ผู้รู้ ผู้แนะนำ
วันที่ 15 กันยายน 2530 เวลา 19:00 น. ความยาว 79.38 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๓๐

ผู้รู้ ผู้แนะนำ

ครั้งพุทธกาลที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ บรรดาสาวกที่ได้สดับธรรมจากพระองค์แล้วออกไปประพฤติปฏิบัติอยู่ในสถานที่ต่างๆ ดังที่เราได้ทราบแล้วในตำรา เช่นในป่าในเขาในถ้ำ อันเป็นสถานที่เหมาะสมกับการประกอบความพากเพียร ธรรมะคืองานภาวนานี้เป็นงานขุดค้นเป็นงานบำรุงส่งเสริม หรือจะเรียกว่าคุ้ยเขี่ยขุดค้นธรรมะให้เกิดให้รู้ขึ้นภายในจิตใจก็ถูก เมื่อไปอยู่ในสถานที่เหมาะสมตามที่ทรงสั่งสอนไว้แล้ว ธรรมที่อยู่ในวิสัยของผู้ปฏิบัติ จะพึงรู้พึงเห็นจากการปฏิบัติของตนย่อมจะพ้นไปไม่ได้

คำที่ว่ารู้อรรถรู้ธรรมนั้นมีด้วยทั้งสองอย่าง คือรู้อรรถรู้ธรรมที่ไม่มีปัญหาใดๆ มากีดมาขวางภายในจิตใจ อันนั้นเรียกว่าหมดปัญหา รู้อรรถรู้ธรรมแล้วมีกิเลสแทรกแซงอยู่ภายในนั้น ให้เกิดความข้องใจสงสัยมากน้อย นี้แหละอันเป็นเหตุที่จะให้ทูลถามพระพุทธเจ้า ไปบำเพ็ญอยู่ในสถานที่ใดก็ต้องได้มาทูลถามพระองค์นี้อันหนึ่ง อันหนึ่งการปฏิบัติของตนเวลาปฏิบัติไป เกิดความรู้ความเห็นขึ้นมาให้เกิดข้อข้องใจสงสัยไปด้วยในขณะเดียวกันอย่างนี้ ก็ต้องได้มาทูลถามพระองค์ ตลอดถึงแนวทางที่ดำเนินของตน บางทีไปถูกปิดตันเสียหาทางไปไม่ได้ โดยไม่ทราบสาเหตุว่าจะปฏิบัติหรือแก้ไขอย่างไร อย่างนี้ก็มี นี้ก็มาทูลถามพระองค์

เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ และได้ทูลถามต่อพระพักตร์ของพระองค์ย่อมจะทะลุปรุโปร่งไปได้อย่างง่ายดาย ไม่เสียเวล่ำเวลาอยู่นานเหมือนการแก้ไขเฉพาะตัวเอง พระสงฆ์ที่อยู่กับครูบาอาจารย์ทั้งหลายซึ่งเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันอย่างนั้น เมื่อเกิดข้อข้องใจสงสัยอะไรในการปฏิบัติจิตตภาวนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ละเอียดเข้าไปโดยลำดับ ย่อมเรียนถามท่านตามลำดับแห่งภูมิอรรถภูมิธรรม

ด้านภาวนาจึงจำเป็นสำหรับครูอาจารย์ที่คอยแนะแนวทางให้โดยถูกต้อง อย่างสมัยปัจจุบันนี้ก็พ่อแม่ครูจารย์มั่น จะเรียกว่าเป็นเอกก็ไม่ผิด เพราะเรื่องทางด้านจิตตภาวนาแล้วท่านช่ำชองมาก เชี่ยวชาญมากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นสมาธิขั้นใดและปัญญาขั้นใด สมาธิขั้นแปลกๆ ต่างๆ ที่เราไม่เคยรู้เคยเห็นไม่เคยเป็น แต่มีอยู่เป็นบางรายอย่างนี้ ท่านก็เป็นผู้ผ่านมาแล้ว ทราบและแก้ไขได้โดยถูกต้องไม่เสียเวล่ำเวลา นี่เป็นสำคัญ

การปฏิบัติจึงมีความจำเป็นทั้งส่วนภายนอก คือข้อวัตรปฏิบัติ ต้องมีครูมีอาจารย์คอยแนะนำและพาดำเนิน อย่างที่เราดำเนินอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราคิดได้มาเอง แต่เป็นเรื่องที่ครูอาจารย์เคยพาดำเนินมาแล้ว เช่น บิณฑบาตเป็นวัตร หรือในธุดงค์ ๑๓ อย่างนี้ ฉันมื้อเดียว ฉันแต่น้อยมีอดบ้าง อันนี้มีเยี่ยงอย่างมาจากครูอาจารย์ที่พาดำเนินมาทั้งนั้น และที่ดำเนินตามท่านดังที่เราทั้งหลายปฏิบัติมาก็เห็นผลประจักษ์ภายในตัวของเราแต่ละรายๆ โดยไม่ต้องสงสัย เช่น ฉันแต่น้อยเป็นยังไงการภาวนา หรือพักอาหารเสียบ้างเป็นอย่างไร เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกี่ยวโยงกันกับธาตุขันธ์ ธาตุขันธ์ถ้ามีกำลังมากมันก็เป็นเครื่องเสริมฝ่ายต่ำคือกิเลสได้เป็นอย่างดี มีราคะตัณหาเป็นต้น ถ้ามีกำลังน้อยก็ไม่ค่อยรุนแรง การฝึกทางด้านสมาธิเพื่อความสงบก็ได้ตามต้องการไม่ยากนัก แต่ถ้าธาตุขันธ์มีกำลังมาก การฝึกอบรมจิตใจเพื่อเข้าสู่สมาธินี้ยากมากทีเดียว ดีไม่ดีไม่ลงกันได้เลย นั่นถึงขนาดนั้น

เรื่องของธาตุขันธ์มีกำลังนี้เป็นสิ่งที่เสริมจิตฝ่ายกิเลสได้เป็นอย่างดี ถึงกับหาร่องหารอยไม่ได้ นี่ละที่เคยเล่าให้หมู่เพื่อนฟังเสมอในการผ่อนอาหาร และขยับเข้าไปถึงขั้นอดอาหารก็เพราะเหตุนี้เอง เมื่อเราเข้าถึงขั้นนั้นก้าวเข้าสู่ขั้นนั้น ปฏิบัติในขั้นนั้นย่อมได้ผล จิตที่เคยคึกคะนองก็สงบตัวลงได้ ทั้งๆ ที่วันก่อนมันเป็นอย่าง ไปทางฝ่ายต่ำอย่างผาดโผนที่สุดเลย จนประหนึ่งเราไม่มีอะไรที่จะสามารถต้านทานให้อยู่ในเงื้อมมือได้ นอกจากมันจะบีบบังคับเราให้เป็นไปตามมันเท่านั้น แต่ในวันนี้หรือขณะต่อไปนี้ที่เราได้รับการฝึกทรมานวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น ผ่อนอาหารหรืออดอาหารลงไป ใจของเราสงบได้ง่าย นี่ก็เห็นได้ชัด ทั้งๆ ที่เมื่อวานหรือวานซืนนั้นไม่สงบเลย เห็นอย่างชัดๆ เลยว่ากำลังของเราไม่มีทางสู้ได้เลย มันเหมือนกับน้ำที่ไหลเชี่ยวที่สุดเลยกระแสของกิเลสประเภทนั้น แต่กลับมาวันนี้มันอ่อนตัวลง นี่ก็เห็นได้ชัด

เพราะฉะนั้นการฝึกอบรมจึงต้องเป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องได้เสาะแสวง ได้พินิจพิจารณาสังเกตสอดรู้วิธีการดำเนินของตนอยู่โดยสม่ำเสมอ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ เช่น เดินจงกรมก็สักแต่ว่าเดิน ภาวนาสักแต่ว่าภาวนา ทั้งๆ ที่จิตเร่ๆ ร่อนๆ ไปทวีปไหนก็ไม่รู้ มันก็สักแต่ว่าทำไม่เกิดประโยชน์อะไร เราทำ เราทำเพื่อประโยชน์เพื่อให้เห็นเหตุเห็นผล จิตดื้อขนาดไหนก็ให้รู้ในเวลาภาวนา การภาวนาเป็นเรื่องที่จะให้รู้เรื่องทั้งฝ่ายกิเลสทั้งฝ่ายธรรมะ แต่ไม่ได้เรื่องอะไรเลยอย่างนี้มันเข้ากันได้ยังไงกับหลักของผู้ภาวนาไม่ได้เรื่องนั้น เราต้องได้สังเกตสอดรู้เสมอ

การสังเกตสอดรู้เป็นเหตุที่จะให้รู้เรื่องของตัวเอง ว่าเคลื่อนไหวไปทางฝ่ายต่ำหรือฝ่ายสูง เคลื่อนไหวทางไหนมากกว่ากัน เราจึงต้องได้หาอุบายวิธีส่งเสริมทางด้านธรรมะเพื่อมีกำลังดัดแปลง หรือฝึกทรมานจิตดวงพยศนั้นให้อยู่ในเงื้อมมือของเราได้ จะเป็นด้วยวิธีการอดนอนก็ตาม ผ่อนอาหารก็ตาม หรืออดอาหารก็ตาม เดินมากก็ตาม นั่งมากก็ตาม ด้วยวิธีใดก็ตาม ที่เป็นวิธีฝึกทรมานกิเลสให้หายพยศแล้วเป็นวิธีที่ถูกต้อง ซึ่งเกิดขึ้นจากการสอดรู้ของตัวเองทั้งนั้น ผู้ปฏิบัติควรใช้อย่างนี้เสมอ ถ้าไม่ใช้สักแต่ว่าทำก็ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร

การนั่งหรือการไม่นอนอย่างที่ท่านว่า เนสัชชิ ในธุดงค์ข้อหนึ่ง ไม่นอนเป็นคืนๆ แล้วแต่จะตั้งสัจอธิษฐานไว้กี่คืนที่ไม่นอนหรือกี่วัน นี่ท่านเรียกว่า เนสัชชิธุดงค์ ถ้าถูกจริตนิสัยของตัวเองก็ได้ผล เราก็สืบต่อไปเรื่อยตามโอกาสที่ควรจะทำได้สำหรับธุดงค์ข้อนี้ ถ้าทำลงไปไม่ค่อยได้ผลเพราะจริตนิสัยไม่ถูกกันก็ให้ทราบ ส่วนผู้ปฏิบัติที่มักจะถูกมากกว่าอย่างอื่นใดก็คือการผ่อนอาหาร ฉันมื้อเดียวก็รู้ว่าฉันมื้อเดียวก็ว่าดีอยู่แล้ว ไม่กังวลวุ่นวายไม่เพิ่มเติมอาหารที่จะเป็นกำลัง แต่การฉันมื้อเดียวฉันมากมันก็เสริมได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องผ่อนลงไปอีก แม้ฉันมื้อเดียวก็ผ่อนลง จนถึงขั้นที่ว่าหยุด อันนี้รู้ได้ชัดๆ สำหรับนิสัยของผู้ปฏิบัติทั้งหลายมักจะถูกในข้อนี้มากกว่าอย่างอื่น เราก็ต้องได้ตะเกียกตะกายอยู่นั้นแหละ

การเดิน เดินจงกรมกี่ชั่วโมงไม่ต้องไปคำนึง เดินดูหัวใจเจ้าของ ก้าวไปช้าหรือเร็วให้ดูความรู้ความเคลื่อนไหวของจิต ซึ่งกำลังทำงานอยู่ด้วยจิตตภาวนาเวลานั้นเป็นอย่างไร อย่าไปหากฎหากติกามาตั้งบังคับตนไว้ก่อน ด้วยอำนาจของกิเลสมันเคยกดขี่บังคับเรามา การเดินจงกรมมันก็จะหาเรื่องมาเท่านั้นชั่วโมงเท่านี้ชั่วโมง แล้วก็เดินเอาชั่วโมงเฉยๆ เดินเอานาทีเฉยๆ เอาลมๆ แล้งๆ ไม่ได้เห็นเหตุเห็นผลกันในด้านจิตตภาวนาเลยมันก็ไม่ได้เรื่อง เพราะฉะนั้นการภาวนาจึงเพื่อเหตุเพื่อผลเพื่ออรรถเพื่อธรรม เพื่อให้รู้เรื่องความเคลื่อนไหวของใจตัวเองว่าเป็นอย่างไรในขณะที่กำลังเดินอยู่นั้น นี่เรียกว่าเดินจงกรม เดินทำความเพียรอย่างแท้จริง

จะเดินกี่ชั่วโมงก็ เอ้า เดินไปเถอะ อย่าไปคำนึงถึงเวล่ำเวลา มันไม่ค่อยเกิดประโยชน์อะไรละไอ้เวล่ำเวลา มันเป็นสัญญาอารมณ์ต่างหากซึ่งเคยมีมาแล้ว เวลาจะเดินจงกรมมันก็เพิ่มขึ้นมาเป็นข้อบังคับเพื่อจะให้ออกนอกลู่นอกทางไปเสีย มากกว่าที่จะเข้าช่องเข้าทางแห่งอรรถธรรมทั้งหลาย

นั่งก็เหมือนกัน นั่งนี้ต้องได้ใช้ปัญญามาก ถ้าปัญญายังไม่ถึงกัน ที่จะนั่งทนเอาเฉยๆ นี้ไม่เกิดประโยชน์ ทุกข์ทนเอาเฉยๆ เดินก็เหมือนกันจะทนเหนื่อยเอาเฉยๆ ก็ไม่เกิดประโยชน์ ให้ดูจิตมันจะยึดมันจะเกาะอะไร เวลาเหนื่อยมันจะเป็นสัญญาอารมณ์อะไรขึ้นมาภายในจิต ดูความเคลื่อนไหวของจิตมากกว่าความเหน็ดความเหนื่อยภายในร่างกายหรืออิริยาบถที่เคลื่อนไหวนั้น ให้ดูจิตมากกว่าทุกอย่าง จึงสมกับว่าเราบำเพ็ญจิตตภาวนา ในการนั่งก็เหมือนกัน เรานั่งภาวนามันมีหลายจังหวะ จังหวะของการตั้งจิตของการบริกรรมของการพิจารณา แน่ะ มันหลายขั้นหลายตอน เมื่อถึงขั้นที่มันเจ็บปวดแสบร้อนมากๆ เราจะใช้วิธีใดต่องานประเภทนั้น นี่ทุกขสัจประเภทนี้แสดงขึ้นมา คือมีความทุกข์ร้อนภายในร่างกายของเราแผดเผาไปหมดทั่วร่างกาย เราจะปฏิบัติอย่างไรกับทุกขสัจประเภทนี้ ที่จะทนเอาเฉยๆ ให้สู้มันได้ด้วยความทนเอาไม่ใช่อรรถไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่การดำเนินอริยสัจ ด้วยมรรคมีสติปัญญาเป็นสำคัญ เราต้องสังเกต เวลาทุกข์เกิดมันเกิดที่ตรงไหน นั่นจึงเรียกว่าปัญญา ทุกข์นี้มีอำนาจวาสนามาจากอะไร

ตะกี้นี้พูดถึงเรื่องทุกขเวทนาทางกาย ท่านว่าในสติปัฏฐาน ๔ ก็คือเรื่องอริยสัจนั้นแหละจะเป็นเรื่องอะไรไป กายก็คือรูปร่างกายของเรานี้ ส่วนต่างๆ ที่เป็นส่วนหยาบเรียกว่ารูป นี่ท่านเรียกว่ากาย เวทนาคือความสุข ทุกข์ เฉยๆ ที่เกิดขึ้นภายในร่างกายส่วนต่างๆ เฉพาะการนั่งภาวนามันเกิดทุกข์ขึ้นมา มันไม่ได้เกิดสุขแหละการนั่งภาวนา เกิดทุกข์ขึ้นมาในอวัยวะส่วนใด เช่น เท้า ก้น ขา มันจะเจ็บปวดมากกว่าเพื่อน ทั้งๆ ที่เรากำลังทำงานอย่างอื่นอยู่ด้วยจิตตภาวนานั้นแล ต้องได้ปล่อยงานเหล่านั้นเข้ามาสู่จุดของทุกขเวทนาที่กำลังกล้าสาหัสอยู่เวลานั้น แล้วตั้งปัญหาขึ้นถามกันทีเดียว นี่ละเรียกว่าการพิจารณาเรื่องทุกขสัจในเวลาที่มันแสดงมากๆ

ขณะที่เรานั่งภาวนานานๆ มันเป็นขึ้นมาได้ แยกแยะดูทุกข์มันเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเรานั่งนานนี้เท่านั้น ส่วนกายไม่ว่ากายส่วนใด แม้ส่วนที่เราสำคัญว่ามันเป็นทุกข์ในขณะนั้น มันก็มีมาดั้งเดิม ไม่ใช่มีมาในขณะที่ทุกข์เพิ่งเกิดขึ้น จึงไม่ใช่อันเดียวกัน เช่นหนังออกร้อนเหมือนจะพองไปหมดอย่างนี้ ความออกร้อนความร้อนความทุกข์อันนั้นมันก็เป็นอันหนึ่งต่างหากจากหนัง ไม่ใช่หนังเป็นทุกขเวทนา ทุกขเวทนามันเพิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่และจะดับไปเท่านั้น หนังมันมีของมันอยู่อย่างนั้นตั้งแต่ทุกข์ยังไม่เกิด และทุกข์เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปมันก็มีของมันอยู่อย่างนั้น นี่วิธีการพิจารณาทุกขเวทนา

อาการอื่นก็ตาม เราถืออาการใดที่หนักมากกว่าเพื่อน คือทุกข์มากกว่าเพื่อน อย่างขณะที่นั่งอยู่เวลานั้น บางทีมันเจ็บกระดูกเหมือนกระดูกจะหัก กระดูกท่อนไหนตรงไหนน่ะมันเป็นทุกข์ได้ยังไง พิจารณาเรื่องทุกข์กับเรื่องกระดูกมันไม่ใช่อันเดียวกัน

กำหนดที่ตรงไหนจิตต้องจ่อต้องเอาจริงเอาจัง เหมือนไม่มีงานอื่นใดเลยในโลกนี้ มีเฉพาะงานทุกขเวทนา ถ้าพิจารณากับกระดูกก็กับกระดูกเท่านั้น กับเนื้อกับหนังกับอวัยวะส่วนต่างๆ ที่เรากำลังพิจารณาเทียบเคียงกันอยู่นั้นเท่านั้น จนกระทั่งได้สัดได้ส่วน และพิจารณาดูจริงๆ กระดูกมันก็มีมาตั้งแต่ทุกข์ยังไม่เกิด ทุกข์ดับไปกระดูกก็ยังมี เมื่อแยกไปแยกมาเทียบเคียงเข้าหลายครั้งหลายหน ความชัดเจนก็ค่อยเด่นขึ้นๆ และก็ย้อนเข้ามาถึงจิต อาการนี้มาจากไหน ว่าทุกข์อะไรๆ นี้มาจากจิต ย้อนเข้ามาหาจิตนี้ จนกระทั่งจิตก็สักแต่ว่ารู้ อาการที่ว่าอันนั้นเป็นทุกข์อันนี้เป็นทุกข์มันก็หดตัวเข้ามาเสีย หดเข้ามาสู่จิตนี้

เช่นว่าทุกขเวทนานั้นมันทุกข์ตรงนั้นทุกข์ตรงนี้ แทนที่มันจะดับไปอยู่กับที่มันทุกข์ เช่นว่ากระดูกเป็นทุกข์ เมื่อกำหนดลงไปจริงๆ ให้ทราบชัดกันแล้ว ทุกข์นั้นไม่ได้ดับอยู่ที่กระดูกในจุดที่ว่าเป็นทุกข์ แต่ทุกข์นี้จะหดตัวเข้ามาๆ จนเข้าถึงจิตแล้วไปดับที่จิตแห่งเดียวเท่านั้น นี่จึงชื่อว่าเราพิจารณา มันเห็นประจักษ์ ไม่มีในตำราก็ตามเถอะ ความจริงมีอยู่ยังไง ผู้รู้รับรู้กันอยู่ตลอดทำไมจะไม่ทราบ มันทราบกันอย่างนี้ภาคปฏิบัติ ทุกขเวทนามากน้อยมันปรากฏเด่นชัดและหดเข้ามาๆ และมาดับที่ใจ

ทีนี้เมื่อดับที่ใจแล้ว ใจก็สักแต่ว่ารู้ ไม่ได้สำคัญมั่นหมายว่าสิ่งนั้นเป็นทุกข์สิ่งนี้เป็นทุกข์ ว่าหนังว่าเนื้อหรือว่าอะไรก็ตามเป็นทุกข์ และทุกข์ก็ไม่ใช่อาการเหล่านั้น ต่างอันต่างจริงแล้วก็อยู่ จิตก็ไม่ไปสำคัญมั่นหมายไม่ไปหลอกตัวเอง เวทนาเกิดขึ้นมันก็ดับ แล้วก็มาดับที่ใจเรานี้ อาการต่างๆ ของร่างกายนั้นมันก็จริงของมันอยู่อย่างนั้น สุดท้ายมีแต่ต่างอันต่างจริง ไม่เห็นมีอะไรเป็นข้าศึกต่อกัน นี่เรียกว่าอริยสัจจริง ท่านว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ทุกข์เป็นของจริง จริงอย่างนี้สำหรับผู้ปฏิบัติ ลงได้เข้าถึงความจริงแห่งทุกข์แล้ว จะไม่มาตำหนิทุกข์นี้เลยว่าเป็นตัวโจรตัวมารตัวทำร้ายป้ายสีเรา ไม่มี มันเป็นความจริงอันหนึ่งเท่านั้น

เพราะฉะนั้นท่านจึงว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ สจฺจํ ทุกข์เป็นของจริงไปเลย สมุทัย อริยสจฺจํ ก็เหมือนกัน สจฺจํๆ เป็นความจริงของแต่ละอย่างๆ เมื่อพิจารณาให้ถึงฐานของตนแล้ว ทั้งทุกข์ทั้งสมุทัยทั้งนิโรธทั้งมรรค ต่างอันต่างจริงเต็มส่วนของตนแล้วไม่มีอะไรกระทบกันเลย แน่ะ และนอกจากนั้นส่วนที่เป็นสมุทัยก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ เพราะรู้สมุฏฐานของมันอย่างชัดเจน มันก็ดับของมันไป ที่มันไม่ดับหรือมันเกิดได้มันเสริมได้เพราะความหลงของเราต่างหาก ไปสำคัญว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เมื่อเรารู้จริงๆ แล้วสมุทัยมันก็ดับลงไปได้ นี่เรียกว่าสมุทัยดับมันดับอย่างนี้ นอกจากจริงแล้วยังดับเห็นชัดด้วยปัญญา

เมื่อสมุทัยดับ นิโรธคือความดับทุกข์ก็เป็นขึ้นในขณะเดียวกัน ซึ่งเป็นความจริงอันหนึ่งเหมือนกัน นี่หมายถึงการพิจารณา นั่งพิจารณานานๆ หรือว่าเจ็บไข้ได้ป่วยก็เหมือนกัน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมากๆ ความที่เคยพิจารณาอย่างไร มันจะเป็นอย่างนั้นตามวิสัยของผู้ปฏิบัติไม่ถอย มันจะหมุนตัวเข้าไปหาอันนั้น ไอ้ที่ว่าจะหายหรือไม่หาย มันเลยไม่ไปคาดไปคิด นอกจากหลักความจริงนี้เท่านั้นที่จะพิจารณาอยู่ในจุดนั้น ทุกข์อะไรมากมายเพียงไรความเจ็บไข้ได้ป่วย เอ๊า มันอยู่ตรงนี้ย้ำเข้าไปตรงนี้ จนปรากฏเป็นความจริงขึ้นมาอีก เช่นเดียวกับเราพิจารณาทุกขเวทนาในเวลานั่งมาก หรือในเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็พิจารณาอย่างเดียวกัน เพราะเป็นสัจธรรมอย่างเดียวกัน

นี่คือการพิจารณาถึงเรื่องการทุกข์มากในเวลานั่ง ใช้ปัญญาพิจารณาอย่างนี้ ไม่ใช่ไปทนเอาเฉยๆ ให้ทุกข์ดับไปเอง หรือสู้ทุกข์ไม่ได้แล้วก็ออกมาเฉยๆ นั้นไม่ใช่เรื่องจิตตภาวนาหาความรู้ความฉลาดใส่ตน มันไปสู้เอาเฉยๆ นั่งทนเอาเฉยๆ ทนไม่ได้มันก็ตายได้นี่ ทั้งๆ ที่หาความรู้ความฉลาดไม่ได้เลย

แต่การพิจารณาดังที่ว่านี้ ความรู้ความฉลาดเพิ่มขึ้นๆ จนกระทั่งรอบตัว ท่านจึงเรียกว่ามรรคสมบูรณ์ คืออะไร ก็คือสติปัญญานั่นเองสมบูรณ์ เต็มที่แล้วก็สังหารสมุทัย รู้ทั้งฐานที่เกิดของสมุทัยคืออะไรด้วย และดับลงไปด้วยปัญญานี้ด้วย จึงเรียกว่ามรรคสมบูรณ์ เมื่อทุกข์สมุทัยดับลงไปเพราะอำนาจของนิโรธกับมรรคเป็นผู้ทำงานแล้วจิตก็หมดปัญหา เมื่อลงถึงขั้นถอนตนถึงรากถึงโคนกันจริงๆ แล้วมันไม่มีอะไรเหลือนี่

นั่นละพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ขึ้นมาตรัสรู้ในจุดนี้ พระสงฆ์สาวกที่ท่านสิ้นกิเลสท่านสิ้นในจุดนี้ ในท่ามกลางแห่งอริยสัจธรรมทั้ง ๔ นี้ด้วยจิตตภาวนาของท่านเพราะฉะนั้นธรรมเหล่านี้จึงไม่เคยครึเคยล้าสมัย ไม่มีคำว่ากาลสถานที่เวล่ำเวลาเข้าไปเหยียบย่ำทำลายได้เลย เป็นความจริงล้วนๆ อยู่ตลอดเวลา ใครขุดค้นขึ้นมาความจริงนี้จะเด่นขึ้น สำหรับผู้ที่ขุดค้นขึ้นมาเพื่อดูความจริง เพื่อเห็นความจริง เพื่อถอดถอนสิ่งที่ควรถอดถอน เพื่อดับสิ่งที่ควรดับ จะต้องดับได้ๆ ถอดถอนได้เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย แล้วก็เป็นถึงขั้นสมบูรณ์เต็มที่ได้แก่ความบริสุทธิ์ล้วน ๆ ภายในจิตใจ นี่ละที่ว่าเชื่อตัวเองได้เชื่อตรงนี้

ตอนนี้ไม่มีใครมาบอกมาสอนได้เลยแหละ เป็นเรื่องของเราเองเป็นผู้จะเข้าใจ เป็นผู้จะรู้ในธรรมทั้งหลาย จนกระทั่งถึงธรรมวิมุตติได้แก่ความหลุดพ้น ก็รู้ขึ้นมาที่ตรงนี้ เมื่อรู้ขึ้นมาที่ตรงนี้เต็มภูมิแล้วก็หมดปัญหา ดังพระพุทธเจ้าและสาวกท่านเป็นผู้ที่สิ้นปัญหาโดยประการทั้งปวงแล้ว มีแต่จิตที่บริสุทธิ์ล้วนๆ นั่นละท่านปฏิบัติธรรมท่านทำอย่างนั้น

เวลานี้พวกเราทั้งหลายมันมีแต่โลกนะเข้ามาทับถม กิริยาแห่งการประกอบความพากเพียรหรือกิริยาแห่งธรรมมีเพียงเล็กน้อย ส่วนมากมีแต่เรื่องกิเลสเข้าทำงานแทรกตรงนั้นแทรกตรงนี้ แทรกไปหมดอาการความเคลื่อนไหวทุกแง่ทุกมุมของนักบวชนักปฏิบัติ มีแต่เรื่องของกิเลสไปแทรกไปทำงานเสียหมดนี่ซิ เราไม่รู้จะทำยังไง มีงานนั้นมีงานนี้ งานอะไรกัน มีแต่งานกิเลสไปเหยียบหัวพระทั้งนั้นมันจะมีงานอะไร เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรให้มีงาน งานของพระก็คืองานเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา ให้เห็นเรื่องของกิเลสตัวมันสร้างความทุกข์ให้แก่สัตว์และให้แก่หัวใจเรานี่ซิ ให้ดูตรงนี้ ธรรมท่านให้ดูตรงนี้ ท่านไม่ให้ไปยุ่งเหยิงวุ่นวายกับกิจนั้นการนี้อันเป็นเรื่องของโลกเขา ปล่อยให้เขาทำไป เรื่องของพระแล้วมีอย่างนั้น คือเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา ก็ดูซีใน สัลเลขธรรม ๑๐ ประการนั้น ท่านมีอะไรเข้าไปให้กิเลสไปแบ่งสันปันส่วนเอาไหม ไม่มี

สัลเลขธรรม แปลว่าธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส เครื่องซักฟอกจิตใจ เรียกว่าสัลเลขธรรม ได้แก่ อัปปิจฉตา มีความมักน้อยในปัจจัยทั้งหลาย ปัจจัยคือเครื่องอาศัย มีจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัชยาแก้โรคแก้ภัย เหล่านี้ท่านเรียกว่าปัจจัย ๔ เป็นเครื่องหนุนพอยังชีวิตให้เป็นไปอยู่เพื่อบรรเทาบำบัดรักษา อัปปิจฉตา เป็นผู้มักน้อยในสิ่งเหล่านี้ ไม่ให้เป็น มหิจฉตา คือความมักมาก นี่ก็เป็นสัลเลขธรรมข้อหนึ่ง ท่านสนทนากันท่านคุยกันแต่เรื่องความมักน้อย ให้มีความดูดดื่มให้มีความสนใจ ต่างคนต่างให้มีความสนใจใคร่ที่จะเป็นผู้มักน้อย นี่ละท่านเรียกว่า อัปปิจฉตา คือสัลเลขธรรมข้อที่ ๑

ข้อที่ ๒ ถ้าลดลงไปจากนี้ก็ สันตุฏฐี คือยินดีตามที่เกิดที่มีเท่านั้น ไม่ให้โลเลโลกเลกฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมในสิ่งที่ไม่มีไม่เป็นทั้งหลาย ไม่ให้ดิ้นรนในสิ่งไม่มีไม่เป็น พึงใช้พึงสอยพึงขบพึงฉันในสิ่งที่มีอยู่นี้เท่านั้น นี่ก็เป็นขั้นหนึ่ง ขั้นเยี่ยมก็คือ อัปปิจฉตา มักน้อย มีมากเท่าไรไม่สนใจ จะเอาเพียงความน้อยๆ นี้เท่านั้น กินน้อยนอนน้อย เอ้า พูดง่ายๆ ว่าอย่างนี้ ใช้น้อยๆ ไม่ให้ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมในสิ่งทั้งหลายที่จะสั่งสมกิเลสแทรกเข้ามาโดยไม่รู้สึกตัว

วิเวกกตา คือชอบวิเวกสงัด ไม่ชอบคลุกคลีวุ่นวายกับอะไร ชอบในที่สงัด เรียกว่า วิเวกกตา เป็นผู้ชอบในที่สงัด

วิริยารัมภา ประกอบแต่ความพากเพียรอยู่ตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน

อสังสัคคณิกา ไม่คลุกคลีกับใครๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าพระไม่ว่าฆราวาส มีตนเป็นผู้ๆ เดียวกับความเพียรนี้เท่านั้น

นี่ละ สัลเลขธรรม ธรรมเป็นเครื่องรื่นเริงซึ่งกันและกัน เวลาสนทนาธรรมซึ่งกันและกัน ท่านมักจะสนทนาในธรรม ๑๐ ประการนี้ ซึ่งเป็นทางถอดถอนกิเลส ไม่ใช่เป็นทางส่งเสริมกิเลสให้มากมูนขึ้นภายในจิตใจ เพราะปกติมันก็ชอบจะมากมูนอยู่แล้ว หาช่องทางที่จะมากมูนอยู่แล้ว ขึ้นชื่อว่ากิเลสไม่ยอมอ่อนข้อแหละ มันเป็นอย่างนั้น นี่ธรรมเป็นเครื่องปราบกิเลสฟังซิ

พูดถึงเรื่อง ศีล ให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ รักศีลเท่ากับชีวิตของตัวเอง เพราะศีลเป็นคุณค่าเป็นความร่มเย็น เป็นสมบัติของใจของตัวเรา มีคุณค่ามากภายในตัวของเราพยายามรักษาไม่ให้ด่างพร้อยทำลาย ไม่ให้ขาดไม่ให้ทะลุ ให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์อยู่เสมอ

สมาธิ พูดให้มีความพอใจ ให้มีความรักใคร่ ให้มีความสนใจต่อสมาธิ จะเป็นสมาธิขั้นใด สมาธิเพื่อความสงบใจ เพราะตามธรรมดาของใจมีแต่ความฟุ้งซ่านวุ่นวายเนื่องจากกิเลสพาให้ฟุ้ง ธรรมะคือสมาธิธรรมนี้ทำใจให้สงบให้เย็น ท่านจึงพูดถึงเรื่องทำสมาธิให้มีจิตสงบเย็นไปเป็นขั้นๆ ของสมาธิ

ปัญญากถา พูดถึงเรื่องปัญญา ปัญญาก็เป็นปัญญาที่จะฆ่ากิเลส ไม่ใช่ปัญญาที่กิเลสสร้างให้มา แล้วมาห้ำหั่นธรรมให้ฉิบหายไปจากใจเรา แต่เป็นปัญญาเครื่องห้ำหั่นกิเลสต่างหาก ทีนี้เมื่อปัญญามีกำลังมากแล้วก็ วิมุตติ คือหลุดพ้น นอกจากหลุดพ้นแล้วยังมีญาณหยั่งทราบความรู้แจ้งเห็นจริงในความหลุดพ้นของตนด้วย เป็น วิมุตติญาณทัสสนะ

นี่ละธรรม ๑๐ ประการ ท่านกล่าวกันอย่างนี้ทั้งนั้น ท่านไม่ได้กล่าวเรื่องการบ้านการเมือง การได้การเสีย การโลกการสงสารอันเป็นเรื่องของกิเลส งานของพระจึงมีแต่กล่าวในธรรมเหล่านี้ เพื่อการกระทำและเพื่อให้มีแก่จิตแก่ใจจากกันและกันที่เรียกว่าสนทนาธรรม กาเลน ธมฺมสากจฺฉา การสนทนาธรรมะเป็นกาลเป็นเวลา ท่านว่าเป็นมงคลอันสูงสุด ท่านกล่าวไว้ในมงคล ๓๘ การกล่าวธรรมเหล่านี้แลเป็นมงคล จึงเรียกว่าสนทนาธรรม ไม่ใช่สนทนาโลก ไอ้สนทนาโลกก็อย่างโลกเขาพูดกันเขาเป็นกันไปนั่น พระเราสนทนาธรรมสนทนาอย่างนี้เรียกว่า กาเลน ธมฺมสากจฺฉา การสนทนาธรรมตามกาลตามเวลา ธรรมที่สนทนานั้นคืออะไร ท่านก็บอกไว้แล้วว่า สัลเลขธรรม ทั้ง ๑๐ ประเภทนี้แลเป็นธรรมเพื่อสนทนา เป็นธรรมเครื่องรื่นเริงบันเทิงแก่กันและกัน ได้ประโยชน์และเป็นสิริมงคลแก่กัน นั่นท่านสอนอย่างนี้

เพราะฉะนั้นงานของพระเรา ที่จะให้เห็นผลประจักษ์ตามหลักธรรมที่ทรงสอนไว้ จึงเป็นงานเพื่อแก้กิเลสนี้เท่านั้น เป็นสำคัญมากยิ่งกว่างานอื่นใด เราอย่าเข้าใจว่างานนั้นเด่นงานนี้ดีนะ ไม่มีงานใดเด่นไม่มีงานใดดี ถ้ากิเลสไม่หลุดลอยออกไปเพราะงานนั้น ถ้างานใดกิเลสหลุดลอยออกไป จิตมีความสงบร่มเย็น นั่นแหละงานนั้นแหละดี ถ้างานใดเป็นเครื่องสั่งสมกิเลสให้มีกำลังมากขึ้นไปให้มันสังหารเรา งานนั้นคืองานที่เลวที่สุด กิเลสพาเลวนี่จะว่าไง กิเลสพาคนให้ดีเมื่อไร กิเลสพาเลว แล้วความเลวของกิเลสมันเอาอะไรมา ก็เอากองทุกข์มาให้ละซี สุดท้ายก็เป็นมหันตทุกข์ นี่เหรอดี ให้คำนึงถึงเสมอเรื่องการเรื่องงานของเราที่คิดที่ทำที่พูดออกมา เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เราและผู้เกี่ยวข้องมากน้อยเพียงไร หรือเป็นแต่ความเสื่อมเสียแก่กันและกันเพราะการสนทนาพูดไม่เป็นอรรถเป็นธรรม กลับกลายเป็นเรื่องของกิเลสพอกพูนหัวใจ และสังหารจิตใจไปทั้งสองฝ่ายที่สนทนากันไปเสีย ได้ประโยชน์อะไร นี่ละงานของพระท่านว่าให้เป็นอย่างนี้

ครั้งพุทธกาลท่านเป็นอย่างนั้นนี่นะ ในตำรับตำรามี เรื่องการก่อการสร้างอะไร เห็นแต่พระโมคคัลลาน์ ที่พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งให้ไปคอยดูแลนางวิสาขาสร้างบุพพารามขึ้นมา ฉลองหมดเงินถึง ๒๗ โกฏิ นั่นให้พระโมคคัลลาน์เป็นผู้ไปคอยดูแล เพราะพระโมคคัลลาน์เป็นผู้เชี่ยวชาญทางการก่อการสร้างอะไร แล้วทีนี้พระโมคคัลลาน์ท่านเป็นพระอะไรล่ะ ในตำรับตำราก็แสดงไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า พระโมคคัลลาน์นี้อุปสมบทไปอยู่ในสำนักของพระพุทธเจ้าแล้วเพียง ๗ วันเท่านั้นได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา

พระโมคคัลลาน์ท่านเป็นพระอรหัตบุคคลท่านจะมีอะไรเสีย ลงถึงขั้นอรหัตบุคคลแล้วมีอะไรเสีย ท่านจะทราบทุกสิ่งทุกอย่างในแง่หนักเบาในการก่อสร้าง ขนาดใดพอดีไม่พอดีท่านทราบหมด นั่นท่านให้ช่างเขาทำ ท่านเป็นเพียงผู้ไปคอยแนะนำไปคอยดูแลเท่านั้นตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่ง พูดถึงพระพุทธเจ้าใครเลิศยิ่งกว่าพระองค์ล่ะ ทำไมจะทรงสั่งพระโมคคัลลาน์ไปให้ฉิบหายล่มจมมีเหรอ พระโมคคัลลาน์ก็เป็นพระอรหันต์ด้วยแล้วจะเอาอะไรมาฉิบหายล่มจม อย่างนั้นละครั้งพุทธกาล ท่านทำอะไรท่านมีเหตุมีผลอย่างนั้นนี่นะ ไอ้พวกเรานี้ฟาดกันลงไปๆ อยากให้เขาออกชื่อลือนามว่าโด่งว่าดัง ว่ามีฤทธาศักดานุภาพมาก เก่งทางนั้นเก่งทางนี้ มันเก่งทางบ้านั่นซิไม่ได้คำนึง

ถ้าเก่งจริงๆ ก็ฟาดกิเลสให้พังลงไปในหัวใจนี่ซิ เอ๊า ถ้ากิเลสพังแล้วไปอยู่ไหนอยู่เถอะ หาความทุกข์ไม่ได้ละน่ะ เอาให้มันเห็นซี ทำไมจะไม่เห็น กิเลสอยู่ในหัวใจของทุกคน มันสร้างทุกข์ให้กับเรามากมายขนาดไหนเรารู้กันอยู่ทุกคน อะไรมาสร้าง ธรรมมาสร้างทุกข์ให้เราเมื่อไรที่ไหน มีแต่กิเลสทั้งนั้น เราฟาดกิเลสให้พังลงไปจนไม่มีอะไรเหลือแล้ว อะไรจะมาสร้างทุกข์ให้เรา เมื่อเป็นเช่นนั้นอยู่ไหนมันสบายหมดนี่ ไม่ไปหากาลสถานที่เวล่ำเวลาให้ลำบากลำบน อยู่ไหนอยู่สบาย แม้แต่ตายก็ไม่ได้กำหนดว่าจะตายเวลาเท่าไรๆ ความทุกข์ความลำบากจะมีมายังไงๆ เวลาตายแล้วจะไปเกิดที่ไหนเป็นยังไงๆ ไม่ทั้งนั้นแหละ ขอให้หัวใจเต็มด้วยอรรถด้วยธรรมเถอะ มันพออยู่นั้นหมด เมื่อพอแล้วจะไปยุ่งหาอะไรล่ะ การเกิดการตายยุ่งหาอะไร แล้วไปเกิดที่ไหนตายที่ไหน สุขที่ไหนทุกข์ที่ไหนยุ่งหาอะไร มันพออยู่ในหัวใจนี้แล้ว นี่ละการปฏิบัติให้เป็นอย่างนี้ซิ

มีแต่งานแต่การไปที่ไหน งานบ้าอะไรก็ไม่รู้ การก่อการสร้างสุดสายหูสายตา อู๊ย มันสร้างอะไร เอาเงินเหล่านั้นมาช่วยโลกช่วยสงสารยังจะเป็นประโยชน์มากยิ่งกว่าจะไปสร้างวัตถุเอาไว้เฉยๆ เพื่ออวดโลกอวดสงสาร ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยได้ทำประโยชน์อะไรเท่าที่ควรแหละหากสร้าง อยากให้เขาว่าตัวเก่งตัวมีฤทธาศักดานุภาพมีคนเคารพนับถือมาก ให้มันเด่นในหัวใจซี ใครเคารพไม่เคารพก็ช่างเถอะ เอากิเลสให้มันพังในหัวใจนี้แล้ว อยู่ไหนก็อยู่เถอะน่ะ ไม่ต้องการละไอ้ใครจะมาเคารพนับถือไม่เคารพนับถือ เขาเคารพก็อยู่ในหัวใจของเขา เขาไม่เคารพก็อยู่ในหัวใจของเขา เราเป็นผู้พอแล้วไม่อาจไม่เอื้อม ไม่ไปขอแบ่งสันปันส่วนเอาจากใครทั้งความนินทาและความสรรเสริญ แน่ะ โลกธรรมทั้ง ๘ เป็นเรื่องสมบัติของโลก สมบัติของธรรมจริงๆ แล้วมีแต่ธรรมสมบัติ คือความบริสุทธิ์พอตัวเท่านั้น แสนสบายไม่มีอะไรมายุ่ง ให้ปฏิบัติอย่างนั้นซินักปฏิบัติ

อย่าไปดิ้นรนกระวนกระวายนะ เรื่องโลกเรื่องกิเลสมันเร็วที่สุดก็เคยพูดอยู่แล้วเอ้า ฟัดกันลงไปซี ถ้าอยากรู้กิเลสเก่งขนาดไหน เมื่อธรรมเก่งเข้าไปแล้วมันก็รู้มันก็ทันกัน ถ้าธรรมไม่เก่งแล้วมีแต่กิเลสเหยียบหัวๆ เลยไม่รู้ว่ากิเลสเก่งหรือไม่เก่ง จนกระทั่งตายทิ้งเปล่าๆ ก็ไม่มีโอกาสจะทราบว่ากิเลสเก่งขนาดไหน แหลมคมเพียงไร แต่เมื่อมีธรรมให้ถึงจิตถึงใจแล้ว ฟัดกันลงไปนี้มันรู้ๆ ทำไมจะไม่รู้ พระพุทธเจ้าวิเศษเพราะอะไร ก็วิเศษเพราะธรรม ทำไมธรรมประสิทธิ์ประสาทให้โลกเพื่อความรู้แจ้งแทงทะลุ เพื่อความเฉลียวฉลาด ทำไมจะโง่พวกเรา ถ้าเรายังสนใจในอรรถในธรรมอยู่ทำไมจะโง่วะ พระพุทธเจ้าไม่ใช่ศาสดาองค์โง่ สาวกทั้งหลายไม่ใช่สาวกองค์โง่นี่ พอที่จะสอนคนให้โง่ แล้วนี่พวกเราเป็นยังไง ปฏิบัติไปเท่าไรมันยิ่งโง่ลงทุกวันๆ มันเพราะอะไร

ไม่ใช่เอากิเลสมาแบกอยู่ตลอดเวลาเหรอ มันถึงได้โง่มันถึงได้ทุกข์ สิ่งที่เราแบกมันคืออะไร เรารู้ไหมล่ะ กิเลสเป็นยังไง ดังที่พูดมาตะกี้นี้ ยุ่งนั้นยุ่งนี้ ขัดต่อหลักธรรมที่ท่านสอนเอาไว้ ให้ อัปปิจฉตา มักน้อยก็มักมากเสีย แน่ะ หาความเพียงพอไม่ได้ หาประมาณไม่ได้ หาเหตุหาผลไม่ได้ ทำอะไรหาเหตุหาผลไม่ได้ จะจัดว่าเป็นคนฉลาดได้ยังไง คนฉลาดต้องมีเหตุมีผลทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าข้างนอกข้างในเป็นไปด้วยเหตุด้วยผลทุกสิ่งทุกอย่างนั่นซีจึงจะมาแก้กิเลสได้ การแก้กิเลสไม่มีเหตุมีผลแก้ไม่ได้นะ พิจารณาซิ

เวลานี้มันเป็นไปอย่างดื้อๆ ด้านๆ นะ นี้ละสำคัญมาก ถ้าไม่รู้ก็ไม่ว่าละ แต่มันดื้อทั้งรู้ๆ อยู่นั้นน่ะมันจะแก้กันได้ยังไง เพราะว่าโรคมันดื้อยา อันนี้ละสำคัญมากที่สุด มันอยู่ในหัวใจเรานี่ กิเลสดื้อธรรมไม่ยอมฟังเสียงธรรมเลย ถ้าเป็นเรื่องของกิเลสแล้วถึงไหนถึงกัน ถึงจะเลวทรามขนาดไหนก็ปั้นยอขึ้นมาว่าเป็นของดีๆ นั่นเห็นไหมกิเลสแหลมคมไหม ก็รู้กันแล้วว่ามันไม่ดี ทำไมเราจึงยอมรับมันว่าดี ถ้าเราไม่โง่ยิ่งกว่าโง่ไปแล้ว ของจริงมีอยู่ ดีก็รู้กันอยู่ ชั่วก็รู้กันอยู่ มีอยู่เป็นเครื่องแข่งกันอยู่ทั้งโลกนี่ ธรรมก็มีโลกก็มี นั่นฟังซิ กิเลสก็มีธรรมก็มี ทำไมจึงจะเอามาฟัดมาเหวี่ยงมาเทียบมาเคียงกันไม่ได้ ดังที่เคยพูดแล้ว ธนบัตรปลอมกับธนบัตรจริงต่างอันต่างเป็นเครื่องยันกันอยู่นี่ ทำไมจะไม่รู้ถ้าไม่ใช่หน้าด้านเสียเท่านั้น ให้พากันปฏิบัติซิ

นี่มันทุเรศละนะ อะไรๆ มีแต่เรื่องเป็นแบบโลกกันไปหมด ไม่เป็นแบบธรรมพอให้ชื่นตาชื่นใจชื่นหู หูฟังก็ชื่นใจ ตาเห็นก็ชื่นใจ คือมันเข้าสู่ใจๆ ไม่ขวางใจ ถ้าเราทำอะไรไม่ขวางใจเราแล้วมันก็ไม่ขวางใจคนอื่น ให้สังเกตเราเถอะ อย่าไปสังเกตอะไรมากยิ่งกว่าสังเกตตัวเอง กิเลสอยู่ที่ตัวเองนั่นแหละ มันจะพาให้เคลื่อนไหวอะไรมันออกก่อนเพื่อนนะ ธรรมยังไม่ได้ออกเลย กิเลสออกก่อนๆ เมื่อเวลามันยังมีอำนาจหรือเวลามันมีอำนาจเป็นอย่างนั้น ต่อเมื่อธรรมได้มีอำนาจแล้วถึงได้รู้กันทันกันๆ

ทีนี้เมื่อเวลากิเลสถูกสังหารลงหมดแล้ว อะไรจะมาแสดงที่นี่ นั่นละที่ว่าบรมสุขๆ ปรมํ สุขํ ปรมํ สุขํ ไม่ต้องถามก็รู้กันเอง อะไรเป็น ปรมํ ทุกฺขํ ทุกวันนี้น่ะในหัวใจ ก็กิเลสนี่เองเป็นผู้สร้าง ปรมํ ทุกฺขํ ขึ้นมา และธรรมเป็นผู้สร้าง ปรมํ สุขํ ขึ้นมาในหัวใจดวงเดียวกัน ตั้งแต่กิเลสบีบบังคับเราให้เกิดความทุกข์มากน้อยเพียงไรเรายังรู้ความรู้อันนี้มันปิดบังเมื่อไร แล้วทำไมเมื่อเราสร้างความดีขึ้นมาจนกระทั่งถึง ปรมํ สุขํ ทำไมจะไม่รู้ล่ะ ใครฉลาดยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าในโลกอันนี้ พระพุทธเจ้าเป็นองค์ศาสดาแท้ๆ ทรงสอนพวกเราให้ฉลาดทำไมมันจะโง่ ไม่รู้ถึงขนาดว่าสุขทุกข์เป็นยังไง ก็มีแต่คนตายเท่านั้นซิที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย

ท่านว่าศาสนาเสื่อมๆ ดูๆ ในหัวใจเรานี้อย่าไปดูที่อื่นนะ อันนั้นเป็นอันดับต่อไป ให้สังเกตดูตัวเอง วันนี้ตื่นขึ้นมาเป็นยังไง เอ้า ดูตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งถึงหลับมันเป็นยังไงจิตของเรา ดูศาสนาเสื่อมศาสนาเจริญดูที่จิตของเรา ถ้าศาสนาเสื่อมคือกิเลสมันเจริญนั่นเอง ถ้าศาสนาเจริญคือกิเลสมันเสื่อมในขณะนั้น เอ้า ฟัดกันลงไปให้มันรู้ซิ ถ้าเรามีเล่ห์มีอุบายมีความเฉลียวฉลาดแหลมคม มีกำลังวังชามากกว่ากิเลส กิเลสมันก็เสื่อม ธรรมก็เจริญ ความสงบใจของเราก็เจริญ สมาธิก็เจริญ ปัญญาก็เจริญขึ้นที่ใจ วันนี้เวลานี้เป็นยังไง ดูตัวเองนี่เป็นยังไงและวันหน้ามันจะเป็นยังไงอีก วันหน้าปีหน้ามันเอาอะไรมาเป็น มันมีแต่มืดกับแจ้งๆ แต่กิเลสกับธรรมมันหมุนกันอยู่ภายในจิตใจนี้ ดูตรงนี้ดูให้เห็นกิเลสเสื่อมหรือธรรมเสื่อม เวลานี้เป็นยังไง เราเดินจงกรมอยู่นั้นเราเดินสร้างกิเลสหรือเดินสร้างธรรม ดูเจ้าของนั่นซินักปฏิบัติ อย่าไปดูที่อื่น ย้อนเข้ามาๆ ให้ทันกันกับกิเลสนี่นะ

ท่านทั้งหลายให้จำไว้นะคำพูดเหล่านี้ การปฏิบัติธรรมเมื่อถึงกาลที่จะรู้แล้วอย่างไรจะต้องกังวานในหัวใจ ท่านทั้งหลายจำไว้ให้ดี ผมตายแล้วก็ตามเถอะน่ะ เพราะผมไม่ได้เอาอะไรมาโกหกท่านทั้งหลาย ผมพูดด้วยความเต็มหัวใจได้เอามาพูด โง่แสนโง่ผมก็ได้เคยพูดให้หมู่เพื่อนฟัง เมื่อเวลาฟัดกันเป็นยังไงจนกระทั่งถึงมันพังกันยังไงก็ได้พูดให้ฟังหมดแล้ว ผมเอาอะไรมาโกหกท่านทั้งหลายวะ ผมพูดด้วยความเมตตาสงสารเต็มหัวใจแท้ๆ นี่ จึงได้ทนเอา ทุกข์ยากลำบากผมก็ทน ก็เพราะหัวใจแต่ละดวงๆ นี้ เราเทียบหัวใจเราเวลาเสาะแสวงหาครูหาอาจารย์ โอ๋ย หัวใจมันจะขาดจะพังโน่นน่ะ ไปหาท่านไม่อยากได้ยินคำว่าท่านไม่รับๆ มันขนาดนั้นนะ เหมือนขั้วหัวตับหัวปอดนี้จะขาดพังทลายนั่นน่ะ มันไม่อยากได้ยิน อันนี้ก็เหมือนกัน จึงได้อุตส่าห์พยายามแนะนำสั่งสอน

จะเอาอะไรมาโอ้มาอวดหมู่เพื่อน มาอวดหาอะไร ความจริงมียังไงก็ว่าไปตามหลักความจริงซิ ศาสนาเป็นศาสนา ความจริงไม่ใช่ศาสนาโอ้อวด พระพุทธเจ้าไม่ใช่เป็นผู้โอ้อวด เป็นผู้ทรงความจริงไว้ พระสงฆ์สาวกทรงความจริงไว้ พระธรรมคือความจริงล้วนๆ ผู้ปฏิบัติธรรมถ้ารู้เห็นตามนั้นแล้วจะเอาความโอ้อวดมาจากไหน ก็มีแต่ความจริงล้วนๆ ละซี

มันจะไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร ดูแต่นอกๆ ศาสนาเสื่อมศาสนาเจริญ เจ้าของเสื่อมเจ้าของเจริญจากธรรมทั้งหลาย เพราะกิเลสมันย่ำยีตีแหลกไม่ดู ดูตรงนี้ซี เอ้า ถ้าวันนี้มันเสื่อม เอ๊า ขยับใหม่ หาอุบายพลิกใหม่แก้ใหม่ เอากันอยู่นี่ เวลาต่อสู้กับมันต้องมีเล่ห์มีเหลี่ยมกัน ระหว่างกิเลสกับธรรมต้องมี ไม่มีแล้วให้เขาเหยียบเอาๆ ตายนะ ไม่มีอะไรเหลือเลย เอ้า แก้หมัดกันซีนักปฏิบัติ ก็เหมือนกันกับนักมวย แพ้เขาตรงไหนๆ ต้องแก้หมัดกันแก้เพลงมวยกัน ไม่อย่างนั้นแก้ไม่ตกแล้วเสร็จ ดีไม่ดีถูกน็อก นี่ก็เหมือนกัน แก้ไม่ตกแล้วเสร็จถูกน็อก ตายทั้งเป็นมีเหลืออะไร

เอาให้กิเลสถูกน็อกซีมันถึงได้สง่าผ่าเผย หัวใจเรานี้เต็มไปด้วยอรรถด้วยธรรมแล้วสง่าผ่าเผย ไม่มีคำว่าสะทกสะท้าน จึงว่าไม่มีกาลหน้ากาลหลัง ไม่มีอดีตอนาคต แม้ปัจจุบันก็เต็มหัวใจแล้วว่าเมืองพอคืออะไร คือใจดวงที่พอตัวทุกสิ่งทุกอย่างแล้วไม่ต้องการอะไรทั้งนั้น นี่เต็มหัวใจอันนี้จะว่าไง ให้มันเห็นตรงนี้ซิ นี่ถ้าแก้ไม้มวยของกิเลสเสร็จแล้วก็เป็นอย่างนี้ กิเลสถูกน็อกแล้วเสร็จ ไปไหนก็ไปเถอะไม่ต้องว่าละ ตั้งกัปตั้งกัลป์ อนันตร หาระหว่างที่ไหน อกาลิโก กาลเวล่ำเวลาเข้าไปทำลายได้ยังไง ไปเกี่ยวข้องได้ยังไงเมื่อถึงกาลนั้นแล้ว ท่านถึงบอกว่านิพพานเที่ยง ๆ ท่านก็ว่ากันไปอย่างนั้น ส่วนผู้ที่รู้ไม่จำเป็นจะต้องบอกท่านก็รู้เอง

เอาละพอ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก