พระธรรมอันจดจารึกไว้ในพระไตรปิฎกที่แสดงไว้เป็นส่วนรวมนับพอประมาณ คือ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ถ้าเป็นสินค้าก็มีทุกประเภทบรรจุอยู่ในห้างร้านใหญ่ ๆ ลูกค้าต้องการสินค้าประเภทใด คุณค่ามากน้อยสูงต่ำประการใด ทุนทรัพย์ของตนมีเพียงไร ต้องการชนิดไหนหาเลือกได้ในห้างร้านใหญ่ ๆ นั้น เพราะสินค้ามีทุกประเภทสำหรับสนองความต้องการของลูกค้าทั้งหลายที่เข้าไปเกี่ยวข้อง นี่เราเทียบถึงเรื่องคุณสมบัติของธรรม เพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลกทั้งหลาย ที่มีความมุ่งหวังต่อคุณงามความดีทั้งหลายอันมีประเภทต่าง ๆ กัน
ท่านจึงสอนไว้ในธรรมว่า อนุปุพพิกถา พระองค์ทรงแสดงธรรมไปโดยลำดับ เพื่อขัดเกลากิเลสของสัตว์ทั้งหลาย ตั้งแต่พื้น ๆ แห่งธรรมขึ้นไปจนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น เหมือนกับสินค้าที่มีอยู่ในห้างร้านใหญ่ ๆ นับแต่สินค้าราคาต่ำจนกระทั่งถึงราคาสูงสุด ไม่มีอัดไม่มีอั้น ไม่มีบกพร่องขาดเขินในห้างร้านนั้น ๆ เพราะเต็มไปหมดด้วยสินค้าที่ลูกค้าทั้งหลายต้องการ
เรื่องคุณธรรมที่เรียกว่าบุญกุศลที่จะพึงได้แก่ผู้บำเพ็ญก็เหมือนกัน ท่านแสดงไว้มี ๕ ประการ ที่นับพอประมาณ ได้แก่ ทาน ศีล สวรรค์ อาทีนพ เนกขัมมะ
การสงเคราะห์ให้ ทาน มีหลายประเภท ให้ทานด้วยศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสประการหนึ่ง ให้ทานด้วยการบูชาบุญบูชาคุณประการหนึ่ง ให้ทานด้วยความเมตตาสงสารประการหนึ่ง หลายประเภทคำว่าให้ทาน และผลก็มียิ่งหย่อนต่างกัน ให้ทานด้วยความเชื่อความเลื่อมใสนั้น เหมือนอย่างเราถวายทานพระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวกท่าน หรือให้ทานพระสงฆ์ที่ตนมีความเชื่อความเคารพเลื่อมใส มีอานิสงส์มากนี่อันหนึ่ง ให้ทานตอบสนองบุญคุณท่านผู้มีบุญมีคุณต่อเรา นี่ก็มีผลเป็นลำดับลำดาเช่นเดียวกัน ให้ทานหรือสงเคราะห์ผู้ที่ยากจนเข็ญใจไม่สามารถที่จะช่วยตัวเองได้ ก็ช่วยสงเคราะห์สงหาเหล่านี้เป็นต้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นอานิสงส์แต่ละอย่าง ๆ รวมลงไปก็เรียกว่าบุญ นี่ละตั้งแต่บุญพื้น ๆ นี้เป็นลำดับลำดาไป
ศีล คือการรักษาตัวให้มีคุณค่า ตัวของเรานี้ที่จะให้มีคุณค่าต้องมีศีลเป็นเครื่องประดับ ถ้ามีแต่ร่างกายเฉย ๆ กายวาจาเฉย ๆ ใช้ไม่เป็นประโยชน์ก็หาคุณค่าไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีศีลเป็นเครื่องกำกับ เพื่อคุณค่าแห่งกายวาจาใจของเราจะได้สดสวยงดงาม และมีคุณค่าสูงยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ
สีล ท่านแปลว่า ปกติ หรือแปลว่า หิน ความประพฤติตนด้วยความแน่นหนามั่นคง ไม่หวั่นไหวโยกคลอนไปตามสิ่งยั่วยวนทั้งหลายนั้นท่านเรียกว่าปกติ หรือท่านเรียกว่าหิน คือความมั่นคง ศีล ๆ ก็ออกจากศัพท์ว่า สีล คือ หินนั่นเอง คือมีความมั่นคงต่อการรักษาคุณค่าของตัว
การกระทำอันใดที่จะตัดรอนหรือลดคุณค่าของเราลง ยกตัวอย่างเช่นฆ่าสัตว์ คำว่าสัตว์เป็นศัพท์กลาง ๆ นับแต่มนุษย์ลงไป แยกเป็นประเภทได้หลายประเภท เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นบ่อแห่งโทษทั้งหลายซึ่งจะทำความฉิบหายล่มจมแก่ตัวผู้ทำ ไม่เพียงแต่ผู้ที่ถูกทำนั้นได้รับความล่มจมฉิบหายหรือตายไปเท่านั้น แม้ตัวผู้ทำเองก็เป็นเช่นเดียวกันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงว่าการรักษาศีลเป็นการรักษาคุณค่าของตนเอาไว้ ท่านจึงไม่ให้ละเมิด นี่อธิบายเพียงย่อ ๆ แต่ละประเภทที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ในความดีทั้งหลายที่เราจะพึงรักษา ศีลก็เป็นดังที่ว่ามานี้
พูดออกไปด้วยความสัตย์ความจริง ใจที่บงการเพื่อการพูดการกระทำนั้น ๆ ก็ต้องเป็นใจที่สุจริตใจเป็นธรรม กายวาจาจึงจะเป็นศีลและเป็นธรรมไปตาม ๆ ใจนั้น นี่อนุปุพพิกถาท่านแสดงไว้ ศีลสำหรับฆราวาสท่านสอนถึงศีล ๕ คือ ปาณา อทินนา การฉกการลักไม่ใช่ของดี เป็นการทำลายสมบัติและจิตใจของผู้เป็นเจ้าของให้กำเริบเสิบสาน ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ฆ่ากันก็ได้มนุษย์เราเมื่อไปทำลายของกันและกัน ไปฉกไปลักไปปล้นไปจี้เอาของของเขา
ให้กันด้วยน้ำใจให้เท่าไรก็เป็นความปีติยินดี เป็นบุญเป็นคุณทั้งสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างยิ้มแย้มแจ่มใส ให้เท่าไรไม่มีโทษ มีแต่คุณล้วน ๆ ยังความปีติยินดีให้เกิดขึ้นด้วยกันทั้งสองฝ่าย ผิดกันกับการไปบีบบังคับเอาหรือไปฉกไปขโมยเอา การให้ด้วยน้ำใจเป็นเช่นนั้น วัตถุสมบัติมีมากน้อยเพียงไร ก็เป็นบุญเป็นคุณแก่ผู้ให้และผู้รับ ต่างฝ่ายต่างยิ้มแย้มแจ่มใสและสนิทสนม เห็นบุญเห็นคุณต่อกันอย่างถึงใจ นี่คือการให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ผิดกับการไปฉกไปลักไปปล้นไปสะดมเอาเป็นไหน ๆ ท่านจึงห้าม
กาเมสุ มิจฉาจาร ก็เหมือนกัน หลักของธรรมหลักของมนุษย์ต้องเป็นผู้รักศีลรักธรรม รักษาน้ำใจกัน สามีภรรยาเป็นสิ่งที่รักต่อกันอย่างยิ่ง ฝากเป็นฝากตาย ไม่มีอันใดที่จะมีคุณค่าเป็นเครื่องฝังใจยิ่งกว่าระหว่างสามีภรรยาที่ฝากเป็นฝากตายต่อกัน เพราะความรักกัน ท่านจึงให้รักษาศีลข้อนี้ให้มีความแน่นหนามั่นคง นี่ประเพณีของผู้มีศีลมีธรรมย่อมเป็นเช่นนี้ ผิดกับคนที่ไร้ศีลไร้ธรรมอยู่มากทีเดียว
ผู้มีศีลมีธรรมมีคุณสมบัติประจำมนุษย์ต้องเป็นผู้มีศีล นี่กล่าวเพียงย่อ ๆ แต่ละข้อ ๆ เพื่อให้พอเหมาะสมกับเวล่ำเวลา ท่านแสดงอนุปุพพิกถา ส่วนมากท่านแสดงสอนฆราวาสญาติโยมให้รักษาศีล
มุสาก็เหมือนกัน มุสาไม่ใช่ของดี ความโกหกเป็นสิ่งที่ทำความเสียหายแก่กันไม่น้อย โกหกต้มตุ๋นหลอกลวงเหล่านี้ เป็นความเสียหายมากมายท่านไม่ให้ทำ
สุราก็เหมือนกัน คือน้ำเมา ฟังแต่ว่าสุรา คนดี ๆ อยู่นี่เวลาดื่มสุราลงไปแล้ว จะเปลี่ยนแปลงไปโดยลำดับลำดาอย่างรวดเร็ว นับแต่ขั้นปกติจนกลายเป็นละเมอเพ้อฝันเป็นบ้าไปเลย เพราะไม่ใช่ของดี ไปสัมผัสสัมพันธ์ใครเข้าไปก็ทำคนนั้นให้ลดคุณค่าลงไป ๆ จนกระทั่งถึงเป็นบ้าสด ๆ ร้อน ๆ ได้ ท่านจึงห้ามไม่ให้ทำ
จากนั้นท่านก็พรรณนาถึง สวรรค์ สำหรับผู้มีบุญมีคุณได้สร้างบุญสร้างกุศล ยังไงก็ไม่พ้นที่จะต้องไปสวรรค์จนได้ เมื่อผู้มีศีลมีทานแล้วต้องได้ไปแน่ ๆ สวรรค์ก็มีหลายชั้น ตั้งแต่จาตุมขึ้นไป ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี จนกระทั่งถึงพรหม ๑๖ ชั้น เป็นที่อยู่ของผู้มีบุญ ผู้มีบุญต้องได้ไป ความเป็นอยู่ของผู้มีบุญ สถานที่ของผู้มีบุญ ต่างกันเป็นลำดับลำดา ท่านแสดงถึงเรื่องสวรรค์ อานิสงส์แห่งการทำบุญให้ทาน รักษาศีล แล้วไปสวรรค์ได้
จากนั้นท่านก็พูดเพื่อก้าวสู่ธรรมะขั้นสูงกว่านั้นไป ก็พูดถึงเรื่อง อาทีนพ คือโทษแห่งความรัก ความชัง ความใคร่ความสนใจในวัฏวนไม่มีจบมีสิ้น แม้ไปสวรรค์ก็ตาม ไม่ควรจะนอนใจเพียงสวรรค์ว่าเป็นของดีแล้วเท่านั้น พรหมโลกอายุตั้ง ๘๐,๐๐๐ ปีก็ยังต้องหมดได้ นับแต่ ๑ ไปถึง ๘๐,๐๐๐ ปี นับอยู่ทุกขณะๆ ล่วงไปทุกขณะ ๆ ตั้งแต่วินาทีหรือว่าละเอียดกว่าวินาทีขึ้นไปจนกระทั่งถึง ๘๐,๐๐๐ ปีของเวลา แล้วก็ไปยุติกันที่ตรงนี้ สิ้นสุดนั้นแล้วก็ได้เคลื่อน เปลี่ยนแปลงได้อยู่เหมือนกัน
ท่านจึงสอนว่าไม่ใช่เป็นของแน่นอน เพราะมี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เหยียบย่ำทำลายถึงอยู่ได้อยู่ ยังไม่จัดว่าเป็นของที่แน่ใจตายใจได้ ท่านจึงแสดงถึงว่า อาทีนพ แปลว่าโทษแห่งความรักความชัง ความเกลียดความโกรธ ความหมุนเวียนของวัฏวนแม้จะไปอยู่ดีขนาดไหน ถ้ายังมี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เข้าถึงอยู่แล้ว ก็ไม่พ้นจากความพลัดพรากจากกันไป และเป็นความทุกข์มากน้อยสับปนกันอยู่นั้นแล
ทำยังไงถึงจะให้หลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้ ท่านก็แสดงถึงว่า เนกขัมมะ คือบำเพ็ญตนเพื่อสลัดปัดทิ้งสิ่งเหล่านี้ออกไป ให้ถึงฝั่งโพ้นคือพระนิพพานโดยถ่ายเดียวเท่านั้น จะไม่ต้องวกเวียนเปลี่ยนแปลงไปมาที่ไหนอีกต่อไปเลย นี่อนุปุพพิกถามี ๕ ประการดังที่กล่าวมานี้ คือ ทาน ศีล สวรรค์ อาทีนพ เนกขัมมะคือการออกไป หรือจะว่าออกบวชก็ได้ หรือออกด้วยทางจิตใจก็ได้
เนกขัมมะ คือพยายามภาวนา สลัดสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อใจของตนออกไปโดยลำดับลำดา จนกระทั่งถึงออกได้โดยสิ้นเชิงไม่มีอะไรเหลือเลย นั่น ถึงพระนิพพาน นั่นละท่านว่าเนกขัมมะ จนกระทั่งถึงที่สุดวิมุตติหลุดพ้น นี่ถ้าหากว่าเราจะเทียบสินค้าในห้างร้านแล้ว ก็ดังที่กล่าวมานั่นแล ไม่มีอะไรบกพร่องเลย
ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าจึงมีทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นชื่อว่าความดี ความละเอียดลออ และความอัศจรรย์ไปโดยลำดับลำดา จนถึงความอัศจรรย์เกินโลกเกินสงสาร ไม่มีอะไรเกินธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ได้เข้าสัมผัสสัมพันธ์หัวใจของผู้ปฏิบัตินั้นเลย ธรรมมีอยู่ตามหลักธรรมชาติของตนก็จริง แต่ไม่ปรากฏเป็นความแปลกประหลาดอัศจรรย์แก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติได้เข้าสัมผัสสัมพันธ์ในธรรมทั้งหลายเป็นลำดับลำดา จนเข้าถึงใจเต็มที่ กลายเป็นอันเดียวกัน ธรรมกับจิตไม่แยกจากกันเลย นั่นแหละเป็นธรรมอันประเสริฐเลิศยิ่งกว่าโลกทั้งหลาย
ตั้งแต่ธรรมพื้น ๆ ผู้สร้างความดีทั้งหลายนั้นแหละเป็นผู้จะได้ชมธรรมที่กล่าวมา แม้เป็นธรรมสุดยอดก็ไม่พ้นจากการพยายามบำเพ็ญ เหมือนกับเราเก็บเล็กผสมน้อย หรือเช่นเดียวกับฝนตกลงในพื้นปถพีของเรา เม็ดฝนแต่ละเม็ดนี้ไม่ได้โตเท่าเมล็ดมะพร้าวอะไรเลย แต่ตกไม่หยุดไม่ถอยก็ทำสถานที่ให้เต็มไปด้วยน้ำดังที่เราเห็นกันอยู่นี้แล นี่ก็เหมือนกันการสั่งสมคุณงามความดี ด้วยการให้ทานรักษาศีลภาวนา ซึ่งรวมแล้วเรียกว่าความดีทีละเล็กละน้อย ก็เหมือนกันกับเม็ดฝนที่ตกลงมาในพื้นปถพี หากมากขึ้นเอง ๆ จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น
ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดเลยที่สามารถจะสร้างความดีขึ้นในขณะเดียว แล้วเต็มหัวใจหลุดพ้นไปได้เลยนั้น ไม่ปรากฏในคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ใดก็เหมือนกัน ต้องอาศัยการสั่งสมอยู่โดยสม่ำเสมอ ไม่หยุดไม่ลดไม่ละ แล้วก็เติบโตขึ้นเจริญขึ้น แม้จะเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ก็เวียนว่ายไปด้วยอำนาจแห่งบุญแห่งกุศล
ผู้พาให้เวียนว่ายก็คืออวิชชา เชื้อแห่งความเกิดพาให้เกิดก็จริง แต่สถานที่ที่อยู่ที่ไปนั้น ด้วยอำนาจแห่งบุญเป็นเครื่องประคับประคอง ย่อมยังผู้ไปนั้นให้ไปเป็นสุขอยู่เป็นสุข ไม่ได้มีความทุกข์ความยากความลำบากเหมือนคนที่ไร้ความดีทั้งหลายเลย ผิดกันอย่างนี้
ความดีกับความชั่ว คนดีกับคนชั่วอยู่ด้วยกันก็ไม่เหมือนกัน มีความแปลกต่างกันอยู่นั้นแล ไปเกิดในภพต่าง ๆ ก็แปลกต่างกันอยู่ สถานที่อยู่แห่งภพนั้น ๆ และการเสวยความสุขความทุกข์ก็แปลกต่างกันโดยลำดับลำดาของผู้มีกรรมต่างกัน แม้ความดี ถ้าผู้มีกรรมดีมากก็ต่างกันกับผู้มีกรรมดีน้อยเหมือนกัน
กรรมดีมีน้อย ความดีมีน้อย บุญมีน้อย กับผู้มีบุญมีมากโดยลำดับลำดา นี่ก็ต่างกัน ต่างไปโดยลำดับจนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้นนั้นแลจึงจะเหมือนกันในหลักธรรมชาติ คือจิตที่บริสุทธิ์ทรงวิมุตติ ปรมํ สุขํ คือความสุขอันยอดเยี่ยมไม่มีอะไรเกินกัน
ปราชญ์ทั้งหลายท่านจึงสอนให้บำเพ็ญความดี เพราะใจนี้เป็นพื้นฐานอยู่แล้วสำหรับรับทั้งบุญทั้งบาป ไอ้เรื่องกลมายาของกิเลสนั้นจะต้องหลอกอยู่ทุกเวล่ำเวลาหาประมาณไม่ได้ หากไม่มีธรรมะมาเป็นเครื่องชี้แนวทาง หรือเหมือนกับว่าไม่มีธรรมะมาเป็นธรรมโอสถแล้ว สัตว์โลกทั้งหลายก็จะจมอยู่ตลอดไป หาวันหลุดพ้นจากทุกข์ไม่ได้เลย เพราะถูกกล่อมจากกิเลสทั้งหลายอยู่ตลอดมา
นี่เรายังดีได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา และเป็นช่องทางที่เหมาะสมที่สุดในชาติของเรา ที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาด้วยไม่เพียงแต่เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วยังได้พบพระพุทธศาสนาได้กราบไหว้บูชา ระลึกถึงท่านผู้วิเศษ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และได้บำเพ็ญตนด้วยคุณงามความดีทั้งหลายไม่ลดละ นี่เป็นเชื้ออันสำคัญที่จะแทรกซึมเข้าสู่จิตใจของเรา จนกลายเป็นนิสัยของคนมีบุญ เรียกว่านิสัยวาสนา ขึ้นมาภายในจิตใจของเรา เพราะการสร้างความดีไม่ลดละ
ก็เหมือนเราปลูกต้นไม้ เมื่อปลูกขึ้นแล้วก็ต้องผลิกิ่งใบดอกผลขึ้นมา จนสุดท้ายก็แก่ขึ้นมาเป็นดอกเป็นผลได้รับประโยชน์ ความดีของเราก็เหมือนกัน เมื่อสร้างมากขึ้น ๆ ก็แก่ได้ ท่านว่ามีอุปนิสัยสามารถเต็มที่หรือสมบูรณ์แล้ว นั่นละคือความแก่ เป็นผู้มีอุปนิสัยแก่กล้า ก็เพราะการสร้างมาอยู่ไม่หยุดไม่ถอยนั้นแล กลายเป็นความแก่กล้าเอง แล้วก็สามารถจะหลุดพ้นไปได้ ท่านจึงสอนให้บำเพ็ญบุญ
เราได้เกิดมาในช่องแห่งพระพุทธศาสนาอันเป็นช่องที่เหมาะสมที่สุด กาลเวลาที่เหมาะสมที่สุด จึงไม่ควรให้กาลเวลาหรืออัตภาพร่างกายของเราได้ผ่านไปเปล่า ๆ โดยหาประโยชน์ในทางความดีไม่ได้ ให้สร้างความดี อันนี้หากพอที่จะหลุดพ้นถึงนิพพานในชาตินี้ก็ยิ่งเป็นบุญลาภอันประเสริฐเลิศเลอของพวกเราเอง หากจะยังไม่ถึงความดีนี้ก็จะได้เป็นเครื่องสนับสนุน เราเรียกร้องหาความช่วยเหลือ หาสิ่งพึ่งพิงอิงอาศัย หาที่ยึดที่ถือที่ปิดกั้นกำบังความชั่วทั้งหลาย เราก็จะเจอด้วยอำนาจแห่งความดีเป็นเครื่องสนอง เป็นเครื่องตอบแทนเราในภพน้อยภพใหญ่ภพใดก็ตาม
ความดีนี้เป็นสิ่งที่เราหวังพึ่งเป็นพึ่งตายได้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ตราบเท่าที่จิตใจนี้ยังไม่สามารถที่จะสลัดปัดทิ้งสิ่งที่เป็นเชื้อพาให้เกิดนี้ได้ เราจะต้องได้อาศัยบุญคุณความดีนี้ตลอดไป เพราะเรื่องการเกิดการตายนั้นอย่างไรก็แน่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้มีพันเปอร์เซ็นต์ก็ต้องเป็นพันเปอร์เซ็นต์
ใจดวงนี้ ขอแต่เชื้อของมันยังมีอยู่เถอะ
คำว่าเชื้อก็คือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ นี้เป็นต้น นี่เป็นสำคัญมากที่สุด ไม่มีใครที่จะรู้ได้ ค้นพบได้ สลัดปัดทิ้งออกได้ นอกจากพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นเป็นพระองค์แรก เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงเป็นผู้ประเสริฐเลิศเลอที่สุดในสามแดนโลกธาตุนี้ เนื่องจากไม่มีใครแนะนำสั่งสอนและให้อุบายพระองค์เลย พยายามตะเกียกตะกายไปจนกระทั่งได้บรรลุธรรม คำว่าบรรลุธรรมก็คือได้สังหารเชื้อแห่งความเกิดในภพน้อยภพใหญ่ทั้งหลายได้ ด้วยอำนาจแห่งพระปรีชาญาณของพระองค์นั่นแล
ท่านเป็นผู้รู้จริงเห็นจริงในสิ่งที่พาให้เกิด ที่แทรกอยู่ภายในใจของวิญญาณแต่ละดวง ๆ ไม่มียกเว้น เว้นก็เว้นเฉพาะท่านผู้บริสุทธิ์ใจที่บริสุทธิ์แล้วเท่านั้น เช่น พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ นอกจากนั้นไม่มีเว้น เมื่อไม่มีเว้นแล้วก็ไม่พ้นที่จะต้องเกิดตายอยู่ตลอดไป เรื่องหลักธรรมชาติเป็นเช่นนี้
จึงได้เคยพูดเสมอว่า พระอรหันต์เท่านั้นที่จะเป็นผู้ยืนยันในความรู้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ เอานี้เป็นหลักใหญ่เลยทีเดียว หลักอันดับแรกคืออะไร ก็คือ อวิชฺชาปจฺจยา พระอรหันต์เป็นผู้ได้สังหารอวิชชานี้ออกจากใจได้หมดโดยสิ้นเชิง เป็นจิตที่บริสุทธิ์เต็มที่ นี่เป็นเครื่องยืนยันให้ได้กราบพระพุทธเจ้าอย่างสนิทติดใจฝากเป็นฝากตาย ไม่มีใครที่จะกราบพระพุทธเจ้าได้สนิทยิ่งกว่าพระอรหันต์ท่าน เพราะกราบด้วยความเห็นบุญเห็นคุณ กราบด้วยความยอมรับ กราบด้วยการที่เอาจิตของตนนี้เป็นสักขีพยานยืนยันกับความเป็นจริงของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนไว้และเป็นผู้บริสุทธิ์ไปแล้ว
อวิชชานี่ละพระอรหันต์ทุก ๆ องค์จะต้องรู้เหมือนกันหมด พระพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรกมา ให้อุบายวิธีการต่าง ๆ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงเป็นผู้ที่เลิศเลอที่สุด ที่ว่า สยัมภู ทรงรู้เองเห็นเอง สาวกทั้งหลายยังได้รับอุบายแนะนำจากพระพุทธเจ้า จึงพอมีอุบายขึ้นภายในจิตใจ และปฏิบัติตนจนกระทั่งถึงความบริสุทธิ์พุทโธขึ้นมาได้ อวิชชาตัวนี้ละเป็นตัวสำคัญที่สุดฝังอยู่ภายในจิตใจ นี่ตัวนี้พาให้เกิด บุญบาปพาให้ไปสูงไปต่ำ
เรื่องเกิดนั้นต้องเกิดแน่ ๆ ทีนี้จะเกิดดีหรือเกิดชั่วล่ะ เกิดภพใดสูงหรือต่ำล่ะ ถ้าต่ำก็คืออำนาจแห่งการทำบาป ทำบาปมากทำความชั่วช้าลามกมากก็กดลงทางต่ำ นี่เป็นไปด้วยวิบาก ที่สูง ๆ ต่ำ ๆ นั้นเป็นไปด้วยวิบากดีชั่ว อันเรื่องพาให้เกิดนั้นเป็นไปด้วยอำนาจของอวิชชา พากันจำให้ดีนะ สูงด้วยอำนาจแห่งบุญแห่งกุศลพาให้ไป แม้จะยังไม่สามารถสลัดตัดอวิชชาตัวพาให้เกิดได้ก็ตาม แต่จะได้ไปเกิดในที่ดี ดีกว่าผู้ไปเกิดในที่ชั่ว เหมือนอย่างไปตกนรกทั้งเป็นเขาติดคุกติดตะรางนี่ ไปเมืองผีก็ไปตกนรกเมืองผีจะว่าไง
ท่านจึงสอนให้บำเพ็ญ เพราะจิตนี้เรียกร้องหาความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลาจากเจ้าของ คือ สติปัญญานั้นแหละเป็นเจ้าของของจิต ผู้มีสติมีปัญญาย่อมประคองจิตไปในทางที่ถูกต้องดีงาม จะเป็นความผาสุกเย็นใจตลอดไปทั้งภพนี้และภพหน้า ถ้าผู้โง่เขลาเบาปัญญา ลืมเนื้อลืมตัว ลืมโลกลืมสงสาร ลืมเป็นลืมตายไปเสียหมดขึ้นชื่อว่าความดีแล้ว ผู้นั้นแหละจะเป็นผู้สั่งสมแต่ความชั่วช้าลามกเข้ามาเผาลนตนเอง บีบบังคับตัวเอง ถึงจะเรียกร้องหาความดิบความดีความสุขความเจริญเท่าไรก็ไม่เจอ เพราะไม่ได้สร้างเอาไว้ ก็มีแต่ความชั่วช้าลามกบีบบี้สีไฟภายในจิตใจอยู่ตลอดเวลาในภพนั้น ๆ จึงไม่เป็นสิ่งที่น่าปรารถนาเลย
ก็เมื่อเราทราบอยู่ด้วยหัวใจของเราเช่นนี้แล้ว และเป็นผู้รับผิดชอบใจของตนตลอดมาอยู่อย่างนี้แล้ว ทำไมจะไม่พยายามดัดแปลงแก้ไข ความที่เคยเป็นมาในสิ่งไม่ดีทั้งหลายของตนให้ดีขึ้นโดยลำดับลำดาเล่ามนุษย์เรา ต้องทำ แล้วใครที่จะเชื่อได้ โอวาทใดคำสอนใดที่จะเชื่อได้ นอกจากคำสอนของพระพุทธเจ้านี้ก็ลำบากเหมือนกัน ที่จะสอนให้ตรงแน่วตามความจริงทั้งหลายได้ ก็เมื่อเราได้รับโอวาทคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว เราจะเชื่อใครอีกที่นี่
สำคัญอยู่ที่ความกระซิบกระซาบอยู่ภายในจิตใจของเรา คือตัวกิเลสนั้นสำคัญอยู่มาก มักจะไปเชื่อมันมากกว่าธรรมเสมอไป เพราะฉะนั้นเราถึงหลวมตัวไปทำความชั่วช้าลามกได้มนุษย์เรา แล้วก็หลวมตัวไปเกิดในสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา สถานที่ไม่พึงปรารถนาได้เช่นเดียวกัน เพราะความลืมตัวอย่างนี้เอง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงพยายามให้รู้สึกตัวเสียตั้งแต่บัดนี้ต่อไป หากไม่ได้รู้อะไรมากนักก็ขอให้พยายามสอนตน ตั้งแต่บัดนี้ต่อไปอย่าได้หลวมตัวเข้าไปในสิ่งไม่ดีทั้งหลาย
ปราชญ์ทั้งหลายไม่เคยโกหกโลกเลย ว่าบาปมีมีจริง บุญมีมีจริง นรกมีมีจริง เคยเผาสัตว์ทั้งหลายมากี่กัปกี่กัลป์แล้วนรก ทำไมจะไปลบล้างมันได้ นรกนี้เคยเผาผลาญสัตว์ทั้งหลายที่ไปตกนรกมากี่กัปกี่กัลป์นับได้เมื่อไร แล้วจะไปลบล้างได้ยังไงว่านรกไม่มี ผู้ทำบาปทำกรรมเราก็เห็นอยู่ต่อหน้าต่อตา อย่างทุกวันนี้ก็ดูเอาซิเป็นยังไง มีคนทำบาปไหมทุกวันนี้
เราพูดกันเพียงแค่ ปาณา เท่านี้แหละ เด่นไหมในโลกเวลานี้ คนทำลายศีลธรรม ทำลายตัวเองจนหาคุณค่าไม่ได้เราเห็นไหม ปาณา อทินนา กาเมสุ มิจฉาจาร มุสา สุรา เอาเพียง ๕ ข้อเท่านี้ละ นี่คือเครื่องสังหารตน เครื่องผลักตนลงไปสู่นรกคือธรรมชาติเหล่านี้เอง การกระทำสิ่งเหล่านี้ เราเห็นไหมว่าเวลานี้มีคนทำไหม เราลบล้างได้ไหม นอกจากคนตาบอดแล้วหูมันหนวก หูมันดีมันยังจะได้ยินอีกคนทำชั่วน่ะ ถ้าไม่เห็นด้วยตามันยังจะได้ยินด้วยหู ว่าคนทำชั่วยังมีอยู่ในโลกนี้มากมาย นั่นฟังซิ
อันนี้เราหูดีตาดีเห็นกันอยู่นี่ ปฏิเสธกันได้ไหมว่าคนชั่วนี้มีมากขนาดไหน ทำชั่วกันมีมากขนาดไหน เราปฏิเสธไม่ได้ แล้วทำไมเราจะปฏิเสธผลของการทำชั่วนี้ว่าจะไม่ให้ผล และจะไม่ยังบุคคลหรือสัตว์ทั้งหลายให้ไปตกนรกได้เล่า คนก็เคยทำชั่วมามากมายก่ายกองกี่กัปกี่กัลป์แล้ว นรกก็เคยเผาคนผู้ชั่วช้าลามกมากี่กัปกี่กัลป์แล้ว ใครจะไปสามารถลบล้างทั้งการทำชั่วว่าโลกทั้งหลายไม่ทำกัน และไปลบล้างนรกว่าไม่มีกัน เป็นไปได้เหรอ
พระพุทธเจ้าองค์เอกแท้ ๆ เป็นผู้สอนธรรมเหล่านี้ไว้ ด้วยความที่ทรงรู้ทรงเห็นมาประจักษ์พระทัยแล้ว เราจะเชื่อใครที่นี่ เอ้า สอนเราอย่างนี้ การพูดอย่างนี้ขอให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณา ว่าอุบายนี้เป็นเครื่องจะหยิบยื่นให้ท่านทั้งหลายสอนตัวเองนะ ไม่ใช่เป็นการขู่เข็ญ เป็นการดุด่าว่ากล่าวท่านทั้งหลาย ยื่นเครื่องมือให้ไปสังหารสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายซึ่งอยู่ภายในตัวเอง เอาให้อย่างเด็ดขาด เพราะสิ่งเหล่านี้มันเผ็ดร้อนมากนะ ความกระซิบกระซาบอยู่ภายในแข่งกับธรรมของศาสดา แม้เราได้ศึกษาเล่าเรียนมาก็ตาม ได้ปฏิบัติกำจัดมันอยู่ก็ตาม มันยังกำจัดเราอยู่ในขณะเดียวกันนั้นโดยที่เราไม่รู้สึกตัวเลย เพราะมันละเอียดลออมากกว่าเรา แหลมคมมากกว่าเรา ฉลาดมากกว่าเรานั่นเอง ให้พากันเข้าใจเสมอ
นี่ละเรื่องการเกิดตายของจิตเป็นอยู่อย่างนี้ไม่ไปไหน ไปตามภพภูมิที่เคยไป นรกมีกี่หลุมท่านพูดไว้แล้วผิดที่ตรงไหน ในโลกเราก็ยังมีลหุโทษ ครุโทษ มหันตทุกข์ ทุกข์ธรรมดา มหันตทุกข์มี มีอยู่แล้ว ๆ การทำชั่วของคนเราก็เห็น ทำมากทำน้อย ทำหนักทำเบา เห็นกันอยู่เต็มหูเต็มตานี่ เพราะฉะนั้นคำว่านรกจึงเป็นเช่นนั้น พอดีพอเหมาะกันกับสัตว์โลกที่เป็นไปอยู่ตลอดเวลา นี่คือความจริง ที่เป็นอยู่ในวัฏวนนี้เป็นอย่างนี้
เช่นอย่างสวรรค์ก็เหมือนกัน สวรรค์ก็ตั้งแต่ชั้นแรก จนกระทั่งถึงพรหมโลก ๑๖ ชั้น มีสุทธาวาสเป็นชั้นสุดท้าย เอ้า คำว่าสุทธาวาสเป็นยังไง เป็นที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์ ได้แก่ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา พรหมโลก ๕ ชั้นนี้ท่านเรียกว่า สุทธาวาส เพราะเป็นที่อยู่ของผู้บริสุทธิ์
สุทธาวาส ท่านแปลตามศัพท์เฉย ๆ ว่าเป็นที่อยู่ของผู้บริสุทธิ์ ความจริงผู้นั้นยังไม่บริสุทธิ์ เราเอาหลักธรรมชาติของการปฏิบัติ ของการรู้การเห็นของใจยันกันเข้าไปเลย เราอย่ามาพูดเพียงปริยัติเฉย ๆ เอ้า ผู้ปฏิบัติภายในจิตใจของตนเอง จนก้าวเข้าสู่ภูมิธรรมอันนี้แล้ว เป็นผู้บริสุทธิ์เต็มที่แล้วเหรอ ยังไม่บริสุทธิ์เต็มที่
พระอนาคามีท่านได้ระดับ เหมือนยังกับเราสอบไล่ได้ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ นั่นได้ระดับจัดว่าสอบ ได้ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จนกระทั่งถึง ๙๙ เปอร์เซ็นต์เป็นพระอนาคามีเต็มที่ นั่น เต็มภูมิแล้วนะ ๙๙ เปอร์เซ็นต์ คือ เลื่อนลำดับไปตั้งแต่ขั้นอวิหา นี่ผู้ที่ปฏิบัติตนได้ ถ้าจะเทียบเปอร์เซ็นต์ก็เรียกว่าผู้สอบได้ ๕๐ เปอร์เซ็นต์สอบได้ ได้ระดับของขั้นอนาคามี เพียงได้ระดับเท่านั้น นี่บริสุทธิ์ไหม
ดูหัวใจเจ้าของก็รู้ ผู้ปฏิบัติต้องรู้ ถึงขั้นนี้แล้วปิดไม่ได้ เป็น สนฺทิฏฺฐิโก อย่างชัดเจนไปโดยลำดับลำดา ตั้งแต่ก่อนมานี้ก็ยังชัดเจนอยู่แล้ว นี้ก็ยิ่งชัดเข้าไป แล้วปฏิบัติขัดเกลากิเลสของตัวเองเข้าไปโดยลำดับลำดา เพราะยังไม่บริสุทธิ์
คำว่าสุทธาวาส คือ บริสุทธิ์กว่าสิ่งเหล่านั้น กว่าชั้นเหล่านั้นต่างหาก ท่านหมายความว่าอย่างนั้น คือ ขั้นเหล่านี้จะไม่กลับคืนไปสู่โลกอันเป็นความสกปรกโสมมอีกต่อไป นั่นถ้าเราจะแยกออกก็เป็นอย่างนั้น นี่เพื่อก้าวขึ้นสู่ความบริสุทธิ์พุทโธโดยแท้นะ ท่านจึงเรียกว่าสุทธาวาส ๕ ชั้น คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา เป็นที่อยู่ของพระอนาคามีตั้งแต่ผู้ได้ระดับของขั้นพระอนาคามีทีแรก จากนั้นก็เลื่อนขึ้นไป
ในจิตภูมินี้นั้นเป็นจิตที่เป็นไปเอง ไม่ต้องได้รับการอบรมแนะนำสั่งสอนกันเมื่อเวลาตายแล้ว เป็นในหลักธรรมชาติ เช่นเดียวกับผลไม้ที่แก่เต็มที่แล้ว ยังไงก็จะห่ามเข้าไป ๆ จนกระทั่งถึงขั้นสุก ไม่ต้องรับปุ๋ยอะไรอีกก็ได้
ผลไม้ประเภทนี้ นี่ขั้นของพระอนาคามี ตั้งแต่ขั้นแรกเริ่มนี้ไป จนกระทั่งถึงขั้นพระอนาคามีเต็มภูมิก็มีลักษณะเดียวกัน เทียบกันเช่นนั้น คือแก่ไปโดยลำดับลำดา
อันนี้เราเอาอะไรมาเทียบ เอาเราเทียบในหัวใจของเราของผู้ปฏิบัติ พอได้ระดับขั้นนี้แล้วจิตนี้จะเป็นอัตโนมัติของจิต คือจะหมุนตัวตลอดไปเลย หมุนอยู่ภายในจิต หมุนแก้ตัวเองพูดง่าย ๆ หมุนขัดเกลาตัวเอง หมุนซักฟอกตัวเองอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ค่อยละเอียดเข้าไป ๆ เห็นได้ชัด ๆ นี้ขั้นนี้ก็ยังไม่บริสุทธิ์ แน่ะฟังซิ จนกระทั่งอนาคามีเต็มภูมิก็ยังไม่บริสุทธิ์ จนก้าวถึงอรหัตมรรค ก้าวถึงอรหัตมรรคก็ยังไม่บริสุทธิ์ นั่น ปฏิบัติไป ๆ ถึงขั้นมหาสติมหาปัญญาก็ยังไม่บริสุทธิ์ จนกระทั่งทะลุพังอวิชชาลง ขาดสะบั้นลงไปหมดเลย ด้วยอำนาจของมหาสติมหาปัญญาเป็นต้น นั้นแลจึงเป็นผู้บริสุทธิ์เต็มภูมิ
ในภาคปฏิบัติเห็นชัด ๆ เราไม่ต้องไปถามใครเลย สาธุ พูดอยู่ต่อหน้าต่อตานี่นะ แม้พระพุทธเจ้าประทับอยู่ต่อหน้านี้จะไม่ทูลถามเลย ขอให้เห็นชัด ๆ เถอะน่าหัวใจคนเรา ถ้าลงได้เห็นแล้วเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านมอบไว้แล้ว สนฺทิฏฺฐิโก อย่างที่พระอานนท์อาราธนาให้พระองค์อยู่ตั้งกัปตั้งกัลป์ จะมาหวังอะไรกับเราตถาคตอีกล่ะ เราสอนหมดแล้วนี่นะ อะไร ๆ ก็สอนหมดแล้ว มาหวังกับเราอะไรอีก นั่นฟังซิ ลึกซึ้งมากที่สุดเลย
นี่เราพูดถึงเรื่องภพเรื่องที่อยู่ทั้งฝ่ายต่ำคือนรก ในหนังสือมหาวิบากท่านอธิบายไว้ละเอียดมาก ผมก็เคยอ่านเคยดูอยู่แล้วเหล่านี้นะ ถึงขั้นมหันตทุกข์ก็นรกขั้นโลกันตรนรก ที่สุดแห่งความทุกข์ทั้งหลายท่านก็บอกแล้ว จนกระทั่งถึงที่สุดแห่งความสุขทั้งหลาย ท่านก็บอกถึงพระนิพพานโดยลำดับลำดาเรื่อยไป นี่ละพอถึงจิตขั้นอนาคามีบุคคลนี้แล้ว จิตดำเนินตนไปโดยอัตโนมัติ เช่นเดียวกับผลไม้ที่แม้จะติดขั้วอยู่ ยังไม่ได้หลุดจากขั้ว ยังไม่ห่ามก็ตาม เมื่อแก่เต็มที่แล้วควรแก่การจะห่ามต่อไป ต้องห่ามเรื่อย ๆ ไปจนกระทั่งถึงขั้นสุก ไม่ต้องมีปุ๋ยมีอะไรมาช่วยแหละ นี่ก็เหมือนกันจิตขั้นนี้ตายไปในขั้นอนาคามี จะต้องไปชั้นสุทธาวาสอย่างที่ว่า พอถึงขั้นอนาคามีแล้วได้เต็มภูมิของจิตขั้นนี้แล้ว จะต้องไปเกิดในอนาคามีขั้นต้น เช่น อวิหา แล้วก็ค่อยเลื่อนตนไป อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา พอก้าว จากอกนิฏฐาก็ผ่านถึงพระนิพพาน
เป็นหลักธรรมชาติของจิตดวงนี้เป็นเช่นนั้น เห็นประจักษ์ไม่สงสัย สงสัยไปไหน พระพุทธเจ้าท่านสอนด้วยความรู้จริงจริง ๆ ขอให้รู้ซิจะค้านพระพุทธเจ้าได้ยังไง หาที่ค้านไม่ได้ นอกจากไม่เห็นไม่รู้แล้วก็ค้านกันวันยังค่ำ ค้านด้วยความหลับหูหลับตา ไม่ได้ลืมตาดู..ค้าน นี่เป็นยังงั้น นี่เป็นลัทธินิสัยของกิเลสต้องเดาเสมอด้นเสมอหลอกเสมอ แล้วสุดท้ายก็มาหลอกตัวเองนั้นแหละ ให้ขาดจากมรรคจากผลจากสวรรค์นิพพานไป เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายจงพากันระมัดระวังในเรื่องเหล่านี้
ตะกี้นี้เรากล่าวถึงเรื่องว่า จิตเรียกร้องหาความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา อย่าลืมธรรมะข้อนี้ เพราะจะต้องก้าวเดินตามทางแห่งภพแห่งชาติ ภพน้อยภพใหญ่เป็นวิถีทางเดินของจิตโดยแท้ เมื่ออวิชชายังมีอยู่จะไม่เป็นอื่นเลย เป็นอันนี้โดยแท้ และให้พยายามประคองตนไปด้วยทำคุณงามความดี หากว่าจะยังไม่หลุดพ้นก็ตาม เราก็ยังมีเครื่องเสวย คือ บุญกุศลที่เรานั้นได้บำเพ็ญมา หากว่าเต็มที่แล้วก็อย่างที่กล่าวมานี้แหละ เอาจนกระทั่งถึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้วนั่นละท่านว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา
ทีนี้กลับตรงข้ามนะ เป็น อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ เรื่อยไปเลย เมื่ออวิชชาดับ อันนั้นดับ ๆ ดับ ๆ ไปหมดเลย นิโรโธ โหติ ก็เหมือนกัน ตั้งแต่เบื้องต้น อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นี่ท่านว่าทั้งหมดนี้ สมุทโย โหติ เป็นสมุทัยนะ คือเรื่องของกิเลสล้วน ๆ ท่านบอกอย่างนั้น แปลออกมาแล้ว พออวิชชาดับลงไปนี่ อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ เรื่อยไปเลย จนกระทั่งถึง นิโรโธ โหติ เหล่านี้เป็นนิโรธทั้งมวล นั่น เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส, นิโรโธ โหติ เมื่อดับแล้วดับไปหมดพร้อม ๆ กันเลย
เมื่อดับอยู่ในจิตเห็นชัด ๆ ภายในจิตแล้วอะไรจะมาเกิด ก็มันขาดสะบั้นไปหมด เวลามันเกี่ยวมันพันกันอยู่ระหว่างอวิชชากับตัวเอง จนไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร ตัวเองเป็นอวิชชา อวิชชาเป็นเรา เราเป็นธรรมหรือธรรมเป็นอวิชชา หรืออวิชชาเป็นเรา มันพันกันอยู่ก็ไม่รู้ นี่เมื่อสติปัญญายังไม่ทันมัน พอสติปัญญาทันแยกกันออก ฟาดฟันหั่นแหลกกันลงขาดสะบั้นลงไปแล้ว ทีนี้ก็เห็นได้ชัดละซิ
เมื่ออวิชชาขาดไปแล้ว มันติดต่อกับอะไรจิตดวงนี้ที่นี่ มีติดต่อกับอะไร มีสืบต่อกับอะไร มีอะไรมาเหนืออันนี้อีกมีไหม มันก็เห็นได้ชัด ๆ ไม่มีอะไรเหนือ มันก็รู้เท่านั้นเอง นี่ละพระพุทธเจ้าว่า สนฺทิฏฺฐิโก ๆ เห็นเอง รู้เอง ๆ เห็นเองมาโดยลำดับลำดา จนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย
ก็ดังที่พระอัญญตรภิกขุองค์หนึ่งท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เราแน่ใจว่าท่านบำเพ็ญธรรมขั้นสูง ในขั้นที่พิจารณาด้วยลำพังตนเอง เป็นอัตโนมัตินั้นเอง สงสัยธรรมะแล้วก็จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลถามปัญหา พอไปถึงใต้ถุนพระคันธกุฎีก็พอดีฝนตก เลยยืนอยู่ข้างล่างนั้นเสีย ยังไม่ได้ขึ้นไปเฝ้าพระ พุทธเจ้า พอฝนตกแล้วน้ำที่หยดย้อยจากชายคาลงมาถูกพื้น ระหว่างน้ำอยู่ที่พื้นกับน้ำฝนที่หยดย้อยลงมาจากชายคามากระทบกัน ก็ตั้งเป็นต่อมเป็นฟองขึ้นมาแล้วดับไป
ท่านก็พิจารณาเทียบเคียงระหว่างจิตกับสังขารที่มันปรุงมันแย็บขึ้น กับระหว่างขันธ์ ๕ พูดง่าย ๆ ขันธ์ ๕ กับจิตมันเกิดมันดับ ๆ ดีก็ดับชั่วก็ดับ เกิดขึ้นพับดับพร้อม เกิดกับดับพร้อม ๆ เหมือนกันกับน้ำที่กระทบกันตั้งเป็นฟองขึ้นมาตั้งเป็นต่อมขึ้นมา หรือเป็นอะไรขึ้นมาก็แล้วแต่ แล้วดับไป ๆ ก็ลงไปเป็นน้ำตามเดิม ลงเป็นน้ำตามเดิม สังขารเกิดขึ้นจากจิตก็ดับลงไปหาจิตตามเดิม ๆ ท่านก็เทียบเคียง ๆ เลยบรรลุธรรมเสียในขณะนั้น
พอฝนตกหยุดเท่านั้น ท่านกลับไปกุฏิไม่ทูลถามพระพุทธเจ้าอีกเลย เพราะได้บรรลุธรรมในขณะนั้นแล้ว นั่นเห็นไหม สนฺทิฏฺฐิโก ประกาศป้างขึ้นในขณะนั้น โดยอาศัยน้ำนั่นละเป็นธรรมเทศนาสอนท่าน เทียบกันระหว่างขันธ์กับจิตของท่าน หรืออวิชชากับจิตของท่าน ท่านรู้กันในขณะนั้น ก็สังหารอวิชชาแหลกไปในขณะนั้น แล้วท่านก็กลับกุฏิ พอฝนตกหยุดแล้วเท่านั้น ท่านไม่ทูลถามพระพุทธเจ้าอีกต่อไปเลย นั่นเห็นไหม
ทั้ง ๆ ที่กำลังจะไปทูลถามแท้ ๆ ทำไมไม่ทูลถาม ก็เพราะ สนฺทิฏฺฐิโก นั้นเองเป็นเครื่องประกาศแทนพระองค์อยู่แล้ว เพราะธรรมนี้เป็นธรรมที่องค์ศาสดาสอนแล้วว่าเป็นองค์แทนเราก็ทราบอยู่แล้ว สนฺทิฏฺฐิโก ก็คือองค์ศาสดาองค์หนึ่งนั้นแล พอทราบแล้วท่านก็กลับไปกุฏิท่านเสีย ได้บรรลุธรรมใต้ถุนพระคันธกุฎีของพระพุทธเจ้า โดยอาศัยน้ำฝนนั้นแหละเป็นธรรมเทศนาเทียบเคียงกับธรรมภายในของท่าน นี่เห็นไหมทำไมท่านรู้ แต่ก่อนท่านสงสัยท่านมา ท่านหายสงสัยท่านก็รู้ท่านกลับ นี่ละพอถึงขั้นนี้แล้วรู้ทุกคน กำลังจะไปถามก็ยังไม่ถาม ฟังซิ กลับเงียบเลย
พ่อแม่ครูจารย์ท่านก็เคยพูดเราก็ยังไม่ลืมนี่ สด ๆ ร้อน ๆ อยู่หนองผือนั่นเอง ท่านพูดถึงเรื่องธรรมะตอน ๕ โมงเย็น ปัดกวาดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านสรงน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขึ้นไปกราบท่าน สนทนาธรรมะกันเล็ก ๆ น้อย ๆ ท่านก็พูด พูดอะไรไปสัมผัสธรรมะขั้นนี้แหละ ท่านก็ผึงผังขึ้นเลยเทียว อธิบายเปรี้ยง ๆ พอสุดท้ายท่านก็ยกมือขึ้นเลยนะไม่ใช่ธรรมดา ยกมือ สาธุ ท่านว่ายังงี้ ไม่ได้ประมาทนะ แม้พระพุทธเจ้าประทับอยู่ข้างหน้านี้ก็ไม่ทูลถาม ท่านว่ายังงั้น พอถึงธรรมะขั้นนี้แล้ว ทูลถามท่านอะไรของอันเดียวกัน ใครลงรู้ธรรมขั้นนี้แล้ว ธรรมขั้นนี้ก็เป็นธรรมขั้นบริสุทธิ์ ใครเป็นผู้บริสุทธิ์เป็นบ้าล่ะ เคยเห็นอรหันต์เป็นบ้ามีไหม ท่านเอาแล้วนะ อรหันต์บ้ามีไหม นั่นท่านว่า คือถึงขั้นนี้มันขั้นอรหันต์แล้วนี่ถ้าเราจะเอามาตั้งชื่อนะ ถ้าไม่ตั้งชื่อท่านก็ไม่สงสัย ก็เป็นอยู่แล้วนี่จะว่าไง บริสุทธิ์เต็มที่ไม่มีอะไรเกี่ยวเนื่อง แต่ก่อนมันมีอะไร ๆ มีมากมีน้อยรู้มาโดยลำดับลำดา
ดังที่เคยพูดเสมอว่าธาตุขันธ์กับจิตเกี่ยวโยงกันก็รู้ เวลาแก้กันไปพิจารณากันไป ๆ ระหว่างขันธ์กับจิตไม่ติดกันไม่พันกันแม้จะอยู่ด้วยกันก็ตาม ก็เป็นต่างอันต่างจริงกันอยู่อย่างนี้ก็รู้ แน่ะ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปได้แก่รูปกาย เวทนาได้แก่ความสุข ความทุกข์ เฉย ๆ ในขันธ์อันนี้ ในจิตก็มีแต่เป็นความละเอียด เพราะอวิชชายังมี สุขเวทนา ทุกขเวทนาในจิตก็ต้องมี แต่นั้นเป็นอีกอันหนึ่ง ส่วนเวทนาในขันธ์นี้ไม่มี สัญญาความจำ สังขารความคิดความปรุง วิญญาณความรับทราบ เวลาสิ่งอะไรมากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ท่านก็ทราบแต่ไม่ประสานกัน ท่านก็ทราบ ๆ ทีนี้ไม่ประสาน แล้วมันประสานกับอะไร นั่น
เมื่อขันธ์ ๕ มันปล่อยไปหมดแล้วมันประสานกับอะไร มันก็ประสานกับอวิชชาละซิ แต่ตอนนั้นไม่รู้นะ หากมีอันหนึ่งที่เป็นเครื่องยืนยันกันอยู่ว่ามันอะไร ๆ นี่มันอะไร มันเป็นจุดที่สนใจอยู่นั้น นั่นละตอนนั้นไม่รู้นี่ ก็มีแต่อะไร ๆ นี่มันมี นอกนั้นหมดปัญหาไปหมดแล้ว ขันธ์ทั้ง ๕ หมดปัญหาไป หมดทุกสิ่งทุกอย่างภายนอกพูดเสียทั้งหมดแดนโลกธาตุ หมดปัญหาไปหมด ย่นเข้ามาจนกระทั่งถึง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของตัวเราเอง ก็หมดปัญหาไปหมด แล้วมันมีอะไร
สิ่งที่มีก็เห็นกันอยู่ชัด ๆ อยู่ภายในใจแต่มันไม่รู้ว่านี้คืออวิชชา มันก็ไม่รู้ หากรู้อยู่ว่านี่คืออะไร ๆ มันเป็นสิ่งที่จะให้เกิดความสนใจ เกิดความพินิจพิจารณาผูกพันกันอยู่ในนั้นนั่นแหละ ผูกพันกับธรรมชาตินี้ ผูกพันกับอวิชชานี้ถ้าเราจะตั้งชื่อว่าอวิชชา ทีนี้พอสติปัญญาพอตัวแล้ว มันกำจัดอันนี้พังทลายลงไปจนไม่มีอะไรเหลือแล้ว มันติดกับอะไรจิต ทีนี้มันเกี่ยวข้องกับอะไร และอะไรเหนือจิตอีก ไม่มีอะไรเหนือ นั่นเห็นไหมเวลาไม่มีอะไรก็บอกว่าไม่มี มันก็รู้ว่าไม่มีอะไร เวลาสิ้นมันก็สิ้นจริง ๆ สิ้นไม่มีอะไร ผู้ที่รู้ว่าไม่มีอะไรนั้นคืออะไร คือธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ไม่สิ้นไม่สูญ นั่นเห็นชัด ๆ
เอาละพอ
พูดท้ายเทศน์
การอดอาหาร ผู้อดอาหารหลายวันหรือน้อยวันเพียงไรนั้นก็เคยได้พูดแล้ว การอดอาหารเพื่อภาวนา ภาวนาเพื่อความฉลาด ให้สังเกตดูธาตุขันธ์เจ้าของ อย่าให้ได้พูดเรื่องเหล่านี้ แล้วทำไป ๆ มันมักจะมีอะไรแฝงขึ้นมาให้ระวังให้ดีนะ เหมือนอย่างพวกที่มังสวิรัตินั่นเห็นไหม จนกระทั่งถึงตำหนิติโทษคนอื่นยุ่งไปหมด พวกนี้ไปที่ไหนมีแต่เรื่องยุแหย่ก่อกวน โห ทำลายนะพวกนี้นะ
ยกตัวอย่างเช่น ท่านอาจารย์อุ่น.อำเภอท่าอุเทน แต่ก่อนก็อยู่กับพ่อแม่ครูจารย์มั่นเรา แล้วก็จากกันไปนาน ปีนั้นโลกนาถเข้ามาในกรุงเทพฯ ตอนนั้นผมบวชใหม่ ๆ ใคร ๆ ก็ร่ำลือว่าแกเป็น พระอรหันต์ ปูผ้าขาวให้แกเหยียบนี้เดินไป แล้วอาจารย์อุ่นก็เลยเอาแบบนั้นมาสมาทาน คงจะสมาทานเต็มที่ละมั้ง ไม่ฉันเนื้อฉันปลา ท่านก็เลยกลายเป็นมังสวิรัติไป ครั้นนานเข้า ๆ ก็เป็นทิฐิมานะ เลยตำหนิติเตียนไปหมด บรรดาพระฉันเนื้อฉันปลานี้เป็นพระยักษ์พระผีพระแร้งพระกาไปหมดเลย ฟังซิ ท่านพูดเองนะ ไม่ใช่เล่น ๆ นะ
เดินไปกรุงเทพฯ ไปกับท่านอาจารย์กงมา ท่านอาจารย์กงมาห้ามไม่ให้บิณฑบาต นั่นท่านอาจารย์กงมาพูดเองนะ ถ้าเขาเอาหมกเอาห่อใส่บาตรนี้เป็นอาหาร แล้วจะโยนทิ้งต่อหน้าต่อตาเขา เพราะท่านทำจริง ๆ นี่ คือพอได้กลิ่นเท่านั้นมันเหม็นคาวมันอะไรไม่รู้แหละ ท่านอาจารย์กงมา จึงไม่ให้บิณฑบาต นี่ละเรื่องมังสวิรัตินี้มันเป็นทิฐิขึ้นมาอันหนึ่งของมัน
อย่างนี้ก็เป็นวิชาของพระเทวทัตที่เอาไปต่อสู้พระพุทธเจ้าตั้งแต่ครั้งนั้น เราก็เห็นกันอยู่แล้วนี่
ข้อหนึ่งก็ให้พระอยู่ป่าเป็นประจำตลอดชีวิต เข้าแดนบ้านผิด พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงอนุญาต เพราะผิดวิสัย เข้าไปในบ้านเฉย ๆ จะเป็นอะไร ไม่เห็นเสียหายอะไร อยู่แดนบ้านแดนป่าก็ไม่เห็นเสียหาย เพราะไม่ได้ไปปล้นบ้านปล้นเมืองเขานี่ พระก็อยู่แบบพระละซิ เข้ามาบ้านก็มาแบบพระ ไม่ได้มาแบบโจรแบบมารแบบผู้ร้ายนี่นะพอจะเสียหายอะไร พระองค์จึงไม่อนุญาต
ให้บิณฑบาตตลอดชีวิต ถ้าหยุดหรือขาดเป็นไม่ได้ ปรับโทษ พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงอนุญาต
ให้ถือผ้าบังสุกุลอย่างเดียวเท่านั้น รับคหปติจีวรเขาถวายต่อมือนี้ไม่ได้ ให้แสวงหาชักผ้าบังสุกุลเอาอย่างเดียวตลอดชีวิต พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงอนุญาต ในเมื่อเขาอยากทานก็ให้เขาทานตามอัธยาศัยของเขา ผู้ใดองค์ใดที่อยากรับก็รับไป ไม่เป็นสิ่งที่จะบังคับกัน
จากนั้นก็มาหามังสวิรัติ ห้ามไม่ให้ฉันเนื้อฉันปลาตลอดชีวิต พระฉันแล้วเป็นผิด ไม่ได้..ท่านบอก อันนี้เป็นเรื่องของโลกเขา ห้ามอะไรเขา เราเป็นผู้ปฏิบัติศีลธรรมไม่ปฏิบัติผิดจะเป็นอะไรไป เราเป็นผู้ขอทาน เขาให้มาอะไรก็กินไปตามเรื่องตามราวเท่านั้นเอง ไม่เป็นการรบกวนเขาให้ยุ่งเหยิงวุ่นวาย อันนี้เป็นเรื่องของโลกเขาเป็นมาตั้งแต่ดั้งเดิม ห้ามอะไรเขาไม่ได้
เรื่องเนื้อ ๑๐ อย่างที่ไม่ให้ฉันพระองค์ก็ทรงบัญญัติไว้แล้ว นับตั้งแต่เนื้อมนุษย์ แน่ะฟังซิ พระองค์ก็ไม่ให้ฉัน เนื้อหมา เนื้อม้า เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เสือเหลือง เสือดาว เนื้องู เนื้อหมี เนื้อ ช้าง นี่เนื้อเหล่านี้ห้ามหมดแล้ว ที่ห้ามก็ห้ามแล้วนี่ แล้วก็ยังมีอุทิสสมังสะ คือเนื้อที่เขาเจาะจงอีก ๓ อย่าง เนื้อเจาะจงเป็นยังไง เขาไปฆ่ามาเพื่อถวายพระ พระเห็นอยู่ไม่ควรฉัน เห็นเขาเอาอาวุธชนิดนี้ไป แล้วได้สัตว์ชนิดนั้นมาตรงกับอาวุธชนิดนี้ เช่นได้แหเอาไปทอดปลานี้ แล้ววันหลังเขาเอาปลานี้มาถวาย คงเป็นเหมือนกับว่าเขาไปทอดแหเอาปลานี้เพื่อมาให้พระฉัน เมื่อสงสัยอยู่ก็ไม่ควรฉัน เมื่อสงสัยอยู่ได้ยินเขาว่างั้นก็ไม่ฉัน หรือเนื้อสด ๆ ร้อน ๆ องค์ใดสงสัยอย่าฉัน แน่ะท่านก็บอกอยู่แล้ว องค์ไหนไม่สงสัยก็ฉันได้ บอกชัดเจนอยู่แล้วนี่ ไปอุปโลกน์ขึ้นอุตริขึ้นทำไมมังสวิรัติ
ส่วนองค์ไหนที่ไม่ชอบไม่อยากฉันท่านก็ไม่ได้ว่านะ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าบังคับให้ฉันเนื้อฉันปลาไปทุกองค์ คือองค์ใดที่ไม่ชอบไม่ฉันก็ได้ หรือไม่ถูกกับธาตุขันธ์ในเนื้อชนิดใดไม่ฉันเนื้อชนิดนั้นท่านก็ไม่ว่า ถ้าเป็นตามอัธยาศัย แต่จะมาบังคับให้ทำอย่างนี้ไม่ได้.ผิด แน่ะฟังซิ อันนี้เทวทัตก็เอามาเป็นเครื่องมือต่อสู้พระพุทธเจ้า จนกระทั่งถึงทำสังฆเภทให้สงฆ์แตกจากกัน เพราะพระพุทธเจ้าไม่ทรงสนองความต้องการของแกนั่นเอง ว่าตั้งแต่บัดนี้ก็แตกจากกันกับพระพุทธเจ้า แตกก็แตกไปจะเป็นไร ศาสดาไม่แตก พระเทวทัตแตกต่างหาก ศาสดาเป็นศาสดา ธรรมเป็นธรรมไม่ได้แตก
นี่เห็นไหมเรื่องนั้นก็เห็นประจักษ์ชัดเจนอยู่ ในตำรับตำราก็มีอยู่นั้น ที่มีขึ้นอยู่ทุกวันนี้ก็จะเป็นอะไรไป ก็เป็นวิชาของพระเทวทัตที่เคยทำลายพระพุทธเจ้า ที่เคยโจมตีพระพุทธเจ้านั้นเอง มาโจมตีพระพุทธเจ้าอยู่ทุกวันนี้จะเป็นอะไรไป เราก็ทราบซิ ก็เพลงเก่ากลเก่าเรื่องเก่าวิชาเก่า ตื่นไปหาอะไร วิเศษวิโสอะไร พวกนี้ไปไหนยุ่งจริง ๆ ไม่ใช่เล่น ๆ นะ มันยุมันแหย่วุ่นไปหมด ไม่เคยหาความสงบ
ไปไหน โอ๋ย อวดตนชมตัว อุตริไม่เข้าท่า ไม่ทราบว่าความดีมีหรือไม่มีก็ไม่รู้แหละ
แต่ความดีมันไม่ทำมนุษย์เรา มีแต่ความชั่วมีแต่อะไรเต็มหัวใจ มันถึงเอาอันนั้นออกมาระบาย ๆ ถ้าไม่พูดอย่างนั้นอยู่ไม่ได้ อยากยกตนแล้วเหยียบหัวคนอื่น มันอะไรถึงอยากยกตนอยากเหยียบคนอื่นล่ะ มันมีอะไรอยู่ในหัวใจ พิจารณาซิ ถ้าดีแล้วไม่ต้องอยากยก อยากไปทำไม ความอยากคืออะไร แน่ะ พิจารณาซิ เมื่อถึงหลักธรรมชาติมันดีเสียจริง ๆ แล้วไม่อยากแหละ อยากหาอะไร
อย่างเราอยากมาวัดป่าบ้านตาดอย่างนี้ พอมาถึงแล้วเราอยากหาอะไรอีก อยากมาอีกหรือ อยากมาวัดป่าบ้านตาด ก็อยู่วัดป่าบ้านตาดแล้วอยากหาอะไร เอ้า อยากถึงนิพพาน ๆ อยากได้จิตบริสุทธิ์ เมื่อถึงจิตขั้นบริสุทธิ์แล้วอยากอีกไหม อยากถึงพระนิพพาน เมื่อจิตได้ถึงพระนิพพานชัด ๆ อยู่ในหัวใจเจ้าของแล้ว ก็จะอยากไปนิพพานที่ไหนอีก นั่น ไม่อยาก ถ้าพอตัวแล้วไม่อยาก ไอ้ความหิวโหยต่างหากมันถึงอยาก
หิวโหยทางโลกทางกิเลสละมันตัวสำคัญ หิวโหยนี้ทำลายคนด้วยนะ ถ้าหิวทางด้านธรรมะนี้เป็นเครื่องส่งเสริมคน คนมีความอยากทางด้านธรรมะมากเท่าไร คนนั้นยิ่งมีความขยันหมั่นเพียร ตักตวงเอาบุญกุศลได้มากมายก่ายกอง หลุดพ้นจากทุกข์ได้อย่างรวดเร็ว ย่นวันย่นคืนเข้ามา เพราะความอยากนี้มีกำลังมาก นั่น ผิดกับความอยากที่เป็นกิเลสเป็นไหน ๆ ถ้าความอยากเป็นกิเลสนี้อยากเท่าไรยิ่งจมลงไป ๆ
เรื่องเทวทัตเป็นยังงั้น ก็เรื่องของเทวทัตนี่เรื่องมังสวิรัติ มันเป็นจากไหน เป็นจากพระเทวทัตเคยรบกับพระพุทธเจ้ามาครั้งหนึ่งแล้ว จนกระทั่งถึงแตกกระจายกันไป พระเทวทัต เป็นสังฆเภทไปเลย นั่น จากนั้นมาก็กลับมารบกับพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าอีก นี่เห็นไหมเดี๋ยวนี้ กำลังเป็นอยู่แล้ว
อวด หาอะไรมาอวด ของวิเศษวิโสกว่านั้นไม่มีเหรอ เอาของวิเศษวิโสกว่านั้นมาอวดบ้างเป็นไรวะ เราอยากฟังเรื่องวิเศษวิโสกว่านั้น อันนี้เป็นของวิเศษวิโสอะไร ตั้งแต่ควายมันก็กินหญ้าไม่เห็นกินเนื้อ ไม่เห็นมันวิเศษวิโสอะไร แล้วเอามาอวดทำไมของอย่างนี้ ควายมันไม่อวด มันไม่กระทบกระเทือน อันนี้เอามากระทบกระเทือน อวดกระทบกระเทือน
ไปที่ไหนกระทบกระเทือนที่นั่นวิเศษแล้วเหรอ พิจารณาซิ ความไปที่ไหนกระทบกระเทือนวิเศษแล้วเหรอ นี้เป็นทางธรรมของพระพุทธเจ้าเหรอ ทางพระพุทธเจ้าไปที่ไหนมีความสมัครสมาน ไปที่ไหนให้คนเกิดความเชื่อความเลื่อมใส ไปที่ไหนเขาได้เห็นหรือเขาได้กราบไหว้บูชาด้วยความซึ้งใจ คำพูดอะไรออกมามีเหตุมีผลจับใจไพเราะนั่นต่างหากนี่นะ ไม่ใช่ไปเที่ยวยุแหย่ก่อกวนทำลายที่โน่น ทำลายที่นี่เป็นอรรถเป็นธรรมพระพุทธเจ้านะ ไม่ใช่ธรรม มันเทวทัตต่างหากนี่
สำคัญก็คือว่าเรื่องอยากยกตัวนั้นแหละ แต่กิเลสมันไม่ยอมตัว ผิดเท่าไรมันก็ไม่ยอมแหละ เราเห็นไหมในเรือนจำ ไปถามดูซิรายไหน ว่าทำไมคุณจึงมาติดคุกติดตะราง เขาหาว่าผมอย่างนั้นอย่างนี้ ผมลักเขาขโมยเขาอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วความจริงคุณนั้นได้ทำจริง ๆ หรือ ทำจริง ๆ ละคร้าบ ฟังซิเขาหาว่า มันยอมเมื่อไรกิเลส มันไม่ยอมตัวผิด
คิดให้ดีนะ ให้เลือกให้เฟ้นให้ดี เราก็ยิ่งได้ผ่านทางปฏิปทาของพ่อแม่ครูจารย์มาแล้ว ไม่น่าจะสงสัยนะเรื่องเหล่านี้ เป็นปฏิปทาที่แนบเนียนที่สุด ก็คือปฏิปทาของพ่อแม่ครูจารย์มั่นที่ดำเนินมาทุกวันนี้ สักขีพยานก็เห็นชัด ๆ อยู่ในหัวใจของท่าน แสดงแต่ความจริงล้วน ๆ ออกมา เป็นปฏิปทาที่ไว้วางใจได้เลย ท่านดำเนินท่านไม่มีคำว่าแผลง ๆ อะไรนี้ อยากดีอยากเด่นอยากดังอย่างนี้ไม่มี สำหรับพ่อแม่ครูจารย์มั่นไม่มีอะไรที่น่าสงสัย ท่านทำตรงไหน ๆ มีหลักธรรมหลักวินัยยืนยันตลอดไปเลย ตลอดถึงการแนะนำสั่งสอน
เฉพาะอย่างยิ่งคือจิตตภาวนา ใครจะสอนได้ถูกต้องแม่นยำยิ่งกว่าพ่อแม่ครูจารย์มั่นวะ ท่านสอนได้เพราะท่านได้รู้ได้เห็นด้วยนี่ ได้ผลมาเป็นที่พอใจ ท่านสอนด้วยความเห็นผลเป็นที่พอใจมาแล้ว เหตุของท่านก็สมบูรณ์ เหตุไม่สมบูรณ์ผลจะสมบูรณ์ไม่ได้ ท่านได้ผลอย่างสมบูรณ์มาแล้วถึงมาสอน ไม่มีอะไรผิดแล้ว ท่านก็ไม่สอนแบบแผลง ๆ อีกเหมือนกันนะสอนจิตตภาวนาก็ดี ไม่ได้มีคำว่า แผลง ๆ อะไรนี้ จะเป็นพิเศษอะไรบ้างนี้ไม่มี สอนตรง ๆ ตรงกับกรรมฐาน ๔๐ นั่นแหละ เห็นไหม
กรรมฐาน ๔๐ ผมลืมเสียมีอะไรต่ออะไรบ้าง ก็มีอนุสสติ ๑๐ เป็นต้น นี่เป็นอุบายวิธีการของการภาวนา แล้วแต่จริตนิสัยของใครจะชอบตรงไหน ยึดเอามาปฏิบัติซิ นี่ภาคสมถะ พิจารณาเพื่อจิตสงบ พอสงบก้าวทางด้านปัญญาเป็นวิปัสสนา จากนี้ก็เปลี่ยนไปละเรื่องการภาวนา ถ้าเบื้องต้นนี้ในกรรมฐาน ๔๐ เป็นของสำคัญ จะยึดเอาหลักอะไร ๆ ก็เอา แต่พอก้าวไปถึงขั้นปัญญาแล้ว ทีนี้จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปเรื่อย ๆ ไปเลย อันนี้หากรู้เองในผู้ปฏิบัติแหละ
ทำอะไรถ้าหากว่าทำนอกแบบนอกคัมภีร์ไป ไม่ว่าเขาว่าเราไม่ว่าใครแหละ มันอดสงสัยไม่ได้ละคนเรา ให้จับอันนี้ยึดอันนี้ไว้ให้ดีอย่าไปทำสุ่มสี่สุ่มห้า ออกจากนี้ไปก็เหมือนกัน อย่าเอาผมไปขายนะ ผมไม่ได้วิเศษวิโสอะไรพอจะเอาเรื่องของผมไปขาย อยู่กับอาจารย์มหาบัวมาอย่างนี้ หาต้มหาตุ๋นชาวบ้านเขานะ แล้วอวดดิบอวดดีว่าตัววิเศษวิโส นี่เป็นลูกศิษย์อาจารย์มหาบัวนะ นี่กำลังออกแสงแพรวพราวเดี๋ยวนี้น่ะ ใครอยากมาให้ทดลองก็มาซิ เดี๋ยวนี้กำลังคันฟัน จะมีนะพระอยู่ในวงนี้ และที่ผ่านมาแล้วก็เหมือนกัน เพราะเคยมีมาแล้วนี่
เรื่องกิเลสมันจะต้องเป็นของมันแน่ ๆ ไปอยู่กับครูบาอาจารย์พอเป็นชื่อเป็นนาม แล้วอยากเด่นอยากดัง ว่าเรานี้ละแพรวพราวที่สุด เริ่มมาตั้งแต่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นโน่นละ มี แล้วจากนั้นไม่ได้อะไรเลยก็มาคว้าว่าเป็นลูกศิษย์อาจารย์มหาบัวแล้วดังละนะ อาจารย์มหาบัวดัง นี่มันหาต้มหาตุ๋น หาหลอกชาวบ้านเขาไปอย่างนั้น มันไม่รู้นี่น่ะ ให้ตัวเด่นตัวดังให้เขานับถือ เขาตั้งความสนใจขณะเดียวก็เอา เก็บตกเท่านั้นก็เอา มันไม่ได้เห็นความดีในเจ้าของให้มันเด่นอยู่ในใจนี้บ้างเลย จึงไปยุ่งกับสิ่งภายนอกอย่างนั้น อันนี้มันเรื่องภายนอกนี่
เอาเจ้าของให้พอซิ เมื่อพอแล้วใครนับถือไม่นับถือก็เรื่องของเขา ตำหนิก็อยู่ปากเขาโน่น นินทาก็อยู่ปากเขาโน่น อยู่ใจเขาโน้น ดีของเขาชั่วของเขาต่างหาก เราเป็นแต่เพียงว่าได้ยิน เมื่อสัมผัสพับเราไม่หลง เราก็ไม่เป็นบ้าไปตามลมปากของเขาจะเป็นอะไรไป เอส ธมฺโม สนนฺตโน ความสรรเสริญนินทาเป็นของเก่า เคยมีมาดั้งเดิมแล้ว ท่านสอนว่าอย่างนั้น แล้วตื่นอะไร
หาเจ้าของให้พอซิ อย่าไปหาเอาสิ่งอื่น เอาของคนอื่นเขา เรื่องอื่นเข้ามาเพิ่ม ให้เขาสรรเสริญ นั่นหาเอามาจากภายนอก ให้เขายกยอเขาสรรเสริญเขาเลื่อมใสเราถึงจะภูมิใจอะไรอย่างนั้น คนหิวจะตายอย่างนั้น คนไม่มีธรรมในหัวใจ หาเก็บตกเอาข้างนอก ๆ โน่น อะไรที่ไหนตกเก็บเอา ๆ ไม่ทราบว่าดีว่าชั่ว ฟาดกิเลสให้พังทลายลงไป ตัวมันอยาก ๆ นี้ให้พังทลายไปแล้วอะไรจะมาอยากวะ
มันจะเป็นแน่ ๆ นะนี่
.ออกไป อย่างนี้ละอย่างเห็นออกจากพ่อแม่ครูจารย์นี่ไป ไปว่าพ่อแม่ครูจารย์ฉันมังสวิรัติ ฟังซิ นี่เห็นอยู่นี่ เจ้าของชอบเอาไปทำ แล้วเอาพ่อแม่ครูจารย์มาเป็นโล่บังหน้า เพื่ออะไรอีก ฟังซิ เราแปลไม่ออกนะเราโง่นี่
นี่ก็วิตกวิจารณ์อยู่ ให้พากันภาวนาก็ไม่เป็นหน้าเป็นหลังอะไร พอออกไปก็เอาครูบาอาจารย์ไปอวดเพื่อความดิบความดีของเจ้าของ ความเลวของเจ้าของไม่ได้ว่านี่นะ มันจะเป็นตรงนี้แน่ ๆ แล้วจะไปกวนชาวบ้านเขาอีก ไม่ใช่ธรรมดานะ ถ้าออกแบบนี้ละมันจะกวนเขา ยุ่งเรื่องนั้นเรื่องนี้ กวนนั้นกวนนี้ พระกวนบ้านกวนเมืองมันจะเป็นละนะ กรรมฐานเราเวลานี้กำลังเริ่มแซงหน้าแซงหลังกันไปละ