กิเลสวัฏฏ์-ธรรมวัตร
วันที่ 29 กรกฎาคม. 2531 เวลา 19:00 น. ความยาว 63.53 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

กิเลสวัฏฏ์-ธรรมวัตร

เข้าพรรษาวันนี้แล้ว เขตอาวาสที่ว่า อาวาเส นั่นก็หมายถึงเขตกำแพงเข้าพรรษา คำว่าครบไตรมาสคืออยู่จำพรรษา ไม่ไปไหนมาไหนแรมวันแรมคืนตลอด ๓ เดือน นอกจากมีเหตุจำเป็นที่ควรจะสัตตาหกรณียกิจ แปลว่า กิจที่ควรจะทำจะไป ไปได้ภายใน ๗ วัน แปลออกก็ว่าอย่างนั้น ไม่ใช่ไปแบบพระองค์ไหนในวัดนี้ นั่นมันแบบบ้า ไม่ใช่แบบพระผู้มีหลักธรรมหลักวินัย มันเป็นโกโรโกโสไปอย่างนั้นละพระ ทุกวันนี้ยิ่งเลอะ ๆ เทอะ ๆ ไปมากทีเดียวในวงปฏิบัติของเรานี้ มันเห็นตำตาอยู่นี่จะว่ายังไง แล้วก็ได้ยินเต็มหูจะผิดไปไหน หลักธรรมหลักวินัยต่างคนต่างได้เรียนมา อันไหนเขวไปจากหลักธรรมหลักวินัยมากน้อยมันต้องรู้ นี่นับวันเรียวลงไป ๆ แหลมลงไป ๆ ในการปฏิบัติ จากความสนใจที่มีในอรรถในธรรมนั้นน้อยลงไปทุกที ๆ เพราะฉะนั้นกิริยาที่แสดงออกจึงแสลงกับธรรมอยู่เรื่อยมา และนับวันที่จะหนักขึ้นไปเรื่อย ๆ

ครูบาอาจารย์ผู้ให้การแนะนำสั่งสอนด้วยความเต็มอกเต็มใจ ด้วยความเมตตาจริง ๆ ผมพูดจริง ๆ อย่างที่ผมสั่งสอนหมู่เพื่อน ผมไม่ได้มีอะไรกับหมู่กับเพื่อนว่าจะหวังพึ่งพิงอิงอาศัยอะไร มันก็ไม่ปรากฏภายในจิตใจ แต่ไม่ได้ประมาท พูดตามความรู้สึก แต่การแนะนำสั่งสอนนั้น สั่งสอนด้วยความเมตตาด้วยความสงสาร อันนี้มีข้อเทียบเคียงอยู่แล้วดังที่เคยได้เล่าให้ฟัง เรื่องครูอาจารย์เป็นสิ่งสำคัญมากในการที่จะดำเนินในข้อวัตรปฏิบัติ การศึกษาเล่าเรียนมาจากตำรับตำราก็ยอมรับว่าได้ศึกษามาด้วยกัน แต่เมื่อไม่มีผู้พาดำเนินก็ต้องเก้อ ๆ เขิน ๆ สงสัยสนเท่ห์หาหลักหาเกณฑ์ยึดไม่ได้ เลยกลายเป็นโลเลไป ทั้ง ๆ ที่ก็เรียนมา หลักธรรมหลักวินัยข้อไหน ๆ ก็ได้ศึกษาเล่าเรียนเข้าใจหมด แต่เวลาจะนำมาปฏิบัติ เมื่อไม่มีผู้นำผู้พาดำเนิน ก็ไม่ทราบว่าจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะพอเหมาะพอควร ยกตัวอย่างเช่น ธุดงควัตร ธุดงค์ ๑๓ ข้อ ท่านว่า ถือผ้าบังสุกุล ชักผ้าบังสุกุลที่เขาเอามาถวาย นี่พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านก็พาดำเนินมาเห็นอย่างประจักษ์

เราไปอยู่กับท่านเราอยู่จริง ๆ ด้วยความสนใจทุกแง่ทุกมุม อากัปกิริยาของท่านที่แสดงออกในแง่ใดส่วนใด เราอยู่ที่นั่นต้องดูต้องสังเกตอยู่ทุกระยะ ๆ เพื่อจะนำมาเป็นคติหรือปลุกจิตใจของเราให้มีกำลังทางด้านประพฤติปฏิบัติ ให้มีความหนักแน่นมากขึ้น ชักผ้าบังสุกุลเราก็เห็นเราก็ดู บิณฑบาตเป็นวัตร ท่านเป็นผู้บิณฑบาตเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่มีคำว่าขี้เกียจขี้คร้าน นั่นจึงเรียกว่าบิณฑบาตเป็นวัตร ถ้ายังมีการขบการฉันก็ต้องไปบิณฑบาต นอกจากเจ็บไข้ได้ป่วย

แต่สำหรับเราเองที่เคยปฏิบัติมาแต่ก่อน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยไปไม่ได้ก็ไม่ต้องไปและไม่ต้องกิน นี้เป็นกรณีพิเศษของแต่ละราย ๆ ที่เห็นว่าเป็นความเหมาะสมแก่ตัวเองจะพึงปฏิบัติอย่างไร สำหรับเราเองเคยปฏิบัติมาอย่างนั้น มาเหลวเอาก็ในระยะที่เจ็บไข้ได้ป่วย ที่เป็นไข้หรือเป็นอะไรจากถ้ำสาริกา นครนายก มานั้น การเจ็บไข้ประเภทนี้เราก็ไม่เคยเป็นมาเลย จะว่าไข้หวัดใหญ่ก็เคยเป็นอยู่แล้วไม่ได้เป็นอย่างนี้ อันนี้เป็นอะไรก็ไม่ทราบ ฉันไม่ได้ สุดท้ายข้าวไม่เอา ฉันได้แต่กับ ก็ต้องได้ปล่อยทิ้งบาตรซึ่งไม่เคยเลยนะ ต้องฉันกับถ้วยกับจานไปอย่างนั้น

นี่ก็ทราบในเรื่องความที่ปล่อย จะเอาใส่ในบาตรก็ไม่ทราบว่าจะฉันยังไง ก็มันฉันไม่ได้ ข้าวอย่างนี้ไม่ได้เลย นอกจากฉันแต่กับกับโจ๊กกับอะไรไปเท่านั้น นี่เราก็ทราบ ถ้าธรรมดาไม่เคย แม้แต่จะเอาอะไรเป็นสองเกี่ยวกับถ้วยกับจานอย่างนี้ เราก็ไม่เคยตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ก็เพิ่งมาเป็นเอาตอนเฒ่าแก่มานี้ ต้องได้อนุโลมตามธาตุตามขันธ์ ซดนั้นซดนี้ไป บางทีก็ซดด้วยช้อนบ้างอะไรบ้างก็ทำ แต่ก่อนไม่เอาจริง ๆ เด็ดขาดเลยทีเดียว การปฏิบัติธุดงควัตรได้สมาทานอย่างใดแล้วก็เอาให้มั่นคง ให้เป็นที่อบอุ่นภายในตัวเองจริง ๆ ว่าเราได้สมาทานธุดงค์ข้อนั้น ๆ

แต่ทุกวันนี้ก็ธาตุขันธ์มันเป็นอย่างที่ว่านั่น อะไรฉันได้หน่อยมันก็พอทรงธาตุทรงขันธ์ไป พอซดก็ซดบ้างอะไรบ้าง อยู่ตามถ้วยตามชามอะไรดังที่หมู่เพื่อนเห็นนั่นแหละ ซึ่งแต่ก่อนเราไม่เคยเลย เรียกว่าขาดจริง ๆ เรื่องเหล่านี้มาติดต่อกันไม่ได้ จะเป็นสองกับสิ่งใดอย่างนี้ไม่มี ว่าบาตรก็บาตรอันเดียว มีอะไรลงในนั้นหมดไม่ให้มีเงื่อนเหลืออยู่เลย เช่น ฉันในถ้วยในจานจิ๊บ ๆ แจ๊บ ๆ นี้ไม่เคย เมื่อเราไปเห็นครูบาอาจารย์พาดำเนินแล้วเป็นที่ลงใจและยึดทันที

