สัจธรรมภาคปฏิบัติ
วันที่ 24 ตุลาคม 2531 เวลา 19:00 น. ความยาว 111.44 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

สัจธรรมภาคปฏิบัติ

นี่ก็จะออกพรรษาวันพรุ่งนี้อยู่แล้ว ในพรรษานี้การอบรมด้วยวิธีประชุมมีห่าง ๆ ไม่เหมือนทุกปีซึ่งสุขภาพพอเป็นไป แต่ปีนี้เนื่องจากความยุ่งเหยิงเกี่ยวกับหน้าที่การงานที่มีผู้มาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ ทั้งประชาชนพระเณรตามสถานที่ต่าง ๆ มา ก็ต้องได้พูดเรื่องอรรถเรื่องธรรมให้ฟัง และไม่มีเพียงคณะเดียวในวันหนึ่ง ๆ มีมาอยู่เรื่อย ๆ ก็ต้องพูดอยู่เรื่อย ๆ พอถึงเวลาที่คิดว่าจะประชุมแล้วกำลังก็หมด ก็ต้องปล่อยให้ผ่านไป ๆ เพราะฉะนั้นการประชุมจึงมีน้อยมาก ออกพรรษาแล้วก็ยิ่งจะไม่มีเวลาประชุมอบรมดังที่เป็นมานี้ที่ว่าห่าง ๆ แล้วก็ตาม เพราะงานยุ่งมาก ยุ่งทั้งภายในวัดทั้งนอกวัด ตามปกติก็เป็นอย่างนั้น

ตามตำรับตำราท่านว่า ออกพรรษาแล้วบรรดาพระต่างออกหาที่วิเวกสงัด ในครั้งพุทธกาลท่านถืองานจิตตภาวนา เป็นเนื้อเป็นหนังเป็นแก่นแห่งงานทั้งหลายในวงพุทธศาสนาจริง ๆ เฉพาะอย่างยิ่งพระเราท่านถือนี้เป็นงานสำคัญ ในครั้งพุทธกาลการสอนพระไม่ว่าจะเมื่อใดคราวใด จะทรงแสดงแต่เรื่องศีลเรื่องสมาธิเรื่องปัญญาและเรื่องสถานที่ที่บำเพ็ญเป็นประจำ ในพระโอวาทของพระพุทธเจ้าที่มีแก่บรรดาพระทั้งหลายในครั้งนั้น สอนให้อยู่ในป่าในเขาในที่สงบงบเงียบ สอนให้มีความมักน้อย สอนให้มีความสันโดษ คำว่า มักน้อย คือไม่ต้องการอะไรมากมายนักเลย มีมากก็เอาแต่เพียงน้อย ๆ เท่านั้น ถัดลงไปก็ความยินดีตามสิ่งที่เกิดที่มี ไม่ให้ลุกลามไปในสิ่งที่ไม่เกิดไม่มีอันเป็นความโลภโลเล กิริยาแห่งพระที่แสดงอาการโลภโลเลนั้นหยาบมากยิ่งกว่าคนหรือฆราวาสทั่ว ๆ ไป

นอกจากนั้นก็สอนไม่ให้คลุกคลีทั้งกับพระเพื่อนฝูงด้วยกัน ทั้งกับประชาชน ให้อยู่เป็นเรื่องของบุคคลผู้เดียว ในบาลีท่านว่า อสังสัคคณิกา ไม่ให้คลุกคลีมั่วสุมซึ่งกันและกันอันหาประโยชน์ไม่ได้ นอกจากมีกิจจำเป็นที่เกี่ยวข้องกับอรรถกับธรรม ซึ่งจะควรสนทนากันเป็นกาลเป็นเวลาเท่านั้น วิเวกกตา สอนให้เข้าสู่ที่วิเวกสงัด คำว่าสงัดก็สงัดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น สิ่งเหล่านี้จะต้องสัมผัสสัมพันธ์อยู่เป็นประจำ ส่วนมากสิ่งที่มาสัมผัสนี้มักจะเป็นภัยถ้าไม่มีสติท่าต่อสู้ท่าพินิจพิจารณา ท่ากลั่นท่ากรองแล้วยังไงก็เป็นภัย ไม่ว่าตาเห็นหรือหูได้ยิน เป็นต้น เพราะฉะนั้นท่านถึงให้ทำความวิเวกสงัดในอายตนะทั้งหกนี้เป็นหลักสำคัญ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อสงัด ไม่นำสิ่งใดเข้ามากวนจิตใจ ใจก็จะสงบได้ด้วยวิธีการบำเพ็ญอยู่เสมอในที่สงัดเช่นนั้น

วิริยารัมภา ให้ประกอบความพากเพียรอยู่โดยสม่ำเสมอไม่ลดละ คำว่า วิริยารัมภา ในสถานที่นี่ ไม่ได้หมายถึงให้พากให้เพียรในการงานทั้งหลาย เช่น การก่อการสร้างยุ่งเหยิงวุ่นวายต่าง ๆ แต่ให้เพียรเพื่อละเพื่อถอดเพื่อถอนกิเลสซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจนี้ ให้เหมาะสมกันกับธรรม ๓-๔ ข้อที่แสดงมาเบื้องต้นนั้นมี วิเวกกตา เป็นสำคัญ ท่านว่าประกอบความพากเพียรอยู่โดยสม่ำเสมอ คือความมีสตินั้นแลท่านเรียกว่าความเพียร ไม่ใช่แต่นั่งภาวนาเฉย ๆ แล้วหาสติไม่ได้ เดินจงกรมหาสติไม่ได้ ความเพียรในท่าใดก็ตามที่หาสติไม่ได้ ไม่จัดว่าเป็นความเพียร คำว่าความเพียรนี้ต้องมีความตั้งอกตั้งใจ มีความจดจ่อด้วยความระมัดระวัง โดยความมีสติเป็นพื้นฐาน เรื่องของปัญญาก็ก้าวไปเรื่อย ๆ ในสิ่งที่ควรจะพิจารณาและกาลเวลาที่ควรจะพิจารณา สำหรับสตินั้นเป็นพื้นเป็นฐานอันสำคัญละไม่ได้

สนทนากันก็สนทนาเรื่องธรรมเหล่านี้ สนทนาเพื่อบำเพ็ญไม่ใช่สนทนาเฉย ๆ ศีลก็ให้รักษาด้วยดี นั่นพระเราจะมีความสดสวยงดงาม มีคุณค่ามีสง่าราศีด้วยความเป็นผู้มีสมาธิ ถ้าไม่อาศัยธรรมที่กล่าวผ่านมาแล้วนี้เป็นเครื่องสนับสนุน ยังไงสมาธิก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องสนับสนุน ให้บำเพ็ญจิตใจด้วยความสะดวกด้วยความมีสติ จิตก็จะสงบลงได้ ที่ว่าจิตไม่สงบเพราะอะไร ก็เพราะยาพิษนั้นเองเผาจิตให้ดิ้นรนกวัดแกว่งอยู่ตลอดเวลา ถ้าธรรมแล้วไม่ดิ้นรน สิ่งที่เป็นข้าศึกของธรรมนั้นแลทำใจให้ดิ้นรนกวัดแกว่งอยู่เสมอ ไม่ว่าใคร ๆ เป็นอยู่เช่นนั้น

เราเป็นนักบวชและนักปฏิบัติ ต้องได้ใช้ความเพียรเพื่อให้จิตได้รับความสงบ นี่ละสมบัติของพระคือศีล เรียกว่าศีลสมบัติ สมาธิทุกขั้นเป็นสมบัติของพระผู้มีหน้าที่อย่างเดียวเท่านั้น ปัญญาเป็นสมบัติของพระ วิมุตติหลุดพ้นเป็นสมบัติของพระที่จะควรได้รับจากธรรมที่กล่าวมาเบื้องต้นโดยลำดับลำดา ไม่นอกเหนือจากนี้เลย หลักใหญ่ที่สุดที่พระเรามุ่งมั่น ที่พระเราจะต้องตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติหลุดพ้นและวิมุตติญาณทัสสนะ ในสัลเลขธรรม ๑๐ ประการนี้ ให้มีความเกี่ยวเนื่องกันเป็นลำดับลำดา ธรรมส่วนละเอียดที่กล่าวมาตอนสุดท้ายนี้ จะไม่นอกเหนือไปจากความเพียรที่กล่าวมาแล้วนั้นเลย

เวลาออกพรรษาแล้ว ตามปกติในครั้งพุทธกาลท่านจะสอนให้ออกเที่ยวหาที่วิเวกสงัด สถานที่ใดเป็นที่วิเวกเป็นที่สงัด ประกอบความพากเพียรสะดวก ให้ไปสถานที่เช่นนั้น ๆ ถ้าเราต้องการครองมรรคผลนิพพาน เราก็ต้องดำเนินตามหลักแห่งสวากขาตธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพระภิกษุในครั้งพุทธกาลนั้น ให้น้อมเข้ามาสู่ความเป็นภิกษุของเรา การปฏิบัตินั้นให้เป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่ออกพรรษาแล้วไปที่ไหนก็ไปแบบเซ่อ ๆ ซ่าๆ ไปที่ไหนก็ไปแบบความขี้เกียจขี้คร้านครอบหัวไป สิ่งใดที่เคยเป็นเรื่องของกิเลสบีบบังคับ ก็ให้เป็นเรื่องของกิเลสบีบบังคับไปเรื่อย ๆ เปลี่ยนก็เปลี่ยนแต่สถานที่จากที่นี่ไปอยู่ที่นั่น แต่เรื่องอุบายวิธีการแห่งอรรถแห่งธรรม ที่จะควรเปลี่ยนแปลงแก้ไขถอดถอนกิเลสนั้น ไม่เปลี่ยนไม่ทำ กิเลสก็ไม่เปลี่ยน เคยบีบบังคับอยู่อย่างใดก็ต้องบีบบังคับอยู่เช่นนั้น การออกเที่ยวหาที่วิเวกสงัดก็ไม่เห็นมีความหมายอะไรถ้าไปแบบที่กล่าวนี้ ต้องไปแบบพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้วนั้น จึงจะเกิดผลเกิดประโยชน์

ท่านผู้ทรงมรรคทรงผลท่านทรงด้วยการประพฤติปฏิบัติ ด้วยความจริงจังจริง ๆ ในจิตใจ ไม่ใช่มาทำเล่น ๆ เหลาะ ๆ แหละ ๆ ดังที่เห็นอยู่นี้ ผมพูดจริง ๆ นะผมหนักอก ความเคลื่อนไหวของหมู่ของเพื่อน สิ่งที่หยาบ ๆ ก็ยังให้เห็นอยู่ชัดเจน มันน่าจะแก้จะไขได้สิ่งเหล่านี้ น่าจะระมัดระวังได้ ไม่น่าจะออกมาแสดงก็ยังมาแสดงให้เห็นอยู่โดยไม่คาดไม่ฝันว่าจะเป็น แม้จะไม่เป็นความเสียหายอย่างใดก็ตาม แต่การเคลื่อนคลาดอันหาเหตุผลไม่ได้ ก็แสดงถึงจิตใจที่จืดจางว่างเปล่าจากอรรถจากธรรม จากความตั้งอกตั้งใจ จากความจดจ่อ จึงเป็นอย่างนั้นได้

อย่างบอกว่าประชุม การบอกเพื่อนฝูงหรือเผดียงเพื่อนฝูงว่าประชุม ก็ต้องบอกก่อนเวลาพอสมควร อันนี้ถึงเวลาที่บอกแล้วนั้นถึงบอกตูมตามอย่างนี้ไม่น่าดูอย่างยิ่ง นี่ละส่อถึงเจ้าของผู้บอก แล้วทีนี้จะส่อไปไหนบ้างล่ะ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของธรรมหรือเป็นเรื่องของกิเลส เป็นเรื่องของความคิดอ่านไตร่ตรองด้วยสติปัญญา หรือเป็นเรื่องหาสติหาความคิดอ่านไม่ได้ หาปัญญาไม่ได้ ไม่คิดไม่อ่าน ทำไปแบบสักแต่ว่าทำ ไม่ได้มีเจตนาอะไรรอบคอบในความคิดการกระทำของตนนั้นเลย นั่นมันประกาศไปอย่างนั้น ผู้ที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ทำไมจะไม่สะดุดใจในเรื่องเช่นนี้ เพราะไม่น่าจะเกิดจะมี

การสั่งสอนหมู่เพื่อนก็สอนเต็มอรรถเต็มธรรม เต็มสติกำลังความสามารถ ความลำบากลำบนอะไรทั้งหมดก็เพื่อเพื่อนฝูงและประชาชนญาติโยม สรุปลงแล้วก็ว่าเพื่อโลกเพื่อผู้อื่น เราก็สอนอย่างเต็มภูมิ กำลังวังชาก็รู้สึกว่าอ่อนลง ๆ ปัจจุบันนี้บอกชัด ๆ อยู่อย่างนี้ การที่อดทนอยู่กับหมู่กับเพื่อนนี้ต้องใช้ความอดทนจริง ๆ ถ้าธรรมดาตามนิสัยวาสนาของตัวเองซึ่งอาภัพอยู่แล้วไม่อยู่ ที่ไหนสะดวกสบายตามที่เคยอยู่มาเป็นมา จะไปสถานที่เช่นนั้น เรื่องที่จะคิดกลัวความลำบากลำบนอย่างนั้นอย่างนี้เกี่ยวกับปัจจัย ๔ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัชยาแก้โรคแก้ภัย เราแน่ใจว่าไม่สนใจ เพราะเคยเป็นอย่างนั้นมาแล้วในหัวใจดวงนี้ ในเวลาประพฤติปฏิบัติไม่เคยสนใจกับสิ่งใดนอกจากจะฆ่ากิเลสให้บรรลัยไปจากหัวใจ โดยไม่ให้มีอะไรเหลืออยู่บนหัวใจนี้เลยเท่านั้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่โตที่ไหน เรื่องกิเลสบีบอยู่บนหัวใจต่างหากเป็นเรื่องใหญ่โตมาก ทุ่มลงไปที่ตรงนั้นมันก็หายหมดไอ้เรื่องเหล่านี้

นี่ก็ทนอยู่กับหมู่กับเพื่อน ออกพรรษาแล้วนี้ก็จะยิ่งหลั่งไหลมา โห เต็มไปหมด ไม่รู้จักประมาณนะ ไม่รู้จักความพอดิบพอดี นี่ก็หาประมาณไม่ได้ แสดงหรือส่อให้เห็นอยู่อย่างนั้น มากเท่าไรยิ่งดัน ๆ ๆ เข้ามา ตอนออกพรรษาแล้วนี้แหละพระตามปกติแล้วมากขึ้นโดยลำดับ ยิ่งกว่าเวลาเข้าพรรษา มาแบบไม่คิดอ่านไตร่ตรองอะไร มากเท่าไรก็ดันเข้ามา ๆ ดันเข้ามาเป็นเรื่องของตัวคนเดียวก็ค่อยยังชั่ว แต่นี้มันเกี่ยวกับหมู่กับคณะกับครูกับอาจารย์ ที่จะเป็นภาระทุกสิ่งทุกอย่างเช่นเดียวกัน ทำไมจะไม่หนัก

เอานะหมู่เพื่อน เวลาออกพรรษาแล้วให้ไปหาที่ที่บอกตะกี้นี้ หรือจะเข้าไปเทศบาล ๑ เทศบาล ๒ ได้อรรถได้ธรรมวิเศษวิโสมาอวดกันก็เอาเราไม่ห้าม เพราะเราสอนทุกแง่ทุกมุมแล้ว นำธรรมะของพระพุทธเจ้ามาสอนเต็มสติกำลังความสามารถทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีลี้ลับหรือปิดบังอะไรไว้แม้แต่น้อยเลย ถ้ายังเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่แน่ใจ ซึ่งควรจะได้ธรรมที่เราต้องการอย่างถึงใจยิ่งกว่าเทศบาล ๑ เทศบาล ๒ และการติดต่อผู้คนญาติโยมให้วุ่นวายไปหมด ขอนั้นขอนี้แล้วก็ไป นั่นถ้าจะวิเศษจริง ๆ นอกจากมันจะเน่าเฟะให้เห็นอยู่ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ตายเท่านั้นไม่เป็นอย่างอื่น

เพราะธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมที่แม่นยำที่สุด ในสามแดนโลกธาตุนี้ไม่มีอะไรจะแม่นยำยิ่งกว่าธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนไว้แล้วอย่างใด ถ้าขัดต่อธรรมแล้วก็พึงทราบว่า นั้นคือตัวมารที่จะสังหารตนเองก่อนอื่น นอกจากนั้นก็ไปทำลายผู้อื่น ตาเห็นเข้าก็สะดุดเข้าไปในหัวใจทำลายหัวใจ หูได้ยินการแสดงออก กิริยาแสดงออกแห่งความเลวทรามเหล่านั้นของพระ ก็จะไปสะเทือนจิตใจของผู้ได้เห็นได้ยินได้ฟังหาประมาณไม่ได้ กระเทือนไปหมด ฉิบหายไปหมด ล่มจมไปตาม ๆ กันหมด นั่นเป็นของดีไหม

สิ่งใดที่ขัดต่ออรรถต่อธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว เราอวดดิบอวดดีนำออกไปใช้ ก็มีแต่เรื่องของกิเลสที่คอยจะทำลายธรรม หรือแทรกแซงธรรมอยู่ตลอดเวลานี้เท่านั้น ถ้าเป็นลูกศิษย์มีครูจริง ๆ ก็ต้องหาที่วิเวกหาที่สงัด ที่ใดจะสะดวกแก่การบำเพ็ญธรรม ที่นั้นเป็นสิริมงคลแก่หัวใจของเราและตัวของเรา เรื่องปัจจัย ๔ เป็นเพียงเครื่องอาศัยไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น พอยังชีวิตอัตภาพให้เป็นไป ขอให้ได้บำเพ็ญอรรถธรรมเต็มหัวใจแล้วเป็นที่พอใจของผู้ปฏิบัติ เพื่อมุ่งอรรถมุ่งธรรมอย่างยิ่งคือมรรคผลนิพพาน

เพราะมรรคผลนิพพานที่ว่าอยู่ชั่วเอื้อมในครั้งพุทธกาลฉันใด ก็อยู่ชั่วเอื้อมในครั้งนี้เหมือนกันฉันนั้น โดยมีหลักศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องประกันไม่เป็นอย่างอื่น เพราะศาสนธรรมนี้เคยแก้โลกแก้สงสาร เคยสังหารกิเลสอาสวะซึ่งเป็นภัยต่อจิตใจของสัตว์โลกให้พินาศฉิบหายไป ได้ครองบรมสุขมามากต่อมากแล้วจนนับไม่ได้ นอกจากนั้นยังเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่ผู้ได้บำเพ็ญตามหลักศาสนธรรมของพระพุทธเจ้ามามีจำนวนมากเท่าไร นี่ละธรรมนี้จึงเป็นธรรมที่ว่าอยู่แค่เอื้อม ๆ ของผู้ปฏิบัติ

เอื้อมเข้าไปซิ หลักธรรมท่านสอนว่าอย่างไร หลักธรรมนั้นละคือจุดเอื้อม เมื่อเอื้อมถึงหลักธรรมหลักวินัยนี้แล้ว จะถึงมรรคถึงผลจนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น กิเลสจะมีมากน้อยขนาดไหนไม่นอกเหนือจากธรรมาวุธ ที่ได้ประกาศสอนแล้วตั้งแต่วันตรัสรู้มาจนกระทั่งบัดนี้ เป็นธรรมที่เกรียงไกรที่สุด พระพุทธเจ้าได้เป็นศาสดาเอกก็เพราะธรรมเหล่านี้ สาวกทั้งหลายได้เป็นสรณะของโลกมาก็เพราะธรรมเหล่านี้ ที่โลกทั้งหลายได้กราบไหว้ก็เพราะธรรมศักดิ์สิทธิ์ธรรมวิเศษ สามารถที่จะปราบความชั่วช้าลามกทั้งหลาย ตั้งแต่ส่วนหยาบ ๆ จนกระทั่งละเอียดสุด ให้ขาดสะบั้นไปจากใจของผู้บำเพ็ญของผู้ปฏิบัตินั้นโดยไม่ต้องสงสัย เรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ เพราะฉะนั้นหลักธรรมหลักวินัย จึงเป็นจุดที่ผู้ปฏิบัติจะต้องเอื้อมอยู่ตลอดเวลา จับและยึดอยู่ตลอดเวลา ไม่ปล่อยไม่วางหลักธรรมหลักวินัย ก็เท่ากับว่ายึดสายทางแห่งมรรคผลนิพพานไว้ได้ ๆ โดยลำดับ และก้าวเข้าไป ๆ สาวเข้าไปจนกระทั่งถึงองค์แท้แห่งมรรคผลนิพพาน ซึ่งไม่นอกเหนือจากหลักธรรมหลักวินัยนี้เลย นี่ละที่ว่าอยู่แค่เอื้อม

พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้โดยลำพังพระองค์เป็นสยัมภูนั้น ยกไว้เป็นประเภทหนึ่งเป็นเอกเทศของบรมศาสดา ส่วนพระสาวกทั้งหลายนั้นท่านเอื้อมเข้าสู่มรรคสู่ผล จนกระทั่งได้เป็นสรณะของพวกเราของชาวพุทธทั้งหลายมาจนกระทั่งบัดนี้ ท่านเอื้อมไปจุดไหน ท่านเอื้อมไปจุดหลักธรรมหลักวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ทั้งสอนโดยพระองค์เอง ทั้งการได้ยินได้ฟังสืบต่อมาเรื่อย ๆ จากครูจากอาจารย์ถ่ายทอดกันมาเรื่อย ไม่เพียงแต่พระพุทธเจ้าจะทรงแสดงโดยพระองค์เองเพียงเท่านั้น นี่ก็เป็นธรรมที่ตายตัว ๆ ท่านผู้ใดนำออกไปประพฤติปฏิบัติ หรือท่านผู้ใดนำออกไปอบรมสั่งสอนกัน ย่อมเป็นเหตุเป็นผลเป็นฤทธาศักดานุภาพ ที่จะปราบความชั่วช้าลามกทั้งหลายให้สิ้นไป เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าทรงแสดงเอง

เพราะอาวุธอันนี้เมื่อยกขึ้นฟัน ถ้าเป็นมีด สิ่งที่ถูกฟันก็ต้องขาดสะบั้นไป เพราะอาวุธนี้บรรจุคุณค่าหรือบรรจุคุณสมบัติ หรือบรรจุฤทธาศักดานุภาพเพื่อปราบความชั่วไว้แล้วโดยสมบูรณ์ เมื่อยกขึ้นต่อสู้ยกขึ้นสังหารกันแล้ว ข้าศึกย่อมจะหมอบราบหรือบรรลัยไปโดยไม่ต้องสงสัย นี่จึงว่าสาวกทั้งหลายท่านเอื้อมในจุดนี้ ท่านได้เป็นสาวกอรหันต์ในครั้งพุทธกาล แปลกต่างอะไรไปจากหลักธรรมหลักวินัยที่เป็นเครื่องมือหรือทางดำเนิน ไม่ได้มีแปลกต่างไปจากนี้ ไม่ได้มีปลีกมีแวะไปจากนี้เลย พอให้พวกเราทั้งหลายซึ่งปฏิบัติตามพระโอวาทคำสั่งสอนนี้ จะน้อยเนื้อต่ำใจ หรือจะผิดจะพลาดไปได้จากผลที่พึงหวัง ไม่มีอะไรผิดพลาด ถ้ายึดตามหลักธรรมหลักวินัยนี้ให้ถูกต้องดีงามแล้ว ก็เช่นเดียวกับพระสาวกทั้งหลายท่านยึดพระโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้แล้วนั่นเองจะผิดกันอะไร

สำคัญที่ปล่อยให้กิเลสเข้าไปแบ่งสันปันส่วนเอาเสียทุกวี่ทุกวัน ทุกเวล่ำเวลา ทุกอิริยาบถ ทุกอาการของความเพียรนี่ซิ จะเป็นครั้งไหนก็เถอะ ถ้าลองกิเลสได้เข้าทำลายย่อมเหมือนกันกับไฟเผา เผาตรงไหนไหม้ได้ทั้งนั้นไม่ว่าครั้งไหน ๆ ถ้าไฟลงได้เผาไหม้แล้วต้องแหลกไปหมด นี่กิเลสเข้าตรงไหนก็เผาไหม้ไปได้ทั้งครั้งพุทธกาลทั้งปัจจุบันไม่มีเลือก กิเลสไม่ได้กลัวคนที่เซ่อ ๆ ซ่า ๆ คนขี้เกียจขี้คร้าน คนท้อแท้อ่อนแอ คนหาสติหาปัญญาหาความพากเพียร หาความอดความทน หาความสำรวมไม่ได้ กิเลสไม่ได้กลัว ครั้งไหนก็ครั้งเถอะ แต่กิเลสกลัวคนที่มีธรรมตรงกันข้ามนี้ คือคนมีความเฉลียวฉลาด มีความพากความเพียร มีความอดความทน มีความพยายาม มีความสำรวมระวัง มีความจดจ่อต่อเนื่องกันด้วยความพากเพียรไม่ลดละท้อถอย นี่กิเลสกลัว ไม่กลัวไม่ได้

ถึงจะกลัวขนาดไหนก็ตามเถอะ อย่างไรก็ไม่พ้นที่จะพังทลายเมื่อได้นำธรรมเหล่านี้เข้าไปปราบ นี่ละเรียกว่าธรรมอยู่ในความเอื้อมของเราที่ยึดเอาไว้ จะเรียกว่าธรรมแค่เอื้อมก็ได้ อยู่ตรงนี้ไม่อยู่ที่ไหน ไม่อยู่กับเวลานั้นเดือนนั้นปีนั้น ไม่อยู่กับเมืองอินเดียเมืองไทยเรา อันนั้นเป็นกาลสถานที่เวล่ำเวลาตามโลกสมมุติ ไม่ใช่จะเป็นผู้ให้มรรคผลนิพพานแก่ผู้ใดแต่อย่างใด ธรรมเท่านั้นเป็นสิ่งที่จะให้มรรคผลนิพพาน และกิเลสเท่านั้นที่จะให้ความชั่วช้าลามก ให้ความฉิบหายแก่ผู้สนิทติดจมกับมัน และธรรมเท่านั้นที่จะให้ความเป็นสิริมงคลแก่จิตใจของผู้บำเพ็ญตามไม่มีอย่างอื่น เพราะฉะนั้นสมัยใดก็ตาม ขอให้ยึดหลักสวากขาตธรรมนี้ไว้ นี้เป็น อกาลิโก สถานที่กาลเวลาไม่เข้ามาเกี่ยวข้องได้ ความจริงเป็นความจริงของตัวเองอยู่ตลอดเวลา นี่หลักใหญ่อยู่ตรงนี้

นี่เวลาออกพรรษาแล้วให้พากันออกไปประพฤติปฏิบัติกำจัดกิเลส หาที่ที่โลกเขาไม่ต้องการนั่นละ กิเลสมันก็ไม่ต้องการแต่ธรรมต้องการ เพราะเป็นช่องว่างที่จะให้ธรรมได้ต่อสู้กับกิเลสได้อย่างสะดวกสบาย ถ้าที่ใดหนาแน่นด้วยความนิยมชมชอบของโลกของสงสาร นั่นเป็นเรื่องของกิเลสร้อยเปอร์เซ็นต์ ธรรมก้าวออกไม่ได้ ถ้าสถานที่ใดโลกเขาไม่ยินดีเพราะกิเลสไม่ยินดี กิเลสกับโลกอยู่ด้วยกัน สถานที่เช่นนั้นแลเป็นสถานที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติ อะไรก็ตามให้ได้เห็นเหตุเห็นผล ให้ได้สัมผัสสัมพันธ์กับตัวเองนั้นแหละเป็นเหมาะสมที่สุด ทุกข์ก็ให้เจ้าของได้เห็น ทุกข์ในท่าต่อสู้ไม่เป็นไร เอ้า ทุกข์ไปเถอะ ทุกข์แบบไม่เป็นท่า ทุกข์แบบหาทางออกไม่ได้ ทุกข์แบบจนตรอกจนมุมนี้ โลกเคยเป็นมามากต่อมาก เราก็เคยเป็นทุกข์แบบนั้นมาแล้วไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร แต่ทุกข์เพื่อความพากความเพียรนี้เป็นทุกข์ที่มีสาระสำคัญมาก เป็นทุกข์ที่มีคุณค่า เป็นทุกข์ที่จะหนุนเราให้พ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย กลายเป็นความสุขจนกระทั่งถึงบรมสุขขึ้นมา เพราะสถานที่เช่นนั้น คือที่อดอยากขาดแคลน ที่ที่ว่าเกิดความทุกข์ความลำบากลำบน

ความเพียรก็เหมือนกัน เรื่องความเพียรนี้ต้องหมายเอาสติปัญญาเป็นสำคัญ อย่าเพียงอดเฉย ๆ เช่นอย่างอดข้าวก็อดเฉย ๆ ไม่มีความเพียรนี้ใช้ไม่ได้เลย ดีไม่ดีผิด เป็นอัตตกิลมถานุโยค ทำความลำบากแก่ตนเปล่า ๆ ไม่เกิดประโยชน์ ที่อดนี้ก็เพื่อให้เป็นอรรถเป็นธรรม คือเป็นเครื่องช่วย เป็นอุปกรณ์อันหนึ่งแก่ความเพียรของเรา เช่น ธาตุขันธ์ของเรามีกำลัง รับประทานอะไรหรือฉันอะไรลงไปมีกำลัง เมื่อมีกำลังแล้วกำลังนี้ก็ไปเสริมฝ่ายกิเลสเสีย กิเลสก็หนุนหัวใจบีบบังคับหัวใจให้ก้าวไม่ออก สติตั้งไม่อยู่ ปัญญาหาทางก้าวออกก้าวเดินไม่ได้เลยอย่างนี้เป็นต้น เคยแล้วนี่ นี่ละที่ว่าอดอาหาร

