรลุธรรมที่เป็นมหาสมบัติ ไม่ต้องมาวกเวียนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเหมือนกังหัน เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด จนตัวเองก็นับไม่จบไม่สิ้น ไม่ทราบว่าจะนับได้อย่างไร มันเหมือน ตามรอยวัวในคอก นั่นแหละ ไม่ทราบรอยเก่ารอยใหม่มันเหยียบย่ำแหลกไปทั้งคอก จะตามได้อย่างไร! มันวกมันเวียน มันสับมันสน เดินไปที่ไหน มองไปที่ไหน มีแต่รอยวัวเต็มอยู่ในคอก เพราะมันเหยียบย่ำไปมาเป็นประจำทั้งคืนทั้งวัน ไม่ทราบรอยไหนรอยออก รอยไหนรอยเข้า เพราะมันอยู่ในคอกไม่มีทางออก
ความเกิดความตาย มันซ้ำๆ ซากๆ กันอยู่อย่างนี้ตลอดไป จนกระทั่งตัวเองก็ไม่ทราบได้
คำว่า ความเกิด ความตาย ก็เป็นเรื่องความทุกข์มาพร้อมๆ กัน เมื่อตัดสาเหตุแห่งความเกิดความตายได้แล้ว คำว่า ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ก็ไม่มี นี่เป็นตอนสุดท้ายแห่งทุกข์เป็นอย่างนี้!
ผู้มีสติปัญญา ใคร่ครวญ พินิจพิจารณา แล้วสั่งสมความดีให้มากมูน อุตส่าห์บำเพ็ญทั้งทางทรัพย์ภายใน ทั้งทรัพย์ภายนอก ให้เป็นไปด้วยความสม่ำเสมอกัน ผู้นี้ชื่อว่า เป็นผู้มีปัญญา เวลามีชีวิตอยู่ ก็ได้อาศัยสิ่งนี้ ทางบุญ ก็มีความเย็นอกเย็นใจ เพราะความดีงามก็ได้สร้างไว้แล้ว เวลาพลัดพรากจากทางด้านวัตถุ มีร่างกายเราเป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นสมบัติอันสำคัญของตน เราก็ได้อาศัย สมบัติภายใน คือ บุญกุศล ที่ได้สร้างไว้แล้ว ไปเป็นต้นทุน เพื่อจะก่อกำเนิด เกิดในสถานที่ดี คติที่งาม สมกับบุญเป็นเครื่องสนับสนุนบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติในทางดี ตามหลักธรรมท่านกล่าวไว้ว่า
ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว นั่น!
อะไรคำว่า ที่ชั่ว? ก็ที่ ที่ไม่พึงปรารถนานั้นแล ในที่ ที่ไม่พึงปรารถนานี้ อะไรเป็นสาเหตุให้ไปเกิด ก็คือความชั่วนั้นแล พาให้ไปเกิด
เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ก็พยายามบำเพ็ญความดี เพื่อจะไปสู่สถานที่ดี ได้รับสิ่งที่สมหวัง ก็สร้างความดีขึ้นภายในใจ ไม่ประมาทนอนใจ วัน คืน ปี เดือน ล่วงไป ล่วงไป ความดีของเราก็ให้เป็นไปด้วยความสม่ำเสมอ ความสำคัญอยู่ที่ตัวเรา ไม่ได้อยู่กับ วัน คืน ปี เดือน เราต้องถือตัวเราเป็นสำคัญ จะรักษาอย่างใด ตัวเราจึงจะมีความแคล้วคลาดปลอดภัย มีความเย็นอก เย็นใจ ด้วยความดีทั้งหลาย ก็พยายามสร้างให้พอกับความต้องการ หรือเต็มความสามารถของเราที่จะเป็นไปได้ นี้ชื่อว่า เป็นผู้ถากถางหนทาง สุคโต ทั้งปัจจุบัน และอนาคตให้ตน ไม่สร้างขวากสร้างหนามไว้ปักเสียบตนเอง ย่อมมีความรื่นเริง อิธ นนฺทติ อยู่ในโลกนี้ก็มีความรื่นเริงบันเทิง เปจฺจ นนฺทติ ละโลกนี้ไปแล้ว ก็มีความรื่นเริง และรื่นเริงในโลกทั้งสอง คือโลกนี้ และโลกหน้า เป็นสิ่งที่ผู้นั้นจะพึงได้รับแต่สิ่งที่พึงพอใจ เพราะอำนาจแห่งบุญที่ตนได้สร้างไว้แล้ว ปราชญ์ทั้งหลายท่านสร้างแต่ความดีอย่างนี้ ท่านจึงเจอแต่ความดี ได้แต่สิ่งที่ดีมาแจกจ่ายพวกเรา เช่นพระพุทธเจ้าเป็นต้น เพราะท่านหาของดีท่านก็ได้ของดี แล้วนำมาแจกแก่สัตว์โลก จนกระทั่งทุกวันนี้ ยังไม่หมดไม่สิ้นไปเลย คือ พระโอวาทที่ออกมาจากธรรมของจริง
ท่านสอนอย่างถูกต้องแม่นยำกับเหตุผล ถูกต้องตามจุดความจริง หรือ หลักความจริง พวกเราถ้าจะเทียบก็เหมือนกับคนหูหนวก ตาบอด ถ้าไม่เชื่อคนหูดี ตาดี คนฉลาดแล้ว จะไปเชื่อใคร ความโง่มันกองอยู่เต็มตัวเรานี่ ความมืดบอดก็เต็มภายในหัวใจ ทิศทางจะไป ก็ไม่ทราบจะไปทางไหน อยู่ไป วัน คืน ปี เดือน ล่วงไป ล่วงไป แต่ความโง่มันไม่ล่วงไป ถ้าไม่แก้มัน เพราะฉะนั้นจึงต้องแก้ความโง่เขลาเบาปัญญา อันเป็นความมืดบอดนี้ออก ให้จิตใจมีความสว่างไสว มองเห็นทิศทางที่จะไป
จงเชื่อพระพุทธเจ้า ผู้มีทั้งตาใน ตานอก มีความเฉลียวฉลาด ทั้งภายนอก และ ภายใน ตามหลักธรรมที่เราถือเป็นสรณะว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ให้ถึงใจ! ให้ถึงใจ ฝากเป็นฝากตายกับท่าน ด้วยการปฏิบัติบำเพ็ญแบบนักต่อสู้ แบบ ลูกศิษย์มีครูอบรมสั่งสอน
ศาสนธรรมท่านสอนถึงจุดนี้ ตั้งแต่ต้นๆ มาโดยลำดับๆ ธรรมน่ะจะว่ากว้างก็กว้าง จะว่าแคบก็แคบ! เพราะรวมลงที่ใจนี้จุดเดียว ผู้นี้แล เป็นผู้รับทั้งดี ทั้งชั่ว ทั้งการทำดี ทำชั่ว ผลดี ผลชั่ว สุขทุกข์ รวมอยู่ในใจนี้ทั้งหมด ท่านจึงว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ใจเป็นสำคัญ ธรรมทั้งหลายรวมลงอยู่ที่ใจ ไม่อยู่ที่อื่นใด ให้แก้ลงที่ตรงนี้ ให้จิตใจมีความสว่างไสว
ร่างกายเต็มไปด้วยกองทุกข์ แต่ใจก็เต็มไปด้วยความสุข ซึ่งผิดกัน ร่างกายมืดตื้อตามธาตุหยาบของมัน แต่ใจสว่างกระจ่างแจ้งอยู่ด้วยอำนาจแห่งธรรม นี่แหละจิตกลายเป็น ธรรมธาตุ ภายในใจ เรียกว่า ธรรมธาตุ คือ จิตที่สว่างไสวภายในตัวอย่างเต็มภูมิ เพราะหมดสิ่งปิดบังโดยสิ้นเชิงแล้ว
แก้หรือถอดถอนมลทิน ชะล้างมลทินนี้ออกหมด ใจสว่างเต็มที่ครอบโลกธาตุ มีจิตดวงนี้เท่านั้นที่มีอำนาจมากที่สุด ครอบไปหมดโลกธาตุ ไม่คำนึงว่าไกลเกินไป หรือใกล้เกินไป พอดีอยู่ตลอดเวลา ด้วยความอ่อนความนิ่มนวลของจิต ความสว่างของจิต นิ่มนวลจนหาคำพูดไม่ได้ ครอบหมดโลกธาตุ สว่างกระจ่างแจ้งทั้งกลางวันกลางคืน
ท่านเรียกว่า อาโลโก อุทปาทิ ความสว่างกระจ่างแจ้ง ได้เกิดขึ้นแล้วภายในจิต
หมดทั้งร่างของเรา หมดทั้งโลก มารวมอยู่ที่ใจดวงเดียวนี้ ไม่อยู่ในที่อื่นใด สาระสำคัญอยู่ที่นี่!
จงพยายามปลดเปลื้อง พยายามแก้ไขจิตนี้ให้ได้ตามกำลังความสามารถของเรา หรือสุดความสามารถ! ผู้นั้นจะได้ครองสมบัติอันพึงพอใจภายในจิต และครองมหาสมบัติเป็นที่พึงพอใจอย่างยิ่ง ด้วยความบริสุทธิ์แห่งใจ ขอให้นำไปพินิจพิจารณาด้วยดี สมบัติที่พึงหวังและปรารถนามานาน จะเป็นของเราแต่ผู้เดียว
การแสดงธรรม ก็เห็นว่าสมควร ขอยุติเพียงเท่านี้
ggggggg |