ธุดงควัตรมีแต่เครื่องชำระกิเลส กิเลสประเภทต่าง ๆ มีเต็มไปหมด แต่ไม่พ้นจากธุดงควัตรทั้ง ๑๓ ข้อนี้เลยที่จะกำจัดกิเลสทั้งหลายเหล่านั้นได้ เช่น การชักผ้าบังสุกุล ครั้งพุทธกาลท่านชักเอาตามของเศษของเดน ที่เขาทิ้งอยู่ตามถนนหนทางจริง ๆ ครั้นต่อมาก็มีศรัทธาญาติโยมถวายเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นผ้าอย่างดิบ ๆ ดี ๆ ดังที่เราเคยเห็นนั่นละ จนกลายเป็นผ้าพับผ้าไม้เรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้ นั่นเพื่อตัดความสวยความงาม ความโลเลโลกเลกของตัวเอง ทำตัวเหมือนผ้าเช็ดเท้า เหมือนผ้าขี้ริ้ว ให้มีคุณค่าด้วยธรรม การทำตัวให้เหมือนผ้าขี้ริ้วนั้นก็คือการทำกิเลสให้หมดคุณค่าลงไป อย่าให้มันแสดงฤทธิ์แสดงเดชอยู่ในทุกอากัปกิริยาที่แสดงออกนั้นเลย ความหมายว่าอย่างนั้น

อยู่ในป่าดังที่ธุดงค์ท่านว่า อยู่ในป่าเป็นวัตร นี่ก็พระพุทธเจ้าทรงดำเนินมาแล้ว เห็นคุณค่าเต็มพระทัย นำมาสั่งสอนบรรดาสาวกหรือภิกษุทั้งหลายก็สอนอย่างเน้นหนัก พอบวชแล้วก็บอก รุกฺขมูลเสนาสนํ นี้เป็นสถานที่ชั้นเอก โดยยกเรื่องของพระองค์ขึ้นแสดงว่า ตถาคตเคยได้สมบุกสมบัน สละเป็นสละตายกับสถานที่นี้มาแล้วจนได้เป็นศาสดาเอก พูดง่าย ๆ ไม่มีอะไรเป็นคู่แข่งจึงเรียกว่าเอก คือมีอันเดียวเท่านั้น ก็เพราะสถานที่ในป่าหรือในป่าช้าเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นสถานที่ที่จะสั่งสมกิเลส แต่เป็นสถานที่จะกำจัดกิเลสลงโดยลำดับลำดา ธุดงควัตรแต่ละข้อ ๆ ก็ไม่ต้องบรรยายไปมาก เพราะต่างองค์ต่างก็เห็นแล้ว มีความหมายเต็มตัว ๆ ทุกข้อเลย

เนสัชชิ ก็เหมือนกัน ถือไม่หลับไม่นอน มีอิริยาบถ ๓ คือ เดินจงกรม นั่งสมาธิ ยืนภาวนา ไม่นอนเป็นคืน ๆ ไปแล้วแต่เราจะตั้งสัจจอธิษฐานกี่คืนเราก็ทำตามนั้น ในขณะที่ตั้งสัจจอธิษฐานเพื่อถือธุดงค์ข้อนั้นก็มีเจตนาที่จะเร่งความพากเพียรของตนให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ให้จิตมันเร่ร่อนไปโน้นไปนี้ ด้วยการถูกลากถูกเข็นของกิเลสออกไป ไปเหยียบย่ำทำลายให้แหลกเหลวมา มีแต่ความทุกข์อันเป็นผลซึ่งไม่เป็นสิ่งที่ปรารถนาเลย นั่นละธุดงค์แต่ละข้อเป็นอย่างนั้น

ฉันมื้อเดียว ก็เหมือนกัน ฉันมื้อเดียวไม่ต้องยุ่งกับอะไร เพราะฉันพอยังชีวิตให้เป็นไปเท่านั้น ไม่ได้ฉันเพื่อความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมเป็นไปตามอำนาจของกิเลส เพื่อความสวยความงามความมีกำลังวังชาอะไร แต่ฉันพอยังชีวิตให้เป็นไปเพื่อได้ปฏิบัติธรรมเท่านั้น นั่นฉันมื้อเดียวไม่เป็นกังวล นี่ก็จะหมดไป ๆ

เรื่องธุดงค์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่พ่อแม่ครูบาอาจารย์พาดำเนินมาแล้วทั้งนั้น พอไปเห็นท่านดำเนินก็ยึดเอาเลย ยึดก็ยึดอย่างฝังใจ ๆ คือเป็นที่ตายใจ เป็นที่แน่ใจว่าถูกต้องแล้ว ท่านพาดำเนินมานี้ไม่สงสัย เราจะปฏิบัติอย่างไรก็ให้ได้เต็มภูมิของเรา ไม่มีข้อข้องใจสงสัยในธุดงค์ข้อนั้น ๆ ที่ท่านพาดำเนินมาแล้ว มันก็เป็นที่ตายใจเมื่อมีครูมีอาจารย์คอยแนะนำสั่งสอนอยู่ ออกจากนั้นความเพียรให้มีอยู่ทุกเวลา สติสัมปชัญญะนี่เป็นเครื่องมือที่จะเตรียมฆ่ากิเลสทั้งนั้น รวมลงแล้วเข้าสู่ความเพียร เพียรตั้งสติ เพียรพินิจพิจารณาทางปัญญา สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ฝึกได้ทำได้ พระพุทธเจ้าทรงฝึกพระองค์มาแล้วเต็มพระกำลังความสามารถจนได้ตรัสรู้ จึงได้นำอุบายวิธีที่เป็นไปได้นี้มาสั่งสอนสัตว์โลก หรือสั่งสอนพวกภิกษุทั้งหลายให้ดำเนินตาม ให้ฝึกฝน

จิตใจตามธรรมดามันก็มีแต่รู้เท่านั้น แต่นี้มันไม่มีแต่เพียงรู้เท่านั้นซิ สิ่งที่เด่นอยู่ในความรู้นั้นได้แก่กิเลสที่มันฉุดมันลาก เพราะอยากรู้อย่างนั้น อยากเห็นอย่างนี้ อยากสิ่งนั้น อยากสิ่งนี้ มีแต่ความอยากผลักดันอยู่ภายในจิตใจตลอดเวลา นั่นคือสิ่งที่เคลือบแฝงอยู่ภายในใจกลับเป็นความเด่นบนหัวใจที่รู้ ๆ นั้นเสีย ความรู้ก็เลยถูกความอยากอันเป็นอำนาจของกิเลสมันครอบไปเสียหมด เลยมีแต่กิเลสเต็มตัวภายในหัวใจ แสดงออกอากัปกิริยาใดก็มีแต่ธรรมชาตินี้ทำงานทำการไปเสีย

กิเลสทำงานมันจะทำเพื่อความพ้นทุกข์ได้อย่างไร มันก็ทำเพื่อวัฏวน ๓ นั้นเอง ได้แก่ กิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ และวิปากวัฏฏ์ เริ่มด้วยกิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมแล้วก็เป็นผลดีผลชั่ว ผู้ทำก็รับผลดีผลชั่ว หมุนกันไปหมุนกันมาอย่างนี้ มีแต่เรื่องของกิเลสทำงาน ธรรมไม่ได้ทำ เมื่อธรรมออกทำงานไม่ได้ปล่อยให้แต่กิเลสทำงาน มันก็ทำอยู่ในวัฏวนนี้ ไม่นอกเหนือไปจากนี้เลย เพราะฉะนั้นสัตว์โลกที่อยู่ใต้อำนาจแห่งการทำงานของกิเลส จึงไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดรายใดที่จะหลุดพ้นจากวัฏวน ๓ นี้ไปได้เลย

ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีธรรมเข้าแทรก จะเรียกว่า ธรรมวัตร ก็ได้ ข้อวัตรปฏิบัติให้เป็นอรรถเป็นธรรม เพื่อชำระจิตใจของตน ใจก็มีความสงบ ใจถ้าสงบแล้วก็เย็น ไม่ดีดไม่ดิ้น เมื่อเย็นขึ้นมาแล้วก็เห็นผลและมีแก่ใจที่จะทำความพยายามให้หนักแน่นขึ้นไปกว่านั้น ๆ จนทะลุออกทางด้านปัญญา ความรู้ทางด้านปัญญาก็เป็นความรู้ที่แฝงเช่นเดียวกับกิเลสแฝงจิตนั้นแหละ แต่มันแฝงไปทางดีท่านจึงเรียกว่ามรรค สิ่งที่แฝงในจิตอันเป็นธรรมท่านเรียกว่ามรรค เพื่อชำระสิ่งที่แฝงอันหนึ่งที่เป็นสมุทัย ชำระกันอยู่ภายในนั้นด้วยความพากเพียรของผู้บำเพ็ญของผู้ปฏิบัติทั้งหลาย

เมื่อพากเพียรอยู่โดยสม่ำเสมอ ชำระอยู่โดยสม่ำเสมอ อดอยู่ทนอยู่ต่อสู้กันอยู่โดยสม่ำเสมอ สิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยซึ่งเคยมีกำลังมากนั้นก็ค่อยลดตัวลงไป ๆ อำนาจของธรรมก็มีมากขึ้น ผลคือความสุขความเย็นใจ ทั้งฝ่ายสมาธิ ทั้งฝ่ายความสุขทางด้านปัญญาก็ปรากฏขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งเป็นสิ่งที่ให้ดูดดื่มให้พอใจในผลอันนั้น และซึมซาบไปถึงความพากเพียร ให้มีแก่ใจที่จะดำเนินด้วยความหนักแน่นหรือมั่นคง เข้มงวดกวดขันเข้าไปโดยลำดับ ๆ ยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ ๆ จนกระทั่งกิเลสเบาลง ๆ ธรรมะหนักขึ้น นั่นท่านชำระ-ท่านชำระอย่างนั้น

เราอย่าไปตื่นซิตื่นโลก ก็เคยตื่นมาเท่าไรตั้งแต่วันเกิดมาจนกระทั่งป่านนี้เป็นยังไง ใจมันตื่นโลกมันเคยมีความชิน มีความเข็ดหลาบต่อผลแห่งความตื่นนั้นอะไรบ้าง มันไม่มี มันตื่นอยู่อย่างนี้ตลอด ให้เป็นบ้าอยู่ตลอดเดี๋ยวนี้ เรื่องของกิเลสจะทำให้มีความเข็ดหลาบให้มีความจืดจางนี้ไม่มี มีแต่ติดตลอด ๆ ถ้าไม่แก้ด้วยอรรถด้วยธรรม นำธรรมเข้าไปแก้ เพื่อรสของธรรมจะได้เป็นคู่แข่งในรสของกิเลสนั้น ทางนั้นก็จะมีกำลังน้อยลง ๆ

ความลำบาก ๆ ก็กิเลสมาจับยัดใส่มือให้เสียในงานที่ว่าลำบากนั้น ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องของกิเลสมันทำให้ลำบากลำบนในการต่อสู้กับมัน กีดขวางมันต้านทานมัน เป็นทุกข์เพราะต่อสู้กับมัน ธรรมจะไปต่อสู้กับท่านด้วยเหตุผลกลไกอะไร เมื่อเข้าถึงขั้นที่ควรจะสงบก็สงบ ถึงขั้นที่ควรจะฉลาดก็ฉลาด เรื่องของธรรมไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้ใด อันตัวที่มันกีดมันขวางทางเดินเพื่อเข้าสู่อรรถสู่ธรรม เข้าสู่สมถะความสงบ และวิปัสสนาความรู้แจ้งเห็นจริงนั้นซิ มันมีแต่เรื่องของกิเลสทั้งนั้น ทุกอาการของจิตที่เคลื่อนไหวออกมาเพื่ออรรถเพื่อธรรมจะต้องถูกกีดถูกขวาง การถูกกีดถูกขวางนั้นแหละเป็นความที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้กัน กิเลสมันเหนือเราฉลาดกว่าเรา มันก็โยนให้เราเสียว่าการปฏิบัติธรรมลำบาก โน่นไปทิ้งให้ธรรมเป็นโทษเป็นกรรมไปเสีย กิเลสตัวเป็นโทษที่สุดในโลกนี้ไม่มีอะไรเกิน มันกลับไม่ให้เห็นตัวมันเสีย นี่ซีผู้ปฏิบัติเรามันถึงโง่

ไม่ว่าใครแหละว่าชาวพุทธเราว่างั้นเลย โง่ต่อกิเลสประเภทเหล่านี้มานานแสนนาน ไม่อาจสามารถที่จะระลึกได้เลยว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลสผลิตขึ้นมา ปลอมขึ้นมาหลอกลวงเราให้เป็นเหมือนกับของจริง ปิดกั้นความจริงคือธรรมทั้งหลายเอาไว้ไม่ให้อยากทำ เพราะทำยาก นั่น ความทำยากคือเรื่องของกิเลสแท้ ๆ แต่มันกลับไปให้โทษแก่ธรรมเสีย ว่าการบำเพ็ญธรรมนั้นยาก ๆ เหมือนธรรมนี้เป็นข้าศึกศัตรูต่อโลกต่อสงสาร และกิเลสเป็นคุณต่อโลกไปเสีย เมื่อเป็นอย่างนี้มันถึงลำบากในการปฏิบัติ

นี่จึงได้เคยพูดให้หมู่เพื่อนฟัง สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เคยรู้แต่ก่อน เวลาปฏิบัติไปมันเปิดเข้าไป ๆ มันหากรู้เอง ๆ ไม่มีใครบอกก็รู้ เป็น สนฺทิฏฺฐิโก เห็นประจักษ์ เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าเปิดทางในทางที่ถูก ในทางที่จะให้รู้ให้เห็นกิเลส ในทางที่จะให้ฆ่ากิเลสอยู่แล้ว เมื่อดำเนินตามสายทางแห่งธรรมนั้นแล้ว ทำไมจะไม่เจอสิ่งเหล่านี้ที่มันขวางอรรถขวางธรรมอยู่มากน้อยหรือหนาบางขนาดใด ต้องรู้ต้องเห็นต้องได้ฟัดได้เหวี่ยงกันไปโดยลำดับ จนกระทั่งกิเลสพังลงจากหัวใจเสียหมดไม่มีอันใดเหลือเลย เราก็ยิ่งเห็นได้ชัดเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่า การกีดขวางทั้งหลายแหล่นั้นมีแต่เรื่องของกิเลสทั้งมวล

เมื่อเข้าถึงธรรมล้วน ๆ แล้ว ไม่มีอะไรที่จะไปเป็นข้าศึกอยู่ในวงธรรมนั้น เมื่อกิเลสสิ้นซากลงไปแล้ว นั่นจึงได้เห็นชัดว่ากิเลสเท่านั้นเป็นข้าศึกต่อการบำเพ็ญ กิเลสเท่านั้นเอาโทษไปทุ่มใส่ธรรม ให้ธรรมกลายเป็นโทษ ไม่อยากจะให้สัตว์ทั้งหลายได้ดำเนินเข้าไป เพราะถือว่าเป็นความยากความลำบาก ในขณะเดียวกันก็เท่ากับว่าถือธรรมนั้นเป็นข้าศึก และถือกิเลสเป็นคุณไปเสียโดยไม่รู้สึกตัว นี่ละความละเอียดของมันเป็นอย่างนั้น

การปฏิบัติไปยังไงก็ไม่พ้นที่จะรู้จะเห็นอย่างนี้ เมื่อรู้เมื่อเห็นแล้วทำไมจะพูดไม่ได้ ตอนที่เราไม่เห็นเราก็จะเอาอะไรมาพูดเพราะไม่รู้ มันจะจูงจมูกไปไหนก็ไปตามมันจูงไป เรื่องของกิเลสประเภทนี้จูงแบบหนึ่ง ๆ จูงแบบต่าง ๆ กันไม่ซ้ำรอยกันแหละ แต่มันซ้ำในสิ่งที่เป็น เช่น รัก มันเคยรักมาเท่าไรก็ไม่เป็นความเข็ดหลาบ ชังมาเท่าไรก็ไม่เข็ดหลาบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สัมผัสสิ่งใดรวมแล้วก็เป็นรายได้ของกิเลสเข้ามาสู่หัวใจ ทับหัวใจอันเดียวกันนี้แล เราไม่รู้ ตอนที่ไม่สามารถไม่รู้จริง ๆ ต่อเมื่อได้บุกเบิกเข้าไป ๆ จึงค่อยรู้เข้าไป ๆ

สติปัญญาเป็นสำคัญมากในการประกอบความพากเพียร นี้จึงไม่ว่าจะเทศน์หรือพูดเรื่องอะไรก็ตาม จะไม่นอกเหนือไปจากสติปัญญา หรือข้ามสติปัญญาไปได้เลย เพราะเป็นธรรมจำเป็นมากที่สุด พอกิเลสกระดิกเท่านั้นสติรู้แล้ว สติจะไม่จำเป็นยังไง ถ้าสติไม่กระดิกตัวหรือไม่มีสติแล้ว มันเหยียบจนแหลกก็ไม่รู้ ก็มีแต่ความทุกข์ความลำบากความทรมานใจโดยหาทางออกไม่ได้เท่านั้นเอง ต่อเมื่อสติมี พอกิเลสขยับพอกิเลสกระดิกเท่านั้นรู้แล้วทันแล้ว นั่น จุดของโทษขึ้นมาตรงไหน ก็ขึ้นมาจากความกระเพื่อมของจิต กระเพื่อมสู่อารมณ์ใด สติตามรู้ตามเห็นอยู่ตลอดเวลา แล้วปัญญาก็ฟาดฟันกันเข้าไป ๒ หมัด ๓ หมัด ศาสตราอาวุธฟันไม่หยุดไม่ถอย ฟันด้วยความพากเพียร ฟันด้วยความอดความทน ต่อสู้ไม่ถอย สุดท้ายมันก็พังจนได้ ทีนี้จะไม่รู้ยังไง

เมื่อกิเลสพังไปแล้วไม่มีอะไรมากีดมาขวาง จะอยู่ทั้งวันตั้งกัปตั้งกัลป์มันก็เป็นหลักธรรมชาติของจิตที่บริสุทธิ์แล้วเท่านั้น ในเมื่อมีขันธ์อยู่ก็เป็นธรรมชาติของจิตที่บริสุทธิ์อยู่โดยลำพังตัวเองเท่านั้น ไม่มีอะไรเข้าไปเกี่ยวข้องเลย เพราะกิเลสหมดไปแล้วจะเอาอะไรมาเป็นกิเลสอีก เมื่อมันสิ้นซากไปจริง ๆ แล้วค้นก็ไม่เจอ มันไม่มีแล้วจะไปสนใจค้นอะไร ก็รู้อยู่แล้วว่าไม่มี ค้นหาอะไรหาของไม่มี เมื่อมันมีมากมีน้อยมันก็ขวางให้เห็นอยู่นั้น เหมือนกับเสี้ยนกับหนามหรือผงเข้าตาเรานั่น ละเอียดขนาดไหนมันก็เห็นชัด ๆ รู้ชัด ๆ อยู่ภายในตาของเรา ละเอียดขนาดไหนมันก็รู้ตามความละเอียดของอวัยวะเราที่จะรับสัมผัสซึ่งกันและกันได้

เรื่องของกิเลสไม่ว่าส่วนหยาบส่วนกลางส่วนละเอียด มันพ้นสติปัญญาประเภทนั้น ๆ ไปไม่ได้ เพราะสติปัญญาก็มีหลายประเภท สติถึงขั้นมหาสติแล้วเกรียงไกรที่สุด รวดเร็วที่สุดไม่มีอะไรเกิน ปัญญาก็เหมือนกันไปพร้อม ๆ กันเลย เมื่อถึงขั้นกลมกลืนเป็นอันเดียวกันแล้วแยกยากนะ ว่าสติเป็นยังไงปัญญาเป็นยังไง มันกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน กระเทือนถึงกัน ๆ ทันที ๆ เมื่อยังไม่เป็นสติไม่เป็นปัญญานี้จึงลำบาก ฟื้นเท่าไรมันก็ไม่ตื่น ปลุกเท่าไรก็ไม่ตื่น ตั้งท่าขึ้นมาชั่วไม่ถึง ๓ วินาทีก็เผลอไปแล้ว ไม่ถึง ๕ วินาทีก็เผลอไปแล้ว ความเผลอไปมากน้อยเพียงไรระยะใดนั้นเป็นเรื่องของกิเลสเข้าทำงาน กิเลสเข้าตบเข้าตีเข้าทำลายทั้งนั้น ไม่ใช่มันเผลอไปตามธรรมดาของมัน มันเผลอด้วยมีสิ่งมาตบมาต่อยมาทุบมาตี มาเหยียบย่ำทำลายให้ล้มเหลวไป เราก็ไม่รู้ถ้าสติยังไม่มีกำลังพอตัว

ในขั้นที่สติปัญญามีกำลังกล้ากว่ากิเลส กิเลสจะหมอบเท่านั้นเอง มันจะมาต่อสู้แบบฮึกหาญเหมือนอย่างตอนสติปัญญาขั้นหยาบ ๆ นั้นไม่ได้ เพราะสติปัญญาถึงขั้นมันเร็ว-มันเร็ว ถ้าเป็นมีดก็คมกล้าที่สุดไม่มีอะไรเกินสติปัญญาขั้นนี้ สติปัญญาขั้นนี้แลที่เคยกล่าวเสมอว่า ขั้นที่สังหารกิเลส มีเท่าไรเป็นพังหมด นับวันนับเวลาได้เลย เป็นแน่ใจได้ตลอด แม้ยังไม่สิ้นก็แน่ใจว่าจะสิ้น สิ้นในไม่ช้า ๆ เลย นั่นเมื่อถึงขั้นแน่มันแน่อย่างนั้น การปฏิบัติธรรมในขั้นกิเลสมีอำนาจมากมันก็ยากละซี เพราะกิเลสกำลังมันมากกว่าเรา ทำยังไงก็คอยแต่จะหงาย ๆ อยู่อย่างนั้น เพราะถูกกิเลสตบกิเลสตีกิเลสต่อย

นี่วงกรรมฐานค่อยหมดไป ๆ นี้วิตกเหมือนกัน ถ้าพูดถึงเรื่องทั่ว ๆ ไปในบรรดาสัตว์ทั้งหลายต้องพึ่งต้องอาศัยกัน ได้อาศัยอรรถอาศัยธรรม อาศัยครูอาจารย์ อาศัยพระอาศัยเณร หรือพระเณรจะต้องอาศัยอรรถธรรมทั้งหลายนี้ แต่สิ่งที่อาศัยเหล่านั้นไม่ค่อยจะมีอยู่ภายในจิตใจ นอกจากสิ่งทำลายมากกว่าเข้าทำลายจิตใจ นี่ซิมันน่าทุเรศนะ มองไปที่ไหน ๆ จึงพบแต่ความเถลไถล ๆ เพราะอำนาจของกิเลสฉุดลากไป ยังภูมิใจในความฉุดลากของกิเลสไปเสียอีกโดยไม่รู้สึกตัวเลย นี่ซิสำคัญมากผู้ปฏิบัติเรา เมื่อสติหรือปัญญาขั้นละเอียดกว่านี้ไม่มี ต้องยอมตนเป็นอย่างนั้นโดยไม่รู้สึกตัวเลย จนกว่าสติปัญญาแกล้วกล้าสามารถนั้นแหละ สิ่งเหล่านี้ถึงจะมาผ่านไม่ได้ ผ่านก็เป็นขาดสะบั้นไปเลย

นี่นับวันหมดไป ๆ วัดก็สักแต่ว่าวัด พระก็สักแต่ว่าพระ การประกอบความพากเพียรไม่มีความสนอกสนใจว่าเป็นการงานของตน เถลไถลไปภายนอกเสีย เรื่องความอยากนี้มันเต็มหัวใจ อยากรู้อยากเห็น อยากเป็นอย่างนั้นอยากเป็นอย่างนี้ นี่เต็มท่วมท้นอยู่ภายในจิตใจไม่มีวันบกบางเลย ถ้าไม่นำธรรมเข้าไปต่อสู้ต้านทานกันจริง ๆ แล้ว ยังไงก็ไม่เห็นของดีที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ของเลิศที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้อยู่ที่ตรงไหน เพราะถูกปิดถูกหุ้มห่อไว้เสียจนมิดตัว มองไม่เห็นเลยธรรมชาติที่ว่าเลิศ ๆ นั้น ฟังซิ อันนี้ก็เคยพูดให้ฟังแล้ว

เวลาชำระจิตลงไปถึงขั้นละเอียด ๆ กิเลสมันมาเป็นตัวเลิศ บังธรรมชาติอันเลิศอย่างแท้จริงไว้เราไม่รู้นี่ เพราะตอนนี้ก็ดี ขั้นนี้ก็ดี ดีไป ๆ กิเลสมันแฝงไปด้วย ๆ ถ้าสติปัญญาเราไม่ทันเราก็ไม่รู้ ก็จะว่าอันนี้เลิศ ๆ มันเลิศในเรื่องของกิเลสไปเสีย ไม่ได้เลิศในเรื่องของธรรม ยกตัวอย่างที่ว่าจิตผ่องใสคืออวิชชา นั่นละความผ่องใสมันก็ไปครอบเอาไว้เสีย ก็เห็นว่าอันนี้เลิศอันนี้ประเสริฐ อัศจรรย์ อ้อยอิ่งอยู่กับอันนี้โดยไม่รู้สึกตัวเลย นั่นเป็นยังไงเรื่องของกิเลส มันเก่งไหมละเอียดไหม ไม่ทันมันนี่นะ ติดมันจนได้หลงมันจนได้ ไม่หลงติดได้ยังไง ไม่หลงยึดได้ยังไง ยึดซิ ไม่ยอมให้อะไรมาแตะต้อง เพราะสงวนเพราะรักเพราะติด นั่นเห็นไหมมันครอบเอาจนได้นะ

ความจริงความผ่องใสนี้ไม่ใช่เป็นของเลิศของประเสริฐ ถ้าพิจารณาเทียบกับธรรมชาติที่บริสุทธิ์นั้นแล้ว อันนี้คือสิ่งหลอกลวง มันปิดเอาไว้ไม่ให้เห็นความจริงจนสุดความสามารถของมันโน่นแหละ ถูกเปิดออกมันถึงจะปล่อยตัว คือปล่อยจิต เมื่อธรรมชาตินี้ถูกสติปัญญาสลัดปัดออกโดยสิ้นเชิงแล้ว อันนั้นประเสริฐขนาดไหนเอาอะไรมาเทียบที่นี่ นั่นละ เอโก ธมฺโม หมายถึงธรรมชาติของจิตที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ นั่นละท่านว่า เอโก ธมฺโม คือว่าธรรมขั้นเอก นั่น ไม่มีอะไรประเสริฐเท่า ก่อนที่จะถึงนั่นล่ะซิถูกสิ่งปลอม ๆ อย่างละเอียดมันไปเคลือบไว้เสีย ให้เกิดความอัศจรรย์จนได้ นั่นเห็นไหม กิเลสละเอียดไหม

ต่อไปนี้จะได้ยินแต่ธรรมที่ท่านแสดงไว้ในตำรับตำรา เทปก็จะหมดไปในไม่ช้า ค่อยหมดไป ๆ ก็จะเหลือแต่ตำรับตำราที่พิมพ์เป็นตัวหนังสือเอาไว้ นี่ก็จะมีแต่ชื่อของกิเลสของธรรม มีแต่ชื่อของมรรคผลนิพพาน ตัวจริงของสิ่งเหล่านี้จะไม่ปรากฏ เพราะไม่มีผู้สนใจปฏิบัติ ถูกกิเลสมันเหยียบย่ำทำลาย เพราะอำนาจของมันหนาและมากกว่าทำให้ลืมเนื้อลืมตัวไปเสีย วันหนึ่ง ๆ ไม่ทราบว่าอยู่กับอะไร พิจารณาซิ

ความจริงมืดกับแจ้งนี้มีมานานเท่าไรแล้ว กี่กัปกี่กัลป์มันมีมืดกับแจ้ง ๆ อยู่เท่านี้เอง สิ่งใดที่จะสัมผัสสัมพันธ์กับอายตนะของเรา เจอไม่เจอ เห็นไม่เห็น ดูไม่ดู ฟังไม่ฟัง สิ่งเหล่านั้นก็มีก็เป็นอยู่ตามหลักธรรมชาติของมัน ตัวมันเองก็ไม่ทราบความหมายของตัวเองเลย แต่จิตผู้นี้เองเป็นผู้ไปได้ยินได้ฟังไปสัมผัสสัมพันธ์ แล้วก็สร้างความหมายขึ้นมา ไม่ได้หลงอะไรก็หลงความหมายของตัวเอง โดยอาศัยอันนั้นมาเป็นสิ่งพาดพิงเท่านั้นเอง เป็นธรรมารมณ์ติดอยู่ภายในนั้นเสียอย่างแนบสนิทแกะไม่ออก และไม่รู้ที่จะแก้วิธีไหน มันลำบากอย่างนี้

ก็ไม่ทราบจะตื่นไปอะไรพิจารณาดูแล้ว มันไม่มีอะไรที่จะตื่น ฟังซิว่าดินน้ำลมไฟ สิ่งใดผลิตขึ้นมาก็เอามาจากธาตุเดิมของเขา สร้างขึ้นมาแล้วก็ให้ความหมายมันว่าอันนั้นเป็นนั้น อันนี้เป็นนี้ อันนั้นดีอย่างนั้น อันนี้ดีอย่างนี้ว่าไป ก็ผู้นี้เป็นผู้สร้างความหมายให้หลอกเจ้าของ ถ้าผู้นี้เป็นตัวดีเสียจริง ๆ จากหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ และเป็นหลักธรรมชาติของจิตที่ดีจริง ๆ จากการชำระให้เต็มภูมิแล้ว มันจะไปเสกหาอะไร อะไรจะเลิศยิ่งกว่านี้ ในสามแดนโลกธาตุที่ขึ้นชื่อว่าสมมุตินี้ สมมุติตัวใดอันใดที่จะเลิศยิ่งกว่าหลักธรรมชาติที่บริสุทธิ์นี้ นั้นแหละท่านถึงไม่เสกสรรปั้นยอว่าอันนั้นดีอันนี้ดี พอจะไปติดอย่างนั้นติดอย่างนี้ เพราะไม่มีอะไรที่จะเหนือหรือเป็นคู่แข่งอันนี้ไปได้ อันนี้พอตัวอยู่ตลอดเวลา ฟังซิ จะไปเอาอะไรอีกความพอแล้วนั่น

ก็เหมือนอย่างน้ำเต็มแก้วอันนี้ เมื่อพอแล้วเอาน้ำเอาอะไรมาใส่ก็เท่านั้นเอง นี่เมื่อจิตได้พอตัวแล้วกับหลักธรรมชาติที่เป็นธรรมพอตัวนั้นแล้ว ก็ไม่มีอะไรเกินพอที่จะไปเอื้อมจับนั้นจับนี้ ยึดนั้นยึดนี้เข้ามาเป็นคู่แข่งของธรรมชาตินี้ เพราะธรรมชาตินี้พอแล้ว พอดิบพอดีทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรเกินอันนี้เลย นี่ละธรรมที่พระพุทธเจ้าและสาวกท่านสัมผัสท่านทราบท่านเป็นเจ้าของ

ธรรมเหล่านี้ใครจะไปคาดไปหมายใครจะไปเดาได้ ถึงจะออกมาเป็นศัพท์บาลีหรือเป็นคำแปลเป็นชื่อเป็นเสียงก็ตาม ก็สักแต่ชื่อเท่านั้นเอง หลักธรรมชาตินั้นจริง ๆ จิตถ้าไม่สิ้นกิเลสแล้วจะสัมผัสกันไม่ได้ จะรู้กันไม่ได้ เห็นกันไม่ได้ ทรงกันไม่ได้ แน่ใจต่อธรรมชาตินั้นหรือตายใจกับธรรมชาตินั้นไม่ได้ อันนั้นเป็นสิ่งจำเพาะของผู้บริสุทธิ์เท่านั้น นั่นท่านว่าจิตบริสุทธิ์เป็นอย่างนั้น ไม่ได้เหมือนอะไร เวทนาที่เป็นอยู่ในขันธ์ ๕ นี้มันอยู่ผิว ๆ เผิน ๆ เช่น ทุกขเวทนามีอยู่ตามร่างกายนี้ ส่วนในจิตนั้นมันบรรลัยไปในขณะที่กิเลสสิ้นซากแล้ว นั้นละเอาอะไรไปเป็นเวทนาในจิต เวทนาในจิตของพระอรหันต์ท่านจึงไม่มี เอาอะไรไปมีในเมื่อขาดสะบั้นออกหมดแล้วขึ้นชื่อว่าสมมุติ เวทนานั้นก็เป็นสมมุตินี่ จะไปเข้ากับวิมุตติจิตได้ยังไง จิตวิมุตติไม่เข้ากับสมมุติ เป็นหลักธรรมชาติ นี่จะเอาอะไรไปเทียบเคียงสุขของท่านว่า ปรมํ สุขํ ปรมํ สุขํ ถ้าจิตไม่เป็น ปรมํ สุขํ ว่าเท่าไรก็ว่าเถอะ จนอกแตกก็แตกทิ้งไปเฉย ๆ ไม่ได้เป็นความจริงเหมือนอย่างผู้ทรงความจริงเต็มตัวอยู่แล้วเช่นพระอรหันต์ท่าน มันต่างกันอย่างนี้

อันนี้ซิโลกไม่รู้โลกไม่เห็น โลกไม่เคยสัมผัสสัมพันธ์ โลกจะไปมีแก่ใจมีความพอใจได้ยังไง ถ้าไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น และสาวกท่านผู้รู้ผู้เห็นมาแล้ว ก้าวเข้าไป ๆ ตามสายทางแห่งความสงบเย็นใจเรื่อยเข้าไป ตั้งแต่สมาธิเป็นขั้น ๆ ปัญญาเป็นภูมิ ๆ ก้าวเข้าไป ๆ จนกระทั่งถึงจุดที่พอตัวแล้วเท่านั้น ที่นี่หายสงสัยโดยประการทั้งปวง ในสามแดนโลกธาตุนี้อะไรจะเป็นคู่แข่ง เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าถึงขั้นพอตัวแล้วจึงปล่อยวางโดยประการทั้งปวง ไม่มีสิ่งใดจะเป็นที่น่าอาลัยเสียดายเลย เพราะไม่เหมือนอันนั้น ถ้าว่าเลิศก็เลิศในขั้นสมมุติต่างหาก อันนั้นเป็นหลักธรรมชาติของวิมุตติ เสกไม่เสกก็รู้ตัวเองอยู่ตลอดเวลาจะว่าไง

นั่นละโลกไม่เห็นอันนี้ โลกไม่รู้ ก็รู้แต่วงนอก ๆ ที่เป็นฟืนเป็นไฟอยู่นี้ รู้ก็รู้อยู่กับกิเลสที่เป็นเจ้าอำนาจครอบหัวเอาไว้เสีย มีอะไรขึ้นมาก็ไม่พ้นที่กิเลสจะเป็นผู้แบ่งสันปันส่วน หรือเป็นเจ้าของไปรีดไปไถเอาจนได้ให้เกิดทุกข์ขึ้นมา เพราะฉะนั้นโลกนี้จึงเต็มไปด้วยความทุกข์ ว่าสุขมีตรงไหน นั้นละทุกข์มีอยู่ตรงนั้นแน่นอน ๆ ไม่เว้น ถ้าไม่ใช่บรมสุขแล้วไม่เว้นทั้งนั้น แล้วเราตายใจที่ตรงไหนพิจารณาซิ เมื่อมันเป็นอย่างนี้อยู่แล้วและเคยเป็นมาอย่างนี้มาดั้งเดิม ถ้าไม่ถอนจิตออกจากสิ่งเหล่านี้แล้ว จะไม่รู้ไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นของมีมาดั้งเดิม และเป็นอันหนึ่งต่างหากจากธรรมชาติที่บริสุทธิ์ที่เรียกว่าวิมุตติจิตนี้ มันไม่รู้

ถ้าพูดถึงเรื่องความละเอียด จึงว่าละเอียดสุด สุดละเอียด ไม่มีใครที่จะไปคาดธรรมชาติที่ว่าบริสุทธิ์นี้ได้เลย นอกจากผู้ที่รู้แล้วเห็นแล้วทรงไว้แล้วเท่านั้น คาดไม่คาดก็เป็นหลักธรรมชาติ จะแยกแยะหรือแย็บออกมาอะไรมันก็ไม่ใช่อันนั้นเสีย แต่จำเป็นโลกมีสมมุติก็ต้องให้มีทั้ง ๆ ที่มันไม่เหมือนมันไม่เป็นอย่างนั้น ก็ต้องยกขึ้นพอเป็นข้อเทียบเคียง อย่างที่ท่านว่านิพพานสูญ สูญอย่างไร หรือนิพพานเป็นบรมสุข บรมสุขยังไง จะรู้ได้ยังไงถ้าจิตไม่เป็นนิพพาน จิตบริสุทธิ์เป็นยังไง ถ้าจิตไม่บริสุทธิ์แล้วมันก็ไม่รู้ความบริสุทธิ์ซิ พอถึงขั้นนั้นแล้วไม่บอกก็รู้ นั่นละมีอันเดียวเท่านั้น

แต่คำว่ามี อันนั้นไม่ได้อยู่ในท่ามกลางแห่งความมีจริง ๆ ดังโลกสมมุติ ไม่ได้มีอยู่ในความสูญดังโลกสมมุติกันอีก นั่น มีอยู่ในสถานที่โลกเอื้อมไม่ถึงนั่นเอง พูดง่าย ๆ ให้มันเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็คือ ถ้าอยากจะรู้อยากจะเห็นอันนี้เป็นยังไง ก็ทำใจเจ้าของให้ถึงขั้นดูซิจะไปถามใคร พอเจอเข้าเมื่อไรก็ “หนองอ้อ” มาทันที อ้อ เป็นอย่างนี้เหรอ เท่านั้นเอง

นี่พระก็ยิ่งมากยิ่งมายขึ้นมา ประกาศให้ขยับขยายก็ไม่ขยับขยาย จนเต็มวัด ๆ อย่างนี้ แล้วเรื่องของกินอะไรต่ออะไรเอามากินหัวสุมกันอยู่ในครัวนี้ อย่าเอามาเป็นอันขาดนะ มันขวางตาเราเหลือเกิน กลัวตายเหรอ มันเป็นยังไง มาให้หนักใจทำไม เห็นแก่ปากแก่ท้องเท่านี้นี่นะ นี่เคยพูดอยู่เสมอ โน่น ไปขนเอามาจากข้างใน(ครัว) มาเป็นภาระ เอาจริง ๆ นะ ถ้าเป็นของอย่างนี้เอาจริง หัวสุมกันเกยกันอย่างจริงอย่างจังมากทีเดียว แต่ความเพียรไม่เป็นท่านี่ซิมันทุเรศ ก็เคยพูดให้ฟังอยู่แล้ว ครูบาอาจารย์เองท่านก็ไม่เคย เราอยู่กับท่านไม่เห็นมีอะไร ทั้งไม่เคยสนใจ มีแต่ฟัดกันอยู่กับกิเลส อดข้าวจนจะก้าวขาไม่ออกก็ไม่เคยสนใจกับสิ่งเหล่านี้ นี้อะไรข้าวก็กินอยู่แล้วทำไมมันถึงไปสนใจเอาหนักหนา ทำให้หนักหัวใจหนักหัวอกนะ มองเห็นพับ ๆ นี่เป็น ๆ แต่ไม่พูด

