สถานที่เหมาะสมช่วยการบำเพ็ญ
วันที่ 23 กันยายน 2530 เวลา 19:00 น. ความยาว 87.53 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๓๐

สถานที่เหมาะสมช่วยการบำเพ็ญ

ครั้งพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าเป็นประธานในการประพฤติปฏิบัติ และความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ มีแต่อาการที่เป็นไปเพื่อความแก้ความถอดถอนกิเลสทั้งนั้น ไม่มีช่องทางที่กิเลสจะเล็ดลอดเข้ามา ถึงขนาดที่จะมาตั้งร้านตลาดในสถานที่อยู่และหัวใจของพระสงฆ์เหล่านั้นได้ เพราะท่านมีความเข้มงวดกวดขัน มีเจตนามุ่งหวังต่อความพ้นทุกข์อย่างแรงกล้า เพราะฉะนั้น กระแสของจิตจึงมุ่งไปทางด้านอรรถธรรมเป็นส่วนมาก ยิ่งกว่าที่จะคิดในแง่ใดให้เสียเวล่ำเวลา และสร้างความกังวลวุ่นวายให้แก่ตนเปล่าๆ

ดังที่ท่านสอนว่า กายวิเวก ความสงัดทางกาย ปราศจากทางรูปทางเสียงทางกลิ่นทางรส ที่จะเข้ามาสัมผัสสัมพันธ์คละเคล้ากับอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ท่านจึงสอนให้อยู่ในที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ในป่าในเขา รุกขมูลร่มไม้ซึ่งเป็นที่สงัดกาย ไม่ได้กระทบกระเทือนกับสิ่งที่จะส่งเสริมหรือปลุกให้กิเลสที่สงบตัวอยู่ภายในนั้นฟุ้งตัวขึ้นมา เพราะกิเลสอยู่ภายในใจที่ไม่มีอะไรเข้าไปส่งเสริมนั้น ก็เช่นเดียวกับไฟที่อยู่กับถ่านไฟ ไม่มีเชื้อไฟเข้าไปเป็นเครื่องส่งเสริม ไฟก็ไม่แสดงเปลวออกมา สงบตัวอยู่ภายในเตานั้น แต่เมื่อมีเชื้อไฟเป็นต้นแฝงเข้าไป ไฟที่อยู่ในเตานั้นจะเริ่มแสดงเปลวขึ้นมามากน้อย ตามกำลังแห่งสิ่งที่ส่งเสริมให้ไฟนั้นลุกลามมากน้อยเพียงใด

ใจของเราก็เหมือนกัน ถ่านไฟก็เหมือนกับใจ กิเลสนั้นเหมือนกับไฟที่อยู่กับถ่านนั้น แดงโร่อยู่อย่างนั้น แต่ไม่แสดงเปลวมากก็ไม่รุ่มร้อนมาก เมื่อไม่มีอะไรมาส่งเสริม คือกีดกันภายนอกได้แก่เชื้อไฟ มี รูป เสียง กลิ่น รส สีแสงต่างๆ ที่จะเป็นเครื่องส่งเสริมให้กิเลสภายในฟุ้งตัวขึ้นมา ใจก็สงบ นอกจากความสงบสงัดภายในกายนั้นแล้ว ยังสอนจิตวิเวก ให้สงัดทางจิต คือจิตก็ไม่ให้ฟุ้งซ่านวุ่นวายส่ายแส่หาอารมณ์ต่างๆ ที่เป็นฟืนเป็นไฟเข้ามาเผาตัวเอง เพื่ออุปธิวิเวกคือความสงัดจากกิเลสโดยประการทั้งปวง

ธรรม ๓ ประเภทนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน การอยู่ในป่าก็เพื่อกายได้รับความสงัด ไม่กระทบกระเทือนสิ่งต่างๆ ที่เข้าไปสัมผัสสัมพันธ์เพื่อล่วงไหลเข้าไปสู่ใจให้ได้รับการกำเริบ จิตก็ทำหน้าที่จิตตภาวนา ระมัดระวังอารมณ์ที่เคยเป็นภัยไม่ให้เข้ามายุ่ง ไม่ให้จิตไปทำงานในประเภทนั้น แต่มีงานทางด้านธรรมะ งานเพื่อใจสงบ งานเพื่อถอดถอนกิเลสด้วยธรรมแง่ใดบทใด ก็นำธรรมแง่นั้นบทนั้นมาบำเพ็ญ นี่เรียกว่าบำเพ็ญธรรม

เมื่อใจได้รับการบำรุงการรักษาอย่างเข้มงวดกวดขันอยู่ ทุกอาการหรือทุกอิริยาบถแล้ว ใจย่อมจะมีความสงบที่เรียกว่า จิตวิเวก คือความสงัดใจ ใจที่สงบสงัดได้ก็เพราะไม่มีสิ่งก่อกวนนั่นเอง ที่ไม่มีสิ่งก่อกวนก็เพราะการระมัดระวัง หาอยู่ในที่เหมาะสม เช่น กายวิเวก การอยู่ในป่า ผู้ไม่เคยอยู่ในป่าก็ไม่เห็นคุณค่าของป่า ของการอยู่ในป่า แต่การอยู่ในป่ากับการอยู่ในแดนบ้าน วัดป่ากับวัดบ้าน สถานที่ไกลบ้านไกลเมือง กับอยู่ใกล้บ้านใกล้เมืองนั้น สิ่งเกี่ยวข้องก่อกวนนั้นต่างกันอยู่มาก

อยู่ในบ้าน แดนบ้าน จิตใจมีแต่เรื่องกำเริบเสิบสาน ที่จะเป็นไปเพื่อการสั่งสมกิเลสให้มากมูนโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ไม่มีช่องทางที่ธรรมจะล่วงไหลหรือจะเกิดขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องเสาะแสวงหาสถานที่ที่เหมาะสม คือการอยู่ในป่า ป่าเป็นป่าหลักธรรมชาติ ไม่ใช่ป่าผู้ป่าคนป่าสมบัติเงินทอง ป่าเครื่องส่งเสริมกิเลส เช่น ป่ารูป ป่าเสียง ป่ากลิ่น ป่ารส ป่าเครื่องสัมผัสรบกวนต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นป่าที่เป็นฟืนเป็นไฟ ป่าเหล่านี้ย่อมไม่มีในป่าไม้ในภูเขาอันแท้จริง มีแต่ป่าโดยหลักธรรมชาติ คือป่าไม้เป็นที่ร่มรื่นชื่นใจ มองดูทัศนียภาพต่างๆ เป็นเครื่องปลุกใจเพื่ออรรถเพื่อธรรมอยู่ตลอดเวลา ผู้มุ่งอรรถมุ่งธรรมย่อมมีความรื่นเริงบันเทิงในทัศนียภาพที่ได้เห็นได้ยินได้ฟังสิ่งเหล่านั้น เมื่อน้อมเข้ามาสู่ใจ ใจก็ไม่ได้ส่ายแส่เร่ร่อนไปหาสิ่งที่เป็นฟืนเป็นไฟซึ่งเคยเผาตัวมาแล้ว แต่มีเรื่องธรรมเท่านั้นเป็นเครื่องรื่นเริงของใจ

ผู้บำเพ็ญอยู่ในป่าจะเป็นจิตขั้นใดภูมิใดก็ตาม ย่อมได้รับความสะดวกสบายในการบำเพ็ญทั่วหน้ากัน หรือทุกๆ รายไป ท่านจึงสอนให้กายวิเวกคืออยู่ในป่า ป่าเช่นนั้นแหละเป็นป่าที่ไม่ได้ระมัดระวังสิ่งที่เป็นภัยต่อจิตใจมาก เหมือนป่าทั้งหลายที่กล่าวผ่านมาเมื่อสักครู่นี้ ซึ่งมีแต่ฟืนแต่ไฟทั้งนั้น

การอยู่ในป่าเป็นนิสัย จิตใจย่อมได้ฝึกอบรมตนเป็นนิสัยเช่นเดียวกัน การฝึกอบรมและการอยู่จนเป็นนิสัยในสถานที่เป็นมงคลเช่นนั้น ย่อมจะยังอรรถธรรมให้เกิดให้มีขึ้นภายในจิตใจของตน เพราะธรรมมักไม่เกิดในสถานที่ที่เป็นอันตราย เมื่อจิตใจหรือสติปัญญายังไม่สามารถที่จะปัดออกได้ทันเหตุทันการณ์ จึงต้องเสาะแสวงหาที่เหมาะสม คือป่าคือเขาลำเนาไพรต่างๆ อันเป็นเครื่องปลุกประสาทให้ตื่นตัวอยู่เสมอ

ผู้ที่อยู่ในป่า ยิ่งเป็นป่าที่มีภัยรอบด้านด้วยแล้ว ย่อมจะตื่นตัวอยู่ทั้งวันทั้งคืน สติติดแนบอยู่กับตัว การที่สติติดแนบอยู่กับตัวก็เท่ากับการรักษาใจตัวหรือใจของเรา ให้มีความแคล้วคลาดปลอดภัยอยู่โดยสม่ำเสมอนั้นแล เมื่ออยู่ไปนานเท่าไรก็ย่อมมีความเคยชิน มีความรื่นเริงบันเทิงกับสถานที่เช่นนั้นมากขึ้น พร้อมทั้งผลที่เกิดขึ้นจากการบำเพ็ญด้วยความสะดวกในสถานที่เช่นนั้น ได้แก่ความสงบเย็นใจความแยบคายของใจ

คือใจนี้ ดังที่เคยกล่าวแล้วว่า ความรู้นี้หาประมาณไม่ได้เลย ไม่เคยคาดเคยคิดว่าจะเกิดจะมีจะรู้จะเห็น ย่อมจะรู้จะเห็นได้ตามวิสัยของใจที่มีช่องทางที่จะให้รู้ให้เห็นด้วยปฏิปทาที่ถูกต้องดีงาม เพราะปฏิปทาทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้นั้นเพื่อเบิกทางให้จิตได้เดินได้รู้ได้เห็น เหมือนเราเดินไปตามสถานที่ต่างๆ เดินไปที่ไหน ตา หู จมูก ลิ้น กายมี ย่อมจะสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งรอบด้านภายในตัวของเราไปโดยลำดับลำดาไม่มีที่สิ้นสุด ที่จะได้พบได้เห็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวของเราใน ๒ ฟากทางหรือในสถานที่นั้นๆ ซึ่งเราเดินผ่านไป

ในเมื่อมีธรรมเป็นเครื่องบุกเบิก ได้แก่ปฏิปทาเครื่องดำเนินแล้ว ย่อมจะรู้จะเห็นสิ่งทั้งหลายที่อยู่ในวิสัยของตนได้เป็นลำดับไป ยกตัวอย่าง เช่น สมาธิคือความสงบใจ เอ้า เราเห็นแค่นี้ก่อนนะ ยังไม่เห็นกว้างขวางออกไปก็ตาม ความสงบใจนี้ตั้งแต่วันเกิดมาเราไม่เคยพบไม่เคยเห็น เพราะไม่มีธรรมเป็นเครื่องบุกเบิก ไม่มีธรรมเป็นเครื่องส่องทาง มีแต่โลกมีแต่กิเลส มีแต่สิ่งหนาๆ ทำให้ปัญญาและสติหยาบที่สุดมืดดำตื้ออยู่ภายในใจ แล้วเราจะมองเห็นอะไร นอกจากมองเห็นแต่ความมืดดำกำตาซึ่งหาเหตุผลใดๆ ไม่ได้ และเป็นภัยแก่ตนโดยลำดับลำดาอยู่เท่านั้น

แต่เมื่อมีธรรมเป็นเครื่องบุกเบิกจิตใจ เช่น จิตตภาวนา ในขั้นเริ่มแรกท่านผู้ใดมีจริตนิสัยชอบในธรรมบทใด ก็นำธรรมบทนั้นมาบริกรรมภาวนา ให้จิตเกาะจิตยึดอยู่ในคำบริกรรมนั้น ก็เท่ากับเป็นการบุกเบิกจิตใจให้ได้รู้ได้เห็น สิ่งที่ควรจะรู้จะเห็นในวิสัยแห่งการภาวนาขั้นนี้ มีความสงบใจเป็นสำคัญ ใจนี้เมื่อได้รับการอบรม นั่นละคือธรรมบุกเบิกให้ ย่อมจะปรากฏความสงบเย็นใจขึ้นมา ทั้งๆ ที่เราไม่เคยเห็นเราไม่เคยคาด แต่เราพยายามดำเนินตามแนวทางที่ท่านแนะไว้สอนไว้ด้วยอรรถด้วยธรรม ใจย่อมจะมีความสงบเย็น เมื่อสงบแล้วย่อมเย็น…..ใจ นี่เพียงขั้นเริ่มแรกก็เห็นความแปลกประหลาดด้วยการบุกเบิกของธรรมแล้ว และยิ่งนำธรรมเข้ามาแนบสนิทติดกับใจอีกโดยตลอดเวลา มีสติเป็นเครื่องกำกับรักษาในธรรมกับจิตที่สัมผัสสัมพันธ์กันอยู่นั้นโดยสม่ำเสมอด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะมีความสงบละเอียดลงไป

นี่ละสิ่งที่เราไม่เคยรู้ เราก็รู้อย่างนี้ละ เรารู้อย่างนี้เราเห็นอย่างนี้ไปก่อน คำว่ารู้อย่างนี้เห็นอย่างนี้ไปก่อนนั้น เพราะธรรมที่เลิศเลอยิ่งกว่านี้ยังมี จิตประเภทที่เลิศเลอยิ่งกว่านี้เพราะเห็นอรรถเห็นธรรมที่เลิศเลอกว่านี้ยังมีอยู่มากมาย จึงต้องพูดว่าเพียงขั้นนี้แค่นี้ไปก่อน เพราะขั้นนี้เป็นขั้นเริ่มแรก ใจย่อมสงบ นี่เพราะมีธรรมบุกเบิก กรุณาพากันจำเอาไว้

ทีนี้เมื่อทำลงไปเรื่อยๆ ใจย่อมละเอียดลงไปๆ เมื่อใจละเอียดลงไป ใจมีความอิ่มตัวไปโดยลำดับ พอใจในอารมณ์แห่งธรรมที่อยู่กับตัวอยู่แล้ว พิจารณาไตร่ตรองในธรรมแง่ใด ที่จะบุกเบิกทางด้านปัญญาให้มีความละเอียดแหลมคมยิ่งกว่าขั้นสมาธิคือเพียงความสงบเท่านั้น ใจก็ยิ่งจะมีความละเอียดเข้าไปยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ด้วยความสงบเย็นใจนี้ นั่นท่านเรียกว่าปัญญา

ธรรมเหล่านี้เป็น สวากขาตธรรม ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว จากการทรงรู้ทรงเห็นที่ชอบและสมบูรณ์เต็มที่แล้วจึงไม่มีผิด ท่านจึงสอนให้ดำเนินปัญญา การดำเนินปัญญาไม่มีที่สิ้นสุด จนกว่าจะถึงวิมุตติหลุดพ้นเสียเมื่อใดแล้วปัญญาก็จะยุติไปเอง โดยไม่ต้องถามใครก็เข้าใจอีกเช่นเดียวกัน นี่อธิบายพอเป็นแนวทางในการบุกเบิกใจของเราที่เป็นของแปลกประหลาดและอัศจรรย์มาก ไม่อยู่ในความคาดความคิด ไม่อยู่ในขอบเขตแห่งการคาดคะเนด้นเดาของผู้ใดของโลกใดทั้งนั้น

เมื่อธรรมได้บุกเบิกให้ใจได้รู้ได้เห็นแล้ว ใจย่อมสามารถจะรู้จะเห็นไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด เช่นอย่างพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า บาปมี บุญมี นรกมี สวรรค์มี พรหมโลกมี นิพพานมี โลกไหนคนใดรายใดที่สามารถได้รู้เห็นอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงรู้เห็น และนำมาประกาศสอนโลกด้วยความจริงในสิ่งที่มีอยู่ทั้งหลายเหล่านั้นล่ะ ไม่มีเลย นี่แหละก็เพราะเป็นความสามารถของใจ ที่มีธรรมเป็นเครื่องเบิกทางให้รู้ให้เห็นตามความเป็นจริง ไม่ว่าสิ่งใดจะละเอียดแค่ไหน สติปัญญามีความละเอียดพอตัวไปตามขั้นนั้นๆ แล้ว ย่อมจะสามารถรู้เห็นไปได้หมด โดยไม่อยู่ในการคาดคะเนด้นเดาของผู้หนึ่งผู้ใดแม้ของเจ้าของเองก็ตาม หากเป็นความรู้ความเห็นความเป็นขึ้นภายในใจ เพราะความเหมาะสมกับปฏิปทาเครื่องดำเนินบุกเบิกนั้นพาให้เป็นไป

นี่ละธรรมจึงไม่ขึ้นอยู่กับอะไร ใครจะคาดคะเนจะด้นเดา จะวินิจฉัยใคร่ครวญอย่างไรในธรรมภาคความจริงนี้ ที่จะพึงรู้พึงเห็นด้วยใจของตัวเองนี้ ไม่มีใครคาดได้วินิจฉัยได้ทั้งนั้น นอกจากปฏิปทาเครื่องดำเนินของผู้นั้นเท่านั้น จะเป็นผู้บุกเบิกไปและรู้เห็นไปโดยลำดับลำดา จนกระทั่งรู้แจ้งแทงทะลุไปหมดไม่มีทางสงสัย ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้เคยเห็นมาก่อนตั้งแต่กัปใดกัลป์ใดก็ตาม เมื่อได้รู้ได้เห็นด้วยปฏิปทาเครื่องบุกเบิกนั้นแล้ว ย่อมหายสงสัยไปทันทีทันใด เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้านำธรรมมาประกาศสอนโลก พระองค์เคยรู้มาแต่ก่อนเมื่อไร ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น ภพใดชาติใดก็นอนจมอยู่กับกิเลส ให้กิเลสปิดบังหุ้มห่อไว้หมดมิดชิดปิดตัว หาทางก้าวออกสู่อรรถสู่ธรรมสู่ความจริงไม่ได้ นอกจากมันเปิดทางให้ก้าวหรือให้เถลไถลลงไปสู่ความจอมปลอม แล้วเผาด้วยฟืนด้วยไฟคือกิเลสบาปกรรมประเภทต่างๆ อยู่ตลอดมาเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่น

แต่เมื่อพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญหนักเข้า ๆ จนสามารถรู้แจ้งแทงทะลุในสิ่งทั้งหลายดังที่กล่าวมาแล้วนี้ พระองค์สงสัยที่ไหน เพียงเจอเข้าเท่านั้นก็ประจักษ์พระทัย และนำธรรมเหล่านั้นมาสอนโลกได้เต็มตามความเป็นจริงไม่สะทกสะท้าน ทั้ง ๆ ที่พระองค์ไม่เคยรู้เคยเห็นมาก่อนก็ตาม แต่เมื่อได้ทรงรู้ทรงเห็นแล้ว ก็เหมือนกับเราเห็นสิ่งต่างๆ ด้วยตาของเรานั่นแหละ เราจะไม่เคยเห็นมาก็ตาม เมื่อเจอเข้าไปแล้วต้องทราบทันทีว่านั้นคือสิ่งนั้นๆ เพราะเป็นความจริง ไม่จำเป็นต้องท่องบ่นสังวัธยายอะไรเลย เมื่อเจอเข้าก็จริงทันทีๆ ชัดเจนทันที หายสงสัยทันที

นี่ละธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงบุกเบิกโดยลำพังพระองค์เอง จึงเรียกว่าสยัมภู ทรงรู้เองเห็นเองโดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใครเป็นผู้แนะแนวทางให้ แต่ทรงตะเกียกตะกายโดยลำพังพระองค์เอง จนสามารถรู้แจ้งแทงทะลุในธรรมทั้งหลายได้ แล้วนำธรรมเหล่านั้นแหละ ที่โลกทั้งหลายไม่มีรายใด จะเล็ดลอดออกไปรู้ไปเห็นในธรรมทั้งหลายที่พระองค์ทรงรู้ทรงเห็นนั้น นั้นละนำเอามาสอนโลก

เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องแผดเผาโลกอยู่ตลอดเวลา นรกไม่แผดเผาอะไรจะแผดเผาล่ะ บาปไม่แผดเผาอะไรจะแผดเผา กิเลสไม่แผดเผาอะไรจะแผดเผา สิ่งเหล่านี้มีอยู่กับหัวใจของโลกและปิดบังความจริงทั้งหลายไว้โดยสิ้นเชิง ไม่ให้มองเห็นความจริง ถ้าลงได้มองเห็นความจริงแล้วใครจะกล้าทำบาป ก็บาปเป็นของร้อนอยู่แล้ว เช่นเดียวกับไฟ ใครจะกล้าไปจับไปแตะต้อง พอมองเห็นเท่านั้น เดินเฉียดไปเท่านั้น มันแสดงเปลวออกมาสัมผัสสัมพันธ์เพียงผิวหนังเท่านั้น เราก็ทราบแล้วว่าไฟนี้เป็นของร้อน ใครว่ามันเย็นเมื่อไร แล้วใครจะดื้อด้านหาญเข้าไปจับไปต้องไปคลุกเคล้ากับไฟ หรือนอนจมอยู่ในไฟนั้นได้ล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน เรื่องของกิเลสตัณหาอาสวะ มันเป็นฟืนเป็นไฟ ท่านจึงเรียกว่า ราคคฺคินา ไฟกองใหญ่คือราคะ โทสคฺคินา ไฟกองใหญ่คือโทสะ ความประทุษร้าย โมหคฺคินา ไฟกองใหญ่ที่สุด ที่รวมแห่งไฟทั้งหลายก็คือโมหะ โมหะนี้ครอบไว้หมดเลย ไฟเหล่านี้แหละเป็นสาเหตุ ทั้งเป็นตัวผลอยู่ในตัว ที่จะให้เราสร้างบาปสร้างกรรมโดยไม่รู้สึกตัว แล้วเผาตัวเองโดยไม่รู้ และตกนรกจะไปตกที่ไหน อันใดจะพาให้ไปตก ทางของนรกคืออะไร ใครเห็นไหมทางของนรก ไฟประเภทเหล่านี้ใครเห็นไหมทั้งๆ ที่แผดเผาหัวใจอยู่ตลอดเวลา ก็เหมือนกับไส้เดือนดิ้นรนกระวนกระวายอยู่ด้วยความร้อนเพราะถูกแผดเผาจากดินที่ร้อนๆ นั้นแล

ใจที่ไม่มีสติปัญญา ไม่มีธรรมเป็นเครื่องบุกเบิก ไม่มีธรรมเป็นเครื่องวินิจฉัย ก็ย่อมจะตะเกียกตะกายอยู่กับฟืนกับไฟคือกิเลสตัณหาเหล่านี้ แล้วเถลไถลถูกมันขับมันไสลงไปตกนรกโดยไม่ต้องสงสัยเพราะสิ่งเหล่านี้ นี่สัตว์โลกทั้งหลายเคยเป็นมามากเท่าไร

ไม่มีรายใดที่จะปฏิเสธได้เลยว่า ไม่เคยได้ถูกทรมานเพราะกรรมที่ตนทำมาจนถึงขั้นจะตกนรกได้เลย แม้ตนเองไม่เห็น จะยืนยันด้วยความไม่เห็นเท่านี้ ก็ไม่เป็นสิ่งที่จะลบล้างความจริงที่ตนเป็นมาได้ พระพุทธเจ้าจึงเอาความจริงเหล่านี้มาสอนโลก ให้โลกได้เห็นว่าไฟเป็นยังไง สิ่งเหล่านี้เป็นฟืนเป็นไฟ เป็นอย่างไรก็ทรงแสดง และคำว่าตกนรกหมกไหม้ ตกอย่างไร เผาอย่างไร แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง เพราะสิ่งเหล่านี้มีความสัมผัสสัมพันธ์อยู่กับสัตว์โลกทุกรายไปเลย ไม่มีสัตว์โลกรายใดที่จะผ่านพ้นเป็นเอกเทศไปได้จากสิ่งเหล่านี้ นอกจากท่านผู้สิ้นกิเลสแล้วเท่านั้นคือพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่าน อันนี้เป็นอันว่าหมดปัญหา ไม่มีปัญหาแล้วที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องท่านได้ นอกจากนั้นทั้งนั้นทีเดียว

เมื่อเป็นเช่นนั้นทำไมพระองค์จะไม่สอนล่ะ ผู้ที่สามารถที่จะรู้จะเห็นสิ่งเหล่านี้ยังมีอยู่มากมาย ไม่ใช่ผู้ไม่เห็นนั้นจะปฏิเสธตนและปฏิเสธทั้งสัตว์ทั่วโลกดินแดนว่าจะไม่สามารถ หรือไม่เชื่อถือว่ามีหรือไม่มี ให้ลบล้างสิ่งเหล่านั้นไปได้ เพราะไม่ใช่สิ่งที่จะลบล้างกัน นอกจากเราจะลบล้างความชั่วของเรา ไม่ทำความชั่ว ลบล้างตรงนี้แล้วผลก็จะไม่เกิด ก็จะได้ไม่ไปสัมผัสสัมพันธ์หรือถูกความทรมานในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ มีเท่านั้น แต่อย่างอื่นที่เราจะนำมาปฏิเสธว่าสิ่งนั้นไม่มีสิ่งนี้ไม่มี แล้วเราทำตามความชอบใจของเรา ความชอบใจของเรานั้นแลคือสิ่งหลอกลวงที่แหลมคมที่สุด สัตว์โลกทั้งหลายจมอยู่เพราะสิ่งหลอกลวงที่แหลมคมนี้ทั้งนั้น

ไม่มีใครที่จะสามารถทราบได้ นอกจากพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่านเท่านั้น ท่านเหล่านี้เป็นผู้แหลมคมไม่มีอะไรเกินในโลกอันนี้ ผู้ที่แหลมคมที่สุดก็คือพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่าน ท่านทรงรู้ทรงเห็นในสิ่งที่โลกทั้งหลายที่มีกิเลสเต็มหัวใจไม่รู้ไม่เห็น ทั้งสัมผัสสัมพันธ์ทั้งจมกันอยู่ในนั้น ท่านเห็นทั้งความจมอยู่ ทั้งสาเหตุที่จะให้ตก ทั้งสาเหตุที่จะให้ได้รับความทุกข์ทรมาน เพราะฉะนั้นจึงนำธรรมเหล่านี้มาสอนโลกให้ได้รู้เรื่องรู้ราว เพราะสัตว์โลกที่สามารถจะรู้เรื่องรู้ราวในธรรมทั้งหลายที่ท่านประกาศสอนนี้มีอยู่มากมาย ไม่ใช่ว่าไม่มี ถ้าไม่มี พระพุทธเจ้าไม่ใช่ศาสดาองค์ด้นเดา จะไม่นำธรรมที่เป็นอฐานะ คือเป็นไปไม่ได้แก่สัตว์โลกทั้งหลายมาสอนโลกให้เสียเวล่ำเวลาให้ลำบากเปล่าๆ เลย นี่ก็เพราะธรรมนี้เหมาะควรแก่โลกทั้งหลาย โลกทั้งหลายนั้นคือมนุษย์ของเรานี้ เป็นจุดศูนย์กลางแห่งศาสนธรรมที่จะหยั่งเข้าถึงจิตใจได้ ศาสนาจึงต้องประกาศอยู่ที่โลกมนุษย์เรา

การกล่าวนี้เกี่ยวเนื่องมาจาก กายวิเวก คือความสงัดกาย บำเพ็ญด้วยความสงัดย่อมไม่ได้ระมัดระวังภัยลำบากลำบน แล้วก็บำเพ็ญจิตตภาวนาเพื่อจิตวิเวก จิตก็เป็นจิตที่สงบ เมื่อสงบแล้วนำพิจารณาอรรถธรรมด้วยปัญญาก็ย่อมสอดส่องแทงทะลุไปได้เพราะไม่มีอุปสรรค ใจก็อิ่มตัวด้วยความสงบ มีอารมณ์คือความสงบนั้นเป็นอาหาร พิจารณาแยบคายเข้าไป ในสิ่งที่ไม่เคยรู้เคยเห็น ก็ค่อยรู้ค่อยเห็นขึ้นไปโดยลำดับลำดา เฉพาะอย่างยิ่งที่ติดแนบอยู่กับตัวของเรานี้ ก็คือกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ที่ยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเราอยู่นี้แลเป็นสำคัญมาก อุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นก็ถือมั่นในสิ่งเหล่านี้แหละ

เราพิจารณาดูซิ ความเห็นของเรากับความเห็นของพระพุทธเจ้าในร่างกายนี้เท่านั้นละต่างกันไหม พระพุทธเจ้าเห็นว่าร่างกายนี้เป็นอย่างไร เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เบื้องต้นสอนเพื่ออะไรและมุ่งหมายอย่างไร ท่านสอนลงตามความจริงของมันที่มีอยู่เป็นอยู่ของอาการเหล่านี้ มี ตจปัญจกกรรมฐาน ๕ นี้เป็นต้น ว่าที่อยู่ที่เกิดของมันเป็นยังไง วิเศษวิโสไหม มีความสะอาดสะอ้านไหม มีความสดสวยงดงามไหม มีความจีรังถาวรไหม และย้อนเข้าไป ๆ จนกระทั่งถึงภายใน มันมีแต่กองอสุภะอสุภังทั้งเป็น ในบุคคลคนหนึ่งสัตว์ตัวหนึ่ง เต็มไปหมดในร่างกายนี้ อันนี้เหรอเป็นเราพิจารณาซิ

เรามุ่งหวังอย่างยิ่งหรือกับสิ่งปฏิกูลโสโครกนี้ เราจึงถือเอาสิ่งปฏิกูลโสโครกนี้ว่ามาเป็นเราเป็นของเรา ทั้งเขาทั้งเรา มันทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะความไม่รู้พระพุทธเจ้าทำไมจึงสอนอย่างนั้น เพราะท่านทรงรู้ท่านทรงละได้แล้ว เห็นผลจากความละความรู้เหล่านี้อย่างสมบูรณ์พอพระทัย จนกลายเป็นศาสดาองค์เอกขึ้นมาแล้ว จึงนำธรรมะเหล่านั้นมาสอนพวกเราที่ไม่รู้ไม่เห็น ซึ่งเป็นของมีอยู่เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า ให้ได้รู้ได้เห็นในธรรมทั้งหลายเหล่านี้

นี่เพียงยกตัวอย่างเท่านี้เราก็พอจะเข้าใจได้แล้ว ว่าความรู้ความเห็นของพระพุทธเจ้ากับเรานั้นต่างกันอย่างไร กิเลสเป็นยังไง มันดื้ออรรถดื้อธรรมไหม มันดื้อต่อศาสดาไหม มันดื้อต่อสรณะคือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ไหม ท่านว่าอย่างนี้มันกลับว่าอย่างนั้น ท่านว่าอันนี้ไม่สวยไม่งามมันบอกว่าสวยงาม มันฝืนกันอยู่ภายในในหลักธรรมชาติ ไม่ใช่เรามีเจตนาที่จะฝืนนะ กิเลสต่างหากตัวฝืนธรรมเป็นมารของธรรม มันฝืน ว่า อนิจฺจํ มันก็ไม่บอกว่า อนิจฺจํ เสีย เที่ยงไม่เที่ยง สวยไม่สวยก็ตาม ขอให้เป็นเราเป็นของเราเท่านั้นละเป็นที่พอใจแล้ว

นั่นฟังซิ มันกลืนเอาหมดเลย โดยไม่ต้องวินิจฉัยใคร่ครวญอะไรตามเหตุตามผลแหละ เรื่องของกิเลสเป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้นจึงทำคนให้ผิดพลาดเสมอ ไม่มีคำว่าดี ถ้าลงได้ทำตามอารมณ์ของกิเลสแล้วจะผิดไปทั้งนั้น แต่ถ้าทำตามอารมณ์ของธรรมแล้วจะค่อยถูกไปๆ จนเป็นนิสัยใคร่ครวญพินิจพิจารณา สุดท้ายก็เข้าใจได้ตามหลักศาสดาที่ทรงสอนไว้ว่า เกสา เป็นยังไง ไม่ต้องวินิจฉัยก็ได้เพราะวินิจฉัยมาพอเสียแล้ว สมบุกสมบันเอาจนถึงเป็นถึงตาย เพราะการพิจารณากรรมฐานทั้ง ๕ นี้ในภาคปฏิบัติ

เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ จนกระทั่งถึงอาการ ๓๒ พิจารณาใคร่ครวญดูหมดทุกแง่ทุกมุม ว่าอะไรเป็นเรา เป็นของเรา ความจริงเป็นยังไง นี้ไม่ใช่ความจริงแต่เป็นความจอมปลอม ออกมาจากดินแท้ๆ จากน้ำแท้ๆ จากลมจากไฟแท้ๆ มันยังมาเสกสรรว่าเป็นเราเป็นเขาเป็นหญิงเป็นชาย เป็นสัตว์เป็นบุคคลได้ต่อหน้าต่อตา ทั้งๆ ที่อันนี้เขาไม่ได้รับทราบอะไรจากความเสกสรรปั้นยอของใจ ดวงที่กิเลสตัวหลอกลวงหุ้มห่ออยู่นั้นเลย มันยังฝืนธรรมได้ นี่ละ ความรู้ประเภทนี้กับความรู้ของพระพุทธเจ้าต่างกันอย่างใด ทีนี้เมื่อได้นำธรรมะของพระพุทธเจ้ามาซักมาฟอก มาพินิจพิจารณา ตลบทบทวนหลายครั้งหลายหน ก็ค่อยแจ่มออกมาๆ คำว่า อนิจฺจํ ก็ดี ทุกฺขํ ก็ดี อนตฺตา ก็ดี ค่อยแย้มความจริงออกมาๆ เพราะธรรมเป็นของจริง สอนเพื่อให้รู้ความจริง

นอกจากนั้นท่านยังสอนให้ไปเยี่ยมป่าช้าด้วย ให้ไปดูป่าช้า ดูป่าช้าผีดิบผีเป็นอยู่คือเรานี้ ภายในร่างกายของเรานี้มีแต่ป่าช้าเต็มไปหมดยังไม่เห็น เอ้า ให้ไปดูป่าช้าที่ตาย คนตายเก่าตายใหม่เกลื่อนอยู่ในป่าช้านั้น เพราะครั้งพุทธกาลเขาไม่ได้มีเผามีฝังกัน ใครตายก็ไปทิ้งเกลื่อนเหมือนขอนซุงนั้นแหละ ให้ไปดู เมื่อไปดูแล้วก็ย้อนเข้ามาพิจารณาตัวเอง เรียกว่า โอปนยิโก จนเป็นที่เข้าใจ นั่นเห็นไหม

สิ่งเหล่านี้แต่ก่อนมันไม่เข้าใจ เมื่อพิจารณาตามหลักความจริงหลายครั้งหลายหนก็ค่อยเข้าใจเข้าไปๆ กายของเรานี้เลยกลายเป็นอสุภะทั้งกอง เห็นแล้วเกิดความขยะแขยง เกิดความอิดหนาระอาใจ จิตใจก็ค่อยเพิกถอนขึ้นมาจากความสำคัญผิดยึดมั่นถือมั่นอันนั้น ถอนมาเป็นตัวของตัวโดยลำดับลำดา พิจารณาย้ำเข้าไปๆ ยิ่งแจ่มแจ้งชัดเจนเข้าไปถึงปล่อยได้ นั่นเห็นไหม นี่ละปล่อยได้ด้วยอย่างนี้ ไม่ใช่ปล่อยด้วยการบังคับเอาเฉยๆ ปล่อยเท่าไรก็ปล่อยเถอะ ปล่อยด้วยการบังคับเฉยๆ มันเป็นไปไม่ได้ นอกจากเอาความจริงสอดแทรกเข้าไปๆ หลายครั้งหลายหนๆ ก็ค่อยแจ่มแจ้งขึ้นมาๆ สุดท้ายก็ทะลุปรุโปร่งไปได้

รูปํ อนิจฺจํ รูปํ อนตฺตา ไม่ต้องบอกที่นี่ ชัดเจนแล้วภายในใจ ถอดถอนแล้วซึ่งอุปาทานในรูป แล้วก็เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถอดถอนไปโดยลำดับลำดา เพราะการพินิจพิจารณาเห็นแจ้งตามความจริงของมันโดยลำดับลำดา จนกระทั่งเห็นแจ้งประจักษ์ภายในใจแล้ว ใครจะไปทนถือดินถือน้ำถือลมถือไฟนี้ว่าเป็นเรา ใครจะไปทนถือเอาป่าช้าผีดิบเต็มอยู่ในร่างกายของเรานี้ว่าเป็นเราเป็นของเรา

เรามันวิเศษอะไร ของเราวิเศษอะไร ที่ว่าเป็นเราอันนี้น่ะวิเศษอะไร เราหาของวิเศษยิ่งกว่ากองกระดูกอันนี้ กองเนื้อกองหนังอันนี้ ไม่ใช่เรามาหาของวิเศษอยู่กับอันนี้เท่านั้น อันนี้มีอยู่ทั่วไปในโลกในสัตว์ทั้งหลายตายเกลื่อนกันอยู่ ยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นดินเป็นน้ำเป็นลมเป็นไฟเป็นป่าช้าผีดิบอยู่อย่างนี้วิเศษที่ตรงไหน เมื่อเวลาพิจารณาเข้าไปสิ่งที่วิเศษเพราะความรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งเหล่านี้มีอยู่ อันนั้นเป็นเอกเทศอันหนึ่งชัดขึ้นมาๆ ใจมีความสว่างผ่องใสมีความสงบตัวไม่วุ่นวายกับสิ่งเหล่านี้ ไม่แบกไม่หามเหมือนอย่างแต่ก่อน สุดท้ายก็สลัดปัดออกได้ จิตเป็นเอกเทศขึ้นมา

เป็นยังไงที่นี่เราธรรมชาตินี้ กับเราที่เสกสรรเอาหมดทั้งตัว อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ทั้งอสุภะอสุภังนั้นกับเราที่ได้แยกตัวออกมานี้เป็นอย่างไร ต่างกันหรือเหมือนกัน นี่ก็ยิ่งรู้ชัดเจนเข้าไปโดยลำดับๆ

นี่ละเรื่องของการบุกเบิกเพื่อความจริงทั้งหลายด้วยธรรม ให้ได้รู้ได้เห็นตามความจริง สิ่งเหล่านี้ถูกกิเลสปิดบังไว้ทั้งนั้น จึงต้องได้อธิบายในเรื่องเหล่านี้ว่ากิเลสปิดบังความจริงปิดบังอย่างนี้ ปลอมเท่าไรมันก็บอกว่าของจริง เราโง่กว่ามันจำต้องยอมรับๆ โดยหาที่ค้านไม่ได้เลย แต่เมื่อความรู้อันนี้เด่นขึ้นๆ จนเหนือความหลอกลวงของมันแล้ว ใครจะมาฝืนยึดมั่นถือมั่นได้ล่ะ นี่ละปัญญาเมื่อเหนือแล้ว ฝืนยึดมั่นถือมั่นดังแต่ก่อนที่เคยเป็นมาไม่ได้ นั่นละถอนตัวออกตามความเป็นจริงที่นี่ ไม่ได้ถอนออกมาด้วยความถูกบีบถูกบังคับหรือว่าบังคับให้ถอน แต่ถอนออกมาด้วยความรู้แจ้งเห็นจริงแล้วสลัด เช่นเดียวกับเราจับงูทั้งตัวโดยไม่ทราบว่าเป็นงูนั้นแหละ แต่พอทราบว่าเป็นงูแล้วเท่านั้นก็สลัดเองทันที ใครจะไปกล้าหาญจับงูทั้งตัวอยู่ได้เมื่อทราบแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน ความยึดมั่นถือมั่นเป็นฟืนเป็นไฟ เป็นภัยแก่ตัวเรามากมายขนาดไหน พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้บุกให้เบิกให้เห็นหลักความจริงอันนี้ด้วยอรรถด้วยธรรม ใจที่ไม่เคยรู้เคยเห็นก็รู้ก็เห็นขึ้นมาภายในจิตใจ นี่ละท่านรู้ธรรมเห็นธรรมท่านรู้อย่างนี้แหละ ที่กิเลสปิดไว้ตรงไหนเปิดออกๆ คือสิ่งจอมปลอมนั้นแหละมันหลอกเรา ไม่ใช่ของจริงหลอก ของจริงท่านไม่ได้หลอก

ทีนี้เมื่อพิจารณาชัดเจนเข้าไป สิ่งที่ไม่เคยรู้ก็รู้ขึ้นมาดังที่ว่านี้ คำว่า อนิจฺจํ ก็ซึ้งถึงใจจริงๆ อนตฺตา ก็ซึ้งถึงใจจริงๆ แล้วอะไรที่จะไปถึงใจยิ่งกว่าธรรมถึงใจล่ะ กิเลสถึงใจถึงมานานแล้ว มันให้ความวิเศษวิโสอะไรบ้างกับเราผู้ที่กิเลสถึงใจ แต่เมื่อธรรมถึงใจแล้วไม่ต้องพูดก็ได้คำว่าอัศจรรย์คำว่าประเสริฐเลิศเลอ แต่ท่านไม่มีความอยากไม่อยากโอ้อวด เป็นขนาดไหนท่านก็รู้ตามเป็นจริงในความจริงทั้งหลายนั้นแล้วอยู่ๆ อยู่ด้วยความสงบโดยหลักธรรมชาติ ไม่ใช่ความสงบเพื่อความเสกสรรไม่หิวไม่โหย ท่านจึงได้นำธรรมชาติที่ประเสริฐนี้ออกมาสอนโลกตามความเป็นจริง ไม่ได้สอนด้วยความกระวนกระวาย ไม่ได้สอนด้วยความอยากความทะเยอทะยาน ไม่ได้สอนด้วยความตื่นเต้นในธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นเหมือนโลกๆ เขาตื่นกัน นั่นละท่านผู้รู้ท่านรู้อย่างนั้นเห็นอย่างนั้น

ทีนี้กระจายออกไปถึงเรื่องนรกสวรรค์ปิดได้ยังไงธรรมชาติอันนี้ เมื่อของจอมปลอมเปิดออกแล้วด้วยอรรถด้วยธรรม สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ยังไงจะทราบกันตลอดทั่วถึงไปหมด เราอย่าว่าแต่สิ่งเหล่านั้นเลย แม้แต่กิเลสอยู่ภายในใจซึ่งเคยปิดเคยบังหัวใจไม่ให้เห็นสิ่งเหล่านั้นก็ถูกเปิดออกเหมือนกัน เมื่อเปิดออกหมดแล้วอะไรจะสว่างยิ่งกว่าใจ อะไรจะอัศจรรย์ยิ่งกว่าใจ อะไรจะรู้หาขอบเขตเหตุผลของโลกของอะไรที่มาคาดมาคิดนี้ ไปเทียบเคียงได้เหมือนกับใจที่รู้โดยหลักธรรมชาติของตัวเอง เพราะธรรมบุกเบิกให้เห็นตามความเป็นจริงนี้เล่า นี่ละพระพุทธเจ้าท่านประเสริฐ ท่านประเสริฐอย่างนี้ ท่านไม่ได้ประเสริฐด้วยความเสกสรรปั้นยอเอาอย่างนั้นอย่างนี้

ให้เห็นในตัวเอง ผู้ใดเห็นแล้วผู้นั้นก็รู้เองๆ ไม่ต้องมาเสกสรรปั้นยอ หากรู้ในหลักธรรมชาติของตัวเอง รู้อยู่ในความพอดิบพอดีไม่ตื่นเต้นไม่ตกใจไม่ผาดไม่โผน มีหลักธรรมชาติแห่งความจริงเป็นเครื่องอยู่เท่านั้น สอนโลกก็สอนด้วยความเมตตา สุดท้ายจิตทั้งดวงนั้นเป็นความเมตตาล้วนๆ อ่อนนิ่มไปหมด ไม่มีอะไรเกินจิตที่บริสุทธิ์แล้วมีความอ่อนโยนต่อสัตว์โลกทั้งหลาย เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนสัตว์โลกจึงทรงสั่งสอนด้วยพระเมตตาล้วนๆ ไม่มีคำว่าโลกามิสสินจ้างรางวัลเข้าไปเกี่ยวข้องแม้นิดหนึ่งเลย นี่ละพระพุทธเจ้าสอนโลกศาสดาสอนโลกท่านสอนอย่างนี้ สงเคราะห์โลกท่านสงเคราะห์อย่างนี้ ท่านไม่มีสิ่งอะไรตอบแทนเหมือนโลกทั้งหลายที่ปฏิบัติต่อกันนั้นเลย จึงเรียกว่าศาสนา จึงเรียกว่าธรรม จึงเลิศกว่าโลกทั้งหลายเลิศอย่างนี้ โลกทั้งหลายทำไม่ได้ อันนี้ทำได้เป็นได้ในจิตของท่านผู้สิ้นกิเลสแล้ว

นี่เราพูดถึงเรื่องกายวิเวก เป็นสายทางที่จะก้าวเข้าสู่จิตวิเวก จิตวิเวกเป็นสายทางที่จะก้าวเข้าสู่ความแยบคายขยายสติปัญญาให้กว้างขวางออกไป สติปัญญาบุกเบิกสิ่งที่ปิดบังหุ้มห่อทั้งหลายออกไปโดยลำดับลำดา ใจสามารถที่จะรู้แจ้งแทงทะลุไปหมด ไม่มีคำว่าใกล้ว่าไกล ว่าสูงว่าต่ำ ว่ากว้างว่าแคบ ว่าหยาบว่าละเอียด วิสัยของใจเลยนั้นเสียทุกอย่างเมื่อถึงขั้นเลยแล้ว ไม่ต้องคาดต้องคิดหากเป็นอยู่ในใจดวงนั้น นี่จึงว่าไม่มีอะไรที่จะเป็นขอบเขตบังคับใจนี้ไม่ให้รู้ให้เห็นได้เลย มีแต่กิเลสเท่านั้นเป็นเครื่องปิดบังเอาไว้ ใจจึงมีปัญหาอันใหญ่ ลุ่มหลงงมงายที่สุดก็คือใจในเมื่อมีสิ่งปิดบัง เหมือนอย่างตาเรานี้จะตาดีขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าหลับปั๊บเข้าไปเสียเท่านั้นก็ไม่เห็น เห็นอะไรก็ถูกปิดไว้ นี่ใจจะสว่างกระจ่างแจ้งอยู่ภายในตัวขนาดไหนก็ตาม เมื่อกิเลสปิดเข้าไปเท่านั้นสิ่งที่มีอยู่มากน้อยเพียงไรก็ไม่เห็น นี่ละเป็นอย่างนั้น

ตะกี้นี้ได้กล่าวถึงการอยู่ในที่สะดวกสบาย สถานที่เหมาะสมกับการบำเพ็ญแล้วธรรมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะการบำเพ็ญด้วยความสะดวกนั้นโดยสม่ำเสมอ จนกระทั่งสว่างกระจ่างแจ้ง อยู่ได้อย่างสะดวกสบายหายห่วงหายกังวลทั้งหมด ที่กล่าวมาเหล่านี้เกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติที่อยู่ในสถานที่เหมาะสม ดังพระพุทธเจ้าทรงพาดำเนินมา ซึ่งส่วนมากท่านอยู่ท่านทรงดำเนินอย่างนี้กันทั้งนั้น พระสงฆ์สาวกมีมากน้อยท่านมีความมุ่งมั่นต่ออรรถต่อธรรมอย่างแรงกล้า จนกระทั่งได้บรรลุธรรมเต็มตามความมุ่งหมายแล้ว ก็อยู่ในสถานที่เช่นนั้นเป็นที่สะดวกสบาย เหมาะสมกับธรรมกับอัธยาศัยของท่านที่สิ้นกิเลสแล้ว อยู่ไปตลอดวันนิพพาน ท่านไม่มาเกลื่อนกล่นวุ่นวายกับโลกกับสงสาร

เพราะฉะนั้นการอยู่ท่านจึงสอนให้อย่างละเอียดลออทีเดียว เฉพาะอย่างยิ่งในป่าในเขานี้สอนเป็นลำดับลำดา อันนี้เป็นพื้นฐานของผู้ปฏิบัติเพื่อชำระกิเลส หรือเพื่อสังหารกิเลสให้สิ้นไปจากใจ ด้วยการปฏิบัติในสถานที่เหมาะสมดังที่กล่าวมานี้

กายวิเวกจึงเป็นของสำคัญ เราเองก็เถอะถ้าลงได้เข้าไปสู่กายวิเวกในสถานที่เหมาะสมดังที่ว่านี้แล้ว จะระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวกท่านทันทีทันใดเลย เพราะเป็นเครื่องปลุกประสาทจิตใจของเราที่เคยหมอบเคยนอนจมอยู่ในกิเลสความนอนใจนั้นให้ตื่นเนื้อตื่นตัวขึ้นมา รู้สึกความคิดอ่านไตร่ตรองหรือสติสตังก็มีขึ้นมาในเวลานั้น ในอิริยาบถนั้นๆ เพราะสถานที่เปลี่ยวๆ เป็นสำคัญ นี่ผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติดังที่กล่าวมานี้จะพูดได้เต็มปากทีเดียวไม่กระดากอายเลย เพราะเห็นผลอย่างยิ่งประจักษ์ใจของผู้ปฏิบัติเมื่ออยู่ในสถานที่เช่นนั้นมาแล้วด้วยกัน แม้พระองค์เองก็ทรงบำเพ็ญและรู้เห็นในธรรมทั้งหลายด้วยสถานที่เช่นนั้นมาแล้ว จึงได้มาประกาศธรรมสอนโลก เพื่อเป็นทางเดินของผู้ปฏิบัติทั้งหลายให้ได้ก้าวไปด้วยความราบรื่นดีงาม เพราะสถานที่เช่นนั้นเป็นที่อำนวย

เพียงเราก้าวเข้าไปสู่ป่าสู่เขาลำเนาไพรเท่านั้น จิตใจจะรู้สึกคึกคักขึ้นมาแล้ว และยิ่งอยู่ไปก็ยิ่งเพลิดยิ่งเพลิน ความเพลิดเพลินในป่าในเขาของผู้บำเพ็ญธรรมนั้น ต่างกันกับความเพลิดเพลินของกิเลสเป็นไหนๆ ไม่ได้เหมือนกันเลย เบาก็เบา เบากายเบาใจเบาทุกสิ่งทุกอย่าง มีแต่ความมุ่งมั่นหรือความมุ่งหวังต่อธรรมอย่างแรงกล้าฝังอยู่ที่หัวใจ ก็ยิ่งเป็นกำลังของใจให้ประกอบความพากเพียรเต็มเม็ดเต็มหน่วยสืบต่อกันโดยลำดับลำดาไม่มีความประมาทเลย เพียงตื่นนอนขึ้นมาเท่านั้นก็ประกอบงานแล้ว เป็นไปในตัวเอง การนอนก็น้อย การขบการฉันก็เหมือนกัน ไม่ได้ถือสิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์พอที่จะเป็นอุปสรรคต่อการบำเพ็ญเลย เรียกว่ากินน้อยนอนน้อย หากเป็นในหลักธรรมชาติของผู้บำเพ็ญด้วยความมุ่งมั่นต่อธรรมไปเอง

ใจมีแต่ความเยือกเย็นเป็นสุข และสุดท้ายความรู้ทั้งหลายที่ครอบโลกธาตุ สร้างความวุ่นวายให้เรา เพราะความรู้ของเราเองไปเที่ยวเกี่ยวเกาะในสิ่งทั้งหลาย ซึ่งเป็นอยู่มีอยู่ตามหลักธรรมชาติของเขานั้น ก็รวมตัวเข้ามาสู่ใจ รู้อยู่ภายในใจดวงเดียวนี้เท่านั้น ประหนึ่งว่าโลกทั้งหลายไม่มี สิ่งทั้งหลายที่เคยรู้เคยเห็นเคยเป็นมา เคยนำเรื่องเหล่านั้นมายุ่งกวนตัวเองก็เหมือนไม่มี เพราะจิตไม่ได้ไปยุ่งกับสิ่งเหล่านั้น มีแต่ความรู้เด่น ถ้าเป็นสมาธิก็เด่นอยู่ในหัวอก เอ้า พูดให้เต็มหัวใจนี้เถอะ เพราะความรู้ในสมาธิความรู้ในธรรมจริงๆ ความสงบใจจริงๆ ไม่ได้อยู่บนสมองดังที่โลกเขาเข้าใจกัน

การจำการคิดอ่านไตร่ตรองของโลกต้องใช้สมองเป็นที่ทำงาน แต่เรื่องของธรรมนั้นอยู่ที่ตรงกลางอก นี้เป็นที่ทำงาน เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าความวุ่นวายนั้น ไม่ได้สร้างความเด่นจุดที่หมายที่ถูกต้องดีงามให้เราได้ยึดได้เกาะอะไรเลยแหละ แต่ความสงบนั่นซิ พอจิตสงบเย็นเข้าไปๆ แล้วจะปรากฏที่ตรงกลางอกของเรานี่ ยิ่งจิตเป็นสมาธิมีความแน่นหนามั่นคงแล้วยิ่งเห็นได้ชัดอยู่ภายในจิต ภายในท่ามกลางอกอันนี้ไม่ขึ้นบนสมอง สงบละเอียดขนาดไหนก็ตาม เอ้า พูดถึงขั้นปัญญาก็เหมือนกัน หมุนติ้วอยู่ภายในนี้ ท่ามกลางอกนี้ไม่ขึ้นสมองเลย หมุนกันอยู่ตรงนี้ สว่างกันอยู่ตรงนี้ เวลากำหนดบนสมองอย่างนี้ก็เหมือนเราขึ้นนะ ถ้าพูดว่าอย่างนั้นก็เหมือนขึ้นเหมือนลง ไปข้างล่างก็กำหนดลงไป กำหนดขึ้นบนก็ขึ้นบน เพราะจิตอยู่ในท่ามกลาง แน่ะ จึงกำหนดขึ้นกำหนดลงได้ นี่เป็นหลักธรรมชาติของใจที่สงบ และเป็นสถานที่อยู่ของความรู้จริงๆ

ความรู้ที่เคยกระจายไปทั่วดินแดนโลกธาตุ และสร้างความวุ่นวายสร้างความทุกข์ให้แก่ตัวเองนั้น รวมตัวเข้ามาสู่จุดเดียว คือรู้อย่างเด่นชัดภายในใจนี้ นั่นสบาย อยู่ไหนอยู่เย็นไปหมด นั่งอยู่หินก้อนไหนก็มีแต่เรื่องอรรถเรื่องธรรม เดินไปไหนอยู่ในร่มไม้ร่มไหนก็มีแต่อรรถแต่ธรรม กลางคืนกลางวันนั่งอยู่ตรงไหนผาสุก เย็นไปหมด นั่น คือจิตรวมเข้ามาสู่ตัวเองก็เห็นความสำคัญของตัวเองขึ้น เห็นสาระสำคัญขึ้นที่ภายในใจของเรานี้ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็ปล่อยเข้ามาๆ ไม่กังวล เพียงแต่อาศัยเขาอยู่ๆ เท่านั้น

นี่เป็นหลักความเป็นจริงของผู้ปฏิบัติที่รู้เห็นเป็นอย่างนั้น เย็นสบาย ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาไม่คิดไม่ยุ่งกับอะไร สิ่งที่จะมาก่อกวนหรือยุแหย่ก่อกวนก็ไม่มี มีแต่หลักธรรมชาติ ถ้าเป็นสัตว์หรือก็ไม่ใช่เป็นสัตว์ที่จะมาสร้างความกังวลวุ่นวาย สร้างกิเลสตัณหาให้ใจของเรา ดีไม่ดีถือเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน กลายเป็นธรรมอันหนึ่งขึ้นมา ในเวลาได้พบได้เห็นได้ยินเสียงของเขา เพราะสัตว์ป่านี้มีมาก เราพูดแต่ครั้งก่อนๆ อย่างในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน สมัยที่ครูบาอาจารย์และเราเองบำเพ็ญ เราก็ได้ประจักษ์ว่าเป็นอย่างนั้นภายในใจ

อยู่กับสัตว์ทั้งหลายนี้รู้สึกว่ามันรื่นเริงบันเทิง เสียงร้อง โก๊กๆ เก๊กๆ ยิ่งนกยูงด้วยแล้วเต็มไปหมด ไม่ว่าเขาลูกไหนเวลาเราอยู่เงียบๆ อย่างนั้นเหมือนไม่มี พอตกกลางคืนมานกยูงร้องนี้เหมือนกับไก่มันขันยามนั่นแหละ พอตัวหนึ่งขันขึ้นมาอีกตัวหนึ่งก็ขัน เลยขันกันหมดทั้งฝูงเลย ทีนี้นกยูงก็เหมือนกัน พอตัวหนึ่งขันขึ้นจุดหนึ่งแล้ว ตัวหนึ่งขึ้นจุดหนึ่งๆ ก็เป็นเสียงลั่นขึ้นมาทุกภูเขาอยู่แถวๆ รอบๆ นั้น จึงได้ทราบว่า โอ้โห นกเหล่านี้มีไม่น้อย มีอยู่ทุกแห่งทุกหน มีอยู่ทุกภูเขาแถวนั้น นี่ก็เป็นเครื่องรื่นเริงอันหนึ่ง

กลางคืนเดินจงกรมอยู่ก็เหมือนกัน มีสัตว์มันเดินกุ๊กๆ กิ๊กๆ มานี่ พวกหมูพวกอีเก้งมันมาก็เป็นเครื่องรื่นเริงอันหนึ่งๆ ไม่มีอะไรที่จะมาก่อกวนให้เกิดกิเลสเหมือนเสียงตรงกันข้าม เสียงที่สุดก็คือมนุษย์เรานี้ ภัยมันก็เต็มอยู่ที่นี่ แต่เราไม่ได้ตำหนิเขาว่าเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าเขามาเป็นข้าศึกต่อเรา แต่เป็นความสำคัญของใจเราเองไปเกี่ยวไปเกาะ แล้วเอาฟืนเอาไฟเข้ามาเผาตนเอง เมื่อจะเปลื้องแล้วก็ต้องตำหนิกันเพื่อจะเปลื้อง แน่ะ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเสียงอันใดที่เป็นภัยยิ่งกว่าเสียงมนุษย์ เรื่องอะไรที่จะเป็นภัยยิ่งกว่าเรื่องมนุษย์ไม่มี เรื่องมนุษย์นี้เป็นเรื่องใหญ่โตมากที่สุด

เพราะฉะนั้นจึงต้องได้ปลีกออกจากมนุษย์โดยหลักธรรมชาติ ออกไปสู่ความเป็นบุคคลผู้ๆ เดียว ท่านว่า เอกโก เป็นผู้ๆ เดียวอยู่ในสถานที่บำเพ็ญ จะเห็นแต่เราคนเดียวพิจารณาแต่เราคนเดียว เอ้า ถ้าจะเป็นภัยแบบไหนก็ให้เห็นแต่เราคนเดียวนี้ แต่มันไม่เป็นเมื่อเราอยู่คนเดียว ถ้าอยู่กับหมู่กับเพื่อนแม้แต่นักบวชด้วยกัน ยังมีความทะเลาะเบาะแว้ง ความรู้ความเห็นขัดกันไม่ลงรอยกัน นี้เป็นภัยจากใครถ้าไม่เป็นภัยจากมนุษย์ พระมาจากไหนถ้าไม่มาจากมนุษย์ ทะเลาะเบาะแว้งกันก็มี เกิดอธิกงอธิกรณ์กันยุ่งเหยิงวุ่นวาย นี่ก็เป็นเรื่องของพระ เรื่องของพระก็คือเรื่องของคน นี่ละเรายกตัวอย่างให้เห็นอย่างนี้

แต่ไปอยู่อย่างนั้นมันไม่เป็นมันไม่มี ใช้ความพินิจพิจารณาให้ละเอียดลออ โดยถือหลักธรรมหลักวินัยเป็นบรรทัดเป็นทางก้าวเดิน ก้าวไปตามนั้นๆ และมีครูมีอาจารย์คอยแนะนำทางด้านสมาธิทางด้านปัญญา เราก็ก้าวเดินไป ยิ่งมีความรื่นเริงบันเทิง จิตผ่องใสนี้ไม่ต้องพูดแหละ ถ้าลงจิตเป็นสมาธิแล้วผ่องใสจนอัศจรรย์ บางทีเป็นนะเป็นขึ้นในใจนั่นแหละ โอ้โห ใจนี้ไม่นึกไม่คาดไม่ฝันว่าจะอัศจรรย์ขนาดนี้ อัศจรรย์ขนาดนี้เชียวเหรอ นั่นดูซิในกายของเราทั้งกายนี้น่ะ แต่ก่อนก็เหมือนกับมันหนามันแน่นมันมืดตื้อไปหมด จิตของเราไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน แต่เวลาจิตมีความสว่างเต็มตัวของมันแล้ว สว่างจ้าออกมาได้หมดเลย ร่างกายนี้พอเป็นเงาๆ เหมือนกับแก้วครอบตะเกียงนั่นแหละ แสงไฟที่อยู่ในตะเกียงนั้นสว่างจ้าทะลุแก้วครอบออกมาได้หมด นี่ก็เหมือนกัน ใจเมื่อถึงขั้นสว่างแล้วทะลุออกมาได้หมดเลย ร่างกายของเรานี้เป็นเพียงเงาๆ เท่านั้น มองดูภูเขาทั้งลูกก็เป็นพอเงาๆ แผ่นดินทั้งแผ่นก็เหมือนกัน เมื่อถึงขั้นที่มันสว่างกระจ่างแจ้งแล้วทะลุไปได้หมด

นั่นซิจึงว่าเพียงตัวเท่าหนูนี่มันก็เห็นได้พูดได้อย่างนี้ จะไม่ให้นำมาพูดได้ยังไงความจริงเป็นอย่างนี้ แต่ก่อนมันไม่เคยเป็นนี่ เวลาปฏิบัติเข้าไปๆ เห็นเข้าไปเป็นเข้าไปอย่างนี้จะไม่ให้พูดได้ยังไง ธรรมเป็นของจริงทำไมพูดไม่ได้ เห็นก็ต้องบอกว่าเห็น รู้ต้องบอกว่ารู้ เวลามืดตื้อก็บอกว่ามืดตื้อ ในจิตดวงเดียวกันนี้น่ะ เอ้าดูซิเป็นยังไง เพราะฉะนั้นจึงอยากให้ท่านทั้งหลายผู้ปฏิบัตินี้ได้ปฏิบัติดู เอ๊า มันจะเป็นยังไงธรรมพระพุทธเจ้าน่ะ เคยหลอกโลกมาแล้วเหรอ ไม่เคยหลอกโลกมา มีแต่ธรรมของจริงนี้สอนโลก รื้อขนสัตว์โลกให้พ้นจากทุกข์มามากขนาดไหนและกี่กัปกี่กัลป์แล้ว ทำไมจึงไม่ถึงใจของพวกเราผู้ปฏิบัติซึ่งควรจะรู้จะเห็นด้วยความสนใจของตนโดยแท้ มันอยากให้รู้ให้เห็นนี่นะ ให้พากันตั้งอกตั้งใจซิ

อย่าลืมแนวทางพระโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ให้เล็งให้ดีทุกสิ่งทุกอย่าง เราอย่าเอาความอยากความทะเยอทะยานซึ่งเป็นนิสัยของกิเลสที่มันจะออกก่อนๆ แซงหน้าแซงหลังก่อนนั้นมาเป็นเครื่องดำเนิน มันจะเหลวไหลไปทั้งเพนั้นแหละ อย่างไรก็ตาม ให้เล็งเหตุเล็งผลเล็งอรรถเล็งธรรม เพื่อการดำเนินของตนอยู่โดยสม่ำเสมอทุกอิริยาบถ นี่ละเป็นความถูกต้องดีงาม

เอาละการแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร ขอยุติเพียงเท่านี้

พูดท้ายเทศน์

เราย้อนคิดถึงพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นที่ท่านพาดำเนินนี้ ท่านสมบุกสมบันมากจริงๆ นะ เรียกว่าเป็นตัวอย่างเป็นสรณะในวงปัจจุบันได้อย่างเต็มหัวใจเลย ที่ไหนๆ เป็นสถานที่พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นไป ผมมักจะไปเที่ยวสอบเที่ยวดูเสียจนทั่วถึงไปหมดเลย ท่านอยู่ที่ไหนๆ บ้างก็พยายามไปเสาะ เช่นอย่างถ้ำผาบิ้งนี้ แต่มันเปลี่ยนสภาพไปเสียมากมายเป็นคนละโลกไปแล้ว เราก็เล็งดูจากถ้ำไปหาถนน แต่ก่อนถนนไม่มี แถวนั้นไม่มีหมู่บ้านคนเลย ถ้ามีก็คงวังสะพุงเท่านั้น วังสะพุงนี้มันก็เหมือนหมู่บ้านไม่ได้เหมือนอำเภอ ถนนหนทางไม่มี จากนั้นเข้าไปหาถ้ำผาบิ้งนี้ ๖-๗ กิโล มีแต่ป่าแต่เขาเท่านั้น ท่านอยู่ที่นั่น ท่านอาจารย์สิงห์นี้ก็ไปได้กำลังใจที่นั่นนะเท่าที่ทราบมา จิตท่านรวมใหญ่ตรงนั้นละ

แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนสภาพไปหมดแล้ว สถานที่ก็เปลี่ยนสภาพ ทางเดินเข้าไปรอบๆ บริเวณตั้งแต่ทางหลวงนี้เข้าไป เป็นสวนเป็นไร่เขาไปหมด โล่งไปหมดพูดง่ายๆ ว่างั้นเลย ไม่มีเทือกเถาของเก่าของแก่ยังเหลืออยู่บ้างเลย ในถ้ำผาบิ้งก็มีแต่เฉพาะถ้ำเท่านั้นเอง จากนั้นก็เปลี่ยนแปลงไปหมด

ศาลาก็ ๒ หลัง ๓ หลัง อย่างนี้ละการก่อสร้างนี่มันน่าคิดอยู่มากนะ วงกรรมฐานเรา ถ้าหากว่าผู้ที่ไปทำการก่อสร้างไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวของครูบาอาจารย์และตำรับตำราที่ท่านแสดงไว้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง นี่ก็รู้ๆ อยู่เห็นๆ กันอยู่แต่ก็ทำกันอยู่อย่างนั้น เหมือนกับว่าทำแข่งพระโอวาทของพระพุทธเจ้า นี่ซิ ไปที่ตรงไหนมีแต่เรื่องการก่อการสร้างหรูหราฟู่ฟ่าอันเป็นเรื่องของโลก ไปเหยียบย่ำทำลายสถานที่ที่เป็นหลักธรรมชาติอันเป็นธรรมเครื่องตื่นตัวอยู่เสมอนั้น ให้ฉิบหายวายปวงไปเสียหมดไม่มีเหลือเลย นี่ซิมันน่าคิด เราไปสู่สถานที่ธรรมชาติ กับไปอยู่ในสถานที่ตกแต่งให้สดสวยงดงามมันต่างกันไหม ถ้าเป็นเรื่องของธรรมแล้วเป็นคนละโลกเลยนะ

ไอ้เรื่องของโลกเขาก็ชอบอย่างนั้นอยู่แล้วนี่ นี่เราพูดถึงเรื่องธรรม พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านไปอยู่ที่ไหนท่านสร้างอะไร นี่แบบฉบับอันหนึ่ง และแบบฉบับนี้ก็มาจากพระพุทธเจ้าท่านก็แสดงไว้แล้ว แนะทางให้พระเวลาไปเที่ยวภาวนา สถานที่อะไรก็ตาม ท่านบอกท่านสอนไว้ อย่าไปสถานที่มีการก่อสร้าง อย่าไปสถานที่ชุมนุมชน ไปสถานที่จอแจ ให้ไปหาสถานที่วิเวกสงัด แม้ต้นไม้ที่เป็นดอกเป็นผลนกกินกันวุ่นวายอยู่นี้ เสียงอึกทึกครึกโครม ก็อย่าไปอยู่ในสถานที่เช่นนั้น ท่าน้ำขึ้นลงของผู้คนสัญจรไปมาและลงเล่นกันก็อย่าไป อย่างนี้ท่านสอนไว้หมดละเอียดลออมากนะ นั่นเห็นไหมเป็นยังไง ปฏิปทาที่พระพุทธเจ้าทรงสอนและทรงแนะเป็นยังไง กับการดำเนินของพวกเรามันขัดกันอยู่ตลอดเวลาใช่ไหมล่ะ

นี่ถ้าเราดำเนินตามนี้ทำไมจะไม่เห็นอรรถเห็นธรรม เพราะนี้เป็นเครื่องบุกเบิกธรรมทั้งนั้น เป็นเครื่องตีต้อนกิเลสไม่ให้เข้ามายุ่งทั้งนั้น ที่วิเวกสงัดก็เป็นข้าศึกกันกับที่จุ้นจ้านวุ่นวาย นั่น ท่านไม่ให้ไปที่จุ้นจ้านวุ่นวาย ที่ก่อสร้างมากๆ ก็วุ่นวายท่านไม่ให้ไป ให้ไปหาสถานที่เหมาะๆ ที่สงัดวิเวกเพื่อบำเพ็ญได้สะดวกสบาย นั่นฟังซิท่านสอนไว้อย่างละเอียดลออมาก

พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นเรานี้เป็นยังไง ท่านเดินตามนี้อย่างราบรื่นสม่ำเสมอหาที่ต้องติไม่ได้เลยนะ เท่าที่ผมไปอยู่กับท่านเป็นเวลา ๘ ปีจนกระทั่งท่านมรณภาพไป มีแต่ที่ถึงใจๆๆ ปฏิปทาเครื่องดำเนินที่เห็นอยู่ด้วยตาของเรานี้ ก็มีอยู่ในแบบในฉบับ มีในตำรับตำราอยู่แล้วค้านได้ที่ไหน ท่านดำเนินอย่างนี้อยู่ในข้อนั้นๆๆ นั่นมันเห็นอีกแหละ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก