เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒
คนจริงย่อมถึงธรรมของจริง
นี้พูดถึงสาเหตุที่เราจะออกบวชซึ่งไม่เคยคาดฝันมาก่อนคือ เย็นวันหนึ่ง ครอบครัวเรามีพ่อแม่และลูกชายหญิงหลายคนร่วมรับประทานกันอยู่อย่างเงียบๆ ขณะนั้นพ่อพูดขึ้นชนิดไม่มีอะไรเป็นต้นเหตุเลยว่า เรามีลูกหลายคนทั้งหญิงทั้งชาย แต่ก็ไม่พ้นความวิตกกังวลในเวลาเราจะตาย เพราะจะไม่มีลูกคนใดใจเป็นผู้ชาย คิดบวชให้พอเราได้เห็นผ้าเหลืองก่อนตาย ได้คลายความกังวลใจในเวลานั้น แล้วตายไปอย่างเป็นสุขหายห่วง
ลูกเหล่านั้นกูก็ไม่ว่ามันแหละ หมายถึงลูกผู้ชาย ส่วนลูกผู้หญิงกูก็ไม่เกี่ยวข้องมัน ลูกผู้ชายกูก็มีหลายคน แต่นอกนั้นกูก็ไม่สนใจอะไรพอจะอาศัยมันได้ แต่ไอ้บัว (หมายถึงเรา) นี่ซิ ที่กูอาศัยมันได้น่ะ ปกติพ่อไม่เคยชมเรา อะไรๆ ก็ไม่เคยชมมีแต่กดลงเรื่อยๆ นิสัยพ่อกับแม่เราเป็นอย่างนั้น ไอ้นี่ลงมันได้ทำการทำงานอะไรแล้ว กูไว้ใจมันได้ทุกอย่าง กูทำยังสู้มันไม่ได้ ลูกคนนี้กูไว้ใจที่สุด ว่าอย่างนั้น ถ้าลงมันได้ทำอะไรแล้วต้องเรียบไปหมด ไม่มีที่น่าตำหนิติเตียน กูยังสู้มันไม่ได้ ถ้าพูดถึงเรื่องหน้าที่การงานแล้วมันเก่งจริง กูยกให้ ลูกกูทั้งหมดก็มีไอ้นี่แหละเป็นคนสำคัญ เรื่องการงานต่างๆ นั้นกูไว้ใจมันได้
แต่ที่สำคัญตอนกูขอให้มันบวชให้ทีไร มันไม่เคยตอบไม่เคยพูดเลยเหมือนไม่มีหู ไม่มีปากนั่นเอง บทเวลากูตายแล้ว จะไม่มีใครลากกูขึ้นจากหม้อนรกเลยแม้คนเดียว เลี้ยงลูกไว้หลายคนเท่าไรกูพอจะได้อาศัยมันก็ไม่ได้เรื่อง ถ้ากูอาศัยไอ้บัวนี้ไม่ได้แล้ว กูก็หมดหวังเพราะลูกชายหลายคนกูหวังใจอาศัยไอ้นี่เท่านั้น
พอว่าอย่างนั้น โฮ้ย น้ำตาพ่อร่วงปุบปับๆ เรามองไปเห็น แม่เองพอมองไปเห็นพ่อน้ำตาร่วง แม่ก็เลยน้ำตาร่วงเข้าอีกคน เราเห็นอาการสะเทือนใจทนดูอยู่ไม่ได้ ก็โดดออกจากที่รับประทาน ปุ๊บปั๊บหนีไปเลย นั่นแหละเป็นต้นเหตุให้เราตัดสินใจบวช มันมีเหตุอย่างนั้น
นำไปคิดอยู่ตั้งสามวัน ไม่หยุด ไม่ยอมมารับประทานร่วมพ่อแม่อีกเลยในสามวันนั้น แต่ก็คิดไม่หยุดไม่ถอย คิดเทียบเคียงถึงเพื่อนฝูงที่เขาบวชกัน ตลอดถึงครูบาอาจารย์ที่บวชเป็นจำนวนมาก ท่านยังบวชกันได้ทั่วโลกเมืองไทย
การบวชนี่ก็ไม่เหมือนการติดคุกติดตะราง แม้เขาติดคุกติดตะราง เช่นติดตลอดชีวิต เขาก็ยังพ้นโทษออกมาได้ เราไม่ใช่ติดคุกติดตะรางนี่ หมู่เพื่อนบวชเขายังบวชได้ เขาเป็นคนเหมือนกัน และครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ท่านบวชจนเป็นสมภารเจ้าวัด ท่านยังอยู่ได้ เหตุใดเราเป็นคนทั้งคน พ่อแม่เลี้ยงมาเหมือนคนทั้งหลาย อย่างอื่นๆ เรายังอดได้ทนได้ แต่การบวชนี่มันเหมือนติดคุกติดตะรางเชียวเหรอ เราถึงจะบวชไม่ได้ทนไม่ได้ เราทำไมถึงจะด้อยเอาเสียนักหนา ต่ำช้าเอานักหนา กว่าเพื่อนฝูงทั้งหลาย ถึงขนาดพ่อแม่ต้องน้ำตาร่วงเพราะเรานี่ ไม่สมควรอย่างยิ่ง
คิดวกไปเวียนมาอยู่นั้นได้สามวัน เอาละที่นี่ ตัดสินใจปุ๊บ เอา ทำไม จะบวชไม่ได้ ตายก็ตายไปซิ เขาบวชกันมาไม่เห็นตาย พ่อแม่ก็ไม่ได้บอกให้บวชจนถึงวันตาย หรือบอกให้บวชถึงปีสองปี พ่อแม่ก็ไม่เห็นว่านี่ แล้วทำไมถึงจะบวชไม่ได้ล่ะ เราก็ คนๆ หนึ่งแท้ๆ เอ้า ต้องบวช
เมื่อพิจารณาเป็นที่ลงใจแล้ว จึงได้มาบอกกับแม่ว่า เรื่องการบวชจะบวชให้ แต่ว่าใครจะมาบังคับไม่ให้สึกไม่ได้นะ บวชแล้วจะสึกเมื่อไรก็สึก ใครจะมาบังคับว่าต้องเท่านั้นปีเท่านี้เดือน ไม่ได้นะ มันหาทางออกไว้แล้วนั่น ดูซิ ทิฐิมานะของมันน่ะ แต่แม่ฉลาดกว่าลูกนี่ โถ แม่ไม่ว่าหรอก ขอให้ลูกไปบวชให้แม่เห็นต่อหน้าต่อตาแม่ทีเถอะ แล้วสึกออกมาทั้งๆ ที่คนที่ไปบวชยังไม่กลับบ้านก็ตาม สึกต่อหน้าต่อตาคนมากๆ นั้นแม่ก็ไม่ว่า แม่ใส่เข้าไปอย่างนี้เลย ก็ใครจะเป็นพระหน้าด้านมาสึกต่อหน้าต่อตาคนมากๆ ที่ไปบวชเราได้ ไม่บวชเสียมันดีกว่า เมื่อบวชแล้วมาสึกต่อหน้าต่อตาคน มันยิ่งขายขี้หน้ากว่าอะไรเสียอีก นั่น เมื่อติดปัญหาแม่แล้วก็เลยไปบวช
แต่ว่าเรามันนิสัยจริงจังแต่เป็นฆราวาสมาแล้ว เวลาบวชก็ตั้งใจบวชเอาบุญเอากุศลจริงๆ และพร่ำสอนตัวเองว่า บัดนี้เราบวชแล้ว พ่อแม่ไม่ได้มาคอยติดสอยห้อยตาม คอยตักคอยเตือนเราอีกเหมือนแต่ก่อนแล้วนะ แม้เวลานอนหลับก็ไม่มีใครมาปลุกนะ แต่บัดนั้นมาก็ทำความเข้าใจกับตัวเองราวกับว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ นะ อย่างนั้นแหละ
แต่ก่อนเราจะไปไหนแต่เช้าๆ ส่วนมากมีแต่บอกแม่ให้ปลุกว่า พรุ่งนี้เช้าจะออกไปธุระแต่เช้า แม่ก็ปลุกแต่เช้าแล้วก็ไป แล้วก็ล้มนอนตูมเหมือนตาย ทอดอาลัยหมด เพราะคิดแล้วว่าแม่จะปลุก ไม่สนใจเรื่องการตื่นนอน พอถึงเวลาแม่ก็ปลุกเอง ทีนี้แม่คงจะเห็นอย่างนั้นจึงเป็นห่วงในเวลาไปบวช เพราะผิดกันกับพี่ชาย สำหรับพี่ชายว่าพรุ่งนี้เช้าให้แม่ปลุก แต่แม่ยังไม่ได้ปลุกเขากลับตื่นเสียก่อน ไปก่อนแล้ว
แม่ว่า ไอ้ลูกกูคนนั้นมันก็ดีแบบหนึ่ง แต่ลูกกูคนนี้เรื่องการงานอะไรแล้วยกให้ไม่มีใครสู้ในลูกทั้งหลาย แต่เวลานอนมันเหมือนตายนี่ซิ จึงคิดหนักอกหนักใจกับมัน เวลาไปเป็นพระใครจะไปปลุกมันนา นี่แหละกูหนักใจตรงนี้ ไม่มีทีไรละว่ามันจะตื่นขึ้นมาก่อนแล้วไปเลยโดยเราไม่ได้ปลุก ถ้าลงมันได้บอกว่าจะไปงานโน้นงานนี้ ต้องได้ปลุกทุกทีลูกคนนี้ นี่ซิเป็นข้อหนักใจ แม่เอาไปวิพากษ์วิจารณ์กับคนอื่น แต่เราก็ไม่พูด เราได้ยินคนอื่นเล่าให้ฟัง เราไม่ค้าน แม่ว่า เราอยากให้มันเป็นผู้หญิงเสียเองแม่จะได้เบามือ นี่พ่อแสนสบายเพราะมีคนช่วยให้เบามือ ส่วนเราทุกข์จะตาย
พอก้าวออกจากบ้านเข้าวัด ก็เตือนตัวเองทันที เอาละนะที่นี่ ไม่มีใครจะตามแนะนำตักเตือนเรา ตลอดถึงการหลับการตื่นไม่มีใครปลุกละนะ เราต้องเป็นเราเต็มตัวตั้งแต่บัดนี้ไป ไม่หวังพึ่งพ่อแม่ดังแต่ก่อนอีกแล้ว เรียนหนังสือตีสองบ้าง ตีสามบ้าง เป็นประจำ ตีห้าบ้างเป็นบางคืน ตีห้าก็สว่าง เดือนมิถุนายน กรกฎาคม พอสว่างก็ลงทำวัตรแต่เช้าก่อนแล้วจึงค่อยออกบิณฑบาต มันตื่นทัน ดูซิ ผมก็แปลกเหมือนกันนะ มันตั้งท่าของมันอย่างจริงจังไม่เคยพลาดเลย จะนอนตีสองตีสามตีสี่ เรื่องทำวัตรนั้นในเวลาพรรษานี้ตั้งสัจอธิษฐานไว้เลย ว่าจะไม่ให้ขาดทั้งเช้าทั้งเย็นการทำวัตร และกราบเรียนท่านพระครูไว้ด้วย หากว่าท่านสั่งให้เราไปในที่นิมนต์ ว่าให้ท่านรอจนเรากลับมาถึงค่อยทำวัตร เราขอท่านไว้อย่างนั้น นี่หมายถึงทำวัตรส่วนรวม ส่วนที่กุฏิเราทำอีกทีหนึ่ง นี่เราอธิษฐานไว้เป็นส่วนรวม ทำวัตรส่วนรวมไม่ให้ขาดทั้งเช้าและเย็นในพรรษา
เวลาบวชแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ ตั้งหน้าตั้งตาเรียนหนังสือ นี่เล่าเป็นคติให้หมู่เพื่อนฟังเรื่องความจริงจัง เรียนๆ จริงๆ ไม่ถอย แต่สำคัญที่เรียนธรรมะไปตรงไหนมันสะดุดใจ เอ๊ะๆ ชอบกลๆ เข้าไปเรื่อยๆ ธรรมก็เข้ากับเราซึ่งเป็นคนจริงอยู่แล้วได้ง่าย ธรรมะเป็นของจริงอยู่แล้ว กับนิสัยจริงก็เลยเข้ากันได้สนิท เอ๊ะ ชอบกลๆ
เวลาอ่านพุทธประวัติและอ่านสาวกประวัติเข้าไปอีก โอ้โฮ ทีนี้ใจหมุนติ้วๆ นั่นแลเรื่องที่จะอยู่ไปได้ เรื่องภายนอกก็ค่อยจืดไปจางไปๆ เรื่องธรรมะก็หมุนติ้วๆ ดูดดื่มเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้ตั้งสัจอธิษฐานเวลาเรียนหนังสือว่าจบเปรียญสามประโยคแล้ว เราจะออกปฏิบัติโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ไม่มีข้อแม้ไม่มีเงื่อนไข เพราะอยากพ้นทุกข์เหลือกำลัง พูดง่ายๆ อยากเป็นพระอรหันต์นั่นเอง เห็นพระพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์ สาวกทั้งหลายออกมาจากสกุลต่างๆ สกุลพระราชา มหาเศรษฐี กุฎุมพี พ่อค้า ประชาชน ตลอดคนธรรมดา องค์ไหนออกมาจากสกุลใดก็ไปบำเพ็ญในป่าในเขา หลังจากได้รับพระโอวาทจากพระพุทธเจ้าแล้ว เดี๋ยวองค์นั้นสำเร็จพระอรหันต์อยู่ที่นั่น องค์นั้นสำเร็จอยู่ป่านั้น อยู่ในเขาลูกนั้น อยู่ในทำเลนี้ มีแต่ที่สงบสงัด
การประกอบความพากเพียรของท่านทำอย่างเอาจริงเอาจัง เป็นเนื้อเป็นหนัง เอาเป็นเอาตายเข้าว่าจริงๆ ท่านไม่ทำเหลาะๆ แหละๆ เล่นๆ ลูบๆ คลำๆ เหมือนอย่างเราทั้งหลายทำกัน ผลของท่านแสดงออกมาเป็นความอัศจรรย์ เป็นพระอรหันต์วิเศษๆ นี่ละมันถึงใจ
ทีนี้จิตเลยมุ่งมั่นถึงอรหัตบุคคล อยากเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในสมัยปัจจุบันนี้ คิดย้ำลงอีกว่า เอ้า ขอให้แน่ใจเถอะว่าในธรรมนี้มรรคผลนิพพานยังมีอยู่ แล้วเราจะเอาให้ได้ ไม่ได้เอาตาย มีเท่านั้นไม่มีอย่างอื่น ขอให้มีผู้หนึ่งผู้ใด ครูบาอาจารย์องค์ใด หรือผู้ใดก็ตามมาชี้แจงแสดงให้เราทราบ ว่ามรรคผลนิพพานยังมีอยู่เป็นที่ถึงใจเราแล้ว นั้นละการปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานจะทำให้ถึงใจ เอา ให้ตายไม่ตายให้รู้ มีเท่านั้น
พอออกจากเรียนแล้วจึงโดดผึงเลย อยู่ต่อไปไม่ได้ ก็เรียนประโยคสามจบแล้วนี่ เรียนประโยคสี่ก็ผิดละซิจะว่าไง เรียนไปสอบไปก็ยิ่งผิด มันผิด ฝืนเรียนต่อไปไม่ได้ ถ้าลงคำสัตย์ได้ตั้งขนาดนั้นแล้ว ไม่มีอะไรใหญ่ยิ่งกว่าคำสัตย์ ให้ตายเสียดีกว่าถ้าลงคำสัตย์ได้ขาดไป นิสัยของเราเป็นอย่างนั้นมาดั้งเดิม
จึงต้องขโมยหนีจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์องค์ที่อยู่วัดพระศรีมหาธาตุ มุ่งหน้าต่อพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น พอถึงท่านเท่านั้น ท่านชี้แจงแสดงเรื่องอะไร ไม่ว่าดูท่านทางตา ฟังท่านทางหู อะไรไม่มีคลาดมีเคลื่อนจากหลักธรรมหลักวินัย พูดอะไรตรงไปตรงมา เป๋งๆ ใจออกอุทานว่า โอโห นี่ละอาจารย์ของเรา นั่นลงละ แสดงเรื่องมรรคผลนิพพาน ไม่รู้เอามาจากไหน ถอดออกมาจากหัวใจเหมือนว่า นี่น่ะๆ มรรคผลนิพพานเห็นไหม เหมือนกับท้าทายอยู่ตลอดเวลาในการแสดงด้วย ท้าทายความจริงจังของท่าน ท้าทายด้วยความจริงของธรรม
ความจริงจังของท่านก็หมายถึงท่านเป็นผู้รู้ผู้เห็นเอง ไม่ใช่ผู้อื่นผู้ใดเป็นผู้เห็นแล้วท่านหยิบยืมมาพูดมาเทศน์ให้เราฟังนี่ ท่านเป็นผู้รู้เองเห็นเองในธรรมทั้งหลาย เวลามาแสดงให้เราฟังจึงถึงใจ พอเข้าถึงใจแล้วทีนี้เราจะจริงไหม มรรคผลนิพพานจะสงสัยอีกไหมที่นี่ ไม่มีทางสงสัย หมดแล้วเรื่องมรรคผลนิพพาน ยังมีอยู่หรือไม่นั้น เป็นอันว่าหมดปัญหาแล้วโดยประการทั้งปวง ไม่มีเหลืออยู่แม้เปอร์เซ็นต์เดียวเลย เชื่อแน่ว่ามรรคผลนิพพานมีอยู่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เอาละทีนี้เราจะจริงไหม จริงซิ ไม่จริงให้ตายเสีย อย่าอยู่หนักศาสนาและหนักแผ่นดินต่อไป ตั้งแต่บัดนั้นมาก็ฟัดกันใหญ่เลย
ฉะนั้น จึงสมบุกสมบันมากในการประกอบความพากเพียรของผม ทั้งมีนิสัยอย่างนี้ด้วย ไปไหนไม่เอาหมู่เอาเพื่อนไปด้วย อยู่คนเดียวดีดผึงๆ จนกระทั่งได้มาเป็นครูเป็นอาจารย์สอนหมู่เพื่อน เพราะนิสัยของเรามันนิสัยคนเดียวแท้ๆ ไม่ปรารถนาเรื่องมักใหญ่ใฝ่สูง มันไม่เคยปรากฏภายในจิตใจว่าอยากเป็นใหญ่เป็นโต อยากเป็นนั้นเป็นนี้ มีแต่สบายๆ ไปตามประสาป่าอย่างนั้นเอง
การเดินจงกรมถ้าอยู่ในวงหมู่เพื่อน เช่น มาอยู่บ้านหนองผืออย่างนี้ ผมจะเดินจงกรมให้หมู่เพื่อนเห็นไม่ได้ โน่น ต้องเวลาสงัดสี่ทุ่มห้าทุ่มล่วงไปแล้ว หมู่เพื่อนเงียบหมดแล้วถึงจะลงเดินจงกรม กลางวันก็เข้าไปอยู่ในป่าโน่น ถ้าวันไหนออกมาแต่วัน เช่น ห้าโมงเย็นออกมาอย่างนี้ ก็เข้านั่งสมาธิเสียในกุฎี จนกระทั่งหมู่เพื่อนเงียบไปหมดแล้วถึงจะลงทางจงกรม เป็นนิสัยอย่างนั้นมาดั้งเดิม ไม่ให้ใครมาเห็นการประกอบความเพียรของเราว่ามากน้อยขนาดไหน แต่ธรรมดาใครก็รู้ ทางจงกรมจนเป็นขุมเป็นเหวไปใครจะไม่รู้ เดินจงกรมกี่ชั่วโมงมันถึงจะเป็นขนาดนั้น อยู่ในป่าก็ดีอยู่ภายในวัดก็ดีมองดูก็รู้ แต่หากนิสัยเป็นอย่างนั้น ถ้าภาษาอีสานเขาว่านิสัย คนหลักความ ลักๆ ลอบๆ ทำอยู่คนเดียว แต่เรามันไม่สนิทใจที่จะทำความเพียรให้ใครๆ เห็นอย่างโจ่งแจ้ง
แต่อะไรจะบังคับบัญชายากยิ่งกว่าจิตไม่มี ถึงยังไงก็ตามไม่หนีความมุ่งมั่น ไม่หนีความฝึกความทรมานไปได้ ต้องเอาจริงเอาจังกับจิต กิเลสมันเอาเรามันเอาจริงเอาจัง ทำไมเราเวลาจะแก้กิเลสไม่จริงไม่จัง มันจะทันกันเหรอ ต้องคิดข้อนี้เสมอผู้ปฏิบัติธรรมะ นี่ก็ได้ทำมาแล้วจึงได้มาสอนหมู่เพื่อน ความเข้มแข็งนั้นแหละเป็นสิ่งที่จะให้กิเลสค่อยหลุดลอยไปโดยลำดับ แต่ความท้อถอยอ่อนแอนี้ไม่มีทาง นอกจากเป็นการเพิ่มกิเลสเท่านั้น จงจำไว้อย่างถึงใจ
อย่าไปสงสัยว่ากิเลสจะหมดไปตามอัธยาศัย ประกอบความเพียรก็ตามอัธยาศัย ตามอัธยาศัยนั้นเป็นอัธยาศัยกิเลส กิเลสลากไว้ดึงไว้ไม่ให้เดิน ไม่ให้นั่ง ไม่ให้มีสติสตัง เผอเรออยู่ตลอดเวลา นั่นเรื่องของกิเลสเป็นอย่างนั้น เรื่องของธรรมต้องเป็นผู้เข้มแข็ง
อยู่ที่ไหนให้มีสติเสมอ นี้พูดอยู่เสมอ เราเห็นคุณค่าของสติมากทีเดียว สติเป็นธรรมสำคัญมากในการที่จะให้งานไหนจักรตัวใดวิ่งหมุนติ้ว ก็ต้องให้จักรตัวสตินี้หมุนไปก่อน สติต้องเป็นผู้ควบคุมงาน งานมีกี่มากน้อยที่จะทำ หนักเบาขนาดไหน มีคนงานกี่คน ต้องมีคนคุมคนหนึ่งจนได้เป็นอย่างน้อย นี่ต้องมีสติเป็นเครื่องควบคุมงานของตน อย่าท้อถอยอ่อนแอ
ไปไหนก็ตามอย่าไปหวังอะไรๆ กับโลกอันนี้ โลกนี้เราทราบอย่างถึงใจว่า โลก อนิจฺจํ รอบโลกธาตุ เต็มไปหมด ไม่มีสิ่งใดที่จะเว้นจากความเป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไปได้ เมื่อความเป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มีอยู่ในสถานที่ใด สถานที่นั้นไม่เป็นฟืนเป็นไฟจะเป็นอะไร ไว้ใจกันได้ที่ไหน สิ่งที่เป็นน้ำให้ความร่มเย็นแก่เรา คือน้ำอรรถน้ำธรรม ให้เร่งเข้าไปความพากเพียร ให้จริงให้จัง ให้มีสติอยู่กับงานตลอดไป อย่าเสียดายความพลั้งเผลอว่าจะให้เราวิเศษวิโส นอกจากพาให้จมงมทุกข์
เดินจงกรมก็ให้มีสติ อย่าไปสนใจกับเรื่องอื่นใดว่าจะมีคุณค่ามีราคา อย่าไปเพลินกับความคิดความปรุงในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องโลกเรื่องสงสารที่เคยเป็นมาแล้วในอดีตก็ดี ที่จะเป็นไปในอนาคตก็ดี หรือมันเอาเรื่องอดีตมายุ่งอยู่ในวงปัจจุบันนี้ก็ดี มีแต่เรื่องของกิเลสทั้งมวล ทั้งๆ ที่เราเดินจงกรมอยู่นั้นแหละ นั่งสมาธิภาวนานั้นแหละ แต่กิเลสมันทำงานอยู่บนหัวใจเรา ตัวสมุทัยได้แก่ความคิดความปรุงแต่ง เรื่องอดีตอนาคตวุ่นไปหมด ถ้าคิดไปเพื่อความวุ่นเช่นนั้นไม่ใช่ทาง เป็นเรื่องการส่งเสริมกิเลสหรือสั่งสมกิเลสขึ้นอีก
ต้องอาศัยหลักปัจจุบัน คือ สติ ตัดความเสียดาย ความห่วงใยอาลัยทั้งหมดในเรื่องอดีตซึ่งเป็นโลกล้วนๆ เรื่องอนาคตถ้าเป็นโลกล้วนๆ เมื่ออดีตเป็นโลกล้วนๆ อนาคตมันก็ต้องเป็นโลกล้วนๆ เหมือนกัน ขาดสติเป็นไปได้ทั้งอดีตอนาคต หมุนติ้วอยู่ภายในหัวใจนั่นแหละ ให้ได้รับความทุกข์ความลำบาก ถ้าสติจ่อลงตรงไหนปัจจุบันมีอยู่ตรงนั้น เราหักห้ามกันได้ที่ตรงนั้น เคยหักห้ามมาแล้วนี่ไม่ใช่มาสอนหมู่เพื่อนเฉยๆ เคยฟาดกันลงบางครั้งถึงน้ำตาร่วงก็มี จนกิเลสมันท้วงติงเราว่า เฮ้อ เอาถึงขนาดนี้เชียวเหรอ ถ้าไม่ถึงขนาดนี้กิเลสมันจะหลุดลอยไปเหรอ ว่าอะไรเพียงน้ำตาร่วงเท่านี้วะ ตายก็ยังไม่ถอยนี่ อย่ามาพูดเลยเพียงน้ำตาร่วง เพียงกินเผ็ดน้ำตามันก็ร่วงไม่เห็นได้เรื่องอะไร ถูกควันไฟมันก็ร่วง หัวเราะมันก็ร่วง ร้องไห้มันก็ร่วง มันได้เรื่องอะไร ประสาน้ำตา น้ำไม่เป็นท่าเป็นทางก็คือน้ำตานั่นเอง ผู้จะฆ่ากิเลสไปสนใจเสียดายน้ำตาอะไรกัน เรื่องจริงเรื่องจังที่จะเป็นสาระแก่นสารแก่ตัวคืออะไร มันเหนือเรื่องเหล่านี้เป็นไหนๆ ฟาดกันลงไปให้หนักมือผู้ปฏิบัติเพื่อเอาตัวรอดน่ะ อย่าฟังเสียงกิเลสยิ่งกว่าเสียงธรรม
เราเห็นโทษเรื่องความเกลื่อนกล่นวุ่นวายกับหมู่คณะ ในเวลาอยู่ศึกษาอบรมกับครูบาอาจารย์ มาทำเหลาะๆ แหละๆ ให้เห็นต่อหน้าต่อตา เคยเห็นมาแล้วอย่าให้เห็นอีกนะ นี่ได้เห็นมาแล้วต่อหน้าต่อตา ถึงขนาดที่เคยพูดกันอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยกับหมู่คณะในเวลานั้น มันก็เป็นอย่างที่พูดไม่เห็นผิดไปนี่ เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์มันซ่อนเล็บนะ มันไม่กางเล็บออกมา แต่ก็เห็นเล็บที่ซ่อนอยู่จนได้นั่นแหละ
เวลาปราศจากครูบาอาจารย์หรือห่างเหินจากครูบาอาจารย์ไปแล้ว มันจะกางเล็บออกเล่นเต็มเพลงนั่นแหละ เพลงของกิเลส น่ะ ใครมีของดิบของดีอยู่ในอุ้งเล็บที่เข้าใจว่าวิเศษวิโสยังไง ก็จะนำออกแสดงให้เต็มภูมินั่นแหละ ทั้งๆ ที่มันไม่วิเศษ คอยดูก็รู้กัน แล้วมันก็เป็นแล้วอย่างทุกวันนี้ นี่ถึงว่าไม่อยากพบไม่อยากเห็นอีก กลัวอกแตกตาย
มีจำนวนมากจำนวนน้อย ใครอย่าถือใครเป็นตัวอย่างนอกเหนือไปจากหลักธรรม ธรรมเท่านั้นที่จะทำให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุข สันติสุขในหมู่คณะด้วยกัน อย่าเข้าใจว่าเรียนมากรู้มาก อย่าเข้าใจว่ามีฐานะดี อย่าเข้าใจว่าเป็นคนชั้นนั้นชั้นนี้น่าเกรงขาม มีสง่าราศี ซึ่งเป็นเรื่องของโลกเสกสรรกันตามอำนาจของวัฏวน อย่านำเข้ามาเกี่ยวข้องในวงของพระซึ่งมีแต่ธรรม คือ ความถูกต้องดีงามล้วนๆ เอาตรงนั้นเป็นแบบฉบับของผู้จะหนีทุกข์คือวัฏวน
อยู่ด้วยกันใครพูดให้ฟังโดยเหตุโดยผล ผู้พูดก็ให้พูดโดยเหตุโดยผล ผู้ฟังฟังหาความจริง อย่าฟังหาเอาเรื่องความมาทะเลาะกัน อย่าฟังเอาทิฐิมานะ เมื่อทิฐิมานะมันเกิดขึ้นภายในใจแล้ว มันอัดอั้นตันใจในหัวใจตัวเอง เดี๋ยวมันก็กระเด็นออกมา ระบาดออกมา ทะลักออกมาให้ได้รับความกระทบกระเทือนต่อเพื่อนฝูงด้วยกันจำนวนมากน้อยจนได้
วงปฏิบัตินี้ต้องเป็นเหมือนอวัยวะเดียวกัน มันถึงอยู่กันได้ด้วยความผาสุก ถ้าไม่เหมือนอวัยวะเดียวกันแล้วอยู่ด้วยกันไม่ได้ ธรรมนั้นแหละที่จะทำจิตใจของแต่ละท่านแต่ละองค์ที่อยู่จำนวนมากนี้ ให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ด้วยความสัตย์ความจริง ด้วยความมุ่งอรรถมุ่งธรรม ไม่ใช่อะไรจะพาให้รวม อย่างอื่นอย่าเอาเข้ามาเกี่ยวข้อง
แม้แต่ผมเองผู้ปกครองหมู่เพื่อนอยู่ที่นี่ ที่หมู่เพื่อนเสกสรรปั้นยอว่าเป็นครูเป็นอาจารย์ เข้ามาอาศัยให้แนะนำตักเตือนสั่งสอน ผมก็ไม่เคยถืออำนาจวาสนาให้นอกเหนือไปจากหลักธรรมหลักวินัยนี้เลย ผมประกาศตัวต่อหมู่เพื่อนอยู่เสมอ ถ้าผมผิดแล้ว ให้ว่าได้เลยไม่ต้องเกรงอกเกรงใจ เพราะธรรมเหนือผมนี่ ท่านผู้นำธรรมมาตักเตือนสั่งสอนผม ผมจะไปขัดข้องหาสมบัติอะไร ถ้าขัดข้องก็ไม่เป็นธรรม ก็ไม่ควรจะอยู่กับหมู่กับเพื่อนต่อไปละซิ สอนหมู่เพื่อนเพื่อประโยชน์อะไรเจ้าของไม่เป็นธรรม ถือทิฐิมานะ เอาทิฐิมานะมาเหยียบย่ำทำลายธรรม แล้วจะสอนหมู่เพื่อนให้เป็นสิริมงคลได้ยังไง นี่เราตระหนักเสมอในใจของเรา เราจะให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาไม่ได้ทั้งในตัวเราและในวงคณะที่อยู่ร่วมกัน ฉะนั้นการสอนหมู่เพื่อนที่อยู่ด้วยกัน ตนเองก็พึงปฏิบัติอย่างนั้น โดยถือหลักธรรมเป็นสำคัญ และให้อภัยกันเสมอ เมตตากันเป็นพื้นฐาน
อย่ามองกันในแง่ร้าย ให้มองกันในแง่เหตุผลและเมตตาต่อกันเสมอ เพราะคนเราความรู้และอัธยาศัยใจคอไม่เหมือนกัน ผู้มีความรู้มากก็มี ความรู้น้อยก็มี ผู้โง่ผู้ฉลาดมีสับปนกันไป ผู้หยาบผู้ละเอียดมี ให้ต่างคนต่างระมัดระวัง สิ่งใดที่มีอยู่ในตัวเรา ยิ่งสิ่งใดที่เป็นภัยต่อหมู่เพื่อนด้วยแล้ว ให้ระมัดระวังและกำจัดให้ได้ อย่าหวงไว้เผาตัวเองและวงคณะ และอย่าแสดงออกมาเป็นอันขาด ซึ่งเป็นการขายตัวอย่างเลวร้ายที่สุดให้อภัยไม่ได้เลย นี่แหละคือหลักของการปกครอง ของการอยู่ร่วมกันเป็นอย่างนี้ จึงต้องได้ระมัดระวังเสมอ ประมาทไม่ได้ตลอดไป
และเคยพูดเสมอว่าการปกครองเป็นของสำคัญ ไม่ใช่มีเท่าไรมาเท่าไรก็เออๆ อยู่ไปๆ มันไม่ใช่อย่างนั้น ต่างคนต่างหามต่างคนต่างหาบกิเลสเต็มหัวใจมาด้วยกันทุกคน เพราะเป็นปุถุชนคนมีกิเลส ทำไมจะไม่หาบกิเลสหามกิเลสมาเต็มหัวใจล่ะ และกิเลสมันเคยลงกับอะไรที่ไหนเมื่อไหร่ กับธรรมมันยังต่อสู้ แม้จะแพ้ธรรมมันยังไม่ยอมถอยง่ายๆ สู้จนมันตายทลายลงไปหมดทุกตัว เรื่องของมันกับธรรมจึงยุติ แม้ขนาดมันตายต่อหน้าต่อตาของธรรม มีสติปัญญาเป็นต้น มันยังไม่ยอมออกปากพูดว่ายอมแพ้เลย ฟังซิ
กิเลสมันไม่กลัวอะไรนอกเหนือไปจากธรรม เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยธรรม คือสติเป็นสำคัญ ปัญญาเป็นเครื่องไตร่ตรองทดสอบพิจารณา เบิกทางเดินไปเพื่อความสงบเย็นใจแก่ตนเอง
ทางการปฏิบัติก็เอาให้จริงจัง อย่าเหลาะๆ แหละๆ อย่าเล่น อย่าสำคัญว่าวันคืนเดือนปีเป็นของมีค่ามีราคา มันมีค่ามีราคาที่ไหน มืดกับแจ้งเอาราค่ำราคามาจากไหน สถานที่โลกอันนี้ก็มีแต่แผ่นดิน ไปที่ไหนอยู่ที่ไหนก็อยู่แผ่นดิน ใครสูงใครต่ำที่ไหนก็อยู่กับแผ่นดินด้วยกันนี้ ใครจะวิเศษวิโสไปที่ไหนถ้าไม่ทำจิตใจให้วิเศษวิโสด้วยธรรม ซึ่งเป็นของประเสริฐอยู่แล้ว และเป็นของคู่ควรกับใจ นอกนั้นไม่มีสิ่งใดคู่ควรกัน ใจเป็นภาชนะอันเหมาะสมอย่างยิ่งกับธรรม มีเท่านี้ ให้พากันสนใจตั้งหลักตั้งเกณฑ์ลงให้ดี
จิตใจอย่างน้อยให้ได้รับความสงบ ทำไมจะสงบไม่ได้ เราฝึกฝนอบรมใจด้วยธรรมเพื่อความสงบ พระพุทธเจ้าสงบได้ด้วยธรรม ระงับได้ด้วยธรรม ปราบกิเลสให้ฉิบหายวายปวงไปได้ด้วยธรรม พระสงฆ์สาวกที่เราถือเป็นสรณะ ท่านก็ทุกข์ลำบากเพราะการปราบกิเลส ด้วยอรรถด้วยธรรมเหมือนกัน การเข้าสู่สงครามจะไม่ทุกข์ได้อย่างไร ต้องทุกข์ด้วยกัน จนได้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ใจบริสุทธิ์พุทโธเหมือนพระพุทธเจ้า เป็นแต่เพียงไม่เรียกศาสดา ส่วนความบริสุทธิ์นั้นเสมอกัน เหมือนกันหมด แต่อำนาจวาสนาความลึกตื้นหนาบางนั้น ต่างกันกับพระพุทธเจ้า แต่อย่างไรก็ตาม นตฺถิ เสยฺโยว ปาปิโย หาความยิ่งความหย่อนต่างกันไม่มีในความบริสุทธิ์ นั่นแลครูของพวกเรา สรณะของพวกเราท่านดำเนินอย่างนั้น ต้องยอมรับ คือรับมาเป็นคติเตือนใจตัวเอง อย่าให้ลดละท้อถอย
จิตอย่าให้ดิ้นไปไหนได้ เราเป็นผู้ฝึกจิต จะยอมให้จิตดิ้นเหยียบหัวเราไปต่อหน้าต่อตามีเหรอ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ใช่นักปฏิบัติ กิเลสรุนแรงขนาดไหน เราก็รุนแรงขนาดนั้น เอ๊า เป็นก็เป็นตายก็ตาย กิเลสมันดื้อขนาดไหนไม่กินก็ได้ข้าวนี่ว่ะ มีแต่ท่าจะฝึกทรมานมัน เอาจนอยู่หมัดนั่นแหละสมใจ
พระพุทธเจ้าท่านยกอุปมาเรื่องนายสารถีฝึกหัดม้า ม้ามีถึงสี่ประเภท ประเภท ที่หนึ่ง เยี่ยม เกือบจะพูดได้ว่าเป็นประเภทอาชาไนย ฝึกได้ง่าย ใช้ได้ประโยชน์มากมาย รวดเร็วทันใจ ประเภทที่สอง ลดกันลงมา ประเภทที่สาม ฝึกยากพอประมาณ แต่ไม่ได้หนักหนานัก พอฝึกได้ทำประโยชน์ได้ ประเภทที่สี่ ไม่ได้เรื่องเลย ต้องฆ่า นายสารถีว่าเพราะไม่เกิดประโยชน์
เราตถาคตก็เหมือนกัน พอถึงตอนสุดท้ายก็บอกเราตถาคตก็ฆ่า เอ๊ะ พระพุทธเจ้าฆ่าได้ยังไง พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาไม่ได้ไปฆ่าสัตว์ ก็ชักสะพานยังไงล่ะ ท่านว่า ปทปรมะ มืดแปดทิศแปดด้านเหมือนไม่มีหูมีตา ใจก็มีแต่ความมืดบอดอยู่ภายในนั้น จะสอนให้เป็นอรรถเป็นธรรม รู้อรรถรู้ธรรม รู้บาปบุญคุณโทษได้อย่างไร ก็เหมือนกับคนตายแล้วทั้งๆ ที่มีชีวิตอยู่นั้นแล นั้นจึงชักสะพานไม่สอนให้เสียเวลาและอรรถธรรมไปเปล่าๆ อ๋อ ฆ่าอย่างนั้น เทียบกันกับสารถีฝึกหัดม้าสี่ประเภท
เราไม่ใช่ประเภทปทปรมะนี่นา เป็นประเภทที่ฝึกฝนอบรมได้ แต่เอาให้หนักหน่อย ให้มันได้ ฝึกเรา เราฝึกคนอื่นว่าคนอื่นยังมีเหตุมีอะไรๆ ภายในใจ ตัวเราเองผู้ว่าก็ยังมีความเกรงอกเกรงใจกันบ้าง เราเองฝึกทรมานเรานี้ เอาให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างใจหวังนั้นเลย ไม่ได้เกรงอกเกรงใจตัวเอง เพราะเห็นว่ากิเลสคือตัวแสบที่ขวางตัวเองต่างหาก ไม่ใช่เราขวางเรา กิเลสขวางเรา เราต้องสู้ เอาให้จริงให้จังให้พังทลาย จะได้ชมตัวเองว่าเก่งจริง สมนามว่านักบวชคือนักรบ
ถ้าลงได้ตั้งท่าสู้กันขนาดนั้นแล้ว ยังไงกิเลสก็ต้องหมอบให้เห็น ใจสงบจนได้ เห็นไหมเขาอยู่ในโลก เคยพูดให้ฟังเสมอ โลกนี้หมุนไปตามสิ่งที่ชอบใจทั้งนั้นแหละ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เป็นสิ่งที่โลกต้องการและรักชอบที่สุดไม่มีวันอิ่มพอ และโลกก็ได้รับความฉิบหายล่มจม และบ่นเพ้อละเมอกันอยู่ทุกหย่อมหญ้า เพราะสิ่งเหล่านี้เองทำพิษน่ะ แล้วเราจะเอาคุณค่าอะไรจากสิ่งเหล่านี้
ส่วนผู้เห็นธรรมแล้วไม่มีใครที่จะบ่นนอกจากออกอุทานเท่านั้น อย่างพระมหากัปปินท่านว่า สุขํ วต สุขํ วต สุขหนอๆ นี่ท่านเคยเป็นพระมหากษัตริย์มาแต่ก่อนเสด็จออกบวชจนได้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้วท่านเปล่งอุทานว่า สุขํ วต สุขํ วต สุขหนอๆ นั่น แต่ก่อนท่านอยู่ในพระราชวังไม่เคยเห็นออกอุทานว่า สุขหนอๆ เวลาเสด็จออกจากสิ่งพัวพันทั้งหลายและสลัดภายในใจออกอีก จนกลายเป็นใจที่บริสุทธิ์แล้ว อยู่ไหนก็สุขหนอๆ สุขํ วต สุขํ วต
เราก็เอาให้ได้ซิ อยู่ที่ไหนก็ สุขํ วต ซิ ท่านมหากัปปินมิได้ผูกขาดนี่ นี่อยู่กับผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติด้วยสติปัญญาอย่านอนใจ นี่แลทางแห่ง สุขํ วต อยู่ตรงนี้ กิเลสจะตายไปด้วยความเพียร หรือกิเลสจะค่อยหมดไปด้วยความเพียรไม่ได้หมดไปด้วยสิ่งใด ให้ทำความเข้าใจกับตนไว้เสมอ อย่าอ่อนแอในการปฏิบัติ
สมาธิที่เคยได้ยินแต่ชื่อก็จะปรากฏขึ้นที่ใจ มีความสงบเย็นภายในใจ มีความแน่นหนามั่นคงขึ้นที่ใจ ปัญญาเมื่อมีความสงบพอเป็นปากเป็นทางเป็นบาทเป็นฐานแล้ว ให้พิจารณาอย่าขี้เกียจ อย่าติดสุขในสมาธิ อย่าเข้าใจว่าสมาธิจะทรงคุณค่าให้เป็นของเลอเลิศประเสริฐ เพียงแต่ความสงบตะล่อมกิเลสเข้ามาสู่จุดรวม เพื่อง่ายแก่การถอดถอนด้วยปัญญาเท่านั้นเอง ถ้าไม่ฆ่ามันก็เพ่นพ่านไปได้อีก เมื่อตะล่อมเข้ามาสมควรแล้วก็คลี่คลายออกไปฆ่าทีละตัวสองตัว เหมือนกับเราไล่สัตว์เข้าคอก แล้วจะฆ่ามันทีละตัวสองตัว ฆ่าเรื่อยๆ ฆ่าจนหมดคอกก็ได้เมื่อไล่เข้าคอกแล้ว นี่สมาธิเหมือนกับไล่สัตว์เข้าคอก คือ ไล่กิเลสเข้ามาสู่ความสงบ แล้วคลี่คลายออกไปด้วยปัญญา แยกนั้นแยกนี้ออกพิจารณา
ดูให้เห็นอนิจฺจํเต็มร่างกายเต็มจิตใจทำไมจะไม่รู้ รูปทั้งรูปนี้มีอาการใดที่ไม่เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เห็นเป็นพื้นอยู่ชัดๆ อย่างนี้ จะค้านความจริงไปไหน อนิจฺจํ แปรสภาพอยู่ตลอดเวลา ทุกขํ ใครเป็นทุกข์ ก็คือผู้แบกผู้หามอยู่นี้แหละ เวลานี้มันเป็นทุกข์ อะไรจะเป็นทุกข์ นอกจากผู้แบกผู้หามเป็นทุกข์ คือ หัวใจเราเอง เห็นโทษแห่งความหลงของตัวเองที่ไปแบกไปหามแล้วเกิดทุกข์ขึ้นมา อนตฺตา ปราศจากคำว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเราเป็นเขา เป็นของเราของเขาไปหมดแล้ว ภายในร่างกายก็ดี ภายในจิตเจตสิกธรรมที่แสดงออกมาก็ดี ล้วนแล้วแต่ตัว อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา หากหลงไปตามมัน เจตสิกธรรมที่แสดงมานี้ก็เป็นตัวสมุทัย ก่อตัวเป็นพิษเป็นภัยขึ้นมาแก่เรานั่นแหละ
ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญเข้าไป ให้เห็นเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ชัดแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ระงับดับไปๆ ดับไปเรื่อยๆ ไม่พ้นจากความจริง ขอให้พิจารณาหยั่งสติปัญญาลงไปถึงพื้นฐานแห่งความจริง คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เถิด นี้เป็นความจริงซึ่งเป็นพื้นฐานอยู่ภายในร่างกายจิตใจของเรา ในขันธ์ทั้งห้านี้มีอันนี้เป็นพื้นฐานอยู่ตลอดกาล ที่จะต้องพิจารณาให้เห็นตามความจริงของมัน เรียกว่า ปัญญา
หรือจะพิจารณาเรื่องอสุภะ ก็เอาให้มันเห็นชัดๆ ซิ ในตัวของเรานี้ มันมีชิ้นไหนเป็นของดีที่หอมหวนชวนให้ดม มีที่ตรงไหน แม้แต่ผิวหนังมันก็เหม็นจะว่าไง แล้วเยิ้มเข้าไปข้างในมีอะไรอีก หนังมันบางยิ่งกว่ากระดาษ กระดาษยังหนากว่าผิวหนังที่หลอกตาเสียอีก พิจารณาเข้าไปซิ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แล้วยังไม่แล้ว ดูความอสุภะอสุภัง ป่าช้าผีดิบ ไม่ทราบว่าเป็ด ว่าไก่ ว่าหมู ว่าวัว ว่าควาย ว่าอะไร เต็มอยู่ในนี้หมดนั่นแหละ ในป่าช้าผีดิบนี้ มันรวมอยู่ตรงป่าช้าผีดิบนี้ เรายังไม่ตาย เอ๊า พวกนั้นตายแล้ว เข้ามาฝังอยู่ในนี้ เมื่อเราตายแล้วก็เป็นป่าช้าผีตาย ดูให้ชัดซิ สติปัญญามียอมอับจนอยู่ทำไม
แยกส่วนแบ่งส่วนดูให้มันชัด จิตหมุนติ้วๆ อยู่กับงานที่ทำ อย่าให้ออกไปเพ่นพ่าน บังคับให้ได้ ตายก็ตาย ในขณะที่จะประกอบความเพียรก็เหมือนกับขึ้นเวที เผลอไม่ได้เดี๋ยวถูกน็อก ชักหรือตายไปเลยไม่เพียงแต่สลบ อันนี้ก็ทำอย่างนั้นนักปฏิบัติ อนิจฺจํ ก็ให้เห็นอย่างถึงใจ ดูข้างนอกก็เหมือนกัน ทุกฺขํ อนตฺตา ดูอันนี้กับข้างนอกก็เหมือนกัน ไม่เห็นมีอะไรผิดกัน เพราะโลกนี้เป็นโลก อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา คำว่าอสุภะอสุภัง พิจารณาดูเราแล้วก็เหมือนกันอีก
โลกวิทูเป็นคุณสมบัติของสาวกด้วย โลกวิทู คือ รู้แจ้งเห็นจริงภายในภายนอก เพราะเป็นสภาพเหมือนกันหมด อย่างนี้เรียกว่า โลกวิทู มีได้ทั่วไปในสาวกทั้งหลาย คือ เป็นคุณสมบัติของสาวกด้วย ส่วนคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าไม่มีแต่เพียงเท่านี้ ยังหยั่งทราบความจริงของสิ่งทั้งหลายและสัตว์ทั้งหลายทั่วโลกธาตุอีกด้วย โลกวิทู มีหลายขั้นหลายตอน
เราไม่ต้องคิดไปโน้นไปนี้กว้างขวางให้เสียเวล่ำเวลา หน้าที่ของเรามีแต่จะให้เป็นโลกวิทู รู้แจ้งเห็นจริงในธาตุขันธ์ที่มีอยู่ภายในตัว ที่ถูกกิเลสผูกมัดรัดรึงอยู่ด้วยอุปาทาน เพราะความลุ่มหลงนี้เท่านั้น โดยไปสำคัญมั่นหมายเอาเอง ทางท่านบอกไว้ไม่ยอมไป ชอบปลีกชอบแวะ ชอบปีนสองข้างทาง หกล้มก้มกราบขนาดไหนก็ยังไม่ยอมถอย ไม่ยอมไปตามทาง นั่นแหละที่เรียกว่า เป็นข้าศึกต่อมัชฌิมาปฏิปทา ฉะนั้นต้องฝืนมัน ต่อสู้มันลงไปซิ ถอยเอาประโยชน์อะไร
เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องธาตุเรื่องขันธ์แล้ว กิเลสมันจะไปไหน กิเลสเกิดขึ้นจากความสำคัญ เมื่อแก้ความสำคัญด้วยความจริงแล้ว มันก็ถอนตัวไปๆ ฟาดกันให้สะบั้นหั่นแหลกลงไป กิเลสถอนเข้าไปไหน ก็เข้าไปหาจิตดวงเดียวเท่านั้นแหละ เมื่อมันหมดที่ยึดที่เกาะเข้าไปโดยลำดับแล้ว เพราะอำนาจของสติปัญญาตีตะล่อมเข้าไปๆ วงแคบเข้าไปๆ สุดท้ายมันก็ไปกองอยู่ในจิต ปล่อยนิวเคลียร์หย่อนลงในจิตอีกซิ สติปัญญาอัตโนมัติอย่างไรล่ะ ธรรมนิวเคลียร์
นิวเคลียร์ หมายถึงอะไร ปรมาณู หมายถึงอะไร จะทำลายข้าศึกวาระสุดท้ายเอาชัยชนะ ก็คือ มหาสติ มหาปัญญา ละซิ หยั่งลงไปตรงนั้นให้กิเลสขาดสะบั้นแตกกระจายไปหมด ทีนี้ภพชาติอยู่ที่ไหน เมื่อกิเลสซึ่งเป็นตัวภพ เป็นตัวให้ก่อภพก่อชาติ ถูกทำลายลงไปหมดด้วยอำนาจของอาวุธที่ทันสมัยได้แก่ มหาสติ มหาปัญญา แล้ว ข้าศึกก็หมดเท่านั้นแหละ นี่ละงานของพระ
งานของผู้ต้องการพ้นจากกองทุกข์ในวัฏสงสาร ไม่ต้องมาเกิดแก่เจ็บตายอีก คือ งานการประกอบความพากเพียร นับแต่ เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ ที่พระอุปัชฌายะมอบให้แต่เบื้องต้นจนถึงวาระสุดท้าย ตีแตกกระจายไปหมด งานนั้นแตกแขนงไปเรื่อยๆ ตามความฉลาดความสามารถของตัวเอง จะทำงานให้ได้มากและกว้างขวางขนาดไหนได้ทั้งนั้นเมื่อสติปัญญามีแล้ว เอาจนกระทั่งไม่มีอะไรเหลือเลย สิ้นสุดวิมุตติพระนิพพานภายในจิตใจ นั่นแหละเรียกว่าเสร็จงาน งานได้ทำสำเร็จแล้ว ไม่ต้องทำเพื่อการถอดถอนกิเลสตัวใดอีก นี่แลงานของพระ ให้พากันจำให้ถึงใจ ว่างานนี้คืองานแท้ของพระเรา
อย่าไปคิดว่าบวชมาแล้วได้ไปก่อนั้นสร้างนี้ไว้เป็นที่ระลึก สร้างวัดสร้างวาแล้วยังไม่แล้ว สร้างพระพุทธรูปปฏิมากร สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างศาลาโรงธรรม สร้างเจดีย์มหาเจดีย์ยุ่งไปหมด ก่อกวนบ้านเมืองยุ่งไปหมดด้วยเงินด้วยทอง ว่าเป็นงานเนื้องานหนังของพระ ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป นั่นมันเป็นงานของประชาชนเป็นส่วนใหญ่จะขวนขวายกัน นั่นเป็นมรรคขั้นหยาบสำหรับประชาชนที่อยู่ในฐานะจะทำได้ เพราะเกี่ยวกับสมบัติเงินทอง ส่วน สัมมาสังกัปโป ขั้นละเอียดที่จะฆ่ากิเลสภายในจิตใจ เลยกลายเป็น มิจฉาสังกัปปะ ในมรรคส่วนละเอียดไปเสียโดยไม่รู้สึกตัว เพราะความกังวลวุ่นวาย ขยายกิเลสให้ออกวิ่งเพ่นพ่านเข้าบ้านเข้าเมือง ก้นไม่ติดพื้นกุฎีแต่ละวันเวลาที่ผ่านไป ย่นเข้ามาซิ ถ้าอยากทราบที่หลบซ่อนของกิเลสด้วยความฉลาดตามองค์มรรคจริงๆ
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เห็นอะไรเห็นชอบ ให้เห็นชอบตามงานที่ท่านสอนไว้ซิว่า เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ มันคืออะไร หยั่งลงไปทั้ง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา หยั่งลงไปทั้งอสุภะอสุภัง ให้เห็นชอบตามที่ท่านสอนไว้นี้ซิ งานเพื่อความเห็นชอบอย่างแท้จริงอยู่ตรงนี้ก่อนอื่น
สัมมาสังกัปปะ ความดำริเพื่อออกจากเครื่องผูกพัน อะไรเป็นเครื่องผูกพัน ก็ความหลงสิ่งเหล่านี้แหละเป็นเครื่องผูกพัน พิจารณาให้เข้าใจด้วยปัญญาแล้วมันถอนตัวเองโดยไม่ต้องบังคับขับไสแหละ
สัมมากัมมันตะ เดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิภาวนาบ้าง อยู่ในท่าใดอิริยาบถใด มีแต่การทำงานด้วยความมีสติ เพื่อการถอดถอนกิเลสโดยถ่ายเดียว นั่นแหละสัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ ด้วยอารมณ์อันเป็นธรรมของจิต อย่าไปคิดอารมณ์ที่เป็นพิษเป็นภัยขึ้นมาเผาลนตนเอง มีแต่อารมณ์แห่งอรรถแห่งธรรมเป็นเครื่องถอดถอนกิเลส เป็นเครื่องเลี้ยงจิตใจให้มีความรื่นเริงบันเทิง มีความสงบเย็นใจ มีความสง่าผ่าเผย มีความฉลาดรอบตัว ไม่นำอารมณ์อันเป็นพิษเข้าสู่ใจ นั่นแลสัมมาอาชีวะแท้
สัมมาวายามะ เพียรชอบ ท่านก็บอกว่าเพียรในที่สี่สถาน เพียรละบาป บำเพ็ญบุญ เพียรป้องกันบาปที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น เพียรละกิเลสที่มันเกิดขึ้นแล้วให้มันดับไป แล้วอบรมธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญยิ่งขึ้นโดยลำดับลำดา ไม่ให้เสื่อมเสียไป ปธาน ความเพียรสี่อย่าง ท่านก็พูดไว้แล้ว
สัมมาสติ ระลึกอยู่ที่ไหน ท่านบอก ถ้าจะไปทางสติปัฏฐานสี่ก็ระลึกอยู่ในกาย กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ. อิธ ภิกฺขุ อชฺฌตฺตํ วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ, พหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ. อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ, สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ, วยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ,สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ. พิจารณากายในกายไปเรื่อย กายนอกก็มี กายในก็มี พิจารณาให้เห็นกายนอกก็ดี เห็นกายในก็ดี พิจารณาเห็นกายในกายของตัวเองก็ดี ไล่ลงไปโดยลำดับๆ เมื่อเห็นแล้วก็อยู่ อยู่ด้วยความสงบสุขๆ นี่เรียกว่าพิจารณากายในกาย
ในบทสุดท้ายท่านย่นเข้ามาว่า อตฺถิ กาโยติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ, ยาวเทว ญาณมตฺตาย ปติสฺสติมตฺตาย. อนิสฺสิโต จ วิหรติ น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ. เอวํ โข ภิกฺขุ กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ. ท่านพูดถึงเรื่องสติหยั่งลงไหน หยั่งลงกาย ถ้าจะพิจารณากายพิจารณาจริงๆ ให้มีสติรู้อยู่กับกายเท่านั้น สติควบคุมอยู่กับกายนี้เท่านั้น จะแยกไปส่วนใดอวัยวะใดแง่ใดของกาย ให้มีสติสืบเนื่องไปโดยลำดับ
แล้วพิจารณาเวทนาก็เหมือนกัน ให้สติติดแนบไปกับงานเลย ให้มีความรู้อยู่จำเพาะกับเวทนาเท่านั้น ไม่ให้แยกให้แยะไปไหน
เรื่องธรรมเรื่องจิตก็เหมือนกันกับกาย เวทนา ไม่ผิดกันอะไรเลย ลงอันเดียวกัน อตฺถิ กาโยติ, อตฺถิ เวทนาติ, อตฺถิ จิตฺตนฺติ, อตฺถิ ธมฺมาติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ. เหมือนกันนั่นแหละ ลงอันเดียวๆ กันหมด คือ สติให้ระลึกอยู่ในสถานที่นี้ สถานใดสถานหนึ่งก็ตาม ให้จริงจังในสถานที่พึงเป็นที่ระลึกของสติ นี่เรียกว่าระลึกชอบและถูกต้องด้วย หาความผิดเพี้ยนไปไม่ได้เลย
หรือจะพิจารณาถึงเรื่อง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มันก็อยู่ในวงสติปัฏฐานสี่อันเดียวกัน พูดอะไรก็เหมือนกัน เหมือนกับดูข้างหน้าข้างหลังของคนๆ เดียวนั่นแหละ ข้างหลังก็ของคนๆ นั้นเสีย ข้างหน้าก็ของคนๆ นั้นเสีย ข้างซ้ายข้างขวาก็ของคนๆ นั้นเสีย คนๆ เดียวนั่นแหละ วงสัจธรรมเหมือนกัน พิจารณาให้จริงจัง สำคัญอยู่ที่สติผู้ตามรับรู้งานนั้นๆ นี่แต่ก่อนก็ไม่เหมือนทุกวันนี้ มาพิจารณามันย้อนไปทุกแห่งทุกหนนั่นแหละตามประสีประสาของเรา นี่อ่านดู สติปัฏฐาน นี่แล้วกำหนดตาม แหมจิตมันคล้อยตาม
ตามความรู้สึกของผม ผมพูดตามความจริงทางการปฏิบัติมา อนัตตลักขณสูตร จิตใจยังขัดกัน มันเป็นจริงๆ ผมจึงทำความเข้าใจเอาว่า ผู้รจนานี้อาจตัดออกเสียตอนใดตอนหนึ่ง หรือจะว่าเทศน์ซ้ำๆ ซากๆ ปกิณกะอะไรอย่างที่ท่านว่าซ้ำๆ ซากๆ เลยขี้เกียจ ท่านย่นเอาย่อๆ เสียบ้าง
จะพูดไปตามแถว เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็ไม่เหนือจิต ต้องไปเข้าจิตจนได้อยู่โดยดี รูปสฺสมึปิ นิพฺพินฺทติ, เวทนายปิ นิพฺพินฺทติ, สญฺญายปิ นิพฺพินฺทติ, สงฺขาเรสุปิ นิพฺพินฺทติ, วิญฺญาณสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ. เบื่อหน่ายในรูป ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ. ย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ญาณความรู้แจ้งว่าจิตหลุดพ้นแล้วย่อมมี
เวลาเรามาเทียบมาพิจารณาตามนี้ มันไปไม่ได้ เมื่อไปถึงแค่ขันธ์ห้า คือรู้เท่าขันธ์ห้าพูดง่ายๆ รู้เท่าในขันธ์ห้า คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือเบื่อหน่าย ก็หมายถึงความเห็นโทษของมันอย่างชัดเจนนั้นเอง จะว่าการพิจารณานั้นเห็นชัด จากเห็นโทษแล้วก็เห็นเป็นความจริงแต่ละอย่างๆ แล้ว มันยังไม่แล้ว
การพิจารณาเห็นความจริงแต่ละอย่างๆ ไม่ยึดถือแล้ว มันวิ่งเข้าไปถึงใจ ไปยึดอยู่ในใจจนได้ เมื่อกิเลสวิ่งเข้าไปอยู่ที่ใจ ความยึดมั่นถือมั่นมันยังมีอยู่ที่ใจนั่นอีก จึงต้องพิจารณาฟาดฟันลงในจิตอีกทีหนึ่ง จนกิเลสในจิตพังทลายลงไปแล้วมันถึงหมดปัญหา นี่ละการปฏิบัติของเรามันขัดตรงนี้ เราเคยแย้มๆ ถามพวกปฏิบัติทั้งหลาย พูดไปแบบสุ่มๆ เดาๆ เราขี้เกียจพูดและฟังเลยหยุดเสีย
ที่หาที่ค้านไม่ได้ก็คือ อาทิตตปริยายสูตร นี่เราค้านไม่ได้เลย การปฏิบัติเวลาเอาสูตรนี้มาเทียบเคียงกันแล้ว กราบสนิท คือมันลงได้อย่างสนิท อะไรๆ ท่านก็ว่าไปอย่างละเอียด จกฺขุสมึปิ นิพฺพินฺทติ, รูเปสุปิ นิพฺพินฺทติ, จกฺขุวิญฺญาเณปิ นิพฺพินฺทติ, จกฺขุสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ, ยมฺปิทํ จกฺขุสมฺผสฺสปจฺจยา อุปฺปชฺชติ เวทยิตํ, สุขํ วา ทุกฺขํ วา อทุกฺขมสุขํ วา, ตสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ. คือเบื่อหน่ายในตา แล้วก็เบื่อหน่ายในรูป เบื่อหน่ายในวิญญาณที่เกิดจากนี้ เบื่อหน่ายในสัมผัส ในเวทนา สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่สุข ไม่ทุกข์ก็ดี นี่เราจะสรุปไปเลย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ธรรมารมณ์ เป็นคู่ๆ กันไป
เมื่อเบื่อหน่ายในตาก็เบื่อหน่ายในรูป เบื่อหน่ายในหูก็เบื่อหน่ายในเสียง ออกไปอย่างนี้เลย ตลอดถึงความสัมผัสที่เกิดเวทนา เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นเฉยๆ เบื่อหน่ายเป็นลำดับๆ สุดท้าย มนสฺสมึปิ นิพฺพินฺทติ นั่นตรงนี้แหละเบื่อหน่ายในจิต ธมฺเมสุปิ นิพฺพินฺทติ เบื่อหน่ายในธรรมารมณ์ที่เกิดภายในจิต ออกจากนั้นก็เบื่อหน่ายทั้งเวทนาสุขทุกข์ไปเรื่อยๆ จนไม่มีอะไรเหลือเลย
เบื่อหน่ายในจิตแล้วยังเบื่อหน่ายสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับจิต ทั้งจิตแสดงออกมาเป็นผล คือเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นเฉยๆ ออกจากนั้นพอเสร็จแล้วก็ นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ แล้วก็เรื่อยไปจนตลอดสาย วิราคา วิมุจฺจติ, วิมุตฺตสฺมึ วิมุตฺตมิติ ญาณํ โหติ, ขีณา ชาติ, วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ, กตํ กรณียํ, ไปเรื่อย อันนั้นเหมือนกัน แต่สำคัญไปลงที่จิตน่ะซิ
จิตเป็นของสำคัญ เป็นที่รวมของกิเลสทุกประเภท จะพิจารณาประเภทใดก็ตาม ลงไปอยู่ที่นั่นหมด หลักปฏิบัติเป็นอย่างนี้ นี่เราพูดจริงๆ เราพูดอย่างอาจหาญ เพราะเราปฏิบัติมาอย่างนั้น เวลาปฏิบัติมันค้านกันที่ตรงไหน มันแยกกันที่ตรงไหน เราพูดได้ตามความแยก ส่วนถูกหรือผิดแล้วแต่ใครจะนำไปพิจารณา
แต่สำหรับ อนัตตลักขณสูตร เราเป็นความไม่สนิทใจอย่างนั้นแหละตามความรู้สึกของเรา เรายกไว้เสีย ก็ไม่เห็นจะได้เรื่องได้ราวอะไร อันไหนที่มันลงกันอยู่แล้วก็ยอมรับกันไป เช่น อาทิตตปริยายสูตร นี้ลงกันร้อยเปอร์เซ็นต์หาที่ค้านกันไม่ได้ ตั้งแต่ต้นจนอวสาน มนสฺสมึปิ นิพฺพินฺทติ, ธมฺเมสุปิ นิพฺพินฺทติ เรื่อย
..มโนวิญฺญาเณปิ นิพฺพินฺทติ, มโนสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ, ยมฺปิทํ มโนสมฺผสฺสปจฺจยา อุปฺปชฺชติ เวทยิตํ, สุขํ วา ทุกฺขํ วา อทุกฺขมสุขํ วา, ตสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ. นั่น รวมยอดมาก็เบื่อหน่ายเหล่านี้หมด
คำว่า ตสฺมึ นี้หมายถึง โยคเอาตัวที่พูดมาแล้วนั้นมาเป็นสรรพนาม โยคเอาว่าเขา คำเดียวนั้น เช่น นาย ก, นาย ข, นาย ค, นาย ง, พอสุดท้ายก็เขาเหล่านั้นหรือเขาเท่านั้น นี่ก็เหมือนกัน รวมปุ๊บปั๊บ ตสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ ลงหมด นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ, วิราคา วิมุจฺจติ, ตลอดสายเลย
นี่เวลาปฏิบัติของเราเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็เคยพูดให้หมู่เพื่อนฟังแล้วนี่ ต่อมา พิจารณาอะไรก็พิจารณาไม่ได้เรื่อง รูปพิจารณาก็ไม่ได้เรื่อง อสุภะอสุภังเคยพิจารณาเสียจนแหลกกระจัดกระจาย ชำนิชำนาญคล่องแคล่วแกล้วกล้า พิจารณาไปๆ เลยหมด อสุภะก็เลยหมดไม่มีเหลือที่จะพิจารณา ทีแรกมันไม่หมด พอย้อนเข้ามาถึงภาพภายในนี้แล้ว อสุภะภายนอกมันก็หมด ภายในมันก็หมด มันเลยว่าง จะพิจารณาอะไรมันก็ไม่ทัน มันดับไปเสียก่อน ถึงทันมันก็ไม่สนใจที่จะพิจารณา มันเป็นอย่างนั้น อะไรๆ มันก็ว่างไปหมดในร่างกาย และหมดความสนใจที่จะพิจารณาร่างกายอีกต่อไป
สุดท้ายกิเลสก็ไปอยู่ที่จิต ก็ไปหลงอยู่ที่จิต งงอยู่ที่จิต สงวนอยู่ที่จิต จะว่าแบกก็แบกหามอยู่ที่จิตไม่รู้ตัว รักสงวนจิต มีอะไรมาแตะต้องไม่ได้ ความสง่าผ่าเผยก็ตัวนั้นแหละ ตัวรักสงวนก็อยู่นั้นแหละ อย่างอื่นมันพิจารณาหมดแล้ว ปล่อยไปหมดไม่สนใจกับอะไร แต่ตรงจิตนั้นมันไม่ปล่อย มันยึดที่จิต
ปล่อยนอกแล้วก็มายึดใน ปล่อยนอก รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เป็นนอกอันหนึ่ง ปล่อยนอก คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่เป็นนอกอันหนึ่ง แล้วมายึดภายในซึ่งเป็นตัวการสำคัญ คือยึดใจ นั่นกิเลสเข้าไปรวมอยู่ในนั้น หลอกให้ยึดอีกแล้ว ใครจะว่าอวิชชาไม่ละเอียดเหรอพิจารณาดูซิ ละเอียดขนาดไหนอวิชชา นั้นละตัวการสำคัญจริงๆ ทำให้หลงไม่ว่าสติปัญญาขนาดไหน มันจะต้องงงไปเสียก่อน แต่หลงไม่นานเท่านั้นแหละ เมื่อฟาดฟันลงไปตรงจุดนั้นพังทลายลงไปแล้ว ทีนี้ไม่เห็นว่าอะไรมีอะไรที่จะให้พิจารณา มีอะไรที่ตกค้าง มีอ |