หลักเกณฑ์เป็นอย่างไร
วันที่ 19 เมษายน 2530 เวลา 19:00 น. ความยาว 119 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๐

หลักเกณฑ์เป็นอย่างไร

การปฏิบัติที่มีครูมีอาจารย์แนะนำสั่งสอน เป็นความสะดวกสำหรับผู้ปฏิบัติอยู่มากทีเดียว ผิดกับไม่มีครูมีอาจารย์ที่แนะนำโดยถูกทาง ทั้งภายนอกคือหลักธรรมหลักวินัย ทั้งภายในคือจิตตภาวนา เฉพาะจิตตภาวนานั้นเป็นสำคัญมาก เบื้องต้นที่เราเริ่มฝึกหัดก็ไม่เห็นมีอะไรสำคัญ เพราะไม่ได้หลักได้เกณฑ์พอที่จะเทียบจะเคียงว่าอันใดผิดอันใดถูก จึงไม่ทราบว่าหลักเกณฑ์เป็นอย่างไร จิตใจก็เร่ ๆ ร่อน ๆ ฉวยนั้นฉวยนี้มาภาวนาไม่ได้หลักได้เกณฑ์

เดี๋ยวภาวนาบทหนึ่ง เดี๋ยวภาวนาบาทหนึ่ง แต่ไม่จริงไม่จังกับบทใดบาทใด พอที่จะให้เกิดผลเป็นความสงบขึ้นมาภายในใจ อย่างนี้ก็ยังไม่เห็นเป็นสำคัญสำหรับครูอาจารย์ทั้งหลายผู้ให้การแนะนำสั่งสอน เพราะจิตไม่จริงไม่จัง จิตเหลาะ ๆ แหละ ๆ จะไปก็ไม่เชิงจะอยู่ก็ไม่ใช่ ดิ้นรนกวัดแกว่งอยู่อย่างนั้น จะไปที่ไหนก็ไม่ไป วก ๆ เวียน ๆ สะเทินน้ำสะเทินบก ถือเอาหลักเกณฑ์อย่างใดก็ไม่ได้ อย่างนี้อะไรก็ไม่สำคัญ ครูบาอาจารย์ก็ไม่สำคัญ ธรรมท่านว่าเลิศท่านว่าประเสริฐก็ไม่สำคัญในหัวใจเรา

แต่ผู้มีความมุ่งมั่นต่อหลักธรรมหลักวินัยจริง ๆ และต่อมรรคผลนิพพานจริง ๆ นั่นเริ่มเห็นครูเห็นอาจารย์ เห็นการประพฤติปฏิบัติเป็นของสำคัญภายในจิตใจ แม้จะยังยึดหลักไม่ได้ ก็ถือครูถืออาจารย์ ถือธรรมถือวินัย ตลอดถึงมรรคผลนิพพานเป็นสำคัญ เป็นพื้นเพของจิต จิตของผู้มีธรรมเหล่านี้เป็นพื้นเพอยู่แล้ว ย่อมไม่ผิดพลาดได้อย่างง่ายดายโดยทางเจตนา แม้แต่จะผิดพลาดอย่างอื่นโดยไม่มีเจตนา ก็ไม่ค่อยผิดพลาด เพราะความระมัดระวัง หิริโอตตัปปะ มีประจำใจ กลัวจะผิดทาง นี่ละผู้ปฏิบัติเป็นเช่นนั้น

เราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้มีความมุ่งหมายอย่างใดเป็นหลักใจ มันถึงได้ผิด ๆ พลาด ๆ อยู่เสมอมา ทั้ง ๆ ที่ครูอาจารย์ก็พยายามแนะนำสั่งสอน เฉพาะอย่างยิ่งที่ผมรับหมู่คณะไว้เพื่อการอบรมสั่งสอน ผมสั่งสอนด้วยความตั้งอกตั้งใจ ด้วยความมีแก่ใจจริง ๆ เป็นห่วงหมู่เพื่อน นี่เป็นพื้นอยู่ภายในจิตใจไม่เคยลดละ แม้จะไปอยู่ในสถานที่ใดด้วยความจำเป็น เช่นไปรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ก็อดเป็นห่วงหมู่เพื่อนไม่ได้ในการประพฤติปฏิบัติโดยเฉพาะ

และนอกจากนั้นยังเกี่ยวกับหมู่เพื่อนที่อยู่ร่วมกันอีก กลัวจะผิดจะพลาด กลัวจะทะเลาะเบาะแว้ง เพราะสิ่งที่จะทำให้เป็นเช่นนั้นมันอยู่ปากคอก อยู่กับความคิดที่แสดงออกได้อย่างง่ายดาย และสติปัญญาที่จะตามทันสิ่งเหล่านี้นอนไม่ตื่นนั่นซิ จึงทำให้เป็นห่วง แม้แต่อยู่ด้วยกันแท้ ๆ ก็ยังเห็นอยู่เป็นประจำ ออกจากหมู่จากเพื่อนหรือลับหูลับตาไปแล้วเป็นอย่างไร ไม่มีอย่างหยาบก็ต้องมีอย่างละเอียดให้เกิดความนอนใจอยู่นั้นแล

นี่เรามุ่งมาประพฤติปฏิบัติเพื่ออรรถเพื่อธรรมภายในจิตใจจริง ๆ เป็นอย่างไรบ้างใจ สงบไหม เย็นไหม ถ้าใจไม่สงบก็หาที่ร่มเย็นไม่ได้ หาที่เกาะที่ยึดไม่ได้ ไม่มีหลักใจเลย อยู่ไปวันหนึ่งคืนหนึ่งด้วยความรุ่มร้อนวุ่นวาย เหมือนดังฆราวาสเขาที่ไม่เคยได้ประพฤติปฏิบัติอรรถธรรมอย่างใดเลย เช่นนั้นก็ไม่สมควรแก่ผู้ปฏิบัติเรา

วิธีการของพระพุทธเจ้าที่ทรงดำเนินและทรงสั่งสอนมาโดยลำดับ เป็นวิธีการที่ถูกต้องแม่นยำมาแล้วทั้งนั้น ผู้มีความจริงใจยึดมาเป็นหลักใจประพฤติปฏิบัติตามนั้น ก็พอจะให้เกิดความร่มเย็นได้ มิหนำซ้ำยังมีครูมีอาจารย์คอยแนะนำสั่งสอนวิธีการดำเนินทางสมาธิ เพื่อความสงบเป็นพื้นฐานของใจให้ได้อยู่เย็นเป็นสุข แม้จะยังไม่เกิดความเฉลียวฉลาดก็ตาม ครูอาจารย์ก็ยังมีพอที่จะแนะนำสั่งสอนได้

สำหรับวัดนี้เราไม่ให้มีกิจการงานอันใด ทั้งนี้เพื่อหมู่เพื่อนได้บำเพ็ญความพากเพียรด้วยความสะดวกทุกเวล่ำเวลาอิริยาบถ ไม่มีสิ่งใดมากีดมาขวางมาทำให้ล้มเหลวไป เช่น การงานสร้างนั้นทำนี้ยุ่งเหยิงวุ่นวาย นั้นเป็นข้าศึกต่อการปฏิบัติธรรม นี่ก็ไม่นำมาเกี่ยวข้อง ไม่นำมากีดขวางทางเดินคือการภาวนาของหมู่คณะ เพราะเคยเห็นโทษของสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว

ในธรรมท่านก็แสดงเอาไว้ ผู้ที่เสาะแสวงหรือดำเนินทางด้านจิตตภาวนาพึงระมัดระวัง วัดใดเป็นวัดที่ก่อสร้าง สถานที่ใดเป็นที่ไม่สงบ แม้ที่สุดต้นไม้ที่มีดอกมีผล พวกนกพวกสัตว์อะไรมากินให้เกิดเสียงเอิกเกริกบนต้นไม้ ก็ยังไม่ควรไปอยู่ในที่เช่นนั้น นั่น นี่ท่านสอนไว้แล้วในมหาขันธ์ก็มี ให้ไปหาอยู่ในสงบสงัด สถานที่ขึ้นลง เช่น ท่าน้ำ เป็นที่ขึ้นลงของผู้คนหญิงชายก็ไม่ควรไปพัก ให้หาพักในที่สงบสงัด ทำไมท่านจึงให้พักในที่สงัด เพราะความสงัดนั้นเป็นเหตุที่จะให้รู้วิถีของจิตที่คิดออก จะคิดออกนอกลู่นอกทาง คิดในแง่ใด ย่อมจะทราบได้ง่ายกว่ามีสิ่งรบกวนวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา ท่านจึงสอนให้อยู่ในที่สงบสงัด

เสียงเป็นอย่างไร รูปเป็นอย่างไร ท่านจึงไม่ให้ยุ่งไม่ให้เกี่ยว เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นข้าศึกทั้งนั้น ในเวลาที่ควรเป็นข้าศึกต้องเป็นอยู่โดยสม่ำเสมอ ไม่มีคำว่าขาดวรรคขาดตอน เพราะกิเลสย่อมจะกว้านเอาสิ่งเหล่านั้นเข้ามาเป็นสมบัติของตน แต่เป็นฟืนเป็นไฟสำหรับจิตใจของผู้บำเพ็ญเพื่ออรรถเพื่อธรรม ท่านจึงสอนไม่ให้ยุ่งไม่ให้เกี่ยว ให้หาอยู่ในที่สงัด สงัดจากรูป จากเสียง จากกลิ่น จากรส อันจะเป็นข้าศึกต่อจิตตภาวนา นี่ละเป็นของสำคัญ แล้วผู้ปฏิบัติก็เห็นคุณค่าของความสงัดจริง ๆ

เราอยู่ธรรมดาอย่างสถานที่เราอยู่นี้เป็นที่สงัดก็จริง แต่หาที่สงัดยิ่งกว่านี้เข้าไปและที่เปลี่ยวยิ่งกว่านี้เข้าไป จิตใจจะมีความเปลี่ยนแปลงตัวเองไปเรื่อย ๆ การเปลี่ยนแปลงของจิตใจในสถานที่เปลี่ยว สถานที่น่าหวาดเสียวน่ากลัว ย่อมจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่อรรถธรรมได้ง่ายกว่าที่เราอยู่ธรรมดา นี่ละท่านจึงสอนให้อยู่ในที่สงัดในที่วิเวก

ในสัลเลขธรรมท่านแสดงไว้ คำว่า สัลเลขธรรม คือธรรมเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส มีอยู่ ๑๐ ประการ ท่านว่า อัปปิจฉตา คือความมักน้อย ไม่มากในวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ไม้สอยบริขารต่าง ๆ นี่เป็นของสำคัญ อสังสัคคณิกา ไม่คลุกคลีกับประชาชนญาติโยม ตลอดพระเณรเพื่อนฝูงอันเดียวกัน มีตนเป็นผู้ ๆ เดียว วิเวกกตา คือชอบสงัดวิเวก นี่ละหลักที่ท่านสอน ผู้ท่านผ่านพ้นไปผ่านพ้นด้วยธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องสนับสนุน เป็นเครื่องส่งเสริมให้เป็นไปได้ถึงจุดหมายปลายทาง จากนั้นก็พูดถึงเรื่อง ศีล กล่าวถึงศีล ชมเชยในศีล ด้วยความรักความชอบใจ ความใคร่ต่อการรักษาศีล พูดถึงเรื่อง สมาธิ เพื่อความสงบเย็นใจ ถึงขั้น ปัญญา ถึง วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

ในธรรม ๑๐ ประการนี้เป็นธรรมสำคัญมากสำหรับผู้ปฏิบัติ เป็นพื้นฐานที่จะทำให้เกิดความสงบเย็นใจ ตั้งแต่สมาธิขึ้นไปจนกระทั่งถึงวิมุตติญาณทัสสนะ ย่อมไปจาก อัปปิจฉตา ความมักน้อย ออกจาก วิริยารัมภา การประกอบความพากเพียร ออกไปจาก อสังสัคคณิกา ไม่คลุกคลีกับประชาชนญาติโยม ตลอดเพื่อนฝูงพระเณรด้วยกัน วิเวกกตา ชอบความสงัดวิเวกเป็นประจำนิสัย นี่ละถ้าว่าปุ๋ยก็เป็นปุ๋ยอันสำคัญ เป็นเครื่องสนับสนุนจิตใจได้เป็นอย่างดี

ในครั้งพุทธกาลท่านถือหลักธรรมเหล่านี้เป็นทางเดินอันสำคัญ ไม่เห็นสิ่งใดเลิศเลอยิ่งกว่าทางเดินคือสัลเลขธรรมนี้ ถ้ากล่าวก็กล่าวธรรม ๑๐ ประการนี้เป็นพื้นฐานของสมณะที่สนทนากัน ท่านเรียกว่า กาเลน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ คือการสนทนาธรรมะกันตามกาลตามสมัย ได้แก่สนทนาในธรรมเหล่านี้เอง สัลเลขธรรมเป็นพื้นฐานแห่งการสนทนา หรือเป็นพื้นแห่งธรรมที่ควรสนทนาสำหรับสมณะเรา และประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นไปตามนั้น คำว่าสมาธิจะไม่นอกเหนือจากธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องคุ้มครองรักษาไปได้เลย

ความสงัดก็เป็นเครื่องรักษาสมาธิได้ดี ความอยู่คนเดียวในที่เปลี่ยว ๆ ยิ่งทำให้มีการรักษาจิตใจได้ดี เพราะความกลัวความหวาดเสียวย่อมมีสติ จิตย่อมหันเข้าพึ่งธรรม ตามธรรมดาของจิตจะเร่ ๆ ร่อน ๆ เกาะโน้นเกาะนี้ หาที่ยึดที่เกาะไม่แน่นอน ส่วนมากมักจะเป็นพิษภัย แต่เวลาเข้าจนตรอกจนมุมในสถานที่เปลี่ยว ๆ ที่น่ากลัว เช่น สัตว์ร้าย เป็นต้น จิตย่อมจะย้อนตัวเข้ามาสู่ภายใน ระลึกถึงธรรมมีสติธรรมเป็นสำคัญ สติบังคับจิตใจ เป็นตายก็ให้อยู่กับความรู้ หรือจะมีธรรมบทใดเป็นเครื่องบริกรรมกำกับใจ ไม่ให้ส่งส่ายไปสู่ภายนอก เช่น อารมณ์ที่กลัวนั้นเป็นต้น จิตย่อมเข้าสู่ความสงบ

ในข้อนี้ผู้ปฏิบัติถ้าเอาจริงเอาจังจะเห็นได้อย่างชัดเจน นี่เคยปฏิบัติมาแล้ว เมื่อไปอยู่ในสถานที่กลัว ๆ ตามธรรมดานิสัยของจิตย่อมชอบจะออกสู่อารมณ์ที่น่ากลัว เช่น เสือ เป็นต้น จะไม่ยอมทำงานคือจิตตภาวนาของตนที่ควรจะทำนั้นเลย จะคิดถึงเรื่องเสือบ้าง เรื่องหมีบ้าง เรื่องอันตรายใด ๆ ก็ตาม จิตจะส่ายแส่ไปถือเอานั้นมาเป็นอารมณ์ และเสริมความกลัว เสริมความฟุ้งซ่าน เสริมความทุกข์ให้เกิดมากขึ้น ในสถานที่เช่นนั้นแทนที่จะเป็นที่สงบเยือกเย็น กลับเป็นข้าศึกต่อตนได้ เพราะความคิดนั้นพาให้เป็นข้าศึก ไม่ได้เป็นไปตามองค์ภาวนา ดังที่ท่านสอนไว้ว่าให้ไปอยู่ในสถานที่เปลี่ยวแล้วภาวนาดี

คำว่าภาวนาดี คือมีสติดีอยู่กับตัวไม่ยอมให้ส่งไปเลย อะไรก็ตามยิ่งเป็นของน่ากลัวมากเพียงไร ห้ามไม่ให้จิตคิดไปถึงสิ่งที่น่ากลัวนั้นเลย ให้คิดให้ยึดจิตติดอยู่กับคำบริกรรมสำหรับผู้อยู่ในภูมิบริกรรม ผู้อยู่ในภูมิวิปัสสนาก็พิจารณาทางด้านวิปัสสนา แยกธาตุแยกขันธ์ของสัตว์ร้ายมีเสือเป็นต้น ดังที่เคยเขียนไว้แล้วในปฏิปทาฯ เล่มที่ผ่านมานี้ คือแยกธาตุแยกขันธ์ของสัตว์ร้ายมีเสือเป็นต้น นี่เป็นไปตามภูมิของผู้ปฏิบัติ

ถ้าในขั้นสมาธิหากจิตเป็นตัวของตัว เป็นองค์ของสมาธิดีพอประมาณแล้ว ก็ให้อยู่กับความรู้คือความรู้เด่น ๆ อันเป็นองค์ของสมาธินั้น ไม่ยอมให้เคลื่อนคลาดไปสู่อารมณ์อันเป็นข้าศึก หรือไม่วาดภาพอารมณ์ที่เป็นข้าศึกเข้ามาทำลายจิตใจ ให้เกิดความกลัวความตกอกตกใจและเกิดความทุกข์ขึ้นมา ให้อยู่แนบสนิทกับสมาธิ

ถ้าจิตยังไม่เป็นสมาธิก็ให้แนบสนิทอยู่กับคำบริกรรม เช่น พุทโธ ๆ เป็นต้น โลกอันนี้เหมือนไม่มีสิ่งใด มีแต่คำว่าพุทโธกับความรู้ที่กลมกลืนกันอยู่เท่านั้น ไม่นานนักคำว่าพุทโธกับความรู้กลมกลืนกันนี้แล จะเป็นพลังอันหนึ่งขึ้นมาภายในจิตใจ เกิดความแน่นหนามั่นคง เป็นที่ยึดเป็นที่เกาะของจิตใจได้ดี จากนั้นความกลัวก็หายไปหมด แม้เราจะคิดออกไปสู่สิ่งที่น่ากลัวก็ไม่กลัว

นั่นผิดกันไหมกับจิตเบื้องต้นที่หาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้ คิดไปเท่าไรยิ่งเกิดความกลัวยิ่งเกิดความทุกข์มาก พอจิตได้หลักได้เกณฑ์เป็นตัวของตัวแล้ว แม้จะคิดออกไปสู่ภายนอกก็ไม่กลัว นอกจากไม่กลัวแล้วยังกล้าหาญชาญชัยขึ้นอีกด้วย นี่ละวิธีการแห่งการภาวนา ท่านจึงสอนให้ไปอยู่ในป่าในเขาในที่เปลี่ยว ๆ

ผู้ที่อ่านแต่ตำรับตำราไม่เคยได้ดำเนินเลย ย่อมไม่ทราบคุณค่าแห่งการอยู่ป่า คุณค่าแห่งการแสดงในธรรมเหล่านี้ไว้ จะจดจำมาเพียงเท่านั้นไม่ถึงใจ แต่ผู้ได้นำธรรมเหล่านี้ออกปฏิบัติ ได้ปฏิบัติตามธรรมเหล่านี้จนเป็นเนื้อเป็นหนังของผู้ปฏิบัติทั้งหลายแล้ว ย่อมจะเห็นคุณค่าแห่งธรรมทั้งหลายที่กล่าวมาเหล่านี้โดยไม่ต้องสงสัย ตั้งแต่พื้น ๆ ของจิตที่หาความสงบไม่ได้ก็ได้ความสงบ มีความสงบได้ในสถานที่น่ากลัวเช่นนั้นดังที่กล่าวมาสักครู่นี้

จิตไม่ยอมให้ออกสู่ภายนอก ให้อยู่กับคำบริกรรมนั้น เป็นกับตายก็ตามมอบไว้กับที่ตรงนั้น ให้มีอยู่เพียงอันเดียว สองกับคำบริกรรมเท่านั้น คำว่าอันเดียวคือผู้รู้ สองกับคำบริกรรม จะเป็นธรรมใดก็ตามให้มีเพียงเท่านี้ อยู่ในป่าในรกไม่สนใจกับป่ากับรก ไม่สนใจกับสัตว์กับเสือใด ๆ เลย ให้อยู่กับความรู้นี้เท่านั้น นี่เคยปฏิบัติแล้ว เพื่อเป็นคติแก่เพื่อนฝูงในปัจจุบันนี้

เราได้เห็นอย่างชัดเจนภายในจิตใจ ว่าการทำอย่างนี้สามารถกำจัดความกลัวทั้งหลายได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นแล้วยังทำให้เกิดความกล้าหาญชาญชัยขึ้น เมื่อจิตได้เป็นหลักเกณฑ์สำหรับตัวเองแล้ว แน่ะ อันดับที่สอง จิตที่มีสมาธิย่อมอยู่ในองค์แห่งสมาธิ ไม่เคลื่อนคลาดออกไปสู่อารมณ์ใดทั้งสิ้น ขึ้นชื่อว่าอารมณ์เป็นที่น่ากลัวหรืออารมณ์ให้เกิดกิเลสแล้ว นี้ก็เป็นหลักเกณฑ์ได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน เมื่อไปอยู่ในสถานที่เปลี่ยว ๆ ในสถานที่น่ากลัว

อันดับที่สาม เมื่อจิตก้าวเข้าสู่วิปัสสนาแล้ว ย่อมจะไม่ถืออารมณ์ทั้งสองอย่างที่กล่าวผ่านมานี้เป็นอารมณ์เป็นเครื่องทำงาน แต่จะพิจารณาทางด้านปัญญา แยกธาตุแยกขันธ์สิ่งที่น่ากลัวทั้งหลาย เช่นเดียวกับเราแยกธาตุแยกขันธ์ของเรา จนหาที่กลัวไม่ได้ ดังที่กล่าวไว้แล้วในปฏิปทาฯ ว่า เช่น สัตว์ เอ้า เสือ เป็นต้น กลัวอะไรมัน ค้นหาสิ่งที่น่ากลัวในตัวของสัตว์ร้ายตัวนั้นมีอะไร

ตั้งแต่ขนของมัน หนังของมัน หูของมัน ตาของมัน จมูกของมัน เขี้ยวของมัน ถึงภายในของมันทุกอวัยวะ จนกระทั่งถึงหางของมันหมดทุกชิ้นทุกอัน มันมีแต่ธาตุ มีแต่ดิน แต่น้ำ แต่ลม แต่ไฟ ถ้าว่าขนก็สักแต่ว่าขน ไม่มีความหมายอันใดที่จะน่ากลัว ตัวของมัน ขนของมันเอง ตัวขนเองก็ไม่มีความหมายในตัวเอง และไม่ทำให้ผู้อื่นผู้ใดหวาดกลัวต่อขนของมัน อวัยวะอื่น ก็ไม่ทราบความหมายของตัวเช่นเดียวกัน และไม่มีความหมายกับผู้หนึ่งผู้ใดที่จะกลัวหรือไม่กลัวก็ตาม

มันเป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง เป็นเนื้อ เป็นเอ็น เป็นกระดูก ตามสมมุติที่ตั้งไว้นั้นเท่านั้น และเป็นเครื่องมือของจิตดวงที่ครองร่างของสัตว์นั้นอยู่ เช่นเดียวกับร่างกายของเรานี้ เป็นเครื่องมือของใจที่ครองร่างอยู่นี้เท่านั้น ไม่ได้ทราบไม่ได้มีความหมายจากใจนี้เลย แม้จะอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งถึงวันตายก็ตาม อวัยวะเหล่านี้จะไม่มีความหมายในตัวเองและไม่มีความหมายในใจ คือไม่มีความหมายเข้ามาสู่ใจเหมือนใจไปมีความหมายกับเขาเลย นี่ละการแยกธาตุแยกขันธ์ แล้วก็ไม่กลัวอีกเช่นเดียวกัน ก็ไม่ทราบจะกลัวหาอะไร

แยกไปตรงไหนก็เห็นชัดด้วยปัญญา ๆ กระดูกสัตว์ร้ายกับกระดูกของเรามันก็อันเดียวกัน เมื่อเทียบกันเข้าแล้วน่ากลัวที่ตรงไหน ถ้ากลัวกระดูกสัตว์ร้ายก็ต้องกลัวกระดูกของเราด้วยซิ เพราะเป็นอันเดียวกัน ขนก็ดี อวัยวะของสัตว์ร้ายกับของเราก็ไม่เห็นมีอะไรแปลกกัน เอามาเทียบกัน ทำไมจึงไปกลัวในสิ่งอย่างนั้นหาเหตุหาผลไม่ได้ มีแต่ความหมายความหลอกลวงตนเองด้วยอำนาจของกิเลสเท่านั้นเอง

มาดูของตัวเองไม่กลัว มิหนำซ้ำยังรักยังสงวนยังยึดยังถือ นี่สองชั้นสามชั้นสี่ชั้นเข้าไป ด้วยความผูกมัดของกิเลสอันเป็นกลมายาสำคัญ แล้วก็ไปเกิดความสำคัญมั่นหมายกับสิ่งภายนอก ว่าน่ากลัวสิ่งนั้น น่ากลัวอวัยวะอันนี้ ของสัตว์นั้นของสัตว์นี้ มีแต่เรื่องหลอกลวงตนเอง นี่คือปัญญาพิจารณาแยกแยะ จนกระทั่งปานนี้แล้วจะเอาอะไรมากลัว นั่น

นอกจากนั้นจิตที่ก้าวเข้าไปสู่ความละเอียด จนกระทั่งถึงความว่างเปล่านะ พอปรุงแพล็บขึ้นมาเป็นภาพของสัตว์ร้าย จะเป็นสัตว์ชนิดใดก็ตาม ใจเป็นผู้ปรุงขึ้นมา พอปรุงแพล็บขึ้นมาเพียงเท่านั้น ปรากฏออกจากมโนภาพของตัวเองไปเป็นสัตว์เป็นเสือเป็นงูเป็นอะไรก็ตาม เป็นสัตว์ร้ายต่าง ๆ เกิดขึ้นจากภายในจิตใจที่วาดภาพออกไป เช่นเดียวกับเขาฉายหนังออกจากฟิล์มนี้ไปปรากฏในจอโน้น เราก็หลงอยู่ที่จอนั้นเสียว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเนื้อเป็นหนังเป็นเรื่องเป็นราวจริง ๆ

ความจริงก็อย่างที่กล่าวนี่แล มันออกไปจากฟิล์มอันนี้ ฉายออกไปนั้น อันนี้ก็ออกไปจากฟิล์มภายในจิตใจของเรา เมื่อมีสติแล้วย่อมรู้ทัน พอปรากฏภาพขึ้นมาเท่านั้นภาพนั้นก็ดับไป รู้ทั้งเวลาปรากฏขึ้นมา ว่าภาพนี้ออกไปจากใจไม่ใช่ออกไปจากไหน ไม่ใช่มาจากที่ใด และดับลงแล้วก็หายไปที่ใจ ไม่ได้มีจากที่ไหน นี่เป็นประเภทหนึ่ง พอปรากฏภาพขึ้นมามันยังไม่ได้แยกว่าธาตุว่าขันธ์ว่าอะไร มันดับไปพร้อม ๆ กัน เพราะอำนาจแห่งความรวดเร็วของสติปัญญาที่รู้เท่าทัน นี่การพิจารณาในสิ่งที่น่ากลัวทั้งหลาย

การพิจารณาที่กล่าวมาเหล่านี้ตั้งแต่เบื้องต้นถึงวิปัสสนาขั้นนี้ มีผลมีประโยชน์มากมายต่อจิตตภาวนาของเรา เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้ไปอยู่ในสถานที่เปลี่ยว สถานที่น่ากลัว เพื่อจะได้เห็นเหตุเห็นผล เพื่อจะได้รู้คุณค่าของตัวเอง คุณค่าของสติ คุณค่าของปัญญา คุณค่าของความเพียร จะเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีใด เมื่อถึงคราวจนตรอกจนมุมและถึงสถานที่ที่น่ากลัวเช่นนั้นแล้ว ผู้ที่ต้องการเหตุต้องการผล ต้องการความสัตย์จริงอยู่แล้ว ทำไมจะไม่หมุนเข้าสู่ความจริงเล่า เมื่อหมุนเข้าสู่ความจริงแล้ว ย่อมจะทราบความจริงได้โดยตลอดทั่วถึง หายความกลัวแล้วจิตใจก็ยิ่งเพิ่มกำลังวังชาขึ้นไปโดยลำดับลำดา ท่านจึงสอนให้ไปอยู่ในป่าในที่เปลี่ยว ๆ นั่นเป็นอย่างนี้เองในการบำเพ็ญ

หากว่าเราไม่ได้ไปทดสอบ ไม่ได้ไปดำเนินดังที่ท่านสอนไว้ เราจะไม่เห็นคุณค่าแห่งธรรมเหล่านี้เลย ก็จะเห็นว่าเป็นธรรมดา ๆ ว่าอยู่ป่าก็อยู่ธรรมดา อะไรก็ธรรมดาไปหมด เพราะจิตมันด้าน จิตไม่ยอมรับความจริง เมื่อได้ไปอยู่ได้ไปเจอเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้นมาดังที่ว่านี้แล้ว จิตจะช่วยตัวเอง สิ่งที่ไม่เคยคิดจะคิด สิ่งที่ไม่เคยรู้จะรู้ จิตที่ไม่เคยฉลาดจะฉลาดขึ้นมาเพื่อช่วยตัวเอง นี่ละเป็นของสำคัญในการพิจารณา ขอให้ทุกท่านจดจำเอาไว้ได้ประพฤติปฏิบัติตัวเอง

อย่ากลัวเถอะไอ้เรื่องความตายนั้นน่ะ ถึงอย่างไรมันก็ตาย มันเพียงธาตุที่รวมกันผสมกันอยู่นี้ เป็นก้อนสัตว์ก้อนบุคคล ก้อนเขาก้อนเรา เพราะใจเป็นผู้ครองร่างและรับผิดชอบอยู่เท่านั้น เมื่อถึงกาลของมันแล้วก็สลายตัวไป มีเท่านั้น ท่านเรียกว่าเกิด ก็คือส่วนผสมนี้รวมตัว แล้วมีจิตปฏิสนธิวิญญาณเข้าอาศัยอยู่ในนั้นแล้วยึดเป็นเจ้าของ ยึดเป็นตัวการเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อสิ่งเหล่านี้หมดสมรรถภาพแล้วใจก็ถอนตัวออกมา สิ่งเหล่านี้ก็ลงไปเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟตามเดิมของตน

ทั้ง ๆ ที่อยู่ในร่างของเรานี้ มันเองก็คือธาตุอันนี้เอง ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไป สลายลงไปก็ไปเป็นธาตุอันเดิมของมัน แต่เปลี่ยนแปลงลักษณะเท่านั้นเอง ไม่เห็นว่าเป็นดินชัดเจนเหมือนที่มันเป็นดินอยู่แล้วเท่านั้น แต่ก็เป็นธาตุดินนั่นแล ธาตุน้ำนั่นแล จิตก็ถอนตัวออกมาแล้วไปสู่ปฏิสนธิใหม่ ไปเกิดใหม่ ก็ไปเอาอย่างนั้นแหละ ไปอาศัยอย่างนั้นและตายไป เรียกว่าตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย มันก็มีอยู่เพียงเท่านี้ในวัฏวน ไม่ได้นอกเหนือไปจากนี้เลย

เราตื่นเต้นอะไรกับความเกิดความตาย เราหวังอะไรในเรื่องความเกิดความตาย มันมีเต็มโลกเต็มสงสารเต็มท่านเต็มเราอยู่ด้วยกัน บกพร่องที่ตรงไหน สงสัยที่ตรงไหน ถึงได้นอนใจนอนจมไม่พิจารณาแก้ไขจิตใจตัวเป็นเสนียดจัญไรแก่ตัวของตัวเอง เพราะความโง่เขลา สร้างแต่ความทุกข์ให้แบกให้หาม ให้ทนทุกข์ทรมานในภพในชาติต่าง ๆ ไม่หยุดยั้ง จนกระทั่งปัจจุบันนี้เราก็แบกธาตุแบกขันธ์ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา เป็นกองทุกข์อยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะได้ปล่อยวางอันนี้ ขณะที่จะปล่อยวางทุกข์มากขนาดไหน ทุกข์ถึงขนาดที่ทนไม่ได้ต้องแตกกระจายไปนั่นเอง นั่นดูซิ

เกิดก็ทุกข์แสนสาหัส แต่เรามองข้ามกัน ยินดีแต่เรื่องความเกิด ลูกของคุณเกิด เป็นผู้ชายผู้หญิง หรือลูกของข้าเกิดเป็นผู้ชายบ้าง เกิดเป็นผู้หญิงบ้าง ดีอกดีใจ ผู้ที่เล็ดลอดออกมาจากช่องแคบ ๆ สลบไสล บางรายตายอยู่ในท้องก็มี มาตายอยู่ที่ช่องแคบก็มี ตกออกมาแล้วตายก็มี ไม่ทุกข์มันจะตายเหรอพิจารณาซิ มันเป็นของดีที่ตรงไหน เป็นความสุขที่ตรงไหนในเรื่องความหมุนเวียนเพื่อเกิดเพื่อตายนี้

อยู่ตรงไหนมีแต่กองทุกข์ อยู่ในท้องก็กองทุกข์ นอนจมอยู่ในท้องแม่กี่เดือน เป็นทุกข์หรือไม่เป็นทุกข์ แต่เจ้าของไม่รับทราบ คือเจ้าของจำไม่ได้ว่าความทุกข์มีมากน้อยเพียงไร ดูตามหลักธรรมชาติคือความจริง นี้คือตัวทุกข์ ที่นอนอยู่ในท้องแม่นั้นคือตัวทุกข์ ดิ้นรนกระวนกระวาย ตกคลอดออกมาจนกระทั่งถึงคลอดออกมาก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลาพิจารณาซิ นี่ละเรื่องกองทุกข์

อะไรมาสร้างให้เป็นกองทุกข์ อะไรพาให้เกิด นี่ก็ได้สอนแล้วเต็มเม็ดเต็มหน่วยเต็มหัวใจที่ได้รู้ได้เห็นอย่างไรในการประพฤติปฏิบัติ แต่ก่อนก็ได้ดูตามตำรับตำรา ว่าการเกิดเป็นอย่างนั้น การเกิดเป็นอย่างนี้ ท่านว่า ชาติปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรท่านแสดงเอาไว้ นี่ล้วนแล้วแต่เรื่องกองทุกข์ในธาตุในขันธ์นี้เท่านั้น ท่านไม่ได้บอกว่าภูเขาเป็นทุกข์ ต้นไม้เป็นทุกข์ ดินฟ้าอากาศเป็นทุกข์ น้ำเป็นทุกข์ ลมเป็นทุกข์ ท่านบอกว่าขันธ์นี้เป็นทุกข์ ขันธ์นี้ใครพาให้มันเป็นทุกข์ ก็คือหัวใจดวงหลง ๆ นั้นเองพาให้เป็นทุกข์

ถ้าพูดถึงเรื่องธาตุเรื่องขันธ์จริง ๆ แยกลงไปตามหลักอริยสัจจริง ๆ แล้ว ดินมันทุกข์ที่ตรงไหน น้ำทุกข์ที่ตรงไหน ลม ไฟ มันทุกข์ที่ตรงไหน น้ำเต็มแผ่นดิน ลมเต็มแผ่นดิน ไฟเต็มแผ่นดิน ตรงอันไหนมันเป็นทุกข์ มันไม่ได้เป็นทุกข์ ที่ว่าเป็นทุกข์ ท่านว่าเป็นทุกข์ ๆ นี้หมายถึงใจดวงหลงนั้นแหละ ดวงหลง ๆ นั้นแหละเป็นผู้แบกผู้หามทุกข์ เป็นผู้หลงทุกข์ ไม่ใช่ผู้อื่นผู้ใด เพราะฉะนั้นจึงต้องมาแก้ตัวนี้ แก้ผู้ที่หลงทุกข์นี้เอง

ด้วยการพินิจพิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ ก็เพื่อจะได้เปลื้องตนออกจากความสำคัญ ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเราเป็นของเรา และถอนตัวออกมาด้วยความทราบชัดว่านั้นเป็นดิน นี้เป็นน้ำ นั้นเป็นลม นี้เป็นไฟ แข้งขาอวัยวะนี้เป็นเครื่องมือที่จิตใจนี้ใช้เท่านั้นเอง ความจริงแล้วสิ่งเหล่านี้ไม่ทราบความหมายของตัวเอง ว่าเป็นมือ เป็นเท้า เป็นจมูก เป็นตา เป็นหูอะไร ๆ ไม่ได้มีความสำคัญในตน ไม่มีความหมายในตน มีแต่ใจไปให้ความหมายทั้งนั้น และใจก็เป็นผู้หลงอยู่เต็มหัวใจด้วย

เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้พิจารณาทางด้านจิตใจ ไม่สอนที่อื่น จะสอนอะไรเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ สอนให้มันเป็นอะไร นอกจากสอนตัวใจ ใจดวงมันลุ่มหลงนี้ให้รู้เรื่องรู้ราว แล้วมันจะได้ปล่อยวางอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในดิน ในน้ำ ในลม ในไฟ ที่สำคัญว่าเป็นตนเป็นของตนนี้ออกเสียโดยหลักธรรมชาติของเขา ให้อยู่ตามหลักธรรมชาติของเขา ใจของเราก็ย้อนเข้ามาเป็นตัวของตัว ไม่ยึดไม่ถือกับสิ่งใด ถอนเข้ามา ๆ

ดังที่ได้กล่าวแล้วทุก ๆ ครั้งก็ได้ว่า การพิจารณารูปขันธ์พิจารณาเพื่ออะไร ก็เพื่ออย่างนี้เอง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เพื่อจะได้เห็นความจริงของมัน ทุกข์จริง ๆ มันอะไรเป็นทุกข์ ตัวทุกข์จริง ๆ มันมีความหมายในตัวของมันไหม และมันมาให้ความหมายแก่เราไหมว่ามันเป็นข้าศึกต่อเรา เป็นทุกข์ต่อเรา มันไม่ได้ให้ความหมายแก่เราด้วย ไม่มีความหมายแก่ทุกขเวทนาด้วย เป็นแต่ใจเป็นผู้รับทราบ เป็นผู้ลุ่มหลง เป็นผู้สัมผัสสัมพันธ์กับกองทุกข์มากน้อยที่เกิดขึ้นภายในขันธ์นี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณาให้เห็นอย่างชัดเจน

เมื่อได้เห็นอย่างชัดเจนด้วยจิตตภาวนาแล้ว ว่ากายก็สักแต่ว่ากาย สติปัฏฐาน ๔ ท่านว่าไว้ คำว่ากายสักแต่ว่ากาย คือไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา ตัวกายเองก็เราไปตั้งชื่อให้มันว่าเป็นกาย ตัวกายเองมันไม่ได้ว่ามันเป็นกาย สักแต่ว่าธาตุอันหนึ่งเท่านั้น ทุกขเวทนาที่ปรากฏขึ้นภายในร่างกายนี้ก็เหมือนกัน ทุกข์เกิดขึ้นก็เช่นเดียวกับไฟ เราก่อไฟขึ้นความร้อนมันปรากฏขึ้นกับไฟนั้น แล้วไฟรู้ความหมายของตัวไหม ความร้อนนั้นรู้ความหมายของตัวไหม ไม่รู้ ผู้ไปสัมผัสสัมพันธ์มันต่างหากรู้ เช่น เราเข้าไปใกล้ชิดกับไฟมันก็ไหม้เอาบ้าง ร้อนบ้าง นี่ตัวนี้ต่างหากเป็นผู้ร้อน แน่ะ ไม่ใช่ตัวใด

จึงต้องพิจารณาให้เห็นชัดตามความจริง เวทนาคือทุกขเวทนาเป็นต้น มันก็สักแต่เป็นทุกข์ ในตัวของมันเองมันไม่ทราบว่ามันเป็นทุกข์ พิจารณาแยกแยะให้เห็นชัดเจน กายก็สักแต่ว่ากาย เนื้อ หนัง เอ็น กระดูก ทุกสัดทุกส่วนมันมีอยู่ตั้งแต่วันเกิด ไม่ได้นิยมว่ามันเป็นสุขเป็นทุกข์ หากเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น ตัวทุกข์เองที่ปรากฏขึ้นภายในจิตใจก็ไม่ได้สำคัญว่าตนเป็นทุกข์ และไม่ได้สำคัญว่าตนไปให้ทุกข์แก่ผู้อื่นผู้ใด มันหากมีแต่ความสำคัญมั่นหมายของใจนี้ต่างหาก ไปหลงไปสำคัญว่าเราเป็นทุกข์ ส่วนนั้นเป็นทุกข์ ส่วนนี้เป็นทุกข์ แล้วก็มาเผาเจ้าของผู้ลุ่มหลงนี้แล

เมื่อได้แยกดูเห็นตามความเป็นจริงนี้แล้ว ทุกข์ก็สักแต่ว่าทุกข์ นั่นฟังซิ กายก็สักแต่ว่ากาย เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา จิตก็สักแต่ว่าจิต สภาวธรรมต่าง ๆ ก็เป็นสภาวธรรมตามหลักธรรมชาติของตน แล้วต่างอันต่างจริงไม่กระทบกัน นี่จิตเมื่อพิจารณารอบ นี่เราหมายถึงเราพิจารณารอบเป็นกาลเป็นเวลาไป ไม่ใช่รอบตลอดทั่วถึงอย่างท่านเป็นสมุจเฉทปหาน

สมุจเฉทปหานคืออะไร คือรู้แจ้งแทงทะลุ ปล่อยวางได้โดยสิ้นเชิงไม่มีสิ่งใดเหลือ เป็นวิมุตติหลุดพ้นจริง ๆ ภายในจิตใจ เช่นจิตของพระอรหันต์ นั่นจะทำอย่างไรก็ตาม จะให้ท่านล่มจมไปเพราะทุกขเวทนาเหยียบย่ำทำลายนี้ไม่มีทาง เป็นอฐานะ เรียกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะท่านได้ถอดถอนออกหมดโดยสิ้นเชิงแล้ว ตั้งแต่ขณะบรรลุธรรมหรือตรัสรู้ธรรม ก็คือตรัสรู้สิ่งเหล่านี้ให้ขาดกระเด็นออกจากความเกี่ยวเนื่องกับใจนั่นเอง

เพราะฉะนั้นจึงได้กล่าวว่า พระอรหันต์ตายในอิริยาบถใดก็ตายเถอะ ก็คือพระอรหันต์นั่นเอง ไม่มีความล่มจมกับความสลายไปแห่งธาตุแห่งขันธ์นี้ในอิริยาบถใด ๆ เลย ธาตุขันธ์จะสลายลงไปด้วยอาการใดด้วยอิริยาบถใด ก็เป็นเรื่องของธาตุของขันธ์สลายตัวเท่านั้น ใจไม่ได้หลง ใจไม่ได้งมงาย ใจไม่ได้ยึดไม่ได้ถือ ในอิริยาบถท่าใดก็ตามใจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย เพราะบริสุทธิ์พุทโธเต็มที่แล้ว นั่นเมื่อได้พิจารณาถอดถอนให้ถึงขั้นถึงภูมิแล้ว ย่อมอยู่สบายอย่างนี้เอง ไม่ใช่จะต้องต่อสู้กันอยู่เรื่อยกับทุกขเวทนา ไม่เช่นนั้นมันเหยียบย่ำทำลายจิต อย่างนี้ไม่มีสำหรับจิตที่เป็นสมุจเฉทปหาน ละตัดขาดโดยสิ้นเชิงแล้ว นี่ผลของการภาวนา ฟังซิผู้ปฏิบัติทั้งหลาย

ถ้าจิตลงได้พ้นจากนี้แล้วจะเห็นอย่างชัดเจน เราจะเคยเกิดมากี่ภพกี่ชาติกี่กัปกี่กัลป์ก็ตาม มันขาดสะบั้นออกจากกันเหมือนกับว่าขาดญาติขาดมิตรกัน ข้างหน้าก็ไม่มีอะไรเป็นเงื่อนต่ออีกแล้ว ปัจจุบันก็รู้เท่าทัน เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์อยู่โดยหลักธรรมชาติของใจ ไม่มีสิ่งใดจะเป็นเงื่อนติดต่อกันเลย ทำไมจะไม่ทราบเมื่อจิตของตัวเป็นเช่นนั้นแล้ว เมื่อมันสืบต่ออยู่กับสิ่งใดก็ยังทราบ

ในการพิจารณาภาวนาให้เป็นความละเอียดเข้าไป ๆ ย่อมจะทราบไปโดยลำดับของจิตผู้ภาวนา เมื่อถึงขั้นที่ขาดสะบั้นไปจากกันแล้วย่อมจะทราบได้ ถ้าเปอร์เซ็นต์ก็เรียกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มีสงสัย แล้วไม่ไปถามผู้หนึ่งผู้ใดอีกเลย เรื่องภพเรื่องชาติเป็นอันว่าสิ้นสุดยุติกันเพียงแค่นั้น นี่ละท่านว่านิพพานเที่ยง คือไม่มีคำว่ากาล สถานที่ เวล่ำเวลาอะไรที่จะมาเกี่ยวข้องอีก ว่าสิ้นสุดยุติในกาลนี้แล้ว ก็จะไม่สิ้นสุดยุติในกาลหน้าอย่างนี้ไม่มี ท่านจึงว่านิพพานเที่ยง

ขอให้ทำจิตให้เที่ยงเถอะ เมื่อจิตไม่มีสิ่งใดมาเกี่ยวข้องที่เรียกว่าของปลอม ๆ ของเทียมนั้นน่ะ ไม่มีในจิตใจแล้ว ใจย่อมไม่ปลอม หมดความปลอมแล้วเที่ยง สิ่งไม่เที่ยงทั้งหลายนั้นเป็นเรื่องของสมมุติ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มันเดินตามเรื่องของมันไปตลอดเวลา ส่วนจิตที่บริสุทธิ์พุทโธแล้วเอา อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เข้าไปเกี่ยวข้องได้ยังไง นั่นละเที่ยง เที่ยงที่ตรงนั้น นี่การปฏิบัติ ขอให้ทุกท่านได้สนใจในสิ่งที่เรายังไม่เคยพบเคยเห็น คือไม่เคยตายนี้มีไหม มันเคยตายมาแล้ว เคยเกิดมาแล้ว เคยทุกข์เคยลำบาก เคยติดเคยพันมาแล้ว มีแต่สิ่งที่เคยเต็มหัวใจเราเวลานี้ แล้วมันวิเศษวิโสอะไร เราถึงจะต้องนอนจมอยู่กับมันด้วยความนอนใจไม่พิจารณาไม่ขวนขวาย

พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประกาศธรรมสอนโลกเป็นผู้เช่นไร กิเลสปราชญ์ทั้งหลายองค์ใดผู้ใดที่ได้ชมเชยว่ามันเป็นของดีเป็นของมีคุณค่าน่าติดน่าพัวพัน ก็เท่ากับเราชอบฟืนชอบไฟชอบกองทุกข์นั่นเอง ถ้าเราชอบสิ่งเหล่านี้ เพราะอันนี้เป็นสาเหตุที่จะให้เกิดฟืนเกิดไฟขึ้นมาโดยไม่ต้องสงสัย ท่านจึงเรียกว่าสมุทัยแดนผลิตทุกข์พูดง่าย ๆ มันผลิตขึ้นมาจากสมุทัยคือจากกิเลสนี้เอง ทุกข์ขึ้นมามากน้อยไม่เกิดขึ้นจากไหน เกิดขึ้นจากสมุทัยคือกิเลสนี่ละ

เมื่อทำลายเหตุคือสมุทัยนี้ให้สิ้นซากลงไปแล้ว คำว่านิโรธ ๆ คือความดับทุกข์ไม่ต้องบอกก็ดับ เพราะสมุทัยเป็นต้นเหตุนั้นดับแล้ว มรรคนี่ท่านเรียกว่าทางดำเนินเป็นเหตุ เช่นเดียวกับสมุทัยเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด มรรคเป็นสาเหตุให้ทุกข์ดับ ให้กิเลสดับ เมื่อกิเลสดับแล้วทุกข์ก็ดับ ทุกข์ดับไปท่านเรียกว่านิโรธ ท่านก็ให้ชื่อประเภทหนึ่งต่างหากขึ้นมา แยกเป็น ๔ ประเภท ทุกข์เมื่อใจถึงขั้นบริสุทธิ์เต็มที่แล้วหมดการตำหนิติชม ทั้งทุกข์ทั้งสมุทัย ทั้งนิโรธทั้งมรรค ไม่ตำหนิไม่ชม จึงเรียกว่าอริยสัจธรรม เป็นของจริง

ถ้ายังตำหนินั้นอยู่ตำหนินี้อยู่จิตก็ยังไม่จริง สิ่งทั้งหลายนั้นยังถูกเสกสรรปั้นยอว่านั้นเป็นนั้น นี้เป็นนี้เข้าไปอีก เดี๋ยวไปยกยอเดี๋ยวไปตำหนิเขา เมื่อถึงขั้นบริสุทธิ์เต็มที่แล้วต่างอันต่างจริง ทุกข์ก็จริง สมุทัยก็จริง แม้จะสิ้นไปจากใจแล้วก็จริง นิโรธก็จริง มรรคก็จริง แม้จะไม่ได้แก้กิเลสต่อไปอีกก็จริง เพราะสัจธรรมทั้งสี่ประการนี้เป็นเครื่องแก้กิเลสอยู่แล้ว กิเลสเป็นกิเลสอยู่แล้ว จึงเป็นของจริงเต็มที่ เมื่อจิตได้รอบตัวแล้วไม่มีสิ่งใดมาเป็นข้าศึกต่อกันอีกเลย นั่นละธรรมชาติที่ผ่านขึ้นมาจากอริยสัจธรรมทั้งสี่คืออะไร นั่นคือความบริสุทธิ์ นั่นไม่ใช่สัจธรรม หลุดพ้น พ้นไปแล้ว นี่ละที่ว่าจิต ๆ ที่ว่าความบริสุทธิ์คืออันนี้

ไม่ใช่อริยสัจบริสุทธิ์นะ อริยสัจจะบริสุทธิ์ที่ตรงไหน สมุทัยก็คือกิเลส ทุกข์ก็คือผลของสมุทัย มรรคก็คือเครื่องมือแก้กิเลส จะให้เป็นนิพพานได้ยังไง แก้กิเลสสิ้นซากลงไปแล้ว นิโรธก็คือความดับทุกข์เท่านั้น สิ่งที่รู้ว่าทุกข์ ว่าสมุทัย ว่านิโรธ มรรค คืออะไร และผู้ที่รู้รอบธรรมทั้งสี่ประการนี้คืออะไร และผู้บริสุทธิ์คืออะไร ก็คือธรรมชาติที่ผ่านขึ้นมาจากสิ่งทั้งหลายเหล่านี้กลั่นกรองนั่นเอง นี่ละท่านว่าบริสุทธิ์ บริสุทธิ์ตรงนี้ ไม่ใช่อริยสัจบริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์จากสิ่งเหล่านี้

แต่ก่อนจิตพัวพันอยู่กับอริยสัจ สำคัญที่สุดก็คืออริยสัจ ๒ ประเภท คือ ทุกข์กับสมุทัยนั้นแล มรรคไม่ค่อยมี ต่อเมื่อมรรคได้มีกำลังขึ้นมาแล้ว จึงสังหารสิ่งเหล่านั้นให้สำเร็จให้เสร็จสิ้นลงไป แล้วก็กลายเป็นความบริสุทธิ์ขึ้นมาเต็มที่ อันนี้ก็หมดหน้าที่ละ มรรคก็หมดหน้าที่ที่จะแก้กิเลสดับกิเลสต่อไปอีก นิโรธก็ดับ ครั้งสุดท้ายเมื่อมรรคมีกำลังเต็มที่แล้วเท่านั้น ไม่มีอะไรที่นิโรธจะดับอีก นิโรธคือความดับทุกข์ ไม่มีอันใดที่จะให้นิโรธดับอีก เพราะสมุทัยดับไปแล้ว

นี่ที่พูดที่แสดงอยู่เวลานี้สด ๆ ร้อน ๆ อยู่ภายในจิตใจของเราทุกท่านนะ อยู่ในขันธ์นี้เองไม่ใช่อยู่ที่ไหน ไม่ใช่อยู่ที่เมืองอินเดีย ไม่ใช่อยู่กับพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นพระองค์นี้ ไม่ใช่อยู่กับพระสาวกองค์นั้นองค์นี้ที่ท่านผ่านไปแล้ว นั้นเป็นเรื่องของท่าน เป็นทุกข์ เป็นสมุทัย เป็นนิโรธ เป็นมรรค เป็นความบริสุทธิ์ของท่าน นี่จะเป็นของเราที่เราฟังเวลานี้ เราจะพิจารณาตามธรรมเหล่านี้ และจะรู้เห็นธรรมเหล่านี้ขึ้นเป็นสมบัติแห่งใจของเรา เป็นของเรา อยู่ที่ระหว่างขันธ์กับจิตนี้ ท่านเรียกว่าอริยสัจ พิจารณาลงไป

ทุกข์เกิดขึ้นจากสมุทัย พิจารณาให้ดี เมื่อถึงขั้นมันรู้มันเห็นกันจริง ๆ หรือขั้นมรรคสามารถแก่กล้าแล้วจะไม่มีคำว่ากลัวอะไร ทุกข์จะเกิดขึ้นมากน้อยไม่มีกลัว ค้นหาสาเหตุจนเจอ เพราะหาของจริง ไปกลัวอยู่จะไปเจอของจริงได้ยังไง ผู้ปฏิบัติที่จะเข้าถึงธรรมของจริงเต็มส่วนย่อมไม่มีกลัวในสัจธรรมทั้งสี่ ไม่มีกลัวอันใด สมุทัยก็ไม่กลัว ทุกข์ก็ไม่กลัว อยากทราบแต่ความจริงของสิ่งหนึ่ง ๆ เท่านั้นแหละ เช่น สมุทัยก็เป็นความจริงอันหนึ่ง อยากทราบความจริงจากธรรมชาตินี้ และอยากทราบความจริงจากทุกข์ อยากทราบความจริงจากนิโรธ จากมรรค ทุกสิ่งทุกอย่างค้นลงไป แต่ความที่จะมาสนใจอยากทราบความจริงจากมรรคนี้ไม่ค่อยสนใจ

ขอให้สนใจในจุดที่ว่าอยากทราบความจริงจากสมุทัยและทุกข์ เมื่ออันนี้ได้แจ่มแจ้งแล้ว เรื่องมรรคก็ต้องย้อนเข้ามารู้เองโดยไม่ต้องสงสัย อันนี้รู้ได้ง่าย ๆ ส่วนทุกข์กับสมุทัยนี้รู้ได้ยาก อันนี้ไม่กำหนดก็รู้ เมื่อรู้เต็มที่แล้วก็ถอนตัวออกมา พอถอนตัวออกมาก็ทราบได้อย่างชัดเจนว่า ธรรมทั้งสี่ประเภทนี้เป็นสัจจะ เป็นของจริง เครื่องกลั่นกรองจิตให้ได้หลุดพ้นให้บริสุทธิ์ขึ้นมา เพราะสัจธรรมทั้งสี่นี้

เพราะฉะนั้นสัจธรรมทั้งสี่ที่มีอยู่ในองค์พุทธศาสนานี้ จึงเป็นธรรมอันเลิศ เป็นธรรมอันประเสริฐ พระพุทธเจ้าหลุดพ้นขึ้นมาจากอริยสัจนี้ เพราะฉะนั้นอริยสัจนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันศาสนาว่าเป็นของแท้ของจริง เป็นเครื่องยืนยันว่าผู้จะบริสุทธิ์ต้องได้ผ่านอริยสัจนี้ไป ถ้าไม่มีอริยสัจแล้วไม่มีทาง อย่างไรก็ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นไปได้ เพราะอันนี้เป็นจุดที่สำคัญอยู่มากทีเดียว เพราะฉะนั้นขอให้ทุกท่านได้พยายาม อย่าลดละท้อถอยความเพียร

ให้หาอุบายหลายวิธีการ เราอย่าใช้แต่วิธีการอย่างเดียว ๆ ไม่ทันกับกิเลส อุบายใดที่จะเกิดสติปัญญาเพื่อให้ทันกับกิเลสแล้ว ให้นำมาพินิจพิจารณา นำมาแก้มาไขกัน ผู้ปฏิบัติย่อมเป็นผู้ผลิตสติปัญญาอยู่เสมอ ฟิตเสมอ ผลิตเสมอ อย่าอยู่เซ่อ ๆ ซ่า ๆ นี่ส่วนมากมักจะเป็นอย่างนั้น มันแสดงออกมาภายนอกให้เห็นอยู่ ตาก็เห็น หูก็ได้ยิน พูดรอบคอบหรือไม่รอบคอบ กิริยาที่ทำรอบคอบหรือไม่รอบคอบ เป็นความโง่หรือความฉลาด การแสดงออกมาจากกิริยาอาการของแต่ละราย ๆ เป็นยังไง นี่เป็นเครื่องประกาศให้เห็นอยู่ว่าไม่ใช้สติไม่ใช้ปัญญา ทำอะไรไม่ใช้สติไม่ใช้ปัญญามันดีที่ตรงไหน ความฉลาดก็ฉลาดไปทางกิเลสเสีย ไม่อยากฉลาดที่จะแก้กิเลส มันเลยหาความหลุดพ้นหรือหาความเบาบางภายในจิตใจไปไม่ได้

ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็เห็นแล้วนี่ก็เคยพูดแล้ว ผู้ที่ฝากเป็นฝากตายท่านได้อย่างแท้จริงก็ร่วงโรยไป ๆ เราก็ยังไม่เป็นตัวของเรานี้จะทำยังไง ก็ยังอ่อนเปียก ๆ เหมือนกับทารกเพิ่งคลอดอยู่นี้จะทำยังไง ช่วยตัวเองไม่ได้ จะตกน้ำเข้าไฟ ตกเหวตกบ่อ ก็ไม่ทราบว่าตนจะไปตกอะไร นี่ก็เหมือนกัน ตกเหวตกบ่อหมายถึงอะไร หมายถึงกิเลสมันต้มมันตุ๋นอยู่ตลอดเวลา เราก็ไม่ทราบทางมาของมัน นี่ซิมันลำบากนะ จะแก้ยังไง

เดินจงกรมเอาให้เห็นซิ มันจะเหนื่อยจะเมื่อยไปไหนขนาดไหนก็ให้มันรู้ ดูซิว่าการเดินจงกรมถึงขนาดที่เมื่อยหิวอ่อนเพลียนี้ มันได้อุบายขึ้นมาอะไรบ้าง ก็ให้เห็นอีก ความเมื่อยความเพลียก็ให้ได้เห็นกันอีก พิจารณาอันนี้เป็นความเพียร ให้มันหลายขั้นหลายภูมิซิผู้ปฏิบัติ นั่งก็เหมือนกัน เวลาจะต่อสู้กับทุกขเวทนา เอ้า ฟัดกันลงไป สติปัญญาอย่าถอยนะ อย่าอดอย่าทนเฉย ๆ ทนทุกข์เฉย ๆ ไม่เป็นท่า เหมือนกับสู้เสือด้วยกำปั้นนั่นแหละ ตายไม่มีเหลือ ต้องสู้ด้วยศาสตราอาวุธ

นี่ก็ต้องสู้ด้วยสติปัญญา เป็นศาสตราอาวุธของการพิจารณาเพื่อจะรู้ความจริงทั้งหลาย ทำไมจะไม่รู้ ความจริงมีอยู่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างสด ๆ ร้อน ๆ ไม่ได้ห่างไกลจากตัวของเราเล้ย อยู่ในตัวของเรานี้ทั้งนั้น แต่มันหากถูกกิเลสปิดเอา ๆ ปิดไว้ ๆ น่ะซี เราไม่สามารถจะรู้ทันมัน มันแหลมคมมากพูดแล้วพูดเล่า กิเลสแหลมคม มันถึงใจนี่นะ เพราะได้ฟัดกันแล้วนี่

เรื่องกิเลสแหลมคมนี่ แหม แหลมจริง ๆ คมจริง ๆ สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร กำลังวังชามีเท่าไรโหมมาหมด ถ้าหากว่ามีอยู่ในสามแดนโลกธาตุนี้ก็รวมกันมาเลยมาฟัดกับกิเลส ถึงขนาดนั้นยังแพ้มันได้ คิดดูซิมันเก่งไหม ไม่เก่งมันจะครอบโลกธาตุได้หรือ สัตว์ทั้งหลายเกิดแก่เจ็บตายอยู่ในสามแดนโลกธาตุ มีแต่กิเลสพาให้เกิดทั้งนั้น พาให้ตายทั้งนั้น พาให้วกเวียนทั้งนั้น ไม่มีอะไรพาให้วกเวียน นี่มันฉลาดไหม ไม่ฉลาดมันเป็นนายครอบหัวใจได้ยังไง นี้แหละ ทีนี้เราจะเอามันลงจากหัวใจเราซิ จึงต้องได้ทุ่มกันอย่างเต็มที่ เอาชีวิตจิตใจเข้าว่าเลย อะไร ๆ มีเท่าไรไม่เสียดาย ขอให้หลุดพ้นคือขอให้ชนะกิเลสเท่านั้นเป็นที่พอใจ เอ้า ตายก็ตาย นั่นถึงขนาดนั้น

เมื่อเวลาเข้าถึงตาจนจริง ๆ แล้วคำว่าถอยไม่มีละ จิตอย่าเข้าใจว่ามันจะโง่ตลอดไป และอย่าเข้าใจว่าจิตนี้จะอ่อนแอตลอดไปนะ ถึงขั้นมันเข้มแข็งเข้มแข็งจริง ๆ ถึงขั้นไม่รู้จักเป็นจักตายไม่ถอยเลยนี่มันมีของมัน มันเป็นวาระของมัน แล้วถึงขั้นที่ฉลาดมันฉลาดจริง ๆ แหลมคมจริง ๆ ไม่เคยคาดเคยฝันเลยว่าจิตนี้จะฉลาดขนาดนั้น สามารถทันกันกับเหตุการณ์ ทันกับกิเลสตัวไหน เป็นชนิดใด ๆ ถ้าหากว่าพูดเป็นนักมวยเขาก็อาวุธที่จะยกขึ้นต่อสู้ หมดทั้งตัวเลยเป็นอาวุธทั้งหมด และหมดทั้งความเคลื่อนไหวภายในจิตใจเป็นสติปัญญาทั้งนั้น นั่นถึงเวลาที่มันเป็นขึ้นมาแล้ว

เราอย่าเข้าใจว่าจิตของเราจะโง่นะ เมื่อถึงขั้นฉลาดแล้วฉลาดจริง ๆ ไม่ฉลาดเอากิเลสลงไม่ได้ กิเลสมันฉลาดขนาดไหนเราก็ทราบแล้ว ฉลาดมาตั้งกี่กัปกี่กัลป์บนหัวใจเรานี้ หัวใจแต่ละดวง ๆ นี้ถูกกิเลสครอบด้วยความฉลาดของมันมากี่กัปกี่กัลป์ เก่งไหม ทีนี้สติปัญญาเราไม่ทันมันจริง ๆ มันจะม้วนเสื่อได้ยังไง นั่นละฟังซิ ถึงขั้นฉลาดมันฉลาดจริง ๆ ปัญญาน่ะ

พูดก็สาธุเราไม่ได้โอ้ได้อวดนะ เราก็ไม่เคยคิดเคยคาดในหัวใจดวงนี้นะ ดวงที่พูดอยู่กับหมู่เพื่อนเวลานี้ เวลามันเป็นมันเป็นจริง ๆ นี่ จนเกิดความอัศจรรย์ โอ้โห ถึงขนาดนี้เชียวหรือ สติปัญญาเวลาหมุนเป็นอย่างนี้เชียวหรือ ไม่คาดไม่ฝัน แต่มันรู้อย่างชัด ๆ หมุนติ้ว ๆ รอบตัวเลยสติปัญญา แล้วก็ทันกับเหตุการณ์ นี่ละกิเลสตัวไหนจะเก่งขนาดไหน ทีนี้เมื่อปัญญาเหนือมันแล้วมันพังได้เหมือนกันนั่นแหละ เมื่ออันหนึ่งเหนือแล้วมันจะอยู่ได้ยังไง ทนได้ยังไง ถ้าเป็นคนก็แบกไม้หนัก ๆ มันก็หลังหักนั่นแหละ เพราะไม้มันหนักนี่ กำลังของเราไม่พอกับไม้มันก็หลังหักน่ะซิ แบกซีแบกซุงทั้งท่อนเอาลองดูซิ

นี่ก็เหมือนกัน กิเลสจะเก่งขนาดไหนก็เก่งเถอะ ลงปัญญาได้หนักข้อหนักมือกับมันแล้วหักทั้งนั้นละ พังลงไปได้โดยไม่ต้องสงสัย พระพุทธเจ้าพระสาวกล้วนแล้วแต่ท่านผู้พังกิเลส หักหลังกิเลส หักคอกิเลสลงให้ม้วนเสื่อทั้งนั้น ด้วยอำนาจของปัญญาปรีชาญาณ ไม่ต้องพูดไปอย่างอื่นละ ให้มันเห็นอยู่ที่ใจของเรานี่ซิ แต่เวลามันโง่ มันโง่ เพราะกิเลสมันเหนือ มันต้องโง่ตลอดเวลานั่นแหละ เดินจงกรมมันก็สวมรอยไปอย่างนั้นละ นั่งภาวนามันก็สวมรอยอยู่นั้น ทำความเพียรอะไรมันมีแต่ตักตวงเอารายได้ ๆ อยู่กับความเพียรของเรา ความเพียรของเรามีแต่ร่าง เนื้อหนังมันเอาไปกินหมด เวลามันฉลาด มันฉลาดอยู่อย่างนั้นกิเลสนี่ เพราะฉะนั้นจึงต้องได้พยายามเอาเต็มเม็ดเต็มหน่วยเต็มที่เต็มฐานทีเดียว

ถึงขั้นฉลาดแล้วมันฉลาดจริง ๆ ถึงขั้นทนมันทนจริง ๆ อดจริง ๆ สู้จริง ๆ จิตนี่ จิตนี่แหละเป็นกำลังสำคัญมาก ร่างกายมันอ่อนเปียกขนาดไหนก็ตาม จิตไม่ได้อ่อนนี่นะ คิดดูซิเดินไปมันล้ม ล้มก็ล้มจิตไม่ได้ล้มด้วยนี่ นั่นฟังซิ ร่างกายจนจะหายใจไม่ถึงท้อง แต่สติปัญญามันไม่ถอย มันฉลาด มันแข็งแกร่งในตัวของมัน เพราะฉะนั้นกิเลสถึงได้ม้วนเสื่อ เมื่อถึงขั้นนั้นแล้วเอาเถอะ กิเลสตัวไหนก็มาเถอะ ถ้าลงสติปัญญาได้รอบตัวแล้วเป็นพัง ไม่พังพระพุทธเจ้าเป็นพระศาสดาองค์เอกได้ยังไง พระสาวกเป็นอรหันต์ได้ยังไง

นี่ละสิ่งที่ชนะกันมันมีอยู่ คือความฉลาดแหลมคมของปัญญา เมื่ออบรมอยู่โดยสม่ำเสมอต้องมีกำลัง หมุนตัวเป็นเกลียวไปได้นั่นแหละ แล้วเราจะได้ชมเราเองนะ ทั้ง ๆ ที่เราเองขณะนี้มันโง่อย่างนี้แหละ ทุกสิ่งทุกอย่างจิตใจเราเป็นฟืนเป็นไฟ แต่ถึงคราวเป็นน้ำมันเป็นจริง ๆ เพราะอำนาจแห่งสติปัญญานี่หมุนติ้ว ๆ เข้าไป และชะออกล้างออก ๆ อะไรเป็นฟืนเป็นไฟดับกันไป ๆ ด้วยสติปัญญา สุดท้ายก็เหลือแต่ความบริสุทธิ์พุทโธ เด่น

อัศจรรย์ไหมที่นี่ ไม่มีใครอัศจรรย์ เจ้าของก็รู้ในตัวของเจ้าของ อัศจรรย์อยู่ในเจ้าของเอง อ๋อ พระพุทธเจ้าท่านอัศจรรย์เป็นอย่างนี้เอง ท่านหลุดพ้นจากทุกข์พ้นอย่างนี้เอง นั่นมันเป็นเครื่องยืนยันกันระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระสาวกทั้งหลาย หาที่ค้านกันไม่ได้ นั่นละท่านยอมรับกัน ใครจะไปกราบพระพุทธเจ้าได้สนิทยิ่งกว่าพระอรหันต์ล่ะ ร้อยเปอร์เซ็นต์ร้อยทั้งร้อยทีเดียว ท่านไม่ว่าพระพุทธเจ้านิพพานไปนานแล้ว ๆ อันนั้นเป็นเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ เป็นเรือนร่างของศาสดาต่างหาก พุทธะแท้ ๆ เป็นความจริงอันเดียวกัน ยอมรับกันทันที เมื่อเจ้าของได้ถึงขั้นความจริงเต็มส่วนแล้ว ยอมรับว่าไม่มีความสงสัย

เราก็เอาซิ เราลูกศิษย์ตถาคต สัจธรรมเป็นของล้าสมัยที่ไหน อยู่ในหัวใจของเรานี่ สติปัญญามีเอามาใช้ อย่านอนจมอยู่เฉย ๆ ถึงวาระควรใช้แล้ว เวลานี้เราออกแนวรบแล้วมิใช่เหรอ เราไปเสียดายอะไรกับเรื่องดินน้ำลมไฟ ดินฟ้าอากาศ ซากศพคนเป็นคนตายเกลื่อนอยู่ในโลกอันนี้มีอะไรวิเศษ ธรรมต่างหากวิเศษ ความหลุดพ้นเสียจากการแบกหามกองทุกข์ทั้งหลาย เพราะการเกิดแก่เจ็บตายนี้เท่านั้นเป็นของวิเศษ ยันกันลงตรงนี้ซินักปฏิบัติ

นี่เหมือนกับว่ามันคันฟันนะ แหมมันเข็ดจริง ๆ ถ้าพูดถึงว่าเป็นข้าศึกนะ มันเป็นจริง ๆ ในหัวใจนี้ มันถึงใจนะระหว่างกิเลสกับธรรม เห็นคุณค่าของธรรมก็เห็นอย่างถึงใจ เห็นโทษของกิเลสก็เห็นอย่างถึงใจ เป็นข้าศึกกันอย่างถึงใจ ดังที่เคยพูดให้หมู่เพื่อนฟัง แม้แต่นั่งฉันจังหันอยู่ก็ตาม ถ้าว่ากองทัพกิเลสมาแล้ว เหอ มาแล้วเหรอ เท่านั้นละทิ้งเลยบาตรนี่ ใส่ตูมกันเลย นั่นถึงขนาดนั้นนะ มันถึงใจขนาดนั้นนะ เราพูดนี้เราหมายถึงความถึงใจ เพราะฉะนั้นความเพียรมันถึงถึงใจเหมือนกัน ถ้าลงได้ธรรมก็ถึงใจ กิเลสก็ถึงใจ เห็นเป็นภัยถึงใจแล้ว อย่างไรความเพียรก็ไม่ถอยละ เอ้า ตายก็ตายเถอะไม่ได้เสียดายละชีวิตอันนี้ เพียงลมหายใจดับไปเท่านั้นมันวิเศษวิโสอะไร จะเอาธรรมดวงไม่เกิดไม่ตายนี้ต่างหากที่เป็นของวิเศษ นั่นละมันหมุนของมันติ้ว ๆ

เอาละเทศน์เพียงเท่านี้พอสมควร เอาละพอ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก