กิเลสแท้ ธรรมแท้
วันที่ 5 กันยายน 2530 เวลา 19:00 น. ความยาว 92.28 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๓๐

กิเลสแท้ ธรรมแท้

ผู้มาศึกษาให้พากันตั้งใจจริงๆ สมกับมาศึกษา ข้อวัตรปฏิบัติที่ครูอาจารย์ได้พาดำเนินมาอย่างใด ให้ยึดไว้เป็นหลักเป็นเกณฑ์เพื่อการปฏิบัติต่อไป เมื่อพลัดพรากจากครูจากอาจารย์ไปแล้ว ให้มีหลักเกณฑ์เป็นเครื่องยึดเครื่องอาศัย อย่าให้ล้มเหลวไปเสียหมด และทั้งๆ ที่ครูบาอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ได้ศึกษาอยู่ก็ล้มเหลวไป ยิ่งครูบาอาจารย์พลัดพรากจากไปแล้วก็ยิ่งหาที่ยึดที่เกาะไม่ได้เลย ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วผลที่จะพึงหวังก็ไม่มีแหละ เพราะปฏิปทาเครื่องดำเนินนี้คือทางเดินเข้าสู่อรรถสู่ธรรมทั้งนั้น ตั้งแต่พื้นๆ แห่งธรรมจนกระทั่งถึงยอดแห่งธรรม ดังที่พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นพาดำเนินมา นั่นละ ผู้ที่ยึดได้เป็นหลักเป็นหลักเกณฑ์ก็มีเพียงเล็กน้อย นอกจากนั้นอยากจะพูดว่าล้มเหลวไปๆ ประหนึ่งว่าไม่เคยได้มาศึกษาอบรมอยู่กับท่านเลย นี่ละมันเป็นไปต่อหน้าต่อตาอย่างนี้

การปฏิบัติถ้าไม่มีหลักที่ถูกต้องเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวเกี่ยวเกาะแล้ว เพียงลำพังความอยากเฉยๆ นั้นไม่มีความหมายอันใดเลย ไม่สำเร็จประโยชน์ ปฏิปทาเครื่องดำเนินที่ครูอาจารย์พาดำเนินมานั้นละเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะท่านเองก็เห็นผลประจักษ์มาแล้วจากพระโอวาทคำสั่งสอนที่ทรงพาดำเนินมา พวกเราที่ไม่สามารถจะดำเนินโดยลำพังก็ต้องอาศัยครูอาจารย์เป็นเครื่องยึด เพราะเรื่องของธรรมไม่เหมือนทั่วๆ ไป เป็นเรื่องที่ละเอียดสุขุมมากทีเดียว การเรียนการจดจำตามคัมภีร์ใบลานนั้นเป็นคำบอกเล่า สำหรับผู้เรียนก็กลายเป็นคำบอกเล่าไป ไม่ถึงใจเหมือนเราปฏิบัติและรู้เห็นขึ้นมาภายในจิตใจของเราเอง นี่ไม่ใช่ภาคจดจำ ไม่ใช่การบอกเล่า แต่เป็นสิ่งที่รู้จริงๆ เห็นจริงๆ ไม่ว่ากิเลสไม่ว่าธรรม รู้จริงๆ เห็นจริงๆ ว่าละก็ละได้จริงๆ และท่านนำมาสอนพวกเรา สอนด้วยความจริงไม่ใช่สอนด้วยความจำ นี่คือธรรมสมบัติของท่านโดยตรงแล้ว

เบื้องต้นก็อาศัยการศึกษาเล่าเรียน การได้ยินได้ฟังจากครูจากอาจารย์พอเป็นแนวทางเสียก่อน แม้จะเป็นภาคจดจำก็หนีไม่พ้น เพราะเป็นความจำเป็นในภาคนี้ ซึ่งเรายังไม่สามารถจะดำเนินจนเห็นผลขึ้นมาเป็นสมบัติของเราได้ ในขั้นเริ่มแรกจึงต้องอาศัยครูอาศัยอาจารย์ อาศัยตำรับตำราเป็นเครื่องยึดและดำเนินตามนั้น คำว่าธรรมถ้ายังไม่ได้ปฏิบัติก่อนก็ไม่ทราบ ความลึกตื้นหยาบละเอียดทั้งของธรรมและของกิเลสทั้งหลาย ต่อเมื่อได้ดำเนินด้วยเราเองนั้นแหละถึงจะทราบได้ว่า เป็นความลึกตื้นหนาบางขนาดไหน และต้องได้ต่อสู้กำจัดกันด้วยวิธีการต่างๆ ไปโดยลำดับ นั้นแลเราถึงจะทราบได้ในเรื่องกิเลสและธรรมว่า เป็นความสลับซับซ้อนเกี่ยวพันกันอย่างไรบ้าง

ลำพังความจำของเรานี้ ว่ากิเลสมันก็เป็นประเภทหนึ่ง ว่าธรรมก็เป็นประเภทหนึ่ง ในความรู้สึกของเราเหมือนกิเลสกับธรรมไม่ได้อยู่ด้วยกัน ไม่ได้คละเคล้ากันเลย เป็นประหนึ่งว่าอยู่คนละแผนกๆ อยู่คนละแห่งละหน ถ้าจะแก้กิเลสก็ไปแก้จุดนั้น ถ้าต้องการธรรมก็มายึดจุดนี้ เป็นลักษณะอย่างนั้นในการเรียนมา ฟังแต่เราพูดขึ้นก็พากันเข้าใจดีแล้วมิใช่หรือ ว่ากิเลสนั่น เหมือนอย่างว่ากิเลสนี้เป็นกองพะเนินเทินทึกอยู่แห่งหนึ่ง คำว่าธรรมก็อีกเหมือนกัน เหมือนว่ากองแห่งธรรมอยู่กองหนึ่ง กองกิเลสอยู่กองหนึ่ง หยิบได้ง่ายดาย ฆ่าได้สะดวกสบาย ธรรมก็ยึดได้อย่างสะดวกสบายอย่างนี้ ถ้าเป็นไปตามคำพูดที่เราสำคัญมั่นหมายแล้วจะเป็นอย่างนั้น

แต่เวลาปฏิบัติกันจริงๆ แล้ว ไม่ทราบว่ากิเลสและธรรมเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งที่อยู่ในหัวใจดวงเดียวกันนี้ไม่อยู่ที่อื่น กิเลสแท้ธรรมแท้เกิดได้ที่ใจ อยู่ได้ที่ใจ สัมผัสได้ที่ใจเท่านั้น และก็ไม่ทราบด้วยว่ากิเลสอยู่จุดไหน ธรรมะอยู่จุดไหน เราจะแยกแยะทั้งสองประเภทนี้ออกได้อย่างไร นี่จึงเป็นการยาก ต้องได้อาศัยอุบายวิธีการต่างๆ จากอรรถจากธรรมตำรับตำรา และครูอาจารย์คอยแนะนำสั่งสอนให้รู้วิธี เช่น แยกความฟุ้งซ่านเข้าสู่ความสงบอย่างนี้ จะทำอย่างไรใจจึงจะไม่ฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านนั้นเราก็ไม่ทราบด้วยว่าเป็นกิเลสทั้งๆ ที่มันเป็นกิเลส ร้อยทั้งร้อยเป็นกิเลสทั้งนั้น นี่แหละมันลำบากอย่างนี้

ทีนี้คำว่าความสงบ เราเห็นได้เพียงตำรับตำราและจากครูอาจารย์ที่สอนไว้เท่านั้น ทั้งๆ ที่ใจของเราไม่ได้สงบ เราก็ไม่ทราบว่าความสงบนั้นเป็นอย่างไร ทราบแต่ความฟุ้งซ่าน ในความฟุ้งซ่านนั้นเราก็ไม่ทราบว่าเป็นเรื่องกิเลสตัณหาอาสวะประเภทใดบ้าง เราก็ถือว่าเราวุ่นวายเราฟุ้งซ่าน เราไม่สบายเสียเพียงเท่านั้น โดยจะหาวิธีการแยกแยะตน จากความวุ่นวายด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งแห่งธรรมทั้งหลายเราก็ไม่ทราบได้ อย่างนี้เองจึงเป็นความลำบาก

เพียงแต่ขั้นสงบเท่านั้นลำบากไหมท่านผู้ปฏิบัติทั้งหลาย อันนี้ไม่ต้องถามกันเพราะจิตมันหาความสงบไม่ได้ทั้งวันทั้งคืน ไม่มีความอิ่มพอในความฟุ้งซ่านรำคาญ เนื่องจากกิเลสไม่เคยมีเมืองพอที่จะทำเราให้ได้พักผ่อนสบายๆ หรือว่าพักเครื่องเหมือนรถเหมือนรา แต่มันจะหมุนไปโดยลำดับลำดาตามหลักธรรมชาติของมันอยู่เช่นนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นจิตจะหาความสงบสบายได้อย่างไร นอกจากไปสุดขีดสุดแดนไปเต็มที่เต็มฐานจนสิ้นความสามารถแล้วก็อยู่ชั่วระยะเท่านั้น จากนั้นก็หาอารมณ์ใหม่ขึ้นมายุ่งวุ่นวายอยู่ตลอดไปอีกเช่นนี้ สืบหน่อต่อเนื่องกันไปด้วยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องหรือเป็นกิ่งเป็นแขนงของกิเลสทั้งมวลไม่ใช่เรื่องของธรรมเลย จึงไม่พาผู้ใดให้มีความร่มเย็นเพราะการคิดมากแล้ว นั่น

คำว่าความสงบก็เกิดไม่ได้มีไม่ได้ทั้งๆ ที่จำได้เต็มหัวใจ ฟังได้เต็มหูลงถึงใจเต็มหัวใจ แต่ความสงบในใจก็มีไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ก้าวเข้าสู่ภาคปฏิบัติเพื่อกำจัดความวุ่นวายทั้งหลายด้วยธรรมแง่ใดหรือธรรมบทใดก่อน ด้วยเหตุนี้จึงต้องได้แยกแยะจึงต้องได้สอนกัน ท่านจึงเรียกว่าสมถวิปัสสนา สมถะคือความสงบใจ เมื่อสงบแล้วใจย่อมสบาย ผิดกับความวุ่นวาย มีมากน้อยเพียงไรยิ่งเพิ่มทุกข์ให้มากน้อยเพียงนั้นเป็นไหนๆ นี่ละการปฏิบัติมันยากอย่างนี้

ที่นี่เราจะพยายามทำใจให้สงบ ท่านก็สอนวิธีการแห่งสมถธรรมให้ เช่นใช้คำบริกรรมเป็นเครื่องกำกับใจ ถ้าใจไม่มีเครื่องกำกับใจไม่มีเครื่องยึดแล้ว จะไปยึดสิ่งที่เป็นฟืนเป็นไฟอันเป็นเรื่องของกิเลสดังที่เคยเป็นมาไม่หยุดไม่ถอยอีกแหละ และจะก่อเรื่องราวขึ้นมาเรื่อยๆ จึงต้องได้ใช้คำบริกรรมให้จิตยึดอยู่ในจุดนั้น เพราะจิตทำงานหน้าที่เดียว ในขณะที่ทำงานกับอะไรอยู่ย่อมเป็นการทำงานกับสิ่งนั้น เมื่อปล่อยสิ่งนั้นแล้วจึงจะไปยึดที่อื่นทำงานกับสิ่งอื่น ในขณะที่กำหนดภาวนาหรือบริกรรมในธรรมบทใดอยู่ ด้วยความมีสติบังคับบัญชาจิตใจไว้กับงานนั้นๆ เมื่อสืบต่อกันอยู่โดยลำดับลำดาก็จะปรากฏเป็นความสงบขึ้นมา ความรู้ก็จะค่อยเด่นขึ้นกับคำบริกรรมอันเป็นที่ยึดของความรู้นั้น เมื่อยึดไปนานๆ บริกรรมไปนานๆ รักษาไว้ด้วยสติ ความรู้ที่ว่าใจๆ นั้นแหละจะค่อยเด่นขึ้นภายในจุดแห่งคำบริกรรมนั้น

เมื่อปรากฏเป็นความสงบเด่นขึ้นมาแล้ว คำบริกรรมก็จะค่อยละเอียดเข้าไปๆ เพราะความรู้เด่นขึ้นๆ จนกระทั่งความรู้กับคำบริกรรมกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน จะบริกรรมก็ได้จะไม่บริกรรมก็ได้ เพราะความรู้นั้นเด่นอยู่แล้ว นี่เรียกว่าจิตสงบเมื่อจิตสงบแล้วก็ให้อยู่กับความรู้ที่สงบนั้นด้วยความมีสติ อันนี้มีอยู่ ๒ ภาคนะคำว่าสงบ แต่เพียง ๕% เท่านั้นที่แปลกจากที่กล่าวมานี้ เช่นสงบรวมพับลงไปทีเดียวถึงจุดแห่งความสงบเลย นั่นเป็นประเภทหนึ่ง แต่มีน้อยมากสำหรับผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ถ้าจะเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วก็ ๙๕% มักจะค่อยสงบเข้าไปดังที่กล่าวนี้

เมื่อจิตสงบเย็นลงไปเป็นจุดที่เด่นชัด จิตก็ให้รู้อยู่กับความรู้อันนั้น มีสติควบคุมอยู่นั้น เมื่อไม่สะดวกที่จะบริกรรมเพราะเป็นความละเอียดพอๆ กันกับใจ ในบรรดาคำบริกรรมที่เรานำมาบริกรรมนั้น ก็ให้กำหนดความรู้นั้นไว้เสีย เพราะเป็นที่ยึดที่เกาะได้แล้วในความรู้นั้น ไม่เหมือนแต่ก่อนที่ความรู้นี้ซ่านไปหมด หาที่ยึดที่เกาะไม่ได้ จึงต้องอาศัยคำบริกรรมมาเป็นที่เกาะ จนรวมตัวขึ้นเป็นความรู้เด่นชัดแล้วอยู่ในจุดนั้นเสีย ที่นี่เป็นสมถะแล้ว เริ่มสงบเย็น เมื่อใจสงบใจย่อมเย็น

คำว่าสงบนี้มีหลายลักษณะหรือมีหลายขั้น สงบอย่างละเอียดแนบแน่นจริงๆ ก็มี ประหนึ่งว่าขาดหมดจากการปรุงแต่งทั้งหลาย เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ จนกระทั่งเจ้าของก็ตื่นเต้นในความเป็นของตัวเอง ซึ่งก็เป็นการปลุกความสงบนั้นให้ตื่นตัวขึ้นมาได้ ด้วยความตื่นเต้นด้วยความดีใจนั้นเอง แต่มันเป็นไปเองจะทำอย่างไรได้ เพราะเราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นจิตประเภทนี้ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับอารมณ์อะไรๆ จนหาที่ยึดที่เกาะว่าอะไรดีอะไรชั่วอะไรผิดอะไรถูกไม่ได้ เพราะเต็มไปด้วยอารมณ์ แต่แล้วกลับย้อนตัวเข้ามาสู่ความเป็นอันเดียวคือรู้เด่นชัด ปราศจากสิ่งก่อกวนทั้งหลาย ไม่มีอะไรมาปรุงมาแต่งจิตใจเลย ประหนึ่งว่าขาดสะบั้นไปหมดในขณะนั้นก็มี ในวงสมาธิเท่านั้นนะไม่ใช่วงวิปัสสนาก็เป็นได้อย่างนี้

แต่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายอย่าได้ยึดถือเอาเป็นอารมณ์ จะเป็นการก่อกวนในการงานของตน หากจะเป็นขึ้นด้วยวิธีการใดก็จะทราบจากผลของตนที่ปฏิบัติเองตามนิสัยนั้นแล อันนี้เป็นนิสัยอันหนึ่งต่างหากที่กล่าวนี้ แม้ผมเองก็เคยเป็นมาแล้ว จึงได้พูดอย่างเต็มปาก พูดง่ายๆ นะเคยเป็นแล้วประเภทนี้ แล้วก็ตื่นเต้นดีอกดีใจเพราะไม่เคยเป็นตั้งแต่เกิดมาพูดง่ายๆ เวลารวมเข้าไปๆ สงบเข้าไปๆ จนกระทั่งขาดไปหมดจากสิ่งทั้งหลาย เหลือแต่ความรู้ที่เหมือนกับว่าเป็นเกาะอยู่ในแม่น้ำมหาสมุทรนั่นแหละ เป็นเกาะเด่นชัดอยู่นั้นไม่เกี่ยวเกาะกับอะไรเลย

ทีนี้ความเด่นชัดของความรู้ที่อยู่โดยลำพังนั้น ไม่ใช่เด่นชัดอยู่เพียงธรรมดา ยังแสดงความแปลกประหลาด แสดงความอัศจรรย์ขึ้นมา เป็นประหนึ่งว่าโลดโผนจนถึงกับเจ้าของตื่นเต้นและดีใจ สุดท้ายความตื่นเต้นความดีใจนี้เลยไปกระตุกความสงบนั้นให้กระจายตัวออกมาเสีย เลยทำให้เสียดายเอาเสียจน…..แหม เสียดายจริงๆ ไม่เคยเห็น นี่อย่างนี้ก็มี แต่ผู้ปฏิบัติอย่าได้ยึดเป็นอารมณ์ ให้ถือเป็นนิสัยของตน หากจะเป็นเช่นนั้นก็ให้เป็นขึ้นมาเอง อย่าคาดอย่าหมาย ไม่ใช่ความจริง การคาดการหมายเป็นสัญญาอารมณ์ไม่ใช่ความจริง

ความจริงต้องเป็นขึ้นดังที่กล่าวนี้โดยไม่คิดไม่คาดไม่หมาย หากเป็นขึ้นด้วยผลของการบำเพ็ญของเรา พอที่จะให้เป็นถึงขั้นนั้นก็เป็นขึ้นมาเอง นี่ประเภทหนึ่ง แต่ส่วนมากมักจะสงบเย็นเข้าไปอยู่โดยลำพังตัวเองนี้อันหนึ่ง อันหนึ่งแม้สงบเข้าไปแล้วยังมีลักษณะคิดๆ ปรุงๆ อันละเอียดยิบๆ แย็บๆ เหมือนแสงหิ่งห้อยอะไรเหล่านี้แหละ ยิบๆ แย็บๆ อยู่ภายในอันนั้นก็ตาม เราไม่ต้องแสดงความรำคาญ ไม่ต้องแสดงความแปลกใจ มันเป็นส่วนละเอียดของสังขารที่เคยคิดเคยปรุงในจิตประเภทนี้ ในนิสัยของจิตประเภทนี้มีได้อย่างนั้น ก็ปล่อยให้มันมี แต่เรารู้ๆ อยู่รักษาอยู่มันก็ไม่แสดงอาการอะไรให้หยาบให้เป็นสังขารทั่วๆ ไปดังที่เคยเป็นมา จะมีอยู่เพียงเท่านั้น นี่ประเภทหนึ่ง

เราพูดถึงเรื่องความฟุ้งซ่านกับความสงบ ต้องได้ใช้วิธีการปฏิบัติอย่างนี้มันถึงแยกกันได้ว่า ความฟุ้งซ่านเป็นอย่างนั้นๆ ความสงบเป็นอย่างนี้ การกล่าวทั้งนี้กล่าวถึงเรื่องการแยกความฟุ้งซ่านกับความสงบให้เห็นเด่นชัดทั้งสองอย่าง คือความฟุ้งซ่านนั้นเราไม่ต้องปฏิบัติกับมันแต่อย่างใด มันก็เป็นไปได้ตามอำนาจแห่งสิ่งที่พาให้ฟุ้งซ่าน เพราะมันคล่องตัวพอแล้ว แต่ส่วนการที่จะทำจิตให้สงบเย็นนี้ ต้องได้มีวิธีการกำชับกำชาบังคับบัญชาหนาแน่นจริงๆ ถึงจะเข้าสู่ความสงบได้

เพียงใจเข้าสู่ความสงบเท่านั้นเราก็ทราบได้ว่า อ๋อ ความฟุ้งซ่านเป็นอย่างนั้น ความสงบเป็นอย่างนี้ในใจดวงเดียวกันนั้นแล เมื่อใจสงบได้เช่นนี้คนเราย่อมมีแก่ใจ เพราะใจสงบนี้เป็นขึ้นมาด้วยภาคปฏิบัติ เห็นด้วยใจของเราเองรู้ด้วยตัวของเราเองชัดเจน ไม่เพียงแต่จำได้เฉยๆ ว่าใจสงบ แต่ได้เป็นขึ้นภายในจิตใจของเรา นี่ก็เป็นบาทฐานอันหนึ่งที่จะให้เราก้าวขึ้นไปยิ่งกว่านี้ หรือเป็นต้นทุนให้เราได้เพิ่มกำลังใจและศรัทธาความเชื่อในความเป็นของตนขึ้นโดยลำดับ นี่ละเรื่องของธรรมเป็นเรื่องละเอียดมากกับกิเลสนี้แยกไม่ออก แยกยากที่สุด เพราะไม่ใช่เป็นกองสมบัติหรือกองนั้นกองนี้อยู่คนละแห่งละหน แต่มันคละเคล้ากันไปหมด เราจึงไม่ทราบได้ว่าอะไรเป็นกิเลสอะไรเป็นธรรม ต้องได้ใช้อุบายวิธีการหลายประเภทกว่าจะสงบได้ พอให้ทราบได้ว่านี้คือธรรม สมถธรรม ความสงบใจ และนอกจากนั้นแล้วความสงบนี้ยังมีความละเอียดเข้าไปเป็นลำดับลำดาจากการปฏิบัติบำเพ็ญของเราเอง จนกระทั่งถึงเป็นสมาธิ

คำว่าสมาธินั้นคือความแน่นหนามั่นคงของใจ ไม่จำเป็นจะต้องมีเฉพาะเวลาที่จิตสงบเท่านั้น แม้จิตถอนออกมาจากความสงบแล้ว ฐานของจิตนั้นก็เป็นความสงบอยู่โดยลำพังตนเอง ที่เรียกว่าเป็นความแน่นหนามั่นคงอยู่ภายในตัวเอง นี่เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ ก็เพราะอาศัยความสงบหลายครั้งหลายหนนั้นแหละเป็นการสร้างฐานแห่งความมั่นคงขึ้นมาจนกลายเป็นสมาธิได้ นี่ละความละเอียดของจิตเป็นอย่างนี้เราทราบได้จากภาคปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติแล้วอย่างไรก็ทราบไม่ได้ในธรรมที่กล่าวนี้คือ สมถธรรม จะได้แต่ความจำเต็มหัวใจ กิเลสตัวหนึ่งก็ไม่ถลอกปอกเปิกออกได้เลยแหละ และก็แยกกันไม่ได้จนกระทั่งว่าเราตายไปเปล่าๆ กิเลสกับธรรมก็คละเคล้ากันอยู่ตลอดไป

เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยภาคปฏิบัติ ดังที่ท่านกล่าวไว้แล้วในปริยัติว่า ปริยัติคือการสำเหนียกศึกษา จะด้วยวิธีการใดก็ตาม ไม่ว่าการศึกษาเล่าเรียนหรือการได้ยินได้ฟังจากครูจากอาจารย์ก็ตาม เรียกว่าเป็นภาคศึกษาทั้งนั้น แล้วก็ปฏิบัติได้แก่การดำเนิน ดังที่เรานั่งสมาธิภาวนาเดินจงกรมเหล่านี้เป็นภาคปฏิบัติ คือรักษาจิตด้วยคำบริกรรมภาวนาหรือด้วยวิธีการใดก็ตาม เรียกว่าเป็นภาคปฏิบัติ ผลย่อมปรากฏขึ้นมาดังที่กล่าวมาสักครู่นี้เป็นลำดับลำดาไป

ถ้าไม่ได้ใช้ทางภาคปฏิบัติเลย อย่างไรเราก็ไม่อาจเห็นเหตุเห็นผลของอรรถของธรรมและของกิเลสทั้งหลายซึ่งเต็มอยู่ในหัวใจของเรา จะได้แต่ชื่อแต่เสียงของอรรถของธรรม ของบาปของบุญ ของนรกสวรรค์เท่านั้น อันความจริงของบาปของบุญของนรกสวรรค์ ความสิ้นกิเลสอาสวะจะไม่ปรากฏเลยจนกระทั่งวันตาย แต่เมื่อได้ปฏิบัติดังที่กล่าวมานี้ มีทางที่จะทราบได้เป็นลำดับลำดาไป ลึกตื้นหยาบละเอียดตามกำลังแห่งความสามารถของผู้ปฏิบัติ อย่างไรก็ปิดไม่อยู่ จะทราบได้เป็นลำดับดังนี้แล

ภาคปฏิบัติจึงเป็นภาคสำคัญมากทีเดียว ที่จะแยกแยะระหว่างกิเลสกับธรรมซึ่งอยู่ภายในจิตของเราดวงเดียวกันให้ได้เห็นชัดแจ้งภายในจิตเราว่า อาการที่แสดงอย่างนี้คือกิเลส อาการที่แสดงอย่างนี้คือธรรม ผลของการแสดงออกก็คือความสงบกับความฟุ้งซ่านและความทุกข์ความทรมานใจ เพราะกิเลสมันดัดสันดานพูดง่ายๆ และความสงบเย็นก็เพราะอำนาจแห่งธรรม ผลของธรรมที่ปรากฏขึ้นจากผู้ปฏิบัตินี่เห็นได้ชัดๆ อย่างนี้ ถ้าเป็นภาคปฏิบัติแล้วจะเป็นสิ่งที่เจ้าของรู้เองเห็นเองไม่สงสัย

เมื่อรู้เองเห็นเองแล้วทำไมจะพูดไม่ได้คนเราน่ะ ต้องพูดได้ตามความรู้ความเห็นความเป็น ลึกตื้นหยาบละเอียดของธรรมของกิเลสพูดได้ทั้งนั้น ขอให้ได้เจอให้ได้พบได้เห็นได้ละได้ถอนด้วยการปฏิบัตินี้เถิด อย่างไรก็พูดได้ เห็นได้ชัดเจนประจักษ์ภายในจิตใจ ดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกท่าน ล้วนแล้วแต่ท่านดำเนินด้วยการปฏิบัติ จึงละกิเลสทั้งหลายได้เป็นลำดับ จนกระทั่งถึงขั้นวิมุตติหลุดพ้น หนีจากภาคปฏิบัตินี้ไปไม่ได้ ภาคปฏิบัติจึงเป็นของสำคัญ คำว่าปฏิเวธหรือปฏิเวธธรรม ได้แก่ความรู้แจ้งแทงทะลุนั้น รู้แจ้งไปโดยลำดับลำดาตั้งแต่ภาคปฏิบัติเบื้องต้นนี้แหละ คือรู้แจ้งในสมาธิ สมาธิเบื้องต้นเป็นอย่างไรก็รู้ชัดในเจ้าของ และลำดับไปมีความละเอียดลอออย่างไร ก็รู้ชัดในเจ้าของ

พูดถึงเรื่องขั้นปัญญาก็เหมือนกัน ตั้งแต่ปัญญาขั้นล้มลุกคลุกคลาน ขั้นไม่อยากทำงาน ขั้นเถลไถล นี่ปัญญาขั้นเริ่มแรกเป็นอย่างนั้นนะ มักจะเถลไถล แล้วกลับเข้ามาสู่ความสงบเสียถ้าหากว่าเรามีความสงบเป็นพื้นฐาน ถ้าใจไม่มีความสงบใจไม่มีพื้นฐานแห่งสมาธิเลย ใช้ปัญญาไปก็กลายเป็นสัญญาอารมณ์ฟุ้งซ่านรำคาญไปเสีย เกิดปัญญาไม่ได้ ไม่เป็นปัญญาเลย นั่นเป็นอย่างนั้นเสียโดยมาก

ทีนี้เมื่อมีสมาธิเป็นพื้นฐานที่จะให้เราได้พินิจพิจารณาขั้นปัญญา แม้จะเถลไถลบ้างก็จะย้อนเข้ามาสู่ความสงบ ไม่อยากออกคิดพินิจพิจารณา เพราะเห็นว่าเป็นการลำบากลำบนวุ่นวาย กับการต่อสู้กับการแยกการแยะทางด้านปัญญาเป็นอย่างนั้น แล้วก็จะย้อนเข้ามาสู่สมาธิคือความสงบเย็นไม่ต้องทำอะไร มีแต่ความรู้ที่เด่นอยู่ภายในจิตนี้เท่านั้นก็พอแล้ว เย็นอยู่นี้สบายอยู่นี้ เลยกลายเป็นจิตขี้เกียจขี้คร้านไปเสีย ในปัญญาขั้นนี้มักเป็นเช่นนั้น จำให้ดี

ทีนี้เมื่อได้อาศัยการพิจารณาอยู่เรื่อยๆ สอดเข้าตรงนั้นแทรกเข้าตรงนี้ แยกนั้นแยกนี้ เพราะจิตที่อยู่ในขั้นสมาธิเป็นจิตที่อิ่มตัวในอารมณ์ทั้งหลาย โดยถืออารมณ์แห่งธรรมคือความสงบเป็นพื้นฐานหรือว่าเป็นที่อยู่อาศัย จึงไม่อยากยุ่งเหยิงวุ่นวายกับอารมณ์ใดๆ ภายนอก จิตมักจะขี้เกียจอยากจะอยู่กับความสงบนั้นเสีย ในเมื่อเป็นเช่นนั้นจึงต้องได้พาทำงาน พูดง่ายๆ บังคับให้ทำ เพราะปัญญายังไม่เห็นเหตุเห็นผลในการดำเนินของตนจึงมักเถลไถล แต่เมื่อได้ใช้ความพินิจพิจารณาหลายครั้งหลายหน แยกตรงนั้นแยะตรงนี้ก็พ้นความเข้าใจไปไม่ได้ ย่อมจะเข้าใจเล็กๆ น้อยๆ และเป็นสื่อเป็นทางให้เกิดความเชื่อมั่นเข้าไปโดยลำดับ จนกระทั่งเป็นความสนใจในเรื่องปัญญา

ออกจากความสนใจในเรื่องปัญญาแล้ว ก็จะกลายเป็นปัญญาที่มีความขยันหมั่นเพียร อยากคิดอยากค้นอยากพินิจพิจารณา และพร้อมกันกับกิเลสก็ค่อยเบาไปๆ ถ้าพูดกิเลสเป็นสัตว์เป็นอะไรก็เริ่มอ่อนตัวลงไป เพราะถูกทุบถูกตีเข้าไปเรื่อยๆ ถึงแม้จะยังไม่ตายก็ถูกทุบถูกตีให้อ่อนกำลังลงเรื่อยๆด้วยอำนาจของปัญญา นั่นแหละที่นี่ปัญญาจะเริ่มเชื่อตัวเองเข้าไปโดยลำดับลำดา นี่เรื่องของปัญญาในขั้นเริ่มแรกมีล้มลุกคลุกคลาน เราก็เห็นได้ชัดภายในใจของเราเองในภาคปฏิบัติ เห็นได้ชัดๆ ไปตลอดเวลาไม่สงสัย เป็นไปโดยลำดับลำดา จนกระทั่งถึงปัญญาขั้นที่เกิดความสนใจเห็นผลประจักษ์ เชื่อมั่นในความสามารถของตนไปโดยลำดับแล้ว นั่นละที่นี่ปัญญาจะเริ่มไหวตัวเป็นลำดับลำดา เราจะเรียกว่าภาวนามยปัญญาเริ่มไหวตัวแล้วก็ได้ไม่ผิด เพราะจากนี้ไปจะเป็นภาวนามยปัญญาโดยแท้ไม่สงสัย นี่เรื่องของปัญญาอย่างนี้เราก็ทราบ

ทั้งๆ ที่แต่ก่อนเราได้ยินแต่ชื่อเห็นแต่ตำรับตำรา ว่าสมาธิเป็นเช่นนั้น ปัญญาเป็นเช่นนี้ หรือสุตมยปัญญาเป็นอย่างนั้น จินตามยปัญญาเป็นอย่างนั้น ภาวนามยปัญญาเป็นอย่างนั้น แต่แล้วปัญญาทั้งสามประเภทนี้รวมตัวเข้าสู่ภาวนามยปัญาอย่างเดียว เราก็เห็นได้ชัด นี่ละภาคปฏิบัติเห็นได้ชัดๆ โดยไม่ต้องสงสัย จากนั้นก็เหมือนกับว่าเรามีต้นทุนแล้ว ถ้าเป็นทางเดินก็ถูกทางแล้ว มีแต่จะก้าวเดินไปเรื่อยๆ ไม่มีทางปลีกทางแวะ มีแต่ทางที่จะทำเราให้หลุดพ้น สังหารกิเลสไปโดยลำดับลำดาด้วยสติด้วยปัญญา มีสมาธิเป็นเครื่องหนุนให้เป็นกำลัง พูดง่ายๆ เป็นเสบียงหนุนไปเรื่อย เมื่อกำลังของปัญญาอ่อนตัวลงไป เพราะการทำงานเมื่อยหิวอ่อนเพลีย ก็เข้าพักในสมาธิเสียไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องคิดต้องปรุงเรื่องอะไรทั้งนั้น ให้อยู่ด้วยความสงบ เมื่อใจได้รับความสงบแล้วย่อมมีกำลังควรแก่ทางด้านปัญญาต่อไปอีก แล้วก้าวออกสู่ปัญญาไปโดยลำดับลำดา นี่ก็เห็นชัด ผู้ปฏิบัติจะไม่เห็นชัดได้อย่างไรก็ สนฺทิฏฺฐิโก พระพุทธเจ้าทรงประกาศสอนไว้แล้ว

ท่านว่าปริยัติได้แก่การศึกษามา แนวทางเป็นยังไง และปฏิบัติก็ก้าวเดินตามแนวทางนั้น เมื่อก้าวเดินไปแล้วทำไมจะไม่เห็นสิ่งที่จะสัมผัสสัมพันธ์ในเวลาเราเดินทางล่ะ เช่นอย่างเราเดินไปที่ไหน สิ่งต่างๆ ที่อยู่สองฟากทางจะปิดเราได้เหรอที่จะไม่ให้เห็น อันนี้ก็เหมือนกัน อรรถธรรมกับกิเลสที่แทรกซ้อนกันอยู่ระหว่างเราดำเนิน เราก็เห็นไปรู้ไปละกันไปแก้กันไปถอนกันไปฆ่ากันไปเรื่อยๆ นี่เห็นได้ชัดเจนอย่างนี้ จนกระทั่งถึงปัญญาที่ว่าเป็นธรรมจักร นี่ก็รู้ได้ชัด เราจะไปหาตามตำรับตำราจะได้แต่ชื่อเท่านั้น ท่านจะไม่อธิบายแยกแยะไว้อย่างละเอียดลออเหมือนความเป็นขึ้นในจิตของผู้ปฏิบัติทั้งหลาย อันนั้นพรรณนาไม่ได้เลย พิสดารมากจริงๆ ไม่ได้เหมือนปริยัติที่ท่านแสดงไว้ ถ้าหากว่าจะพูดก็เรียกว่าธรรมทั้งดุ้น

ผู้ปฏิบัติต้องนำธรรมนี้ไปแยกแยะไปกระจายออกเอง แล้วจะได้รับความเข้าอกเข้าใจ พร้อมกับการสังหารกิเลสไปในขณะเดียวกันๆ โดยไม่ต้องสงสัย ต้องเห็นอย่างนี้ผู้ปฏิบัติไม่เห็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจึงกล้าหาญชาญชัยในความรู้ความเห็นและการดำเนินของตนทั้งฝ่ายเหตุฝ่ายผล ไม่สะทกสะท้านในการที่จะชี้แจงเหตุผลกลไกอะไร ไม่กลัวว่าจะผิด เนื่องจากได้ดำเนินมาแล้วอย่างนั้น ๆ เห็นอย่างนั้น ๆ จริง ๆ แล้วจะสงสัยไปไหน ไม่ลูบๆ คลำๆ เหมือนเราศึกษามา การศึกษามานี้ลูบๆ คลำๆ จริงบ้างไม่จริงบ้าง เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง เพราะเชื่อโดยสัญญา เช่นอย่างว่าบาปมีบุญมี นรกมีสวรรค์มี พรหมโลกมีนิพพานมี เราก็เชื่อด้วยสัญญาตามที่เราเรียนมาด้วยสัญญานั้นแหละไม่เป็นอย่างอื่น ต่อเมื่อเราได้ประจักษ์ในหัวใจของเราแล้วมันไม่เป็นอย่างนั้น

เหมือนอย่างวัดป่าบ้านตาดนี้เรายังไม่เคยเห็น เราก็เชื่อด้วยสัญญาเสียก่อนว่าวัดป่าบ้านตาดอยู่ตรงนั้นๆ แต่มันก็ยังไม่ถึงใจ จนกว่าว่าเราได้ก้าวเข้ามาสู่วัดป่าบ้านตาด เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในวัดป่าบ้านตาดแล้ว นั่นละถึงใจ พูดได้ทั้งนั้นที่นี่ หายสงสัยหมด ไม่มีเคลือบแคลงใดๆ ทั้งสิ้น นี่ก็เหมือนกัน ภาคปฏิบัติเมื่อเห็นกิเลสก็ได้เห็น ฆ่ากิเลสก็ได้ฆ่า ปัญญาประเภทใดที่ควรฆ่ากิเลสประเภทใดก็นำมาใช้ให้เห็นประจักษ์ๆ ต่อกรกับกิเลสอยู่ทุกระยะๆ ทำไมจะไม่ทราบทำไมจะไม่เห็นชัด จิตจะค่อยเปิดกว้างออกไปๆ ทีแรกก็เหมือนกับว่ามืดว่าบอด ครั้นเมื่อปัญญาได้กระจ่างแจ้งออกไปๆ กิเลสซึ่งเป็นเหมือนเมฆกำบังจิตใจก็ค่อยเปิดออกไปๆ ทำไมจะไม่เห็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงกล่าวไว้ กล่าวไว้สดๆ ร้อนๆ แท้ๆ ไม่ใช่กล่าวได้ตั้งกัปตั้งกัลป์ สิ่งเหล่านั้นร่วงโรยไปแล้ว กล่าวด้วยหลักความจริง ไม่มีกาลสถานที่เวล่ำเวลาเข้าไปเกี่ยวข้องเลย เพราะเป็นความจริง

เช่น นรก สวรรค์ บาป บุญ กิเลสตัณหา เป็นของจริงมีอยู่ตลอดไปในหัวใจของสัตว์โลกไม่มีว่างเลย เพราะอะไร เพราะธรรมชาตินี้เป็นของจริงอันหนึ่ง ท่านจึงเรียกว่า สมุทัย อริยสจฺจํ สมุทัยก็เป็นของจริงของมันอยู่อย่างนั้น ถ้าไม่ชำระสะสางแล้วยังไงก็ไม่มีวันสิ้นไปได้ นั่นฟังซิ ทุกข์ก็เหมือนกัน ถ้าตราบใดยังมีสมุทัยเป็นตัวยื่นผลให้อยู่ตลอดเวลาเพราะเป็นตัวสร้างเหตุ ยังไงผลคือความทุกข์จะต้องมีอยู่ตลอดไปไม่มีอันใดที่จะมาดับได้ กาลเวล่ำเวลาจะมาดับไม่ได้ เอ้า ดับอันนี้มันหมดฤทธิ์หมดอำนาจของมันแล้ว มันสร้างอันอื่นขึ้นมาๆ เพราะสมุทัยเป็นรากฐานสำคัญที่จะผลิตสิ่งต่างๆ คือทุกข์ต่างๆ ขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา นี่ละเป็นของจริงอย่างนี้เอง

เมื่อได้รู้เข้าถึงใจแล้วทำไมจะไม่ประจักษ์ล่ะ ความสงสัยทั้งหลายจะสงสัยไปไหน เมื่อได้เห็นด้วยตาใจจริงๆ แล้ว รู้ด้วยใจจริงๆ แล้วไม่มีสิ่งสงสัย กิเลสประเภทใดหมดไปๆ ก็รู้ชัดๆ คำว่าปฏิเวธคือความรู้แจ้ง แจ้งเข้าไปโดยลำดับลำดาด้วยอำนาจแห่งปัญญาที่เบิกกว้างออกไปๆ สังหารกิเลสไปโดยลำดับลำดา สิ่งไม่ควรรู้ก็รู้สิ่งไม่ควรเห็นก็เห็น ในตำรับตำราเราเรียนมาไม่เคยปรากฏแต่ก็ปรากฏในความจริงนั้นๆ จะว่ายังไง เห็นอยู่อย่างนั้นจะว่ายังไง เราจะบอกว่าสิ่งนั้นไม่มีจะได้ยังไง ก็เราเห็นอยู่รู้อยู่ เป็นของจริงเต็มส่วน ทั้งๆ ที่แต่ก่อนเรียนมามากขนาดไหน เอาจนสมองมันจะเละโน่นละ ความจดความจำ มันก็ไม่เห็น แต่เวลาปฏิบัติลงไปแล้วมันเห็นจะว่ายังไง เห็นก็ต้องบอกว่าเห็น รู้ก็ต้องบอกว่ารู้ มันมากมายขนาดไหนสิ่งที่รู้ที่เห็นประจักษ์กับใจในขณะที่ประพฤติปฏิบัติอยู่นั้นน่ะ

นี้ละพระพุทธเจ้านำธรรมอันนี้ละมาสอนโลก ไม่ใช่ธรรมความจดความจำมาสอนโลกนะ เพียงความจดความจำไม่ได้เรื่อง ท่านเหมือนเรา เราเหมือนท่านเอาความจำมาสอน ให้เอาความจริงซีมาสอนให้มันเห็นอย่างชัดเจนนี่ พระสาวกก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ความรู้ที่ท่านได้มาไม่ใช่ได้มาด้วยความจดจำ ความจดจำนั้นเป็นเพียงบาทเพียงฐานเท่านั้น เป็นแนวทาง แต่เวลาเอาเข้าจริงๆ ภาคปฏิบัติเป็นผู้บุกเบิกทางให้เห็นความจริงทั้งหลาย ก้าวเข้าไปๆ เจอเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเจอเข้าเสียอย่างจังๆ พูดง่ายๆ กิเลสก็พังไม่มีอะไรเหลือเลย เหลือแต่จิตที่บริสุทธิ์วิมุตติพระนิพพานล้วนๆ ปรากฏอยู่ภายในจิตใจ

สงสัยอะไรที่นี่ นั่นฟังซิ แต่ก่อนมันเป็นยังไง มันไม่เป็นอย่างนั้นเพราะไม่รู้ เนื่องจากกิเลสปิดไว้หมดไม่ให้เห็น ปิดอย่างปิดหูปิดตาเรานี่ ตาเราเวลาหลับมันก็ไม่เห็น แต่เวลาลืมมันยังลืมได้ แต่ใจนั้นซีไม่มีเวลาลืมตาใจสักที มีแต่กิเลสปิดไว้ๆ ตั้งกัปตั้งกัลป์ก็ปิดอยู่อย่างนั้นถ้าปัญญาไม่เปิดให้ ปัญญานี้เราจะไปหามาจากที่ไหน เอ๊า ปัญญาทางโลกเรียนไปๆ จนกระทั่งถึงตายก็เป็นปัญญาที่กิเลสผลิตให้มา มันก็เป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวล เป็นเรื่องสั่งสมกิเลสไม่ใช่เรื่องที่จะฆ่ากิเลส

ปัญญาที่เกิดขึ้นในหลักธรรมชาติของผู้ปฏิบัติเช่นภาวนามยปัญญานี้เท่านั้น เอ้า พูดได้เท่านั้นไม่ต้องพูดอย่างอื่นเลย ที่จะสังหารกิเลสทุกประเภทออกจากหัวใจเบิกกว้างไปหมดไม่มีอะไรเหลือคือปัญญาประเภทนี้ พระพุทธเจ้าก็คือปัญญาประเภทนี้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้ พระสาวกก็คือปัญญาประเภทนี้ ไม่ต้องไปศึกษาจากใคร สาธุ พูดว่าอย่างนี้เลยนะ พระสาวกทั้งหลายท่านจะพูดแบบนี้ ว่าพระพุทธเจ้าก็กราบอย่างสนิทติดใจ แต่เวลาจะเข้าสู่สงครามจริงๆ ขึ้นเวทีจริงๆ พระพุทธเจ้าท่านก็นั่งดูถ้าหากว่าดู ครูมวยก็ดูอยู่เฉยๆ นักมวยเท่านั้นที่ต่อยกัน นั่นเป็นยังไงหนักเบาแค่ไหน หลบหลีกปลีกหมัดปลีกเท้าเขาเป็นยังไง เป็นเรื่องของนักมวยที่ต่อสู้ต่อกรกันเท่านั้น

นี้ก็เหมือนกัน เวลาเข้าต่อสู้กิเลสทั้งหลาย เรื่องภาวนามยปัญญานี้เท่านั้นเป็นเพลงมวยพูดง่ายๆ เอ้า ฟัดกันอยู่ตรงนั้น นี่ละที่ว่าเป็นเรื่องของตัวเองๆ พระพุทธเจ้าเป็นแต่ผู้บอก ดังที่ท่านว่า ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา ความเพียรเป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลายทำเองนะ พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นแต่ผู้บอกเท่านั้น นั่นละเป็นแต่ผู้บอกอุบายวิธี แต่เวลาเข้าต่อกรกันฟัดกันจริงๆ เป็นเรื่องของนักมวยทั้งสองคนนั้น คือระหว่างกิเลสกับธรรมสู้กัน เห็นได้อย่างชัดเจนภายในจิตใจของผู้ปฏิบัติ ถ้าหากไม่ได้ปฏิบัติก็ไม่อาจรู้ได้ธรรมประเภทนี้

เอาเถอะเรียนมาจบไหนก็เถอะ สาธุ ไม่ได้ประมาทนะ จบพระไตรปิฎกก็จบเถอะ ได้แต่ความจำทั้งนั้นแหละความจริงไม่ได้ กิเลสไม่หลุดลอยไปเลย แต่ถ้าลงได้ปฏิบัติจนก้าวเข้าสู่ภาวนามยปัญญานี้แล้ว จะได้เห็นกิเลสพังลงไปๆ โดยลำดับลำดา สิ่งไม่รู้ก็รู้สิ่งไม่เคยเห็นก็เห็น เห็นขึ้นมาอย่างประจักษ์ใจ ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยคาดเคยคิดเคยฝันว่าจะเห็นจะรู้จะละจะสังหารกันได้ มันก็สังหารกันได้ต่อหน้าต่อตานี้จะว่าไง

ธรรมพระพุทธเจ้าไม่อัศจรรย์อะไรจะอัศจรรย์ในโลกนี้ เอาเข้ามาปฏิบัติซีเราเป็นพวกนักปฏิบัติแท้ๆ ให้ท่านพูดอยู่เฉยๆ ทำไม ให้มันเห็นประจักษ์ในใจเจ้าของดูซิ ธรรมพระพุทธเจ้าเป็นโมฆะจริงๆ เหรอในโลกอันนี้ สอนโลกมันถึงไม่ได้เรื่องได้ราว ก็เพราะโลกนี้ถูกกิเลสปิดบังหมด เมื่อธรรมแทรกเข้ามาถูกกิเลสปัดออกๆ ให้เหลือแต่มันหุ้มห่อจิตใจอยู่มิดมืดแปดทิศแปดด้านอยู่เท่านั้นเอง มันถึงไม่ได้เห็นสิ่งที่เป็นของมีอยู่ทั้งหลาย ทั้งบาปทั้งบุญทั้งนรกสวรรค์นิพพาน ทั้งกิเลสทั้งธรรมมีอยู่ในหัวใจดวงนี้ หัวใจดวงนี้จะเป็นผู้รู้ผู้เห็นมันก็รู้เห็นไม่ได้เพราะถูกปิดบัง เอาให้มันถึงเหตุถึงผลดูซิ มันต้องรู้ ทำไมจะไม่รู้

นี่เราพูดถึงเรื่องสิ่งที่เป็นที่รู้ ว่าปิดไม่อยู่ คือหลักธรรมชาติแห่งการปฏิบัตินี่ละ เอาปฏิบัติลงไป สิ่งไม่เคยรู้-รู้ สิ่งไม่เคยเห็น-เห็น สิ่งที่ท่านว่าอัศจรรย์ๆ ยังไง พระพุทธเจ้าอัศจรรย์ ท่านสิ้นกิเลสท่านสิ้นยังไง ให้มันเห็นในหัวใจเจ้าของซิ กิเลสเป็นยังไงมันก็หายสงสัยเท่านั้นซิ จะเอาอะไรมาสงสัย และกราบพระพุทธเจ้าอย่างราบเลย

เมื่อเข้าถึงตาจนจริงๆ แล้ว นั่นละผู้ปฏิบัติท่านว่า ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ คือเจ้าของต้องทำเองต้องรู้เองเห็นเอง ฟัดเหวี่ยงกันเองกับกิเลส ไม่มีใครจะมาฟัดมาเหวี่ยงมาต่อสู้ให้เรา เราเองเป็นผู้รู้ผู้เห็น เป็นผู้หลบหลีกปลีกหมัดของกิเลสประเภทต่างๆ เราจะรู้เอง อย่างนี้เราจะไปหาคัมภีร์ที่ไหนเอานำมาแจงเสียทุกแง่ทุกมุม ในระหว่างที่ต่อสู้กับกิเลสนั้นคัมภีร์ที่ไหนจะไปจดจำทันวะ แต่ความจริงมันทันกันทั้งนั้นนะ ความจริงที่ฟัดกันอยู่นั้นทันกันหมดทุกอย่าง ไม่ทันกิเลสไม่พัง นั่นเห็นไหม นี่ละความจริงเป็นอย่างนี้

จึงว่าใจนี่เป็นสิ่งสำคัญมาก พิสดารเอามากจริงๆ ไม่มีอะไรเหมือน เมื่อเวลาได้เปิดตัวออกแล้วจากกิเลสทั้งหลาย ตาก็เพียงแต่ได้เห็น เอ้า มีอะไรปิดตาเสียก็ไม่เห็น หูก็เหมือนกัน ห่างไกลสักหน่อยก็ไม่ได้ยินเสีย จมูก ลิ้น กายก็เหมือนกันถ้าอยู่ติดๆ พันๆ กันมันก็พอรู้เรื่องบ้าง ถ้าตา หู จมูก ลิ้น กาย เครื่องรับนี่มันดีนะ ถ้าไม่ดีก็เอาอีกแหละ แต่ใจไม่เป็นเช่นนั้น ใจนี้เบิกกว้างออกหมด จึงไม่มีกาลสถานที่เวล่ำเวลาว่าอันไหนอยู่ไกลขนาดไหน ลึกขนาดไหนไม่มี ถ้าลงใจได้เบิกให้เต็มที่ของตนเองแล้ว ไม่มีกาลสถานที่ว่าใกล้ว่าไกล ว่าอยู่ที่ลึกลับที่ตรงไหนใจจะไม่เห็นใจจะไม่รู้ รู้หมดทีเดียว พุ่งลงไปทะลุไปหมด นี่จึงว่าใจเป็นของอัศจรรย์อย่างนั้น

เอ้า ปฏิบัติให้มันเห็นซิ ธรรมะพระพุทธเจ้าหลอกโลกเมื่อไร มีแต่กิเลสเท่านั้นหลอกโลก ธรรมะไม่ได้หลอก แต่เราปฏิบัติตามเครื่องหลอกๆ นั่นซิ ถึงไม่รู้ไม่เห็นจะว่ายังไง ปฏิบัติสักเท่าไรๆ ก็ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร ปฏิปทาเครื่องดำเนินของครูบาอาจารย์และพระพุทธเจ้าที่ประทานไว้นี้ มีแต่ปฏิปทาที่จะบุกเบิกกิเลส ฟัดกิเลสให้แหลกไป ให้เห็นความจริงล้วนๆ เต็มหัวใจเราทั้งนั้นแหละ แต่นี้มันไม่เป็นอย่างนั้นซิ พอจะทำอะไรนิดถูกกิเลสมันขัดมันแย้ง สุดท้ายเราก็หมอบๆ จึงไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร

ถ้าลงได้ทำให้ได้เรื่องแล้วยังไงมันก็รอไม่ได้แล้ว ขั้นจิตทำงานขั้นสติปัญญาทำงาน พูดง่ายๆ ว่าขั้นธรรมทำงาน กิเลสจะไม่หมอบได้ยังไง เมื่อถึงขั้นธรรมทั้งหลายมีกำลังแล้ว ก็เช่นเดียวกับกิเลสมีกำลัง เราจะทำอะไรมันปัดปั๊บเดียวๆ เท่านั้นล้มละลายเหลวไปหมดเลย นี่เวลามันมีกำลังเป็นเช่นนั้น ทีนี้เวลาธรรมมีกำลังก็เหมือนกันอีก ตรงกันเป๋งเลยเทียว เอ้า กิเลสแย็บออกมาหมัดไหน พูดถึงหมัด แย็บออกมาปัดหมัดแล้วต่อยพร้อมๆ พังพร้อมๆ เลย นั่นละสติปัญญาไม่มีอะไรที่จะรวดเร็วยิ่งกว่าในระหว่างที่ต่อสู้กัน

ถึงขั้นสติปัญญามีกำลังมีอย่างนั้น รวดเร็วๆ อย่างนั้นจริงๆ เรื่องกิเลสนี่เอ้ามาตรงไหน เมื่อถึงขั้นอาจหาญอยากจะพบกับกิเลส เพราะจะให้มันสิ้นซากไปเสียเร็วๆ นี้ ให้ได้หลุดพ้นจากทุกข์โดยถ่ายเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นคำว่ากลัวจึงไม่มี ในขั้นที่กลัวแล้วไม่มี มีแต่ขั้นค้นคว้าหา มันอยู่ที่ไหนขุดลงไปค้นลงไปจนกระทั่งเจอ เจอพับหมุนติ้วทันที เสร็จเลย

เหล่านี้ให้เห็นในหัวใจเจ้าของซิ ถ้าลงได้เห็นในหัวใจแล้วมันไม่มีอะไรสงสัยแหละ การพูดออกมานี้จะพูดได้เป็นบางอย่าง ส่วนพูดไม่ได้นั้นน่ะสำคัญมากที่สุด มีมากมายก่ายกองที่พูดไม่ได้ ทั้งๆ ที่ตัวนั่นเองละเป็นผู้สัมผัสสัมพันธ์ระหว่างกิเลสกับธรรม ฟัดกันขนาดไหนเรื่องใดวิธีการใด นี้เป็นอยู่ในหัวใจ หมุนติ้วๆๆ ไม่มีอะไรที่จะเสมอความรวดเร็ว แต่การจะนำมาพูดนี้จะพูดได้เพียงพอประมาณเท่านั้น ไม่ได้พูดได้มากยิ่งกว่านั้นไป เมื่อเป็นเช่นนั้น เอ้า คัมภีร์ไหนจะไปจดจารึกความจริงประเภทนั้นได้วะ แต่ความจริงของใจนี้ใจได้รู้ได้เห็น รู้หมด แน่ะ ทั้งๆ ที่คัมภีร์จดออกมาไม่ได้ก็ตาม แต่ใจนี้สามารถรู้ได้หมด ทะลุไปหมดนี่ พิจารณาซิ

อย่างพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านว่า ธรรมที่มาในคัมภีร์ใบลานนั้นเท่ากับน้ำในตุ่มในไหเท่านั้น สาธุ ทันทีเลยเรา…ยอมเพียงตัวเท่าหนูมันก็กล้าหาญที่จะพูดได้จริงๆ แต่ธรรมที่มาจากภาคปฏิบัตินั้นเท่ากับน้ำท้องฟ้ามหาสมุทรสุดสาคร หาประมาณไม่ได้เลย นั่นฟังซิ ก็มันเจอกันอยู่ตลอดเวลานี่ มันมีกาลสถานที่เวล่ำเวลากว้างแคบที่ไหนจิต เมื่อเวลาเราได้เบิกตัวออกไปแล้ว มันกว้างอะไรก็พูดไม่ถูก มันลึกอะไรก็พูดไม่ถูก ไม่มีอะไรจะมาประมาณได้เลย มหาสมุทรยังมีขอบมีเขตมีฝั่งมีฝา ฝั่งโน้นมองไม่เห็น แต่ฝั่งเราเหยียบอยู่นี้ยืนอยู่นี้มันยังเห็นว่าไง อันเรื่องของสติปัญญานี้เอาอะไรมาเทียบเอาอะไรมาเคียง เรื่องความลึกความตื้นความกว้างแคบหนาบางขนาดไหน ไม่มีอะไรที่จะเทียบปัญญาธรรมนี้ได้เลย หรือจิตดวงนี้ได้เลย นี่กว้างขนาดนั้น

ให้เห็นประจักษ์ในเจ้าของนั่นซิ ใครไม่เชื่อก็ตามเถอะ มันไม่ได้ขาดทุนสูญดอกไปไหนละ ขอให้เจ้าของได้ทรงไว้ก็พอ เมื่อมันสอนใครไม่ได้ สอนใครไม่มีใครฟังแล้วก็ไม่สอน มันหนักอะไรกัน สอนก็สอนแต่ผู้ควรจะสอน ผู้ที่ควรจะบึกบึนไปเท่านั้น ผู้ไม่สมควรที่เช่นนั้นก็ปล่อย เหมือนอย่างโรงพยาบาลนั้นซิ หมอไม่ใช่ว่าจะสามารถรักษาคนไข้ได้ทุกประเภทนะ ประเภท ไอ.ซี.ยู. มันมีจะทำยังไง มันเป็นอยู่กับใคร มันเป็นอยู่กับ ไอ.ซี.ยู. ต่างหาก หมอเห็นว่าเป็น ไอ.ซี.ยู. แล้วจะว่ายังไง ก็ต้องหยุดชะงัก แต่มารยาทก็ต้องมีเป็นธรรมดา รักษาปฏิบัติกันไปจนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย

ธรรมก็เหมือนกัน เมื่อสุดวิสัยที่จะปฏิบัติต่อกันแล้วจะทำยังไง สิ่งที่มีอยู่เห็นอยู่มันไม่เชื่อจะให้ทำยังไงอีก จะให้มันเชื่อได้ยังไงเมื่อยังไม่ถึงกาลถึงเวลาที่ควรจะเชื่อได้ มันไม่เชื่อได้ละคนเรา ไม่ว่าท่านว่าเราเหมือนกัน พอถึงขั้นที่ควรเชื่อแล้ว ยังไงหัวขาดมันก็ไม่ถอย อะไรขาดไปก็ขาดไป ความเชื่อนี้ไม่ขาด ฝังเลยทีเดียว นั่น นี่ละการปฏิบัติ เอาให้มันจริงมันจังซิ นักปฏิบัติทั้งหลาย ให้เห็นในตัวเองนี่ ถ้าลงได้เห็นในนี้แล้วหายสงสัยไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างนั่นละ

เบื้องต้นนี่ซิ ทั้งตะเกียกตะกายอะไรไป มีแต่เรื่องของกิเลสมันยำเอาๆ ไปที่ไหนเห็นแต่เขียงของกิเลสยำหัวใจพระ ไม่ทราบว่าจะลาบจะก้อยจะอะไรต่ออะไรทุกอย่าง มันก็เลยขี้เกียจกินขี้เกียจถ่าย กินก็กินแต่หัวใจพระๆ ความขี้เกียจก็กิเลสกลืนเอาเสีย ความขยันหมั่นเพียรก็กิเลสกลืนเอาเสีย เอาเป็นลาบของกิเลสเสียจะว่ายังไง อะไรๆ ก็เป็นลาบของกิเลสเสีย ขึ้นชื่อว่าสิ่งที่จะไปแก้กิเลส ให้กิเลสเอาไปจิ้มน้ำพริกเสียๆ ทำยังไงพวกเรา มันพวกน้ำพริกให้กิเลสจิ้มตลอดเวลา ให้มันได้จิ้มกิเลสบ้างซิ เอากิเลสมาจิ้มน้ำพริกบ้างซีเป็นยังไง มันอร่อยไหมจิ้มกิเลส เอากิเลสมาเป็นปุ๋ยของอรรถของธรรมเป็นยังไง

พระนิพพานบกพร่องอะไรบ้าง เห็นไหม เมื่อเต็มที่แล้วไม่มีคำว่าบกพร่อง พอตัวตลอดเวลา พอดิบพอดีไม่มีอะไรเกิน ไม่มีอะไรลดหย่อนยิ่งกว่านั้น จึงเรียกว่าเมืองพอ พอเสียทุกอย่าง จึงได้ปล่อยไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง นั่นละพอแล้วจึงได้ปล่อยหมด อะไรยังบกพร่อง ยังต้องเอาอะไรมาเพิ่ม นั่นไม่พอ อันนั้นไม่ประเสริฐ ยังมาเพิ่มอยู่นั้น พอนี้คือความประเสริฐ ไม่มีอะไรมีคุณค่ายิ่งกว่าคำว่าพอ จิตดวงถึงขั้นเมืองพอแล้วเป็นอย่างนั้น

เอาละพอ เหนื่อยแล้ว


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก