ผมเหนื่อยก็ทนเอา ทนก็ทนเพื่อหมู่เพื่อนนั่นแหละ วันหนึ่งๆ ธาตุขันธ์ของเจ้าของอยู่ลำพังคนเดียว พอเหมาะพอดีกับการทรงธาตุทรงขันธ์อยู่แล้ว เกี่ยวกับใครๆ ก็ตามไม่ว่าประชาชนพระเณร ก็เท่ากับแบกภาระแต่ละชิ้นละอันแต่ละสิ่งละอย่างอยู่ตลอดเวลา ที่คนและพระเณรเข้ามาเกี่ยวข้องนั้นแล นั่นเป็นการฝืนธาตุขันธ์ซึ่งอ่อนกำลังลงมากแล้ว แต่ก่อนไม่รู้สึก การเทศนาว่าการต้อนรับแขกคน นอกจากมีความรู้สึกไปเพื่อความวิเวกสงัดเพื่ออรรถเพื่อธรรมเท่านั้น ไม่ได้มามีความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องธาตุขันธ์อ่อนตัวลงๆ ดังที่เป็นอยู่เวลานี้
ทุกวันนี้เป็นอย่างที่ว่านี้ จึงไม่อยากจะเกี่ยวข้องยุ่งเหยิงกับอะไรถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ถึงเวล่ำเวลาที่จะให้การอบรมสั่งสอนหมู่เพื่อน ก็เหมือนกับว่าลากว่าเข็นมา เตรียมท่าเตรียมทางที่จะพูด คือการใช้ขันธ์เท่ากับใช้กำลัง มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าไปตามๆ กันนั่นแหละ เพราะฉะนั้นขอให้หมู่เพื่อนได้ฟังอย่างถึงจิตถึงใจ ดูให้ดีด้วยสติ ปัญญาจดจ่อ ฟังให้ดี ทุกสิ่งทุกอย่างที่สัมผัสสัมพันธ์จากครูจากอาจารย์ในแง่ใดมุมใด ให้นำมาเป็นข้อคิดอ่านไตร่ตรอง เพื่อเป็นอรรถเป็นธรรมแก่ตน ที่มุ่งเข้ามาศึกษาอบรมกับท่าน จะไม่เสียประโยชน์ที่มาศึกษา
การมาอยู่ด้วยกันจำนวนมาก จะให้สงบสงัดเหมือนอยู่จำนวนน้อยย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะกิริยาอาการสุ้มเสียงมีอยู่กับทุกคนที่จะนำออกใช้ เมื่อใช้ไปก็ไม่ไปไหนจะต้องเข้าไปสัมผัสที่ตา หู ลิ้น กาย ใจของกันและกัน ให้เป็นการรบกวนจิตใจอยู่เป็นประจำนั้นแลในวันหนึ่งคืนหนึ่ง การอยู่จำนวนมากจึงไม่ค่อยสะดวกเต็มอรรถเต็มธรรมเหมือนอยู่จำนวนน้อยๆ
เราพูดเทศน์ให้หมู่เพื่อนฟังนี้มามากต่อมากแล้ว การอบรมสั่งสอนหมู่เพื่อนก็เริ่มแรกตั้งแต่พ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่นท่านมรณภาพลงไป หมู่เพื่อนก็มาเกี่ยวมาเกาะตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งบัดนี้นานเท่าไร ท่านมรณภาพไปก็ดูเหมือน ๓๘ ปีนี้แล้ว เราที่เกี่ยวข้องกับหมู่เพื่อนโดยไม่ได้ตั้งอกตั้งใจจะเกี่ยวข้อง แต่ก็เกี่ยวข้องด้วยความจำเป็นของหมู่เพื่อนที่มายึดมาเกาะ ก็จำต้องได้ปฏิบัติมาตั้งแต่โน้นจนกระทั่งบัดนี้ ผู้มาศึกษาเพื่อสารคุณจริงๆ ก็น่าจะได้ไปเป็นข้อปฏิบัติไม่เหลวๆ ไหลๆ
เฉพาะวัดนี้เราเคยพูดเสมอ เรามีความเข้มงวดกวดขันกับทางด้านจิตตภาวนามากกว่าสิ่งอื่นใดทั้งนั้น สิ่งเหล่านั้นเพียงอาศัยชั่วระยะกาล อย่าได้ถือมาเป็นหลักเป็นเกณฑ์เป็นการเป็นงานภายในวัดนี้ จะเป็นการให้เสียทางด้านจิตตภาวนา และเสียขนบธรรมเนียมประเพณีที่ครูบาอาจารย์พาดำเนินมา ซึ่งล้วนแล้วแต่เสาะแสวงหาความสงัด เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ดูเรื่องของจิต เรื่องทั้งมวลจะไม่เกิดจากที่ใด แสดงออกจากที่ใด นอกจากออกจากจิตโดยถ่ายเดียวนี้เท่านั้น หากไม่สังเกตก็ไม่รู้ว่าตนมีเรื่อง จนกระทั่งเต็มหัวอกยกไม่ขึ้นแล้วถึงทราบว่าหนัก แต่ก็หาทางแก้ทางออกไม่ได้เพราะความไม่มองดูจิตนั่นแล
การมองดูจิตก็คือการกำหนดด้วยสติ ให้มีการรับทราบความเคลื่อนไหวของใจตัวเองอยู่โดยสม่ำเสมอ หากควรจะใช้ปัญญาพินิจพิจารณาเพื่ออรรถเพื่อธรรมจากความคิดปรุงของตนในแง่ใดก็ให้ได้ อย่าปล่อยให้คิดไปวันหนึ่งคืนหนึ่งโดยปราศจากประโยชน์ทางด้านธรรมะ แล้วกอบโกยเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เข้ามาเผาลนจิตใจ ให้เดือดร้อนวุ่นวายหาความสงบเย็นใจไม่ได้เลย อย่างนี้ไม่ใช่ทาง
ในสมัยปัจจุบันที่ได้นำมาอบรมสั่งสอนหมู่เพื่อน ได้มาจากไหนถ้าไม่ได้มาจากพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นของเรา ซึ่งเป็นหลักยึดที่ตายใจได้โดยไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าแง่ธรรมไม่ว่าแง่วินัย ท่านประพฤติปฏิบัติโดยความถูกต้องแม่นยำ ไม่ให้เป็นที่สงสัยแก่ผู้ไปศึกษาอบรมกับท่าน นี่เราได้ศึกษาอบรมกับท่านมามากน้อยเพียงไรก็นำมาอบรมสั่งสอนหมู่เพื่อน ด้วยความตะเกียกตะกายของตนเอง ก็ควรจะเป็นสารประโยชน์แก่ผู้มาศึกษาอบรม และควรที่จะเข้มแข็งขึ้นทุกวัน ไม่ใช่อ่อนลงไปๆ จนอ่อนเปียกล้มเหลวไป อย่างนั้นใช้ไม่ได้เลย
เวลานี้ดูจะเป็นอย่างนั้น แต่หมู่เพื่อนมีความรู้สึกอย่างไรผมไม่ทราบด้วย สำหรับผมผู้ดูแลหมู่เพื่อนอยู่ อดมองอดคิดอ่านไตร่ตรองกับหมู่เพื่อนไม่ได้ เพราะเราเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นผู้ให้อุบายวิธีการต่างๆ เพื่ออรรถเพื่อธรรม สิ่งใดที่ไม่เป็นอรรถเป็นธรรมที่แทรกขึ้นมาในกิริยาอาการของหมู่เพื่อนแต่ละรายๆ ก็อดที่จะคิดอดที่จะทราบไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ส่วนมากมักเป็นผลลบเสมอ จึงทำให้เกิดความกังวลและหนักใจไปด้วย เพราะกิริยาแห่งการแสดงออกนั้น ไม่ค่อยมีสติเครื่องรักษาบ้างเลย ขอให้หมู่เพื่อนได้พินิจพิจารณาให้มาก เตือนจุดใดข้อใดให้พึงนำไปคิดไปอ่าน เพราะผู้เตือนเตือนเพื่อให้ผู้นั้นได้สติ ควรจะแก้ไขดัดแปลงก็ให้ได้แก้ไขดัดแปลง ควรจะส่งเสริมในสิ่งที่ดีอยู่แล้วอย่างใดก็ให้ได้ส่งเสริมในสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ให้เจริญมากขึ้นภายในจิตใจของตน ไม่ใช่สักแต่ว่ามานั่งฟังกันอยู่เฉยๆ อยู่ไปวันหนึ่งๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร
การงานมีมากแฝงขึ้นมาในวัดนี้ เพราะมีหลายองค์อยู่ด้วยกัน องค์หนึ่งทำงานหนึ่งๆ มองดูแล้วไม่ใช่งานแก้กิเลส แต่เป็นงานเพิ่มความกังวลสั่งสมความกังวล หรือสร้างความกังวลขึ้นมาภายในจิตใจ โดยเจ้าตัวผู้ทำอยู่นั้นก็ไม่ทราบเลยว่างานนั้นเป็นงานเช่นไร ก็จะมามัวคิดแต่ว่างานนี้เป็นผลประโยชน์ เป็นงานของศาสนา เป็นงานของวัดวาอาวาส เป็นงานเพื่อหมู่เพื่อคณะ แต่มีความจำเป็นมากน้อยเพียงไร งานนี้ได้ทำความกระทบกระเทือนแก่จิตใจทางด้านจิตตภาวนาอย่างไรบ้างหรือไม่ ข้อนี้รู้สึกจะมีความคิดน้อยมาก จึงทำให้เกิดให้เป็นอยู่เสมอ
ฉันจังหันเสร็จแล้วตามธรรมดา เอ้า เข้าทางจงกรมซิ นี่เป็นอย่างนั้นครูบาอาจารย์พาดำเนินมา ห้ำหั่นกับกิเลสซึ่งเกิดขึ้นที่หัวใจอยู่ตลอดเวลา ผลิตตัวของมันขึ้นมาเรื่อยๆ ผลของมันขึ้นมาเรื่อยๆ หากมีสติจะได้เห็นได้ทราบได้แก้ไขกัน ถ้าไม่มีสติก็ดังที่เป็นอยู่และจะเป็นไปข้างหน้า ก็จะต้องเป็นไปตามทำนองที่เป็นอยู่นี้แลไม่เป็นอย่างอื่น
ท่านผู้ทรงมรรคทรงผลที่เป็นสรณะของพวกเรา ตั้งแต่วันพระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่โลกทั้งหลายได้เปล่งวาจาถึงท่านว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ก็ดี ธรรมที่ท่านได้ตรัสรู้มาสั่งสอนโลก อันเป็นกิริยาแห่งความสมมุติแง่หนึ่งก็ดี พระสงฆ์สาวกที่ท่านดำเนินจนสังหารกิเลสให้สิ้นซากไปจากจิตใจ ทั้งสามรัตนะนี้เป็นสรณะที่พึ่งเป็นพึ่งตายของโลก ท่านเกิดขึ้นมาได้ด้วยวิธีการใด ท่านตะเกียกตะกายแทบเป็นแทบตายมาด้วยกันแทบทั้งนั้น นั่นละท่านผู้ทรงมรรคทรงผล ท่านทรงตั้งแต่เหตุคือข้อปฏิบัติเครื่องดำเนิน กิริยาที่แสดงออกในแง่ใดมุมใดของใจ เป็นไปเพื่อความแก้กิเลส ถอดถอนกิเลสโดยลำดับลำดา ไม่ใช่เป็นไปเพื่อความสั่งสมกิเลสด้วยความคิดความปรุงต่างๆ ดังที่เป็นอยู่ในหัวใจของเราของท่านเวลานี้เลย ให้พึงพากันคิด
ธรรมะหรือว่ามรรคผลนิพพานนั้น ไม่ได้ห่างเหินไปจากความพากเพียรนี้เลย อย่าไปคิดให้เสียเวล่ำเวลาและตายเปล่าๆ ถูกกิเลสมันต้มตุ๋นไปเปล่าๆ ว่ากาลนั้นสมัยนี้เวลาโน้น อยู่ที่โน้น สุดเอื้อม สุดสามารถที่จะยึดได้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ หมดไปแล้วมรรคผลนิพพาน หมดเขตหมดสมัยไปแล้ว นั่นเป็นเรื่องของกิเลสมันต้มมันตุ๋นพวกเรา ซึ่งเคยต้มตุ๋นมามากแล้ว นานแสนนานแล้วในหัวใจดวงนี้แล ให้คิดลงไปจุดนี้
คำว่ามรรคผลนิพพานนั้นไม่ได้ห่างจากความพากเพียร ที่ท่านสั่งสอนพวกเรามาอยู่เป็นประจำนี้เลย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา นี่ท่านเรียกว่า พละ ๕ หรือ อินทรีย์ ๕ อินทรีย์คือความเป็นใหญ่ เป็นใหญ่ที่จะห้ำหั่นกับกิเลส ไม่มีกิเลสประเภทใดที่จะแซงหน้าขึ้นมาได้ ถ้าลงได้มีธรรม ๕ ประเภทนี้เป็นกำลังของใจแล้ว ท่านว่าศรัทธา หยั่งทราบในผลที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ว่าเป็นผลเลิศประการใด นั่นละศรัทธา แล้วก็เชื่อเหตุที่พระองค์ทรงดำเนินมาอย่างไร เราก็ดำเนินตามที่ท่านสั่งสอนไว้แล้วนั้น ท่านว่าศรัทธา เชื่อในมรรคในผลเชื่อในบุญในกรรม เชื่อในการกระทำของตน นี่ศรัทธา วิริยะ เพียรที่จะแก้จะถอดถอนกิเลสออกไปโดยลำดับลำดา ในอิริยาบถหนึ่งๆ ไม่ห่างเหินจากความเพียรที่จะแก้กิเลสนี้เลย นั่นฟังซิ
นี่ละท่านว่า พละ ๕ คือเป็นกำลังแต่ละอย่างๆ ที่จะสังหารกิเลสทั้งนั้น ไม่ใช่กำลังของกิเลสที่จะสังหารเรา ถ้านำธรรม ๕ ประเภทนี้เข้ามาแล้ว อยู่ที่ใจของเราสติ นั่นฟังซิ สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา สติเป็นธรรมที่จำต้องปรารถนาในที่ทั้งปวง นั่นมีเว้นที่ตรงไหนที่สติจะไม่สอดแทรกเข้าไป หรือเป็นประจำของงานนั้นๆ ท่านจึงเรียกว่าสติ สมาธิมีความเหนียวแน่นมั่นคงในทางเหตุ ด้วยความพากเพียรอย่างสม่ำเสมอ เหนียวแน่นแก่นของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ท่านว่าสมาธิในทางเหตุ ส่วนผลนั้น ย่อมจะเกิดขึ้นได้จากการพยายามในทางเหตุที่แน่นหนามั่นคงนี่แล กลายเป็นใจที่สงบร่มเย็นขึ้นมา และเป็นใจที่แน่นหนามั่นคงขึ้น ท่านเรียกว่าสมาธิ คือความแน่นหนามั่นคงของใจ
