จิตวิญญาณแต่ละดวง ๆ ในสัตว์แต่ละประเภทแต่ละราย ๆ เป็นสิ่งที่ลี้ลับและสลับซับซ้อนมากทีเดียว ไม่มีใครสามารถจะค้นคิดเห็นตามความจริงของสิ่งเหล่านี้ได้ นอกจากวิชาธรรมที่สัมปยุตด้วยการปฏิบัติทดสอบ ประหนึ่งว่าแยกธาตุแยกขันธ์ด้วยภาคปฏิบัติเท่านั้น จึงจะสามารถรู้ได้เป็นลำดับลำดา ดังพระพุทธเจ้าท่านทรงรู้ทรงเห็น ไม่มีสิ่งใดปิดบังลี้ลับได้ ในบรรดาจิตวิญญาณแต่ละดวง ๆ ที่พระองค์จะไม่ทรงทราบ
ถ้าไม่มีวิชาธรรม คือถ้าไม่มีศาสดาผู้ทรงรู้ทรงเห็นอย่างรู้แจ้งแทงทะลุมาแล้ว สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัญหาปิดบังโลกอยู่ตลอดไป ไม่มีจิตวิญญาณดวงใดจะเล็ดลอดผ่านพ้นจากตาข่ายของภพชาติ ที่มีกิเลสเครื่องแทรกหรือบังคับใจนี้ ให้หลุดพ้นไปได้ เพราะธรรมชาตินี้เป็นสิ่งที่ละเอียดมากจริง ๆ จนไม่มีใครจะพิสูจน์พินิจพิจารณาโดยลำพังตนเองได้ และไม่มีแก่ใจจะคิด ไม่สะดุดใจเลย
มีพระพุทธเจ้าเท่านั้นเป็นพระองค์แรก อันดับต่อมาก็พระสาวกที่ได้รู้แจ้งแทงทะลุในธรรมทั้งหลาย ก็เท่ากับรู้แจ้งแทงทะลุกิเลสเครื่องปิดบังนี้ไปด้วยกัน เราลองถามดูซิว่าในโลกอันนี้น่ะ ทั้ง ๆ ที่ความจริงนั้นในจิตวิญญาณของแต่ละราย ๆ เป็นนักท่องเที่ยวที่สลับซับซ้อนมากที่สุด ไม่มีอะไรเกินดวงวิญญาณที่สับเปลี่ยนวนเวียนเกิดตาย กอไผ่กอหนึ่ง ๆ นั้นรากของมันสลับซับซ้อนมากขนาดไหน
ที่รากหนาที่สุดก็คือกอไผ่ ถ้าเรานำมาเทียบจิตวิญญาณแต่ละดวงนั้น ดวงหนึ่งที่สร้างความเกิดแก่เจ็บตายในภพน้อยภพใหญ่ สลับซับซ้อนวกไปเวียนมานั้น มากยิ่งกว่ารากไผ่ในกอไผ่กอหนึ่ง ๆ เป็นไหน ๆ เพราะเกิดแล้วตายเล่า ๆ มานี้กี่กัปกี่กัลป์แล้ว จึงไม่สามารถที่จะนับได้ พระพุทธเจ้าท่านว่า อเนกชาติสํสารํ นั้นมีชาติเป็นอเนก เราฟังซิ ถ้าหากไม่มีธรรมะมาเป็นเครื่องสกัดตัดตอนออก ปล่อยให้จิตวิญญาณดวงนี้ถูกกิเลสผลักไสเกิดแล้วตายเล่าอยู่อย่างนี้ จะมากมูนที่สุดหาประมาณไม่ได้เลย
ที่ว่ารากกอไผ่แต่ละกอ ๆ สับสนขนาดไหนนั้น นี่หมายถึงหลายกอหลายราก เมื่อเทียบแล้วยังสู้จิตวิญญาณของแต่ละดวงที่สร้างความสับสนใส่ตัวเอง เพราะอำนาจของกิเลสเพียงอันเดียวนี้เท่านั้น ยังมากยิ่งกว่ากอไผ่กอหนึ่ง ๆ เป็นไหน ๆ เพราะสร้างมากี่กัปกี่กัลป์แล้ว และยังจะเป็นต่อไปอีกไม่มีประมาณ ถ้าไม่มีธรรมเป็นเครื่องตัดฟันให้ขาดจากภพจากชาติเสียแล้ว อย่างไรจะไม่มีทางยุติได้ในการสร้างภพสร้างชาติ นับแล้วนับเล่ายิ่งกว่ารากไผ่เป็นไหน ๆ เสียอีก
ที่ธรรมท่านกล่าวไว้ว่าความมืดดำของสัตว์ ก็คือความมืดดำในเรื่องภพชาติความเป็นมาของตัวเองนั่นแล ไม่มีใครจะสามารถทราบได้ กิเลสตัวสร้างภพชาตินี้จึงสนุกสร้างภพชาติโดยถ่ายเดียว ไม่มีคำว่าตัดภพตัดชาติให้แก่สัตว์ทั้งหลาย ถ้าธรรมไม่มีเลยสัตว์ทั้งหลายก็ไม่มีทาง จะเป็นอย่างนี้ไปตลอดไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลาย ไม่มีคำว่า หนึ่ง สอง สาม คือนับไม่ได้ ถึงขนาดนั้น
พระพุทธเจ้าท่านมาตรัสรู้แต่ละพระองค์ ๆ ก็คือมาเปิดช่องเปิดทางให้สัตว์ทั้งหลาย ผู้ที่เคยสร้างความดีไว้ด้วยอรรถด้วยธรรมของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ๆ นั้น ให้ได้สร้างความดีเพิ่มขึ้น และเปิดทางให้ได้หลุดพ้นไปดังพระอรหันต์ท่าน นี่เป็นผู้แน่นอนแล้วว่าหลุดพ้นได้โดยสิ้นเชิง นอกจากนั้นพระอริยบุคคลตั้งแต่ขั้นต่ำขึ้นมา นี่เป็นความแน่นอนในภพชาติ อย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้นก็ยุติลงได้ หมดปัญหาในการเกิดแก่เจ็บตาย ไม่มีอีกแล้วตลอดกาลไหน ๆ
ผู้ที่สร้างความดีไว้ก็เหมือนต้นไม้ที่ได้รับการบำรุงจากปุ๋ยทั้งหลาย ย่อมเจริญเติบโตขึ้นมา จิตใจที่มีความดีเป็นเครื่องอุดหนุนหรือสนับสนุนหล่อเลี้ยง ก็เป็นจิตใจที่จะแน่นอนต่อความหลุดพ้นของตน นี่ละการมีธรรม ก็คือการสร้างความหมาย การสร้างธรรมชาติที่ควรยุติได้ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย ภพชาตินี้ได้สั้นหรือลดลงมาโดยลำดับ จนกระทั่งถึงผ่านพ้นไปได้ ถ้าไม่มีธรรมเลยก็ไม่มีทางออกเลย
ในจิตวิญญาณนี้เราไม่จำเป็นจะต้องไปพรรณนาถึงเรื่องพระพุทธและพระอรหันต์ทั้งหลายโดยถ่ายเดียว โดยที่มองข้ามหัวใจตนเองซึ่งเคยเป็นอย่างนั้นมาแล้ว การที่จะให้ทราบเรื่องเหล่านี้อย่างชัดเจน ก็คือการปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงพาดำเนินมาแล้ว และสั่งสอนไว้แล้วนี้เป็นลำดับไป ที่เรียกว่า สาวโก ผู้สดับตรับฟัง แล้วพยายามแกะไปตามร่องรอยแห่งศาสดาที่วางไว้แล้วนั้น ก็จะถึงฝั่งแห่งความพ้นทุกข์โดยไม่ต้องสงสัย ในกาลใดกาลหนึ่งจนได้
ย้อนเข้ามาถึงตัวของเราเองในการปฏิบัติ จะไม่สงสัยเมื่อถึงขั้นของจิตที่จะไม่สงสัยตนเองแล้ว ย่อมจะรู้ชัดเจนไปโดยลำดับ และสามารถที่จะตีแผ่ไปถึงจิตวิญญาณทั้งหลายได้โดยไม่ต้องสงสัยเช่นเดียวกัน เพราะสภาพสิ่งที่แวดล้อมหรือปิดบังนั้นเหมือนกัน และจะเบาบางลงไปด้วยการปฏิบัติ กำจัดสิ่งที่หนาแน่นปิดบังทั้งหลายนี้ออกไปได้โดยลำดับ
เมื่อธรรมชาติที่ปิดบังนี้ค่อยจางออกไป ๆ จากจิตใจ ในขณะเดียวกันจิตใจก็จะเริ่มทราบเรื่องของตัวเอง ทราบเรื่องสิ่งเกี่ยวข้องพัวพันไปได้โดยลำดับ และสามารถที่จะกำจัดออกได้โดยสิ้นเชิงไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่ภายในใจนี้แล้ว ในบรรดาเชื้อที่จะพาให้วกเวียนเกิดตายอยู่อย่างที่เคยเป็นมานั้น เป็นใจที่บริสุทธิ์หลุดพ้นด้วย สนฺทิฏฺฐิโก ของผู้ปฏิบัติ จะพึงรู้เองเห็นเองโดยไม่ต้องไปถามผู้หนึ่งผู้ใดเลย แม้พระศาสดาประทับอยู่ตรงหน้าก็ไม่ทูลถามท่าน เพราะความชัดเจนนั้น
พระพุทธเจ้าชัดเจนในพระองค์ฉันใด เราผู้ตัดกิเลสให้ขาดสะบั้นจากจิตใจของเราเอง ก็ชัดเจนในตัวเองฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นบรรดาพระสาวกทั้งหลายที่ได้บรรลุธรรมแล้ว จึงไม่ปรากฏว่าพระสาวกองค์ใดเกิดความสงสัย แล้วไปทูลถามความบรรลุของตน ไม่มีเลย นั่น
เพราะความรู้แจ้งเห็นชัดในหัวใจของผู้ปฏิบัตินั้น มีน้ำหนักเท่ากันกับความรู้แจ้งของพระองค์ และพระองค์ทรงทราบพระองค์โดยเด่นชัด มีน้ำหนักเท่ากัน เพราะฉะนั้นจิตดวงที่บริสุทธิ์เต็มที่แล้วนี้ จึงสามารถตีแผ่กระจายไปในบรรดาจิตทั้งหลายที่ยังไม่บริสุทธิ์ และที่วกเวียนเปลี่ยนแปลงเกิดตายสับสนปนเปในภพน้อยภพใหญ่ ไม่ทราบกี่ภพกี่ชาติกี่ภูมิ ที่สามารถรู้แจ้งแทงทะลุไปโดยตลอดทั่วถึงไม่สงสัย เพราะเราเป็นผู้ที่ผ่านมาแล้วทั้งนั้น สิ่งที่ผ่านมาทั้งหมดนี้ปรากฏอยู่กับใจ ปรากฏอยู่กับความรู้ของเราผู้ปฏิบัติ เห็นได้อย่างชัดเจน
เมื่อเราได้เห็นอย่างชัดเจนภายในจิตใจของเราแล้ว เราจะปฏิเสธสัตว์ทั้งหลายว่าไม่เกิดไม่ตาย ไม่เปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิได้อย่างไร ความเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมินั้นเป็นสิ่งเคลือบแฝงอยู่กับใจ ไม่ใช่ใจแท้ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเคลือบแฝงได้ เช่นเดียวกับผ้าของเราที่ย้อมด้วยสีต่าง ๆ เช่นนั้น จิตใจจึงมีความเปลี่ยนแปลงไปได้ในภพน้อยภพใหญ่สูง ๆ ต่ำ ๆ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ
ด้วยเหตุนี้บรรดาภพใดภูมิใด จึงไม่ว่างจากสัตว์ทั้งหลายที่จะไปเกิดไปถือปฏิสนธิในภพภูมินั้น ๆ เพราะอำนาจแห่งกรรมของตนหมุนไปเอง ตัวของเราสร้างเอง แล้วมีสิ่งผลักดันให้พาสร้างกรรม ให้พาเกิด คือกิเลสตัวที่ละเอียดแหลมคมที่สุดได้แก่อวิชชา นี่เป็นเชื้อของจิตที่จะให้เกิดตายโดยไม่ต้องสงสัย
ผู้ปฏิบัติเท่านั้นที่จะทราบเชื้อของจิตอันนี้ได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจนไม่สงสัย เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าไม่ทรงสงสัยในพระองค์ แล้วประกาศสอนธรรมให้โลกทั้งหลายได้ทราบ ตามความจริงที่เปิดเผยขึ้นแล้วในพระทัย เราเองผู้ปฏิบัติก็เป็นเช่นนั้น ไม่สงสัยในความเป็นของตน ไม่สงสัยในความเป็นมาของตน และไม่สงสัยในความที่จะเป็นไปอีกต่อไป เพราะขณะนี้ได้ขาดสะบั้นไปหมดแล้ว ไม่มีเงื่อนต่อที่จะให้เกิดภพเกิดชาติดังที่เคยเป็นมาแล้ว ประจักษ์กับใจไม่สงสัย
การที่แสดงออกด้วยความรู้ความเห็นอย่างจริงจังไม่สงสัย จะสะทกสะท้านที่ตรงไหน ไม่มีคำว่าสะทกสะท้าน ไม่มีคำว่าลูบ ๆ คลำ ๆ เพราะเป็นสิ่งที่ผ่านความรู้นี้มาแล้วด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม ความรู้นี้เป็นธรรมชาติที่ต้องยอมรับว่ารู้ รู้ไปตลอด เป็นแต่เพียงว่ารู้ในระยะหนึ่งเป็นรู้ที่สับปนไปด้วยสิ่งจอมปลอมทั้งหลาย รู้ในระยะสุดท้ายเป็นความรู้ที่บริสุทธิ์ สามารถที่จะแทงทะลุปรุโปร่งไปได้อย่างไม่ถามผู้ใด
นี่ละพระพุทธเจ้าทรงประกาศธรรมสอนโลก พระองค์ทรงถือพระทัยของพระองค์เองนี้เป็นพื้นเป็นฐาน เป็นเรื่องเป็นราว เป็นภพเป็นชาติ สับเปลี่ยนวกเวียนเกิดแก่เจ็บตายในภพน้อยภพใหญ่ พระองค์ถือเรื่องของพระองค์นี้ที่สมบูรณ์แล้ว กับสิ่งทั้งหลายที่เคยเป็นมานั้น ออกสั่งสอนโลก เพราะจิตใจของโลกมีธรรมชาติอย่างเดียวกันนี้ทั้งนั้นเป็นเครื่องปกปิดกำบัง และพาให้เกิดแก่เจ็บตาย ทุกข์มากทุกข์น้อยเรื่อยมา เมื่อเป็นเช่นนั้นพระองค์จะสงสัยที่ตรงไหน สั่งสอนโลกด้วยความรู้แล้วจึงสั่งสอน เห็นแล้วจึงสอน จะลูบคลำไปที่ไหน สิ่งที่รู้นั้นเป็นของจริง เห็นแล้วรู้แล้วประจักษ์ สิ่งที่ควรละก็ละแล้ว สิ่งที่ควรบำเพ็ญก็บำเพ็ญให้เต็มพระทัยแล้ว สงสัยที่ตรงไหน
การสอนโลกด้วยความไม่สงสัย สอนโลกด้วยโลกวิทู รู้แจ้งทั้งโลกนอกโลกในตลอดทั่วถึง จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น จะเอาความสงสัยมาจากไหน ไม่สงสัย การไม่สงสัย สอนออกมาด้วยความไม่สงสัยจึงมีน้ำหนักมากทีเดียว ด้วยเหตุนี้บรรดาผู้ที่ต้องการความจริงอยู่แล้ว เช่น พวก อุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู ซึ่งพร้อมแล้วที่จะรู้ที่จะเห็นธรรมทั้งหลาย พร้อมแล้วที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ เมื่อได้ฟังธรรมของจริงที่พระองค์แสดงออกอย่างเปิดเผย ด้วยความจริงเต็มส่วนจากพระทัยแล้ว ผู้ที่ต้องการความจริงทั้งหลายอย่างเต็มหัวใจอยู่แล้ว ย่อมรับได้เต็มหัวอก และสลัดปัดทิ้งสิ่งที่เป็นข้าศึกอย่างสุดเหวี่ยง แล้วก็หลุดพ้นไปได้ นี่ละธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้
ธรรมนี้แลเป็นเครื่องที่จะกำจัดปัดเป่า หรือตัดฟันสิ่งที่เคยเป็นเชื้ออยู่ภายใน ให้สัตว์ทั้งหลายได้รับความทุกข์ทรมาน พาเกิดแก่เจ็บตายในภพนั้นภพนี้สูง ๆ ต่ำ ๆ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เมื่อธรรมได้ทะลุออกไปหมดแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็หมดไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่เลย นี่ละพระพุทธเจ้าท่านทรงสอนโลกท่านสอนอย่างนี้
ผู้ที่ต้องการของจริงอยู่แล้วก็รับอย่างเต็มหัวใจ และรู้ตามลำดับลำดา ไม่มีสิ่งใดที่จะปิดบังลี้ลับความรู้อันนี้ได้ เพราะความรู้ก็รู้จริง ๆ สิ่งที่มีให้ความรู้รับทราบกันสัมผัสกันก็มีจริง ๆ จึงไม่มีอันใดเป็นโมฆะ เช่น บาปมี บุญมี นรกมี กิเลสมี พูดง่าย ๆ ขึ้นกิเลสมีก่อน เมื่อกิเลสมีในหัวใจมันจะพาให้ไปที่ไหนบ้างเป็นไปได้ทั้งนั้น อำนาจของกิเลสไม่มีสิ่งใดปิดบังได้ ไม่มีสิ่งใดหักห้ามได้ นอกจากธรรมเท่านั้น ที่กิเลสจะพาไปไม่ได้ไม่มี
เอา สร้างความชั่วสร้างลงไป ที่ความชั่วจะพาไปไม่ได้นี้ไม่มี ใครจะอวดดีอวดเก่งขนาดไหนก็ตามเถอะ อย่างไรก็ไม่พ้นที่จะถูกความชั่วนี้ผลักลงในสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา มากน้อยหนักเบาตามกำลังแห่งความชั่วที่ตนสร้างมานั้นโดยไม่ต้องสงสัย ความดีก็เช่นเดียวกันมีอำนาจไปคนละทิศละทาง อำนาจความดีก็เสริมให้ไปดีโดยถ่ายเดียวเท่านั้น อำนาจแห่งทางชั่วก็กดลงไปให้สู่ชั่วโดยถ่ายเดียว
สิ่งเหล่านี้เป็นของมีได้ เพราะธรรมชาติที่จะให้สร้างบาปสร้างกรรมคือการกระทำ การกระทำที่เรียกว่ากรรมนี้มีอยู่ในหัวใจ ท่านจึงว่ากิเลสเป็นสาเหตุให้สัตว์ทั้งหลายทำกรรม นั่นท่านบอกไว้แล้วอย่างชัดเจน มีกิเลสนี้เท่านั้นที่จะผลักดันให้สัตว์ทั้งหลายได้ทำกรรม เมื่อทำกรรมแล้วย่อมจะต้องได้รับผลของกรรมโดยไม่ต้องสงสัย และวกเวียนกันไปกันมาอยู่อย่างนี้ไม่สิ้นไม่สุด พอกรรมนี้จะหมดกรรมนั้นตัวก็สร้างขึ้นมาอีกแล้ว ต่อกันไปเรื่อย ๆ เป็นลูกโซ่ ตัวเองเป็นผู้สร้างกรรมมามากน้อย ตัวเองนั้นแลไม่สามารถที่จะนับอ่านกรรมของตนมากน้อยได้ เพราะมากต่อมาก
สิ่งเหล่านี้เป็นของมีอยู่เป็นอยู่ เหตุใดพระพุทธเจ้าจะทรงทราบไม่ได้ นี่ทรงทราบต้นเหตุที่จะให้สัตว์ทำกรรมนี้ แล้วก็ทรงทราบเรื่องกรรมของสัตว์ และผลแห่งกรรมที่พาสัตว์ให้ไปเกิดในที่ต่าง ๆ โดยหาประมาณไม่ได้อย่างชัดเจนในพระทัยแล้ว จึงสอนโลกอย่างองอาจกล้าหาญ ไม่ว่าภพใดภูมิใดที่ความรู้ของพระพุทธเจ้าจะไม่หยั่งถึงนั้นไม่มี ไม่สุดวิสัยของพระพุทธเจ้า อยู่ในวิสัยของศาสดาเอก ที่จะทรงทราบตามสิ่งที่มีอยู่ทั้งหลายนั้น ไม่มีอันใดปิดบังได้
นี้ละพระพุทธเจ้าทรงนำธรรมมาสอนโลก นำมาจากความจริงที่ทรงสัมผัสสัมพันธ์แล้วทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งสถานที่อยู่และทั้งของความดีความชั่ว ของคนดีคนชั่ว บาปบุญเป็นสิ่งที่จะผลักดัน เป็นสิ่งที่จะหนุนให้ไป และย้อนหลังมาจากนั้นก็คือกิเลสเป็นธรรมชาติที่ให้สัตว์สร้างกรรม นี่แหละหมุนกันไปอย่างนี้ จึงทรงทราบทุกสิ่งทุกอย่าง คำว่าพระสัพพัญญูรู้ตลอดทั่วถึง ในบรรดาสิ่งที่มีในโลกสมมุติทั้งหลายนี้ทรงทราบ แล้วทรงนำสิ่งที่ทราบนั้นมาสั่งสอนโลกทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว สัตว์ผู้ที่คอยที่จะรับความจริงทั้งดีทั้งชั่วอยู่แล้วย่อมจะถึงใจทันที และพอใจละพอใจบำเพ็ญเต็มหัวใจด้วยกัน นี่ละที่หลุดพ้นไปได้เพราะเหตุนี้
ที่นี่ผู้ปฏิบัติเมื่อถึงขั้นที่หยั่งทราบโดยลำพังตนเองแล้วก็ปิดไม่อยู่ ตามกำลังความสามารถที่เรียกว่าสามัญวิสัยหรือสาวกวิสัย พุทธวิสัยวิสัยของพระพุทธเจ้านั้นยกไว้เสียเพราะภูมิของศาสดา ทีนี้ภูมิสาวกวิสัย ภูมิของสาวกก็สุดเหวี่ยงของท่านเหมือนกัน แต่ละองค์ ๆ มีความสามารถแก่กล้าที่จะรู้ในสิ่งทั้งหลาย เต็มสติกำลังความสามารถวาสนาของตน และสุดท้ายก็ได้ความจริงมาพูดอย่างเต็มปากหรือเต็มหัวใจ รู้เต็มหัวใจเช่นเดียวกัน สาวกก็เต็มหัวใจสาวก พระพุทธเจ้าก็เต็มพระทัยของพระพุทธเจ้า ในบรรดาที่ทรงรู้และรู้สิ่งทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในแดนโลกธาตุนี้ ปิดบังลี้ลับไม่ได้ แน่ะ ท่านนำสิ่งที่เป็นอยู่ภายในจิตใจ และสิ่งที่ใจสัมผัสนี้แลออกมาสั่งสอนโลก ท่านจะอุตริมาจากที่ไหน
เราอยากทราบชัดเรื่องความจริงของพระพุทธเจ้า ว่าทรงสั่งสอนโลกไม่มีอันใดอุตริหลอกลวงโลกเช่นเดียวกับกิเลสอะไรเลยอย่างนี้ ให้เราดูหัวใจของเรา ปฏิบัติใจของเราให้เปิดเผยออกซิ เมื่อเปิดเผยออกแล้วสิ่งที่แต่ก่อนเราไม่รู้มันรู้ได้นี่ ก็เหมือนอย่างเวลาเราหลับตาอยู่นี้ มีอะไรเราไม่เห็น เมื่อหลับตาแล้วไม่ว่าวัตถุหยาบละเอียดขนาดไหนมองไม่เห็นทั้งนั้น ใหญ่โตยิ่งกว่าภูเขาก็มองไม่เห็นเพราะหลับตา แต่ลืมตาออกดูซิเป็นยังไง วิสัยของตาที่จะรู้จะเห็นสิ่งใดแล้วปิดไม่อยู่ สามารถที่จะรู้ได้ตลอดทั่วถึง ตามกำลังแห่งความสามารถของตาของหูตนนั่นแหละ
นี่ก็เหมือนกันเช่นนั้น เมื่อถึงภูมิที่จิตใจจะรู้แล้วต้องรู้ ในขณะที่มีสิ่งปกปิดกำบังเช่นเดียวกับเราหลับตานั้น ก็หมายถึงกิเลสอวิชชานั่นแลมันปิดหัวใจไว้ สิ่งที่มีอยู่มันก็ไม่ให้เห็นไม่ให้รู้ แน่ะ สิ่งที่ควรจะทำมันไม่ให้ทำ สิ่งที่ควรจะอยากมันไม่ให้อยาก แต่สิ่งไม่ควรอยากมันให้อยาก ทีนี้เรามีอำนาจน้อยกว่ามัน เราก็เหมือนกับสัตว์ตัวหนึ่งถูกจูงกันไปอย่างนั้นแหละ จูงไปจนจมูกขาดก็ยังไม่รู้ว่าตนว่าได้ถูกจูง นี่ท่านจึงเรียกว่าโง่ โง่อย่างนี้เอง เพราะเหตุไร เพราะพระพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันต์ก็ดี เมื่อถึงขั้นรู้แล้วท่านไม่ได้โง่เลย กิเลสจะละเอียดขนาดไหนท่านสามารถรู้ได้หมด และละได้โดยสิ้นเชิงไม่มีเหลือ สังหารให้แหลกไปหมดจากใจ
แต่ก่อนใจนี้เป็นที่เหยียบย่ำทำลาย ที่ขับที่ถ่ายของกิเลสทุกประเภท แต่เวลาได้สร้างธรรมขึ้นมาโดยลำดับลำดาไม่ท้อถอยแล้ว ธรรมมีกำลังมากก็สามารถสังหารสิ่งเหล่านี้ออกจนไม่มีเหลือภายในจิตใจแล้ว ใจก็สว่างโร่ไปหมด สิ่งที่ไม่เคยรู้ก็รู้ สิ่งไม่เคยเห็นก็เห็นขึ้นที่นี่ เช่นเดียวกับเราเปิดหูเปิดตาขึ้นมา ทำไมไม่ใช่คนตาบอดหูหนวก อยู่ในวิสัยที่จะรู้จะเห็นแท้ ๆ ทำไมจะไม่เห็น โลกเรานำใช้กันมาตลอดทุกรูปทุกนาม ด้วยตาด้วยหูที่มีอยู่เห็นอยู่ ไม่ใช่คนตาบอดพอจะไม่เห็น
นี่ความรู้ภายในจิตใจที่จะส่องมองทะลุในสิ่งทั้งหลายซึ่งควรแก่วิสัยของตน ต้องรู้ต้องเห็นปิดไม่อยู่ นี่ละเป็นเครื่องกระจายถึงองค์ศาสดา พระสาวกไม่ยอมแต่เพียงความบริสุทธิ์อย่างเดียว ยังยอมสิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับจิตที่จะสัมผัสสัมพันธ์รู้เห็นกันได้ เช่น นรก บาปบุญ คุณโทษ สวรรค์ พรหมโลก นิพพาน ปิดได้ยังไง ใจดวงนี้จะไม่รู้ใจดวงนี้จะไม่เห็น ปิดได้ยังไง
ที่นี่ผู้ที่ไม่รู้ไม่เห็นทำยังไงมันก็ไม่เห็น มันหลับตาอยู่นี่จะว่าไง บอกว่านี่น่ะ ๆ มันก็ไม่เห็น เหมือนกับเราบอกคนตาบอด บอกว่านี่น่ะสีแสงเป็นอย่างนี้ วัตถุนี้เป็นอย่างนี้มันก็ไม่เห็น บอกคนหูหนวกมันก็ไม่ได้ยินอีกเหมือนกัน ถึงระยะมันบอดถึงระยะมันหนวกเวลาหลับตาเอาไว้มันก็ไม่เห็น เมื่อถึงขั้นมันเปิดเผยแล้วปิดไม่อยู่ ท่านจึงเรียกว่า โลกวิทู รู้แจ้งโลกนอกโลกใน ไม่ว่าเพียงศาสดาพระองค์เดียวเท่านั้นจะรู้จะเห็นว่าเป็น โลกวิทู สาวกทั้งหลายท่านมีความสามารถตามภูมิของท่านเช่นเดียวกัน ที่จะรู้โลกนอกโลกในตลอดทั่วถึง ตามอุปนิสัยความสามารถของตนปิดไม่อยู่ เมื่อถึงขั้นจะรู้แล้วเป็นเช่นนั้น
เหมือนอย่างว่ากิเลสเต็มหัวใจ เมื่อถึงขั้นสังหารกิเลสจนเกลี้ยงภายในจิตใจแล้ว จะเอาอะไรมามีในใจ นั่น ใจของพระพุทธเจ้าบริสุทธิ์ ๆ อย่างไร มองดูหัวใจเจ้าของบริสุทธิ์อย่างไรก็อันเดียวกัน ยอมรับกันทันที ๆ เลย นั่น นี่ละธรรมของจริงเป็นอย่างนี้ แต่จะต้องมาทราบกันที่ภาคปฏิบัติ เพียงแต่ได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านตำรับตำราเฉย ๆ เราไม่ได้พิสูจน์ด้วยภาคปฏิบัติก็เป็นเพียงความบอกเล่า เป็นเพียงความจำ แม้จะเชื่อก็เชื่อด้วยความสำคัญ เชื่อด้วยสัญญา เชื่อด้วยจากความบอกเล่า ไม่ได้เชื่อด้วยความเห็นจริง ได้ยินจริง สัมผัสสัมพันธ์จริง ๆ ด้วยตัวของเราเอง
ถ้าลงได้สัมผัสสัมพันธ์ด้วยตัวของเราแล้ว ไม่ว่าจะสัมผัสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ต้องรู้หมด เมื่อได้สัมผัสแล้วปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งนั้นไม่มี สิ่งนั้นมีรูปลักษณะอย่างไร สัมผัสสัมพันธ์กันแล้ว มีความสุขความทุกข์ละเอียดหยาบต่างกันอย่างไร ใจจะเป็นผู้บอกจากความสัมผัสนั้น ๆ โดยไม่ต้องสงสัย นี่ละสาวกทั้งหลายยอมรับพระพุทธเจ้ายอมรับอย่างนี้ ด้วยภาคปฏิบัติ
ถ้าปฏิบัติแล้วก็ต้องได้เห็น ถ้าปฏิบัติแบบเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่แบบหลับหูหลับตากินแล้วนอนกอนแล้วนิน ไม่สนใจกับอะไร มีแต่ชื่อแต่นามว่าปฏิบัติเท่านั้น ไม่เป็นท่า เพราะไม่ขึ้นอยู่กับคำเสกสรรปั้นยอเอาเฉย ๆ การปฏิบัติต้องขึ้นอยู่กับการปฏิบัติจริง นี่ละส่วนสำคัญอยู่ที่ตรงนี้
ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นน่ะสด ๆ ร้อน ๆ ไม่ได้มีคำว่าอดีตอนาคต ไม่มีคำว่าไกล ท่านจึงเรียกว่า อกาลิโก เป็นของมีอยู่แล้ว ขอให้ปรับธรรมชาติที่ควรจะรู้ในสิ่งที่มีอยู่แล้วนั้น ให้พอเหมาะพอควรที่จะพึงทราบกันเป็นลำดับลำดาเถิด จะทราบไปโดยลำดับลำดา จนกระทั่งทราบโดยตลอดทั่วถึง ทราบเต็มหัวใจไม่มีอะไรจะสงสัยเลย ท่านจึงไม่เรียกว่าสภาพทั้งหลายเป็นของไกลเป็นของใกล้ มีอยู่ไกลมีอยู่ลึก จิตหยั่งไม่ถึงอย่างนี้ไม่มี
จิตเป็นธรรมชาติไม่มีกาลสถานที่เวล่ำเวลา เป็นธรรมชาติที่รู้อยู่ตลอดเวลาฉันใด สภาพทั้งหลายซึ่งเป็นของมีอยู่ตลอดเวลา เมื่อเปิดใจออกรับกันแล้วทำไมจะรู้จะเห็นไม่ได้ ว่าใจจะหยั่งไม่ถึงมีที่ไหน อะไรจะละเอียดแหลมคมยิ่งกว่าใจ ขอให้ปรับใจให้ถึงเถิด ไม่เคยรู้ก็รู้ ไม่เคยเห็นก็เห็น แต่จะพูดออกมาเสียทุกแง่ทุกมุมไม่คำนึงถึงเหตุถึงผลนั้น ไม่ใช่เรื่องของผู้รู้ ไม่ใช่เรื่องของปราชญ์ ไม่ใช่เรื่องของผู้รู้โดยอรรถโดยธรรม ไม่ใช่ผู้ทรงธรรมโดยหลักธรรมชาติแท้ อันเป็นความสำคัญ
ถ้าเป็นอย่างนั้นใช้ไม่ได้ ไม่ใช่ความรู้แท้ มีความหิวความกระหาย ไม่มีเหตุมีผลบันดลบันดาล มีแต่ความหิวความกระหายบันดลบันดาล มันก็เป็นแบบโลก ๆ ไปเสียไม่ใช่แบบธรรม ถ้าแบบธรรมแล้วรู้เท่าไรก็เหมือนไม่รู้ เมื่อไม่ถึงกาลสถานที่เวล่ำเวลา หรือบุคคลที่ควรจะพูดให้ฟังหนักเบามากน้อยเพียงไร
อย่างพระพุทธเจ้าท่านสอนโลกซิ เบื้องต้นก็แสดงอนุปุพพิกถา นั่นเราเห็นไหมในตำรับตำรามีอยู่แล้ว ผู้ที่ควรจะรับอนุปุพพิกถา ๕ ประการก็ต้องทรงสอนนั้นไปก่อน ดังที่เคยแสดงแล้ว อนุปุพพิกถา ๕ ไม่จำเป็นจะต้องจาระไนต่อไปอีก ทรงแสดงธรรมไปโดยลำดับ เหมือนกันกับเครื่องบินเหินฟ้า ขึ้นจากสนามแล้วเหินขึ้น ๆ สูงลิบลับไปเลย ตั้งแต่ธรรมพื้น ๆ ฟอกจิตใจขั้นพื้น ๆ ไปโดยลำดับลำดาจนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น ที่เหมือนกับเรือบินเหินฟ้า รายใดที่ควรจะแสดงลงในอริยสัจ ๔ ให้ได้อย่างรวดเร็วถึงอย่างรวดเร็วพระองค์ก็ไม่รอ ทรงแสดงธรรมะนี้เท่านั้น ไม่ต้องไปพูดถึงอนุปุพพิกถา คนที่อยู่ในภูมินั้นจะต้องพูดอย่างนั้นสอนอย่างนั้น สอนอย่างอื่นไม่ได้
นี่ละใครจะเกินพระพุทธเจ้าเรื่องความเฉลียวฉลาดในการสั่งสอนคน ทีนี้เราจะไปพูดทุกแง่ทุกภูมิให้คนฟังเสียไม่ทราบประเภทใด คนภูมิใดขั้นใด พูดไปหมดทั้ง ๆ ที่เขาไม่รู้ว่าบุญบาปเป็นยังไง นรกสวรรค์เป็นยังไง ศีลเป็นยังไง สมาธิเป็นยังไง ปัญญาเป็นยังไง ก็จะแสดงแต่เรื่องนี้ให้เขาฟังอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันไม่เข้าใจไม่เกิดประโยชน์อะไร แสดงความโง่เจ้าของให้โลกเขาเห็นเสียอีก เพราะไม่รู้จักประมาณ ไม่รู้จักความพอดี เมื่อถึงขั้นที่ควรจะแสดงขั้นใดภูมิใด บุคคลประเภทใด นำออกเองเป็นเอง รู้จักความเหมาะสมเอง นั่นสมกับผู้รู้ธรรมเห็นธรรมโดยแท้ เป็นอย่างนั้น
เราเคยเห็นไม่ใช่เหรออย่างพระอัสสชิกับพระสารีบุตร พระอัสสชิท่านแสดงตัวแสดงลวดลายออกอะไรบ้าง ไม่แสดง เมื่อถึงขั้นที่พระสารีบุตรจะทราบภูมิของพระอัสสชิแล้วไม่ต้องบอก พระสารีบุตรก็เป็นองค์ที่ฉลาดแหลมคมรองพระพุทธเจ้า ได้รับเอตทัคคะทางปัญญา เฉลียวฉลาดพอตัว ย่อมจะทราบเรื่องของพระอัสสชิว่าถึงขั้นใดภูมิใด เป็นพระประเภทใดโดยไม่ต้องสงสัย นั่น ได้ทราบว่าพระอัสสชิอยู่ในทิศใดแดนใด พระสารีบุตรจะต้องยกมือไหว้อาจารย์ของตัวเองในทิศนั้นภูมินั้น ทิศทางโน้นทางไหนก็ตาม อยู่ตลอดจนกระทั่งวันนิพพาน นั่นเป็นยังไง ท่านรู้ภูมิกัน ท่านรู้จักความเหมาะสมของกันและกัน
ไม่จำเป็นจะต้องมาเปิดว่า อาตมานี้คือพระอัสสชิ ได้สำเร็จพระอรหัตอรหันต์แล้ว พูดไปอะไร แสดงเพียงเหตุที่จะให้เกิดผลให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ฟังเท่านั้น พระสารีบุตรก็รับได้แล้ว สำเร็จพระโสดาขึ้นมา นั่นเป็นจุดที่ผู้ฟังจะได้รับประโยชน์ ท่านแสดงออกในจุดนั้น ท่านไม่จำเป็นจะต้องบอกว่า อาตมาเป็นพระอรหันต์ เพราะคำนี้จะเป็นคำเสนียดจัญไรสำหรับพระสารีบุตรในเวลานั้น หรือบุคคลผู้ใดก็ตามที่ยังไม่สมควรจะแสดงให้ฟัง ไปแสดงก็เป็นความผิดของผู้นั้นซึ่งไม่รู้จักประมาณในการแสดงธรรม
นั่นละธรรมะจึงมีประมาณ ไม่ใช่จะพูดทุกบททุกบาททุกแง่ทุกมุม เราดูอย่างพระพุทธเจ้าแสดงกับสาวกซิ พระสาวกองค์ใดไปรู้เห็นสิ่งใดมา พวกเปรตพวกผีอยู่ในสถานที่ใดแดนใด แล้วก็มากราบทูลพระพุทธเจ้า เล่าถวายพระองค์ พระองค์ก็ทรงรับสั่งว่า เอ้อ เรื่องสิ่งเหล่านี้ ๆ เราเห็นแล้วตั้งแต่สมัยโน้น ๆ ปีโน้น พ.ศ.โน้น ถ้าว่า พ.ศ. เพราะเป็นอดีตที่ล่วงมาแล้ว แต่เราตถาคตไม่พูด ไม่เห็นเกิดประโยชน์จะพูดไปทำไม เมื่อมีผู้พูดผู้เห็นด้วยแล้วตถาคตก็พูด นี่ตถาคตได้ทราบมาก่อนแล้ว นั่นฟังซิ นั่นมันเหมาะสมเมื่อไร ที่ไหน กับบุคคลผู้ใด พระองค์ก็ทรงสั่งสอนให้ทราบ ทรงเล่าให้ฟัง ภาษาของเราเป็นอย่างนั้น
นี่ก็เหมือนกันธรรมจะเต็มหัวใจก็ให้เต็มอยู่ซิ ธรรมแท้ไม่หิวไม่โหย ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย ไม่เหมือนกิเลส ถ้ากิเลสมีมากมีน้อยต้องดิ้นรนกระวนกระวาย อยากแสดงตัว อยากแสดงออกเสมอ นั่นเรื่องของกิเลส แล้วก็ชอบอวดตัวทั้ง ๆ ที่หยาบที่สุดเลวที่สุด ก็ชอบพูดว่าดีที่สุด ว่าฉลาดแหลมคมที่สุด คำว่าดี ๆ ไม่มีอะไรเกินกิเลส ทั้ง ๆ ที่กิเลสนั้นชั่วที่สุด แต่ชอบยกตนเป็นเช่นนั้น แต่เรื่องของธรรมไม่ เหตุผลกลไกควรจะเป็นอย่างไรก็แสดงไปตามเหตุตามผล เหมือนกับมีดที่คมกล้าที่สุดแล้วเก็บไว้ในฝัก ใส่ฝักเอาไว้ เวลาต้องการจะใช้ ถอดมาจากฝักแล้วใช้ เสร็จแล้วเก็บเข้าในฝักเหมือนไม่เคยได้ฟันอะไรเลย
ธรรมกับจิตก็เหมือนกัน เมื่อถึงกาลที่จะแสดงให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย สำหรับผู้ฟังจะได้เต็มภูมิของตัวเองแล้ว ก็แสดงออกเสียไม่มีอะไรเหลือเลย เอาให้เต็มภูมิ เมื่อยังไม่ถึงขั้นนั้น ควรจะแสดงขั้นใดออกก็ต้องแสดงขั้นนั้น นี่จึงชื่อว่าผู้ปฏิบัติ รู้เรื่องแล้วรู้จักปฏิบัติต่อเรื่องราวทั้งหลาย ตลอดผู้มาเกี่ยวข้องเป็นคนประเภทใด กาลสถานที่เวล่ำเวลาหรือบุคคลเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องใช้ ในกาลสถานที่เวล่ำเวลาหรือบุคคลนั้น ๆ นั่นละธรรม
เพราะฉะนั้นธรรมอันนี้จึงเป็นของสำคัญที่ผู้ปฏิบัติจะพึงปฏิบัติ ให้รู้เองเห็นเองนั้นละมากที่สุด เป็นแต่เพียงท่านแนะแนวทางให้ ดังที่อธิบายมาเหล่านี้ก็คือแนวทางแห่งธรรม เอ้า มันจะปิดไปไหนลองดูซิ บาปพระพุทธเจ้าว่ามี เอ้า ๆ พิจารณาลงไปในทางจิตตภาวนาของเรา มันจะไม่เห็นอย่างไร บาปจะสัมผัสที่ไหนถ้าไม่สัมผัสที่ใจ บุญจะสัมผัสที่ไหนถ้าไม่สัมผัสที่ใจ รูปจะสัมผัสที่ไหนถ้าไม่ใช่สัมผัสที่ตา เอ้า นรกสวรรค์จะสัมผัสที่ไหน ถ้าไม่สัมผัสที่ใจที่มีญาณหยั่งทราบนี่จะไปสัมผัสที่ตรงไหน พระพุทธเจ้าท่านสัมผัสที่ตรงไหนสาวกก็ต้องสัมผัสที่ตรงนั้น เพราะมีเครื่องรับเหมือนกันนี่ เป็นแต่เพียงว่าลึกตื้นหยาบละเอียดต่างกันไปเท่านั้นเอง แต่ส่วนที่ให้เห็นปิดไม่อยู่ นั่น
เอ้า นิพพานละเอียดขนาดไหนทำไมสาวกรู้ได้ นั่นเราดูซิ อะไรสัมผัส ใจนั่นแหละสัมผัสนิพพาน ใจนั่นแหละสัมผัสความสิ้นกิเลส ใจนั่นแหละเป็นคลังกิเลส เวลาเปิดอันนี้ออกหมด ถอดถอนอันนี้ออกหมดแล้ว กลายเป็นใจที่บริสุทธิ์ ทำไมจะไม่ทราบว่าตนบริสุทธิ์ และทำไมจะไม่ทราบเรื่องของพระนิพพาน ถามใครทำไม นี่ให้พากันจำเอา ถ้าอยากจะทราบเรื่องความเป็นมาของตน ดังที่กล่าวแล้วตะกี้นี้ในเบื้องต้นว่า จิตวิญญาณแต่ละดวง ๆ นั้น ความสลับซับซ้อนแห่งความเกิดแก่เจ็บตาย หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงในภพน้อยภพใหญ่มากี่กัปนับไม่ถ้วนนั้น จะมีความหนาแน่นสับสนยิ่งกว่ากอไผ่ทั้งกอ เพียงวิญญาณดวงเดียวนี้เท่านั้นก็มากยิ่งกว่ารากกอไผ่ทั้งกอนั้นแล้ว
แล้วเราจะทำยังไง หรือยังจะยินดีสั่งสมรากไผ่ คือความเกิดแก่เจ็บตายของเรานี้ให้มากมูนขึ้นไปกว่านี้ แล้วใครจะเป็นคนแบกคนหาม ใครจะเป็นคนรับผิดชอบแบกหามในกองทุกข์ทั้งหลายในภพน้อยภพใหญ่ ที่เกิดขึ้นจากความเกิดความตายเป็นสำคัญ ถ้าเราไม่รีบสลัดเสียตั้งแต่บัดนี้ซึ่งเป็นกาลอันควร อัตภาพก็อำนวย จิตใจก็อำนวย เพศก็อำนวยอยู่แล้ว
เราขัดข้องอะไรเวลานี้ พิจารณาเจ้าของซิมันขัดข้องอะไร ถ้าไม่ขัดข้องเพราะอำนาจของกิเลสเหยียบย่ำทำลาย หรือกีดขวางไม่ให้ก้าวเดินนี้เท่านั้นไม่มีอะไรมาขัดข้อง ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ อากาศเป็นอากาศ ทุกสิ่งสรรค์ในโลกอันนี้เป็นธรรมชาติของตัวเอง จริงอยู่ตามหลักธรรมชาติ ไม่มีสิ่งใดมากีดขวาง มากั้นกางหวงห้ามเหมือนกิเลสที่ฝังอยู่ในหัวใจนี้ เป็นผู้กีดผู้ขวางอยู่โดยหลักธรรมชาติของตัวตลอดเวลานี้เท่านั้น ไม่มีอะไรเป็นเครื่องกีดขวางจิตใจ
นี่ละมันไม่พร้อมเพราะกิเลสไม่พาให้พร้อม และอย่าเข้าใจว่ากิเลสจะพาให้พร้อมในการปฏิบัติธรรม ถ้าไม่ฝืนไม่ต่อยกันแล้วจะไม่เห็นฤทธิ์เห็นเดชระหว่างกิเลสกับเราเลย ว่าใครเป็นผู้มีอำนาจเหนือกัน ระหว่างกิเลสกับธรรมะที่เราจะนำมาต่อกรกันนั้น มีเท่านี้
ท่านทั้งหลายเห็นความเกิดแก่เจ็บตายเป็นของประเสริฐเลิศเลอที่ตรงไหน เอ้า เอามาพิจารณาดูซิ ทุกคนทุกรูปทุกนามนี้เก่งกว่ารากไม้ไผ่นั้นแล้วแหละไม่น่าจะสงสัย นี้เปิดให้ฟังอย่างชัดเจน ถึงจะตัวเท่าหนูก็ตามเถอะผมไม่สงสัยจริง ๆ พูดออกมาอย่างเปิดเผยเต็มหัวใจ หัวใจดวงนี้พอเทียบได้กับรากไผ่นั่นแหละ นี่พอเทียบได้เฉย ๆ นะ แต่ยังไม่มีเพียงเท่านี้ ยังมากกว่านี้อีก หากพอเทียบกันเป็นข้อเปรียบเทียบได้ ที่เราจะนำมาพิสูจน์ตัวของเรา แล้วหาอุบายวิธีที่จะตัดรากไผ่นี้ออกไม่ให้มันสืบต่อไปอีกให้มากยิ่งกว่าที่เป็นอยู่นี้
ทีนี้ เอ้าฟาดให้มันขาดสะบั้นลงไป รากไผ่เก่าที่มีอยู่ขนาดไหนมันจะผุจะพังไปหมด ขอให้กิเลสอวิชชาตัณหานี้พังทลายลงไปจากหัวใจเถอะ ซากเก่าซากใหม่มีเท่าไรจะกลายเป็นอดีต เรื่องผ่านไปแล้วทั้งนั้น ไม่เข้ามายื้อแย่งแข่งดีกับเราอีกต่อไป เหมือนดังกิเลสที่ยื้อแย่งแข่งดีกับเราอยู่เวลานี้เลย ให้เอาตรงนี้นะ
จิตเป็นของสำคัญ กิเลสเป็นของสำคัญ การที่จะฆ่ากิเลสเพื่อไม่ให้มีเยื่อใยต่อไป แบกกองทุกข์ต่อไป มีอยู่กับหัวใจของเรา มีอยู่กับผู้มีความเพียรในการประพฤติปฏิบัติธรรมนี้เท่านั้น เราอย่าเห็นอะไรเป็นของวิเศษ รากไผ่วิเศษไหมพิจารณาซิ ความเกิดแก่เจ็บตายของเราวิเศษที่ตรงไหน ถ้าวิเศษก็พวกเรามันพวกรากไผ่ อาจารย์ของรากไผ่มาพอแล้ว หนายิ่งกว่ารากไผ่แล้ว ควรจะวิเศษไปเสียนานแล้ว เดี๋ยวนี้เป็นยังไง อะไรพาไม่ให้วิเศษอยู่เวลานี้ อะไรพาให้เป็นรากไผ่ ก็กิเลสนั่นซิ กิเลสนั่นละตัวสำคัญ
ทีนี้ฟันกันลงไป เอาให้มันเห็นดำเห็นแดงดูซิ ให้เราระวังตั้งแต่เรื่องของกิเลส มันเร็วที่สุดนะ ในขณะที่กิเลสเร็ว ในขณะที่กิเลสเรืองอำนาจ เอะอะจะออกก่อนเพื่อน ๆ แล้วทำลายเรานั้นแหละ ทำลายธรรมในใจของเราที่ควรจะเกิด ความเพียรก็ล้มเหลว สติสตังก็ล้มเหลว อะไร ๆ ขึ้นชื่อว่าเป็นธรรมแล้วล้มเหลว ๆ มีแต่กิเลสเหยียบเอา ๆ เมื่ออยู่ในกาลเวลาของมันที่มีอำนาจ เรืองอำนาจ เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ในการปฏิบัตินี้แหละ มันรู้ตัวของมันและรู้ตัวของเราด้วย เวลามันอ่อนเปียกสู้กิเลสไม่ได้เป็นยังไง มันรู้อยู่ในหัวใจ อันนี้เป็นสัจธรรม ไม่ใช่จะเป็นความจำพอจะให้หลงลืมได้ ผู้ปฏิบัติจะต้องเจอในสิ่งเหล่านี้
เพราะพวกเรานี้ส่วนมากเป็น ทุกขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา ทั้งปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วทำไมจะไม่สนุกต่อยกันกับกิเลส กิเลสต่อยเราทำไมจะไม่สนุกทุกข์ล่ะ แบกทุกข์จนไปไม่ไหวไปไม่รอดแล้วและตายทีหนึ่ง ๆ และขึ้นมาแบกอีกตาย ๆ อยู่อย่างนั้น ทำไมจะไม่แจ้งทำไมจะไม่รู้ ก็หัวใจดวงนี้ที่ถูกอวิชชาใส่ลิ่มสลักเข้าไป แทงเข้าไปตรงนั้น ให้พาเกิดแก่เจ็บตายอยู่ตลอดเวลาเรายังไม่เข็ดไม่หลาบ เราจะไปเข็ดหลาบเมื่อไร
ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมที่สอนให้เข็ดหลาบทั้งนั้น เพราะพระองค์ทรงรู้ทรงเห็นทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ทั้งโทษทั้งคุณของกิเลสและของธรรม เหตุใดเราจะมาสงสัยสิ่งเหล่านี้อยู่ และวันตายมันไม่แน่นะ หมดลมหายใจเท่านั้นก็ตายไม่ว่าชาติชั้นวรรณะใด นั้นสมมุติกันไปตามขั้นตามภูมิ สิ่งสำคัญที่เป็นเครื่องประกันอยู่เวลานี้คือลมหายใจนี้เท่านั้น เอ้า ถ้าลมหายใจหมดเมื่อไรแล้ว นั่งอยู่ก็ตาย นอนอยู่ก็ตาย เวลานี้เรายังมีลมหายใจอยู่ เอ้า สู้ซิสู้กิเลส ถ้าเห็นว่ากิเลสเป็นภัยตามหลักธรรมที่สอนไว้ และเห็นว่าธรรมเป็นคุณ นำมาต่อสู้กิเลสให้บรรลัยลงไปซิ นี่ละการปฏิบัติธรรม
อย่าท้อแท้เหลวไหลหรืออ่อนแอให้เห็นอยู่ สอนหมู่สอนเพื่อนนี้สอนด้วยความจริงอกจริงใจ สอนด้วยความเมตตาสงสาร และสอนด้วยความผ่านมาของเจ้าของ ล้มลุกคลุกคลานมายังไงก็เคยสอนหมู่เพื่อนแล้ว เป็นอย่างไร บางทีจนแทบว่าจะเป็นจะตายจริง ๆ ตายก็ไม่มีกุสลาแหละ นี่ไม่รู้กี่ครั้งกี่หนเรื่องสู้กับกิเลส เพราะฉะนั้นจึงกล้าพูดได้ว่าไม่มีสิ่งใดที่จะเหนียวแน่นแก่นที่ฉลาดที่สุดยิ่งกว่ากิเลส เพราะสติปัญญาเราเคยใช้ในโลกในสงสารก็ไม่เท่าไรนัก แต่เวลานำมาใช้ต่อสู้กับกิเลสเพื่อให้มันบรรลัยไปจากจิตใจนี้ แหม มีเท่าไรเป็นทุ่มกันหมด ๆ ชีวิตจิตใจทุ่มลงไปหมด เอ้า เป็นก็เป็น ตายก็ตาย ทุกข์แสนทุกข์ มหาทุกข์ก็เคยทุกข์มาแล้วในการต่อสู้กิเลส
นี่ก็ได้พูดให้ฟังทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ได้มาหลอกลวงหมู่เพื่อนนี่วะ สอนอย่างเต็มอกเต็มใจที่เจ้าของเป็นมายังไง จะว่าโอ้ว่าอวดก็ เอ้า ใครจะว่าอะไรก็ว่าไป แต่เราไม่ได้โอ้ได้อวดใคร เราพูดด้วยความเมตตาสงสาร พูดด้วยความจงรักภักดีต่อหมู่ต่อเพื่อนที่เห็นมาอยู่ด้วยมากมายเท่าไร จะพูดออกมาอันหนึ่งก็ขัดอันหนึ่ง จะพูดออกมาอันหนึ่งก็ขัดอันหนึ่งอยู่อย่างนี้ละ แล้วตกลงก็เต็มวัด ๆ นี้จะว่ายังไง แล้วยังจะมาอวดหมู่เพื่อนอยู่เหรอ การสอนอรรถสอนธรรมนี้ยังจะมาอวดกันเล่น ๆ อยู่เหรอ
การรับหมู่เพื่อนไว้ด้วยความสงสารเห็นอกเห็นใจ เทียบหัวใจเราหัวใจท่านทั้งหลายใส่กัน ดังที่เราเคยพูดให้ฟังว่าไปเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์นี้ แหม แทบล้มแทบตาย พอไปถึงหลวงปู่มั่นเท่านั้นละไม่อยากได้ยินเลยคำที่ว่า นี่ที่นี่เต็มแล้ว รับไม่ได้แล้ว กลัวว่าหัวอกมันจะแตก ถึงขนาดนั้น เรายังไม่ลืมนะคำพูดของท่าน คำนั้นเป็นสด ๆ ร้อน ๆ ว่า นี่พอดีนะนี่ เมื่อวานนี้ท่านเนตรไปจากนี้ แล้ววันนี้ท่านมหาก็มา ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้อยู่ กุฏิไม่ว่าง นั่นฟังซิท่านพูด อู๋ย มันเสียวซิจะตาย เข้าถึงหัวตับโน่นน่ะ ทั้ง ๆ ที่จะได้อยู่อยู่นะ ฟังซิ นี่ละนำมาพินิจพิจารณาถึงหมู่เพื่อน เพื่อนฝูงทั้งหลาย มากน้อยก็ทนเอา ๆ นอกจากมันเหลือกำลังแล้ว หมู่เพื่อนก็ควรจะพิจารณาในความเหมาะสมความพอดี นี่อันหนึ่ง แล้วยังจะมาสอนหมู่เพื่อนด้วยความหลอกลวงอยู่เหรอ
เวลาทุกข์ก็ทุกข์อย่างนั้นนะ ผมพูดได้เต็มปากว่าในชีวิตของผม ไม่เคยมีอะไรหนักยิ่งกว่าการต่อสู้กับกิเลส เอาขนาดนั้นเชียวนะ บางทีเดินไปนี่ไปข้องหนามข้องเครือนิดหนึ่งล้มโครมลงไปแล้ว เพราะไม่มีกำลังจะก้าวขาแต่ใจไม่ถอย นั่นไม่รู้กี่ครั้งกี่หนจะเป็นจะตาย ได้เคยพูดให้ฟังจนกระทั่งเขาแตกบ้านแตกเมืองออกไปดูเรา เขาว่าเราตายแล้วไม่กินข้าว กี่วัน ๆ อดกันไป ๆ นานเข้า ๆ มันก็ผิดสังเกตซิคนเรา ก็ต้องเป็นไปได้แหละ เขาก็ต้องไปดู นั่นฟังซิ
นี้เอามาอวดหมู่เพื่อนเหรอนี่ ผมไม่ได้อวด พูดถึงเรื่องของกิเลสเวลาหนักหนักหนา เวลาต่อสู้กิเลสถึงขนาดนั้นเชียวนะ เจ้าของยังไม่รู้ว่าจะตาย คนอื่นเขายังมาดู รู้ว่าเราจะตายนี้แห่กันออกมาดูเห็นไหม นี่บางครั้งเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ผมไม่ได้อุตริมาหลอกลวงหมู่เพื่อน นี่ขั้นต่อกรกันถึงขนาดนั้น
แล้วก็นี้ละเป็นพื้นเป็นฐานที่จะให้เรามีทุนเป็นลำดับลำดา และเป็นกำไรขึ้นในวันนั้นวันนี้ หนุนกันขึ้น ๆ สมาธิไม่มีก็ค่อยมีขึ้นมา เอ้า เมื่อมีขึ้นมาแล้วจิตจนกระทั่งกลายเป็นสมาธิด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความอุตส่าห์พยายาม เสริมกันขึ้น ๆ ต่อจากนั้นก็ฟัดกันทางปัญญา เอ้า ปัญญาไม่มีครูบาอาจารย์ก็ออกไม่ได้ มันติด ติดสมาธิ เพราะสมาธินี้เป็นความสุขที่พอจะให้ติดได้ถึงติดได้คนเรา ความสุขในสมาธิก็พออยู่พอกินแล้ว จิตใจไม่ฟุ้งซ่านรำคาญ พอจิตหยั่งเข้าสู่ความรู้อันเดียวแน่วอยู่อย่างนั้น ไม่อยากออกยุ่งกับอะไรเลย ตาไม่อยากมองดู หูไม่อยากฟัง มันเป็นการยุ่งกวน รบกวนจิตใจของเราให้กระเพื่อมเปล่า ๆ
เมื่อจิตได้แน่วอยู่ในสมาธินั้น อยู่สักกี่ชั่วโมงก็อยู่ได้ นี่ละมันติดได้อย่างนี้เอง สุดท้ายก็นึกว่าความรู้ที่เด่น ๆ อยู่นี้เองจะเป็นนิพพาน อันนี้จะเป็นนิพพาน จ่อกันอยู่นั้นว่าจะเป็นนิพพาน ๆ สุดท้ายมันก็เป็นสมาธิอยู่อย่างนั้นละ จนกระทั่งวันตายก็จะต้องเป็นสมาธิ และติดสมาธิจนกระทั่งวันตายถ้าไม่มีครูบาอาจารย์มาฉุดมาลากออก ผมเองก็คือหลวงปู่มั่นมาฉุดมาลาก
เถียงกันเสียจนตาดำตาแดง จนกระทั่งพระทั้งวัดแตกฮือกันมาเต็มอยู่ใต้ถุน นี่เพราะฟังการโต้กับหลวงปู่มั่น ไม่ใช่โต้ด้วยทิฐิมานะอวดรู้อวดฉลาดนะ โต้ด้วยความที่เราก็เข้าใจว่าจริงอันหนึ่งของเรา ท่านก็จริงอันหนึ่งของท่าน สุดท้ายก็หัวเราแตก เพราะท่านรู้นี่ เราพูดทั้ง ๆ ที่กิเลสเต็มหัวใจ แต่เข้าใจว่าสมาธินี่จะเป็นนิพพาน แล้วสุดท้ายก็ท่านมาไล่ออก
เห็นไหม สมาธิมีความสุขมากขนาดไหน หือเท่าไร แล้วเนื้อติดฟันมีความสุขขนาดไหนว่าซี สมาธิก็เหมือนกับเนื้อติดฟันนั้นแหละ มันสุขขนาดไหนเนื้อติดฟัน ท่านรู้ไหม ๆ นี้เราไม่ลืมนะ จากนั้นมา ท่านรู้ไหมว่าสมาธิทั้งแท่งนั้นละคือตัวสมุทัยทั้งแท่ง ท่านรู้ไหม ๆ นั่น ตรงนี้มันก็ต่อยกับท่านอีก ดูซิ ถ้าหากว่าสมาธิเป็นตัวสมุทัยแล้ว สัมมาสมาธิจะให้เดินที่ไหน นั่นเอาซิโต้ท่าน มันก็ไม่ใช่สมาธิตาย นอนตายอยู่อย่างนี้ซิ สมาธิของพระพุทธเจ้า สมาธิต้องรู้สมาธิ ปัญญาต้องรู้ปัญญา อันนี้มันเอาสมาธิเป็นนิพพานเลย มันบ้าสมาธินี่ นั่นเห็นไหมท่านใส่เข้าไป สมาธินอนตายอยู่นี้เหรอเป็นสัมมาสมาธิน่ะ เอ้า ๆ พูดออกมาซิ มันก็ยอมล่ะซิ
พอออกจากท่านไปแล้ว โห นี่เราไปเก่งมาจากทวีปไหนนี่ เรามามอบกายถวายตัวต่อท่านเพื่อศึกษาอรรถศึกษาธรรมหาความจริง ทำไมวันนี้จึงมาโต้กันกับท่านยิ่งกว่ามวยแชมเปี้ยนเขานี่ มันเป็นยังไงเรานี้ มันไม่เกินครูเกินอาจารย์ไปแล้วเหรอ และท่านพูดนั้นท่านพูดด้วยความหลงหรือใครเป็นคนหลงล่ะ เอาละที่นี่ย้อนเข้ามาหาตัวเอง ถ้าไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามที่ท่านสอนนี้มาหาท่านทำไม ถ้าว่าเราวิเศษวิโสแล้ว ทำไมเราจึงต้องมาหาครูบาอาจารย์ที่ตนว่าไม่วิเศษล่ะ แต่เราก็ไม่เคยดูถูกท่านแหละ นี่หมายความว่าตีเจ้าของ ย้อนคืนมาเข่นเจ้าของ
สุดท้ายก็ก้าวออกทางด้านปัญญา เมื่อก้าวทางด้านปัญญามันก็ผึงเลยที่นี่ ไม่ผึงยังไงก็สมาธิพอตัวแล้ว ถ้าเป็นประเภทอาหารก็คือว่า ผักก็มี เนื้อก็มี ปลาก็มี อะไร ๆ เครื่องทำครัวมีหมดแล้ว จะทำให้เป็นแกงเป็นอะไรก็ได้ เป็นหุงเป็นต้มอะไรได้หมด เพราะเครื่องที่จะทำครัวครบแล้ว เป็นแต่เพียงว่าเอามาแช่ไว้เฉย ๆ ต่อไปสิ่งเหล่านี้ก็จะเน่าเฟะไปละซี มันไม่เป็นแกงให้
อันนี้ก็เหมือนกัน สมาธิก็เหมือนกับเครื่องครัวที่เราเอามาพร้อมแล้วนั่น แต่ไม่ปรุงให้เป็นสติปัญญา ให้เป็นมรรคผลนิพพานขึ้นไป มันก็ไม่เป็นละซี ทีนี้พอออกทางด้านปัญญาเท่านั้นมันก็ผึงเลยทีเดียวที่นี่ เพราะพร้อมอยู่แล้วนี่ สมาธิพร้อมอยู่แล้ว ไม่ว่าเครื่องทำครัวอะไรพร้อมหมดแล้ว จะทำให้เป็นแกงประเภทใด อาหารประเภทใด พร้อมแล้ว ๆ นี่ นี่ก็เหมือนกัน เอ้าจะพิจารณาทางด้านปัญญา จะพิจารณายังไงมันพร้อมแล้วนี่ เพราะสมาธิหนุนตัวอยู่เต็มที่แล้ว ทำไมจึงจะมากินสมาธิว่าเป็นมรรคผลนิพพาน ทำไมจึงมากินผักกินหญ้าเข้าใจว่าแกงล่ะ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ปรุงเป็นแกง นั่นฟัดกัน เจ้าของนั่นแหละ
พอออกจากนี้แล้วปัญญาก็ก้าวละที่นี่นะ ก้าวแล้วก็ยังกลับไปสู้กับท่านอีกนะ คือเวลามันออกทางด้านปัญญานี้เอาอีกแล้ว กลางคืนไม่ได้นอน บางคืน ๒ คืน ๓ คืนมันไม่ยอมนอน กลางวันยังไม่ยอมนอนอีก เอ้า กูนี่จะตายละนะว่าเจ้าของ กูนี่มันจะตายละนะ มันยังไงนี่ บทเวลานอนอยู่ในสมาธิมันก็อยู่อย่างนั้น ทีนี้เวลาออกก็ออกอย่างนี้ทำไงนี่ แล้วก็ขึ้นไปหาท่านอีก ที่พ่อแม่ครูอาจารย์ว่าให้ออกทางด้านปัญญา เวลานี้ออกแล้วนะ ถึงขนาดที่ว่าไม่ได้นอนสองสามคืนแล้วนี่นะ กลางวันก็ไม่ได้นอน นั่นละมันหลงสังขาร ฟังซีท่านพูดนะ ก็ถ้าไม่ได้คิดไม่ได้พิจารณามันก็ไม่เกิดปัญญา
นี่พูดถึงเรื่องปัญญา เมื่อถึงขั้นหมุนแล้วเป็นอย่างนั้น นี่ละจึงว่าสมาธิเป็นเครื่องหนุนปัญญาเป็นอย่างนี้เอง เห็นชัด ๆ เราไม่สงสัย ติดสมาธิเราก็ไม่สงสัย เราเคยติดแล้ว ถึงขนาดที่พ่อแม่ครูอาจารย์ไล่ออกนั่น ทีแรกไปหาท่านเมื่อไร ท่านถามว่าสบายดีเหรอ สงบดีเหรอ สงบดีอยู่เราก็ว่าอย่างนี้ ท่านก็ไม่ว่าอะไร พอนานเข้า ๆ ก็อย่างว่านั่นแหละ เป็นยังไงท่านมหาสบายดีเหรอ..ใจ สบายดีอยู่ สงบดีอยู่ ท่านจะนอนตายอยู่นั้นเหรอ ฟังซิ
ทีนี้ขึ้นละนะ พลิกเปลี่ยนไปหมดสีหน้าสีตาอะไร แสดงท่าทางออกหมดแล้วนะนี่ จะเอาเต็มที่ละ จะเขกเต็มที่ละ ท่านจะนอนตายอยู่นั้นเหรอ(ท่านว่า) ท่านรู้ไหมสุขในสมาธิเหมือนกับเนื้อติดฟัน ท่านรู้ไหม นี่ละที่นี่ก็ไปอย่างที่ว่านั่นละ พอเอากันอย่างจัง ๆ แล้ว ออกไปก็พิจารณาทางด้านปัญญา เมื่อออกมันก็ออกจริง ๆ เพราะมันพร้อมแล้วนี่ที่จะเกิดปัญญา มันหมุนติ้ว ๆ ทั้งวันทั้งคืน
เดินจงกรมไม่รู้จักหยุด เดินตั้งแต่เช้าตั้งแต่ฉันจังหันแล้วจนกระทั่งถึงปัดกวาด ฟังซิ ไม่ได้รู้ว่าเหนื่อยว่าอะไร เพราะมันหมุนติ้ว ๆ อยู่นี่ งานอยู่นี้ เดินเข้าไป บางทีเดินจงกรมนี้ โน่นเซซัดเข้าไปในป่าโน่น โครมครามในป่าโน่น เพราะจิตมันไม่ออกตาก็มืดมัวไปหมดละซี มีแต่ขาก้าวไป ๆ ก็เข้าไปโน่น แล้วออกมาอีกเอาอีกอยู่งั้น ไม่มีคำว่าน้ำท่าอะไร ๆ ไม่สนใจทั้งนั้นเมื่อถึงขั้นตะลุมบอนกัน นี่ละปัญญาเป็นอย่างนั้น
ที่เราพูดตะกี้นี้ว่า พ่อแม่ครูจารย์ให้ออกพิจารณาทางด้านปัญญา ทีนี้พิจารณาละที่นี่ ไม่ได้นอนได้สองสามคืนแล้ว กลางวันมันยังไม่นอนอีก (ท่าน)นั่นละมันหลงสังขาร (เรา)ถ้าไม่พิจารณามันก็ไม่รู้นี่นา (ท่าน)นั่นละบ้าสังขาร บ้าหลงสังขาร แล้วก็เอาใหญ่เลย (เรา)พอคราวนี้หมอบเลยนะ งูเห่าค่อยหมอบลง ทีนี้มันอาจจะถูกอย่างที่ท่านว่านั่นแหละ เรานึกในใจนะ ทีนี้ก็นิ่ง พอออกไปก็ ถึงอย่างนั้นก็ตามเถอะ มันก็หมุนติ้ว ๆ ของมันเหมือนกัน แต่บทเวลาจะตายแล้วก็เข้าสมาธิได้ด้วยบังคับนะ ถ้าธรรมดาแล้วมันจะไม่ยอมเข้าเพราะเห็นว่า
.ทีนี้มันไม่พอดีนะ เห็นว่าสมาธินี่นอนตายอยู่เฉย ๆ ไม่เห็นได้ผลได้ประโยชน์อะไร นอนตายอยู่เฉย ๆ
สมาธิ ปัญญาต่างหากได้ผล
ทีนี้ก็จะเอาปัญญาแบบไม่หยุดอีกแหละ ว่าการทำงานได้งาน การพักไม่ได้งานก็ไม่พัก จะทำงาน ก็จะตายอีกเหมอนกัน ทีนี้เวลามันเต็มที่เต็มฐานแล้ว มันจะไปไม่รอดเพราะมันอ่อนไปหมดสกลกาย การทำงานด้วยปัญญา การคิดด้วยปัญญาเป็นอัตโนมัติก็ตาม แต่ก็เป็นงานของจิตควรที่จะได้พัก เห็นว่ามันหนักเกินไปแล้วก็บังคับ ถึงขนาดที่ได้บริกรรมนะ พุทโธ ๆ ถี่ยิบไม่ยอมให้ออก คือออกจะทำงาน ไม่ใช่ออกฟุ้งซ่านรำคาญไปที่ไหนนะ ออกจะออกไปหางานที่ทำยังไม่เสร็จ บังคับไว้ ๆ จนกระทั่งสุดท้ายจิตก็ลงแน่ว เงียบเลย และปรากฏว่ากำลังวังชานี้ โอ้โห เพิ่มขึ้นมา ทีนี้เลยพูดไม่ถูกนะ
พอใจมีกำลังในการพักสมาธิแล้ว พอถอนผึงเท่านั้นละโดดผึงไปเลย ทีนี้มันก็เหมือนยังกับว่าเราได้พักผ่อนนอนหลับเสียแล้ว นี่พูดถึงการงานนะ หรือได้รับประทานอาหารมีกำลังวังชาแล้วทำงานทำการ งานชิ้นนั้นแหละแต่มันเสร็จได้อย่างรวดเร็ว นี้ก็เหมือนกันไม้ท่อนนั้นแหละ ปัญญาอันนี้แหละ ฟันลงไปมันขาดสะบั้นลงไปเลย เพราะปัญญาได้พักตัว นั่น แต่ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ มันไม่อยากจะพักนะ ต้องฝืนเอาเฉย ๆ แม้ระลึกถึงคำของท่านพูดมันหลงสังขารนั้นอยู่เสมอ แต่อำนาจแห่งการเพลินในการพิจารณานี้มีกำลังมากกว่า มันถึงไม่ยอมพักง่าย ๆ
อยากให้หมู่เพื่อนได้รู้เอาไว้เรื่องเหล่านี้ ไม่ผิดที่สอน นี้แน่ใจ เวลามันเลยเถิดมันเลย เช่นอย่างท่านว่า อุทธัจจกุกกุจจะ หมายความว่าอย่างไรในสังโยชน์เบื้องบน คือความเพลินในการพิจารณา เพลินในงานของตน ไม่มีการพักผ่อนในจิตให้พอเหมาะพอดีเลย นี่ก็เป็นสังโยชน์เครื่องข้องอันหนึ่ง ทำให้เนิ่นช้าอันหนึ่ง ความหมายว่าอย่างนั้น แต่เวลามันผ่านแล้วก็รู้เอง นี่ถึงได้บอกไว้ก่อนเลย
ทีนี้เมื่อเวลาถึงขั้นนั้นแล้วมันก็หมุนติ้ว ๆ เลย เอาละที่นี่นะ กิเลสมีอยู่ที่ไหน ดังที่เคยพูดแล้วในอาการของจิตที่พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอะไร ๆ มีแต่เรื่องการฆ่ากิเลส ตามฆ่ากิเลสทั้งนั้น ถึงขั้นที่เกรียงไกรแล้วเป็นอย่างนั้น กิเลสนี้หมอบโผล่ออกมาไม่ได้ โผล่ออกมาถ้าเทียบออกมาแล้ว เหมือนหัวขาดทันที ๆ เลย ทีนี้เวลากิเลสไม่โผล่ก็ต้องค้นหาล่ะซี นั่นละค้นหาก็เป็นงานอันหนึ่ง พอเจอกิเลสแล้วได้งานแล้ว เอาอีกอันหนึ่ง นั่น สุดท้ายก็หมุนติ้ว ๆ ทั้งวันทั้งคืน
จนถึงขนาดที่ว่า เอ๊ นี่ทำยังไงจิตของเรานี้น่ะ เวลาเราคิดไว้เบื้องต้นว่าจิตมีความสงบเยือกเย็น สงบไปมากเพียงไร ละเอียดมากเท่าไร จิตจะมีความสะดวกสบายมากขึ้น ๆ งานการทั้งหลายจะน้อยลง ๆ นี่มันคิดเอาเฉย ๆ ไม่ได้ตรงกับความจริงที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ ความจริงที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้มันยุ่งมากที่สุดก็คืองานขั้นนี้ นั่น แล้วเมื่อไรมันจะได้สงบตัวลงสักที ให้พักผ่อนสบาย พอคิดหยุดลงเท่านั้นมันก็ผางเข้ากันอีกแล้ว ตะลุมบอนกันอีกแล้ว ๆ อยู่อย่างนั้น
จนกระทั่งเอาให้กิเลสพังลงเสียหมดไม่มีอะไรเหลือเลย เอ้า จิตจะดับให้ดับไป อะไรจะดับ..ดับ ไม่มีอะไรที่จะเอาเหลือไว้เลย สมมุติว่าเราเป็นอรหันต์นะ ให้เป็นอรหันต์หัวตอไม่มีความรู้ เอาให้มันเห็น ฟัดกันลงหมดไม่มีอะไรเหลือไว้เลย ไม่สงวนอะไรไว้มันจะเป็นการสงวนกิเลส แม้เช่นนั้นมันก็ไปลืมตัวอยู่จนได้นั่นแหละ ความสงวน ความรัก ความอ้อยอิ่ง ความอัศจรรย์ ความแปลกประหลาด มันโผล่หน้าขึ้นมาไม่รู้ตัวเลย ติดจนได้เห็นไหม อวิชชาเก่งไหม ทั้ง ๆ ที่ถึงขนาดนั้นปัญญายังไปหมอบราบกับอวิชชา เป็นองครักษ์อวิชชาไว้อีก นั่น แต่ก็ไม่นานเพราะสติปัญญาขั้นนี้ไม่ใช่เป็นขั้นนอนใจ อะไร ๆ กระดิกพลิกแพลงนิด ๆ จะทราบทันที ๆ เศร้าหมองนิดทราบทันที
คือธรรมดาคำว่าผ่องใส จะต้องมีเศร้าหมองเป็นคู่กัน มันทราบทันที ๆ เพราะมันละเอียดทันกัน ๆ สุดท้ายมันก็ไม่นอนใจกับธรรมชาติอันนี้ เอ๊ ทำไมธรรมชาติอันนี้จึงเป็นอย่างนี้ ถึงเป็นอย่างนี้ นั่นละที่นี่ พอเห็นว่าอันนี้เป็นอย่างนี้แล้วมันไม่ไว้ใจละที่นี่ ไม่นอนใจ ไม่ไว้ใจ เห็นว่าอันนี้จะเป็นข้าศึกอะไรอันหนึ่งจนได้แล้วแล้วนี่ สติมันก็ปักเข้าไป ปัญญาปักเข้าไปตรงนั้น พังทลาย เอ้าที่นี่ไล่ฆ่ามัน หมุนติ้ว ๆ ต่อไปก็ไม่หมุนนี่
มาเดี๋ยวนี้ เดินจงกรมทั้งวันมันก็ไม่ยอมเดินจะว่าไง มันขี้เกียจ นั่นถึงขั้นขี้เกียจมันขี้เกียจได้ เดินจงกรมอยู่กับป่ากับรกไม่ได้เล่นกับอะไรแหละ เล่นกับนกกับสัตว์ไปอย่างนั้นที่นี่ แทนที่จะเดินจงกรมหัวปักหัวปำเหมือนแต่ก่อนมันไม่เอา เดินจงกรมเป็นแบบเล่นไปเฉย ๆ จะฆ่าอะไร เอ้า พูดอย่างอยากให้มันเห็นนี่ เอ้า ฆ่าอะไร สู้กับอะไร แน่ะ ให้มันถึงนั้นซี
ถ้าหากมันหมดแล้ว หามาซีกิเลสตัวไหน ถ้าว่ามันหมดจริง ๆ แล้ว ยังหาเจออยู่จะเรียกว่ามันหมดเหรอ เอ้า ไม่ว่าความโกรธ ไม่ว่าความโลภ ไม่ว่าความหลง ไม่ว่าอาการใดของกิเลส ถ้าลงได้หมดแล้วค้นเท่าไรก็ไม่มี จึงเรียกว่าหมดละซี ทีนี้จะสู้กับอะไรเมื่อมันหมดแล้ว ทำไมจะไม่รู้ สนฺทิฏฺฐิโก ทรงแสดงไว้แล้วทุกบททุกบาททุกแง่ทุกมุมทุกรายของผู้ปฏิบัติ ทำไมจะไม่รู้ สงสัยพระพุทธเจ้าที่ตรงไหน ความจริงเหมือนกันสงสัยที่ตรงไหน มันก็รู้เองนั่นละเรื่องเหล่านี้
ความเพียรไอ้ที่ว่าเมื่อไรจะได้หยุดได้ยั้งเสียทีไม่ต้องบอก มันขี้เกียจยิ่งกว่าอะไร มันไม่อยากทำ เดินจงกรมไปก็เล่นกับสัตว์ เห็นกิ้งก่าก็เล่นกับกิ้งก่า เห็นจิ้งจกก็เล่นกับจิ้งจก เห็นกระแตก็เล่นกับกระแต เห็นนกก็เล่นกับนกไปเสีย แต่มันมีความหมายหนึ่งนะ คำว่าเล่นนี้คืออะไร คือจิตวิญญาณอยู่ในนั้น นั่น โอ๋ ให้เสวยไปเสียก่อนเถอะ จิตดวงนี้เป็นอย่างนี้เอง ความหมายว่าอย่างนั้นนะ จะเป็นสัตว์เป็นนกเป็นอะไรก็ตาม หยาบละเอียดของร่างของสัตว์นั้นน่ะ มีจิตวิญญาณอยู่นั้น ๆ ทั้งหมด นั่นมันจับเอานั้นนะที่มาเล่น เล่นด้วยความสงสารต่างหากไม่ใช่เล่นด้วยความเพลิดเพลิน นั่นละเรื่องของมัน
ขอให้ท่านทั้งหลายจำไว้นะแล้วปฏิบัติ มันหลอกไหมผู้สอนอยู่เวลานี้ หลอกท่านทั้งหลายไหม แล้วทำไมจึงมาเหลาะ ๆ แหละ ๆ การประพฤติปฏิบัติทำไมจึงมาเหลาะ ๆ แหละ ๆ ให้กิเลสเหยียบหัวอยู่ กิเลสมันวิเศษนักเหรอ กิเลสมันทำลายสัตวโลกมาสักเท่าไรแล้ว รากไผ่เป็นยังไง อะไรเป็นคนทำเป็นรากไผ่ ฟังเอาซิ พิจารณา
เอาละเหนื่อยแล้ว