เราจะจริงหรือไม่เท่านั้น
วันที่ 18 มีนาคม 2530 เวลา 19:00 น. ความยาว 63 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐

เราจะจริงหรือไม่เท่านั้น

คำที่พวกเราชาวพุทธทั้งหลายได้ระลึกฝังจิตมาเป็นเวลานาน เฉพาะอย่างยิ่งนักบวชและนักปฏิบัติเรา ระลึกทั้งทางด้านจิตใจ และประกอบความพากเพียร เพื่อให้เป็นไปตามแนวของที่เราระลึกถึงอยู่นั้นคือ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ นี่ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องความอัศจรรย์ ธรรมอัศจรรย์ เป็นธรรมที่รื้อโลกรื้อสงสาร รื้อวัฏทุกข์ ออกจากจิตใจของสัตว์โลกได้โดยไม่ต้องสงสัย

เฉพาะชาวพุทธและนักบวชผู้ปฏิบัติควรระลึกให้ถึงใจตัวเอง เพราะพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนโลก ทรงสั่งสอนด้วยความเห็นภัยจริง ๆ และเห็นคุณอย่างถึงใจทั้งสองอย่าง ไม่ใช่สักแต่ว่ามาเทศนาว่าการ หรือสั่งสอนโลกพอเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีเท่านั้น แต่ออกมาจากใจจริงของพระองค์ ที่เราได้ยึดว่าเป็นสรณะของเราคือ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

องค์ศาสดาเอกนี้ท่านดำเนินอย่างใด จึงได้ถึงขั้นถึงภูมิแห่งความเป็นศาสดาเอก และธรรมนั้นเป็นธรรมที่ตรัสไว้โดยชอบธรรม ออกมาจากพระทัยที่บริสุทธิ์สุดส่วนแล้ว ท่านดำเนินอย่างไร ควรระลึกให้ถึงใจ อย่าให้จืดจางห่างเหินจากธรรมนี้ ข้าศึกจะไม่ได้เข้าใกล้ชิดติดกับหัวใจ และทำลายใจไปตลอดเวลา ดังที่เคยเป็นมาและเป็นอยู่เวลานี้ ซึ่งไม่สมกับความมุ่งหมายของธรรม และพระประสงค์ของพระพุทธเจ้าเลย

สถานที่อยู่ของพระพุทธเจ้าก่อนที่จะมาเป็นศาสดาของโลกนั้น ท่านอยู่ในที่เช่นไร เหล่านี้เคยพูด เคยแสดงให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายทราบมาหลายครั้งหลายหนแล้ว ควรจะถึงใจฝังลงอย่างลึกซึ้ง แล้วดำเนินตามนั้นด้วยความพออกพอใจตามเสด็จพระพุทธเจ้า สถานที่อยู่ของพระพุทธเจ้าอยู่ในป่าในเขา เป็นสิ่งที่โลกทั้งหลายไม่พึงปรารถนาอยากอยู่กัน แต่เป็นที่เหมาะสมสำหรับผู้บำเพ็ญธรรมซึ่งต้องการความสงบสงัด เพราะสถานที่เช่นนั้นคนไม่พลุกพล่านวุ่นวาย เป็นไปเพื่อความสะดวกสบายในการบำเพ็ญสมณธรรม

ในตำรับตำราเฉพาะอย่างยิ่งพุทธประวัติ เราได้เห็นแล้วว่าพระองค์ทรงอยู่บำเพ็ญ หลับนอน สถานที่เช่นไร ตั้งแต่วันเริ่มแรกออกทรงผนวช ปรากฏว่าเป็นป่าเป็นเขา เป็นที่อดอยากขาดแคลนทั้งนั้นสำหรับธาตุขันธ์ สำหรับโลกเขาไม่ต้องการความเป็นอยู่ของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระอาการ แต่พระองค์ซึ่งเป็นโลกเหนือโลกทั่ว ๆ ไปก็จำต้องอยู่จำต้องอดทน ทั้ง ๆ ที่ใจหนึ่งซึ่งเป็นความเคยชินนั้นไม่อยากอยู่ ไม่อยากบำเพ็ญในสถานที่เช่นนั้น แต่ก็จำต้องได้อยู่ได้บำเพ็ญ

นี่แสดงให้เห็นชัดแล้วว่า การเริ่มต้นฆ่ากิเลส ชำระกิเลส ก็เริ่มต้นฝืนกันตั้งแต่บัดนั้น คำว่า ป่า มิหนำซ้ำยังบอกว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ อีก คืออยู่ตามร่มไม้ชายเขา หาที่สะดวกสบายไม่ได้เลย จึงไม่เป็นที่หรูหราดังที่โลกทั้งหลายนิยมกัน ธรรมนิยมกับโลกนิยมต่างกันอย่างนี้ตั้งแต่เริ่มแรกมา แม้องค์ศาสดาก็ทรงบำเพ็ญมาอย่างนี้ อดทนต่อสู้กันมาอย่างนี้ไม่เคยลดละ

การต่อสู้เมื่อกิเลสยังมีอยู่ในพระทัยมากน้อยเพียงไร การต่อสู้จะต้องมีกันมากน้อยเพียงนั้น ถึงขั้นควรสลบก็จำต้องสลบไป หากว่าควรจะตายก็จำต้องตาย แน่ะ แต่นี้ไม่ถึงขั้นนั้น เพียงเป็นขั้นสลบ เพราะการฝึกการฝืนการทรมานกันกับกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ จึงไม่ใช่เป็นของง่ายในการอยู่ของพระพุทธเจ้า หากจะเป็นบ้านเป็นเรือนก็เป็นกระต๊อบเล็ก ๆ น้อย ๆ พอบังแดดบังฝนเท่านั้น

ไปบิณฑบาตก็ได้ตามคนที่เขาให้ทานอยู่ตามประเพณี ไม่ใช่คนที่รู้จักศาสนาดังที่เป็นอยู่เวลานี้ในเมืองไทยของเราเลย เขาให้ทานตามประเพณีของเขาเช่นนั้น ได้อาหารไม่ว่าชนิดใดมา ก็มาคลุกเคล้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนถึงกับขั้นจะเสวยไม่ได้ก็มี ในพระประวัติมีมาอย่างนั้น แต่ก็ทรงฝืนเสวยจนได้ นี่แหละคำว่าฝืน แม้แต่เสวยพระกระยาหารก็ยังต้องฝืน เพราะอาหารเหล่านั้นไม่ได้เหมือนอาหารของกษัตริย์ซึ่งอยู่ในพระราชวัง เป็นกันคนละโลกทีเดียว

เครื่องนุ่งห่มใช้สอยก็เหมือนกัน อาจจะเป็นเรื่องของฤาษีดาบสไปก็ได้ เพราะยังไม่เป็นแบบเป็นฉบับตายตัวออกจากความเป็นศาสดา เป็นคนที่มีกิเลสอยู่ธรรมดาเหมือนโลกทั่ว ๆ ไป พระองค์ก็ย่อมจะเป็นอย่างนั้นในเวลาบำเพ็ญ อาจจะเป็นเพศฤาษีดาบส หรืออะไรไปทำนองนั้น การประกอบความพากเพียรก็ต้องลูบ ๆ คลำ ๆ เพราะเป็นทางไม่เคยเดินสิ่งไม่เคยทำย่อมจะผิดจะพลาด จนถึงกับได้รับความลำบากถึงขั้นสลบ ก็เพราะการลูบคลำหาทางที่ถูกต้องดีงามนั้นแล

เหล่านี้เป็นเครื่องยึดเป็นเครื่องดำเนินของพวกเราได้เป็นอย่างดี ผู้ใดก็ตามถ้าเห็นการดำเนิน วิธีดำเนิน วิธีอยู่ ทุกพระอาการของพระพุทธเจ้าหากเป็นของไม่พึงปรารถนาแล้ว ผู้นั้นก็ชื่อว่าจะสุดจะสิ้นในเรื่องการบำเพ็ญตนเพื่อมรรคเพื่อผลต่อไป จะทำไม่ได้เพราะจิตไม่ยอมรับ กิริยาอาการที่จะทำก็ย่อมทำไม่ลง แต่พระพุทธเจ้าในเวลาบำเพ็ญ พระองค์ทรงพร้อมทั้งนั้น ตายก็ยอม ยอมตาย นี่ละเรื่องสรณะของพวกเราท่านดำเนินมาอย่างนี้

การทรงบำเพ็ญทางด้านจิตใจก็ต้องบีบบังคับกิเลสตัวสำคัญ ๆ ที่ทำให้คิดถึงหอปราสาทราชมณเฑียรบริษัทบริวารวงศ์กษัตริย์ ซึ่งเคยเป็นมาตั้งแต่วันประสูติ จนกระทั่งวันเสด็จออกทรงผนวช ทำไมจะไม่ฝังลึกเล่า กิเลสประเภทเหล่านี้ต้องฝังลึก กิเลสกษัตริย์กับกิเลสคนสามัญธรรมดา ถ้าพูดน้ำหนักแห่งความเป็นพิษเป็นภัยแล้ว กิเลสกษัตริย์นั้นแหละหนักมากกว่ากิเลสคนธรรมดา เพราะมีแต่ความห่วงความใย มีแต่สิ่งที่ผูกพันจิตใจให้ก้าวเดินไม่ออกทั้งนั้น

แต่พระองค์ก็ทรงฝืนจนกระทั่งเสด็จออกได้ พอพระทัยในการที่จะบำเพ็ญ เพื่อชำระสิ่งผูกพันทั้งหลายเหล่านี้ให้หมดสิ้นไปได้โดยลำดับลำดา จนคืนวันที่จะได้ตรัสรู้ สรุปลงมาเป็นเวลา ๖ ปี วันนั้นเป็นวันที่จะตัดสินเด็ดขาดกันลงถึงเรื่องความเป็นความตาย ความได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ หรือจะตายเสียก่อน ได้ตัดสินพระทัยลงในคืนวันนั้น จะประทับนั่งภาวนาเพื่อความตรัสรู้โดยถ่ายเดียวเท่านั้น หากไม่ตรัสรู้ ร่างกายจะเหี่ยวแห้งหรือตายไปเสียเมื่อไร ก็พร้อมที่จะให้เป็นไปตามนั้น แต่การบำเพ็ญเพียรเพื่อความตรัสรู้นี้ไม่ลดละ จนกว่าจะสิ้นลมหายใจไปเสียเท่านั้น

นี่เป็นความเด็ดเดี่ยวอาจหาญของศาสดา ผู้นำธรรมมาสอนโลกด้วยสวากขาตธรรม คือตรัสไว้ชอบ ก็เพราะความรู้ชอบของศาสดาองค์เอกไม่ถอยหลังนั้นเอง นี่คือคติตัวอย่างในการตะเกียกตะกายของพระพุทธเจ้าที่เป็นสรณะของชาวพุทธเรา เฉพาะอย่างยิ่งของเราแต่ละท่านๆ โปรดได้ระลึกลงให้ถึงใจ อย่าได้หยิบหรือเอื้อมมือออกไป ให้กิเลสมาฉุดมาลากเอาขึ้นเขียงของมันอย่างง่ายดาย หาความคัดค้านต้านทานกันไม่ได้ อย่างนั้นไม่ถูกเลย

นักปฏิบัติเป็นนักที่ใคร่ครวญ เป็นนักที่สุขุม เป็นผู้อดทนต่อกิจการที่ชอบ เฉพาะอย่างยิ่งการประกอบความเพียรเพื่อถอดถอนเสี้ยนหนาม คือกิเลสแต่ละประเภท ๆ ออกจากหัวใจเรา เป็นสิ่งที่ถอดถอนได้ยากยิ่งกว่าถอดถอนสิ่งใด ยิ่งกว่าการรบการต่อสู้สิ่งใดทั้งนั้น เพราะจะต้องได้ใช้สติปัญญากำลังวังชาทุกแง่ทุกมุม มีเท่าไรเป็นโหมกันมาหมด มาต่อสู้กับกองทัพแห่งกิเลส ที่พาสัตว์ให้ล่มจมอยู่ตลอดเวลาหาความหลุดพ้นไปไม่ได้นี้ นี่ละจึงเป็นของยาก ยากอย่างนี้

คำว่ายาก ก็คือกิเลสตัวที่มันขัดมันขืนนั้นแลทำให้ยาก ไม่ใช่ธรรมพาให้ยาก ไม่ใช่มรรคผลนิพพานพาให้ยาก ไม่ใช่ความสิ้นทุกข์ความสิ้นกิเลสพาให้ยาก การต่อสู้กิเลสเพื่อให้สิ้นซากไปเสียจากใจนี้ ย่อมได้รับการกีดการขวางกับมันไม่ใช่น้อย นี่ละความยาก ยากเพราะกิเลสมันต่อสู้เราเท่านั้น อย่าพึงคิดไปอย่างอื่น จะทำให้เกิดความท้อถอยน้อยใจแล้วลดละความพากเพียรของตนลงโดยลำดับ ให้กิเลสหัวเราะเยาะอยู่ทั้งวันทั้งคืนที่เราประกอบความเพียรด้วยความไม่เป็นท่า ดังนั้นขอให้ทุกท่านได้ฝังใจในการบำเพ็ญของตน

มีเรานี้เท่านั้นที่จะรับผิดชอบตัวของเรา โลกทั้งโลกจะเป็นโลกใดก็ตามในสามโลกนี้ คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก หรือกามภพ รูปภพ อรูปภพ ทั้งสามนี้เราอย่าไปมอบจิตใจให้กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดภพหนึ่งภพใด เป็นผู้ที่จะฉุดลาก หรือมาช่วยฉุดลากเราให้หลุดพ้นจากทุกข์อันเป็นผลของกิเลสสร้างขึ้นมา นอกจากอรรถธรรมคือความเพียรของเรานี้เท่านั้นที่จะฉุดลากเราได้ ที่จะเป็นที่พึ่งเป็นพึ่งตาย และถอดถอนกิเลสทุกประเภทออกจากหัวใจเราได้ และหลุดพ้นทุกข์ไปโดยสิ้นเชิง จากธรรมทั้งหลายที่กล่าวมาเหล่านี้เท่านั้น

ไม่มีสิ่งอื่นสิ่งใดที่จะมาฉุดลากมาช่วยเราให้พ้นจากทุกข์ไปได้ ในบรรดาที่กล่าวมาทั้งหมดในแดนแห่งโลกธาตุนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรจะหวังพึ่งสิ่งใด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มัดรึงตรึงตราอยู่ตลอดเวลาทั้งนอกทั้งในทั้งใกล้ทั้งไกล ขึ้นชื่อว่าสมมุติแล้วมี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เต็มตัวด้วยกันทั้งนั้น เราจะหวังพึ่งอะไรนอกจากจะหวังพึ่งธรรม ซึ่งเป็นเครื่องฉุดลากกิเลสตัวสำคัญที่พาให้สัตว์ล่มจม มีเราเป็นสำคัญคนหนึ่งไม่ด้อยกว่าสัตว์ทั้งหลายนี้เลย นี่ละสำคัญมีเท่านี้

จงพากันตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เชื่อพระพุทธเจ้า เพราะเชื่อกิเลสก็เคยเชื่อมานานแล้ว เชื่ออยู่ตลอดเวลา ผลที่เกิดขึ้นจากความเชื่อและเดินตามมันต้อย ๆ ได้อะไรบ้าง มีแต่ความล่มจมฉิบหาย วันคืนปีเดือนคือมืดกับแจ้งผ่านไปผ่านมาอยู่เช่นนี้ ดังที่เราเห็นมาตั้งกัปตั้งกัลป์แล้ว มีมืดสว่างอันไหนมืดแจ้งอันใด เดือนใดปีใดวันใด สถานที่ใดวัตถุใด ได้เข้ามาฉุดลากเราพยุงเราให้หลุดพ้นจากทุกข์ นอกจากความดีที่เราสร้างไว้สำหรับเรานี้เท่านั้น เราเป็นผู้รับผิดชอบเรา ต้องคิดอย่างนี้เสมอนักบวชนักปฏิบัติ อย่าหวังพึ่งใคร

สิ่งที่เราได้เคยสัมผัสสัมพันธ์มาแล้วในโลกนี้ ไม่บกพร่องแล้วในจิตวิญญาณของแต่ละดวง ๆ ไม่บกพร่องแห่งความท่องเที่ยวในวัฏสงสารคือการเกิดแก่เจ็บตาย เพราะเชื้อแห่งกิเลสมันฝังอยู่ภายจิตให้ต้องงอกต้องเกิดอยู่ตลอดไป แล้วก็ตายกันตลอดมาจนกระทั่งบัดนี้ เราไม่เหนื่อยหน่ายสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยแก่เราอยู่ภายในตัวภายในจิตใจนี้ เราจะไปเบื่อหน่ายอะไร เราไม่เห็นโทษจุดนี้เราจะไปเห็นโทษจุดใด เราต้องคิดให้มาก

นี่ละคำว่า สรณํ คจฺฉามิ คือองค์ศาสดาพาดำเนินมาก่อนแล้ว ทุกข์มากน้อยเพียงไรในการต่อสู้กับกิเลส กิเลสของพระองค์กับกิเลสของเราเป็นความเหนียวแน่นแก่นฉลาดแหลมคมเช่นเดียวกัน แต่เรามีผิดกันกับพระองค์อยู่ที่ว่า ได้พระโอวาทคือเครื่องมืออันสำคัญทันสมัยจากพระองค์ มาห้ำหั่นฟันกับกิเลสให้แตกกระจัดกระจายไปด้วยความเพียร มีสติธรรม ปัญญาธรรมเป็นสำคัญนี้เท่านั้น นี่ต่างกันกับพระพุทธเจ้าซึ่งทรงเสาะแสวงโดยลำพัง ที่เรียกว่าสยัมภู เวลารู้ก็รู้โดยลำพังพระองค์เท่านั้น ไม่มีใครมาแนะนำสั่งสอนเลย แต่เรานี้เป็นผู้ได้รับการแนะนำสั่งสอนจากพระพุทธเจ้าทุกแง่ทุกมุม ธรรมทั้งหมดที่นับพอประมาณ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ล้วนแล้วแต่เป็นอุบายวิธีและเครื่องมือ สำหรับที่จะสังหารกิเลสทั้งนั้น เราได้รับมาหมด เรียนก็เรียนมาพอสมควรแล้วทุก ๆ ท่าน นี่ละที่ แปลกต่างจากพระพุทธเจ้า

เครื่องมือเราก็มี มีแต่เราจะจริงหรือไม่จริงนี้เท่านั้น ให้พากันฝังจิตลงในปัจจุบัน เห็นโทษแห่งความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากกิเลสอย่างแท้จริง และเห็นคุณค่าแห่งธรรมเป็นเครื่องฉุดลากจากกิเลสให้ถึงใจเช่นเดียวกัน ความเพียรของเราจะได้ก้าวไปโดยลำดับ ไม่ถอยหลังดังที่เป็นอยู่และเป็นมา ผู้ปฏิบัติต้องเป็นเช่นนั้นเสมอ จิตเวลาเด็ดต้องเด็ด อย่าอ่อนแอท้อแท้ไปตลอดสาย อันเป็นเรื่องของกิเลสฉุดลากไป หากฎเกณฑ์หาที่สุดยุติแห่งป่าช้าความเกิดตายของเรานี้ไม่พบไม่เจอเลย ถ้าเป็นดังที่เป็นมานี้

เวลานี้เราจะตัดภพตัดชาติออกจากจิตใจของเรา ซึ่งฝังเชื้อคือภพชาติอยู่ภายในด้วยกัน ด้วยความพากเพียรนี้ไม่ลดละ นี่ละคำว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ของพระพุทธเจ้าเป็นแบบฉบับดังที่กล่าวมานี้ ธมฺมํ ที่เกิดขึ้นได้ในพระทัยของพระองค์จนกระเทือนโลกธาตุ ได้นำมาสั่งสอนสัตว์โลกเรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ ออกมาจากความเดนตายของพระพุทธเจ้า ที่ห้ำหั่นกับกิเลสไม่มีการลดละท้อถอยนี้ต่างหาก ไม่ใช่เกิดมาจากความอ่อนแอท้อแท้เหลวไหลอะไรเลย เราจึงไม่ควรจะเหลวไหล

กิริยาอาการทุกส่วน ให้ดูอาการของจิตที่คิดออกมามันโง่หรือมันฉลาด มันคิดไปทางกิเลสหรือทางธรรมะ ผู้ปฏิบัติดูจิตใจนี้อย่าดูที่อื่น อย่าดูต้นไม้ภูเขา อย่าดูดินฟ้าอากาศ อย่าดูมืดดูแจ้ง อย่าดูสัตว์ดูบุคคลดูวัตถุต่าง ๆ ให้ดูอาการของจิตที่เคลื่อนไหวไปมาอยู่เวลานี้ ตัวนี้แลเป็นตัวสร้างเหตุให้เกิดทุกข์อยู่เสมอ เพราะกิเลสเป็นเครื่องผลักดัน เป็นผู้บัญชางาน เป็นเจ้าของงาน เป็นตัวจักรอันใหญ่ มันหมุนเวียนอยู่ภายในจิตใจนี้

คำว่าวัฏจักรกับวัฏจิตนี้จะเป็นอะไร ถ้าไม่ใช่เป็นอยู่ที่จิตของเราจากกิเลสที่พาให้หมุนอยู่นี้เท่านั้นไม่มีอะไรเป็น กว้างแสนกว้างก็เถอะเรื่องโลกอันนี้ไม่มีพิษมีภัยอันใด นอกจากกิเลสที่ฝังอยู่ในใจนี้เท่านั้นเป็นพิษต่อสัตว์ทั้งหลาย มีต่อเราเป็นต้น เราไม่เห็นโทษของมันในจุดนี้เราจะเห็นจุดไหน นี่ละผู้ปฏิบัติให้ทำความมั่นใจลงที่จุดนี้

การหลับการนอน การขี้เกียจขี้คร้าน การท้อแท้อ่อนแอเราเคยเป็นมาแล้วได้ผลอย่างไรบ้าง เอามาทดสอบกับความเพียรของเรา ความเพียรวันนี้ได้ผลอย่างไรบ้าง และกิเลสได้เหยียบย่ำทำลายกี่ครั้ง เรามีการชนะกิเลสในแง่ใดบ้าง พอที่จะโหมกำลังเข้ามาสู้กับมันให้ได้ชัยชนะไปโดยลำดับ จนกระทั่งถึงกิเลสขาดสะบั้นออกจากใจให้เห็นอย่างชัดเจนทีเดียวว่า จิตดวงที่เป็นเจ้าแห่งวัฏฏะ ครองวัฏฏะมาเป็นเวลานานแสนนานนี้ได้ยุติกันลงแล้วในขณะนี้ ในวันนี้ ในอิริยาบถนี้ ด้วยความพากเพียรอันเด่นชัด เห็นประจักษ์ภายในจิตใจของเรานี้คนเดียว ให้เห็นอย่างนี้นักปฏิบัติ

นี่ละถ้าว่า ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ เป็นธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว ออกมาจากความรู้ชอบทุกแง่ทุกมุมแล้ว จึงได้ตรัสไว้ชอบ และ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ผู้ตามเสด็จพระพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่คนท้อแท้อ่อนแอ ไม่ใช่คนโง่เง่าเต่าตุ่น กินแล้วนอนกอนแล้วนิน แต่เป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร มุ่งหวังต่อธรรมอย่างแรงกล้าที่จะฉุดลากตนให้หลุดพ้นจากทุกข์โดยถ่ายเดียวเท่านั้น เพราะเห็นภัยกิเลสก็เห็นมามากต่อมาก

ในประวัติของพระสาวกแต่ละองค์ ๆ เราพอจะทราบได้ว่าเป็นอย่างไร บางองค์ถึงกับอยู่บ้านไม่ได้ อย่างพระยสกุลบุตร เป็นต้น ต้องได้ออกหนีจากบ้านจากเรือน แล้วเผอิญไปเจอเอาพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงโปรดจนได้หลุดพ้นจากทุกข์ได้เป็น สรณํ คจฺฉามิ ของพวกเราองค์หนึ่งในปฐมกาล คือ ทีแรก ๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ นี่ละพระสาวกแต่ละองค์ท่านเป็นอย่างนี้ ควรนำท่านมาเป็นคติตัวอย่าง

กษัตริย์ก็มีที่มาเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นอรหันตสาวกเสียด้วย มีมากต่อมาก เศรษฐี กุฎุมพี มีมากต่อมาก เวลาสละตนออกมาสู่หลักธรรมหลักวินัย เพื่อความพ้นทุกข์ตามพระพุทธเจ้าแล้วท่านดำเนินเป็นยังไง เหมือนฝ่ามือกับหลังมือ พลิกเปลี่ยนเป็นคนละโลกไปเลย ความรู้ความเห็นที่เคยเป็นมาในทางโลกนั้นลบทิ้งออกหมด หาเอาใหม่ เรียกว่าโลกุตรสมบัติ เอาจากเครื่องมือของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนนี้ เข้าไปประหัตประหารสิ่งที่เป็นพิษร้ายทั้งหลายอยู่ภายในจิตใจ จนกระทั่งได้บรรลุธรรมทั้งหลาย ถึงแดนพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง เป็น สรณํ คจฺฉามิ ของพวกเรามาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ท่านเป็นพระประเภทที่กล่าวมาเหล่านี้แล

การอยู่การกินการหลับการนอน ที่พักอาศัยของท่าน ที่บำเพ็ญความพากเพียร ท่านบำเพ็ญ ท่านอยู่ท่านกิน หลับนอนในที่เช่นไร ในสถานที่เช่นไร มีแต่เป็นสถานที่โลก สิ่งที่โลกไม่พึงปรารถนากันทั้งนั้น...ท่านอยู่ นั่นละธรรมเกิดในแดนเช่นนั้น แดนที่โลกทั้งหลายไม่ชอบกัน ธรรมชอบเช่นนั้น ผู้บำเพ็ญธรรมจึงชอบอยู่ในสถานที่เช่นนั้น อันเป็นที่เหมาะสมกับการบำเพ็ญของตน เพื่อฆ่ากิเลสได้ง่ายดายลงไปกว่าที่อันหรูหรา นี่พากันจำเอาไว้

สถานที่นี่ก็เป็นสถานที่ประกอบความพากเพียร ได้พยายามสงวนหมู่เพื่อนเต็มกำลังความสามารถ ในขณะหรือเวลาที่ผมรับหมู่เพื่อนไว้เพื่อการแนะนำสั่งสอนก็เพื่อการอบรมด้วย เพราะฉะนั้นการบำเพ็ญของพระที่มาอยู่ในสถานที่นี้ ควรจะบำเพ็ญด้วยความสนอกสนใจประพฤติปฏิบัติ ทางจงกรมเอาให้มันเป็นเหวไปเป็นไร นั่นละคือการทำงาน สถานที่เดินจงกรมเป็นสถานที่ทำงานของพระผู้จะฆ่ากิเลส ร่มไม้ชายเขาที่สงัดงบเงียบ กระต๊อบ เป็นสถานที่นั่งภาวนาบำเพ็ญตนด้วยความไม่กังวลกับสิ่งใด บำเพ็ญตนด้วยความสะดวกสบาย เพื่อธรรมทั้งหลายเท่านั้น

ไม่ห่วงโลกห่วงสงสาร ไม่ห่วงบ้านห่วงเรือน ไม่ห่วงสมบัติเงินทองอันเป็นสิ่งภายนอก ใคร ๆ ก็มีได้เพราะเป็นวัตถุหรือแร่ธาตุอันหนึ่ง ๆ เท่านั้น ที่มาอาศัยชั่วระยะกาลที่มีชีวิตอยู่ พอตายไปแล้วก็หมดความหมาย ทุกสิ่งทุกอย่างจะพังไปตาม ๆ กันหมด เมื่อร่างกายเราพังไปเสียอย่างเดียวไม่มีความหมายเลย แม้สิ่งนั้นไม่พังเราก็จะพังตาม ๆ กันไป เราจึงไม่ควรถือเป็นสรณะ เป็นที่ยึดถือให้เสียเวล่ำเวลา ให้กิเลสสร้างตัวขึ้นมาด้วยการสั่งสม ด้วยการสำคัญตนว่ามีความรู้ความฉลาด ว่าตนมั่งมีศรีสุข ว่ามีบ้านมีเรือนมีบริษัทบริวารมากเพียงเท่านั้น อันเป็นบ่อเกิดของกิเลส อย่าพึงคิดอย่าพึงนึกให้เสียเวล่ำเวลา

ออกมาบวชแล้วมีเราเท่านั้น เป็นกับตายก็เรา สุขกับทุกข์ก็เรา จะฉุดลากตนได้มากน้อยเพียงไร ก็เป็นกำลังวังชาสติปัญญาของเรานี้เท่านั้น ไม่มีสิ่งใดที่จะมาช่วยปลดเปลื้องเราให้หลุดพ้นไปได้ เป็น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ คือใคร คือเราพึ่งเรานี้แล ให้ประกอบความพากเพียรเต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่าได้ลดละถอยหลัง

ให้ขยันเดินจงกรม กี่ชั่วโมงก็เอ้าเดินไป ให้เห็นความยากความลำบากในการเดิน ให้เห็นความเหน็ดเหนื่อยในการเดินจงกรม เช่นเดียวกับเขาทำงานทางโลก เราทำงานทางธรรม ก็ให้เห็นความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการประกอบความพากเพียรของเรา เช่น นั่งนานเป็นยังไง ต้องเจ็บปวดแสบร้อน ดีไม่ดีก็ล้มทั้งหงายเป็นไรไป เพราะสิ่งเหล่านี้ได้เคยบำเพ็ญมาแล้ว ก่อนที่จะมาเทศนาว่าการแนะนำสั่งสอนหมู่เพื่อนตามสติกำลังนี้ ก็ได้บำเพ็ญมาแล้วทั้งนั้น

เดินจงกรมก็ได้เดิน ๕-๖ ชั่วโมง จากนั้นเราไม่เคย นี่ตอนกลางวันนั้นอาจเป็นได้ คือเดินตั้งแต่ฉันจังหันเสร็จแล้วจนกระทั่งถึงเวลาปัดกวาด นี่เป็นได้อันนี้ แต่ที่เดินกลางคืนยังไม่เคยปรากฏว่าได้ถึง ๗-๘ ชั่วโมง เพียง ๕-๖ ชั่วโมงเท่านั้น นี่ก็ปรากฏว่าเหน็ดเหนื่อยควรแก่การพัก และเวลาพักก็พักนั่งสมาธิ เป็นวิธีการต่อสู้อีกวิธีหนึ่ง คือเดินจงกรมก็เป็นวิธีการต่อสู้วิธีหนึ่งโดยทางสติปัญญาเช่นเดียวกัน

เปลี่ยนจากเดิน เห็นว่าเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแล้ว ก็มานั่งสมาธิภาวนา ก็เป็นวิธีการฆ่ากิเลส หรือวิธีการฝึกทรมานกิเลสอีกประเภทหนึ่ง ทำให้มันถึงใจบ้างซินักปฏิบัติ เดินให้มันถึงใจ ให้เห็นว่าเดินขนาดไหนให้เป็นที่ภูมิใจของเราเมื่อคิดย้อนหลังก็ดี ให้ได้เห็นความแปลกประหลาดของตน ความเด็ดเดี่ยวอาจหาญของตน พอที่กิเลสจะได้เศร้าโศกเสียใจ กลัวจะพังจากจิตใจของเราลงบ้าง มันไม่ดีแล้วเหรอ พิจารณาซิ

นั่งสมาธิก็เหมือนกัน ฟาดมันลงไป สมาธิเวลานั่งมาก ๆ นี้สำคัญ มักจะมีเวทนาให้เป็นเครื่องพิจารณา งานอื่น ๆ ต้องได้ปล่อยทิ้งหมด รวมตัวเข้ามาสู่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในร่างกายจุดต่าง ๆ จุดไหนที่เด่นกว่าเพื่อน ถือจุดนั้นเป็นสนามรบ สติปัญญาหยั่งลงไปที่นั่น

เอ้า ทุกข์ก็ทุกข์ นี่เวลาจะตายต้องทุกข์ถึงขั้นตายมันถึงจะตายได้ เวลานี้ยังไม่ตาย ทุกข์ขนาดไหนก็ให้รู้ให้เห็นกัน แต่อย่าไปนั่งทนทุกข์เฉย ๆ ให้นั่งทนด้วยสติด้วยปัญญา พิจารณาเพื่อความรู้จริงเห็นจริงในทุกขสัจ ทุกขสัจคือความเป็นทุกข์มาก ๆ ในสกลกายนี้ มันมาจากอะไร มาจากไหน อะไรเป็นทุกข์ กายเป็นทุกข์เหรอ เอาแยกกายออก ในกายแต่ละส่วน ๆ นี้มีหนัง มีเนื้อ มีเอ็น มีกระดูก อันใดเป็นทุกข์

หนังหรือเป็นทุกข์ ถ้าว่าหนังเป็นทุกข์ ตั้งแต่ทุกข์ยังไม่เกิดหนังก็ยังมีอยู่ ทุกข์ดับไปแล้วหนังทำไมไม่ดับไปด้วย ถ้าหากว่าหนังเป็นทุกข์ ทุกข์ดับไปหนังต้องดับไป แต่นี้ไม่ได้ดับไป เนื้อ เอ็น กระดูกทุกชิ้นนี้ก็เหมือนกัน เป็นอาการของมันแต่ละส่วน ๆ ทุกข์จะเกิดขึ้น หรือทุกข์ไม่เกิดขึ้น หรือทุกข์ดับไปก็ตาม อาการเหล่านี้ก็คืออาการเหล่านี้ คงเส้นคงวาของตัวอยู่อย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่น

ทุกขเวทนาก็เป็นเรื่องของทุกขเวทนาต่างหาก ไม่ใช่อาการเหล่านี้เป็นทุกข์ ทุกข์เป็นอาการเหล่านี้ เป็นคนละอย่าง ๆ ท่านจึงเรียกว่ากาย ว่าเวทนา เวทนานั้นหมายถึงทุกขเวทนา แล้วก็เรียกว่าจิต ๆ คือผู้รับรู้ ผู้รับรู้นี้โง่หรือฉลาด ถ้าเอาสติปัญญาเข้ามาช่วยผู้รู้นี้ ผู้รู้นี้แลจะเป็นผู้รู้ที่ฉลาดแหลมคมทันต่อเหตุการณ์ คือทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นมามากน้อยภายในร่างกายของเราส่วนไหนก็ตาม ให้ค้นคว้าเข้าไปตรงนั้น จนกระทั่งเห็นความจริงจากทุกขเวทนาที่อยู่ในจุดนั้น ๆ

แต่สำคัญอย่าอยากให้ทุกข์หายนะ ถ้าอยากให้ทุกข์หาย อยากเท่าไรทุกข์ยิ่งทวีรุนแรงมากขึ้น จะหาความจริงต่อกันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นผู้บำเพ็ญต่อทุกขเวทนา ปฏิบัติต่อทุกขเวทนา ต้องเป็นผู้ต้องการความจริงนี้ หรืออยากรู้ความจริง ด้วยสติปัญญานี้เท่านั้น นั่นจึงจะเห็นได้ชัดในขณะที่ทุกขเวทนาเกิดขึ้นมาก ๆ

การพิจารณาเรื่องทุกข์ในขณะที่นั่งมากหรือเจ็บปวดแสบร้อนในร่างกายมาก ต้องพิจารณาอย่างนั้น เมื่อเวลารอบกันแล้ว การพิจารณารอบกันแล้วนั้น กายทุกส่วนจะเป็นความจริงของตนไม่ใช่ทุกขเวทนา ทุกขเวทนาทุก ๆ อาการที่ปรากฏขึ้นก็เป็นเวทนา เป็นของตัวเอง ไม่ไปแยกไปแยะ ไม่ไปแย่งชิงตำแหน่งกัน เช่น กายกลับมาเป็นทุกข์ ทุกข์กลับไปเป็นกายอย่างนี้ไม่มี เมื่อเวลารู้ชัดแล้วกายก็เป็นกาย หรือหนังเป็นหนัง เนื้อเป็นเนื้อ เอ็นเป็นเอ็น กระดูกเป็นกระดูก อาการต่าง ๆ เป็นของตัวเอง ๆ ทุกข์ก็เป็นของตัวเอง นี่เรียกว่าพิจารณาเห็นความจริงจากกาย และทุกขสัจคือทุกข์ที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย

เมื่อได้เห็นชัดเจนแล้ว จิตคือจิต นี้เป็นของสำคัญ ไปหมายนั้นหมายนี้ นี่ละเวลาพิจารณาสิ่งใด ให้ดูทุกขเวทนาแล้วย้อนดูจิต ดูกายแล้วก็ย้อนดูจิต ประสานกันเรื่อย ๆ จนกระทั่งความสำคัญมั่นหมายนี้มันหดตัวเข้ามา สำคัญว่าหนังเป็นทุกข์บ้าง เอ็น กระดูก เป็นทุกข์บ้าง เวลาดูเข้าจริง ๆ แล้ว หนังเป็นหนัง เนื้อเป็นเนื้อ เอ็นเป็นเอ็น กระดูกเป็นกระดูก อาการต่าง ๆ เช่น ทุกข์ก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ต่าง ๆ เป็นทุกข์ต่างหาก

เมื่อความสำคัญของจิตได้ถอยตัวเข้ามาสู่จิตแล้ว อาการเหล่านั้นจะไม่มีเลย ว่าสิ่งนั้นมาให้ทุกข์แก่เรา สิ่งนี้มาให้ทุกข์แก่เรา อย่างนี้ไม่มี นี่เรียกว่าพิจารณาทุกขสัจรอบ พร้อมทั้งเห็นชัดภายในกายและจิต เมื่อต่างอันต่างเป็นความจริงของตนเต็มที่แล้ว ทั้งสามนี้จะไม่กระทบกระเทือนกันเลย

หนึ่ง ทุกข์ดับไปวูบในขณะนั้นไม่มีเหลือ แล้วจิตก็รวมตัวเข้ามาสู่ความสงบแนบแน่นแบบอัศจรรย์ ร่างกายก็หายเงียบไปในขณะนั้น หมดความสำคัญซึ่งกันและกันเลย นี่ประการหนึ่ง

ประการที่สอง ทุกข์มีอยู่ กายมีอยู่ จิตมีอยู่ แต่ไม่สัมผัสสัมพันธ์ ไม่ประสานกัน ไม่ยุ่งกัน ทุกข์จะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไรก็ไม่สามารถที่จะมากระทบกระเทือนจิตได้ จิตจึงไม่เป็นทุกข์ไปตามนั้นเลย

ทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นจากการรู้เห็นความจริงแห่งทุกข์แห่งกายและจิตของตน การนั่งภาวนานาน หรือการเป็นทุกข์ภายในร่างกาย จะเป็นทุกข์แบบไหนก็ตาม ด้วยโรคภัยไข้เจ็บก็ตาม ย่อมจะพิจารณารอบลงได้โดยวิธีการนี้แล้วหายสงสัย ถึงทุกข์นั้นจะไม่หาย เช่น โรคภัยไข้เจ็บไม่หายก็ตาม แต่ใจก็ไม่เป็นทุกข์ ใจไม่ไปสำคัญ

การประกอบความพากเพียรด้วยการนั่งภาวนานานนี่ได้เคยทำมาแล้ว ดังที่เคยได้พูดเพื่อเป็นคติแก่หมู่เพื่อนมาหลายครั้งหลายหนแล้ว การนั่งภาวนานานรบกับทุกขเวทนานี้ จนเห็นผลประจักษ์ใจ ได้รับความอัศจรรย์ทุก ๆ ครั้งไป ในบรรดาของการนั่งภาวนาถึงขั้นตลอดรุ่งหรือหามรุ่งหามค่ำ ไม่มีคราวใดที่ได้พลาดโอกาสไปเลย ว่าไม่ปรากฏความอัศจรรย์นี้ขึ้นกับใจ ไม่ปรากฏเลยว่ามี เห็นอัศจรรย์ทุกครั้ง เป็นแต่เพียงว่าลงได้ยาก หรือลงได้ช้าหรือเร็วต่างกันเท่านั้น อันนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณารอบได้ง่าย หรือรอบได้ช้าได้เร็วต่างกัน แต่ก็ลงได้เหมือนกัน เมื่อลงถึงขั้นแล้วเต็มที่แล้วเป็นความอัศจรรย์เหมือนกันหมด นี่จึงเป็นธรรมที่ลืมไม่ได้ เพราะเป็นสัจธรรมอย่างเด่นชัดเห็นประจักษ์ เราเป็นผู้กอบโกยเอาผลที่เกิดขึ้นจากสัจธรรมอันนี้คือความอัศจรรย์ เห็นได้ชัดทีเดียว

นี่การประกอบความพากเพียรจะใช้วิธีไหน ถึงกาลเวลาที่ควรจะใช้เราไม่ควรกลัวตาย ถึงวาระที่ควรใช้ถึงวาระที่จะถอยไม่ได้มันหากมีในจิต ถอยไม่ได้ไม่ถอย เอาจนกระทั่งรู้แจ้งเห็นจริงประจักษ์ใจ แล้วมันหากถอย ต่างอันต่างถอยกันเองโดยหลักธรรมชาติ โดยความมีสง่าราศีภายในจิตใจของตน ไม่ได้ลบลายของนักปฏิบัติ ของนักประกอบความพากเพียร ว่าไม่เป็นท่า นี่ละการปฏิบัติประกอบความพากเพียร

ธรรมอัศจรรย์นี้จะปรากฏขึ้น หลังจากที่การพิจารณาในอาการที่กล่าวมาเหล่านี้ รอบตัวหมดแล้ว จิตก็ถอนตัวเข้าไป เพราะเห็นรอบหมดแล้วจะมายึดอะไรอีก เมื่อถอนตัวเข้าไปสู่หลักธรรมชาติของจิตโดยแท้แล้ว แม้จะมีอวิชชาอยู่ในนั้นยังไม่หมดก็ตาม แต่ความอัศจรรย์ก็ทำให้ลืมไม่ได้จนกระทั่งวันตายเช่นเดียวกัน นี่ละการถอดถอนกิเลสเป็นเช่นนี้

ความเพียรจึงควรให้มีเป็นบทเป็นบาทเป็นจังหวะ ที่ควรจะหนักให้หนัก นอกจากเรื่องว่าเบาน่ะ มันเป็นของมันเองละ ควรจะหนักก็ให้มันหนักบ้างนักประกอบความพากเพียร ให้ได้เห็นความอัศจรรย์ อย่าให้มีแต่ครูบาอาจารย์ท่านพูดท่านอธิบายเรื่องธรรม เรื่องความมีความเป็นของท่าน หรือของธรรมให้ฟังเพียงเท่านั้น ให้ปรากฏในจิตใจของเราประจักษ์เองมันถึงเชื่ออย่างลึก เชื่ออย่างฝังใจ ถ้าเราได้เห็นได้รู้โดยลำพังตนเองแล้วเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก ประจักษ์ หรือ ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ ประจักษ์ภายในแล้วจะไม่มีวันลืมเลย นี่การประกอบความพากเพียร

ตามปกติอยู่ที่ไหนไปที่ใด อิริยาบถ ๔ ให้ดูความเคลื่อนไหวของใจเสมอ นี่แหละเป็นตัวสร้างความทุกข์ความวุ่นวายขึ้นมาแก่เราไม่ใช่เรื่องอะไร เกิดขึ้นจากจิตล้วน ๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น ไม่ใช่เป็นผู้ยุ่งเหยิงวุ่นวายเหมือนใจดวงที่ก่อเหตุอยู่ตลอดเวลานี้ นี่มีเท่านี้เรื่องก่อเหตุ

ดังที่ว่าละ สามแดนโลกธาตุไม่มีสิ่งใดมาเป็นปัญหา มาสร้างปัญหาบนหัวใจ นอกจากกิเลสนี้เท่านั้นสร้างปัญหาบนหัวใจ ถ้ารู้เท่าทันมันไม่ได้มันจะสร้างไปตลอด แล้วเราก็รับเอากองทุกข์จากความสร้างของมันไปตลอดสาย เกิดในภพใดชาติใดมีแต่เกิดเพื่อความทุกข์ความทรมานตนเอง ไม่ได้เกิดเพื่อความหลุดพ้นเพราะอำนาจของกิเลสนี้เลย นอกจากธรรมเกิดเท่านั้น

ธรรมเกิดมากน้อยจะดับทุกข์ลงไปโดยลำดับลำดา ย่นทุกข์เข้ามา ๆ ดังผู้ได้สำเร็จพระโสดา นี่เป็นความที่แน่ภายในจิตใจเจ้าของโดยลำดับ ว่าโสตะ คือกระแส เข้ากระแสที่จะไม่เกิดตายอีกแล้ว จะช้าหรือเร็วท่านก็มีกำหนดเอาไว้ ดังที่ท่านแสดงไว้ในตำรับตำรา อันเป็นของแน่นอนตายตัวแล้วเป็นอื่นไปไม่ได้ เช่นอย่างพระโสดา ถ้าอย่างอ่อนก็ ๗ ชาติ อย่างกลางก็ ๓ ชาติ อย่างอุกฤษฏ์ก็ ๑ ชาติ หนึ่งชาติคือกลับมาเกิดมาเกิดอีกชาติหนึ่งก็ได้ หรือว่าในชาตินั้นแล้วพิจารณาบำเพ็ญตนเองจนแก่กล้า สามารถบรรลุธรรมขั้นสูงสุดวิมุตติพระนิพพานเป็นอรหัตบุคคล สิ้นภายในชาตินั้นก็ได้ นี่เป็นความแน่นอนสำหรับจิตดวงนี้

จิตดวงนี้เมื่อเข้าสู่จุดรวมแล้ว จะรู้เจ้าของไปโดยลำดับลำดาความเคลื่อนไหวมากน้อยเพียงไร สติปัญญาไม่ต้องบอก เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่กับจิต ด้วยการสั่งสม ด้วยการบำรุงตลอดเวลาอยู่แล้ว จนกลายเป็นหลักธรรมชาติ คืออัตโนมัติแห่งความเพียรของสติปัญญาขั้นนี้ทำงาน จะเป็นไปโดยลำดับ

เมื่อถึงขั้นนี้แล้วเราจะได้เห็นความอัศจรรย์ของธรรมไปโดยลำดับลำดา ในขณะเดียวกันจะเห็นความทุกข์ที่เคยเป็นมาโดยลำดับลำดา จนกระทั่งว่าทุกข์ที่กิเลสสร้างขึ้นมาในจิตใจนี้ ยังเหลืออยู่มากน้อยเพียงไร ก็ยิ่งจะเห็นเป็นพิษเป็นภัยประจำจิตอยู่ตลอดเวลา แล้วไม่ละเว้นที่จะสังหารมันจนได้นั้นแหละ นั่นละท่านเรียกสติปัญญาอัตโนมัติ มันเห็นโทษเห็นภัยกันอย่างไม่จืดจาง อย่างขยับตัวเข้าไปเรื่อย ๆ มัดเข้าไปเรื่อย ๆ มัดกิเลสมัดเข้าไปเรื่อย ๆ มัดเข้าไปเรื่อย ๆ เหมือนกับกิเลสมัดเราแต่ก่อน กระดิกออกไปแง่ใดมุมใดของอาการของจิต มีแต่เรื่องของกิเลสทำงานเพื่อมัดเราให้อยู่ในกองทุกข์ อยู่ในเงื้อมมือมันเท่านั้น

ที่นี่เมื่อธรรมมีอำนาจก็เป็นเช่นนั้น ไม่ได้ผิดกันอะไรเลย ผู้ปฏิบัติจะทราบด้วยตัวเองด้วยกันทั้งนั้น เมื่อถึงธรรมขั้นที่เป็นอัตโนมัติแล้ว นั่นละเป็นขั้นที่จะมัดกิเลสให้อยู่ในเงื้อมมือในวันใดวันหนึ่ง เวลาใดเวลาหนึ่ง อย่างรีบอย่างร้อน อย่างสด ๆ ร้อน ๆ อยู่ภายในความเพียรนั่นแล

เพราะฉะนั้นผู้มีความเพียรประเภทนี้จึงหาเวลาว่างไม่ได้ ไม่มีเวลาว่าง ตาเห็นก็ดีไม่เห็นก็ดี จิตไม่ว่างจากการขวนขวาย จากการขุดค้นเพื่อฆ่ากิเลสโดยลำดับไป ตา หู จมูก ลิ้น กายจะสัมผัสสัมพันธ์หรือไม่สัมผัสสัมพันธ์ไม่สำคัญ แต่จิตกับกิเลสนั้นจะสัมผัสกันอยู่ตลอดเวลาด้วยสติด้วยปัญญาเพื่อฆ่ากิเลสโดยลำดับไป

นี่ละถึงขั้นนี้แล้วเราจะได้เห็นคุณค่าของจิต เห็นคุณค่าของธรรม เห็นความหวังของตน ว่าสร้างขึ้นมาใกล้เข้าไปทุกทีกับความหลุดพ้นหรือพระนิพพาน หรือความบริสุทธิ์ของใจสิ้นเสร็จไปจากกิเลสประเภทต่าง ๆ จะเห็นเป็นสด ๆ ร้อน ๆ ตลอดไปเลย เพราะฉะนั้นความเพียรของผู้บำเพ็ญในขั้นนี้ จึงนับวันที่จะก้าวหน้าโดยลำดับลำดา ไม่มีคำว่ายืนว่าเดินว่านั่งว่านอนนี้ที่ความเพียรจะไม่ดำเนิน

สติปัญญาจะก้าวอยู่ตลอดเวลาไม่หยุดยั้ง นอกจากเข้าสู่สมาธิเพื่อพักผ่อนหย่อนจิต กิริยาของจิตซึ่งทำงานนั้นเสียเป็นการชั่วคราวเท่านั้น คือการพักสมาธินี้อาการของจิตทุกส่วนซึ่งเป็นงานของใจนั้นระงับไปด้วยกัน นี่เรียกว่าพักจิต พอถอนออกมาจากนั้นแล้วก็ก้าวเดิน คือการทำงานของจิต จนกระทั่งได้หลุดพ้นไปเสียโดยสิ้นเชิง หาอะไรที่จะมาเกี่ยวข้องไม่ได้แล้วจิตดวงนี้ ทั้ง ๆ ที่แต่ก่อนพะรุงพะรังจนหาเงื่อนต้นเงื่อนปลายหาจิตไม่ได้ มีแต่สิ่งควบคุม มีแต่สิ่งที่ปกปิดกำบังไปเสียหมด สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเลย แต่มันเป็นใหญ่ มันครอบหัวใจไว้หมด หาทางที่จะสอดส่องเข้าไปดูใจเจ้าของไม่ได้เลยก็มี ดังที่มันเป็นอยู่ที่จิตไม่ได้หลักได้ฐานนั้นแล

ทีนี้พอจิตได้หลักได้ฐานแล้วย่อมมีช่องทางที่จะก้าวเดินไป นับตั้งแต่ขั้นสมาธิขึ้นไปเรื่อย ๆ แล้วเดินด้วยปัญญาไป แฝงกันไปในระยะ ๆ แต่ไม่ใช่ทำงานในขณะเดียวกันเวลาเดียวกัน เช่น เวลานั่งสมาธิเพื่อความสงบของจิตก็ให้เป็นความสงบเสีย อย่ายุ่งกับการพิจารณาทางด้านปัญญา เวลาจิตมีกำลังจากสมาธิแล้ว ถอยออกมาทำงานด้วยปัญญาแล้ว ไม่ต้องห่วงเรื่องของสมาธิ ให้ทำงานตามหน้าที่ของสติปัญญาเรื่อยไป นี้แหละคือการขุดค้นการฟาดฟันหั่นแหลกกับกิเลสทั้งหลายด้วยวิธีการ คือปัญญานี้แลเป็นสำคัญ สมาธิเป็นเพียงพักจิตเพื่อเอากำลังเท่านั้น

เมื่อถึงขั้นละเอียด จิตจะทราบตัวทุกระยะว่าเวลานี้อยู่ในขั้นใดภูมิใด สมมุติว่าตายแล้วจะไปที่ไหน ไม่ต้องถามใครเลย มันบอกอยู่ในตัวของมันเสร็จทีเดียว จนกระทั่งถึงจิตได้หลุดพ้นออกจากสิ่งเกี่ยวข้องคือสมมุติทั้งปวง มีอวิชชาสมมุติเป็นต้น โดยสิ้นเชิงไม่มีอะไรเหลือแล้ว ทำไมจะไม่เด่นดวง ทำไมจะไม่รู้ จนเหมือนกับว่าโลกธาตุหวั่นไหวล่ะ

จิตดวงนี้ได้หลุดพ้นจากความจองจำ กี่ภพกี่ชาติแล้วที่กิเลสเคยจองจำมา และได้ขาดสะบั้นไปจากกันแล้วนี้ ทำไมจะไม่ทราบอย่างเด่นชัด ท่านว่า สนฺทิฏฺฐิโก ที่ประกาศกังวาน เหมือนกับว่าสามแดนโลกธาตุนี้ถล่ม ก็คือจิตที่พรากจากอวิชชานั้นแล นั้นละทีนี้ก็ชัดเรื่องการเกิดการตาย จะไปเกิดที่ไหนอีกไหม จะไปตายที่ไหนอีกไหม เมื่อเกิดไม่มีตายก็ไม่มี เมื่อไม่มีเชื้อพาให้เกิด จิตจะไปเกิดที่ไหนอีกได้อย่างไร เชื้อของจิตคืออะไรมันก็รู้แล้ว ท่านให้ชื่อว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นี้คือเชื้อฝังจมอยู่ภายในใจ เมื่อถอดถอนนี้ออกโดยสิ้นเชิงแล้วก็รู้ชัดเจ้าของโดยไม่มีแง่สงสัย แม้พระพุทธเจ้าประทับอยู่ตรงหน้าก็ไม่ทูลถามท่าน ถามท่านทำไมความจริงเป็นอันเดียวกัน

ถ้าจะเทียบก็เหมือนกับเรารับประทาน ต่างคนต่างรับประทาน ต่างคนต่างมีชิวหาประสาท ต่างคนต่างรับรสรับชาติได้ด้วยกัน ประสาททำงานสมบูรณ์เต็มที่ด้วยกัน ทำไมจะไม่ทราบความเย็นร้อน อ่อนแข็ง มีเผ็ดเค็มเปรี้ยวหวานต่าง ๆ จนกระทั่งถึงความอิ่มไปโดยลำดับลำดา ถึงขั้นอิ่มสุดเต็มที่ที่จะรับประทานต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ทำไมจะไม่ทราบ ต้องได้ทราบกันทั้งนั้น นั่งรับประทานรวมกันอยู่ เป็นพัน ๆ หมื่น ๆ แสน ๆ คนก็ตาม จะไม่มีรายใดเลยแหวกแนวออกมาว่าความอิ่มของข้าพเจ้าเป็นยังไง เผ็ดเค็มของข้าพเจ้าเป็นยังไง ไม่มี ทราบไปโดยลำดับ จนกระทั่งถึงความอิ่มหนำสำราญเต็มที่

นี่ก็เหมือนกันเช่นนั้น ผู้ที่รู้ธรรมทั้งหลายรู้อย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็ดี สาวกทั้งหลายก็ดี จึงไม่ถามกัน พอมาถึงขั้นไม่ถามแล้วไม่ถาม ถามไปหาอะไร มันประจักษ์อยู่ภายในจิตใจอยู่แล้ว ไม่มีอะไรที่จะเป็นข้อข้องใจให้ถาม นี่รู้ธรรมรู้อย่างนี้ นี่แหละการรื้อถอนตนให้ออกจากทุกข์ ให้ทำความพยายามพึ่งตนอยู่เช่นนี้

เราอย่าหวังพึ่งอันใดในโลกนี้ อย่าหวังพึ่งปีเดือนวัน สถานที่โน่นที่นี่ อย่าคาดอย่าหมายไปให้เสียเวลาในความเพียรของเราในระยะหนึ่ง ๆ ให้บำเพ็ญตัวไปโดยลำดับลำดา จนกระทั่งถึงที่สุดวิมุตติหลุดพ้นไปเสียภายในร่างกายที่จิตยังครองร่างอยู่ นี้ละเป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุดแล้ว

ตายเมื่อไรก็ตายไปเถอะ อันเรื่องธาตุเรื่องขันธ์มันรวมตัวกันเข้ามานี่ มีจิตเท่านั้นเป็นผู้ไปถือกรรมสิทธิ์ ยึดสิ่งนี้ว่าเป็นเราเป็นของเรา เรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณเข้าเกิดเข้ายึดถือ ถึงกาลเวลาอันนี้มันสลายแล้วห้ามไม่ฟังห้ามไม่ได้ มันก็แตกของมันไป จิตหมดความยึดถือ หมดอุปาทานแล้วก็หมดความรับผิดชอบ ความอุปาทานไม่มีอีกแล้ว หมดความรับผิดชอบ หมดปัญหาเรื่องของสมมุติโดยประการทั้งปวง นั่นละท่านว่านิพพาน

ดังพระพุทธเจ้าของเรานิพพาน ดังสาวกทั้งหลายนิพพาน ท่านปล่อยความรับผิดชอบ ทีแรกก็ปล่อยกังวล หลังจากนั้นมาเมื่อจิตบริสุทธิ์แล้วก็ปล่อยความรับผิดชอบ คือ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา นี้เสีย ขันธ์ทั้งห้าเป็นทุกข์ ก่อกวนอยู่ตลอดเวลา พาอยู่พากินพาหลับพานอนพาขับพาถ่าย อิริยาบถทั้งสี่เพื่อธาตุเพื่อขันธ์นี้ทั้งนั้น

เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้วไม่มีอะไรที่จะเพื่อจิตเลย เพราะจิตไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว เนื่องจากเป็นความพอตัว พอตัวอยู่ในจิตดวงนั้น ไม่หวังเอาอะไรอีกแล้ว ความหวังจึงหมดโดยประการทั้งปวง แม้ที่สุดอยากไปนิพพานจนกระทั่งถึงใจจะขาดก็ตามเถอะ เมื่อถึงขั้นที่หายอยากแล้วก็หาย เช่นเดียวกับเราหิวกระหายอาหารนั่นแหละ เมื่อเราหิว หิวมากเท่าไรก็รู้ เวลารับประทานลงไปอิ่มเต็มที่แล้วอยากอะไรอีก จิตที่อยากไปนิพพานก็คือยังไม่ถึงนิพพานนั่นแล เมื่อถึงขั้นบริสุทธิ์วิมุตติหลุดพ้น อิ่มตัวแล้ว ก็คืออิ่มพระนิพพานนั่นเอง อยากไปนิพพานที่ไหน ผู้บริสุทธิ์แล้วย่อมไม่หลงพระนิพพาน จึงเรียกว่าบริสุทธิ์ นั่นละพระพุทธเจ้าจะบอกก็ตามไม่บอกก็ตามเถอะ ทางนี้ท่านสอนไว้แล้วอุบายวิธีการต่าง ๆ ให้พวกเรามาบำเพ็ญ ตั้งแต่เริ่มแรกจนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น เพื่อเราทั้งนั้น

ให้พากันตั้งอกตั้งใจ อย่ามาอยู่เฉย ๆ หลับ ๆ นอน ๆ ตื่น ๆ กิน ๆ อยู่ ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ความเพียรให้เร่ง เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ให้ถือเป็นกิจจำเป็นของพระเรา งานของพระคือเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา นี่แหละงานของพระ งานฆ่ากิเลส เหมือนอย่างโลกเขามีงานทำกัน เขาทำอยู่ที่ไหน ที่ทำงานของเขามี ๆ ทั้งนั้น ที่ทำงานคืออะไรอีก คือทางจงกรม เดินลงไป ที่นั่งสมาธิภาวนา ตามร่มไม้ชายป่าชายเขา ตามกระต๊อบ นั่งลงไป พิจารณาลงไป นี่เรียกว่าผู้ทำงาน คนไม่ว่างงาน ย่อมจะปรากฏสมบัติอันพึงใจขึ้นมาในวันเวลาใดเวลาหนึ่งจนได้ จึงขอให้พากันตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ

ต่อไปนี้มันจะไม่มีแล้วนะกรรมฐาน จะมีแต่ชื่อแล้วเวลานี้ ถูกสิ่งยั่วยวนทั้งหลายมันล้อมเข้ามา ๆ รอบตัวแล้วเวลานี้ นี่แหละไม่ว่าคนว่าเราว่าเขากำลังส่งเสริมกันในทางที่จะผูกมัดตัวเอง ที่จะก่อความทุกข์ความลำบากให้มากขึ้นไป โดยถือว่าตนนี้ฉลาดแหลมคม ความจริงมันโง่จะตายไปมนุษย์เรานี้ ว่ามนุษย์นี่แหละฉลาด แต่ในขณะเดียวกันก็คือมนุษย์นี้แหละฉลาดมากเพียงไร ก็ความโง่ทำลายตัวเองมีมากเพียงนั้น วุ่นไปหมดทั้งโลกทั้งสงสาร

มีใครถ้าว่าฉลาดจริง ๆ ความสุขที่จะเอามาจากความฉลาดมีตรงไหน หาเจอไหม ไปถามซิ ลองไปถามซิคนทั้งโลกธาตุนี้ ถ้าไม่ถามจิตของผู้บริสุทธิ์เสียเท่านั้น ผู้นี้เป็นผู้ว่า ไม่จนละเรื่องความสุข สมบูรณ์เต็มที่คือผู้สิ้นกิเลสแล้วเท่านั้น และมีความสุขที่พึงใจของตัวเอง

นับตั้งแต่สมาธิขึ้นไปจิตมีที่อยู่ จิตมีที่พัก จิตมีเรือนจิต จิตย่อมมีความสงบสบาย จากนั้นก็จิตมีปัญญาแพรวพราว สามารถฆ่ากิเลสไปโดยลำดับลำดา เห็นที่ฆ่า เห็นที่ตายของกิเลส เห็นที่หลุดพ้น เห็นชัยชนะของตัวที่ชนะกิเลสไปโดยลำดับลำดา จนกระทั่งถึงเห็นป่าช้ากิเลสมันบรรลัยไปจากจิต สังหารกิเลสไปด้วย กุสลา ธมฺมา คือความฉลาดของตน เห็นอยู่ที่จิตนี้ไม่ได้เห็นอยู่ที่ไหนนะ ดูที่นี่ นี่ละความสุขอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ได้อยู่ที่โน่นที่นี่ตามความสำคัญมั่นหมาย

เราไม่ได้ประมาทโลก เราพูดตามเรื่องของโลกของธรรมต่างหากเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นโลกนี้มีมากขนาดไหน ว่าเจริญขนาดไหน ก็คือความทุกข์ความทรมานของสัตว์โลกในที่ทั่ว ๆ ไปในโลกนี้แล จะเอาความสุขที่ไหนมา เพราะเป็นเรื่องของโลกของกิเลสพาล่อลวงให้เป็นไปทั้งนั้น ไม่ใช่ธรรม ธรรมท่านไม่หลอกลวงใครนี่ ปรากฏตรงไหนเป็นที่ไว้ใจ ๆ โดยลำดับลำดา ไม่มีฉากหน้าฉากหลัง เหมือนกิเลสตัวมายาแสนกลนี้เลย อันนี้มีเถอะ ฉลาดขนาดไหนกองทุกข์เต็มหัวใจนี่ เอาความสุขมาจากไหน

กิเลสพาให้ฉลาดหาความสุขไม่ได้นะ ถ้าธรรมพาฉลาดแล้ว เอา ไม่ต้องถามใครก็ได้ พูดก็สาธุ พระพุทธเจ้าปรินิพพานกี่หมื่นกี่ล้านองค์ไม่ถามพระองค์ ถามทำไม พระองค์ก็รู้อย่างเดียวกัน เห็นอย่างเดียวกัน สุขอย่างเดียวกัน ถามท่านทำไม นั่นถึงว่าเป็นคนที่เจอสุขจริง ๆ บรมสุขไม่ต้องไปหาที่ไหน และไม่ต้องหมายป่าช้า ไม่ต้องกลัวเรื่องความเป็นความตายกลัวมันอะไร เรื่องสัจธรรมเรื่องความจริงรวมกันเข้าสลายกันไป เรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มีอยู่ทุกแห่งทุกหน รู้ตาม อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แล้วหลงไปอะไรอีก ตื่นไปหาอะไร อยู่ตามความจริงของตนเท่านั้นเอง นั่น นี่ละความสุขหาเอาตรงนี้ให้ได้ซิ

เรื่องอยู่ทางโลกทางสงสารเราก็เคยอยู่มาด้วยกันแล้ว ไม่ได้ประมาท เราเกิดกับโลก พ่อแม่เราเป็นโลก ตัวเราก็เป็นโลก เกิดมาอยู่ในโลก กระทบกระเทือนโลกก็รู้กันมาโดยลำดับลำดาอย่างนี้ เราสงสัยที่ตรงไหนว่าโลกนี้จะมีสาระสำคัญพอที่จะให้เราพึ่งเป็นพึ่งตายได้เช่นเดียวกับธรรมล่ะ ไม่มี

เพราะฉะนั้นเราเป็นนักบวชนักปฏิบัติ จงผันจิตให้ออกจากสิ่งที่เคยหลอกลวงนั้นเข้าสู่อรรถเข้าสู่ธรรม ให้เป็นที่ตายใจได้ในอรรถในธรรม มีสมาธิธรรม เป็นต้น เข้าถึงปัญญาธรรมจนกระทั่งวิมุตติหลุดพ้นภายในจิตนี้แล้วเท่านั้นแหละ ที่นี่ไม่ต้องไปถามหาอะไร นั้นแลคือผู้มีความสุข นั้นแลคือเมืองพอ นั้นแลคือผู้พอแล้วที่นี่ ไม่ต้องวุ่นวายอะไรอีก นี่ผู้นี่หาสุขเจอ เจออย่างนี้ซิ

พระพุทธเจ้าจึงเป็นองค์เอกของโลกที่บรมสุข ๆ ปรมํ สุขํ ปรมํ สุขํ หมายถึงอะไร ถ้าไม่หมายถึงจิตที่บริสุทธิ์นี้เท่านั้น จิตที่มีกิเลสเอา ปรมํ สุขํ ที่ไหนมาให้เรา มีแต่เอา ปรมํ ทุกฺขํ เข้ามายัดใส่ ๆ เต็มหัวใจ สุดท้ายก็จนจะเป็นบ้าทั้ง ๆ ที่ยังไม่ตาย เพราะทุกข์มันมากต่อมาก สติปัญญาบังคับไม่ได้ บังคับไม่ทั่วถึง กำลังไม่พอ สุดท้ายเป็นบ้าไปได้เพราะความคิดมาก ยุ่งมาก นั่นทุกข์มากนั้นเองจะเป็นอะไรไป เอาให้มันเห็นชัดเจนซินักปฏิบัติ ให้มันรู้ในหัวใจแล้วพูดได้หมดนั่นแหละ เว้นแต่ไม่รู้มันถึงพูดไม่ได้ ถ้าลองได้รู้แล้วปิดได้รึ ของมีอยู่ พูดตามสิ่งมีอยู่เป็นอยู่ทำไมจะพูดไม่ได้ เห็นได้ทำไมพูดไม่ได้ล่ะ นั่น เอาให้มันจริงจังอย่างนั้นนักปฏิบัติ

เอาละเทศน์รู้สึกเหนื่อยแล้ว


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก