หลักธรรมก็ดีหลักพระวินัยก็ดี ถ้าเป็นสายทางก็ธรรมะคือสายทางก้าวเดินของจิต พระวินัยคือรั้วกั้นสองฟากทางไม่ให้จิตปลีกออกนอกลู่นอกทาง ซึ่งเป็นโทษและเป็นความผิดล้วน ๆ ไม่มีส่วนดีแทรกอยู่ในการฝ่าฝืนพระวินัยนั้นเลย เพราะฉะนั้นพระวินัยจึงเป็นรั้วกั้นที่หนาแน่นที่สุด เพื่อให้ความประพฤติกายวาจาตลอดถึงจิตใจแทรกไปด้วย ที่จะไม่ให้ออกนอกรั้วคือพระวินัย นี่เป็นพื้นตลอดสองฟากทางแห่งการดำเนินในสายธรรมด้วยจิตใจของเรา นั่นเป็นส่วนหยาบเพราะเป็นรั้วกั้น ส่วนละเอียดที่เป็นขวากเป็นหนาม เป็นลุ่ม ๆ ดอน ๆ เป็นหินโสโครก เป็นหลุมเป็นบ่อนั้นอยู่ในสายทางเดินที่เรียกว่าธรรม
การชี้แนะบอกทุกแง่ทุกมุมของพระพุทธเจ้าที่เกี่ยวด้วยธรรม มีจิตตภาวนาเป็นสำคัญ ท่านจึงชี้แนะโดยละเอียดถี่ถ้วนที่สุด นับแต่ขั้นหยาบ ๆ คือการที่จะทำจิตให้เป็นความสงบร่มเย็น อันนี้ขั้นหยาบ คำว่าหยาบคือความหยาบของกิเลส ที่กีดที่ขวางทางก้าวเดินของจิตใจเพื่อสู่ธรรม อันเป็นความราบรื่นดีงามไปโดยลำดับ กิเลสประเภทนี้กีดขวางมาก คือความฟุ้งซ่านรำคาญ ความคิดปรุงแต่งต่าง ๆ อันเป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวล คอยที่จะออกนอกทางนี้ไป บางความคิดก็ถึงกับไปโดนพระวินัยรั้วอยู่นอก ๆ โน้นอีกก็ยังมี นี่เป็นส่วนหยาบของข้าศึก คือขวากหนามอันเป็นเรื่องของกิเลสที่อยู่ตามสายทางเดิน
เพราะทางเดินนี้ถ้าเราไปด้วยความระมัดระวัง ตามหลักศาสนธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้แล้วนี้ จะเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นโดยถ่ายเดียวสำหรับนักบวชของเรา ไม่เป็นอย่างอื่นเลย เพราะทางนี้เป็นทางหลุดพ้นโดยตรง ส่วนผู้ดำเนินนั้นก็ขึ้นอยู่กับข้อปฏิบัติ อำนาจวาสนาบุญญาภิสมภารมีมากน้อยต่างกัน แต่ถึงอย่างไรก็ไม่มีคำว่าขาดทุนสูญดอก จะต้องก้าวเดินไปตาม ๆ คือเดินตามหลังกันไปนั้นแล ในสายทางแห่งธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้วนั้น
การก้าวเดินตามสายทางแห่งธรรม จึงต้องได้ใช้ความระมัดระวัง มีสติเป็นพื้นฐานแห่งการก้าวเดิน คือการประพฤติปฏิบัติ ไม่เลือกกาลสถานที่เวล่ำเวลาอิริยาบถ ต้องมีสติรับทราบความเคลื่อนไหวของใจอยู่โดยสม่ำเสมอ ซึ่งส่วนมากต่อมากมีแต่ความเคลื่อนไหวเพื่อความผิดพลาดของจิต ที่จะออกนอกลู่นอกทางแห่งธรรมนี้ทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นจึงต้องได้บังคับบัญชาหนาแน่นด้วยสติเป็นพื้นฐาน ปัญญาเป็นเครื่องไตร่ตรองพินิจพิจารณาแทรกกันไปนั้น มีหนักบ้างเบาบ้างสำหรับปัญญาในขั้นเริ่มแรก ส่วนสตินั้นหนัก ต้องพิจารณากันอย่างหนัก ตั้งอกตั้งใจตั้งท่าต่อสู้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ราวกับนักมวยที่ต่อยกันบนเวทีจะเผลอไม่ได้ นี่ระหว่างกิเลสกับธรรมก็เช่นเดียวกัน
ท่านแสดงไว้ตั้งแต่ธรรมพื้น ๆ คือสมาธิธรรมจนถึงวิมุตติธรรม นี้คือสายทางเดินของจิตให้เดินตามนี้ สติเป็นสิ่งสำคัญ อยู่ที่ไหนอย่าได้ลดได้ละ ทุกข์ยากลำบากในการตั้งสติสตัง อย่าถือเป็นอุปสรรค เพราะนั้นเป็นเครื่องกีดขวาง ไม่ทำลายเครื่องกีดขวางนั้นก็ก้าวเดินไปไม่ได้ การทำลายเครื่องกีดขวางนั้นก็ได้แก่การฝ่าฝืนความลำบากลำบน ที่เป็นเรื่องของกิเลสปักขวากปักหนามหรือกีดกันเอาไว้ ไม่ให้ก้าวเดินด้วยความสะดวกสบายนั้นแล ให้พึงทราบไว้อย่างนั้น
ถือความมุ่งมั่น ถือความหวังเพื่ออรรถเพื่อธรรมอันเป็นจุดสำคัญของใจเรา เหยียบย่ำไปตามสายทางที่กิเลสปักขวากปักหนามเอาไว้นั้น โดยไม่มีความสะทกสะท้านต่อความลำบากลำบน ความท้อแท้อ่อนแอ ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ความทุกข์ใด ๆ ทั้งสิ้น มีแต่การก้าวเดินด้วยความมีสติอยู่โดยสม่ำเสมอ นี่เรียกว่า อปัณณกปฏิปทา คือการปฏิบัติไม่ผิดทาง จะเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติเอง แต่ทางนั้นคือทางถูกต้องแล้ว ที่เรียกว่า อปัณณกปฏิปทา
การนอนก็มีเวล่ำเวลาที่จะนอน เช่น มัชฌิมยาม ท่านให้พักนอน นอนก็มีเป็นแบบฉบับของผู้มีสติ ของผู้ประกอบความเพียร เป็นกิริยาอาการของนักรบ นอนด้วยความตั้งสติสตัง เมื่อรู้สึกตัวแล้วจะรีบตื่น ไม่นอนซ้ำ ๆ ซาก ๆ อันเป็นเรื่องนอนใจ ซึ่งเป็นเรื่องราวของกิเลสทั้งนั้น
การนอนนั้นท่านกำหนดไว้ ๔ ชั่วโมง ในมัชฌิมยาม พอรู้สึกตัวแล้วก็ให้รีบตื่น คือทำความเข้าใจไว้กับเจ้าของ ทำความหมายเอาไว้ว่าพอรู้สึกตัวแล้วจะรีบตื่น เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วก็มีการเดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง ตั้งแต่ปัจฉิมยามไปจนกระทั่งถึงสว่าง ในปฐมยามก็ประกอบความพากเพียรด้วยการเดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิภาวนาบ้าง จนกระทั่งถึงเวลาที่ควรจะพักนอน นอนท่านก็บอกว่านอนสีหไสยาสน์ นั่นแหละเป็นท่าของผู้มีสติ นอนด้วยความตั้งใจนอน ไม่ได้นอนด้วยความประมาท นี่เป็น อปัณณกปฏิปทา ในพระสูตรมี ยกมาย่อ ๆ ในข้อการประกอบความเพียร
นี้แลครั้งพุทธกาลท่านผู้ดำเนินเพื่อความหลุดพ้นจริง ๆ ท่านถือความพากเพียร เป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นจิตใจ ฝากเป็นฝากตายกับความพากความเพียรจริง ๆ ท่านไม่ได้เห็นว่าสิ่งใดในโลกนี้จะเป็นที่เลิศเลอเหนืออรรถเหนือธรรม เหนือความพ้นทุกข์ไปโดยลำดับ จนกระทั่งถึงพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงไปได้ ท่านจึงมีความจดจ่อต่อเนื่องกันด้วยความพากเพียร ตามจุดที่ท่านมุ่งมั่นไว้แล้วว่า คือความพ้นทุกข์โดยถ่ายเดียวเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้พระครั้งพุทธกาลท่านจึงปฏิบัติดังที่กล่าวมานี้ มีสถานที่ที่เหมาะสมคือในป่าในเขาลำเนาไพร ป่าช้าป่าชัฏ ในถ้ำเงื้อมผา อันเป็นสถานที่ไม่มีใครปรารถนา โลกเขาไม่ปรารถนาที่เช่นนั้น แต่ธรรมนั้นเหมาะสมอย่างยิ่ง ที่จะสั่งสมขึ้นมาภายในจิตใจของผู้รักใคร่อรรถธรรมด้วยความสะดวกสบาย เพราะไม่มีสิ่งใดรบกวน
ไม่มีสิ่งใดเป็นภัยที่อยู่ในป่านั้น ว่าจะให้เกิดความรักให้เกิดความชัง เพราะความรักกับความชังนี้มีอานุภาพรุนแรงมากภายในจิตใจของปุถุชนเรา ความรักนี้ส่วนมากจะไม่รักสิ่งใด จะรักสิ่งที่จะทำให้คอขาดบาดตายจากมรรคผลนิพพานนั่นแล ความชังก็เหมือนกัน ท่านกล่าวไว้ในตำราก็มี
สิ่งเหล่านี้ไม่มีในป่าในเขาที่จะให้เกิดความรักความชัง สิ่งที่จะตามมาก็คือความโกรธความเกลียดความเคียดความแค้น ขึ้นไปจากความรักความชัง ความหึงความหวงตาม ๆ กันมาในสถานที่ที่โลกเห็นว่าเจริญ แต่ในสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทไว้ให้พระสงฆ์ไปอยู่นั้น ไม่มีสิ่งเหล่านี้เข้าไปก่อกวนทำลาย การบำเพ็ญสมณธรรมที่เกี่ยวกับความรักความชัง ความหึงความหวง ความห่วงความใย ความโมโหโทโส ที่จะทำลายตนอย่างพินาศฉิบหายไปนั้น จึงไม่มีในป่าในสถานที่เช่นนั้น มีแต่ธรรมจะเจริญงอกงามโดยถ่ายเดียวคือเดินจงกรมก็สะดวกในสถานที่เช่นนั้น นั่งสมาธิภาวนาก็สะดวก อิริยาบถทั้งสี่ยืนเดินนั่งนอนด้วยการประกอบความพากเพียร เป็นความสะดวกตาม ๆ กันไปหมด
ไปอยู่ในป่านั้นไม่มีภัย หมายถึงอันนี้เป็นภัยสำคัญมาก เรื่องของสัตว์ร้ายเรื่องของสัตว์ของเสือของอันตรายต่าง ๆ ท่านไม่ได้กล่าวถึงเลย ย่อมแสดงว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นภัยต่อจิตใจของผู้บำเพ็ญนั้นก็ไม่มีอะไรจะผิด เพราะไม่เป็นภัยจริง ๆ มิหนำซ้ำความกลัวในสถานที่เราไปอยู่ กลัวสัตว์ร้ายมีเสือเป็นต้น ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความระมัดระวังด้วยความมีสติ และเพิ่มความตั้งใจก็ด้วยความมีสติอีกเช่นเดียวกัน จึงกลายเป็นคุณขึ้นมาด้วยความกลัวสิ่งเหล่านั้น ไม่ได้เป็นภัยเหมือนความรักความชังดังที่กล่าวมาเบื้องต้นนั้น ท่านจึงไม่ทรงแสดงไว้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภัย อย่าไปอยู่ในป่าเช่นนั้น ๆ ท่านไม่ได้ว่า
มีแต่ป่าที่หนาแน่นไปด้วยภัยเท่าไรยิ่งให้ไปอยู่ ก็เพื่อจะได้เห็นจิตในธรรมบทที่ว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตนนั้นพึ่งอย่างไร นั่นแหละเด่นชัดขึ้นในเวลาที่จิตเกิดความสะดุ้งกลัวขึ้นมา เพราะการอยู่ในป่าและกลัวสัตว์ร้ายต่าง ๆ สติสตังก็ตั้งขึ้นมา ความพากเพียรก็ดี ความขี้เกียจขี้คร้านหายหน้าไปหมด เพราะสิ่งเหล่านี้มีอำนาจมากที่จะให้เกิดความตั้งใจขึ้นมาด้วยความเป็นธรรม ถึงกับเกิดความกล้าหาญชาญชัยขึ้นมาในขณะหลังจากความกลัวนั้น เพราะการตั้งสติระมัดระวังใจอยู่อย่างเข้มงวดกวดขัน
ใจเมื่อมีสติเป็นเครื่องคุ้มครองรักษา ย่อมมีความแน่นหนามั่นคงสืบต่อกันไปเรื่อย ๆ ยิ่งมีสิ่งที่เป็นภัยที่น่ากลัวทำให้คิดให้ระวังมากเท่าไร สติยิ่งดีหนาแน่นขึ้นโดยลำดับ ความหนาแน่นของสติไม่ใช่จะหนาแน่นเพียงสติเฉย ๆ แต่เป็นโอชารสอันสำคัญที่จะซึมซาบเข้าเป็นประหนึ่งปุ๋ย คือโอชารสแห่งธรรมที่จะเข้าหล่อเลี้ยงจิตใจ ให้มีความแน่นหนามั่นคงมากขึ้น ๆ ถึงกับขณะหลังนั้นเกิดความกล้าหาญชาญชัยขึ้นมา ไม่ได้เป็นเหมือนอย่างขณะก่อนที่กลัวแล้วระมัดระวังเอามากมายอย่างนั้นเลย
ที่กล่าวมาเหล่านี้ผู้ปฏิบัติเท่านั้นจึงจะทราบได้ ไม่ได้ปฏิบัติเสียก่อน ไม่ได้เข้าสงครามในลักษณะนี้ก่อนแล้วจะพูดไม่ได้ เพราะไม่รู้จะเอาอะไรมาพูด แต่ขอให้ได้เข้าไปอยู่อย่างนี้เถอะ จึงต้องขออภัยด้วยพูดเพื่อเป็นคติตัวอย่างแก่เพื่อนฝูง นิสัยของผมเองนั้นเป็นนิสัยที่หยาบ จะว่าคนหยาบก็ได้ ไปอยู่ในสถานที่ธรรมดาความเพียรไม่ค่อยดี ไม่เห็นมีความเด่น ไม่มีความรู้สึกว่าภูมิใจในเจ้าของเท่าที่ควรเลยและไม่ภูมิใจ ผลที่จะพึงได้ก็ไม่ค่อยปรากฏนัก
นี่ละทำให้จิตใจของเราดีดดิ้นหาเหตุหาผลที่สะดุดจุดธรรมที่สำคัญ ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในใจในเวลาคับขัน หรือในสถานที่เช่นนั้น คือที่กลัว ๆ จึงมักเสาะแสวงในสถานที่กลัว ๆ เสมอ ทั้ง ๆ ที่เราก็กลัว แต่ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากความกลัวนั้น เป็นผลประโยชน์อัศจรรย์มหาศาล เราจึงจำเป็นต้องได้สละเป็นสละตายเข้าอยู่บำเพ็ญเพื่อธรรม เพราะชีวิตจิตใจนี้ไม่มีคุณค่าเท่ากับธรรมที่เรามุ่งหวังอยู่นั้นเลย นี่ละเป็นเหตุที่จะให้ก้าวเข้าสู่สถานที่ดังกล่าวนี้ตามนิสัยเรื่อยมา
เมื่อก้าวเข้าไปสู่สถานที่ดังกล่าวก็ต้องเป็นดังที่เราคิดไว้ เพราะที่นั้นเป็นสถานที่น่ากลัวจริง ๆ พอไปถึงสถานที่น่ากลัว กลางวันก็กลัว กลางคืนก็กลัว เวลาไหนก็กลัว ยิ่งกลางคืนด้วยแล้วจิตก็ยิ่งมีแต่ตั้งหน้าตั้งตาที่จะกลัว ในขณะเดียวกันสติต้องติดแนบอยู่ตลอดเวลาที่จิตมีความรู้สึกว่ากลัว หรือจิตผิดปกติจากธรรมดา แสดงตัวเป็นความกลัวขึ้นมามากน้อย สติจะจดจ่อต่อเนื่องกันเรื่อย ๆ
ยิ่งในเวลาที่น่ากลัวมากที่สุดก็คือในเวลากลางคืนหนึ่ง เวลาดึกสงัดหนึ่งเพราะเราเดินจงกรมนี่ จะเป็นกลางค่ำกลางคืนเวลาดึกดื่นอะไรก็ตาม ฟังแต่ว่าความเพียรเพื่อฆ่ากิเลส เราจะไปเลือกกาลสถานที่เวล่ำเวลาอยู่ ไม่สมกับเราต้องการในสถานที่เด็ด ๆ เช่นนั้น จึงต้องได้เดินจงกรมทั้ง ๆ ที่กลัว ๆ นั่นแหละที่ได้เห็นเหตุเห็นผลกันในเวลานั้น
พอความกลัวเริ่มขึ้นมากสติเริ่มจับ คือจิตนี้ห้ามหรือบังคับเด็ดขาด ไม่ให้เคลื่อนจากจุดที่ตนต้องการ เช่น เราบริกรรมพุทโธ ๆ ก็ให้อยู่กับคำบริกรรมนี้เท่านั้น เป็นก็ตาม ตายก็ตาม เสือก็ตาม ช้างก็ตาม สัตว์อันตรายใด ๆ ก็ตาม ไม่ไปคิดไม่ไปยุ่ง ให้รู้อยู่กับจุดเดียวคือคำบริกรรมนี้เท่านั้น นี่หมายถึงขั้นเริ่มแรกของการภาวนา ซึ่งต้องอาศัยคำบริกรรม กลัวมากเท่าไรจิตยิ่งติดแนบกับคำบริกรรม ไม่ให้ปราศจากเลย ความมุ่งหมายนั้นคือหมายตายกับธรรมนี้เท่านั้น ไม่ให้จิตไปสู่อารมณ์ที่กลัวนั้น ๆ
ธรรมคืออะไร คำบริกรรมนั้นแลคือบทแห่งธรรม ชื่อแห่งธรรม ธรรมแท้จะปรากฏที่จิต ที่จิตกำลังบริกรรมอยู่นั้นแหละ คือสั่งสมพลังของธรรมให้เกิดขึ้นที่ใจ มากน้อยตามความพากเพียรของตน เมื่อสติได้ติดแนบอยู่กับคำบริกรรม บังคับจิตไม่ให้แย็บออกไปสู่อารมณ์ที่เป็นภัย ซึ่งทำให้น่ากลัวน่าหวาดเสียวนั้น ให้อยู่เฉพาะกับคำบริกรรมนี้ติดต่อสืบเนื่องกันเป็นลำดับลำดา ก็เป็นการสั่งสมพลัง คือกำลังของอรรถของธรรมขึ้นภายในจิตใจ หนุนใจให้มีความแน่นหนาหรือให้มีความอบอุ่นมากขึ้น ๆ สุดท้ายจิตใจดวงนั้นก็แน่นเหมือนกับหินทั้งก้อนหรือภูเขาทั้งลูก สติก็ติดอยู่นั้นไม่พรากจากใจ
ทีนี้ความที่เคยว่ากลัว ๆ คิดออกไปหาสิ่งที่น่ากลัวก็ไม่กลัว คิดไปถึงอันใดคำว่าน่ากลัวไม่กลัวทั้งนั้น เอ้า คิดหมดในแดนโลกธาตุนี้กลัวอะไร จะมีสิ่งน่ากลัวแม้สิ่งหนึ่งมาปรากฏที่ใจนี้มีไหม ไม่มีเลย นั่นฟังซิ นั่นละเมื่อถึงขั้นจิตเป็น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ คือช่วยตัวเองช่วยอย่างนั้น พึ่งตนเองพึ่งอย่างนั้น อยู่กับตัวเองด้วยความแน่นหนามั่นคงก็อยู่แบบนั้น แบบที่ตนสั่งสมขึ้นมาแล้วนั้น ผลก็ปรากฏเด่นชัด นี่ละการประกอบความพากเพียรมันถึงเห็นผล
นี่ก็เป็นสิ่งที่เราลืมไม่ได้ในชีวิตและการภาวนาของเรา ซึ่งไปอยู่ในสถานที่เช่นนั้น และไม่อยู่เพียงวันหนึ่งวันเดียว สถานที่แห่งหนึ่งแห่งเดียว เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ พอจิตจะมีความคุ้นในสถานที่ใดจะเป็นความชินชา กิเลสจะเกิดขึ้นแล้วนะ ตัวหน้าด้านตัวขี้เกียจขี้คร้านประกอบความพากเพียร การตั้งสติสตังจะค่อยเหลวไหลไป นี่ต้องเปลี่ยน นั้นละอุบายของการประกอบความพากเพียรให้ท่านทั้งหลายจำเอาไว้ นี้อธิบายเพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้บำเพ็ญให้ได้คิดหลายแง่หลายทาง เพื่อทันกับกลมายาของกิเลสที่คอยสอดแทรกอยู่เสมอภายในจิตใจ เราจึงต้องพลิกหลายสันหลายคม
พอมีความรู้สึกว่าสถานที่นี้จะเป็นความเคยชินขึ้นมาแล้ว เปลี่ยนแปลงทันที เปลี่ยนขยับเข้าไปในสถานที่ที่จิตเข้าใจว่าจะเป็นสถานที่น่ากลัวมากยิ่งกว่านี้ หรือว่าเป็นว่าตายก็เรียกว่าถึงขั้นเป็นขั้นตาย มากยิ่งกว่านี้ ๆ เอาชีวิตเป็นตัวประกันเลย เมื่อไปอยู่สถานที่เช่นนั้นจิตใจก็เปลี่ยนแปลงไปตามสถานที่ ความพากเพียรสติสตังตลอดปัญญาอุบายต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปตามสถานที่
การที่สติปัญญามีความเปลี่ยนแปลงไปตามความพากเพียร และกาลสถานที่นั้นมากน้อยเพียงไร ก็เป็นการสั่งสมกำลังของธรรมขึ้นภายในจิตใจของตน และในขณะเดียวกันก็ตัดกำลังวังชาของกิเลส ซึ่งเคยเป็นตัวข้าศึกห้อมล้อมอยู่ตลอดเวลานั้นให้เบาบางลงไป ๆ จนถึงกับเหมือนกับผ้าขี้ริ้ว ชีวิตไม่มีราค่ำราคาเลย ตายที่ไหนก็ตายได้ทุกกาลสถานที่
ทั้ง ๆ ที่เรากลัวมากที่สุด ความกลัวนั้นหายไปหมดไม่มีอะไรเหลือ อยู่เป็นธรรมดาเป็นเอกเทศ ประหนึ่งว่าไม่มีอะไรเป็นภัยต่อเราเลยในโลกนี้ เพราะตัวของเราเองก็เป็นผ้าขี้ริ้วหาราค่ำราคาไม่ได้แล้ว อะไรหรือสิ่งใดจะมาทำอะไรให้เป็นอย่างไรก็เป็นไปไม่ได้ ไม่นอกเหนือจากผ้าขี้ริ้วนี้ไปเลย นั่นจิตปล่อยลงถึงขนาดนั้น ยิ่งสนุกประกอบความพากเพียร ความพากความเพียรนี้ยิ่งเด่น สติยิ่งดีปัญญายิ่งเฉียบยิ่งแหลม
นี่คืออันหนึ่งเป็นผ้าขี้ริ้ว อันหนึ่งกลับเด่นขึ้น เป็นทองทั้งแท่งขึ้นภายในจิตใจ นี่คืออุบายของการประพฤติปฏิบัติ ที่พระทั้งหลายในครั้งพุทธกาลท่านอยู่อย่างนี้เป็นส่วนมาก เพราะเป็นแนวทางที่จะให้หลุดพ้นอย่างกระจ่างแจ้ง และรวดเร็วกว่าสถานที่ธรรมดา ซึ่งมักจะเป็นการสั่งสมกิเลสมากกว่าสั่งสมธรรม
ในตำรับตำรามีมากต่อมาก นี่ได้ยกมาอธิบายให้ท่านทั้งหลายฟัง ตามฐานะที่ได้เคยศึกษามาตามกำลังของตน และได้เข้าสู่แนวรบคือภาคปฏิบัติด้วย ได้เปลี่ยนแปลงตนอย่างไร วิธีการประกอบความพากเพียรได้พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงอย่างไร ทั้งอุบายวิธีการต่าง ๆ ภายในจิตใจ ทั้งสถานที่ที่จะให้จิตมีความรู้สึกแปลกต่างไปจากสถานที่เดิม เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ อย่างนั้น ใจก็มีความกล้าหาญชาญชัย อยู่สบาย
คำว่าสมาธิคือความแน่นหนามั่นคงของใจนั้นไม่ต้องบอกแล้ว กลางวันก็ไม่กลัวกลางคืนก็ไม่กลัว เวลาไหนก็ไม่กลัว เมื่อจิตได้รวมตัวเข้าเป็นพลังทั้งแท่ง เหลือแต่ความรู้ที่เด่นอยู่ภายในจิตใจอย่างเดียวนั้นแล้ว เหมือนหนึ่งว่ามีอำนาจมากที่สุด มีพลังมากที่สุด ครอบทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่อันตรายที่เคยกลัว ๆ นั้นก็ครอบไปหมด หาความกลัวไม่ได้เลย และยังคิดด้วยว่าสิ่งทั้งหลายจะไม่สามารถมาทำลายตัวเองได้อีกด้วยซ้ำ นี่เป็นความรู้สึกของจิต ส่วนที่จะทำลายได้ไม่ทำลายได้นั้น เราไม่ต้องยกมายุ่งมาเหยิงวุ่นวาย จะเป็นการทำลายการประกอบความพากเพียรเพื่อสั่งสมธรรมของเราให้เสียไป
การตายนั้นอยู่ที่ไหนก็ตาย เสือกินก็ตาย ไม่กินก็ตาย อยู่ในบ้านไม่มีเสือมากินก็ตายได้ นี่เมื่อสรุปให้สรุปลงไปอย่างนั้น เพื่อเป็นผลประโยชน์ในทางด้านธรรมะ ไม่ให้กิเลสมาแบ่งสันปันส่วนเอาไปได้เลย ถ้าเราแยกไปทางเป็นทางตาย ถ้าเผื่อว่าเสือมากินจริง ๆ เราสำคัญว่าเสือกินไม่ได้ มันเกิดมากินจริง ๆ จะว่ายังไง นี่สร้างปัญหาเป็นขวากเป็นหนามกั้นตัวเอง จะว่ายังไงตั้งแต่เสือไม่กินก็ตายนี่ นั่นแก้กันแล้ว นี่ละอุบายวิธีการต่าง ๆ ของการปฏิบัติ ท่านดำเนินมาพาดำเนินมาอย่างนี้ นี่หลักของศาสนา
พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาขึ้นมา เพราะการปฏิบัติเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นจิตเป็นใจ เอาเป็นเอาตายจริง ๆ ใต้ร่มไม้คือร่มโพธิ์ เห็นผลทั้งสถานที่ที่บำเพ็ญอำนวย เห็นผลทั้งวิธีการดำเนินว่าถูกต้องแม่นยำจนได้เป็นศาสดา ตรัสรู้สังหารกิเลสออกจากจิตใจหมดแล้วกลายเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา จึงได้นำวิธีการต่าง ๆ นี้มาสอนโลก ทั้งสถานที่อยู่ว่าที่เช่นไรเหมาะสมที่สุด พระองค์ประทับอยู่ในที่เช่นไรล่ะที่เหมาะสมที่สุด ก็พระองค์เป็นผู้ยืนยันเสียเองในการอยู่ เช่น รุกขมูลคือร่มโพธิ์
วิธีการปฏิบัติก็ทรงเด็ดเดี่ยวอาจหาญ เอ้า ถ้าไม่ได้ตรัสรู้ใต้ร่มไม้โพธิ์นี้แล้ว สถานที่ตายกับสถานที่ตรัสรู้นี้ต้องเป็นสถานที่เดียวกัน หากไม่ได้ตรัสรู้จะตายก็ยอมเลย ไม่ยอมลุกขึ้นจากสถานที่นี้อีกต่อไปแล้ว ถ้าไม่ได้ตรัสรู้ก็มีตายเท่านั้นกับตรัสรู้เท่านั้น สุดท้ายก็ได้ตรัสรู้ขึ้นมา เป็นยังไงพูดถึงเรื่องความเด็ดเดี่ยวของพระพุทธเจ้า เอามาเทียบกับจิตใจของเราซิ
เราว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ว่าให้จิตใจของเราซึมซาบเข้าถึงองค์แห่งพุทธะ ทั้งความรู้ของพระองค์ ทั้งวิธีการดำเนินของพระองค์ ให้มันแทรกภายในจิตใจของเราฝังไว้อย่างลึก ๆ ซิ ธรรมท่านเกิดที่ไหน ท่านเกิดขึ้นด้วยความเป็นอย่างนี้แหละ ไม่ใช่เกิดขึ้นอย่างอื่นใด อย่างเหลาะ ๆ แหละ ๆ ธรรมไม่เกิด มีแต่กิเลสเท่านั้นเกิดขึ้นโดยถ่ายเดียว นี่ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ที่ท่านตามเสด็จพระพุทธเจ้าทัน เรียกว่าได้บรรลุธรรมถึงขั้นอรหัตบุคคลท่านดำเนินกันอย่างนี้ ท่านไม่มีงานกิจการอันใดเข้ามาเกี่ยวข้องเลย มีแต่บริขาร ๘ เท่านี้เป็นเครื่องจำเป็น ที่จะติดตามองค์ของท่านไปเพื่อบำเพ็ญในสถานที่ต่าง ๆ
สิ่งจำเป็นอะไร ๆ ก็ไม่เห็นท่านแสดงไว้ในคัมภีร์ในตำรับตำรา มีแต่บริขาร ๘ เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับพระ ถ้าภาษาของเราทุกวันนี้ก็ว่าพระเดินธุดงคกรรมฐาน จะต้องไปพะรุงพะรังกับวัตถุสิ่งของเงินทอง เสบียงอาหารหวานคาว เครื่องใช้ไม้สอย บริษัทบริวารได้อย่างไร ก็ผู้จะไปฆ่ากิเลสไม่ใช่ผู้จะไปสั่งสมกิเลส หาความสบายให้กิเลสนี่ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องหาความสบายให้กิเลสทั้งนั้น แต่ธรรมไม่มีหวังจะได้ครองหัวใจ
ทางเดินของพระพุทธเจ้าและพระสาวกท่าน ท่านไปอย่างเงียบ ๆ พระพุทธเจ้าก็เห็นไหมในตำรับตำราค้านกันได้ที่ไหน เวลาเสด็จออกทรงผนวชมีใครตามเสด็จพระพุทธเจ้า ก็มีแต่ฉันนะอำมาตย์คนเดียวกับม้ากัณฐกะนี้เท่านั้น จากนั้นก็อยู่ในป่า ใครจะไปสนใจกับพระสิทธัตถราชกุมารว่าเป็นกษัตริย์ เป็นเทวบุตรเทวดาหรือเป็นอนาถามาจากไหน เขาก็เห็นว่าเป็นนักพรตคนหนึ่งหรือนักบวชคนหนึ่ง ตามลัทธิของเขาที่เคยมีอยู่ประจำในสมัยนั้น ๆ เท่านั้นเอง
พระองค์ก็ไม่ทรงทะนงพระองค์ว่าเคยเป็นกษัตริย์และเป็นกษัตริย์ ได้มาบำเพ็ญอยู่เดี๋ยวนี้ คือกษัตริย์มาบำเพ็ญอย่างนี้ก็ไม่เคยติดพระทัยเลย มีแต่เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์โดยถ่ายเดียว ด้วยความเพียรที่หมายมั่นปั้นพระหัตถ์เท่านั้น ภาษาเราว่าหมายมั่นปั้นมือ เอาจริงเอาจังเอาเป็นเอาตาย ให้ถึงเหตุถึงผลถึงพริกถึงขิงกันจริงๆ อย่างที่ทรงบำเพ็ญด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่เราเห็นอยู่แล้วในพระประวัติของท่าน ทรงแน่ใจแล้วว่าไม่ใช่ทางจึงทรงถอย เอาให้ถึงเหตุถึงผลว่าไม่ใช่ทางเป็นที่แน่ชัดแล้ว ถึงถอย ๆ ๆ
ส่วนที่ทรงเห็นว่าแน่พระทัยแล้วว่าใช่ทาง ท่านยกมาตั้งแต่สมัยที่พระราชบิดาพาเสด็จไปแรกนาขวัญ ทรงเจริญอานาปานสติได้ผลเป็นที่พอพระทัยมาตั้งแต่เป็นพระราชกุมาร ท่านแน่พระทัยว่าวิธีนี้ต้องเป็นวิธีที่ถูกต้อง จึงได้ทรงดำเนิน จนได้ตรัสรู้ขึ้นมา ดังนั้นทรงแสดงพระอาการใดออกมา จึงเป็นพระอาการที่แทนองค์ศาสดาหรือเป็นองค์ศาสดา ๆ แสดงออกมาทั้งนั้น คือเป็นครูสอนโลก ๆ ไปโดยลำดับทุกพระอาการ
เราไม่ยึดครูอย่างพระพุทธเจ้า พระอาการอย่างพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้ว เราจะเอาอะไรมายึด ผู้ปฏิบัติต้องคำนึงเสมอในสิ่งเหล่านี้ ไม่คำนึงอย่างนี้หาสิ่งที่จะเป็นสิริมงคลแก่เราไม่ได้ กิเลสจะรุมล้อมกัดกินตับกินปอดจะไม่มีเหลือ คนทั้งคนตับปอดไม่มีกิเลสเอาไปกินหมด ตับปอดนั่นโลกเขาถือว่าเป็นของดิบของดี เป็นของสำคัญอยู่ในร่างมนุษย์ นี่ความหมายเป็นข้อเทียบเคียง แต่กิเลสเอาไปกินเสียหมด ก็เหลือแต่สิ่งที่ไม่มีความหมาย คนไม่มีความหมาย พระไม่มีความหมาย แล้วมีคุณค่าอะไร หัวโล้นโกนคิ้วใครทำเอาก็ได้ไม่เกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้นเพื่อเป็นเครื่องประดับความเป็นสมณะของเรา จึงต้องเป็นผู้มีความพากเพียร ทุกสิ่งทุกอย่างให้แน่นหนามั่นคง แล้วผลไม่ต้องสงสัยแหละ
คำว่าสวากขาตธรรมนี้คือสายธรรมที่เป็นทางเดิน และพระวินัยที่เป็นรั้วกั้นเอาไว้นั้น อย่าออกนอกลู่นอกทาง ภายในทางแห่งธรรมนั้นก็ให้ใช้ความพินิจพิจารณา ความเพียรกวาดออกเรื่องขวากเรื่องหนาม ที่กิเลสมันปักเสียบเอาไว้ตามสายทางที่ก้าวเดิน การก้าวเดินในสายทางธรรมเพื่อความหลุดพ้น ต้องเหยียบขวากเหยียบหนามที่กิเลสปักเสียบนั้นแหละไปเสมอ หรือกวาดขวากกวาดหนามออกแล้วก้าวไป ๆ คือฝืนอุปสรรค ฝืนความขัดข้องยุ่งเหยิง ฝึกฝืนทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นชื่อว่าเป็นกลมายาของกิเลสแสดงออกมา นั่นละเรียกว่าเราปัดออกกวาดออก ให้มีแต่ความขยันหมั่นเพียร
ศรัทธาฝังแล้วต่อองค์ศาสดา ฝังแล้วต่อมรรคผลนิพพาน ฝังแล้วอย่างลึก วิริยะเพียรเพื่อศรัทธาที่เชื่อแล้วอย่างลึกนั้น สติก็เหมือนกัน สติตั้งตลอดเวลาไม่มีละเว้นเลยคำว่าสติ สมาธิก็หมายถึงความตั้งมั่น ความแน่นหนามั่นคงของเหตุ คือการดำเนินของเราไม่โยก ๆ คลอน ๆ แล้วจะเข้าสู่ผลคือความแน่นหนามั่นคงของใจ ปัญญา ฟังซิ ปัญญาก็เคยได้กล่าวแล้วได้พูดแล้ว
ให้ธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องก้าวเดิน เป็นเครื่องปัดขวากหนามทั้งหลายออก ให้มีแต่ธรรมเหล่านี้ก้าวเดิน ๆ แล้วจะถึงจุดหมายปลายทาง เหมือนกับทางสายนี้จากนี้ไปสู่จุดนั้น ผู้ไปถึงแล้วทางสายนี้ก็ยังต้องเป็นทาง ผู้ดำเนินตามก็จะต้องถึงจุดนั้นเหมือนกัน เป็นเพียงก่อนและหลังกันเท่านั้น
แต่จะให้ทางนี้ครึหรือล้าสมัย ผิดจุดหมายที่เคยถูกต้องไปเป็นอื่นนั้นเป็นไปไม่ได้ เช่นทางจากวัดเรานี้เข้าสู่หมู่บ้านตาด ใครจะเดินก็ต้องเดินอย่างเดียวกันเข้าไป ๆ ก็ถึงหมู่บ้าน ๆ ทางแห่งธรรมนี้ก็เป็นทางเพื่อหลุดพ้นไปโดยลำดับ ตั้งแต่ขั้นต่ำแห่งธรรมจนถึงขั้นสูงสุดวิมุตติหลุดพ้น จะนอกเหนือไปจากสายทางนี้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจึงขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ
นี้แหละคือเนื้อคือหนังของนักบวชของนักปฏิบัติเรา ได้แก่ความพากเพียรเพื่อชำระจิตใจให้มีความสงบผ่องใสและมีความสง่างาม จนกระทั่งถึงสว่างกระจ่างแจ้งเป็นโลกวิทู รู้ทั้งโลกนอกโลกในตลอดทั่วถึง ไม่ติดไม่ข้องไม่คาอะไรทั้งนั้นทางสายนี้
เราเป็นผู้มีโอกาสที่สุดแล้วในเพศแห่งนักบวชนี้ เวล่ำเวลาก็อยู่กับใจ เราอย่าไปหาเอามืดกับแจ้งมาเป็นเวล่ำเวลา ให้ดูขณะหรือเวล่ำเวลาที่กิเลสมันแสดงตัวออกมา แสดงมาที่จุดไหน ต้องแสดงออกมาที่ใจทั้งนั้น ปรุงแย็บออกแล้วกระเพื่อมแย็บออกแล้ว เราไม่ทันขณะมันกระเพื่อม เราไปเห็นตั้งแต่ภาพที่มันวาดหลอกไว้แล้ว เรื่องราวอะไร ๆ มันไปวาดไว้แล้ว ไปแสดงเรื่องราวไว้แล้ว
เราไปทราบแต่โน้น ไปเห็นแต่โน้น ไปติดแต่โน้น ไปดีใจเสียใจแต่กับเรื่องราวโน้น ส่วนต้นทางที่มันออกนี้ออกจากอะไร จุดที่เกิดเบื้องต้นแห่งเรื่องทั้งหลายนั้นเกิดที่ตรงไหน นี่ซิสติของเราไม่ทัน เวลามันวาดภาพขึ้นมาแล้ว วาดเรื่องราวขึ้นมาแล้วเราถึงได้เห็น เห็นก็เห็นไปเพื่อความหลงไม่เห็นไปเพื่อความรู้
ถ้าสติดีแล้วเพียงกระเพื่อมพับก็ทันกันแล้ว ยังไม่ได้ปรุงแต่งเรื่องอะไรเลย พอแย็บก็ทราบ เมื่อสติทันสิ่งเหล่านี้ต้องดับ ฝืนวาดไปไม่ได้ เพราะสติมีอำนาจมากยิ่งกว่าสังขารที่จะปรุงขึ้นไปอย่างนั้น สังขารนั้นท่านเรียกสังขารสมุทัย ปรุงไปเพื่อให้ติด เป็นเครื่องหลอกลวง เป็นอยู่อย่างนั้นตลอด เมื่อสติปัญญาเราก็ฟิตตัวของเราให้ดีโดยลำดับลำดาแล้วทัน คิดขึ้นเรื่องอะไร ๆ ก็ทัน ทีแรกเพียงทันเสียก่อน ครั้นมีสติปัญญาสามารถแก่กล้าแล้ว ไม่เพียงแต่ว่าทัน ยังสังหารกันด้วยได้เป็นลำดับลำดา จนกระทั่งไม่มีอะไรเหลือ นี่ละการปฏิบัติธรรมท่านปฏิบัติกันมาอย่างนี้
ท่านไม่ทำลุ่ม ๆ ดอน ๆ สุ่มสี่สุ่มห้า ศาสนาเลยกลายมาเป็นเครื่องหาอยู่หากินของกิเลสไปเสียหมดเวลานี้จะทำยังไง มันน่าสลดสังเวชนะ ศาสนาเป็นทำเลเป็นตลาดหากินของกิเลสนี้เป็นยังไงดูเอา เราไม่ต้องไปพูดกันมากแหละ มีเรื่องอรรถเรื่องธรรมที่ตรงไหน ถ้าว่ามีเรื่องอรรถเรื่องธรรมว่าเป็นการบุญการกุศลที่ตรงไหน ก็นั้นแหละกิเลสไปตีตลาดอยู่ตรงนั้น หากินอยู่ตรงนั้น เดินอยู่ตรงนั้น ไม่มีอะไรเกินธรรมชาติอันนี้แหละ เป็นอยู่อย่างหน้าด้านทีเดียว นี่ซิน่าสลดสังเวชจริง ๆ
เรื่องของพระพุทธเจ้าจริง ๆ แล้วไม่มีงานอันอื่นอันใดเข้ามาเกี่ยวข้องเลย มีแต่งานชำระกิเลส ในอิริยาบถต่าง ๆ มีตั้งแต่เรื่องของการประกอบความพากเพียรเพื่อชำระกิเลสโดยถ่ายเดียว แม้ท่านผู้สิ้นกิเลสแล้วท่านก็อยู่ด้วยความเป็นวิหารธรรม ในสถานที่สงบสงัดตามอัธยาศัยของท่าน ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ยุ่งกับอะไรแล้ว เดินจงกรมนั่งสมาธิก็เพื่อธาตุเพื่อขันธ์ในวิหารธรรม ในทิฏฐธรรมเท่านั้น คือเวลายังทรงธาตุทรงขันธ์อยู่ ท่านก็ประกอบความพากเพียร เวลาคิดก็คิด เวลาปรุงก็ปรุง เวลาใช้การใช้งานธาตุขันธ์ท่านก็ใช้ เวลาท่านจะระงับขันธ์ของท่านลงสู่จะเรียกว่าสมาธิธรรมก็ได้ ลงสู่ความสงบพักขันธ์ ท่านก็พักของท่าน นี่ละที่ว่าประกอบความเพียร
เวลาใช้ขันธ์ท่านก็ใช้ เวลาพักขันธ์ท่านก็พัก เวลาจะพิจารณาไตร่ตรองแง่อรรถแง่ธรรมต่าง ๆ ลึกตื้นหยาบละเอียดหนาบางขนาดไหน ท่านก็พิจารณาไตร่ตรองของท่าน ซึ่งเป็นเรื่องของความเพียรตามอัธยาศัยของผู้สิ้นกิเลสแล้วทั้งนั้น
เราไม่สิ้นเราไม่รู้ เช่นอย่างว่าท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านทำความเพียรหาอะไร เราทั้งไม่ได้เป็นพระอรหันต์ด้วย และทั้งไม่รู้เรื่องของท่าน ซึ่งเป็นพระอรหันต์ดำเนินนั้นด้วยเราจะเอาอะไรมารู้ ถ้าเราอยากรู้เราก็ทำตัวของเราให้สิ้นกิเลสซิ ตามทางเดินของท่าน วิธีการของท่านมีอยู่อย่างสมบูรณ์แล้ว ทำใจของเราให้สิ้นกิเลสแล้ว ทีนี้ประกอบความพากเพียรเพื่ออะไร ไม่ต้องไปถามใครแล้ว รู้ในตัวเองด้วยกันทุก ๆ องค์บรรดาพระอรหันต์ ประกอบความพากเพียรเพื่ออะไร ท่านรู้ของท่านเอง อ๋อ อย่างนี้ ๆ พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาเช่นเดียวกับเรา ๆ ท่าน ๆ นี้ ท่านทำเพื่ออะไร นี่ก็ไม่ต้องถาม วิ่งเข้าสู่จุดเดียวกันทั้งนั้นเลย
ท่านพิจารณาธรรมว่าจะควรพิจารณาลึกตื้นหนาบางขนาดไหน ผู้มีนิสัยหนักไปในทางใด เช่นอย่างพระกัสสปะซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธเจ้า พิจารณาดูความเกิดความจุติเคลื่อนไหวของสัตว์ทั้งหลาย เกิดแล้วไปตายที่ไหน ตายแล้วไปเกิดที่ไหนพินิจพิจารณา เรียกว่าจุตูปปาตญาณ จนถึงกับพระพุทธเจ้าท่านมาเตือนว่า กัสสปะอันนี้เป็นเรื่องของเราตถาคต กัสสปะผู้เป็นบุตรของเรา ท่านว่าอย่างนั้นในคัมภีร์บอกไว้อย่างนั้น สิ่งเหล่านี้เธออย่าไปคิดอย่าไปพิจารณา อันนี้เป็นเรื่องของพุทธวิสัย เป็นเรื่องของตถาคต คือพระกัสสปะท่านพิจารณาไปเรื่องจุตูปปาตญาณของสัตว์ทั้งหลาย เกิดไม่มีสิ้นสุด ไม่มีประมาณ พิจารณาไปก็ทำให้เพลินไป ๆ
พระพุทธเจ้าท่านก็รับสั่งหรือเตือนพูดง่าย ๆ ให้หยุดเสีย เรื่องของโลกมันเป็นมาอย่างนี้ตั้งกัปตั้งกัลป์ กัปไหนกัลป์ไหนถ้าพูดภาษาของเรา จะเอาประมาณได้ยังไง มันเป็นมาอย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่ามาเป็นในขณะที่เราพิจารณาเรารู้เราเห็นนี้ มันเคยเป็นอยู่แล้วเป็นอย่างนั้น และยังจะเป็นไปอีกตลอดกาลสถานที่ไม่มีเลือก เรื่องจิตวิญญาณที่จะไปเกิดไม่ได้ เวลาใดเดือนใดปีใดสถานที่ใดเกิดได้ทั้งนั้น เพราะอำนาจแห่งกรรมผลักไสให้ไป และเชื้อคืออวิชชาที่จะพาให้เกิดนั้นบังคับอยู่แล้ว ว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วต้องเกิด ๆ ๆ มีเครื่องบังคับกรรมดีกรรมชั่ว เป็นเครื่องผลักไสสัตว์ให้ไปในที่ต่าง ๆ
เพราะฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายจึงเกิดได้ตายได้ ตกนรกหมกไหม้ เป็นเปรตเป็นผีเป็นยักษ์เป็นมารอะไรก็ตาม เป็นได้ทั้งนั้น แล้วเคยเป็นมาเท่าไรกี่กัปกี่กัลป์ไม่ใช่เป็นเฉพาะปัจจุบันนี้ ยังจะเป็นต่อไปอีกข้างหน้าเช่นเดียวกับที่ผ่านมาแล้วยืดนานเพียงไร ที่จะเป็นไปข้างหน้าก็ยืดนานฉันนั้นเหมือนกัน หาประมาณไม่ได้ก็คือเรื่องเกิดตายของสัตว์ ถ้าไม่ย่นวัฏฏะเข้ามาด้วยการชำระกิเลส สะสางกิเลสอันเป็นตัวสำคัญให้พาภพชาติยืดยาวนี้
ย่นเข้ามา ๆ ด้วยความพากเพียร ด้วยการสร้างบุญสร้างกุศล ย่นเข้ามาจนถึงขั้นจิตตภาวนา ตัดเข้ามา ๆ ภพชาติของสัตว์จะไม่มีเวลาสิ้นสุดยุติลงได้ จงปฏิบัติบำเพ็ญตนดังพระสาวกท่านดำเนิน ท่านประกอบความเพียร นั้นละคือท่านตัดวัฏฏะให้ย่นเข้ามา จนถึงขั้นอรหัตบุคคล เมื่อบรรลุถึงขั้นอรหัตบุคคลแล้วเป็นอันว่าสิ้นแล้ว ซากของกิเลสไม่มีเหลือ ที่จะพาให้ไปเกิดในภพชาติใด ๆ อีกแล้ว นั่นท่านตัดขาด ๆ อย่างนั้นเอง
ให้เห็นในหัวใจของเราซิ เราก็เป็นคนคนหนึ่งทรงธรรมของพระพุทธเจ้า ธรรมของพระพุทธเจ้าก็ไม่ลำเอียงด้วย เป็นสวากขาตธรรมด้วย ตรัสไว้ชอบแล้ว ขอให้พยายามดำเนินตามธรรมที่ชอบนั้นเถิด จิตใจของเราข้อวัตรปฏิบัติทุกสิ่งทุกอย่างก็จะชอบไปตาม เมื่อมีแต่สิ่งที่ชอบที่ดีบวกกันเข้าแล้ว ทำไมจะไม่ดีจนถึงขั้นดีเลิศได้เล่า ต้องดีได้ ดีเลิศได้ไม่สงสัย ขอให้ก้าวเข้าไปเถิด
อย่างที่ท่านว่าพระอรหันต์ ๆ เป็นยังไงเราก็ไม่ทราบนี่นะ ความรู้ของพระอรหันต์ท่านเป็นความรู้เช่นใดเราก็ไม่ทราบ ก็จะทราบได้ยังไงเพราะความรู้อันนี้มันมีตั้งแต่เรื่องของกิเลสออกตลาดตเลหุ้มห่อไปหมด กระดิกอะไรมีแต่เรื่องของกิเลส ภาพของกิเลสทั้งนั้น ไม่ว่าจะได้ยินด้วยหู ได้ดูด้วยตา ได้คิดทางจิตทางใจ มีตั้งแต่เรื่องอารมณ์ของกิเลสหุ้มห่อเคลือบแฝงหรือห้อมล้อมไปหมด อารมณ์ที่เป็นอรรถเป็นธรรมนั้นเป็นยังไงเราก็ไม่ทราบ
เมื่อถึงขั้นทราบย่อมจะทราบได้ตามกำลังของเรา เช่น จิตเป็นสมาธิ อารมณ์ของธรรมเราก็จะทราบได้ในขั้นสงบ สงบขั้นใด ๆ เราก็ทราบไปตามขั้น นี่พอจะทราบได้ว่าอารมณ์ของธรรมเป็นอย่างไร จิตที่มีความรู้อันเป็นธรรมเป็นอย่างไร
ถ้าหากไม่มีความสงบภายในจิตใจ เกี่ยวกับเรื่องธรรมเข้าแทรกบ้างเลยนั้น อย่างไรก็ร้อยทั้งร้อย พันทั้งพัน เป็นกิเลสทั้งหมด ความรู้นั้นเป็นเรื่องของกิเลสทั้งหมด เราจะหาเอาตัวจริงอะไรจากความรู้ที่เป็นกิเลสได้เล่า เท่าไรก็เป็นอยู่อย่างนั้น นี่ความรู้ของเรา ๆ ท่าน ๆ ที่เป็นปุถุชนเป็นอย่างนี้
ทีนี้ความรู้ของพระอรหันต์ท่านเป็นยังไง ก็ท่านผ่านไปหมด ไม่ว่าความยุ่งเหยิงวุ่นวายอันเป็นเรื่องของกิเลสที่หนาแน่นแก่นฉลาดที่สุดขนาดไหนก็ตาม ท่านก็ผ่านไปแล้ว สังหารไปหมดแล้ว ไม่มีซากเหลืออยู่ภายในจิตใจแล้ว ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา จนถึงขั้นวิมุตติหลุดพ้นแล้ว ทีนี้จิตของท่านเป็นอย่างไร จิตของท่านจะมีอะไรไปเจือปน นั้นละท่านว่าวิเศษ-วิเศษตรงนั้น
จิตของเรานี้มันเจือปนอยู่ด้วยสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา ไม่มีเวลาไหนที่กิเลสจะไม่ได้ทำงาน ที่กิเลสจะไม่ได้ปิดหูปิดตา คือใจดวงนั้นน่ะมันปิดอยู่ตลอด แล้วจะไปเห็นความสัตย์ความจริงอย่างไร นอกจากมันปิดหูปิดตาแล้ว ยังฉุดยังลากไปสู่อำนาจของมัน สัตว์โลกทั้งหลายจึงได้รับแต่ความทุกข์ ๆ กัน ก็เพราะเหตุแห่งความปิดหูปิดตาของกิเลสนั้นแล ปิดได้แล้วก็ฉุดลากไป เราก็เชื่อไปทุกสิ่งทุกอย่างเพราะเราไม่มีความฉลาดเหนือมัน มันฉลาดกว่าเราก็ลากไป ๆ
เมื่อปฏิบัติธรรม ธรรมมีความฉลาดมากน้อยเพียงไร ก็เห็นแง่งอนกลมายาของกิเลสเรื่อยไป และแก้ไขดัดแปลง หรือสังหารกันไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่สมาธิ ไล่กิเลสเข้ามาตะล่อมเข้าสู่จุด ปัญญาคลี่คลายออกมาฟัดมาตีมาทำลายแหลกไป ๆ จนกระทั่งไม่มีอะไรเหลือด้วยอำนาจของปัญญา ถึงขั้นมหาสติมหาปัญญาแล้ว ไม่มีอะไรที่จะเหลือละกิเลส จะมีอยู่สักเท่าไรก็เถอะว่างั้น แต่มันไม่มีอะไรจะเหลือหลอแหละ ถ้าลงถึงขั้นมหาสติมหาปัญญาแล้ว จะมีแต่จอมกษัตริย์วัฏจิตโดดเดี่ยวคืออวิชชาที่แทรกอยู่นั้นเท่านั้น นอกนั้นตัดเข้ามาหมดแล้วจะมีอะไรเหลือ ไม่มีเลย แล้วก็ไม่กี่เวลามหาสติมหาปัญญานี้ก็สังหารกันลงได้
ทีนี้พอ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ซึ่งเป็นตัวกษัตริย์วัฏจักรที่ฉลาดแหลมคมและละเอียดที่สุดนั้น พังลงไปเท่านั้น อะไรที่นี่ที่เหนือจากนั้น วิเศษวิโสยิ่งกว่านั้น เอามาเทียบซิสามแดนโลกธาตุนี่จะมีอะไรเหมือนธรรมชาตินั้น นั้นแหละที่ท่านไม่ติดท่านไม่ข้อง คือไม่มีอะไรเหมือนที่จะให้ติด ไม่มีอะไรมีคุณค่ายิ่งกว่าความเหนือแล้ว ๆ
ท่านจึงว่าโลกุตรธรรม ๆ คือ ไม่มีอะไรเหมือนเลย ถ้าพูดแบบที่ว่าเหนือก็หมดแล้ว จะหย่อนตัวลงมา จะก้าวตัวลงมาหาอันนี้อะไร เหมือนกับมูตรคูถที่จมอยู่ในส้วมในถานนั่นเอง ก็มีแต่พวกสัตว์พวกหนอนต่าง ๆ ที่เต็มไปอยู่ในส้วมในถานซิ คนที่มีสมบัติผู้ดีใครก็รู้อยู่แล้ว จะไปยุ่งกับมันอะไร
นี่เรื่องจิตของท่านที่ถึงขั้นพระอรหัตอรหันต์แล้ว ถ้าจะเทียบก็เทียบได้อย่างนั้น แต่ท่านไม่เทียบ เมื่อถึงขั้นนั้น เป็นขั้นที่พอตัวที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรที่จะไปพูดไปแยกไปแยะให้เป็นความบกพร่อง ให้เป็นความเพิ่มพูนสมบูรณ์ เพราะถ้าพูดถึงเรื่องความสมบูรณ์ก็เต็มที่แล้ว ถ้าพูดเรื่องความรู้ก็ล้วน ๆ แล้ว
นั่นละความรู้ของผู้สิ้นกิเลสเป็นความรู้ล้วน ๆ อย่างนั้น ไม่เข้ามาเจือปนกับโลกอันใดกับสมมุติอันใดเลยทั้งสามแดนโลกธาตุ ซึ่งเคยคลุกเคล้ากันมานานเท่าไรกับจิตดวงนี้ ขาดสะบั้นไปหมดไม่มีอะไรเหลือเลย นั่นละความรู้ของท่าน แม้ทรงธาตุทรงขันธ์อยู่ก็ตาม ขันธ์ก็เป็นขันธ์ ธาตุก็เป็นธาตุ ท่านก็รู้อยู่เป็นของใครของเรา บังคับให้เข้าคละเคล้ากันก็บังคับไม่ได้เพราะเป็นอฐานะแล้ว ระหว่างวิมุตติจิตกับสมมุติต่างกันอย่างนั้น
ทีนี้ใครล่ะรู้แบบของท่านอย่างนี้ ใครจะรู้ ก็มีแต่ให้กิเลสมันกล่อมอยู่ตลอดเวลา อันนั้นดีอันนี้ดี สุดท้ายก็ไปตำหนิสิ่งที่ไม่เคยเห็นคือธรรมเหนือโลก โลกุตรธรรม โลกุตรจิต ที่ไม่เคยเห็นก็ไปอาจเอื้อมได้ เรื่องของกิเลสนี้มันถอยเมื่อไร โอ้ตัวอวดตัวที่สุด ตัวหยิ่งตัวว่าดิบว่าดีที่สุดก็คือกิเลส ดีไม่ดีมันก็หลอกเราอีกว่านิพพานไม่มี เพราะมันไม่เห็น แล้วอะไรเยี่ยมยิ่งกว่าเรื่องของกิเลส มีตั้งแต่สิ่งที่ดีที่งามทั้งนั้น ถ้ากิเลสได้ปรุงขึ้นมาแล้วเป็นติด ๆ ๆ เราพิจารณาซิ
สิ่งเหล่านี้เราเคยเป็นเคยติดมามากต่อมากนานแสนนานแล้ว ตั้งกัปไหนกัลป์ใด เราจืดเราจางได้ที่ตรงไหน เราเข็ดเราหลาบที่ตรงไหน ถ้าว่าเพลงของกิเลสไม่เก่ง เอามาเทียบซิ โน่นจนกว่าว่าเราได้อรรถได้ธรรมขึ้นมา เช่นอย่างความฟุ้งซ่านวุ่นวายที่เป็นอยู่ภายในจิตใจของเรานี้ เป็นมาเท่าไรจนกระทั่งเป็นบ้าก็มีคนน่ะ อย่าว่าแต่จวนเป็นบ้าหรือเกือบเป็นบ้า นอนไม่หลับ เป็นบ้าก็มี เรารู้ตัวเมื่อไร เรารู้ไหมว่าอะไรเป็นเครื่องทำให้เป็นถึงขนาดนั้น ไม่รู้
ต่อเมื่อได้ธรรมคือความสงบใจ ได้แก่จิตสงบเข้าไป นี้เริ่มเห็นแล้ว อ๋อ ความฟุ้งซ่านเป็นอย่างนั้น เมื่อไม่ฟุ้งซ่านเพราะอำนาจของสมาธิหรือของสมถธรรมสงบอย่างนี้ เทียบกันปั๊บได้เลย ความฟุ้งซ่านเป็นโทษที่ร้ายแรงที่สุด ความสงบเป็นคุณค่าที่พึงปรารถนาที่สุดแล้ว ระหว่างสิ่งทั้งสองนี้เอามาเทียบกันแล้ว เทียบกันไม่ได้เลย ผิดกันอย่างนั้น
เมื่อมีสิ่งเทียบเคียงหรือเมื่อมีสองแล้ว ก็มีสิ่งที่จะต้องวัดต้องตวงกัน เทียบเคียงกัน เป็นคู่แข่งกัน จนถึงขั้นปัญญา เมื่อถึงขั้นปัญญาที่ควรจะเห็นกลมายาเล่ห์กลของกิเลสประเภทใด ๆ ปิดไม่อยู่ ไม่เคยรู้มากี่กัปกี่กัลป์ก็ตามเถอะ เมื่อสติปัญญาปรากฏขึ้นแล้ว สติปัญญาเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพื่อจะเห็นในสิ่งที่ควรเห็นในสิ่งที่ควรเห็นในสิ่งที่ควรรู้ กิเลสเป็นสิ่งที่ควรรู้ควรเห็นแท้ ๆ ทำไมจะไม่เห็นทำไมจะไม่รู้ เป็นสิ่งที่ควรละแท้ ๆ ทำไมจะไม่ละไม่ปล่อยไม่วาง เมื่อเห็นว่าเป็นโทษแล้วยึดไว้ได้ยังไง ก็ต้องสลัดปั๊วะเดียวเท่านั้น จนกระทั่งขาดพังทลายลงไปหมดไม่มีอะไรเหลืออยู่ภายในจิตใจแล้ว ทำไมจะไม่เห็นเรื่องของกิเลส ถ้าว่าร้อยเปอร์เซ็นต์หรือหมื่นเปอร์เซ็นต์ก็เต็มหมื่นเปอร์เซ็นต์นี่จะว่าไง มีเท่าไรเห็นหมด เพราะได้สังหารมันเรียบวุธไปหมดจากใจแล้ว
ทีนี้ใจไม่มีกิเลสเป็นอย่างไรบ้างที่นี่ ความรู้ที่ไม่มีกิเลสเป็นอย่างไรบ้าง ความรู้ที่มีกิเลสเราเคยทรงมาพอแล้ว ทีนี้ความรู้ที่สิ้นกิเลสเป็นยังไง เมื่อได้ปรากฏขึ้นที่หัวใจ ดวงที่เคยเป็นส้วมเป็นถานของกิเลสมาประจำนี้แล้ว สิ่งเหล่านั้นหมดไปจากจิตใจ เหลือแต่ธรรมทั้งแท่งอยู่ภายในจิตใจแล้วเป็นอย่างไร นี่ละที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงพระทัยหายในการสอนโลก เพราะท่านเมตตาสงสารขนาดนั้น เห็นโทษถึงขนาดนั้นทีเดียว เห็นคุณกับโทษนี้มีน้ำหนักเท่ากัน
การสั่งสอนโลกจึงสั่งสอนด้วยพระเมตตาเต็มพระทัยจริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่าสอนไปธรรมดา ๆ เรื่องความเห็นโทษของสัตว์เห็นจริง ๆ สัตว์ไม่รู้ท่านก็รู้ สัตว์ไม่เห็นท่านก็เห็น สัตว์ไม่รู้ทางออกวิ่งไปวุ่นมากันอยู่อย่างนั้นหาทางออกไม่ได้ ก็เปิดประตูให้ ผู้ที่ควรจะออกได้ก็ออก เอ้า ผู้ที่ถูกไฟเผาไปเพราะมันสุดวิสัย ตายไปแล้วก็ตาย ผู้ที่ยังพอที่จะตะเกียกตะกายออกมาได้ก็เปิดประตูให้ ไฟไหม้บ้านไหม้เรือนไหม้ผู้ไหม้คนก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน
นี่ละเรื่องของกิเลสตัณหาอาสวะมันไหม้สัตว์โลกเป็นอย่างนั้นเอง ผู้ที่ควรจะไปได้พระองค์พอเปิดทางเท่านั้นก็ไปได้ ๆ ในประเภทอุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู เป็นพวกที่อยู่ในระดับที่จะออกอยู่แล้ว ๆ ก็ออกได้ เนยยะ ผู้ที่ค่อยเป็นค่อยไปก็ค่อยไปเรื่อย ๆ อย่างนั้น
ท่านสอนโลกท่านสอนอย่างนั้น ท่านไม่ได้สอนเฉย ๆ พูดธรรมดา ๆ เพราะท่านไม่ได้รู้ธรรมดา รู้ถึงเหตุถึงผล รู้จนถึงพระทัย จะว่าโลกธาตุหวั่นไหวก็ได้ขณะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้จะผิดอะไรไป ทั้งสามแดนโลกธาตุนี้จะไม่หวั่นยังไง จิตดวงนี้กระเทือนสามแดนโลกธาตุนี้มานานเท่าไรแล้ว ทำไมจะไม่หวั่น ทำไมจะไม่กระเทือน ถ้าจะพูดถึงเรื่องพระทัยที่ขาดสะบั้นระหว่างกิเลสกับจิตที่บริสุทธิ์นี้ขาดสะบั้นจากกัน ทำไมจะไม่กระเทือน ๆ ไปอย่างไม่เคยคาดเคยฝัน ไม่ใช่ธรรมดา
ทีนี้เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้วเป็นยังไงกับจิตที่คละเคล้ากับสิ่งทั้งหลายอยู่ ผิดกันยังไง ไม่ต้องถาม-ท่านก็รู้เอง นั่นละความรู้ของจิตที่บริสุทธิ์ หรือความรู้ของพระอรหันต์กับความรู้ของเรามันต่างกันยังไง ก็เราไม่ได้เป็นอย่างท่านนั่นซิ พูดสักเท่าไรก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวจะว่าไง นี่เรื่องของธรรมเป็นอย่างนั้น
ทีนี้ท่านประกอบความพากเพียรประกอบเพื่ออะไร จะถามท่านอะไร มันก็รู้เอง ระหว่างขันธ์กับจิตมีความจำเป็นต่อตนเองอยู่แล้ว จิตเป็นนักรู้ ถึงขั้นพระอรหันต์แล้ว ทำไมถึงจะไม่รู้อย่างรอบคอบขอบชิดในระหว่างขันธ์กับจิตที่จะปฏิบัติต่อกันเล่า ต้องรู้ เรื่องบอกอยู่อย่างชัด ๆ นี้แล้วจะไปถามทำไมถามผู้อื่น ไม่ถามละ มีหมื่นมีแสนก็เหมือนกันหมด เป็น สนฺทิฏฺฐิโก ในระหว่างขันธ์กับจิตที่จะปฏิบัติต่อกันอย่างไร จนกระทั่งถึงกาลเวลาที่จะพรากจากกันโดยสิ้นเชิง ได้แก่ตายพูดง่าย ๆ ท่านเป็นอย่างนั้น
ธรรมเหล่านี้เป็นยังไง กระเทือนหัวใจของพวกเราทั้งหลายผู้ปฏิบัติหรือไม่ หรือให้กิเลสมันกลืนเอา ๆ ตลอดเวลา ในอิริยาบถทั้งสี่มีแต่เรื่องกิเลสกลืนเอา ถ้าหากว่ากิเลสมีท้องแล้วท้องระเบิด ดังยิ่งกว่าเสียงปรมาณูเขานะ เพราะมันกินเสียมากต่อมาก กินจนไม่มีท้องจะใส่แล้วท้องก็ระเบิด มันกินตับกินไส้กินพุงของพระกรรมฐานเรานี่ ซึ่งมีแต่ความขี้เกียจขี้คร้าน ก็ถูกกลืนเอาเสีย อะไรก็มีแต่มันกลืนเอาเสีย สติสตังหาไม่ได้พอที่จะต่อสู้มันบ้างไม่มีเลยจะทำยังไง บวชเป็นพระเป็นเณรมีแต่บวชเฉย ๆ
ฟังให้ดีนะเรื่องความละเอียดแหลมคมของกิเลส ถึงขนาดนั้นเชียวละ แต่เมื่อถึงกาลที่จะรู้จะเห็นจะฟัดจะเหวี่ยง จะแก้ได้ จะถอดจะถอนจะสังหารกันแล้ว ยังไงก็ปิดไม่อยู่อีกเหมือนกัน รอไม่ได้ กิเลสจะละเอียดขนาดไหนก็เถอะ ไม่มีอะไรเหนือธรรมได้เลย เพราะฉะนั้นธรรมท่านถึงว่าโลกุตรธรรม คือเหนือกิเลสนั่นเอง โลกก็โลกของผู้มีกิเลสนั่นเอง ไม่มีกิเลสมาเกิดเป็นโลกได้ยังไง พวกสัตว์พวกบุคคลสัตว์ต่าง ๆ ประเภทต่าง ๆ มีมากขนาดไหนในโลกอันนี้ ที่เรียกว่าสัตว์โลก ๆ ธรรมไม่เหนือนี้จะเห็นสิ่งเหล่านี้ได้ยังไง เอาให้มันชัดอย่างนั้นซิ
เอาละ พอสมควรแล้ว การแสดงธรรมเพียงแค่นี้