เราจึงต้องพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงหลายสันหลายคม เอ้า ผ่อนอาหารเป็นอย่างไร ผ่อนเห็นว่าดีแต่ยังไม่ถึงใจ เอ้าอด ความเพียรไม่ถอย ในขณะที่อดนั้นแหละเป็นขณะเป็นเวลาที่ประกอบความเพียรเน้นหนักที่สุดมากที่สุด ยิ่งกว่าเวลาธรรมดา เพราะทำได้สะดวก สติก็ตั้งได้ไม่ล้มง่าย ๆ ปัญญาก็ออกได้ง่ายและคล่องตัวไม่อืดอาดเนือยนาย ไม่อยู่แบบจนตรอกหาทางออกไม่ได้ เหมือนเวลาที่อิ่มหนำสำราญด้วยปากด้วยท้อง เมื่อเราเห็นอยู่ชัด ๆ ในการประกอบความพากเพียรของเราด้วยวิธีการมีอดอาหารเป็นต้น ถึงจะทุกข์ยากลำบากขนาดไหนก็ต้องยอมอดยอมทน เหมือนอย่างเราเดินทางไปถูกที่ทุรกันดารลำบากลำบน แต่จำเป็นทางไปสายนั้น เราต้องฝืนเราต้องเดิน เราต้องทนทุกข์ไปจนกระทั่งผ่านจุดนั้นไปได้ ถ้าจะไปทางอื่นก็ไปไม่ได้ไม่ถูกทาง ทางนี้ขรุขระทางนี้ลำบากทุรกันดารก็จำต้องไป เพราะไปแล้วถูกจุดหมายปลายทาง

นี่ก็เหมือนกัน ไม่ใช่เราจะอดอาหารเพื่อเอามรรคผลนิพพานจากการอดเท่านั้น แต่การอดอาหารนั้นเป็นเครื่องสนับสนุนทางด้านความเพียรเรา สติก็ดี ดีขึ้นเป็นลำดับ ออกทางด้านปัญญาก็คล่องตัว ปัญญาเดินได้ก้าวได้สะดวก สติสืบต่อกันไปโดยลำดับลำดา นี่จึงเรียกว่าการอดนี้ถูกกับจริตนิสัยของเรา เมื่อเป็นเช่นนั้นถึงจะลำบากลำบนขนาดไหน แต่ผลที่เราพึงหวังนั้นได้เป็นลำดับลำดาสมมักสมหมาย ก็ต้องทนต้องอดไปเรื่อย ๆ นี่ละการประกอบความเพียรที่ว่าอดอาหารเป็นความถูกต้อง คือช่วยสนับสนุนทางด้านจิตใจให้เจริญก้าวหน้า

คิดดูซิเวลาฉันมาก ๆ เป็นอย่างไร สติหาไม่ได้เลย ตั้งพับหายเงียบ ๆ ต้องขออภัยเอาตัวผมเป็นพยานได้เลยไม่สงสัย เพราะเคยเป็นมาแล้วเวลาออกปฏิบัติ เพราะธาตุขันธ์ของเรายังหนุ่มยังน้อยอยู่นี่ กำลังวังชามี เมื่อเป็นเช่นนั้นกิเลสก็มีกำลัง เพราะสิ่งเหล่านี้หนุนมัน ทำภาวนาก็ไม่ได้เรื่อง พอตั้งสตินี้ล้มผล็อย ๆ ปัญญาจะเอามาจากไหนเมื่อเป็นเช่นนั้น พยายามทำอยู่ขนาดไหนก็เห็นอยู่อย่างนั้นชัด ๆ ว่าตั้งสติไม่อยู่ ๆ จนถึงกับบางทีน้ำตาร่วงเลย เสียใจ เคียดแค้นให้กิเลส ถูกกิเลสมันทุบมันตีมันเตะมันยันล้มไปหมด..สติ ถ้าสติตั้งไม่อยู่ก็เรียกว่าความเพียรตั้งไม่อยู่ นั่นซิที่นี่ถึงต้องได้พลิกหา

เฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้อยู่ในวัยหนุ่มสาวเรานี้เป็นหลักธรรมชาติ เมื่อธาตุขันธ์มีกำลังมาก ๆ แล้วกิเลสตัวอื่น ๆ ไม่ค่อยแสดงอะไรมากนัก ตัวราคะเป็นสำคัญ ไม่ถึงกับว่ามาแสดงทางกายนะ หากเป็นอยู่ภายในจิตให้รู้อยู่ทั้ง ๆ ที่เราจะฆ่ามัน เมื่อมันมาแสดงให้เห็นต่อหน้าต่อตาท้าทายเราอยู่แล้วแม้ภายในจิตเท่านั้น ไม่เสียใจได้ยังไงคนเรา นี่ละที่ว่ามันแสดง ไม่ได้หมายถึงว่าแสดงออกตามอวัยวะ อันนี้มันไม่ออกไม่เป็นแหละ เพราะเตรียมจะฆ่ากันอยู่แล้ว เป็นแต่เพียงว่ามันแสดงอยู่ที่ต้นตอของมันให้เห็นอยู่อย่างชัด ๆ

นี่ละมันแสดงอยู่อย่างนั้นและท้าทายเราอยู่อย่างนั้นเป็นไงนักปฏิบัติเรา เมื่อกิเลสมีราคะเป็นต้น ท้าทายอยู่ภายในหัวใจให้เห็นอยู่ชัด ๆ ถึงจะไม่มีกำลังหรือไม่อาจหาญที่จะแสดงออกทางร่างกายก็ตามเถอะ เพียงเท่านั้นก็เจ็บก็แสบพอแล้ว เจ็บแสบมากที่สุดเลย นี่ละที่ทำให้เกิดอะไร ๆ ขึ้นมาทางด้านธรรมะ หรือว่าเกิดความเคียดความแค้นที่จะหาวิธีต่อสู้กันให้อันนี้ราบลงไปจนได้ ก็ต้องได้หาอุบาย เช่น ผ่อนอาหารเป็นยังไงช่วยได้ไหม อดอาหารเป็นยังไงช่วยได้ไหม ก็ต้องทดลองดู เมื่อทดลองเห็นผลนั้นแล้ว ๆ จับติดเลย เอาเรื่อย อดเรื่อยทำเรื่อย ทางนั้นก็ค่อยดี ทีนี้ไอ้เรื่องที่แสดงเป็นความเจ็บแสบภายในหัวใจของเรานั้นก็สงบไป ๆ แล้วเงียบไป บางครั้งเหมือนกับเป็นพระอรหันต์น้อย ๆ ขึ้นมายังมี นั่นเพราะสติดี ปัญญาก็เหมือนกับว่าทัน ความจริงทันเฉย ๆ ยังฆ่ากันไม่ได้ เท่านี้ก็พอ นี่เห็นผลแล้ว

นั่นแหละที่จะได้เป็นความลำบากลำบนในการประกอบความพากเพียร เรียกว่าทางขรุขระหรือทางทุรกันดารก็คืออย่างนี้ละ ได้แก่การอดอาหารลำบากลำบนนี่ ก็เหมือนกับทางทุรกันดาร แต่ผลมันมีอยู่ ทางไปตรงนี้จึงจะเห็นผล เช่น จิตก็สงบ เมื่อสติตั้งได้ทำไมจิตจะไม่สงบ จิตก็สงบแน่วลงไปเพราะสติตั้งได้ รักษาจิตใจได้ กิเลสไม่มาต่อยมาทุบมาตีหรือมาเตะมายันออกให้ล้มผล็อย ๆ เหมือนแต่ก่อน ตั้งไว้เท่าไรก็อยู่ได้ ๆ นั่นละเมื่อสติรักษาได้ ตั้งอยู่ได้นานเท่าไรจิตก็มีความสงบนานเท่านั้น ๆ และหนุนกันไปโดยลำดับลำดา สุดท้ายก็เป็นสมาธิได้ เย็นใจได้ เมื่อจิตเป็นสมาธิเท่านั้นเย็น เรื่องราคะตัณหาอะไรนี้ไม่มากวน จิตสงบเย็นสบาย นี่มีความหมายแล้วในตัวของเราที่นี่

นั่งอยู่ก็รู้สึกสบาย ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถทั้งสี่รู้สึกสบาย เพราะสิ่งที่เป็นภัยตัวแสบ ๆ นี้ไม่เข้ามายุมาแหย่ก่อกวนทุบตีเราอยู่ตลอดเวลาดังที่เคยเป็นมา นี่เห็นคุณค่าของความสงบแล้ว ก็ขยับขึ้นเรื่อยเรื่องเครื่องหนุน คือวิธีการแห่งความเพียรทั้งหลายที่จะช่วยด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น อดอาหารเป็นต้นนั้นถอยไม่ได้ หากเป็นของมันเอง ผู้ปฏิบัตินั้นแหละจะเป็นผู้รู้เรื่องของตัวเอง จะผ่อนสั้นผ่อนยาว จะอดมากอดน้อย ทำมากทำน้อย ทุกข์มากทุกข์น้อย ไม่มีใครทราบยิ่งกว่าผู้ปฏิบัติจะทราบตัวเอง จะผ่อนผันสั้นยาวกับตัวเองในเวลาปฏิบัติอยู่หรือทรมานตนเองอยู่ ก็ให้เป็นเรื่องของเจ้าของเป็นผู้จะต้องทราบเอง นี่ผู้ปฏิบัติต้องใช้สติปัญญาพินิจพิจารณาอย่างนี้ ถ้าสักแต่ว่าทำ ๆ ไม่ได้เรื่องอะไร

นี่ละเคยพูดให้ฟังว่าที่เคียดแค้นจนน้ำตาร่วง ๆ จริง ๆ ไม่ลืมเลย เพราะเคียดแค้นให้กิเลสตัวนี้ละตัวสำคัญ มันเป็นอยู่ภายในหัวใจต่างหากนะ ไม่ได้มาแสดงอะไรภายนอก แต่เราจะฆ่ามันอยู่แล้วมันยังมาท้าทายเราอยู่นี้ได้ยังไง นั่นฟังซิ ทำไมจะไม่เคียดแค้นคนเรา นี่ละที่ฟัดกันอย่างเต็มที่เต็มฐาน พอได้ที่จิตของเรามีความสงบแล้ว ทีนี้เราจะทำยังไงก็ทำได้ นั่นละความเพียรมันถึงกล้า เป็นตายไม่ได้คำนึงขอให้กิเลสตายเท่านั้น ส่วนเราจะตายเมื่อไรไม่ได้สนใจ สนใจอยู่เพียงจุดเดียวว่าจะเอากิเลสให้พังให้ตายอย่างเดียว แล้วผลก็ปรากฏขึ้นมา

หากเราจะพูดถึงทางด้านปัญญา การผ่อนอาหารการอดอาหารเป็นคุณค่าอันสำคัญทั้งด้านสมาธิทั้งด้านปัญญา ถ้าพิจารณาทางด้านปัญญาก็คล่องตัว เราจะเห็นได้เวลาเรามาฉัน เพราะธาตุขันธ์ถ้าอดไปนาน ๆ มันก็ตายได้นี่ ก็ต้องมีการผ่อนสั้นผ่อนยาวกัน แต่อยู่ในความสังเกตของเจ้าของตลอดเวลา เวลาฉันลงไปแล้วเป็นอย่างไร ถ้าพูดถึงเรื่องสมาธิก็เข้าดี แต่จะมีผิดนิดไม่มาก ก็ให้รู้อยู่นั้นแหละ ว่าสมาธิที่เป็นไปด้วยความอิ่มหนำสำราญเพราะการฉันอาหารเสร็จแล้วนี้ต่างกัน ด้านปัญญาก็เหมือนกัน ถ้าเราฉันจังหันมีความอิ่มหนำสำราญ ธาตุขันธ์มีกำลังแทนที่ปัญญาจะคล่องตัวกลับไม่คล่องให้เห็นอยู่ชัด ๆ เมื่อเป็นอย่างนั้นก็ต้องได้หมุนกันไปหมุนกันมา สับเปลี่ยนกันเรื่อย

เวลาอดอาหารเข้าไปหลายวันเท่าไรสติยิ่งดี ดีถึงขนาดที่ว่าติดต่อกันเลยทั้ง ๆ ที่ยังไม่ใช่เป็นมหาสตินะ เป็นเพียงขั้นสติที่ควบคุมจิตใจให้เป็นสมาธิเท่านั้น ยังติดต่อสืบเนื่องกันไปไม่เผลอเลย นั่นเป็นหลาย ๆ วันติดต่อกันไปเรื่อย ๆ ทีนี้ปัญญาตอนเวลาเราพิจารณาก็ออกได้ตามกำลังของปัญญานั้นแล ถึงจะไม่มีความคล่องแคล่วแกล้วกล้าฉลาดแหลมคมขนาดไหน ก็ออกได้ตามภูมิของสติปัญญาในขั้นเริ่มแรกที่เราฝึกหัด เพราะอาศัยการอดอาหารนี้เป็นเครื่องหนุน นี่เห็นได้ชัด ๆ อย่างนี้ก็ปล่อยกันไม่ได้ละซิ เป็นกับตายก็ต้องได้พันกันไปนั่นแหละ

เรื่องความทุกข์ความลำบากอะไรจึงไม่ไปคิดให้เสียเวล่ำเวลา ที่เกิดจากการอดการหิวเพียงเท่านี้ เราคิดถึงเรื่องที่เราจะจมอยู่ในวัฏสงสาร แบกกองทุกข์หาประมาณไม่ได้ต่อไปอีกนี้นานเท่าไร ถ้าเราไม่หลุดพ้นจากนี้แล้วยังไงก็จะต้องแบกกองทุกข์นี้ตลอดไป จนหากำหนดกฎเกณฑ์ไม่ได้ หาที่จุดที่หมายไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นความทุกข์เพียงเท่านี้ เราจึงไม่เห็นว่าทุกข์พอที่จะเกินหรือว่าเหลือวิสัยของเราที่จะทำได้ ต้องเอาจุดที่ว่าตายนี้เท่านั้น

ถ้าหากว่าทุกข์เพียงการประกอบความพากเพียรเท่านี้ ยังไม่สามารถที่จะยืนยัน ไม่สามารถที่จะรับรอง ไม่สามารถที่จะต้านทานต่อสู้กันได้อดทนกันได้แล้ว เวลาจะตายเป็นยังไง ทุกข์เวลาจะตายต้องหนักที่สุด ขนาดตายถึงตายได้ ทุกข์นี้ไม่ได้ทุกข์ถึงขั้นตาย แต่เป็นทุกข์อยู่ในขั้นพิจารณาอยู่ด้วย ทุกข์เป็นสัจธรรมด้วย พิจารณาให้เป็นสัจธรรมด้วย ทำไมจะทนไม่ไหว ทำไมจะสู้ไม่ไหว สู้ไม่ไหวก็แสดงว่าการเรียนสัจธรรมนี้ยังไม่เข้าใจ นั่นฟังซิ เอาให้สัจธรรมนี้เข้าใจซิ เพราะบางครั้งมันเรียนสัจธรรมเข้าใจ พิจารณาสัจธรรมโดยปุบปับหรือโดยบังเอิญอย่างนี้ เอาจนกระทั่งถึงสัจธรรมรอบตัวเลยก็ยังมี เมื่อเป็นเช่นนั้นสัจธรรมที่เคยรู้เคยเห็นโดยความบังเอิญ หรือแบบปุบปับที่เราเคยพิจารณามาแล้วนั้นแล มาเป็นเครื่องยืนยันในการดำเนินก้าวไปของเรา ให้สืบต่อกันไปโดยลำดับ ๆ ด้วยอุบายวิธีนี้

ถ้ายังกลัวตายอยู่แล้วยังเรียนทุกขสัจไม่รอบ ยังไม่รู้ทุกขสัจ ยังไม่เข้าใจในอริยสัจคือทุกขสัจ นั่น เอาให้เข้าใจซิ ปัญญาก็ยังไม่รอบจะเรียกว่ามรรคสัจได้อย่างไร เมื่อปัญญายังไม่รอบยังไม่ดีพอที่จะรู้รอบทุกข์ ทุกฺขํ อริยสจฺจํ เรียกว่ายังไม่รอบ เอ้า ทุกข์ขนาดไหน เอาจนกระทั่งให้เห็นชัดเจน ไม่สนใจถึงเรื่องเป็นเรื่องตาย ทุกข์มากทุกข์น้อย เอ้าทุกข์ไป เราจะตามให้เห็นความจริงแห่งทุกข์ที่แสดงอยู่นี้ แยกโน้นแยกนี้ดังที่เคยอธิบายให้ฟังแล้ว จนกระทั่งทุกข์นี้สว่างกระจ่างแจ้งขึ้นมาเห็นชัดเจน นี่คือทุกขสัจ แล้วไม่เห็นตาย ก็ยิ่งเป็นคติไปเรื่อย ๆ นี่ผู้ปฏิบัติจะต้องเห็นด้วยตัวเอง นี่ละที่ว่าสัจธรรมเป็นของจริง เป็นความจริงอย่างนี้

ไม่ใช่จริงเพราะเรียนมาจำมาเฉย ๆ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยร้องครางยิ่งกว่าเสือถูกปืน ไม่มีสติสตัง ล้มเหลวไปหมด นั่นมันสัจธรรมในความจำเฉย ๆ ถ้าเป็นสัจธรรมในความจริงนี้จะหมุนติ้วเลยเชียว ให้เข้าถึงความจริง ๆ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายที่จะขาดก็ให้รู้ไม่มีคำว่าถอย นี่เรียกว่าสัจธรรมของภาคปฏิบัติที่รู้ขึ้นมาประจำหัวใจของผู้ปฏิบัตินั้นแล ผู้ไม่ปฏิบัติไม่รู้ไม่เห็นได้ ท่านจะประกาศสอนไว้สักเพียงไรก็ตาม ก็จะไปคว้าเอาแต่ความจำ ๆ นั่นแหละไม่ว่าท่านว่าเรา อันนี้ไม่ได้ตำหนิผู้ใด มันเป็นเหมือนกัน การเรียนมาจำมานี่ยังไม่เป็นความจริง แก้กิเลสไม่ได้ถ้าไม่นำไปเป็นภาคปฏิบัติดังที่กล่าวมาแล้วนี้ จึงจะค่อยรู้ชัดเจนไปโดยลำดับจนกระทั่งรอบตัว เห็นสัจธรรมเป็นสักขีพยานขึ้นมาเพียงครั้งเดียวเท่านั้นจะไม่มีวันลืมเลย เรื่องการเห็นสัจธรรมเป็นของจริง อ๋อ จริงอย่างนี้เท่านั้น คราวหลังแม้พิจารณาไม่ได้อย่างนั้นก็ตาม ความเชื่อที่เคยเป็นมานั้นจะไม่มีวันถอนเลย นอกจากจะเอาลงให้ได้อย่างนั้น ๆ เท่านั้นเอง

การประกอบความเพียรของพวกเราก็เคยอธิบายให้ฟังแล้ว มันไม่ถึงเหตุถึงผลถึงพริกถึงขิงกัน พอที่จะให้กิเลสถลอกปอกเปิกหรือร้อนตัวบ้างเลย มีแต่ให้กิเลสหัวเราะเยาะนั่นซิถึงไม่ได้หน้าได้หลังอะไร นี่ทุเรศเหมือนกันนะการแนะนำสั่งสอนหมู่เพื่อน เพราะสอนด้วยความจริงความจัง เหมือนกับการปฏิบัติมาของเจ้าของ การปฏิบัติมาของเจ้าของก็เป็นอย่างนั้น ไม่ได้ทำเหลาะ ๆ แหละ ๆ ทำจริงทำจัง เป็นก็เป็น ตายก็ตาย ก็เคยพูดแล้วว่าขึ้นเวทีไม่ให้มีกรรรมการ ฟังซิ ลงขนาดที่ไม่ให้มีกรรมการเด็ดหรือไม่เด็ด ถึงคราวจะตาย เอ้าให้ตาย ให้เห็นสัจธรรมในเวลาตาย นั่น ไม่ถอย แล้วก็ไม่เห็นตาย ได้อยู่มาจนกระทั่งทุกวันนี้

เราเป็นมาด้วยวิธีการใดทั้งเหตุทั้งผล ก็ได้สอนหมู่เพื่อนเต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มสติกำลังความสามารถ ถ้ายังเห็นว่าไม่ถูกต้องแล้วก็ไล่เข้าไปตลาดเทศบาล ๑ เทศบาล ๒ ให้เขาเอากระดูกหมูกระดูกวัวแขวนคอมาอวดอาจารย์ซิ กระดูกหมูกระดูกวัวนี้มันแข่งมรรคผลนิพพานได้หรือไม่ได้ หรือจะเสกสรรขึ้นมาว่า นี่แหละตัวมรรคผลนิพพานจริง ๆ คือกระดูกหมูกระดูกวัวนี้ก็ให้เห็นกันซิ ถ้าสอนอย่างนี้ยังไม่ได้เรื่องได้ราวแล้ว ก็ไปเอากระดูกหมูกระดูกวัวมาแขวนคอแล้วอวดโลกเขาดูซิเป็นยังไง ก็มีแต่หมาแหละมันจะวิ่งตาม เพราะเห็นกระดูกนี่ เรื่องคนที่มีสติปัญญาอยู่เป็นธรรมดาของเรานี้จะมีแต่ความสลดสังเวชไปทั่วหน้ากัน ดีไม่ดีตลาดแตกที่เห็นพระอัศจรรย์แบบนั้นไป นั่นเขาเรียกพระอัศจรรย์ เราจะปฏิบัติแบบไหน แบบพระอัศจรรย์นั้นเหรอ เข้าไปเอากระดูกหมูกระดูกวัวแขวนคอแล้วก็ให้มันอัศจรรย์อยู่ในตลาดนั่นเหรอ พิจารณาซิ นี่สอนมาหมดแล้วนะ

สถานที่วิเวกสงัดพอหาได้ ในป่าในเขาที่ไหนพออยู่ที่ไหนอยู่เถอะ ให้เห็นที่จนตรอกจนมุม ได้ไปเจอเอาที่จนตรอกจนมุมนั้นแหละมันถึงจะเห็นเรื่องของตัวเอง ว่าเราจะช่วยตัวเองได้ขนาดไหนให้มันเห็น ไปอยู่ในที่เช่นนั้นด้วยความมุ่งมั่นต่ออรรถต่อธรรมจริง ๆ เอา มอบตายลงในสัจธรรมความจริงนี้ทุกอย่างแล้ว ยังไงก็เจอ ๆ ความจริงความประเสริฐเลิศเลอที่เราไม่เคยคาดเคยคิดไว้เลย นี่ละ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน เวลาจนตรอกจนมุมสติปัญญาจะขึ้นรับกัน ๆ เหตุใดสติปัญญาเป็นเครื่องรู้แท้ ๆ จึงจะไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็นมีเหรอ พระพุทธเจ้ารู้มาจากอะไรถ้าไม่รู้มาจากสติปัญญา นั่น เมื่อหยั่งลงไปแล้วต้องรู้ ให้เห็นอย่างนั้นซิผู้ปฏิบัติ

ที่ไหนสะดวกในการประกอบความเพียรให้หาที่เช่นนั้น เวลาไปแล้วไปหาก่อหาสร้างยุ่งเหยิงอย่างนั้น อันนี้ผมอิดหนาระอาใจจริง ๆ เป็นบ้าแต่เรื่องอย่างนี้ มันบ้าอะไรกันนักหนาเราอยากว่าอย่างนี้ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่ในเรื่องบ้านี่ เพราะตัวของผู้เป็นมันเป็นพื้นบ้าอยู่ตลอดเวลา นี่เวลาเราพูดเราดุด่าว่ากล่าวลูกศิษย์ลูกหาเพื่อนฝูงนี้เพียงเป็นครั้งเป็นคราว ความที่เป็นอยู่ในตัวของผู้นั้นมันเป็นพืดหรือเป็นตัวบ้าอยู่ในตัวเป็นประจำเลยเป็นยังไง พิจารณาซิ สอนเท่าไรก็สอนแล้ว ยังเห็นสิ่งเหล่านั้นว่าประเสริฐเลิศเลอยิ่งกว่าอรรถกว่าธรรมเป็นไหน ๆ มันเป็นอยู่อย่างนั้นจะว่าไง หลักของศาสนาแท้ ๆ คืออะไร เอ้า ฟาดลงไปที่จิตตภาวนานี่ซิ เมื่อเห็นอันนี้ชัดเจนแล้วจะหายสงสัยหมดทุกอย่างนั่นแหละ

เอาละ เทศน์เพียงเท่านี้

พูดท้ายเทศน์

พ่อแม่ครูจารย์มั่นนี้ไม่มีใครเหมือนท่าน เพราะท่านอยู่แต่ในป่าในเขา ไม่ออกมาเกี่ยวข้องกับผู้คนเลย ใครจะไปตามหาท่านได้ง่าย ๆ อยู่ใกล้ ๆ ก็หนองผือทาง ๕๐๐-๖๐๐ เส้น เดินไปแทบเป็นแทบตายคนเดินไปหาท่าน ท่านสะดวกในอิริยาบถต่าง ๆ ของท่าน พอฉันแล้วก็ขึ้นกุฏิ มีอะไรก็จะพูดเสียบ้างเล็กน้อยแล้วก็เข้าพัก พอบ่ายท่านก็ออก พักพอประมาณ คนแก่จะไปพักมากอะไรนัก ท่านอยู่ที่ไหนท่านสบายของท่านอย่างนั้นตลอด

อยู่บ้านโคกไม่มีใครไปยุ่งท่านเลย เพราะแต่ก่อนไม่มีใครรู้ ท่านอยู่ของท่านสบาย ๆ บ้านนามนก็แบบเดียวกันไม่มีใครไปยุ่งท่าน ออกจากนั้นก็ไปนาสีนวล ออกจากนาสีนวลไปห้วยแคน อยู่กับพวกโซ่พวกข่า ท่านหาที่สบาย ๆ ในวิหารธรรมของท่านจริง ๆ ไม่ยุ่งกับใคร พวกโซ่พวกข่าทั้งนั้นบ้านห้วยแคน แล้วย้อนกลับมาอยู่นาสีนวล วัดร้างของเขา ผมไปเที่ยวภูเขากลับลงมาก็ไปหาท่านที่บ้านนาสีนวล แต่ก่อนเป็นดงหมด ตั้งแต่บ้านโคกนี่เป็นดงทั้งนั้นป่าทั้งนั้น ออกจากนี้ท่านก็ไปเผาศพหลวงปู่เสาร์

ท่านอุตส่าห์เดินไปนะเพราะไม่มีรถมีรา เดินจากนาสีนวลไปถึง อ.นาแก จากนั้นก็ขึ้นรถไปธาตุพนม พอเผาศพเสร็จอย่างวันนี้ วันพรุ่งนี้ท่านก็ออกเลย ท่านกลับ จากนั้นแล้วก็มาอยู่วัดอ้อมแก้ว วัดอ้อมแก้วนี่หลวงปู่เสาร์นะเป็นผู้ไปสร้างไว้ จากนั้นก็มาฝั่งแดงมาจำพรรษาอยู่นามน มีแต่ที่สงัด ๆ แต่ก่อนคนไม่รู้จักท่าน ก็มีแต่พวกโยมนุ่มที่เป็นลูกศิษย์ไปหาท่าน เอาล้อเอาเกวียนไปนิมนต์ท่านมาหนองผือ ท่านก็เดินทางจากบ้านโน้นมาหนองผือ ตอนนั้นผมไม่อยู่ ไปเที่ยว ท่านมาถึงตอนเดือนเมษายนหรือเดือนไหน โน่นเดือนมิถุนายนผมถึงมาหนองผือมาหาท่าน ท่านก็อยู่นั้นเรื่อยมา

อยู่บ้านหนองผือท่านก็เสมออิริยาบถของท่าน ไม่มีเคลื่อนคลาด ถึงเวลาเดินจงกรมท่านก็ลงเดิน ตอนบ่ายท่านออกจากที่ก็ไปหาท่านเล็กน้อย นั่นละใครจะพูดธรรมะอะไรก็ตอนบ่ายตอนหนึ่ง ปัดกวาดแล้วอาบน้ำแล้วท่านฉันน้ำร้อน ท่านไม่ฉันน้ำเย็นนะสังเกตดู ฉันแต่น้ำร้อนแล้วก็หยุดเลย ไม่มีใครฉันกับท่านมีแต่ท่าน ปกติผมก็ไม่ได้ฉันชาฉันน้ำร้อนอะไร นอกจากวันไหนเร่งความเพียรจะไม่นอน วันนั้นถึงฉัน ไปหาท่านนี่ซิมันน่าคิดอยู่นะ เอ้า ฉันชาเสียท่านว่า เราพอคิดว่าวันนี้จะไปฉันชา ฉันชาตอนบ่าย ๆ หรือตอนเย็นนี้ ชาเชียงใหม่ฉันแล้วนอนไม่หลับคือไม่ง่วงนอน ชาจีนก็ไม่ง่วง ชาเชียงใหม่ก็ไม่ง่วง วันไหนฉันชาวันนั้นเอาใหญ่ความเพียรในขั้นสมาธิ เราไม่ได้หมายถึงปัญญาที่ว่านั่น ปัญญานั้นต้องบังคับให้นอนก็ไม่อยากนอน มันจะไปง่วงอะไร สมาธิยังมีง่วงเพราะธาตุขันธ์กำลังกินกำลังนอน เราดัดอยู่ตลอด ดัดธาตุดัดขันธ์ ความเพียรนี่ผมพูดจริง ๆ เขาติดคุกติดตะรางดูเหมือนจะไม่ทุกข์เหมือนกับเราฟัดกับกิเลสนะ

เราฟัดกับกิเลสไม่มีใครบังคับเรา แต่เราบังคับตัวเองด้วยจิตใจของเราเองด้วย ความมุ่งมั่นของเรามีกำลังมาก ถ้าจะเทียบถึงเรื่องความทุกข์แล้ว คนในเรือนจำนี้เขาไม่ได้ทุกข์เหมือนเรา เขากินข้าวเหมือนกับคนทั้งหลายกินกัน ทำงานเขาจะหนักอะไรนักหนา จะบีบบังคับอะไรนักหนา เรานี้บีบจริง ๆ บังคับจริง ๆ จึงไม่ลืมนะความเพียร เราเป็นนิสัยหยาบด้วย จะทำธรรมดาทั้งหลายไม่ได้ นิสัยเราหยาบก็รู้ เพราะฉะนั้นจึงทำกันให้เหมาะกับนิสัย ตั้งแต่วันก้าวออกปฏิบัติไม่เห็นว่าเป็นความสะดวกสบายอะไรเล้ย ก้าวออกไปทีแรกกิเลสก็บีบหัวเรามันก็ทุกข์อันหนึ่ง เพราะยังไม่ได้หลักได้เกณฑ์ในการภาวนา ถลอกปอกเปิกมีแต่กิเลสมันฟัดเอาทั้งนั้น

เวลาจะเอาให้กิเลสสงบตัวลงไปจิตใจจะได้สบายนี้ ก็ต้องเอาหนักความเพียร แน่ะ มีแต่หนัก ๆ ทั้งนั้น มองหาระยะไหนที่ว่าพอจะสะดวกสบาย ผมพูดจริง ๆ สำหรับผมไม่มี จึงได้พูดในปัญหาบางข้อยังมีที่ตอบปัญหา ที่ว่าตกนรกทั้งเป็นอยู่ ๙ ปี นั่นเป็นอย่างนั้นจริง ๆ นี่จะให้ว่าไง คือไม่มีเวลาที่จะมองหรือได้ยินได้ฟังอะไรเต็มหูเต็มตาสักที ยิ่งเฉพาะเรื่องรูปนี้ตัดกันใหญ่เลย บังคับกันอย่างใหญ่เลยไม่ให้มันดู ที่จะตั้งใจไปดูนี่ไม่ได้เลยแหละ นอกจากมองไปพลาดไปเจอ ที่จะให้ตั้งใจดูนี่ไม่เลยนะ โน่นน่ะมันก็บังคับซิอย่างนั้นใช่ไหมล่ะ ที่ว่าไม่ลืมหูลืมตาอะไรเลยมันก็ถูก จึงว่าบังคับ จึงว่าดัดกันซิ มันอยากเห็นไม่ให้เห็น เพราะความอยากนั้นเป็นความผิด อยากดูไม่ให้ดู อยากฟังไม่ให้ฟัง มีแต่สิ่งบังคับกันอยู่ตลอด ๆ ก็ทุกข์ละซิ

นอกจากนั้นเวลาความเพียรเอากันโดยลำพัง มันลืมไม่ได้นะในชีวิตของเรา จนกล้าพูดได้เลยว่า งานการอะไรที่เราเคยทำมาตั้งแต่เป็นฆราวาสจนกระทั่งถึงวันบวชที่ว่าหนักอะไร ๆ เราก็เคยหนัก แต่ไม่ได้ถึงใจเหมือนอันนี้ เหมือนหนักกับการฆ่ากิเลส อันนี้ โอ้โห หนัก ทุกอย่างทุ่มกันลงหมดเลย ทุ่มกันลงหมด ถึงขั้นที่จะควรใช้สติปัญญาก็เอากันอย่างหนัก บางคืนนี้ไม่หลับตลอดรุ่งเลย ความเพียรประเภทนี้เป็นอย่างนั้น กลางวันก็ไม่หลับ ถ้าจะให้หลับต้องบังคับด้วยสมถะความสงบ ไม่ให้คิดไม่ให้ปรุงเรื่องปัญญาที่ทำงาน ระงับให้หมด เข้าสู่สมาธิสงบ อย่างนั้นก็พอหลับได้ บางทีก็ไม่หลับ ดูซิ บังคับไว้ให้สงบ มันก็ใสแจ๋วอยู่กับความสงบไม่ยอมลงภวังค์หลับ สงบลงไปแล้วก็จิตเป็นสมาธิทำไมจะไม่ใสแจ๋วล่ะ ใสในขั้นสมาธินะ สงบก็ใสแจ๋ว ก็อยู่นั่นเสียไม่หลับให้ พอขยับปั๊บก็พุ่งเลย พุ่งกับงาน นั่นวันจะไม่หลับเป็นอย่างนั้น วันมันจะหลับพอให้เข้าจิตสงบแล้วก็หลับไปได้

จิตขั้นนี้ต้องบังคับเรื่องหลับเรื่องนอนไม่บังคับไม่ได้ ที่จะให้มันง่วงเหงาหาวนอนนี่ผมยังระลึกไม่ได้เลย ว่าผมง่วงเหงาหาวนอนในเวลาสติปัญญาขั้นนี้ได้ออกทำงาน ยังระลึกไม่ได้เลยฟังซิ ก็ได้บังคับให้มันหลับมันนอน มันเพลินถึงขนาดนั้น ไม่งั้นเดินจงกรมจนกระทั่งฝ่าเท้านี้ออกร้อนได้ยังไง เหมือนไฟลนไฟเผาเลย ในเวลาที่เราหยุดนี่ โถ บางทีต้องได้ดูว่าฝ่าเท้าแตกเหรอ ฟังซิ เราก็ไม่ได้เดินรวดเดินเร็วอะไรนะ เป็นบางจังหวะของมัน บางจังหวะก็มีเร็ว ถ้าเร็วแล้วโครมครามเข้าป่า อย่างนั้นจะไปเร็วได้ยังไง

เดินอยู่นั้นทั้งวันทีเดียว ตั้งแต่ฉันเสร็จแล้วจนกระทั่งถึงเวลาปัดกวาด กี่ชั่วโมงดูซิ มันลืมไปหมดเวล่ำเวลาเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า หมุนอยู่เวทีอันนี้ ๆ หัวใจนั่นคือเวที อันนี้มันชัดลืมได้เมื่อไร ก็เป็นสัจธรรมเอาอะไรมาลืม คือตามันไม่เห็นเพราะจิตไม่ออก ตาก็เลยมัวเลยฝ้าเลยฟางไปเสีย มีแต่ขาก้าวไป เดี๋ยวเข้าป่าโน้นเดี๋ยวเข้าป่านี้ พอเข้าป่าถอยกลับมาปั๊บ สักเดี๋ยวเข้าป่าอยู่นั่น แต่ก็เพลินของมัน ไม่ได้สนใจกลัวใครจะมาว่าอะไร หากเป็นของมันอยู่นั้นเพราะจิตไม่ออก จิตหมุนอยู่นี่เพราะกิเลสอยู่นี่ มันก็ฟัดกันอยู่ภายในจิต เมื่อจิตไม่ออกเสียอย่างเดียวตาก็ฝ้าก็ฟาง มองอะไรก็ไม่เห็น เดินก็โครมครามเข้าป่าอย่างนั้น มันเดินเร็วไม่ได้ ถึงขนาดนั้นยังออกร้อนฝ่าเท้า เพราะไม่ได้เดินเพียงวันหนึ่งวันเดียว เดินอยู่นั้นเป็นประจำ กลางคืนก็เดินอยู่อย่างนั้น ออกจากสมาธิแล้วก็เดินเท่านั้น จนออกร้อนฝ่าเท้า

แต่พระโสณะท่านฝ่าเท้าแตกนี่ ท่านเดินจงกรมทำความเพียรจนฝ่าเท้าแตกในประวัติ แต่ก่อนผมไม่ได้พิจารณา ท่านเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก พอเรื่องของเราเป็นอย่างนี้แล้วก็วิ่งถึงกันปึ๋งเลย ไม่ต้องมีใครบอกก็ตาม แน่กับความเพียรประเภทนี้ว่างั้นเลย ไม่งั้นอยู่เฉย ๆ จะบังคับเจ้าของให้เดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตกนี้เหตุผลก็ยังไม่อำนวย ถ้าเรื่องความเพียรดึงไปนั้นฝ่าเท้าแตกได้ เพราะไม่มีเวล่ำเวลา ไม่ได้สนใจกับเวล่ำเวลาอย่างนี้ละ ก็เหมือนนักมวยที่ต่อยอยู่บนเวที ใครจะไปสนใจกับระฆังเวลาต่อยกันนี้นั่นละ ถ้าลงใครไปแย็บหาระฆังไม่ได้นะ ต่อยกันจิตเผลอไม่ได้ อันนี้ก็เป็นแบบเดียวกัน นี่ที่ว่าท่านฝ่าเท้าแตก มันยอมรับทันที อ๋อ ความเพียรประเภทนี้ว่างั้นเลย ไม่เห็นท่านก็ตาม ยอมรับกันเลย ต้องความเพียรประเภทนี้เท่านั้น

แต่เราไม่เห็นแตกก็เป็นพยานกันได้ มันเดินไม่รู้จักวันจักคืนไม่รู้จักเวล่ำเวลา ไม่สนใจเวล่ำเวลา เวลาผลแสดงออกมาในตอนที่เราหยุดเดินจงกรม โห จนออกร้อนหมดเลย บางทีได้ดูฝ่าเท้าแตกกระมัง ก็ไม่แตก วันหลังเอาได้อีก เป็นของมันอยู่นั้นจะว่าไง จิตมันไม่มาอยู่ฝ่าเท้านี่ มันหมุนอยู่ในนี้ มีแต่ความเพลินความฟัดกันนี่มันสุขเหรอพิจารณาซิ ตะลุมบอนกันอยู่นี้มันสุขเมื่อไร ถึงจะละเอียดขนาดไหนก็ไม่สุข จึงได้พูดว่าที่เราคาดเอาไว้นั้นผิดทั้งเพ คาดธรรมดาเดาธรรมดา ว่าจิตนี้เวลาภาวนาไป จิตมีความสงบเยือกเย็นละเอียดเข้าไปเท่าไร ๆ งานจะน้อยลง ๆไป จะสบายไปเรื่อย ๆ

นี่คือเราคิดเอาเฉย ๆ คาดเอาเฉย ๆ แต่เวลาเป็นความจริง อันนั้นกับอันนี้มันคนละโลกเข้ากันได้เมื่อไร โอ้โห ความคิดว่ามีความสงบหรือละเอียดเข้าไปเท่าใดแล้ว งานจะค่อยเบาลง ๆ จะสบายไปเรื่อย ๆ ค้านเจ้าของนะ กับความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น หมุนเป็นกงจักรเป็นธรรมจักรจะเอาอะไรมาสบาย นอกจากจะฟาดหัวกิเลสให้พังลงหมดไม่มีอะไรเหลือเป็นคู่ต่อสู้กันเลย เอาคู่ต่อสู้ไม่ใช่เพียงสลบนะ เช่น น็อกคู่ต่อสู้ไม่เพียงสลบแต่ให้มันตายเลย ขนาดนั้นถึงจะสบาย เอากิเลสให้เรียบราบเลย เมื่อกิเลสเรียบราบแล้ว นี่ก็ใครบอกเรื่องความเพียรว่าให้หยุดเสียนะ ไม่ต้องบอกหากหยุดเอง แน่ะ ที่หมุนติ้ว ๆ จนไม่มีเวล่ำเวลา เป็นธรรมชาติของมันเอง หยุดของมันเอง สติปัญญาที่ว่านั้นมันเป็นเพื่อการต่อสู้ ไม่ได้เป็นเพื่อความเป็นบ้าของตัวเอง หมุนอยู่คนเดียวเฉย ๆ มันหมุนด้วยการต่อสู้ เมื่อหมดวาระการต่อสู้กันแล้วก็หมดปัญหาไป

ฉะนั้นจึงว่ามรรคกับอริยสัจ ๔ เป็นสมมุติ ให้มันเห็นอย่างนั้นซิการปฏิบัติ อริยสัจ ๔ เป็นสมมุติ เป็นกิริยาอันหนึ่งของสมมุติต่างหาก ที่นอกจากอริยสัจ ๔ คืออะไร อันนี้ก็เคยพูดแล้ว ที่ผ่านออกจากอริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔ เป็นเครื่องกลั่นกรอง ที่ผุดออกจากอริยสัจ ๔ คืออะไร นั่นไม่ใช่อริยสัจ เพราะฉะนั้นจึงว่าอริยสัจเป็นเครื่องกลั่นกรอง ๆ อริยสัจเป็นเครื่องยืนยันความบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย หนีจากอริยสัจไม่ได้เลยแม้รายเดียว เป็นแต่เพียงว่าความช้าความเร็วต่างกัน แต่ต้องผ่านอริยสัจจนได้

ผู้ที่ปฏิบัติตัวแบบ ทุกขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา นี่ละเป็นผู้ที่ได้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเลย เพราะแบกทุกข์มากผู้นี้ ทุกขา ปฏิปทา เวลาปฏิบัติก็ลำบากทั้งรู้ช้าด้วย จึงเห็นชัดเรื่องอริยสัจเพราะฟัดกันอยู่ตลอดเวลาทำไมจะไม่ชัด ท่านที่เป็นขิปปาภิญญานี้ท่านผ่าน ๆ ไปเลย เหมือนกับเรือบินเขาผ่านมาตามทางเขาก็มาละซี เขาก็มาตามนี้ละแต่มันเร็วนี่ ไม่เหมือนเราเดินไปตามทาง ไปเรือบินไปรถยนต์ไปด้วยการเดินเท้า ความรวดเร็วมันต่างกัน จะมองดูอะไรตามสายทางที่ผ่านไปนั้นมันไม่พอที่จะปักจิตปักใจได้ เหมือนอย่างผู้ที่แบกทุกข์อยู่เป็นประจำ พิจารณาต่อสู้กันอยู่เป็นประจำ กว่าจะผ่านพ้นไปได้นานเท่าไร ก็เจอไปหมดละซิ นี่ละที่ว่าลืมไม่ได้ ถึงขนาดนั้น

เพราะเราเป็นคนนิสัยจริงจังมาก ว่าอะไรแล้วจริง ๆ ถ้าเหตุผลได้ลงแล้วไม่มีอะไรมาถอนได้เลย เจ้าของเองยังถอนไม่ได้วะ ถ้าเหตุผลไม่เหนือนี้จะมาถอนเอาเฉย ๆ แบบว่าเอาจริงเอาจังแล้วมาทำเล่นเฉย ๆ ไม่ได้เลยว่างั้น แบบมือเขียนเอาตีนลบไม่ได้ ต้องมีเหตุผล เหตุผลต้องเหนือกว่าถึงจะถอนความตั้งใจหรือคำอธิษฐานนั้นได้ เหตุผลไม่เหนือถอนไม่ได้ ตายก็ตายไปเลย ทีนี้ความมุ่งมั่นนี้มีกำลังรุนแรงมากจะเอาอะไรมาดึงไว้ได้ล่ะ นอกจากมันจะหมุนติ้ว ๆ เข้าไปจนถึงที่สุดของมัน ความมุ่งมั่นนี้ถึงจะหยุดเอง

อย่างพวกเรามันพวกทุกขาปฏิปทา ก็ต้องยอมรับเอาซิ จะล้างมือเปิบ ๆ เหมือนท่านที่ละเอียดลออได้ยังไง ท่านผู้เป็นขิปปาภิญญาท่านพร้อมแล้ว ถ้าว่าวัวก็อยู่ปากคอกจะว่าไง พอเปิดประตูปั๊บออกแล้ว เราไม่อยู่ก้นคอกแต่อยู่ก้นนรกนั่นซี ลากขึ้นมาจากนรกยังไม่อยากขึ้นด้วยซ้ำไป ยังเห็นว่านรกสบายอีก พวกนรกหมอนนรกเสื่อ ใครจมลงไปแล้วไม่อยากลุก กลมายาคาถาของกิเลสมันกล่อมได้เก่งขนาดนั้นละ

พระพุทธเจ้าเวลาท่านมาอุบัติ ก็ในจังหวะที่พอดีกับผู้ที่มีอุปนิสัยสามารถพร้อมอยู่มีจำนวนมากทีเดียว จากนั้นมาก็อย่างว่าแหละ เหมือนกับผลไม้รุ่นหัวปี รุ่นที่สอง รุ่นที่สาม นี่เป็นอย่างนั้น พวกเราก็เป็นอีกพวกหนึ่งที่ต้องยากบ้าง แต่ยังไงก็ตามเรื่องหลักธรรมหลักวินัยนี้เป็นเครื่องยึดสำคัญ จะช้าหรือเร็วก็ไม่ไปไหน จะค่อยก้าวไป ๆ ได้

ถ้าอันใดเป็นสัจจะฝังลึกแล้วไม่ลืมนะ อย่างความเพียรนี้ผมไม่ลืมจริง ๆ เพราะมีแต่แบบผาด ๆ โผน ๆ ไม่ใช่ธรรมดา นิสัยเราเป็นนิสัยอย่างนี้ด้วย ไม่โผนไม่ได้กิเลสพาให้โผนน่ะซิ ค่อยทำธรรมดา ๆ ไม่ได้เรื่องจริง ๆ ผมน่ะ ถึงเวลาเดินจงกรมก็ไปเดินธรรมดา ๆ นั่งธรรมดามันไม่ได้เรื่องนั่นซิ ที่ทำให้พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงหาเหตุหาผล ทั้งฟัดกันทั้งหนักทั้งเบาเอากันนี่มันเห็นผล เมื่อเห็นผลอย่างนี้แล้วจะปล่อยได้ยังไง มันก็ต้องจับนั้น ดังที่พูดตะกี้นี้ที่ว่าอดอาหาร ใครจะอยากอด ทุกข์จะเป็นจะตาย ลมหายใจจนออกหูหมดไม่ได้ออกจมูก จนจะไม่มีลมหายใจ มันเพลียเอามากขนาดนั้นก็ยังได้ทน แต่ว่าอันหนึ่งที่เป็นเครื่องดึงดูดก็คือใจ ธาตุขันธ์มันอ่อนเพลียทุกข์จริง แต่ว่าเรื่องหนึ่งที่เหนือนี้มันมี มันดูดมันดื่มมันสว่างกระจ่างแจ้งพูดไม่ถูก พูดให้เต็มปากว่ามันอัศจรรย์

เพียงขั้นดำเนินไปนั้นมันก็อัศจรรย์ของมันเป็นลำดับ ๆ ไป ที่อัศจรรย์สุดท้ายคือไปอัศจรรย์อวิชชานั่นซิ นี่จึงว่าจอมกษัตริย์วัฏจักร ถึงขนาดนั้นเชียวนะ ไม่รู้เลยว่าอันนั้นเป็นกิเลส ทั้ง ๆ ที่สติปัญญานี้เป็นธรรมจักร ยังไปตายใจกับอันนั้นได้ ยังไปรักไปสงวนไปติดอันนั้นได้ อัศจรรย์ทั้งวันทั้งคืน เฝ้ากันอยู่นั้นรักษากันอยู่นั้นอะไรมาแตะไม่ได้ สำคัญที่ว่าสตินี้ถึงจะไปติดก็ตามเถอะ เพราะไม่เคยเห็นมันก็ต้องติดบ้างละ ถึงจะติดจะสงวนรักษาว่าเป็นของอัศจรรย์ขนาดไหนก็ตามเถอะ ฟังแต่คำว่าปัญญา สิ่งที่ไม่นอนใจมันไม่นอน ทั้งรักษาทั้งสังเกตตลอดเวลา มันเคลื่อนไหวไปยังไง ๆ ดูตลอด เราก็ไม่คิดว่าจะคอยดูความเคลื่อนไหวอันนี้ก็ไม่ใช่นะ มันพูดยาก ๆ นะ เพราะธรรมชาตินี้มันละเอียด จิตนั้นมันละเอียด ธรรมชาติที่ว่าติดนี้ก็ละเอียดพอกัน ความเคลื่อนไหวนั้นแสดงอะไรนิด ๆ มันจะทราบ ๆ เมื่อทราบหลายครั้งหลายหนเข้าไปก็สะเทือนจิตละซี เพราะสังเกตอยู่ตลอด สังเกตโดยหลักธรรมชาติเองไม่ใช่เราตั้งท่าสังเกต หากเป็นธรรมชาติของจิตขั้นนั้นหรือสติปัญญาขั้นนั้น

คำว่าผ่องใสนี่คู่ของมันก็คือความเศร้าหมอง มันผ่องใสแบบละเอียด ความเศร้าหมองก็เป็นแบบละเอียด เป็นคู่กันให้เห็นจนได้ สมมุติว่ากระทบอะไรมันจะแสดงให้เห็นนิด ๆ ถ้าหากเราพูดอย่างทุกวันนี้ก็เรียกว่ากิริยาแห่งสมมุติ แสดงให้เห็นนิด ๆ จนได้ แสดงให้เห็นครั้งนั้นครั้งนี้ ก็มันประมวลของมันอยู่ตลอดนี่ จ่ออยู่ตลอดเวลาไม่ใช่จะตั้งท่าตั้งทาง อันนี้พูดไม่ถูกละ มันไม่เป็นอย่างนั้น มันเป็นหลักอัตโนมัติ เป็นธรรมชาติที่รักษาก็เป็นหลักธรรมชาติอัตโนมัติของตัวเองเสีย สติปัญญาก็เป็นอัตโนมัติเสีย เวลามองดูความเคลื่อนไหวมันเป็นยังไง ๆ ก็รู้อยู่ในหลักธรรมชาติของมันเสีย เพราะมันไม่ใช่อย่างหยาบนี่ อย่างละเอียดมาก

จนกระทั่งว่ารวมสรุปกันลงมาถึงขั้นที่ว่า ความเศร้าหมองความผ่องใสก็ว่าจิต ทำไมจิตดวงเดียวจึงเป็นได้หลายอย่างนัก เดี๋ยวว่าสุข เดี๋ยวว่าทุกข์ เพราะมันมีตามส่วนละเอียดของมันอยู่ในนั้น ว่าสุขมันก็มีทุกข์ละเอียดอยู่ของมัน เวลาสัมผัสอะไรปั๊บ ความละเอียดแห่งทุกข์จะแสดงขึ้น คือสมมุติพูดง่าย ๆ นะมันไม่ได้มากละ หากเป็นกิริยาของสมมุติให้เห็นอยู่ มันไม่ล้วน ๆ ความเศร้าหมองก็เหมือนกัน เราจะเอาความเศร้าหมองของจิตทั่ว ๆ ไปมาพูดกับจิตขั้นนี้ไม่ได้ เศร้าหมองแบบขั้นนี้ละพูดง่าย ๆ

แต่ว่าสติปัญญามันพอ ๆ กันก็รู้กันล่ะซี เพราะฉะนั้นจึงเอามาประมวลตั้งเป็นข้อรำพึง ทำไมเดี๋ยวว่าเศร้าหมอง เดี๋ยวว่าผ่องใส ก็ว่าจิตดวงนี้ เดี๋ยวว่าสุขเดี๋ยวว่าทุกข์ก็ว่าจิตดวงนี้ ทำไมจิตดวงเดียวนี้จึงต้องเป็นไปได้หลายอย่าง นี่ซิมันรำพึงแล้วก็ตั้งข้อสังเกต ทีนี้มันเป็นลักษณะที่ว่าอย่างละเอียด เป็นลักษณะที่ไม่น่าไว้ใจก็จ้องเข้าไปแหละ แต่ก่อนมีแต่รักษา ทีนี้พอจ้องเข้าไปก็เลยเป็นเหมือนเราพิจารณาสิ่งทั้งหลาย อยากจะรู้สิ่งทั้งหลายฉันใด อยากจะรู้อันนี้ก็ฉันนั้น แต่มันเป็นส่วนละเอียดของจิตนี้ ก็ตั้งข้อสังเกตกันโดยหลักธรรมชาติที่ว่าละเอียด ๆ นี่ละที่ว่าปัญญาที่ว่า เอ้า กิเลสตัวไหนเก่ง ๆ ออกมาเป็นหัวขาด ๆ แต่นี้ไม่เห็นหัวขาดเห็นไหมล่ะ เหล่านี้มันประมวลของมันมา ที่มันไม่หัวขาดในขณะที่เจอกันเหมือนสิ่งทั้งหลายที่นอกจากอันนี้ เพราะไม่ได้จ่อไม่ได้ตั้งท่าต่อสู้ตั้งท่าฟาดฟันเหมือนทั้งหลายเท่านั้น เพราะเข้าใจว่าอันนี้เป็นเราเป็นของเราอยู่ จึงติดด้วยความไม่รู้ไม่ทันกันถึงไม่พุ่งเข้าไป

ถ้าพุ่งเข้าไปนี้มันก็เร็ว อย่างที่ว่าแล้วมันนานเมื่อไร พอประมวลเข้ามานี้ก็ขณะนั้นเลย แน่ะ ไม่ข้ามวันข้ามคืนอะไร แต่แบกมาด้วยความติดความพัน ด้วยความอ้อยอิ่งกับมันมาเท่าไร เพราะไม่ได้ตั้งใจฟันมันลงไปด้วยเจตนา พอประมวลลงมาเห็นอย่างนั้นแล้ว มันก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ทำไมของอย่างเดียวจึงเป็นได้หลายอย่างนัก เดี๋ยวเศร้าหมองเดี๋ยวผ่องใสก็เป็นจากอันนี้ คือเศร้าหมองกับผ่องใสมันเป็นอย่างละเอียดพอให้จับได้อยู่นั้น ว่าสุขกับทุกข์ก็เหมือนกัน เป็นของคู่กัน เดี๋ยวว่าสุขเดี๋ยวว่าทุกข์ จิตดวงเดียวนี้หากเป็นของจริงล้วน ๆ แล้วทำไมจึงต้องแปรเป็นได้หลายอย่างหลายแขนงอย่างนี้ ถ้าเป็นของจริงอยู่แล้วก็ไม่ควรจะมาสร้างปัญหานี้ให้เป็นข้อคิด

ทำนองนั้นแหละมันรำพึง แต่เวลารำพึงมันก็จ่ออยู่นั่นจะว่าไง จ่ออยู่ก็เหมือนกับพิจารณา นี่ซีสักเดี๋ยวก็ขึ้นมา ธรรมที่ผุดขึ้นมาสอนนี้แหม สอนแม่นยำเหลือเกิน เหมือนอย่างที่ว่า ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหนแล้ว นั้นแลคือตัวภพ แหม สอนตรงเป๋งเลย เราจับไม่ได้เฉย ๆ เวลาผ่านไปแล้วถึงมายอมรับ อ๋อ คำว่าจุดว่าต่อมก็จุดนี้เองจะไปจุดไหน ก็จุดที่ว่าผ่องใสนี่เอง เพราะเราอัศจรรย์อันนี้ จิตก็ตื่นตัว แต่ไม่ตื่นเข้าไปหาตรงนั้นล่ะซิ เลยงงไปเสียอีก จับอุบายไม่ได้

นี่จึงเสียดาย ถ้าเล่าให้พ่อแม่ครูจารย์มั่นฟังท่านยังมีชีวิตอยู่แล้ว โอ๊ย เสร็จในเวลานั้นเลยละนะ เพราะเป็นจุดที่จะผลาญกันแล้วนี่ เป็นแต่เราไม่เอาเอง จนกระทั่งตอนมาสรุปกันนี่ถึงมาได้เรื่อง นี่ก็ผุดขึ้นมาเหมือนกันที่ว่า คำว่าสุขก็ดี คำว่าทุกข์ก็ดี คำว่าเศร้าหมองก็ดี คำว่าผ่องใสก็ดี ธรรมเหล่านี้เป็น อนตฺตา นะ นั่นฟังซิ ธรรมเหล่านี้เป็น อนตฺตา นะ นี่ละผุดขึ้นอย่างไม่คาดไม่ฝันนะ คือเวลานั้นมันเข้าวงนี้แล้ว เข้าพิจารณากันแล้ว ธรรมก็สอนขึ้นภายในอย่างนั้นเหมือนกันกับอันนั้นละ ธรรมนี้เป็น อนตฺตา นะ พอว่าอย่างนั้นมันก็ผึงเลย นั่นไม่ได้ข้ามวันข้ามคืนนะ เพียงเวลาประมวลเท่านั้นเองนานเมื่อไร ไม่ได้นาน ถ้าเข้ามาจ่อนี้ไม่นาน ถ้าหากว่าจ่อแต่ก่อน ๆ มันก็เสร็จไปนานแล้วตั้งแต่โน้น ตั้งแต่ที่ว่ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้โน่น จะไปตั้งแต่โน้นนะ นี้มันหากไม่รู้วิธี จับไม่ได้เท่านั้นเอง มาคราวนี้จับได้ปุ๊บทันทีเลย ขณะนั้นเลยเชียว

บอกเป็นเงื่อน ๆ สอนขึ้นมาในนี้ เป็นเองนะ แย็บ ๆ ๆ คำว่าสุขก็ดี คำว่าทุกข์ก็ดี คำว่าเศร้าหมองก็ดี คำว่าผ่องใสก็ดี ธรรมเหล่านี้เป็น อนตฺตา นะ ลักษณะเป็นเหมือนกับว่าสองเงื่อน อตฺตา กับ อนตฺตา เป็นลักษณะสองเงื่อน ธรรมเหล่านี้เป็นสมมุติเป็น อนตฺตา จากนั้นมันม้วนไปเลย เป็นลักษณะอย่างนั้นนะ ถ้าเป็นมะพร้าวก็สองหน่อ มันคว่ำไปเลย เป็นลักษณะอย่างนั้น พึ่บเดียวหายเงียบไปเลย ทีนี้ความผ่องใสที่อัศจรรย์เต็มที่ ๆ มานานเท่าไรก็ไปพร้อมกันเลยกับขณะที่มันแสดงขึ้นปึ๋ง ขณะก็ขณะคว่ำนั่นเอง ผึงลงไปเลย อันนั้นไปเลย หายเงียบ นั่นซิที่นี่จึงรู้ว่าอันนั้นเองเป็นผู้ปิดอันนี้ไว้ กองขี้ควายหรือกองผ่องใสครอบทองทั้งแท่งเอาไว้ พอคว่ำลงไปแล้วไม่มีอะไร ทองทั้งแท่งก็เปิดเต็มที่แล้ว นั่นที่นี่จะว่าไง

ถึงได้รู้ว่า โอ้โห อวิชชาถึงขนาดนี้เชียวเหรอ ๆ นี่จอมกษัตริย์วัฏจักรถึงขนาดนี้ นั่นละกษัตริย์แท้ ๆ นอกนั้นเป็นกิ่งก้านสาขาของกษัตริย์นี้ เรายังหลงมาเป็นลำดับลำดา ๆ แก้เข้ามาแล้วจนกระทั่งถึงที่ว่าจะเอาให้อยู่ในเงื้อมมือ ยังไปติด ให้มันเหยียบเอาจนได้ นั่นเห็นไหม โง่ขนาดไหนอีกล่ะ สติปัญญาก็ว่าเกรียงไกรที่สุด มาถึงนี้แล้วทำไมถึงไปหมอบราบมันล่ะ เป็นยังไงจิตอวิชชา จอมกษัตริย์วัฏจักร คืออวิชชานี่ละเอียดขนาดไหนฟังซิ ยังติดได้ มหาสติมหาปัญญาติดได้ ถึงจะผ่านไปได้เพราะมหาสติมหาปัญญาก็ตาม ตอนมันติดก็ต้องบอกว่าติดซี มันหากเป็นแต่เพียงว่ามันเป็นอัตโนมัติ เอาจนได้ ถึงติดก็ออกจนได้เพราะพร้อมเสมอในการพิจารณาไม่นอนใจ เวลาติดก็ยอมรับว่าติด แต่ไม่ติดแบบตายแบบจมอยู่ตลอด แบบนอนใจไปเลยอย่างนั้น ไม่ มันหากมีแง่ของมันจะสังเกตสังกาอยู่ตามหลักธรรมชาติของตัวเอง

เวลาที่ว่าผ่องใสนี้ใครคาดเมื่อไรว่าจะแปรสภาพตัวเองไม่ได้ คือว่ามันจะแปรสภาพของตัวเองได้ว่างั้นเถอะนะ ก็นึกว่าจะเป็นอันนี้อยู่เป็นกัปเป็นกัลป์ เป็นของเที่ยงถาวรนี้เสียในเวลานั้นนะ แต่แล้วก็มาแปรให้เห็นอย่างชัดเจนประจักษ์ เหมือนฟ้าดินถล่มจะว่าไง พิจารณาซี นี่ละถ้าเป็นสมมุติแล้วแปรได้อย่างนั้น อวิชชานี่ละตัวยอดของสมมุติ เวลาแปรลงไปหรือคว่ำลงไปแล้วไม่เห็นมีอะไรมาแสดงพอให้เอะใจอีกเลย จึงได้พูดว่าจิตผ่องใสคืออวิชชา ให้เห็นอย่างนั้นซีมันพูดได้เต็มปาก ใครจะว่าบ้าก็ว่าซิก็มันเป็นให้เห็นอยู่นี่

เวลาไม่เห็นก็บอกไม่เห็น เวลาไม่รู้ก็บอกไม่รู้ เวลารู้ทำไมจะพูดไม่ได้วะ ธรรมะสอนเพื่อรู้แท้ ๆ ใครไปปิดพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าไม่ให้สอนโลกล่ะ พระสาวกอรหันต์ท่านสอนโลกมามากต่อมากนานเท่าไร ท่านพูดทั้งนั้นใช่ไหมล่ะ อันนี้เราพูดตามหลักความจริงจะผิดไปไหนว่างั้นเลย ก็ไม่มีใครจะมาว่า เราพูดไปเฉย ๆ มันเป็นก็ต้องบอกว่าเป็นซิ

อย่างพระอรหันต์นกหวีดท่านยังพูดของท่านได้สบาย เป่านกหวีดปี๊ด ๖ ทุ่ม พระก็วิ่งมา เป็นอะไรเกิดเหตุอันตรายอะไร โอ๊ย ผมสำเร็จแล้ว สำเร็จทำไมถึงเป่านกหวีดล่ะ ก็เป่าให้หมู่เพื่อนทราบละซิเพราะมาด้วยกัน ไปด้วยกัน ๓ องค์นะ ทั้งสององค์จึงกระซิบกัน เป็นอย่างไรพระองค์นี้น่ะ ว่าสำเร็จทำไมเป่านกหวีด มันนกหวีดบ้าอะไร สำเร็จอะไรต้องเป่านกหวีด ที่อ้างว่าหมู่เพื่อนมาด้วยกันก็ต้องบอกให้ทราบนี่ไม่ลงใจนะนี่ นอกจากว่าสำเร็จบ้าเท่านั้นละ คุยกันนะ พอดีคืนที่สองเที่ยงคืนอีกแหละ นกหวีดขึ้นอีกแล้ว เอากล่องยานัตถุ์มาเป่านะ ว๊อด ๆ ๆ อะไรอีกนะ มันขั้นนรกอเวจีที่ไหนอีก ก็มาแต่ว่ามาอย่างนั้นแหละจะว่าไง เวลามาถึงแล้วก็ว่า มันถึงขั้นบ้าขั้นไหนแล้ว ว่าอย่างนี้นะ ท่านก็ดีอยู่ ตรงไปตรงมา จะบ้าขั้นไหน ก็มันไม่สำเร็จ เมื่อคืนนี้คิดว่าสำเร็จก็เป่า คืนนี้ไม่สำเร็จก็ต้องเป่าบอกหมู่เพื่อน มันบ้าสองชั้นสามชั้น นี่มันจะเป็นอย่างนั้นก็ให้เป็นซี แต่ไม่เห็นเป็นสักที จนกระทั่งป่านนี้ไม่เห็นได้เป่านกหวีด

ความเปลี่ยนแปลงของจิตก็หมด วาระสุดท้ายก็คืออันนั้นเอง ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเป็นสมมุติทั้งนั้นที่เกาะจิตอยู่นั้น เวลามันออก ๆ แล้วเปลี่ยนแปลงอะไร เช่นอย่างเปลี่ยนจากความมืดตื้อเข้าไปหาความสงบความผ่องใส ก็เปลี่ยนมาเรื่อย ๆ มีแต่อาการของสมมุติทั้งนั้น ๆ จะเป็นอะไรถ้าไม่เป็นเรื่องสมมุติ เพราะเรื่องของกิเลสเป็นสมมุติ สิ่งที่แก้ก็เป็นสมมุติ ทั้งสองอย่างเป็นสมมุติด้วยกัน จนกระทั่งสุดวาระของสมมุติแล้วก็ยุติกันได้ ยุติกันหมดเลย สติปัญญาที่เป็นเครื่องแก้อันนี้ก็ยุติ ในเวลาอันนี้ยุติลงไม่เห็นทำงานอะไรอีก งานแบบนั้นน่ะแบบที่เคยทำไม่เห็นมี สติก็สติปัญญาธรรมดานำออกใช้ธรรมดา ก็รู้ว่าเป็นสมมุติอยู่แล้ว สติปัญญาอันนั้นก็เป็นสมมุติประเภทนั้น นั่นละสติปัญญาอันนั้นเป็นสติปัญญาขององค์มรรคละ มรรคแท้ว่างั้นเลย

มหาสติมหาปัญญาก็คือมรรคนั่นเองจะเป็นอะไร มรรคมีกำลัง พอเครื่องรับกันหมดปัญหาไป กิเลสสิ้นซากลงไปอันนี้ก็หมดปัญหาไปเอง ไม่ต้องบอกไม่ต้องบังคับ ไม่ได้ทำงานอย่างนั้นอีก โดยไม่ต้องคิดต้องคาดว่าจะทำอะไรต่ออะไรไปอีกไม่มี เป็นหลักธรรมชาติ เพราะอันนั้นหมดปัญหานี้ก็หมดปัญหาไปด้วยกัน ท่านจึงว่าสมมุติ อริยสัจเป็นสมมุติ ไม่ใช่สมมุติก็แต่จิตที่บริสุทธิ์จากอริยสัจ อริยสัจกลั่นกรองออกมา นั่นถึงเป็นวิมุตติ เมื่อถึงอันนั้นแล้วไม่มีที่ว่าสุขที่ว่าทุกข์ก็ดี เศร้าหมองก็ดี ผ่องใสก็ดี ไม่มี ท่านถึงบอกว่าธรรมเหล่านี้เป็น อนตฺตา ความหมายว่างั้น พอเข้าใจแล้วก็พรึ่บเดียวไม่มีอะไรเหลือเลย

ทีนี้เวลาหลังจากนั้นซิที่นี่ ที่เป็นเรื่องที่สลดสังเวชมากเห็นโทษมาก เสือโดดหนีแล้วพูดง่าย ๆ จึงมาเห็นโทษของเสือทีหลัง โถ นี่มันเสือต่างหาก แต่ก่อนไม่ได้ว่าเป็นเสือเป็นตัวอะไร ๆ ตัวลาย ๆ นี่มันน่าชมนักหนา บทเวลามันตายแล้วถึงมากลัวทีหลัง มาเห็นโทษทีหลัง เมื่อไม่มีอันนี้ขึ้นรับกันแล้วก็มองไม่เห็นอันนี้ พออันนั้นเปิดออกพับก็เห็นอันนี้ซิ ต่างกันขนาดไหนก็มองเห็น มันก็เทียบกันได้ว่าธรรมชาตินี้คือกองขี้ควายเท่านั้นทับทองทั้งแท่งอยู่ พูดง่าย ๆ ว่าอย่างนั้นเลย ก็เทียบได้เท่านั้น จะไม่ออกอุทานได้ยังไง

เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะท่านสำเร็จขั้นโสดาท่านก็ยัง ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ ท่านออกอุทานมาจากความประจักษ์ของท่าน อย่างในปริยัติท่านก็แปลไว้เป็นกลาง ๆ ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมดับเป็นธรรมดา แต่สำหรับผู้เห็นประจักษ์ในตัวเอง ไปเจอด้วยตัวเอง อุทานจะไม่เป็นอย่างนั้น ใครจะว่าบ้าก็ตาม จะมาพูดเฉย ๆ ลอย ๆ ได้ยังไง ก็ไปเจออย่างจัง ๆ แล้วเป็นคำอุทานเสียด้วย จะมาพูดลอย ๆ ได้เหรอ มีแต่ว่า อะไรก็ตามเกิดแล้วดับทั้งนั้น นั่นถึงใจ ไปยึดทำไม ความหมายว่างั้น

อย่างพระมหากัปบิน สุขํ วต สุขํ วต นั่นอุทานของท่านที่ออกจากอันนั้น อยู่ไหน สุขหนอ ๆ เวลามันหมดเสียทุกสิ่งทุกอย่าง แต่กับผมเองไม่อยากใช้คำว่าอุทาน เหมือนกับว่าอาจเอื้อมเกินไปเราไม่อยากพูด หลักธรรมชาติหากพาให้เป็นจะว่าไง เราก็พูดตามหลักธรรมชาติว่าเป็นความสลดสังเวช ถ้าจะพูดภาษาโลก ๆ ก็เหมือนกับว่าความตื่นเต้น ความตระหนกตกใจ นั่นละอุทานมันขึ้นตอนนั้น โอ้โห ๆ หาที่ไหนหาธรรม ธรรมอยู่ที่ไหน ๆ เวลาไปเจอเข้าแล้ว โน่นไปโน่น แบกกลดสะพายบาตรขึ้นเขาลูกนั้นเขาลูกนี้ เข้าถ้ำนั้นถ้ำนี้ ธรรมอยู่ที่ไหน ๆ คือหมายความว่าย่นเข้ามานี่ อันนั้นไม่ใช่ผิดนะ แต่ว่าเราขึ้นไปอยู่โน้นไปหาธรรม ๆ ธรรมอยู่ที่ไหน คือว่ามันเจอแล้วถึงได้ว่านี่ธรรม ความหมายก็ว่างั้น ธรรม ๆ อยู่ที่ไหน อยู่ที่นี่ว่างั้นเลย

จากนั้นก็มารำพึงอีก โถ ทำไง ๆ ใครจะมารู้ได้อย่างนี้ โอ้โห ๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ใครจะมารู้ได้ ไปสอนใครไปพูดให้ใครฟังเขาจะว่าบ้า ใครจะสามารถใครจะรู้ได้เมื่อถึงขนาดนี้ คือมันละเอียดเลยละเอียดไปแล้ว เลยไปเสียทุกสิ่งทุกอย่างในแดนสมมุติ พูดอย่างนั้นให้เต็มบทเต็มบาท ไม่เหมือนอะไรเลยในแดนสมมุติ แล้วจะไปบอกใครจะไปสอนใคร ใครจะไปรู้ได้ นี่ก็วิ่งถึงพระพุทธเจ้าที่ว่าทรงทำความขวนขวายน้อย แต่ไม่ใช่เราจะเป็นคู่แข่งท่านนะ เราพูดพอให้วิ่งถึงกันต่างหาก ด้วยความเคารพท่าน เวลามันเป็นขึ้นมานี้ที่ว่าทำความขวนขวายน้อยก็เป็นแบบเดียวกัน คือพูดอะไรให้ใครฟังใครจะไปรู้เรื่องเมื่อถึงขนาดนี้ มันเลยวิสัยของใครที่จะไปรู้ได้อย่างนั้น เป็นอย่างนี้แล้วจะไปสอนใคร เขาจะว่าบ้าไปหมด อยู่ไปกินไปพอยังชีวิตให้เป็นไปวันหนึ่งเท่านั้นพอแล้ว จะขวนขวายสอนโลกสอนสงสารอะไร ใครจะไปรู้ได้เมื่อถึงขนาดนี้แล้ว นี่ละที่ทำให้เกิดความขวนขวายน้อย ไม่อยากพูดไม่อยากสอนใคร ก็เพราะยกเอาอันนี้มาเป็นปัจจุบัน ไม่ได้ตีกระจายออกไปถึงอดีต ถึงสายทาง เราพูดแต่ผลมันก็ท้อละซี เพราะมาเห็นอันนี้ ใครจะรู้ได้

ไม่นานมันก็ย้อนละซี ถ้าหากว่าเป็นสิ่งที่สุดวิสัยว่าใคร ๆ ก็รู้ไม่ได้ แล้วนี่รู้ได้ยังไง เป็นเทวบุตรเทวดามาจากไหน ถ้าเทียบถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านเป็นเทวดามาจากไหน ท่านก็เป็นคนเหมือนกัน อันนี้เราไม่ได้พูดในขณะนั้น พูดเพียงว่าเราเป็นเทวบุตรเทวดามาจากไหนทำไมจึงรู้ได้ เราก็เป็นมนุษย์เหมือน ๆ กันกับโลกทั่ว ๆ ไป แล้วทำไมถึงว่าใครจะรู้ไม่ได้ เรารู้ได้เพราะเหตุใด นั่น ทีนี้จะวิ่งละนะ ก็เพราะปฏิปทาละซี เครื่องดำเนินมา ดำเนินมาอย่างไรถึงรู้ได้อย่างนี้ นี่อันนี้มันทางเข้ามา ไม่ใช่อยู่ ๆ จะมีอันนี้เอาเลยทีเดียว มีสายทางเข้ามา ถ้าเป็นบ้านก็มีบันได ถ้าเป็นสถานที่ก็มีทางก้าวเข้าไป แล้วรู้มาได้ยังไง มรรค รู้ได้เพราะเหตุใด มันจะหนีจากปฏิปทาได้เหรอที่นี่ ก็ยอมรับทันทีนะ นั่นถ้าเป็นอย่างนั้นเมื่อสอนตามปฏิปทานี้แล้ว พูดตามปฏิปทานี้ทำไมจะรู้ไม่ได้ล่ะ ก็ปฏิปทานี้เป็นเครื่องดำเนินเพื่อเข้าสู่จุดนี้แท้ ๆ

จากนั้นก็วิ่งถึงเรื่องของพระพุทธเจ้าน่ะซี ที่ท่านทรงทำความขวนขวายน้อยไม่อยากสอนโลก พออันดับต่อไปผมคิดว่าจะอย่างนี้ละ พระองค์ทรงมีญาณนี่นะ ท่านก็พิจารณาเล็งญาณดู เป็นเครื่องสนับสนุนพระองค์ด้วย เราไม่มีญาณอะไรแล้วก็คงจะเป็นอย่างนี้ คือทำไมถึงรู้ได้ ถ้าหากว่าเป็นสิ่งที่สุดวิสัยของโลก เราเป็นอะไร โลกเป็นอะไร เรารู้ได้เพราะเหตุใด เมื่อนำอันนี้ไปสอนโลกทำไมเขาจะรู้ไม่ได้ จากนั้นก็มีแก่พระทัยที่จะสั่งสอนโลก อันดับที่สองก็เป็นท้าวมหาพรหมมาอาราธนา

อันดับแรกต้องขึ้นจากพระเมตตาเสียก่อน เห็นเหตุเห็นผลตามนี้ที่จะแนะนำสั่งสอนได้ พร้อมกับพระญาณที่หยั่งทราบสัตว์ทั้งหลาย บวกกันหลายด้านสำหรับพระพุทธเจ้านะก็รู้ได้ มีแก่พระทัยที่จะสอน นั่นก็คือปฏิปทาไม่ใช่เป็นของสุดเอื้อมเป็นของสุดวิสัย ทางมีอยู่ก้าวเข้ามาซี ๆ ทางคืออะไร คือหลักธรรมหลักวินัยเป็นหลักใหญ่ แยกออกมาก็คือปฏิปทาข้อปฏิบัตินั่นแหละ ย่นเข้ามา ๆ ก็ไม่หนีอริยสัจ ๔ เข้ามาตรงนี้ คำว่าธรรมวินัยนี่กว้าง ย่นเข้ามา ๆ จนถึงจุดซิ ที่จะเข้าสู่จุดเข้าด้ายเข้าเข็มก็เข้าตรงนี้

ไม่เคยรู้ก็ขอให้รู้เข้าไปเถอะว่างั้นเลย เพราะธรรมชาตินั้นมีอันเดียว ไม่มีอะไรจะมาแทรกมาแซงพอให้สงสัย อันเดียวก็คือว่าไม่มีสองกับอะไร พอที่จะคัดจะเลือกจะให้สงสัย ว่าจะเอาอันนี้หรืออันนั้น จะเกิดหรือไม่เกิด จะตายหรือไม่ตาย เราสิ้นแล้วหรือยังมีกิเลสอยู่ ถ้าเป็นสองก็ต้องอย่างนั้นซิ มันก็ทำให้สงสัยละซิสอง นี่อันเดียวเท่านั้นจะว่าไง ไม่มีคู่แข่ง บริสุทธิ์ก็รู้อยู่เห็นอยู่ชัด ๆ ในหัวใจ แล้วเอาอะไรมาเป็นคู่แข่ง เอาอะไรมาให้สงสัย ให้เลือกว่าอันนี้ใช่หรือไม่ใช่ อันเดียว เอโก ธมฺโม ธรรมอันเดียว จิตกับธรรมเป็นอันเดียวกันแล้วพอ สนฺทิฏฺฐิโก ประกาศป้างขึ้นโดยหลักธรรมชาติจะว่าไง สนฺทิฏฺฐิโก อยู่กับอันนั้น พอดิบพอดีทุกอย่างกับอันนั้นเลย

สนฺทิฏฺฐิโก ท่านว่าเห็นเองรู้เอง ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ นี่อันหนึ่ง คือว่าธรรมนั้นอันวิญญูชนทั้งหลายจะพึงรู้จำเพาะตน ผู้ที่จะรู้คือใคร ก็ผู้ปฏิบัตินั่นแหละจะรู้ ผู้ไม่ปฏิบัติจะเอาอะไรมารู้ คำว่าวิญญูชนก็ผู้ที่ปฏิบัตินั่นละผู้จะรู้ วิญฺญูหิ อันวิญญูชนทั้งหลายจะรู้จำเพาะตน ปจฺจตฺตํ ในบทธรรมคุณท่านก็พูดไว้ไม่มีอะไรสงสัยเลยนะ สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว สนฺทิฏฺฐิโก ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเอง อกาลิโก เพราะไม่มีกาลไม่มีสถานที่เวล่ำเวลา

เอหิปสฺสิโก ก็มีอันนี้ละสำหรับภาคปฏิบัติเรา ถ้าหากว่าผมไม่ได้เรียนเป็นมหามา คนอื่นเขาก็จะดูถูกเอาว่า ผมแปลป่า ๆ เถื่อน ๆ แต่การปฏิบัติของเราเป็นอย่างนั้น เราก็นำมาพูดทั้งสองอย่างน่ะซิ คือปริยัติท่านก็แปลตามศัพท์จริง ๆ ศัพท์ก็ต้องแปลอย่างนั้น ไม่แปลอย่างนั้นไม่ได้ มันมีเครื่องบังคับอยู่ ทั้งวิภัตติปัจจัยทั้งธาตุจะว่าไง เรียนมาก็ต้องรู้ด้วยกันในศัพท์นี้ เอหิปสฺสิโก

เอหิ มันบังคับอยู่ในตัวที่จะต้องให้แปลอย่างนั้น ๆ เอหิปสฺสิโก ท่านจงมาดูธรรมของจริง ปสฺสิโก ปสฺสิก แปลว่าดูหรือเห็น เอหิ ท่านจงมา ถ้าแยกเป็นภาษาบาลีก็ว่า หิ นี้บอกบังคับให้ขึ้น ตฺวํ ๆ แปลว่า อันว่าท่าน เอหิ จงมา ปสฺสิโก จงดูธรรมของจริง คือเรียกร้องคนอื่นให้มาดูได้ธรรมของจริง นี่ละปริยัติก็แปลอย่างเดียวกัน แปลเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เพราะหลักบาลีบังคับกันอยู่

ทีนี้เวลาภาคปฏิบัติไม่เป็นอย่างนั้นนั่นซี เราแปลนี้เราก็แปลมาแล้ว เราไม่เคยคาดเคยคิดเลยว่าจะมีเรื่องอะไรแปลกไปจาก เอหิปสฺสิโก ที่แปลอย่างนี้อีก ภาคปฏิบัติไม่เป็นอย่างนั้น พระธรรมนั้นแลสอนเราเอง เอหิ ท่านหมายถึงเรานี่ พระธรรมท่านสอนเราว่า ท่านหรือเธอจงมา คือย้อนจิตเข้ามานี้ จิตจะส่งไปไหนวุ่นวายไปที่ไหนก็ตามเถอะ ให้ย้อนเข้ามานี่ เอหิ เข้ามานี่มาดูนี่ อริยสัจ ๔ อยู่ตรงนี้ ว่างั้น นี่ภาคปฏิบัติเป็นอย่างนั้นนะ อันนี้ผมก็ยอม ว่าผิดก็ผิด ไม่เห็นมีในคัมภีร์ใบลานอะไร ท่านก็เรียนกันอย่างนี้ ใครก็แปลแบบเดียวกัน แต่เวลาภาคปฏิบัติไม่ได้เป็นอย่างนั้นซิ มันเป็นขึ้นมาของมันเอง

พระธรรมท่านสอนเราว่า ท่านจงย้อนจิตเข้ามาดูธรรมของจริงอยู่ตรงนี้ คืออริยสัจ ๔ อยู่ตรงนี้ นั่นย้อนเข้ามา เอหิปสฺสิโก ย้อนเข้ามา จงดู ดูตรงนี้ โอปนยิโก เรื่องอะไร ๆ ก็ตามให้น้อมเข้ามาเป็นอรรถเป็นธรรมพร่ำสอนตนเอง เห็นทุกข์ก็ให้น้อมเข้ามาสอนเรา เห็นเขารื่นเริงบันเทิงก็ให้น้อมเข้ามาสอนตนเองเทียบเคียงกับตนเอง อันนี้เป็น โอปนยิโก น้อมเข้ามา ส่วน เอหิปสฺสิโก นี้เหมือนกับว่าให้เข้ามา บังคับให้เข้ามาดูอันนี้ อริยสัจ ๔ อยู่ตรงนี้ นี่ละที่ผิดกับทางภาคปริยัติ

ถ้าหากว่าผมไม่ได้เรียนเป็นมหาเขาก็จะดูถูกตรงนี้ละ อันนี้ฝ่ายทางปริยัติเราก็แปลให้อย่างสมบูรณ์แล้วนี่ ยกจนกระทั่งธาตุวิภัตติปัจจัยจะว่ายังไงอีก ทีนี้ทางภาคปฏิบัติเวลาปฏิบัติเข้าไปเป็นอย่างนั้นขึ้นมา ๆ ในนี้ เหมือนธรรมท่านสอนเราอยู่นี้ มันก็ได้เรื่องนี้ขึ้นมาละซิ เรื่องที่ไม่มีในปริยัติก็ได้ขึ้นมา เพราะเป็นอยู่กับนี้ เป็นความจริงอันหนึ่ง ๆ จะมีในปริยัติก็ตามไม่มีในปริยัติก็ตาม แต่มันมีอยู่ในความจริงที่เป็นขึ้นมาเวลาเราปฏิบัติ เหมือนกับว่าพระธรรมท่านสอนเราว่า เธอจงเข้ามา ย้อนจิตเข้ามา พูดง่าย ๆ ดูตรงนี้ ๆ อริยสัจอยู่ตรงนี้ ให้เข้ามานี้ อย่าส่งไปข้างนอก วุ่นวายอยู่ข้างนอก ความรู้นี้จะไม่เกิดประโยชน์อะไรคำว่าส่งจิตน่ะ คือ คือความรู้นั้นให้เข้ามาตรงนี้ ๆ ให้ดูตรงนี้ อริยสัจ ๔ อยู่ตรงนี้ ของจริงอยู่ตรงนี้ จะรู้ตรงนี้ แน่ะ ไปอย่างนั้นเสีย

ภาคปฏิบัติมันถนัดเราจริง ๆ ก็เราได้ผลจากการปฏิบัติแบบนี้ ส่วนที่จะให้พูดแบบปริยัติ ว่าให้เรียกร้องเข้ามาดูธรรมของจริง จะไปเรียกร้องใครเขาจะหาว่าบ้า ไปหาเรียกร้องเขาอะไร แต่ธรรมชาติที่เราว่านี้ ให้ย้อนเข้ามาซิจิต ส่งไปอะไรเพ่น ๆ พ่าน ๆ ย้อนเข้ามาดูตรงนี้ สัจธรรมอยู่ตรงนี้ เอหิ ท่านจงมา หมายถึงว่าย้อนเข้ามาดูธรรมของจริง อริยสัจ ๔ อยู่ในนี้ ทำไมมรรคผลนิพพานจะไม่อยู่ที่นี่ล่ะ นี่เป็นภาคปฏิบัติ ที่เราปฏิบัติโดยลำพังเราเป็นอย่างนั้นจริง ๆ นี่นะ โห ประกาศกังวานขึ้นในนี้จะว่าไง ทีนี้ยอมรับเสียด้วยนะ จิตน้อมรับทันทีเช่นเดียวกับภาคปฏิบัติอื่น ๆ อันนี้ผางเข้ามาเลย แล้วย้อนปั๊บเข้ามานี่ โอปนยิโก คือเห็นอะไร ๆ ก็ตามให้น้อมเข้ามาเป็นธรรมสอนเจ้าของ ๆ เรื่องดีเรื่องชั่วอะไรให้ โอปนยิโก คือน้อมเข้ามาเป็นเครื่องพร่ำสอนเจ้าของเรื่อยไป ผู้ปฏิบัติต้องเป็นอย่างนั้น ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ อันท่านผู้รู้ทั้งหลายจะพึงรู้จำเพาะตน ใครเป็นผู้รู้ ก็ผู้ปฏิบัตินั้นเองจะเป็นผู้รู้จำเพาะตน ผู้ไม่ปฏิบัติจะเอาอะไรมารู้

พูดไปพูดมาเหนื่อยอีกแหละ เอาละพอ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก