ขอนิสัย พ่อแม่ครูจารย์มั่นให้ขอรวมกันหมดทีเดียว ท่านก็ชี้แจงเหตุผลให้ทราบ ขอในเวลาบวชเป็นอย่างหนึ่ง ขอในเวลาที่บวชเสร็จเรียบร้อยแล้วมารวมกันนี้ก็เป็นอย่างหนึ่ง ไม่ขัดต่ออาวุโสภันเต เพราะในขณะนั้นเป็นนามลูกศิษย์ขอนิสัยจากอาจารย์ด้วยกันทั้งนั้นท่านว่า ก็ถูกของท่าน แต่มีแปลกอยู่เราไม่เคยเห็น เณรท่านให้ขอนิสัยเหมือนกันนะ คือความพึ่งพิงสำหรับเณร องค์ไหนหนอท่านให้ขอนิสัยผมลืมเสียแล้ว พอได้เป็นแบบฉบับอันหนึ่งให้เป็นข้อคิดสำคัญ
พ่อแม่ครูจารย์ทำอะไรนี้มีเหตุมีผลทุกอย่างนะ ท่านมีของท่านทุกอย่างท่านไม่ทำแบบสุ่มๆ เดาๆ ดังที่เราทั้งหลายได้เห็นทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้นจึงเป็นแบบฉบับที่ดีมากทีเดียว ที่เรายอมสารภาพท่านอยู่ก็คือผ้าบังสุกุลนี้ ท่านถือมาตั้งแต่ต้นไม่เคยครองคหปติจีวรเลย ท่านถือเป็นสำคัญมากที่สุด นี่อันนี้รู้สึกว่าเรายอมโทษจริงๆ เราไม่ได้ถืออย่างท่าน บังสุกุลก็เอา คหปติจีวรก็เอาก็ห่ม แต่ท่านห่มท่านครองเฉพาะบังสุกุลจีวรทั้งนั้น และในวัดท่านยังไม่ปรากฏว่ามีกฐินนะ อยู่ที่ไหนๆ ก็เป็นบังสุกุลทั้งหมด ไม่ปรากฏเป็นกฐิน อันนี้เราก็ยอมท่านว่าอ่อนเต็มทีด้อยเต็มที แต่ท่านตรงแน่วเด็ดเต็มที่ ตามพระประสงค์ของพระพุทธเจ้า
เพราะธุดงควัตรนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องที่สำคัญมากทีเดียว ใครไม่เห็นธุดงควัตรเป็นของสำคัญ ผู้นั้นก็คือผู้ไม่สำคัญนั่นเอง จิตใจเลื่อนลอย หาเหตุหาผลหลักเกณฑ์ไม่ได้ เพราะธุดงควัตรนี้เป็นหลักของจิตใจได้ยึดได้ปฏิบัติตามเพื่อแก้กิเลสโดยถ่ายเดียวเท่านั้นไม่เป็นอย่างอื่น ไม่มีอะไรแฝงเลย ธุตังคะ แปลว่า ชำระขัดเกลากิเลส
ที่ท่านทำท่านเห็นชัดเจน และท่านปฏิบัติมาโดยลำดับไม่เคยละเว้นเลยก็คือบังสุกุลจีวร เห็นท่านใช้วาระสุดท้าย จวนท่านจะป่วยนี้ก็ผ้าอังสะ ผ้าป่าน ๒ ผืนที่ท่านเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรีเอามาถวายท่าน เพราะท่านเคยเป็นลูกศิษย์ของท่านอยู่แล้วแต่ก่อนๆ โน้น มาก็เล่าถวายท่านก่อนที่จะถวาย ว่าเจ้าของได้กรอเองอะไรเอง แล้วให้ช่างหูกเขาทอให้ เห็นท่านใช้ผ้าอังสะ ๒ ผืนนี้เท่านั้น เราตั้งแต่ไปอยู่กับท่านเวลา ๘ ปีไม่เคยเห็นท่านใช้ผ้าคหปติจีวรเลย เรียกว่าท่านเด็ดเดี่ยวมาก นี่จึงมีความมุ่งหมายลึกซึ้งมาก สำหรับตัดความสำคัญตนว่ามีคุณค่ามีราคาและชอบสวยชอบงาม
ผู้บังสุกุลในครั้งพุทธกาลนั้น เป็นผ้าที่คลุกเคล้าอยู่ตามขี้ฝุ่นขี้ผง ท่านจึงว่า ปํสุ แปลว่าขี้ฝุ่นขี้ผงนั่นเอง กูล ก็หมายถึงพื้นแผ่นดินนี้ที่คลุกเคล้าอยู่ด้วยของสกปรกท่านว่า ปํสุกูล จีวรที่คลุกเคล้าอยู่ด้วยฝุ่น อยู่ด้วยของสกปรกนั่นเอง แต่ก่อนเป็นอย่างนั้น ครั้นต่อมาเขาเอาไปถวายบังสุกุลดังที่เห็นอยู่นี้ เพื่อตัดความมีคุณค่ามีราคาในความสำคัญของตนออก นี่สำคัญมาก
การบิณฑบาตมาฉัน ตามหลักของพระพุทธเจ้าที่ว่าบิณฑบาตเป็นวัตรจริงๆ ก็ดังที่เคยอธิบายให้ฟังแล้ว ไม่ได้คิดโลเลโลกเลกในอาหาร ไปก็ไปตามกิจตามกาลตามธาตุตามขันธ์ และไปด้วยกิจวัตรอันหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องชำระกิเลสคือจิตตภาวน เดินไปบิณฑบาตก็เท่ากับเดินจงกรม ไม่ลืมเนื้อลืมตัว อาหารการขบฉันจะเป็นประเภทใดก็ตาม ไม่ติดไม่ข้องไม่เป็นอารมณ์ พอยังชีวิตให้เป็นไปเท่านั้น ไม่ได้คิดมุ่งหมายไปเรื่องความเอร็ดอร่อย หลักใหญ่ก็อยู่ที่พอยังอัตภาพให้เป็นไปเพื่อประกอบความพากเพียร แก้หรือถอดถอนกิเลสโดยถ่ายเดียวเท่านั้น
อาหารที่มีรสมากมันก็ติดและเป็นกิเลสไปได้ อาหารไม่มีรสกิเลสก็ไม่ค่อยแสดงตัวให้เห็นชัดเจน และฉันจังหันก็ไม่ได้มากมายนัก พอยังชีวิตให้เป็นไป หลักใหญ่อยู่ที่ความเพียรทั้งหมดเพื่อแก้กิเลส เพราะพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายท่านถือว่ากิเลสนี้เป็นภัยอย่างยิ่ง ในโลกธาตุอันนี้ไม่มีอะไรเป็นภัยยิ่งกว่ากิเลส ฟังซิ เพราะฉะนั้นอะไรๆ จึงมุ่งเข้าไปจุดนั้นๆๆ ทีเดียว ไม่ได้มุ่งอย่างอื่นเลย
พวกเรายังไม่ได้เห็นว่ากิเลสเป็นภัยเมื่อไรแล้ว ก็ต้องให้กิเลสเหยียบหัวอยู่ตลอดเวลานั่นแหละ พระพุทธเจ้าสอน สอนด้วยความเห็นภัย เพราะรู้แล้วว่ากิเลสเป็นภัย ถึงกับตะเกียกตะกายสลบไสล จนละได้แล้วจึงมาประกาศโฆษณาสอนโลกให้รู้ว่ากิเลสเป็นภัย ถ้าจะพูดถึงเป็นตนเป็นตัวก็เรียกว่า ปู่ย่าตายายของมัน โคตรแซ่ของมัน ลูกหลานเหลนของมันเป็นภัยทั้งนั้น พูดง่ายๆ มันลูกภัยเหมือนกับลูกเสือนั่น ปู่ย่าตายายเสือ พ่อแม่เสือ ลูกเสือหลานเสือเป็นภัยทั้งนั้น กัดได้ทั้งนั้น
ไอ้กิเลสก็เหมือนกัน มันกัดได้ทั้งนั้นละ กัดหัวใจเราให้สึกให้กร่อนให้เสียผู้เสียคน เสียพระเสียเณร เสียเอามากมาย ถ้าพิจารณาตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าสอนแล้ว เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ธรรมบทใดบาทใดก็ตามตีต้อนจิตเข้ามาสู่จุดที่จะฆ่ากิเลสชำระกิเลสอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นอย่างใดเข้ามาแฝงเลย นั่นเพราะพระองค์เห็นภัยอย่างยิ่ง ไม่เห็นภัยใดยิ่งกว่าภัยคือกิเลสบนหัวใจสัตว์ การสอนจึงสอนลงในจุดที่เป็นภัยนั้นให้ได้รู้ แต่จิตผู้ที่ถูกภัยเหยียบย่ำทำลายมันไม่ยอมรับรู้นั่นซี รู้แต่อย่างอื่นที่จะเป็นภัยแก่ตัวเพิ่มขึ้นอีก นี่ละมันถึงแก้ยากลำบาก
เราพินิจพิจารณาตามอรรถธรรมของพระพุทธเจ้านี้ พิจารณาเท่าไรยิ่งละเอียดลออมากทีเดียวหาที่ค้านไม่ได้ ประกอบกับเราปฏิบัติไปรู้ไปเห็นไปยอมไปเรื่อยๆๆ ตั้งแต่ขั้นต่ำถึงขั้นสูงและสูงสุด หาที่ค้านไม่ได้ ละเอียดเข้าไปเท่าไรยิ่งซึ้งในพระโอวาทของพระพุทธเจ้าที่แสดงไว้แล้วๆ เจอตรงไหนเห็นตรงไหนในบรรดาธรรมที่เกิดขึ้นจากข้อปฏิบัติหรือการปฏิบัติของเรา ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้แล้วสอนไว้แล้ว คือเห็นแล้วจึงสอนนั่นเอง ไม่เห็นไม่รู้สอนได้ยังไง นี่ละสอนไว้แล้วทั้งนั้น ละเอียดมากที่สุด
การอยู่ในป่าก็ดังที่เคยอธิบายให้ฟังแล้ว คุณค่าของการอยู่ในป่าพระองค์ก็ได้ประสบพบเห็นแล้วเป็นที่พอพระทัย จึงได้นำมาสอนผู้บวชใหม่เช่น รุกฺขมูลเสนาสนํ พระบวชใหม่ทุกๆ องค์ต้องได้รับพระโอวาทข้อนี้ไม่มีการยกเว้นเลย รุกฺขมูลเสนาสนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา,ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย. จากนั้นไปท่านก็ว่าเป็นปริยายไป เป็นอันดับที่ ๒ ที่ ๓ ไปเรื่อยๆ เช่น วิหาโร ปาสาโท หมฺมิยํ คุหา อะไรอย่างนี้เป็นอันดับต่อไปจากนี้ อันนี้เป็นอันดับแรกเป็นที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับการประพฤติปฏิบัติ เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนว่าให้อยู่ จงพยายามอยู่ในสถานที่เช่นนั้นตลอดชีวิตเถิด นั่นฟังซิ คือ รุกขมูลร่มไม้
แต่ก็ไม่ได้หมายว่าอยู่ตลอดไป จนไม่มีที่มุงที่บังอะไรเลย คืออยู่เป็นกาลเป็นเวลา แม้จะไปอยู่ในป่าในนั้นมีที่มุงที่บัง ก็ให้หาอยู่ในป่าที่คล้ายคลึงกันอย่างนั้น เพราะรุกขมูลนี้เป็นสิ่งที่ประทับใจมาก สำหรับผู้ปฏิบัติที่อยู่ในสถานที่เปลี่ยวๆ อันเป็นที่น่ากลัวสัตว์ร้ายทั้งหลายนี้ กรรมฐานตั้งแต่ย้อนๆ หลังกันไปหาครั้งพุทธกาลนั้นมีจริงๆ นี่ สัตว์ร้ายดังที่เราว่า แม้แต่ในระยะปัจจุบันนี้อย่างระยะหลวงปู่มั่น หรือระยะเรานี้ก็ยังมีสมบูรณ์ให้เห็นได้ชัดเจนเรื่องอันตราย มันไม่มีเฉพาะทุกวันนี้หรือไม่กี่ปีมานี้ ที่เขาทำลายป่าเสียหมดนี่ อันตรายทั้งหลายที่เกี่ยวกับรุกขมูลนี้จึงด้อยลงไปๆ แทบว่าจะไม่มี มีเป็นบางแห่ง
คือเราอยู่ในป่าธรรมดา ในร่มไม้ธรรมดาเป็นอย่างหนึ่ง ขยับเข้าไปที่เปลี่ยวๆ แล้วเข้าไปหาดงเสือด้วยแล้ว โอ้โห ตั้งสติอยู่ตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน ความขี้เกียจขี้คร้านไม่ทราบหายหน้าไปไหนหมดนะ ไม่ต้องกำจัดมันแหละมันไปเอง เพราะความกลัวตายก็หาที่พึ่งละซิ ทีนี้หาที่พึ่งอะไร เครื่องป้องกันตัวมีอะไร ปืนผาหน้าไม้ก็ไม่มี ก็มีแต่ธรรมเท่านั้น จิตก็ย้อนเข้าสู่ธรรม ธรรมอยู่ที่ไหนที่นี่ ธรรมก็อยู่ที่ใจ แน่ะ ย้อนเข้าสู่ใจ ใจกับธรรมก็สัมผัสกัน เมื่อใจกับธรรมสัมผัสกันแล้วก็เริ่มได้เครื่องป้องกันตัว ใจสงบลงไปๆ
เรื่องเสือเรื่องช้างอันตรายทั้งหลายไม่ให้มันคิด ให้คิดอยู่กับคำ
ถ้าผู้อยู่ในวงบริกรรมก็ให้คิดอยู่กับคำบริกรรมนี้เท่านั้น เหมือนหนึ่งว่าโลกนี้มีแต่คำบริกรรมคำเดียว เสือมันจะมาเป็นแสนๆ ตัวก็ตาม ไม่ได้คิดออกไปหามัน คือความคิดวาดภาพหลอกตัวเองนั้นละมันสำคัญมากยิ่งกว่าเสือจะมาจริงๆ ร้อยทั้งร้อยมีแต่ความคิดหลอกตัวเอง เพราะไปอยู่ในสถานที่น่าจะคิด แน่ะ นี่ตอนนี้ได้เห็นเหตุเห็นผลกันชัดเจนในสถานที่อยู่อย่างนั้น และคำภาวนาของตนที่หวังพึ่งเป็นพึ่งตายกับธรรมแน่นหนามั่นคงเข้า
ขณะก่อนกลัวเสียจนตัวสั่นจนไม่เป็นผู้เป็นคน ขณะต่อมานี้กลายเป็นความกล้าหาญชาญชัยขึ้นมา ราวกับว่าไม่ใช่จิตดวงนั้น ทั้งๆ ที่จิตดวงนั้นแหละ แต่สิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยนแปลงไปจากความกลัวนั้น กลายมาเป็นความกล้าหาญ
สิ่งใดก็ตามถ้าได้ปรากฏกับใจของเราแล้วพูดได้อย่างอาจหาญ พูดได้อย่างแม่นยำ พูดอย่างไม่ระมัดระวังจะผิด ไม่สะทกสะท้าน เพราะได้เห็นได้รู้ได้ประจักษ์ภายในจิตใจแล้วนั่นน่ะ สำคัญมากไม่ว่าสิ่งใด แม้ธรรมที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ รู้ภายในใจแล้วก็เหมือนกันอย่างนั้น สามารถพูดได้ จะมีในคัมภีร์ไม่มีในคัมภีร์ที่จดจารึกไว้ หรือไม่จดจารึกไว้ก็ตาม เป็นความจริงทั้งนั้นในแดนโลกธาตุนี้ ที่จะพิจารณาให้เป็นอรรถเป็นธรรม ตามความจริงทั้งหลายที่มีอยู่ เสืออยู่ในป่าใครจะไปจดจารึกมันทุกตัว กิริยาแห่งการประกอบความพากเพียรอยู่ในสถานที่เช่นนั้น ใครจะไปจดจารึกกันทุกแง่ทุกมุม แต่ผู้บำเพ็ญบำเพ็ญอยู่ เห็นอยู่รู้อยู่ สัมผัสสัมพันธ์กันอยู่ เจอกันอยู่จะว่าอย่างไร จะไม่ให้พูดได้ยังไง มีในตำราไม่มีในตำรา เราเห็นเราก็พูดได้ จำเป็นอะไรจะต้องให้ตำรามาบอกให้ตำรามาสอน
พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนโลกสามแดนโลกธาตุ จะมีเพียง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์เท่านั้นเหรอ ไม่พอกับกิเลสประเภทต่างๆ ของสัตว์โลกที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพระองค์ ที่จะทรงสั่งสอนในแง่ต่างๆ กัน ตามจริตนิสัยของผู้นั้นๆ ต้องมีมากมายก่ายกองทีเดียว นั่นเราเชื่อ เพียงแต่เราตัวเท่าหนูนี่ก็ยังได้ประจักษ์ชัดเจน ถ้าพูดถึงว่าอาจหาญ อาจหาญนี่ สิ่งใดที่รู้แล้วมีในตำราไม่มีในตำราอาจหาญที่จะพูดได้ เพราะความรู้อันนั้น ความเห็นอันนั้น ความเห็นสิ่งนั้นมันชัดเจนอยู่ในหัวใจนี่
ไอ้เรื่องตำรับตำรา ผู้ไปจดจารึกได้มากน้อยเพียงไรก็ตาม กำลังที่จะจดได้มาเขียนไว้อ่านกันได้เพียงเท่านั้น ส่วนที่นอกไปจากนั้น เหนือความสามารถหรือสุดความสามารถที่จะจดจะจำจะรู้จะเห็นแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะจดจะจำเขียนมาได้ ก็สิ่งที่เราไม่สามารถจะเขียนมานั้น จะลบล้างด้วยความไม่สามารถนี้ได้เหรอ มันก็ต้องมีอยู่เป็นอยู่ตามหลักธรรมชาติของตัวเอง นั่นแหละธรรมที่ว่าไม่มาในคัมภีร์เหมือนกับท้องฟ้ามหาสมุทร ดังที่พ่อแม่ครูจารย์ท่านพูดไม่ผิด เรายอมรับกราบอย่างราบเลย
เวลาไปอยู่ในที่เช่นนั้น อะไรแสดงขึ้นมามันก็เห็นกับใจๆ อยู่ตลอดเวลา เหมือนกับว่าอ่านความจริงอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับเราอ่านตำรับตำรา แต่อ่านความจริงนี้ไม่สุดไม่สิ้น ใจละเอียดเข้าไปเท่าไรยิ่งเจอความจริงละเอียดเข้าไปอ่านกันเข้าไปเรื่อยๆ นั่นซิสำคัญ เริ่มตั้งแต่จิตเป็นสมาธิ นี่เริ่มอ่านแล้วถ้าจะว่าอ่าน อ่านความจริงนะไม่ใช่อ่านตำรา ให้ได้อ่านความจริงซิพวกเรา เดี๋ยวนี้มันไม่ได้อ่านความจริง อ่านแต่ตำรับตำรา จำได้มาแล้วก็ได้แค่ชื่อเท่านั้น และไม่สนใจจะละจะถอนสิ่งที่เป็นภัย ไม่สนใจจะบำเพ็ญสิ่งที่เป็นคุณให้ปรากฏขึ้นตามตำราที่ชี้บอกไว้ แน่ะ มันก็ได้แต่ชื่อ
ที่นี่ผู้ปฏิบัติไม่เป็นอย่างนั้น ผู้ปฏิบัติปฏิบัติเพื่อเอาจริงเอาจังเพื่อเห็นเหตุเห็นผล เพื่อรู้แจ้งแทงทะลุทั้งกิเลสทั้งอรรถทั้งธรรมทั้งหลาย มันก็ต้องเจอ เริ่มตั้งแต่สมาธิ จิตเริ่มเป็นสมาธิเป็นอย่างไร นี่อ่านแล้วรู้แล้ว ไม่มีใครบอกก็รู้ภายในจิตใจ เพราะใจเป็นธรรมชาติที่รู้ อะไรสัมผัสก็รู้ เมื่อธรรมประเภทใดสัมผัสใจทำไมใจจะไม่รู้ สมาธิค่อยเปลี่ยนสภาพเข้าไปสู่ความละเอียด เพราะการบำรุงส่งเสริมอยู่เสมอก็รู้ๆ นั่น จนกระทั่งถึงความแน่วแน่ ความละเอียดที่ท่านให้ชื่อว่าอัปปนาสมาธิก็รู้ภายในจิตใจ นี่ละเราอ่าน อ่านภายในตัวเอง อ่านในตัวเอง รู้เห็นในตัวเอง อ่านในตัวเองอยู่อย่างนั้น นี่คือความจริง เจ้าของเห็นเองรู้เอง อ่านเองชัดเจน แน่ะ
จิตก้าวขึ้นสู่ปัญญาก็เหมือนกัน จิตเริ่มไหวตัวเป็นปัญญาเป็นอย่างไร คำว่าจิตเริ่มไหวตัวเป็นปัญญา ปัญญาฆ่ากิเลสฆ่าอย่างไร พูดได้อย่างชัดเจนเพราะเห็นชัดภายในจิตใจระหว่างกิเลสกับธรรมต่อสู้กัน สังหารกัน ใครแพ้ใครชนะ ในระยะใดเริ่มเรื่องใด เช่น เริ่มต้นกิเลสกับธรรมะ ฝ่ายธรรมฝ่ายเรานี้มักแพ้เสมอก็รู้ จนกระทั่งทางนี้มีกำลังแก่กล้าสามารถเพราะการหนุนอยู่เสมอด้วยความเพียร กิเลสเริ่มถอยตัวเริ่มอ่อนตัวหรือเริ่มแพ้ก็รู้ นี่เห็นอยู่ในใจของเรานี้ ท่านไปจดจารึกไว้ในตำราทุกแง่ทุกมุมได้ยังไง แต่ผู้ปฏิบัติเห็นอยู่นี้ชัดอยู่นี้ ต่อเนื่องกันไปโดยลำดับลำดา เขียนไม่เขียนก็ตาม จะจดจารึกไม่จดจารึกก็ตาม ความจริงกับใจสัมผัสสัมพันธ์กัน เห็นกันรู้กันอยู่ตลอดเวลา ทำไมจะพูดไม่ได้ นี่ซิสำคัญ
อย่างที่พูด ภาวนามยปัญญาดังที่เคยกล่าวแล้ว เป็นยังไงภาวนามยปัญญา นี่พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงไว้แล้วอย่างชัดเจน จากภาวนามยปัญญาของท่านที่ผ่านไปแล้วนั้นแล ท่านไม่ผ่านท่านเอาอะไรมาพูด ท่านเอาอะไรมาสอนโลก นั่น ท่านทรงผ่านแล้ว ทีนี้ผู้ปฏิบัติเมื่อก้าวเข้าสู่ภาวนาประเภทนี้ก็เด่นชัดขึ้นมา อ๋อ ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนานั้น ไม่เกิดขึ้นจากแง่ใดมุมใดของการศึกษาการสำเหนียกจากผู้หนึ่งผู้ใดเลย คล้ายๆ กับว่าถ้าจะพูดถึงเรื่องพระพุทธเจ้าเป็นสยัมภูนั้น รวมหมด ทรงรู้เองเป็นเองไม่มีใครบอกใครสอน อันนี้เวลาจะเข้าไปรู้ไปเป็นในภาวนามยปัญญา ก็ราวกับว่าเป็นสยัมภูประเภทหนึ่งย่อยๆ ของผู้นั้น ที่ได้รับการอบรม ได้รับการแนะแนวทางจากพระพุทธเจ้ามาแล้ว แต่ผู้ที่จะรู้ผู้ที่จะเป็นภายในจิตใจก็คือผู้ภาวนา ผู้ภาวนานั้นแลเป็นผู้จะเป็นและเป็นผู้เป็น
เมื่อเป็นภาวนามยปัญญาขึ้นมา เริ่มแรกขนาดเป็นมากน้อยเพียงไรก็เริ่มรู้ๆ นั่นน่ะไม่มีใครบอกก็เข้าใจที่นี่ จนกระทั่งภาวนามยปัญญานี้หมุนตัวเป็นเกลียวไปเลยหรือหมุนเป็นธรรมจักร ไม่มีกลางวันกลางคืน ไม่มีอิริยาบถเว้นแต่หลับเท่านั้น ทำงานอยู่โดยลำพังตนเองเรียกว่าอัตโนมัติตลอดเวลา ในการสังหารกิเลสไปพร้อมๆ กันนั่นแหละ คือในการประกอบความเพียรด้วยภาวนาประเภทนี้ ก็เป็นการสังหารกิเลสไปในขณะเดียวกันๆ แล้วตำราท่านจดจารึกไว้ไหม ท่านบอกไว้แต่เพียงภาวนามยปัญญาเท่านั้น
เวลามันไปเจอกันเข้าแล้ว ผู้ปฏิบัติไปเป็นภาวนามยปัญญาเข้าแล้วเป็นอย่างไรบ้าง สืบเนื่องกันไปตั้งแต่เริ่มต้นของภาวนามยปัญญา จนกระทั่งถึงมหาสติมหาปัญญาซึ่งออกไปจากภาวนามยปัญญานี้ ยืดยาวขนาดไหน ละเอียดแหลมคมขนาดไหน และท่านไม่ได้จดจารึกเอาไว้ แต่ผู้ปฏิบัตินั้นยังไงก็หนีไม่พ้น เจอๆๆๆ ตลอดเวลาสำหรับผู้ปฏิบัตินั้น นั่นละท่านเรียกว่าความจริง มันเห็นอยู่รู้อยู่ตลอดๆ เลยนี่ เหมือนกับว่าอ่านความจริงอยู่ตลอดเวลาแทนตำราพูดง่ายๆ จากการปฏิบัติของตนทั้งฝ่ายเหตุทั้งฝ่ายผล ในเวลาต่อสู้กันเรียกว่าเหตุ ผลก็คือว่าฆ่ากิเลสประเภทใดให้บรรลัยลงไปแล้ว ผลปรากฏขึ้นมาอย่างไรบ้าง เมื่อกิเลสประเภทนั้นดับลงไปๆ จนกระทั่งถึงกิเลสประเภทสุดท้าย ท่านว่า อวิชฺชาปจฺจยา ที่เป็นกิเลสละเอียดที่สุดได้ถูกสังหารลงไปแล้วโดยสิ้นเชิง เป็นยังไง เหล่านี้ผู้ปฏิบัติภาวนามยปัญญานี้รู้หมดจะว่ายังไง อ่านตลอดทั่วถึง
นี่ไม่ได้ศึกษาจากใครละอันนี้ เป็นเรื่องของผู้นั้นต่อสู้เอง ทำเองรู้เอง เป็นแต่พระพุทธเจ้าทรงแนะแนวทางให้ เวลาจะเข้าต่อสู้เวลาจะรู้จะเห็นกับสิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องของผู้นั้นโดยเฉพาะๆ ถึงเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก หรือเหมือนกับว่าสยัมภูย่อยๆ ก็ได้ คือรู้เองเห็นเองเป็นเอง เพราะทำเองรบเองชนะเอง แน่ะ เห็นกันชัดๆ อยู่ในตัว เวลานั้นเราจะไปคว้าเอาคัมภีร์ใบลานที่ไหนมาเทียบมาเคียงไม่ทันกันเลย เพราะอันนี้มันรวดเร็วมาก เกินกว่าที่จะไปหาคว้าเอาคัมภีร์นั้นคัมภีร์นี้มา ซึ่งจะทำให้ไม่ทันกาล นั่นฟังซิ นี่ละความจริงแท้ๆ เข้าเจอกันหรือเข้าบวกกัน หรือเข้าต่อสู้กัน มีความรวดเร็วขนาดนั้น ใครจะไปหาคิดในตำรับตำราอยู่ตลอดเวลา
เมื่อความจริงเข้าถึงกัน กิเลสก็เป็นความจริงประเภทหนึ่ง ปัญญาก็เป็นความจริงประเภทหนึ่ง วิธีการต่อสู้แต่ละอย่างๆ นี้ไม่ต้องศึกษาจากใคร มันหากมีอุบายวิธีการที่จะทันกันตลอดเวลา ต่อสู้กันอยู่นั้น เพราะใครจะหวังแพ้ล่ะ ไอ้กิเลสมันก็ไม่ได้หวังจะแพ้เรา ไอ้เราก็ไม่หวังจะแพ้กิเลส เราจะเอาชนะจนได้ นั่นละที่เรียกว่าต่อสู้กัน ขณะที่ต่อสู้นั้นต่อสู้วิธีใด จะไปบอกใครได้ยังไง ต้องเป็นเรื่องอุบายกลวิธีของเจ้าของเองทั้งนั้น เมื่อถึงปัญญาขั้นนี้แล้วเป็นอย่างนั้น หมุนรอบตัวเลย ถ้าเป็นไม้ก็เป็นต้นเสา ถาก ๔ เหลี่ยมกลิ้งยาก ถาก ๘ เหลี่ยมกลิ้งง่ายเข้าไป ฟาด ๑๖ เหลี่ยมอีกทั้งไสกลมแล้วกลิ้งเลย นั่น ปัญญานี้ก็เหมือนกัน ตั้งแต่ ๔ เหลี่ยม ๘ เหลี่ยม แล้ว ๑๖ เหลี่ยม จากนั้นมาก็กลมกลิ้งพรืดไป นี่ปัญญาคล่องตัว นี่จะมีในตำราทุกบททุกบาทไหม
แต่นี้เราผู้ปฏิบัตินั้นจะลบล้างได้ไหมว่า ไม่ให้รู้ไม่ให้เห็นความจริงทั้งหลายเหล่านี้ ต้องรู้ต้องเห็นเพราะเป็นความจริงที่มีอยู่แล้ว ๆ เห็นหรือเจออะไรก็เจอสิ่งที่มีอยู่แล้วทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นของปลอมๆ เป็นของมีอยู่ จึงต้องรู้ต้องเห็น นี่แหละเรียกว่าอ่านความจริง อ่านในภาคปฏิบัติของตน ท่านพูดไว้เพียงย่อๆ เท่านั้นละไม่มากมาย เพราะจะเหลือเฟือฟั่นเฝือเกินความสามารถของผู้ปฏิบัติจะปฏิบัติตามได้เพราะกำลังยังน้อย แต่เมื่อรู้เข้าแล้วหากเป็นวิสัยของผู้นั้น จะขยายตัวออกไปให้กว้างขวางลึกซึ้งขนาดไหน ก็เป็นตามจริตนิสัยของผู้นั้นจะบุกเบิกไปเอง ไม่ใช่คนอื่นคนใดจะบุกเบิกให้ความจำเป็นแต่เพียงพื้นฐานหรือเป็นแต่เพียงแนวทาง แต่เวลาจะเอาจริงเอาจังแล้วต้องเป็นเรื่องของเจ้าของผู้นั้นเป็นผู้บุกเบิกออกเอง รู้ลึกตื้นหยาบละเอียดแค่ไหนก็เป็นเรื่องของผู้นั้น ทำให้รู้ให้เห็นขึ้นมาภายในตัวของเรา
ที่กล่าวตะกี้นี้ว่า ธรรมะบทใดบาทใดก็ดี ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้น สอนเพื่อให้ฆ่ากิเลส จ่อเข้าไปหาจุดเดียวคือกิเลสทั้งนั้น บำเพ็ญก็บำเพ็ญเพื่อจะฆ่ากิเลสนั่นเอง กำลังวังชามีไม่มากก็เอากันให้มาก ให้มากๆ มากก็มากเพื่อจะสังหารสิ่งที่มันยึดมันกดมันถ่วงเอาไว้ไม่ให้พ้นจากทุกข์ไปได้ เพราะอันเดียวนี้เท่านั้นคือกิเลส เมื่อกิเลสได้สิ้นไปจากใจแล้วไม่บอกก็ตาม จะหลุดลอยออกไปเลย เหมือนนักโทษที่ติดคุกมาแสนทรมาน พอพ้นโทษเท่านั้นใครจะอยากมาติดอีกล่ะ ก็โดดผางทีเดียวโดยไม่ต้องถามหาบ้านหาเรือนของตัวเองด้วย ไปถูกปั๊บเลย
นี่ก็เหมือนกัน กิเลสมันกดมันถ่วงเสียมากมายขนาดไหน จนถึงต้องได้เข็ดหลาบขนาดไม่มีอะไรเกินเข็ดหลาบกิเลสแหละ เพราะฉะนั้นการสอนโลกจึงสอนเพื่อให้เห็นโทษของกิเลสแล้วให้แก้ให้ไข ส่วนความดีทั้งหลายเพื่อจะเป็นเครื่องมือต่อต้านหรือต่อสู้กับกิเลสก็สอนให้บำเพ็ญ เอ้า ทานก็ให้บำเพ็ญ ศีลก็ให้รักษา ภาวนาก็ให้ทำ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องมือที่จะฆ่ากิเลสทั้งนั้น เพราะเห็นว่ากิเลสเป็นภัยไม่มีอะไรเกินในโลกทั้งสาม
โลกที่กองกันอยู่ทั้งสามนี้ ทั้งที่เป็นส่วนหยาบส่วนกลางส่วนละเอียดของภูมิของภพนั้นๆ ล้วนแล้วแต่กิเลสอันเดียวนี้เท่านั้น เป็นผู้บีบบังคับหรือกดถ่วงเอาไว้ไม่ให้หลุดพ้นไปได้ จะเป็นอะไรไป ต้นไม้ ภูเขา ดินฟ้าอากาศ มีอำนาจที่จะมาดึงดูดจิตใจให้ติดจมอยู่ได้เหมือนกิเลสอะไรล่ะ อันนี้จึงเป็นของสำคัญมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องได้ใช้อุบายวิธีการอย่างละเอียดลออ อุตส่าห์พยายามเต็มที่เต็มฐาน คนเราเมื่อได้เห็นโทษของมันโดยลำดับลำดาแล้ว ความเพียรมันมีมาเอง แต่นี้มันไม่เห็นน่ะซิเพราะไม่มีธรรมเครื่องส่องที่จะให้เห็น ถ้ามีเครื่องมือที่จะให้เห็นบ้างแล้ว มันก็เห็นก็พบก็เจอ เห็นโทษก็เห็นเข้าไปเรื่อยๆ
ดังที่เห็นได้จากการปฏิบัติของเราตั้งแต่ขั้นหยาบ ขั้นหยาบไม่ค่อยเห็น ต้องถูต้องไถบังคับบัญชากันให้ต่อสู้กับกิเลส ต่อเมื่อได้เหตุได้ผลพอประมาณแล้ว ความเพียรก็มี ความมีแก่ใจก็มี ความห่วงใยการภาวนาก็มี ความขี้เกียจขี้คร้านน้อยลงไปๆ จนกระทั่งก้าวเข้าสู่ธรรมดังที่กล่าวตะกี้นี้ คือภาวนามยปัญญา
เริ่มตั้งแต่สมาธินี้มันก็ดูดอยู่แล้วแหละ สมาธิตั้งแต่สมาธิขั้นต่ำๆ จนถึงขั้นละเอียด เป็นจิตที่ดูดดื่มในธรรมทั้งหลายอยู่แล้ว และยิ่งก้าวเข้าสู่ปัญญาขั้นที่ว่าภาวนามยปัญญาด้วยแล้ว นั่นละเป็นขั้นที่เห็นโทษโดยลำดับลำดา ความเพียรหมุนตัวไปโดยลำดับลำดา ความขี้เกียจขี้คร้านค่อยอ่อนตัวลงๆ สุดท้ายความขี้เกียจขี้คร้านหายหน้าไปหมดไม่มีเหลือจริงๆ มีแต่ความที่จะเอาจะสู้ จะเอาให้หลุดให้พ้นโดยถ่ายเดียว ราวกับว่าทุกลมหายใจ
เห็นไหมถึงขั้นเป็น มันเป็นได้ในบุคคลคนเดียวนั้นแหละ ที่ตัวขี้เกียจขี้คร้านมากๆ นั่นแหละ ตัวโง่ๆ ก็คือจิตดวงนี้ เวลาฉลาดใครจะไปตามทันล่ะ ถึงขั้นฉลาดมันฉลาดจริงๆ ก็ฉลาดในหัวใจของเรานี่แหละ ที่อาศัยธรรมเป็นอุบายเครื่องแก้ไขเครื่องบุกเบิกเครื่องช่วยหนุนให้ฉลาดก็ฉลาดเอง ฉลาดขึ้นมาๆ
ความเห็นคุณค่าแห่งธรรมที่ตนได้รู้ได้เห็นแล้วก็มีมาก ความเห็นโทษของกิเลสที่ยังละไม่ได้ก็เห็นมาก เมื่อความเห็นคุณแห่งธรรมก็เห็นมาก ความเห็นโทษแห่งกิเลสก็เห็นมาก แล้วก็รวมเข้ามาสู่กำลังของใจที่จะทำตัวให้หลุดพ้น ความเพียรก็แก่กล้า สติปัญญาก็รวดเร็ว ความอุตส่าห์พยายามไม่ต้องบอก มันหากหมุนของมันไปเองพร้อมๆ กันนั่นแหละ ที่นี่ความขี้เกียจหายไปไหน ไม่มีเลย มีแต่จะเอาท่าเดียวถึงต้องได้รั้งเอาไว้
ที่ท่านสอนว่าอุทธัจจะในสังโยชน์เบื้องบน ความฟุ้งความเพลินของสติปัญญาต่อความพากเพียรในการต่อสู้กิเลสทั้งหลายจนลืมตัว ไม่ได้เข้าพักผ่อนสมาธิเลย ท่านจึงสอนให้พักในสมาธิ เพราะจิตเพลินในความเพียร ไม่มีคำว่าขี้เกียจขี้คร้านและคำว่าขยันก็เลยเสีย มันพูดไม่ได้ไอ้คำว่าขยันนี่ เหมือนกับธรรมขั้นต่ำลงไป เมื่อถึงขั้นหมุนตัวไปเองแล้ว มีแต่คำว่าเป็นก็เป็นตายก็ตาย จะให้หลุดพ้นถ่ายเดียวเท่านั้น อย่างอื่นเป็นไปไม่ได้ นี่ขั้นนี้แล้วความขี้เกียจจะมาจากไหน มันจะมาเกิดได้ในขณะใดเล่า ก็เมื่อมีแต่จะให้ชนะ ถ้าพูดถึงว่าชนะก็จะให้ชนะท่าเดียว ถ้าจะให้หลุดพ้นก็จะให้หลุดพ้นท่าเดียวนี้เท่านั้น เป็นก็เป็น เป็นก็ให้หลุดพ้น ตายก็ให้หลุดพ้น แล้วความขี้เกียจจะมาช่องใดล่ะ ฟังซิ นี่ละเมื่อถึงขั้นนี้มันเป็นเองด้วยกันทุกคน ไม่ต้องบอกหากรู้เองในเจ้าของ นี่เพราะอะไร เพราะคุณค่าของธรรมมีมาก และก็ย้อนไปเห็นโทษของกิเลสนั่นแหละมาก
ธรรมเกิดก็คือแสงสว่างเกิด ความเฉลียวฉลาดเกิด ภัยมากน้อยมันก็เห็นละซิปัญญา นอกจากนั้นยังปัญญาญาณที่ละเอียดยิ่งกว่าปัญญาเข้าไปอีก ยิ่งเห็นชัดลงไป ละเอียดแหลมคมขนาดไหนกิเลส แต่ก่อนก็ว่ามันแหลมคมไม่มองเห็นมัน ทีนี้เมื่อสติปัญญาเหล่านี้ได้อบรมตัวจนคล่องตัวถึงขั้นมหาสติมหาปัญญาแล้วนอนใจได้ยังไง สติปัญญาขั้นนี้ไม่ใช่ขั้นนอนใจ ถึงจะติดก็ไม่ได้นอนใจ หากมีแง่มีอะไรที่จะรู้จะเห็นที่จะดูเหตุการณ์ต่างๆ อยู่นั้นแหละ จนกระทั่งผ่านไปได้ จนกระทั่งรู้ในสิ่งที่ติดที่ข้องอยู่นั้น ผ่านไปได้โดยไม่มีเหลือเลย แน่ะฟังซิ นี่ถึงขั้นฉลาด
คำว่าฉลาดอันนี้หมายถึงฉลาดโดยธรรม ฉลาดทางภาคปฏิบัติ เป็นความฉลาดที่ผิดกับความฉลาดทั้งหลายที่เราได้ศึกษาเล่าเรียนมาทางโลกอยู่มากมาย ถ้าผู้ไม่ปฏิบัติไม่รู้ ไม่เกิดความฉลาดประเภทนี้ หากไม่รู้ว่าความฉลาดประเภทนี้คืออะไร ขอให้เจอเข้าไปเถอะจะทราบเอง
ฐานที่จะเกิดความฉลาดก็คือภาวนามยปัญญาดังที่ว่านี้ นี่เป็นฐานอันดับของปัญญา ฐานต้นก็คือสมาธิ เป็นเครื่องหนุนให้จิตอิ่มตัว มีความสงบเยือกเย็น อิ่มตัวคือสงบเย็นอยู่ภายในตัว อิ่มเอิบอยู่ภายในจิต เพราะจิตเป็นสมาธิจิตสงบ ย่อมไม่ฟุ้งซ่านรำคาญกับรูปกับเสียงกลิ่นรสเครื่องสัมผัส อันเป็นสายทางที่จะให้เกิดกิเลสทั้งหลายเข้ามาพอกพูนหัวใจ เมื่อจิตมีความอิ่มตัวแล้ว พาเดินทางด้านปัญญา จิตย่อมทำงานทางด้านปัญญา คลี่คลายดูสิ่งนั้นสิ่งนี้ ธาตุขันธ์อวัยวะส่วนใดก็ตาม ให้เห็นเป็นอสุภะอสุภัง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เมื่อละเอียดเข้าไปก็เห็นเรื่องเวทนา ความสุข ความทุกข์ เฉยๆ ที่เกิดขึ้นในขันธ์อันนี้ เห็นเข้าไปชัดเข้าไป นี่เรียกว่าปัญญา และแจ้งเข้าไปโดยลำดับลำดา
จากนั้นก็ก้าวเข้าสู่ภาวนามยปัญญา เอาละที่นี่ นั่นเป็นฐานที่จะให้เกิดความฉลาด ไม่ต้องบอกถ้าถึงขั้นนี้แล้ว ปัญญาจะหมุนตัวไปรอบด้านทีเดียว ทั้งๆ ที่เราไม่เคยเป็นไม่เคยเห็นไม่เคยมี และไม่คาดไม่ฝันด้วยว่าจะได้รู้ธรรมชาติที่อัศจรรย์ที่แปลกประหลาดในหัวใจของเรานี้ แต่ก็ได้เห็นเสียแล้ว ปรากฏแล้วเวลานี้ นั่น นี่ละธรรม
ความฉลาดของจิตที่สังหารกิเลส ไม่ใช่ความฉลาดแบบโลกๆ ที่ศึกษาเล่าเรียนกันมา อันนั้นเป็นความรู้ความฉลาดที่กิเลสมันผลิตขึ้นมา เราเรียนวิชาจากกิเลสจึงไม่สามารถจะนำไปฆ่ากิเลสได้ ต้องเป็นปัญญาของธรรมที่เกิดขึ้นจากภาคปฏิบัติดังที่กล่าวนี้ ปัญญาอันนี้แล ความฉลาดอันนี้แล เป็นสิ่งที่จะสังหารกิเลสทุกประเภทให้ฉิบหายวายปวง ไม่มีอะไรเหลือภายในจิตใจเลย ดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกท่านล้วนแล้วแต่ปัญญาประเภทนี้ทั้งนั้น ปัญญาทางโลกเอามาใช้ไม่ได้เลย เพราะเป็นปัญญาของกิเลส นอกจากจะเป็นการเสริมกิเลสเท่านั้น
เราเห็นไหมล่ะความฉลาดทางโลกเป็นยังไง เราไม่ได้ยกโทษของโลกนะ คือพูดตามความมีความเป็น คนฉลาดเช่นเจ้ากฎหมายนั่นแหละ ตัวพลิกตัวแพลงเปลี่ยนแปลงคว่ำกินหงายกินคือตัวนี้แหละ นั่นละมันฉลาดไปอย่างนั้นเสีย ใครมีความรู้ฉลาดเท่าไรก็ยิ่งทะนงว่าตัวรู้ตัวฉลาด สุดท้ายก็ทำแต่ความชั่วให้คนอื่นได้รับความเดือดร้อน ถ้าพูดตามหลักธรรมแล้ว ความฉลาดอะไรอย่างนั้น คนฉลาดต้องให้ความสุขแก่โลกดังพระพุทธเจ้านั่นซิ พระพุทธเจ้ามีความฉลาดมากน้อยเพียงไรเราก็รู้แล้วนี่ และทำประโยชน์ให้โลกได้กว้างขวางขนาดไหน เราเห็นไหมสามโลกธาตุนี้พระพุทธเจ้าเป็นครูสอนทั้งนั้น สอนได้หมด นี่ความฉลาดอันนี้ทำโลกให้เย็น แต่ความฉลาดของกิเลส ฉลาดไปไหนยิ่งทำโลกให้ร้อนไปโดยลำดับลำดา มันตรงกันข้ามอย่างนี้เอง เราไม่ได้ประมาททางโลกนะ เราพูดตามความจริง ความจริงมันเป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้เป็นปัญญาทางธรรมเข้าไปเพื่อแก้กิเลส ถอดถอนกิเลส ถ้าปัญญาทางโลกมันไม่อย่างนั้น คิดดูซิอย่างเราเรียนหนังสือนี่ ทั้งๆ ที่เรียนธรรมแท้ๆ นั่นน่ะ เรียนปริยัติธรรม สอบได้เริ่มมาตั้งแต่นักธรรมตรี โท เอก มหาเปรียญ จนถึง ๙ ประโยค ทั้งเรียนจบพระไตรปิฎก แทนที่กิเลสจะหลุดลอยไปเพราะการเรียนการจำได้นั้น กลับทะนงตัวว่าตัวเรียนรู้หลักนักปราชญ์ ฉลาดแหลมคม ไปที่ไหนก็เหมือนกับว่ายกว่าแบกคัมภีร์ไป ตู้พระไตรปิฎกเคลื่อนที่ไป
ความสำคัญตนอันนี้แลคือตัวกิเลสแท้ๆ นั่นฟังซิ แก้ยังไงยังงั้น นอกจากเอากิเลสมาพอกพูนตนด้วยความสำคัญ นี่ละเรียนธรรมก็ตาม ถ้าใจยังเป็นโลกอยู่ กิเลสมันแทรกเข้าได้อย่างนี้เอง เรียนธรรมอย่างนี้มันก็เป็นกิเลส
ถ้าเรียนเพื่อจะถอดถอนแก้ไข เพื่อปฏิบัตินั้นเป็นธรรมโดยแท้ ถึงจะมีความสำคัญอยู่บ้าง ความสำคัญนี้ก็มีวันจะหลุดลอยออกไปได้ สำคัญว่าตนรู้ตนฉลาดด้วยจำได้มาก เพราะการเรียนมากอย่างนี้ก็ตาม แต่จะมีวันหนึ่งที่มันจะปัดอันนี้ออก แล้วก้าวเข้าสู่ภาคปฏิบัติ และลดละสิ่งเหล่านี้ออกหมดไม่มีเหลือเลย เหลือแต่หลักความจริงล้วนๆ ไม่สำคัญว่าตนรู้ตนฉลาด ไม่สำคัญว่าตนดีตนเด่นกว่าผู้หนึ่งผู้ใดเลยในโลกนี้ เสมอไปหมด และความเสมอนั้นเจือเต็มไปด้วยเมตตาอีก อ่อนนิ่มไปหมดอีก ไม่มีอะไรที่จะเป็นพิษเป็นภัยในความรู้ประเภทนั้นเลย แน่ะฟังซิ มันต่างกันอย่างนี้แหละ
ความรู้เกี่ยวกับเรื่องทางโลก ความจำเป็นเรื่องของโลก ทำให้เกิดกิเลสได้โดยเจ้าของไม่รู้สึกตัวเลย ทั้งๆ ที่เรียนธรรมนั่นแหละ แต่กิเลสก็เข้าไปหากินในวงนั้นอีกเหมือนกัน เหมือนอย่างเขาไปหากินในวงวัดนั่นแหละ มีงานตรงไหนๆ พวกหากินในวงวัดมันมี เราดูก็รู้นี่นะ อย่างน้อยก็พวกขายของ ขายข้าวต้มขนมมันเต็มอยู่ในวัดนี่ว่าไง นี่มันเข้าไปหากิน เราเทียบเฉยๆ นะ
เรื่องกิเลสหากินกับธรรมเป็นอย่างนี้แหละ หากใครเรียนได้มากเท่าไร อู๋ย คัมภีร์จะแตก ไปที่ไหนหนัก ก้าวไม่ออก หนักความรู้ ความจริงมันหนักกิเลส ความทะนงตนความสำคัญตนต่างหาก นี่เป็นกิเลส ไม่ได้ละกิเลสอันนี้ เรียนมากเท่าไรกิเลสก็ไม่ได้หลุดลอย ไม่ได้ถลอกปอกเปิกบ้างเลยการเรียน ยิ่งเรียนด้วยความสำคัญไปอย่างนั้นด้วยแล้วยิ่งหนัก กิเลสยิ่งมากกว่าคนธรรมดา ถ้าเรียนเพื่อจะปฏิบัติแล้ว เอ้า ถึงมันจะมีอยู่บ้างเป็นธรรมดาของปุถุชน กลอุบายไม่ทันกิเลสก็ตาม มันมีวันหนึ่งที่กลอุบายจะทัน ปัดกิเลสความสำคัญอันนี้ออกได้ด้วยการปฏิบัติของตน และรู้มากเข้าไปเท่าไรยิ่งปล่อยวางมากๆ สุดท้ายละหมด ความสำคัญอะไรๆ ไม่มีเหลือเลย
อย่างที่ท่านพูดว่ามานะ ๙ คืออะไร มานะ ๙ นั้นเป็นธรรมของผู้ปฏิบัติขั้นสูง ขั้นสูงก็คือขั้นละเอียดที่อยู่ในเกณฑ์ที่ว่าเขี้ยวกำลังแหลม พูดง่ายๆ เห็นความแปลกประหลาด ความอัศจรรย์ภายในจิตใจของตนแล้วก็คิดอยากเทียบเคียง ท่านจึงว่ามานะ ๙ มานะคือความถือ ถือความรู้อันเด่นดวงนั้นแหละ ได้แก่ ตนต่ำกว่าเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขาหนึ่ง เสมอเขาหนึ่ง ยิ่งกว่าเขาหนึ่ง ตนเสมอเขาสำคัญว่าต่ำกว่าเขา เสมอเขายิ่งกว่าเขาหนึ่ง ตนสูงกว่าเขามีภูมิจิตภูมิธรรมสูงกว่าเขา สำคัญว่าตนต่ำกว่าเขาหนึ่งเสมอเขาหนึ่ง และสำคัญว่าสูงกว่าเขาหนึ่ง นี่เป็น ๙ อย่างละ ๓ ละ ๓ เป็นมานะ ๙
นี่ถือเป็นธรรมะขั้นสูง อันนี้ขั้นละเอียดมีวันที่จะปลดปล่อยลงได้โดยไม่ต้องสงสัยละ อันนี้แน่นอน ไม่วันใดก็วันหนึ่งแน่ที่มานะ ๙ นี้จะพังลงไป เพราะถ้าหากว่าเราจะเทียบจิตแล้ว ก็จิตอยู่ในอรหัตมรรค กำลังก้าวเดินในอรหัตมรรค พวกสังโยชน์เบื้องบนเช่นอย่างมานะ อุทธัจจะ อวิชชา มานะถือก็ถืออันนี้เองแหละ เมื่อถือใจแล้วก็ถืออาการเหล่านี้สำคัญตนไปต่างๆ
ผู้ปฏิบัติหากได้ตั้งอกตั้งใจจริงๆ แล้ว ก็เคยได้พูดแล้วว่า สดๆ ร้อนๆ ธรรมะพระพุทธเจ้า มรรคผลนิพพานสดๆ ร้อนๆ กังวานอยู่ในหัวใจเรา เช่นเดียวกับกิเลสมันกังวานอยู่ตลอดเวลา ความโลภมันก็กังวานอยู่ตลอดเวลา ความโกรธ ความหลงกังวานอยู่ภายในจิตใจเรา ไม่เคยครึไม่เคยล้าสมัย ไม่เคยล่าเคยสายไปตามปีตามเดือนเพราะจิตใจไม่ตาย อันนี้มันก็แอบแฝงอยู่กับของไม่ตายนั่นแหละ แม้มันจะเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อยู่ก็ตาม มันก็แฝงอยู่นั้น อันหนึ่งดับไป อันหนึ่งเกิดขึ้น เชื้อของมันฝังอยู่ภายในจิตใจอยู่นั้นคืออวิชชา มันจึงพาสัตว์ให้เกิดให้ตาย
ในสามแดนโลกธาตุนี้ ไม่มีจิตดวงใดที่จะรอดพ้นจากอำนาจของกิเลสประเภทที่ว่าฝังจมนี้ไปได้ ยกเว้นจิตพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เท่านั้น นอกนั้นล้วนแล้วแต่อยู่ใต้อำนาจของธรรมชาตินี้ เมื่อเป็นเช่นนั้นพระพุทธเจ้าจะไม่แสดงธรรมด้วยความเห็นโทษในสิ่งเหล่านี้ได้ยังไง ก็โลกทั้งสามแดนโลกธาตุนี้ ไม่มีรายใดเลยได้ผ่านพ้นออกไปโดยธรรมดาของตน คือไม่ได้รับการแนะนำสั่งสอนอย่างนี้ ให้เป็นไปโดยหลักธรรมชาติของตนเอง ไม่มีเลย ต้องได้อาศัยธรรมไปฉุดไปลากไปดึงขึ้นมา ถึงจะหลุดขึ้นมาพ้นขึ้นมาโผล่ขึ้นมาได้ นั่นละพระพุทธเจ้ามาอุบัติแต่ละพระองค์ๆ จึงทำประโยชน์ได้มากมาย
สัตว์ผู้มีอุปนิสัยที่ควรจะหลุดพ้นอยู่แล้วก็มี เพราะถึงจะจมอยู่ในวัฏฏะก็จมอยู่ด้วยอุปนิสัยนี่นะ ไม่ใช่ไม่มีอุปนิสัยเลย
. มี แต่ธรรมชาตินั้นยังเหนือกว่า มันจึงต้องครอบเอาไว้ก่อน ต่อเมื่อได้มีผู้เปิดทางให้แล้วก็ดีดผึงๆๆ ออกเลย เปิดช่องเปิดทางให้ดีดผึงๆๆ ขึ้นมา ที่ว่าได้บรรลุธรรมตามธรรมพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมากมายในการแสดงธรรมแต่ละครั้งๆ นั่นฟังซิ พุทธบริษัทได้บรรลุธรรมเป็นเท่าไร มากมายก่ายกอง นี่คือผู้ที่ได้หลุดพ้นๆ ไปตามช่องที่พระพุทธเจ้าทรงเปิด นี่ละพ้นไปๆๆ
เพราะอุปนิสัยมีอยู่แล้วนี่ เป็นแต่เพียงว่ายังไม่สามารถที่จะผ่านพ้นไปได้จึงต้องได้ตะเกียกตะกาย ตกในภพใดชาติใดก็จะทำอย่างไรได้ วิบากกรรมมันมีเหนือตัวทำด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไปทำความชั่วช้าลามก ด้วยความคึกความคะนอง ความอยากทำหรือความไม่เชื่อว่าบาปมีบุญมีเสียบ้างอะไรบ้าง กระทำลงไป ธรรมชาติที่มีอยู่ซึ่งเป็นความจริงไม่เอียงต่อผู้ใดซิ ทำลงไปมันก็ต้องเป็น ทำบาปต้องเป็นบาปทำบุญต้องเป็นบุญ เหมือนเราไปจี้ไฟจะว่าไม่ร้อนก็ว่าไป ลองจี้เข้าไปซีความจริงเป็นยังไงมันก็บอกเอง นั่นละความจริง นี่บาปก็เท่ากับไฟนั่นเอง มันต้องเป็นเองอย่างนั้น
พวกเราได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม ยังมามัวเห็นแต่ความขี้เกียจขี้คร้าน เห็นคุณค่าของโลกของสงสารของกิเลสตัณหาว่าดี ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่เห็นคุณค่าของธรรมเลย มันก็ไม่มีวันที่จะผ่านไปได้หรือไม่มีวันเบาบางไปได้
เบื้องต้นได้พูดถึงพ่อแม่ครูจารย์เรื่องธุดงควัตร ซึ่งเป็นข้อสำคัญๆ ด้วยกันทั้งนั้น เช่น เนสัชชิ ท่านก็บอกไว้ อดนอนเป็นคืนๆ ไปนี้ อดนอนนั่นก็เพื่อความเพียรประกอบความพากเพียร ไม่นอน อยู่ในอิริยาบถ ๓ คือยืนเดินนั่งไม่ยอมนอนเลย อย่างพระจักขุบาล จนกระทั่งจักษุแตก ท่านไม่ยอมนอน ๓ เดือนหรือว่าไง ท่านไม่นอน จักษุท่านแตก แต่ท่านก็บรรลุธรรมเป็นอรหัตบุคคลขึ้นมาได้เลย นี่ก็ธุดงค์ข้อหนึ่งเหมือนกัน เนสัชชิ
อยู่ในป่าอยู่ในป่าช้า เหล่านี้มีแต่ธุดงค์ทั้งนั้น สอนให้ไปอยู่ในป่า เพราะคุณค่าแห่งความอยู่ในป่านั้นสำคัญมากกว่าอยู่ตามสถานที่ธรรมดา เช่น อยู่ในบ้านเป็นอย่างหนึ่ง วัดบ้านเป็นอย่างหนึ่ง วัดป่าธรรมดาเป็นอย่างหนึ่ง อยู่ในป่าเปลี่ยวเป็นอย่างหนึ่ง ความรู้สึกของเราจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆๆ เมื่อความรู้สึกของเราเปลี่ยนขึ้นทางด้านธรรมะทางด้านดี กำลังใจของเราก็ได้ก็มี
นี่ก็เริ่มเข้าพรรษาตั้งแต่วันนี้แล้ว ผู้ที่มาบวชไม่มีหน้าที่การงานอะไร อย่าห่วงใยยุ่งเหยิงวุ่นวายกับอดีต ทางบ้านทางเรือน หน้าที่การงาน ถึงคิดแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์ คิดให้เป็นกังวลใจเปล่าๆ ข้างหน้าข้างหลังคืออดีตอนาคตไม่ต้องยุ่ง เวลานี้บวชมาเพื่อประกอบความพากเพียร ให้ทำให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ให้เห็นเหตุเห็นผลภายในจิตใจตามหลักธรรมที่ทรงสอนไว้ อย่างน้อยจิตใจสงบก็ยังดี เทปก็มีในวัดนี้เอาไปเปิดฟัง นั่งภาวนาฟังเทปก็ดี หรืออยากจะอ่านหนังสือก็อ่าน แต่อ่านหนังสือสู้ฟังเทปไม่ได้ในขณะที่นั่งภาวนา จิตสงบเย็นลงไป
สติเป็นของสำคัญนะ ใครเคยภาวนาบทใดบาทใด ก็ให้อยู่กับธรรมบทนั้นบาทนั้น ไม่ว่าจะก้าวหน้าถอยกลับ ไม่ว่ายืนว่าเดิน อิริยาบถทั้ง ๔ ให้ได้ทุกระยะไปยิ่งดี ความคิดเป็นธรรม ปรุงก็ปรุงเป็นธรรม เช่น พุทโธ เป็นสังขารเป็นความคิด แต่เป็นความคิดที่เป็นธรรม เรียกว่าความคิดฝ่ายมรรค มันคิดเรื่องราวอะไรที่เป็นเครื่องผูกพัน นั่นเป็นความคิดของสมุทัย เป็นเหตุให้เกิดกิเลสขึ้นมาเกิดทุกข์ขึ้นมา ให้ระงับความคิดเช่นนั้น ให้คิดแต่สิ่งที่ดีงามคือธรรมเท่านั้น ใจสงบ
ผู้ภาวนาอานาปานสติ ก็ให้กำหนดตามที่เขียนไว้ในหนังสือก็มี ในเทปบางม้วนก็มี นี่ได้อธิบายไว้พอประมาณๆ ถึงไม่ละเอียดมากก็พอจะจับเงื่อนได้แล้ว ถ้าพอจับเงื่อนเข้าไปได้แล้วความละเอียดไม่ต้องบอก เจ้าของจะเข้าใจเอง เพราะความละเอียดนี้จะบุกเบิกเข้าไปถึงขั้นที่ละเอียดสุดได้ไม่สงสัยที่ผู้ปฏิบัติจะพึงรู้เอง
ปีนี้พระเณรก็ตั้ง ๔๐ กว่านะนี่ ให้ขยับขยายเท่าไรก็ไม่ขยับขยาย อยู่กันอย่างนี้ เต็มกันอยู่นี้จะว่ายังไงล่ะ มันลำบาก หนักเหมือนกันนะผมผู้ปกครอง และยิ่งมีการทะเลาะเบาะแว้งนี้ด้วยแล้ว เป็นฟืนเป็นไฟภายในวัด เพราะผู้ปฏิบัติพระกรรมฐานผู้ปฏิบัติอยู่ด้วยกันนี้มันเป็นเหมือนอวัยวะเดียวกัน พอมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นนิดๆ จะกระเทือนถึงกันไปหมดเลย เช่นเดียวกับอวัยวะของเราส่วนใดส่วนหนึ่งวิการไปเสียนี้ กระเทือนทั้งอวัยวะนั้นแหละ เช่น หนามยอกเท้า และเขยิบไปหมดทั้งตัวเลย เดินเขยกๆ และเจ็บเป็นทุกข์ไปหมด
นี่ก็เหมือนกัน รายใดคิดเป็นความระแคะระคาย รายใดที่ไม่ดีทำการกีดการขวางหมู่เพื่อนเข้าไปแล้ว นั่นแหละรายนั้นแหละ จะเหมือนกับหนามยอกทีเดียว แล้วก็เสียไปหมด ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยนะ เพราะความเกี่ยวโยงกัน เมื่อเราทราบชัดเจนในต้นเจตนาของเราและปัจจุบันแห่งเจตนาว่ามาปฏิบัติธรรมแล้ว ก็ให้ดูหัวใจเจ้าของมันกระเพื่อมออกเรื่องอะไร นั่นละมันเกิดขึ้นนี้ก่อน เช่นว่าผู้นั้นไม่ดีผู้นี้ไม่ดี ผู้คิดนี้แหละไม่ดี มันไปหาเรื่องหาราวขึ้นมา จริงไม่จริงมันก็เอาเรื่องขึ้นมา เหมือนกับตุ๊กตาเครื่องเล่น หลอกเจ้าของให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวาย สุดท้ายก็กระทบกระเทือนกันจนได้
ความกระทบกระเทือนนี้ หรือว่าความทะเลาะเบาะแว้งกันนี้ ก็ต้องสำคัญว่าตัวดีตัวถูก ความสำคัญว่าตัวดีตัวถูกโดยไม่เสียดายอรรถธรรมเลย นั่นเป็นความผิดมากทีเดียว ความสำคัญว่าตัวถูก เสียดายในความถูกของตัว ก็คือเสียดายเรื่องของกิเลสนั่นแหละ จะไปเสียดายอะไร มันไม่รู้มันไม่ทันนี่นะ ทันกิเลส เมื่อทะเลาะกันขึ้นมาแล้ว ความทะเลาะนั้นหรือเป็นธรรม ความทะเลาะนั้นหรือเป็นของวิเศษ ความทะเลาะนั้นหรือเป็นมรรคผลนิพพาน
กิเลสมันไม่ได้คำนึงนะตอนนี้ มันว่าตัวดีทั้งนั้น ปิดกั้นทางตัวเองเท่าไรมันก็ไม่รู้ นี่ซิเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเป็นธรรมแล้วมันไม่ได้ว่าละ ดูหัวใจนี่ใครติใครชมที่ไหน ฟังมันลงในหัวใจ ใจมันจะไปว่ายังไง มันหิวอะไรกับเขา เขาติมันได้อะไร เขาชมมันได้อะไร มันรู้อยู่นี้ มันปรุงขึ้นมาแพล็บก็รู้ เมื่อรู้แล้วมันก็ดับ ถ้าไม่รู้มันก็เป็นภาพออกไปหลอกเจ้าของ ให้เกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมาจนได้ นี่เป็นของสำคัญ
วัดนี้ผมเป็นหัวหน้าในการปกครองทุกสิ่งทุกอย่าง แน่ใจว่าปกครองหมู่เพื่อนโดยธรรมโดยวินัย เต็มความสามารถของเจ้าของที่ได้ศึกษาเล่าเรียนและได้สำเหนียกศึกษามาจากครูจากอาจารย์ และมาปกครองหมู่เพื่อน อันใดที่มันข้องใจอันไหนให้มาปรึกษาปรารภ อย่าตั้งเป็นกฎเป็นเกณฑ์ ด้วยความอวดรู้อวดฉลาด ขัดแย้งคนนั้นขัดแย้งคนนี้ เดี๋ยวจะตั้งเป็นก๊กเป็นเหล่าขึ้นมาและโจมตีกันในวัด กลายเป็นพวกหมากัดกันไปนะ ผมไม่ปรารถนาอย่างยิ่ง อย่าให้เห็นเรื่องอย่างนี้นะ สอดตรงนั้นแทรกตรงนี้ อย่างนี้อย่าให้มี มีไม่ได้ ผมพูดตรงๆ เรื่องอย่างนี้ไม่ใช่ธรรม หยาบๆ เห็นกันอยู่เอามาอวดทำไม
เรื่องตั้งกฎนั้นกฎนี้ก็เหมือนกัน คัดค้านผู้นั้นคัดค้านผู้นี้เรื่องนั้นเรื่องนี้ เห็นด้วยไม่เห็นด้วยนี้ อย่ามายุ่งให้มันทะเลาะกันนะ เรื่องเหล่านี้หยาบๆ ถ้ามีข้อข้องใจสงสัยตรงไหนให้ศึกษาครูบาอาจารย์ และศึกษาหมู่เพื่อนก็ให้ศึกษาโดยเหตุโดยผลโดยอรรถโดยธรรม อย่าศึกษาด้วยความอวดรู้อวดฉลาด ว่าผมเห็นด้วยผมไม่เห็นด้วย เหมือนกับเราเป็นจอมนักปราชญ์ นั้นละจอมโง่ที่สุด จอมชั่วช้าลามกที่สุด มันกำลังเริ่มเกิดขึ้นแล้วนั่น ถ้าเป็นอย่างนั้น
สุดท้ายก็เป็นก๊กเป็นเหล่าขึ้นมาซี เข้ากับคนนั้นไม่ได้เข้ากับคนนี้ไม่ได้ เข้ากับพวกนั้นไม่ได้เข้ากับพวกนี้ไม่ได้ นั่นละที่นี่ มาซ่องสุมแล้วละที่นี่ไม่ใช่มาปฏิบัติธรรม มาซ่องสุมฟืนสุมไฟเผาศาสนา มันก็เท่ากับเทวทัตละซิ ครูบาอาจารย์มีอยู่ไม่ยอมฟังเสียง สุดท้ายก็แยกแยะแตกกันเป็นสังฆเภทภายในวัดเข้ามา
อย่าให้ผมได้เห็น ผมไม่ปรารถนาอย่างยิ่ง หากเห็นท่าไม่ดีแล้วผมหนีได้นะในพรรษาก็ตาม นี้จะถามตรงๆ เลยว่า ท่านนี้ยอมผิดไหม ถ้าไม่ยอมผิดยังว่าดีอยู่เหรอ ท่านจะอยู่หรือท่านจะไป บอกตรงๆ เลยเรา เอ้าท่านไม่ไปผมจะไป เอ้าแลกกันว่าอย่างนี้เลยนะ แล้วจริงด้วยนะ ถ้าท่านอยู่ละก็ เอ้า ปกครองหมู่เพื่อน ผมไม่ดีแล้วผมจะไป แล้วเตรียมของทันทีไปเลย ไม่เสียดายอะไรทั้งนั้นแหละ เพราะเราสอนพระเพื่อพระแท้ๆ เมื่อไม่เกิดประโยชน์ อำนาจวาสนาเราไม่มีแล้ว จะอยู่ให้หนักศาสนาหนักวัดหนักวาหนักหมู่เพื่อนทำไม ต้องไปแน่ๆ ผมไม่สงสัย ถ้าหากว่าเรื่องเป็นอย่างนี้ ตีตราไว้เลยก็ได้ เด็ดขนาดนั้นละถึงคราวเด็ดๆ จริงนี่
ฆ่ากิเลสก็อย่างนั้นเหมือนกัน ถึงคราวเด็ดๆ ตายก็ตายฟันกันเลย นี่ถึงว่าเดนตายมาได้มาหาหมู่เพื่อน มาสอนหมู่เพื่อนให้เป็นอรรถเป็นธรรม ด้วยความเมตตาสงสารไม่มีอันใดเจือปนเลย หากว่าเรื่องราวจะเกิดขึ้นเป็นอีกอย่างหนึ่งตรงกันข้ามแล้วก็ไม่ควรจะอยู่วัด สำหรับผมเองก็ดี ไม่มีอำนาจวาสนาปกครองหมู่เพื่อนว่ายังไง มันไม่ถูกต้องทำให้หมู่เพื่อนระแคะระคาย หมู่เพื่อนทะเลาะเบาะแว้งซึ่งกันและกัน บอกไม่ฟังก็ต้องไป ถ้าพวกนี้ไม่ไปเราต้องไป มีเท่านั้น อย่างอื่นไม่มี มีไม่ได้ ต้องเป็นอย่างนั้น นี่เราพูดไว้ล่วงหน้านะ อย่าให้เห็นอย่าให้พบ เราเคยเข็ดมาแล้ว
แม้ในครั้งพุทธกาล พระศาสดาองค์เอกเป็นประธานอยู่มันก็ไม่ได้ไว้หน้านะกิเลส ให้เอานั้นมายึดมาพินิจพิจารณาเป็นคติไว้อย่าได้ลืมนะ ภิกษุชาวโกสัมพีฝ่ายหนึ่งเป็นคณาจารย์เป็นธรรมกถึกมีลูกศิษย์ ๕๐๐ ขึ้นไป ฝ่ายหนึ่งเป็นวินัยธร ธรรมกถึกคือนักเทศน์พูดง่ายๆ วินัยธรคือผู้เคร่งครัด ผู้ทรงไว้ซึ่งวินัยธร ธร แปลว่าทรง ท่านเรียกว่าวินัยธร ทรงไว้ซึ่งวินัย นี้ก็มีบริษัทบริวารถึง ๕๐๐ เหมือนกัน
วันนั้นพระธรรมกถึกไปถ่ายส้วม แล้วล้างด้วยน้ำในกระบอก ก็เหลือน้ำเอาไว้แล้วออกมา หลังจากพระธรรมกถึกออกมา พระวินัยธรก็เข้าไปส้วม ได้ไปเห็นน้ำที่เหลือไว้ในกระบอกอันนั้น ออกมาก็มาต่อว่ากันเล็กน้อย ตามธรรมดาน้ำในกระบอกส้วมสาธารณะอันนั้น เมื่อถ่ายแล้วต้องให้หมดไม่ให้เหลือเอาไว้ ตามหลักพระวินัยท่านปรับอาบัติ เว้นแต่กระบอกส้วมนั้นเป็นของตัวคนเดียว เช่นอย่างอยู่ในส้วมของผมของใครก็ตามของคนเดียวนั้น เหลือไว้ได้ไม่ขัดข้อง ท่านอนุญาตไว้แล้วในพระวินัย แต่นี้อยู่ในส้วมสาธารณะ
พอออกมาแล้วก็มีต่อว่ากัน พอต่อว่ากันแล้วองค์ที่เป็นวินัยธรก็พูดเรื่องราวของพระธรรมกถึกที่ทำผิดวินัยให้ลูกศิษย์ฟัง ไอ้ลูกศิษย์นี้ก็ไปว่าให้ลูกศิษย์ทางด้านพระธรรมกถึก เอ้า ว่าอาจารย์ของท่านเหลือน้ำไว้ในกระบอกไม่รู้วินัยเลย เอากันละนะ ทีนี้สุดท้ายระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ก็ทะเลาะกัน เลยยกทัพใส่กัน
พระพุทธเจ้ามาห้ามไม่ยอมฟังเลย ถือว่าดีว่าเด่นด้วยกันทั้งนั้น ถือว่าถูกแล้วไม่ยอมฟังพระพุทธเจ้าเลย พระองค์จึงเสด็จหนีเข้าไปจำพรรษาที่ป่าเลไลยก์ นั่นละปีจำพรรษาที่ป่าเลไลยก์ก็คือว่าห้ามไม่ฟัง อะไรไม่ฟัง นี่คือกิเลสมันดีเกินครูเกินอาจารย์ดีเกินพระศาสดา พระองค์ก็ทรงคิดว่า เมื่อท่านเหล่านี้ถือกิเลสเป็นครูเป็นอาจารย์เป็นศาสดายิ่งกว่าเราแล้ว เราก็ไม่ควรอยู่ต่อไปให้หนักวัด พูดง่ายๆ คงจะเป็นอย่างนั้น แล้วเสด็จออกไปจำพรรษาที่ป่าเลไลยก์
จนกระทั่งพระทั้งสองฝ่ายนี้จะตายที่นี่ เขาไม่เอาข้าวใส่บาตรละซี ไปทางไหน หือ พระธรรมกถึกหรือพระวินัยธร ลูกศิษย์ธรรมกถึกหรือลูกศิษย์วินัยธร เขาชี้หน้าๆ ไปที่ไหนบิณฑบาตไม่ได้กินเลย ทีนี้อดข้าวจะตายจะว่าไง ใครมาก็มาชี้หน้าๆๆ นั่นน่ะวิเศษยังไงพิจารณาซิ ทีแรกเจ้าของก็ว่าวิเศษวิโสด้วยการทะเลาะกันถึงได้ทะเลาะกัน ไม่ยอมพระพุทธเจ้า ไม่เห็นพระพุทธเจ้าวิเศษอะไรเลย
ทีนี้เมื่อจะตายจริงๆ จึงมาขอร้องให้พระอานนท์ไปอาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จกลับมา นี่ละเรื่องมัน พระองค์จึงได้เสด็จกลับมา ได้มาประทานโอวาทต่อไป ด้วยความที่ท่านเหล่านี้เห็นโทษเต็มหัวใจแล้ว เมื่อพระองค์แสดงธรรมเท่านั้นก็ยอมรับทันทีๆ จนได้บรรลุธรรมมากมายก่ายกอง
นี่เราก็ไม่อยากได้ยิน ไม่อยากเห็นเรื่องที่ว่านี่ ไอ้เรื่องที่ดีกว่าครูกว่าอาจารย์ด้วยความรู้ความฉลาดของตน ที่สำคัญตนว่าดีว่าวิเศษวิโสยิ่งกว่าใครๆ นั้นละมันจะเป็นแบบที่ว่านี่ ให้พากันระมัดระวังให้มากนะ ธรรมกถึกวินัยธรมันอยู่ในทุกๆ คนนั่นแหละ กิเลสตัวผีนี้มันแทรกเข้าอยู่ในทุกคนๆ ให้ระวังนะ แล้วความสำคัญอันนั้นออกมาให้พึงทราบถ้าจะทราบ ถ้าจะกราบพระพุทธเจ้าว่าเป็นครูเป็นอาจารย์เป็นศาสดาองค์เอกจริงๆ แล้ว ให้ทราบว่าพระธรรมกถึกนั้นก็เป็นอาจารย์อันเอกพระวินัยธรก็เป็นอาจารย์องค์เอก ที่จะถือเป็นคติได้แล้ว ถ้าเราไม่อยากแข่งท่านด้วยวิธีการอย่างนี้
เข้าพรรษาแล้วก็ให้ตั้งหน้าตั้งตาทำภาวนากันนะ ไอ้เรื่องศาลานี้อย่ามาเพ่นๆ พ่านๆ ให้เห็นเถอะ รำคาญตาจะตายละ เพ่นๆ พ่านๆ โดยหาเหตุหาผลไม่ได้ เพราะนี้ไม่คุยนะ เคยปฏิบัติมายังไงมันติดหัวใจ ถ้าพูดถึงเรื่องติดหัวใจ มันเคยมันชินต่อนิสัยไอ้เรื่องความสงบตัวประกอบความพากเพียรไม่เพ่นๆ พ่านๆ นี่นะ มันเป็นเรื่องที่เคยชินต่อผู้ปฏิบัติ และเคยปฏิบัติกับครูบาอาจารย์มาอย่างนั้น ทีนี้เมื่อมาเห็นหมู่เพื่อนเพ่นๆ พ่านๆ อะไรต่ออะไรดูไม่ได้ มันขัด ไม่พูดมันก็เป็นอยู่อย่างนั้น
เพราะเราเป็นผู้สอนหมู่เพื่อนนี่ ทำไมเมื่อมันขัดหูขัดตาจึงจะไม่เป็นในจิต ก็เราเป็นผู้รับผิดชอบทุกด้านทุกทางมันก็ต้องได้ดู ขัดตรงไหนก็ต้องได้รู้แหละ อย่างนี้ให้ระวังอย่าให้ยุ่งๆ เหยิงๆ มากมายนักนะ ให้ดูใจเจ้าของนั่นน่ะ ให้เดินจงกรมเอามันหลงทิศหลงแดนไปเป็นไรกิเลสน่ะ นั่งภาวนาก็เหมือนกัน ถึงคราวนั่งก็เอาให้จริงจังซิ อยู่ไหนก็ให้ประกอบความพากเพียร อย่าได้ลดได้ละ
ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมมีตัวเรียกว่า เอกโก เป็นผู้ๆ เดียวเที่ยวไปและอยู่ท่านว่า ท่านกล่าวไว้แล้วในธรรม นี่ก็เหมือนกันให้ประหนึ่งว่าบุคคลผู้เดียว อยู่คนเดียว แม้จะอยู่กับหมู่เพื่อนตั้งหลายๆ องค์ก็ตาม อารมณ์ของจิตอย่าไปยุ่งกับใครต่อใคร
ให้ดูตัวโจรมารตัวเทวทัตมันแสดงอยู่ที่หัวใจเรานั้นนะ มันปรุงขึ้นเรื่องอะไรภาพมันออกไปนอกๆ โน้นแล้ว เราไปเห็นภาพแล้วตื่นมัน ผู้ที่มันปรุงออกไปนี้เราไม่เห็น เหมือนกับจอหนังนั่นแหละ มันออกจากฟิล์มนี่แป๊บไปปรากฏที่จอโน้น ไปดูเป็นบ้ากันอยู่โน้น มันออกจากฟิล์มนี้ อันนี้ก็ออกจากหัวใจนี้ปั๊บออกไปเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาแล้ว และสุดท้ายเดินจงกรมมีแต่เรื่องอันนี้เต็มหัวใจ นั่งสมาธิภาวนามีแต่เรื่องเหล่านี้เต็มหัวใจ มีแต่เรื่องอารมณ์เผาผลาญตัวเอง โดยไม่รู้สึกตัวนะว่ามันเผาตัวเองน่ะ ยังเพลินไปกับเรื่องของคนนั้นของคนนี้ ไม่ดีอย่างนั้นไม่ดีอย่างนี้ ตัวเป็นบ้าอยู่ยังไม่ดู ถ้านักปฏิบัติต้องรู้เพราะดู มันแย็บมาก็รู้ทันที สติไม่รู้อะไรจะรู้ ปัญญาไม่ใคร่ครวญอะไรจะใคร่ครวญ
พระเราเป็นเพศที่ใคร่ครวญ เป็นเพศที่มีสติ เป็นเพศที่อดทน เป็นเพศที่ให้อภัยซึ่งกันและกัน ไม่ถือกัน เป็นเหมือนอวัยวะเดียวกัน เป็นเพศที่เมตตาซึ่งกันและกัน ถ้าพระเราเป็นไม่ได้แล้ว อย่าไปสอนโลกเขาให้เสียเวล่ำเวลา และหนักหูหนักใจเขาเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร เอาตัวให้มันจริงซีแล้วค่อยสอน สอนคน สอนใครก็ตามเถอะ ถ้าเราได้จริงเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว เขาจะเอาไม่เอาเป็นเรื่องของเขาไม่เป็นอารมณ์กับใครเลย ทำประโยชน์เป็นประโยชน์แท้ๆ สอนๆ ด้วยความเมตตาอย่างจริงจัง ไม่ได้เป็นเพียงคำว่าเสกสรร นี่ให้มันจริงซิ จริงเจ้าของ สอนใครก็ตามสู้สอนเจ้าของไม่ได้ โทษใครก็ตามสู้โทษเจ้าของไม่ได้ เพราะโทษเจ้าของมันเผาเจ้าของ ดูตัวโทษที่มันเผาอยู่นี้ ให้มันทันกันซิ นักปฏิบัติไม่ดูหัวใจนี้จะดูที่ตรงไหน
เอาแค่นี้ละ เหนื่อยแล้ว