เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒
การบวชเป็นของยาก
การบวชท่านกล่าวไว้ว่าบวชได้ยาก บวชแล้วการประพฤติตามธรรมวินัย ก็เป็นของยาก การจะดำเนินทางด้านจิตใจของนักบวช เพื่อรู้แจ้งเห็นจริงตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าก็เป็นของยาก ทำไมจึงเป็นของยาก เพราะกิเลสไม่ใช่ของง่ายดาย กิเลสเป็นสิ่งที่เหนียวแน่นมั่นคงมาก การประพฤติปฏิบัติเพื่อถอดถอนหรือต่อสู้กับกิเลสจึงเป็นของยากทุกๆ ประโยคไป ความเป็นนักบวชก็คือความเป็นนักรบ เป็นนักต่อสู้กับสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่จิตใจของตน ไม่ว่าจะเป็นครั้งใดสมัยใดก็ตาม หลักความจริงมีมาอย่างนั้น
กิเลสไม่เคยมีความอ่อนแอท้อถอย พอที่จะชำระมันได้อย่างง่ายดาย กิเลสมีความขยัน มีความเข้มแข็ง มีความฉลาดแหลมคมมาก เวลาครอบหัวใจสัตว์ จึงทำให้สัตว์ขยันขันแข็ง และฉลาดไปตามเพลงขับกล่อมของมัน แต่ขี้เกียจอ่อนแอท้อแท้เหลวไหลและโง่เขลาในสิ่งที่เป็นธรรมเป็นสารประโยชน์ทั้งหลาย เพราะกิเลสเป็นข้าศึก เป็นคู่แข่งกับธรรม คือความดีงามทั้งหลายมาแต่กาลไหนๆ ไม่เคยลงรอยกันเลย กำลังทุกด้านของกิเลสมีมากไม่มีเวลาบกบาง จึงสามารถครองหัวใจสัตว์โลกเรื่อยมา
เรามุ่งหน้ามาบวชในพระพุทธศาสนา กว่าจะได้บวชก็เป็นของยาก บวชแล้วจะรักษาสิกขาบทวินัยซึ่งเป็นการขัดต่อนิสัยเดิมอันเป็นนิสัยของกิเลส ก็ต้องเป็นของยาก เพราะต้องต่อสู้กับกิเลสที่ฝังจมภายในใจ จนกลายเป็นนิสัยมานานแสนนาน ต้องระมัดระวังรักษากายวาจาใจที่เคลื่อนไหวไปมาอยู่เป็นนิจศีลนิจธรรม ใจจึงจะเป็นธรรมขึ้นมาได้ตามใจหวัง แต่จะเพราะเหตุผลกลไกอะไรก็ตาม มักมีกิเลสแทรกอยู่เสมอ ภายในอาการของจิตอาการของกายที่แสดงออกมา เมื่อเป็นเช่นนี้การประพฤติปฏิบัติจึงเป็นของยาก และมักเปิดช่องให้ฝ่ายต่ำย่ำยีตีต่อยอยู่เสมอ
โลกที่ไม่รู้พิษภัยของกิเลสหรือไม่รู้กลไกของกิเลสที่ฝังอยู่ภายในใจ และยอมจำนนต่อสิ่งเหล่านี้โดยไม่รู้สึกตัวอยู่แล้ว จึงประพฤติปฏิบัติกันยาก เกือบร้อยทั้งร้อยมักท้อถอยอ่อนแอ การที่จะบึกบึนหรือตะเกียกตะกายเพื่อแก้และถอดถอนกิเลส เพื่อความหลุดพ้นนั้น เราพอทราบกันทุกองค์ เพราะได้เริ่มปฏิบัติมาด้วยกัน ว่าระหว่างกิเลสกับธรรมซึ่งมีอยู่ในใจดวงเดียวนี้ แก้และถอดถอนกันยากยิ่งกว่าถอดถอนหัวหนามออกจากฝ่าเท้าเสียอีก การฝึกฝนอบรมและทรมานตนก็คือการต่อสู้กับกิเลส ซึ่งเป็นผู้เคยเสี้ยมสอนใจให้เชื่อมันอย่างฝังจมมาเป็นเวลานาน จึงเป็นของยากลำบาก แต่อย่าลืมว่า ความเลิศแห่งธรรมมีคุณค่าและน้ำหนักมากกว่าความลำบากทางความเพียรเป็นไหนๆ
การอุตส่าห์พยายามประพฤติปฏิบัติธรรมทางด้านจิตใจ ที่เรียกว่าการแหวกว่ายจากกิเลสไปแต่ละขั้นละตอนนั้น ต้องเป็นของยากลำบากไปตามจังหวะแห่งการต่อสู้ เพราะกิเลสไม่ว่าประเภทใด ต้องเป็นสิ่งที่เหนียวแน่นแก่นนักสู้ด้วยกัน มันเกาะอยู่กับจิตไม่ยอมปล่อยวางเอาง่ายๆ ถ้าอุบายวิธีและการปราบปรามมีกำลังไม่พอ ต้องยอมแพ้มันโดยไม่ต้องสงสัย นี่ท่านว่าการบวชก็ยาก บวชแล้วการประพฤติพรตพรหมจรรย์ให้เป็นไปตามสิกขาบทวินัยก็ยาก การจะตะเกียกตะกายตนให้หลุดพ้นไปตามทางสันติธรรมที่ท่านทรงสอนไว้ ก่อนที่จะหลุดพ้นไปได้ก็ต้องต่อสู้กับกิเลสอย่างเต็มสติกำลังความสามารถ ซึ่งก็พ้นจากความยากลำบากไปไม่ได้ เมื่อรวมความแล้วยากด้วยกันทั้งนั้น
แต่การยากของผู้เชื่อธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าก็ไม่ยากจนสุดวิสัย เพราะท่านผู้ได้ชัยชนะที่ผ่านไปแล้ว ส่วนมากล้วนผ่านไปด้วยความยากลำบากนั่นแล เพราะการปราบกิเลสทุกประเภทซึ่งเป็นสิ่งที่ปราบยาก ท่านก็เคยได้ปราบปรามมาแล้ว ทุกข์ขนาดไหนท่านก็เคยทุกข์มาก่อนแล้ว ทำให้เห็นประจักษ์พยานเป็นอย่างดี
ไม่ว่ากิเลสประเภทใด เกาะอยู่ในหัวใจใด จะต้องมีความเหนียวแน่นมั่นคง มีความฉลาดแหลมคมเกินกว่าจิตจะระลึกรู้ได้ว่าผิดหรือถูก ว่าเป็นโทษเป็นคุณประการใดบ้าง ถ้าไม่ใช้ธรรมมีสติและปัญญาธรรมเป็นต้นเข้าพิสูจน์ทดสอบกัน ซึ่งท่านก็พาดำเนินวิธีการเหล่านี้มาแล้ว
ขั้นจะทำจิตให้มีความสงบเป็นสมาธิก็ยาก ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แต่เมื่อพยายามตามหลักธรรมจริงๆ แล้วก็ไม่ยากจนเกินกำลัง เพราะความต้องการ ความอยาก ความหวัง ความมุ่งมั่นแต่ละอย่างซึ่งเป็นกำลังใจมีอยู่ภายในใจเราแล้ว ก็พอฟัดพอเหวี่ยงกันไปได้ทุกขั้นทุกภูมิของอรรถของธรรมและทุกประเภทของกิเลส ไม่นอกเหนือไปจากสติปัญญา ศรัทธา ความเพียรซึ่งเป็นอาวุธอันสำคัญนี้ไปได้เลย
ด้วยเหตุนี้จึงต้องพยายามเพื่อแหวกว่ายตนให้ออกจากวัฏวน คือหมุนไปเวียนมาด้วยการเกิดแก่เจ็บตาย ซึ่งล้วนเป็นเรื่องของกองทุกข์ โปรยไปตามระยะทางไม่ขาดวรรคขาดตอน เหมือนเขาโปรยข้าวตอกตามทางนั่นแล นี่แลเรื่องทุกข์ที่มันติดสอยห้อยตามไปในชาติความเกิด ชราความแก่ มรณะความตาย เป็นเช่นนี้
การฝึกฝนอบรมการทรมานนั้น ไม่มีการฝึกฝนการทรมานสัตว์ตัวใด ยากยิ่งกว่าการฝึกฝนทรมานมนุษย์คือเราแต่ละรายๆ นี่เลย พระพุทธเจ้าก็ทรงเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ถ้าให้นามตามขั้นมนุษย์ตามศักดิ์ศรีของมนุษย์ตามเกียรติของมนุษย์ ก็ให้นามว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ แต่กิเลสมันไม่ได้นิยมว่าเป็นคนชั้นใด มันคงเป็นกิเลสและเหยียบย่ำทำลายหัวใจของคนของสัตว์ ทุกขั้นทุกภูมิทุกชาติชั้นวรรณะ โดยไม่สะทกสะท้านเลย เมื่อเป็นเช่นนั้นจะไม่ยากไม่ลำบากได้อย่างไร ในการปลดเปลื้องกิเลสหรือสลัดกิเลสออกจากใจ เพราะมันเคยเกาะกินหัวใจมานานจนไม่อาจประมาณได้
ทั้งเบื้องต้นเบื้องปลายแห่งความเป็นมาของสัตว์ของบุคคลแต่ละราย เพราะความยืดยาวด้วยทุกข์เป็นสายยาวเหยียดมาด้วยกันกับชาติความเกิด ชราความแก่ พยาธิความเจ็บไข้ได้ป่วย ตลอดถึงความตาย นี่เรื่องของทุกข์ก็ติดสอยห้อยตามกันมา ไม่อาจกำหนดได้ว่าเป็นทุกข์มาแต่เมื่อไหร่ เคยเกิดเคยตายมาแต่เมื่อไหร่จนถึงปัจจุบันนี้
ที่ยืดยาวที่สุดไม่มีอะไรเป็นคู่แข่งได้ ก็คือความหมุนเวียนเกิดตายที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานของสัตว์ผู้มีกิเลสเป็นเจ้าอำนาจครอบงำใจนั่นแล เป็นเพียงเจ้าของไม่อาจจดจำความเป็นมาของตนได้เท่านั้น จึงไม่นึกขยะแขยงและกลัวกัน แม้ความระลึกไม่ได้นั้นก็คือกิเลสนั่นแลทำให้หลงลืมในความเป็นมาของตน มีความทุกข์ความลำบากยากจนเข็ญใจขนาดไหน กิเลสก็ปิดบังซ่อนไว้ไม่ให้เจ้าตัวรู้เห็น ต่างจึงทนทุกข์ทรมานกันมาด้วยความมืดบอดสุ่มเดา ไม่อาจมองเห็นจุดหมายปลายทางได้
ถ้าคนเราแต่ละรายๆ ทราบวิถีความเป็นมาของตนในเรื่องการท่องเที่ยว ได้แก่ความเกิดที่นั่นตายที่นี่ ซึ่งกลมกลืนไปกับความทุกข์ได้บ้าง ความทราบนั้นก็จะกระจายไปถึงเรื่องความทุกข์ความลำบากทั้งหลายที่ตนได้เคยประสบเคยรู้ เคยเห็นมา ก็พอจะมีแก่ใจอุตส่าห์พยายามแหวกว่าย ให้หลุดพ้นจากแหล่งแห่งวัฏวนอันนี้ไปได้เป็นรายๆ เป็นคณะๆ อันเป็นความรวดเร็วกว่าที่เป็นมาและเป็นอยู่นี้ไม่น้อยเลย เพราะความตื่นตัวกลัวทุกข์กลัวภัยเป็นสาเหตุให้ตะเกียกตะกายกัน
นี่ถึงเราไม่ทราบก็ตาม ผู้ที่เป็นสักขีพยานของเราก็คือองค์ศาสดา ธรรมที่ประกาศสอนไว้ก็ออกมาจากศาสดาองค์เอก ที่ทรงรู้ทรงเห็นตามความจริงทุกอย่างมาแล้ว ว่าสัตว์ทั้งหลายเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารไม่มีประมาณ ไม่นอกเหนือไปจากวัฏวนนี้ไปได้ เพราะเป็นที่อยู่ที่รวมของสัตว์ที่มีกิเลสพาให้เกิด-ตาย บรรดาสัตว์ที่มีกิเลสจะต้องเป็นอย่างนี้ด้วยกัน สิ่งตายตัวที่จะพาให้สัตว์เกิดและตาย ตลอดถึงได้รับความทุกข์ความลำบากต่างๆ ก็คือเรื่องอวิชชากิเลสประเภทละเอียด พาให้เป็นมาโดยลำดับลำดาไม่ขาดวรรคขาดตอนแห่งภพชาติ จนถึงปัจจุบันชาติที่กำลังเป็นอยู่เวลานี้
เราถือองค์ศาสดาและศาสนธรรมที่ท่านตรัสไว้นั้นมาเป็นสักขีพยาน ตาเราไม่สามารถมองเห็นเรื่องความเป็นมาของเรา หู ใจเราไม่สามารถรู้เรื่องรู้ราวความเป็นมาของตน ก็พึงยึดเอาหลักธรรมของท่านมาเป็นหูเป็นตา เป็นเครื่องประดับใจ เครื่องส่องใจเพื่อก้าวไปตามนั้น ย่อมจะเห็นทางออกจากวัฏทุกข์โดยลำดับไม่อับจน เรื่องเกิดตายก็จะไม่สงสัยเพราะเป็นความจริงอย่างตายตัว ไม่มีอะไรมาลบล้างได้ นอกจากธรรมคือวิวัฏธรรมเป็นต้น
การเกิดในภพน้อยภพใหญ่ เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเปรต เป็นผี เป็นยักษ์เป็นมาร เป็นเทวบุตรเทวดาอินทร์พรหม ก็อยู่ในวงแห่งวัฏจักรของคนและสัตว์ที่มีกิเลสด้วยกัน ไม่นอกเหนือจากธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ไปได้เลย ฉะนั้นจงยึดธรรมมาเป็นหลักใจ เป็นเครื่องส่องทาง เป็นสักขีพยาน เป็นหูเป็นตาเป็นความรู้ความฉลาด เป็นหลักดำเนินอย่าได้ลดละปล่อยวาง
ท่านว่าอวิชชาคือความมืดบอดนั้นเองเป็นตัวการใหญ่ รู้ก็รู้แบบอวิชชาเห็นแบบอวิชชา อะไรๆ เป็นแบบของมันทั้งสิ้นไม่ได้เป็นแบบธรรม พอที่จะให้เกิดความสว่างกระจ่างแจ้งแก่จิตใจได้เลย มันจึงลำบากสำหรับมวลสัตว์ผู้มืดบอดด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทานฝังใจ
ด้วยเหตุนี้จึงต้องยึดเอาหลักธรรมมาเป็นสักขีพยาน มาเป็นเครื่องฝากเป็นฝากตายไว้กับใจ พยายามตะเกียกตะกายไปตามนี้ ทุกข์ก็พอทนได้เพราะเคยทนมาแล้ว ทุกข์ด้วยความพากเพียรเพื่อถอดถอนกิเลสออกจากจิตใจ ไม่ใช่ทุกข์เพื่อความล่มจม พระพุทธเจ้าเป็นที่ยอมรับของพุทธบริษัททั่วโลกดินแดนแล้วว่า พระองค์เป็นทุกข์อันดับหนึ่งในวงพุทธศาสนา ในวงพุทธบริษัท เพราะการฝึกทรมานพระองค์ก่อนได้ตรัสรู้ธรรมมาแจกจ่ายสัตว์โลก เราเป็นศิษย์ตถาคตจำต้องเดินตามครู ครูพาเดินผ่านทุกข์ด้วยความพากเพียร ศิษย์ต้องเดินตามนั้นไม่ยอมถอย
ได้กล่าวเมื่อสักครู่นี้ว่าการฝึกฝนทรมานหรืออบรมตนนั้น ไม่มีอะไรยากยิ่งกว่าการฝึกฝนอบรมหรือทรมานมนุษย์ เพราะกิเลสพาให้ยาก กิเลสเป็นสิ่งที่เหนียวแน่นมากยากที่จะถอดถอน ยากที่จะตัดจะฟันหรือปราบปรามให้หมดสิ้นไปได้ง่ายๆ จึงต้องใช้กำลังเต็มความสามารถ เพียงขั้นสมาธิเท่านั้นก็ต้องใช้กำลังให้เหมาะสมกับสมาธิที่ควรจะเกิดขึ้นได้
เอา
.วันนี้ทำสมาธิไม่เกิดเพราะกำลังไม่พอ กำลังสติก็ไม่พอ กำลังความเพียรก็ไม่พอ จิตใจมีความท้อแท้อ่อนแอ ความสงบของใจเกิดไม่ได้ ต้องเพิ่มกำลังใหม่ พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงใหม่ ต้องพลิกกันอยู่อย่างนี้จึงเรียกว่าปัญญา ความฉลาดในการต่อสู้ เอาจนสงบได้ ทำไมจะสงบไม่ได้ ธรรมท่านสอนเพื่อความสงบทั้งนั้น ไม่ได้สอนเพื่อความฟุ้งซ่านรำคาญ ไม่ได้สอนเพื่อความส่ายแส่ไปตามกระแสของโลกสงสาร นั่นเป็นเรื่องของกิเลสพาให้เป็นไปต่างหาก ไม่ใช่ธรรมพาให้เป็น กิเลสพาใจให้ฟุ้งซ่านขุ่นมัว ธรรมพาให้ใจสงบผ่องใส กิเลสกับธรรมเดินสวนทางกันไปคนละจุด
จิตใจที่เป็นไปตามกระแสของโลกเหมือนน้ำซับน้ำซึม โดยไม่มีสติเป็นเครื่องกั้นกางหวงห้ามต้านทานกันบ้างเลยนั้น ไม่ใช่เป็นการบำเพ็ญธรรม แต่เป็นการเสือกคลานตามกิเลสที่ฉุดลากไปต่างหาก เราควรจะทราบในแง่เหล่านี้ไว้ เพื่อความรู้สึกตัวและเข้มแข็งทางความพากเพียรขึ้นอีก ช่วยจิตได้มีความสงบ นี่ก็ยากขั้นหนึ่ง
ในการฝึกมนุษย์คือเราผู้หนึ่ง ดูเอา
ยากหรือไม่ยาก การฝึกมนุษย์การฝึกพระให้เป็นพระที่สมบูรณ์แบบตามทางศาสดา เพื่อเป็นหลักยึดของใจอันมั่นคง จงยึดเอาพระพุทธเจ้าพระสาวกมาเป็นตัวอย่าง ท่านฝึกท่านยากลำบากขนาดไหน ส่วนเราจะฝึกแบบง่ายยิ่งกว่าท่านก็จะเก่งกว่าครูไปเพราะเหตุไม่เหมือนครู เหตุไม่มีความหนักแน่นมั่นคงเหมือนครู แต่จะให้กิเลสหลุดลอยไปเร็วยิ่งกว่าครู การเก่งกว่าครูแบบนี้ มันเป็นไปไม่ได้ เราเดินตามครูลำบากอย่างครู เพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงอย่างครู ผลที่ได้รับจะเหมือนครู
อย่าหาความสะดวกสบายนอกครูนอกอาจารย์ จะเป็นจะตายก็ขอให้เป็นให้ตายแบบครู พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ จงยึดให้ฝังลึกภายในใจ อย่าปล่อยให้กิเลสปัดมือให้ พุทธ ธรรม สงฆ์ หลุดลอยไปได้ พระพุทธเจ้าแลสาวกทั้งหลาย ส่วนมากมีแต่ลำบากกันทั้งนั้น เพราะกิเลสไม่เคยเป็นผู้ง่ายดายและสอนง่ายแก่ผู้ประพฤติธรรมและแก่ผู้ใด สัตว์ตัวใด เพราะไม่เคยเป็นลูกศิษย์และเป็นทาสเป็นบ๋อยของใครๆ ในโลกทั้งสาม มีแต่เป็นศาสดาผู้ทรงอำนาจโดยถ่ายเดียวเรื่อยมา เมื่อมีผู้บำเพ็ญธรรม ปฏิบัติธรรม มันต้องต่อสู้ขัดขวางอยู่ตลอดเวลา จึงเรียกว่าข้าศึกของธรรมก็คือกิเลสนั่นเอง แม้ข้าศึกของเราก็คือกิเลสนี้เช่นกัน
เมื่อพยายามทำจิตให้สงบวันนี้ไม่ได้ ก็ให้ทราบว่าความบกพร่องและกำลังของเราไม่พอ สติไม่พอ สติตั้งไว้กับงานที่ตนทำขาดวรรคขาดตอน จึงถูกกิเลสฉุดลากไปตามกระแสของมันต่อหน้าต่อตาในวงความเพียร จนเข้าสู่ความสงบไม่ได้ แม้นั่งภาวนาก็นั่งอยู่เฉยๆ เหมือนหัวตอ แต่จิตเร่ร่อนไปด้วยอำนาจของกิเลสเสียสิ้น ทั้งนี้เพราะสติไม่พอหรือสติไม่มี ถูกกิเลสขับไล่ออกหมด เมื่อทราบว่ากำลังของสติไม่พอ ความเผลอตัวมีมาก ก็เร่งตัวใหม่ตั้งสติใหม่ ไม่ท้อถอยปล่อยวางความเพียรให้กิเลสได้ใจ พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงใหม่เอาจนจิตมีความสงบได้ จึงชื่อว่าภาวนาหรือบำเพ็ญธรรมให้เหนือกิเลส ถ้าสติอ่อนกว่ากิเลส ใจก็ไม่รู้ธรรมไม่เห็นธรรม มีความสงบเป็นต้น กิเลสก็แข็งข้อไม่ยอมธรรม ฉะนั้นสติปัญญาจึงต้องให้เหนือกิเลสอยู่เสมอ เสียท่าให้กิเลสตรงไหนต้องฟิตตัวยิ่งขึ้น และถือว่ากิเลสสอนเราให้ฉลาดในจุดบกพร่องไปในตัวด้วย ฟิตจนทันเพลงมวยของกิเลสไปเป็นระยะๆ จึงเรียกว่านักต่อสู้เพื่อชัยชนะ
ความฟุ้งซ่านเป็นกิเลสประเภทหนึ่ง การฝืนใจหรือการฝึกฝนอบรมใจด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งเป็นการต่อสู้กับกิเลสให้เกิดความสงบ ต้องทุ่มเทกำลังความเพียรทุกด้านลงให้เหนือกิเลสที่ทำให้ฟุ้งซ่านนั้น จิตย่อมสงบได้ ไม่เหลือวิสัยของนักภาวนาไปได้ เพราะศาสดาซึ่งเป็นครูเอกของพวกเราพาทำและพาได้ชัยชนะมาแล้วไม่สงสัย
ขั้นปัญญาก็เหมือนกัน ต้องพิจารณาแล้วพิจารณาเล่าไม่หยุดไม่ถอย คลี่คลายดูสิ่งที่มีอยู่ภายในตน คือขันธ์ที่ท่านเรียกว่าความจริง เช่น กายคตาสติ เป็นต้น ในสติปัฏฐานสี่ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม หรืออริยสัจสี่ก็เหมือนกัน อยู่ในกายในจิตนี้ทั้งสิ้น เมื่อพิจารณาตรงไหนให้มีสติจดจ่อต่อเนื่องกันไปกับงานแห่งการพิจารณา อย่าลดละสติ สติเป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียว สติขาดวรรคขาดตอนตรงไหน งานก็ขาดวรรคขาดตอนตรงนั้น ผลที่ควรจะสืบเนื่องกันไปก็ต้องขาดวรรคขาดตอนตามเหตุที่ขาดไป นี่ควรสำนึกเสมอผู้ปฏิบัติ ถ้าไม่อยากเนิ่นช้าหรือเหลวไหล
อันความเหลวไหลนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับอะไร แต่ขึ้นอยู่กับผู้ทำตัวให้เหลวไหลต่างหาก เช่น วันนี้กับวันนั้น วันผ่านมาแล้วกับวันนี้ วันนี้วันพรุ่งนี้ ปีนี้ปีหน้าก็เหมือนกัน นั่นไม่สำคัญ ที่สำคัญคือตัวเราผู้เหลวไหล การแก้ต้องแก้ที่ตัวเรา ไม่มีวันไหนเป็นวันดี ทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน มันเป็นเพียงมืดกับแจ้งเท่านั้น ถ้าตัวเราไม่ดีเพราะสู้กิเลสไม่ได้ เนื่องจากความเพียรที่จะทำให้ปรากฏสิ่งที่ภาคภูมิใจขึ้นภายในใจไม่มี ต้องเป็นผู้รุงรังกีดขวาง วัน คืน เดือน ปี อดีต อนาคตและปัจจุบันอยู่ตลอดไปนั่นเอง
คำว่า สมาธิ ก็อย่าไปคาดไปหมาย ว่าสมาธิเป็นอย่างนั้นสมาธิเป็นอย่างนี้ หลักสำคัญก็คืองานของเราที่ทำเพื่อความสงบนั้น เป็นเครื่องยันยัน เป็นเครื่องรับรอง ที่จะให้เกิดความสงบและเป็นสมาธิ คือความแน่นหนามั่นคงขึ้นที่ใจ ไม่ใช่เกิดขึ้นเป็นขึ้น เพราะความคาดหมายด้นเดา แต่เกิดมีขึ้นเพราะการภาวนาในหลักปัจจุบันเป็นสำคัญกว่าที่อื่น การคาดการหมายไม่เกิดประโยชน์ อย่าไปคาดหมายให้เสียเวล่ำเวลาและเปล่าประโยชน์เลย
เมื่อกำหนดธรรมบทใด เช่น กำหนดอานาปานสติก็ให้รู้อยู่ที่ลม เป็นกับตายก็ให้รู้อยู่ที่นั้นอย่าให้เผลอ สุดท้ายความรู้ทั้งมวลก็รวมกระแสเข้ามาสู่จุดเดียว มีลมหายใจเป็นหลักเป็นที่ยึด ลมก็ค่อยละเอียดลงไปๆ ละเอียดลงไปจนกระทั่งหายเงียบเลยก็มีแต่ไม่ตาย อย่าไปกลัวเวลาลมหายไปในความรู้สึกขณะนั้น นี่เคยเป็นมาแล้วถึงพูดได้ ไม่เคยเป็นพูดไม่ถูกหรอก นอกจากนักโกหกอาจพูดด้นเดาและหลอกคนอื่นได้ซึ่งมักมีแฝงกันไปเสมอ แต่เราไม่ใช่คนประเภทนั้น จึงด้นเดาไม่เป็นถ้าไม่รู้ไม่เห็นขึ้นกับตน
ลมละเอียดลงไปๆ จนหายเงียบไปเลย ทีนี้จะมีวิตกอันหนึ่งขึ้นมาเป็นข้าศึกในขณะนั้น ว่านี่ลมหายใจหมดไปแล้วจะไม่ตายหรือ นั่นมันกระตุกเจ้าของให้เสียหลักแล้วก็มาคว้าลมหายใจตั้งเสียใหม่ เลยได้แค่กลัวตายเพราะลมหมดไป ภาวนาทีหลังพอมาถึงจุดลมหายใจหมดก็เป็นอีก ๆ เลยไม่ไปถึงไหน พอถูกกระตุกด้วยความคิดเช่นนั้น ลมหายใจก็มีขึ้นมา จิตก็มาสู่ความหยาบตามปกติของจิตเสีย ความถูกความจริง ลมหายใจที่หายไปนั้นไม่ต้องไปกังวลกับมันหรอก เมื่อมันหายไปก็ให้อยู่กับตัวรู้ ผู้รู้นั้น โดยไม่กังวลกับลมหรือสิ่งใด ใจก็อยู่ด้วยความสงบเย็นเท่านั้นเอง พอจิตขยับตัวออกจากความสงบลมหายใจก็มีมาเอง โดยไม่ต้องไปคว้าไปหามันให้ยุ่งไป
ผู้มีปัญญารักษาตัว มันต้องมีอุบายแก้ความเผลอของตัวที่คิดจากเล่ห์เหลี่ยมของกิเลส คือความสงสัยกลัวว่าจะตายนั้นแหละ มันเป็นเล่ห์เหลี่ยมของกิเลส ก็พึงทราบเสียในขณะนั้นว่า เมื่อความรู้ยังครองร่างอยู่นี้แล้ว อย่างไรก็ไม่ตาย เอา ลมหายใจจะหมดก็หมดไปเถอะ ถ้าลงความรู้นี้ยังมีอยู่ในร่างนี้แล้วจะไม่ตาย เพียงเท่านี้ใจก็พุ่งทะลุ หายเงียบไปจากความกลัวตาย และดำรงตัวอยู่ในความสงบอย่างหายห่วงเท่านั้นแล
อุบายวิธีแก้ เราต้องคิดค้นขึ้นมาภายในตนนั้นแหละ เป็นความเหมาะสมที่สุด ยิ่งกว่าครูบาอาจารย์หยิบยื่นให้เป็นไหนๆ ซึ่งสุดท้ายก็หลุดไม้หลุดมือไปเสีย ไม่เหมือนเจ้าของคิดขึ้นมาโดยลำพังตัวเองและประจักษ์กับใจตัวเอง ทั้งได้ผลเป็นที่พึงพอใจจากอุบายนั้นด้วย ทั้งนับวันเวลาแตกแขนงออกไปอย่างกว้างขวางด้วย ใช้แก้กิเลสทันควันไม่มีวันหมดสิ้นด้วย เป็นสมบัติของตนจากภาคปฏิบัติอย่างภาคภูมิใจด้วย
การพิจารณาทางด้านปัญญาเป็นสำคัญมาก อย่าสักแต่ว่าพิจารณาเป็นเพียงอาการหรือเป็นพิธี พิจารณาเพื่อความรู้จริงเห็นจริงกับอาการนั้นๆ จริงๆ ด้วยความมีสติสืบเนื่องกันไปโดยลำดับ จะแยกจะแยะอาการใดก็ให้มีความรู้กับอาการนั้นเท่านั้น สองอย่างให้รู้กันอยู่เพียงเท่านั้น เหมือนกับโลกนี้ไม่มีอะไรเลย มีแต่ความรู้กับอาการที่พิจารณาสัมผัสสัมพันธ์กันอยู่สองอย่างเท่านั้น แล้วก็จะกระจายไปหมด
ความรู้อันนี้จะสว่างกระจ่างแจ้งซึมซาบไปทั่วอวัยวะส่วนอื่นๆ ที่เราไม่ได้พิจารณา ก็เข้าใจตลอดทั่วถึงเพราะเป็นเหมือนๆ กัน บางครั้งจิตก็ซ่านไปเอง เที่ยวรู้รอบขอบชิดไปหมด มันเหมือนกับกระดาษซึมมันซึมซาบไปๆ เพราะความซึ้งภายในใจว่าอันนี้เป็นอย่างนี้จริงๆ เช่น เป็นของปฏิกูล เป็นทุกข์ หรือเป็น อนตฺตา มันซึ้งถึงใจ กำหนดไปทางไหนจิตมันซ่านไปตามนั้นและซ่านไปตามๆ กันหมด เพราะสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน
อุบายปัญญาไม่พอผลิตขึ้นมา หาอุบายคิด ตั้งหน้าตั้งตาคิด ตั้งหน้าตั้งตาพินิจพิจารณา ตั้งหน้าตั้งตาสังเกตด้วยความสนใจ เต็มไปด้วยเจตนา เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น อยากรู้อยากเห็นความจริงที่มีอยู่นี้ สติต้องติดแนบเสมอ ไม่ว่าขั้นสมาธิ ไม่ว่าขั้นปัญญา สติมีความจำเป็นตลอด จะเว้นขั้นใดขั้นหนึ่งที่สติจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องไม่ได้ การบำเพ็ญด้วยความมีสติเป็นเครื่องสนับสนุนงานให้รวดเร็ว
สติ เป็นธรรมสำคัญมากทีเดียว ไม่ว่าขั้นสมาธิไม่ว่าขั้นปัญญา จนกระทั่งสติปัญญากลมกลืนเป็นอันเดียวกัน ทีนี้จะว่าสติก็ได้ จะว่าปัญญาก็ถูก พอกระเพื่อมพับก็รู้ทันที ปัญญาวิ่งทันที สอดส่องดูเหตุดูผลระหว่างจิตกับอารมณ์สัมผัสสัมพันธ์กันตลอดไปไม่มีเวลาว่าง ต่อนี้ไปจะทราบว่าสติปัญญาทำงานมากไปโดยลำดับจนไม่มีคำว่าจิตว่างงาน นอกจากเห็นว่าจิตอ่อนเพลียเพราะทำงานมาก ก็รั้งเข้าสู่สมาธิความสงบเป็นคราวๆ ไป เพื่อเป็นกำลังในการพิจารณาทางด้านปัญญา และปฏิบัติอย่างนี้ไปโดยสม่ำเสมอทั้งสมถะและวิปัสสนา ซึ่งมีความจำเป็นไปคนละทางเท่าๆ กัน
นี่ละการฝึกการทรมานตน คือการต่อสู้กับกิเลสประเภทต่างๆ ภาษาธรรมะท่านเรียกว่ากิเลส ความเศร้าหมองมืดตื้ออยู่ภายในใจของคนและสัตว์ทั่วไป ความมืดมนอันนั้นแหละ มันกระจายออกมาทางกิริยามรรยาท ทำให้รู้สึกไปทางไม่ดีในแง่ต่างๆ แม้ที่สุดมาบำเพ็ญธรรมมันก็ทำให้มืด ทำให้หลง ทำให้ลืมตัว ทำให้ขี้เกียจ ทำให้อ่อนแอท้อถอย คอยขัดขวางอยู่ร่ำไป
เพราะใจทั้งดวงมีแต่กิเลสความมืดตื้อหุ้มห่อ จนไม่สามารถมองเห็นมโนธาตุที่แท้จริงได้เลย จะไม่ให้สัตว์โลกงมงายได้อย่างไร เพราะมีแต่ธรรมชาติงมงายเป็นหัวหน้ารับเหมาจิตทั้งดวงเสียสิ้น ด้วยเหตุนี้จึงต้องยากแก่การแก้การถอดถอน เพราะธรรมชาตินี้ทั้งมวลล้วนเป็นข้าศึกกับธรรมทั้งสิ้น เมื่อสิ่งนี้ขวางอยู่ จึงปฏิบัติธรรมยาก รู้ธรรมได้ยาก เนื่องจากมันไม่ให้รู้ไม่ให้เห็นธรรม มันแทรกอยู่ทุกแง่ทุกมุมทุกขณะจิตที่คิดปรุงออกมา ผู้ต่อสู้มันจำต้องฝึกสติผลิตปัญญา ห้าวหาญทางความเพียร เป็นนักอดทน เผลอตัวไม่ได้ มันเข้าแทรกและทำงานแทนทันที ถ้าไม่เผลอมันก็ไม่ทำ แต่มันจ้องหาโอกาสกับเราอยู่ตลอดเวลา ถ้ามันมีอำนาจมากกว่ามันก็ฉุดลากเอาไปต่อหน้าต่อตา เราต้องผลิตสติปัญญาให้มีกำลังกล้าสามารถขึ้นโดยลำดับ เอามันให้อยู่ในเงื้อมมือจนได้ นี่อุบายวิธีฝึกตน ย่อมมียากมีง่ายเป็นธรรมดาของการสู้รบ
ยากก็ยากเถอะยากอย่างนี้ นับแต่เกิดมาเรายังไม่เคยยาก พ่อแม่ ปู่ย่า ตายายของเราก็ไม่เคยยาก ร้อยทั้งร้อยมักยุ่งยากกับกิเลสทั้งนั้น ยากกับธรรม ทุกข์เพราะการฆ่ากิเลสต่อสู้กับกิเลสไม่มีใครได้ทำเหมือนเรา เราได้ยากเราได้ทุกข์เพราะเราได้สู้กับกิเลสตัวเป็นภัย จงทุกข์จงยากเถิด ความทุกข์ยากในงานฆ่ากิเลสนี้ เป็นสิริมงคลเป็นเกียรติแก่เราอย่างยิ่ง เอา
ทุกข์เถิด ตายเถิด ชีวิตจิตใจบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไปเลย อย่าเสียดาย กิเลสจะพามาตายอีก เอาจนได้ชัยชนะมาครอง
เราเป็นลูกศิษย์ตถาคต เราจะเอาความประเสริฐเลิศโลกเพราะความท้อแท้อ่อนแอ ความขี้เกียจมักง่าย ความอ่อนกำลังอันเป็นสมบัติของกิเลสล้วนๆ มาประดับตัวประดับใจทำไมกัน ต้องเป็นความเข้มแข็งในการประพฤติปฏิบัติ ให้เห็นสัจธรรม ที่ท่านประกาศกังวานอยู่ได้ ๒๕๐๐ กว่าปีแล้วเข้ามาสู่ความจริงเต็มหัวใจให้ได้ อย่าให้หลุดมือไป คำว่าสัจธรรมนั้น เป็นธรรมที่ท่านเขียนไว้ตามตำรับตำราที่เราทั้งหลายเรียนท่องบ่นสาธยาย นั่นเป็นชื่อเป็นความจำ ยังเป็นธรรมนอกใจ ถ้าเป็นอาหารก็ยังอยู่ในภาชนะ ยังไม่เข้ามาถึงปากถึงท้อง ให้น้อมเข้ามาสู่ตัวจริงของสัจธรรมอันแท้จริงคือใจของเรานี้ให้ได้
สติปัฏฐานสี่อันเป็นความจริงแท้คืออะไร อยู่ที่ไหน ว่ากาย ก็ร่างกายของเราทุกส่วนก็เป็นกายคตาสติ หรือเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนาเหมือนกัน สุข ทุกข์ เฉยๆ ก็เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตความคิดปรุงในเรื่องราวต่างๆ ก็เป็นจิตตานุปัสสนา ตามรู้ตามเห็นความคิดความปรุงของตน อารมณ์อะไรที่เกิดขึ้นต่อสายกับเรื่องราวอะไรที่เรียกว่าธรรมารมณ์ อันนั้นก็เป็นธัมมานุปัสสนา ก็อยู่กับใจเรา เพราะเกิดและสัมผัสที่ใจเราเอง
ว่าทุกข์คือทุกข์กายก็ดีทุกข์ใจก็ดี ก็คือทุกขสัจซึ่งเป็นความจริงอยู่ตามหลักธรรมชาติของตน เวลามีก็มีอยู่ที่กายที่ใจของเรานี้ ทุกข์ทั้งทางกายทุกข์ทั้งทางใจ ก็มีอยู่ที่นี่ สมุทัยก็มีอยู่ที่ใจ ชื่อธรรมเหล่านี้มีอยู่ที่ตำรา แต่ท่านชี้เข้ามาหาใจ ต้องมาค้นดูที่ใจของเรานี้ ถึงจะเห็นสมุทัยรู้เรื่องของสมุทัย และละสมุทัยได้ด้วยมรรคสัจ
ท่านกล่าวไว้ย่อๆ ว่า กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
แน่ะ คำว่าตัณหาคือความบกพร่อง คือความอยากและรบกวนเจ้าของอยู่ตลอดเวลานั่นแล อยากไม่หยุดไม่ถอย อยากไม่มีวันอิ่มพอ ท่านเรียกว่าตัณหา มันรบกวนอยู่ตลอดเวลานาที ไม่มีวันมีคืนมีปีมีเดือน รบกวนสัตว์บุคคลเราเขาตั้งแต่เล็กจนโตจนเฒ่าจนแก่จนตาย มันกวนอยู่อย่างนั้นจึงเรียกว่าตัณหา มันเคยมีความสงบตัวเมื่อไรถ้าไม่ทำให้มันสงบ ภวตัณหาก็อยากมีนั่นอยากเป็นนี่ อยากมีสิ่งนั้นอยากเป็นสิ่งนี้ อยากอยู่ตลอดเวลา สามความอยากนี้มันเกี่ยวโยงกัน
วิภวตัณหา ถ้าพูดทางภาคปฏิบัติแล้วมันอยากในของไม่มีนั่นเอง เกิดแล้วอยากอยู่อย่างนี้ตลอดไปไม่ให้ตาย มันมีได้ที่ไหน สิ่งสัมผัสสัมพันธ์ที่ถูกใจไม่ให้พลัดพรากจากไปมีได้ที่ไหน มันต้องพลัดพรากจากไป เกิดแล้วต้องตาย แต่วิภวตัณหานี่ มันไปอยากในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ในสิ่งที่เป็นอฐานะคือเป็นไปไม่ได้นั้นแล จึงเรียกว่า วิภวตัณหา อยากในของไม่มี อยากเท่าไรมันก็ไม่อิ่มไม่พอ สัตว์โลกอยากเหมือนกันหมด อยากในของมีอยู่เช่น ภวตัณหา มันก็เป็นตัณหา ไม่มีความอิ่มพอเหมือนกัน นี่ท่านเรียกว่าสมุทัย มันเป็นอยู่ภายในใจของสัตว์โลกหรือของพวกเราทุกๆ คนตลอดเวลา
ความใคร่ ความอยาก ความทะเยอทะยาน มันดิ้นมันกวัดมันแกว่งอยู่ภายในใจหาความสงบไม่ได้ ถ้าเป็นน้ำก็ขุ่นเป็นตมเป็นโคลนไปหมด หาความสงบนิ่งใสไม่ได้เพราะถูกกวนด้วยอำนาจของกิเลส ใจทำไมจะไม่ขุ่นมัวจะไม่มืดดำทำให้เกิดทุกข์ จิตใจขุ่นมัวจิตใจมืดดำ เพราะอำนาจของกิเลสบีบบังคับอยู่ตลอดกาลสถานที่อิริยาบถ ผลของมันก็คือความทุกข์ความลำบากลำบนมากน้อย ตามกำลังของกิเลสที่บีบคั้นในระยะนั้นๆ นั่นเอง
การแก้สมุทัยก็คือการทำสมาธิภาวนา การพิจารณา เช่น พิจารณากายคตาสติ เป็นต้น พิจารณาด้วยมรรค มรรคคือสติปัญญาเป็นของสำคัญ สติเป็นพื้นฐานใช้ไปทุกๆ ขั้นทุกแขนงของงานที่ทำและขั้นของธรรมที่พิจารณา ปราศจากสติไม่ได้ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป คือองค์ปัญญาที่จะนำมาคลี่คลายดูเรื่องของกิเลส ฟาดฟันหั่นแหลกกับกิเลส ใจรักชอบกับสิ่งใด ไปหลงรักหลงชังหลงเกลียดหลงโกรธกับอะไร เสกสรรปั้นแต่งเอามาแข่งธรรมของพระพุทธเจ้าเพื่อความวิเศษวิโสอะไร ค้นหาความจอมปลอมของมันให้เจอ จะได้เจอธรรมของจริงที่กิเลสตัวจอมปลอมปกปิดไว้
พึงทราบเสมอว่ากิเลสเป็นคู่แข่งกับธรรม ธรรมไม่ให้รัก กิเลสมันฝืนไปรัก ธรรมท่านว่าไม่ให้ชังไม่ให้เกลียดไม่ให้โกรธ กิเลสมันฝืนต่อหน้าต่อตา ไปรักไปชัง ไปเกลียดไปโกรธอยู่ได้ภายในหัวใจที่กำลังบำเพ็ญธรรมเข้าสู่ใจอยู่นั้นแล.นั่นระหว่างกิเลสกับธรรมต้องต่อสู้กันอยู่อย่างนี้ทุกระยะ เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมต้องให้รู้กลมายาของกิเลสที่เขย่าเป่าหูกระซิบใจอยู่ตลอดเวลาภายในใจเราเองด้วยสติปัญญา เอาให้รู้ กลั่นกรองหรือคลี่คลายผลักดันมันออกไป หรือฟาดฟันมันออกไปด้วยปัญญา ทีแรกก็ใช้สมาธิก่อน พอให้มีช่องทางดำเนินได้ นอกจากเป็นกรณีพิเศษที่เราจะใช้ปัญญาฟาดฟันหั่นแหลกกันไป จนกระทั่งถึงกิเลสมันหมอบ จิตหมอบเป็นสมาธิขึ้นมาได้ นั่นเป็นกรณีพิเศษ ดังเขียนไว้แล้วในปัญญาอบรมสมาธิซึ่งเป็นภาคปฏิบัติ
มรรคคืออะไร คือทางดำเนินเพื่อความรู้แจ้งสัจธรรมทั้งสี่ ทุกฺเข ญาณํ ญาณหยั่งทราบในทุกข์ ทุกฺขสมุทเย ญาณํ ญาณหยั่งทราบในสมุทัย ทุกฺขนิโรเธ ญาณํ ญาณหยั่งทราบในนิโรธ ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทาย ญาณํ ญาณหยั่งทราบในมรรคเครื่องทำลายกิเลสแลกองทุกข์ทั้งมวล อยํ วุจฺจติ สมฺมาทิฏฺฐิ ญาณหยั่งทราบเช่นนี้ปราชญ์ท่านเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ละเอียดสุดยอด เพราะการหลุดพ้นด้วยความชอบธรรม ย่อมเห็นทุกข์เป็นของจริง เห็นสมุทัยเป็นของจริง เห็นนิโรธก็เป็นของจริง เห็นมรรคเป็นของจริงแต่ละอย่างๆ ด้วยปัญญาอันละเอียดแหลมคม นั้นแลคือสัมมาทิฏฐิ ท่านว่า อยํ วุจฺจติ สมฺมาทิฏฺฐิ แปลว่า ความเห็นชอบ ความเห็นไม่ปีนเกลียวกับธรรม ไม่ปีนเกลียวกับหลักธรรมชาติ ไม่ปีนเกลียวกับหลักคติธรรมดาที่เป็นไปตามหลักธรรมชาติของตน ที่กล่าวทั้งหมดนี้อยู่ที่ไหน ก็บรรจุอยู่ที่หัวใจของเรานี้ทั้งนั้น
ส่วนทุกข์กับนิโรธเป็นกิริยาอันหนึ่งเท่านั้น เราไม่ไปขวนขวายกับเรื่องของทุกข์และเรื่องของนิโรธ ทำงานไม่ไปเกี่ยวกับทุกข์และนิโรธเลย เช่นท่านว่าทุกข์พึงกำหนดรู้ นิโรธพึงทำให้แจ้ง ใครจะไปทำทุกข์ให้ดับโดยไม่ดับต้นเหตุคือสมุทัย และใครจะไปทำนิโรธให้แจ้งโดยไม่บำเพ็ญเหตุ คือ มรรคเล่า ความจริงทุกข์ก็เพียงกำหนดทราบกันเท่านั้น แต่ให้ทำหน้าที่ ต้องทำหน้าที่ถอดถอนสมุทัยด้วยมรรคมีสติปัญญาเป็นสำคัญเท่านั้น งานที่ทำจริง ๆ มีระหว่างสมุทัยกับมรรคทำหน้าที่ต่อกันเท่านั้น ก็กระเทือนไปถึงทุกข์กับนิโรธไปเอง เพราะเป็นธรรมเกี่ยวโยงกัน
ทุกข์พึงทราบ ท่านว่า ปริญฺญาตนฺติ เม ภิกฺขเว นั้น พระองค์ทรงประกาศให้เบญจวัคคีย์ทั้งห้าฟัง ว่าทุกข์ที่ควรกำหนดรู้ เราได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัยที่ควรละเราละได้แล้ว นิโรธควรทำให้แจ้ง เราได้ทำให้แจ้งแล้ว มรรคที่ควรบำเพ็ญให้เกิดให้มี เราได้บำเพ็ญให้เกิดให้มีสมบูรณ์เต็มที่แล้ว
การจะทำทุกข์ให้ดับและการจะทำนิโรธให้แจ้ง ก็หมายถึงเรื่องของมรรคโดยตรง ผลิตสติปัญญาขึ้นมาทุกระยะจนมีกำลังแก่กล้าสามารถแล้ว ก็จะทำให้แจ้งทั้งเรื่องธรรมทั้งเรื่องกิเลสไปด้วยกันไม่สงสัย ท่านว่านิโรธคือความดับทุกข์ ควรทำให้แจ้ง ก็การดับทุกข์ถ้าไม่ดับสมุทัยทุกข์จะดับได้อย่างไร ฉะนั้นต้องรู้แจ้งเห็นจริงในสมุทัย ละสมุทัยได้ด้วยปัญญา จะไปละเอาเฉยๆ ไม่ได้ นี่ละงานชิ้นสำคัญ ก็คือระหว่างสมุทัยกับมรรคทำงานต่อกัน
นี้แหละกระจายไปถึงเรื่องทุกข์ด้วย เรื่องนิโรธด้วย ซึ่งเป็นผลด้วยกันทั้งสองอย่างทั้งเบื้องต้นเบื้องปลาย เบื้องต้นคือทุกข์เป็นผลเกิดจากกิเลสคือสมุทัย ที่เรียกว่า สมุทัย ๆ นิโรธดับทุกข์ด้วยอำนาจของมรรคที่ปราบกิเลสให้สิ้นไป ความทุกข์จะไม่มีทางเกิดขึ้นภายในใจอีกเลย เว้นแต่ทุกข์ในเบญจขันธ์ที่เป็นธรรมชาติของมันมาดั้งเดิม แม้พระพุทธเจ้าก็ทรงมี พระสาวกก็มีเหมือนกัน
เรื่องธาตุเรื่องขันธ์มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่งไม่ใช่ตัวกิเลส เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ดับไปกับกิเลส กิเลสดับไป ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะกิเลสผลิตขึ้นมานั้นก็ดับไป แต่ทุกข์ในขันธ์ไม่ดับ มันอยากเกิดมันก็เกิดของมัน อยากดับก็ดับของมัน ถ้าจะแยกออกมาเป็นสมุทัยของธาตุก็แยกได้ แต่ไม่จำเป็นเพราะไม่ใช่กิเลส แม้สาเหตุก็เป็นสาเหตุของธาตุต่างหาก เช่น เราฉันอะไร รับประทานอะไรไปแสลงต่อธาตุขันธ์ มันเกิดความทุกข์ขึ้นมา เช่น ถ่ายท้อง เป็นต้น เพราะอาหารประเภทนั้นๆ เป็นเหตุอย่างนี้ จะว่าอาหารประเภทนั้นเป็นสมุทัย คือเป็นเหตุให้ถ่ายท้อง เกิดความทุกข์ขึ้นมาก็ถูก แต่ถูกไปตามประเภทของธาตุขันธ์ ไม่เกี่ยวกับกิเลส เพราะนี่มันไม่ใช่กิเลส ท่านจึงไม่นำมาเกี่ยวข้อง
ส่วนที่เป็นกิเลสอันเป็นสิ่งสำคัญซึ่งมีอยู่ภายในจิต แสดงกิริยาอาการออกมาจากจิตนั้นท่านเรียก สมุทัย คือแสดงออกมาในฝ่ายผูกพันให้ติดอยู่ แล้วก็เกิดทุกข์ขึ้นมา เพราะความผูกพันและความติดอยู่นั้น ท่านจึงสอนให้แก้ด้วยมรรค คือปัญญาอันแหลมคม เมื่อแก้อันนี้ได้แล้วสมุทัยก็หมด เมื่อสมุทัยหมดทุกข์ก็ดับ ทุกข์ก็หมดในจิต ไม่มีทุกข์ในจิตอีกต่อไปตลอดอนันตกาล
จะไปทำนิโรธให้แจ้งด้วยวิธีการใด ท่านบอกไว้เพียงเท่านั้น นิโรธพึงทำให้แจ้ง คือความดับทุกข์พึงทำให้แจ้งด้วยปัญญา ความหมายว่าอย่างนั้น ทุกข์พึงกำหนดรู้และทำลายด้วยมรรค ทุกข์ถึงจะดับไปอย่างสนิท การแก้ทุกข์ดับทุกข์ต้องมาแก้ต้นเหตุคือสมุทัยซึ่งเกี่ยวโยงกันกับมรรค
ในเรื่องเหล่านี้ผู้ปฏิบัติเท่านั้น จะรู้แง่หนักเบาของธรรมทั้งหลาย ที่จะมาประยุกต์กันกับกิเลสให้ได้เหตุได้ผลทันกับเหตุการณ์ จนได้ชัยชนะไปโดยลำดับๆ ผู้ปฏิบัติเท่านั้นจะเป็นผู้ช่ำชองชำนิชำนาญ และรู้แง่หนักเบาระหว่างกิเลสประเภทใด กับธรรมประเภทใด ที่จะแก้หรือถอดถอนกันด้วยวิธีการต่างๆ ตามแต่อุบายสติปัญญา ผู้ปฏิบัติจะเป็นผู้ทราบได้ดี เพราะได้ผ่านสิ่งเหล่านี้อย่างโชกโชนภายในใจของตน
ที่กล่าวทั้งหมดนี้มีอะไรเป็นเครื่องรับรองอยู่เวลานี้ ก็คือความรู้ คือใจ กิเลสก็อยู่ที่ความรู้นั้นแหละ สัจธรรมก็อยู่ที่นี้ ทุกข์เกิดขึ้นมาจากใจเพราะสมุทัยเป็นต้นเหตุ นิโรธคือความดับทุกข์ ดับเพราะอำนาจของมรรคที่ทำลายกิเลสเครื่องผลิตทุกข์ให้ฉิบหายลงไปไม่มีเหลือแล้ว ทุกข์ภายในใจของผู้สิ้นกิเลสแล้วก็ไม่มี ส่วนทุกข์ทางธาตุทางขันธ์มีด้วยกัน พระพุทธเจ้าก็มี สาวกก็มี เจ็บท้อง ปวดหัว หิวกระหาย อยากหลับอยากนอนดังที่เป็นอยู่นี้ เป็นธรรมดาของธาตุของขันธ์ที่ยังครองกันอยู่
แต่สำคัญที่จิตไม่ได้รับความกระทบกระเทือนจากทุกข์ภายในร่างกาย ที่เกิดขึ้นมากน้อย ทุกข์ในขันธ์มีมากขนาดถึงตาย ก็ไม่สามารถเข้าไปทำลายจิตใจอันบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นวิมุตติธรรมนั้นให้เอนเอียงได้เลย เพราะวิมุตติเป็นอันหนึ่ง สมมุติเป็นอันหนึ่ง ถ้าเป็นโลก ทั้งสองก็อยู่คนละโลกแล้ว แต่ธรรมนี้เป็นโลกุตรธรรมอันสุดยอดแล้ว ทุกขเวทนาทั้งหลายจะเอื้อมถึงได้อย่างไร ทุกข์จะเป็นมากเป็นน้อยเพียงไร ก็แสดงอยู่ภายในร่างกายคือรูปขันธ์นี้เท่านั้น ไม่สามารถเข้าไปทำลายจิตใจให้โยกคลอนหรือเอนเอียงไปด้วยเลย นั่นการเรียนสัจธรรมจบ จบตรงนี้ สติปัฏฐานสี่ก็จบตรงนี้ไม่จบที่ไหน พระพุทธเจ้า พระสาวกทั้งหลายท่านสำเร็จที่ตรงนี้ รู้แจ้งเห็นจริงที่ตรงนี้
ฉะนั้นการปราบกิเลสจึงปราบที่ใจอันเป็นคลังของกิเลสมาก่อน สถานที่นี่จึงเป็นที่ปราบกิเลส เพราะดั้งเดิมเป็นสถานที่ผลิตกิเลส เมื่อกิเลสตัวรกรุงรังสิ้นไป ใจจึงบริสุทธิ์ขึ้นกับตนและหายสงสัยในสมมุติทั้งมวล
เรามาศึกษาอรรถธรรม จงนำธรรมเข้าไปเป็นเครื่องมือปราบกิเลสให้หมดจากใจ ใจจะได้ว่าง คือว่างจากกิเลสและว่างไปหมดในวงสมมุติ ทั้งว่างจากตัวเอง ทั้งว่างจากกิเลส แต่ก่อนเต็มไปด้วยกิเลส ใจหาความว่างไม่ได้ ชำระกิเลสหมดไม่มีเหลือแล้วใจก็ว่าง ไม่ยึดไม่ถือไม่สำคัญมั่นหมาย ว่างที่ตรงนั้น
ความว่างนั้นแลคือความบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์นั้นกับความว่างกลายเป็นอันเดียวกันแล้ว จะกลายเป็นสูญได้อย่างไร ฟังซิ ถ้าสูญไปจะเรียกว่าบริสุทธิ์เหรอ จะเรียกว่าว่างเหรอ สูญก็เป็นสูญ ว่างก็เป็นว่าง เป็นคนละอย่างนี่ สูญของโลกยกให้โลกสมมุติเขาไป สูญของพระนิพพาน ว่างของพระนิพพาน เป็นธรรมนิพพาน ไม่ใช่โลกสมมุติ พระนิพพานจึงไม่สูญแบบโลกสมมุติ และไม่มีอยู่แบบโลกสมมุติ ความมีอยู่และความสูญสิ้นของโลกสมมุติ จึงมิใช่วิสัยกันกับความมีความสูญของนิพพานธรรม เพราะเป็นธรรมเหนือสมมุติ
ดังที่โลกว่าสูญ สูญแบบฉิบหายป่นปี้ไม่มีอะไรเหลือเลย เช่น ไฟไหม้บ้านทรัพย์สินเงินทองสูญไปหมด ไม่มีชิ้นเหลือเลย แต่ธาตุเดิมของมันก็ไม่สูญ เพียงสูญจากความเป็นสมบัติที่โลกเสกสรรปั้นยอหรือผลิตขึ้นมาเท่านั้น เช่น ถ้วยชามนามกร บ้านเรือน เครื่องนุ่งห่มใช้สอยต่างๆ เมื่อถูกไฟไหม้ลงไปแล้วก็กลายเป็นธาตุเดิมไป ธาตุเดิมของมันจึงไม่สูญ สูญแต่ความเป็นบ้านเป็นเรือน เป็นสมบัติเงินทองที่สมมุติขึ้นเท่านั้น
ทีนี้พูดถึงจิต ธาตุเดิมแท้ก็คือธาตุรู้ อะไรสูญไปหมดก็ยังเหลือธาตุรู้คือจิต จิตนี้ไม่สูญ จิตจะสูญไปไหน ก็รู้อยู่เห็นอยู่อย่างนั้น ถ้าสูญไปหมดไม่มีอะไรเหลือ จะเอาอะไรมาเป็นความบริสุทธิ์ จะเอาอะไรมาเป็นความว่าง จะเอาอะไรมาเป็น ปรมํ สุขํ
ความไม่เคยสัมผัสทางด้านปฏิบัติธรรม ปฏิบัติจิต แต่คาดคะเนเดาเอาด้วยอำนาจของกิเลสความงมงายพาให้สำคัญไปต่างหาก มิใช่ความจริงพาให้รู้จริงเห็นจริง ดังพระพุทธเจ้าแลสาวกท่านที่ท่านเป็นนักพิสูจน์ทางด้านจิตตภาวนา คนที่สำคัญว่าตายแล้วสูญนี้ จิตใจมักดิ่งลงทางต่ำ เวลามีชีวิตอยู่อยากทำอะไรก็ทำตามใจชอบ ไม่คำนึงถึงบุญถึงบาปดีชั่วประการใดทั้งสิ้น ขอให้ได้ทำอย่างสมใจขณะที่มีชีวิตอยู่ก็พอ เพราะเวลาตายแล้วหมดความหมาย สิ่งต่างๆ สูญโดยประการทั้งปวงไม่มีความสืบต่อ นี่คือเรื่องของกิเลสครอบงำจิตให้จมมิดจนไม่รู้สึกตัว ทำอะไรก็ทำแบบสุดๆ สิ้นๆ เพราะตนได้กลายเป็นคนสุดๆ สิ้นๆ ไปแล้ว อะไรๆ จึงหมดความหมายไปตามๆ กัน
นี่แหละเรื่องของกิเลสตัวจอมปลอมครอบงำใจสัตว์โลก มันจึงสนุกโกหกหลอกลวงสัตว์โลกต่อหน้าต่อตา ถ้าเป็นคนก็ประเภทหน้าด้านสันดานหยาบคาย เกินกว่าจะอยู่ร่วมกับมนุษย์ทั้งหลายได้นั่นแล กิเลสกับธรรมเดินสวนทางกัน กิเลสคือตัวจอมปลอม ของไม่ปลอม คนไม่ปลอมเข้ากับกิเลสไม่ได้ ส่วนธรรมคือยอดแห่งความจริง สิ่งจอมปลอม คนจอมปลอมจึงเข้ากับธรรมไม่ได้ กิเลสกับธรรมจึงเป็นคู่อริกัน คู่แข่งกันแต่ไหนแต่ไรมา ผู้สนใจในธรรม ประพฤติธรรม จำต้องรบกับกิเลส สิ่งจอมปลอมภายในใจตัวเองตลอดไป จนกิเลสตัวแสนปลิ้นปล้อนหลอกลวงหมดอำนาจไปจากใจแล้ว ก็ไม่มีอะไรพาให้ฝืน พาให้จม ฉะนั้นในสามโลกธาตุนี้จึงมีกิเลสอย่างเดียวเท่านั้น เป็นเจ้าอำนาจครองหัวใจสัตว์โลก และเป็นคู่ต่อสู้ธรรม กิเลสกลัวธรรมอย่างเดียวในสามโลก นอกนั้นกิเลสไม่เคยกลัวอะไรเลย
ความรู้ความเห็นที่ว่าตายแล้วสูญ ก็คือความบงการของกิเลสโดยแท้ ที่ผิดความจริงไปร้อยเปอร์เซ็นต์ทีเดียว ความจริงที่ธรรมบ่งบอกว่า สัตว์บุคคลตายแล้วต้องเกิดอีก ถ้ากิเลสที่เป็นเชื้อแห่งภพชาติยังมีอยู่ในใจ จะเป็นอื่นไปไม่ได้ ความจริงความถูกต้องแห่งธรรมร้อยเปอร์เซ็นต์ เดินสวนทางกันกับกิเลสตัวเสกสรรปลิ้นปล้อนหลอกหลอนสัตว์ไม่มีประมาณ
ทั้งนี้ต้องทราบข้อเท็จจริงด้วยการพิสูจน์ตามหลักจิตตภาวนา ดังองค์ศาสดาและสาวกทรงพิสูจน์และพิสูจน์ จนเห็นความจริงเต็มส่วนมาแล้ว จะมาด้นเดาเกาหมัดเอาเฉยๆ นั้นไม่ถูกไม่ควร กลัวจะวกกลับมาเกิดเสวยผลกรรมชั่วต่างๆ ไม่หวาดไหวนั่นซิ ที่น่ากลัวมากน่ะ
เพราะความจริงจะเป็นไปตามความจริง จะไม่เป็นไปตามความนึกเดาความสำคัญ การกลับมาเกิดก็คือความจริงตามธรรมอยู่แล้ว การตายแล้วสูญนั้นมันเป็นหลุมพรางของกิเลสต่างหากนี่ ไม่ใช่ความจริงพอจะนำมาแข่งธรรม ลบล้างธรรมได้นี่ คนที่สำคัญว่าตายแล้วสูญ จะต้องสร้างกรรมชั่วมากกว่าคนธรรมดา เวลาผิดหวังกลับมาเกิดอย่างไม่คาดคิด ก็จะต้องรับเสวยกรรมที่เป็นมหันตทุกข์มากต่อมากจนสู้ไม่ไหว นั่นซิที่น่าใจหาย เพราะการกระทำดีชั่วทั้งมวล เป็นเครื่องประกาศถึงผลสุขทุกข์อย่างตายตัวอยู่แล้ว ลบไม่สูญ
เรื่องศาสนาลึกซึ้งมากเพราะใจเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก ศาสนาก็คือความรู้ ความเป็นของใจที่ออกมาเป็นศาสนา จึงต้องสอนเข้าไปที่ใจ มีความละเอียดแหลมคมเท่าๆ กัน จึงจะเข้าใจเรื่องของกันและกันได้ ระหว่างธรรมกับใจก็อยู่ด้วยกัน เข้าใจกันได้ กิเลสที่เป็นสิ่งเคลือบแฝงละเอียดขนาดไหนก็เหนือธรรมไปไม่ได้ เพราะกิเลสเป็นสมมุติ ธรรมเป็นได้ทั้งขั้นสมมุติและขั้นวิมุตติ จึงต้องเหนือกิเลสอยู่เสมอ
ความเลวของกิเลสกับความเลิศของธรรม ก็เดินสวนทางกันชนิดร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกัน ความฉลาดในอุบายปลิ้นปล้อนหลอกลวง และเสกสรรปั้นยอตบตาสัตว์โลกให้เชื่อถือและคล้อยตาม จนหลับไหลใฝ่ฝันไม่มีวันตื่นก็ยกให้กิเลส ความจริงความแท้ ธาตุแท้ไม่มีคำว่าปลอมนั้นคือธรรม กิเลสไม่อาจเอื้อมทำลายได้ เมื่อฝ่ายหนึ่งปลอม ฝ่ายหนึ่งจริง ความจริงต้องเหนือความปลอมอยู่โดยดี
ผู้ปฏิบัติธรรม ทำใจให้สงบ เป็นสมถธรรม วิปัสสนาธรรม ย่อมมีธรรมในใจและเหนือกิเลสไปเรื่อยๆ จนปราบกันได้อย่างเรียบราบไม่มีอะไรเหลือ ใจก็อยู่เหนือโลกเหนือกิเลสทั้งปวง เหนือขันธ์ เป็น นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นใดไม่เหมือนสุขที่เกิดจากการปราบกิเลสสิ้นไปจากใจ
นี่ความยากความลำบากทั้งมวลที่เราทำมานั้นก็หายไปหมดแล้ว มันไม่ได้มาก่อกวนทำลายเราอยู่ในเวลาที่บริสุทธิ์แล้วนั้นเลย ทั้งเป็นเครื่องหนุนให้หลุดพ้นจากทุกข์อย่างดีเยี่ยมด้วย หากเราไม่ทำอย่างนั้น ก็ไม่รู้อย่างนี้ เมื่อพิจารณาย้อนหลังก็ภูมิใจ ตอนนั้นความเพียรของเราเป็นอย่างนั้นๆ ความทุกข์ความลำบากเพราะการต่อสู้กับกิเลสเป็นอย่างนั้นๆ ข้ามมาเป็นลำดับลำดา
ถึงขั้นที่จะมอบเป็นมอบตายกัน เพราะความแก่กล้าสามารถแห่งสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ก็หมุนกันเข้าไปเลย ตายก็ไม่เสียดายชีวิต นอกจากให้รู้ให้หลุดพ้นอย่างเดียวเท่านั้น ไม่รู้เอาตายก็ตาย นี่ถึงขั้นมันเด็ดมันก็เด็ด ถึงขั้นมันสู้มันก็สู้เอาตายเป็นเดิมพัน ถึงขั้นมันเสียสละเป็นสละตายมันเสียสละจริงๆ เพื่อธรรมดวงนั้น สู้จนผ่านพ้นไปได้อย่างใจหวัง แล้วก็ไม่เห็นตาย ความทุกข์ทั้งมวลในการประกอบความเพียรมาทุกประโยคนั้นมันก็หายหน้าไปหมด แน่ะ ยังเหลือแต่ผลเท่านั้น คือความสมบูรณ์ภายในใจ เพราะความเพียรเหล่านั้นเป็นเครื่องสนับสนุน
เพราะฉะนั้นขอให้ยึดอุบายเหล่านี้ไปเป็นหลักเป็นเกณฑ์ เป็นคติเครื่องดำเนิน ทุกข์ยากลำบากก็พยายามผลิตสติปัญญาขึ้น ให้ทันกับกลมายาของกิเลสอยู่เสมอๆ อย่าได้ท้อถอยอ่อนแอ ซึ่งไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทางของธรรมพาดำเนินให้ถึงความพ้นทุกข์ นอกจากจะพอกพูนกิเลสและกองทุกข์ขึ้นให้มากยิ่งกว่าที่มีอยู่แล้วนี้เท่านั้น จึงไม่ควรเสียดายความไม่เป็นท่าของตน
เอาละยุติ |