ผู้มาศึกษาอยู่นี้ ผู้มาอยู่หลายๆ ปีก็มี ก็ไม่เห็นเป็นเครื่องส่งเสริมอะไรขึ้น ถ้าพูดถึงสิ่งภายนอกก็ดี มีแต่มากดให้เราหนักลงไปเรื่อย ๆ นี่นะ มันเป็นยังไง เอ๊ อยู่หลาย ๆ ปีนี่มันน่าจะเสริมกัน แล้วทำไมกดลง ๆ คิดในสิ่งที่เราไม่คิด แสดงออกมาในสิ่งที่เราไม่แสดง นี่ซิอันนี้ทำให้เราคิดเรื่อย ๆ เข้าไป สุดท้ายก็ออกเป็นประโยคออกมาละ เป็นคำพูดออกมาอย่างนี้ละ ไอ้เรื่องก่อนั้นสร้างนี้ นี้เคยพูดเสมอ ทำไมพูดด้วยความเห็นภัยทำไมจึงเห็นคุณ นี่ซิมันขัดกันอยู่ ๆ อย่างนี้ เอ๊ ชอบกลนะ
แบบฉบับมีอยู่ ให้เห็นอยู่ตำตาอยู่นี่น่ะ ฟังซิ ไม่ใช่เอาปลอม ๆ มาพูดกันแบบปลอม ๆ ฟังกันแบบปลอม ๆ อ่านกันแบบปลอม ๆ อ่านกันด้วยตัวจริง ของจริงมีอยู่ ตำรับตำรานั่นละคือองค์ศาสดา ท่านก็พูดไว้แล้วเวลาเราล่วงไปแล้ว ก็คือธรรมวินัยที่เราแสดงไว้นี้จะเป็นครูแทนเราตถาคต นั่นท่านบอกไว้ไม่มีอะไรผิดเลย พระพุทธเจ้าท่านเป็นยังไง ท่านชมเชยที่ตรงไหน การก่อการสร้างเป็นความยุ่งเหยิงวุ่นวายในเรื่องจิตตภาวนา และสอนมาตั้งแต่เริ่มแรกจนกระทั่งวันปรินิพพาน ไม่ทรงเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นอย่างใดเลย เพราะเป็นสวากขาตธรรม คือตรัสไว้ชอบ ๆ แล้วจะไปแก้ไขอะไรอีกล่ะ ก็เมื่อตรัสไว้ชอบแล้ว
ผู้ฟังน่าจะพินิจพิจารณา นี้ทำให้ผมอุก ภาษาภาคอีสานเรียกอุก จะตายมันคับหัวอก ภาษาทางนี้เราเรียกอุก มันคับหัวอก พูดอะไรก็พูดแล้วหมู่เพื่อนไม่สนใจจะยึดเอาไปเป็นข้อปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสของตัวเอง เพราะธรรมะเหล่านี้เป็นธรรมะเครื่องกำจัดทั้งนั้น ทำให้คิดแหละ สถานที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ตั้งแต่วันเริ่มแรกออกทรงผนวช จนกระทั่งวันปรินิพพานเป็นสถานที่เช่นไรน่ะ เขียนไว้แล้ว ออกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ออกจากพระอากัปกิริยาทุกอาการของศาสดาองค์เอก ที่ประกาศไว้ให้เราทั้งหลายได้ยึดเป็นคติตัวอย่าง ทั้ง พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ในหัวใจด้วย ทั้งกิริยาอาการที่จะยึดเป็นข้อปฏิบัติด้วย มีแต่องค์ศาสดาทั้งนั้นแสดงออกมา พระอาการทุกอย่างเป็นแบบเป็นฉบับได้ทั้งสิ้น
นี่มันเป็นยังไงพวกเราถึงไม่ได้สนใจว่าเป็นของสำคัญอะไรเลย นี่จะทำไง พระองค์ประทับอยู่ในที่เช่นไร ดูซิตำราว่าไง ให้ไปหาอยู่หอปราสาทราชมณเฑียรที่หรู ๆ หรา ๆ อย่างโลกที่เขาสั่งสมกิเลสไม่รู้จักตายไม่เข็ดหลาบนั้นเหรอ กิเลสไม่รู้จักตายไม่เข็ดหลาบนั้นเหรอ เอาแบบนั้นเหรอ ถ้าว่าเราไม่เข็ดในเรื่องทุกข์เราก็ให้ทำแบบโลกเขานั่นซิ ถ้าเราเข็ดเรื่องทุกข์ก็ให้ทำแบบศาสดา ศาสดาเป็นผู้เข็ดทุกข์ เป็นผู้กลัวทุกข์ เป็นผู้เข็ดหลาบที่สุดถึงพระทัย ทำไมพวกเราจึงดื้อด้านที่สุดจนถึงใจ ๆ ฟังซิ
ตั้งแต่วันเสด็จออกทรงผนวช สถานที่ใดที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ด้วยความหรูหราเหมือนโลกทั้งหลายน่ะ เราหาดูซีในตำรามีไหม มีแต่ในป่า ในเขา ในถ้ำ เงื้อมผา แน่ะฟังซิ อดอยากขาดแคลน ที่โลกเขาไม่ต้องการทั้งนั้นละสถานที่เช่นนั้น นั่นละที่ศาสดาอยู่เป็นยังงั้น สังเกตซีธรรมท่านเดินยังไง แถวทางของธรรมท่านเดินยังไง ผู้จะถอดถอนสิ่งที่เป็นข้าศึกอันเป็นทุกข์และมหันตทุกข์ อยู่ภายในใจให้ออกหมด ท่านดำเนินยังไง กิเลสมันเดินสายไหนน่ะ ธรรมะพระพุทธเจ้าเดินสายไหนน่ะ มันเป็นคู่แข่งกันอยู่ในธรรมะกับกิเลสน่ะ ศาสดาประทับอยู่ในที่เช่นไร นั้นแหละธรรมเดินสายนั้นเอง
เป็นยังไงพวกกิเลส พวกตายไม่รู้จักเข็ดหลาบ เพราะกองทุกข์ทั้งหลายเหยียบย่ำหัวใจ ที่ออกมาจากกิเลสมันสร้างขึ้นมานี้ มันไม่รู้จักเข็ดจักหลาบ มันเดินสายไหนน่ะ มันเรื้อรังอยู่นี่ กิเลสมันเดินสายไหน เดินสายอย่างพวกเราเดินอยู่เดี๋ยวนี้แหละ ไม่รู้จักเข็ดจักหลาบ ไม่รู้จักเป็นจักตายอย่างนี้แหละดูเอา ดูตัวเองนั่นอย่าไปดูที่อื่น ธรรมพระพุทธเจ้าขัดกันอยู่ตลอดเวลากับพวกเราเดินเดี๋ยวนี้ ที่อยู่ก็เลยกลายเป็นเรื่องหรู ๆ หรา ๆ ไปเสียหมด วี่แววของธรรมไม่มีแสดงออกมาให้เห็นบ้างเลย นั่น ที่อยู่ที่พักที่อาศัย ที่หลับที่นอนหมอนมุ้ง มีแต่หรู ๆ หรา ๆ ไปเสียหมด
บิณฑบาตก็ดูเอา มันเหลือเฟือ กินจนล้นปาก นอกจากนั้นพอบ่าย ๆ ก็น้ำอะไรต่ออะไรอีกไม่รู้กี่ครั้งกี่หน กินจนจะตาย จนไม่มีสถานียับยั้ง นั่นดูเอาซิ นั่นละกิเลสมันเดินสายนั้นละดูเอา ใครเป็นผู้ดำเนินอย่างนี้ จะเป็นใครถ้าไม่ใช่พวกเรา เพราะฉะนั้นถึงให้ดูพวกเรา ๆ น่ะซิ ไปดูที่ไหนไม่เจอละ ดูพวกเรานี่จะเจอ ผู้ที่ปฏิญาณตนในหัวใจนี้ว่าแก้กิเลส ๆ นี้ละคือผู้สั่งสมกิเลสอยู่เวลานี้ จะเป็นใครที่ไหนไป
นั่นละบิณฑบาต ๆ เครื่องอยู่เครื่องกินนั่นแหละ พวกอาหารก็จัดเข้าในประเภทบิณฑบาต ปิณฺฑ ก็แปลว่าก้อนข้าว ปาต ก็คือตกไป ความตกไปแห่งก้อนข้าว นั่นท่านว่า ปิณฺฑ เสีย บาตร มันเป็นบาตรชนิดหนึ่ง ถ้าเป็นบาตรในตัวหนังสือก็ต้องมีตัว ร อยู่ท้าย จะเขียนเป็นรูปการันต์ไม่การันต์ไม่สำคัญ ปตฺต แปลว่า ใบไปเสีย ขยายออกไปก็แปลว่าบาตร แน่ะ บิณฑบาต อันนี้มีอันหนึ่งตกไป ปาต อันนี้แปลว่าตกไป อาศัยวันหนึ่ง ๆ พอให้ชีวิตเป็นไป เพื่อได้ประกอบความพากเพียรอย่างสมใจพูดง่าย ๆ จีวรเครื่องใช้ไม้สอยก็อด ๆ อยาก ๆ ขาด ๆ แคลน ๆ ในครั้งพุทธกาลเป็นอย่างนั้น
ปัจจัย ๔ พระพุทธเจ้าพาดำเนิน ดำเนินยังไงก็ดูเอาซิ นั่นละองค์ศาสดาพาดำเนิน ไอ้พวกเทวทัตดำเนินยังไงดูเอา ดูเทวทัต ดูตัวของเรานี้ดำเนินยังไง มันเป็นคู่แข่งพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา ทุกขณะจิตที่คิดออกมามีแต่เรื่องสั่งสมกิเลสนั่นละเทวทัตดูเอา ต่อไปก็จะมีแต่ชื่อว่ากรรมฐาน ๆ ความจริงตัวจริงของกรรมฐานจะไม่มีเลย ไม่มีใครปฏิบัติ ไม่มีใครเหลียวแล ไม่มีใครสนใจ เช่น ว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ มันก็ตบแต่งให้เป็นของสวยของงามไปเสีย สำคัญมั่นหมายไปทางสวยทางงามเพื่อสั่งสมกิเลสไปเสียทั้งสิ้น นั่นพิจารณาซิ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วกรรมฐานเหลือไหม จะมีแต่ชื่อน่ะซิ คือไม่สนใจปฏิบัติ
นี่ละงานของพระพุทธเจ้า และสาวกอรหันต์ทั้งหลายผู้เลิศเลอ ให้โลกได้กราบไหว้บูชามา คืองานประเภทนี้ ท่านทำสำเร็จแล้วเป็นผู้เลิศเลอขึ้นมา เดี๋ยวนี้ถูกปล่อยปละละเลยไปหมดแล้วว่าไง แม้ตัวของเราเองก็เหมือนกัน เห็นอะไรปั๊บนี้มันจะต้องออกสวยออกงาม เรื่องของกิเลสจะออกก่อน ๆ ดูซิหัวใจคนหัวใจเรา ความสวยงามเพื่อทางเดินของกิเลสให้เบิกกว้างออกไปนี่มันออกก่อน ๆ แล้ว ทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ฟังเสียงไพเราะเพราะพริ้งไป เพื่อเบิกทางให้กิเลสเดินเหยียบหัวเราไป นั่นเป็นยังไง ทราบไหมอย่างนี้ผู้ปฏิบัติ นี่ที่ว่ามีแต่ชื่อ ๆ เกสา ๆ โลมา นขา ทันตา ตโจ มีแต่ชื่อของ กรรมฐานเฉย ๆ แล้วไม่ได้ทำหน้าที่ไปตามที่ทรงสอนไว้
ตาก็เหมือนกัน ดูอะไรให้เป็นอรรถเป็นธรรมเพื่อแก้กิเลส แต่มันกลับไปดูเพื่อฆ่าตัวเอง ๆ ฟังเพื่อฆ่าตัวเอง สังหารตนเองเป็นลำดับลำดา รอบด้านในสิ่งสัมผัสสัมพันธ์ซึ่งเป็นเครื่องมือของใจ และเป็นเครื่องมือของกิเลสมันออกทำงานของมัน รอบตัวนี้มีแต่สิ่งสังหารตัวเองทั้งนั้น ถ้าไม่มีธรรมเข้าไปเป็นเครื่องกีดขวางกันแล้ว ไม่สงสัยว่างั้นเลยเรา จะว่าผู้นั้นเป็นผู้ฉลาดแหลมคมเกินพุทธศาสนาเกินศาสดา ถ้าลงได้ขัดทางกันหรือสวนทางกันกับพระพุทธเจ้าแล้วเป็นอย่างนั้นแหละ ใครจะอวดว่าเก่งขนาดไหน ก็เหมือนกับกิเลสมันอวดตัวมันนั่นแหละ
ตา หู จมูก ลิ้น กายนี่เครื่องมือ อันนี้เป็นเครื่องมือได้สองอย่าง ผู้ฝึกธรรมะอันนี้เป็นเครื่องมือ ในการฝึกธรรมะเข้าสู่ใจ ใครเผลอ เอ้า ใครเซ่อ อันนี้ก็กลับกลายเป็นเครื่องมือของกิเลสสังหารตัวเราเอง ถ้าจะว่าเราส่งเสริม ตั้งใจเจตนาส่งเสริมจริง ๆ มันก็ไม่มีใครที่จะพูดได้ลงคอนะ ทั้ง ๆ ที่มันก็เป็นอยู่ในหัวใจนั่นแหละ เป็นโดยหลักธรรมชาติ เห็นปั๊บนี้มันจะไปทางกิเลสทันที ๆ นี้เป็นหลักธรรมชาติของกิเลสที่รวดเร็วยิ่งกว่าธรรม ต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไป รู้ไหมขั้นที่มันรวดเร็ว
ต่อเมื่อขั้นที่มันทันกันหรือแซงหน้ากัน ระหว่างธรรมกับกิเลสแซงกันนั้น ทีนี้ก็รู้หมด มันจะออกช่องไหนทางใด ๆ อากัปกิริยาใด นี้ก็ได้เคยพูดให้หมู่เพื่อนฟังแล้ว ไม่ใช่เป็นเรื่องมาพูดให้หมู่เพื่อนเพื่อความโกหกนี่นะ เราพูดด้วยความสงสารเมตตาจริง ๆ ถึงใจจริง ๆ เราเคยเป็นมายังไงทำยังไงก็พูดออกมานี้ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าธรรมะนั่นสด ๆ ร้อน ๆ เช่นเดียวกับกิเลสที่มันสด ๆ ร้อน ๆ อยู่ภายในหัวใจเรา เอามาฟัดกันลองดูซิจะเป็นยังไง
กิเลสครั้งพุทธกาลทำไมบรรลัย อยู่ในหัวใจของคนเราเหมือนกัน นับแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงพระสาวกนั่น ถ้าพูดถึงผู้สิ้นกิเลส ก็เหล่านี้เป็นภาชนะสำหรับบรรจุกิเลสทั้งนั้น แต่ทำไมมันบรรลัยได้ ท่านเอามาใช้ยังไง แน่ะ แล้วเราทำไมมันยิ่งพอกพูนขึ้นไป ๆ นี่ละให้พิจารณาเอาซิ เรื่องมันสด ๆ ร้อน ๆ เหมือนกันนี่ ธรรมก็สด ๆ ร้อน ๆ ถ้านำเอามาใช้ นำมาใช้ก็สด ๆ ร้อน ๆ แก้กิเลสได้โดยไม่ต้องสงสัยเช่นเดียวกัน
เราพูดให้หมู่เพื่อนฟังไม่ใช่พูดแต่เพียงด้านปริยัตินะ เรียนก็เรียนเราไม่ได้ประมาทเรื่องปริยัติ ประมาทได้ยังไง ไม่มีแม้เม็ดหินเม็ดทรายที่จะเป็นอยู่ภายในจิตใจนี้ว่าเราได้ประมาทปริยัติ แต่ในแง่ที่จะพูดปฏิบัติต้องพูด ปริยัติมีแฝงไปอยู่แล้ว เพราะปริยัติเป็นอาจารย์นี่ว่าไง การปฏิบัติงานดำเนินงาน ไม่ดำเนินตามเข็มทิศทางเดินหรือแบบแปลนแผนผังจะดำเนินไปไหน สร้างบ้านสร้างเรือนโดยไม่มีแบบแปลนแผนผังทำได้เหรอ พิจารณาซิ นั่นละปริยัติไปก่อนอยู่แล้ว ๆ เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นจะต้องพูดอะไรทุกแง่ทุกมุมว่าปริยัติ ๆ เพราะเป็นเข็มทิศชี้บอกอยู่ตลอดเวลา
สำหรับผู้ปฏิบัติ ถ้าไม่มีปริยัติแล้วก้าวไม่ออกนะ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นอะไร ถ้าไม่ใช่เป็นปริยัติ สอนแล้วนั่นน่ะ ทีนี้เอาไปคลี่คลายซิ ปฏิบัติขยับขยายออกมันเป็นยังไง ๆ รูปลักษณะเป็นยังไง จนกลายไปถึง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา รอบตัวไปหมดละ นั่นพิจารณาภาคปฏิบัติ เอาออกจากปริยัติ คลี่คลายออกไป ๆ ท่านทำของท่านอย่างนั้น สิ่งที่ไม่รู้ไม่เห็นเคยรู้เคยเห็นก็รู้ขึ้นมา
ดังที่ท่านสอนไว้ว่าภาวนามยปัญญา นั่นลึกไหม ละเอียดไหม ภาวนามยปัญญา เอ้า ๆ เราจะไปคาดเฉย ๆ เอาคาดจนกระทั่งวันตายก็ไม่รู้ไม่เห็นละ เรื่องภาวนามยปัญญานี่ว่าเป็นยังไงถ้าผู้ไม่เป็น ต้องผู้เป็นเท่านั้นจะทราบทันที ๆ ตั้งแต่เริ่มแรกของภาวนามยปัญญาเริ่มไหวตัว จะเริ่มทราบไปโดยลำดับลำดา จนถึงขั้นคล่องตัวกลายไปเป็นมหาสติมหาปัญญา สังหารป่นปี้ไปหมด ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วไม่มีอะไรเหลือเลย โผล่ออกมาไม่ได้ นั่นภาวนามยปัญญาโดยแท้ นี้ละเป็นเครื่องฆ่ากิเลส พระพุทธเจ้าก็ดีพระสาวกก็ดี เมื่อถึงขั้นแก่นจริง ๆ แล้วภาวนามยปัญญาคือแก่นแห่งเครื่องมือที่ฆ่ากิเลส แน่ะ
ถ้าดำเนินไปยังไม่ถึงขั้นนี้ก็ไม่รู้ ว่าสักเท่าไร เรียนจนปากฉีกก็ได้แต่ชื่อเฉย ๆ ไม่ได้ความจริงมาสู่หัวใจเลยแหละ ต่อเมื่อถึงขั้นที่เข้าสู่ความจริงโดยหลักธรรมชาติของภาวนามยปัญญาแล้ว ไม่ต้องถามใครก็รู้เอง นั่นละพระพุทธเจ้าก็ดีสาวกก็ดี ท่านวิเศษด้วยปัญญาประเภทนี้ ทีนี้มันมีเท่านั้นเหรอ ท่านก็แยกออกไปให้เห็นอีก สุตมยปัญญา ปัญญาควรจะเกิดขึ้นจากการได้ยินได้ฟัง ก็ให้ได้ยินได้ฟัง จากครูจากอาจารย์จากใครก็ตาม ให้ได้เป็นคติเครื่องเตือนใจ เก็บเล็กผสมน้อยไป นั่น สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ความพิจารณาใคร่ครวญ เมื่อสัมผัสสัมพันธ์อะไรอย่าอยู่เฉย ๆ ให้ฝึกหัดสติปัญญาในทางด้านจินตามยปัญญา แล้วสุดท้ายก็จะไหลเข้าไปหาภาวนามยปัญญาไม่ต้องสงสัย ไปนั้นแน่ ๆ ละ
เอ้า ลองไปขั้นภาวนามยปัญญานี้แล้ว ยังไงกิเลสนี้มันจะหนาแน่นยิ่งกว่าภูเขาทั้งลูก หรือยิ่งกว่าแผ่นดินก็ให้มันหนาเถอะน่ะ ว่างั้นเลยนะ นี่ฟังซิ ให้มันหนาเถอะน่ะ ฟังซิ ก็เหมือนอย่างความมืด มันมืดมากี่กัปกี่กัลป์นี้ก็ให้มืดเถอะน่ะว่างั้นเลย พอเปิดไฟจ้าขึ้นเท่านั้นมันจะหายเงียบไปทันทีทันใด นั่น เอากาลเอาเวลามาอวดอ้างกันได้เมื่อไร เมื่อเหตุผลเหนือกว่ากันอยู่แล้ว ที่ควรจะกำจัดกันได้แล้วทำไมจะกำจัดไม่ได้ล่ะ นี่ก็เหมือนกันเรื่องของกิเลส เอ้า มันหนาขนาดไหนก็หนาเถอะน่ะ เมื่อถึงขั้นถึงภูมิที่จะกำจัดกันได้แล้ว กี่กัปกี่กัลป์อย่าเอามาอวดเลย ว่าเคยอยู่ในหัวใจมาเท่านี้กัปเท่านี้กัลป์จะไม่ยอมลง นี้พังกันทันทีทีเดียว เหมือนกับเราเปิดไฟสว่างจ้าขึ้นมาความมืดพังทันทีเลย นั่น เหมือนกันนี่แหละไม่ผิดกันอะไร
จึงว่าผิดคาดผิดหมายน่า ธรรมะพระพุทธเจ้าใครจะไปคาดไปหมาย คาดไม่ได้นะ ผู้ปฏิบัติเท่านั้นจะทราบตัวเองทุกอย่าง ๆ ไปเลย เพราะฉะนั้นจึงว่าปริยัติ ปฏิบัติ นั่น เน้นเข้าตรงนี้ ปริยัติ ชี้ทางไว้บอกทุกแง่ทุกมุมแล้ว ไม่สงสัยแล้ว ไม่ผิดแล้ว ออกมาจากสวากขาตธรรม ๆ ตรัสไว้ชอบแล้ว ๆ เอ้า ก้าวไปก้าวเดินตามนี้หนา อย่าให้ผิดนะ นั่น ให้ก้าวเดินตามนี้ พอก้าวเดินตามนี้แล้ว สิ่งที่ไม่เคยรู้เคยเห็นซึ่งเคยได้ยินแต่ในตำรับตำรา ได้ยินแต่ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ท่านสอนไว้ เราจะมาเจอกันที่หัวใจนี่แหละ เพราะสถานที่นี่เป็นที่ชุมนุมแห่งกิเลสและธรรมทั้งหลาย ไม่อยู่ในสถานที่อื่น อยู่ในหัวใจนี่ เป็นสถานที่ชุมนุมอันใหญ่หลวง วัฏจักรวัฏจิตรวมอยู่นี้หมด เคยเกิดเคยตายมากี่กัปกี่กัลป์นับไม่ถ้วน เราจะไม่ต้องไปนับให้เสียเวล่ำเวลาเลย พังกันลงที่นี่อันเดียวเท่านั้น เสร็จ นั่นฟังซิ
ถ้าลงเป็นภาคปฏิบัติได้รู้ได้เห็นได้สังหารกิเลสแล้วเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ไม่เป็นอย่างอื่น มันผิดกัน จึงว่าภาคความจำ ภาคความจริง จึงได้พูดเสมอนี่ ภาคความจำเอามาเป็นพื้น คือปริยัตินั่นน่ะ เรียนมาแล้วอย่าเรียนมาอมปากไว้เฉย ๆ มาอวดลมอวดแล้งเอาเฉย ๆ ว่าข้าเรียนรู้เท่านั้นเท่านี้ ชั้นนั้นชั้นนี้ อย่าเอามาอวดกันเฉย ๆ ไม่ถูก ให้เอามาเป็นแบบเป็นฉบับเครื่องดำเนินนั้นถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ๆ สมกับสวากขาตธรรมแท้ ตรัสไว้ชอบแล้ว เอ้า ก้าวเถอะ ก้าวตามนี้เถอะ นั่น พอก้าวตามนี้แล้วผลจะปรากฏขึ้นมา ทีนี้ก็รวมตัวเข้ามาอย่างที่ว่านั่น วัฏจักรวัฏจิตมันจะหนาแน่นสักเท่าไร ภูเขาทั้งลูกหรือแผ่นดินทั้งแผ่นก็ให้มันหนาเถอะน่ะ ที่ชุมนุมกันมันจะรู้กันหมดนั่นละ
แต่ก่อนเราก็ไม่ได้คิดอะไรมากมายนัก เดี๋ยวนี้มันหากเป็นของมันนั่นแหละ ตามเหตุตามผลที่มาสัมผัสสัมพันธ์ เรื่องของสัตว์ของอะไร ๆ ก็ตามเถอะ มันเข้าสู่ดวงวิญญาณ ๆ เมื่อสู่ดวงวิญญาณมันมาจากไหนอีกล่ะ ก็ไม่มีใครรู้น่ะซี รู้แบบพระพุทธเจ้า แบบนี้จะเป็นแบบเอกที่สุดเลย มันไม่มีที่ค้านน่ะซี แบบพระพุทธเจ้าทรงรู้ แบบพระพุทธเจ้าทรงละ แบบที่พระพุทธเจ้าทรงสังหาร กิเลสที่เป็นข้าศึก ที่เป็นตัวพาให้เกิดให้ตาย สร้างทุกข์ขึ้นมามาก ๆ ในภพชาตินั้น ๆ ไม่มีแบบไหนเหมือนแบบพระพุทธเจ้านะ
ศาสนาเราไม่ได้ประมาทนะ มีกี่หมื่นกี่แสนกี่ล้านศาสนาก็ตามเถอะ ถ้าศาสนาใดไม่มีอริยสัจแล้ว ศาสนานั้นไม่มีเครื่องฆ่ากิเลสว่างั้นเลย สติปัฏฐาน ๔ อริยสัจ ๔ นี่คือเครื่องสังหารกิเลสโดยตรง ไม่บอกก็ผู้ฆ่ากิเลสด้วยเครื่องเหล่านี้ก็รู้เอง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงไม่จำเป็นว่าท่านนิพพานไปนานไม่นานเท่าไร สัจธรรมเป็นกาลเป็นเวลาที่ไหน ดูตัวของเรานี้ว่างั้นเลย เปิดขึ้นมาที่นี่ละ
ซึ้งมากจริง ๆ อริยสัจนะ พอเปิดขึ้นมาที่นี่แล้วก็เท่ากับเปิดให้เห็นความจริงของพระพุทธเจ้าทั้งหลายและพระสาวก ตลอดถึงธรรมที่ท่านรู้ท่านเห็น เปิดขึ้นมาในขณะเดียวกัน ให้รู้ให้เห็นอย่างเดียวกันหมด ไอ้เรื่องความกว้างความแคบลึกตื้นหยาบละเอียดมันเป็นประเภทหนึ่ง แต่ว่าฐานอันสำคัญ ๆ ได้มาเหมือนกันหมดเลย จากอริยสัจ นั่นลงตรงนี้อีกแหละ ฐานสำคัญ ๆ คืออริยสัจได้มาเหมือนกันหมด
ทีนี้ไม่ทันมันนั่นซิ เวลามันรวดเร็วมันเป็นกิเลสไปหมดนี่นะ เราไม่ทันมันเลย จึงต้องได้ใช้อุบาย อู๊ย หลายสันหลายคมไม่งั้นไม่ทัน สถานที่ที่จะดัดที่จะเด็ดกันอย่างแต่ก่อน ๆ ก็หายากเสียด้วยทุกวันนี้ มันมีสถานที่เป็นเครื่องส่งเสริม เป็นเครื่องกดถ่วงได้โดยไม่ต้องสงสัย เพราะฉะนั้นท่านถึงสอนเรื่องสถานที่เข้าเป็นความจำเป็นด้วยกัน สถานที่โน่น ๆ ไปอยู่ที่โน่น ๆ บอก เช่น ในถ้ำ แน่ะบอกแล้ว รุกขมูล แน่ะบอกแล้ว มันมีสิ่งที่จะช่วย เดี๋ยวนี้ถ้ำมันมีแต่ถ้ำเฉย ๆ ยังเป็นที่สนุกสนานรื่นเริงของพวกกิเลสทั้งหลายเสียด้วยนะ เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนั้น ทำเลไหนที่ว่าเหมาะสมสำหรับการบำเพ็ญ มันก็เป็นที่เหมาะสมสำหรับพวกนี้ไปเที่ยวรื่นเริงกันอีก แน่ะเป็นอย่างนั้นนะ
โห เวลาไปอยู่ในที่ที่จะประมาทไม่ได้มันมีนี่นะ นั่นแหละเวลาธรรมมีโอกาสที่จะเกิดได้ เกิดได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เกิดได้เต็มโอกาส พูดง่าย ๆ คือในสถานที่เช่นนั้นเราไปนอนใจได้ยังไง ในป่านี้มีอะไร มันมีแต่เรากับสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อกันรอบด้านอยู่นี่ มันจะไปมัวประมาทอยู่ได้ยังไง นั่นมันเห็นชัด ๆ อยู่ในหัวใจของผู้ปฏิบัตินั่นแหละ นี่แหละสถานที่เช่นนี้แหละมันช่วยนะ แล้วใครจะไปตั้งโรงงานราคะตัณหาขึ้นมาในที่เช่นนั้นน่ะ มันจะตายอยู่ในขณะใดก็ไม่รู้ ตายด้วยเหตุผลกลไกอะไร ไม่ต้องถามมันก็บอกก็รู้ในตัวของเราเอง นั่นละความเพียรก็มีละซี
อันนี้ก็ทางเมืองกาญจน์ฯ มีพอเป็นไปได้นะ ผมไปดูแล้ว เหมาะ เช่น ทางจันท์ฯ มี นี่ยังจะไปอีกอยู่ เวลาว่าง ๆ จะไปเที่ยวซอกแซกดู เข้าไปทางกระทิง เขากระแจะ ได้ยินเขาเล่าให้ฟังหลายแห่งอยู่ จะเข้าไปดู แล้วก็จะเตือนหมู่เพื่อนแนะหมู่เพื่อนเอาไว้ ให้สงวนไว้สำหรับกุลบุตรสุดท้ายภายหลังจะได้พอเห็นร่องรอยบ้าง ไม่งั้นจะไม่มีเหลือเลยสมบัติอันล้ำค่า สถานที่อันล้ำค่าอย่างนั้น สำหรับผู้บำเพ็ญธรรมจะไม่มีเหลือเลย จะมีแต่กิเลสไปเที่ยวกลืนหมด ๆ จะไม่มีเหลือเลย นี่ซิมันน่าทุเรศนะ
สถานที่ล้ำค่าอย่างที่พูดนี่ละ ดูเอานะ มันไม่มีคุณค่าแล้วละตัวของเรา ตัวของเราเมื่อไม่มีคุณค่า ขณะใดที่เราว่าไม่มีคุณค่าในตัวของเรา ขณะนั้นกิเลสมันก็ไม่มีคุณค่าเหมือนกัน ขณะไหนที่เราว่าเรามีคุณค่า นั้นละตัวกิเลส คุณค่าของมันใหญ่โตเหยียบหัวเราลงตรงนั้นแหละ จึงต้องได้หาที่เช่นนั้น เหมือนผ้าขี้ริ้ว คนทั้งคนไม่มีคุณค่า นั้นละเวลามีคุณค่าขึ้นมามีเวลานั้นละ ไม่ลืมตัวนี่
บางทีไปอยู่บางแห่ง เหมือนกับว่ามันจะโผล่ขึ้นมานี้ เสือน่ะ ทางมันขึ้นมานี้ เหมือนกับมันจะโผล่ขึ้นมาตรงนี้ ๆ ปรากฏว่า มันเคยนี่เรา มาอยู่ตรงทางมันขึ้นมันลงอยู่ตั้งกัปตั้งกัลป์ ตัวนั้นตาย ตัวนี้มา แล้วก็สับเปลี่ยนกันเรื่อย ถ่ายเทกันเรื่อย ทางมันขึ้นลงนั้นจนกระทั่งเป็นเหวนะ มันนานแสนนานขนาดนั้นนะ ไม่ใช่ตัวเดียวนะนั่นน่ะ มันผลัดมันเปลี่ยนกันมาตั้งแต่นานสักเท่าไร ภูเขาลูกนี้มีมานานเท่าไร แล้วสัตว์เหล่านี้มันอาศัยมาได้นานเท่าไร นั่นละมันก็เป็นไปอย่างนั้นละ
เวลาไปอยู่นั้นมันก็เหมาะ แล้วใครจะไปสั่งสมกิเลสล่ะเมื่อเป็นเช่นนั้น มันก็มีแต่ความตั้งท่าตั้งทาง เป็นกับตายก็มอบไว้กับธรรม หมุนติ้ว ๆ เข้าสู่ธรรม สติเข้าสู่นั้น ปัญญาเข้าสู่นั้น มันก็เย็นต่อไป
ในครั้งพุทธกาลท่านมีแสดงไว้ที่เสือกินพระก็มี ในตำรับตำรามี แต่มีน้อยมากนะ ท่านก็อธิบายไว้ที่เกี่ยวกับเรื่องกรรมเสีย เสือตัวนั้นกับพระองค์นั้นมีกรรมอะไรกัน นั่นท่านก็แสดงเรื่องกรรมไว้อีกเสีย เราก็หายสงสัย ถ้ากรรมไม่เกี่ยวกันมันก็จะมากินอะไร สัตว์เต็มแผ่นดินอยู่นี่น่ะ มันทำให้คิดเลี่ยง ๆ ไปอย่างนั้นเสีย แต่ถ้าคิดลงถึงขั้นที่ว่าจะเป็นจะตายก็ตายเถอะ ตายเพราะเสือกินด้วยความเพียรนี้ให้เห็นเสียทีเถอะน่ะ ชีวิตของโลกนี้มีมากมายไม่เห็นเป็นอย่างนี้ว่ะ แน่ะ มันจะพลิกมาอย่างนี้ให้มันพลิกมา มันเป็นอุบายของธรรมนี่นะ มันเป็นได้แก้กันได้ เรื่องของสติปัญญาเป็นไม่ล้าสมัย เมื่อถึงขั้นถึงกาลเวลาที่จะดีดจะดิ้นตัวเองแล้วมันเป็นไปได้นี่
ไอ้อย่างที่ว่านั่น จะว่าใครเป็นคนสอนจริง ๆ หรือ เราไม่ได้ประมาทครูบาอาจารย์นะ อันนี้ก็เพราะอำนาจของสติปัญญาที่เราฝึกหัดเอาเอง แสดงขึ้นมาให้เราได้รู้ได้เห็น เช่นอย่างที่ว่าให้ภาวนาไม่ต้องคิดถึงเรื่องอะไรเลย ให้มีแต่พุทโธ ๆ กับความรู้ ให้ยันกันอยู่นี้เท่านั้น เป็นกับตาย เสืออะไรช้างอะไรไม่ต้องไปยุ่งกับมัน ให้มีแต่คำบริกรรมกับความรู้เด่นอยู่นี้เท่านั้น แล้วมันก็เป็นขึ้นมาจริง ๆ ด้วย จนถึงขนาดที่ว่ากล้าหาญเต็มที่ ทั้งที่ขณะก่อนมันกลัวเต็มที่ ขณะหลังนี้กล้าหาญเต็มที่ แน่ะมันเห็นผลชัดเจน นี่จะว่าใครบอกก็ยังพูดลำบากนะ ครูบาอาจารย์ท่านก็สอนเราภาวนาให้จิตรวมลง นั่นซิท่านก็บอกกลาง ๆ ไว้อย่างนี้เสีย บทเวลามันเป็น เป็นขึ้นในเจ้าของมันเห็นเฉพาะนี่นะ รู้เฉพาะ อ๋อ เป็นอย่างนี้ ๆ แน่ะ
ถึงขั้นที่จิตเป็นสมาธิแล้วมันก็หมุนติ้ว ๆ อยู่กับสมาธิ ความสงบใจสงบตัวเองนั้นเสีย มันก็ไม่ไปยุ่งกับเรื่องภายนอกอีกแหละ นี่ก็เห็นชัด ๆ ในวงผู้ปฏิบัติ เอ้า หาให้เห็นในวงของตัวเราซิ นั้นก็คือมันเป็นขั้น ๆ ของจิต ขั้นของจิตที่เราจะพิจารณาสิ่งภายนอกมันก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ นี่ เช่นจิตที่ก้าวเข้าสู่ขั้นวิปัสสนา ก็อย่างเคยพูดนั่นแหละ แยกหมดเลย แยกธาตุแยกขันธ์ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ดูกันอยู่ เลยลืมคิดไปทางที่ว่าสัตว์เคยเป็นสัตว์ร้าย หรือไอ้สัตว์ตัวนั้นเป็นสัตว์ร้าย อันนี้เป็นสัตว์ร้าย เหล่านี้มันเลยลืมไปหมด
ไอ้เรื่องสัตว์ร้ายสัตว์ดีอะไร มันมี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เต็มหัวใจเราผู้พิจารณานี่เสีย แน่ะไปอย่างนั้นอีกละ ก็ไม่ทราบจะเอาอะไรมากลัว มันหากเป็นอยู่ในนี้แหละ พอออกจากนั้นไปแล้วมันก็หมด มีแต่ความว่างเปล่าไปหมด มาถึงขั้นว่างมันก็ว่างของมันเอง ตื่นขึ้นมาปรุงขึ้นมาซิ แพล็บเดียว ก็เหมือนฟ้าแลบนี่ พอเป็นร่างขึ้นมานี่ เป็นภาพขึ้นมาพับดับพร้อม ๆ จะให้อยู่มันอยู่ไม่ได้นี่ว่าไง มันรวดเร็วของความปรุงและความชำนาญ ปรุงภาพขึ้นมาเช่นภาพเสืออย่างนี้นะ ปรุงพับขึ้นมามันก็รู้เสีย ทั้งภาพเสือที่ออกไปจากหัวใจเรานี้และรู้ทั้งมันดับ มันมีอยู่ที่ไหน มันก็มีอยู่แต่ใจกับภาพที่แสดงอยู่นี่ ตื่นบ้าอะไร แน่ะว่าให้เจ้าของ เพราะมันเห็นชัดเจนจนถึงขนาดว่าให้เจ้าของได้มันถึงว่าได้คนเรา
แต่ก่อนไม่เห็นอย่างนี้มันก็ไม่รู้ ไม่ทราบมาจากไหน พอคิดเรื่องอะไรก็เป็นภาพนั้นขึ้นมา เหมือนกับมาจาก ๕ ทวีปโน่น ความจริงมันออกไปจากใจนี่ ที่เวลามันทันมันทันอย่างนั้นจริง ๆ มันพับมันออกปั๊บ ๆ ก็เห็นมันอยู่นี่ เวลาดับมันก็ดับให้เห็นอยู่นี่ ทั้งต้นทั้งปลายทั้งขึ้นทั้งล่องมันเห็นของมันอยู่ตลอดเวลา แล้วจะหลงไปไหนล่ะ เมื่อถึงขั้นมันรู้นี่ก็เป็นขั้นหนึ่งเสีย ขั้นแห่งการพิจารณามันก็เป็นขั้นหลงสังขาร ตื่นสังขาร ตื่นภาพเจ้าของ เมื่อรอบแล้วมันก็ไม่ตื่น ก็ภาพเหมือนแสงหิ่งห้อยนี่ แพล็บ ๆ มันก็ออกจากนี้และดับไปให้เห็นอยู่นี่ แน่ะ มันเห็นชัดถึงขนาดนั้นแล้วจิตจะสงสัยอะไร นี่ละการพิจารณามันเป็นขั้น ๆ อย่างนี้นะ
ขั้นเริ่มต้นมันมักจะเป็นอย่างที่ว่ามีแต่คำบริกรรม ไม่ยอมให้ออกไปไหนเลย เสือก็ตาม ช้างก็ตาม เป็นก็เป็น ตายก็ตามเถอะ ไม่ให้เคลื่อนจากคำบริกรรมนี้ เช่น พุทโธ ๆ นี้นะ รู้อยู่เท่านั้น เมื่อเวลาสั่งสมตัวเข้า ๆ ด้วยคำบริกรรมถี่ยิบ ๆ เข้าไป มันเลยเป็นพลังขึ้นมา จิตก็ค่อยแน่นขึ้น ๆ แน่นปึ๋งเลย คิดออกไปถึงเสือก็ไม่กลัว แต่ก่อนไม่ได้นะ คิดออกไปพับ อู๋ย เหมือนกับผ่าลงทั้งครึ่ง ผ่าหมดทั้งตัวเลย อาการมันหนักขนาดนั้นนะ มันเป็นพิษมากความคิดเช่นนั้น พูดง่าย ๆ ว่างั้น มันทำลายจิตของเราให้หาความสงบไม่ได้เลย นั่นจึงเรียกว่ามันรุนแรงมาก แต่ขณะหลังนี่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น พอสั่งสมตัวเต็มที่แล้วคิดออกไปเรื่องไหนเอาเถอะว่างั้นเลย มันไม่ได้กลัวนี่ นั่นใจสั่งสมกำลังของตัวได้พอแล้ว นี่ได้ไปขั้นหนึ่ง ขั้นเป็นสมาธิ
ขั้นเป็นวิปัสสนา ขั้นเป็นวิปัสสนาละเอียด จนกระทั่งขั้นว่างเปล่า ก็มีแต่ความปรุงของเจ้าของหลอกเจ้าของเท่านั้น จะว่าหลงสังขารก็ไม่ผิดอะไร อย่างพ่อแม่ครูอาจารย์ว่าหลงสังขาร บ้าหลงสังขาร โอ๊ย มันถูกเลย ก็คนหนึ่งรู้ไปหมดแล้วคนหนึ่งยังไม่รู้ ยังตะครุบเงาอยู่ ยังมาอวดว่าตัวเก่งอยู่นี่ ไปถึงขั้นรอบแล้วจะให้หลงก็จะเอาอะไรมาหลง ก็มันรอบแล้วรู้แล้วนี่ จะเอาอะไรมาหลงจะว่าไง ก็เหมือนอย่างนี่ ๆ แม้มันลายเหมือนเสือก็ตามเถอะ มันก็ไอ้ปั้งนี่ไม่ใช่เสือ เห็นอยู่อย่างนี้ใครจะไปหลงอะไรอีก ถ้าเห็นอย่างที่ว่ามันไม่แน่ เหมือนงู ๆ ปลา ๆ อย่างนั้นก็อาจจะว่าเสือได้นี่ พอเห็นชัด ๆ อ๋อ ไอ้ปั้งเท่านั้นพอ แน่ะ พอดูชัด ๆ อ๋อ ไอ้ปั้ง ไม่ใช่เสือ ทีนี้จะเอาอะไรมาหลอก มันก็ไอ้ ปั้ง แน่ะ (หมาชื่อไอ้ปั้งที่เลี้ยงไว้ในวัด)
นี่ก็เหมือนกัน ภาพมันแสดงออกมาอะไร ๆ เอ้า แสดงออกมา เมื่อมันละเอียดลออมันทันกันแล้ว ก็เหมือนอย่างเราดูไอ้ปั้งนั่นเอง สังขารมันปรุงแพล็บ ดับพร้อม ๆ โอ๋ ที่ไหนมันอันนี้เอง มันเป็นธรรมชาติหลอกตัวเราเอง เมื่อรู้อันนี้แล้วไม่เห็นมีอะไรหลอกในโลก ทั้งสามแดนโลกธาตุไม่มีอะไรหลอก ถ้าไม่ใช่สังขารเจ้าของหลอกเจ้าของเสียอย่างเดียวเท่านั้น นั่นพอถึงรู้เป็นอย่างนั้น แล้วจะเอาอะไรมาหลอกอีกล่ะ มันชัดขนาดนั้น จนกระทั่งไม่มีอะไรหลอกแล้วก็สบาย
ดูหัวใจเราเถอะ มันเหมือนกับไฟที่ได้เชื้อ มันไหม้ของมันอยู่อย่างนั้นแหละ แตกตุ๊บตั้บ ๆ ดอกไฟมันกระเด็นออกปุ๊บปั๊บ ๆ จากกองไฟ ไฟได้เชื้อเป็นอย่างนั้น กิเลสได้เชื้อก็เหมือนกัน มันไปได้มาจากรูป จากเสียง จากกลิ่น จากรส เอาเข้ามาเผากันอยู่ในหัวใจเรา มีมากมีน้อยเห็นได้ชัด ๆ สำหรับผู้ที่จะฆ่ากิเลสเห็นได้ชัด อยู่ที่หัวใจคนมีสติ คนจะฆ่ากิเลสคือคนมีสติ จากนั้นก็คนมีปัญญา แล้วทำไมความเพียรจะไม่มีที่นี่ เมื่อมันเห็นชัดเข้า ๆ แล้วความหนักเอาเบาสู้นี้ก็มาเอง มันก็พังลงเท่านั้น ทีนี้อันนั้นพังลงแล้วอะไรมาดีดที่นี่ ฟังซิ กองไฟที่ว่าน่ะคือกิเลสเผาหัวใจนั่นน่ะ
ไฟได้เชื้อคืออะไร นำเชื้อของมันเข้ามา มันได้มาจากรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ที่ได้กระทบกระเทือนอะไรมา แล้วเอามาครุ่นคิดอยู่ในนั้นเป็นธรรมารมณ์ แล้วก็เผาอยู่ในหัวใจเรา มองดูมันก็เห็น นี่อันหนึ่ง เราพูดพอเป็นข้อเปรียบเทียบให้เข้าใกล้ชิดติดพันอยู่ในตัวของเรา เอ้า ตามเข้าไป ๆ ดูเข้าไป ตามเข้าไป แก้เข้าไป ตัดภายนอกออก มันไปเอามาจากไหนอาหารนี่เอามากิน เชื้อไฟเอามาจากไหน เอามาจากรูปมีตาเป็นสำคัญ ตาประมาทเพราะสติไม่มี หูประมาทเพราะสติไม่มี แน่ะไล่เข้าไป ๆ ทีนี้เอาเข้มงวดกวดขัน สติให้ประจำทวาร ตาทวาร ทวารจะแปลว่าอะไร แปลว่าประตู ตา หู จมูก ลิ้น กาย มุขทวาร ทวาร ๆ ว่าไปคือประตู ๆ นั่นเอง รอบกันทันกัน ๆ แล้ว ทีนี้ตัดทางนอกไม่ให้เข้ามา มีแต่ข้างในมันก็หมดไปได้นี่จะว่าไง มันไม่มีอะไรเข้ามาเพิ่มนี่ ภายในก็เผากันเข้าเรื่อย
ธรรมะก็คือตปธรรมอีกแหละ ไม่ว่าแต่กิเลสมัน ตป เผาเรานะ เราก็ ตป เผามันได้ ในมงคลสูตรท่านว่าไว้จะว่าไง ตโป จ พฺรหฺมจริยญฺจ. ตโป คือธรรมเครื่องแผดเผากิเลส ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ท่านว่า นั่นแปลออกว่าอย่างนั้นนะ เมื่อภายนอกไม่มีเข้ามา มีแต่ข้างในมันก็หมดไปได้ ๆ สุดท้ายไม่มีอะไรเหลือเลย สงบราบ นั่น
ท่านว่าบ้านร้างแต่มีคนอยู่ อย่างเทศน์ในหลายกัณฑ์แล้วนะ คือมีแต่ขันธ์มันดีดมันดิ้นของมันอยู่อย่างนั้น ไม่มีเจ้าของ กิเลสมันตายแล้วเอาอะไรมาเป็นเจ้าของ ธรรมะเป็นเจ้าของธรรมะไม่ยึดไม่ถือนี่ ธรรมะเป็นเจ้าของใช้ไปอย่างนั้นไม่ยึดไม่ถือ อุปาทานขันธ์ท่านไม่มีนี่ กิเลสมันมีทันทีละ อุปาทานขันธ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันยึดเอาเป็นของมันไว้หมดเลย นั่น ทีนี้เวลาพังไปแล้วมันก็เห็นตั้งแต่ใช้กันไปเพียงยิบแย็บ ๆ เท่านั้นละ
นี่ละพระพุทธเจ้าพระสาวกทั้งหลาย ท่านเอาขันธ์นี้แหละไปเป็นเครื่องมือทำประโยชน์แก่โลก พระพุทธเจ้าเสด็จไปโน้นเสด็จไปนี้ สั่งสอนโลกด้วยพระสุรเสียงอะไรเหล่านี้ ก็มีแต่เรื่องของขันธ์แสดงออกเท่านั้นจะว่าไง ท่านไม่ยึดไม่ถือนี่ เวลาหยุดก็หยุดจริง ๆ ขันธ์สงบตัวก็สงบจริง ๆ เวลา ขันธ์ทำงานก็ เอ้า ทำให้เห็น แต่ไม่มีข้าศึกอะไรเข้ามาเป็นมือที่ ๒ ที่ ๓ อย่างที่ว่านะ
เทศน์เท่านั้นละ พอ