เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒
การตั้งรากฐานเบื้องต้น
เราเป็นห่วงพระเณรมากขึ้นทุกวันนะ ในการปฏิบัติศาสนาของพระเณรเราเวลานี้รู้สึกว่าเหลวไหลเอาอย่างมากทีเดียวไม่ใช่ธรรมดา จนเป็นน่าวิตก ทั้งท่านทั้งเรามันพอ ๆ กัน จะตำหนิใครก็ตำหนิไม่ได้ เพราะกิเลสนี้มีอยู่กับหัวใจของทุกคน บีบบังคับมันไว้มันก็ออกดื้อ ๆ ต่อหน้าต่อตา เพราะมันเป็นอัตโนมัติ คือความเคยชินคล่องแคล่วของมัน ที่มันใช้จิตเป็นเครื่องมือทำงานเพื่อวัฏจักรของมันอยู่บนหัวใจของสัตวโลก แล้วก็สร้างกองทุกข์ในหัวใจตลอดเวลา นี่ที่โลกมองไม่เห็นเลยเราอยากพูดอย่างนั้นนะ
จุดที่มันเป็นภัยต่อโลกคืออะไรนี้ ศัพท์ธรรมะท่านเรียกว่ากิเลส ก็คือสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยอยู่ภายในใจ ซึ่งเคลือบน้ำตาลเอาไว้อย่างมิดตัว ให้มองไม่เห็นกิเลสเลยทั้งส่วนย่อยส่วนใหญ่ อันนี้ที่สัตวโลกไม่มีเวลาตื่นตัวได้ เพราะยาเคลือบน้ำตาลของกิเลสมันซึมซาบไว้หมด ให้พออกพอใจทุกสิ่งที่มันผลักดันออกมาให้แสดงอย่างไร เป็นเคลือบน้ำตาลออกมาพร้อม ๆ ที่จะให้สัตว์ทั้งหลายติดพันหลงกับมันโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลย อย่างหยาบมันก็เคลือบไว้อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ละเอียดขนาดไหนมันเคลือบไว้เสร็จ ๆ ไม่มีกิเลสตัวใดที่จะไม่เคลือบน้ำตาลเป็นเครื่องล่อไว้กับกิริยาของมันที่ผลักดันออกมา นี่ละที่ท้อใจเอามาก
พระผู้ปฏิบัติเราเพื่อมรรคผลนิพพานนี้พอเป็นเอกเทศบ้าง ซึ่งจะควรทราบพิษภัยของมันที่อยู่ภายในใจ ซึ่งถูกน้ำตาลเคลือบเอาไว้ ๆ ตามขนาดแห่งกิเลสที่มีหนาแน่นเบาบางขนาดไหน ความเคลือบน้ำตาลล่อลวงสัตวโลกของกิเลส มันจะเคลือบไว้เป็นชั้น ๆ ไปเลย นี่คือหลักธรรมชาติ ถ้าท่านทั้งหลายไม่เคยทราบ ให้จำให้ดี โน่นถึงขั้นเวลาจิตมีความเฉลียวฉลาดแหลมคม สิ่งเหล่านี้จะค่อยปรากฏขึ้นกับสติปัญญาของผู้บำเพ็ญ ขั้นต่าง ๆ ของสติปัญญา จะเริ่มเห็นสิ่งเหล่านี้ไปเป็นลำดับ แล้วก็จะเริ่มเห็นพิษเห็นภัยขึ้นมา
ถ้าไม่มีการอบรมจิตใจนี้บ้างเลยแล้ว กี่กัปกี่กัลป์ เบื้องต้นเบื้องปลายของวัฏวนที่เคลือบด้วยน้ำตาลนี้ จะไม่มีสิ้นสุดยุติลงโดยลำพังตนเองเลย จะเป็นไปอย่างนี้ตลอดไปเช่นเดียวกับที่เป็นมาแล้วนั้นแล นี่ละที่พระพุทธเจ้าทรงท้อพระทัย คือมองเห็นตัวภัยจริง ๆ ไม่ได้เลยของสัตวโลก เพราะกิเลสตัวเคลือบน้ำตาลมันไม่ให้มอง มันให้แต่ความพอใจเป็นเคลือบน้ำตาลออกมา ๆ หมดเลย นี่ที่สำคัญมาก
เวลานี้ศาสนาก็ค่อยเป็นเกาะเป็นดอนหดย่นเข้ามามากเข้ามา ๆ แล้วนะ คือกิเลสมันห้อมล้อมมันตีตลาดเข้ามาเรื่อย ๆ ไม่ให้มองเห็นเลย คือกิเลสนี้ตีตลาดเข้ามาทุกด้านทุกทางโดยที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัว มันมาทุกแง่ทุกมุมไม่ให้รู้เลย ก็คือวัตถุต่าง ๆ นั้นแหละที่เป็นเครื่องหลอกลวงอันสำคัญ มันมาทุกแบบนะวัตถุต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องมือของกิเลส เป็นกลอุบายของกิเลสที่มาลบล้างธรรม มันยกตัวของมันให้เป็นที่สนใจต่อสัตวโลก มีน้ำหนักขึ้นทุกวัน ๆ กระจายตัวออกมาทุกแบบทุกฉบับมองไม่ทันนะ
ลำพังสติปัญญาธรรมดานี้มองไม่ทัน มันออกทุกแง่ทุกมุม มีแต่กิเลสห้อมล้อมภายในจิตใจอยู่ตลอดมา แล้วก็อาศัยสิ่งที่มาล่อลวงภายนอกอีก กลมายาของมันแทรกเข้ามา ๆ ทางภายในนี้ก็เรื่องความหลงก็มีอยู่แล้วกับใจของเรา มันก็ออกรับกันได้ง่าย หลงกันได้ง่าย รู้กันได้ยาก มันสอดมันแทรกมาทุกแง่ทุกมุม ความทุกข์ความทรมานก็รู้ทุกสัตว์ ใจเป็นนักรู้ทำไมจะไม่รู้ แต่ไม่มีใครเห็นโทษของมัน ทุกข์ก็ยอมรับว่าทุกข์ ดิ้นกระวนกระวายกระเสือกกระสนจนถึงขั้นล้มขั้นตาย ก็ไม่ให้เห็นโทษแห่งความทุกข์นี้ว่ามาจากไหน สำคัญตรงนี้นะ
ท่านจึงสอนให้อบรมจิตใจ คือให้ดูใจ ใจนี้คือมหาภัย เนื่องจากกิเลสตัวมหาภัยฝังใจอย่างลึกมากทีเดียว จนไม่อาจมองเห็นได้เลยว่านี้คือใจแท้ มันมีแต่ใจที่เต็มไปด้วยกิเลส ออกมาแง่ใดมุมใด ความหลงออกมาพร้อม ความเชื่อตามกิเลสออกมาพร้อม ออกมาพร้อมกิริยาของจิตที่คิด เช่น สังขารปรุงขึ้นมา ปรุงเรื่องอะไรก็ตามความเชื่อจะขึ้นมาพร้อม ๆ เลย มันไม่ให้รู้ตัวเลยว่ามันหลอกมาพร้อม ปรุงเรื่องสัตว์เรื่องบุคคลเรื่องหญิงเรื่องชาย เรื่องราวอะไรก็ตามดีชั่ว ทำให้ติดได้ทั้งนั้น ๆ ไม่ได้ว่านี้เป็นเรื่องชั่ว นี้เป็นเรื่องดี ควรติดไม่ควรติด มันเป็นของควรสำหรับกิเลสที่จะหลอกสัตวโลกได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย สัตวโลกจึงรู้ไม่ได้
นี่ละพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้ดูใจ เช่นบำเพ็ญภาวนา นี้เรียกว่างานของใจโดยแท้ที่จะบุกเบิกสิ่งที่เป็นภัยต่อตนเอง ให้ค่อยรู้เนื้อรู้ตัว ค่อยขยับขยายออกในสิ่งที่เป็นภัยเหล่านั้น เริ่มตั้งแต่ใจเป็นฟืนเป็นไฟ เข้าสมาธิไม่ได้ คือกิเลสมันตีออกไป ๆ จิตมีแต่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมดีดดิ้นตลอดเวลาไม่มีความอิ่มพอ นี่คือเรื่องของกิเลสล้วน ๆ ผลักดันออกไปให้คิดให้ปรุงไม่อิ่มไม่พอ ไม่เข็ดไม่หลาบ มีแต่เชื่อมันเรื่อย ๆ ไปตลอดเวลา หาความรู้เนื้อรู้ตัวไม่ได้ ท่านจึงสอนให้เข้ามาดูจิตด้วยสติ นั่น ขึ้นแล้วนะ นี่ละจุดที่จะรู้นะ ให้รู้ด้วยสติ ดูจิต
เช่น ผู้ภาวนายังไม่ได้เรื่องได้ราวอะไรก็อย่าไปคิดอะไรมาก ให้นำคำบริกรรมภาวนานั้นมาติดแนบกับใจไว้อย่างเอาจริงเอาจัง ด้วยสติจริงจังเช่นเดียวกัน อย่าหวังมรรคหวังผลอะไรนอกจากคำบริกรรมที่กำลังบำเพ็ญอยู่ด้วยสติในเวลาปัจจุบัน ๆ นั้นเท่านั้น ผู้นี้แหละผู้จะค่อยระงับดับความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมที่เป็นฟืนเป็นไฟ ซึ่งกิเลสมันผลักดันออกไป ให้ค่อยทราบเข้ามา
บีบบังคับ มันอยากคิดเรื่องนอกเท่าไร ความอยากนี้ให้ถือว่าเป็นภัยอย่างยิ่ง ต้องเอากันขนาดนั้นไม่อย่างนั้นเอากันลงไม่ได้นะ จิตเข้าสงบไม่ได้ เป็นสมาธิความสงบเย็นใจบ้างไม่ได้ ถ้าไม่ได้ใช้สติปัญญาความฝ่าฝืนบีบบังคับกันจริง ๆ ด้วยจิตตภาวนา มีสติเป็นเครื่องบังคับจิตใจไม่ให้ห่างเหินจากกันเลย นี่คือเรื่องเอาจริงเอาจังที่จะได้เห็นโทษเห็นคุณของธรรมและของกิเลสภายในใจดวงเดียวกันนั้น ต้องใช้ความอดความทน ความบึกความบึน ความฝ่าฝืนทุกอย่าง ด้วยความพากเพียร
เช่น เราบริกรรมธรรมบทใดก็ตาม เช่น พุทโธ ๆ ให้ตั้งหลักเกณฑ์ในนั้น อย่าหวังมรรคหวังผลอะไร นอกจากคำว่าพุทโธกับสติกลมกลืนกันด้วยความเพียรนี้เท่านั้น นี่ละรากฐานเบื้องต้นที่จะระงับดับความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมดิ้นรนกวัดแกว่งของจิตได้ ด้วยอำนาจแห่งคำบริกรรมที่บีบบังคับมันไว้ เพราะสังขารที่มันเคยคิดเคยปรุงนั้นเป็นสังขารของสมุทัยก่อไฟเผาตัว แต่สังขารที่คิดขึ้นด้วยคำบริกรรมคือพุทโธ เป็นต้นนี้ เป็นสังขารฝ่ายมรรค ที่จะระงับดับสังขารฝ่ายสมุทัยลงด้วยสติเป็นเครื่องกำกับตลอดเวลา นี่แลที่เราจะได้เห็นเหตุเห็นผล ให้ท่านทั้งหลายจำเอาไว้นะ
ผมแก่แล้วผมห่วงมากห่วงหมู่ห่วงเพื่อน สำหรับผมเองผมไม่มีอะไรแล้ว ก็เคยพูดให้ฟังแล้ว อยู่กับโลกนี้ผมอยู่เพียงเป็นกิริยาเฉย ๆ ผมพูดตรง ๆ พูดให้มันเต็มยศเลยก็ว่า กิริยาอันนี้ใช้เพียงโลกสมมุติเท่านั้น ตามขนบประเพณีที่โลกยอมรับกัน ก็ปฏิบัติตามกิริยาที่โลกยอมรับกัน ผิดก็ยอมรับว่าผิด กิริยาอันนี้รักษาไว้ไม่ให้ผิด ถูกก็ยอมรับว่าถูก กิริยาอันนี้ก็ดำเนินไปตามความถูกต้องนั้นประจำขันธ์ของตน ๆ ส่วนจิตที่จะมาเกี่ยวข้องพัวพันได้เสียกับสิ่งเหล่านี้ มันหมดปัญหาไปโดยสิ้นเชิงแล้ว ในแดนสมมุตินี้ไม่มีอะไรเข้ามาแทรกในจิตใจนี้เลย จะเรียกว่าจิตใจนี้นอกสมมุติไปหมดแล้วก็ไม่ผิด ด้วยความถนัดชัดเจนในหัวใจของเราที่รู้อย่างนั้นจริง ๆ ตั้งแต่ที่เคยกล่าวให้หมู่เพื่อนฟังมา ๒๔๙๓ ฟ้าดินถล่มในหัวใจนี้ ก็คือกิเลสพังลงจากหัวใจนั้นเอง
ที่ใจมืดมิดปิดตามีแต่กิเลสทั้งนั้นนะ เวลามันกระจ่างขึ้นมาแล้วถึงได้เห็นโทษของมันเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ มันจะสว่างไสวมากน้อยไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย สิ่งที่ไม่ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้นแลคือกิเลสกีดขวางปิดบังเอาไว้ไม่ให้รู้ให้เห็น ทั้งที่สิ่งทั้งหลายมีอยู่เต็มโลกธาตุเต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่ได้บกพร่องอะไรเลย แต่จิตก็มองไม่เห็นตามสิ่งที่มีที่เป็นทั้งหลาย กิเลสลบล้างไว้หมด ๆ ไอ้เราก็เชื่อความลบล้างของกิเลสว่าสิ่งนั้นไม่มีไปตามกิเลสเสีย อันนี้สำคัญมากทีเดียว ที่สัตวโลกได้ล่มจมเพราะอันนี้ แล้วไม่มีคำว่าเข็ดหลาบอิ่มพอนะ
ความคิดความปรุงของใจนี้เราอย่าเข้าใจว่ามันจะอิ่มพอ ไม่มี ตื่นนอนขึ้นมาคิดแล้ว ติดเครื่องวัฏจักรเต็มหัวใจแล้วตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ ถ้าไม่มีการหลับมนุษย์นี้ตายง่ายที่สุด ไม่ได้ไปถึงไหนตายเลย นี่ระงับกันในเวลานอนหลับเครื่องคือกิเลสทำงานก็ระงับดับกันไป พอตื่นขึ้นมาก็ทำงานแล้ว นี่คือไม่มีอะไรหักห้ามกันเลย เป็นธรรมชาติของจิตที่ทำงานเป็นวัฏจักร โดยอัตโนมัติของตัวบนหัวใจสัตว์ เป็นมาอย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้น ทีนี้เวลาเราใช้ความพิถีพิถันเอาจริงเอาจังต่อเหตุต่อผลต่ออรรถต่อธรรมจริง ๆ แล้ว เราต้องได้ใช้ความเข้มงวดกวดขันความอดความทนต่อต้านกัน เหมือนเขาขึ้นต่อกรกันบนเวทีนั้นแหละ ใครอ่อนข้อไม่ได้นะ การต่อกรหรือชกกันบนเวที ต่างคนต่างเอาชัยชนะ
เวลานี้กิเลสมันมีชัยชนะก่อนตั้งแต่ยังไม่ขึ้นเวทีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นความเพียรของเราจึงเหลวไหล ๆ ตั้งแต่ยังไม่ขึ้นเวที พอขึ้นไปบนเวทีแล้วก็หงายท้องให้กิเลสเหยียบเอา ๆ ตลอดเวลาหาสติไม่ได้ คำว่าความเพียรไม่ทราบอะไรเป็นความเพียร ภาวนาพุทโธ ๆ เป็นต้น สติก็ไม่มี ความบังคับก็ไม่มี แต่ความเพื่อสะดวกสบายนั้นคือทางของกิเลสมันเอาไปแล้ว ๆ ให้ทิศทางของกิเลสนี้สบาย ๆ มันสบายเพื่อเป็นฟืนเป็นไฟเผาตัวเองต่างหาก ไม่ได้สบายเหมือนอรรถเหมือนธรรม ที่ได้รับความทุกข์ยากในการบีบบังคับต่อสู้กันระยะแรกแล้ว ต่อไปก็ได้รับผลขึ้นมาเป็นความสบาย ๆ อย่างนี้ ในวิธีการของกิเลสไม่มี แต่วิธีการของธรรมมี
เวลาต่อสู้กันหนักขนาดไหน ระหว่างความเพียรกับกิเลสมันจะฟัดกันอย่างหนัก คือกิเลสต่อสู้ เราบังคับให้อยู่กับคำว่าพุทโธ กิเลสจะลากออกนอกจากพุทโธ เป็นเรื่องของมันล้วน ๆ รอบตัวเลย อันนี้สำคัญมากให้ท่านทั้งหลายจำเอาไว้
อย่าไปเสียดายในอารมณ์ทั้งหลายที่เคยคิดมาแล้ว ตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งป่านนี้ ได้ผลประโยชน์อะไร ก็เรื่องกิเลสทำงานบนหัวใจ มันจะเอาผลความดีงามสุขสบายให้เราที่ไหน มันก็มีแต่สร้างกงจักรเผาหัวใจเรา สร้างฟืนสร้างไฟเผาหัวใจเรา สร้างกงจักรผันหัวใจเราตลอดมาและจะตลอดไปไม่มีสิ้นสุด ต้องฟัดต้องเหวี่ยงกันเพื่อหักกงกรรมวัฏจักร ด้วยอำนาจเบื้องต้นมีคำบริกรรม ต้องห้ามกันอย่างหนัก เอาพุทโธเท่านั้น ไม่ต้องไปมุ่งอะไร
เราบริกรรมคำไหนก็ตามตามจริตนิสัยที่ชอบ แต่นี้ผมบอกออกมาคำว่าพุทโธเป็นจุดศูนย์กลางต่างหาก ส่วนที่เหมาะสมกับจริตนิสัยของผู้บำเพ็ญในธรรมบทใด ให้ยึดธรรมบทนั้นเป็นหลัก มีสติจับอยู่จุดนั้นอย่าปล่อยอย่าวาง กิริยาอาการที่เคลื่อนไหวไปมา คำบริกรรมกับจิตกับสตินั้นให้ทำงานตลอดเวลา นี้ชื่อว่าผู้ทำความเพียร จะได้รับความสงบในวันหนึ่งแน่นอนไม่สงสัย ขอแต่อย่าถอยก็แล้วกัน นี่ละการตั้งรากฐานเบื้องต้น ตั้งยากนะ
เหล่านี้ผมได้ทำมาแล้วไม่ใช่มาสอนหมู่เพื่อนแบบงู ๆ ปลา ๆ ทำมา แล้วแบบจริงจังอย่างที่ว่านี้ด้วย ดังที่เคยพูดถึงเรื่องจิตเสื่อมมาเป็นปีกว่านั้น เสื่อมแล้วเจริญ ๆ หาบหามกองทุกข์ แบกกองทุกข์นี้ แหม ไม่มีกองทุกข์ใดที่จะมากยิ่งกว่ากองทุกข์ของจิตที่เจริญแล้วเสื่อม ๆ ซึ่งปรากฏกับหัวใจของเรา จนกระทั่งถึงความเข็ดหลาบเลย ถึงขั้นที่ว่าจิตพอได้หลักขึ้นมาเป็นความสงบแล้ว ต้องเอาตายเข้าว่า คราวนี้จิตจะเสื่อมไปไม่ได้ ถ้าจิตเสื่อมคราวนี้เราต้องตาย จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นั่นซิมันอาจเป็นได้นะ สำหรับนิสัยของผมนี้มันเด็ดขาดจริง ๆ
เราก็เทียบเอาพระโคธิกะนั่นมาเป็นตัวอย่าง ท่านฆ่าตัวเองตายเพราะจิตท่านเสื่อม ในครั้งนั้นท่านบอกว่าฌานเสื่อม ๆ ก็คือสมาธินั่นแหละเสื่อม ฌาน ก็แปลว่าความเพ่งความเล็งอยู่จุดเดียว คือจุดแห่งความสงบนั้นมันเสื่อมไป ทีนี้ไม่มีจุดไหนที่จะจับจะข้องจะแวะจะอาศัยพึ่งพิงได้ ทีนี้ก็มีแต่ความว้าเหว่ เสียดายความสุขที่เกิดขึ้นจากความสงบของฌานนั้นโดยถ่ายเดียว โดยไม่มีสิ่งตอบแทนคือสมหวัง ๆ ว่าเป็นความสงบตามความมุ่งหวังแล้วอย่างนี้ไม่มี นั่นละกองทุกข์เกิดขึ้นเวลานั้น ท่านแสดงไว้มีถึง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง พอครั้งสุดท้ายท่านก็เอามีดโกนมาเฉือนคอเลย
อันนี้ในตำราพูดไว้ไม่ค่อยชัดเจนนักแต่เราก็เข้าใจ เวลามาปฏิบัติแล้วเข้าใจ เวลาอ่านตำราไม่ค่อยเข้าใจ ลักษณะเป็นมัว ๆ อยู่ ท่านพูดถึงเรื่องพระโคธิกะ ในภาคปฏิบัติของเรามันก็จับกันได้ทันที ถึงขนาดที่ว่าเอามีดโกนมาเฉือนคอ แล้วเลือดทะลักออกมา เกิดความพินิจพิจารณา ท่านมีอุปนิสัยของท่านอยู่แล้ว เลยเอาอันนั้นเป็นอารมณ์แห่งธรรมพิจารณานั้น ตรัสรู้ขึ้นมาในเวลานั้น ไปได้เลย นี่ละที่ว่าพญามารมาคุ้ยเขี่ยขุดค้นหาจิตวิญญาณของท่าน เพราะพญามารมันไม่พอกับความโลภ มันครอบหัวใจสัตวโลกให้อยู่ในเงื้อมมือของมัน มันเป็นนายใหญ่ เรียกว่า พญามาร
ทีนี้จิตพระโคธิกะหลุดพ้นจากอำนาจของมันไป มันจึงต้องคุ้ยเขี่ยขุดค้นอย่างสุดเหวี่ยงเลย ปรากฏในตำราว่า ความมืดมัวของดินฟ้าอากาศนี้มืดไปหมด เพราะฤทธิ์ของพญามารคุ้ยเขี่ยขุดค้นหาจิตวิญญาณของพระโคธิกะเพียงดวงเดียวเท่านั้น ถึงพระพุทธเจ้าได้มาบำราบปราบปรามเอาว่า พญามารเธอจะมาคุ้ยเขี่ยขุดค้นหาจิตวิญญาณของพระโคธิกะซึ่งเป็นลูกของเราตถาคตนั้น เธอไม่มีหวังจะพบแล้ว เพราะพระโคธิกะลูกของเราได้หลุดพ้นจากอำนาจของเธอ ถึงขั้นอรหัตภูมิ นิพพานไปเรียบร้อยแล้ว
นี่ละพญามารมันโลภขนาดไหน สัตว์อยู่ในแดนโลกธาตุนี้มันครอบอำนาจไว้หมด เพียงจิตวิญญาณของพระโคธิกะดวงเดียวทำไมมันไม่ปล่อยมือ มันยังตามขุดค้นจะเอามาไว้ในอำนาจของมันให้ได้ นี่ละกิเลสมันพอที่ไหน ทีนี้ความคิดความปรุงของใจเราซึ่งเป็นพญามารอันหนึ่ง มันบีบบังคับอยู่ในหัวใจของเรา มันเป็นเจ้าอำนาจ เรียกว่าพญามาร กิเลสมารมันครอบอยู่ที่หัวใจ มันลากมันเข็นให้คิดให้ปรุงไปตามแนวแถวของมันจนได้ ๆ ดึงเข้ามาสู่อรรถสู่ธรรมมันไม่ยอมมานะ
มันเสียดายความคิดความปรุง หาว่าเป็นการระบายออกแห่งความทุกข์ความทรมาน เพราะการฝึกทรมานจิตใจเป็นความทุกข์ในขั้นเริ่มแรก แล้วการปล่อยตามเรื่องนี้รู้สึกว่ามันคลี่คลาย ก็คลี่คลายออกไปเพื่อจะมัดหัวเราด้วยอำนาจของกิเลสหลอกลวงนั่นเอง แต่มันไม่รู้นะ นี่ละจึงต้องได้ใช้บทหนักในขั้นนี้ทุกคน เอาให้จริงนะ นี้ละการทรงมรรคทรงผลจะทรงในจุดนี้เป็นแน่นอน
ผมได้พูดมาเป็นตัวอย่างแก่ท่านทั้งหลาย ผมตั้งในจุดนี้ถึงขั้นเป็นขั้นตายไม่ยอมปล่อยวาง คำว่าเสื่อมคำว่าเจริญที่เราเคยพัวพันกันมา สร้างกองทุกข์ขึ้นมาพร้อมในขณะเดียวกันบนหัวใจเรานี้ไม่มีวันลืมได้เลย ฝังลึกมาก ความทุกข์แสนสาหัสที่จิตเสื่อมลงไปนี้ มีแต่อยากได้อยากเป็นขึ้นมา มันก็ได้แต่ลม ๆ แล้ง ๆ เพราะฐานที่จะให้เกิดความสุขความสงบเย็นใจ ที่จะได้ความสงบนั้นกลับมาเราวางไม่ถูก เราบำเพ็ญไม่ถูก มีแต่ความหวังความอยากเฉย ๆ จึงต้องได้ตัดสิ่งเหล่านั้นออก
เสื่อมก็ตามเจริญก็ตาม มันจะไปไหนเราก็เคยคว้าน้ำเหลวกับมันมาพอแล้ว คราวนี้จะไม่คว้า เราจะคว้าแต่พุทโธโดยความรำพึงภายในใจว่า จิตใจของเรานี้อาจจะเผลอไปเพราะไม่มีคำบริกรรมก็ได้ เพราะแต่ก่อนเราไม่บริกรรมมีแต่สติตั้งรู้ไว้เฉย ๆ มันอาจคิดไปที่ไหนห้าโลกธาตุก็ได้ เพราะฉะนั้นมันจึงเสื่อมต่อหน้าต่อตา เราจึงพลิกเป็นอุบายใหม่ขึ้นมา คราวนี้จะเอาพุทโธเป็นหลักตั้งเลย เอา เป็นก็ตามตายก็ตามจะอยู่กับพุทโธ เสื่อมก็ตามเจริญก็ตาม เราจะให้อยู่กับคำว่าพุทโธนี้อย่างเดียวเท่านั้น อย่างอื่นเราไม่เอา ตั้งหน้าทำในงานปัจจุบันได้แก่ พุทโธ ๆ
คือใจเราเป็นอย่างนั้นจริง ๆ มันไม่เหลาะแหละ พอว่าตั้งหลักลงกับคำว่าพุทโธ ปลงใจกับคำว่าพุทโธ ทีนี้พุทโธตั้งแต่ขณะนั้นไม่ให้เผลอเลย ไม่ว่าจะความเคลื่อนไหวไปมาทั้งวันไม่ยอมให้เผลอเลย ในระยะที่ตั้งจิตขึ้นมาใหม่นี้ผมอยู่คนเดียวเสียด้วย พ่อแม่ครูจารย์ไปเผาศพหลวงปู่เสาร์ ผมอยู่คนเดียวบ้านนาสีนวล วัดร้างเขา นั่นยิ่งสนุกทำความเพียรทั้งวันทั้งคืน ตั้งพุทโธ ๆ ตลอดจนกระทั่งได้รู้ชัดในคำบริกรรมพุทโธ ๆ นี้ เวลาจิตละเอียดเข้าไปจริง ๆ แล้วคำบริกรรมหายหมด ก็ออกมาพูดได้ซิมันเป็นกับหัวใจเจ้าของเอง บริกรรมพุทโธ ๆ อยู่นั้นแลเวลาถึงขั้นละเอียดเต็มที่แล้ว นึกคำบริกรรมไม่มีเลย ไม่ออก เหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ
ก็เกิดงงในตัวเอง เอ๊ ทีนี้ทำยังไง แต่ก่อนเราก็อาศัยคำบริกรรมยึดไว้กับสติอยู่ด้วยกัน ทีนี้คำบริกรรมนี้กำหนดอะไรก็ไม่ปรากฏ กำหนดพุทโธก็ไม่ปรากฏแล้วจะทำยังไง เอ้า ไม่ปรากฏก็ให้อยู่กับความรู้นี้ ตั้งสติไว้กับความรู้นี้ นั่นเอาอยู่นั้นนะ ไม่ปล่อยตรงนี้ เวลาขาดตรงนั้นพุทโธไม่มี ให้อยู่กับความรู้นี้ ที่ว่ามันกลมกลืนเป็นอันเดียวกันแล้วบริกรรมไม่ออกไม่มี ให้อยู่กับนี้ คอยสังเกตอยู่ด้วยสติไม่ให้เผลอ ทีนี้พอถึงกาลเวลาแล้วมันก็คลี่คลายออกมา พอคลี่คลายออกมาก็บริกรรมได้ บริกรรมติดเข้าไปอีกเลย
ต่อมามันก็รู้วิธีการ อ๋อ เวลาจิตนี้ละเอียดจริง ๆ แล้วคำบริกรรมนี้หายหมด รู้ชัดนะ เราก็ทราบรู้วิธีปฏิบัติ มันหายก็อยู่กับความรู้เสีย แน่ะ เมื่อรู้แล้วให้อยู่กับนั้น พอมันคลี่คลายออกมาคำบริกรรมก็ติดเข้าไปทันที สติติดแนบตลอดเวลาทั้งที่บริกรรมได้และไม่ได้ สติขาดไม่ได้ นั่นละที่นี่มันก็ตั้งหลักได้ ค่อยละเอียดเข้าไป ๆ ความวุ่นวายเหล่านั้นมันไม่ยุ่งแล้วแหละ เพราะอำนาจแห่งความบีบบังคับจิตไม่ให้คิดกับสิ่งใดนอกจากคำบริกรรมอย่างเดียวเท่านั้น มันบีบบังคับ ขีดเส้นตายให้กันเลยนะ
นิสัยเรามันจริงจังมากเราพูดจริง ๆ เราไม่เหลาะแหละ ทำอะไรจริงจังทุกอย่าง ว่าอะไรเป็นอันนั้นเลย ขาดสะบั้นไปเลย นี่ละเราตั้งอย่างนั้น ครั้นต่อมามันก็แน่นหนามั่นคงขึ้นเรื่อย ๆ พอถึงขั้นควรจะเสื่อม มันเจริญขึ้นไปถึงขั้นนี้แล้วสองสามวันมันเสื่อม เอ้า เสื่อมก็เสื่อมไปไม่เป็นกังวลกับมัน เพราะเคยหวังแล้วมันไม่เกิดประโยชน์ เอ้า จะเจริญก็เจริญไป แต่คำว่าพุทโธจะไม่ปล่อย อันนี้จับติดเลยเทียว ความเสื่อมความเจริญไม่มาถือเป็นอารมณ์ เพราะเคยถือพอแล้ว สร้างความทุกข์ให้เรามากมาพอแล้ว เราจะเอากับพุทโธนี้ มันแน่นหนามั่นคงเข้าไปเรื่อย ๆ
พอถึงขั้นเจริญซึ่งควรจะเสื่อม ตามธรรมดาอยู่ได้สองสามวันแล้วมันก็เสื่อมเสียต่อหน้าต่อตาเรา ไม่มีอะไรเหลือเลย เหลือแต่ตัวหมดคุณค่าหมดราคาหมดหวัง สร้างความทุกข์ให้ตัวเองขึ้นที่นั่น ทีนี้พอถึงขั้นที่มันเจริญแล้วมันจะเสื่อม เอาปล่อย แต่คำบริกรรมไม่ยอมปล่อย สุดท้ายมันก็ไม่เสื่อม แน่วแน่ลงไปเรื่อย ละเอียดเข้าไปเรื่อย ๆ ค่อยจับจุดได้ อ๋อ นี่มันเสื่อมเพราะขาดคำบริกรรม เสื่อมเพราะเหตุนี้เอง ทีนี้มันไม่เสื่อม จากนั้นก็หนาแน่นขึ้นโดยลำดับ ๆ จนกระทั่งฟัดกันเต็มเหนี่ยวได้กำลังเป็นสมาธิขึ้นมาภายในหัวใจอย่างเด่น อยู่ที่ไหนก็เด่นด้วยความรู้ สติติดอยู่กับความรู้ ถึงไม่บริกรรมก็ให้ติดอยู่นั้น เอาความรู้เป็นจุดแห่งคำบริกรรม แต่ไม่บริกรรมนะ เป็นจุดแห่งสติ คือจับไว้จุดนั้น ๆ ก็เจริญเรื่อย ๆ ขึ้นไป
นี่เราพูดถึงเรื่องการฝึกเบื้องต้น มันหนักจริง ๆ นะจิต จิตใจเรานี้เป็นไฟทั้งกองเวลานี้ ถ้าไม่มีสมถธรรมคือความสงบเย็นใจเข้าไปแทรกบ้างแล้ว หาที่ปลงที่วางไม่ได้พระเรา ใครจะว่าชื่อพระนี้สูงส่งเลยเทวบุตรเทวดาไปก็ตาม แต่นรกอเวจีมันก็เผาพระอยู่ทั้ง ๆ ที่ว่าเป็นเทวบุตรเทวดานั้นแล เพราะกิเลสไม่ได้กลัวอะไร กลัวแต่ธรรมเท่านั้น ถ้าสติธรรมจับบังคับเข้าไปแล้วมันก็ยอม ให้พากันตั้งใจ จุดนี้เป็นจุดสำคัญ ให้ตั้งหลักรากฐานไว้ การพูดเหล่านี้ผมไม่สงสัยในการแนะนำสั่งสอนหมู่เพื่อนนะ ได้ทำมาแล้วเห็นผลประจักษ์มาโดยลำดับ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ขึ้นมาจาก ก.ไก่ ก.กา ที่ว่าพุทโธ ๆ นั้นแล ไม่ปล่อย
พอจิตมีความสงบแล้วทีนี้ความยุ่งเหยิงวุ่นวาย ซึ่งเคยก่อกวนและฉุดลากเราออกไป ๆ มันก็เบาไป ๆ ดื่มสมถธรรมเป็นโอชารสของใจก็สบาย ๆ นี่มีทางเดินแล้วที่นี่ เรื่องอารมณ์ต่าง ๆ ที่เคยผลักดันออกไปคิดเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส กี่ประเภทเผาหัวใจนั้นมันก็จางไป ๆ สุดท้ายมันไม่สนใจ ความสงบนี้มีกำลังมากขึ้น อยู่กับความสงบ มีความสบายไม่มีอะไรกวนใจ ความคิดปรุงแย็บหนึ่งขึ้นมานี้เป็นการกวนใจแล้ว นั่น พอถึงขั้นสงบเต็มภูมิของตัวเองแล้ว ความคิดปรุงนี้เป็นเรื่องกวนใจทั้งนั้น ไม่อยากคิด
นี่ละที่ว่าติดสมาธิ คือคิดแย็บออกมานี้มันกวนใจแล้ว ๆ ติดอยู่ในความรู้ดิ่งแน่วตลอด กลางวันกลางคืนเวลาไหนก็ตาม ไม่ได้สนใจกับมืดกับแจ้งอะไร มีแต่เพลินอยู่นั้นในความรู้ที่สงบตัวแน่ว ๆ ตลอดเวลา ไม่มีอะไรเข้ามากวน นี่ละเรียกว่าอาหารของใจ เมื่อใจมีอาหารเพียงขนาดนี้ก็พออยู่พอกินแล้ว เพราะฉะนั้นผู้บำเพ็ญสมาธิจึงเพลินในความเพียรทางด้านสมาธิ ไม่อยากออกคิดค้นด้วยปัญญา ก็นอนจมอยู่นั้นได้
อย่างที่ผมเคยนอนจมมาตั้ง ๕ ปี นี่พ่อแม่ครูจารย์ลากออกผมไม่ลืมเลยนะ ถึงได้ออก พอออกก็ก้าวถึงขั้นปัญญานี้ ทีนี้หมุนติ้ว เพราะมันพร้อมแล้วสมาธิ เป็นเครื่องหนุนของปัญญาพร้อมแล้ว แต่ไม่นำมาใช้เป็นปัญญามันก็ไม่เป็น พอออกมาใช้เป็นปัญญาตามที่ท่านฉุดลากออกไปแล้วมันก็ค่อยรู้เหตุรู้ผลเข้าไป อ๋อ ๆ ไปเรื่อย พออ๋อนี้ก็ค่อยเริ่มละนะ พอเห็นผลแล้วเรื่องความพากเพียรความสนใจต่อความเพียรทางด้านปัญญานี้มันจะหนุนตัวเข้ามาเอง ๆ จากนั้นก็เพลินทางด้านปัญญา เลยลืมพักสมาธิไป ดีไม่ดีมันก็หาว่าสมาธินอนตายอยู่เฉย ๆ ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร ปัญญาต่างหากฆ่ากิเลส สมาธิไม่ได้ฆ่ากิเลส เพียงตีกิเลสตะล่อมเข้ามาเพื่อความสงบไม่กวนใจเพียงเท่านั้น แต่การฆ่ากิเลสนี้ฆ่าด้วยปัญญา มันก็เห็นผลของการฆ่ากิเลสด้วยปัญญาแล้วเพลินกับการฆ่ากิเลส ลืมพักสมาธิไปเสีย
มันไม่พอดีนะ สำหรับนิสัยผมมันผาดโผนจริง ๆ นี่ก็ถูกท่านรั้งเอาไว้อีกเกี่ยวกับเรื่องเดินปัญญาเกินเหตุเกินผล ท่านก็รั้งเอาไว้ แน่ะ ท่านว่ามันหลงสังขาร สังขารที่ไม่รู้จักประมาณนั้นเป็นสมุทัยได้ ความหมายว่าอย่างนั้น สังขารเป็นปัญญานี้แหละแต่ใช้ไม่รู้จักประมาณ สมุทัยมันแทรกเข้ามาในสังขารนั้น กลายเป็นสังขารสมุทัยไม่รู้เนื้อรู้ตัวไปเสีย ท่านจึงให้รั้งเอาไว้เข้าสู่สมาธิ พอจิตสงบพอสมควรแล้วออกทางด้านปัญญา เอ้า หมุนเลย พอจิตเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า รู้เจ้าของว่ามีกำลังวังชาอ่อนลงแล้วให้เข้าพักสมาธิ นี้เป็นความพอเหมาะพอดีกับผู้บำเพ็ญ เหมาะสมมาก ทางปริยัติท่านก็แสดงไว้ แต่เราไม่ค่อยได้ไปสนใจอะไรกับปริยัติ มันหมุนตัวของมันด้วยความดูดดื่มนั้นแหละ เวลามันจะตายจริง ๆ มันก็เข้าพักสมาธิ
การบำเพ็ญจิตใจ เบื้องต้นยากนะ เอาให้จริงให้จังอย่าเหลาะแหละ อย่าเห็นงานใดเลิศเลอ งานโลกสงสารงานวัฏวนงานไฟเผาหัวใจต่างหาก อย่าดีดอย่าดิ้นกับพวกอยู่กงจักรให้มันเผาตลอดเวลาทั่วแดนโลกธาตุ มีแต่พวกอยู่ใต้กงจักรหมุนตัวอยู่ตลอดเวลา ธรรมนี้เป็นวิวัฏจักร ให้อาศัยธรรมนี้เป็นเครื่องอยู่ เป็นเครื่องยับยั้งตัวเอง ด้วยความพากเพียร หนักเบาสู้ตลอด สู้เพื่อความสุข ทุกข์ด้วยความเพียรนี้เป็นทุกข์เพื่อความสุข ทุกข์ด้วยอำนาจของกิเลสทุกข์เพื่อมหันตทุกข์ เอามาแยกมาแยะกันแล้วก็จะมีความเจริญรุ่งเรืองภายในใจ
จากนั้นพอปัญญาก้าวขึ้นแล้ว ทีนี้มันจะเบิกกว้างนะ ไม่ได้เหมือนสมาธิ สมาธินี้เหมือนน้ำเต็มแก้ว เต็มภูมิแล้วก็เหมือนน้ำเต็มแก้ว จะให้ทำยิ่งกว่านั้นไปอีกไม่มี สุดขีดอยู่ตรงนั้น เราเป็นแล้ว ทำยังไงมันก็ลงแน่วอยู่จุดเดียว ๆ สุดท้ายก็ว่าความรู้อันนี้แหละจะเป็นนิพพาน มันเลยเหมาเอานิพพานด้วยความรู้โง่ ๆ ความรู้หมูขึ้นเขียงด้วยสมาธินี้ไปเสีย พ่อแม่ครูจารย์มาลากออกถึงออกทางด้านปัญญา พอออกทางด้านปัญญามันคลี่คลาย เห็นชัดเจนตรงไหนมันปล่อย ๆ ของมัน อ๋อ ฆ่ากิเลสฆ่าอย่างนี้ แล้วก็เพลินเรื่อย ๆ เลย
เพลินทางด้านปัญญานี้เพลินเพื่อความพ้นทุกข์ เพลินด้วยความเห็นภัยจริง ๆ เพลินอย่างนี้ นั่นรู้แล้วนั่น หมุนติ้ว ๆ ความเพียรจึงไม่มีวันมีคืนมีปีมีเดือนมีอิริยาบถ นอนอยู่ก็ไม่หลับ มันทำงานของมันด้วยสติปัญญาอัตโนมัติ จึงต้องได้บังคับเข้าสู่ความสงบเย็นใจเพื่อสมาธิได้พักตัว พอสมควรแล้ว ถอยออกมาแล้วก้าวเดินด้วยปัญญา ไม่ต้องห่วงสมาธิ เวลาก้าวปัญญาไม่ต้องเป็นห่วงสมาธิ เอาเต็มเหนี่ยว พอปัญญาเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแล้วเข้าพักสมาธิไม่ต้องห่วงปัญญา ให้ทำงานต่างวาระกัน เวลาเข้าสมาธิอย่าไปยุ่งกับเรื่องการคิดอ่านไตร่ตรองทางด้านปัญญา ปล่อยให้หมด จิตจะสงบได้มากน้อยเพียงไร เอา ให้สงบ ทำงานต่างวาระกัน
ทีนี้พอสงบมากเข้า ๆ จิตจะมีกำลังวังชา เหมือนถอดเสี้ยนถอดหนามนะ เบาสบายหมดเลย นี่ละอำนาจของการพักในสมาธิ ควรแก่การแก่งานทั้งหลายทางด้านปัญญา จากนั้นก็ก้าวทางด้านปัญญาไม่ต้องห่วงสมาธิเหมือนกัน ให้ดำเนินอย่างนี้เป็นอันถูกต้องไม่สงสัย ปัญญาจะออกเรื่อย กว้างขวางออกเรื่อย ละเอียดลออเข้าไปเรื่อย เพราะกิเลสก็ละเอียดเข้าไปเรื่อย ๆ สติปัญญาซึ่งเป็นคู่แข่งกัน คู่ปรับกัน ก็หมุนตัวของมันไปเองเรื่อย ๆ
เวลาผาดโผนโจนทะยานนี้ผาดโผนมาก เรื่องกามกิเลสกามตัณหานี้ อันนี้ผาดโผนมากทีเดียว ใช้ความพินิจพิจารณาร่างกายออกทางด้านปัญญา ให้พิจารณาร่างกายทุกสัดทุกส่วน แล้วแต่ความถนัดดูดดื่มในอาการใดของร่างกายนี้ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต ไส้พุง ภายในนี้เป็นอริยสัจตัวสมุทัยมันมัดมันฝังไว้ทั้งนั้น แล้วพิจารณาคลี่คลายนี้ออกไปด้วยมรรคสัจคือปัญญา เมื่อคลี่คลายออกไปแล้วมันเห็นแล้วก็จะถอยตัวเข้ามา ๆ อุปาทานถอยเข้ามา นี่เรียกว่าปัญญา ฆ่ากิเลสเห็นประจักษ์กับใจ จากนั้นก็ก้าวออก ละเอียดลออ
ถ้าถึงขั้นสติปัญญาอัตโนมัติแล้วยังไงความพ้นทุกข์นี่มันแน่วแน่ ๆ ประหนึ่งว่านิพพานนี้ชั่วเอื้อม ๆ นั่นละความเพียรมันถึงขั้นเลยเถิดได้ แล้วเร่งเรื่อย ๆ ถึงคราวพักสมาธิ สมาธิเป็นของสำคัญมากนะ ถึงวาระพัก คือการทำงานกับการพักผ่อนนี้ต้องเป็นคู่เคียงกัน มีความจำเป็นเท่ากัน เราอย่าเห็นว่าการทำงานได้ผล การพักผ่อนไม่ได้ผล การพักผ่อนมันก็สั่งสมกำลังของมันขึ้นมาเพื่อเป็นคู่ควรกับงานทั้งหลาย ทำไมจะไม่ได้ผล ผลของการพักผ่อนก็เป็นอย่างนี้ ผลของงานก็เป็นอย่างนั้น มันก็รู้กันอยู่ ทีนี้ถึงวาระที่ควรจะทำก็ให้ทำอย่างนั้น แล้วค่อยเบิกกว้างออกไป ๆ สิ่งที่ไม่เคยรู้
|