การอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมากนั้นไม่สะดวกก็ทราบๆ กันอยู่ ถ้าอยู่อย่างพระอรหันต์ท่านหรือพระปัจเจกพุทธเจ้าท่านอยู่ด้วยกันก็ไม่เป็นไร เพราะต่างองค์ต่างสิ้นกิเลสแล้ว ไม่มีอะไรที่จะมาระแคะระคายหรือมากระทบกระเทือนกันเหมือนบรรดาคลังกิเลสอย่างพวกเรานี้ ทั้งๆ ที่ปฏิบัติธรรมะอยู่นั้นแหละ ก็ไม่พ้นที่จะให้กิเลสมันเหยียบหัวเอาได้อย่างสะดวกสบายโดยไม่รู้สึกตัว ยังภูมิใจไปด้วยกับกิเลสนั้นอีก เป็นถึงขนาดนั้นนะ ถ้ามีความรู้เหนือนั้นดูแล้วทำไมจะไม่เห็นทำไมจะไม่ทราบ นี่ละอันหนึ่งที่ทำให้สลดสังเวชอยู่มาก
ผมทนเอานะอยู่กับหมู่กับเพื่อน ผมไม่อยากพบไม่อยากเห็นสิ่งเหล่านี้ เพราะเทศน์หมดกำลังความสามารถทุกแง่ทุกมุม ได้ทุ่มลงหมดเพื่อหมู่เพื่อคณะด้วยความเมตตาจริงๆ โดยไม่ได้เสกสรร ถึงมากก็ทนเอา แต่แล้วก็ไม่พ้นที่จะให้กิเลสมันออกมาเพ่นพ่าน มาขึ้นเวทีเหยียบหัวพระหัวเณรอยู่ในวัดในวาของผู้ปฏิบัติ และอยู่ในใจของผู้ปฏิบัติ แม้ไม่แสดงออกมาภายนอกมันก็เหยียบอยู่ภายในนั้นแล
นี่ได้เคยพูดเสมอ พูดออกมาจากความจริง พูดด้วยการพิจารณาอยู่แล้วและพิจารณาแล้ว ว่าเรื่องของกิเลสกับธรรมเป็นยังไง ก็เหมือนธนบัตรจริงกับธนบัตรปลอมนั่นแหละ ตาธรรมดาทั่วๆ ไปอย่างเราไม่สามารถอาจทราบได้ว่า ไหนธนบัตรปลอมไหนเป็นธนบัตรจริง ต้องตาที่ควรรู้เท่านั้นถึงจะรู้ได้ ยกตัวอย่าง เช่น บ้านนอกอย่างนี้มี ๒-๓ รายไหม เอ้า เช่นอย่างบ้านตาดนี้ทั้งบ้านนั่น รู้ไหมว่าธนบัตรปลอม ย่อมไม่สามารถรู้ได้ เขายื่นอะไรให้ก็คว้ามับๆ เท่านั้นเอง เพราะตาไม่ทันของปลอม สติปัญญาไม่ทันของปลอม อยู่ภายในใจตัวเองก็เช่นเดียวกันไม่ผิดอะไรกันเล้ย ต้องตาของผู้ชำนาญธนบัตรถึงจะรู้ มือสัมผัสพับรู้ทันที ไม่ถึงกับตาต้องดูแหละ ทั้งนี้เพราะความชำนาญ
พวกเราปฏิบัติให้ทันกับกิเลสลองดูซีทำไมจะไม่รู้ มันแย็บออกมาที่ไหนก็รู้ รู้ทั้งนั้น ถ้าในหัวใจเจ้าของไม่มี แย็บออกที่ไหนก็รู้ เจ้าของต้องรู้อย่างนั้นก่อนถึงจะทำลายกันได้ ถ้าไม่รู้ถึงขนาดนั้นแล้วก็ทำลายกันไม่ได้ทำลายมันไม่ได้ นี่ละธนบัตรปลอมกับธนบัตรจริง ระหว่างธรรมกับอธรรมแทรกอยู่ด้วยกันในหัวใจของเราดวงเดียวนี้ มันไม่มีทางที่จะรู้ได้ ทั้งๆ ที่ว่าตัวประกอบความพากเพียรเพื่อกลั่นกรองสิ่งเหล่านี้ออก แต่สุดท้ายมันก็ขับไล่ธรรมของเราออกหมด เหลือแต่ของปลอมเต็มหัวใจ ก็ไม่ทราบจะเอาอะไรมาเป็นที่พึ่งที่เกาะที่ยึดที่มั่นใจ เมื่อมีแต่ของปลอมเต็มหัวใจอยู่แล้วอย่างนั้น
เราคิดดูซีพระพุทธเจ้าทำไมจะไม่น่ากราบไหว้ล่ะ โลกทั้งโลกไม่เห็นของปลอมของจริงทั้งๆ ที่มีอยู่ในหัวใจทุกดวง พระพุทธเจ้าทรงรู้ได้ละได้ พระอรหันต์ท่านรู้ได้ละได้ สัตว์โลกทั้งหลายนอกจากไม่รู้แล้วยังไม่รู้จักวิธีละอีก แม้รู้แล้วก็ยังละไม่เป็นละไม่ถูก ท่านผิดกันไหมล่ะกับพวกเรา อย่างนี้ละที่ควรกราบและเปล่งวาจาถึงท่านว่า พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ เป็นอย่างนี้เอง ธรรมที่เป็นของแท้ก็ สรณํ คจฺฉามิ เช่นเดียวกัน ใจของปลอมกับธรรมของแท้จะเข้ากันได้ยังไง สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ นี่ก็เหมือนกัน ใจท่านบริสุทธิ์เต็มดวงกับธรรมที่บริสุทธิ์เต็มที่ ธรรมโดยหลักธรรมชาติก็เข้ากันได้สนิท
ผู้ปฏิบัติธรรมจึงต้องได้ใช้ความพยายามเอาอย่างมากทีเดียว ไม่เช่นนั้นก็ไม่พ้นที่จะให้มันตบหูตบตาอยู่ตลอดเวลา ยังไงก็ไม่พ้นเรื่องที่กล่าวมานี้ ด้วยเหตุนี้การฝึกทรมานจึงต้องได้ใช้หลายอุบายวิธีต่างๆ ตามแต่ใครจะได้คิดได้ค้นได้อุบายอะไรออกมาเพื่อการแก้ไขต่อสู้กับสิ่งที่เป็นอธรรม พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้มีมากขนาดไหน เพียง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้นพอประมาณเท่านั้นไม่ได้มากมายอะไรเลย และอุบายวิธีการที่ทรงรู้ทรงเห็นและทรงสั่งสอนสัตว์โลกทั้งสามภพสามโลกนี้จะมากมายขนาดไหน ใครเข้ามาเฝ้าคณะไหนเข้ามาเฝ้า พระองค์จะทรงแสดงไปตามจริตนิสัยของผู้นั้นของคณะนั้นๆ ธรรมะจึงไม่ซ้ำรอยกัน มีกี่หมื่นกี่แสนรายก็ทรงแยกทรงแยะสอนไปอย่างนั้น นั่นละธรรมะที่นำมาสอนโลกมากขนาดนั้น เราจะมาจดจารึกไหวเหรอ
พระองค์สอนโลกมานานถึง ๔๕ พระพรรษา บรรดาผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องวันหนึ่งๆ มากมายเพียงไร ในรายบุคคลก็ดีเป็นพระก็ดี ทั้งประชาชนพระเณรเต็มไปหมด ทั้งจะใช้วิชาที่ลึกลับเข้าไปอีก อย่างที่ญาณหยั่งทราบ แน่ะ สอนพวกที่มองหาร่างไม่เจออย่างนี้สอนยังไง อย่างพวกเทพพวกเปรตพวกผีบางประเภทที่ควรจะรับพระโอวาท ควรจะโปรดได้มีอยู่มากมาย พวกตาบอดก็ปฏิเสธว่าไม่มีๆ อย่างนี้จะว่าไง นี่ละที่ว่าอธรรมมันค้านธรรม เป็นข้าศึกต่อธรรม
แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนโลก สตฺถา เทวมนุสฺสานํ ฟังซิ เทวดามีกี่ชั้นมีกี่ประเภท นับแต่ภุมมเทวดา อากาสาเทวดา รุกขเทวดาขึ้นไปจนกระทั่งถึงพรหมโลก นั่นมากไหม นี้ต้องใช้วิชาของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะเท่านั้น วิชาทั่วๆ ไปอย่างที่เราสอนโลกทั้งหลายนี้พระองค์ไม่ได้นำไปใช้ ธรรมประเภทนี้ไม่ได้นำไปใช้กับพวกสัตว์ประเภทนั้น สตฺต แปลว่าผู้ข้อง จึงเรียกว่าสัตว์ประเภทนั้นประเภทนี้ได้ มีธรรมอีกประเภทหนึ่งต่างหากที่สอนโลกนั้นๆ ภูมินั้น ไม่ได้เป็นธรรมประเภทที่สอนพวกเราทั้งหลายดังที่จดจารึกไว้เต็มคัมภีร์นี้ ยังมากกว่านี้อีก ท่านสอนประเภทที่ลึกลับสลับซับซ้อนด้วยธรรมที่ลึกลับสลับซับซ้อนเช่นเดียวกัน มีจำนวนมากขนาดไหน ฟังซิ นี่ละที่ว่าศาสดาเป็นอย่างนี้แหละ
พวกเราไม่เห็นท่านเห็น พวกเราไม่รู้ท่านรู้ท่านสอน นี่ละวิสัยของใจ หรือเรียกว่าพุทธวิสัย เฉพาะอย่างยิ่งคือพุทธวิสัยหรือวิสัยของพระพุทธเจ้านั้น ต่างกับวิสัยของสาวกและสามัญชนทั่วไปอยู่มากมายทีเดียว ชนิดคาดกันไม่ได้หยั่งกันไม่ถูก เอามาเทียบกันไม่ได้เลย นี่ละ ธรรมที่นำมาสอนโลกมีหลายประเภทอย่างนี้ เราจะไปพูดอะไรเพียง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี้เท่านั้น จะพอกับการสอนสัตว์โลกให้ดีและหลุดพ้นไปโดยลำดับได้อย่างไร ต้องมากมายก่ายกองในบรรดาเครื่องมือที่จะสอนคนให้ดี เช่นเดียวกับเครื่องมือที่จะสร้างตึกรามบ้านช่องใหญ่ๆ โตๆ มีความแน่นหนามั่นคงนั่นแล จะมีมากขนาดไหน เครื่องมือสร้างบ้านสร้างเรือน สร้างตึกรามบ้านช่องอย่างใหญ่โตรโหฐานแน่นหนามั่นคงและกว้างขวาง การสร้างสัตว์โลกให้ดีก็เหมือนกันเช่นนั้น มีหลายประเภทเสียด้วยสัตว์โลก ที่จะทรงสั่งสอนด้วยอรรถด้วยธรรมให้พอเหมาะพอควรกับประเภทนั้นๆ
สอนพวกเรานี้เป็นธรรมะที่มนุษย์ควรจะทราบ ก็สอนด้วยธรรมะของมนุษย์ พวกเทพเป็นชั้นๆ และเป็นภูมิเป็นชั้นเข้าไปอีก ก็เทศน์สอนตามขั้นตามภูมิของพวกเทพนั้นๆ ตลอดถึงเปรตผีอะไรก็แล้วแต่เถอะ มันมีมากต่อมากที่อยู่ในข่ายของพระองค์พอที่จะโปรดได้ ก็ต้องได้นำธรรมเฉพาะเหล่านี้มาสอน เพราะไม่มีใครรู้ จะมีบ้างก็เพียงสาวกบางองค์ซึ่งไม่อาจสอนเลยขอบเขตวิสัยของตนไปได้เหมือนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านั่นเป็นพุทธวิสัย ถ้าเป็นน้ำก็ราวกับว่ามหาสมุทรทะเลที่กว้างแสนกว้างอย่างนั้นเอง ความรู้ของพระองค์จึงควรแก่การสอนโลกได้
เราพูดถึงธรรม ไม่ใช่จะมีแต่เรารู้เราเห็นเราเรียนตามตำรับตำราสวดสังวัธยายจำได้มาปฏิบัติกันนี้เท่านั้น มีมากยิ่งกว่านี้เป็นไหนๆ ที่นี่ในการปฏิบัติทางด้านจิตตภาวนาก็อีกเช่นเดียวกัน ความพิสดารของจิตที่เกิดขึ้นในด้านสมาธินี้ ก็ไม่ค่อยพิสดารอะไรมากนัก แต่ยังไงก็ผิดคนธรรมดาที่จิตไม่เคยเป็นสมาธิอยู่มาก ทั้งๆ ที่ว่ายังไม่มากเท่าไรนั้นแล แต่ก็มากสำหรับคนที่ยังไม่สามารถจะรู้ได้เห็นได้เป็นได้ในสมาธิขั้นๆ นั้น พอก้าวออกทางขั้นปัญญา นั่นละวิจิตรพิสดารเอามากมายก่ายกอง จึงเรียกว่าเกินคาดเกินหมาย แม้ตัวเองผู้ที่รู้ที่เห็นก็ไม่ได้คาดได้หมายเอาไว้ว่าจะรู้จะเห็นอย่างนั้นๆ แต่ก็เห็นประจักษ์ในขณะที่เหมาะสมกับความรู้ หรือฐานะกำลังวังชาแห่งความรู้ความฉลาดของตน ที่ควรจะรู้จะเห็นแล้วปิดไม่อยู่ ต้องรู้ต้องเห็นได้ในธรรมทั้งหลายนั้น
พระพุทธเจ้าท่านทรงรู้ทรงเห็นเป็นยังไงที่นี่ เอามาเทียบกันดูซิ นั่นละกว้างขวางพิสดารอย่างนั้น ไม่ใช่วิสัยของเราธรรมดาๆ ทั่วๆ ไปที่จะมาเทียบมาเคียงมาตัดคะแนนมาให้คะแนนพระพุทธเจ้าได้ เพราะมันเลยภูมิของสัตว์ทั้งหลายไปเสียทั้งสิ้น ขึ้นชื่อว่าภูมิของศาสดาแล้วเป็นเช่นนั้น จึงควรกราบไหว้อย่างยิ่งสำหรับเรา
ธรรมก็เหมือนกัน คำว่าธรรมเพียงเท่านั้นซ่านไปหมดเลย สงฺฆํ แต่ละองค์ๆ มีจิตที่เลิศเลอเหมือนกันอีก นี่ละที่พระพุทธเจ้าทรงสอนสาวกทั้งหลายมาถึงขั้นอรหัตบุคคล ที่ว่าธรรมๆ นั้นละพระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นทรงนำมาสอนโลกได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ให้พอเหมาะสมพอดีกับจริตนิสัยประเภทนั้นๆ ไม่มีคำว่าอัดว่าอั้นที่ศาสดาจะสอนไม่ได้ ทั้งๆ ที่พวกนี้ควรจะรู้จะเห็นได้อยู่ แต่พระองค์ไม่สามารถที่จะสอนให้รู้ให้เห็นได้อย่างนี้ไม่มี นอกจากเป็นประเภท ปทปรมะ เช่นเดียวกับประเภทคนไข้ที่เข้าห้อง ไอ.ซี.ยู. หรือประเภท ไอ.ซี.ยู นั่น หมอไหนยาไหนก็สุดวิสัย สัตว์โลกประเภทนี้ก็เหมือนกันไม่มีทางจะสอนได้ จะว่าสุดวิสัยของพระพุทธเจ้าก็ไม่ใช่ แต่มันสุดวิสัยของเขาที่จะรับต่างหาก
ธรรมนั้นเคยสอนโลกมาให้เลิศให้ประเสริฐ อย่าว่าแต่ดีเลย ให้เลิศให้ประเสริฐมามากต่อมากแล้วสัตว์โลก ตั้งแต่ขั้นที่กิเลสเต็มหัวใจจนกลายเป็นผู้สิ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิง นั้นน่ะผู้เลิศคือผู้เช่นนั้น พระองค์ทรงสอนให้เลิศมามากต่อมากแล้ว แต่พวก ปทปรมะ นี้มันหมดวิสัยของมัน สุดวิสัยของมันที่จะรับได้ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าไม่ทรงสามารถ ธรรมนี้สามารถอยู่แล้ว เคยสอนโลกมามากต่อมากแล้วทำไมจะไม่สามารถ นอกจากสัตว์เหล่านั้นมันหมดทางที่จะรับเพราะหูหนวกตาบอด ทั้งๆ ที่หูดีตาดีแต่เพราะความเชื่อบุญเชื่อบาปไม่มีในหัวใจ จึงไม่มีแก่ใจที่จะปฏิบัติและไม่มีแก่ใจที่จะเชื่อถือในธรรมทั้งหลาย ที่โลกทั้งหลายเขาเชื่อถือกันและผ่านพ้นไปได้ เพราะอำนาจแห่งธรรมนี้มากขนาดไหน ผู้ที่จะแหวกออกจากตาข่ายแห่งธรรมทั้งหลายก็แหวกไปได้อย่างนั้นแหละ ท่านจึงเรียกว่าผู้หนาผู้บาง โลกมันต่างกันอย่างนี้
เพียงพวกเราๆ ท่านๆ ก็ลองดูซิ ปฏิบัติให้จิตใจได้เป็นไปตามภูมิอรรถภูมิธรรมดังพระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว สิ่งที่จะควรรู้ควรเห็นตามวิสัยของตนจะปิดบังลี้ลับที่ไหน เพราะสิ่งเหล่านั้นมีอยู่แล้วๆ เป็นแต่เพียงว่าเราไม่สามารถที่จะรู้จะเห็นได้ตามสิ่งที่มีอยู่ทั้งหลายนั้นเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งเหล่านั้นไม่มีเราจึงไม่เห็น มีตามความจริงของมันทุกสิ่งทุกอย่าง มีอยู่ตามสภาพของมัน อันไหนที่อยู่ในวิสัยของเราพอที่จะรู้ได้ เราก็พอรู้ได้ๆๆ ดังที่เราได้รู้ได้เห็นทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายนี้ แต่ทางใจนี่พิสดารมาก เราก็รู้ได้แค่วิสัยของเราพอรู้ได้ทางใจนี้เท่านั้น นอกจากนั้นแล้วไม่รู้ นั่น
ส่วนใจที่กลั่นกรองด้วยดีและกลั่นกรองดีและเต็มภูมินิสัยวาสนาของตนแล้ว ต้องรู้ รู้ตามภูมิแห่งนิสัยวาสนาของตน ภูมิของพระพุทธเจ้านั้นยกไว้เสีย เรียกว่าพุทธวิสัย อันนั้นไม่มีอะไรจะไปเทียบได้เลย ถ้าน้ำก็พอเทียบได้แต่เพียงว่าเป็นมหาสมุทรเท่านั้นเอง กว้างแคบขนาดไหนนั่นดูเอามหาสมุทร อันนี้เราเพียงเทียบนะ มันยังมีฝั่งมหาสมุทรนี่น่ะ กว้างขนาดไหนมันก็ไม่พ้นฝั่ง ถึงจะมองหาฝั่งโน้นไม่เจอ แต่ฝั่งที่เรายืนอยู่นี้มันก็มี แน่ะ มันก็เจอจนได้ ส่วนความรู้ของพระพุทธเจ้านี้ไม่มีสิ่งใดผู้ใดจะมาวัดมาเทียบความสั้นความยาว ความกว้างความลึก ละเอียดแหลมคมได้เลย นี่จึงว่าพุทธวิสัย
ความรู้ประเภทนี้แหละสามารถที่จะรู้ในสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่เป็นอยู่ ไม่ว่าส่วนหยาบส่วนกลางส่วนละเอียดได้อย่างเต็มพระทัยไม่สงสัย แต่การนำมาสอนโลกนั้นจะทรงสอนเฉพาะสิ่งที่อยู่ในวิสัยของโลกจะพอรู้ได้เห็นได้ สิ่งนอกนั้นก็ไม่จำเป็น ทรงรู้ทรงเห็นแล้วก็ปล่อยไปผ่านไปๆ เท่านั้น เว้นแต่อันใดที่จะเป็นประโยชน์แก่สัตว์โลก เฉพาะอย่างยิ่งที่สัตว์โลกสัมผัสสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา หมุนไปเวียนมาเกิดแก่เจ็บตาย เป็นเรือนอยู่เรือนนอนเรือนตายเรือนเป็นนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนในสิ่งนี้ที่อยู่ในวิสัยของสัตว์ที่จะเป็นไปได้ในแง่นี้ เช่น สอนว่านรกอย่างนี้ เพราะสัตว์ตัวใดที่จะไม่ตกนรกมีที่ไหน นั่นฟังซิ มันสัมผัสสัมพันธ์พัวพันกันอยู่ หรือเผามนุษย์และสัตว์ทั้งหลายอยู่สักเท่าไรแล้ว จิตแต่ละดวงๆ นั้นมันไปตกนรกไม่รู้กี่ครั้งกี่หน เราอย่าไปคิดอย่างอื่น เอาอย่างนี้
นี้ละที่พระพุทธเจ้าทรงสอนๆ สิ่งที่คลุกคลีกันอยู่นี้ พัวพันกันอยู่ตลอดเวลาในภพในชาติหนึ่งๆ พ้นจากสิ่งเหล่านี้ไปไม่ได้ นรก เอ้ากี่หลุมก็บอกไปหมด เพราะสัตว์ไปตกเสียทุกหลุม นรกหลุมไหนที่ว่างจากสัตว์โลก สัตว์โลกไม่ไปตก นรกนั้นร้างเหมือนบ้านร้างไม่มีคนอย่างนี้มีที่ไหน ฟังซิ มีแต่สัตว์โลกไปตกจนได้ๆ ตามขั้นภูมิหรือตามความหนักเบาแห่งโทษแห่งกรรมของตนเอง ไปตามเรื่องของมันอย่างนั้น ตกอยู่อย่างนั้น ตกอยู่อย่างนั้น กี่หลุมท่านก็อธิบายไว้หมด ท่านอธิบายอย่างละเอียดในมหาวิบาก นั่นละเอียดมากทีเดียว นรกมีกี่หลุมๆ หลุมหนึ่งเป็นยังไง หลุมที่ว่าหนักที่สุดเป็นยังไงและถัดกันขึ้นมาๆ เป็นลำดับลำดา นี่ใครเป็นคนสอน ไม่รู้สอนได้ยังไงสอนอย่างนั้น นี่ก็คือพระพุทธเจ้าทรงสอนเพราะทรงรู้ทรงเห็น
อย่าว่าแต่เห็นนรกนี้เลย ยังเห็นสัตว์ทั้งหลายที่ไปตกนรกแต่ละหลุมๆ นั้นเต็มไปหมด ไม่มีความว่างจากสัตว์เลย ในเมื่อมีความจำเป็นอยู่อย่างนี้กับสัตว์โลก จึงต้องได้สอนให้รู้โทษแห่งบาปแห่งกรรมที่เป็นทางก้าวเข้าสู่นรกนั้น แล้วสอนบาปมี บาปนี่ละเป็นเครื่องผลักเครื่องดันให้ลงไปตกนรกได้ บุญมี บุญเป็นเครื่องหนุนให้ไปสู่ความดีคติอันเหมาะสมจนกระทั่งถึงความหลุดพ้น พ้นจากบุญนี้ไปไม่ได้ นี่สิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน อย่างนี้ต่างหากนะ ไม่ใช่จะเอามาสอนสุ่มสี่สุ่มห้า สอนให้พอเหมาะพอดีกับจริตนิสัยของสัตว์ความรู้ของสัตว์ ที่พอจะเป็นไปได้ในแง่ไหนก็ทรงสอน
เช่น บาปมี บาปเผามนุษย์เผาสัตว์โลกอยู่เต็มโลกธาตุอันนี้ ได้ว่างจากบาปเมื่อไร สัตว์โลกนี้อยู่ด้วยบุญด้วยบาปนี้ทั้งนั้น เผาผลาญกันอยู่ถ้าเป็นฝ่ายชั่ว ฝ่ายดีก็หนุนกันไปหนุนกันมาสับปนกันอยู่อย่างนี้ เพราะดีก็ทำชั่วก็ทำ สุขก็ได้รับทุกข์ก็ได้รับ มันสัมผัสสัมพันธ์อยู่ในสัตว์แต่ละรายๆ นี้ว่างเมื่อไร จึงจำเป็นที่พระองค์จะต้องสอนว่าบาปมีให้กลัว บาปนี้แลพาผลักลงไปนรก ถึงเป็นนรกแล้ว ร้อนก็เพราะอำนาจแห่งบาปอีก วิบากนั่นน่ะ มันหลายขั้นหลายภูมิหลายตอน เอ้า บุญ บอก นรกกี่หลุมก็บอกหมดเพราะเป็นภัยสัตว์ บอกวิธีละวิธีเว้นหลีกเลี่ยงจากนรกนี้ หลีกเลี่ยงยังไง คืออย่าทำบาป แน่ะท่านก็สอน บาปประเภทไหนควรจะเป็นไปยังไงให้รับทุกข์ทรมานมากน้อยเพียงไร สอนไปทุกแง่ทุกมุม ไม่มีใครละเอียดเกินพระพุทธเจ้าสอนโลกแหละ
พูดถึงเรื่องสวรรค์ก็เหมือนกัน ตั้งแต่สวรรค์ ๖ ชั้นจนกระทั่งถึงพรหมโลก นี่เป็นที่อยู่ของผู้มีความดีเป็นขั้นๆ ขึ้นไป จนกระทั่งถึงพรหมโลก ๕ ชั้น อันนั้นถึงขั้นของพระอนาคามี ผู้ควรที่จะก้าวเข้าไปข้างหน้าไม่ถอยหลังกลับมาอีกแล้ว ก็ก้าวเข้าไปสู่ภูมิ ๕ คืออะไร พรหมโลก ๕ ชั้น ท่านเรียกว่า สุทธาวาส ถ้าแปลออกก็ว่าที่อยู่แห่งผู้บริสุทธิ์ คำว่าบริสุทธิ์ในที่นี่ไม่ได้หมายถึงว่าสิ้นกิเลสแล้ว คือผู้นี้จะเป็นผู้ที่ก้าวเข้าสู่ความบริสุทธิ์โดยถ่ายเดียวเท่านั้น ยังไงก็ไม่กลับมาอีก มีอยู่ ๕ ชั้น ได้แก่ อวิหา เป็นระดับของพระอนาคามีชั้นต่ำสุด ถ้าเป็นสอบก็ตั้งแต่ ๕๐% ให้ถือว่าได้อย่างนี้ ก็นี้ละคือระดับบรรจุพระอนาคามีขั้น ๕๐% คืออวิหา อตัปปาก็เปอร์เซ็นต์สูงขึ้นไป สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา นี่ ๕ ชั้น เมื่อก้าวเข้าสู่อวิหานี้แล้วในขั้นที่เทียบกับว่า ๕๐% นี้แล้ว ธรรมชาติอันนั้นจะค่อยเป็นไปในตัวเอง เหมือนผลไม้ที่แก่แล้วมีแต่จะสุกโดยถ่ายเดียว ก้าวเข้าสู่ความสุก อันนี้ก็ก้าวเข้าไปๆ จาก ๕๐ ที่ได้ระดับนี้แล้วก็ก้าวขึ้น ๖๐,๗๐ ไปเรื่อย แล้วก็ขึ้น อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา เรื่อยขึ้นไปไม่มีคำว่าถอยหลังกลับลงมา นี่เป็นหลักธรรมชาติแห่งธรรมขั้นนี้ จึงเรียกว่าธรรมเป็นเอง ค่อยแก่กล้าไปเองอย่างนี้
ถ้าจะเทียบกับหลักปฏิบัติของผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ก็คือหลักของปัญญาที่ก้าวเดินแล้ว อยู่ในขั้นภาวนามยปัญญา พูดง่ายๆ ขั้นนี้เป็นขั้นที่จะก้าวไปโดยลำดับลำดาไม่มีคำว่าถอย ถ้าจิตลงได้ก้าวเข้าสู่ภาวนามยปัญญาแล้ว ท่านเหล่านี้แหละเมื่อตายไปยังไม่สิ้นสุดตามความต้องการหรือตามความมุ่งหมายนี้ ก็ไปพรหมโลก ๕ ชั้นนั้นที่เรียกว่าสุทธาวาส แล้วก็เป็นไปในตัวเองอีกเช่นเดียวกันกับที่อยู่ในขันธ์อันนี้ธาตุอันนี้ คือภาวนามยปัญญา หากเป็นเรื่องของตัวเอง หมุนไปในตัวอยู่ในนั้น
อันคำว่าหมุนๆ นี่มันพูดยากนะ ก็เหมือนผลไม้ที่แก่อยู่ในตัวเองนั้นแหละ เอาอันนี้เทียบพอเทียบได้ เมื่อแก่แล้วก็ค่อยแก่เข้าไปๆ ไม่มีที่จะถอยมาอีก และไม่เน่าไม่เฟะ จะเป็นไปเพื่อสุกโดยถ่ายเดียวเท่านั้น นี่ ๕ ชั้นนี้ไม่กลับ นอกจากนั้นยังมีกลับ เช่น อายุ ๗ หมื่นปี ๘ หมื่นปีในพรหมโลก กลับมาเกิดอีกได้ถ้ายังไม่ได้มีธรรมะอันสำคัญเข้าเป็นอุปนิสัย สามารถที่จะบรรลุธรรมท่านเรียกว่าอุปนิสัยเข้าฝังใจ เมื่อเข้าแล้วก็แน่ เช่นอย่างพระโสดาอย่างนี้ อันนี้แน่ละ โสตะ แปลว่ากระแส กระแสแห่งพระนิพพานหรือกระแสแห่งความพ้นทุกข์พาดพิงถึงใจนี้แล้ว นี่ละอุปนิสัยแน่แล้ว
ผู้ที่ยังไม่สำเร็จพระโสดามีอุปนิสัยถึงขั้นพระอรหันต์ก็มีมากมายก่ายกอง เราอย่าเข้าใจว่าเพียงขั้นภูมิพระโสดานี้ จะเป็นเจ้าของแห่งอุปนิสัยแต่ผู้เดียวหรือแต่อย่างเดียวไม่ได้ ผู้ท่านเหล่านั้นยังไม่ได้จัดว่าสำเร็จในขั้นใดแห่งธรรมก็จริง แต่ภูมินั้นสามารถที่จะบรรลุธรรมถึงขั้นสุดยอดได้ มีเช่นเดียวกับผู้เป็นพระโสดาที่จะค่อยขยับขึ้นไปๆ นี้แล นี่เป็นภูมิของสัตว์โลกที่จะต้องไปเกิด
จิตวิญญาณของสัตว์โลกทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่วจะเป็นไปอยู่อย่างนี้ สับปนกันอยู่ตลอดเวลาทุกภพทุกชาติ ตรงไหนแง่ใดในสามแดนโลกธาตุนี้ว่างจากความเกิดของสัตว์ไม่มีเลย เกิดได้ทุกแง่ทุกมุมตามอำนาจแห่งกรรม ท่านจึงได้สอนในสามภพนี้ที่เหมาะกับผู้ที่จะรับประโยชน์จากการฟังหรือด้วยการฟังจากพระพุทธเจ้า ก็ทรงสอนอยู่ในแง่นี้ภูมินี้ อันใดที่ไม่ใช่วิสัยของสัตว์โลกเหล่านี้จะรู้จะเห็นจะเป็นประโยชน์แก่ตน พระองค์ก็ไม่นำมาสอน ถึงจะรู้เต็มพระทัยก็ไม่นำมาสอน ยกไว้เป็นประเภทๆ นี่ละธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นเป็นยังไง กว้างขนาดไหนลึกซึ้งขนาดไหน ที่แยกออกมาสั่งสอนสัตว์โลกนี้เป็นประเภทหนึ่งแห่งธรรมๆ จนกระทั่งถึงอรหัตภูมิถึงนิพพาน นี่เรียกว่าธรรมเพื่อก้าวเดินเพื่อความพ้นทุกข์
ธรรมที่เห็นอยู่รู้อยู่ ตามหลักธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่เป็นอยู่นั้นเป็นอันหนึ่ง เช่นอย่างรู้นรกเห็นนรก รู้สวรรค์เห็นสวรรค์ รู้บาปรู้บุญ เห็นบาปเห็นบุญ ตลอดถึงสัตว์โลกเป็นยังไง ๆ ได้เสวยกรรมเพราะเหตุผลกลไกอะไรนี้ทรงรู้ๆ อยู่อย่างนั้น อันนี้ไม่ทรงแก้ เป็นแต่เพียงว่าทราบไปตามธรรมดา เหมือนอย่าง จุตูปปาตญาณ ทรงทราบความเคลื่อนไหวความเกิดความตายของสัตว์โลก โดยไม่มีวิญญาณดวงใดที่จะอยู่เป็นอิสระได้ มีแต่การเวียนว่ายตายเกิดถูกซัดไปโน้นซัดไปนี้ เพราะกรรมนั่นแหละซัดไปให้สูงๆ ต่ำๆ ลุ่มๆ ดอนๆ อยู่อย่างนี้ พระองค์ก็สอนตามภูมิเหล่านี้ให้ได้รู้
ทีนี้ใครที่จะสามารถสอนได้อย่างพระพุทธเจ้า นี่ทรงรู้แล้วเห็นแล้วจึงมาสอนโลก พระองค์สอนในสิ่งที่อยู่ในวิสัย เรียกว่าฐานะที่ควรเป็นไปได้ก็สอน ไม่ใช่สอนในสิ่งที่เป็นอฐานะคือเป็นไปไม่ได้ก็สอนอย่างนี้ ที่ไม่ใช่เกี่ยวข้องกับสัตว์โลกที่จะไปเกี่ยวข้องนี้ก็ไปสอนเสียหมด ภูมิของพระพุทธเจ้ามีมากขนาดไหน นำมาประกาศสอนโลกหมดได้ยังไง ไม่ได้ พระองค์ทรงรู้ทั้งฐานะทั้งอฐานะ คือสิ่งที่เป็นไปได้และไม่เป็นไปได้ ทั้งๆ ที่รู้ด้วยกันหมดทั้งสองอย่างนี้ พระองค์ก็จะแยกออกมาสอนเพียงสิ่งที่พอรู้พอเห็นเท่านั้น สัตว์โลกจะรู้ได้เห็นได้ทำประโยชน์ได้ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน หากเป็นประโยชน์แก่สัตว์โลกได้อย่างนั้นจึงทรงสอน นี่ละภูมิของศาสดาเราฟังซิ
ออกมาจากไหนที่ว่านี้ ก็ออกมาจากภาคปฏิบัติเฉพาะอย่างยิ่งจิตตภาวนาเป็นสำคัญ บุญทั้งหลายเหล่านั้นเหมือนกับแม่น้ำที่ไหลมาจากสายต่างๆ รวมตัวกันมาสู่ทำนบใหญ่คือจิตตภาวนานั้นเป็นที่เก็บน้ำ เป็นที่รวมแห่งบุญทั้งหลาย ไม่ว่าจะออกมาทางด้านทานด้านศีลด้านภาวนามากน้อยเพียงไร จำได้จำไม่ได้ไม่สำคัญ สำคัญที่ต้องรวมลงไปๆ ทำนั้นแล้วต้องเป็นอันทำ บุญต้องเป็นบุญ บาปต้องเป็นบาป นี่ละที่ว่ารวมลงไปๆ พอเข้าถึงขั้นจิตตภาวนาแล้วเป็นที่รวมของกุศลทั้งหลาย
จากนั้นความรู้นี้จะเป็นความรู้ที่ละเอียดเข้าไปอีก ยังจาระไนความดีทั้งหลายของตัวเองออกไปอีก ให้เห็นชัดเจนลงไปจนถึงขั้นที่ว่าจะไม่กลับก็รู้ภายในจิตใจ อำนาจแห่งความดีทั้งหลายหนุนเข้าไปๆ จนทราบชัดทั้งๆ ที่กิเลสยังมีอยู่ในหัวใจ ก็ทราบชัดว่านี่ถึงขั้นไม่กลับแล้วก็รู้ คือไม่ต้องกลับมาเกิดอีก เช่นอย่างพระอนาคามีนี้ท่านไม่มาเกิด และท่านก็รู้ท่านด้วยว่าท่านไม่กลับ นั่นละธรรมะ สนฺทิฏฺฐิโก พระองค์สอนให้เป็นฐานะคือสิ่งที่เป็นไปได้รู้ได้เห็นได้จริงๆ ในเจ้าของ พระองค์ก็สอนอย่างนั้น
ผู้ที่ยังไม่หลุดพ้นแต่ว่ายังไงก็จะหลุดพ้นโดยถ่ายเดียวเท่านั้น นี่เรียกว่าผู้จะไม่กลับ ผู้นั้นก็รู้ตัวเองว่าไม่กลับ นั่น นี่ขั้นของกุศลที่ฉลาดแหลมคมเข้าไปโดยลำดับลำดา คำว่ากุศลๆ แปลว่าอะไร แปลว่าความฉลาด ก็ได้แก่ปัญญา ขั้นของปัญญามีความละเอียดแหลมคมไปโดยลำดับลำดา จนกระทั่งทราบเรื่องของตัวเองชัดเจนว่า นี่ถึงขั้นที่จะไม่ต้องกลับมาเกิดอีกแล้ว แต่ว่ายังมีเชื้ออยู่ ที่จะต้องตกค้างอยู่ในภูมิใดภูมิหนึ่ง รู้อยู่ภายในจิตใจ ท่านจึงแก้เข้าไปๆ ชำระเข้าไปจนกระทั่งหมดโดยสิ้นเชิง ไม่มีอะไรเหลือภายในจิตใจแล้ว นั่นไม่ต้องถามหาพระนิพพาน ท่านก็รู้แล้วที่นี่ มันสิ้นกิเลสแล้วไปถามหาอะไร หายสงสัย ที่นี่ไม่ต้องมาเกิดอีกและไม่ต้องไปที่ไหนอีกแล้ว ถึงขั้นพอตัวเต็มที่ก็รู้ นี่ละอำนาจแห่งกุศล
ธรรมเหล่านี้ใครเป็นคนสอนได้มีไหม ในโลกธาตุนี้มีใครสอนได้ไหม เป็นพระองค์แรกก็คือพระพุทธเจ้าเท่านั้นเป็นผู้สอนได้ เป็นผู้ค้นคว้าหาเจอได้ พูดง่ายๆ ค้นคว้าได้เจอได้ก็คือพระพุทธเจ้าเท่านั้น จากนั้นก็นำอุบายวิธีการที่ทรงได้ค้นได้พบได้เห็นประการใดบ้างมาสั่งสอนสัตว์โลก เช่น พวกสาวกทั้งหลายนี่ ในปัจจุบันศาสนาของเรานี้ก็คือพวกเบญจวัคคีย์ทั้งห้า มีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นต้น นี่มาสอนตรงนี้ วิธีการยังไงท่านก็สอน ขึ้นเบื้องต้นก็ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเลย แต่จะไม่อธิบายถึง จากนั้นก็อธิบายถึงธรรมที่ละเอียดเข้าไปอีกคือไตรลักษณ์ ในอนัตตลักขณสูตรนั่น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อยู่ในนั้นหมด นี่ละถึงขั้นที่จะปล่อยวางจริงๆ ลงตรงนี้
อริยสัจ ๔ นี้ เป็นที่รวมทั้งหมดของ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ปัญญาขั้นละเอียดแล้วทำไมจะไม่ทราบเรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ล่ะ ทราบหมดทุกอย่างเลย นี่ละจึงเรียกว่าโรงงานอันสำคัญที่ผลิตความบริสุทธิ์ไม่ว่าของใคร นับแต่ของพระพุทธเจ้ามาจนกระทั่งถึงสาวกองค์สุดท้ายคืออริยสัจนี้แล เป็นสถานที่หรือเป็นโรงงานที่ผลิตความบริสุทธิ์แห่งใจขึ้นมา ขึ้นมาจากที่นี่ปราศจากไม่ได้
อริยสัจจึงเป็นธรรมจำเป็น เป็นรากเหง้าเค้ามูลของพระพุทธศาสนาของเราโดยแท้ เพราะฉะนั้นผู้ที่ปฏิบัติตนให้สมบูรณ์ในอริยสัจ ๔ นี้แล้วจึงไม่สงสัยพระพุทธเจ้า ไม่สงสัยความหลุดพ้นของตน และไม่สงสัยในธรรมโดยประการทั้งปวง รู้หมดตลอดทั่วถึง พระพุทธเจ้ามีกี่พระองค์ไม่สงสัยๆ เพราะธรรมชาตินี้ประกาศกังวานอยู่ให้กว้างขวางออกไปไม่มีที่สิ้นสุด ผู้บำเพ็ญตามอริยสัจนี้ให้สมบูรณ์แล้วจะต้องเป็นอย่างนี้ๆ ด้วยกันทั้งนั้น นี่ละที่ว่าศาสดาองค์เอกออกมาจากนี้ ท่านจึงได้ประกาศธรรมนี้กังวานแก่พระเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เป็นปฐมฤกษ์ทีเดียว เห็นไหมธรรมพระพุทธเจ้าท่านทรงสั่งสอนเป็นอย่างนั้นแหละ
ธรรมที่กล่าวมาเวลานี้นั้นสุดกู่แล้วเหรอ ธรรมเหล่านี้ข้ามไปหลายทวีปแล้วเหรอ เราเอื้อมไม่ถึงแล้วเหรอหรือเป็นยังไง ทุกข์อยู่ที่ไหนเวลานี้ เราปฏิบัติธรรมเพื่อรู้จริงเห็นจริงในธรรมทั้งหลาย ทุกข์เป็นอะไร ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ใช่ไหม นี่ก็คืออริยสัจ สมุทัย อริยสจฺจํ ใช่ไหม กังวานอยู่ในกายในใจของเรานี้ ไกลไหมสุดกู่ไหม อยู่ที่ไหนเวลานี้ แล้วก็ มคฺค อริยสจฺจํ คืออะไร ท่านบอกว่า สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป จนกระทั่งถึง สมฺมาสมาธิ นี่คือเครื่องมือสังหารตัวสำคัญคือสมุทัยให้พินาศฉิบหายไป แล้วปรากฏเป็นนิโรธคือความดับทุกข์ขึ้นมา เพราะสมุทัยฉิบหายไปหมดแล้วใครจะผลิตทุกข์ขึ้นมาอีก มันก็ดับไปโดยหลักธรรมชาติของมันเอง ในขณะที่สมุทัยนั้นดับไปนี่ท่านเรียกว่านิโรธ นั่นละเอียดไหมพระพุทธเจ้า
อาการแห่งความดับทุกข์ก็แสดงให้รู้ว่านี้อาการอันหนึ่ง มีอยู่ ๔ ด้วยกัน ทุกข์นี่เป็นผลที่เกิดขึ้นมาจากสมุทัย นิโรธเป็นผลที่เกิดขึ้นมาจากมรรคเครื่องฆ่าหรือสังหารกิเลส เมื่อสังหารกิเลสคือสมุทัยให้เสร็จสิ้นลงไปโดยสิ้นเชิงแล้ว ก็ดับทุกข์ไปโดยสิ้นเชิงไม่มีอะไรเหลือ ผู้ที่รู้ว่าทุกข์ดับนั่นคืออะไร นั่นไม่ใช่อริยสัจ นั่นละพุทธะแท้ พระพุทธเจ้าเป็นตรงนั้น อันนั้นละเป็นพระพุทธเจ้าแท้ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นเพียงกิริยาหรือเป็นโรงงานผลิตความบริสุทธิ์ขึ้นมาเท่านั้น นั่นทำไมจะไม่รู้
เวลานี้ธรรมเหล่านี้อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่กายที่ใจของเรา สรุปลงไปแล้วอยู่ที่ใจ คนตายแล้วไม่มีทุกข์หรอก คนเป็นมีหัวใจอยู่นั่นละมันเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นมันจึงเกี่ยวโยงกันทั้งกายทั้งใจเป็นทุกข์ ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ นี้ก็เป็นอริยสัจ แน่ะ แล้วย่นเข้าไปๆ มันก็เข้าไปหาจิตนั่นแหละ เข้าไปบีบหัวใจบีบจิตนั่นแหละ พิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ดูสิ่งใดๆ ว่าเป็นทุกข์จริงๆ มันไม่มีๆ เวลาไล่เข้าไปจริงๆ แล้ว ทีแรกก็ต้องมีอยู่ในกายนี้เสียก่อน เมื่อเข้าถึงขั้นละเอียดๆ เข้าไปแล้ว ไล่เข้าไปจนกระทั่งถึงจิต มีอยู่ในจิตทั้งหมด ไม่ได้มีอยู่ในสิ่งเหล่านี้ เมื่อไล่เข้าไปถึงจิตแล้ว นั่นละฆ่ากิเลสฆ่ากันตรงนั้น ความสำคัญมั่นหมายก็คือจิต กิเลสอยู่ในจิตมันสำคัญมั่นหมายออกมาจากนั้น ฆ่าเข้าไปตรงนั้น แก้เข้าไปตรงนั้นๆ จนกระทั่งความสำคัญมั่นหมายใดๆ หมด
เชื้อแห่งความสำคัญที่เรียกว่าอวิชชาก็หมดไปไม่มีสิ่งใดเหลือแล้ว เอา ที่นี่หลงอะไรว่าซี ติดอะไรที่นี่ ผู้นั่นผู้รู้แล้ว นั่นละที่ว่าได้หลุดพ้นแล้ว เมื่อมรรคทำงานโดยสมบูรณ์เต็มที่แล้วดับทุกข์โดยสิ้นเชิงไม่มีสิ่งใดเหลือแล้ว เรียกว่าทำงานในสัจธรรมโดยสมบูรณ์แล้ว ปรากฏเป็นความบริสุทธิ์ขึ้นมาในขณะนั้น นี่ละผู้เป็นพุทธะก็คือผู้นี้ เป็นองค์ศาสดาที่ว่าก็คือผู้นี้ พระสรีระเหล่านี้เป็นเรือนร่างของศาสดา ศาสดาแท้คือจิต ผู้บริสุทธิ์แท้คือจิต สาวกก็เหมือนกันอันเดียวกัน แน่ะ แล้วจะสงสัยกันที่ไหน นี่ละพระพุทธเจ้าสอนจริงหรือไม่จริง
เอ้า พิจารณาลงไปซิในสัจธรรมทั้ง ๔ นี้ สถานที่ที่ผลิตความบริสุทธิ์ขึ้นมาคือสถานที่นี่เอง ศาสนาจึงว่าเอก ให้เห็นในตัวเองเสียก่อนเถอะ เมื่อเห็นแล้วมันยอมรับเองว่าพระพุทธเจ้าเอก เอกขึ้นมาจากสถานที่ใด เอกด้วยวิธีใด รู้ทั้งวิธี รู้ทั้งสถานที่ที่ทำให้เป็นเอกเป็นเลิศ รู้ขึ้นมาที่นี่
วันนี้ได้กล่าวธรรมหลายประเภท ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมที่เหมาะที่ควรแก่สัตว์โลก จึงสอนลงที่จุดนี้ ผู้ต้องการความหลุดพ้นโดยถ่ายเดียวจะไม่หนีจากนี้เลย การสอนจะย้ำลงในอริยสัจ ๔ ผู้ที่อุปนิสัยกำลังเป็นไปอยู่ ยังสร้างวาสนาบารมีอยู่ ยังไม่ถึงขั้นที่ควรจะเป็นไปนี้ คุณงามความดีทั้งหลายก็สอนไว้หมด นี่จะว่ายังไงอีก ให้ทาน รักษาศีล ภาวนาก็เป็นไปด้วยกันแล้ว แต่เมื่อถึงขั้นที่ควรจะเอาจริงเอาจังแล้วมีแต่ภาวนาล้วนๆ อย่างเช่นสอนพระ นั่นเห็นไหม ไล่เข้าป่าเข้าเขา ให้ไปภาวนาอยู่ในป่าในเขา เป็นยังไง พระพุทธเจ้าอยู่ในป่าท่านเป็นยังไง เราเข้าอยู่ในป่าเป็นยังไง พระองค์ประกอบความเพียรอยู่ในป่าเป็นยังไง เราประกอบความเพียรอยู่ในป่าเป็นยังไง
เอาละหยุดแค่นี้ พวกนี้ทำเหตุเสียแล้ว