ภาคปฏิบัติภาคสำคัญ
วันที่ 18 มกราคม 2530 เวลา 19:00 น. ความยาว 41.49 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๐

ภาคปฏิบัติภาคสำคัญ

การปฏิบัติธรรม ขอได้กำหนดจดจำในข้ออรรถข้อธรรม ที่ครูอาจารย์ได้สั่งสอนแล้วอย่างไรไว้ด้วยดีในภาคปฏิบัติ เพราะการเทศน์การสอนทุกแง่ทุกมุม สอนด้วยความจริงใจและจงใจเต็มสัดเต็มส่วน ไม่มีคำว่าการแบ่งสู้แบ่งรับสำหรับภิกษุบริษัทเรา พูดอย่างตรงไปตรงมากับความจริงทั้งหลายที่ธรรมท่านระบุไว้ ๆ

ด้วยเหตุนี้การปฏิบัติจึงสำคัญอยู่ที่การจดจ่อ ด้วยความจริงใจในข้ออรรถข้อธรรมที่ครูอาจารย์แนะนำสั่งสอน คือหมายถึงท่านผู้ที่รู้จริงเห็นจริงสอน ดังโอวาทของหลวงปู่มั่นในสมัยปัจจุบันนี้เป็นต้น นี่เป็นโอวาทที่แม่นยำหาที่ต้องติไม่ได้ เทียบกันได้กับครั้งพุทธกาล ที่บรรดาสาวกทั้งหลายท่านอบรมสั่งสอนกัน หรือนับแต่พระพุทธเจ้าลงมา ท่านสั่งสอนด้วยความรู้แล้วค่อยสอน ทั้งฝ่ายเหตุคือด้านปฏิบัติ ท่านได้ประสบพบเห็น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสมุทัย ทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายมรรคและนิโรธ ทั้งฝ่ายเหตุฝ่ายผล ท่านดำเนินมาด้วยความรู้ชัดเห็นชัดภายในจิตใจของท่าน จึงสมบูรณ์แบบในเวลาท่านแสดงออกมาแต่ละบทละบาท

เพราะท่านสมบูรณ์แล้วทั้งสอง คือเหตุและผลเต็มอยู่ในหัวใจท่านแล้ว การสอนจึงไม่มีข้อบกพร่อง และไม่สอนด้วยความสงสัย ถอดออกมาจากความรู้ความเห็นอันเป็นอยู่ภายในจิตใจล้วน ๆ สู่จิตใจของผู้ฟังทั้งหลายเต็มเม็ดเต็มหน่วย หากผู้ฟังมีความสนใจใคร่ต่อข้ออรรถข้อธรรมด้วยความจริงใจแล้ว ธรรมเหล่านี้จะไม่ไปที่อื่น เพราะใจเท่านั้นเป็นภาชนะอันสำคัญของธรรม จะล่วงไหลเข้าสู่ใจทั้งหมด ส่วนผลที่ปรากฏมีความสงบและความแยบคาย ในบางบทบางบาทที่ได้รับจากท่านแสดงเป็นต้น ซึ่งตกค้างอยู่ภายในใจแล้วก็เป็นอันว่าได้รับแล้ว นอกจากนั้นแล้วก็นำไปเป็นคติข้ออรรถข้อธรรม ไปประพฤติปฏิบัติตนเอง

ภาคปฏิบัติเป็นภาคที่สำคัญสำหรับเราทั้งหลายในเวลานี้ ภาคการศึกษาเล่าเรียน ต่างองค์ต่างได้ศึกษาเล่าเรียนมาพอสมควรแล้ว ว่าศีลก็เข้าใจกันแล้วว่าศีลของพระมีประเภทใดบ้าง มีกี่ข้อ ก็ทรงศีลกันอยู่ด้วยกันทั้งหมด แน่ะ สมาธิจะเป็นประเภทใด เราก็ได้ศึกษาเล่าเรียนมาจากปริยัติ หรือจากครูจากอาจารย์อยู่แล้ว ว่าสมาธิเป็นอย่างนั้น ๆ ปัญญาเป็นอย่างนั้น ๆ ตลอดถึงวิมุตติหลุดพ้นเป็นอย่างนั้น นี่เป็นข้อศึกษาที่ได้รับมาแล้วจากครูจากอาจารย์และจากตำรับตำรา

บัดนี้เป็นหน้าที่ของเราที่จะตามร่องรอยแห่งข้ออรรถข้อธรรม หรือตำรับตำรา ซึ่งเป็นร่องรอยที่จะก้าวเข้าสู่ความจริง อันใดจริงเล่า ทุกข์เป็นของจริงอันหนึ่ง ท่านแสดงว่าทุกข์ให้กำหนดรู้ เมื่อรู้ทุกข์แล้ว ทุกข์นี้มาจากไหน ต้นเหตุของทุกข์คืออะไร นั่น สาวหาเหตุแล้ว ได้แก่ปัญญา ทำงานเกี่ยวเนื่องกันไปในขณะเดียวกัน เมื่อค้นหาต้นเหตุคืออะไรเป็นเหตุ ทุกข์จึงได้เกิดขึ้น ก็ได้แก่สมุทัย นี่ละคือการตามร่องรอยหาความจริง

ทุกข์เป็นความจริงหรือเป็นพื้นฐานอยู่แล้วภายในกายในใจของเรา สมุทัยเป็นพื้นฐานอยู่แล้วภายในจิต มีกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาเป็นรากอันสำคัญ หรือเป็นรากแก้วอันสำคัญของกิเลสทั้งมวล นี่ก็เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว คือความจริงแต่ละประเภท ๆ ที่กล่าวมานี้ ที่นี่มรรคได้แก่อะไร คำว่าสาวหาเหตุที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือสาวหาเหตุของทุกข์คืออะไร จนกระทั่งทราบว่าคือสมุทัยนั้นได้แก่มรรค นี่มรรคก็เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เป็นความจริงอันหนึ่ง ท่านจึงเรียกว่า มคฺค อริยสจฺจํ มรรคสัจก็เป็นความจริงอันหนึ่ง

เมื่อเราพินิจพิจารณาตามข้อมรรคที่แสดงไว้นี้ คำว่านิโรธ เมื่อทราบต้นเหตุของสมุทัยโดยลำดับลำดาไปแล้ว เรื่องของทุกข์เรื่องของการดับทุกข์ก็จะระงับตัวลงไป เพราะตัวเหตุคือสมุทัยมีกำลังอ่อนลงไปด้วยอำนาจแห่งมรรคปราบปราม ดังนี้เป็นต้น ท่านเรียกว่าความจริง เราทั้งหลายปฏิบัตินี้คือตามร่องรอยแห่งความจริง ความจริงมีอยู่เป็นพื้นฐานภายในจิตใจของเรานี้เป็นอันดับหนึ่ง ส่วนกายวาจาเป็นอาการของทุกข์เพียงเท่านั้น ถ้าเป็นต้นไม้ก็เพียงกิ่งเพียงก้าน แล้วสาวเข้าจากกิ่งก้านก็จะต้องเข้าไปสู่ลำต้นและรากแก้วรากฝอยของมัน นี่ละเมื่อสาวลงไปก็จะถึงตัวของสมุทัยชิ้นเอกได้แก่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา

นั่นแลคือความจริง อันเป็นรากฐานสำคัญของวัฏจักรวัฏจิต ที่พาให้หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ไม่หยุดไม่ยับยั้งตลอดมา และจะตลอดไปถึงกาลไหน ๆ ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ได้เลย มีการปฏิบัติเท่านั้นที่จะสามารถทราบความจริงทั้งหลายเหล่านี้ ดังที่พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายทรงทราบและทราบมาแล้ว และนำมาสั่งสอนพวกเราให้เข้าใจอยู่เวลานี้ พอได้ถือเป็นร่องเป็นรอยหรือเป็นแนวทางดำเนิน

ด้วยเหตุนี้การปฏิบัติจึงเป็นสิ่งจำเป็น และสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักบวชเรา อย่าได้เผลอไผลจิตใจไปสู่กระแสของโลก ซึ่งเคยล่มจมกับมันมามากต่อมากแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่จะยังเราให้หลุดพ้นกันไปได้เพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นโดยเหตุที่เราหลงตาม นอกจากการรู้แจ้งแทงทะลุสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ แล้วปลดเปลื้องปล่อยวางภาระอันหนัก ถอยเข้ามาสู่ตัวของตัวโดยลำดับ ด้วยอำนาจแห่งข้อปฏิบัติมีสติปัญญาเป็นสำคัญเท่านั้น นี่คือรากใหญ่หลักใหญ่อยู่ที่ตรงนี้ การปฏิบัติจึงเป็นของจำเป็นมาก

ในสถานที่นี่เราสงวนนักหนาสำหรับพระเณรที่มาปฏิบัติ เราไม่อยากเห็นสิ่งใดที่เข้ามาทำลาย หรือเป็นอุปสรรคต่อการบำเพ็ญเพียร เพื่อชำระหรือฆ่ากิเลสสังหารกิเลสภายในใจให้พินาศฉิบหายไป นอกจากการประกอบความพากเพียรอย่างเดียวเท่านั้น กิจอื่นการใดก็ตามให้ถือเสียว่าเป็นชั่วระยะกาล ที่จำเป็นจะต้องจัดต้องทำนิด ๆ หน่อย ๆ แต่ไม่ถือว่าเป็นความจำเป็นยิ่งกว่าการบำเพ็ญเพียรเพื่อชำระกิเลส นี่เป็นหลักใหญ่

ด้วยเหตุนี้ท่านผู้ใดก็ตามมาอยู่สถานที่นี้ พึงทราบว่าเราสอนเพื่อธรรมเหล่านี้ทั้งนั้น ไม่ได้ชมเชยกิจอื่นการใดว่าเป็นของเลิศของประเสริฐพอที่จะถือเป็นข้อหนักแน่น ยิ่งกว่าการประกอบความพากเพียรชำระกิเลส ให้เห็นทั้งเหตุให้เห็นทั้งผลทั้งฝ่ายมรรคและฝ่ายสมุทัย แจ้งประจักษ์กับตัวกับใจของเราเองขึ้นเป็นลำดับลำดา นี่เป็นของสำคัญมากในการปฏิบัติ

เอาเถอะถ้าลงสมณะหรือท่านผู้ปฏิบัติรูปใดนามใด ได้ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้วนี้ จะไม่เป็นอื่น ไม่ไปอื่นที่ไหนเลย นอกจากจะก้าวเข้าสู่ความจริงโดยลำดับ ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้นว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั่นคือความจริง เมื่อได้เปิดได้รื้อฟื้นความจริงนี้ออกให้เห็นแจ่มแจ้งชัดเจนด้วยกันทั้งสี่ประการนี้แล้ว ความบริสุทธิ์หลุดพ้นของใจ ซึ่งจะเล็ดลอดออกมาจากอาการทั้งสี่นี้ ไม่ต้องมีผู้หนึ่งผู้ใดบอกเลย จะเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ ใจที่บริสุทธิ์ หลุดออกมาจากอริยสัจทั้งสี่นี้โดยถ่ายเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นอริยสัจ ๔ จึงเป็นสถานที่กลั่นกรองจิตให้บริสุทธิ์

อย่างหนึ่งคือเครื่องผูกมัด ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย ถ้าจะพูดถึงเรื่องมลทินก็คือธรรมชาติที่มืดตื้อที่สุด ปิดบังจิตใจไม่ให้เห็นเหตุเห็นผลความสัตย์ความจริงอันใดที่มีอยู่ ทั้งภายนอกภายใน ตลอดที่ฝังอยู่ภายในจิตใจของตนนี้เลย นี่เรียกว่า ทุกข์กับสมุทัย ทีนี้มรรคเข้าไปแก้ตรงนั้นแหละ นั่นละท่านว่าอริยสัจ เป็นเครื่องกลั่นกรองจิตให้บริสุทธิ์หรือให้ผ่องใส เบื้องต้นให้เป็นความสงบ ต่อไปก็เป็นความสว่างกระจ่างแจ้ง แล้วก็สว่างกระจ่างแจ้งขึ้นโดยลำดับลำดา จนกระทั่งถึงความมืดตื้อหรืออะไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าสมุทัยทุกประเภทหมดสิ้นไปจากใจ เพราะอำนาจของมรรคญาณนี้ ลงไปขั้นละเอียดแล้วเรียกว่ามรรคญาณ

คือปัญญานี้ละเอียดแหลมคมมากที่สุด ได้แก่ปัญญาขั้นที่จะสังหารกิเลสประเภทที่เป็นยอดแห่งวัฏจักรออกจากใจได้ ได้แก่ปัญญาญาณดังว่านั้น นั่นละปัญญาขั้นละเอียดเหล่านี้แหละ ซึ่งอยู่ในวงของสัจธรรมด้วยกัน เมื่อสัจธรรมมีมรรคสัจเป็นสำคัญ ได้ทำหน้าที่ของตนให้เต็มที่เต็มฐานแล้ว ถึงกับสมุทัยอันเป็นรากฐานสำคัญคืออวิชชา ได้กระจายหายออกไปจากใจโดยสิ้นเชิงแล้ว นั้นแลนิโรธแสดงขึ้นเต็มที่ คือดับทุกข์อย่างสนิท เพราะสมุทัยดับไปแล้วอย่างสนิท นี่ละความบริสุทธิ์ผุดขึ้นมาที่ตรงนี้เอง

เพราะฉะนั้นอริยสัจ จึงเป็นธรรมยืนยันความจริงเรื่องของมรรคผลนิพพานอย่างแท้จริง เมื่อเราทั้งหลายได้ดำเนินตามร่องรอย ที่ศาสดาองค์เอกได้สั่งสอนไว้แล้วนี้ จะไม่เป็นอื่นเป็นใดเลย เรื่องกาลสถานที่เวล่ำเวลาอันใดก็ตาม ไม่เป็นของสำคัญยิ่งกว่าอริยสัจที่ปรากฏตัวอยู่ภายในกายในใจของเรานี้ ให้พึงกำหนดที่ตรงนี้โดยสม่ำเสมอ อย่าได้ลดละความพากความเพียร

อิริยาบถทั้งสี่เป็นการเปลี่ยนทั้งธาตุขันธ์ทั้งบรรยากาศภายในจิตใจของเรา ซึ่งมีความรู้สึกแปลกต่างกันไป ๆ ให้มีความตื่นตัวไปโดยลำดับ เช่น เราอยู่ในสถานที่นี้ความรู้สึกเป็นอย่างหนึ่ง เปลี่ยนจากสถานที่นี่ไปสู่ที่อื่น เปลี่ยนไปโดยลำดับ นับตั้งแต่สถานที่ธรรมดาดังที่วัดป่าบ้านตาดเรานี้ เข้าสู่สถานที่เปลี่ยว สถานที่น่ากลัว ดังครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านพาดำเนินมาตั้งแต่ก่อน เพราะมีอันตรายมาก ไม่เหมือนทุกวันนี้

เช่น สัตว์ร้ายมีเสือเป็นต้น นี่เป็นความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง อยู่กับหมู่เพื่อนแม้ในสถานที่เช่นนั้น ๆ ก็ตามเป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง แต่พอแยกแยะออกจากหมู่เพื่อนไปแล้ว เข้าสู่แนวรบโดยหวังพึ่งธรรมอย่างเดียว เรียกว่าพึ่งตนเองโดยสมบูรณ์แล้ว นั้นแหละความรู้สึกจะเปลี่ยนตัวไปโดยลำดับลำดา นี่ท่านเรียกว่าเปลี่ยนบรรยากาศ

เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้เที่ยวเสาะแสวงหาในสถานที่ดังกล่าวมานี้ มี รุกฺขมูลเสนาสนํ เป็นต้น ไม่เคยจืดจาง ไม่เคยล้าสมัยสำหรับผู้ที่จะแก้กิเลสตัวที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ด้วยวิธีการและสถานที่เหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องทันกันอยู่เสมอไป จึงเป็นธรรมที่ทันสมัย สถานที่ทันสมัยที่สุด สำหรับการแก้หรือสังหารกิเลส เมื่อเราไม่ได้สถานที่เช่นนั้น ก็ให้พึงถืออริยสัจเป็นรากฐานสำคัญอยู่ภายในใจของเรา อย่าปล่อย อย่าลดละความพากเพียร สติเป็นสำคัญมากนะ

สำหรับการขบการฉัน การพักผ่อนนอนหลับ อย่าถือเป็นประมาณว่าเป็นความดิบความดี ความสุขความสบาย อันนี้เพียงเรื่องของธาตุของขันธ์ได้พักผ่อน ความสบายก็สบายเพียงธาตุเพียงขันธ์นิด ๆ หน่อย ๆ แล้วก็ส่งเสริมราคะตัณหาขึ้นมา ถ้าวัยยังหนุ่มน้อยนะการฉันมากการนอนมาก เป็นสิ่งที่ส่งเสริมราคะตัณหาได้โดยไม่ต้องสงสัย เคยเป็นมาแล้วผู้ปฏิบัติไม่ต้องถามผู้หนึ่งผู้ใดเลย แต่ละท่าน ๆ จะทราบตัวเอง เพราะฉะนั้นการลดหย่อนผ่อนผัน การอดนอนผ่อนอาหาร จึงเป็นเรื่องระงับดับสิ่งเหล่านี้ ช่วยวิธีการแห่งความเพียรของเราได้เป็นอย่างดี

นี้แหละบรรดาผู้ปฏิบัติทั้งหลายที่อยู่ด้วยความสะดวกสบายทางกายไม่ได้ เพราะเมื่อให้มันสะดวกมันกลับเป็นข้าศึกต่อเรา เช่นให้ฉันมากมีกำลังมากแล้ว สติปัญญาของเราอ่อนเสีย ในขณะที่มันมีกำลังมาก กำลังของกิเลสมาก กำลังของมรรคคือสติปัญญาก็ด้อยลงเสีย เช่นนี้แลจึงต้องได้หาอุบายวิธีการระงับดับมันด้วยเหตุต่าง ๆ เช่น อดนอนบ้าง นอนแต่น้อยบ้าง ผ่อนอาหารบ้าง อดอาหารบ้าง เพื่อความเพียรของเราจะได้ก้าวเดินด้วยความสะดวกสบาย แล้วขยำหัวกิเลสลงได้อย่างถนัดชัดเจนภายในจิตใจของเรา นี่แหละผู้ปฏิบัติจำต้องทราบเรื่องเหล่านี้ด้วยดี ถ้าไม่ทราบเรื่องเหล่านี้แล้วจะไม่มีทางก้าวเดินไปได้เลย

พึงสังเกตเจ้าของเสมอการประกอบความพากเพียร อย่าสักแต่ว่านั่งเฉย ๆ ยืนเฉย ๆ เดินเฉย ๆ นอนเฉย ๆ ฉันเฉย ๆ ฉันมากฉันน้อยเฉย ๆ ไม่เกิดประโยชน์อันใดถ้าไม่ใช้สติปัญญาพินิจพิจารณา เพราะสิ่งเหล่านี้มันกลมกลืนกันไปกับเรื่องของธรรม กลมกลืนไปกับกิเลส นั่น ทั้งสองอย่างนี้มันกลมกลืนกันไป ถ้าเราอ่อนทางธรรมะหนักทางธาตุขันธ์ ธาตุขันธ์นั้นมีกำลังจริง แต่ก็กลับมาเป็นข้าศึกต่อธรรมภายในใจของเราเสียนี่ จึงต้องได้ลดหย่อนผ่อนผันกันเรื่อย ๆ อยู่อย่างนั้นเอง นี่เราหมายถึงขั้นตะเกียกตะกาย ขั้นที่ยังไม่ได้หลักได้เกณฑ์

แม้ท่านผู้ได้หลักได้เกณฑ์พอประมาณแล้ว ท่านยิ่งรู้เรื่องราวเหล่านี้ได้ดี เอ้า ยิ่งขยับเข้าไปในเรื่องความพากความเพียร เกี่ยวกับเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ เรื่องหลับเรื่องนอน เรื่องการขบการฉัน ท่านยิ่งระมัดระวังมากยิ่งกว่าเราตะเกียกตะกายอยู่เวลานี้เสียด้วยซ้ำไป ถ้าเราจะว่าขั้นนี้เป็นขั้นตะเกียกตะกาย ต้องยากบ้างลำบากบ้างอย่างนี้ จะหมายถึงว่าขั้นต่อไปแล้วจะอยู่สบาย ๆ มันก็ไม่ใช่นะ พอถึงขั้นสะดวกสบายได้กำลังสติปัญญามากเข้าเท่าไร ยิ่งขะมักเขม้น ยิ่งเข่นกันลงหนักเข้าไป ๆ เป็นอย่างนั้นนิสัยของผู้ปฏิบัติ

เพราะความขี้เกียจขี้คร้านเหล่านี้มันเป็นกิเลส พอธรรมมีกำลังขึ้นภายในจิตใจแล้ว ความพากเพียรจะโหมตัวมาพร้อม ๆ กัน เรื่องความอดความทนมันเป็นเกลียวเดียวกันไปนั่นแหละ หมุนติ้วกันไปเลยทีเดียว เพราะความมุ่งมั่นในตัวเองที่จะทำตัวให้หลุดพ้น

ขอย้อนพูดถึงเรื่องระหว่างความสุขกายกับความสุขใจ มันต่างกันอยู่มากนะ ความสุขกายด้วยการหลับการนอน การขบการฉัน เพียงเท่านั้นแหละ ดังที่โลก ๆ ทั้งหลายเห็น ดังที่เราเห็นตั้งแต่วันเกิดมามันสุขแค่ไหน ไม่มีใครที่จะเอามาแข่งมาขันกันได้ ว่าความสุขของข้าได้เลิศได้เลอยิ่งกว่าท่าน เพราะการกินมากนอนมากอย่างนี้ เพราะการปรนปรือมันมาก ให้ได้มีความสุขมากอย่างนี้ ๆ มันพอ ๆ กันนั่นแหละ โลกอันนี้จึงไม่มีใครดีกว่าใคร เลิศกว่าใคร เพราะเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ เพราะการบำรุงธาตุขันธ์ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มเหตุเต็มผล เต็มความต้องการของมัน

แต่ใจนี้ถ้าลงเราได้บำรุงบำเรอด้วยอรรถด้วยธรรมดังที่กล่าวมานี้ จะเป็นวิธีการใดก็ตามเถอะ ความสุขของจิตจะปรากฏเด่นขึ้นมา และแปลกต่างจากความสุขภายในร่างกายนี้เป็นลำดับลำดา แม้แต่ขั้นความสงบของใจเท่านั้นก็รู้สึกมีความตื่นเต้นแล้วสำหรับผู้ยังไม่เคยเป็นเลย พอสงบเย็นแล้วก็มีท่ามีทาง ถ้านั่งก้นก็ไม่ร้อนนัก ยืนก็พอสบาย ไม่โอนไม่เอนไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย เพราะความเดือดร้อนกระสับกระส่ายภายในจิตใจมันแผดเผา พอใจสงบเย็น ยืนก็ตรง เดินก็สม่ำเสมออยู่ภายในจิตใจ อิริยาบถทั้งสี่เป็นอิริยาบถที่สม่ำเสมอด้วยอรรถด้วยธรรม ไม่หิวไม่โหยไม่กระวนกระวาย เพราะใจสงบ

นี่เพียงเท่านี้เราก็เห็นแล้วว่า ความสุขนี้ต่างจากความสุขทางร่างกายเป็นไหน ๆ ทีนี้พอจิตนอกจากสงบแล้ว ยังมีความละเอียดแนบแน่นเข้าไปโดยลำดับ ก็ยิ่งเห็นความแปลกประหลาดแห่งความสุขของจิตไปโดยลำดับลำดา นี่แหละความต่างกันมันต่างกันอย่างนี้ นี่คือความสุขด้วยธรรม ไม่ใช่ความสุขด้วยอาหารการบริโภคปรนปรือกันต่าง ๆ ดังที่โลกทั้งหลายและเราทั้งหลายเป็นมานี้

เพราะฉะนั้นจึงให้แยกเรื่องเหล่านี้ อย่าถือมาเป็นสิ่งสำคัญในเรื่องปรนปรือทั้งหลายที่เคยปฏิบัติมาด้วยกันอยู่แล้ว มันไม่น่าสงสัยและไม่น่าจะติดไม่น่าจะเพลิดจะเพลิน เพราะเป็นสิ่งที่เคยอยู่แล้ว ส่วนธรรมนี้เรายังไม่เคย แล้วผู้ที่มาบอกมาสอนเราก็เป็นท่านผู้เลิศผู้ประเสริฐด้วย ผู้ผ่านมาแล้วทั้งสุขทางร่างกายและสุขทางจิตใจ ถึงขั้นบรมสุข มาสั่งสอนพวกเราอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว เราควรจะยึดนี้เป็นหลักเกณฑ์

ขอให้พึงทราบว่าวันนี้เป็นอย่างไร แต่เราไม่ทุกข์ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย วันนี้ยังพอทรงธาตุทรงขันธ์ แต่จะให้วิเศษกว่านี้ไปไม่ได้ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ต้องเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ อยู่เพียงแค่นี้แหละ และที่เป็นมาตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งบัดนี้ มีความแปลกประหลาดอะไรบ้างกับธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟของเรานี้ พอที่จะยึดเป็นหลักเป็นเกณฑ์เป็นเหตุเป็นผล เป็นที่พึ่งเป็นพึ่งตายกับมันได้แค่ไหนบ้าง และจากวันนี้ไปอีกจนกระทั่งถึงวันตาย เราจะยึดหลักเหตุหลักผล หรือยึดเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งเป็นพึ่งตายกับมันได้จริง ๆ ไหม

เราต้องนำมาทดสอบระหว่างกายกับใจ ระหว่างโลกกับธรรม คือกายนี้หมายถึงเป็นเรื่องของโลก ธรรมหมายถึงเรื่องของใจที่แฝงกับธรรม มีสมาธิธรรมเป็นต้น เป็นหลักใจแล้ว นี่ถ้าเราจะเทียบกับเรื่องร่างกายของเราที่เป็นมาดังที่กล่าวมาสักครู่นี้ กับเรื่องความสุขที่เป็นสาระซึ่งเกิดขึ้นภายในจิตใจ เพียงความสงบเท่านั้นก็เย็นใจแล้ว มีความกระหยิ่มยิ้มย่อง มีความหวังขึ้นแล้วภายในจิตใจ เพียงเท่านี้ความหวังได้สร้างขึ้นพร้อมกันแล้ว มากน้อยตามความสงบของใจ

พอใจได้สงบมากยิ่งกว่านี้ จิตยิ่งสว่างไสวอยู่ภายในวงของสมาธินั้นแล แต่ก็เป็นเรื่องแปลกประหลาด เป็นเรื่องอัศจรรย์อันหนึ่งภายในตัวของเรา ทำให้อบอุ่น ทำให้เย็นใจ ทำให้สบาย ไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวายกับสิ่งทั้งหลายที่เคยสัมผัสสัมพันธ์ เคยดิ้นรนกระวนกระวายกับมันมามากน้อยเพียงไร สงบตัวเข้ามาอยู่เรือนใจแห่งความสงบคือสมาธินี้ โดยความสะดวกสบาย นี่แหละความสุขของใจ

ความหวังเกิดขึ้นที่นี่ สาระสำคัญเกิดขึ้นที่นี่ มากกว่ากายเป็นไหน ๆ นั้นเป็นแต่เพียงเครื่องมือสำหรับอาศัยใช้มันเท่านั้น ถึงจะทุกข์ยากลำบากบ้าง ก็ให้เป็นไปเพื่อความพากความเพียร อย่าให้เป็นไปด้วยการเจ็บไข้ได้ป่วยเปล่า ๆ ไม่เกิดประโยชน์อันใด โดยหาสติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองไม่ได้ ถ้าเวลาเพลินกับมันก็เพลินไปด้วยการอยู่การกินการหลับการนอน นั้นก็ยิ่งเหลวยิ่งเลวไป ไม่มีอะไรเป็นสาระเลย เพราะฉะนั้นให้ย้อนเข้ามา นักปฏิบัติต้องค้นคว้า ต้องพินิจพิจารณา ต้องแยกต้องแยะ ต้องเทียบต้องเคียง ไม่อย่างนั้นหาทางออกไม่ได้นะ โดยอาศัยการพิจารณาเข้ามาถึงจิตดังที่ว่านี้

นี่พูดถึงเรื่องความสุข เรื่องความเป็นสาระ ตั้งแต่ขั้นสมาธินี้ก็เป็นสาระที่สำคัญอยู่แล้วเป็นลำดับลำดา เอ้า พูดให้ถึงเต็มขั้นของสมาธิ เพราะสมาธินี้เต็มขั้นได้เช่นเดียวกับน้ำเต็มแก้ว ดังที่เคยอธิบายให้ท่านทั้งหลายฟังหลายครั้งหลายหนแล้ว สมาธินี้เมื่อพอตัวแล้วเต็มที่เท่านั้น เช่นเดียวกับน้ำเต็มแก้วแล้ว แม้จะเอาน้ำมหาสมุทรมาเทก็เพียงแค่เต็มแก้วเท่านั้น ไม่เลยจากนั้นไป นี่ธรรมมีความพอ สาระสำคัญในสมาธินี้พอตัวแล้ว มีความเอิบอิ่ม มีความมั่นใจ

เอ้า ทีนี้แยกจากสมาธิ เพราะจิตมีความอิ่มตัวย่อมไม่หิวไม่กระหายในอารมณ์ทั้งหลายที่เคยเป็นมา ที่เรียกว่าอารมณ์โลก ๆ ว่างั้นเถอะน่ะ อารมณ์ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส เครื่องสัมผัสสัมพันธ์ ที่เคยเป็นแล้วและจะเป็นมาเหล่านั้น มันปล่อยวางไปเสียหมด อยู่ในความสงบสบาย ทีนี้เอาปัญญาออกจาระไน เราจะขยายความละเอียดแห่งจิต ความละเอียดแห่งธรรม ความสุขของจิต ความสุขที่เกิดขึ้นจากธรรม ให้กว้างขวางและละเอียดลออลงไป ด้วยปัญญานี้เป็นของสำคัญมากยิ่งกว่าขั้นสมาธิ

ขั้นสมาธิเต็มภูมิแล้วอยู่เพียงแค่นั้น เอาจนกระทั่งถึงวันตายก็ไม่เลยสมาธิ ดีไม่ดีถ้าไม่มีผู้แนะนำสั่งสอนไว้ก่อนแล้ว สมาธินี้มีความสุขพอที่จะทำให้คนติดได้ ลืมเนื้อลืมตัวอยู่ในสมาธิ ที่ท่านเรียกว่าติดสมาธิ เพราะความสุขพอที่จะให้จิตติดได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากว่าสติปัญญาไม่มีที่จะถอนตัวออกจากนั้น เพื่อก้าวขึ้นสู่ความละเอียดแห่งธรรมทั้งหลายให้เกินให้เลยกว่าขั้นนั้นขึ้นไป เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้ปัญญา

เอ้า ทีนี้ปัญญามีหลายขั้นหลายภูมิ ที่สำคัญที่สุดซึ่งคลุกเคล้ากันอยู่ มีความรักความชอบ ความเกลียดความชัง สับสนปนเปกันอยู่ทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอนเวลานี้ เพราะอะไร ก็เพราะรูป รูปอะไร ก็รูปกายรูปหญิงรูปชายเหล่านี้แหละเป็นของสำคัญ เอาแยกเข้ามาให้เป็นอสุภะ พิจารณาเรื่องอสุภะเป็นอย่างไร

ในกายของเรานี้คือกองอสุภะแท้ ๆ เรื่องความจริงแล้วเป็นกองอสุภะทั้งหมด ไหนกองสวยกองงามอยู่ที่ไหน กองน้ำอบน้ำหอมอยู่ที่ไหน เอ้าดูซิ กองที่เป็นเหตุให้รื่นเริงบันเทิงมีกลิ่นหอมหวนชวนชม มีอยู่ที่ไหนในร่างกายของแต่ละคน ๆ นี้ ทำไมจึงยอมตัวให้กิเลสเสกสรรปั้นยอหลอกลวงเอาต่อหน้าต่อตา ทั้งที่ตาของเราไม่บอด แต่สำคัญที่ปัญญามันบอดนั่นมันก็ไม่รู้ จึงต้องถูกหลอกถูกต้มตลอดเวลา ว่าอันนี้เป็นเราเป็นของเรา เป็นหญิงเป็นชาย อันไหนมันก็เนื้อก็หนังอันเดียวกัน หญิงก็หนังก็เนื้อ ชายก็กระดูก หญิงก็กระดูก เส้นเอ็น ตับ ไต ไส้ พุง ล้วนแล้วแต่ของปฏิกูลเต็มกันไปหมด มีหญิงมีชายที่ไหน

ฟาดลงไปซินักปฏิบัติเรื่องอสุภะอสุภัง นี่ละการถอดถอนความยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางภาระอันหนักที่ว่า ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา มันรับผิดชอบด้วย มันแบกมันหามด้วยอุปาทานด้วย เพราะฉะนั้นจึงแก้กันด้วยอสุภะอสุภัง พินิจพิจารณาทั้งภายนอกทั้งภายในได้ทั้งนั้น ภายนอกก็เอามาแยกมาแยะซิเป็นยังไง ดังที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ไปเยี่ยมป่าช้า มันเป็นอะไรป่าช้า มีอะไรดิบดีอยู่นั้น มันเป็นตลาดร้านค้าที่ไหนพอที่จะเพลิดจะเพลิน อยากต้องการนั้นซื้อสิ่งนี้มาประดับประดาเนื้อประดับประดาตน ประดับประดาบ้านเรือน ก็คนตายทั้งนั้นอยู่ในป่าช้า นั้นแหละท่านให้พิจารณาป่าช้า

เมื่อพิจารณาป่าช้าแล้วก็ย้อนกลับเข้ามาพิจารณาป่าช้าผีดิบคือตัวของเรา และซากอสุภต่าง ๆ ที่เต็มอยู่ภายในตัวของเรานี้ ให้กระจายลงไปเป็นสภาพอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วความว่าหญิงว่าชาย ว่าเขาว่าเรา ว่าน่ารักใคร่ชอบใจ มันก็กระจายหายไปจากความจริง เพราะนี้เป็นความจริงแล้วความจอมปลอมมันจะอยู่ไม่ได้ ต้องกระจายตัวไป นี่ท่านเรียกว่าปัญญา นั่น พิจารณาแยกแยะเช่นนี้อยู่โดยสม่ำเสมอแล้วก็เข้าสู่สมาธิ

ในขณะที่เราจะพิจารณาจิตให้เป็นความสงบเย็นใจ อย่าไปกังวลกับอาการของสติปัญญาด้านใดมุมใด ว่าตอนนั้นพิจารณายังไม่แจ้ง ตอนนี้พิจารณายังไม่ชัด เวลานั้นพิจารณายังไม่แจ่มแจ้งชัดเจน ไม่ต้องไปคิดไม่ต้องไปหมาย ให้ย้อนเข้ามาสู่ความสงบอย่างเดียวเท่านั้น เรียกว่าทำงานคนละเวลาหน้าที่ ขณะที่ทำจิตให้สงบให้มุ่งจุดเดียวเพื่อความสงบเท่านั้น

พอจิตออกจากความสงบแล้วมากน้อยก็ตาม ให้แยกจิตออก จูงจิตออกสู่ปัญญา พิจารณาใคร่ครวญดูกันไปหมดโลกธาตุนี้ มีอันใดที่แปลกต่างกันบ้างล่ะในโลกนี้ จิตถึงได้หลงโลเลเอาเสียตั้งแต่กัปไหนกัลป์ใดมาจนกระทั่งบัดนี้ ไม่มีเวลาอิ่มพอ มีอะไรที่ให้ได้หลงเพลิดเพลินอยู่ มันมีแต่ของเก่า ของเน่าของเหม็น ของปฏิกูลโสโครกเต็มโลกเต็มสงสารนี้ มันตื่นหาอะไรจิตนี่ ปัญญามีทำไมจึงไม่เอาไปสอดส่องดูของจริงทั้งหลายนี้ เหล่านั้นเป็นแต่ของสิ่งนั้น นี่ชื่อว่าปัญญา เมื่อพิจารณาแจ่มแจ้ง เอาเราจะสรุปลงไปโดยลำดับลำดา เพื่อให้พอเหมาะกับการปฏิบัติและเวล่ำเวลา

เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้ทั้งเช้าสายบ่ายเย็น อิริยาบถต่าง ๆ อยู่โดยสม่ำเสมอแล้ว เราจะค่อยทราบชัดถึงความจริงทั้งหลายมีอสุภะอสุภังเป็นต้น จากนั้นก็จะค่อยกลายลงไปเป็น อนิจฺจํ เป็น ทุกฺขํ เป็น อนตฺตา แล้วทีนี้พอสุดท้ายลงไปในไตรลักษณ์ทั้งสามประเภทนี้ จะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่ง แน่นอนที่จะเด่นชัดภายในจิตใจมากกว่าไตรลักษณ์ทั้งหลาย เช่น ทุกฺขํ จิตมีความหนักแน่นมีความติดพันในทุกข์ ชอบใจในการพิจารณาทุกข์ก็ เอา พิจารณาทุกข์ลงไปไม่ผิด แน่ะ จิตมีความติดพันมีความชอบมีความสัมผัสใน อนิจฺจํ ก็ เอ้า พิจารณา อนิจฺจํ ลงไป จิตมีความหนักแน่นใน อนตฺตา ก็ให้พิจารณา อนตฺตา ลงไป ถูกด้วยกันทั้งนั้น นี่เวลาละเอียดลงไปแล้วจะลงสู่ไตรลักษณ์ด้วยกันทั้งนั้น

เมื่อลงสู่ไตรลักษณ์แล้วมันจะหมุนตัวเข้ามาสู่จิต ตามปกติก็เข้าสู่จิตอยู่แล้ว แต่เวลาละเอียดเข้ามาจริง ๆ แล้วจะเข้ามาสู่จิตโดยลำดับลำดา ผลที่สุดร่างกายของเรานี้มันก็เห็นได้ชัด อยู่ด้วยกันก็รู้ว่านี้คือจิต นี้คือธาตุคือขันธ์ นั้นคือเนื้อ หนัง เอ็น กระดูก อวัยวะส่วนต่าง ๆ ไม่ใช่จิต อาการต่าง ๆ ของจิตที่คิดออกไปในแง่ต่าง ๆ ก็รู้ว่านั้นคืออาการของจิตไม่ใช่จิต ไม่มีใครบอกก็รู้ เพราะวิธีการพิจารณานี้เป็นวิธีกลั่นกรองเพื่อจะทราบทั้งสิ่งนั้น ทั้งอาการของจิตที่ไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น ทั้งจิตเอง

เมื่อทราบชัดโดยลำดับแล้วจะปล่อยวางเข้ามา ๆ เมื่อปล่อยวางเข้ามามากน้อย ภาระที่เราแบกเราหามให้หนักหน่วงถ่วงจิตใจมาเป็นเวลานานนั้น จะค่อยเบาบางลงไป ๆ จนกระทั่งถึงปล่อยวางเข้ามาในธาตุในขันธ์ของเราโดยลำดับ ปล่อยเข้าไปจนกระทั่งถึงจิต ขันธ์ทั้งห้าปล่อยลงไปด้วยปัญญา รู้ชัดตามความจริงด้วยปัญญา ปล่อยวางลงไป จนกระทั่งเข้าไปถึงรากแก้วแห่งภพแห่งชาติทั้งหลาย คืออะไร นั่นแหละที่นี่

นี่แหละที่กล่าวทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นอริยสัจนะ อย่าเข้าใจว่าการพูดนี้ไม่ใช่พูดอริยสัจ พูดเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย อสุภะอสุภัง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไม่เป็นอริยสัจจะเป็นอะไร เป็นอริยสัจทั้งนั้น นี่แหละอริยสัจทำงาน ทำงานอย่างนี้เอง ทำงานด้วยปัญญา เมื่อถึงขั้นปัญญาแล้วกล้าไปโดยลำดับลำดา แล้วก็มาทราบโดยลำดับจนกระทั่งถึงธรรมชาติที่ฝังจมอยู่ภายในจิตใจ ท่านเรียกศัพท์ธรรมะว่า อวิชชา รู้แต่ไม่แจ้ง ถ้าแปลออกแล้ว รู้แบบงู ๆ ปลา ๆ รู้อย่างโลกทั้งหลายรู้นี้แหละ แต่หาทางออกไม่ได้ ไม่ใช่วิชชา คือรู้อย่างชัดแจ้งชัดเจนแจ่มแจ้งอย่างพระพุทธเจ้ารู้นั่น

ทีนี้เวลาพิจารณาเข้าไปจริง ๆ มันไม่มีที่จะพิจารณา ปล่อยลงไป ๆ หมดแล้ว หมดทางปล่อย หมดทางรู้ ถอยตัวเข้ามา จิตมีความสัมผัสตรงไหนจะจ่อเข้าไปตรงนั้น ๆ สุดท้ายก็ไปสัมผัสสัมพันธ์อยู่ที่จิตเท่านั้นเอง เพราะอาการทั้งห้านี้หมดไปแล้วด้วย ดังที่เคยพิจารณาและได้เคยอธิบายมาแล้วหลายครั้งหลายหน จนกระทั่งถึงจิตอวิชชา ถึงขั้นนั้นแล้วเหมือนกับเราสาวเถาวัลย์เข้ามาสู่ลำต้นของมัน สู่กอของมัน รากของมันนั่นแหละ ถอนพรวดขึ้นมาที่ตรงนี้แล้ว มันจะมีกี่เส้นกี่สายยาวเหยียดมากน้อยเพียงไรก็ตาม จะบรรลัยตายไปด้วยกันหมดเมื่อถอนรากแก้วมันขึ้นแล้ว

นี้ก็เหมือนกัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต อันเป็นทางเดินของอวิชชา รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส อันที่ไปเกี่ยวข้องรูปก็คือจิตที่เป็นอวิชชา มันถอนเข้ามา ๆ จนกระทั่งถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นอาการอันหนึ่ง ๆ เท่านั้นที่เป็นอาการของจิต ออกมาจากอวิชชามาสำคัญมั่นหมาย ก็ถอนตัวเข้าไปเหลือแต่ธรรมชาติของอวิชชาอันเดียว เมื่อตัดทางเดินของอวิชชาแล้วอวิชชาก็สุดไม่มีทางไป บริษัทบริวารถูกตัดขาดตัดสะพานเข้าไปหมดเหลือแต่อวิชชา เหมือนกับว่ารากแก้วอันเดียวเท่านั้น ถอนพรวดขึ้นมาด้วยปัญญาญาณหยั่งทราบอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง กระเด็นออกจากกันแล้ว ภพชาติอยู่ที่ไหนที่นี่ นั่นละมันชัดเจนอย่างนี้การปฏิบัติ

นี่ละตามร่องรอยแห่งความจริงเข้าไปดังที่กล่าวมาสักครู่นี้ด้วยภาคปฏิบัติ คือตามเข้าไปอย่างนี้ จนกระทั่งถึงอวิชชาจริง ๆ แล้วเป็นยังไง อะไรเป็นภพเป็นชาติพาให้สัตว์เกิดแก่เจ็บตาย ก็คืออันนี้เอง พอถอนอันนี้ออกไปแล้วอะไรจะพาเกิดอีกที่นี่ หมด ไม่มีอะไรที่จะสืบต่อแล้ว ธรรมชาติอันหนึ่งคืออะไร คือความบริสุทธิ์ อันนี้ว่าอะไรที่นี่ ไม่มีอะไรจะว่า

อริยสัจเป็นอาการแต่ละอย่าง ๆ เป็นเครื่องกลั่นกรองธรรมชาตินี้ให้บริสุทธิ์ เมื่อธรรมชาตินี้บริสุทธิ์เต็มที่แล้ว อริยสัจก็หมดหน้าที่ไป เช่น ทุกข์ก็สักมีแต่ว่าในธาตุในขันธ์เท่านั้น ภายในจิตใจไม่มีอีกเลย เพราะสมุทัยไม่มี มรรคก็มีแต่เวลาแก้กิเลสตัณหาอาสวะเท่านั้น เมื่อแก้กิเลสตัณหาอาสวะแล้ว ปัญญาที่เรียกว่ามรรค ๆ นั้นก็หมดหน้าที่ไป

จะเหลือแต่ปัญญาที่จะใช้ไปตามสมมุตินิยม ข้ออรรถข้อธรรมที่จะแนะนำสั่งสอนโลกสงสารต่อไปเท่านั้น ที่จะแก้กิเลสตัณหาไม่มีอีกแล้วปัญญาก็ดี เพราะเรื่องกิเลสมันหมดแล้ว อวิชชาหมดแล้ว ปัญญาประเภทสังหารนั้นก็หมดหน้าที่เช่นเดียวกัน นิโรธความดับทุกข์ ทุกข์ดับไปแล้วมานิโรธที่ไหนอีก มันก็นิโรธหนเดียวเท่านั้น เมื่อเต็มที่แล้วนิโรธเพียงหนเดียวหมด ก็ทำหน้าที่ผ่านไปแล้ว เหลือแต่ธรรมชาติที่บริสุทธิ์พุทโธเท่านั้น

นี้ละพระพุทธเจ้าเอาธรรมชาตินี้แลมาสั่งสอนสัตว์โลก พระอรหันต์ท่านเอาธรรมชาตินี้แลมาเป็นรากใหญ่ เป็นรากฐานสำคัญสั่งสอนสัตว์โลก โดยอาศัยอาการแห่งขันธ์นี้เป็นเครื่องแสดงออกแห่งผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะให้เกิดประโยชน์แก่โลกทั้งหลาย ดังที่ท่านแสดงธรรมว่าอย่างนั้น ๆ ถ้าไม่มีขันธ์แสดงไม่ได้นะ มีแต่ความบริสุทธิ์ล้วน ๆ นี้แสดงอาการออกมาไม่ได้ ว่าดีว่าชั่วเป็นยังไง ๆ จึงต้องอาศัยขันธ์เหล่านี้เป็นเครื่องแสดง

ด้วยเหตุนี้ขอให้ทุกท่านตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ขออย่าเห็นสิ่งใดเป็นสิ่งที่สำคัญมากยิ่งกว่าภาคปฏิบัติ ที่จะตามร่องรอยแห่งภพแห่งชาติของตนเองเข้าสู่ความจริง คือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อันเป็นรากฐานสำคัญแห่งภพแห่งชาติ ให้เห็นประจักษ์ด้วยปัญญาแล้ว ถอนพรวดขึ้นมาแล้วหมดปัญหาโดยสิ้นเชิง ไม่มีคำว่าอดีตคำว่าอนาคต ไม่มีสิ่งใดมาปรากฏทั้งนั้น เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นสมมุติทั้งมวล ธรรมชาติที่บริสุทธิ์นั้นหาสมมุติไม่ได้แล้ว ให้ชื่อแต่เพียงว่าวิมุตติเท่านั้น นี่ละผลแห่งการปฏิบัติธรรม สด ๆ ร้อน ๆ อยู่กับท่านผู้ปฏิบัติ

อย่าเข้าใจว่ามรรคผลนิพพานหมดเขตหมดสมัยไปแล้ว นอกจากโมฆบุรุษ โมฆสตรี โมฆภิกษุเท่านั้น จะให้กิเลสมันต้มมันตุ๋นทั้งวันทั้งคืน ถ้าจะพูดในทางความดิบความดีแล้วให้กิเลสต้มเอาว่าไม่มี ๆ ถ้าทำดีแล้วขี้เกียจขี้คร้านท้อแท้อ่อนแอ มีความดูดดื่มในทางชั่วและการทำชั่วแล้วไม่มีถอย ตายก็ตายได้วันยังค่ำไม่มีความสะทกสะท้าน ไม่มีความกลัว ไม่มีความหวาดเสียว ไม่มีความเข็ดหลาบ นี่เรื่องของกิเลสหลอกคนหลอกอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจงให้เห็นความเข็ดหลาบด้วยอรรถด้วยธรรม แล้วจะเห็นเรื่องของกิเลสตัวหลอกลวงภายในจิตใจ และถอนพรวดออกมาแล้วหมดปัญหาโดยประการทั้งปวง ฉะนั้นขอให้ทุกท่านจงตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ

นี่เวลาครูบาอาจารย์ไม่อยู่ก็ขอให้เคารพตน ถ้าเคารพแต่เพียงครูบาอาจารย์แล้วมันจะมีที่แจ้งที่ลับ นั้นไม่ใช่ธรรมนะ ธรรมแท้อยู่กับตัวของเรา อริยสัจอยู่กับตัวของเรา กิเลสอยู่กับตัวของเรา สติปัญญาที่จะแก้กิเลสตัวลืมเนื้อลืมตัวอยู่กับตัวของเรา ขอให้พากันตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติต่อตัวของเราเอง

อย่าไปสำคัญมั่นหมายกับสิ่งภายนอก ยิ่งกว่าการแสดงออกของสัจธรรมทั้งสี่นี้ มันจะแสดงออกท่าไหน มันแสดงยกโทษคนอื่น ก็นั่นละคือสมุทัยคือกิเลส แสดงว่าคนนั้นไม่ดี ผู้นี้ไม่ดี คนนั้นสูงคนนี้ต่ำ คนนั้นน่าตำหนิคนนี้น่าชม ซึ่งล้วนแล้วแต่เรื่องของกิเลสที่ออกไปจากใจ ให้สติทันมันนะ ถ้าทันแล้วมันจะระงับ ตัวนี้ก็ไม่เป็นมารแก่ตัวเองและไม่เป็นมารแก่ผู้อื่น ไม่ระแคะระคายผู้อื่น เพราะดับตัวระแคะระคายออกจากตัวแล้ว ตัวนี้เป็นตัวเสนียดจัญไร ให้พากันระมัดระวังตัวนี้ให้ดี แล้วจะอยู่ด้วยกันเป็นสุข ๆ

พวกเราทั้งหลายนี้เป็นผู้ที่หาบกิเลสมา หาบกองทุกข์ความลุ่มความหลงมาด้วยกัน เวลานี้หวังในข้ออรรถข้อธรรมจากครูจากอาจารย์มาชำระสะสางตนเอง อย่าให้กิเลสมันมาชำระเรานะ มันจะมาฟันหัวเราให้แหลกด้วยกันนี้ ทะเลาะเบาะแว้งกัน เป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวล น่าอับอายขายขี้หน้าที่สุดเลย ไม่มีอะไรที่จะเลวทรามยิ่งกว่าวงสมณะ เฉพาะอย่างยิ่งวงปฏิบัติทะเลาะกัน ขออย่าให้ได้ยิน เกิดมาในภพนี้ชาตินี้กับหมู่กับคณะ สั่งสอนหมู่เพื่อนด้วยความเต็มอกเต็มใจ ด้วยความเมตตาสงสารเต็มเม็ดเต็มหน่วย สิ่งที่ไม่พึงหวังอย่าให้ปรากฏ

ขอให้ท่านทั้งหลายได้เห็นอกเห็นใจผู้แนะนำสั่งสอน แล้วตั้งหน้าตั้งตาสำรวมระวังตนเอง และความผิดของตนเองที่มีอยู่ภายในจิตใจ อย่าให้ดีดดิ้นออกมาได้ เอาให้มันแหลกให้เห็นต่อหน้าต่อตาเจ้าของนั้นแหละ ดีกว่าที่จะไปทำคนอื่นให้กระทบกระเทือน ให้เขามาให้คะแนนเราว่าเราดีอย่างนั้น แล้วเราก็ไปตัดคะแนนเขาว่าไม่ดีอย่างนั้น เป็นเรื่องของสมุทัยฆ่าสังหารกัน ไม่เป็นท่าเป็นทางเลย

จึงขอยุติเพียงเท่านี้ เอาละพอ เหนื่อยแล้ว

พูดท้ายเทศน์

ไม่มีวิชาใดเลยที่จะค้นพบความจริงได้เหมือนวิชาของพระพุทธเจ้า วิชาธรรม เรียนจบพระไตรปิฎกก็จบเถอะ เรียนวิชาธรรมก็ดี ถ้าไม่ทำตามแบบพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ ปริยัติพอจำวิธีการได้แล้วให้ดำเนินตาม นั่นละการดำเนินตามคือตามรอยแหละที่นี่ จนกระทั่งไปเจอเอาจนได้นั่นแหละ ลงรากแก้วมันก็คือ อวิชฺชาปจฺจยา ตามมาจากโน้น เหมือนกับเถาวัลย์มันเลื้อยออกไปโน้น โน่นกระจายออกไป เลื้อยออกไป มันเกิดขึ้นจากเหง้าเดียวกอเดียว เถานี้ออกโน้น เถาโน้นออกโน้น ๆ เลื้อยออกไปจากตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้ เลื้อยออกไปหารูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ทั่วโลกธาตุ ออกไปจากกอนี่

ใคร ๆ ก็ไม่รู้น่ะซิตามแต่เงามันไป เรียนก็เรียนตามแต่เงามันไป พอภาคปฏิบัติก็ย้อนละที่นี่ ตามเข้ามา ๆ ดังพระพุทธเจ้าและสาวกท่าน เข้ามาพบความจริงก็จะสงสัยไปไหน ในเมื่อมาเจอเอาต่อหน้าต่อตาจะไปสงสัยที่ไหน อะไรก็ตามถ้าลงไปเจอเข้าแล้วจะสงสัยที่ไหน ไม่เคยเห็นก็ตามมันก็ไม่สงสัยแหละ ก็เจอเอานี่จะว่าไง

นี่ก็ผมทางโน้นเขาบอกมาแล้วนี้ จะต้องได้ไปกรุงเทพฯ ฉะนั้นขอให้หมู่เพื่อนอยู่กันด้วยความเป็นสุข ด้วยความสงบ อย่าให้มีเรื่องมีราวอะไร การเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ให้ถือเป็นกิจจำเป็นสำคัญมากสำหรับเราแต่ละท่าน ๆ ในวัดนี้ อย่าได้ละได้ถอน งานอื่นอย่าเห็นเป็นสำคัญนัก ผมไม่เห็นงานใดเป็นสำคัญ เคยปฏิบัติมาอย่างนั้น แม้ครูบาอาจารย์มั่นเราก็พาดำเนินมาอย่างนั้น ไม่เห็นงานใดเป็นสำคัญยิ่งกว่างานนี้

งานนี้เป็นงานสำคัญมากสำหรับพระ ที่จะรื้อถอนตนออกจากทุกข์ทั้งมวล ให้เสร็จสิ้นไปเสียนั้นละเป็นของดีเลิศ ไอ้ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย จมแล้วฟู ฟูแล้วจมนี้ มันเป็นอยู่นี้มาตั้งกัปตั้งกัลป์แล้ว แต่ละภพละชาติ แต่ละคน ๆ แต่ละรูปละนาม เหล่านี้ไม่มีใครสงสัยแหละ ถึงเจ้าของจะสงสัยก็ตามหลักความจริงไม่มีสงสัย เป็นอย่างนั้นมาแท้โดยไม่ต้องสงสัย เพราะธรรมชาติที่กล่าวเมื่อสักครู่นี้พาให้เป็น เมื่อถอนอันนี้ออกแล้วจึงหายสงสัยละที่นี่ ไม่บอกก็หายเอง ไม่มีใครบอกก็ตาม สนฺทิฏฺฐิโก เป็นหลักธรรมชาติอยู่แล้ว บอกกับตัวทุกคน

เอาละเลิกกันละที่นี่


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก