ตราบใดพุทธศาสนาของเรายังมีผู้สนใจใคร่ในข้อวัตรปฏิบัติ และปฏิบัติเพื่อชำระสิ่งที่เป็นข้าศึกอยู่ภายในใจ ตามหลักศาสนธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้ เรื่องคำว่ามรรคผลนิพพาน จะเป็นสิ่งที่ผู้ประพฤติปฏิบัตินั้น ๆ จะพึงได้รับ ตามกำลังความสามารถของตนทุกขั้นทุกภูมิไป เช่นเดียวกับครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ หากจะผิดกันอยู่บ้างก็เนื่องจากผู้แนะนำสั่งสอน ว่าเป็นผู้เข้าใจในจิตตภาวนา จนกระทั่งถึงเรื่องมรรคผลนิพพานภายในจิตใจของตนประการใดเท่านั้นแหละ เป็นสิ่งสำคัญ
เพราะการแนะนำสั่งสอนทางภาคปฏิบัตินี้ ต้องขึ้นอยู่กับจิตใจของผู้แนะนำสั่งสอน ว่าต้องเป็นผู้ทรงอรรถทรงธรรมไว้ อย่างน้อยตั้งแต่ขั้นสมาธิขึ้นไป จนถึงขั้นวิมุตติหลุดพ้น การแนะนำสั่งสอนจะไม่ผิดเพี้ยนจากหลักความจริง ที่พระองค์และสาวกทั้งหลายท่านเคยสั่งสอนมา เพราะกิเลสไม่มีตัวใดเปลี่ยนแปลง พอที่จะเสาะแสวงหาธรรม หาอุบายใหม่ มาแก้ไขกิเลสประเภทที่เปลี่ยนแปลงนั้น ๆ ธรรมะจึงคงเส้นคงวา เหมาะกับการแก้กิเลสอยู่เสมอไป
ในครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าเป็นองค์ประทานพระโอวาท แก่บรรดาสาวกที่เข้ามาอบรมศึกษา และศึกษาเพื่ออรรถเพื่อธรรม เพื่อมรรคผลนิพพานจริง ๆ ไม่ได้ศึกษาเพียงสักแต่ชื่อแต่นามเพราะความจดจำเพียงเท่านั้น และไม่ศึกษาเพื่อเอาขั้นเอาภูมิ ดังที่พวกเราทั้งหลายศึกษาและสอบกัน เพื่อขั้นเพื่อภูมิอยู่ทุกวันนี้ ขั้นของท่านคือขั้นธรรมจริง ๆ เป็นผู้จะพึงสอบได้โดยลำพังตนเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องหาผู้หนึ่งผู้ใดมายืนยันรับรอง มีใบประกาศนียบัตรเหมือนอย่างที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้
เริ่มแต่ขั้นสมาธิขึ้นไป ถ้ากล่าวถึงขั้นแห่งธรรมทั้งหลายที่เรียกว่าอริยธรรม ก็มีอยู่ ๔ ขั้น คือ พระโสดาบันขั้นหนึ่ง พระสกิทาคาขั้นหนึ่ง พระอนาคาขั้นหนึ่ง พระอรหัตขั้นหนึ่ง นี่ ๔ ขั้นนี้เรียกว่าอริยธรรม ผู้ปฏิบัติได้บรรลุขั้นใดก็เรียกว่าเป็นอริยบุคคลขั้นนั้น เช่น ขั้นพระโสดาก็เป็นอริยบุคคลในขั้นนี้ สกิทา อนาคา จนถึงขั้นอรหัตบุคคล มี สนฺทิฏฺฐิโก เป็นเครื่องยืนยันไว้อย่างพร้อมมูล ไม่จำเป็นจะต้องหาใบประกาศนียบัตรหรือเครื่องยืนยันจากผู้หนึ่งผู้ใดเลย นี่ละที่ท่านเรียนแบบสมัยพุทธกาล ส่วนมากผู้ไปศึกษาอบรมกับพระพุทธเจ้า ท่านไปด้วยความมุ่งหมายอย่างนี้
ในขณะที่ไปฟังการอบรมกับพระพุทธเจ้า ก็รู้สึกว่าเป็นผู้มีอาการแห่งความเห็นภัยอยู่โดยสม่ำเสมอ อากัปกิริยาของพระของผู้ปฏิบัติทั้งหลายมีความสงบเรียบร้อย มีท่าทางแห่งความเป็นนักรบนักภาวนา คือความเป็นผู้มีสติ ไม่ผาดโผนพรวดพราดอะไรแบบโลก ๆ ไม่มีกิริยาของโลกเข้ามาแฝง หากจะเป็นไปตามนิสัย นิสัยนั้นก็ยังต้องมีธรรมคือความตั้งอกตั้งใจ เป็นหลักเกณฑ์อยู่ภายในนิสัยนั้นเสมอ
การศึกษาหรือการได้ยินได้ฟังก็จากพระพุทธเจ้าเสียด้วย ซึ่งเป็นผู้สมบูรณ์แบบทุกอย่างในเรื่องมรรคเรื่องผล ตลอดความรู้ที่เกี่ยวกับอุปนิสัยของผู้ใดมีหนักแน่นไปในทางใดซึ่งเป็นกรณีพิเศษ ดังที่ท่านแสดงไว้ใน ฉฬภิญโญ ความรู้ ๖ อย่างหรือความเป็น ๖ อย่างนั้น เตวิชโช ฉฬภิญโญ จตุปฏิสัมภิทัปปัตโต เหล่านี้เป็นปลีกเป็นย่อยอันหนึ่ง ๆ ของผู้ที่ทรงอรรถทรงธรรมแต่ละองค์ ที่จะพึงรู้พึงเห็นไปตามนิสัยวาสนาของตน พระองค์ก็ทรงแนะนำให้เป็นไปตามแนวแถวของผู้รู้ผู้เห็น ตามจริตนิสัยของตนนั้น ๆ ไม่ขัดไม่ข้อง นี่ละจึงเป็นไปได้ทั้งภายนอก คือแก่นแห่งธรรมก็พระพุทธเจ้าทรงสอนเอง ปริยายแห่งธรรมที่เป็นไปตามนิสัยวาสนาดังที่กล่าวมานี้ มีอภิญญา ๖ เป็นต้น ก็พระพุทธเจ้าเป็นผู้แนะนำเสียเอง จึงไม่ผิดพลาดเลย
ภาคปฏิบัติและสถานที่ปฏิบัติ ก็เป็นสถานที่เหมาะสมในการชำระกิเลสอยู่ทุกกาลสถานที่อีกด้วย ที่ไหนเป็นป่าเป็นเขาลำเนาไพร ไม่พลุกพล่านวุ่นวายด้วยฝูงชน สิ่งที่จะทำให้อย่างน้อยเป็นความไม่สะดวกในการบำเพ็ญสมณธรรม พระองค์ก็ทรงสอนให้รู้หมด และทรงแนะนำสั่งสอนหรือแนะแนวทางให้ไปสถานที่บำเพ็ญอันเหมาะสม เมื่อท่านเหล่านั้นได้ยินได้ฟังพระโอวาทจากพระพุทธเจ้าอย่างเต็มหัวใจแล้ว ย่อมไปด้วยความภาคภูมิใจในการบำเพ็ญในการประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะได้รู้เห็นธรรมนั้น ๆ ที่ได้รับพระโอวาทจากพระองค์โดยลำดับไป ด้วยความพากเพียรไม่ลดละถอยหลัง
มีจำนวนมากน้อยเพียงใดก็ตามพระผู้ปฏิบัติ มีแต่เป็นผู้ทรงพลังของจิตที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นต่อมรรคผลนิพพานด้วยกัน มีความเพียรเป็นพื้นฐาน มีความมุ่งมั่นเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวหรือเป็นจุดที่หมาย เหมือนกับแม่เหล็กดึงดูดความพากเพียร อาการทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นเครื่องเพิกถอนกิเลสทำให้มีกำลังไปตาม ๆ กัน จนทะลุปรุโปร่งไปถึงจุดที่หมายได้แก่มรรคผลนิพพาน
