อิสรเสรี
วันที่ 21 ธันวาคม 2518 ความยาว 25.36 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

อิสรเสรี

 

        งานของจิตเป็นงานละเอียด ละเอียดยิ่งกว่างานอื่นใดเท่าที่เคยผ่านมา ต้องใช้สติปัญญาทุ่มเทลงเต็มความสามารถ คำว่า “สติปัญญา” ก็มีความอ่อนแอ และมีความกล้าแข็งต่างกัน ขณะที่พยายามฝึกฝนอบรมสติปัญญา เบื้องต้นก็ล้มลุกคลุกคลาน แพ้มากกว่าชนะ นี่พูดเรื่องความแพ้ ความชนะ ถ้าพูดทางได้ ก็ได้น้อยกว่าเสียไป แต่ยังดีกว่าที่เสียไปตลอดเวลา และไม่มีความรู้สึกว่าตนได้เสียไป หรือไม่ได้คิดว่าตนต่อสู้เพื่ออะไร หรือแก้ไขอะไรบ้าง ยังดีกว่าแบบไม่รู้อะไรเลย อย่างนี้

         เพียงขณะที่เริ่มฝึกหัดจิตเบื้องต้น เราก็ได้เริ่มใช้สติแล้ว มีความตั้งท่าตั้งทางระมัดระวังอยู่ภายในใจ คือทำความรู้สึกกับใจ มีเจตนาพร้อม ไม่เช่นนั้นก็ไม่ทราบเรื่องของจิต ที่คิดออกอย่างละเอียดลอออยู่ตลอดเวลา

         ส่วนงานอื่นๆ เราจะทำอะไรทางกาย ก็ทำไปได้อย่างสะดวกสบาย คิดไปไหนก็คิดได้ และงานนั้นก็ไม่เสีย แต่งานของจิตนี้ ถ้าจะปล่อยให้คิดไปอย่างนั้น ก็ไม่เกิดประโยชน์ ถ้าคิดต้องคิดด้วยเจตนาจริงๆ คือคิดอ่านไตร่ตรอง ซึ่งเรียกว่าเป็นงานอันหนึ่ง ถ้าปล่อยให้คิดตามธรรมดาของนิสัยจิต ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร นอกจากเกิดโทษทุกข์ขึ้นมา เพราะความคิดปรุงที่ไม่มีสติควบคุม งานของจิตจึงเรียกว่า “งานละเอียด” แต่ก็เป็นงานเพื่อเราโดยเฉพาะจริง ๆ

อันดับแรก ก็คือเพื่อเรา อันดับต่อไป ก็เพื่อผู้อื่นที่ควรจะได้รับ หรือควรจะได้สงเคราะห์กันเป็นลำดับ ดังพระพุทธเจ้าของเรา ในขณะที่เสด็จออกทรงผนวช พระดำริในเบื้องต้น แม้จะทรงปรารถนาว่าจะทรงเป็น “ศาสดาสอนโลก” ก็ตาม ก็ไม่มีน้ำหนักยิ่งกว่าที่จะบำเพ็ญเพื่อพระองค์ คือเพื่อความรู้แจ้งแทงตลอด หรือเพื่อถอดถอนกิเลสที่ขัดขวางอยู่ในพระทัย เพราะเป็นภาระหนักอย่างมาก ให้สิ้นไปในขณะเดียวกัน ก่อนเป็น “ศาสดาเพื่อสอนสัตว์โลก”

ขณะที่ทรงบำเพ็ญเพื่อตัดจากสิ่งที่รักที่ชอบใจทั้งหลาย ที่สัตว์ตัดกันไม่ค่อยได้หรือตัดกันไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าทรงฝืนอย่างยิ่ง ราวกับฝืนตัดอวัยวะที่รักสงวนอย่างยิ่งของตนออกนั่นแล ถ้าพูดตามภาษาของเรา ก็อะไรจะรักยิ่งกว่าเมีย อะไรจะรักยิ่งกว่าลูกเล่า อะไรจะรักยิ่งกว่าสมบัติพัสถาน ยิ่งกว่าเกียรติยศเกียรติศักดิ์ ยิ่งกว่าอำนาจวาสนาที่ตนปกครองอยู่

อันดับแรกก็คือพระชายา นี่เป็นสำคัญมาก เพราะเป็นผู้พึ่งเป็นพึ่งตายกันมา อันดับที่สอง ที่เป็นสมบัติสุดที่รัก คือพระราชโอรสที่เพิ่งประสูติใหม่ๆ ที่กำลังน่ารักน่าพึงพระทัยขนาดไหน แม้เช่นนั้นเพียงจะเสด็จเข้าไปชมพระราชโอรส ซึ่งกำลังไสยาสน์อยู่กับพระมารดา ก็ทรงรำพึงไตร่ตรองก่อนว่า จะเป็นเหตุให้พระมารดานั้นตื่นจากบรรทมขึ้นมา แล้วจะเป็นอุปสรรคต่อการเสด็จออกทรงผนวชของพระองค์ สุดท้ายก็ต้องทรงงดและฝืนพระทัยตัดอย่างยิ่ง เหมือนกับดวงพระทัยจะขาดลอยไปเลยเวลานั้น แล้วเสด็จออกไปแบบตัดพระทัยที่เต็มไปด้วยความรัก ความห่วงใย แน่นพระอุระ

ตั้งแต่วาระแรกที่เสด็จออกทรงบำเพ็ญ ปฏิบัติพระองค์อยู่ด้วยความทุกข์ทรมานพระกายและพระทัยตลอดเวลา ความคิด ความห่วงใย อันเป็นมารตัวสำคัญ ก็ไม่มีอะไรจะมากยิ่งกว่ากิเลสมารประเภทนี้ เพราะเป็นสิ่งที่เหนียวแน่นแก่น “วัฏฏะ” ที่เป็นความหึงหวงมากที่สุดอยู่ภายในพระทัย แต่พระองค์ก็ทรงฝืนเต็มพระสติกำลังความสามารถตลอดมา

นอกจากนั้นยังฝืนต่อความเป็นอยู่ สถานที่อยู่ อาหาร ปัจจัยเครื่องอาศัย และการบำเพ็ญลำบากลำบนแค่ไหน ก็ทรงอดทรงทน มีพระทัยตั้งไว้ไม่ลดละ ไม่ท้อถอย ถึงพระจิตจะยังคิดถึงอะไรๆ อยู่ก็ตาม ก็ทรงพยายามตัดอารมณ์นั้นๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นเรื่องของกิเลสด้วยกัน ซึ่งควรจะตัดให้ขาดสิ้นไปจากพระหฤทัย

การถอดถอนกิเลส ต้องถอดถอนสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นแก่นกิเลสของผู้ครองเรือน จำเป็นต้องฝืน

พวกเราคิดดู ขณะที่เสด็จออกทรงผนวชเบื้องต้น! จนกระทั่งถึงวันได้ตรัสรู้เป็นเวลาหกปีนั้น! จะทรงมีความทุกข์ความทรมานมากมายเพียงไร เพราะสถานที่ อาหาร ปัจจัยต่างๆ เป็นคนละโลก กับที่พระองค์เคยประทับและเสวยอยู่แต่ก่อน จากหอปราสาท ไปประทับอยู่ในป่า ราวกับสัตว์ป่าตัวหนึ่งในเวลานั้น การบำเพ็ญก็เต็มไปด้วยความเข้มงวดกวดขัน สละเป็น สละตาย ถึงกับสลบไสลไปสามครั้ง เหล่านี้มีใครกล้าทำได้ ทั้งในวงพุทธบริษัท

เพียงเราอดอาหารเก้าวันสิบวัน ก็เป็นความทุกข์เพียงพออยู่แล้ว เฉพาะอย่างยิ่งในวัดป่าบ้านตาด พระท่านก็เคยอดอาหารบ้างเหมือนกัน เป็นเวลาหลายๆ วัน คือ ตั้งสี่สิบกว่าวัน (๔๐ กว่าวัน) ก็มี การอดอาหารเป็นการฝืนธาตุขันธ์ ท่านก็ต้องทุกข์ของท่านเต็มที่ไม่สงสัย เป็นแต่เพียงแง่แห่งการปฏิบัติทางใจนั้น ผิดกันกับพระพุทธเจ้า

ตอนที่พระองค์ทรงอดพระกระยาหารไม่เสวยเลย สี่สิบเก้า (๔๙) วันนั้น เป็นความมุ่งจะตรัสรู้ธรรม เพราะการอดอาหารโดยเฉพาะเท่านั้น ไม่มีความเพียรทางจิตใจเข้าเกี่ยวข้องเลย แต่ที่พระท่านอดอาหารนี้ ท่านอดเกี่ยวกับเรื่องจิตใจ คือเป็นแง่หนึ่งแห่งอุบายวิธีแก้กิเลส หรือเป็นการช่วยสนับสนุนในการแก้กิเลสทางจิตตภาวนา จึงมีที่ผิดแปลกกันอยู่ที่ ระหว่างพระพุทธเจ้าทรงอดพระกระยาหาร กับพระท่านอดอาหารในวัดป่าบ้านตาด

การฝึกทรมานร่างกายเกี่ยวกับการฆ่ากิเลสด้วยจิตตภาวนาเช่นนั้น การหลับการนอนก็ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งสี่อิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่มีความสะดวกสบายเลย ภายในจิตใจก็รบกับกิเลสทุกประเภทที่ฝังอยู่ภายในใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ การประกอบความเพียรเพื่อถอดถอนกิเลสทุกประเภทออกจากใจ เหตุใดจะไม่ได้รับความทุกข์ลำบากทรมานเล่า ก็ความทุกข์นั้นไม่มีใครต้องการ แต่ก็จำต้องฝ่าฝืน จำต้องก้าวเข้ากองทุกข์นั้นด้วยความเพียร จนกระทั่งผ่านไปได้ เพราะไม่มีทางเลือกเดิน ในขณะที่ก้าวเข้าไปบำเพ็ญไป ผ่านไปกับกองทุกข์ ซึ่งเต็มอยู่ในร่างกายเราทุกคน ใครจะไม่มีความทุกข์ ความลำบาก จะไม่ได้รับความทรมานทั้งทางกาย และทางจิตใจเล่า? ต้องเป็นทุกข์ และทรมานอย่างเต็มที่อยู่นั่นแล โดยไม่ต้องสงสัย

พระพุทธเจ้าของพวกเรา ทรงบำเพ็ญด้วยความลำบากทรมานอยู่ถึง ๖ ปี จึงได้ตรัสรู้ โดยวิธีที่ถูกต้อง คือ ทรงกำหนด “อานาปานสติ” ได้แก่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เป็นบาทฐานแล้ว เจริญวิปัสสนาญาณ โดยการพิจารณา “ปฏิจจสมุปบาท” คือ “ปัจจยาการ จึงได้ตรัสรู้ และปลงพระทัยลงได้ กลายเป็นอีกคนละโลก คือพระทัยที่เต็มไปด้วยกิเลสแต่ก่อนนั้น ได้กลายเป็นพระทัยที่บริสุทธิ์ขึ้นมาเต็มดวง ท่ามกลางแห่งความทุกข์ทรมานของการบำเพ็ญ แล้วก็ทรงนำธรรมมาสั่งสอนโลกตามหลักของศาสนา ดังชาวพุทธเราพากันศึกษาและปฏิบัติเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งน่าสะดุดใจในพระองค์ และพระธรรมอยู่ไม่น้อย

การเกี่ยวข้องกับโลก ด้วยแนะนำสั่งสอนโลกไม่นานนัก ทั้งนักบวชอยู่ก่อนแล้ว ทั้งประชาชนมีความเชื่อเลื่อมใสสนใจมากขึ้นโดยลำดับ เพราะต่างคนต่างจะหนีทุกข์ และต่างคนต่างจะหาความสุขใส่ตน หาหลักฐาน คือ ที่พึ่งทางใจ พอได้ยินกิตติศัพท์กิตติคุณ ของพระองค์ ว่าเป็นผู้ทรงสั่งสอนโดยถูกต้องแม่นยำ ก็ยิ่งเกิดความสนใจมากขึ้นที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับพระองค์ จนปรากฏเป็นพระสาวกขึ้นมามากมายในไม่ช้า นอกจากนั้นยังแตกแขนงออกไปเป็นเหล่า เป็นคณะ แห่งพุทธบริษัท อย่างรวดเร็ว

พุทธภาระที่พระองค์จะทรงเกี่ยวข้องกับประชาชน จะยิ่งมีมากมายขึ้นโดยลำดับ นี่ก็เป็นความทุกข์มากในพระกาย และเกี่ยวกับความรู้ผิดชอบในพระทัย แต่ความทุกข์ประเภทนี้ก็เพื่อสงเคราะห์โลกโดยถ่ายเดียว ไม่เกี่ยวกับพระทัย ที่จะต้องแก้ไขหรือถอดถอนกิเลสอาสวะแต่อย่างใด

สรุปความทุกข์ความลำบากแห่งการประกอบความเพียรพยายาม ที่จะให้หลุดพ้นจากอำนาจของความกดถ่วง หรือธรรมชาติอันต่ำทรามที่บังคับอยู่ภายในพระทัยของพระพุทธเจ้า ให้ทรงมีความทุกข์ ความลำบากทรมานดังที่ทราบกันมา ซึ่งพอจะนำมาปลุกปลอบใจเราให้เกิดความวิริยะ อุตสาหะได้เป็นอย่างดี

ศาสนาของพระพุทธเจ้าก็เป็นมาด้วยความลำบาก พระพุทธเจ้าทรงลำบาก การสั่งสอนก็ต้องสั่งสอนตาม “ปฏิปทา” ที่ทรงบำเพ็ญมา ด้วยความลำบากเช่นเดียวกัน จะสอนอย่างอื่นไปไม่ได้ ความฉลาดแหลมคมก็ไม่มีใครจะเกินพระพุทธเจ้า หากว่าธรรมที่จะนำมาสอนโลกเป็นไปด้วยความสะดวกสบาย โดยไม่ต้องทำความพากเพียรให้ลำบากลำบน เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า พระองค์จะประทานธรรมที่เหมาะสมให้ทุกๆ คน ใครพอฟังแล้วก็ให้ได้ มรรค ผล นิพพาน ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องมาฝึกฝนทรมานให้ลำบากลำบน ด้วยการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ทำบุญ ทำทาน ให้เสียอะไร ๆ ตลอดเวล่ำเวลา กำลังวังชาอะไรเลย

แต่นี่ไม่มีทางที่จะให้เหมาะสมยิ่งกว่าทางที่ทรงดำเนินมาแล้ว และให้ผลมาแล้วอย่างพอพระทัย ได้แก่ “มัชฌิมาปฏิปทา” คือ ทางสายกลาง แปลว่า เหมาะสมอย่างยิ่ง เราแปลเอาความเลย “มัชฌิมาปฏิปทา” แปลว่า เหมาะสมที่สุด ถ้าจะพูดถึงเครื่องมือ บรรดาเครื่องมือที่จะแก้กิเลสทุกประเภท ไม่มีเครื่องมือใดที่จะเหมาะสมยิ่งกว่ามัชฌิมาปฏิปทา จึงเรียกว่าเป็น “ท่ามกลางเสมอ หรือเหมาะสมอยู่ตลอดกาล” ในการแก้กิเลสทุกประเภทออกจากหัวใจสัตว์

เมื่อมัชฌิมาปฏิปทาเป็นอย่างนี้ ผู้ปฏิบัติจะให้นอกเหนือไปจากมัชฌิมา โดยที่ให้เป็นไปตามความต้องการของตน ไม่ต้องดำเนินตามหลักนี้เลย มันเป็นไปไม่ได้ จำเป็นต้องยึดหลักปฏิปทา จะยากลำบากเพียงไร ก็เช่นเดียวกับเราถากถางหนทางไปสู่จุดที่หมาย จะรกรุงรังขนาดไหน เมื่อเข็มทิศได้ปักลงแล้วโดยถูกต้อง มีกรุยหมายป้ายทางไว้แล้วว่า ต้องทำไปตรงนี้ ก็ต้องทำ! แม้ภูเขาก็ต้องเจาะมันทะลุไป เช่นเขาเจาะ “ถ้ำขุนตาล” เป็นทางรถไฟเป็นต้น ต้นไม้ใหญ่โตขนาดไหน รกรุงรังเพียงไร ก็ต้องถากต้องถาง สูงต่ำก็ขุดทำลายลงจนราบคาบ เป็นทางที่ควรเดินได้

การดำเนินตามหลักธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน คือ การนำเอาเรื่องใจที่มีกิเลสอยู่ภายในว่ามีมากน้อยเพียงไร เป็นประมาณแห่งความเพียร ถ้ากิเลสหนา ถึงมืดดำกำตา (ตาบอด) แต่จะให้สำเร็จเสร็จสิ้นไป ด้วยการนึกเอาเพียงเท่านั้นสำเร็จแล้ว ศาสนาก็ไม่จำเป็นต้องสอนโลกมากมายนัก พระพุทธเจ้าก็ไม่ต้องทรงลำบากกับบรรดาสัตว์โลกดังที่เป็นมาแล้ว

พระพุทธเจ้า และพระสาวกท่านต้องเป็นมานานแล้ว และเป็นด้วยความสะดวกกว่านี้ แต่ก็เป็นไปไม่ได้ ต้องเป็นไปตามหลัก “มัชฌิมาปฏิปทา” ที่เป็นธรรมคู่ควรแก่การแก้ การถอดถอนกิเลสทั้งมวลให้สิ้นไป

กิเลสของเรามีขนาดไหน ที่จะพอทำในลักษณะ “เอากบไปไสไม้ทั้งต้น” ไม้ควรถาก ควรฟัน ควรตัด ควรเลื่อย หนักเบาขนาดไหนเราก็ต้องทำอย่างหนักมือ จนกระทั่งมันเหมาะสมกับ “กบที่จะไปไสไม้” เราถึงจะไสได้

ถึงขั้นความเพียรที่จำเป็นต้องใช้สติปัญญาละเอียดลออ ให้เหมาะสมกับกิเลสประเภทนั้นๆ มันก็เป็นไปเอง ในระยะที่จะฟาดฟันกันอย่างหนักมือ สละเป็นสละตายกันลงทั้งส่วนร่างกาย เราก็ยอมรับกันไม่มีถอย! เอ้า! สู้กันไปจนถึงที่สุดตามหลักมัชฌิมาที่เป็นอย่างนี้ และยังเป็นที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติเป็นรายๆ ไปด้วย ในแง่หนักเบาแห่งมัชฌิมา นิสัยเราเป็นอย่างไร ถ้านิสัยเราหยาบ ก็แสดงว่ากิเลสมันหยาบ เราต้องทำให้หนักมือ ถ้านิสัยเราละเอียด กิเลสมันก็ละเอียดลงไป พิจารณาอะไรมันคล่องแคล่วโดยลำดับ แก้กิเลสลงไปได้เป็นลำดับ การปฏิบัติก็ไม่ลำบากนัก เพราะกิเลสไม่มาก เช่นเราถางป่า ป่าไม้ไม่รกมากมายอะไร มันก็ถางได้ง่าย ถ้าเป็นป่าหนาๆ จะไปทำง่ายๆ เหมือนกับป่าไม้บางๆ ก็เป็นไปไม่ได้ มันต้องทำหนักมือหน่อย

คนๆ เดียวนั้นแล กิเลสในขณะที่มันหนัก มันหยาบ มันหยาบจริงๆ เราต้องได้ใช้ความพยายามอย่างหนักหน่วง ทุ่มเทกำลังลงเต็มความสามารถ เอ้า! ตายก็ยอมตายเถอะ อย่างไรเรื่องความตายนี้เต็มอยู่ในตัวของเราอยู่แล้ว จะแยกแยะไปไหน ปลีกตัวไปไหนจากความตายนี้ไม่ให้ตาย ถึงวาระถึงกาลของมันแล้วก็ต้องตาย ป่าช้ามีอยู่กับตัวของเราแล้วเราไปกลัวอะไร! เมื่อจะทำประโยชน์ทำไมจะกลัวตาย? บทกิเลสพาเพลิดเพลิน ไม่เห็นนึกกลัวตายบ้าง พอได้สติยับยั้งตัว

การทำประโยชน์ ไม่ใช่การทำความล่มจมฉิบหายแก่ตัวเอง ซึ่งพอจะกลัวความตาย ความตายก็เป็นเรื่องของความตายต่างหาก การทำประโยชน์ก่อนตายเป็นเรื่องของคนฉลาด มีปัญญาฉวยโอกาสเวลากิเลสเผลอตัว

นี่เป็นเหตุให้เกิดมานะในทางที่ดี ที่เรียกว่า “มรรควิธี” มีกำลังขุดค้นกันลงไปให้เห็นสิ่งที่มีอยู่ในตน

ท่านว่า “ทุกข์” คัมภีร์ทุกคัมภีร์สอนมาชี้มาที่ “กาย” ที่ “ใจ” เรานี้ทั้งนั้น ว่ากองทุกข์ คืออะไร ก็คือกองกาย กับกองใจ ของเรานี้แลเป็นกองทุกข์ “ขันธ์ห้า” แปลว่า หมวด หรือกอง ก็กองทุกข์นั่นแล กำหนดดูที่ตรงนี้ แยกแยะดูให้ดี ให้เห็นประจักษ์ว่า ทุกข์มันเป็นความจริงอย่างไร อย่างไรจึงเรียกว่าความจริง ใจเป็นความจริงอย่างไร ให้ดูให้เห็นลงที่ “ขันธ์” ใจของเรานี่แล อย่าลังเลสงสัยหาความพ้นทุกข์จากที่อื่น จะผิดหวังตลอดไปไม่มีวันเจอ!

นี่เรียกว่า “เรียนเพื่อรู้เรื่องของเรา”!

เรานั้นแลเป็นผู้ก่อเรื่องให้เรา สิ่งเหล่านั้นเป็นแต่เพียง “ต้นเหตุ” อันหนึ่ง ที่จะให้จิตไปยึด แล้วมาก่ออารมณ์เป็นข้าศึกต่อตัวเองเท่านั้น

ความเป็นข้าศึกอันแท้จริงก็คือ ความคิดความปรุง ความสำคัญมั่นหมายไปในทางที่ผิดของจิตนั้นแล จึงเป็นการสั่งสมกองทุกข์ขึ้นมาในขณะที่จิตคิดไปในทางที่เป็นกิเลส ที่ท่านเรียกว่า “สมุทัย” เป็นเครื่องผลิตทุกข์

ก็เมื่อเราค้นคว้าอยู่ตลอดเวลา ตาม “สัจธรรม” ที่เป็นความจริงล้วนๆ อยู่แล้วด้วยสติปัญญาไม่ลดละความเพียร ความจริงต้องปรากฏขึ้นมาโดยลำดับลำดา จนกระทั่งเป็นความจริงเต็มส่วนภายในใจ

ภาระทั้งหมดจึงเต็มไปด้วยความตะเกียกตะกาย ความฝ่าความฝืน ความทรมานตนเอง เพื่อให้กิเลสหมดไป เป็นความดีของเรา! นี่ก็เหลือแต่กองทุกข์ ซึ่งเป็น “กากเมือง” อยู่ภายในร่างกายอันนี้ ก็ไม่เห็นมีพิษมีสงอะไร!

สมบัติอันมีคุณค่าอย่างยิ่งก็คือใจ เราได้ประกอบบำเพ็ญบรรจุธรรม เข้าเต็มดวงใจแล้ว เหลือแต่ “กากเมือง” คือ ขันธ์ห้า ได้แก่ร่างกาย เอ้า! จะไปเมื่อไรก็ยอมรับกันอยู่แล้ว เพราะพิจารณาเพื่อการยอมรับนี่ ไม่ได้พิจารณาเพื่อปฏิเสธว่ามันไม่ตาย เรื่องความตายนั้นมีอยู่แล้วทุกธาตุทุกขันธ์ ยอมรับกันตามหลักความจริงว่านี้คือป่าช้าของเรา ได้แก่ธาตุขันธ์นี้เอง พิจารณาจนจบขันธ์นี้แล้ว มันก็เป็น “กากเมือง” ไป ถึงคราวสลาย เราจะเรียกเป็นบุคคลาธิษฐานว่า “พญามัจจุราชมาเอา” ก็เอาไป มีแต่กากเมือง!

ความจริง คำว่า “พญามัจจุราช” แปลว่าอะไร? ก็คือความสลายของธาตุขันธ์ ที่มันประชุมกันนี้นั้นแล ไม่ใช่เป็นตนเป็นตัวอะไรที่ไหน ถ้าเป็นตัวก็เป็นตัวของเราเองสลายลงไป มันไม่มีอื่นใดนี่

เมื่อเรียนตามหลักความจริงนี่แล้ว อะไรจะมาหลอกลวงจิตใจเราได้ในโลกนี้ นอกจากอาการของจิตเรื่องของจิตหลอกลวงตัวเอง เพราะมีสิ่งจอมปลอมอยู่ภายในนั้นเป็นสาเหตุให้หลอกลวงไม่มีอะไรอื่น เมื่อสิ่งจอมปลอมทั้งหลายได้ถูกทำลาย ถูกชำระออกแล้วด้วยสติปัญญา ก็ไม่มีอะไรมาหลอกลวงได้อีก ขันธ์ก็ทราบว่าขันธ์ ธาตุก็ทราบว่าธาตุ ที่สมมุติว่าเป็น “กาย” เวลาจะตายก็ทราบว่ามันจะตายอยู่แล้ว ตั้งแต่ยังไม่ตายก็ทราบอยู่แล้ว เวลาจะตายจริงๆ เราจะไปหวั่นไหวที่ไหนกัน เพราะมันเดินไปตามความจริงที่ปัญญาพิจารณาไว้เรียบร้อยแล้วนั้น

นี่ท่านเรียกว่า “การเปลื้องตน” การสลัดสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อตนออกไป พ้นจากการกดขี่บังคับของใจซึ่งมีกิเลสตัวสำคัญ

ตามปกติจิตของสามัญชนเราเป็นเหมือน “นักโทษ” ไม่ได้อยู่โดยลำพัง ต้องมีผู้ควบคุม มีผู้บังคับบัญชา มีผู้ทรมานอยู่ตลอดเวลา เพราะอยู่ใต้อำนาจของเขา เมื่อได้สลัดปัดทิ้ง หรือปลดแอกออกไปแล้ว เราก็เป็น “อิสรเสรี” พ้นจากการกดขี่บังคับ พ้นจากการกดถ่วงใดๆ ทั้งสิ้น นั้นแลท่านเรียกว่า “เสรี, ธรรมเสรี, จิตเสรี” ใจเป็นอิสระ ดูได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ฟังได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรสามารถที่จะทำอันตรายต่อจิตใจเราได้

เมื่อถึงขั้นนั้นไม่ต้องถามถึงความสบาย ความปลดเปลื้องอะไร ที่ว่าลำบากลำบนมาแต่ก่อนนั้น จะมาเป็นผลให้ประจักษ์ในจุดนี้แล ความลำบากเพราะความพากเพียรก็หมด เป็นผลให้เราได้รับความอิสระ! เพราะฉะนั้นความลำบากในการประกอบความเพียรจึงไม่มีอะไรเสียหาย ยิ่งเป็นเครื่องสนับสนุนมาโดยลำดับ จนถึงจุดหมายปลายทาง นี่เป็นความลำบากที่มีคุณค่า ไม่ใช่ความลำบากทรมานกายทรมานใจเฉยๆ แต่ลำบากในการประกอบความพากเพียรเพื่อเราเอง มีคุณค่ามากอย่างนี้ จึงเป็นสิ่งไม่น่ากลัว เป็นสิ่งไม่น่าขยะแขยง เป็นสิ่งไม่น่าอิดหนาระอาใจ เป็นสิ่งที่น่าดำเนิน หรือน่าบำเพ็ญ เพื่อความพ้นทุกข์ หรือ เพื่อความหลุดพ้นจากสิ่งกดถ่วงภายในใจ

ใจ เมื่อถึงธรรมชาตินั้นแล้ว ย่อมหมดปัญหาไปทุกอย่าง ไม่มีอะไรเข้าไปเกี่ยวข้องเลย นั้นแลท่านว่า “อิสระ” ถ้าจะพูดแบบโลกก็ว่า มีแต่ความสง่างาม ความสว่างไสว ใจทั้งดวงเป็นธรรมทั้งดวง พลิกไปได้ว่า “ใจบริสุทธิ์” พูดให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยตามหลักธรรมชาติจริงๆ ก็กลายเป็น “ธรรมทั้งดวง” ไป อันนี้แลท่านเรียกว่า “ธรรมประเสริฐ” ออกจากใจที่ประเสริฐ เพราะหลุดพ้นจากสิ่งต่างๆ ต่ำช้าเลวทรามทั้งหลายแล้ว ใจบรรลุถึง “ธรรมหายห่วง”

นี่ “มัชฌิมาธรรม” ในหลักธรรมชาติ พาให้ถึงที่อันเกษม เป็นท่ามกลางอยู่ตลอดเวลา คือพอดีอยู่โดยสม่ำเสมอ ไม่มีกาล ไม่มีสถานที่ และไม่ต้องยุ่งกับเรื่องอดีต หรือคิดวุ่นกับอนาคตว่าจะเป็นจะตายอย่างไรต่อไป เพราะปัจจุบันนี้เป็นธรรมชาติที่สิ้นปัญหาโดยประการทั้งปวงอยู่แล้ว แม้ปัจจุบันก็ไม่ติดตัวเอง จะไปวุ่นกับอดีตอนาคตให้เสียเวล่ำเวลาอะไรกัน นี่คือความหมดกังวล “ถึงที่อันเกษม” ท่านถึงกันอย่างนี้!

ความคาดความหมายของคนเราก็คิดว่า ไปโน้น ไปนู้น ข้ามโลกข้ามสงสารโน้น ก้าวไปโน้นเหมือนเขาขึ้นไปพระอาทิตย์ พระจันทร์นั้นแล ความจริง ใจเราถูกกดถ่วงอยู่ที่ไหน เมื่อปลดเปลื้องได้แล้ว ก็เป็นความประเสริฐเป็นอิสระขึ้นมาในที่นั่นเอง! แต่คำว่า “ที่นั่น” นี้หมายถึงจิตเท่านั้น ไม่ได้หมายถึง ที่สูง ต่ำ หรือสถานที่ต่างๆ แต่หมายถึง “ความรู้ที่บริสุทธิ์นี้เท่านั้น”

คือ จิตนั้นเป็นผู้ถูกกดถ่วง ถูกกดขี่บังคับมากี่กัปกี่กัลป์จนนับไม่ถ้วน แล้วมาสลัดตัวออกเสียจากความกดถ่วงนั้น กลายเป็น “อิสรจิต อิสรธรรม” ขึ้นมาในความรู้อันบริสุทธิ์นั้น

นี่แหละเรียกว่า “ที่นั่น” หมายถึงที่อันนี้เอง นี่เราตั้งเป็นสมมุติขึ้นมา ถ้าไม่ตั้งอย่างนั้น โลกมีสมมุติ พูดกันก็ไม่ทราบจะคาดจะหมายว่าอย่างไร จึงกรุยทางไว้เป็นความหมายบ่งบอกตามสมมุติด้วยคำพูดอย่างนี้ แต่เมื่อเข้าถึงแล้วก็รู้กันเอง พูดอย่างไรก็ไม่ถูกตามความจริงของธรรมชาตินั้น จะถูกอยู่เฉพาะไม่พูดเท่านั้น ถูกอยู่โดยลำพังตัวเอง คือ ผู้รู้อยู่เท่านั้น อย่างอื่นพูดไปเท่าไรก็ไม่ถูก ความรู้นี่แหละ ทั้งๆ ที่เรารู้ๆ กันอยู่เวลานี้ ถ้าเราอาภัพ ก็คือธรรมชาตินี้เป็นผู้อาภัพ เพราะไม่มีอำนาจ ไม่มีความรู้เฉลียวฉลาดพอที่จะปลดเปลื้องสิ่งที่ทำให้อาภัพนั้นออกจากจิต จิตจึงกลายเป็น “จิตอาภัพ” ไป

แต่เมื่ออาศัยการอบรมอยู่โดยสม่ำเสมอจนมีความสามารถแล้ว ขจัดสิ่งอาภัพนั้นออกไป ใจก็กลายเป็น “ใจที่อัศจรรย์” ขึ้นมา เพราะไม่มีสิ่งอาภัพเข้าไปแทรกซึมได้ ว่าอาภัพก็อยู่กับจิต ว่าประเสริฐก็อยู่กับจิต เป็นแต่เพียง “พลิกตัว” เสียใหม่เท่านั้น! การแสดงธรรม ก็เห็นว่าสมควร

 

ggggggg

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก