พระผู้ปฏิบัติตามหลักศาสนธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นธรรมที่ได้รับการกลั่นกรองมาแล้วอย่างเต็มที่ ควรที่จะใช้ความคิดอ่านไตร่ตรองให้เป็นไปตามหลักธรรมนั้น ๆ จึงจะมีความฉลาดรอบตัวรอบใจไปโดยลำดับ และทันกับสิ่งที่พาให้จิตแสดงออกอยู่ตลอดเวลาอันเป็นทางไม่ดี ถ้ามีสักแต่ว่าการเดินไปการเดินมา การทำความพากเพียร เช่น การเดินจงกรม นั่งสมาธิ เที่ยวภาวนาในที่ต่าง ๆ แต่ไม่ได้ใช้ความคิดอ่านไตร่ตรองตามหลักธรรมที่ทรงสอนไว้แล้วนั้น ผลไม่ค่อยปรากฏ มักจะแสดงออกในความแสลงต่ออรรถต่อธรรมเสมอ หากผู้ใช้สติปัญญาโดยถือหลักธรรมเป็นพื้นฐานเป็นทางเดิน หรือเป็นเข็มทิศอยู่บ้างแล้ว ก็ย่อมจะได้สติปัญญาอุบายต่าง ๆ ขึ้นมาเรื่อย ๆ
เช่น ท่านสอนให้อยู่ในป่าในเขา ท่านมีความมุ่งหมายอย่างไร จึงสอนให้อยู่ในป่าในเขา ในรุกขมูลร่มไม้ ปฏิปทาเหล่านี้เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงดำเนินมาอย่างเต็มที่หรือเต็มเม็ดเต็มหน่วย จนได้ผลเป็นที่พอพระทัย ทั้งเหตุก็ประจักษ์โดยพระองค์เองเป็นผู้ดำเนิน ทั้งผลก็สัมผัสสัมพันธ์ในพระทัยอยู่โดยสม่ำเสมอ จากการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ถึงได้รับผลเป็นที่พอพระทัย แล้วนำธรรมเหล่านี้ออกมาแสดงเพื่อเป็นแบบเป็นฉบับ เป็นทางเดินของผู้ดำเนินตาม เช่น ภิกษุบริษัทเรา หรือสาวกท่านดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ท่านไม่ทำสักแต่ว่าทำ
เพราะธรรมนั้นเป็นธรรมที่กลั่นกรองอย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ผู้ปฏิบัติตามควรจะใช้การไตร่ตรองให้ดีในทุกกรณีที่ตนจะพึงเกี่ยวข้องหรือพึงทำ นั่นละอุบายต่าง ๆ จึงจะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ อุบายที่เกิดขึ้นจากการพินิจพิจารณาโดยธรรมแล้ว ย่อมจะเป็นธรรมเครื่องสังหารกิเลสอันเป็นตัวข้าศึก ซึ่งทำให้เราโง่อยู่เสมอนั้นออกไปได้โดยลำดับ ตามทางของศาสดาไม่มีทางสงสัย เพราะธรรมนี้ไม่ใช่กาล ไม่ใช่สถานที่เวล่ำเวลาพอที่จะครึหรือล้าสมัยไม่ทันกับเหตุการณ์ คือกิเลสซึ่งเป็นข้าศึกของธรรมหรือข้าศึกของเรา ต้องทันกันเรื่อย ๆ ไป
เพราะอุบายที่ดำเนินตามหลักธรรมซึ่งเป็นธรรมชาติที่ถูกต้องแล้วนี้ เป็นอุบายเพื่อสังหารกิเลสโดยตรงไม่ใช่เพื่อหลอกเพื่อลวงตนเอง และส่งเสริมกิเลสให้เจริญมากมูนขึ้นภายในใจ ดังที่พวกเราทั้งหลายสำคัญว่าตนปฏิบัติ แต่เป็นการส่งเสริมกิเลสอยู่ภายในตัวเองโดยไม่รู้สึกตัวในเวลานี้ นี่ละผิดกันอย่างนี้ ยกตัวอย่างเช่น ท่านสอนให้ไปอยู่ในป่าในเขาในถ้ำหรือในเงื้อมผา รุกขมูลร่มไม้ ล้วนแล้วตั้งแต่สั่งสอนหรือชี้บอกทางอันเป็นชัยสมรภูมิอย่างสมบูรณ์สำหรับผู้ปฏิบัติ ไม่สงสัยว่าสถานที่เหล่านี้จะครึจะล้าสมัย จะไม่ทันกับเหตุการณ์คือการต่อสู้กับกิเลส
อุบายต่าง ๆ ที่ทรงสั่งสอนนั้นเป็นงานของจิตที่จะพึงทำในสถานที่ดังกล่าวนี้ ก็เหมาะสมกันอย่างยิ่ง ท่านสอนย่อ ๆ เบื้องต้นก็ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เราพึงพิจารณาดูตามอาการที่พระองค์ทรงสอนไว้นี้ ด้วยความจดจ่อต่อเนื่องทางสติปัญญาดูซิจะเป็นอย่างไรบ้าง ธรรมเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อไร โลกไม่ได้ติดอะไรใหญ่โตมากยิ่งกว่าสิ่งที่กล่าวมานี้ กิเลสตัวใดไม่ใช่เป็นกิเลสที่หนาแน่นมั่นคงยิ่งกว่ากิเลสประเภทความหลงงมงายกับสิ่งเหล่านี้ ต้นไม้ภูเขาดินฟ้าอากาศใหญ่โตขนาดไหน ไม่มีอะไรใหญ่กว่าสิ่งเหล่านี้ และไม่เป็นอุปสรรคกับจิตใจที่จะไปติดไปพัวพัน ถึงกับเกิดความทุกข์ความทรมานตนให้ได้รับเรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ นอกจากสิ่งที่พระองค์ประกาศสอนไว้นี้เท่านั้นเป็นสำคัญมากยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด
เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ครอบไหมโลกธาตุนี้ จิตเราจดจ่ออะไรหลงอะไร รักอะไร ชอบอะไร พัวพันกับอะไร ขณะจิตที่คิดออกมาคิดเรื่องอะไรก่อน คิดเรื่องเหล่านี้ทั้งนั้นก่อนอื่นก่อนใด และเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลสพัวพันจิตใจให้แน่นหนามั่นคง หรือมืดแปดทิศแปดด้านจนหาทางออกไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย จะเป็นเรื่องเล็กน้อยมาจากที่ไหน เพราะฉะนั้นจึงว่าภูเขาทั้งลูกก็ดี แผ่นดินทั้งแผ่นที่เหยียบย่ำไปมาก็ดี ดินฟ้าอากาศหรือไม่ทราบว่ากี่จักรวาลดังที่ท่านสอนไว้ในอรรถในธรรม ว่าสิ่งเหล่านี้ใหญ่โตไหม เอามาเทียบกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนทรงแนะทรงบอกอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นภัย ๆ นี้ เราลองเอามาเทียบดูซิ สิ่งเหล่านั้นไม่ได้ประกาศออกมาอย่างถึงใจของเราเลย นอกจากสิ่งดังกล่าวว่า เกสา โลมา เป็นต้นเท่านั้น
ขณะบวชทีแรกก็ประกาศกังวานขึ้นกับพระซึ่งอุปสมบทใหม่ว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ให้พิจารณาไตร่ตรองให้ดี ทั้งทางอนุโลม ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา ทั้งปฏิโลม ย้อนหน้าถอยหลัง พินิจพิจารณาให้ดี สิ่งเหล่านี้แลเป็นสิ่งที่ปิดบังจิตใจของโลกให้มืดมนอนธการอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่ากลางคืนกลางวัน ไม่มีสิ่งใดที่จะทำจิตใจให้มืดให้ลุ่มหลงให้ติดพัน และสร้างความทุกข์ขึ้นมาใส่ตัวมากยิ่งกว่าสิ่งเหล่านี้
เพราะฉะนั้นธรรมชาตินี้จึงเป็นสิ่งที่ใหญ่โตมากที่สุด หนาแน่นที่สุดและแก้ยากที่สุด ไม่มีใครจะแก้ได้ถ้าไม่มีองค์ศาสดาเป็นครูสอนก่อน และเว้นศาสดาซึ่งทรงสยัมภูเท่านั้น จะอุตริไปรู้โดยลำพังตนเองนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้หนาแน่นมากที่สุดจนหาทางแหวกว่ายออกไม่ได้เลย ถึงกับไม่สนใจที่จะแหวกว่ายออกจากสิ่งเหล่านี้ นอกจากจะเห็นว่ามันเป็นคุณ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นมหันตโทษมหันตทุกข์บนหัวใจสัตว์ให้เกิดแก่เจ็บตายอยู่ไม่หยุดไม่ถอย การเกิดแก่เจ็บตายก็แบกทุกข์ไปทุกภพทุกชาติ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ทั้งนั้นเป็นสาเหตุไม่ใช่สิ่งอื่นสิ่งใดเลย
นี่ละการสอนสถานที่ จึงสอนเน้นหนักลงไปในสถานที่ที่พระองค์ทรงดำเนินมาแล้ว และได้ผลเป็นที่พอพระทัยว่าเหมาะกว่าสถานที่อื่นใดที่ว่าเจริญ ๆ กัน นั่นมันเจริญเรื่องของกิเลสตัณหาอาสวะพอกหัวใจของสัตว์โลกให้มากมูนหนุนขึ้นเท่านั้น แต่ไม่สามารถที่จะทำกิเลสให้เบาบางลงได้ เหมือนสถานที่ที่ท่านสอนอย่างเน้นหนักทุกระยะ ทุกองค์ของพระที่ได้บวชในพระพุทธศาสนานี้ ว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ เป็นต้น นี่ทรงสอนออกมาจากความซึ้งพระทัย ที่ได้ผลจากสิ่งเหล่านี้มาแล้วอย่างเต็มพระทัยเช่นเดียวกัน จึงไม่ได้สอนเล่น ๆ สอนอย่างหนักแน่น สอนอย่างพินิจพิจารณา สอนอย่างที่เคยได้เห็นผลประจักษ์มาแล้วไม่มีอันใดสงสัย
ผู้ไปอยู่ในสถานที่เหล่านั้น เช่น รุกขมูลร่มไม้ประเภทต่าง ๆ คือรุกขมูลร่มไม้ตามธรรมดา และรุกขมูลร่มไม้ซึ่งเป็นที่เปลี่ยว น่าหวาดเสียว น่ากลัว และเป็นรุกขมูลที่น่ากลัวยิ่งเข้ากว่านั้น ยิ่งกว่านั้นเข้าไปอีกทั้งกลางวันกลางคืน นี่รุกขมูลประเภทนี้เป็นรุกขมูลที่จะให้ผู้บำเพ็ญทั้งหลายตั้งเนื้อตั้งตัว ตั้งสติ ตั้งท่าทางต่อสู้โดยทางสติ ทางปัญญา เพื่อหาทางออกและเพื่อหาทางแก้ไขสิ่งที่เป็นภัย
เบื้องต้นก็คือความกลัวของเรานั้นแหละเป็นภัย ไปหมายเอาสิ่งนั้นว่าเป็นภัยหมายเอาสิ่งนี้ว่าเป็นภัย โดยลำพังแล้วสิ่งเหล่านั้นก็เป็นภัยจริง ๆ ด้วย บวกกันเข้ากับความกลัวของเราจึงเป็นมหันตภัยอันใหญ่หลวง ที่เราจะต้องได้ห้ำหั่นกับมันด้วยสติปัญญาพินิจพิจารณา แยกแยะกันให้เห็นเหตุเห็นผลกับสิ่งเหล่านี้ จนถึงกับจิตแยกตัวเข้ามาสู่ความสงบ คือเกราะเป็นที่กำบังได้อย่างปลอดภัย จิตสงบได้ด้วยการพิจารณาทางสติหรือทางปัญญา นี่ละหลักใหญ่ของการปฏิบัติ
จึงเป็นความหมายอันหนัก เป็นความหมายที่แน่นหนามั่นคง เป็นความหมายที่ลึกซึ้งมากในคำว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ ตามทางพระองค์ที่ทรงดำเนินมาแล้ว ตลอดสาวกทั้งหลายมักจะผ่าน รุกฺขมูลเสนาสนํ นี้มา เราอยากจะพูดว่าเกือบร้อยทั้งร้อยมีแต่ผู้ที่ผ่านเรื่องความเดนตายนี้มาทั้งนั้น
ผู้เข้าไปอยู่รุกขมูลร่มไม้ เราดูซิอย่างประเทศอินเดียเป็นยังไง ในตำรับตำราก็ปรากฏอยู่แล้วว่าเสือเคยกินคนด้วย เสือเคยกินพระด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้นทำไมสิ่งเหล่านี้จะไม่เป็นอันตราย การไปอยู่ในป่าในเขาในรุกขมูลร่มไม้อย่างนั้นหาความปลอดภัยได้ยาก ยิ่งอยู่รุกขมูลร่มไม้ที่เปลี่ยว ๆ ด้วยแล้ว จะเอาอะไรมาเป็นเครื่องกั้นกางให้มีความปลอดภัยเล่า ไม่มี นอกจากธรรมเท่านั้นจะเป็นเครื่องปลอดภัยภายในจิตใจของตน แม้ชีวิตจะหาไม่เพราะสิ่งเหล่านั้นทำลายก็ตาม แต่จิตนี้ไม่เสียท่าเสียทีจากการดำเนิน นี่ละท่านพาดำเนินมาเช่นนี้พระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกก็ดี
การสอนจึงจะให้ท่านสอนไปอย่างอื่นนั้นใครจะไปถนัดใจเล่า ก็เมื่อรู้เห็นเหตุผลต่าง ๆ เต็มหัวใจแล้วด้วยวิธีการเช่นนี้ ด้วยสถานที่และการกระทำเช่นนี้ แต่แล้วไพล่ไปสอนสถานที่อื่น ๆ เรียกว่าเกาในสถานที่ไม่คันอย่างนั้น ใครจะเกาได้ลงคอ ใครจะสอนได้ลงคอเล่า ต้องสอนจุดที่เคยได้รู้ได้เห็นได้ผลเป็นที่พอใจมาแล้วทั้งนั้น ด้วยความเต็มหัวใจไม่สงสัยในการสอน เพราะได้สัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้มาแล้ว
นี่ละการดำเนินด้วยการพินิจพิจารณา ในความหมายแต่ละสิ่งละอย่างที่พระองค์ประทานโอวาทให้แก่พวกเราทั้งหลาย มีรุกขมูล เป็นต้น จากนั้นก็ตามถ้ำเงื้อมผา ชายป่า ในเขา ในป่ารกชัฏ ซึ่งเป็นสถานที่ให้ตั้งเนื้อตั้งตัวอยู่ตลอดเวลาด้วยความมีสติท่าต่อสู้ มีปัญญาท่าหาทางออกเสมอ ไม่ใช่นอนจมอยู่เหมือนหมูจมปลักเช่นนั้น ผู้พิจารณาผู้ปฏิบัติตามจึงควรใช้การพินิจพิจารณา ในความหมายแห่งธรรมทั้งหลายที่ทรงแสดงไว้แล้วเหล่านี้ อย่างไรก็ไม่พ้นที่จะเห็นประจักษ์ในตน ขณะที่บำเพ็ญอยู่ในสถานที่ดังกล่าวนี้ต้องเห็นชัด ๆ ถ้าเป็นนักต่อสู้นักพิจารณาตามพระโอวาทที่ทรงสอนแล้ว จะไม่เป็นอย่างอื่น
เราเพียงตัวเท่าหนูก็ได้เห็นประจักษ์มาไม่รู้กี่ครั้งกี่หนแล้ว และกล้าที่จะพูดต่อเพื่อนฝูง ไม่เพียงแต่ว่าเป็นพระโอวาทที่ทรงสั่งสอนมาแล้ว ว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ หรือในป่าในถ้ำเงื้อมผา อันเป็นที่เปลี่ยว ๆ น่าหวาดเสียว น่ากลัวต่อภัยทั้งหลายเป็นอย่างยิ่งนั้นเลย นั่นเป็นพระโอวาทที่พระพุทธเจ้าทรงสอนทรงรู้ทรงเห็นมาแล้ว อะไรล่ะที่จะเป็นพยานหลักฐานเป็นเครื่องยืนยัน ว่าพระโอวาทนี้เป็นพระโอวาทที่แม่นยำที่สุดต่อผู้ปฏิบัติ ก็ต้องเราเป็นผู้เข้าทดสอบกัน ให้ได้เห็นดำเห็นแดงกันในการอยู่สถานที่เช่นนั้น และการบำเพ็ญตนตลอดถึงการประสบเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสถานที่ดังกล่าวนี้ เราจะมีวิธีการอย่างไรต่อการต่อสู้สิ่งเหล่านั้น นั่นละสติปัญญาจะมาเอง
ทีแรกเราก็คาดก็หมาย ว่าจะทำอย่างโน้นบ้างว่าจะทำอย่างนี้บ้าง แต่พอไปเจอสถานที่ดังกล่าวเหล่านี้เข้าไปจริง ๆ แล้ว สติปัญญาจะพร้อมกันทันทีทันใด เรื่องศรัทธาความเชื่อต่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์จะหมุนตัวเข้าสู่จิตดวงเดียวนี้ เพราะธรรมอยู่ที่จิต ธรรมสัมผัสที่จิต ธรรมเกิดที่จิต เมื่อเราระลึก ระลึกเมื่อไรเกิดเมื่อนั้น เช่น ระลึก พุทโธ นั่นขึ้นแล้วเห็นไหม ธัมโม ปรากฏขึ้นที่จิตแล้ว สังโฆ ปรากฏขึ้นที่จิตแล้ว ไม่ปรากฏที่ไหน ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่มี มีอยู่ที่จิตแห่งเดียว เพราะฉะนั้นธรรมท่านจึงบอกว่าธรรมเกิดที่ใจ อยู่ที่ใจ สัมผัสสัมพันธ์ที่ใจ ให้ระลึกขึ้นที่ใจ ปฏิบัติต่อตนโดยทางใจ มีสติปัญญาเป็นเครื่องควบคุมรักษาเป็นของสำคัญมาก แน่ะ
ทีนี้เมื่อเราได้เข้าสู่สงครามทำหน้าที่ตามที่พระองค์ท่านสั่งสอนจริง ๆ แม้จะไม่มากมายก่ายกองพิสดารไปอะไรนักหนาก็ตาม เพียงภูมิของเราเท่าหนูนี้เราก็จะทราบ หรือเราทราบได้โดยไม่ต้องสงสัย เห็นกันได้อย่างชัดเจน เช่น ความกลัว กลัวจนขนาดตัวสั่น ถึงกับจะหาที่ปลงที่วางไม่ได้ และตัดสินใจกันอย่างใดล่ะ เมื่อจะหาที่ปลงที่วางความกลัวนี้ไม่ได้ ปลงลงที่ความตาย ตายกับพุทธะ ตายกับธรรมะ ตายกับสังฆะ ที่เกิดที่มีอยู่ภายในจิตนี้ ไม่สนใจที่จะแยกจิตให้ส่ายแส่ไปหาสิ่งใดก็ตามที่เห็นว่าเป็นภัย นอกจากสิ่งที่ไม่เป็นภัยคือเป็นคุณล้วน ๆ ได้แก่ธรรมที่อยู่กับใจนี้เท่านั้น
เมื่อจิตหมุนติ้วอยู่กับธรรมล้วน ๆ นี้แล้ว จะเป็นพลังขึ้นมาที่ใจของตนเองเพราะธรรมเกิดที่นั่น และสร้างกำลังฟักตัวขึ้นที่นั่น สร้างกำลังขึ้นที่นั่นอย่างรวดเร็วด้วยความสนใจใคร่จะรู้จะเห็น ใคร่จะพึ่งเป็นพึ่งตายกับธรรมโดยแท้ ธรรมย่อมปรากฏขึ้นมา ถึงกับเป็นความสว่างกระจ่างแจ้ง ความสงบ ความแน่นหนามั่นคงของใจ ภูเขาทั้งลูกสู้ไม่ได้พูดถึงเรื่องความแน่นหนามั่นคงของใจ ใจจึงเหนือสิ่งใด ๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความลึกซึ้ง ความละเอียด ความแยบคาย ความแน่นหนามั่นคง ใจเป็นที่หนึ่งทั้งนั้น
เมื่อได้ปรากฏเข้าอย่างนั้นแล้วกับตัวเอง ทำไมจะไม่เชื่อพระพุทธเจ้าผู้ทรงสั่งสอนว่าให้ไปอยู่ในที่เช่นนั้น ๆ เพื่อจะได้เห็นเหตุการณ์และปฏิบัติต่อตัวเอง ถึงกับเห็นผลขึ้นมาประจักษ์ใจเป็นสักขีพยานต่อธรรมทั้งหลาย ว่าท่านสอนนั้นธรรมเป็นสวากขาตธรรมโดยแท้ เพราะใจเป็นเครื่องยืนยัน ใจเป็นผู้ยืนยัน
เมื่อใจเป็นผู้ยืนยันแล้ว ย่อมจะเชื่อพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องเห็นพระองค์ท่านก็ตามเถอะ ธรรมนั้นแลคือองค์พระศาสดา ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ก็เวลานี้เราเห็นอะไร สมาธิธรรมก็เป็นธรรมแล้วใช่ไหม นั่น ความแน่นหนามั่นคงอย่างถึงใจคือสมาธิธรรมอย่างละเอียด นั่นก็เป็นสมาธิธรรม นั่นก็คือองค์แห่งธรรม เมื่อเห็นองค์แห่งธรรมนี้อยู่แล้วในหัวใจของเรา ทำไมจะสงสัยพระพุทธเจ้าว่าสอนผิดไป ยิ่งกว่านั้นสติปัญญายังสามารถแยกแยะสิ่งทั้งหลายออก ให้แตกกระจัดกระจายเป็นดินเป็นน้ำเป็นลมเป็นไฟเป็นธาตุต่าง ๆ ออกจากความเป็นความตาย ออกจากความกลัวความอะไรไปเสียหมด ไม่มีอะไรเหลือ แล้วกลัวอะไร
จิตก็มีแต่ความจริงเต็มหัวใจ แล้วกลัวอะไรความจริง ความจริงไม่ใช่เรื่องกลัว ความปลอมต่างหากมันกลัว นั่น เมื่อความจอมปลอมออกจากหัวใจหมดแล้วเหลือแต่ความจริงล้วน ๆ กับธรรมเป็นอันเดียวกันแล้ว อยู่ไหนก็อยู่ได้ เป็นสักขีพยานขององค์ศาสดา และกราบพระองค์ท่านอย่างสนิทไม่สงสัย ในสถานที่ที่กลัว ๆ ในขณะก่อนนั้นแล แต่กลายเป็นสถานที่กล้าที่สุดในหัวใจของผู้ปฏิบัติขึ้นในเวลานั้น และเป็นองค์พยานแห่งศาสดาโดยไม่ต้องสงสัยในตัวเอง นี่ละการปฏิบัติ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วท่านก็เรียกว่าเห็นธรรม
การเห็นธรรมทางด้านจิตใจกับการเห็นสิ่งต่าง ๆ ทางตา รู้สิ่งต่าง ๆ ทางเสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ต่างกันมาก ไม่ได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่ยืนยันได้ก็คือว่า ตาได้เห็นสิ่งใดแล้วไม่สงสัย หูได้ยินสิ่งใดแล้วไม่สงสัย จมูกได้รู้กลิ่นอะไรแล้วไม่สงสัย นั่นมันใหญ่ไปคนละทาง ๆ ท่านจึงเรียกว่าอินทรีย์ ๆ คือความเป็นใหญ่ ตาเป็นใหญ่ทางเห็น ไม่มีใครจะไปขัดแย้งตาได้ หูจะไปขัดแย้งตาก็ไม่ได้ หูก็เป็นใหญ่ทางเสียงทางได้ยินได้ฟังและทราบชัดไม่มีอะไรที่จะไปคัดค้านได้ เพียง ๒ ประโยคเท่านี้ก็เป็นเครื่องกระจายไปหมดในอายตนะทั้ง ๖ นี้ เพราะเป็นใหญ่ในตัวของตัวเอง
ทีนี้จิตเป็นวิสัยที่จะรู้จะเห็นสิ่งต่าง ๆ เมื่อได้รู้ได้เห็นขึ้นภายในจิตใจแล้วอะไรจะมาคัดอะไรจะมาค้าน ตาหูจมูกลิ้นกายเป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะรู้จะเห็นจริง ๆ โดยหลักธรรมชาติของใจที่จะรู้ นั่นละท่านเรียกว่ารู้ธรรมเห็นธรรม เราเห็นสิ่งใดด้วยตา เราย่อมอาจหาญที่จะพูดได้ตามสิ่งที่เห็นนั้น ตามสิ่งที่ได้ยินนั้น ตามสิ่งที่สัมผัสสัมพันธ์นั้น ๆ ไม่สงสัย ใจเมื่อได้สัมผัสสัมพันธ์ธรรมประเภทใดแล้วก็ย่อมจะหายสงสัยประจักษ์ใจ มีความองอาจกล้าหาญเต็มหัวใจที่จะแสดงออกได้โดยไม่ต้องสงสัยเช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้นี้ จึงไม่ได้ผูกขาดกับผู้หนึ่งผู้ใดจะรู้เพียงผู้เดียว ใครก็ตามได้ปฏิบัติตามสวากขาตธรรมนี้แล้ว มีสิทธิ์ที่จะรู้จะเห็นประจักษ์ตัวเองเต็มภูมิแห่งการปฏิบัติของตัวเอง และสามารถที่จะแสดงออกได้เต็มภูมิของตัวเองโดยไม่สะทกสะท้าน นี่จึงเรียกว่าเห็น การพูดด้วยความรู้การพูดด้วยความเห็น การแสดงออกด้วยความสัมผัสสัมพันธ์จริง ๆ แล้ว ย่อมจะไม่สงสัยในสิ่งที่แสดงออกทั้งหมด
นอกจากเราเพียงได้ยินคำบอกเล่าเท่านั้น เป็นไปได้ในความสงสัย ถึงจะรู้ภาษีภาษากันก็ตาม ว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น ๆ ก็เป็นความจำ จำมาแล้วก็ไม่พ้นที่จะมารบกวนตนเองให้เกิดความสงสัยอยู่นั่นแล ต่อเมื่อตนเองได้สัมผัสสัมพันธ์จริง ๆ ด้วยใจนี้แล้ว ไม่ว่าสมาธิธรรม เอ้า ยกถึงเรื่องสมาธิขึ้นมา จะเป็นสมาธิขั้นใดก็ตาม อ๋อ สมาธิเป็นอย่างนี้ละเหรอ นั่น ใครมาบอก ก็จิตเป็นผู้รู้ สมาธิกับจิตเท่านั้นเป็นคู่เคียงกันที่จะรู้กันอย่างถนัดชัดเจนภายในจิตใจ นั่น อ๋อ สมาธิเป็นอย่างนี้เหรอ สมาธิขั้นใด อ้อ เป็นอย่างนี้เหรอ ๆ นั่น
ปัญญาเริ่มแรกตั้งแต่ปัญญาล้มลุกคลุกคลาน จนกระทั่งถึงปัญญาขั้นมีความสามารถแก่กล้า ถึงขั้นมหาสติมหาปัญญา จะทราบตนได้โดยลำดับ ว่าปัญญาอย่างนี้ละเหรอ ปัญญาเกิดเป็นอย่างนี้เหรอ ธรรมเกิดเป็นอย่างนี้เหรอ นั่นรู้ได้ชัด ๆๆ โดยไม่ต้องไปถามใครแหละ เพราะ สนฺทิฏฺฐิโก พระองค์ทรงผ่านมาแล้วและสอนโลกให้ผู้ปฏิบัติไว้ด้วย สนฺทิฏฺฐิโก ว่าจะเป็นผู้รู้ผู้เห็นเองจากการปฏิบัติของตัวเอง
ปัญญาที่ว่าเป็นธรรมสังหารกิเลสนั้น สังหารอย่างไร เราอ่านตามคัมภีร์ใบลาน เรียนมาเท่าไรก็ตาม ไม่ได้ประมาทไม่ว่าท่านว่าเรา เพราะการเรียนเป็นภาคความจำไม่ใช่ภาคความจริงสังหารกิเลส จึงได้แต่ภาคความจำ แล้วก็ไม่พ้นที่จะเกิดความสงสัยอยู่นั้นแล ต่อเมื่อความจริงได้หยั่งทราบถึงกันและกันแล้ว เอ้า ที่นี่ยกตัวอย่างเช่นการฆ่ากิเลส ฆ่าอย่างไร นี่ก็ไม่ต้องถามใคร ความโลภนี่เป็นกิเลสตัวหนึ่ง ความโกรธเป็นกิเลสตัวหนึ่ง ความหลงเป็นขั้น ๆ จนกระทั่งถึงขั้นละเอียดสุดของความหลงก็เป็นกิเลสแต่ละประเภท ๆ ราคะตัณหาเป็นกิเลสประเภทหนึ่ง การสังหารกิเลสเหล่านี้สังหารด้วยอะไร สังหารด้วยปัญญา
ฟังซิว่าขนาดปัญญา ทำไมจะไม่ทราบการสังหารกิเลสด้วยตนเอง โดยวิธีการใด ปัญญาต้องทราบละเอียดลออ ปัญญาต้องแหลมคม ปัญญาต้องรอบตัวถึงจะฆ่ากิเลสได้ และฆ่ากิเลสจนถึงฉิบหายวายปวงไปโดยลำดับลำดา จนกระทั่งไม่มีเหลือภายในจิตใจแล้ว ทำไมปัญญาจะมาสงสัยตนเอง ถึงขั้นฆ่ากิเลสหมดไปจากใจแล้ว ก็มีแต่ความบริสุทธิ์พุทโธเด่นดวงขึ้นมา สามารถที่จะพูดได้สามแดนโลกธาตุ เพราะจิตเป็นผู้สัมผัสสัมพันธ์ทำไมจิตจะพูดไม่ได้ เมื่อเครื่องมือมีอยู่คือกายอวัยวะของเรามีอยู่ จิตเป็นผู้แสดงตัวออกมาจากความรู้ความเห็นของตน นี่ละท่านว่าการเห็นธรรมเห็นอย่างนี้
ที่ว่าวิมุตติหลุดพ้น พ้นที่ไหน ก็เราติดมากี่กัปกี่กัลป์ ถึงเราไม่ทราบว่าตัวติดก็ตาม เพราะเรื่องของความมืดดำย่อมทราบไม่ได้ โดนสะดุดจนหัวแม่เท้าแตกเลือดสาดมันก็มองไม่เห็นจะว่ายังไง เพราะสิ่งที่ไม่ให้เห็น สิ่งที่ปิดบังมันมีอยู่ ต่อเมื่อหูตาภายในสว่างกระจ่างแจ้งแล้ว ทำไมฆ่ากิเลสตัวไหนลงไป ขาดสะบั้นลงไปจะไม่รู้ แล้วทีนี้จิตนี้ติดอะไร ๆ ทั้ง ๆ ที่แต่ก่อนเราไม่เคยรู้เคยเห็น ว่าจิตนี้ติดอะไร มีอะไรผูกมัดจิตใจ มีอะไรบีบคั้นจิตใจ มีอะไรทับถมหัวใจจึงก้าวไม่ออกตามความต้องการของตน
ต่อเมื่อสติปัญญาได้ฟาดฟันหั่นแหลกเข้าไป ตรงจุดที่ว่ามืดบอดนั้นแล้วปรากฏเป็นความสว่างกระจ่างแจ้งขึ้นมานี้แล้ว ทำไมจะไม่รู้ว่ากิเลสนี้เป็นตัวมืดแต่ก่อน บัดนี้สว่างแล้วเพราะกิเลสสิ้นไปหายไป นั่นละท่านว่า อาโลโก อุทปาทิ ความสว่างโร่ขึ้นภายในจิตใจ เพราะกิเลสสิ้นซากลงไปแล้ว นั่น ท่านแสดงไว้แล้วในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร นี่เป็นอย่างนี้
เมื่อปัญญามีความละเอียดมากเข้าเพียงไร กิเลสประเภทใดที่ได้สังหารลงไปแล้วไม่มีเหลือก็ทราบ ที่ยังมีมากมีน้อยเพียงไรก็ทราบ ๆ ไปโดยลำดับ และตามตีตามต้อนเข้าไปโดยลำดับ เหมือนกับไฟได้เชื้อ ไหม้กันเข้าไป เผากันเข้าไปด้วยตปธรรม ได้แก่ความเพียร มีปัญญาเป็นเครื่องมืออันสำคัญ จนกระทั่งสิ่งทั้งหลายเหล่านี้พังลงหมดจากหัวใจแล้ว ทีนี้หัวใจเกี่ยวข้องกับอะไร ตั้งแต่ก่อนเป็นอย่างไรก็ทราบแล้วที่นี่ เพราะปัญญาหยั่งทราบไปหมดในสิ่งที่มาเกี่ยวข้องพัวพันหรือผูกมัดตนเอง ได้ถูกทำลายลงไปหมดแล้ว ทีนี้ยังเหลืออะไร ตามต้อนกันเข้าไปจนกระทั่งไม่มีอะไรเหลือเลยภายในจิตใจนี้แล้ว นั้นแหละท่านเรียกว่าจิตบริสุทธิ์
ใครบริสุทธิ์ก็รู้ แม้แต่เด็กอายุ ๗ ขวบบริสุทธิ์ท่านยังรู้ท่าน ทำไมเราจะไม่รู้เราขณะนี้อายุเท่าไร นี่จะเข้าโลงอยู่แล้ว เวลานี้ยังจะไม่ทราบอยู่เหรอ เมื่อถึงขั้นที่ควรจะทราบ ทราบได้ด้วยกันทั้งนั้นแหละ เพราะธรรมนี้เป็น สันทิฏฐิกธรรม เป็นธรรมที่จะพึงรู้พึงเห็นด้วยตนทั้งนั้น พระพุทธเจ้าไม่มาผูกขาด ไม่มาชี้แจงไม่มาบอก ดังพระสารีบุตรที่ว่า แต่ก่อนก็ถือพระองค์เป็นเครื่องรับรอง เป็นเครื่องยืนยัน เป็นสักขีพยาน เป็นที่พึ่งที่เกาะ แต่บัดนี้ไม่พึ่งแล้ว นั่นพระสารีบุตรพูด ในตำรามี เวลานี้ไม่พึ่งแล้ว ไม่พึ่งพระพุทธเจ้า ไม่พึ่งอะไรแล้ว ฟังซิ
จนกระทั่งพระปุถุชนทั้งหลายที่หนาแน่นด้วยกิเลส ไม่ทราบความหมายอันลึกซึ้งของธรรมประเภทนี้แล้วเข้ากราบทูลฟ้องร้องพระพุทธเจ้า ว่าพระสารีบุตรเป็นมิจฉาทิฐิ เห็นผิด แต่ก่อนเคยพึ่งพระศาสดา เคยพึ่งพระองค์ เคยพึ่งอะไร ๆ ก็ตาม บัดนี้พระสารีบุตรบอกว่าไม่พึ่งอะไรแล้ว ว่าอย่างนั้น พระสารีบุตรกลายเป็นมิจฉาทิฐิอย่างใหญ่หลวงไปแล้วเวลานี้ แต่พระองค์ ฟังซิว่าศาสดาองค์เอก ไม่ได้ทรงตำหนิพระสารีบุตรแม้ประโยคเดียวนิดหนึ่งเลย ทรงรับสั่งให้พระสารีบุตรเข้าเฝ้าในท่ามกลางแห่งสงฆ์ตาบอดทั้งหลายเหล่านั้น ให้ได้ยินได้ฟังระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระสารีบุตรซึ่งเป็นจอมปราชญ์ด้วยกัน สนทนาธรรมอันละเอียดแหลมคมที่สุดเหนือโลกธาตุ เหนือปุถุชนทั้งหลายเหล่านี้ ให้ได้ฟังทั่วถึงกันในเวลานั้น
ว่าอย่างไรสารีบุตร ว่าเธอไม่พึ่งเรา เธอไม่พึ่งอะไร ๆ ทั้งนั้นใช่ไหม ใช่พระเจ้าข้า นั่นฟังซิ ท่านทูลตอบรับพระพุทธเจ้า ใช่พระเจ้าข้า เอ้า เพราะเหตุไร เอ้า ชี้แจงเหตุผลมา แต่ก่อนข้าพระองค์ได้พึ่งพระพุทธเจ้าเพื่อแนะนำสั่งสอนอย่างนั้น ๆ ถึงจะก้าวไปได้ เดินไปได้ ต้องอาศัยธรรมบทนั้น ๆ เป็นเครื่องแก้เครื่องถอดเครื่องถอน จึงแก้จึงถอดถอนกิเลสทั้งหลายได้ บัดนี้ข้าพระองค์ได้ถอดถอนกิเลสให้สิ้นซากไปจากใจโดยสิ้นเชิงไม่มีอะไรเหลือ คำแนะนำสั่งสอนของพระองค์ที่จะมาสั่งสอนเพื่อแก้อะไร ๆ อีกไม่มี นี่ละข้าพระองค์จึงอยู่ด้วยความเป็นอิสระพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่หวังพึ่งอะไรทั้งสิ้น เวลานี้ไม่พึ่งอะไรทั้งสิ้น เพราะความบริสุทธิ์เป็นธรรมชาติที่พอตัวแล้ว นั่นฟังซิ
เอ้อ ถูกต้องแล้วสารีบุตร นั่น พระพุทธเจ้าทรงคัดค้านไหม ถูกต้องแล้ว สารีบุตร ต้องทำตนให้เป็นอย่างนั้น เราตถาคตก็เป็นแต่เพียงผู้ชี้บอก ท่านจึงกล่าวว่า ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา การประกอบความพากเพียรเป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลายจะพึงทำเองและรู้เองเห็นเอง พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นแต่เพียงผู้ชี้บอกแนวทางเท่านั้น ไม่ใช่เป็นผู้ถอดถอนกิเลสทั้งหลายให้ผู้บำเพ็ญ นั่นฟังซิ
อันนี้เราตถาคตแสดงแนวทาง แสดงวิธีการถอดถอนกิเลสโดยประการทั้งปวงให้ท่านทั้งหลายฟัง เมื่อท่านทั้งหลายได้ดำเนินตามหลักที่เราสอนนี้แล้ว จนถึงกับบำเพ็ญตนให้สมบูรณ์เต็มที่ หาที่เกาะที่ติดที่ยึดไม่ได้ ไม่มีอันใดที่จะมากดขี่บังคับจิต เป็นจิตที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ แล้ว นั้นเป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติจะพึงทราบตนเองโดย สนฺทิฏฐิโก นั่นฟังซิ เมื่อถึงขั้นนี้แล้วไม่พึ่งอะไรก็ถูก จะพึ่งอะไร เมื่อถึงขั้นนี้พึ่งอะไร ทั้ง ๆ ที่แต่ก่อนก็เกาะติดแนบพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ด้วยกันทั้งนั้น ยิ่งจิตมีความละเอียดเข้าไปมากน้อยเพียงไร ถ้าเป็นช้างก็เป็นช้างประจำควาญทั้งนั้น ถ้าไม่ใช่ควาญมัน มันฆ่าช้างน่ะ มันไม่ยอมลง ต้องเป็นควาญของมันเท่านั้นมันถึงจะยอมลง
นี่ก็เหมือนกัน ต้องเป็นอาจารย์ของเราที่แนะนำถูกต้องแม่นยำในวิธีการต่าง ๆ ในการถอดถอนกิเลสทุกประเภทเท่านั้น ถ้าสอนผิดนี้ไม่ยอมรับ นั่น จิตละเอียดเข้าไปเท่าไร ยิ่งครูอาจารย์เป็นผู้ละเอียดที่จะสอนถูกต้องแม่นยำทุกกระเบียด สอนผิดนิดหนึ่งนอกจากจะเป็นเครื่องประกาศภูมิของตนให้ลูกศิษย์ผู้มาศึกษานั้นฟังแล้ว ยังขายตัวเองอีกด้วยว่าไง นอกจากขายแล้วยังก้าวไม่ออกอีกด้วย ไม่ทราบจะก้าวไปยังไง สอนอย่างนี้สอนไม่ถูก นี่ละการสอนเป็นอย่างนี้
ธรรมละเอียดเท่าไรก็ยิ่งครูอาจารย์เป็นสิ่งสำคัญมาก ต่อเมื่อได้ผ่านพ้นไปหมดโดยประการทั้งปวงแล้ว สาธุ เรื่องคุณค่าไม่มีอะไรยิ่งกว่าพระอรหันต์ที่เห็นคุณค่าของครูของอาจารย์ ยกตัวอย่างเช่นพระสารีบุตรกราบไหว้พระอัสสชิ ไปอยู่ทางใดทิศใดก็ตามกราบไหว้ไปเสียก่อน ถึงจะนอนหรือถึงจะทำความพากเพียร แต่พระสารีบุตรไม่ได้ปรากฏว่าจะไปถามธรรมะกับพระอัสสชิบทใดบ้างบาทใดบ้าง ที่เห็นว่าติดข้องอยู่ยังแก้ไม่ตก ไม่มี นี่ละไม่ทูลถาม พระองค์ก็เหมือนกันอย่างนี้ นี่เรียกว่าอิสรธรรมโดยแท้ ผู้ปฏิบัติเป็นอย่างนี้ นี่เรียกว่ารู้ธรรมเห็นธรรมจากการปฏิบัติด้วยการพินิจพิจารณา
อย่าใช้แต่เท้าให้ใช้หัวด้วย มีแต่ก้าวเดิน ๆ ไม่ได้ใช้หัวคิดปัญญาพินิจพิจารณาในสิ่งต่าง ๆ ด้วยความแยบคาย จะหาทางก้าวไปไม่ได้นะ เช่น ไปอยู่ในป่าในเขาในสถานที่ที่บำเพ็ญ กลับไปสร้างนั้นสร้างนี้ขึ้นมาใหญ่โตรโหฐาน หมดโลกสงสารยังสู้ไม่ได้ นั่นมันถูกต้องไหมกับเหตุการณ์สถานที่ที่ควรจะทำเช่นนั้นหรือไม่ควรทำ ถ้าผู้พิจารณาแล้วจะทำไม่ลง นี่ละเหตุผลเป็นอย่างนี้ สถานที่ในป่าในเขาเป็นสถานที่เหมาะสมกับการบำเพ็ญเท่านั้น ไม่ใช่เป็นสถานที่ที่จะก่อสร้างนั้นสร้างนี้ให้เป็นตลาดลาดเลขึ้นมา เต็มไปด้วยฝูงชน เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงวุ่นวายในการก่อสร้างมันถูกที่ไหน เพียงเท่านี้พิจารณาไม่ได้ เราจะหาธรรมอันละเอียดลออมาจากไหนผู้ปฏิบัติน่ะ ต้องคิดซิ นี่ละเรื่องธรรมเป็นเช่นนี้
ต้องใช้เหตุใช้ผลพินิจพิจารณาเสมอ จะก้าวจะเดินจะเหินไปไหนจะต้องมีพินิจพิจารณาตามไปเสมอ จึงเรียกว่าใช้หัวคิดปัญญา ผู้ปฏิบัติเป็นอย่างนี้ ธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดลออมาก จากท่านผู้เป็นจอมปราชญ์แหลมคมที่สุดคือองค์ศาสดา เหตุใดเราผู้มาปฏิบัติจึงโง่เง่าเต่าตุ่นเซ่อ ๆ ซ่า ๆ กิริยาอาการเคลื่อนไหวไปมาอันใด หาความคิดความอ่าน หาความเฉลียวฉลาดไม่ได้ จะเอาอะไรไปฆ่ากิเลส เอาความโง่ไปฆ่ากิเลส เราก็โง่เพราะกิเลสฆ่าเราอยู่แล้วเวลานี้ เรายังไม่ทราบ ยังไม่เห็นโทษของกิเลสบีบบังคับเราให้โง่อยู่เหรอ เรายังจะเอาความโง่ไปฆ่ากิเลสได้ยังไง นอกจากจะเอาสติปัญญาศรัทธาความเพียรเข้าไปฆ่ากิเลสเท่านั้นมันถึงจะถูกต้อง
นี่ละธรรมของพระพุทธเจ้าละเอียดอย่างนั้น ละเอียดที่สุดไม่มีอะไรที่จะเกิน ขอให้ธรรมกับใจกลมกลืนเป็นอันเดียวกันเถอะ เราจะได้เห็นหมดทั้งสามแดนโลกธาตุนี้ ว่าไม่มีอะไรเหมือน ไม่เหมือนกับอะไร ไม่มีอะไรที่จะมาเป็นคู่แข่ง หมดจริง ๆ ท่านจึงเรียกว่าโลกุตรธรรม แปลว่าธรรมเหนือโลก คือโลกสมมุติโดยประการทั้งปวง เหนือหมด จิตดวงที่บริสุทธิ์แล้วเป็นเช่นนั้น เราไม่ต้องคอยไปถามพระพุทธเจ้าพระองค์นิพพานแล้วก็ตาม แม้ยังทรงพระชนม์อยู่ก็ไม่ถาม ถามทำไม ธรรมะอันนี้อยู่กับหัวใจของผู้สัมผัสธรรมอย่างเต็มที่แล้วด้วยกัน จึงไม่มีอะไรจะถามกัน สนฺทิฏฺฐิโก ๆ โดยลำดับจนกระทั่งถึง สนฺทิฏฺฐิโก เต็มภูมิ แล้วจะถามใครหาอะไร
อันนี้ก็เคยได้พูด เคยได้เทศน์ยกตัวอย่างว่า พระอัญญตรภิกขุ กำลังดำเนินธรรมะขั้นสูง ถ้าจะพูดถึงเรื่องขั้นของธรรมแล้วเป็นธรรมขั้นสูงอยู่มากทีเดียว เกิดข้อข้องใจสงสัยในนามขันธ์นี้แหละ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เฉพาะอย่างยิ่ง สัญญา สังขาร เป็นของสำคัญมาก นี่ใช้กันตลอดเวลา พิจารณาเกิดความข้องใจสงสัยในธรรมทั้งหลายที่กล่าวมาเหล่านี้ แล้วไปทูลถามพระพุทธเจ้า พอไปถึงใต้ถุนพระคันธกุฎีเท่านั้น ฝนกระหน่ำลงมา ขึ้นทูลถามไม่ได้ก็ยืนกำหนดอยู่นั้น เวลาฝนตกหยดย้อยจากชายคาลงมาถูกน้ำที่อยู่พื้น น้ำข้างบนกับข้างล่างกระทบกันปรากฏเป็นต่อมเป็นฟองขึ้นมาและดับไป ๆ
ท่านก็พิจารณาเทียบกับเรื่องสังขาร เรื่องสัญญาที่เกิดแล้วดับไป ๆ หมายแล้วดับไป สำคัญมั่นหมายอันใดแล้วดับไป ๆ เกิดขั้นมาจากไหนดับไปที่นั่น นี่เกิดขึ้นมาจากใจดับไปที่ใจ เหมือนอย่างน้ำเกิดขึ้นมาจากไหน กระทบกันที่ไหน น้ำกับน้ำกระทบกันมันก็ดับไปที่น้ำนั้น ท่านพิจารณาอย่างนี้เลยบรรลุธรรมเสีย ถึงจุดสุดยอดแห่งธรรมเลย ได้บรรลุอรหัตธรรมในขณะที่พิจารณาฟองน้ำที่กระทบกันในขณะฝนตกนั้น เทียบกับสังขารที่เกิดแล้วดับ ๆ อยู่ภายในจิตใจ แล้วหายสงสัย เวลาฝนหยุดก็เดินกลับกุฎีของตน ไม่ขึ้นไปทูลถามพระพุทธเจ้า เมื่อถูกถามว่าทำไมจึงไม่ไปทูลถาม ก็จะถามท่านอะไร จึงได้เล่าเรื่องอันนี้ออกมาเป็นนิทานให้เราทั้งหลายทราบ นั่นแหละ สนฺทิฏฺฐิโก เต็มภูมิแล้ว อยู่ที่ไหนก็รู้ ถึงขั้นที่ควรจะสอนตนได้ อะไร ๆ เป็นธรรมทั้งนั้น
ดังพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านพูดเวลาพระมหาเถระถามท่านว่า ท่านมั่นท่านอยู่องค์เดียวในป่าในเขาเช่นนั้น เวลาเกิดข้อข้องใจสงสัยในอรรถในธรรมมา ท่านไปปรึกษาปรารภกับใคร พอพระมหาเถระถามอย่างนั้นท่านก็ยกมือขึ้น สาธุ กระผมขอประทานโอกาสไม่ได้ประมาทในสิ่งทั้งหลายโดยประการทั้งปวง กระผมฟังเทศน์อยู่ทั้งกลางวันกลางคืนไม่ได้หยุดหย่อนเลย เพราะความสัมผัสสัมพันธ์ระหว่างจิตกับสิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกัน เฉพาะอย่างยิ่งคือขันธ์ทั้ง ๕ อาการของขันธ์แสดงตัวอยู่เสมอ ผู้ที่พิจารณาขันธ์คือสติปัญญาพินิจพิจารณากันอยู่ตลอดเวลานั้นแล คือการฟังเทศน์ทั้งวันทั้งคืนไม่ได้หยุดหย่อนเลย พระมหาเถระนิ่งทันที เอ้อ เธอฟังเทศน์เป็น เรานี่ไม่เป็นท่า ท่านว่า นี่มี เราเขียนไว้ในประวัติของท่านก็มีท่านพูดเอง อันนี้ชัดเจนมากทีเดียว แล้วเข้าถึงจิตทันที นี่ละเป็นอย่างนี้ละ ฟังซิ นั่นละท่านว่าฟังธรรมทั้งกลางวันกลางคืน
ถึงขั้นที่ควรจะได้ฟัง ควรฟังธรรมทั้งกลางวันกลางคืนแล้วต้องฟังอย่างนั้น อยู่คนเดียวเป็นที่แนบสนิทใจมากกว่าอยู่กี่คนก็ตาม เพราะเป็นความสะดวก เนื่องจากการฟังเทศน์การฟังธรรม การพิจารณาธรรมทั้งหลายที่เกิดโดยอัตโนมัติโดยลำพังตนเอง กับสติปัญญาก็เป็นสติปัญญาอัตโนมัติโดยลำพังตนเอง เรียกว่าภาวนามยปัญญาแล้ว ย่อมจะพิจารณากันได้ตลอดทั่วถึงทั้งวันทั้งคืน ทุกอิริยาบถ ไม่กำหนดกฎเกณฑ์ว่าเวลาเท่านั้นทำความเพียรอันนั้น เวลาเท่านี้ทำความเพียรอันนี้ เพราะธรรมกับใจสัมผัสสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา ทั้งฝ่ายทุกข์ ฝ่ายสมุทัย ทั้งฝ่ายมรรค ตะลุมบอนกันอยู่ตลอด จนกระทั่งกิเลสฝ่ายทุกข์ สมุทัย ได้พังพินาศไปเสียจากใจแล้วเท่านั้น เรื่องมรรคซึ่งหมุนตัวเป็นเกลียวเป็นธรรมจักรอยู่จึงจะยุติลง โดยไม่ต้องให้ใครมาห้าม นั่น เมื่อถึงขั้นยุติแล้วยุติเอง นี่ละการปฏิบัติธรรม
ธรรมเหล่านี้สมัยนี้กับครั้งพุทธกาลเหินห่างไปไหน ครึล้าสมัยที่ไหน ทุกข์ สมุทัยมีอยู่ในหัวใจเราไหม แล้วมันล้าสมัยไหม มันหลอกอยู่ตลอดเวลา ทำไมเราเชื่อมันอยู่ตลอดเวลา ไม่เห็นได้พูดเลยว่าสิ่งเหล่านี้เราเคยเห็นแล้ว สิ่งเหล่านี้เราเคยรักแล้ว สิ่งเหล่านี้เราเคยชังแล้ว สิ่งเหล่านี้เราเคยเกลียดเคยโกรธมันมาแล้ว เราเบื่อมันจะตายแล้ว มันเป็นเดนไปแล้ว ทำไมไม่เห็นเป็นอย่างนั้น ทำไมจึงติดพัน ๆ ทั้งรักทั้งชัง ทั้งเกลียดทั้งโกรธ ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสล้วน ๆ หลอกอยู่ทั้งวันทั้งคืนไม่เห็นมันครึมันล้าสมัย ไอ้ผู้เชื่อก็ไม่มีคำว่าครึว่าล้าสมัย
ถ้าเป็นเรื่องของกิเลสมันเชื่อได้วันยังค่ำ นี้แหละที่มันหมุนหัวใจของเราให้ได้รับความทุกข์ความลำบาก แล้วมรรคมีสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรเป็นสำคัญไปอยู่ที่ไหน มันจึงได้ครึได้ล้าสมัยเอาเสียนักหนา ให้กิเลสเหยียบย่ำทำลายทั้งวันทั้งคืน ไม่นำออกมาใช้บ้างเหรอ เอาไว้ทำไม ผู้ปฏิบัติไม่เอาสิ่งเหล่านี้มาแก้กิเลสจะเอาอะไรแก้ ครั้งพุทธกาลท่านเอาอะไรแก้ ท่านเอาสิ่งที่กล่าวมานี้มาแก้กับกิเลส
กิเลสอยู่ที่หัวใจของเรา หัวใจก็ไม่เคยครึไม่เคยล้าสมัย รู้อยู่ตลอดเวลาในความรู้ของตน กิเลสแสดงขึ้นมาก็รู้ ความทุกข์ความลำบากมากน้อยเพราะอำนาจของกิเลสก็รู้ แล้วสติปัญญาที่จะนำมาใช้แก้กิเลสซึ่งมีอยู่ในหัวใจดวงเดียวกันนี้ ทำไมจะครึ ทำไมจะล้าสมัย ถ้าเราไม่ตั้งตัวเป็นคนครึคนล้าสมัย ขวางศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าเสียอย่างเดียวเท่านั้น จะเป็นอะไรไป เป็นเทวทัตก็เราเองเป็นผู้ทำลายเรา ทำลายอรรถทำลายธรรม ความจริงทั้งหลายกลายเป็นเรื่องความปลอมไปหมดในหัวใจของพระกรรมฐานเรา เป็นอย่างไรพิจารณาซิท่านทั้งหลาย
นี่สอนหมู่เพื่อนจนแทบเป็นแทบตายนั่นน่ะทุกวันนี้ ทำไมมันจึงไม่ถึงใจกันเสียบ้าง สอนนี้ไม่ได้สอนด้วยความสงสัย บอกตรง ๆ เลย เวลาล้มลุกคลุกคลานก็เล่าให้หมู่เพื่อนฟังเต็มเม็ดเต็มหน่วยทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ได้ลี้ลับปิดบัง ไม่ได้กลัวละว่าจะเสียหน้าเสียตา ไม่อ้ำไม่อาย อายไปทำไม ไอ้เรื่องดีเรื่องชั่วอยู่กับทุกคน รู้อยู่กับทุกคน เป็นอยู่กับทุกคนอายอะไร ถ้าความอายนั้นปราบกิเลสได้ก็ควรจะอาย แต่นี่ไม่เห็นมันปราบกิเลส มีแต่กิเลสมันปราบเราอยู่ตลอดเวลา เราจะพูดตามเรื่องความจริงของมันทำไมจะพูดไม่ได้
เวลาล้มลุกคลุกคลานก็เห็นชัด ๆ เอาจนน้ำตาร่วง นี่ก็เคยเป็นมาแล้วไม่ใช่มาพูดเฉย ๆ สู้กิเลสไม่ได้มันเหยียบเอาต่อหน้าต่อตาจนกระทั่งน้ำตาร่วง โถ ๆ มึงขนาดนี้เชียวหรือ กูจะมีกำลังสู้มึง เอา ๆ ให้มึงพังสักวันไม่ได้เหรอ ยังไงก็เอาเถอะน่ะ เหมือนกับว่าผูกโกรธผูกแค้น แต่โกรธแค้นอันนี้มันเป็นมรรค นั่นให้ท่านทั้งหลายทราบไว้นะ คำว่าโกรธว่าแค้นเราอย่าเข้าใจว่าเป็นกิเลสอย่างเดียว นี่ก็เป็นช่องทางให้กิเลสเอาไปใช้เสียหมด ธรรมหาทางก้าวเดินไม่ได้
กิเลสน่ะมันรุนแรงได้เต็มหัวใจของเรา แต่ธรรมรุนแรงไม่ได้ ถูกตำหนิติเตียนจากกิเลส นั่นเรายอมรับกิเลสไหม ธรรมรุนแรงไม่ได้กิเลสจะพังไปได้ยังไง กิเลสมีกี่ประเภท ประเภทที่เฉียบขาดที่สุดก็มี ประเภทที่ละเอียดแหลมคมที่สุดก็มี ประเภทที่หยาบโลนที่สุดก็มี ทำไมธรรมะซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะปราบกิเลสหลาย ๆ ประเภทนั้นจะปราบไม่ได้ มีไม่ได้ ถ้ามีไม่ได้เราจะบริสุทธิ์ได้ยังไง
เครื่องมือปราบกิเลสต้องให้พอกันซิ เมื่อกิเลสมันผาดโผนธรรมะต้องผาดโผน กิเลสแหลมคมธรรมะต้องแหลมคม กิเลสเฉียบขาดธรรมะต้องเฉียบขาด ไม่อย่างนั้นไม่ทันกัน นี้ละท่านเรียกว่ามรรค เช่นอย่างการผูกโกรธผูกแค้นอย่างนี้เป็นเรื่องของมรรค คือผูกโกรธผูกแค้นให้กิเลสมากเท่าไร ความขะมักเขม้น ความมีแก่ใจความมุ่งมั่นที่จะสังหารกิเลสนี้มันยิ่งหนักขึ้น ๆ นั่นละความเพียรยิ่งหนักขึ้นไปโดยลำดับลำดา สุดท้ายกิเลสก็พังได้ด้วยความโกรธความเคียดแค้นอันนี้ไม่สงสัย นี้ละท่านเรียกว่ามรรค
ไม่ใช่เอะอะก็จะเป็นกิเลสไปหมด ๆ อยากไปสวรรค์ อยากไปนิพพานก็เป็นกิเลส อยากอะไรก็เป็นกิเลส บทเวลากิเลสมันเหยียบหัวด้วยความอยากของมันจนตายแล้วตายเล่า เกิดแล้วเกิดเล่าอยู่นี้ ทำไมมันเป็นอะไร นั่น หือ พิจารณาดูซิ มันก็เป็นกิเลสใช่ไหมถึงเหยียบเราให้แหลกไปได้ ทำไมเราเป็นธรรมจะเหยียบกิเลสให้แหลกไม่ได้ถ้าไม่โง่กว่ากิเลสจนเกินไป ให้กิเลสเอาเครื่องมือคือธรรมทั้งหลายไปใช้เป็นเครื่องมือของมันเสียหมด เพราะความโง่ของเราเท่านั้น เอาให้มันจริงมันจังซินักปฏิบัติ
นี่ละธรรมะเครื่องปราบกิเลส ถึงคราวเด็ดมันต้องเด็ด มันหากเป็นในหลักธรรมชาติของตัวเอง เวลาได้ก้าวขึ้นสู่เวทีคือต่อสู้กับกิเลสแล้ว ยังไงมันก็ไม่ถอยถึงขั้นไม่ถอย ว่าแพ้ไม่มีนอกจาก เอา กิเลสไม่พังก็เราพังเท่านั้น แต่ความมุ่งมั่นเต็มหัวใจนั้นคือว่าจะเอาให้กิเลสพังอย่างเดียวเท่านั้น สุดท้ายกิเลสต้องพังไม่ต้องสงสัย เพราะธรรมะที่เผ็ดร้อนทันกันกับกิเลสทำไมจะฆ่ากิเลสไม่ได้ล่ะ นี่ซิการปฏิบัติมันถึงจะได้ทันกัน นี่ธรรมะเหล่านี้ครึ ล้าสมัยที่ไหน มีอยู่กับหัวใจ ทุกข์ สมุทัย ทันสมัยสักเท่าไร มรรคก็ต้องทันสมัยเช่นเดียวกัน แล้วนิโรธก็จะเป็นความดับกิเลสไปโดยลำดับ เพราะอำนาจของมรรคมีกำลังกล้าสามารถนั่นเอง นี่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายจงคำนึงเสมอ
เราอย่าให้แต่กิเลสมันเอาไปใช้หมด ถ้าเป็นเครื่องมือของธรรมแล้วเอาไปใช้หมด ๆ เอาซิถึงคราวที่เด็ด เด็ดลงไป มันควรตาย เอา ให้ตายเถอะน่ะ โลกอันนี้เกิดมาแล้วตายทั้งนั้น เราตายด้วยการต่อสู้ในสงครามระหว่างธรรมกับกิเลสแล้ว เอาให้เห็นเถอะน่ะ กุสลา ธมฺมา ของเราไม่ฉลาดทันกิเลสแล้วให้กิเลสมัน กุสลา เอาเสียด้วยความฉลาดของมัน ถ้าหากว่าเรามีความฉลาดแหลมคมพอแล้ว กุสลา กิเลสให้มันแหลกแตกกระจายไปหมดจากหัวใจนี่แล้วเลิศเลอละที่นี่ ถ้าลงถึงขั้นนี้แล้วไม่มีอะไรละจะเสมอ ไม่มีอะไรเทียบแล้ว นี่ธรรมท่านเป็นอย่างนั้น ถ้าลงเข้าสู่หัวใจแล้วเป็นอย่างนั้น ถ้ากิเลสเข้าสู่หัวใจแล้วเป็นอีกอย่างหนึ่ง แน่ะ
ผู้ปฏิบัติต้องคำนึงเสมอ ให้ใช้สติปัญญา อย่ามาอยู่งก ๆ งัน ๆ เด้น ๆ ด้าน ๆ มองไปไหนก็ขวางหูขวางตา มันมีแต่เรื่องของกิเลสแสดงออก ๆ รอบตัวอยู่ ไม่เห็นมีธรรมแสดงออกมาเลย ปฏิบัติยังไงจึงเป็นอย่างนั้น มันทำให้คิดนะ เพราะเหตุไร เพราะผู้สอนนี้สอนแทบเป็นแทบตาย สอนเพื่อความรู้ความฉลาดให้ทันกลมายาของกิเลสทุกแง่ทุกมุมที่มีอยู่ในหัวใจ และแสดงออกมาให้เห็น ไม่ให้มันมีเหลือเลย ด้วยอำนาจแห่งความฉลาดของธรรมที่สอนนี้น่ะ เรามุ่งอย่างนั้นต่างหาก
นี่วันนี้อธิบายถึงเรื่องวิธีการต่อสู้กับกิเลสให้ท่านทั้งหลายได้ฟัง เอาให้ถึงใจ ธรรมะอยู่ที่ใจเพราะกิเลสอยู่ที่ใจ กิเลสพังไปแล้วใจทั้งดวงเป็นธรรมทั้งแท่ง นั่นฟังซิ ให้เห็นที่ใจนี่ซิผู้ปฏิบัติ อย่าอยู่เฉย ๆ เอ้า เดินจงกรมก็เดินจนมันเมื่อยมันจะตายให้เห็นดูซิ เหมือนเขาทำงานทั้งหลาย เขาทำงานทั้งหลายนั้นเขาเกือบเป็นเกือบตายนะ เราหาความเพียรไม่ได้ หาความอดทนไม่ได้ เพียงเดินจงกรมหย็อก ๆ กลัวแต่จะตายแล้วมันได้เรื่องอะไร ทำเหมือนเขาทำงานนั่นซิ
เอ้า เดินจงกรมเดินมันจะเป็นยังไง ดูความทุกข์ มันเมื่อยมันหิวขนาดไหน เอ้าดู กำหนดดูมันจะเป็นยังไง ให้ถึงเหตุถึงผลถึงพริกถึงขิงกัน มันถึงจะได้คำพูดออกมาพูดด้วยจากการเดินจงกรม เมื่อย ๆ หิว ๆ จะเป็นตายนั้น เป็นธรรมขึ้นมาให้เราได้นำมาพูดหรือเป็นคติสอนเราเป็นอย่างดีไม่สงสัย เอ้า นั่งก็เหมือนกัน ถึงวาระที่จะฟาดกันลงให้สะบั้นหั่นแหลก เอ้า นั่งลงไป ปัญญาอย่าถอย อย่าไปนั่งเฉย ๆ ทนเฉย ๆ ไม่ใช่เรื่องความเพียร
เดินจงกรมเฉย ๆ ไม่มีสติปัญญาไม่เรียกว่าความเพียร นั่งเฉย ๆ และอยู่อิริยาบถใดก็ตาม อยู่เฉย ๆ สู้เฉย ๆ สู้กิเลสด้วยความทนเฉย ๆ อย่าเอาไปใช้ ไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้า ต้องมีสติปัญญาเป็นเครื่องห้ำหั่นกันเสมอ สู้กันด้วยสติสู้กันด้วยปัญญา สู้กันด้วยความพากเพียร ไม่ถอย นี่จึงเรียกว่าการต่อสู้ เอา มันจะเมื่อยจะหิวขนาดไหน ก็ให้มันเมื่อยมันหิวด้วยการต่อสู้แบบนี้ นี่ละแล้วยังไงก็จะได้เหตุได้ผลออกมาเป็นคติเครื่องเตือนใจ เครื่องสอนใจตนเอง ฝังอย่างลึกภายในจิตใจไม่มีวันลืม
เอ้า นั่งมากเป็นยังไง สู้กิเลสในขณะที่เรานั่งมันจะเป็นจะตาย เวลาจะตายมันยิ่งหนักยิ่งกว่านี้ เรานั่งอยู่นี้มันไม่ได้ถึงขั้นตาย แล้วทำไมจะสู้ไม่ได้ เอ้า ทุกข์มันมาจากไหน กำหนดดูเรื่องของทุกข์ที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของเรา มันเป็นยังไง เมื่อใจได้หนักแน่นในการพิจารณาแล้วทุกข์จะไม่มีภายในจิตใจ จะไม่แสดง นอกจากเรื่องความทุกข์ภายในร่างกาย เจ็บปวดแสบร้อนต่าง ๆ มันจะแสดงขึ้นเต็มภูมิของมัน สติปัญญามีฟาดให้เต็มภูมิของสติปัญญาแล้วจะทราบกันในเวลานั้น แล้วแยกกันออก ทุกข์ก็สักแต่ว่าทุกข์ อะไร ๆ ก็สักแต่ว่าอันนั้น ๆ เท่านั้น ความจริงเต็มส่วนในหัวใจแล้วอยู่สบาย และเห็นเหตุเห็นผลอย่างชัดเจนภายในจิตใจ นี่ได้คติมาแล้วขั้นหนึ่ง นี่ละวิธีการพิจารณา ผู้ปฏิบัติ
นี่อะไรหย็อก ๆ แหย็ก ๆ มีแต่กลัวเป็นกลัวตาย เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาไม่ได้หน้าได้หลัง ไม่ได้เหน็ดได้เหนื่อยอะไรเลย ดูซิเขาทำงานเขาแทบเป็นแทบตาย ไอ้เราไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร งานของเราก็เช่นเดียวกับงานของโลก ถึงคราวหนักต้องยอมรับ เอ้า หนักก็หนัก เป็นยังไง ฟาดกันให้ถึงเหตุถึงผลถึงขีดถึงแดนดูซิ จึงจะเรียกว่าเป็นผู้ประกอบความพากเพียร
เอาละเทศน์เพียงเท่านี้ละ