สรณะ
วันที่ 20 ธันวาคม 2518 ความยาว 25.56 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

สรณะ

         พหÿ เว สรณํ ยนฺติ ในภาษิตที่ยกขึ้นนี้ท่านพูดถึงความจนตรอกจนมุมของคนที่ต้องวิ่งหาที่พึ่งระส่ำระสายไม่เป็นท่าเป็นสาระเพราะภัยต่างๆ คุกคาม แล้วก็วิ่งหาที่พึ่งตามประสาคนกลัวตาย ตามภาษิตที่ท่านว่าไว้ว่า

พหÿ เว สรณํ ยนฺติ              ปพฺพตานิ วนานิ จ,

อารามรุกฺขเจตฺยานิ            มนุสฺสา ภยตชฺชิตา

เนตํ โข สรณํ เขมํ             เนตํ สรณมุตฺตมํ,

เนตํ สรณมาคมฺม             สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ”

มนุษย์เมื่อถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมวิ่งหาที่พึ่งต่างๆ ตามที่ตนเห็นว่าจะปลอดภัยไร้ทุกข์ โดยวิ่งไปพึ่งต้นไม้บ้าง พึ่งภูเขาบ้าง วิ่งเข้าพึ่งเจดีย์ร้างบ้าง ทำการบวงสรวงไหว้วอนอะไรต่างๆ นานา เพื่อพ้นจากทุกข์ จากภัย เข้าในอารามร้างบ้าง ว่าเป็นที่พึ่งอันปลอดภัย

         ที่ว่า “เนตํ โข สรณํ เขมํ” นั้นว่า สรณะนั้นไม่เกษม สรณะนั้นไม่เป็นไปเพื่อพ้นทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อความปลอดภัย ไม่เป็นไปเพื่ออุดมมงคล ใครจะถึงสักเพียงใดก็เป็นโมฆะ หาความศักดิ์สิทธิ์มิได้

         นี่ตามบาลีที่แปลออกมาเป็นอย่างนี้ โย จ พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ สรณํ คโต ผู้ใดถึงซึ่งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ

     จตฺตาริ อริยสจฺจานิ            สมฺมปฺปญฺญา ย ปสฺสติ

         ทุกฺขํ ทุกฺขสมุปฺปาทํ           ทุกฺขสฺส จ อติกฺกมํ,

         อริยญฺจฏฺฐงฺคิกํ มคฺคํ          ทุกฺขูปสมคามินํ

     และผู้ใดปฏิบัติตนจนถึงความรู้แจ้งสัจธรรมทั้ง คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อย่างประจักษ์ใจ ผู้นั้นย่อมถึงความพ้นทุกข์

     เอตํ โข สรณํ เขมํ             เอตํ สรณมุตฺตมํ,

         เอตํ สรณมาคมฺม             สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจตีติ

         นั้นแลเป็นสรณะอันเกษม เป็นสรณะอันอุดม ปลอดภัยไร้ทุกข์โดยประการทั้งปวง

         ธรรมที่กล่าวมานี้ จึงไม่ใช่ธรรมอันเล็กน้อย เป็นธรรมเพื่อหัวใจของสัตว์ผู้แสวงหาที่พึ่ง ทั้งในเวลาจนตรอกจนมุม และผู้แสวงหาที่พึ่งในทางธรรม คือ ความหลุดพ้นจริงๆ ตามปกติสัตว์โลกต้องแสดงความว้าวุ่นขุ่นมัว เสาะแสวงหาที่พึ่ง มีอาการยุ่งโน่นยุ่งนี่ อยู่ทำนองนี้แต่ไหนแต่ไรมา เวลาภัยเข้าถึงตัว เที่ยวยึดผิดๆ ถูกๆ ไปตามประสาคนไม่มีหลักใจ เพราะไม่ได้สำเหนียกศึกษา ไม่เข้าใจว่าอันใดเป็นภัย อะไรเป็นคุณ จึงยึดแบบสุ่มสี่สุ่มห้ากันอย่างนั้น ผู้ที่เข้าใจก็ยึดได้หลักที่ถูกต้อง ย่อมเป็นไปเพื่อความปลอดภัย มีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น ที่ชื่อว่า “สรณะอันเกษม”

        จิตใจของเราทุกคนบรรดาที่มีกิเลสครอบงำ ย่อมจะมีภัยทั้งภายในภายนอกคุกคามด้วยกันไม่มากก็น้อยในกาลใดสถานที่หนึ่งจนได้ ฉะนั้นโลกเราจึงอยู่ในข่ายแห่งความคุกคามของภัยด้วยกัน เมื่อเป็นอย่างนี้ทำอย่างไรจึงจะได้หลัก “สรณะอันถูกต้องแม่นยำเป็นที่พึงพอใจ” ที่จะไม่ให้เสียใจ โดยอาศัยสิ่งนั้นๆ เป็นเครื่องยึด

         ท่านจึงสอนให้รู้สรณะ คือ “พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ” และการเข้าถึง “พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ สรณํ คโต” ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นสรณะอันประเสริฐ พึงใจทั้งในปัจจุบันและอนาคต ไม่ปล่อยวางเมื่อถึงคราวจำเป็นหรือจวนตัว ก็คว้ายึดติดแนบกับใจและไปแบบ สุคโต หายห่วง นอกจากการระลึกธรรมเป็นสรณะแล้ว ยังต้องประพฤติปฏิบัติตนตามหลักปฏิปทาที่ท่านทรงสอนไว้ ให้รู้เรื่องของความทุกข์ที่มีอยู่ในสัตว์โลก ทุกธาตุ ทุกขันธ์ ทุกสกลกาย ไม่ว่าหญิง ว่าชาย สัตว์บุคคลเหมือนกันหมด ไม่มีใครได้เปรียบและเสียเปรียบใคร

         เรื่องของทุกข์เป็นสิ่งน่ากลัว ที่ติดแนบอยู่ภายในกายในใจของสัตว์โลกทั่วๆ ไป เราจะหาอุบายวิธีหลีกเลี่ยงหรือทำให้หลุดพ้นจากทุกข์นี้ได้โดยวิธีใด ท่านจึงสอนว่า “หนามยอกให้เอาหนามบ่ง”

         ทุกข์ที่เกิดกับตนให้กำหนดรู้ว่านี้คือทุกข์ คือสิ่งที่เป็นภัยอันสัตว์โลกทั้งหลายกลัวกันยิ่งนัก เมื่อทราบชัดว่าสิ่งนี้เป็นภัยแล้ว ให้ค้นหาสมุฏฐานคือสาเหตุนั้น เช่น ใจคิดเรื่องใดขึ้นมามากน้อย ทำให้เกิดความเดือดร้อนขุ่นเคืองหรือจิตใจเป็นทุกข์ เพราะความคิดนั้นๆ ให้พยายามละความคิดนั้น อย่าได้คิดซ้ำคิดซาก ผลจะตามมาซ้ำๆ ซากๆ คือเป็นทุกข์แล้วทุกข์เล่า เป็นหลายหนหลายครั้ง ก็เป็นทุกข์มากขึ้นไปเอง จนปลงใจลงสู่ความสุขไม่ได้ถึงขนาดเสียสติสตังไปก็มี เพราะความคิดมากซึ่งมีเป็นจำนวนมาก นี่คือสาเหตุที่ทำให้เพิ่มความทุกข์ ท่านสอนให้พยายามละ พยายามกำจัด พยายามห้ามความคิดเช่นนี้ ด้วยกำลังแห่งสติ คิดค้นด้วยปัญญา เพื่อจะคลี่คลายสิ่งเหล่านี้ให้เห็นตามความเป็นจริงของมัน

         การที่จะค้นไปถึงสมุฏฐาน คือ เหตุให้เกิดทุกข์นี้ ก็ไม่นอกเหนือไปจากสติปัญญา ซึ่งเรียกว่า “มรรค” ที่อยู่ในสัจธรรมอันเดียวกันนั่นเอง คำว่า “นิโรธ” คือ ความดับทุกข์ก็ดับทุกข์ที่เกิดจากความกังวลวุ่นวายเหล่านี้ด้วยสติปัญญา ทุกข์ที่เกิดจากความกังวลวุ่นวายนี้เกิดขึ้นที่จิต จงใช้ความพยายาม ระงับดับลงที่ตรงนี้ด้วย สติ ปัญญา ศรัทธาความเพียร

         เรื่องโลกน่ะ จะว่ากว้างก็กว้าง แผ่นดินทั้งแผ่นใครจะกำหนดได้ว่ามันกว้างขนาดไหน นอกจากคนที่มีความรู้ความชำนาญทางวิทยาศาสตร์และวิธีคำนวณ จึงจะคำนวณได้ถูกต้อง คนเราธรรมดาไม่สามารถจะทราบได้ว่าโลกนี้วัดโดยรอบได้สักกี่กิโล กี่ไมล์ ความหนาของมันประมาณเท่าไร เราก็ไม่ทราบ โลกทั้งหมดนี้อะไรที่เป็นกองทุกข์สำคัญ ดินก็เป็นดิน ไม่ใช่ทุกข์ ต้นไม้ ภูเขา ที่เกิดอยู่กับดินกับพื้นที่เหล่านั้น มันก็เป็นต้นไม้ภูเขาตามหลักธรรมชาติของมัน ไม่ใช่เป็นตัวทุกข์ พระอาทิตย์อยู่บนฟ้าก็ไม่ใช่ตัวทุกข์ ดาวอยู่บนฟ้าก็เช่นเดียวกัน อากาศกลางหาวก็ไม่ใช่ตัวทุกข์ทั้งนั้น ทีนี้ใครล่ะเป็นตัวทุกข์? ใครล่ะที่รับทุกข์ ที่กระทบกระเทือนกับทุกข์ต่างๆ อยู่เวลานี้ แล้วมีใครจะเป็นผู้รับเคราะห์รับกรรมแห่งทุกข์ทั้งหลาย ที่กระทบกระเทือนอยู่เวลานี้ นอกจากใจจักมีอะไรเล่า!

        เมื่อสรุปแล้วก็ได้แก่ธาตุขันธ์ ได้แก่จิตใจของเรานี้เท่านั้น เป็นภาชนะยอมรับสุขและทุกข์ทั้งหลายที่เป็นไปทั้งวันทั้งคืน เวล่ำเวลาที่ผ่านไป ก็ผ่านไปตามกาล ตามธรรมชาติของเขา แม้เวล่ำเวลานั้นๆ ที่ผ่านไปผ่านมา เขาก็ไม่ได้มีความหมายในตัวของเขาเลย ผู้มีความหมายในตัวนี้แล ไปคาดไปหมายเรื่องนั้นเรื่องนี้ นำทุกข์เข้ามาให้ตัวได้แก่ใจนี้แล ยังไม่ทราบว่าใจเป็นตัวคะนองและจอมหลงอยู่หรือ สำหรับผู้เป็นนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ถ้ายังไม่ทราบว่าใจเป็นนักก่อเหตุ ให้เกิดเรื่องต่างๆ ขึ้นมาเผาตน ก็ยากจะหาทางออกได้

         นอกจากใจก็คือร่างกาย ย่นเข้ามาแล้ว ก็มีแต่ร่างกายและใจของแต่ละราย ละรายแห่งสัตว์โลก ทั้งมนุษย์และสัตว์นี้เท่านั้นเป็นกองทุกข์ เป็นผู้รับทราบทุกข์ เป็นผู้รับความทุกข์ทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นมากน้อย และกระทบกระเทือนภายในร่างกายและจิตใจอยู่ตลอดเวลา

         ศาสนาท่านจึงสอนลงที่จุดสำคัญนี้คือใจ เพราะจุดนี้เป็นจุดที่รับเคราะห์รับกรรมอยู่ตลอดเวลา สร้างเคราะห์สร้างกรรมอะไรก็อยู่ที่จุดนี้เป็นผู้สร้าง ไม่ใช่สิ่งอื่นเป็นผู้สร้าง เราจะว่าโลกธาตุมันกว้าง ก็ว่าไปตามความสำคัญของจิตและคำพูด ที่ออกจากปากเพียงเท่านั้น แต่ก็ไม่สามารถจะลบล้างความทุกข์ที่มีอยู่ภายในกายและใจนี้ได้

         ถ้าไม่ย้อนเข้ามาแก้จุดแห่งทุกข์ ที่กายที่ใจนี้ ให้ถูกต้องตามธรรม ที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้ ทุกข์ก็จะไม่พ้นจากตัวเรา ทุกข์จะว่าเท่าภูเขาหรือใหญ่กว่าภูเขาก็ว่าได้ เพราะมันมีอยู่เต็มตัวเรา ภูเขาทั้งลูกใครเคยเห็นมันวิ่งเข้าโรงพยาบาลมีไหม? และนี้หมอคนไหนไปรักษาเยียวยาภูเขาทั้งลูก ว่ามันเจ็บมันไข้ที่ไหน มีไหม? ต้นไม้ ใบหญ้า เคยมีนางพยาบาล มีหมอไปรักษาเขาไหม ถ้าว่าเขาเป็นทุกข์ เขาเคยมีโรงพยาบาลเพื่อรักษาเขาไหม? ก็มันไม่มีนี่ ดินก็เป็นดิน ไม่ใช่สถานที่เกิดทุกข์ จึงไม่มีหมอไปประจำเพื่อรักษาดิน รักษาน้ำ รักษาไฟ รักษาสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ นอกจากเรื่องของสัตว์ของบุคคลนี้เท่านั้นเป็นสิ่งสำคัญ ที่เป็นผู้รับความทุกข์ความลำบากทั้งหลาย ซึ่งมาจากที่ต่างๆ เข้ามาสัมผัสสัมพันธ์กับกายและใจ หรือเกิดขึ้นภายในตัวเองโดยธรรมชาติและความคิดนึกพาให้เป็น

         ถ้ามองข้ามจุดที่เป็นความจริง คือ ความทุกข์ ความสุข ที่มีอยู่เฉพาะภายในใจเรานี้ ก็ชื่อว่าเรามองข้ามตัวเอง มองข้ามความจริง ก็ไม่สามารถมองเห็นความจริงได้ แล้วจะแก้สิ่งที่ผูกพันหรือทับถมเรา ซึ่งได้แก่ทุกข์และสมุทัยนี้ออกจากใจได้อย่างไร เมื่อไม่มองจุดที่ควรมอง ไม่แก้จุดที่ควรแก้ จึงควรแก้ลงที่จุดนี้ซึ่งเป็นความชอบธรรม

         วิบากขันธ์ คือ ร่างกายมันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก “วัฏฏะ” เราจะแก้ไขให้เป็นอย่างอื่นก็แก้ไม่ได้ จะไม่ให้มีก็ไม่ได้ เพราะมันมีขึ้นมาแล้ว การเยียวยารักษาร่างกายนี้ด้วยวิธีใดที่เคยรักษากันมา เราก็พอทราบได้ และเคยรักษากันตลอดมาอยู่แล้ว การทำมาหาเลี้ยงชีพ มีหยูกยาปลาแป้งอะไร ก็นำมาบำรุงรักษากันเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อร่างกายผิดปกติ นี่เราเคยรักษากันมา

         ส่วนเรื่องจิตใจ เราจะรักษาด้วยวิธีใด นี่เป็นสำคัญมาก ท่านสอนให้รักษาด้วยธรรมโอสถ “สกฺกตฺวา พุทฺธรตนํ ธมฺมรตนํ สงฺฆรตนํ โอสถํ อุตฺตมํ วรํ” นี่แหละเป็นยารักษาใจ ใจเป็นอย่างไรจึงต้องรักษา เพราะใจเต็มไปด้วยโรคด้วยภัยต่างๆ ภัยมีอยู่รอบด้านของใจ ทุกข์จึงมีอยู่รอบด้านของใจ เพราะฉะนั้นใจจึงควรเป็นคนไข้สำหรับรับยาคือ “ธรรมโอสถ” ถ้าปราศจากธรรมโอสถเป็นเครื่องเยียวยารักษาแล้ว ใจจะไม่พ้นจากความล่มจม จะไม่พ้นจากความทุกข์ความทรมาน ตลอดกัปตลอดกัลป์หากำหนดกฎเกณฑ์จุดหมายปลายทางไม่ได้ เกิดมาชาติใดภพใดจะเจอแต่ความทุกข์ทรมาน เพราะความไข้หนักหรือป่วยหนักของใจ ด้วยกิเลสอาสวะเป็นเครื่องเสียดแทงอยู่ตลอดเวลา ผลคือความทุกข์บีบคั้นจิตใจอยู่เสมอทุกภพทุกชาติ ไม่ว่าภพใดชาติใดต้องเป็นภพชาติที่คละเคล้าไปด้วยทุกข์มากน้อย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าไม่พยายามหาอุบายหลีกเลี่ยงแต่บัดนี้เป็นต้นไป

         ถ้าไม่พยายามแก้ไขในจุดนี้ให้ดีเท่าที่ควรแล้ว ไปภพไหนก็คือใจจะเป็นผู้ไป เป็นผู้รับเคราะห์รับกรรมในภพนั้นๆ เราจะหวังความสุขความเจริญจากภพไหน ถ้าไม่แก้จิตใจนี้ให้เป็นไปเพื่อความสุขความเจริญเสียตั้งแต่บัดนี้ ซึ่งกำลังรู้และรับผิดชอบกันอยู่นี้ ไม่มีทางอื่นใดที่จะแก้ไขจิตให้เบาบางสร่างซาลงไปจากความทุกข์ความทรมาน ที่เรียกว่า “โรคหัวใจ” นี้ได้ ถ้าไม่เข้าพึ่งหมอ คือ พระพุทธเจ้า และรักษาด้วย “ธรรมโอสถ” อันมีสติปัญญาเป็นยาขนานเอก

         ฉะนั้น ธรรมโอสถ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับรักษาใจของสัตว์โลก เราเป็นมนุษย์ผู้สูงสุดในโลกนี้ มีความเฉลียวฉลาดและสมควรแก่ธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ใด ก็มาประกาศสอนธรรมที่โลกมนุษย์นี้ เป็นสำคัญยิ่งกว่าที่อื่นใด เพราะทรงเล็งเห็นว่า แดนมนุษย์นี้เป็นแดนที่เหมาะสม

         สำหรับ “เรา” เหมาะสมกับ “ธรรม” หรือไม่? เราต้องตั้งปัญหาขึ้นถามตัวเราอีกทีหนึ่ง ปัญหาที่เราตั้งขึ้นถามตัวเองนี้ เพื่อให้ทราบความบกพร่องความสมบูรณ์หรือความผิดความถูกของตนมีประการใดบ้าง จะได้แก้ไขสิ่งที่บกพร่องและส่งเสริมความดีที่มีอยู่แล้วให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป การปฏิบัติดังกล่าวนี้ ชื่อว่ารักษาด้วยยา คือ “ธรรม” โดยถูกต้อง สมกับเราเป็นคนไข้ที่ไม่อยากล่มจมป่นปี้ ทั้งที่ยังไม่ควรจะเป็น

         ถ้าคนไข้ไม่สนใจกับหมอ ไม่สนใจกับหยูกยา โรคคนไข้นั้นก็มีทางจะกำเริบขึ้นเรื่อยๆ หาทางดีทางหายไม่ได้ ถ้าคนไข้มีความสนใจต่อหยูกต่อยา ต่อหมออยู่แล้ว โรคแม้มีมากน้อยก็มีทางจะหายได้ นี่เราเป็นประเภทที่สนใจต่อ “ธรรมโอสถ” อยู่แล้ว เพราะความพยายามบำเพ็ญตนด้วยอรรถด้วยธรรม ชื่อว่า “รักษาตนด้วยธรรมโอสถ” อันเป็นยาประเสริฐ ต้องมีหวังความเบาบางและหายได้วันเวลาหนึ่งแน่นอน

            “พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” นี้เป็นหลักสำคัญของใจ ที่ยึดเป็นธรรมโอสถ เพื่อเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจให้มีความชุ่มเย็น คิดไปไหนก็คิดได้คนเราน่ะ แต่ความทุกข์ความลำบาก ทั้งทางกายทางใจนี้ เป็นไปทั่วโลกทั่วสงสาร ไม่ว่าประเทศใด ชาติ ชั้น วรรณะใด เพราะต่างก็อยู่ในท่ามกลางแห่งกองทุกข์ จะไม่ให้เกิดทุกข์ในบุคคลในสัตว์เป็นไปไม่ได้ เพราะเราเกิดมาในกองทุกข์อยู่แล้ว

         ธาตุขันธ์เรานี้คือกองไฟ มีความบกพร่องอยู่ตลอดเวลาที่ต้องการการเยียวยารักษา จะอยู่เฉยๆ ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นย่อมไม่ได้ แม้ธรรมโอสถอันเป็นเครื่องบำรุงรักษาใจให้มีความร่มเย็นเป็นสุข ให้มีหลักฐานภายในใจ ก็เป็นธรรมที่ควรสนใจอย่างยิ่ง เป็นกรณีพิเศษอยู่ภายในใจโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะทำกิจการบ้านการเรือน หรือหน้าที่การงานหนักเบาเพียงใด การระลึกถึงคุณธรรม คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นี้ เป็นสิ่งที่ไม่หนักหน่วงถ่วงเวลาจนเสียการเสียงาน แม้แต่ความคิดความปรุงในเรื่องทั้งหลาย ขณะที่กำลังทำงานอยู่นั้นเรายังคิดได้ เหตุไรจะคิดอรรถคิดธรรม คือ “พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ ภายในใจไม่ได้!

        การสร้างหลักฐานคือธรรมให้แก่จิต สร้างที่ยึดที่มั่นคงให้แก่ใจ เป็นกรณีที่ควรอย่างยิ่ง ใจจะค่อยสว่างสร่างซาจากกิเลสอาสวะตัวก่อกวนลงได้โดยลำดับ และจะมีความร่มเย็นอยู่ภายในตลอดเวลา การแสวงหาที่พึ่งที่เป็นความถูกต้องตามหลักธรรม ได้แก่การแสวงหาคุณงามความดีเข้าสู่ใจ ใจมีความต้องการความสุขความสบายอยู่ตลอดเวลา แต่การหาโอกาสสร้างความสุขให้แก่ใจตามความมุ่งหมายนั้น เป็นไปได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะความฉลาดหรือกำลังวังชาไม่พอ

         นอกจากนั้น ผู้ไม่สนใจที่จะทำความสุขให้แก่ใจ รู้สึกจะมีอยู่มาก พากันไปแสวงหาความสุขจากสิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งเป็น “เครื่องเสริมไฟ” เสียมากกว่าที่จะเป็น “เครื่องดับไฟ” ฉะนั้นการแสวงหาผิดทาง จึงทำให้เกิดความทุกข์ร้อนแก่ตน แทนที่จะเป็นสุขดังใจหมาย

         ส่วน “ธรรม” เป็น “เครื่องดับไฟ” คำว่า “กิเลส” นั้นแล คือเชื้อไฟอันสำคัญแสดงเป็นไฟขึ้นมา คือความรุ่มร้อน จะแสดงมาจากไหน ถ้าไม่แสดงออกมาจากกิเลสซึ่งเป็นเชื้อไฟอันสำคัญอยู่แล้ว กิเลสทุกประเภทจะดับลงได้ด้วยน้ำ คืออรรถคือธรรม คือความดีทั้งหลาย อย่างอื่นดับไม่ได้

         เวลานี้เป็นโอกาสอันเหมาะสมกับเราทั้งหลายที่พอเป็นไปได้ ร่างกายก็สมบูรณ์ถึงแม้ว่าจะไม่สมบูรณ์ แต่จิตใจก็ยังสมบูรณ์อยู่ด้วยอรรถด้วยธรรม ด้วยสติปัญญา พอที่จะประคับประคองตนไปได้จนถึงวาระสุดท้าย อย่าให้เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ที่เรียกว่าเป็น “สัตว์พิเศษ” จากสัตว์ที่มีอยู่เต็มโลก ซึ่งไม่เหมือนมนุษย์นี้เลย มนุษย์เราได้เปรียบสัตว์ทั้งหลายอยู่มาก จงอย่าให้เสียเปรียบสัตว์ทั้งหลาย ในตอนที่ว่า “มนุษย์สูงด้วยความฉลาด แต่ต่ำด้วยความประพฤติ” กอบโกยทุกข์มาเผาลนตนเอง ซึ่งไม่สมควรแก่ความเป็นมนุษย์เลย

         สิ่งใดที่ดีงาม สิ่งใดที่เป็นความสุขดังที่จิตมุ่งหวังอยู่ตลอดเวลา จงเสาะแสวงหามาให้ได้ ความสุขจะเป็นขึ้นที่ใจเราเอง คนมีธรรมกับคนไม่มีธรรม คนแสวงหาที่พึ่งผิดกับคนแสวงหาที่พึ่งถูก มีผลต่างกันดังที่กล่าวมานี้

         ในบทธรรมที่ได้กล่าวมาเบื้องต้น คือ “พหÿ เว สรณํ ยนฺติ” การเสาะแสวงหาที่พึ่งที่หลบภัยนั้น แสวงหาต่างๆ กันตามความรู้สึก ถูกบ้าง ผิดบ้าง แต่ส่วนมากก็เป็นไปในทางที่ผิด ท่านจึงได้แนะไว้ทั้งสองทาง คือ ทางหนึ่งแสดงให้ทราบว่าเป็นทางที่ผิด ทางที่สองเป็นทางถูกต้อง ได้แก่ “พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ สรณํ คโต” แล้วก็แสดงเรื่องการปฏิบัติในอริยสัจธรรมทั้งสี่ ซึ่งเป็นหลักธรรมอันถูกต้องดีงาม และเป็นที่พึ่งอันอุดมสูงสุด ผู้ปฏิบัติด้วยความเข้มแข็ง ย่อมรู้แจ้งสัจธรรมทั้งสี่โดยรอบภายในใจถึงความบริสุทธิ์

         คำว่า “บริสุทธิ์” นี้ เราเคยได้ยินมานาน อะไรบริสุทธิ์เราก็ชอบ ยิ่งจิตใจบริสุทธิ์ด้วยแล้วเป็นสิ่งที่ “ร่ำลือ” มาก ประหลาดอัศจรรย์ หาอะไรเสมอเหมือนไม่ได้ในโลกทั้งสาม เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี ซึ่งเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ด้วยกัน จึงเป็น “สรณะอันประเสริฐของโลก” โลกได้กราบไหว้บูชา ไม่มีใครอาจยกตนไปกดขี่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ได้ เพราะเป็นธรรมชาติที่สูงส่ง นอกจากคนประเภทต่ำช้าเลวทรามเลยสัตว์ลงไปเท่านั้น ถึงจะเป็นไปได้ หากคนที่ระลึกดีชั่วได้อยู่แล้ว ย่อมไม่กล้าทำ ถ้าเป็นประเภท “อาจารย์เทวทัต” นั้นเป็นไปได้ เทวทัตก็ถึงขนาดคอยทำลายพระพุทธเจ้า แต่สุดท้ายเทวทัตก็เห็นโทษ ผู้ไม่ยอมเห็นโทษนั้นต้องขนาด “อาจารย์ของเทวทัต” นั้นอาจเป็นไปได้ อาจทำได้ อาจเหยียบย่ำทำลายศาสนธรรมได้

         การตำหนิติเตียนหรือลบล้างศาสนธรรม ลบล้างพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ลบล้างบุญ ลบล้างบาป ให้สูญไปจากโลก ไม่ให้มีด้วยความสำคัญหรือด้วยกิเลสความอยากอันลามกของตนนั้น เป็นฐานะของคนใจทราม ชาวพุทธทำไม่ได้

         กิเลสคือสิ่งลามก อันมีอยู่ภายในใจของสัตว์  จะไปลบล้างอะไรให้มันสูญหายไปก็ตาม ถ้าไม่ลบล้างกิเลส ตัวมันอยากให้บุญ บาป เป็นต้น สูญหายไปนั้น ออกไปจากใจได้แล้ว ผู้นั้นแลจะเป็นผู้ที่หาบเอากองทุกข์หนัก ทั้งๆ ที่การลบล้างบุญบาป เป็นต้น ยังไม่สำเร็จตามความมุ่งหมายเลย ท่านว่าไว้ว่า “บุญ บาป นรก สวรรค์ พรหมโลก นิพพาน” เหล่านี้ “เป็น เอส ธมฺโม สนนฺตโน” เป็นของมีมาดั้งเดิม จะโยกย้ายเปลี่ยนแปลงหรือลบล้างไม่ได้ ถ้าไม่ลบล้างที่ตน

         ย่นเข้ามาที่หัวใจของเรา จงพยายามลบล้างทุกข์ด้วยการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ความสุขความสบายไม่ต้องไปถามที่ไหนละ ทุกข์มีอยู่ที่ใด ความวุ่นวายมีอยู่ที่ใด แก้จุดนั้นได้แล้ว ความสุขความสบายความสงบเย็นใจจะปรากฏขึ้นมาเอง เท่าที่จิตหาความสงบเย็นใจไม่ได้ก็เพราะกิเลสผู้ก่อความวุ่นวายนั้นแล เป็นเครื่องก่อกวน เป็นเครื่องทำลายความสงบสุขของใจ สุขจึงหาทางเกิดหาทางเป็นขึ้นไม่ได้ เรื่องก็มีเท่านี้

         วันนี้ได้อธิบาย เรื่องการเสาะแสวงหาที่พึ่งให้ท่านทั้งหลายฟัง ทั้งทางที่ถูก ทั้งทางที่ผิด ในการเลือกเฟ้นนำเอามาประพฤติปฏิบัติ เพื่อเสาะแสวงหาที่พึ่งอันพึงใจภายในจิต จะได้ที่พึ่งอันเหมาะสม ที่พึ่งอันเกษม จะมีความเกษมสำราญเบิกบานอยู่ภายในใจ ทั้งปัจจุบันและอนาคตไม่มีที่สิ้นสุด จึงขอยุติเพียงเท่านี้

 

ggggggg


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก