เราไม่ค่อยได้เล่าปฏิปทาประจำวันของพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นให้หมู่เพื่อนฟัง พูดก็พูดไปเป็นระยะ ๆ ไปเสีย ไม่ค่อยได้พูดงานประจำวันของท่าน ตามปกติท่านชอบความสงัดอยู่ตลอดเวลา นี่คือนิสัยของท่าน ไม่ชอบวุ่นวายกับแขกคนพระเณร อยู่ลำพังคนเดียวนั่นเป็นที่เหมาะสำหรับท่าน จะรับพระเณรบ้างก็ตอนบ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ หลังจากสรงน้ำเสร็จแล้วก็พูดกันบ้างเล็กน้อย ถ้าวันไหนมีการประชุมก็ประชุมเทศน์ ถ้าไม่มีการประชุมและวันไหนท่านไม่รับแขกเลย ท่านก็เข้าห้องและสวดมนต์ สวดมนต์นี้นานกว่าจะจบ จากนั้นท่านก็นั่งสมาธิภาวนาแล้วค่อยนอน นี่หมายถึงวัยชราของท่าน เท่าที่เราสืบทราบแต่ก่อนนั้นการประกอบความพากเพียรท่านทำได้ทุกเวลา เพราะท่านไม่สนใจกับงานอื่นใดซึ่งนอกไปจากงานจิตตภาวนา ยิ่งไปอยู่ในป่าในเขาด้วยแล้ว มีแต่งานอันเดียวคืองานจิตตภาวนาเท่านั้น
ตอนหนุ่มท่านขยันขันแข็งจริง ๆ เอาจริงเอาจังเด็ดเดี่ยวอาจหาญมาก รู้สึกจะหาใครเสมอเหมือนไม่ได้แล้วในสมัยปัจจุบัน ที่ท่านอยู่นั้นท่านเด็ดมาก เรื่องความเพียรก็เด่นมาก ทางด้านจิตใจก็พร้อม รู้ทั้งข้างในรู้ทั้งข้างนอก เรื่องราวอะไรอย่างนี้ท่านรู้ได้อย่างรวดเร็วมากทีเดียว ตอนแก่มานี้พอออกจากที่แล้ว ตอนเช้าท่านลงจากกุฏิแล้วก็เข้าทางจงกรม เดินจงกรมก่อนบิณฑบาต จนกระทั่งได้เวลาแล้วถึงจะออกจากทางจงกรมมาก็ขึ้นศาลา ครองผ้า บรรดาพระเณรในวัดพอได้เวลาแล้วต่างองค์ต่างนำบริขารของตนมา ปัดกวาดเช็ดถูศาลาซึ่งก็ไม่ใหญ่โตนัก เพราะพระไม่ค่อยมาก เสร็จแล้วต่างองค์ก็ลงไปเดินจงกรมเหมือนกันกับท่าน จนกระทั่งได้เวลาท่านขึ้นมาครองผ้า พระเณรก็ครองผ้า ออกบิณฑบาต
ตอนที่เราไปอยู่ หมู่บ้านก็ไม่ห่างไกลนัก เพราะฉะนั้นการบิณฑบาตจึงมีสายเดียว สาย ๆ ค่อยไปเพราะอยู่ไม่ไกลนัก บ้านโคกก็ดี บ้านนามนก็ดี หนองผือก็ดี แม้บ้านนาสีนวลก็เหมือนกัน ไม่ห่างไกล เพราะฉะนั้นสาย ๆ ถึงไปบิณฑบาต ก่อนไปท่านเดินจงกรมเสียก่อน นี้เป็นประจำของท่านประหนึ่งว่าไม่ขาดเลย เรายังไม่เห็นว่าท่านขาดวันไหนการเดินจงกรมตอนเช้าก่อนบิณฑบาต เพราะไม่มีงานใดไปยุ่ง พอได้เวลาแล้วก็ออกบิณฑบาต มีอะไรก็จัดฉัน แต่อาหารการขบการฉันนั้นจะให้เหมือนอย่างที่เราเป็นอยู่นี้ไม่เหมือน มีอะไรท่านไม่เป็นกังวล พอยังอัตภาพให้เป็นไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น เป็นที่เพียงพอแล้วกับท่านและพระเณรทั้งหลาย ใคร ๆ จึงไม่เป็นอารมณ์กับเรื่องอาหารการขบฉัน มีอะไรก็ฉันตามบ้านป่าบ้านรกเขาใส่บาตรมา ส่วนมากเขาใส่บาตรมาพร้อมไม่ได้ตามมาส่ง จะมีบ้างก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
พอฉันเสร็จล้างบาตรล้างอะไรแล้ว ต่างองค์นำบริขารไปที่พักดังที่เราปฏิบัติอยู่นี้ องค์ท่านเองก็ไปกุฏิ ตอนท่านแก่แล้วนี้ท่านไม่ค่อยได้เดินจงกรมหลังจังหัน นาน ๆ จะมีทีหนึ่ง แต่ตอนบ่ายมักจะมีอยู่เสมอ กับตอนเย็นนี้มีเป็นประจำ พอ ๕ โมงเย็นหรือ ๕ โมงกว่าแล้วท่านก็ลงเดินจงกรม อย่างน้อย ๑ ชั่วโมง เพราะเราตั้งข้อสังเกตอยู่ตลอดเวลา สำหรับพ่อแม่ครูจารย์มั่นแล้วเหมือนกับว่าไม่ละสายตาไปที่อื่นเลย คอยจดคอยจ้องคอยสังเกตอยู่นั้น ท่านถือเป็นกิจวัตรถือเป็นความสัตย์ความจริง เดินจงกรมตอนเช้าก่อนจะไปบิณฑบาตนี่ก็ร่วมชั่วโมงเหมือนกัน นี้เป็นกิจประจำวันของท่าน
สำหรับพระเณรพอฉันเสร็จ และนำบริขารไปไว้ที่ไว้ฐานของตนแล้ว ก็เข้าป่าเข้าทางจงกรรม ของใครอยู่ที่ไหนก็เข้า พระมีจำนวนมาก ๆ ประหนึ่งว่าไม่มีพระในวัดเลย เงียบไปหมด นี่ก็เช่นเดียวกับครั้งพุทธกาลที่ท่านบำเพ็ญเป็นอย่างนั้น ในตำรับตำรามีมากต่อมากอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราถึงได้นำมาพูดมาแสดงให้เพื่อนฝูงทั้งหลายได้ยินได้ฟัง บางท่านอาจจะไม่ได้ดูไม่ได้เห็นก็ได้ พระเณรมีจำนวนมากมายเท่าไรประหนึ่งว่าไม่มีพระในวัดเลย เพราะเงียบไปหมดทั้งวัด ถ้ามาเจอพระก็เคร่งขรึมไม่เห็นคุยกันอะไร ก็ทำให้เขาเข้าใจผิดไปว่าพระทะเลาะกัน เวลาสืบเสาะถามเหตุผลเรียบร้อยแล้วก็ไม่มีอะไร พระท่านก็ชี้แจงให้ทราบว่าท่านไปทำความเพียรอยู่ในป่าโน้น ๆ ตามสถานที่ของตน ๆ ที่เห็นว่าเหมาะสม นี่ละเรื่องประวัติในครั้งพุทธกาลมีอย่างนั้น
สำหรับพ่อแม่ครูจารย์มั่นของเราก็เป็นอย่างนั้น ท่านไม่ค่อยจะให้การงานใด ๆ เข้ามายุ่ง ไม่เคยปรารภถึงเรื่องการเรื่องงานอะไร นอกจากงานด้านจิตตภาวนาโดยถ่ายเดียวเท่านั้น นี่เป็นเนื้อเป็นหนังเป็นจิตเป็นใจเป็นนิสัยของท่านที่ฝังอย่างลึก เป็นพื้นฐานอันสำคัญของพระปฏิบัติ จึงไม่ผิดอะไรกับครั้งพุทธกาลที่ท่านดำเนิน ตามตำรับตำรามีอย่างนั้น เวลาประชุมก็ดังที่ประชุมนี้ หลาย ๆ วันประชุมทีหนึ่ง ถ้ามีแต่พระเณรอยู่ในนั้นไม่น่าประชุมท่านก็ไม่ประชุม แต่ถ้ามีพระไปเที่ยวมาอย่างนั้น ท่านมักจะประชุมพูดธรรมะ นี่ปฏิปทาของท่าน
ท่านหนักแน่นทางด้านปฏิบัติมาก เรื่องการก่อนั้นสร้างนี้ทำโน้นทำนี้ไม่พูดถึงเลย พูดออกมาคำใดมีแต่เรื่องความพากเพียรเพื่อชำระจิตใจ จะพูดธรรมดาก็เป็นอย่างนั้น จะพูดจริงพูดจังก็เป็นไปตามความเพียรทางด้านจิตใจเสียทั้งนั้น นี่เป็นนิสัยของท่าน ในด้านความอยากให้พระที่มาอยู่อาศัยท่านได้รู้ได้เห็นในธรรมทั้งหลาย นี้ก็รู้สึกว่าเด่นมากทีเดียว องค์ใดที่ภาวนามีความเป็นไปอย่างไรแล้วท่านจะติดตามเสมอ ถ้าไม่ได้ยินมาพูดให้ท่านฟังท่านจะถาม เป็นยังไงภาวนาไปถึงไหนแล้ว นั่นเรียกว่าท่านติดตาม องค์นั้นก็กราบเรียนขึ้นตามเรื่องของตน แล้วท่านก็ชี้แจงแสดงให้ฟัง นี่เป็นนิสัยของท่านซึ่งไม่ผิดอะไรกับครั้งพุทธกาลเลย ในตำรับตำราที่ท่านแสดงไว้เรื่องราวของครั้งพุทธกาลกับที่ท่านพาดำเนินนั้น ไม่มีอะไรผิดแปลกกันเลย เหมือนกัน เราจะเรียกว่าทุกกระเบียดก็ไม่ผิด มีแต่เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาทั้งนั้น
นี่เราพูดถึงงานประจำวันของท่าน เป็นมาแต่ไหนแต่ไรตั้งแต่ท่านออกปฏิบัติ ท่านไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวายกับการก่อการสร้าง ท่านเคยเล่าให้ฟังเสมอ มีแต่หมุนทางด้านจิตตภาวนาอย่างเดียวเท่านั้น ในเวลาเป็นหนุ่มงานความพากเพียรนี้เด็ดเดี่ยวอาจหาญมาก สมกับท่านเป็นผู้ฉลาดใช้อุบายหลายสันหลายคมสำหรับที่จะแก้กิเลส คือมีวิธีการต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ด้วยความคิดความขุดค้นของท่านเองนั่นแหละ นี่เล่าเรื่องปฏิปทาของท่านเพียงย่อ ๆ ให้เพื่อนฝูงทั้งหลายฟัง
การที่ท่านเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา ก็เพื่อความสะดวกสบายของท่านระหว่างขันธ์กับจิต เพราะเรื่องกิเลสนั้น เราไม่มีปัญหาอะไรกับท่านแล้ว เพราะทราบมานานแล้วว่าท่านผ่านไปตั้งแต่เมื่อไร การทำอย่างนั้นเป็นตามอัธยาศัยของใจที่ไม่ได้เกาะเกี่ยวกับเรื่องอะไร ถ้าอยู่ก็อยู่ด้วยอรรถด้วยธรรม แต่ไม่ติดพัน เป็นอัธยาศัยที่รื่นเริง ถ้าจะพูดว่ารื่นเริงก็รื่นเริงในธรรมทั้งหลายด้วยความพากเพียร ที่เรียกว่า ทิฏฐธรรม วิหารธรรม คือธรรมเป็นเครื่องอยู่ในปัจจุบันที่ยังมีชีวิตอยู่ของพระอรหันต์ท่าน ท่านอยู่อย่างนั้น อยู่กับความพากความเพียร
เพราะฉะนั้นเวลาเดินจงกรมท่านจึงมี นั่งสมาธิภาวนาท่านจึงมี แม้พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยทรงละ ทรงดำเนินตามพระอัธยาศัยอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งปรินิพพาน พระสาวกทั้งหลายก็เหมือนกัน การประกอบความพากเพียรดีไม่ดีเราสู้ท่านไม่ได้ ในเรื่องการเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา ทั้ง ๆ ที่ท่านไม่ได้ทำเพื่อแก้เพื่อถอดถอนกิเลสอันใด แต่หากเป็นความพอเหมาะพอดีระหว่างขันธ์กับจิตที่เกี่ยวข้องกันอยู่ในเวลานั้น นอกจากนั้นยังเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงต่อขันธ์อีกด้วย เพื่อให้สดชื่น เพราะอำนาจแห่งจิตใจ ได้พักทั้งธาตุทั้งขันธ์ด้วยก็เป็นความเหมาะสมกัน
สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่เป็นในจิต จะนำออกมาพูดก็ไม่ได้ถูกทุกถ้อยทุกคำ ผิด ๆ ถูก ๆ แต่ถ้ารู้ถ้าเข้าใจแล้วก็ไม่ต้องถามใคร หากรู้ในตัวเองว่าทำไมท่านจึงเดินจงกรม ทำไมท่านจึงนั่งสมาธิภาวนาบรรดาพระอรหันต์ผู้สิ้นกิเลสแล้ว ท่านทำไปเพื่ออะไร ส่วนมากความเพียรมีแต่เพื่อแก้กิเลส ความเพียรเพื่อทิฏฐธรรมวิหารธรรมท่านบอกไว้ก็ยังมี แต่ส่วนมากคนไม่ค่อยคิด ไปคิดเอาแต่เรื่องการแก้กิเลส ถอดถอนกิเลสด้วยความเพียรนั้นเสีย เมื่อสิ้นกิเลสแล้วประกอบความเพียรไปทำไม เป็นความคิดเห็นไปอย่างนั้น เลยสงสัยไปเสีย
ความจริงเพื่อความอยู่สบายในระหว่างขันธ์กับจิตที่ครองกันอยู่ ถ้าไม่ควรให้มีอะไรรบกวนก็ให้อยู่สะดวกสบาย พอเหมาะพอดีกับธาตุกับขันธ์ แล้วก็ทรงอายุขัยไปได้นานตามกาลอันควร ไม่หดไม่ย่นเข้ามา ไม่หักไม่แตกไม่ทำลายเสียในระหว่างกลางอายุขัย ถ้าใช้แบบสมบุกสมบันใช้ไม่หยุดไม่ถอย การเทศนาว่าการ การเกี่ยวข้องกับประชาชนญาติโยมหรือใครต่อใคร เหล่านี้เป็นภาระเป็นงานทั้งนั้น ทำให้อายุขัยนั้นย่นเข้ามาเพราะเลยความพอดี
ความพอดีอย่างแท้จริงของท่านผู้สิ้นกิเลสแล้ว และมีขันธ์ที่แก่ชราลงไปแล้ว ความอยู่เพียงคนเดียวตามอัธยาศัยของท่านนั้นแหละเป็นสิ่งที่เหมาะที่สุด ทรงธาตุทรงขันธ์ไปด้วยความพอเหมาะพอดี ส่วนหนุ่มอยู่ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะผู้ที่มีจิตถึงขนาดนั้นแล้วกับความเมตตาย่อมแยกกันไม่ออก แม้เวลาประกอบความพากเพียรประหนึ่งว่าไม่มองดูโลกดูสงสาร ไม่มองดูอะไรเลย เหมือนกับในโลกนี้มีแต่เรากับกิเลสที่ต่อสู้หรือฟัดกันอยู่เท่านั้น แต่เมื่อผ่านจากนั้นไปแล้ว เพราะอำนาจแห่งความเมตตา อำนาจแห่งความเมตตานั้นออกมาจากธรรมชาติที่บริสุทธิ์นั้น ธรรมชาติที่บริสุทธิ์นั้นเป็นเครื่องเรียกร้องกันก็ถูก หรือเป็นแม่เหล็กดึงดูดความเมตตาให้มีต่อสัตว์ทั้งหลายขึ้นมาก็ได้ไม่ผิด นั่นน่ะเป็นเหตุที่จะให้ท่านแนะนำสั่งสอน
ทีนี้ก็เป็นไปตามนิสัยวาสนาของท่านผู้ใด ที่จะควรแนะนำสั่งสอนได้กว้างแคบเพียงไรก็ตามอัธยาศัยของท่าน เพราะจิตขั้นนั้นแล้วย่อมไม่มีผาดมีโผนโดยหาเหตุหาผลไม่ได้ ย่อมเป็นไปตามความเหมาะสมพอดิบพอดี จะเข้มจะข้นจะผาดจะโผน จะเผ็ดจะร้อนก็เป็นไปตามเหตุตามผลที่พอเหมาะพอดีในเวลานั้นเท่านั้น พอผ่านนั้นไปแล้วก็เหมือนกับว่าไม่มี เนื่องจากท่านไม่มีอารมณ์ที่จะไปยึดไปเกาะ ว่าได้พูดหนักไปเบาไป หรือยาวไปสั้นไปอะไรทำนองนั้นท่านไม่มี เพราะในระยะที่ท่านเทศนาว่าการนั้น ถ้าว่าเป็นความปรุงอาหารท่านก็ปรุงไปพร้อม ๆ กัน เป็นความพอดีในระยะนั้น ๆ ไปพร้อม ๆ เลย ไม่มีอะไรว่าเกินไป ๆ พอจบแล้วจึงหมดปัญหาไปทันทีทันใด
ท่านผู้มีจิตถึงขั้นบริสุทธิ์แล้วย่อมมีเมตตามาก อันนี้ยังขึ้นอยู่กับนิสัยอีก ท่านผู้ใดจะมีนิสัยอัธยาศัยกว้างขวาง มีบุญญาศักดานุภาพมากเท่าไรก็กระจายออกไป ซึ่งมีความเมตตานี้เป็นพื้นฐานที่จะให้กระจายออกไป ท่านผู้ที่ไม่เป็นอย่างนั้นท่านก็มี แต่มีวงกว้างวงแคบต่างกัน สำหรับความบริสุทธิ์นั้นเหมือนกัน นับแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงสาวกองค์สุดท้าย ไม่มีคำว่ายิ่งว่าหย่อนกว่ากันเลย
อย่างที่เคยพูดว่าตามนิสัยวาสนาหรือพุทธวิสัย สาวกวิสัย นี้หมายถึงเครื่องประดับอำนาจวาสนาบุญญาภิสมภารท่านมีกว้างมีแคบ มีลึกตื้นหยาบละเอียดต่างกัน ไม่ได้หมายถึงความบริสุทธิ์ ส่วนความบริสุทธิ์นั้นเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นเมื่อท่านองค์ใดก็ตามหรือรายใดผู้ใดก็ตาม ได้บรรลุธรรมถึงขั้นบริสุทธิ์นั้นแล้ว จึงเป็นเครื่องยืนยันได้เลยในบรรดาท่านผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย ไม่มีข้อแย้งไม่มีข้อสงสัย เช่นว่าพระพุทธเจ้ามีจริงไหมอย่างนี้ ก็ธรรมชาติที่รู้อยู่นี้เป็นเครื่องยืนยัน ประการสำคัญก็คือเป็นที่แน่อยู่ในนั้นแล้ว ถ้าจะขยายออกไปก็ว่าธรรมที่รู้เหล่านี้ใครเป็นคนสอน ถ้าจะกระจาย แต่ท่านไม่กระจาย เพราะอันนั้นเป็นเหมือนกับเงาไปไม่ใช่ตัวจริง ตัวจริงแท้ก็คือความบริสุทธิ์ของท่านที่รับที่ทราบที่ทรงอยู่เวลานั้น เป็นเครื่องยืนยันกับความบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าและสาวกองค์ใด ๆ ก็ตาม เป็นอันเดียวกัน เหมือนกันเลย
ท่านจึงว่า นตฺถิ เสยฺโยว ปาปิโย คือบรรดาท่านผู้ถึงขั้นบริสุทธิ์แล้ว นับแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงสาวกองค์สุดท้าย เหมือนกันหมด ไม่มีใครยิ่งหย่อนกว่ากัน ส่วนพุทธวิสัย สาวกวิสัยนั้น หมายถึงบุญญาภิสมภารที่มีมากน้อยต่างกัน ความรู้แปลก ๆ ต่าง ๆ จึงมีลึกตื้นหยาบละเอียดต่างกัน นั่นหมายถึงอย่างนั้น
ถ้าเราจะพิจารณาถึงเรื่องพุทธกาลตามตำรับตำราแล้ว ท่านสอนพระนี้มีแต่สอนเรื่องการบำเพ็ญจิตตภาวนาทั้งนั้นเลย ไม่ว่าแทบทั้งนั้นนะ เห็นในตำรับตำราที่ไหนก็มีแต่อย่างนั้น สอนให้เข้าอยู่ในป่าในเขา พูดปรารภเรื่องอะไรก็มีแต่เรื่องความเพียรเป็นพื้นฐาน ๆ อยู่ตลอด ทำไมท่านถึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะพระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ทรงเห็นภัยเต็มพระทัยในสิ่งที่เป็นภัยคือกิเลสทั้งหลาย เพราะพระองค์เคยจมกับสิ่งเหล่านี้มานานแสนนาน ถ้าจะพูดเป็นศัพท์ธรรมดาสามัญเราแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ท่านเป็นคนสามัญธรรมดายังไม่มีหลักมีเกณฑ์ ทำไมพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ๆ นั้นจะไม่ตกนรก เพราะเป็นเหมือนสัตว์ทั้งหลายทั่ว ๆ ไป ย่อมทำได้ทั้งบาปทั้งบุญทั้งหนักทั้งเบา
เมื่อเป็นเช่นนั้นไม่มีญาณก็ตาม ก็หยั่งทราบได้ตามหลักความจริงแห่งกิเลสที่จะพาให้สร้างกรรมนั่นแล ท่านเรียกกิเลสวัฏฏ์ วัฏฏะก็คือกิเลสนั่นเอง กิเลสเป็นเครื่องพาวนพาหมุนเวียน กรรมวัฏฏ์ กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมแล้วก็วิปากวัฏฏ์ ต้องได้รับผลของกรรม นี่ท่านเรียกว่าวัฏวน ๓ ในปริยัติว่าอย่างนั้น หมุนกันอยู่เช่นนี้ แล้วทำไมในเมื่อท่านยังอยู่ในภูมิสามัญธรรมดาทั่ว ๆ ไปเหมือนสัตว์เหมือนบุคคลทั้งหลาย ท่านจะไม่ทำบาปทำกรรมล่ะ ท่านก็ต้องทำเช่นเดียวกับสัตว์โลกทั่ว ๆ ไป เมื่อทำแล้วกรรมไม่ลำเอียง ย่อมจะเป็นบาปเป็นบุญได้เช่นเดียวกันหมด
เพราะเหตุนั้นจึงต้องตกนรกก็ได้ ไปสวรรค์ก็ได้ เป็นเปรตเป็นผีเป็นยักษ์เป็นมาร เป็นได้ทั้งนั้น เพราะการเกิดตายนี้ไม่มีอะไรที่จะไปนับได้แล้ว และไม่มีอะไรมากยิ่งกว่าการเกิดการตายของจิตวิญญาณแต่ละดวง ๆ อันนี้มากจริง ๆ จะเอาอะไรมาเทียบก็ไม่ได้ จะเอาอะไรมาวัดมาตวงก็ไม่ได้ ว่าอะไรมากกว่าอะไร ธรรมชาตินี้มากคือเกิดตาย ๆ อยู่ไม่หยุดไม่ถอย ไม่มีกาลสถานที่เวล่ำเวลา มีแต่กรรมที่จะพาให้หมุนไปสูง ๆ ต่ำ ๆ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ และมีเชื้อคืออวิชชาบังคับให้เกิดนี้เท่านั้น ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติอันนี้
กฎแรกก็คืออวิชชาเป็นเชื้อพาให้สัตว์เกิด อันดับที่สองก็คือกรรม ผลของกรรมเรียกว่าวิปากวัฏฏ์ เมื่อเกิดแล้วก็ต้องทำกรรม เพราะกิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม บังคับให้ทำ เมื่อทำแล้วย่อมจะมีทั้งดีทั้งชั่ว ส่วนมากมักจะมีแต่ชั่วมากกว่า ทำลงไปแล้วผลไม่ลำเอียง แล้วทำไมจะไม่ได้รับผล ผลอันนั้นมีหนักเบามากน้อยเพียงไรก็จะผลักจะดันผู้ทำกรรมนั้น ให้ไปสถานที่สูง ๆ ต่ำ ๆ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ แม้ที่สุดนรกก็ต้องตกได้ เมื่อกรรมอำนวยที่ควรจะตกแล้วเอาไว้ไม่อยู่ สวรรค์ก็ไปได้ นรกก็ไปได้ เป็นเปรตเป็นผีเป็นยักษ์เป็นมารเป็นสัตว์เป็นคนเป็นได้ทั้งนั้น ไม่มีคำว่าเลือกก็คือเรื่องกรรมของสัตว์นี้เอง วิบากกรรมของสัตว์ที่สืบเนื่องมาจากอวิชชาเป็นตัวยืนโรง พูดง่าย ยันให้เกิด ถ้าลงนี้มีอยู่ภายในจิตใจแล้ว อย่างไรก็ตามว่างั้นเลย แม้รายเดียวพ้นไปไม่ได้ ต้องเกิด คืออวิชชานั่นเองเป็นเครื่องบังคับให้เกิด
เมื่อพระองค์ได้ทรงเล็งญาณเห็นชัดเจนถึงขนาดนั้น และได้ตรัสรู้ด้วยแล้ว ทำไมจะไม่เห็นโทษแห่งวัฏจักรทั้งหลาย ซึ่งจะหมายเอาพระทัยคือใจของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะก็ครอบโลกธาตุนี้แล้ว ว่าเที่ยวเกิดเที่ยวตายจนหาที่จอดที่แวะหาประมาณไม่ได้ เทียบถึงวิญญาณดวงใดก็แบบเดียวกัน ๆ ไม่มีวิญญาณดวงใดจะมีสูงต่ำมากน้อยต่างกัน นับไม่ได้ด้วยกัน ความตกทุกข์ยากลำบากขนาดไหนก็ไม่รู้กี่ครั้งกี่คราวกี่กัปกี่กัลป์ นับไม่ได้อีกเหมือนกัน ไม่ว่าจะเกิดไม่ว่าจะตาย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่ว่าจะตกนรกอเวจี ขึ้นสวรรค์ชั้นพรหม นับหนนับครั้งนับคราวไม่ได้ ผลสุดท้ายที่จะสรุปมาถึงเรื่องความทุกข์นี้ ก็เพราะอวิชชาพาให้เกิดและได้รับความทุกข์อย่างนั้น ๆ
พระองค์ทรงเล็งเห็นหมดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว พร้อมทั้งความอัศจรรย์ที่ได้หลุดหรือผ่านพ้นจากมหันตทุกข์ ออกมาจากความเกิดตายนั้นเต็มพระทัย คือทรงทราบเต็มพระทัย ด้วยคุณธรรมอันสูงสุดได้แก่การตรัสรู้ เอาไปเทียบกันกับกองทุกข์ทั้งหลายที่พระองค์ก็ดี สัตว์ทั้งหลายก็ดีจมอยู่นั้น พระองค์ผ่านพ้นไปหมดแล้วทำไมจะไม่เข็ดไม่หลาบ จะไม่น่ากลัวเหมือนกับว่าใจหายล่ะ ถ้าพูดภาษาของเรา เข็ดหลาบก็เข็ดหลาบที่สุด กลัวก็กลัวที่สุด ขยะแขยงที่สุดไม่มีอะไรเกินเรื่องการเกิดการตาย การหมุนไปเวียนมาอยู่ในกองทุกข์ ไม่ว่าจะอยู่ที่ตรงไหนทุกข์ทั้งนั้น แล้วก็ได้ผ่านพ้นขึ้นมาถึงความประเสริฐอัศจรรย์ ได้หลุดพ้นแล้วจากแหล่งนั้น
แหล่งนั้น ๆ ในสามภพนี้ ไม่มีภพใดที่พระองค์จะไปเกิดอีกแล้ว นี่คือความอัศจรรย์ของจิตที่ได้ทรงรู้ทรงเห็นเต็มพระทัยแล้ว การสอนโลกจึงสอนด้วยพระเมตตา ด้วยความเมตตาสงสารอย่างถึงพระทัยเช่นเดียวกัน เทศน์อย่างสด ๆ ร้อน ๆ ถ้าพูดตำหนิถึงเรื่องความทุกข์ ไม่ใช่ตำหนิก็ตามนะ พูดตามหลักความจริงก็พูดให้ถึงเหตุถึงผล เพราะพระพุทธเจ้าเป็นเอง เป็นเสียเองรู้เสียเองเห็นเสียเอง จากความเป็นของเจ้าของเสียเอง และอันดับต่อไปก็จากสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ จึงประมวลสิ่งเหล่านี้เข้ามาสู่แดนแห่งความเกิดนี้ทั้งหมด ว่าความเกิดนี้เท่านั้นเป็นตัวเหตุ สัตว์จะได้สร้างกรรม ถ้าไม่เกิดก็ไม่สร้าง มีอันนี้เท่านั้น
เมื่อได้เห็นชัดอย่างนี้ บัดนี้ได้หลุดพ้นไปเสียแล้ว จิตสว่างกระจ่างแจ้งไม่มีสิ่งใดที่จะเสมอเหมือนในสามแดนโลกธาตุนี้ ไม่เหมือนอะไรเลยพระทัยดวงที่บริสุทธิ์นั้น ความประเสริฐเลิศเลอทั้งหลายก็ประจักษ์ในพระทัย โทษที่เคยผ่านมามากน้อยก็ประจักษ์ในพระทัย เพราะฉะนั้นการแนะนำสั่งสอนสัตว์โลกจึงสั่งสอนด้วยพระเมตตาล้วน ๆ เต็มพระทัยอีกเหมือนกัน เหมือนกับว่าจะฉุดจะลากเอาในปัจจุบันนั้น มาเดี๋ยวนี้ ๆ การเกิดการตายเป็นเหมือนกับฟืนกับไฟ เราตถาคตหรือว่าใครก็ตามเคยเป็นมาจนนับไม่ถ้วนแล้ว ให้เข็ดให้หลาบให้มาตามตถาคตนี้เถิด เหมือนอย่างนั้น เหมือนกับว่าจะฉุดจะลากจะจูงไปสด ๆ ร้อนๆ เพราะพระเมตตามีมาก นี่แหละพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนสัตว์โลกสั่งสอนอย่างนี้ นี่เป็นอันดับหนึ่ง
พระสาวกทั้งหลายที่รู้ที่เห็นตามภูมิของตนก็อีกเช่นเดียวกัน การแนะนำสั่งสอนจึงสั่งสอนถึงเหตุถึงผล ถึงความสัตย์ความจริงที่เคยเป็นมาอย่างไร เพราะท่านก็เห็นเต็มภูมิของท่าน ไม่ว่าจะเป็นนรกอเวจี ไม่ว่าจะเป็นบาปกรรม สวรรค์ชั้นพรหมที่ไหนท่านก็เห็นประจักษ์เต็มภูมิของท่านที่เป็นสาวกเหมือนกัน เหตุใดท่านจะนำสิ่งเหล่านี้มาพูดได้อย่างเต็มปากเต็มหัวใจไม่ได้ ท่านต้องพูดเต็มวิสัยของท่านที่เป็นสาวกนั่นแล ในการสั่งสอนโลกทั่ว ๆ ไปท่านจะสอนอย่างนั้น นี่ละผู้ที่รู้ผู้ที่เห็นผู้ที่ไปเจอมาแล้ว จึงพูดได้อย่างจะแจ้ง พูดได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย พูดได้ด้วยกำลังของใจ เพราะได้รู้ได้เห็นจริง ๆ ไม่มีสงสัยในสิ่งที่นำมาพูดนั้น จึงพูดได้อย่างเต็มตามความจริงทุกสิ่งทุกอย่าง
ผู้ที่มีความหวังต่อความจริงอยู่แล้วอย่างเต็มหัวใจ ทำไมจะรับกันไม่ได้ ทำไมจะเข้ากันไม่ได้กับความจริงที่ท่านแนะนำสั่งสอน เช่นประเภทที่ว่าอุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู ประเภทนี้เป็นประเภทที่วกเวียนหาทางออกอยู่แล้วอย่างเต็มกำลังความสามารถ เป็นแต่เพียงว่าไม่มีประตูไหนจะเปิดแย้มพอที่จะออกไปได้เท่านั้น ทีนี้พอธรรมพระพุทธเจ้าแสดงขึ้นมาผางเท่านั้น ก็เหมือนกับว่าเปิดประตูให้ ผึงออกเลย ท่านเหล่านี้เป็นผู้ที่เสาะแสวงหาทางออกอยู่แล้วอย่างเต็มหัวใจ พอเหมาะพอดีกับพระพุทธเจ้าก็อุบัติขึ้นมา แล้วเปิดประตูคือธรรมทั้งหลายให้เท่านั้น ท่านก็ออกอย่างรวดเร็ว
นี่ละที่ว่าอุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู ผู้ที่รู้ธรรมได้อย่างรวดเร็ว คือท่านผู้ถึงขั้นความจริงเต็มหัวใจแล้ว เป็นแต่เพียงว่ารอรับ เหมือนดอกบัวกำลังจะแย้มบานอยู่แล้ว พอรับแสงพระอาทิตย์เท่านั้นก็บานทันที นี่พระอาทิตย์ในถานที่นี่ก็หมายถึงพระโอวาทคำสั่งสอนจากท่านผู้รู้จริงเห็นจริงจริง ๆ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประกาศสอนธรรม ท่านเหล่านี้จึงรู้ได้อย่างรวดเร็ว เป็นจังหวะที่พอเหมาะพอดีกัน
นี่ละการสั่งสอนธรรมของพระพุทธเจ้ามีน้ำหนักถึงขนาดนั้น ทำไมสัตว์โลกจะไม่ได้บรรลุธรรม ถึงขั้นสุดยอด ๆ แห่งธรรมเป็นจำนวนมากมายเล่า ก็จิตวิญญาณในแดนโลกธาตุนี้มีจำนวนมากเท่าไร อะไรจะมีมากยิ่งกว่าจิตวิญญาณในแดนโลกธาตุนี้ วิญญาณของสัตว์ แล้ววิญญาณแต่ละดวง ๆ ไม่เหมือนกันตามภูมินิสัยวาสนา บางภูมิบางนิสัยก็พร้อมแล้ว และมาเกิดในจังหวะที่พอดีกับพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาด้วย เหมือนกับดอกบัวแรกแย้มแล้วตะวันโผล่ขึ้นมา หรือฝนตกลงมาให้ชุ่มเย็นก็บานทันทีเลย นี่ก็เหมือนกันประเภทที่พร้อมแล้ว ๆ กับจังหวะที่พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ก็พอดีกัน จึงได้บรรลุธรรมอย่างมากมาย
ที่พระพุทธเจ้ามาอุบัติแต่ละครั้ง ๆ นี้ ขนดวงวิญญาณที่เคยจมอยู่ในกองทุกข์มากมายก่ายกองนี้ ให้หลุดพ้นออกไปได้มากขนาดไหน ผู้ที่มีอุปนิสัยสามารถควรจะผ่านไปได้ก็ผ่านไปได้ ผู้ที่ยังไม่ถึงขั้นนั้นก็ค่อยตื้นขึ้นมา ๆ เพราะการได้ยินได้ฟัง เพราะการสร้างคุณงามความดี ด้วยการให้ทาน รักษาศีล ภาวนา ตามพระโอวาทคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เป็นการเพิ่มเติมบารมีขึ้นไป นี่ก็ขยับขึ้นมา ๆ แม้จะยังไม่หลุดพ้นในพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ก็ตาม ความดีมีอยู่แล้วภายในจิตใจ พร้อมแล้วที่จะเป็นไปในกาลข้างหน้า ก็ต้องได้บรรลุโดยไม่ต้องสงสัย
นี่ละการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าจึงต่างกันอยู่มาก เพราะแสดงด้วยความรู้ความเห็นทุกแง่ทุกมุม ความสามารถฉลาดรู้ของใครจะเกินพระพุทธเจ้าล่ะ ฟังซิ พระญาณของพระองค์หยั่งทราบตลอดทั่วถึงไปหมดในสามแดนโลกธาตุนี้ มีอะไรปิดบังลี้ลับที่พระองค์จะไม่ทรงรู้ทรงเห็น ต้องทรงรู้ทรงเห็นทั้งนั้น การแนะนำสั่งสอนก็มีความกว้างขวางลึกตื้นหยาบละเอียดให้พอเหมาะพอดีกับสัตว์โลก ที่ควรจะได้รับประโยชน์จากพระองค์เป็นลำดับลำดา จนกระทั่งวันปรินิพพาน ขนจิตวิญญาณของสัตว์โลกนี้ให้พ้นไปได้มากสักเท่าไรล่ะ นับประมาณไม่ได้ ผู้ที่ค่อยตื้นขึ้นมา ๆ บารมีสูงขึ้นมา เพราะพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ๆ มาตรัสรู้นั้นก็มีอีกมากมาย เป็นอย่างนั้นเรื่อยมา รองลำดับลงมาก็พระสาวก ช่วยพุทธภาระของพระพุทธเจ้าให้เบาลงไปด้วยการแนะนำสั่งสอนประชาชนทั้งหลาย ให้ได้รู้จริงเห็นจริงในธรรมทั้งหลายเรื่อยมา
ทีนี้เวลาพระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงธรรมแก่พระสงฆ์นี้ ส่วนมากมีแต่จิตตภาวนา แสดงถึงเรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องการภาวนา ไม่ได้แสดงเรื่องการก่อนั้นสร้างนี้ ยุ่งนั้นยุ่งนี้ นี่ละตำรับตำรามีอย่างนั้นจะให้ว่ายังไง ท่านเห็นภัยในกองทุกข์ในความเกิดความตายนี้มากที่สุด ยิ่งกว่าจะมาลูบ ๆ คลำ ๆ กับสิ่งเหล่านี้ซึ่งใคร ๆ ก็ทำได้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงต้องแนะนำสั่งสอนลงในจุดสำคัญ ๆ เฉพาะนักบวชทรงแสดงอย่างนั้นสอนอย่างนั้นตามตำรับตำราเราก็เห็น อย่างเช่นในเวลาบวชนี้เอาอะไรยื่นให้ก่อน เอาสถานที่บำเพ็ญยื่นให้ก่อน เอางานที่เหมาะสมที่สุดกับผู้เป็นนักบวช ผู้ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ยื่นให้ก่อน
เวลาบวชก็บอกงานให้เลยว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะใหญ่โต ไม่มีสิ่งใดที่สัตว์โลกจะติดพัน ไม่มีสิ่งใดที่จะปิดบังหัวใจของสัตว์โลกนอกจากสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้คืออะไร ในปัจจุบันนี้อยู่ที่ไหน ก็บอกอยู่ในสกลกายนี้ เอาย่นย่อเป็นเอกเทศเสียก่อน เพื่อให้ทันเวลากับการประพฤติปฏิบัติ แล้วก็สอนกรรมฐาน ๕ ให้ กรรมฐาน ๕ แปลว่าอะไร สถานที่ตั้งแห่งงานมี ๕ อย่าง หรือ ตจปัญจกกรรมฐาน ท่านว่ากรรมฐานมีหนังเป็นที่ห้า คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ให้เอาอันนี้นะงาน
สถานที่ทำงานคือสถานที่เช่นไรก็บอกอีก รุกฺขมูลเสนาสนํ นี้เป็นอันดับหนึ่ง ถ้าจะพูดถึงตถาคตเอามาเป็นเครื่องยืนยัน ก็ตถาคตเคยอยู่สถานที่เช่นนี้มาแล้ว ปรากฏว่ามีที่มุงที่บังที่ไหน ไม่มี ได้ตรัสรู้ที่โคนต้นมหาโพธิ์แห่งเดียวเท่านั้น จึงต้องนำอันนี้มาเป็นสถานที่ชั้นเอกมอบให้พระทั้งหลาย งานก็งานชิ้นเอก เกสา โลมา นาขา ทันตา ตโจ เมื่อพิจารณาเข้าไปนี้แล้ว งานอันนี้จะค่อยแตกกระจายไปทั่วสรรพางค์ร่างกาย และกระจายไปทั่วแดนโลกธาตุซึ่งเป็นเหมือน ๆ กัน ไม่ว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็เหมือนกัน อสุภะอสุภังก็เหมือนกัน ตีกระจายออกไปได้หมด นี่ละพระพุทธเจ้าท่านสอนผู้ปฏิบัติท่านสอนอย่างนี้ ในตำรับตำรามีมากต่อมาก ไม่ค่อยจะยุ่งกับเรื่องอะไร ๆ แหละ มีแต่เรื่องนี้เป็นเนื้อเป็นหนังเป็นจิตเป็นใจ เป็นปฏิปทาของพระโดยแท้จริง เพราะฉะนั้นเราผู้เป็นนักบวช ขอให้ยึดขอให้ถือหลักเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนชั้นเอกนี้ฝังอย่างลึกภายในจิตใจ อย่าได้เห็นงานใดเป็นสำคัญยิ่งกว่านี้
เรื่องความอยากที่เข้ามากีดมาขวางมาตัดรอนอยู่ตลอดเวลานั้น มันมีอยู่ตลอด ถ้าเราไม่สู้ไม่รบยังไงก็ต้องแพ้มันวันยังค่ำ หาอรรถหาธรรมที่จะมาปรากฏในจิตใจไม่มีเลยแหละ มันอยากอะไร อยากเห็นก็ออกทางตา นี่ก็ความอยากออกมาจากใจกิเลสตัณหานั่นละ ตัณหาแปลว่าความหิวความโหยไม่มีวันพอ ไม่ใช่จะพูดแต่ว่าราคะตัณหานะ ตัณหานี่เป็นกลาง ๆ คือความอยากความหิวความทะเยอทะยาน มีแต่อยากรอบตัวของเรา
ถ้าไม่เอาจริง ๆ สู้มันไม่ได้เพราะมันมีอยู่รอบตัว ตาก็อยากเห็น ตาจริง ๆ ไม่อยากเห็น แต่หัวใจที่เป็นอยู่ภายในที่อยากเห็น อยากเห็นเอาอะไรเป็นเครื่องมือ ก็เอาตาเป็นเครื่องมือให้ออกมาทางตา อยากได้ยินได้ฟังออกมาทางหูนี้ คือเครื่องมือของใจดวงนั้นที่มีกิเลสตัณหาเต็มอยู่ภายใน อัดแน่นอยู่ภายในหาทางทะลักออก ออกทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย โดยลำพังก็ออกทางใจของตนเป็นธรรมารมณ์ โดยอาศัยสิ่งสัมผัสทั้งหลาย ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายนั้น เข้าเป็นอารมณ์ครุ่นคิดอยู่นั้น อุ่นกันอยู่นั้น ไม่ว่าเป็นของเศษของเดนอะไรแหละ นี่ละความอยากอันนี้ให้ระมัดระวังให้มาก ถ้าไม่เห็นความอยากเหล่านี้เป็นภัยแล้ว ยังไงก็จะไม่เห็นอรรถเห็นธรรม
ให้พากันหนักแน่นในการปฏิบัติ อุบายวิธีการฝึกภาวนาของตน อันใดที่เป็นไปเพื่อความรู้ความเห็นความสงบร่มเย็นและความเฉลียวฉลาด ให้ยึดนั้นมากกว่าวิธีการอื่น เช่น เดินจงกรมมาก ๆ เป็นยังไง ได้อุบายอย่างไรบ้าง ไม่ใช่ว่าเดินนาน ๆ แล้วก็ว่าตัวได้เดิน ไม่ใช่อย่างนั้น เดินนั้นก็เป็นความเพียรอันหนึ่ง สติกับจิตทำงานอยู่ภายในตัว นั่นเป็นความเพียรอันสำคัญ เราเดินนาน ๆ เป็นอย่างไรบ้าง ผลปรากฏอย่างไรบ้าง จิตสงบไหมเย็นไหม จิตฉลาดไหม นั่งมากเป็นยังไง เดินมากเป็นยังไง ดู ยืนเป็นยังไง จากนั้นยังมีเรื่องอดนอนผ่อนอาหารอีก
ผ่อนอาหารนี้ดูจะถูกมากกว่าอย่างอื่นสำหรับผู้ปฏิบัติทั้งหลาย เฉพาะผมเองผมแน่ใจว่าจะถูกในการผ่อนอาหาร อย่างน้อยผ่อนอาหาร มากกว่านั้นอดอาหาร แต่เป็นความทุกข์ความทรมานมากอยู่ไม่น้อยนะ เพราะเคยผ่านมาแล้ว คิดย้อนหลังหากว่าจะเข็ดก็น่าจะเข็ด เพราะทุกข์จริง ๆ แต่สิ่งที่เหนือกว่านั้นมีจึงไม่เข็ดจึงไม่กลัว จึงไม่สะทกสะท้านกับสิ่งที่เจ้าของผ่านมาด้วยความทุกข์ความทรมานอย่างแสนสาหัสนั้นเลย ยิ่งกว่าธรรมที่เราได้รู้ได้เห็นจากวิธีการนั้น
ทำความเพียรเฉย ๆ ไม่คิดไม่อ่านไม่ไตร่ไม่ตรองไม่ได้นะ ต้องใช้ความคิดอ่านไตร่ตรองหลายสันหลายคม พลิกแพลงเปลี่ยนแปลง ตามที่สอนแล้วว่ากิเลสฉลาดขนาดไหน สติปัญญาไม่ใช้เพื่อความฉลาดจะทันกิเลสได้ยังไง ต้องเอาให้ทันกัน ไม่อย่างนั้นไม่ทันจริง ๆ วันนี้ผ่านไป วันหน้าผ่านไป วันไหนผ่านไป ชีวิตสังขารร่างกายก็ผ่านไป ผลประโยชน์ไม่ค่อยปรากฏและไม่ปรากฏนี้มันขาดทุนเป็นลำดับลำดาไป เสียเปรียบให้กิเลสทุกวันทุกเวลา ที่เราว่าเป็นกรรมฐานประกอบความพากเพียรนี้ไม่น่าฟังเลย ถ้าคนอื่นได้ฟังก็ดี สำหรับเราเองแล้วน่าใจหาย ไม่ใช่ธรรมดานะ เพราะเรื่องที่จะเกิดตายอยู่ในวัฏจักรนี้สักเท่าไรไม่มีกำหนด และเป็นมาขนาดไหนที่ผ่านมาจนกระทั่งป่านนี้ เรายังนับไม่ได้ และยังจะเป็นไปข้างหน้านั้นอีกสักเท่าไร ซึ่งหนักมากยิ่งกว่าชีวิตที่เป็นอยู่นี้ยังจะมี มีไปอีกไม่ทราบว่าสักกี่ล้าน ๆ กัปล้าน ๆ กัลป์ละถ้าแก้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจงแก้เสียบัดนี้ แก้เสียเวลานี้ซึ่งเป็นกาลอันควรแท้
เอ้าทุกข์ก็ทุกข์เถอะ ทุกข์เพื่อความเพียร ทุกข์เพื่อแก้กิเลส กิเลสไม่เคยพาใครให้เป็นสุข การต่อสู้กับกิเลสต้องเป็นทุกข์ นอกจากกิเลสหมดไปจากหัวใจ ไม่มีอะไรต่อสู้แล้วไม่ทุกข์ เราต้องคิดอย่างนั้นซี เวลานี้เราทุกข์ด้วยความพากความเพียรก็เพราะต่อสู้กับกิเลส กิเลสมีมากทุกข์มาก กิเลสมีน้อยทุกข์น้อย กิเลสไม่มีเลยไม่มีทุกข์ เพราะไม่มีการต่อสู้กัน ให้มันเห็นทั้งสามอย่างนี้ซิ ถ้าลงได้ถึงขั้นกิเลสสิ้นซากได้เผาศพกิเลสด้วย กุสลา ธมฺมา แล้ว ไม่มีอะไรมากีดกันหัวใจนี้ได้เลยละ จึงได้รู้ว่าหัวใจนี้เวิ้งว้างเป็นอิสระของตนไม่ว่าอยู่ว่าไป คำว่าอิริยาบถก็ไม่มี กาลสถานที่ก็ไม่มีในจิตดวงนี้ด้วย เช่นเดียวกับเราที่เคยเกิดเคยตายมากี่กัปกี่กัลป์จนหาประมาณไม่ได้ อันนี้ยิ่งจะไปกว่านั้นอีก เพราะอันนี้แน่แล้วนี่ ส่วนการเกิดตายนั้นยังไม่แน่ พอที่จะผ่านก็ผ่านไปได้ กฎ อนิจฺจํ ยังมีตามอยู่ ยังพอเป็นไปได้อยู่ถ้ามีเครื่องช่วยนะ ถ้าไม่มีเครื่องช่วยมันก็หมุนของมันอยู่อย่างนั้น แต่สำหรับจิตที่หลุดพ้นไปแล้วนั้นไม่มีอะไรช่วยแล้ว หมดทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านจึงว่าอนันตกาลหรือว่านิพพานเที่ยงนั่นแหละฟังเอา เที่ยงตลอดเวลา นั่นหาทุกข์ที่ไหน
ทุกข์เพียงเท่านี้เพื่อจะแลกเอาความสุขตลอดอนันตกาล ทำไมเราจะไม่ยอมเสียสละ เราเป็นนักบวชเราเป็นนักปฏิบัติ ทุกข์เราก็เคยทุกข์มาพอแล้ว ทำไมจะต้องไปเข็ดไปหลาบในการประกอบความเพียรที่เกิดทุกข์ มันต้องสู้กันอย่างนั้น คิดซิสติปัญญามีอย่าอยู่เฉย ๆ อย่าสักแต่ว่าความเพียร คำว่ามีสติก็มีเฉย ๆ เวลาควรจะมีปัญญาก็ให้มี ทบทวนกันถึงจะถูก ไม่เช่นนั้นไม่ได้นะ
การประกอบความพากเพียรเอาให้หนัก ต้องหนักบ้างละ เราอย่าไปถืออารมณ์ในความว่าหนักในความว่าทุกข์ ถ้าหากว่าทุกข์ให้ถือว่าเป็นสัจธรรมที่จะต้องรู้จริงเห็นจริงกัน ทุกข์ขนาดไหนก็ให้รู้ จิตนี้ยันได้เลยว่าไม่เคยตายมาแต่กาลไหน ๆ นี่ละที่พาให้หมุน ก็เพราะความไม่ตายของจิตนี่แหละมันถึงได้หมุน ถ้าตายเสียหรือฉิบหายไปเสียก็ไม่ทราบจะเอาอะไรมาหมุน อย่างพระพุทธเจ้าท่าน นั่นไม่ได้หมายถึงตายฉิบหายนะ หมายถึงเชื้อแห่งความให้พาหมุนไม่มีแล้ว ท่านก็เป็นบรมสุข นั่นผู้ครองบรมสุขยังมี ก็คือจิตดวงบริสุทธิ์นั้นเองจะเป็นอะไรไป
เรื่องความทุกข์ความลำบากของเรา ที่เป็นมามากน้อยเพียงไร น่าจะเอามาทบทวนกันกับความทุกข์เพียงเท่านี้จะเป็นอะไรไป ไม่ถึงตายละเพียงการประกอบความพากเพียร ทุกข์แค่ไหนให้เห็นความจริงแค่นั้น จึงเรียกว่านักประกอบความพากเพียรในองค์อริยสัจ เป็นยังไงองค์อริยสัจ ให้ได้เห็นองค์อริยสัจประจักษ์ใจซิ เมื่อเห็นองค์อริยสัจประจักษ์ใจแล้วว่าเป็นอย่างนี้เท่านั้นเอง ไอ้เรื่องการต่อสู้เรื่องการทำความพากความเพียร จะทุกข์ขนาดไหนที่นี่ไม่มีถอย เพราะอะไร เพราะหลักเกณฑ์ที่เราได้ยึดเป็นของอัศจรรย์ยิ่งกว่าความทุกข์เหล่านี้ มีแล้วได้แล้วเห็นแล้ว ประจักษ์แล้วเป็นพยานแล้ว ให้เห็นตรงนั้นซิ
ทุกข์ขนาดไหนดูเรื่องของทุกข์ดังที่เคยสอนแล้วนั่นน่ะ จะทุกข์ขนาดไหนก็ตาม จิตไม่เคยตาย เอ้า ตามให้เห็นเรื่องความทุกข์ ทุกข์มาจากไหน คนตายแล้วมีทุกข์ไหม ไล่กันเข้าซิจึงเรียกว่าปัญญา ไล่ตลบทบทวนอยู่นั้นไม่รู้กี่ครั้งกี่หน เราอย่าไปนับเวล่ำเวลา อย่าไปนับการตลบทบทวน ครั้งนั้นครั้งนี้หลายครั้งหลายหน ไม่ต้องนับ สติปัญญาให้จ่อลงไปตามความทุกข์ มีมากน้อยให้เห็นความเคลื่อนไหวของมัน จะทุกข์มากทุกข์น้อยเพียงไร
อะไรเป็นผู้ทุกข์ ส่วนมากจะต้องว่าอวัยวะส่วนนั้นส่วนนี้เป็นทุกข์ เช่น แข้งเป็นทุกข์ ขาเป็นทุกข์ หัวเข่าเป็นทุกข์ เป็นต้นนะ ก็จะไปเหมาะเอาว่าอันนี้เป็นทุกข์ ความจริงอันนี้ไม่ได้เป็นทุกข์ ถ้าพิจารณาให้เป็นสัจธรรมแล้ว ค้นลงไปจริง ๆ ว่าหนังก็สักแต่ว่าหนังมีมาตั้งแต่วันเกิด ทุกข์อันนี้เพิ่งมี นี่เป็นอันเดียวกันได้ยังไง เนื้อหนังเอ็นกระดูกมีมาตั้งแต่วันเกิด อันนี้เพิ่งมีเดี๋ยวนี้ เกิดมาเดี๋ยวนี้ จะเป็นอันเดียวกันได้ยังไง ถ้าเป็นอันเดียวกันแล้ว ทุกข์นี้ดับสิ่งเหล่านั้นต้องดับไปด้วยกัน แตกทลายไปด้วยกัน ฉิบหายไปด้วยกันกับทุกข์ที่ดับลงไป แต่นี้เวลาทุกข์หายไปดับไปมันก็มีอยู่อย่างนี้ แล้วเป็นอันเดียวกันได้ยังไง นั่นจึงเรียกว่าค้นหาความจริง
เราอย่าคาดนะ จ่อลงในความทุกข์ เอ้า จะทุกข์มากทุกข์น้อยขนาดไหนไม่ต้องกลัวว่าตาย จิตไม่ได้ตายว่างั้นเลย จิตหาความจริงเพื่อจะรอบตัวเองด้วยรู้สัจธรรมให้รอบใจ จนกระทั่งพิจารณารอบดังที่เคยพูดแล้ว ทุกข์เมื่อพิจารณารอบแล้วจะไม่เป็นภัยต่อผู้ใดเลย นั่นจึงเรียกว่าเรียนอริยสัจรอบ รู้อริยสัจรู้อย่างนั้น
ทุกข์แต่ก่อนเป็นภัย เหมือนจะเป็นจะตายจริง ๆ นี่ อะไรจะไปทุกข์มากยิ่งกว่าทุกข์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น แต่เวลาพิจารณารอบกันแล้ว ทุกข์สักแต่ว่าเท่านั้นนะ และดูทุกข์นั้นก็ไม่มีความหมายในตัวเองด้วย และทุกข์นี้ไปให้ความหมายแก่ผู้ใด ไปกระทบกระเทือนผู้ใด มันก็ไม่รู้ความหมายของมันด้วย อวัยวะต่าง ๆ ที่ว่าเป็นทุกข์ ๆ แต่ก่อนนั้น ดูแล้วหนังก็เป็นหนัง เนื้อเป็นเนื้อ เอ็นเป็นเอ็น กระดูกเป็นกระดูก อวัยวะทุกส่วนเป็นของตัวเองอยู่โดยลำพัง ไม่เห็นมีอะไรเป็นอะไร เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วทุกข์นี่ไปให้ร้ายแก่ผู้ใด ทุกข์ก็ไม่ได้ไปให้ร้ายแก่ผู้ใด นี่ละเป็นความสัตย์ความจริง
ความหมายว่าอันนั้นเป็นทุกข์อันนี้เป็นทุกข์มาจากไหน นี่มันก็วิ่งเข้าถึงใจ กายหนึ่ง เวทนาคือทุกขเวทนาหนึ่ง ใจหนึ่ง สัญญาความหมายย้อนเข้าหาใจ ย้อนเข้าดูใจอีกทีหนึ่ง ทีนี้เมื่อย้อนเข้าไปจนประจักษ์แล้ว ใจก็คือใจ สัญญาก็ดับไป แล้วกำหนดดูสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เรื่องสัญญาจะย่นเข้ามา ๆ ความหมายอันนั้นย่นเข้ามา ๆ จนกระทั่งถึงใจ ความทุกข์ที่ว่าอันนั้นเป็นทุกข์นั่นก็เหมือนกัน ความทุกข์ทั้งหลายนั้นย่นเข้ามา ๆ จนกระทั่งมาถึงใจ มาดับที่ใจ ใจไม่หมายที่นี่ เมื่อใจไม่หมายแล้ว ทุกฺขํ อริยสจฺจํ เต็มหัวใจ อ๋อ เป็นอย่างนี้ คำว่ารู้ทุกข์รู้อย่างนี้ คำว่าทุกข์เป็นสัจธรรมเป็นอย่างนี้ นั่นซิถึงได้ชัด ให้เห็นชัดอย่างนั้นซิ นี่ละท่านว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ เป็นอย่างนี้ สมุทัยก็คือตัวความหมาย เมื่อรอบแล้วมันก็หดตัวเข้ามาไม่ไปหมาย สัญญานั่นแหละหมายว่านั้นเป็นทุกข์นี้เป็นทุกข์ เมื่อพิจารณารอบแล้วก็ไม่หมาย นี้เป็นพื้นฐานแห่งการพิจารณาวงอริยสัจ
ต่อไปเมื่อจิตมีความชำนิชำนาญแล้ว อันนั้นไม่ต้องพูดละ ทุกข์เกิดขึ้นไม่เกิดขึ้นสติปัญญาจะทัน ตามต้อนสมุทัยคือความคิดความปรุงของตัวเองจนทัน ๆ จนกระทั่งละได้ขาดสะบั้นไปไม่มีอะไรเหลือภายในจิตใจเลย นั่นสมุทัยขาดทุกข์ทำไมจะไม่ดับ ขาดเพราะอะไรสมุทัย ขาดเพราะสติปัญญามีความแกล้วกล้าสามารถนั่นเอง นิโรธคือความดับทุกข์ก็ดับล่ะซิ เพราะสมุทัยดับทุกข์ก็ดับ นั่นกิริยาแห่งทุกข์ดับไปท่านเรียกว่านิโรธ หลักใหญ่ก็คืออยู่กับมรรคนี่เป็นสำคัญ อย่างนั้นการพิจารณา
อย่าไปทำอยู่เฉย ๆ วันหนึ่ง ๆ ผ่านไป ๆ เราอย่าเห็นอะไรสำคัญในโลกนี้ ไม่มีอะไรสำคัญ อันนั้นเป็นความเสกสรรปั้นยอของกิเลสแท้ ๆ ไม่ใช่อะไร มันมาหลอกเราอยู่ตลอดเวลา อันนั้นดีอันนี้ดี มันอยากก็เพราะความสำคัญว่าอันนั้นดีอันนี้ดี จึงอยากรู้อยากเห็นอยากดูอยากฟัง อยากสัมผัสสัมพันธ์ มันดิ้นอยู่ในหัวใจนี่ ดิ้นอยู่ตรงนี้เอง เพราะฉะนั้นจึงบังคับความอยากให้ได้ ดูหัวใจเจ้าของมันอยากอะไร ให้เห็นจนกระทั่งมันดิ้นมันดีดออกมานั่นซิ จากนั้นแล้วก็สงบตัวลง นี่สมาธิตีหัวมันลงไป ปัญญานั่นแหละช่วยพิจารณาจนสงบตัวลงไป
จากนั้นคลี่คลายดู เอ้า มันติดอะไร พัวพันอะไรในสิ่งเหล่านี้ เพราะเป็นสถานที่อยู่ของกิเลสทั้งนั้น มันซึมมันซาบไปหมดทั่วสรรพางค์ร่างกาย นอกจากนั้นยังระบาดสาดกระจายไปทั่วโลกดินแดน มันเกี่ยวโยงไปหมดนั่นแหละ รักได้ชังได้ทั้งใกล้ทั้งไกล เกลียดได้โกรธได้ทั้งใกล้ทั้งไกล เป็นเรื่องของกิเลสตีทัพกระจายออกไปทั้งนั้น เมื่อเราไม่ทันเป็นไปได้อย่างนั้น เมื่อทันแล้วมันไม่ไป พอแย็บออกนี้รู้แล้ว ความเคลื่อนไหวของกิเลสออกจากสังขารที่ปรุงแย็บ มันรู้แล้วทันแล้ว ตามมันเข้าไปหลายครั้งหลายหนก็ฆ่าได้เท่านั้นซิ นี่การพิจารณาท่านพิจารณาอย่างนั้น
เอาให้จริงให้จังนะ ให้ถือเป็นสด ๆ ร้อน ๆ กิเลสมันสด ๆ ร้อน ๆ เหมือนกับไฟนี่ละ จี้เข้ามาเมื่อไรร้อนเมื่อนั้นสด ๆ ร้อน ๆ ไหมไฟ กิเลสเหมือนกันโผล่ขึ้นมาเมื่อไรสด ๆ ร้อน ๆ เผาเราได้ ๆ มรรคก็เอาให้ทันกัน ต่อสู้อย่าอ่อนข้อต่อมัน อย่าไปนับว่าวันนั้นก็ลำบากวันนี้ก็ลำบาก อย่าไปยึดนะกิเลสหลอกอีกนะ เมื่อวานนี้ลำบาก วันนี้ไม่อยากทำแล้ว นั่นเห็นไหมกิเลสหลอกอีกแล้ว ไม่ต้องไปนับเวล่ำเวลา กิเลสอยู่กับหัวใจนี่ มันเอาเวลามาหลอกเราตีเรา ให้ธรรมยุบยอบให้ธรรมก้าวไม่ออก ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วท้อใจ นั่นเป็นยังไง เมื่อวานนี้ทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร เมื่อวานเราก็ได้พิจารณาเป็นเรื่องสัจธรรมแล้วมันมาทุกข์อะไร ถ้าเป็นสัจธรรมแล้วไม่มีอะไรเป็นทุกข์ มีแต่ความจริงล้วน ๆ เท่านั้นแหละ นั่นฟาดลงไปตรงนั้นอีกซิ จึงเรียกว่าการพิจารณาธรรมทั้งหลาย
ให้เห็นซิคำว่าใจอัศจรรย์นั่นน่ะ ถ้าเป็นเพียงคาดเฉย ๆ ไม่ได้เรื่องนะ คาดก็เป็นกิเลสพาคาดเสีย ก็ไม่เห็นเป็นของแปลกประหลาดอะไรเสีย เพราะกิเลสไม่เป็นของแปลกประหลาด ไม่เป็นของอัศจรรย์ เห็นอะไรมันก็เอาขี้ตมขี้โคลนไปกลบไว้หมด เลยกลายเป็นขี้ตมขี้โคลนไปตาม ๆ กัน มรรคผลนิพพานก็กลายเป็นขี้ตมขี้โคลน ไม่ใช่เป็นของดิบของดีไปเสียแล้ว เพราะกิเลสไปพอกไว้หมดแล้วนี่ เปิดออก ๆ ซิที่นี่ เปิดออก ๆ เมื่อขี้ตมขี้โคลนนี้กระจายออกไป ๆ ก็เห็นทองทั้งแท่งละซี
ของประเสริฐในสามแดนโลกธาตุนี้ อะไรจะเหมือนจิตที่บริสุทธิ์นี้ ไม่มีอะไรเหมือนและไม่เหมือนอะไร ท่านจึงว่าโลกุตรธรรม ธรรมที่สุดยอดจริงๆ ก็คือโลกุตรจิตที่บริสุทธิ์เต็มส่วนแล้วนี่แล พูดไม่ถูก ถ้าหากเราจะนำมาพูดได้ก็เพียงว่า เวิ้งว้าง ว่างั้นเลย ถ้าหากเป็นปลาก็ปลาในทะเลหลวง แหวกว่ายหัวหางกลางตัวได้อย่างสะดวกสบายไม่มีอะไรกีดอะไรขวาง น้ำก็ลึก กว้างก็กว้าง นี่พอเป็นเครื่องเทียบกัน จิตนี่เหมือนกันเมื่อสิ่งผลักดันหรือแหลมหลาว ที่ทิ่มแทงอยู่ในหัวใจเสียบอยู่ในหัวใจเรานี้ถอนออกหมดแล้ว ที่นี่ไม่มีอะไร เวิ้งว้าง นั่นเป็นอย่างนั้น
เอ้า ตาดูได้สบาย แม้แต่ในขันธ์นี้ก็เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่แต่ก่อนดูไม่ได้จะเป็นไฟเผาขึ้นมาทันที ฟังไม่ได้เป็นไฟขึ้นมา จมูก ลิ้น กาย ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นฟืนเป็นไฟเป็นเชื้อไฟไปทั้งนั้น เผาได้ทั้งนั้น ๆ เวลาไฟอยู่ภายในแรงกล้า อะไรผ่านมาไม่ได้ ไหม้หมด ๆ เป็นฟืนเป็นไฟไปตาม ๆ กันหมด แต่พอไฟดับแล้วในเตานั้น เอ้า โยนฟืนเข้าไป เชื้อไฟโยนเข้าไป ไม่ว่าจะอะไรละ แม้น้ำมันสาดลงไปก็เป็นน้ำมันอยู่นั้นไม่ได้เป็นไฟ เพราะไฟหมดแล้วในเตานั้น เชื้อไฟสาดเข้าไปเท่าไรโยนเข้าไปเท่าไร ถ้าเป็นฟืนก็เป็นฟืนอยู่งั้น ถ้าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงก็เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่งั้นไม่ได้เป็นไฟ นั่นละที่ว่าไฟในเตาดับแล้วเป็นอย่างนั้น
เมื่อไฟกิเลสตัณหาอาสวะในเตาคือหัวใจนี้ดับแล้ว เครื่องใช้คืออายตนะจะเป็นพิษเป็นภัยอะไร มันก็เป็นเครื่องใช้เฉย ๆ เป็นทางเดินของกิเลสต่างหาก ตาดูได้เต็มตาถ้าอยากจะดู แต่ท่านจะไปหาดูอะไร ความพอเหมาะพอดีมีอยู่ ธรรมมีแต่ความพอดีไม่ใช่ความโลดโผน ความโลดโผนเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น แต่เราพูดเฉย ๆ ว่าจะดูจนตาแฉะก็ได้ตาแห้งก็ได้ จะให้เกิดกิเลสไม่เกิด หูฟังจนกระทั่งหูขาดหูกุดไปหมดก็ฟังได้แต่ไม่เกิดกิเลส พูดง่าย ๆ ว่าอย่างนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างสัมผัสสัมพันธ์ได้แต่ไม่เกิดกิเลส เช่นเดียวกับโยนเชื้อเพลิงเข้าไปหาเตาไฟนั่นละ โยนเข้าไปเท่าไรก็โยนเข้าไปซิ เมื่อไฟในเตาไม่มีแล้วจะเอาอะไรมาเป็นเปลว จะเอาอะไรมาเป็นไฟ นี่เมื่อกิเลสหมดภายในใจนี้แล้ว อะไรก็ตาม ตา หู จมูก ลิ้น กาย จะสัมผัสสัมพันธ์กับรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ทั่วแดนโลกธาตุ มันก็เป็นอันนั้นอยู่เช่นเดียวกับกองฟืนนั่นแหละ
เอาละพอ
พูดท้ายเทศน์
ผมพูดจริง ๆ นะผมวิตกมากกับวงคณะเรา โดยเฉพาะคณะกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น มันจะค่อยเหลวไหลไป ๆ ที่วิตกมากที่สุดก็คือที่เอาไฟฟ้าเข้าไปในวัดนี่ละ มันจะไม่นานจะมีเทวทัตเข้าไป วิดีโอน่ะซีสำคัญ ใครชอบชนิดไหนก็จะหามานั่นซี สรรหามาแต่ชนิดนรกจกเปรตทั้งนั้น หมดจริง ๆ ละถ้าลงอันนี้ได้เข้าวัดแล้วหมด นักภาวนาเราไม่มีเหลือ พูดได้ขาดตัวเลยเทียว ก็รู้กันชัด ๆ อยู่แล้วยังฝืนเอามานี่ ก็แสดงว่าตั้งหน้าตั้งตาทำลายศาสนาเอาจริง ๆ
นี่จึงไม่ให้เอาเข้ามา มีอะไรไฟฟ้า ไฟดินเราก็ใช้มาแต่พ่อแต่แม่แล้วไม่เห็นหมดสักที ไปเห็นวิเศษวิโสอะไรกับไฟสว่างความสว่างอันนั้น เป็นเพราะไม่เห็นความวิเศษวิโสของใจสว่างน่ะซี จึงไปเห็นไฟสว่างดีกว่าใจสว่าง อันนี้ละที่สำคัญ ทำให้อดคิดไม่ได้ เพราะจะเป็นแน่ ๆ เพียงแต่ว่ารอจังหวะอยู่เท่านั้นเองเวลานี้ พอได้จังหวะแล้วก็หมดเลย พรึบเดียวหมดไม่มีอะไรเหลือ ทีนี้หมด ถ้าลงอันนี้ได้เข้าแล้วคำว่ากรรมฐานอย่าไปถามถึงเลย โห มันเรื่องเล่นเมื่อไรอันนี้ เทวทัตตรง ๆ ทีเดียว มารร้อยเปอร์เซ็นต์ทีเดียว ไม่มีคำว่าเลี่ยง ๆ ไม่มีคำว่าอ้อม ๆ ตรงเป๋งเข้าไปสู่ขั้วหัวใจขั้วหัวตับให้ขาดสะบั้นไปหมดเลย วิดีโอนี่ซีสำคัญ มันอยากได้อะไรก็ไปหาเอามา ที่ร้ายที่สุดก็อันนี้ละ ทำให้วิตกวิจารณ์ไม่หยุดไม่ถอย
ใครถ้าไม่เอาจริงเอาจังจริง ๆ ไปไม่รอดนะ เรื่องของกิเลสนี้เหนียวมาก ละเอียดมาก สลับซับซ้อนมาก สวมรอยนี้ไม่ทันนะ มันเร็วขนาดนั้นเราไม่ทัน จนกว่าว่าสติปัญญาเหนือมันเมื่อไร ที่ได้เห็นอันนี้ก็คือว่ามันเหนือแล้วก็เห็น ถ้าไม่เหนือไม่เห็นไม่รู้นี่ เวลามันเป็น เป็นมาสักเท่าไรใครก็เป็นด้วยกันทั้งนั้นดังที่พูดนี้ แต่ไม่เห็นไม่รู้นี่จะว่าไง ก็ปล่อยให้มันเหยียบย่ำ ให้มันแบ่งสันปันส่วนกินอยู่นั้น อย่างน้อยแบ่งสันปันส่วน มากกว่านั้นบีบคอ พวกเรานี่พวกมันบีบคอกินไม่ใช่แบ่งสันปันส่วน แบ่งสันปันส่วนมันยังให้เกียรติอยู่บ้างใช่ไหม ยังมาขอแบ่ง ไอ้มาบีบคอกินเลยนั่นซี พวกเราพวกถูกบีบคอกินเลย ๆ นี่น่าทุเรศนะ
ผมพูดจริง ๆ ในหัวใจของผมนี่เป็นอย่างผมพูดนะ ถ้าเป็นอย่างคนหรือใครมาเป็นคู่กรรมคู่เวรกับเรานี้ ฆ่าได้อย่างพินาศไม่สะทกสะท้านเลย กี่ศพยังไม่รู้สึกตัวว่าได้ฆ่าคน ความเคียดแค้นว่าอย่างนั้นเถอะ เคียดแค้นให้กิเลสถึงขนาดนั้นเชียวนะ เพราะฉะนั้นถึงกล้าพูดที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงเห็นโทษด้วยความถึงพระทัย ทรงเห็นจริง ๆ นี่ ทำไมจะไม่สอนเต็มเม็ดเต็มหน่วย เหมือนกับว่าจับฉุดลากออกมาจากกองไฟอย่างนั้น ฉุดลากอย่างเต็มกำลังเลย คนหนึ่งไม่รู้เซ่อซ่ากำลังจะเข้ากองไฟ ทางนี้ก็จับมือหรือแขนลากอย่างแรง ๆ แรงนี้ก็ไม่ได้หนักเหมือนที่เข้าไฟทั้งกอง นั่นมันหมดเลยทั้งตัว ช่วยลากมานี้จะเป็นอะไรไป
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนสัตว์โลกท่านสั่งสอนอย่างนั้นจริง ๆ เพราะท่านเห็นมาจริง ๆ นี่ ปิดอะไรอยู่จิตดวงนี้เวลามันเปิด แต่ความสงสารความเมตตาของท่าน ท่านก็มีธรรม ควรจะช่วยได้หนักเบามากน้อยเพียงไร นั่นท่านก็มีขอบเขตของท่านอีกจะว่าไง ไม่ใช่จะฉุดจะลากตะพึดตะพือ คนหูหนวกตาบอดก็จะลากไปหมดได้ยังไง คนที่ควรลากก็ลาก ที่ไม่ควรลากก็สุดวิสัย อย่างที่ท่านว่าดาบสทั้งสองนั่น โอ้ น่าเสียดาย ตายไปเสียเมื่อเย็นวานนี้ น่าเสียดายนะ นั่นละคือสุดวิสัย..มันมี ความเมตตาจึงอยู่ในขอบเขตที่ควรจะเป็นไปได้ เรื่องเมตตาก็เมตตา สงสารก็สงสาร
โห ใจดวงนี้ไม่ใช่เล่น ๆ นะ จึงได้กล้าพูดว่าไม่มีอะไรมากยิ่งกว่าการเกิดตาย ๆ ของจิตแต่ละดวง ๆ นี้มากจริง ๆ ยังไม่มีกำหนดอีกนะถ้าแก้ไม่ได้ ยังจะเป็นไปอย่างนี้อีกตลอด นั่นฟังซี ภาษาบาลีว่า อนมตคฺโค คือไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลายเลย มันน่าทุเรศจริง ๆ เรื่องจิตวิญญาณนี้แหม...สัตว์โลกทั้งหลายทั่วแดนโลกธาตุนี้ ใครไปเห็นวิญญาณเจ้าของเป็นอย่างนั้น เห็นวิญญาณคนอื่นเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าทำไมท่านเห็น นี่ไม่อัศจรรย์ท่านจะอัศจรรย์ใคร ใครเคยเป็นมายังไงเห็นหมด แล้วสอนก็สอนแบบฉุดแบบลาก สอนแบบถึงใจ ๆ เพราะเห็นมาแล้วอย่างถึงใจ ไม่ใช่สอนธรรมดา
ทุกข์เพียงการประกอบความพากเพียรแค่นี้ทุ่มลงไปซี ความเสียดายอะไรต้องตัด มันเสียดายเท่าฟ้าเท่าแผ่นดินนี้ต้องตัด ๆ นี่ละชื่อว่าต่อสู้กับกิเลส ต้องฝืนกัน ๆ มันอยากดูไม่ดู อยากฟังไม่ฟัง ขึ้นชื่อว่าจะเป็นการส่งเสริมกิเลสหรือจะทำให้กิเลสเกิดแล้ว ไม่ดูไม่ฟังเป็นต้น ถึงไหนถึงกัน เป็นไงเป็นกัน สิ่งเหล่านี้มันเคยมาแล้วทั้งนั้น สำหรับเราเองไม่ต้องพูดแหละ ฝืนแสนจะฝืน มีแต่ฝืนทั้งนั้นสิ่งเหล่านี้ ตัดกันผึง ๆ เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้หลบหลีกไปอยู่ป่าอยู่เขา จะได้ไม่ต้องฝืนอันนี้มากไป ถ้าอยู่ในกระดานมันจริง ๆ แล้วมันเจอกันอยู่ตลอดเวลา กระทบกันอยู่ตลอดเวลา ใครจะไปทนฝืนล่ะ เพราะฉะนั้นจึงให้หลีกไปอยู่ในป่าในเขาเสีย ให้ไปดูต้นไม้นั่น ดูต้นไม้กับดูผู้คนหญิงชายวัตถุสิ่งของเป็นยังไง ต่างกันไหม
ใครจะฉลาดเกินพระพุทธเจ้า พิจารณาซิเรื่องเหล่านี้น่ะ เป็นของเล่น ๆ เมื่อไร อะไรที่จะไปเพิ่มเชื้อไฟมีแต่ตัดออก ๆ ไม่ให้เข้ามายุ่ง ส่วนที่มีอยู่แล้ว เอ้า พยายามดับมัน ต้องอย่างนั้นนะ จึงไล่ไปอยู่ในป่าในเขาเพื่อกันอันนี้เอง ตาเห็นต้นไม้ภูเขาเป็นหลักธรรมชาติเป็นอย่างหนึ่ง ตาเห็นรูปหญิงรูปชายวัตถุสิ่งของเป็นอย่างหนึ่ง เสียงสัตว์เสียงอะไรดินฟ้าอากาศฟังแล้วไม่เห็นเป็นอะไร แต่เสียงหญิงเสียงชาย เสียงดุเสียงด่าเสียงว่า เสียงสรรเสริญนินทาได้ยินดูซิเป็นยังไง มันมีแต่ภัยรอบด้าน ๆ
จมูกก็เอาซี ดมอะไรก็ไม่เป็นไร เอ้า ไปดมหญิงดมชายดูซิ จะเป็นบ้าให้เห็นสด ๆ ร้อน ๆ เลย ว่ากันชัด ๆ อย่างนี้ นี่ละมันต่างกัน ท่านถึงได้ไล่หนีเข้าป่าเข้าเขา อย่ามายุ่งอย่ามาเสริมนะ สิ่งเหล่านี้เคยสังหารโลกมามากต่อมากแล้ว รวมเราด้วยคนหนึ่งพ้นไปไหนวะ พูดง่าย ๆ ว่าอย่างนั้น เราไม่เชื่อพระพุทธเจ้าแล้วก็ต้องจมอยู่อย่างนั้นละจะว่าไง ถ้าเชื่อก็ไปได้
นอกจากอยู่ในป่าแล้ว ยังต้องมีเครื่องดัดสันดานกันอีก อย่างกลัว ๆ นี้ มันก็เคยแล้วนี่ ที่พูดมาทั้งหมดนี้มีแต่สิ่งที่เคยมาแล้วทั้งนั้น เวลากลัว ๆ แล้วจิตพิจารณาเป็นธรรม เรื่องกลัวนี่เป็นธรรม ไปสู่สถานที่กลัว ๆ จิตพลิกไปอีกแง่หนึ่ง พลิกเพื่อความเป็นธรรมนะ มันก็เห็นชัด ๆ อย่างนั้น กลัวจนตัวสั่น พอเราแก้ได้กลับเป็นกล้าจนตัวสั่น เมื่อเห็นประจักษ์หัวใจแล้วพูดไม่ได้มีเหรอ ก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ จะว่าไง กำหนดดูจนกระทั่งหมดทั้งโลกนี้มันกลัวอะไรไหม โน่นน่ะบทเวลากล้า ๆ จริง ๆ ถึงขนาดนั้น แล้วเอามาเทียบมาคิดดูว่ามันกลัวอะไรไหม ไม่มีเลย
เอ้า สมมุติว่าเสือเดินเข้ามานี้ สามารถเดินเข้าหามันได้เลย โน่นน่ะฟังซิ เอ้า งูมานี่เหมือนกัน เดินเข้าไปได้เลย อะไรก็ตามพูดง่าย ๆ ได้ทั้งนั้น ไม่มีคำว่าสะทกสะท้าน แต่ความจริงนั้นเสือจะกินหรืองูจะกัดก็เป็นอีกแง่หนึ่งนะ แต่เรื่องความกล้านี้มันกล้าอย่างนั้นจริง ๆ ไม่ได้กลัวอะไรเลย นั่นบทเวลาดัดกันได้เห็นไหม ขณะก่อนนั้นตัวสั่นด้วยความกลัว ขณะหลังนี้ตัวสั่นด้วยความกล้า นั่นแก้กันได้อย่างนั้น ท่านจึงให้ไปอยู่ในป่าในเขา
ครั้งพุทธกาลก็มีเสือกินพระ สำเร็จในปากเสือก็มี นั่นเป็นท่านผู้มีธรรมะอันสูงจวนเต็มที่แล้ว ท่านไม่ได้กำหนดว่าเป็นสัตว์เป็นเสืออะไรแหละลงขนาดนั้นแล้ว จิตขนาดนั้นมีนี่ ให้เป็นขึ้นในหัวใจเจ้าของซิ จิตขนาดว่าไม่มีสัตว์มีเสือ เมื่อถึงขั้นนั้นแล้วมีสัตว์มีเสือที่ไหน มีแต่ธาตุ ถ้าว่ากินก็ธาตุกินธาตุเท่านั้นเองว่าไง เพราะเรื่องวิปัสสนาเมื่อถึงขั้นเป็นเองแล้วจะปรุงให้เป็นเสือเป็นอะไรก็ไม่เป็น เมื่อสติปัญญาเป็นธรรมเต็มตัวของตัวแล้ว ถ้าว่าเป็นธาตุมันเป็นธาตุจริง ๆ จะว่าไง
เอ้า ถ้าจะพูดถึงเรื่องว่าง พอปรุงแพล็บขึ้นมาเป็นภาพเสือนี้ พับดับปุ๊บเลย ที่นี่เสือที่ไหนมี เอ้า ถ้าเสือมีจริง ๆ ก็มีซีจะเป็นไรไป ธาตุเขาธาตุอะไร ธาตุเราธาตุอะไร มันแยกของมันอยู่อย่างนั้นก็ทันกันล่ะซี เรื่องสติปัญญาแล้วไม่ขึ้นอยู่กับใครล่ะน่ะ ขอให้นำมาใช้เถอะในเวลาจำเป็นเป็นได้จริง ๆ พลิกไม่รู้กี่สันพันคมนะ ไม่อย่างนั้นจะทันกิเลสรึ ที่ว่านี่เป็นแบบของกิเลสออกมาหลอก เช่นว่าเสือมา ทีนี้สติปัญญาถ้าจะแยกเป็นธาตุก็ธาตุ ธาตุก็อยู่กับเราไม่เห็นกลัวกัน แล้วจะกลัวมันหาอะไร นั่นก็ธาตุอันหนึ่ง แน่ะ
อันหนึ่งมันว่างเสียหมด จิตเมื่อถึงขั้นว่างมันว่างจริง ๆ ปรุงพับนี้มันดับเลย จะปรุงให้เป็นเสือก็ไม่เป็น เป็นภาพของเสือได้ชั่วแย็บหนึ่งเหมือนฟ้าแมบ(แลบ)ฟังซิ แย็บดับพุบ ที่ว่าเสือมาจากโน้นนี้มันก็รู้ว่าธรรมชาตินี้ปรุงออกไปเป็นภาพหลอกเจ้าของ พับดับปุ๊บ มันก็รู้เสียจะว่าไง ปัญญาเมื่อถึงขั้นเป็นหลักธรรมชาติแล้ว ขืนปรุงไปกว่านั้นก็ไม่ได้ ปรุงปั๊บมันไม่ออกเลย เหมือนกับดึงสายยาง ทีแรกดึงนี้ไม่ยอมออก ต่อเมื่อซ้ำเข้า ๆ จึงได้ปั๊บ ๆ นี่เรื่องของสติปัญญาฝึกซ้อมตัวเอง ฝึกซ้อมสิ่งที่เป็นข้าศึก เท่ากับเป็นการรบข้าศึก เป็นการฝึกซ้อมอยู่ในตัวของตัวเองนั่น เหมือนกับนักมวย เคยต่อยบนเวทีมากต่อมากแล้วมันก็จัดเจนเวที อันนี้มันก็จัดเจนในการต่อสู้กับกิเลส เป็นการฝึกซ้อมความจัดเจนไปในตัวอย่างนั้น
พอถึงขั้นว่างมันว่างไปหมด ว่างอยู่ในหัวใจนี่ ถึงตัวใจจริง ๆ ไม่ว่างก็ตาม มันก็ว่างรอบตัวไปหมด ตอนที่ใจยังไม่ว่างมันมี พอใจได้ว่างตัวเองแล้วทีนี้หมดปัญหาละ มันเป็นขั้น ๆ ๆ ความว่าง สำหรับเราเองเป็นมาอย่างนั้นเราก็ว่าอย่างนั้น ใครจะว่าถูกว่าผิดจะว่าบ้าก็ว่าซิ ก็เป็นมาอย่างนั้นปฏิบัติมาอย่างนั้น ไม่ได้เรียนมาจากใครนี่
เรื่องสติปัญญานี้เป็นขึ้นมาในเจ้าของเพราะการฝึกของเจ้าของ มันหากมีแนวทาง เหมือนกับไฟได้เชื้อนั่นแหละ เชื้ออยู่ที่ไหนมันก็ลุกลามไปของมันเรื่อย ๆ จะมีครูมีอาจารย์สอนหรือไม่สอนก็ตาม เชื้ออยู่ที่ไหนไฟจะลุกไปลามไปตามเชื้อ อันนี้ก็เหมือนกัน เหตุปัจจัยอยู่ตรงไหนที่มันจะฆ่ากิเลส พูดง่าย ๆ กิเลสเป็นเหมือนกับเชื้อ มันก็ลุกก็ลามของมันไปอย่างนั้น จนกระทั่งหมดไม่มีอะไรจะไหม้ นี่ละสติปัญญาในหลักธรรมชาติ เมื่อเป็นขึ้นแล้วไม่ถามใครก็รู้เองจะว่าไง
อัศจรรย์นะเรื่องธรรมทั้งหลายนี่ ไม่เคยคาดเคยคิดว่าจะรู้จะเห็นจะเป็น นี้มันเป็นขึ้นอย่างไม่คาดไม่คิด จึงอัศจรรย์พระพุทธเจ้าอย่างว่าล่ะซิ ไอ้เราตัวเท่าหนูนี่ก็ยังเป็นจะว่าอะไรถึงพระพุทธเจ้าวะ มันไม่ได้เรียนจากใคร เป็นเองในหลักธรรมชาติ มันหากมีของมันอย่างที่ว่านี่ เหมือนกับว่าเป็นสิ่งที่ฝึกที่หัดที่เรียนอยู่ในหลักธรรมชาติของมัน จะควรไปแง่ไหน ๆ มันหากมีอะไรของมันที่จะไป มาในแง่นั้นอันนี้รับกันแง่นี้ อันนั้นมาแง่นั้นอันนี้รับกันแง่นี้ ขึ้นรับ ๆ กันเลย บอกใครก็บอกไม่ได้นะถ้าไม่เป็นขึ้นในเจ้าของ ถ้าเป็นละก็ อ๋อ ๆ อย่างนี้เอง
แปลกอยู่นะขนาดที่ว่าอยู่กับใครไม่ได้เลยนี้มันพิลึกนะ เมื่อพิจารณาย้อนหลัง อยู่ลำพังคนเดียวเท่านั้น ฟัดกันทั้งวันทั้งคืน มีเวลาว่างเมื่อไร ขนาดที่ว่าอยู่กับใครไม่ได้มันเสียเวลา ทางนี้มันตะลุมบอนอยู่ตลอดเวลา จะหันหน้าไปคุยกับใครได้ เดี๋ยวหงาย ถูกเขาต่อยเอา
กิเลสมันละเอียดขนาดไหน แหลมคมขนาดไหน รวดเร็วขนาดไหน เมื่อปัญญาทันกันมันถึงรู้ว่ากิเลสรวดเร็วขนาดไหน แต่ก่อนเราไม่รู้นี่ พวกเราเหมือนกับควายตัวหนึ่งนั่นละ จูงจมูกไปไหนก็ไปควาย มันไม่รู้ว่าคนฉลาดกว่ามันอย่างไรบ้าง เพราะมันเป็นควาย คนจูงจมูกมันอยู่นั้นแหละ แต่มันก็ไม่รู้ว่าคนฉลาดกว่ามัน จูงไปไหนก็ไป นี่ก็เหมือนกันกิเลสจูงเรา เราก็เหมือนควาย เราไม่รู้ว่ากิเลสมันฉลาด นี่ซิน่าทุเรศนะ โห มันจูงไปไหนก็ไป เรายังเพลินไปกับมันเสียด้วย กัดหญ้าไปเรื่อย ๆ เพลินไปกับมันเรื่อย โถ เขาจูงไปฆ่ายังไม่รู้ กิเลสจูงไปเข้าในบ่อน้ำร้อน เข้าในกระทะใหญ่ยังไม่รู้ ยังกัดหญ้าเรื่อย คือเพลินเรื่อยไป เทียบเหมือนกับว่ากัดหญ้าเรื่อยไป
โน่น เวลาฟัดกันเข้า สติปัญญาเร็วเข้า ๆ จากเร็วนี้แล้วก็เหนือ ไม่เพียงเร็วอย่างเดียว ค่อยตามทันเข้าไป ต่อจากทันก็เข้าถึงตัวซิ เข้าถึงตัวก็พัง สุดท้ายมันก็แย็บออกมาไม่ได้ ทีนี้ก็เห็นละซิกิเลสเป็นยังไง รวดเร็วขนาดไหน มันแทรกมันซึมอยู่ตรงไหน ๆ โถ เม็ดหินเม็ดทรายสู้มันได้เมื่อไรวะ มันละเอียดยิ่งกว่านั้นเข้าไปอีก แต่นี้ก็ไม่พ้นปัญญาที่ละเอียดกว่านั้นจะทราบได้ฆ่าได้พร้อมกัน ไม่เพียงทราบเฉย ๆ ถ้าลงปัญญาขั้นนั้นแล้วทราบแล้วพังพร้อม ๆ เหมือนกับว่าเผาพร้อม ๆ จึงได้เคียดแค้นละซิ เราทุกข์ที่สุดเลยการประกอบความเพียรในชีวิตของพระนี้ แหม...การต่อสู้กับกิเลสการฆ่ากิเลสนี้หนักมากจริง ๆ อันนี้ก็เป็นสัจธรรมอันหนึ่งที่ลืมไม่ได้ ถ้าหากว่าพูดแบบโลก ๆ มันเคียดแค้นมันเป็นคู่กรรมคู่เวรกัน เจอกันไม่ได้ว่างั้นเลย เจอกันเป็นเอาเลยไม่มีถอย
ทุกข์กับกิเลสนี้แหม..บางทีเหมือนกับจะตายจริง ๆ นะ แทบสลบไสล แต่ก็ไม่ถึงขั้นสลบแหละ มันหากทุกข์มากก็รู้อยู่ แต่ผลอันหนึ่งก็เกิดขึ้นมาจากความทุกข์มากอยู่นั่นละ นั่นซีเหตุที่ให้ถอยไม่ได้ คือผลฝ่ายธรรมเกิดขึ้นมาจากความทุกข์มาก ๆ ไม่ใช่ว่าเราจะทนทุกข์มากเอาเฉย ๆ มีแต่กิเลสตีเอาฝ่ายเดียวไม่ใช่ มันทุกข์มากก็ทุกข์มาก แต่ผลที่เกิดขึ้นจากความทุกข์มากก็มีคือด้านธรรมะนี้ นี่ซิที่ทำให้พอฟัดพอเหวี่ยงกันไป แต่ก็ลืมไม่ได้อยู่นั้นแหละเรื่องความทุกข์อันนี้ เช่นเดียวกับเราลืมไม่ได้เหมือนกันกับผลแห่งธรรมที่เกิดขึ้นจากการทุกข์มาก นั่นมันเป็นคู่กันอยู่ มันก็เป็นเหมือนกับว่าเราตัดขาดสะบั้นออกหมด ในเรื่องที่เป็นมาหนักเบามากน้อยเพียงไร
ภาระทั้งสามแดนโลกธาตุเราแบกอยู่ตลอดเวลา ฟังซิ คือสามแดนโลกธาตุนี่จิตเกิดได้ทั้งนั้น จึงเป็นเหมือนกับว่าแบกสามแดนโลกธาตุ และเป็นมานานสักเท่าไรหากำหนดไม่ได้เหมือนกัน พอสลัดออกดีดผึงออกจากนั้นแล้วทำไมจะไม่เบา สามแดนโลกธาตุหนักขนาดไหน นานเท่าไรที่แบกมา เรายังจะทนแบกอยู่ด้วยความขี้เกียจขี้คร้านความไม่เอาไหนอยู่เหรอ ต้องเอามาสอนเจ้าของ คิดสอนเจ้าของซิอุบายต่าง ๆ ดีดตัวออกสลัดออกจากภาระอันหนักในสามแดนโลกธาตุนี้แล้วเป็นยังไงที่นี่ นั่นละพระพุทธเจ้าท่านออก ท่านออกอย่างนั้น พระสาวกท่านออก ท่านออกอย่างนั้น ถ้าจะว่ามีจุดหมายปลายทางก็มี ถ้าว่ามีหลักก็เกินหลัก มีอะไรก็เกินอันนั้นเสีย เกินสมมุติไปเสียทุกอย่างจะว่าไง เป็นกับตายอะไรอยู่ที่ไหนมันก็มีเป็นประจำอยู่งั้น ธรรมดามันก็มีอยู่งั้น ถ้าพูดถึงว่าอารมณ์มันก็หมดอารมณ์ จะว่าพึ่งอะไรก็ไม่เห็น ก็มันพออยู่แล้วจะพึ่งอะไร แน่ะ มันประจักษ์อยู่นั้น จึงว่าเมืองพอ ๆ
ไม่มีอะไรวิเศษยิ่งกว่าคำว่าพอละ ลงตรงนั้นบทเวลาลงจริง ๆ แล้ว พอ ๆ ไม่มีอะไรยิ่งกว่านี้ ไม่มีอะไรประเสริฐยิ่งกว่าคำว่าพอ สุดท้ายคำว่าพอนั่นแลประเสริฐสุด ไม่มีอะไรที่จะเข้าไปถึงเลย เพราะอันนี้เหนือกว่าแล้วจะไปว่าอันไหนดี ถ้ายังเลือกอันนั้นอันนี้อยู่ก็แสดงว่าสงสัยละซี อันนี้ดีหรือไม่ดี ถ้าดีก็จะเอา ถ้าไม่ดีก็จะทิ้ง ดีไม่ดีมันก็พอแล้วจะว่าไง ไม่มีอะไรดีกว่าคำว่าพอ เมื่อเป็นเช่นนั้นมันจะไปแตะอะไร คำว่าพอนี้เลิศยิ่งกว่าอะไรแล้วถ้าว่าเลิศ
ต้องใช้ความคิดอ่านนะ เพียงแต่ให้สงบเฉย ๆ ไม่พอ จิตพอมีความสงบไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวายข้างนอก ให้พยายามใช้ปัญญาให้มาก ปัญญาจะพาก้าวเดินอย่างรวดเร็ว จะคอยให้จิตเป็นสมาธิจนแน่นปึ๋งเลยถึงออกทางด้านปัญญาไม่ถูก สงบขั้นไหนก็ตามควรที่จะก้าวออกทางปัญญาได้ก็ให้ก้าวออกตามขั้นของตน คือคำว่าสงบ ได้แก่ความหิวในอารมณ์ภายนอกที่ทำให้เกิดสัญญาอารมณ์ฟุ้งไปนั้นเบาตัวลง ก็มีทางที่จะพิจารณาทางด้านปัญญาเป็นงานของตัวเองได้ ไม่เตลิดเปิดเปิงเหมือนคนไม่มีสมาธิไม่มีอะไรเลย แต่จะพิจารณาทางด้านปัญญาให้เป็นปัญญา โอ๋ย ตายว่างั้นเลยนะ อย่ามาโกหกนะว่างั้น ก็จิตเต็มไปด้วยความหิวโหย จะพิจารณาให้เป็นปัญญามันก็เตลิดเปิดเปิง เป็นสัญญาเป็นกิเลสไปหมด แล้วจะเอาปัญญามาจากไหน
จิตสงบจิตอิ่มตัวนี่มันอิ่มจากสัญญาอารมณ์ทั้งหลายที่เคยเป็นมา สงบมากน้อยเพียงไร นั่นปัญญาจะพอก้าวได้แล้ว พอปัญญาก้าวได้ ผลปรากฏขึ้นมาเด่นขึ้น ๆ กลับมาเสริมสมาธิได้อีก ปัญญาก็ฉลาด นั่นท่านว่าปัญญา สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา เมื่อมีสมาธิหนุนแล้วปัญญาเดินได้คล่อง แปลออกงี้เลยภาคปฏิบัติเรา แต่ภาคปริยัติแปลกลัวผิดศัพท์ผิดแสง ผิดธาตุวิภัตติปัจจัย อย่างผมแปลถ้าไม่ได้เป็นมหาเขาก็จะดูถูกผมอีก แปลได้แปลอย่างปริยัติทำไมจะแปลไม่ได้ แต่มันไม่โดนหัวกิเลสนั่นซิ เราแปลเพื่อโดนหัวกิเลสเพราะเราจะฆ่ากิเลสนี่นะ เราไม่ได้ฆ่าศัพท์ฆ่าแสงฆ่าธาตุวิภัตติปัจจัยนี่ จึงแปลผึงอย่างว่านี่แล้วเป็นยังไง ชัดเจนไหม เมื่อมีสมาธิหนุนแล้วปัญญาเดินคล่อง ถ้าแปลตามปริยัติ ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก ท่านว่างั้นในปริยัติ เราก็ไม่ปฏิเสธว่าไม่ถูก แต่อะไรที่ถนัดจะฆ่ากิเลสเอาตรงนั้นซิ ขอให้ฆ่ากิเลสได้แล้วเป็นธรรม พระพุทธเจ้าสอนให้ฆ่ากิเลสนี่นะ อุบายวิธีใดที่จะฆ่ากิเลสได้ อุบายนั้นเป็นธรรม เอาตรงนั้นซิ
กิเลสมันมาในตำรับตำราทุกอันเหรอ มาเหยียบหัวเราอยู่ทุกวันนี้ มีในตำราทุกอันเหรอ ไม่มีมันก็เหยียบได้ถ้าเป็นกิเลส อันนี้เมื่อเป็นธรรมแล้วไม่มีในตำราก็เหยียบหัวกิเลสได้เหมือนกันนี่ทำไมจะไม่ได้วะ เอาอย่างนั้นซี แปลอันนี้มันถึงใจ ๆ นะ ถึงใจตรงไหนกิเลสหมอบ นั่นจึงเรียกว่าแปลเพื่อฆ่ากิเลส ทีนี้ก็ ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ จิตที่ปัญญาชำระแล้วย่อมหลุดพ้นจากกิเลสโดยประการทั้งปวง นั่นแปลออกให้ตรงกับภาคปฏิบัติเลย แต่ถ้าแปลอย่างทางด้านปริยัติก็ว่า จิตอันปัญญาอบรมแล้วย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ ท่านว่างั้น
อันนั้นท่านวางเป็นพื้นฐานเอาไว้ ใครจะแยกแยะไปยังไงก็ตาม ไม่ให้หนีจากหลักใหญ่ก็พอ คือหลักฆ่ากิเลสนั่น ปัญญาเป็นเครื่องฆ่ากิเลส ฟาดลงไปซิมันจะถึงหัวกิเลสก็เอาลงไปซิ นั่นเอาอย่างนั้น สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส นี่ก็เหมือนกัน คนมีศีลย่อมมีความอบอุ่น ไม่ระแวงแคลงใจเดือดร้อนพอให้เกิดสัญญาอารมณ์แล้วทำสมาธิไม่ลง แปลอย่างนั้น ถ้าแปลตามปริยัติก็ว่า สมาธิอันศีลอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก อันนี้เราก็ไม่ค้าน เพราะเป็นแบบฉบับอยู่แล้วนี่ แต่สิ่งที่จะให้ประจักษ์เจ้าของเป็นสมบัติของเจ้าของบ้างหาให้ได้ซี จึงเรียกว่าเป็นผู้เสาะแสวงหาธรรม
ที่เราแปลนี้กับพ่อแม่ครูจารย์แปลไม่ได้ผิดกันนะ แต่เราไม่ได้อาจเอื้อมนะว่าไปยกตนเสมอท่าน คือท่านแปลท่านแปลผึงเลย ไม่ผึงยังไงก็ท่านรู้ธรรมเห็นธรรม ท่านเคยฆ่ากิเลสมาด้วยอุบายใดก็เอาอุบายนั้นละออก ๆ เวลาท่านแปลนี้ผึงเลยเลยนะ มันยอมรับตรงนั้น แหมใส่ผึงเลยนะ ทั้ง ๆ ที่เราก็เป็นมหา แปลผิดถูกยังไงเราก็รู้อยู่นี่ แต่แปลของเราที่ว่าเป็นมหามันได้แต่ความจำ ไม่ได้ความจริงเหมือนท่าน ท่านแปลยังงั้นท่านได้ความจริง เอาความจริงมา มันผิดกันตรงนั้น ถึงได้ว่า โห ตรงตัวเลยนะ มันยอมรับทันทีไม่เคยค้านท่าน ท่านแปลแบบนี้เข้าถึงตัวกิเลสแล้วหงายเลย ๆ แปลรวดเร็วเสียด้วยนะ ไม่รวดเร็วยังไง สติปัญญาท่านคล่องตัวมาพอแล้วนี่ ผึงออกมาเลย อะไรจะมาคัดค้านต้านทานกีดขวางสติปัญญาได้ เมื่อปัญญาขั้นนั้นได้ออกตัว นี่ท่านผ่านมาสักเท่าไรแล้วจะไม่ให้ท่านคล่องยังไง นั่นผู้ปฏิบัติท่านแปล
พวกเราพวกหนอนแทะกระดาษก็จะไปยกโทษท่านซิ ยกได้หรือ ทำไมแปลยังงี้ ท่านแปลไว้อย่างนั้นตามตำรับตำราก็จะว่าอย่างนั้น ทำไมแปลอย่างนี้ ทีนี้ไปหาว่าท่านแปลไม่ถูก แปลแบบป่า ๆ เถื่อน ๆ ไป ยังไม่รู้ว่าท่านเอาความจริงออกมา เราไม่เคยปฏิบัติก็ไม่รู้ซิว่าความจริงเป็นยังไง ความปลอมเป็นยังไง ความจริงเป็นยังไง ความจำเป็นยังไงเราไม่รู้ ท่านค้นพระไตรปิฎกใช่เล่นเมื่อไรพ่อแม่ครูจารย์มั่น โถ ท่านเล่าให้ฟัง ค้นพระไตรปิฎกไม่รู้กี่ครั้งท่านว่า โน่นน่ะฟังซิ แล้วท่านจะไม่ได้มายังไง ท่านอยู่ที่บ้านโป่งก็ค้นเสียจน... วันว่าง ๆ ท่านว่า พระไตรปิฎกมีครบ ท่านค้นเอาจริง ๆ
เรานี่ความรู้สู้ท่านได้เมื่อไรในหลักวิชาที่เรียนมาเป็นชั้น ๆ จะสู้ผู้ที่ไปค้นถึงขนาดนั้นได้ยังไง ถ้าพูดถึงเรื่องราวที่นำมาพูดอะไร ๆ แต่เรื่องธาตุวิภัตติปัจจัยที่จะยกขึ้นมานี้มันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ไอ้ที่เราจะมายกธาตุวิภัตติปัจจัยวาจกตัทธิตนี้ กิเลสมันหัวเราะตลอดจะว่าไง เวลาจะฆ่ากิเลสจริง ๆ อันนี้ไม่มายุ่งเลยนี่ ฟัดกันเข้าตรงนั้นเลย มันคนละอย่างต่างหากนะ เรายังจะมาเป็นหนอนแทะกระดาษอยู่กับธาตุวิภัตติปัจจัยให้กิเลสหัวเราะเยาะเอาเปล่า ๆ หรือ เพราะมันอยู่โน่นเรามาเกาอยู่นี่ ส่วนท่านใส่ผึงเลยที่กิเลสอยู่ นั่นต่างกันอย่างนี้
อย่างท่านเล่าเรื่องพระโปฐิละให้ฟัง โปฐิละ แปลว่า ใบลานเปล่า คือเรียนเฉย ๆ ไม่สนใจจะแก้กิเลส ทั้ง ๆ ที่มีอุปนิสัยสามารถที่จะเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าถึงได้แหย่ปัญหาเข้าไป โปฐิละ ๆ ใบลานเปล่า ๆ โปฐิละเธอจงนั่ง โปฐิละเธอจงยืน โปฐิละเธอจงไป โปฐิละเธอจงมา ใบลานเปล่า ๆ ทีนี้พ่อแม่ครูจารย์ท่านไม่แปลยังงั้น นี่ก็เหมือนกันตีหัวกิเลสตรง ๆ ว่า ใบลานเปล่า หัวล้านเปล่า หัวโล้นเปล่า บวชเปล่า ๆ กินเปล่า ๆ นอนเปล่า ๆ ตายเปล่า ๆ นั่นท่านแปลเห็นไหม มีแต่ฟาดหัวกิเลส เพราะพวกนี้เป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น นอนเปล่า ๆ หัวล้านเปล่า ๆ กินเปล่า ๆ ตายเปล่า ๆ ไม่เกิดผลประโยชน์อะไร เป็นเรื่องของกิเลสครอบหัวเอา ๆ ท่านตีเข้าไปตรงนั้น นั่นท่านแปลท่านแปลอย่างนั้นนะ หาที่ค้านท่านได้ยังไง
ผมนี่ค้านไม่ได้จริง ๆ นะพ่อแม่ครูจารย์มั่นแปล มันเข้าถึงใจเจ้าของเลย ท่านเอานิทานโปฐิละมาแปล เราก็เรียนโปฐิละ แปลว่า ใบลานเปล่า แต่ท่านไม่แปลอย่างนั้นซิ ใบลานเปล่า หัวโล้นเปล่า หัวล้านเปล่า ท่านแปลย้ำลงจนเป็นลาบ อย่างนั้นละแปลภาคปฏิบัติมันถึงใจ กิเลสพังลง ๆ อย่างนั้นมันถึงถูก ถ้าจะฆ่ากิเลสต้องแปลอย่างนั้น ถ้าจะรักษาศัพท์แสงตำรับตำราไว้ก็แปลตามแบบนี้เราก็ไม่ค้าน แต่เวลาที่จะรบก็ให้เป็นเวลารบซิ อย่าให้เป็นหนอนแทะกระดาษตลอดเวลาซิ
ปัญญาควรจะก้าวได้ยังไงให้ก้าวออกพิจารณา หาอุบายคิดอ่านไตร่ตรองเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ข้างนอกข้างใน เอามาเทียบมาเคียงกัน หลายตลบทบทวนไม่ใช่หนหนึ่งหนเดียวนะ แยกโน้นแยกนี้สอดโน้นสอดนี้ เรื่องของปัญญาพยายามคิด ต่อไปก็จะค่อยแตกกิ่งแตกก้านแตกแขนงขึ้นมา ทีนี้ก็ค่อยก้าวไปได้ ถ้าปัญญาได้ก้าวออกแล้วที่นี่มีหวัง ๆ จากนั้นก็แน่วแน่เข้าไปเลย
เราเองก็แก่ลงไปทุกวัน ๆ เพื่อนฝูงก็มีแต่ตัดหนามกั้นทางตัวเอง ๆ ไม่เปิดทางให้เดินได้ทำไง ทำอะไรทำให้จริงนะ ในวัดนี้ผมพยายามไม่ให้มีงานอะไร เพื่อจะเสริมทางด้านจิตตภาวนา เพราะไม่เห็นอะไรเป็นของสำคัญยิ่งกว่าภาวนา เป็นในหัวใจฝังลึกขนาดนั้นนะ เพราะฉะนั้นจึงต้องพยายามกีดพยายามกันไม่ให้อะไรมายุ่ง แม้แต่แขกคนญาติโยมใครจะมายุ่งกับพระในวัดนี้ยังไม่ได้จะว่าไง โน่นน่ะผมรักษาขนาดนั้น เอ้า ถ้าจำเป็นก็ให้มาเกี่ยวกับผม ก็เพื่อรักษาหมู่เพื่อนให้ประกอบความเพียรด้วยความสะดวกสบายเป็นสำคัญ วันหนึ่ง ๆ ได้ฟัดเหวี่ยงอยู่ตลอดเวลามันจะทนได้เหรอกิเลส เมื่อเราตีเราต่อยอยู่ตลอดมันก็ต้องบอบต้องช้ำซี ควรเจ็บมันก็เจ็บ ควรตายมันก็ตายได้นี่ ทำไมจะตายไม่ได้กิเลส
เลิกกันละนะ