ปัญญา นั่นฟังซิ ปัญญาตั้งแต่ขั้นล้มลุกคลุกคลานไป ตั้งเอ้าล้ม ตั้งขึ้นมาใหม่พินิจพิจารณาหลายครั้งหลายหน หากได้ความแยบคายขึ้นมาจากการพยายามอยู่เสมอนั่นแล คนมีปัญญาทำอะไรมักจะไม่คลาดเคลื่อนและไม่คลาดเคลื่อน ไม่ผิดพลาดไปได้ ปัญญาทางธรรมะเป็นอย่างนั้น นี่ละธรรม ๕ ประการนี้กับมรรคผลนิพพานเป็นธรรมที่เกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ออก
ผู้ต้องการมรรคผลนิพพาน อย่าไปคิดถึงกาลถึงสถานที่เวล่ำเวลา ซึ่งไม่เคยให้มรรคให้ผลให้ความดีความชอบ ให้ความหลุดพ้นจากกิเลสแก่ผู้ใดเลย หากเป็นกาลเป็นสถานที่เป็นเวล่ำเวลาของเขาอยู่อย่างนั้นมาดั้งเดิม ไม่เคยไปทำความกระทบกระเทือนและไม่เคยไปถอดถอนกิเลสให้ผู้ใด อย่านำเข้ามาเป็นการทำลายตัวเอง อย่าให้กิเลสหลอกเอาสิ่งเหล่านี้มาทำลายตัวเอง เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เป็นข้าศึกนอกจากกิเลสเป็นข้าศึก ไปคว้าเอามาห้ำหั่นฟันเจ้าของคือตัวของเราเอง ให้ขาดจากความหวังต่อมรรคผลนิพพานทั้งหลายเท่านั้นไม่เป็นอื่น
เมื่อขาดความหวังแล้วความเพียรจะมาจากไหน ความเพียรก็ล้มเหลวละลายไปหมดไม่มีอะไรเหลือ อินทรีย์ทั้ง ๕ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา หรือพละ ๕ นี้ก็ล้มเหลวไปหมด ถ้ากิเลสได้คว้าเอาสิ่งเหล่านั้นเข้ามาเป็นข้าศึก ฟันหัวใจของเราให้ขาดสะบั้นลงไปจากธรรมทั้ง ๕ ประการนี้แล้ว มรรคผลนิพพานไม่มีหวัง แม้พระพุทธเจ้าจะประทับอยู่ต่อหน้านี้ก็ตาม เพราะพระองค์ไม่ทรงเห็นสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นข้าศึกยิ่งกว่ากิเลสตัวมันแสดงอยู่ตลอดเวลาในลวดลายของมันนี้ เมื่อสติปัญญายังไม่แก่กล้าสามารถพอที่จะตามทันและห้ำหั่นมันได้ มันจะห้ำหั่นเราอยู่ตลอดไป ให้พากันคิดอย่างนี้นักปฏิบัติ
มรรคผลนิพพานนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ฉันใด ประกาศธรรมสอนไว้ฉันนั้น ไม่มีห่างเหินจากสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้วนี้เลย ขอให้ผู้ปฏิบัติจงปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักศาสนธรรมนี้เถิดจะไม่เป็นอย่างอื่น นอกจากจะเข้าสู่จุดที่ต้องการโดยลำดับลำดา จนกระทั่งถึงผลเป็นที่พึงพอใจเท่านั้น เพราะธรรมนี้ไม่ได้ชี้ลงไปในเหวในบ่อในนรกอเวจีทั้งหลาย ให้สัตว์ทั้งหลายได้ตกเพราะศาสนธรรมของพระพุทธเจ้านี้เลย นอกจากกิเลสซึ่งเป็นอธรรมเครื่องพร่ำสอนอยู่ภายในตัวของเรา กระซิบกระซาบยิ่งกว่าเวลาเราศึกษาธรรมะเสียอีกนี้เท่านั้น เป็นสิ่งที่ทำลายจิตใจของเราและฉุดลากจิตใจของเราให้ลงทางต่ำเสมอ หาทางฟื้นขึ้นไม่ได้ ก็เพราะกิเลสมันแทรกอยู่ภายในจิตใจลึกยิ่งกว่าธรรมเสียอีก นั้นแลเราจึงไม่เห็น
คำว่าสมาธิ พระองค์ทรงมาแล้ว ปัญญาก็ดี วิมุตติหลุดพ้นก็ดี ทรงมาแล้วด้วยเหตุผลกลไกอะไร ก็ทรงสั่งสอนด้วยเหตุผลกลไกอันนั้น เพื่อมรรคผลนิพพานที่พระองค์ซึ่งเคยทรงอยู่แล้วนั้น ให้พวกเราทั้งหลายได้ทรงเหมือนพระองค์ท่าน คำว่าธรรมเกิด ธรรมอะไรเกิด มืดเป็นมืด แจ้งเป็นแจ้ง กาลเป็นกาล สถานที่เป็นสถานที่ ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่สถานที่เกิดแห่งธรรม ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่กิเลส แต่สิ่งที่เป็นธรรมแท้เกิดขึ้นที่ใจของเรานี้ไม่ได้เกิดที่อื่น ตามหลักศาสนธรรมท่านสอนไว้อย่างนี้
อย่าไปคิดให้เสียเวล่ำเวลา ให้ถูกกิเลสต้มตุ๋นไปตลอด บทเวลาจะประกอบความพากเพียร ให้กิเลสกว้านเอาสิ่งที่เป็นอุปสรรคมากีดมาขวางทางเดินไว้หมดจนหาทางก้าวออกก้าวเดินไม่ได้ แล้วก็หมดหวัง อยู่ด้วยความหมดหวังเป็นประโยชน์อะไร เอ้าพิจารณาซิ ความหวังนั้นจะสำเร็จประโยชน์ก็เพราะความพากเพียรต่างหาก
เราหวังอะไรเราบวชมาในพุทธศาสนานี้ พระพุทธเจ้าสอนความหวังไว้อย่างไร สิ่งที่หวังนั้นคืออะไร และโอวาทคำสั่งสอนนั้นได้สอนแยกแยะไปจากความหวังอย่างใดหรือไม่ หรือสอนให้กลมกลืนไปกับความหวังที่เราต้องการนั้น ตั้งแต่พระพุทธเจ้าและสาวกลงมาโดยลำดับ ไม่ได้แยกแยะไปจากความหวังนี้เลย สอนให้สมหวัง คือให้ปฏิบัติตนให้เป็นไปตามที่ทรงสั่งสอนไว้แล้วนั้น จะสมหวังโดยไม่ต้องสงสัย ผู้ปฏิบัติเป็นอย่างนั้น
ครั้งพุทธกาลท่านเป็นอย่างไร สดๆ ร้อนๆ กังวานอยู่ใน
. ถ้าเรียนในแบบในตำรับตำรา ก็กังวานอยู่ในตำราที่เราจดจำมาได้นั้นแหละ เรื่องของท่านเป็นอย่างนั้น ถ้าเราเป็นผู้ปฏิบัติก็กังวานอยู่ในหัวใจของเรานี้ ความเพียรของท่านเป็นอย่างไรให้กังวานอยู่ในความเพียรของเรา อย่าให้มีความขี้เกียจขี้คร้านท้อถอยอ่อนแอ เข้าไปเกี่ยวข้องทำลายความเพียรอันนั้นให้ล้มเหลวไปเสีย นี่ละทางเดิน กังวานอยู่ที่หัวใจนี้ละ คำว่าความเพียรก็ให้กังวานอยู่ในหัวใจของเรา ศรัทธาความเชื่อต่อมรรคผลนิพพานก็เหมือนกัน ให้ฝังลึกลงในหัวใจของเรา ความเชื่อนี้เป็นสำคัญมากนะ
วิริยะ ความพากเพียร หมุนให้เต็มที่ ไอ้ความขี้เกียจขี้คร้านความท้อถอยอ่อนแอเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นยาพิษของกิเลสมันแทรกเข้ามาๆ ประหนึ่งว่ายาเคลือบน้ำตาล ให้เราเห็นว่าเป็นหวานเป็นมันเป็นความเอร็ดอร่อยไปเสีย ถ้าได้นอนจมอยู่กับความขี้เกียจขี้คร้านไม่เอาไหน ตลอดวันตลอดคืนจนกระทั่งถึงวันตายก็ไม่มีใครอิ่มพอเพราะสิ่งเหล่านี้เลย นี่ละเรื่องยาพิษของกิเลสมันมีรสซึ้งขนาดไหนฟังเอาซิ เมื่อรสของธรรมยังไม่ปรากฏ ยังไม่ได้มาเทียบเคียงฟัดเหวี่ยงกันดูแล้ว ก็ไม่รู้ว่าอะไรมีน้ำหนักมาก จะมีแต่น้ำหนักของกิเลสที่มันกล่อมหัวใจของเราอยู่ตลอดเวลานี้เท่านั้น ว่าไม่มีวันจืดจางเลย นั่นฟังเอาซิ
สติตั้งลงไป คนไม่มีสติคือคนบ้านั่นแหละ เราเห็นไหม ขาดสติเต็มที่แล้วเป็นคนบ้าร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้ที่จะแก้กิเลสไม่ใช่เป็นคนบ้า เป็นคนมีสติเป็นคนมีปัญญา นำมาใช้ถ้าเราอยากจะหลุดพ้นจากทุกข์ตามเสด็จพระพุทธเจ้าให้ทัน โดยหลักศาสนธรรมที่ทรงสั่งสอนไว้แล้วนี้ไม่เป็นอื่น จะถึงจุดหมายปลายทางโดยไม่ต้องสงสัย ถ้าไม่ให้กิเลสมาแบ่งสันปันส่วนหรือมากว้านเอาไปกินเสียหมด ในบรรดาความเพียรเครื่องสังหารมันเท่านั้น มันจะกลายเป็นเครื่องสังหารเราไป ถ้าลงมันได้คว้าถูกมือแล้วยังไงก็เอามาสังหารเรานี่แหละไม่สังหารที่อื่น
นี่ละเรื่องธรรมน่ะกังวานอยู่ที่หัวใจของเรา อันนี้เป็นที่รับอรรถรับธรรมเช่นเดียวกันกับมันเคยรับกิเลสมาแล้ว แต่ธรรมยังไม่มีกำลังพอ กิเลสจึงต้องอัดแน่นอยู่ภายในจิตใจ ขยับออกช่องใดมุมใดขณะใดก็ตาม มีแต่เรื่องของกิเลสออกทำงานเสียก่อนๆ ทั้งนั้น นี่คือเวลาที่เราอ่อนกำลัง กิเลสแข็งมีกำลังกล้ามันต้องเป็นอย่างนั้น จึงต้องได้ใช้ความพากเพียรพินิจพิจารณาให้มาก
การอยู่ในโลกนี้เราอยู่มานานเท่าไร คิดดูตั้งแต่เราเกิดมานี้ก็พอแล้ว กี่ปีกี่เดือนกว่าจะได้มาบวชเป็นพระนี้ ตั้ง ๒๐ ปี ๒๐ กว่ามาแล้ว จนกระทั่งบัดนี้อายุเท่าไร เราเคยสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งสมมุติทั้งหลาย ทั้งที่โลกนิยมและไม่นิยมมามากน้อยเพียงไร ผลประโยชน์ทำให้เราได้เหาะเหินเดินฟ้าไปที่ไหน พอจะได้เปล่งอุทานขึ้นมาว่า เอ้อแสนสบายแล้วเวลานี้ เราผ่านเรื่องเหล่านี้มานานแสนนาน ไม่นึกเลยว่าจะเจอความผาสุกสบายเย็นใจ เป็นที่ตายใจนอนใจได้ มีที่ตรงไหน ใครเจอเข้าก็ดิ้นรนกระวนกระวายไปเหมือนกันหมด ไม่ว่าเจอรูป เจอเสียง เจอกลิ่น รส เครื่องสัมผัส ไม่ว่าการคิดอ่านไตร่ตรองเรื่องใด มีแต่เรื่องเป็นฟืนเป็นไฟเผาหัวใจอยู่ด้วยกันทั้งนั้นในโลกอันนี้ จุดใดดอนใดที่เป็นจุดเป็นดอนให้ได้รับความผาสุกเย็นใจ พอให้นอนใจตายใจได้มีที่ตรงไหน
เราผ่านมามากเพียงไรแล้ว นำมาคิดมาพินิจพิจารณามาเทียบเคียงซิ ถ้าเราอยากเห็นทางออกหรืออยากมีทางออกเพื่อความหลุดพ้นจากนี้ไปเสีย แล้วเจอความสุขดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกท่านเจอ ท่านเจออย่างไร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของท่านเป็นเหมือนกับเรา ในขั้นเริ่มแรกเป็นเหมือนกัน เป็นภาชนะของกิเลสเช่นเดียวกัน แต่เวลาท่านทรงบำเพ็ญหรือประพฤติปฏิบัติโดยลำดับลำดา จนกระทั่งสำรอกปอกสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ออกหมดจากจิตใจแล้ว ความสุขอันนี้ต่างจากอะไรบ้างที่นี่ ที่เคยสัมผัสสัมพันธ์มามากน้อยนั้นที่เรียกว่าเป็นพิษเป็นภัย ไม่มีใครที่จะวางใจตายใจได้กับสิ่งเหล่านี้ แต่เวลาจิตได้เข้าสัมผัสสัมพันธ์ธรรม เริ่มตั้งแต่สมาธิธรรมขึ้นไปโดยลำดับลำดา ถึงปัญญาธรรมจนกระทั่งถึงวิมุตติธรรมแล้ว หาที่ไหนเรื่องความสุข เมื่อเจอความสุขภายในหัวใจอย่างจังๆ แล้ว เราจะไปสงสัยที่ตรงไหน
พระพุทธเจ้าเคยตรัสรู้มาเมื่อไร ตรัสรู้หนเดียวเท่านั้นจนกระทั่งปรินิพพานไม่ทรงแก้ไขอีกเลยว่าได้ตรัสรู้นี้ไม่ถูกทาง ความสุขไม่สมบูรณ์ ไม่เคยปรากฏ พระอรหัตอรหันต์ท่านก็เหมือนกัน บรรลุธรรมหรือตรัสรู้ธรรมแต่ละองค์ๆ นี้เพียงหนเดียวเท่านั้น ไม่ต้องมาซ้ำซากไม่ต้องมาแก้ไขดัดแปลง ว่าการตรัสรู้หรือการบรรลุธรรมนี้ยังไม่สมบูรณ์ ต้องมาแก้ไขดัดแปลงเสียใหม่ เมื่อว่าไม่สมบูรณ์แล้วความสุขก็ไม่สมบูรณ์ยังไม่เป็นที่พอใจ อย่างนี้มีที่ตรงไหน
หลักธรรมท่านสอนไว้แล้วว่า เป็นวิมุตติหลุดพ้นสมบูรณ์เต็มที่ สมบูรณ์แบบคือความสุขสมบูรณ์แบบนั้นเอง หาที่ต้องติไม่ได้แล้ว ความพอดีอยู่กับความบริสุทธิ์พุทโธของใจดวงนั้นเท่านั้น ไม่มีความพอดิบพอดีที่จะอยู่ในสถานที่ใด เพราะไม่มีสิ่งที่สัมผัสไม่มีสิ่งที่รับรู้นอกจากใจดวงเดียวนี้เท่านั้น เป็นผู้รับเป็นผู้สัมผัสในสิ่งดีชั่วสุขทุกข์ทั้งหลาย เมื่อดำเนินทางสายธรรมะที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้โดยถูกต้องแล้ว ให้ถูกต้องตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้นั้นแล้ว ความสุขจะเจอไปเป็นลำดับลำดาจนกระทั่งถึงเจอความสุขอันสมบูรณ์ ได้แก่บรรลุธรรมถึงขั้นวิมุตติหลุดพ้น ความสุขจะบกพร่องไปที่ตรงไหน นั่นพิจารณาซิ นั่นแหละจุดที่นอนใจตายใจได้ เอ้อ เอาละทีนี้ สุขํ วต สุขํ วต ดังพระมหากัปบินท่านออกอุทาน หลังจากท่านตรัสรู้ธรรมแล้ว
ท่านเป็นถึงพระเจ้าแผ่นดิน เวลาท่านเสด็จออกทรงผนวช ได้บรรลุธรรมถึงขั้นอรหัตภูมิแล้ว ไปที่ไหนท่านก็มักเปล่งอุทานอย่างนั้นเสมอว่า สุขํ วต สุขํ วต แปลว่า สุขหนอๆ นั่น จนกระทั่งพระทั้งหลายที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว จะว่าพระหูหนวกตาบอดก็ไม่น่าจะผิดไป ไปวิพากษ์วิจารณ์ท่านว่า พระมหากัปบินนี้แต่ก่อนท่านเคยครองราชสมบัติ ท่านคงจะคิดถึงราชสมบัติของท่านว่ามีความสุขความสบาย ไม่เหมือนกับมาบวชอยู่นี้ ได้รับความลำบากลำบน หาขอทานกินอย่างนี้ เป็นความคิดไปอย่างนั้นเสีย ถึงกับกระเทือนถึงพระพุทธเจ้า พระองค์รับสั่งให้พระมหากัปบินเข้าเฝ้าแล้วรับสั่งถามว่า เธอเปล่งอุทานว่า สุขํ วต สุขํ วต นั้นมีความหมายอย่างไรมหากัปบิน
ท่านก็กราบทูลว่า ตั้งแต่ข้าพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่นั้น โลกทั้งหลายมีความกระหยิ่มยิ้มย่องว่าเป็นยศที่สูงสุด อยู่กับความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ในขณะเดียวกัน ทุกข์ที่สูงสุดหรือต่ำสุดก็อยู่ในจุดเดียวกันนั้น เมื่อข้าพระองค์ได้สละละวางสิ่งเหล่านั้นมาประพฤติปฏิบัติธรรม สังหารสิ่งที่เป็นข้าศึกทั้งหลายมีความกังวลวุ่นวายเป็นต้นให้ขาดสะบั้นไปจากใจแล้ว อยู่ที่ไหนก็เป็นสุขๆ เพราะฉะนั้นข้าพระองค์จึงได้เปล่งอุทานเสมอว่า สุขํ วต สุขํ วต ว่าสุขหนอๆ ในอิริยาบถทั้ง ๔ อิริยาบถใดที่ท่านจะไม่มีความสุข มีการบกพร่องในความสุขซึ่งเกิดขึ้นจากวิมุตติหลุดพ้นหรือวิมุตติจิตของท่าน ไม่เคยปรากฏเลย นั่นจึงเป็นจุดที่สมบูรณ์ นั่นละจุดสมบูรณ์
ใครจะสอนให้ถึงขั้นความสุขสมบูรณ์ได้อย่างพระพุทธเจ้าในโลกทั้งสามนี้ ไม่ปรากฏว่าใครเลย ที่สั่งสอนสัตว์โลกให้ถึงวิมุตติหลุดพ้นหรือเป็นความสุขอันสมบูรณ์ที่เรียก บรมสุข ๆ นอกจากนั้นก็มีแต่ติดแต่พันแต่เกาะ ให้ไฟราคะตัณหามันเผาลนอยู่ตลอดเวลา หาความสุขไม่ได้เท่านั้นเอง
นี่เรามาบวชในพุทธศาสนา โอกาสหรือเวล่ำเวลาของเราไม่มีใครเกินเรา อาหารการขบฉันทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นชื่อว่าปัจจัย ๔ คือจีวร เครื่องนุ่งห่มทั้งหลาย บิณฑบาต เสนาสนะ ที่อยู่ที่พักที่อาศัย สมบูรณ์เต็มที่ มีญาติมีโยมเขาพร้อมเสมอที่จะถวายให้เป็นความสะดวกสบายในการอยู่การหลับการนอน การขบการฉัน ตลอดถึงหยูกยาไม่อดไม่อยาก เต็มไปหมด เฉพาะอย่างยิ่งในวัดป่าบ้านตาดนี้มีเต็มไปหมด ศรัทธาญาติโยมพร้อมเสมอที่จะถวาย ที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่พวกเราทั้งหลาย
นี่เราขาดอะไรเวลานี้ นอกจากจะนอนหลับทับสิทธิ์ ลืมเนื้อลืมตัวกันอยู่เท่านั้น ไม่เห็นมีอะไรเป็นที่เด่นในหัวใจของพระในกิริยาของพระเรา เพราะฉะนั้นความเพียรถึงเหลวแหลกเหลวไหลไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร เห็นแก่ปากแก่ท้อง เห็นแก่หลับแก่นอน อันนี้โลกทั้งหลายเขามีกันทั้งนั้น ไม่เป็นของแปลกประหลาดของอัศจรรย์อะไร พอที่จะเอามาเป็นอารมณ์ภายในจิตใจ ให้กีดกั้นหรือกีดขวางความเพียรให้ก้าวเดินไม่ออก ต้องปัดออกสิ่งเหล่านี้ ถ้าต้องการความสุขอันสมบูรณ์ดังพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้ว
เอ้า ทุกข์ก็ทุกข์ การสู้กับกิเลสไม่ทุกข์ได้ยังไง กิเลสมันเป็นตัวทุกข์อยู่แล้ว กองทุกข์อยู่แล้ว มันติดอยู่กับหัวใจใดจะไม่ทำคนให้เป็นทุกข์มีหรือ การที่จะแก้ไขถอดถอนกิเลส ทำไมจะเอาสวรรค์วิมานมาจากไหน ก็ต้องเป็นทุกข์เพราะการต่อสู้กันเพื่อชัยชนะนั้นแล หากเราจะมาคิดเรื่องความทุกข์ในการต่อสู้กับกิเลสนี้ ว่าเป็นสิ่งที่สุดวิสัยที่จะทำได้แล้ว การนอนจมอยู่กับกิเลสนั้นเป็นสิ่งที่พอดีกับนิสัยของเราแล้วเหรอ เราต้องคิดอย่างนี้นักปฏิบัติ
นี่ได้กล่าวถึงพระพุทธเจ้า พระสาวกท่านผู้ทรงมรรคทรงผลจนกระทั่งมาถึงครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ท่านดำเนินมาอย่างไร เราผู้ให้การศึกษาอบรมก็ได้พยายามแนะนำสั่งสอนหมู่เพื่อนเต็มสติกำลังความสามารถ ไม่มีสิ่งใดที่เหลือหลออยู่ภายในจิตใจนี้เลย ว่าไม่ได้แสดงให้หมู่เพื่อนฟัง นอกจากสิ่งที่พูดออกไม่ได้ทั้งๆ ที่รู้อยู่แต่พูดออกไม่ได้ พูดออกไม่เป็นภาษาที่คนทั้งหลายจะเข้าใจ รู้อยู่ในภาษาใจอันเดียวนี้เท่านั้น เป็นผู้สัมผัสเป็นผู้รับรู้ เป็นผู้ทรงไว้นี้เท่านั้น จึงพูดออกไม่ได้ ก็จำเป็นสุดวิสัย นอกจากนั้นที่ควรจะแยะจะแยกออกสั่งสอนหมู่เพื่อนได้แล้ว ไม่เคยปิดบังลี้ลับอันใดไว้เลย
หมู่เพื่อนควรจะเห็นใจในการแนะนำสั่งสอน แล้วยึดไปประพฤติปฏิบัติ ให้เป็นเหตุเป็นผลเป็นอรรถเป็นธรรมขึ้นภายในจิตใจของตน ดีกว่าที่จะมานอนจมอยู่เฉยๆ ซึ่งโลกทั้งหลายเขาก็นอนได้จมได้ คนมีกิเลสจมกันทั้งนั้นแหละ ไม่มีใครที่จะฟื้นฟู ไม่มีใครที่จะได้รับความสุขเต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนผู้สิ้นจากกิเลส การสิ้นจากกิเลสคือใคร ก็คือผู้มีความพากเพียรดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เอาๆ เข้าไปเถอะ ธรรม ๕ ประการนี้กิเลสพังทั้งนั้น
พระพุทธเจ้าก็ดี สาวกก็ดี ท่านนำธรรมเหล่านี้แลไปพังกิเลส ให้แตกกระจัดกระจายไม่มีอะไรเหลือ ทรงวิมุตติหลุดพ้นขึ้นมาภายในจิตใจของท่าน เราได้กล่าววาจาถึงว่า พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ จนตลอดมาทุกวันนี้ จะเป็นธรรมประเภทใดถ้าไม่ใช่ธรรมทั้ง ๕ ประเภทนี้เป็นสำคัญในวงความเพียรของพวกเรา ให้พากันตั้งอกตั้งใจ
มานี้มาก เวลานี้เต็มจนจะหาที่พักที่อยู่ไม่ได้ ผู้มาศึกษาควรจะรู้จักเวล่ำเวลาการศึกษาอบรมพอสมควรแล้วก็ไป เพื่อให้คนอื่นได้อาศัยได้เข้ามาพักอบรมศึกษากันประพฤติปฏิบัติกัน และเวลามาก็อย่ามากีดมาขวางเหมือนกับทัพพีขวางหม้อ ให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ อย่าสำคัญว่าตนดี ถ้าความสำคัญว่าตนดีตนมีความรู้ความฉลาด ตนมีฐานะอันดีเข้าไปแทรกแล้ว นั้นแลคือตัวกิเลสมันไปตั้งบ้านตั้งเรือนอยู่ภายในจิตใจนั้นแล้ว มันจะกีดจะขวางไปหมด เพราะมันขวางหัวใจของผู้นั้นแล้ว มันจะแสดงอาการกีดขวางไปหมดทั้งวัดทั้งวา เลยกลายเป็นเรื่องอย่างนี้ไปทั้งนั้น หาประโยชน์ไม่ได้เลย อย่านำเข้ามาใช้ในวงปฏิบัติ
เอาให้เป็นเหมือนผ้าขี้ริ้ว ใครว่ายังไงนำมาพิจารณาให้เป็นอรรถเป็นธรรม ข้อคิดเพื่ออรรถเพื่อธรรม นั้นแลชื่อว่าผู้มาศึกษาอบรมโดยแท้ อย่านำมาเรื่องของกิเลสตัณหาอาสวะ ความทิฐิมานะ เหล่านี้มีอยู่ทั่วไปในโลก แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็มี ไม่มีมันไม่กัดกันละ ใครตัวไหนก็ว่าตัวดีๆ แล้วกัดกัน สุดท้ายมันก็เจ็บทั้งสองนั่นแหละ อันนี้เรื่องของกิเลสมันพาคนให้เป็นสุขเมื่อไร นอกจากจะพาให้ ถ้าเป็นพระเป็นเณรก็ให้พระเณรกัดกันเหมือนหมาเท่านั้นเอง แล้วดีไหมพระเณรกัดกัน ดีไหม
หมากัดกันยังไม่เห็นเท่าไร เขาไม่ได้ถือสีถือสา เพราะหมากัดกัน หมาฟังซิ แต่พระกัดกันนี้เป็นยังไง มันเลวยิ่งกว่าหมา เลวยิ่งกว่าอะไร อย่านำเข้ามาใช้ในวงผู้ปฏิบัติเป็นอันขาด ถ้าไม่อยากเป็นเลยหมาลงไป ขั้นเลยหมาแล้วไม่มีใครต้องการในสามแดนโลกธาตุนี้ เราอย่าต้องการ เราเป็นพระ อย่านำมาเทิดทูนในหัวใจของเราจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยทั้งนั้น
อันใดที่ดีที่เหนือ พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้อย่างไร ให้นำมาประพฤติปฏิบัติกำจัดมันลงไป ขึ้นชื่อว่ากิเลสแม้นิดหนึ่งก็ตามเถอะ มันจะแสดงความเป็นพิษเป็นภัยอยู่ในหัวใจเรานั้นแหละ ถ้ามีสติมีปัญญาแล้วจะได้เห็นกันอย่างชัดเจน จนถึงกับว่าสังหารกันให้แหลกแตกกระจายไม่มีอะไรเหลือภายในจิตใจเลย เหลือแต่ความบริสุทธิ์วิมุตติพระนิพพานล้วนๆ นั้นละที่นี่ อยู่ไหนอยู่ ความสุขนี้หาเป็นที่เพียงพอแล้ว ไม่มีอะไรเกินความบริสุทธิ์ของจิต ขึ้นชื่อว่าความสุข บรมสุขก็อยู่ที่ตรงนั้น ไม่มีอะไรเกินไม่มีอะไรเลย ความพอดิบพอดีในหลักธรรมชาติ ท่านเรียกว่ามัชฌิมาในหลักธรรมชาติ ก็ได้แก่ความสิ้นกิเลส หมดเหตุหมดปัจจัยที่จะมาทำให้เป็นอะไรอีกแล้วภายในจิตใจนี้เท่านั้น ให้พากันจำเอาไปประพฤติปฏิบัติ
นี่ก็เหนื่อยทุกวันๆ เหนื่อยลงทุกวัน สอนหมู่สอนเพื่อนก็สอนเต็มเม็ดเต็มหน่วยสอนเต็มอรรถเต็มธรรม เต็มภูมิความสามารถของตนที่มีมากน้อยเพียงไร ไม่ได้ปิดบังลี้ลับ ขอให้หมู่เพื่อนได้เห็นใจนำไปประพฤติปฏิบัติ อย่ามาเก้งๆ ก้างๆ กีดๆ ขวางๆ ขวางทั้งตนและผู้อื่นอยู่นี้มันไม่เกิดประโยชน์อะไร สิ่งเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปในโลกดินแดน ไม่เห็นเป็นของประเสริฐ นอกจากธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐ
ดูหัวใจเจ้าของอย่าไปดูที่อื่น ดูที่ไหนก็ไม่เหมือนดูหัวใจ ถ้าลงได้ดูหัวใจแล้วจะได้เห็นสิ่งที่เป็นภัยเป็นพิษอยู่ภายในจิตใจ และเห็นอรรถเห็นธรรมสิ่งที่วิเศษเลิศเลออยู่ภายในจิตใจในขณะเดียวกัน ในจุดเดียวกันนั้นแลไม่มีที่อื่น พระพุทธเจ้าสอนลงที่นี่
แล้วนี่มีหมู่เพื่อนมาก พระเณรมีมาก เสียงจอแจๆ ละนะเวลานี้ โน่นอยู่กุฏิโน้นก็ได้ยิน หูกับปากเจ้าของอยู่ติดพันกันอยู่ทำไมไม่ได้ยิน นี่ก็น่าคิดเหมือนกัน เคยพูดมาหลายครั้งหลายหนแล้ว เสียงดังลั่นไปหมด ทำอะไรไม่พูดไม่ได้เหรอ สิ่งที่ควรพูดจำเป็นพูดก็พูดให้มีสติ คนที่พูดมีสติจะไม่เวิ๊กๆ ว๊ากๆ เสียงเอ็ดตะโรโฮเฮ เหมือนคนหาสติไม่ได้ จวนจะเป็นบ้าแล้วนั่น เดี๋ยวจะไปปากคลองสานนะจะว่าไม่บอก โรงพยาบาลปากคลองสานสำหรับรับคนบ้า พระบ้า มี หรือเราอยากไปเหรอปากคลองสานนั่น เราถึงไม่มีสติสตังยับยั้งกิริยาแห่งการแสดงออกของตนไว้บ้างเลย ถ้ามีสติก็รู้ ถ้าไม่มีสติมันก็ว๊ากๆๆ โน่น หูคนอื่นอยู่ไกลๆ ยังได้ยิน หูเจ้าของกับปากเจ้าของอยู่ติดกันมันไม่ได้ยิน เพราะไม่มีสติจึงไม่ได้ยิน นี่ก็ให้สำรวมระวังนะ เสียงมันดังขึ้นเรื่อยๆ แล้วเวลานี้ มันหากมีอยู่ในนั้นแหละ เดินมาเมื่อไรก็ได้ยิน ไม่เดินมาก็ได้ยินอยู่ จะว่าไง ผู้สอนมันอกจะแตกแล้วนะ สอนแทบล้มแทบตาย เพื่อความละเอียดลออ แต่เพียงเท่านี้เป็นของไม่ละเอียดเลยมันก็ทราบไม่ได้จะทำยังไง
การฝึกการทรมานตัวเองนั้น คือการฝึกคือการดัดสันดานกิเลส เราอย่าเข้าใจว่าเราดัดสันดานเรา เราทรมานตัวเรา ถ้าเราว่าเราดัดสันดานเรา เราทรมานเราแล้ว จะก้าวไม่ออกจะทำไม่ลงฝึกไม่ได้นะ กิเลสมันอยู่กับเรา เวลากิเลสมันดัดสันดานเรา เราทำไมไม่คิดบ้างว่า เวลานี้กิเลสดัดสันดาน ความโลภดัดสันดาน ความโกรธดัดสันดาน ราคะตัณหาดัดสันดาน ความรักความชังดัดสันดาน มันดัดสันดานอยู่ตลอดเวลาภายในจิตใจนี้ เราไม่ทราบบ้างหรือว่านี้คือกิเลส แต่เวลาเราจะดัดสันดานมันบ้าง เราจะทรมานมันลงไปให้ถึงขั้นหายพยศ ปรากฏธรรมคือความสงบเย็นใจขึ้นภายในจิตใจของเรา ทำไมจึงอิดหนาระอาใจ ว่าเป็นทุกข์หรือกลัวจะเป็นทุกข์ นี่มันก็ไม่ทันกลมายาของกิเลสโดยไม่ต้องสงสัยแหละ ไม่ทัน
ทุกข์ก็ยอมทุกข์ ถึงเวลาจะทุกข์เพราะการต่อสู้ เช่นเดียวกับเขาต่อยกันบนเวที นักมวยบนเวทีไม่ได้คำนึงถึงความเจ็บปวดแสบร้อนประการใด มีแต่หวังจะให้ได้ชัยชนะเท่านั้น นี่ก็เหมือนกัน เราหวังจะได้ชัยชนะจากการต่อสู้กับกิเลส เพราะเราเคยแพ้มันมานานแสนนานแล้ว ระยะนี้เป็นกาลเป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งแล้วที่เราจะเอาชัยชนะจากการต่อสู้กับกิเลส เราจะไปคำนึงถึงความลำบากลำบนนี้ เป็นอันว่าแพ้ตั้งแต่ยังไม่ขึ้นเวทีเลย ให้พากันจำเอาไว้
ครูบาอาจารย์องค์ใดที่ท่านดำเนินมาเป็นสรณะของพวกเราในวงปัจจุบันนี้ ก็ได้เคยศึกษากับท่านมาพอประมาณ องค์ใดก็เดนตายกันทั้งนั้น ฟังแล้วลืมไม่ลงเพราะเป็นอุบายที่เด็ดๆ เผ็ดๆ ร้อนๆ ที่ท่านนำมาใช้ กิเลสไม่ตายท่านก็ตาย นั่นฟังซิ แต่สุดท้ายกิเลสตายท่านยัง ครองวิมุตติธรรมวิมุตติจิตภายในจิตใจ เพราะความผาดโผนโจนทะยานกับกิเลส ท่านไม่มีความท้อถอยอ่อนแอท้อแท้เหลวไหลเหมือนเราๆ ท่านๆ ที่เป็นอยู่เวลานี้ ให้ยึดมาเป็นหลักเป็นเกณฑ์ถ้าเราอยากชนะ
กิเลสนี่ถ้าเราเข้มแข็งมันจะอ่อนตัวลง พอเราอ่อนมันจะเข้มแข็งขึ้นทันที มันอยู่ในฉากเดียวกัน จิตดวงเดียวกันนั้นแล มันเหมือนกับเก้าอี้ตัวเดียวนั่นละ กิเลสนั่งเราก็ไม่ได้นั่ง เรานั่งกิเลสก็ไม่ได้นั่ง ผลัดกันขึ้นผลัดกันลงอยู่นั้นละ กิเลสอยู่บนเก้าอี้อันเดียวกันนั่นละ นี่กิเลสอยู่บนหัวใจของเรา เหมือนกับคนที่นั่งบนเก้าอี้นั่นแหละ ถ้าคนหนึ่งจะนั่งคนหนึ่งก็ต้องลง เอากิเลสก็ต้องให้เป็นอย่างนั้น เอาให้กิเลสมีแต่ลงอย่าให้มันได้ขึ้น สู้กันอย่างนั้น
ครูบาอาจารย์ท่านพาดำเนินมาอย่างนั้น พระพุทธเจ้าและสาวกท่านพาดำเนินมาอย่างนั้น จะให้เดินทางไหน หากว่าเป็นทางที่สะดวกสบายที่สุดแล้ว ก็ไม่มีใครเกินพระพุทธเจ้าในเรื่องความฉลาดแหลมคม ที่จะนำอุบายต่างๆ ที่สะดวกที่สุดมาสั่งสอนสัตว์โลกมีพวกเราเป็นต้น ที่ขี้เกียจขี้คร้านเอานักหนา นอนไม่ต้องตื่นก็ให้มันตรัสรู้ธรรมอยู่ในเวลาหลับครอกๆ นั่น พระพุทธเจ้าจะเอาให้ได้ถึงขนาดนั้นละถ้าหากว่าเป็นไปได้นะ นอนหลับครอกๆ อยู่ก็ให้ตรัสรู้ธรรม นอนหลับครอกๆ อยู่ก็ให้บรรลุมรรคผลนิพพาน บรรลุพระโสดา บรรลุพระสกิทา บรรลุพระอนาคา บรรลุพระอรหัต ตัดกิเลสออกจากใจทั้งๆ ที่หลับครอกๆ อยู่นั่นแหละ พระพุทธเจ้าจะสอนลงแบบนี้ทีเดียว ให้ท่านทั้งหลายหลับครอกๆ อย่าตื่นนะ ไม่ต้องกินไม่ต้องอะไรทั้งนั้น เอ้า ถึงมันจะปวดหนักเบามันจะทะลักออก ก็ให้มันออกกับหลับครอกๆ นั่นเลย ตรัสรู้ธรรมในนั้น ให้ความสบายหมด ไม่ต้องไปหาส้วมหาถานแหละ ท่านจะสอนอย่างนี้ หากว่าเป็นฐานะที่จะควรเป็นไปได้
แต่นี้มันไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้อย่างนั้น พระองค์เองก็สลบถึง ๓ ครั้งเห็นไหมในตำรับตำรา พระสาวกบางองค์เดินจงกรมฝ่าเท้าแตก นั่นมีในตำรับตำรา เป็นยังไงมันถึงฝ่าเท้าแตก เดินธรรมดาจะแตกได้ยังไงฝ่าเท้า จักษุแตก
พระจักขุบาลไม่นอน ๓ เดือน จนถึงขนาดที่ว่าจักษุแตก เอ้า แตกไป จักษุนี้คนตาบอดยังมีเต็มในโลก ขอให้ดวงใจนี้ได้สว่างจ้าขึ้นมาก็เป็นที่พอใจแล้ว และสุดท้ายพระจักขุบาลก็เป็นผู้ทรงธรรมอันเลิศภายในใจ แม้จักษุจะแตกไปก็ตาม
นั่นฟังซิสรณะของพวกเราเป็นอย่างไรบ้าง ยกมาเป็นเพียงเอกเทศเท่านี้ มีมากมายที่ท่านประกอบความพากเพียรแทบเป็นแทบตาย ชีวิตนี้เป็นเดนตายมา นั่นฟังซิ พระพุทธเจ้าไม่เห็นทรงแสดงว่า เอ้ย นอนหลับครอกๆ ซี วิธีการที่จะได้บรรลุธรรมที่เร็วที่สุด หลับครอกๆ ต่างหาก ไม่ใช่วิธีการที่จะเดินฝ่าเท้าแตก ไม่ใช่แบบจักษุแตก แบบตะเกียกตะกายต่อสู้ ความอดทนไม่มีความหมายแหละ ไม่ต้องอดไม่ต้องทน ความเพียรไม่มีความหมาย ศรัทธาไม่มีความหมาย วิริยะไม่มีความหมาย สติ สมาธิ ปัญญาไม่มีความหมาย มีความหมายอย่างเดียวแต่หลับครอกๆ ให้บรรลุธรรมอยู่ในนั้นแหละ พระองค์จะสอนอย่างนั้นนี่นะ นี่ไม่เห็นพระองค์สอนนี่นะ
เอ้าๆ หนักลงไป เราเคยตายเพราะกิเลสดัดสันดานเราฝึกทรมานเรานี้มามากต่อมากแล้ว ไม่รู้กี่กัปกี่กัลป์แล้ว คราวนี้เป็นทีของเราที่จะเอากับมัน เอ้า ฟัดกันลงไป กิเลสไม่ตายให้เราตายเท่านั้น นั่น สุดท้ายกิเลสก็ตายพังทลายไปหมด เป็น สรณํ คจฺฉามิ ของพวกเรามา มีแต่ท่านดำเนินอย่างนั้นกันแทบทั้งนั้น ผู้ที่บรรลุเร็วก็มี เช่นอย่าง สุขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา ทั้งปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว มี
แต่จำนวนน้อยมาก เรามันไม่ใช่ประเภทนั้นซิ ประเภทที่ควรถาก-ถาก ควรฟัน-ฟัน ควรเอาขนาดไหนเอาให้ ควรแตก-แตก ควรหัก-หัก ควรเป็น-เป็น ควรตาย-ตาย ฟัดกันลงอย่างนั้นซิ มันถึงจะพอเหมาะกับเหตุกับผลของกิเลสตัวมันเหนียวแน่นแก่นฉลาดแหลมคมที่สุด เราโง่ๆ ที่สุดมันจะไปเข้ากันได้ยังไง มันฉลาดเราต้องฉลาด มันแหลมคมเราต้องแหลมคม ไม่งั้นไม่ทันกัน อย่างนั้นต่างหากการแก้กิเลส พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนไว้อย่างนั้นจะว่าไง
ทุกขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็วก็มี ทุกขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติทั้งลำบากทั้งรู้ได้ช้าก็มี แต่จำเป็นก็ต้องทำ นิสัยปัจจัยของเรามันมีอย่างนั้น จะไปแลกเปลี่ยนของผู้อื่นมาใช้ไม่ได้ นาของเราสวนของเรามันทำยากลำบากเราก็ต้องทำ งานของเรามันยากมันลำบาก เราจะไปเปลี่ยนงานคนอื่นไม่ได้เราก็ต้องทำงานของเรา ยากก็ทำง่ายก็ทำ เพราะเป็นงานของเราที่จะต้องทำ
นี่งานฆ่ากิเลส กิเลสเป็นเรื่องมันฝังอยู่ภายในจิตใจของเรา เป็นเรื่องของเรา การแก้กิเลสหนักเบามากน้อยเพียงไรเป็นเรื่องของเรา ที่จะต่อสู้กันด้วยความหนักเบามากน้อยเพียงไรนั้น ให้กิเลสบรรลัยไปจากหัวใจนั้น เป็นที่เหมาะสมแล้วกับความเพียรของเราผู้มีนิสัยอย่างนี้ ท่านจึงกล่าวไว้ว่า ปฏิปทา ๔ อย่าง คือยังไง
สุขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา ทั้งปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว หนึ่ง
สุขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า อย่างหนึ่ง
ทุกขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว ก็มี
ทุกขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา ทั้งปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า ก็มี
นี่ละ ปฏิปทา ๔ อยู่ในนิสัยของผู้ใด เราดูเอาซินิสัยของเรามันเป็นยังไง ถ้านิสัยที่ควรจะเอากันอย่างหนักก็ต้องหนัก ไม่หนักไม่ได้ ถ้าควรเบาก็ต้องเบาเอง นี่ละเรียกว่าเป็นนิสัยของแต่ละรายๆ ที่จะฝึกที่จะดัดแปลงตัวเอง ที่จะสังหารกิเลสซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจของตัวเองด้วยวิธีการนั้นๆ ท่านสอนไว้แล้วถึง ๔ ปฏิปทาเครื่องดำเนิน ไม่ใช่แบบเดียวกัน ให้พากันจำเอาไว้
จะเอาแต่สุกก่อนห่ามๆ ขายก่อนซื้อ ตายทิ้งเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยแหละผู้ปฏิบัติธรรม แล้วก็จะมีมาพูดด้วยว่า ครั้งพุทธกาลท่านบรรลุธรรมอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านปฏิบัติสะดวก เวลาท่านจะตายลำบากลำบน ทำไมไม่เห็นพูดล่ะ พระพุทธเจ้าทรงสลบ ๓ หนไม่เห็นมาพูด ไม่เอามาเป็นข้อเตือนใจตนบ้างล่ะ อย่างพระจักขุบาลท่าน จักษุท่านแตก เราไม่เห็นแตกนี่ ก็ทำไมไม่เอามาเป็นคติตัวอย่างบ้าง ทำไมให้กิเลสมันกล่อมเอาๆ อะไรๆ ก็มีแต่ลำบากไปหมด นอนจมกับกิเลสมันดีแล้วเหรอ ต้องสอนอย่างนั้นย้ำกันอย่างนั้นซิกับกิเลส ไม่งั้นไม่ทันกันนะผู้ปฏิบัติ
ผู้ปฏิบัติเท่านั้นที่จะรู้เรื่องของกิเลสได้ดี และรู้เรื่องอรรถเรื่องธรรมได้ดี ผู้ไม่ปฏิบัติรู้ไม่ได้เห็นไม่ได้ เป็นไปไม่ได้นะ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติ รู้ด้วยการปฏิบัติ พระสาวกเป็นผู้ปฏิบัติ รู้ด้วยการปฏิบัติ แนะนำสั่งสอนโลกจึงสอนด้วยความถูกต้องแม่นยำไม่มีผิดมีพลาดเลย ก็เพราะท่านได้ผ่านแล้วทั้งเหตุทั้งผลนั้นแล นี่ก็เหมือนกันเราอยากจะทราบเรื่องของกิเลสว่าหนาแน่นขนาดไหน และธรรมเป็นของประเสริฐเลิศเลอขนาดไหน เราต้องต่อสู้ นำธรรมะพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นเครื่องมือนั้นเข้ามาต่อสู้ โดยเราเป็นผู้ลงมือทำงานเอง เอ้า หนักเบาเราก็รู้เอง นี่ละเราถึงจะทราบเหตุทราบผล แล้วความสุขก็จะเจอที่นี่
ทุกข์เสียก่อนนั่นแหละ เรื่องของทุกข์ต้องทุกข์ ทุกข์มากทุกข์น้อย เรื่องความสุขหากมีมา อย่างบรมสุขๆ ประกาศกังวานอยู่ทั่วโลกดินแดนจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ บรมสุขคืออะไร นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นั่น ปรมํ แปลว่าอะไร ก็บรมสุขนั่นเอง เป็นความสุขที่เลิศเลอที่สุด เพราะความพากเพียร ไม่ใช่เพราะความขี้เกียจขี้คร้านอ่อนแอนะ ให้พากันจำเอา
เอาละพอ