เพราะฉะนั้นบรรดาพระสงฆ์ที่ประพฤติปฏิบัติในครั้งพุทธกาล จึงอยู่กันด้วยความสะดวกผาสุก เพราะเป็นผู้มีความมุ่งมั่นต่ออรรถธรรมอย่างแรงกล้า อะไร ๆ ไม่ถือสีถือสา เพราะเรื่องเหล่านั้นก็ทราบแล้วว่าเป็นเรื่องของกิเลส ไม่ถือเป็นหลักเป็นเกณฑ์พอที่จะมาเป็นข้าศึกต่อจิตใจของตน และทำให้กระทบกระเทือนผู้อื่นได้
วันคืนยืนเดินนั่งนอนมีแต่การดูหัวใจของตน ซึ่งเป็นสถานที่เกิดขึ้นแห่งเหตุทั้งหลาย ส่วนมากตัวเหตุคือสมุทัยมันเกิดที่ใจ นอกจากนั้นยังมีเครื่องเสริมให้เกิดขึ้นอีกเรื่อย ๆ มีจำนวนมากมาย เรียกว่ารอบตัวของเรานี้มีแต่ทางไหลเข้ามาแห่งกิเลสทั้งหลาย ตากระทบรูป ถ้าสติไม่มีก็เป็นไปเพื่อกิเลส หู จมูก ลิ้น กาย กระทบอะไรที่เป็นคู่เคียงแห่งกันและกัน เช่น เสียง กลิ่น เป็นต้น ก็เป็นความหมายไปเพื่อกิเลสทั้งนั้น นี่เรื่องของข้าศึกมีอยู่รอบตัว
แล้วจิตนั้นแลจะเป็นผู้ที่คิดผู้ปรุงผู้แต่งผู้ให้ความสำคัญมั่นหมาย เพื่อให้กิเลสทั้งหลายกำเริบขึ้นภายในจิตใจของตัวเอง ไม่ใช่รูป รส กลิ่น เสียง เครื่องสัมผัสทั้งหลายเหล่านั้นมาเป็นตัวภัยเสียเอง แต่เป็นเรื่องของจิตที่ได้พบได้เห็นสิ่งเหล่านั้นแล้วมาวาดภาพขึ้น ตีความสำคัญมั่นหมายออกไปกว้างขวางลึกซึ้งด้วยความเป็นสมุทัย แล้วกลายเข้ามาเป็นทุกข์เผาลนจิตใจของตนเอง ก็คือจิตใจของเรานี้ที่คิดออกไปด้วยความไม่มีสติ ไม่ใช่สิ่งอื่นใดมาเป็นข้าศึกต่อเรา
แต่เป็นเพราะจิตไปสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งใดแล้วเกิดกิเลสขึ้นมา ท่านจึงให้ระมัดระวัง ถ้าไม่ควรจะได้สัมผัสสัมพันธ์ก็อย่าไปสัมผัสสัมพันธ์ คือไม่ควรเห็นอย่าเห็นอย่าดู ไม่ควรฟังอย่าฟัง ดังพระพุทธเจ้าท่านทรงรับสั่งสอนพระอานนท์ ตอนที่พระอานนท์ขึ้นทูลถามพระพุทธเจ้าว่า การปฏิบัติต่อมาตุคามนี่เป็นต้นนะ จะให้ปฏิบัติอย่างไร คำว่ามาตุคามใครก็ทราบแล้วอยู่ในสถานที่นี่ ไม่จำเป็นต้องอธิบายออกไป
เรายกตัวอย่างเพื่อให้ตีความหมายไปกับสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นภัย ว่าไม่เห็นเสียเลยละดี อานนท์ นั่นฟังซิ คือสิ่งที่เป็นภัยใด ๆ ก็ตาม เมื่อเห็นเข้าไปแล้วจะเป็นภัย ให้พึงสำรวมเสียก่อนก่อนที่จะเห็นจะดู ด้วยความไม่ดูไม่เห็นนั้นแลดี อานนท์ นั่น อันนี้ดีนะ หากจำเป็นจะได้เห็นได้ยินจะทำยังไง อย่าพูด คืออย่าสำคัญอย่าครุ่นคิดอย่าติดใจในสิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยิน อย่าถือมาเป็นอารมณ์ ให้พยายามตัดเสมอ ๆ กับสิ่งนั้น ๆ ที่จะเป็นเครื่องเกี่ยวโยงเข้ามาให้เป็นข้าศึกต่อจิตใจ
นี่ละเราเทียบเพียงสองประโยคเท่านี้ ก็ให้พึงทราบเอาในเรื่องทั้งหลาย ที่ไม่ควรแก่การบำเพ็ญของเรา มันเป็นสิ่งที่จะมากำจัดการบำเพ็ญนี้ให้ด้อยหรือให้เสียไป จนกระทั่งกลายเป็นเรื่องความเพียรในสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อตนไปเสีย จึงต้องได้ระมัดระวัง นี่ละที่ท่านว่าให้ระมัดระวัง ตาเวลากระทบรูป หูเวลากระทบเสียง สิ่งทั้งหลายที่เข้ามาเกี่ยวข้องสัมผัสสัมพันธ์กับอายตนะภายในของเรา คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้พึงระมัดระวังด้วยสติ หากไม่จำเป็น ก็ไม่ควรที่จะเห็นจะดูจะฟังจะสัมผัสถูกต้องสิ่งเหล่านั้น
นอกจากจำเป็น ฟังแต่คำว่าจำเป็นนั่นเถอะ หากจำเป็นจะได้เห็นเล่าพระเจ้าข้า ดังพระอานนท์ทูลถามพระพุทธเจ้า หากจำเป็นจะได้เห็นได้ดู อย่าพูด แน่ะท่านมีทางเลี่ยงไปอีก หากจำเป็นที่จะพูดจะทำอย่างไรล่ะ ให้ตั้งสติให้ดี อย่าให้เป็นไปตามอำนาจแห่งตัณหา ท่านว่า นั่นฟังซิ สิ่งทั้งหลายก็เหมือนกันเช่นนั้น
กิเลสนี้มีประเภทต่าง ๆ กัน แต่สิ่งที่กล่าวมายกขึ้นมาเป็นตัวอย่างตะกี้นี้ เป็นประเภทที่หนัก เป็นประเภทที่ถือเป็นข้าศึกจริงๆ สำหรับนักบวชที่ประพฤติพรหมจรรย์ ท่านจึงให้ตัดถึงขนาดนั้น ไม่เช่นนั้นไปไม่รอดจริง ๆ มันหนัก ถ้าเป็นแม่เหล็กก็ดูดเอาจนกระทั่งถึงตัวกลิ้งไปไม่รู้สึกตัวเลย ถลอกปอกเปิกไปก็ไม่รู้ ถูกมันดูดเอา จึงต้องระมัดระวังให้มาก นี่แหละที่ท่านแสดงสถานที่ที่อยู่ที่ไปให้เราทั้งหลายได้ปฏิบัติ เพื่อความปลอดภัยกับสิ่งทั้งหลายที่กล่าวมาเหล่านี้
เช่นในป่า ป่าจะมีอะไร ก็มีแต่ต้นไม้ ป่าไม้กับป่าคนต่างกันอยู่มาก ป่าไม้เป็นที่ร่มรื่น ชุ่มเย็นสบาย สบายกายสบายใจ ป่าคนเป็นที่รุ่มร้อน มาทุกด้านทุกทางจากข้าศึกของคน จึงต้องได้ระมัดระวัง นี่ละคำว่าป่าเป็นอย่างนี้ สถานที่ที่เปลี่ยว อยู่คนเดียวดีกว่าอยู่หลายคน อยู่หลายคนมีหลายเรื่องหลายราว แม้จะเป็นนักปฏิบัติด้วยกันอยู่ด้วยกันหลาย ๆ คนก็ยังไม่เหมาะ จะว่าอะไรกับคนทั่ว ๆ ไปที่ไม่เคยได้รับการอบรมทางอรรถทางธรรมเลยจะไม่เป็นข้าศึกต่อกัน ท่านจึงให้ระมัดระวัง
ให้ไปหาอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ คือว่าโคนต้นไม้บ้าง ในป่าทั่ว ๆ ไปบ้าง ในถ้ำบ้าง เงื้อมผาบ้าง ชายป่าชายเขา หลังเขาไหล่เขา ที่ไหนเป็นที่สะดวกสบายแก่การบำเพ็ญสมณธรรม และรักษาจิตได้ง่ายกว่ากันกับสถานที่ทั่ว ๆ ไปแล้ว ให้พึงเสาะแสวงหาในสถานที่เช่นนั้นเถิด
เพราะฉะนั้นบรรดาพระสาวกทั้งหลายบรรลุธรรม ท่านจึงมักบรรลุในสถานที่เหมาะสม ตามที่พระโอวาทพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ มากกว่าที่จะบรรลุในตลาดลาดเล เช่นอย่างสมัยทุกวันนี้ก็เรียกว่า เทศบาล ๑ เทศบาล ๒ มีที่ไหน ธรรมท่านมีอยู่ทั่ว ๆ ไป แต่ไม่สามารถที่จะรื้อฟื้นธรรมให้เกิดขึ้นในสถานที่เช่นนั้นได้สะดวกสบาย ยิ่งกว่าสถานที่เหมาะสมเช่นในป่าในเขาเป็นสำคัญ นี่ละพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้พวกเราทั้งหลายได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญ ตามเข็มทิศทางเดินที่ทรงแสดงไว้แล้วนั้นอย่าให้เคลื่อนคลาด
ผู้มีความรักในมรรคผลนิพพาน ให้พึงรักให้พึงเคารพในพระโอวาทอันถูกต้องดีงามอันตายตัว แห่งความถูกต้องดีงามทั้งหลายของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้แล้ว อย่าได้ให้เคลื่อนคลาดไป อย่าให้จืดจางภายในจิตใจ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ
ยากก็ตามเถอะ การเดินทางย่อมมีทั้งทางคด ทางโค้ง ทางตรง ทางสะดวก ขรุขระ มีผสมผเสกันไป แต่สายทางอยู่ที่ตรงนั้น จำเป็นผู้เดินทางต้องผ่านไปตามสายทางที่เป็นเช่นนั้น เราเลือกเอาไม่ได้ หากเป็นสิ่งที่เลือกได้แล้ว พระพุทธเจ้าไม่มีใครฉลาดแหลมคมเกินพระองค์แต่ละพระองค์ ๆ เลย จะทรงแสดงให้สัตว์ได้รับความสะดวกสบายที่สุด การฆ่ากิเลสถ้าฆ่าได้อย่างง่ายดาย พระองค์ก็จะสอนวิธีฆ่าให้พวกเราทั้งหลายง่ายที่สุดเหมือนกันหมด ไม่ให้เป็นความยุ่งยากลำบาก
แต่นี้ไม่ทรงเห็นอันใดอุบายใดที่จะเกินอุบายที่ว่ามัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายตรง ไปตรงนี้ จึงต้องสอนแบบนี้ คำว่าทางสายตรงนั้นย่อมมีขรุขระ มีสะดวก ไม่สะดวก หากมีอยู่นั้น สายทางตรงไปไหนจะเป็นยังไง ก็ต้องได้ไปตามนั้นเลือกเอาไม่ได้ พอออกนอกลู่นอกทางนี้ไปก็จะเป็นขวากเป็นหนาม เป็นหลุมเป็นบ่อเป็นเหว นรกจกเปรตไปหมด ไม่ใช่ทางเดินของสวากขาตธรรม นี่ละพระพุทธเจ้าจึงสอนไว้ว่าเป็นมัชฌิมา อันนี้ละเหมาะสมที่สุดแล้ว
จะยากลำบากแค่ไหนก็ให้พึงทราบว่า กำลังของกิเลสกองทัพของกิเลสมีมาก มันหนามันบางขนาดไหน ถึงระยะที่ควรจะหนักในการฟาดฟันหั่นแหลกต่อกัน มันย่อมหนักมันย่อมลำบาก ในกาลสถานที่เป็นบางระยะเป็นบางตอน ที่ควรจะเบามันก็เบา ควรที่จะสะดวกก็สะดวก ควรที่จะชำระได้ง่ายก็ง่าย เช่นจิตบางครั้งบางเวลาสงบได้อย่างรวดเร็วก็มี สงบได้อย่างสะดวกสบายก็มี บางครั้งบางคราวแทบเป็นแทบตายยังไม่ได้เรื่องเลยก็มี และอีกบางครั้งตั้งหน้าตั้งตาจะเอาให้จริงให้จัง เอาให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยถึงพริกถึงขิงจริง ๆ ไม่เป็นท่าเลยก็ยังมี เพราะอะไร
ก็เพราะสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อเรานั้นมันเหนืออุบายของเราทุกอย่าง ในขณะที่เราบำเพ็ญเพื่อความต้องการตามใจหวังนั้น กิเลสมันเหนือนั้น เราจึงไม่ได้อย่างสมมักสมหมาย นี่เป็นอย่างนั้น หากเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ตามใจหวังทุกคนแล้วใครอยากจะอยู่ในโลก ใครจะไม่อยากพ้นจากทุกข์ คำว่าทุกข์นิดเดียวก็เป็นความลำบากอยู่แล้ว
แต่นี้มันเลือกเอาไม่ได้ พระพุทธเจ้าเองก็ทรงเลือกเต็มพระกำลังความสามารถ จึงได้อุบายแห่งธรรมที่พระองค์ทรงเห็นสมควรแล้วในแง่ใด มาสอนสัตว์โลกตามที่ได้ทรงบรรลุ ได้ผ่านทางผลมาแล้วเท่านั้น ให้เราทั้งหลายเห็นใจพระพุทธเจ้า พูดง่าย ๆ ว่าทรงเลือกเฟ้นเต็มพระสติกำลังความสามารถมาแล้ว เราเป็นเพียงล้างมือเปิบเท่านั้น
ยากลำบากก็ไปทางสายนี้ ไม่งั้นจะเรียกว่าเพียรได้ยังไง ก็ต้องยากบ้างถึงต้องได้ใช้ความพากความเพียร หากเป็นของง่ายนิดเดียวความเพียรมีความหมายอะไร สติปัญญาก็ไม่มีความหมาย ถ้ากิเลสโง่เสียจนเกินโง่ จะไม่ได้ครองหัวใจสัตว์โลกเป็นอันขาด แต่นี่เรื่องของกิเลสเป็นธรรมชาติที่ฉลาดแหลมคมเหนือสิ่งใด ๆ ในโลกนี้ สามแดนโลกธาตุนี้จึงเป็นอำนาจของกิเลสครอบครองทั้งหมด สัตว์ตัวใดวิญญาณดวงใดไม่เคยที่จะเหนืออำนาจของกิเลส พ้นอำนาจของกิเลสไม่ครอบครองไปได้ นี่ก็เพราะความฉลาดแหลมคมของมัน
เพราะฉะนั้นการใช้อุบายแห่งสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรทุกด้านทุกทาง จึงต้องได้ทุ่มเทกันลงเต็มสติกำลังความสามารถ พร้อมทั้งอุบายที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้ว อย่าลดละปล่อยวาง ให้ยึดนั้นเป็นหลักถึงจะได้รับผลไปโดยลำดับ จนกระทั่งถึงผลเป็นที่พอใจ นี่ละการปฏิบัติภาวนาเป็นอย่างนี้
เพราะกิเลสเป็นของที่เหนียวแน่นที่สุด ผู้ที่ยังไม่เคยได้เห็นเหตุเห็นผลได้ต่อกรกันกับกิเลสแล้ว พูดได้ง่ายเหมือนนกขุนทอง เรื่องสมาธิก็พูดได้ง่าย เพราะพูดด้วยความจำ ใครเรียนใครก็จำได้ เด็กเรียนเด็กก็จำได้ ผู้ใหญ่ใครก็ตามเรียนลงไปจำได้ทั้งนั้น ชื่อของกิเลส ชื่อของอุบายวิธีการต่าง ๆ
แต่เวลาจะเข้าถึงตัวกิเลสจริง ๆ ไม่รู้จนกระทั่งกิเลสเป็นอะไร คืออะไร นั่น เหมือนอย่างที่เราเข้าไปนอนอยู่ในถ้ำเสือ เราไม่ทราบว่าเสืออยู่ในนั้น เราจะไปหาฆ่าเสือ แต่เวลาได้ยินเสียงเสือกระหึ่ม ๆ มันกำลังจะงับหัวอยู่แล้วกลืนทั้งตัว เรายังไม่ทราบเสียงกระหึ่ม ๆ ของมัน ยังเคลิบเคลิ้มหลงใหลว่าได้ฟังเสียงเพลงอันอัศจรรย์อยู่ในถ้ำนี้เสียอีก ไม่ทราบว่าเพลงนี้มาจากไหน เป็นไปยังงั้นเสียอีก นั่นเวลาเข้าถึงตัวเสือจริง ๆ แล้วยังไม่รู้ว่าเสือ นี่เข้าไปยังไม่รู้ว่ากิเลส มันงับเอาแล้ว ๆ เราไม่รู้ นี่ละเพราะความโง่กว่ามันถึงไม่รู้อุบายของมัน
ต่อเมื่อได้ฟิตตัวตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าทรงสอน เอ้า สติตั้งให้ดีเข้าไป นั่น ปัญญาตั้งให้ดี พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน ความเพียรหนุนเข้าไป ความอดทนอดลงไป สิ่งอื่นเรายังอดได้ทนได้ เราเกิดมานี้ได้ใช้ความอดทนมามากเท่าไร ได้ใช้ความเพียรมามากเท่าไรกับกิจการทั้งหลาย เหตุใดเราจะใช้ความเพียรต่อการประพฤติปฏิบัติอรรถธรรม เพื่อความเลิศเลอในตัวของเราเอง ทำไมเราจะใช้ไม่ได้
เมื่อเราใช้เข้าไปอย่างนี้ เรื่อย ๆ เข้าไปอย่างนี้โดยสม่ำเสมอแล้ว อุบายต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้นั้นจะปรากฏขึ้นภายในจิตใจของเรา เราจะได้เห็นเรื่องราวของกิเลส เห็นร่องรอยของกิเลสว่าเป็นร่องรอยอย่างไร อุบายของกิเลสเป็นอุบายยังไง เมื่ออุบายของธรรมจับกันเข้าทันเข้า ๆ ย่อมจะทราบอุบายของกิเลส ย่อมจะทราบความเคลื่อนไหวของกิเลส ว่าเคลื่อนออกจากที่ตรงไหน
สุดท้ายก็พ้นไปไม่ได้ว่าเคลื่อนมาจากหัวใจนี้เอง นั่นที่นี่ทราบแล้ว อ๋อ กิเลสอยู่ที่หัวใจ กระเพื่อมพับออกแล้วเหรอกิเลสนี่ กระเพื่อมพับออกไปแล้ว ๆ ไม่กระเพื่อมก็สัญญาเป็นความละเอียดมากยิ่งกว่าสังขาร ยังซึมซาบออกไปได้ นี่เมื่อปัญญาหยั่งทราบลงไปด้วยความแหลมคมอย่างนี้แล้ว ทำไมจะไม่ทราบกลอุบายของกิเลสนี่ นี่ละที่มันทันกันทันอย่างนี้เอง เมื่อได้ยึดตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วจะเป็นอย่างนี้ไม่เป็นอื่น
แล้วต่อไปที่เคยว่าขรุขระ ที่เคยว่าลำบากลำบน ก็จะค่อยเบาลงไป ๆ ลำบากก็ให้เห็นด้วยตัวของเรานั่นแหละเป็นความเหมาะที่สุด มันยากขนาดไหนมันลำบากขนาดไหน ๆ เจอกิเลสตัวไหนที่เป็นตัวที่แสบ ๆ ที่สุด ก็ให้รู้ในหัวใจของเรา และกำลังของสติปัญญาของเราเอง ว่าต่อสู้กับกิเลสประเภทนั้น ๆ เราต่อสู้ด้วยอุบายวิธีใด จึงได้ชัยชนะมาเป็นลำดับลำดา นี่ย่อมเห็นได้อย่างชัด ๆ อย่างนี้ผู้ปฏิบัติ ไม่อย่างนั้นเอามาพูดได้ยังไง
พระพุทธเจ้าทรงเห็นชัดเจนที่สุด จึงได้นำธรรมออกมาแสดง และพระอรหันต์ท่านก็ถึงใจอย่างไม่มีที่สงสัย จึงเป็นองค์แทนของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ยืนยันรับรองศาสนธรรมของพระพุทธเจ้า ด้วยหัวใจของตนที่ทรงไว้แล้วซึ่งธรรมดังกล่าวนั้น แน่ะ ใครเล่าจะเป็นผู้ที่ยืนยันธรรมของพระพุทธเจ้าได้ยิ่งกว่าพระอรหัตอรหันต์ เพราะท่านทรงธรรมเหล่านี้ไว้แล้ว
ตายก็ยอมตายไปเลย ขึ้นชื่อว่าธรรมพระพุทธเจ้าแล้วไม่ยอมที่จะให้ตกต่ำ เจ้าของตายก็ตายไปเถอะ บรรดาพระอรหันต์ที่เป็นผู้ทรงธรรมตามพระพุทธเจ้าแล้ว หรือตามเสด็จตามรอยพระบาทให้ถึงพระองค์แล้วด้วยความเห็นธรรม จะเป็นอย่างนั้นด้วยกันทุกองค์ นี่ละธรรมจึงเป็นเครื่องประกาศยืนยันอยู่ในหัวใจของผู้ปฏิบัติ
ดังที่กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้นนั้นว่า หากยังมีผู้สนใจใคร่ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมอยู่เมื่อไร เรื่องมรรคผลนิพพานนั้นจะเป็นไปโดยลำดับลำดา ที่ผู้ปฏิบัตินั้นจะพึงได้รับผลตามขั้นตามภูมิแห่งธรรม และตามสติกำลังความสามารถของตนโดยลำดับลำดา เช่นเดียวกับครั้งพุทธกาลที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ หากจะมีผิดเพี้ยนกันอยู่บ้างก็ตรงให้การแนะนำสั่งสอน
ผู้แนะนำสั่งสอนเป็นผู้เช่นไร นี่เป็นสิ่งสำคัญอยู่มาก คือเพียงการสอนทางภาคปฏิบัตินี้จะสั่งสอนกันด้วยทางปริยัติไม่ได้ จะทำให้ลูบ ๆ คลำ ๆ ผู้ปฏิบัติก็จะไม่ได้เรื่องได้ราวอะไรเลย ต้องเอาภาคปฏิบัติที่ตนรู้ตนเห็นสั่งสอนบรรดาลูกศิษย์ที่เข้ามาศึกษาอบรม นั่นจึงเป็นที่แน่ใจ เพราะตนเป็นที่แน่ใจแล้วในหัวใจของเราเอง
ไม่ว่าสมาธิ ตนก็เป็นสมาธิมาแล้ว เหตุที่จิตจะเป็นสมาธิเป็นมาด้วยอุบายใด เราก็ได้ทราบมาหมด อุบายวิธีการความพากเพียรที่จะทำจิตให้เป็นสมาธิ เราก็เป็นมาแล้ว แล้วจิตเป็นสมาธิขั้นนี้เป็นยังไง เราก็เป็นมาแล้ว ขั้นนั้นเป็นยังไง เราก็เป็นมาแล้วทรงมาแล้ว ทำไมจะสอนคนอื่นผิดเพี้ยนไปล่ะ
นี่ละเป็นที่แน่ใจของผู้สอน ต้องเป็นผู้แน่ใจในตัวเองเสียก่อน แล้วสอนคนอื่นด้วยความแน่ใจไม่สงสัย ผู้รับธรรมะจากการอบรมสั่งสอนก็เป็นที่แน่ใจไม่สงสัย ว่านี้จะใช่หรือไม่ใช่ เพราะผู้สอนสอนด้วยความถูกต้องอยู่แล้ว ผู้ฟังก็ย่อมเป็นที่ตายใจได้
ที่นี่พูดถึงเรื่องปัญญา เอ้า จะเป็นปัญญาขั้นใด ตนเองผู้สอนก็เป็นผู้ที่ได้พินิจพิจารณาทางด้านปัญญามาแล้วทุกขั้นทุกภูมิ จนกระทั่งได้ต่อสู้กับกิเลสประเภทต่าง ๆ เห็นผลประจักษ์ใจมา จนกระทั่งถึงกิเลสขาดสะบั้นไปจากจิตใจของตนหมดสิ้นโดยสติปัญญาที่ทันสมัย แล้วเหตุใดจะสอนคนอื่นเพื่อการแก้กิเลสด้วยสติปัญญานั้นผิดเพี้ยนไปได้เล่า ไม่ผิด แล้วผลที่เกิดขึ้นจากสติปัญญาทำได้คืออะไร ก็คือความบริสุทธิ์พุทโธภายในหัวใจ
เมื่อเอาพุทธะดวงที่บริสุทธิ์พุทโธอันเป็นผลนี้ เป็นเครื่องยืนยันตั้งเป็นหลักฐานไว้ แล้วแสดงธรรมแก่บรรดาผู้มาศึกษาอบรมจะผิดที่ตรงไหน จะมีเอนเอียงที่ตรงไหน ไม่มี นี่ละผู้ที่จะทรงมรรคทรงผลได้โดยลำดับลำดา ต้องอาศัยการอบรมการแนะนำสั่งสอนของผู้ที่ได้รับผลมาแล้ว สอนเป็นที่ถูกต้องแม่นยำ นี่เป็นการที่จะเดินได้รวดเร็วและไม่เป็นอุปสรรค อันนี้สำคัญมาก
แต่อย่างไรก็ตาม การประพฤติความพากเพียรสำหรับตน เวลานี้เทปก็มี หนังสือก็มี ควรจะยึดนั้นเป็นหลักเป็นเกณฑ์เอาไว้ แล้วตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ให้เห็นกิเลสเบาบางจากหัวใจเป็นอย่างไร เราเห็นแต่ความมืดความทึบ ความทุกข์ความทรมานในหัวใจ เพราะกิเลสบีบคั้นบีบบังคับทรมานเราเรื่อยมา ตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งถึงบัดนี้มีเวลาจืดจางที่ตรงไหน
เพลินออกมาก็เป็นเรื่องของกิเลสหลอกลวงเสีย ออกจากเพลินก็เป็นความทุกข์ความทรมาน เพราะอำนาจของกิเลสเหยียบย่ำทำลายประเภทหนึ่งเสีย มีแต่กลมายาของกิเลสเหยียบย่ำหัวใจอยู่ตลอดเวลานี้ ไม่ปรากฏว่าธรรมได้แสดงลวดลายของตัวออกมา ให้เราเห็นเป็นคู่แข่งกับกิเลสบ้างเลย อย่างนี้มันไม่เกินไปหรือนักปฏิบัติของเรา ขอให้ท่านทั้งหลายได้นำไปพินิจพิจารณาเถอะ
ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมที่วิเศษแท้ ๆ พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาองค์วิเศษไม่มีใครเสมอเลย ขอให้นำธรรมะของท่านมาปฏิบัติกำจัดสิ่งที่เลวทรามทั้งหลายภายในจิตใจของเราออก ให้มองเห็นธรรมอันประเสริฐกับจิตใจกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน จะวิเศษขนาดไหนใจดวงนี้ แล้วเราจะยอมกราบพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องให้ใครบอกเลย และจะเป็นข้อยืนยันเรื่องพระพุทธเจ้าว่า คอขาดเลยเรื่องศาสนา เรื่องพระพุทธเจ้า ว่ามีหรือไม่มี ศาสนธรรมนี้จริงหรือไม่จริง ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง หัวใจของเราเป็นยังไง ได้ธรรมชาติประเสริฐนี้มาจากไหน นั่นแหละเป็นเครื่องยืนยันกัน
ให้มันเห็นดูซินักปฏิบัติเรา เป็นยังไงธรรมะพระพุทธเจ้า มีเพียงในตำรับตำราเท่านั้น นั้นมีแต่ชื่อนะ เอาให้เห็นจริงในหัวใจของเรานี้ในภาคปฏิบัติ ธรรมะนี่สด ๆ ร้อน ๆ นะ ไม่ใช่กาลไม่ใช่สถานที่ ท่านจึงว่า อกาลิโก ฟังซิ ในบทธรรมคุณท่านแสดงไว้ สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม แปลออกมาแล้วว่า ธรรมทุกประเภทอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว ฟังซิ คำว่าชอบแล้วคือไม่ผิด ไม่ว่าจะเป็นขั้นใดภูมิใด ในธรรมพื้น ๆ จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น ไม่มีผิด แสดงไว้โดยถูกต้อง นี่ละ สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม
สนฺทิฏฺฐิโก ผู้ปฏิบัติจะพึงรู้เองเห็นเองในธรรมเหล่านี้ ไม่อยู่ที่ไหน ไม่มีอันใดเป็นเครื่องรับเป็นเครื่องยืนยัน เป็นเครื่องสัมผัส มีใจดวงนี้เท่านั้น ที่ประกอบด้วยอุบายวิธีการต่าง ๆ ที่จะมาปฏิบัติ เพื่อความรับทราบธรรมทั้งหลาย เพื่อความสัมผัสสัมพันธ์ธรรมทั้งหลาย เพื่อความรู้แจ้งแทงทะลุในธรรมทุกประเภทจนถึงขั้นวิมุตติหลุดพ้น ไม่นอกเหนือไปจากใจที่ได้รับอุบายจากศาสนธรรมนี้เป็นเครื่องดำเนินเลย
อกาลิโก แน่ะฟังอีกซิที่นี่ อกาลิโก มีกาลสถานที่มีเวล่ำเวลาที่ไหน ก็เช่นเดียวกับกิเลสที่ฝังจมอยู่ภายในจิตใจของเรานี้ มันมีกาลไหนเวลาไหนที่จะไม่เหยียบย่ำทำลายเรา ที่จะไม่เป็นกิเลส ตอนไหนไม่เป็นกิเลส เวลาไหนไม่เป็นกิเลส เวลาไหนเป็นคุณต่อเรา มันเป็นกิเลสตลอดเวลาอกาลิโกเช่นเดียวกัน การแก้กิเลสด้วยอรรถด้วยธรรม ธรรมจึงต้องเป็นอกาลิโกเช่นเดียวกัน ไม่เช่นนั้นไม่ทันกัน ท่านก็บอกไว้ว่า อกาลิโก
เอหิปสฺสิโก แปลตามทางปริยัติท่านว่า สามารถที่จะเรียกร้องคนอื่นมาดูได้ ธรรมของจริงอยู่ในตัวของเรานี้ นี่ทางปริยัติท่านแปลว่ายังงั้น นี้เราไม่ถนัดใจ เราขอพูดให้ฟังตามความถนัดใจของเรา จะผิดเพี้ยนประการใดก็ขอให้หมู่เพื่อนได้พินิจพิจารณา ซึ่งเคยปฏิบัติมาอย่างนี้แล้วนะ ไม่ใช่มาด้นเดาเอา เราปฏิบัติอย่างนี้ แล้วอุบายอันนี้เป็นอุบายที่เจ้าของดำเนินมาแล้ว และเห็นผลประจักษ์ในหัวใจของเรา
ว่า เอหิ นี่หมายถึงว่าพระธรรมนั้นแลท่านเตือนเราท่านสอนเรา ให้ย้อนจิตของท่านเข้ามาดูธรรมของจริงอยู่ภายในนี้คืออริยสัจ ทุกข์ก็ปรากฏขึ้นที่ใจนี้ สมุทัยก็ปรากฏขึ้นที่ใจนี้ อันเป็นตัวเหตุสร้างทุกข์ขึ้นมา จงน้อมจิตเข้ามานี้ สตินั่นนี่คือมรรค ปัญญาให้ย้อนเข้ามาดูธรรมของจริง คือ ทุกฺขํ อริยสจฺจํ นี่ก็ธรรมของจริง สมุทัย อริยสจฺจํ นี่ก็ธรรมของจริงแสดงอยู่ภายในใจนี้ เกิดขึ้นภายในใจนี้ เพราะฉะนั้นท่านจึงย้อนสติปัญญาเข้ามาสู่จุดนี้ นี่ เอหิ ๆ แปลว่าให้ย้อนเข้ามา
นี่พระธรรมท่านสอนว่า ท่านจงอย่าส่งจิตออกไปข้างนอก วุ่นวายส่ายแส่หาเรื่องหาราวอันเป็นเรื่องของสมุทัยหารายได้ของมันทั้งนั้น ให้ย้อนสติปัญญาเข้ามาสู่ภายในนี้ และดูเรื่องของจิต มันคิดเรื่องอะไรปรุงเรื่องอะไร อดีตอนาคต มีแต่เรื่องของทุกข์ของสมุทัยทั้งนั้น แก้มันด้วยสติปัญญาของเราเอง นี่เรียกว่า เอหิปสฺสิโก
โอปนยิโก เห็นอะไรได้ยินอะไรก็ตาม ให้น้อมเข้ามาเป็นอรรถเป็นธรรม เครื่องพร่ำสอนตนโดยสม่ำเสมอ
ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ผู้ที่ปฏิบัตินั้นแลจะเป็นผู้รู้ ที่ว่าท่านผู้รู้ทั้งหลายจะรู้จำเพาะตน ก็คือผู้ปฏิบัติคือเรานั้นแหละจะเป็นใครที่ไหน จะรู้ได้จำเพาะตัวเราเอง รู้ในหัวใจของเราเอง รู้ทั้งทุกข์ รู้ทั้งสมุทัย รู้ทั้งนิโรธ รู้ทั้งมรรค จะรู้ที่จิตของเรานี้ไม่เป็นอื่น ไม่ไปรู้ที่ไหนเลย นี่ในพระธรรมคุณท่านก็แสดงไว้อย่างนี้
เราก็สวดมาเสียจนปากแฉะได้เรื่องได้ราวอะไรบ้าง เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ซิ กิเลสมันหัวเราะนี่ สวดไปก็สวดไปกิเลสมันหัวเราะเราโดยไม่รู้สึกตัว ถ้าสวดไม่มีสติเป็นเช่นนั้น ถ้าสวดให้มีสติดังที่ว่า เอหิ เอ้า ย้อนจิตเข้ามาซิ เรื่องของทุกข์ของสมุทัย ซึ่งเป็นสัจธรรมอย่างเอก ที่ทำสัตว์ทั้งหลายให้ได้รับความลำบากลำบนที่สุด ก็อยู่ที่หัวใจนี้
เอ้า สติปัญญานี้ก็เป็นสัจธรรมอย่างเอก เครื่องปราบกิเลสก็อยู่ในหัวใจนี้ เอาน้อมเข้ามาฆ่ากันซิ อยู่ภายในจิตใจนี้ คำว่านิโรธ ๆ ความดับทุกข์ไม่ต้องบอก ถ้าลงมรรคมีกำลังสังหารสมุทัยให้แหลกไปแล้ว ความดับทุกข์ดับเอง เพราะสมุทัยตายไปแล้วจะเอาทุกข์มาจากไหน มันก็ดับเท่านั้นเอง นี่ละนิโรธ ๆ ความดับทุกข์ ก็คืออำนาจของมรรคมีสติปัญญาเป็นต้น เป็นเครื่องสังหารกิเลสให้สิ้นสุดยุติลงไปนั้น ทีนี้จิตเป็นอะไรไปเมื่อเราได้ทำกันให้เต็มที่เต็มฐานเช่นนี้แล้ว เราจะไปถามหามรรคผลนิพพานจากผู้ใด
พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้แล้วว่า เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ตะกี้นี้พูดอีกแล้ว ก็ผู้ปฏิบัตินั้นแหละเป็นวิญญูชน ว่า วิญฺญูหิ อันท่านผู้รู้ทั้งหลาย ใครจะไปรู้ ผู้ไม่ปฏิบัติจะไปรู้ได้ยังไง ก็ผู้ปฏิบัตินั้นแลคือเรานั้นละ ถ้าเราเป็นผู้ปฏิบัติ จะเป็นผู้รู้จำเพาะตน ไม่จำเพาะใครที่ไม่ได้ปฏิบัติ จำเพาะผู้ปฏิบัตินี้เท่านั้น ฟังซิ ธรรมนี้สด ๆ ร้อน ๆ แท้ ๆ พระพุทธเจ้าสอนด้วยความปราบกิเลสด้วยสด ๆ ร้อน ๆ ทั้งนั้น เหตุใดจึงเป็นของจืดจางไป ให้สด ๆ ร้อน ๆ เฉพาะกิเลสเท่านั้นเหรอ มันก็เหยียบเราทุกวัน ๆ เราเห็นไหมเวลานี้
อกาลิโก ของกิเลสเป็นยังไง กับ อกาลิโก ของธรรมทันกันไหมทุกวันนี้ อกาลิโก ของกิเลส กระดิกพลิกแพลงไปตรงไหนมีแต่กิเลส ไม่ว่ายืนเดินนั่งนอน กลางค่ำกลางคืนหรือกลางวี่กลางวัน เดือนใดปีใด มีแต่กิเลสเหยียบย่ำหัวใจ เราเหยียบย่ำหัวใจกิเลสได้ตอนไหนบ้าง มีกาลใดบ้างนี่ซิ มันแพ้กิเลสตลอดเวลาแล้วเราจะถามหามรรคผลนิพพานที่ไหน มันก็ไม่เจอซิ ต้องถามหาที่หัวใจของเรา ค้นอยู่ที่หัวใจของเรานี้ แล้วก็จะเจอดังที่กล่าวมานี้ นี่ละที่ว่า อกาลิโก
อย่าหาเวล่ำเวลาในการแก้กิเลส ให้ดูจิตของตัวเองอันเป็นที่ผลิตกิเลสทั้งหลายขึ้นมา มันชำนิชำนาญมากนะเรื่องความปรุงของจิตที่เป็นไปด้วยอำนาจของสมุทัย ที่จะผลิตทุกข์ขึ้นมาเผาผลาญจิตใจของเรานั้นมันรวดเร็วที่สุด ถ้ากำลังของธรรมไม่ทันแล้วมันรวดเร็วมาก แต่ถ้าอำนาจแห่งธรรมมีสติธรรมเป็นต้นรวดเร็วทันมันแล้ว มันจะรวดเร็วขนาดไหนก็เท่ากับปลุกสติปัญญาตลอดเวลาเลย รู้ทันกัน ๆ ตลอด นั่นละฆ่ากันได้ที่ตรงนั้น ฆ่ากิเลส
นี่ละอุบายของพระพุทธเจ้าทุก ๆ บททุก ๆ บาท ขอให้น้อมเข้ามาสู่ใจของเราผู้ปฏิบัติแล้วกำจัดกิเลส ให้เห็นว่ามันเป็นภัยตลอดเวลา เช่นเดียวกันกับธรรมที่เห็นว่าเป็นคุณ แล้วเข้ามาต่อกรกันภายในจิตใจ ใจของเราจะได้เย็นลงไปโดยลำดับ เบาลงโดยลำดับ ตั้งแต่วันเกิดมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ตรงไหนที่เราได้เบาบางจากกิเลสที่ไม่เป็น อกาลิโก น่ะ มันเป็น อกาลิโก ทั้งนั้น มันเหยียบย่ำทำลายเราตลอดมาไม่ว่าวัยใด จนกระทั่งถึงบัดนี้มันก็เหยียบย่ำเรามา ถ้าไม่มีเครื่องต่อสู้ต้านทานแล้ว จะเป็นอย่างนี้ตลอดตั้งกัปตั้งกัลป์หากำหนดไม่ได้นะ
ในธรรมท่านกล่าวไว้เป็นบทบาลี ผมลืมเสีย จำได้แต่คำแปลว่า ทางหาเงื่อนต้นเงื่อนปลายไม่ได้ของจิตแต่ละดวง ๆ เพราะเกิดตาย ๆ ด้วยความท่องเที่ยวที่นั่น เกิดที่นี่ ตายที่โน่น อยู่ไม่หยุดไม่ถอย สูง ๆ ต่ำ ๆ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่นี้ มานานแสนนานนับกัปนับกัลป์ไม่ได้ ฟังซิน่าสลดสังเวชไหม
จิตแต่ละดวง ๆ นี้ พระพุทธเจ้าเสียเองนะเป็นผู้แสดง ไม่ใช่ผู้อื่นผู้ใดแสดงนะ พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้รู้เรื่องความจุติและความเกิดของสัตว์ทั้งหลาย ทั่วโลกดินแดนนี้แหละ นำเอาเรื่องของสัตว์มาพูด แล้วคำว่า สตฺต ๆ คือใครถ้าไม่ใช่พวกเราด้วยจำนวนหนึ่ง แปลว่าผู้ติดผู้ข้องในความเกิดแก่เจ็บตายอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ท่านจึงเรียกว่า อนมตคฺโค คือไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลาย ทางไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลาย
ท่านก็เทียบเข้ามาเหมือนขอบด้ง เอ้าฟังซิที่นี่ ขอบด้งนั่น ถ้ากำจัดมันไม่ได้ ถ้าไม่มีธรรมเป็นเครื่องตัดรอนมันเข้ามา ย่นวัฏจักรเข้ามา ด้วยอรรถด้วยธรรม ด้วยบุญด้วยกุศลแล้ว ความยืดยาวของวัฏวนนี้จะเป็นเช่นเดียวกับขอบด้ง ๆ นั่นแล
ขอบด้งนี้ยืดยาวหรือไม่ยืดยาว ดูซิเอ้า มดตัวไหนไต่ลงไปมันจะรู้ที่ออกที่ตรงไหน มันไม่รู้ทั้งนั้นแหละ มันไม่ทราบว่าไอ้ขอบด้งนี้มีสั้นมียาวที่ตรงไหน ก็มันกลมไปหมด มันหมุนรอบตัวอยู่ตลอดเวลา หมุนมาหมุนไป ๆ ของเก่านั้นแหละ แน่ะ อันนี้ท่านจึงเรียกว่าวัฏฏะ ๆ แปลออกว่าเครื่องหมุน ฟังซิ มันหมุนรอบตัวของมันอยู่ตลอดเวลา เกิดที่นั่นเกิดที่นี่ สูง ๆ ต่ำ ๆ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เคยเป็นมานี้กี่ภพกี่ชาตินับไม่ถ้วน ในวิญญาณดวงหนึ่ง ๆ นับวิญญาณของเราด้วย แล้วไม่อิดหนาระอาใจบ้างเหรอ
ความพ้นไปเสียจากความหมุนเวียนเหล่านี้เป็นความดีขนาดไหน พระพุทธเจ้าทรงแสดงยืนยันไว้แล้วว่า ทุกฺขํ นตฺถิ อชาตสฺส นั่น แปลว่าตัดกงจักรแห่งความเกิดทั้งหลายออกเสียโดยสิ้นเชิง ทุกข์ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด นั่นฟังซิ นี่ละหลักใหญ่อยู่ตรงนี้ นี่ละที่ตัดลงมา
การประพฤติปฏิบัติคุณงามความดีทั้งหลาย นับแต่ทาน ศีล ภาวนา ขึ้นมาโดยลำดับลำดา นี่เป็นการสร้างความดี เป็นเครื่องหนุนจิตใจของเราด้วย เป็นการตัดทอนวัฏวนให้สั้นเข้ามา ๆ ย่นเข้ามาด้วย สมมุติว่าหมื่นชาติก็ย่นเข้ามาไม่ถึงหมื่น ย่นเข้ามาไม่ถึงพัน ย่นเข้ามาไม่ถึงร้อย ย่นเข้ามาไม่ถึงสิบ ย่นเข้ามาไม่ถึงเจ็ดชาติ ย่นเข้ามาไม่ถึงสามชาติ ย่นเข้ามาไม่ถึงหนึ่งชาติ ในชาตินั้นบรรลุพร้อมไปเลย ตั้งแต่ขั้นโสดาแล้วขึ้นถึงบรรลุอรหัตบุคคลหรืออรหัตผลทันทีในชาตินั้นเลย นั่นเพราะอำนาจแห่งความพากเพียรที่ประพฤติปฏิบัตินี้ เมื่อพ้นจากนี้แล้วนั้นละพ้นจากขอบด้งแล้วที่นี่
ความที่พ้นแล้วนั้นแหละคือความที่ประเสริฐสุด ไม่ต้องมีอะไรมาบังคับให้หมุนให้เวียนอีก เหมือนอย่างแต่ก่อนที่เคยเป็นมาแล้วกี่กัปกี่กัลป์ เอามาเทียบซิ การประกอบความพากเพียรทุกข์ยากลำบากขนาดไหน กับการท่องเที่ยวในวัฏสงสารมากี่กัปกี่กัลป์นับไม่ถ้วนเช่นเดียวกับขอบด้งนี้ เอามาเทียบกันดูซิ อันไหนทุกข์ขนาดไหน มันนานแสนนานมากแสนมากขนาดไหน มาบวกกันดูซิ แต่ละภพละชาติกับความเพียรที่เราพยายามตะเกียกตะกายมีความทุกข์ในเวลานี้ เอามาเทียบกันดูซิเป็นยังไง มันน่าจะกระหยิ่มนะในหัวใจของเรา
เอ้า เป็นก็เป็น ตายก็ตายเถอะ กิเลสมันเหยียบย่ำหัวใจเรามานานแสนนานดังที่กล่าวมาแล้วนี้ เราไม่ควรที่จะนอนใจ ต้องถือเป็นข้าศึกต่อกันอย่างยิ่ง ที่นี่ละที่จะสลัดกิเลสออกจากหัวใจได้ เมื่อกำลังของใจมี อะไรก็เถอะ ไม่มีอะไรที่จะเหนือกำลังของใจ กำลังของธรรมนี้เลย กิเลสพังทั้งนั้นแหละถ้าลงกำลังใจมีแล้วนะ ความมุ่งมั่นมีเต็มหัวใจ ความเพียรตาม ๆ กันมา วันคืนปีเดือนมีตั้งแต่มุ่งที่จะให้หลุดพ้น หลุดพ้นโดยถ่ายเดียวเท่านั้น แล้วผ่านปึ๋งเลย แสนสบาย
เห็นไหมพระพุทธเจ้าทรงน้ำพระเนตรไหลน่ะ พระพุทธเจ้าทำไมท่านถึงร้องไห้ สิ้นกิเลสแล้วร้องไห้อะไร ฟังซิ ถ้าหากว่าเราจะเทียบนะ ทรงเล็งญาณดูสัตวโลกแล้วน้ำพระเนตรไหล ทรงสลดสังเวชพระขันธ์ของท่าน คือขันธ์ ๕ นี่กระเพื่อมเพราะทรงรำพึงถึงสัตว์ด้วยความสงสาร เอาอันนี้มาเป็นเครื่องมือของจิตที่บริสุทธิ์และอ่อนโยนด้วยพระเมตตา แล้วก็รำพึงถึงสัตว์ และทำไงสัตว์นี่ถึงจะพ้นจากทุกข์ไปได้เสียที เมื่อเราได้บรรลุธรรมถึงขนาดนี้แล้ว มันเป็นธรรมที่สุดวิสัยสุดเอื้อมที่สัตว์ทั้งหลายจะก้าวจะรู้ตามเห็นตามได้ แล้วทำยังไง
เรื่องทรงทำความขวนขวายน้อยในเวลาที่ตรัสรู้ทีแรก เพราะเป็นธรรมที่วิเศษเลิศเลอที่สุดในสามแดนโลกธาตุนี้ ไม่มีอะไรเสมอเหมือนเลย พระองค์ทรงเจอแล้วในขณะนั้น จึงพิจารณาไปถึงสัตว์โลกทั้งหลายนี้ทำยังไงถึงจะรู้ได้เห็นได้ เมื่อธรรมอันนี้เป็นของวิเศษ เป็นของละเอียดลออถึงขนาดนี้แล้ว ใครจะมีแก่ใจที่จะมาศึกษา มาประพฤติปฏิบัติ และใครจะมารู้มาเห็นได้
จึงเกิดความสงสารสัตว์โลก และทำความขวนขวายน้อย แล้วไม่อยากสั่งสอนสัตว์โลกเพราะจะสุดวิสัยเปล่า ๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย นี่น้ำพระเนตรไหล ฟังซิ ท่านก็บอกไว้แล้วในตำรับตำรา นี่ละขันธ์กระเพื่อม ขันธ์แสดงตัว อาศัยพระเมตตาจิตออกมาเป็นเครื่องผลักดันขันธ์เหล่านี้ให้แสดง จากสังขารขันธ์นั้นที่ทรงปรุงทรงพินิจพิจารณา นี่ละฟังซิ สงสารสัตว์โลกแล้วอยากให้หลุดพ้นไปพูดง่าย ๆ
ทีนี้เราเป็นยังไง เราไม่สงสารเราบ้างเหรอ ให้แต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นเหรอสงสารเรา เราไม่เห็นแก่พระเมตตาของพระพุทธเจ้า แล้วนำพระเมตตานั้นเข้ามาสงสารตนนี้บ้างเหรอ ความเพียรของเราจะได้เร่ง จะได้ดึงดูดตัวเองให้ออกจากวัฏวนอันเป็นกองทุกข์มหันตทุกข์นี้ หรืออย่างน้อยย่นเข้ามา ๆ ให้ได้พ้นเสียในชาตินี้ จะเป็นที่เลิศเลอที่สุดเลย
เอ้า ใครไปนิพพานหรือใครเป็นผู้สิ้นกิเลสแล้วยังเสียดายโลกนี้ ให้เห็นเสียที พระพุทธเจ้าตรัสรู้มากี่พระองค์แล้ว กี่หมื่น กี่แสน กี่ล้าน ๆ พระองค์ มีพระองค์ใดบ้างที่ได้สั่งสอนสัตว์โลกแล้ว ได้พ้นจากทุกข์ไปแล้ว ยังมาเสียดายในโลกกองทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย เสียดายราคะตัณหานี้ มีพระพุทธเจ้าพระองค์ใดที่สอนบรรดาสัตว์ทั้งหลายถึงขนาดพ้นแล้ว กลับมาเสียดายโลกอันนี้มีไหม นอกจากมีแต่ความสลดสังเวชน้ำตาร่วงลงเท่านั้น ในขณะที่ได้พ้นออกไปแล้วเท่านั้นไม่มีอย่างอื่น
นั่นเราเอามาเทียบแล้วสอนเราบ้างซิ เป็นยังไงเราสงสารตนบ้างเพียงไรหรือไม่ หรือมีแต่พระพุทธเจ้าทรงสงสารจนน้ำพระเนตรไหลนั้นเหรอ และเมื่อถึงนิพพานแล้วเป็นยังไง ในศาสนาพระพุทธเจ้านี้มีองค์ไหนบ้างหรือรายใดบ้าง ที่จิตได้หลุดพ้นไปแล้วยังมาเสียดายโลกเกิดแก่เจ็บตายราคะตัณหาอยู่นี้มีไหม ไม่เคยเห็น ก็เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นภัยมหาภัยนั่นเอง พอพ้นจากนี้แล้วจึงเป็นของวิเศษ
แต่ก่อนไม่ได้วิเศษอะไร ก็เพราะสิ่งลามกจกเปรตทั้งหลายนี้มันเหยียบย่ำหัวใจเอาไว้ให้หาความวิเศษไม่ได้นั่นเอง แต่พอหลุดพ้นไปจากนี้แล้ว ความวิเศษไม่ต้องบอก ดีดผึงเดียวเท่านั้น นั่น จึงขอให้ทุก ๆ ท่านจงตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัตินะ แล้วครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่คอยแนะนำสั่งสอนนี้ รู้สึกว่าน้อยลง ๆ โดยลำดับนะ
เอาละการแสดงธรรมเห็นสมควร หยุดแค่นี้ละ
พูดท้ายเทศน์
การอดอาหารต้องให้รู้จักเจ้าของนะ ธาตุขันธ์ของเจ้าของต้องรู้เองนะ ให้คนอื่นไปบอกไปแนะไม่เหมาะ คือการอดอาหารนี้เป็นอุบายช่วย เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยการแก้กิเลสให้ง่ายขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องแก้กิเลส คือเวลาไม่อดอาหารเป็นอย่างหนึ่ง การภาวนาไม่สะดวก จิตมันคึกมันคะนองนี่ละสำคัญกว่าเพื่อน คือธาตุขันธ์มีกำลัง และกายก็เป็นเครื่องส่งเสริมจิตให้คึกคะนองได้ เมื่อมีกำลังแล้วก็ไปหนุนจิตนั่นแหละทำให้คึกคะนองได้ แล้วภาวนาให้สงบมันไม่ยอมสงบ มันดิ้นรน
เราจึงต้องพักอาหาร เพื่อให้อาหารน้อยลงไป เมื่ออาหารน้อยลงไปร่างกายนี่ก็ไม่หนุนจิต ไม่กวนจิต จิตก็ไม่ดีดไม่ดิ้นมากเหมือนตอนที่ธาตุขันธ์มีกำลัง ทีนี้การภาวนาก็ค่อยสงบตัวลงไปได้ง่าย นี่เห็นชัด เพราะฉะนั้นจึงต้องได้อดบ่อย ๆ เพื่อให้ภาวนาละเอียดเข้าไป ๆ ช่วยการภาวนาของเราด้วยการอดอาหาร นี่พูดถึงเรื่องจิตที่ยังไม่สงบมันสงบได้ง่ายกว่ากัน ถ้าจิตสงบแล้วก็สงบได้ดี ถ้าออกทางด้านปัญญาก็คล่องตัว นั่นเป็นอย่างนั้นนะ
เมื่อการอดจะมากไปเราก็ต้องรู้จักเราเอง การผ่อนผันสั้นยาวในตัวเองจะให้คนอื่นไปบอกไม่ถูกนะ เจ้าของต้องรู้ในเจ้าของเอง จะสมกับว่าปฏิบัติเพื่อความฉลาด หาความฉลาด ก็ต้องให้รู้วิธีใดก็ดี มันอยู่กับตัวแท้ ๆ นี่อุบายวิธีเหล่านี้ ถ้ามันจะหนักมากไปเราก็ผ่อนมันได้นี่