แต่นี้ต่อไปอย่ายุ่งนะใครก็ดี เรื่องของขบของฉันเหล่านี้ มันอะไรพูดไม่ถูกนะ ทำให้อ่อนไปหมดในหัวใจเรานี่ ไอ้พระกลัวตายนี่มันอะไรกัน ความอดในสิ่งเหล่านี้ถ้าเราไม่เคยอดเราไม่ว่านะ แต่นี้ผมเคยมาก่อนทั้งนั้นแหละจะว่าไง เป็นยังไงเราก็รู้ดีเพราะเคยปฏิบัติมาก่อนแล้ว ถ้าไม่ใช่จิตเป็นความกังวลวุ่นวายกับสิ่งเหล่านี้เสียอย่างเดียว มันจะเป็นไปถึงกับให้เป็นภาระอะไร ไม่กินมันจะตายก็ให้ตายซิ ว่างั้นคำเดียวเท่านั้นหมดเลย ไม่มีทางที่จะมาคัดค้านเราได้ถ้าธรรมเด็ดออกแล้ว อันนี้มีแต่กิเลสมันเด็ดออกนั่นซี มันเด็ดธรรม ๆ กลัวจะตาย ๆ ไม่ได้หน้าได้หลังอะไร

เรื่องน้ำอ้อยน้ำตาลก็เหมือนกัน เมื่อมันหมดแล้วอย่าไปหาซื้อหาวุ่นวายมา มันมีเราก็ฉันตามเรื่องมันมี อย่าทำให้เป็นภาระกังวลวุ่นวาย มันจะมาสร้างภาระอันใหญ่ขึ้นอีก ผมนำหมู่เพื่อนมาโดยลำดับลำดาผมไม่เคยยุ่งกับสิ่งเหล่านี้ แล้วหมู่เพื่อนก็จะเอาอะไรขึ้นมาทับหัวอกผมอีกเรื่องเหล่านี้ มีแต่กังวลกับเรื่องอยู่เรื่องกิน ตอนเช้าก็กินตอนบ่ายก็กิน ยุ่งแต่เรื่องการกินมันเรื่องอะไร ทำให้อดคิดไม่ได้นะ เพราะเรื่องของการฆ่ากิเลสมันละเอียดยิ่งไปกว่านี้อีกมากมายก่ายกอง เพียงเท่านี้มันฟัดมันเหวี่ยงมันอดมันกลั้นกันไม่ได้แล้วจะเป็นไปได้ยังไง นี่ซิอันสำคัญที่สุด มันทำให้สะดุดใจอยู่ไม่หยุด

จิตเร่ ๆ ร่อน ๆ หาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้ทำยังไง ยิ่งวิตกวิจารณ์กับหมู่เพื่อน อายุก็ยิ่งมากเข้าไป ธาตุขันธ์ก็ลดลง ๆ เวลาลุกเดี๋ยวนี้ได้เป็นภาระนะ ตั้งท่าลุกแล้ว อายุขนาดนี้ปีนี้เริ่มรู้ชัด เวลาจะลุกได้ตั้งท่า แต่ก่อนไม่ได้ตั้ง พับขึ้นเลย เดี๋ยวนี้รู้ชัดว่าได้ตั้งท่าจะลุก ไม่ยังงั้นลุกไม่ขึ้น แล้วดูพระดูเณรที่มาอยู่นี้ก็หลายปีหลายเดือน แทนที่จะเป็นหน้าเป็นหลัง กลับมีแต่ผลลบลงมา ๆ ก็ยิ่งเข้ามาตีหัวอกผมแตกกระจายไปโดยลำดับ ดูไม่น่าจะอนุโมทนาให้เป็นที่เบาอกเบาใจ สมกับเทศน์สอนด้วยไม่มีอะไรเหลือภายในหัวอกนี้เลย แล้วผลเป็นยังไง เป็นยังไงกิเลสแหลมคมไหม เก่งไหม พิจารณาซิ มันออกมาตีตลาดได้สบาย ๆ ไม่มีสะทกสะท้านกับอรรถกับธรรมอะไรเลย มันเก่งไหมกิเลส แหลมไหม ละเอียดไหม มันมาตีตลาดในวงพระปฏิบัติที่จะฆ่ามันอยู่แล้วนั่นน่ะ ยังไม่รู้ว่ามันฆ่าเราทำลายเราอยู่ตลอดเวลาในความเคลื่อนไหวภายในภายนอก มันบอกอยู่ชัดเจนทีเดียว

ไม่ได้เทศน์นานแล้ว ผมก็อ่อนใจแล้วนะทุกวันนี้ไม่รู้เป็นไง มันทำให้หดให้หู่ มันหากเป็นของมันแหละ หมู่เพื่อนก็ยิ่งไหลมา ๆ ให้แบกให้หามตลอด นี่ตามอัธยาศัยของเจ้าของดังที่เคยนะ อยู่คนเดียวเท่านั้นเหมาะแล้ว นี้ก็ทนเอาเฉย ๆ ที่แขกคนญาติโยมพระเณรมาเกี่ยวข้อง ทนแสนทนนะ ผมไม่ได้ยินดีกับอะไรนี่ เพียงอาศัย วันหนึ่ง ๆ อยู่โดยลำพังเจ้าของเพียงขันธ์ ๕ นี้มันพอเหมาะแล้ว พยุงกันเพียงขันธ์ ๕ เท่านี้ จะเอาอันอื่นมาแบกมาหามอีกก็ยิ่งหนักเข้า ๆ เหมือนกับว่าตายง่ายเข้าไปแหละ พูดง่าย ๆ เหนื่อย

บิณฑบาตให้ทำความสำรวมนะนี้เคยพูดแล้ว แล้วมองไปอย่าให้สะดุดตานะ บิณฑบาตหาความสำรวมไม่ได้นี่เลวที่สุดพระกรรมฐานเรา เถ่อไปทำไมเถ่อหาอะไร ท่านสอนว่ายังไงบิณฑบาต รับบาตรท่านสอนว่ายังไง ฉันอาหารท่านสอนว่ายังไง ให้มีความสำคัญอยู่ในบาตรเท่านั้น นั่นฟังซิ เขามาใส่บาตรก็พิจารณาเป็นธรรม ถ้าจะแยกไปทางไหนก็แยก ถ้าว่าแยกเป็นธาตุก็ธาตุ จะแยกไปทางไหนได้ทั้งนั้น เพราะเป็นธรรมรอบตัวอยู่แล้ว ถ้าเราจะนำมาใช้ไม่ให้กิเลสเอาไปกินหมด ตัวเราเองก็เป็นอะไรไป เป็นของวิเศษวิโสไปจากไหน อันก้อนธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งเป็นป่าช้าผีดิบเอาอะไรมาวิเศษวิโส และผู้มาเกี่ยวข้องเรา เอาอะไรมาวิเศษวิโสต่างจากของที่มีอยู่ของเราไปล่ะ พอที่จะตื่นจะเต้นเป็นบ้าไป นี่เป็นสิ่งที่พิจารณาได้ชัด ๆ เห็นอยู่ชัด ๆ

ถ้าจิตอยู่กับตัวแล้วมันจะกระจายออก สิ่งใดไม่เคยรู้มันจะรู้มันจะเห็น มันจะเบิกตัวของมันออกไป ถ้าจิตอยู่ตรงนี้นะ ไอ้นี้เถ่ออยู่ข้างนอก ไม่สนใจกับความจริงทั้งหลายมันก็ไม่เห็นซี ถ้าเป็นสิ่งที่จะทับหัวแตกก็ไม่เห็น แตกแต่หัว สิ่งที่มาทับไม่เห็น สิ่งที่มาตีไม่เห็นจะว่าไง ของจริงตีลงไปก็ไม่เห็น เพราะกิเลสปิดไว้หมดไม่ให้เห็น นั่น ความมืดปิดไว้หมดไม่ให้เห็น เป็นยังงั้นนะ

หมดไป ๆ ครูบาอาจารย์ ผู้ที่จะสืบทอดต่อไปก็คอยแต่จะแซงหน้าแซงหลัง อย่างพ่อแม่ครูจารย์ท่านว่า ผมไม่ลืมได้นำมาเขียนในประวัติท่าน ท่านว่าเวลาจิตรวมพรึบลงไป ดูพระดูเณรแล้วแซงหน้าแซงหลังลุกลี้ลุกลน ผู้ที่เดินตามหลังด้วยความสงบเสงี่ยมงามตามีน้อยมาก ไอ้ที่วิ่งแซงหน้าแซงหลังลุกลี้ลุกลนนั้นมากต่อมาก พอกำหนดพิจารณาเพราะอะไรจึงต้องเป็นอย่างนี้ ก็ได้ความขึ้นมาเลย จำพวกที่แซงหน้าแซงหลังคือพวกที่อวดดีอวดเด่น พวกขายก่อนซื้อ ส่วนผู้ที่เดินตามหลังก็คือลูกศิษย์มีครู ดำเนินตามครู ตามหลักธรรมหลักวินัย มันก็งามตา นี่มีน้อยท่านว่า เอามาพิจารณาซิ

ท่านไม่มีอะไรเลยนะพ่อแม่ครูจารย์มั่น อยู่แต่ในป่ามาเป็นประจำจนกระทั่งวันท่านนิพพาน เวลาพูดมีแต่เรื่องอรรถเรื่องธรรมทั้งนั้น การอยู่กับท่านผู้เป็นธรรมมีแต่ความรื่นเริงหรือว่าอบอุ่น ซึ้งทุกอย่างเลย อะไรมีมากมีน้อยไม่ได้สนใจ ให้อิริยาบถเป็นไปด้วยความสม่ำเสมอเท่านั้น เป็นที่พอกับธาตุขันธ์ของท่านแล้ว ๕ โมงเย็นท่านก็ลงเดินจงกรม พอเริ่มจะมืดท่านถึงจะขึ้น ท่านเดินวันหนึ่ง ๆ โห ได้ตั้งชั่วโมง ชั่วโมงกว่านะ ก็เราดูอยู่นี่เวลาท่านเดิน ท่านเป็นคนจริงจัง มีสัจจะความจริงประจำองค์ท่าน ทำอะไรท่านจริงจังไปตามนั้นไม่ล้มไม่เหลว ถึงเวลาจะเดินจงกรมท่านก็เตรียมของท่านลง ตอนเช้าพอออกจากที่แล้วก็เข้าทางจงกรม ส่วนพระเณรจัดที่ขบที่ฉันอะไรเรียบร้อยแล้ว ต่างองค์ก็ต่างเดินจงกรม ได้เวลาแล้วถึงค่อยมารวมกันไปบิณฑบาต นี่ปฏิปทาของพ่อแม่ครูจารย์พาดำเนินมา ก่อนบิณฑบาตนี้ได้เดินจงกรมเสียก่อน

สำหรับเรา เราก็ทำตามกำลังของเราอย่างนี้เป็นประจำแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ตอนเช้าลงจากกุฏิแล้วก็ไปเดินจงกรมในป่า ได้เวลาแล้วก็มา นอกจากมีธุระอะไรที่ควรจะมาก็มาตามเหตุการณ์นั้น อย่างนั้นแล้วไม่ได้เดินจงกรม แต่ถ้าไม่มีอะไรก็เดินจงกรมเสียก่อน ออกจากทางจงกรมมาก็กราบพระ เสร็จแล้วก็ออกเดิน เดินก็เดินจงกรมไปบิณฑบาตนั่น เพราะฉะนั้นจึงไม่ให้ใครไปยุ่งกับเรา เราไปคนเดียวเหมาะ พอดีจริง ๆ เดินไปกำหนดพิจารณาไป มีร้อยแปดพันประการที่จะเป็นขึ้นภายในจิตใจนี้ ใครไปรู้ได้เห็นได้ในความเป็นของเรา เพราะฉะนั้นจึงไม่ให้มีอะไรไปยุ่ง บางทีก็กำหนดในเงื่อนธรรมต่าง ๆ ว่ามีความลึกตื้นหยาบละเอียดแค่ไหน มันจะวิ่งตามกันพั่บ ๆ พอเข้าใจแล้วปล่อย ปล่อยจากนี้ปั๊บจับนั้นปุ๊บมาพิจารณาต่อ

แต่ก่อนมันเป็นเรื่องของภาวนาฆ่ากิเลส ทุกวันนี้จะเป็นเพราะความเฒ่าความแก่หรืออะไร มันไม่ไปแบบนั้นเสีย มันไปแบบพิจารณาเรื่องอรรถเรื่องธรรมลึกตื้นหยาบละเอียดของธรรมบทต่าง ๆ แง่ต่าง ๆ ไปเห็นไปเจออะไรเข้าไปนี้มันหากเป็นของมันนั่นแหละ สติหากเป็นหลักธรรมชาติแล้วลองดูซิ เจออะไรเข้าไปนี้จะไม่สะดุดยังไง ได้ยินอะไรสะดุดเพราะสติอยู่กับตัว เป็นเจ้าของบ้านเฝ้าบ้านอยู่นี่ มันจะไปเถ่อ ๆ มอง ๆ เลินเล่อเผลอสติไปไหนเหมือนคนผีบ้านั่น ถ้าสติอยู่กับตัวพอสัมผัสอะไรปั๊บ มันเหมือนกับว่าความจงใจ เพราะสติอยู่ในนั้น รู้ ๆ ๆ มองไปโน้นก็มองไปด้วยความรู้อยู่กับเจ้าของ ไม่ได้เผลอ ถ้าลงเป็นหลักธรรมชาติแล้วเป็นอย่างนั้น มันเป็นกับใครก็รู้เองคำว่าเผลอเอามาจากไหน

คำว่าเผลอไม่เผลอเป็นเรื่องของสมมุติต่างหาก หลักธรรมชาตินั้นอยู่กับตัว พูดไม่ถูกก็ตาม แต่มันรู้อยู่ถูก ๆ นี่จะว่าไง รู้ชัด ๆ ภายในหัวใจว่าธรรมชาตินี้เป็นอย่างนี้ ขอให้จิตได้เข้าถึงซิมันจะเป็นยังไง นอกจากยอมเอง ยอมพระพุทธเจ้า ยอมพระสาวกท่าน ก็มันเป็นอันเดียวกันนี่จะเป็นอื่นมาจากไหน พระพุทธเจ้าสอนลงเพื่อความเป็นอันนั้นนี่นะสอนสาวก ไม่ให้แยกทางออกจากศาสดาว่าไปตรงไหน จะวิเศษวิโสอยู่ที่ตรงไหนเอามาแข่งศาสดานี้ไม่เคยมี สอนลงจุดเดียวกัน มีวงอริยสัจเป็นกำแพงกั้นเอาไว้ เอ้า ก้าวลงไปพิจารณาลงไปในวงอริยสัจ ความบริสุทธิ์จะไม่นอกเหนือจากวงอริยสัจนี้เลย เมื่อถึงขั้นนั้นแล้วความเห็นทุกสิ่งทุกอย่างจะเต็มอยู่ในนั้นหมดเลย

จึงว่าจิตเป็นของที่ละเอียดเอามากที่สุด ใครคำนวณไม่ได้คำนึงไม่ได้ คาดคะเนไม่ได้เลย เรื่องของจิตนี่ไม่อยู่ในความคาดคะเนความเดาของใครทั้งนั้น ให้รู้เข้าตรงนั้นซิ ไม่อย่างนั้นจะว่าเลยโลกเลยสงสารได้ยังไง เหนือโลกเหนือสงสารได้ยังไง มันไม่มีอะไรเป็นขอบเขตของจิตกับธรรมชาตินั้น หากเป็นธรรมชาติของตัวเอง ๆ หากรู้อยู่ในนั้น อย่างพระพุทธเจ้าทั้งหลายสาวกทั้งหลายท่านรู้อย่างนั้น เรานี่เพียงตัวเท่าหนูจะเอาไปเทียบพระพุทธเจ้าได้ยังไง ท่านเป็นยังไง มันยิ่งให้ซึ้งลงไปนะ

ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัตินะ เข้าพรรษาแล้วประกอบความพากเพียร งานการอะไรอย่ายุ่ง ฉันเสร็จให้รีบล้างรีบเช็ดอะไรแล้วรีบไป อย่ามาเพ่น ๆ พ่าน ๆ นี่เคยพูดแล้วนะเรื่องเหล่านี้ เราเบื่อจะตายแล้ว อืดอาด ๆ เหล่านี้เหมือนกัน

เอาแค่นี้ละ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก