เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘
พุทธศาสนาให้ที่พึ่งทางใจ
การเทศน์ตามตำรา กับ ทางภาคปฏิบัตินั้น ผิดกันอยู่มาก เทศน์ตามตำรา เราคอยฟัง คอยจดจำ ส่วนมากท่านเทศน์เรื่องราวนั้น เรื่องราวนี้ไป เช่น เทศน์เรื่องศรัทธานี้ อธิบาย ศรัทธา ไปเสียเป็นสายยาวเหยียด ความเพียร อธิบายไปเสียยืดยาว กว่าจะกึ่งหนึ่ง แขนงหนึ่งนี้ก็จะได้กัณฑ์หนึ่ง แล้วจิตก็ต้องติดตามไปเรื่อยๆ มียกตัวอย่าง เช่น ศรัทธา วิริยะ เป็นต้น ก็เป็นกัณฑ์หนึ่งได้ อย่างนี้จิตมันก็ไม่ค่อยปรากฏผลอะไรนัก ในขณะที่ฟัง
ในครั้งพุทธกาลท่านแสดงธรรม ท่านหวังให้ได้ผลในปัจจุบันด้วย ผลในวาระต่อไป คือ นำไปเป็นข้อคิดหรือปฏิบัติ ในส่วนที่จะไปปฏิบัติในวาระต่อไปด้วย ที่ท่านแสดงปรากฏผลประจักษ์เข้ากับหลักธรรมที่ท่านว่า
การฟังธรรม ได้รับอานิสงส์ ๕ อย่าง คือ.-
(๑) ผู้ฟังธรรม ย่อมจะได้ฟังสิ่งที่จะไม่เคยได้ยินได้ฟัง นี้เป็นข้อหนึ่ง
(๒) ข้อที่สอง สิ่งใดที่เคยได้ยินได้ฟังแล้ว แต่ยังไม่เข้าใจชัด ก็จะเข้าใจสิ่งนั้นชัดขึ้น
(๓) ข้อที่สาม จะบรรเทาความสงสัยเสียได้ คือ เราเคยข้องใจในธรรมข้อใดอยู่ เวลาท่านอธิบายไปเกี่ยวข้องกับธรรมนั้น เราก็เข้าใจ
(๔) ข้อที่สี่ จะทำความเห็นให้ถูกต้องได้ คือ ความเห็นตามธรรมดา มันมักเขว ปีนเกลียวกับหลักธรรมอยู่เสมอ การฟังบ่อยๆ ก็จะทำความเห็นนั้นให้ถูกต้องได้
ในสี่ข้อนี้ ก็เป็นแขนงของข้อที่ห้า ซึ่งเป็นข้อสำคัญ
(๕) ข้อที่ห้า จิตผู้ฟังย่อมผ่องใส นี่เป็นหลักสำคัญมาก เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในการฟังธรรม คือ จิตจะผ่องใสได้ จิตต้องมีความสงบในขณะนั้น ไม่ได้คิดอะไรเข้ามายุ่งกวนใจ นอกจากอารมณ์แห่งธรรม ที่ท่านกำลังแสดง เข้าไปสัมผัสภายในใจเราแล้วรับรู้กันโดยเฉพาะในขณะนั้น
จิตทำหน้าที่อันเดียว มีความรู้สึก มีความรับรู้กับบทธรรมที่ท่านแสดงไป ไม่มีอารมณ์ใดเข้าไปเกี่ยวข้อง ใจก็เป็นความสงบขึ้นมา เมื่อจิตมีความสงบแล้ว ย่อมมีความผ่องใสขึ้นภายในตัว จิตที่ไม่สงบก็หาความผ่องใสไม่ได้ ยิ่งจิตวุ่นวายมากมายเท่าไร ก็เป็นการสั่งสมความเศร้าหมอง ความเดือดร้อนให้แก่ตนมากมายขึ้นเท่านั้น
เพราะฉะนั้น การฟังธรรมที่จะให้ได้รับผลประโยชน์ในปัจจุบัน ขณะฟังควรตั้งใจ คือ ความรู้สึกของเราไว้เฉพาะตนนี้เท่านั้น ไม่ต้องส่งจิตออกไปภายนอก แม้ส่งมาหาผู้เทศน์ คือ เราตั้งความรู้สึกไว้ภายในตัวของเรานี้ จะให้ ความรู้ คือจิตนั้นอยู่ในจุดใดก็ได้ไม่สำคัญ สำคัญที่ให้อยู่ในตัวเรา เป็นความรู้สึกอยู่กับตัว นี่ชื่อว่าตั้งจิตไว้ถูกต้องแล้ว เพื่อรับธรรมในขณะที่ท่านแสดง
เมื่อเราตั้งจิตไว้เช่นนั้น ไม่ไปคาดไปหมาย ไม่ไปปรุงไปแต่งเรื่องอะไร ท่านจะเทศน์เรื่องอะไรก็ตาม มีความรู้อยู่เฉพาะ แล้วรับรู้ธรรมที่เข้ามาสัมผัสโดยเฉพาะ ๆ ขณะที่ท่านแสดงไปเท่านั้น ไม่ต้องไปตีความหมายอะไรมากมายในขณะที่ฟัง จิตย่อมได้รับความสงบ จิตที่มีความสงบย่อมเป็นความสุขขึ้นในขณะที่ฟัง
นี่เป็นผลที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ขณะที่ฟังเทศน์
ในครั้งพุทธกาล ส่วนมากท่านได้รับผลอย่างนี้ เพราะผู้เทศน์ก็เทศน์ตามหลักความจริง ซึ่งมีอยู่กับตัวเราทุกคน ท่านจะเทศน์เรื่องราวอะไรก็ตาม มันเกี่ยวโยงกับตัวของเราไปทุกระยะ เพราะเรื่องภายนอก กับเรื่องภายใน คือตัวเรา เป็นเรื่องคล้ายคลึงกัน พูดทางโน้นก็ถูกกับตัวของเราทางนี้ เรื่องอะไรก็ถูกกับเรื่องของเรา แม้จะพูดเรื่องสัตว์ เรื่องบุคคล เรื่องหญิง เรื่องชาย หรือเรื่องอะไร ก็จะเกี่ยวโยงมาที่ตัวเรา ซึ่งเป็นเหมือนๆ กัน เพราะฉะนั้น สัจธรรมสี่ จึงมีอยู่ทั่วโลก
คำว่า สัจธรรม คือ ทุกข์ สมุทัยฯ ก็คือ เรื่องทุกข์ เรื่องของกิเลส แน่ะ! ทุกข์ ก็คือผลของกิเลสที่ผลิตขึ้นมา มรรค ก็คือ การประพฤติปฏิบัติตน ในทางที่ดี ที่ชอบ ด้วย กาย วาจา ใจ นิโรธ คือ การระงับดับความกระวนกระวาย และทุกข์ทั้งหลายเสียได้ ด้วยการปฏิบัติที่ถูกต้องดีงามนี้ ในสี่อย่างนี้ มีอยู่กับทุกคน
เฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องทุกข์ กับ สมุทัยนี้ เด่นมากในสัตว์ ในบุคคล เพราะยังไม่มีช่องทาง ไม่มีอุบาย ไม่มีสติปัญญาที่จะแก้ไขและถอดถอนสิ่งเหล่านี้ออกได้ ด้วยเหตุนี้เองผู้ที่ถือศาสนา กับผู้ไม่มีศาสนาประจำตนเลยนี้ แม้จะเป็นมนุษย์เหมือนกัน ความได้เปรียบ เสียเปรียบ จะผิดกันอยู่มากมาย
ความได้เปรียบ คืออย่างไร? ผู้มีศาสนา คือ ผู้มีเครื่องยึดของใจ มีหลักใจ มีธรรมเป็นเครื่องยึด เพราะ ใจก็ต้องมีที่พึ่ง กายก็ต้องมีที่พึ่ง ถ้าเทียบแล้วก็เหมือนกับ เรือนกาย เรือนใจ เรือนกาย ได้แก่สิ่งอาศัยภายนอก เช่น บ้านเรือน อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น เป็นที่อาศัยของกาย
ส่วนธรรม คือคุณงามความดีทั้งหลาย ซึ่งเป็นอารมณ์ และเครื่องยึดของใจ ที่เป็นนามธรรม นี่เป็นที่ยึดของใจ เป็นอารมณ์ของใจ ใจมีหลักยึด คือธรรม ธรรมเป็นที่พึ่งของใจ ชื่อว่า เป็นผู้มีที่พึ่งทั้งสองอย่าง คือ มีทั้งทางกาย และมีทั้งทางจิตใจ
เมื่อสรุปลงแล้ว ผู้ที่มีศาสนาเป็นเครื่องยึดของใจเป็นผู้ได้เปรียบกว่าผู้ไม่มีศาสนาเสียเลย
เพราะผู้ไม่มีศาสนาเลยนั้น ก็มักจะแน่ใจไปในทางที่ว่า ความสำคัญทางจิตใจไม่มี นามธรรมที่จะเป็นสาระสำคัญเพื่อจิตใจไม่มี มีแต่ด้านวัตถุที่เป็นเครื่องยึดของกายและทั้งของใจด้วย ใจจึงมีความสนใจไปกับด้านวัตถุ โดยหาจุดหมายปลายทางไม่ได้ วัตถุพาเจริญ จิตใจก็เข้าใจว่าเจริญ วัตถุพาเสื่อมจิตใจก็เสื่อม โลกเจริญก็หมายถึงวัตถุมีความเจริญขึ้น เช่น ตึกรามบ้านช่องเจริญ โลกเสื่อมก็คือ สิ่งเหล่านี้เสื่อมไป ส่วนจิตใจไม่ได้คำนึงว่า เสื่อมหรือเจริญ เมื่อจิตใจไม่มีศาสนาแล้ว อย่างไรก็ต้องเสื่อมอยู่วันยังค่ำ เหี่ยวแห้งอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ด้านวัตถุเจริญหรือเสื่อม ผู้ไม่มีศาสนาเป็นเครื่องยึดเครื่องวัด จึงไม่ทราบว่าจิตใจเสื่อมหรือเจริญอย่างไร เพราะจิตที่ไม่มีธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวเกี่ยวเกาะ ก็เป็นจิตที่เสื่อมจนพอตัวอยู่แล้ว โดยปกติ ใจวิ่งตามวัตถุเสียหมด ไม่มีโอกาสที่จะทราบได้ว่าโลกนั้นมีอยู่สองโลก โลกภายใน โลกภายนอก คือ ด้านนามธรรมและด้านวัตถุ
นามธรรมคือจิตใจ ไม่มีทางทราบได้ ทราบแต่ด้านวัตถุถ่ายเดียว จึงถือเอาเรื่องของโลก คือด้านวัตถุนั้นเป็นความเจริญของทั้งทางร่างกาย คือความเป็นอยู่และทางจิตใจ ใจจึงไปยึดไปถือกับสิ่งนั้นๆ จนไม่ทราบว่าอะไรเป็นที่พึ่งของใจ มีด้านวัตถุเท่านั้น แล้วจะหาจุดหมายปลายทางไม่ได้ หาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้ เพราะจะเอาด้านวัตถุเป็น สรณะ ด้านวัตถุเป็นที่พึ่งของใจ เมื่อถึงคราวจะเป็นจะตายขึ้นมา เจ็บไข้ได้ป่วย เช่น ร่างกายทรุดโทรม เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายขึ้นมาก เพราะใจติดแน่นอยู่กับร่างกาย เข้าใจว่าร่างกายนี้เป็นตัวของเรา ไม่ได้เข้าใจว่าจิตเป็นจิต กายเป็นกาย เพียงแต่อาศัยกันอยู่เท่านั้น แต่ความรู้สึกของเขาไม่ได้เป็นเช่นนั้น จึงเกิดความเดือดร้อนวุ่นวายมากภายในใจ ยิ่งกว่าคนที่มีธรรมภายในใจ มีศาสนาภายในใจ เพราะใจไปอยู่กับวัตถุ หรือไปอยู่กับโลก โลกพาเจริญก็เจริญ โลกพาเสื่อมก็เสื่อม หรือวัตถุพาเจริญก็ว่าเจริญ สังคมพาเจริญก็ว่าเจริญ ตนจะเดือดร้อนเพียงใดก็ตาม เมื่อสังคมนิยมอย่างนั้น ก็ถือว่าโลกเจริญทั้งๆ ที่เดือดร้อนอยู่ด้วยสังคมที่โลกนิยมทั้งหลาย
เพราะความนิยมนี้ มันนิยมได้ทุกแง่ทุกมุม อะไรๆ ก็ตาม มันนิยมได้หมด ขอแต่ความชอบใจมีในอันใด อันนั้นดีไม่ดีไม่คำนึงถึง ถือเป็นความชอบ เป็นความถูกต้องดีงาม เป็นความเจริญขึ้นมา นี่เรื่องของวัตถุ เป็นอย่างนี้
ส่วนจิตใจก็หาหลักยึดไม่ได้ตลอดไป จะเป็นคนรู้คนฉลาดแหลมคมขนาดไหน จะเป็นผู้มีฐานะดีเพียงไร หรือยากจนเพียงไร จะต้องหาหลักยึดไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะไม่มีอะไรเป็นหลักยึด นอกจากวัตถุ ผู้ที่มีวัตถุมากมายเป็นหลักยึดนั้นก็ยึดในทางที่ผิด ถือว่าสิ่งนั้นเป็นเรา สิ่งนั้นเป็นของเราหมด ร่างกายก็เป็นเรา อะไรๆ ก็เป็นเราเสียหมด ส่วน เราจริง ๆ มองไม่เห็น เพราะไม่ได้สนใจ ไม่รู้ ไม่เข้าใจ นี้แม้เจริญก็เจริญแบบลอย ๆ เจริญตามความสำคัญมั่นหมายไปเฉยๆ แต่เวลาถึงเสื่อมนั้นเสื่อมจริง ๆ เสื่อมภายในจิตใจ เกิดความเดือดร้อนจริงๆ จนกระทั่งสุดท้ายเอาตัวไม่รอด หาหลักยึดอะไรไม่ได้ทั้งนั้น วุ่นไปหมดทั้งบ้านทั้งเรือน วัตถุสิ่งของเงินทองทั้งหลายไม่เป็นประโยชน์ และพลอยวุ่นไปตามๆ กัน กับใจที่วุ่นวายดวงนั้น
ระหว่างคนที่มีศาสนา กับคนไม่มีศาสนาผิดกันที่ตรงนี้!
ทีนี้แยกออกมา หาคนที่นับถือพุทธศาสนา เฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ปฏิบัติศีลธรรมมีจิตตภาวนาเป็นต้น จะแตกต่างกันอยู่มาก กับผู้ถือศาสนาทั่วๆไป และผู้ไม่ถือศาสนาเลย เพราะเหตุไร?
เพราะพุทธศาสนาท่านสอนหลายชั้น หลายภูมิ ชั้นใดที่ควรปฏิบัติอย่างไร เช่นคนยังไม่เคยรู้จักการทำบุญให้ทาน ซึ่งเป็นฐานแห่งความดีในเบื้องต้น ท่านก็สอนให้รู้จักทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล นี่ก็เป็นความดีแต่ละอย่าง ๆ เป็น สรณะ ของใจด้วยกัน
นี่เป็น ขั้นหนึ่งของสรณะ คือ หลักใจ ที่พึ่งของใจ แล้วสอนให้ยึด พุทโธ, ธัมโม, สังโฆ นี่ก็เป็นนามธรรมอันเลิศ ซึ่งเป็นหลักของใจเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นก็เจริญจิตตภาวนา เช่น กำหนด พุทโธ เป็นต้น ไว้ภายในจิตในขณะที่ภาวนา หรือจะไปไหนมาไหน ให้มีความระลึกรู้อยู่กับคำบริกรรมนั้นๆ มี พุทโธ เป็นต้น ก็ชื่อว่า จิต มีหลักยึดอยู่ตลอดไป ตามขณะที่ตนระลึกได้ หากจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง เผลอไปบ้างในบางกาลบางเวลา แต่ก็ยังทราบอยู่ว่า มีที่พึ่งของใจ คือ พุทโธ เป็นต้น
นั่น! ผิดกันกับคนที่ไม่มีศาสนาเลย ซึ่งไม่ทราบว่าจะเอาอะไรเป็นที่ยึด เป็นหลักของใจ จิตเคว้งคว้างไปตามโลก ตามสงสาร ตามด้านวัตถุต่าง ๆ กว้างแคบไม่มีประมาณ จิตกระจายไปหมด หาตัวจริงไม่ได้ หาหลักยึดไม่เจอ
นี่ผิดกันอย่างนี้ ระหว่างคนมีศาสนาที่ทำบุญให้ทาน กับคนที่ไม่มีศาสนาเลย ราวฟ้ากับดิน หินกับเพชร
ทีนี้ การบำเพ็ญทางจิตใจ ที่เรียกว่า สรณะ เข้าไปโดยลำดับ ในเบื้องต้นเรากำหนดภาวนาดังที่ว่านี้ เพื่อเป็นอารมณ์ของใจ เพื่อใจได้ยึดธรรมนั้นเป็นอารมณ์ จนปรากฏเป็นความสุขขึ้นมาในขณะที่บำเพ็ญภาวนา ที่ท่านเรียกว่า ใจสงบ
พอใจสงบแล้ว ก็ปรากฏเห็นความแปลกประหลาดภายในใจของตน เพราะความสงบของใจ ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ใจหายยุ่ง ซึ่งเคยยุ่งมาแต่ก่อน ด้วยอารมณ์ต่างๆ ขณะนั้นไม่มีอารมณ์ใดๆ เข้ามารบกวนใจเลย มีแต่ความสงบแน่วแน่ ปรากฏเป็นความสุขเย็นใจ มีความอ่อนโยนขึ้นภายในใจ นี่เป็นเครื่องสะดุดใจอันหนึ่ง ที่จะให้ผู้ได้รับผลจากการภาวนานั้น มีแก่ใจ มีความเพียร มีความดูดดื่ม ในอันที่จะบำเพ็ญตนให้ปรากฏผลมากขึ้นไปกว่านั้น โดยลำดับ
ทีนี้ความพากเพียรก็ย่อมมีมากขึ้น ตามความดูดดื่มในผล เพราะความพอใจเป็นสาเหตุ เนื่องจากได้เห็นผลอันสำคัญ ใจก็ได้รับความสงบสุข เย็นขึ้นไปเรื่อย ๆ ปรากฏเป็นตัวของตัวขึ้นมาเรื่อย ๆ ต่างจากด้านวัตถุ
แม้ที่สุด ใจจะอาศัยร่างกายอยู่ก็ตาม ใจ กับ ร่างกาย จะไม่เป็นอันเดียวกันเลย ในความรู้สึกซึ่งเด่นชัดขึ้นโดยลำดับว่า กายเป็นอย่างหนึ่ง ใจเป็นอย่างหนึ่ง ในขณะที่ใจไม่สงบ ใจฟุ้งซ่านวุ่นวาย กายก็เป็นกายอยู่เช่นนี้ แต่เป็นอาการของจิตที่แสดงตัวขึ้นมาในทางไม่ดี ก็พยายามแก้ไขความไม่สงบของใจ ซึ่งเป็นความวิปริตผิดปกติธรรมดา จนกระทั่งจิตเข้าสู่ความสงบได้
การเห็นชัดว่า ความกำเริบของจิตเป็นเช่นนั้น การระงับดับความกำเริบของจิตได้ด้วยบทธรรม หรือวิธีการเช่นนั้น ผลปรากฏเป็นความสุขขึ้นมา เพราะวิธีการที่ถูกต้องนั้น ผู้ปฏิบัติรู้เห็นได้ชัดกับใจตัวเอง
นี่เป็นชั้นหนึ่งที่อธิบายมาในเรื่องสรณะของจิต คือจิตสร้างที่พึ่งสำหรับตัวเอง การสร้างที่พึ่งภายนอกก็ได้สร้างเต็มสติกำลังความสามารถมาแล้ว ไม่สงสัย เช่น สร้างบ้านสร้างเรือน ตึกรามบ้านช่อง สร้างที่อยู่ที่อาศัย ปัจจัยเครื่องอาศัยต่างๆ หามาเพื่อบำรุงรักษาร่างกายให้เป็นไปตามความจำเป็นที่ธาตุต้องการ ที่มีอยู่ทั่วโลกดินแดน จะหลีกเว้นกิจการงานนี้ไปไม่ได้ นี่เป็นความจำเป็นเกี่ยวกับเรื่องร่างกาย
ทีนี้ความจำเป็นที่เกี่ยวกับทางด้านจิตใจ ก็บำเพ็ญดังที่กล่าวมานี้ คือ สั่งสมความดีอันเป็นสาระของตนขึ้นโดยลำดับๆ จนกระทั่งสาระสำคัญกับใจนั้น แยกกันไม่ออก ปรากฏอย่างชัดเจนว่า นั้นเป็นนั้น นี้เป็นนี้ จิตเป็นจิต เมื่อได้แยกถึงขนาดทราบชัดว่า จิตเป็นจิตแล้ว จิตต้องเด่นดวง จิตต้องชัดเจนภายใจตัวเองจากสิ่งทั้งหลาย ไม่เป็นอันเดียวกัน
เมื่อพยายามสร้างความสงบของจิตให้มากเพียงไร ความแสดงออกของจิตไปในลักษณะต่างๆ ก็จะทราบไปในขณะเดียวกัน ว่าแสดงออกในทางถูก หรือทางผิด ถ้าเป็นทางผิด ก็รีบแก้ไขทันที ถ้าเป็นทางถูก ก็ส่งเสริมให้มีความเย็นขึ้น ด้วยอุบายเช่นนั้นๆ นี่คือ การสร้างฐานของจิต หรือ สร้างที่พึ่งของจิต ด้วยอำนาจของธรรม หรือด้วยอำนาจแห่งความดีทั้งหลาย มีจิตตภาวนาเป็นต้น สร้างโดยลำดับ จนสำเร็จเต็มภูมิจิตภูมิธรรม
จากนั้นก็พิจารณาแยกแยะออกให้เห็นชัดเจนด้วยปัญญา ใจมีความเกี่ยวเนื่องมีความสัมผัสสัมพันธ์ มีความติดพันกับสิ่งใด พยายามแยกแยะสิ่งนั้นกับจิต แยกจิตกับสิ่งนั้น เทียบเคียงกันให้ได้สัดได้ส่วน จนเป็นที่เข้าใจกันด้วยเหตุด้วยผล แล้วปล่อยวางกันเข้ามาเป็นลำดับ นี่ยิ่งเป็นการสร้างจิตให้มีความแน่นหนามั่นคงยิ่งขึ้นแก่ตัวเองเป็นขั้น ๆ
การสร้างจิต สร้างด้วยสติปัญญา พิจารณามากเท่าไร สติปัญญายิ่งแตกฉาน เฉลียวฉลาด รอบตัว แม้ที่สุด ความคิด ความปรุงของตน หลอกลวงตนด้วยวิธีใดก็ทราบ และใช้สติปัญญาตามต้อน หรือแก้ไขความจอมปลอมของสังขาร คือความคิดปรุงต่างๆ และสัญญา ความจำหมายต่างๆ อันเป็นเรื่องหลอกตนเองนั้น ให้หายไปโดยลำดับๆ มีแต่สติปัญญาเป็นเครื่องกลั่นกรองสิ่งเหล่านี้อยู่โดยสม่ำเสมอ จิตก็ยิ่งแนบแน่นเข้าไป มีหลักฐานมั่นคงเข้าไปเป็นขั้นๆ
นอกจากนั้น ยังจะสามารถทราบในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตนรอบด้าน เฉพาะอย่างยิ่งคือ ขันธ์ห้า ขันธ์ห้ามีอะไร ขันธ์ห้านี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะตามหลักธรรมดาสามัญทั่วๆ ไปแล้ว ขันธ์ห้ากับเรามันเป็นอันเดียวกัน ขันธ์ห้ากับตนนับเป็นอันเดียวกัน ตนกับขันธ์ห้าเป็นอันเดียวกัน แยกกันไม่ออก ใจกับขันธ์ห้าจึงเป็นอันเดียวกัน แยกกันไม่ออกเพราะไม่สนใจจะแยก หรือไม่สามารถจะแยก เหตุใดจึงไม่สามารถแยก เพราะไม่รู้วิธีแยกวิธีคลี่คลายสิ่งนี้ให้ทราบตามความจริงของมัน
เมื่อมีสติปัญญาขึ้นมาโดยลำดับ ตามครูอาจารย์ที่ท่านแนะนำสั่งสอน และตามวิธีของเราที่เคยบำเพ็ญมา ก็มีทางทราบได้โดยลำดับ เพราะฉะนั้น เรื่องขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้ จึงไม่ใช่สิ่งที่เหลือวิสัยของสติปัญญาที่จะแยกแยะให้เห็นตามความเป็นจริงของมันได้ นอกจากเราไปยึดถือมันเท่านั้น จึงพิจารณาให้เห็นอาการเหล่านี้ ได้อย่างชัดเจนว่า เป็นอาการหนึ่งๆ เท่านั้น อันใดจะตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ตามธรรมชาติของมัน เช่น รูปขันธ์ของเรา รูปขันธ์แสดงอาการวิปริตผิดธรรมดาอย่างไร เช่น เจ็บที่นั่น ปวดที่นี่ขึ้นมาจากความผิดปกติของตน การสร้างทุกขเวทนาขึ้นมา ก็เป็นเรื่องของธาตุของขันธ์ ที่เขาแสดงตัวของเขาต่างหาก เราเป็นแต่เพียงผู้รับทราบความผิดปกติของร่างกาย และการแสดงขึ้นแห่งทุกขเวทนามากน้อย ไม่หลงใหลไปตามอาการของมันที่แสดงขึ้น จะเป็นทุกขเวทนามากน้อยเพียงไร ก็ทราบชัดว่า นั้นคือ ทุกขเวทนา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
สัญญา จะสำคัญมั่นหมายว่า เราเจ็บที่ตรงไหน ปวดที่ตรงไหน และอันนั้นเป็นเรา มันก็แก้กันด้วยปัญญาเช่นเดียวกัน สุดท้ายสังขารปรุงขึ้นมา เจ็บที่นั่นที่นี่ มันก็ไม่มีพิษสงอะไร สัญญา ที่หมายว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ไม่มีพิษสง เพราะสติปัญญาครอบหัวมันอยู่ วิญญาณก็เพียงรับทราบเท่านั้น มันก็ดับไป ดับไป เวทนาที่ปรากฏขึ้น มันก็มีทางจะดับไปเช่นเดียวกัน จะปรากฏขึ้นมากน้อย ก็มีทางจะดับ ตามความปรากฏของมันซึ่งเป็นคู่กัน
สุดท้ายก็ทราบกันได้อย่างชัดเจน คือ ทั้ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอาการทั้งห้านี้ ว่าเป็นสิ่งหนึ่งๆ ต่างหากจากใจ ที่เป็นธรรมชาติของตัวเอง และแยกแยะกันได้โดยลำดับ
นี่คือ การสร้างที่พึ่ง สร้างหลักให้แก่จิตใจ อันไหนที่เป็นสิ่งจอมปลอม จะมีมากน้อยเพียงไร แทรกสิงภายในใจ ปัญญาสามารถแยกแยะคลี่คลายออกได้หมด ตามอำนาจของสติปัญญาที่มีกำลังไม่หยุดยั้งในการคลี่คลาย ในการแยกแยะ สุดท้ายก็กระจายไปหมด ไม่มีสิ่งใดที่จะมาแทรกสิงจิตใจได้ แม้แต่จิตเสียเอง ซึ่งมีกิเลสอันสำคัญแทรกอยู่ภายในนั้น ก็ยังสามารถทราบได้อีก ไม่เพียงแต่ขันธ์ห้าซึ่งเป็นของหยาบๆ กิเลสที่ละเอียดที่สุด ซึ่งนอนจมอยู่ภายในจิต ไม่อาจมองเห็นตัวได้เลย ปัญญาก็สามารถสอดแทรก แยกแยะได้ จนไม่มีอะไรเหลือ กระจายออกไปตามธรรมชาติของมัน สติปัญญากลั่นกรองออกให้หมด เหลือแต่จิตที่หมดจด บริสุทธิ์ล้วน ๆ
นั้นแล คือ ที่พึ่งอย่างเอกของใจ ไม่มีอันใดที่จะเอกยิ่งไปกว่านี้แล้ว พระพุทธเจ้าถึงธรรมชั้นเอก ก็คือ ถึงธรรมชั้นนี้แหละ ท่านที่ซักฟอกสิ่งที่เป็นมลทินทั้งหลาย ทั้งหยาบ ทั้งกลาง ทั้งละเอียด ออกจากจิตใจโดยสิ้นเชิง ไม่มีสิ่งใดเหลือ นี้แล คือ ที่พึ่งอันเอก ไม่มีที่พึ่งใดในโลกนี้จะเสมอเหมือน จิตที่ได้สร้างที่พึ่งของตนให้สมบูรณ์โดยหลักธรรมชาติไม่พึ่งอะไรทั้งนั้น เมื่อถึง เมืองพอ แล้ว ไม่ต้องพึ่งอะไร!
ส่วนธาตุขันธ์ ก็อาศัยกันไปตามธรรมดา ตามกาล ตามเวลา ทั้ง ๆ ที่เราก็ได้ทราบอย่างชัดเจนด้วยปัญญาว่า อาศัยกันไปตามกาลตามเวลาเท่านั้น ส่วนความดีของเราที่สร้างมามากน้อยเพียงไร ตั้งแต่การให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา รวมตัวเข้ามาสู่จิตใจ เป็นเครื่องแก้ไขสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่เป็นมลทิน ที่เรียกว่า บาป ทั้งหลายออกจากใจ ด้วยความดีทั้งหลายเหล่านั้น
สุดท้ายก็เหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วน ๆ คำว่า บุญ ก็หมดปัญหาไป คำว่า บาป ก็หมดปัญหาไป เพราะใจเลยแล้วจากคำว่า บุญ ซึ่งเป็นตัวสมมุติอันหนึ่งในทางที่ดีและจากคำว่า บาป ซึ่งเป็นตัวสมมุติอันหนึ่งในทางที่ต่ำ หรือในทางที่ไม่ดี จิตบริสุทธิ์ จิตเป็นกลาง ถึงธรรมชาติที่เป็นกลาง เรียกว่า มัชฌิมาในหลักธรรมชาติ อันเป็นผลเกิดขึ้นจาก มัชฌิมาปฏิปทา ที่เป็นทางดำเนิน
สุดท้าย ปฏิปทาอันเป็นตัวเหตุ มี สัมมาทิฏฐิ เป็นต้น ส่งจิตให้ถึงความบริสุทธิ์เป็น มัชฌิมาในหลักธรรมชาติของตน เป็นธรรมอันเอก นี้คือที่พึ่งอันเอก ซึ่งเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ เป็นหลักธรรมอันยิ่งใหญ่ภายในใจ
เพราะฉะนั้น คนที่ถือศาสนากับคนไม่นับถือศาสนา คนปฏิบัติธรรมกับคนไม่ปฏิบัติธรรม จึงมีความผิดกันอยู่มากมาย และได้เปรียบกันดังที่กล่าวมานี้
จึงขอให้ท่านพุทธศาสนิกชน บรรดาที่เป็น ลูกศิษย์ ทั้งหลาย ได้นำไปพินิจพิจารณา คลี่คลายสิ่งเหล่านี้ให้เห็นตามความเป็นจริงของตน คำว่า ที่พึ่ง ไม่ว่าจะขั้นใดก็ตาม อันเกิดจากคุณงามความดี จะเป็นสมบัติของท่านทั้งหลาย ที่ได้บำเพ็ญมาแล้วแต่ผู้เดียว ไม่มีผู้ใดจะมาแบ่งสันปันส่วนไปได้ เป็นก็ตาม ตายก็ตาม ความดีอันนี้แลจะเป็นเครื่องสนับสนุนให้เราไปเกิดในสถานที่ดี คติที่งาม
การแสดงธรรม ก็เห็นว่าสมควร ขอยุติเพียงเท่านี้
ggggggg
|