พุทธศาสตร์-วิทยาศาสตร์ (ก่อนปาฏิโมกข์)
วันที่ 9 มีนาคม 2525 เวลา 4:30 น. ความยาว 14.33 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระก่อนปาฏิโมกข์ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๕

พุทธศาสตร์-วิทยาศาสตร์

 

        ตอนเช้าตามธรรมดาจิตชอบสงบ ตั้งแต่เราภาวนาอยู่ก็เหมือนกันตอนเช้ามันชอบสงบไม่ชอบคิด อันนี้เกี่ยวกับเรื่องขันธ์ คงเป็นอย่างนั้น ตอนเช้าไม่อยากคิดอะไร นี่เรามาใช้งานนี้ต้องได้คิดเห็นได้ชัดเจน อย่างเช่นต้นเสาเป็นต้น อันนี้ก็เป็นธาตุอันหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นส่วนละเอียดของมันที่เรียกว่าปรมาณูที่อยู่ในนั้น มันไม่ได้ดับได้สูญไปไหน จะเรียกว่าอะไร เหล่านี้เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นส่วนประกอบมันสลายของมันไป จะเรียกว่าสาระหรือจะเรียกว่าปรมาณูอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าที่อยู่ในนั้นจะเรียกว่าอะไร มันไม่ใช่ไตรลักษณ์ว่าอย่างนั้นเลย ดูว่าสมเด็จฯ ท่านพูดว่ามันไม่มีสภาพที่เปลี่ยนอะไรไป มันไม่เปลี่ยนเขากับมันก็เปลี่ยน นั่นเห็นไหมล่ะ แต่สาระนั้นก็อยู่ในสิ่งที่ว่าเป็นไตรลักษณ์นั้นมันไม่เปลี่ยน เขากับมันก็เข้ามาเกี่ยวข้องกันอยู่นั้น ไม่ยังงั้นมันอยู่กับเขาได้ยังไง

        จะละเอียดขนาดไหนก็ตามขึ้นชื่อว่าสมมุติ สมมุติกับไตรลักษณ์ก็เป็นอันเดียวกันไม่ว่าหยาบ กลาง ละเอียด เราก็ไปเรียกเสียว่าจิต จิตถ้าพูดถึงว่าสาระหรือปรมาณูก็ได้ถ้าเราจะเทียบ ทีนี้เมื่อมีสิ่งเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่นี้จะไม่ว่ามันเป็นไตรลักษณ์ได้ยังไง ผู้พิจารณาไม่ถือจิตว่าเป็นไตรลักษณ์เท่านั้นต้องตายอยู่ในนั้น ไม่มีอะไรติดแล้วก็ไปติดอันนั้น เมื่อพิจารณาก็ต้องพิจารณาตรงนั้นว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่งั้นมันก็ถือ ไม่งั้นมันก็หลง จนกระทั่งสิ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับธรรมชาตินั้นสลายไปหมดแล้ว อันนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไรที่นี่ ไม่พูดว่าจิตเป็นไตรลักษณ์เพราะเลยแล้ว สิ่งเข้าไปเกี่ยวข้องหมดปัญหากันแล้ว

แต่เมื่อมีสิ่งเกี่ยวข้อง กิเลสอย่างละเอียดที่ว่าอวิชชาเป็นต้นเกี่ยวข้องกันอยู่อย่างนี้ จะเรียกจิตโดยสมบูรณ์ไม่ได้ จะว่าไม่ใช่ไตรลักษณ์ได้ยังไง มันก็เป็นไตรลักษณ์เพราะสิ่งนั้นพาให้เป็น เมื่อสิ่งนั้นหมดไปแล้วจากจิต จิตหมดปัญหาไม่เรียกว่าไตรลักษณ์ และไม่หลงไม่ยึด อันนี้ที่ว่ามันสิงอยู่ในธาตุ ว่าเป็นสาระหรือปรมาณูก็เป็นทำนองเดียวกัน จะเป็นอะไรก็ตามสิ่งเหล่านั้นก็คลุกเคล้ากันอยู่กับมัน มันไม่อยู่ในวงสมมุติด้วยกันจะไปไหน มันก็อยู่ในวงสมมุติด้วยกัน เมื่ออยู่ในวงสมมุติแล้วกับไตรลักษณ์ก็แยกกันไม่ออก

ละเอียดขนาดไหนก็ตามเถอะขึ้นชื่อว่าสมมุติ ปรมาณูอะไรก็ตาม ความหมายก็เป็นอันเดียวกัน เป็นไตรลักษณ์ เพราะไตรลักษณ์ก็คือสมมุติ อันนั้นก็คือสมมุติ ส่วนวิมุตติไม่ได้เป็นอย่างนั้นนี่ เพราะฉะนั้นจึงไม่เรียกว่าไตรลักษณ์ พูดภาคปฏิบัติกันก็ว่าอย่างนั้น ภาคปฏิบัติเป็นอย่างนั้นนี่ เห็นประจักษ์ อยู่ภายในจิตตั้งแต่หยาบ ไปโดยลำดับ จนกระทั่งละเอียด ละเอียดสุด จนไม่มีคำว่าละเอียดอะไรมันก็ไม่มีแล้วอย่างนั้น มันถึงจะหมดปัญหา นี่พุทธศาสตร์

วิทยาศาสตร์เข้าไปแก้เหตุทางด้านวัตถุ ไม่มีวัตถุแยกไม่ได้วิทยาศาสตร์ จิตศาสตร์แยกตั้งแต่วัตถุเข้าไปจนกระทั่งถึงนามธรรม ไม่มีวัตถุก็แยกได้ กับพุทธศาสตร์จึงต่างกันมาก วิทยาศาสตร์เอาวัตถุเป็นที่ตั้ง ไม่มีวัตถุเป็นที่ตั้งเอาไปแยกได้ยังไง ส่วนธรรมนี้แยกได้ทั้งวัตถุทั้งนามธรรม ประจักษ์ไปโดยลำดับเช่นเดียวกับที่เทียบกันตะกี้นี้

สิ่งที่กล่าวเหล่านี้อยู่กับใคร เสื่อมสูญไปไหน มันก็มีอยู่ในธาตุในขันธ์ในจิตของเราทุกคน ที่เกี่ยวกับการจะแยกจะแยะกันออก ให้หมดความกังวลผูกพันต่าง ซึ่งเป็นที่นำมาแห่งทุกข์น้อยใหญ่ เมื่อหมดแล้วไม่มีปัญหา ขันธ์นี้จิตไม่ไปสำคัญมั่นหมายเขา เขาก็ไม่มีปัญหาอะไรของเขา

การปฏิบัติเพื่อความรู้จริงเห็นจริง จะต้องดำเนินตามที่เคยได้อธิบายมาแล้วนั้น เพราะเป็นทางที่ตรงแน่วต่อความจริงทั้งหลาย แต่สิ่งที่เราไม่ปรารถนา สิ่งที่เราไม่ต้องการ สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นข้าศึกนั้นกลับมาเป็นมิตรโดยความสำคัญของตน กลายมาเป็นคุณโดยความสำคัญของตน แล้วจะเหยียบย่ำทำลายเจตนาและการดำเนินของเราไปในขณะเดียวกัน นั้นโดยไม่รู้สึกตัว อันนี้สำคัญมากนะ

ที่ว่าปรมาณูเห็นไหมล่ะ มันแทรกอยู่กับจิตนั่นแหละ มันละเอียดขนาดนั้นแหละ แทรกๆ แต่ก็ไม่พ้นสิ่งที่ละเอียดกว่ากัน สามารถที่จะรู้เท่าทันกันได้ก็คือสติปัญญา สติปัญญานี้เข้าขั้นละเอียดแล้วท่านก็เรียกว่ามหาสติมหาปัญญา หรือปัญญาญาณอะไรไปโน่น ญาณํ อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ ญาณํ อุทปาทิ ถ้าเหมือนกันท่านจะแยกทำไม ก็คือมีต่างกันนิด ไปโดยลำดับ คือละเอียดไป ต่างกันไปนิด หากว่าเป็นอันเดียวเหมือนไม่มีการเปลี่ยนสภาพ อันนี้ก็ไม่ว่า ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ ท่านก็ไม่พูด

นี่เพราะความละเอียดแหลมคมของพระพุทธเจ้านั่นเอง อะไรที่แยกไปนิดๆ บอกไว้หมดเลย ก็อย่างมรรค ผล นิพพาน ใครจะไปแยกได้ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ ใครจะไปทราบได้ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ เราอ่านอ่านกันอย่างนั้นแหละ มรรคกับผล มรรค ผล นิพพาน นี่คือพระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงแยกแล้ว ผู้ที่จะรู้ตามนี้ได้ก็คือพระอรหันต์เท่านั้น

เพราะฉะนั้นถึงได้เคยกล่าวเสมอว่า เท่าที่พระพุทธเจ้าแยกออกเป็น นิพพาน นั้นก็เพราะความเป็นศาสดา ทรงแสดงไว้เต็มเม็ดเต็มหน่วย หากว่าไม่ทรงแสดงไว้อย่างนั้นจะถูกติงหรือถูกสาวกทูลถาม องค์ใดองค์หนึ่งจะต้องทูลถามแน่ ว่าส่วนอันหนึ่งที่นอกจากมรรค ผล ไปนั้นพระองค์ไม่เห็นแสดงไว้ มันคืออะไร นั่นแหละที่ว่านิพพาน ชื่อว่า จริมรรคจิต คือจิตวิ่งผ่านแย็บเดียวเท่านั้นก็เป็นนิพพาน ขึ้นมา ขณะจิตที่เป็น จริมรรค นั่นท่านเรียกว่าเป็นมรรค ผล กำลังทำงานต่อกันอยู่ยังไม่ยุติ พอขณะนั้นสิ้นลงไป ดับลงไปพับ ทางนี้ก็สมบูรณ์เป็นนิพพาน ขึ้นมา หมดกิริยา จึงเรียกว่านิพพาน นั่นพระองค์ก็แสดงไว้

จะแสดงไว้เท่าไรก็ตามถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ไม่มีใครรู้ เรียนก็เรียนไปอย่างนั้นแหละ ไม่ว่าท่านว่าเราเหมือนกันหมด เพราะเป็นความจำ พอความจริงเข้าถึงใจตัวเองปั๊บเท่านั้นก็วิ่งถึงกันเลย นี่ที่ว่า นตฺถิ เสยฺโยว ปาปิโย ตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมาจนสาวกองค์สุดท้าย ไม่มีคำว่ายิ่งหย่อนกว่ากันในภูมิแห่งความบริสุทธิ์ คือธรรมชาตินั้นหากรู้เอง ท่านจึงเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก ที่ท่านแสดงไว้มรรค ผล นิพพาน ท่านแสดงไว้ตามความจริงให้ผู้ปฏิบัติทั้งหลายได้พิจารณา แต่เวลาเข้าไปถึงจริงๆ แล้ว เป็นพระอรหันต์เท่านั้นเองที่จะเข้าถึงและที่จะรู้ ความจำได้หมายรู้จากการเรียนไม่มีทางรู้ได้ในความจริงอันนั้น

มรรคที่กล่าวนี้กล่าวมาได้ ,๕๐๐ กว่าปีนี้ คิดเป็นกาลเป็นเวลาว่านมว่านาน ทั้งที่ความจริงจริง ก็อยู่กับจิตนี้ เวลายังรู้ไม่ได้มันก็ปิดอยู่ที่จิตนี้ สิ่งที่ปิดมันปิดอยู่ที่นี่ เวลาเปิดก้นออกก็เปิดที่จิต มีกาลมีสถานที่เวล่ำเวลาที่ไหน ถ้าว่าที่ก็ที่จิต เวลาก็ขณะที่มันผ่านไปมันรู้กัน มันอยู่ที่นี่ มันไปอยู่เวลานอก สองพันสามพันปีเดือนโน่นที่ไหน มันอยู่ที่นี่

ท่านจึงสอนลงอย่างทันสมัย สวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบ เอาตรงนี้นะ ให้เอาตรงนี้ให้แก้ตรงนี้ มืดอยู่ตรงนี้แก้ตรงนี้ให้มันเปิดขึ้น อาโลโก อุทปาทิ ท่านว่าสว่างโร่ขึ้นมา สว่างที่ตรงนี้ ญาณํ อุทปาทิ ซึ้งเข้าไป ความรู้อันนี้ซึ้งเข้าไป นี่ละเรียกว่า ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ ก็หมายถึงกิริยาของจิตที่วิ่งด้วยความเฉลียวฉลาดแหลมคมรวดเร็วของตน แย็บ วิชชานี้ก็คล่องไปแล้ว ถ้าจะพูดว่าหยาบก็หยาบ ที่ว่าวิชชานี้ อาโลโกนี้แสดงจ้าไปหมด นี่ก็เป็นความหยาบใช้ตามกิริยา อยู่ที่ไหน อยู่ที่นี่ อกาลิโกๆ ทั้งกิเลสทั้งธรรมเป็นอกาลิโกเหมือนกัน กิเลสไม่ได้นิยมว่ามืดว่าแจ้งว่าเดือนนั้นเดือนนี้ สถานที่นั่นที่นี่ที่ไหน มันติดแนบอยู่กับจิต มืดอยู่ที่นี่ เวลาเปิดก็เปิดที่นี่ รู้ก็รู้ขึ้นที่นี่ มีกลางวันกลางคืนที่ไหน สำคัญอยู่ที่การกระทำ

 

************

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก