รุกขมูล(เข้าป่า-เข้าเขา)
วันที่ 25 ตุลาคม 2529 เวลา 19:00 น. ความยาว 24.13 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๙

รุกขมูล(เข้าป่า-เข้าเขา)

การภาวนาถ้าหัวใจไม่ตั้งอยู่ในหลักปัจจุบันคืองานที่ทำของตน ผลก็ไม่ค่อยปรากฏ ส่วนมากที่ล้มเหลวเพราะไปตั้งไว้กับกาลเวลาสถานที่โน่นที่นี่ดินฟ้าอากาศ อันผิดจากหลักธรรมที่ท่านสอนให้ตั้งลงในวงปัจจุบัน ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ ให้ดูลงในหลักปัจจุบัน ตัวสร้างความยุ่งวุ่นวายทั้งหลายไม่มีอะไรเกินหัวใจ มีหัวใจดวงเดียวเท่านี้ที่ก่อฟืนก่อไฟเผาตัว เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความไม่รอบคอบในกิริยาอาการแสดงออกของจิตดวงนี้ เราจะหาอุบายใดมาสอนมาระงับดับสิ่งวุ่นวายทั้งหลายภายในใจก็ไม่มี นอกจากธรรมเท่านั้น

ธรรมนี้เหมาะสมมาก แต่ก็ไม่ทราบจะนำธรรมอะไรมาให้เหมาะสมอีกแหละ ถ้าไม่มีผู้บอกผู้สอน จึงลำบาก ใจถ้าลงได้สร้างความหวังไว้ข้างนอกจากตัวแล้วจะไม่มีหวังนะ ต้องสร้างความหวังไว้กับงานที่ตนทำ สำหรับนักบวชก็คืองานจิตตภาวนา ให้สร้างความหวังไว้ที่ตรงนี้กับงานนี้ อย่างอื่นไม่ถูก จิตที่หมุนตัวอยู่ตลอดเวลามีอะไรพาให้หมุนล่ะ ปกติของจิตจะต้องคิดต้องปรุงยุ่งเหยิงวุ่นวายอยู่ตลอด เราทราบไม่ได้นะว่ามีอะไรพาให้ยุ่งเหยิงวุ่นวาย นี่ก็ต้องมีครูบาอาจารย์นำธรรมมาจากพระพุทธเจ้านั้นแหละมาสอน

สมุทัยคือตัวให้ทุกข์ทั้งหลายเกิด ไม่มีอะไรเกินและไม่มีอะไรก่อ นอกจากสมุทัยอย่างเดียว ๆ นี้เท่านั้นเป็นผู้ก่อทุกข์ และทุกข์เกิดขึ้นเพราะสมุทัยนี้เท่านั้นเป็นสำคัญ นี่เรียกว่าสัจธรรมหรืออริยสัจ ๔ สมุทัยเป็นผู้ก่อให้เกิดทุกข์ มรรคเป็นเครื่องสังหารทุกข์และสมุทัย เมื่อมรรคมีกำลังมากน้อยก็ระงับดับสมุทัยไปโดยลำดับลำดา

มรรคคืออะไร ท่านแสดงย่นลงมาก็คือมรรค ๘ มคฺค แปลว่าทางเดินหรือเครื่องดำเนิน มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สองอย่างนี้เป็นองค์ของปัญญาความเฉลียวฉลาดนำหน้ามรรคทั้งหลาย สัมมาวาจา กล่าวชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ สัมมาวายามะ เพียรชอบ เพียรอยู่ในที่ ๔ สถานท่านก็บอกไว้แล้ว สัมมาสติ ตั้งสติไว้ชอบ คือตั้งไว้ภายในตัวของเราเอง สัมมาสมาธิ ความสงบหรือความแน่นหนามั่นคงของใจโดยชอบ

ฟังแต่คำว่าชอบ ๆ ไม่ชอบต้องเป็นคู่แข่งกันจนได้ มีอยู่ในนั้นแหละท่านถึงบอกว่าชอบ ๆ เหมือนดังท่านกล่าวไว้ในอนุศาสน์ว่า ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ จิตที่มีปัญญาเป็นเครื่องซักฟอกกลั่นกรองให้เรียบร้อยแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ นั่นฟังซิ คือความสำคัญผิดว่าตนหลุดพ้นทั้ง ๆ ที่ไม่หลุดพ้น นั่นเรียกว่าไม่ชอบ ปัญญาที่ใช้ในทางผูกมัดตัวเองโดยสำคัญว่าเป็นการแก้ไขถอดถอนตัว ปัญญานั้นก็ไม่ชอบ เพราะฉะนั้นคำว่าไม่ชอบกับชอบ จึงแทรกกันอยู่ในคนคนเดียวในใจดวงเดียวนั้น ท่านถึงบอกว่าสัมมา ๆ ในมรรค ๘ นี่สำคัญ

มรรค ๘ นี้คือเครื่องสังหารสมุทัย ธรรมชาติที่ผลิตทุกข์ขึ้นมาให้ได้รับความเดือดร้อน แต่สัตว์โลกทั้งหลายไม่ทราบนะว่าอะไรเป็นเครื่องก่อทุกข์ให้เกิด จึงดับแต่ปลายเหตุไม่ดับต้นเหตุ มันก็ไม่มีเวลาดับและไม่ดับ ต้นเหตุก็คือสมุทัย ดับต้นเหตุก็ดับด้วยมรรคคือเครื่องดับ เช่นเดียวกับเราดับไฟด้วยเชื้อไม่มีทาง ต้องดับด้วยน้ำจึงสำเร็จ เมื่อมรรคมีกำลังมากน้อยสมุทัยก็อ่อนตัวลง การผลิตทุกข์ก็อ่อนตัวลง นั่นละท่านว่าดับทุกข์ไปโดยลำดับลำดา นิโรธ ๆ นั้นเป็นผลจากมรรค ไม่ใช่นิโรธทำงานเป็นชิ้นเป็นอันของตัวโดยลำพัง แต่เป็นผลสืบเนื่องไปจากมรรคที่มีกำลัง เช่นเดียวกับความอิ่มสืบเนื่องไปจากการรับประทาน จนถึงอิ่มเต็มที่ก็คือการรับประทานหนุนเข้าไป ๆ

พระเรามักไม่ค่อยมีกฎมีเกณฑ์มีเหตุมีผล ไม่มีประมาณนะ เราดู ๆ มันขวางตาอยู่ตลอดไม่ทราบเป็นยังไง เคยพูดเสมอเรื่องเหล่านี้ นี่แสดงว่าสติห่างจากตัวเอามาก ปัญญาไม่ได้ใช้กันเลยมันถึงได้กระเทือนอยู่เสมอ ทั้ง ๆ ที่เราก็ไม่ใช่เป็นคนฉลาด อยู่กับหมู่กับเพื่อนเราก็ไม่ได้สำคัญตนว่าเป็นผู้ฉลาดกว่าหมู่กว่าเพื่อนนะ แต่เวลาเจอเข้าไปสัมผัสปั๊บเข้าไปมันจะเห็นแล้วช่องว่าง ถ้าเป็นนักมวยก็เปิดคาง จุดที่จะตายนี้ไว้ให้เลย เปิดไว้ ๆ นี่แสดงว่าสติไม่อยู่กับตัวจึงต้องเปิดอย่างนั้น ๆ ช่องว่างก็ได้แก่ความไม่มีสติของผู้ปฏิบัตินั่นเองจะว่าอะไรไป มันบอกชัด ๆ อยู่อย่างนั้น ท่าแห่งการต่อสู้ต้องเป็นท่าของคนมีสติ พินิจพิจารณาใคร่ครวญด้วยปัญญาโดยสม่ำเสมอ นี่ดูท่ามันไม่มีจะทำไง

ออกพรรษาแล้วก็หลั่งไหลเข้ามา หลั่งไหลมาทำไม ออกไปหาภาวนาในป่าในเขาซิ มาสุมหัวกันอยู่ที่นี่เกิดประโยชน์อะไร ผมให้หมู่เพื่อนออกไปก็เพื่อความสงัดวิเวก เพื่อการประกอบความพากเพียรต่างหากนี่นะ สอนก็สอนแล้วอุบายวิธีการต่าง ๆ และสอนด้วยความแน่ใจด้วย ไม่ได้สอนแบบลูบ ๆ คลำ ๆ ในความรู้สึกเลย หมู่เพื่อนก็น่าจะนำวิธีการเหล่านี้ไปประพฤติปฏิบัติความพากเพียรของตนในที่เด็ดเดี่ยว เช่น ในป่าในเขาที่ไหนที่เหมาะสมเข้าไปซิ กลัวอะไรกลัวตาย เรื่องความตายไม่ได้อยู่ในป่าในเขานะ ไม่ได้อยู่กับดินฟ้าอากาศ มันอยู่กับตัวของเราเอง ถ้าลมหายใจหมดแล้วอยู่ที่ไหนก็ตายได้ แล้วกลัวหาอะไร

นี่พอออกพรรษาปุบปับ ๆ มาแล้วให้ยุ่งกันเปล่า ๆ ผมก็มองดูเหตุผลของหมู่เพื่อนที่เข้ามานี้เพื่ออะไรอย่างนี้ มันก็ไม่เห็นพอที่จะเป็นสาระ อีกอย่างอยู่นี้ก็อยู่มานานแล้วการประพฤติปฏิบัติเป็นยังไงก็ทราบ ออกไปก็จะไม่ได้ราวพรรษากลับเข้ามาอีกแล้ว มาเอาอะไรอีก สอนก็สอนเต็มกำลังความสามารถแล้ว ถ้าจะปฏิบัติก็ควรจะเอาไปประพฤติปฏิบัติได้แล้ว นี่มันอะไรกันก็ไม่รู้ ยั้วเยี้ย ๆ มีแต่พระแต่เณร พาลอกเราจะแตกด้วยนะ

หนัก….การปกครองพระเณร ให้โอวาทแนะนำสั่งสอนทุกด้านทุกทาง มิหนำซ้ำยังมีเกี่ยวข้องกับประชาชนอีกมากมาย พระเณรก็ไม่ได้หน้าได้หลังอะไรแล้วทำไง มีมากเท่าไรก็ยิ่งเหลวไหล ๆ อย่างเห็นกันมานี้ เป็นยังไง มันดีแล้วเหรอความเหลวไหลน่ะ จนได้ไล่หนีจากวัดจากวาก็ยังมีเห็นไหม ถ้าดีแล้วจะไล่ไปทำไม ดูเอาซิ

เครื่องไทยทานที่เขามาทอดกฐินวันนี้ ใครต้องการอะไร ๆ ก็มาเอาเลย ไม่ต้องมาบอกมากล่าวผม ผมไม่ให้มาบอก ผมเปิดไว้ตลอด เพราะนี้เป็นของทุกคน ใครขาดตกบกพร่องอะไรก็มาเอาเลย นั่นจะเหมาะยิ่งกว่าการแจก ไม่ทราบจะแจกอะไร มีอะไรบ้างที่จะแจกให้เหมาะสมกับความต้องการของหมู่เพื่อนมันก็มองไม่เห็น เพราะฉะนั้นจึงให้หาเอา ต้องการอะไรให้เอาไปใช้เลยเท่านั้นเอง มันก็มีเท่านั้น

ส่วนปัจจัยที่แยกสำหรับหมู่เพื่อนใช้ก็มี สำหรับแยกทำประโยชน์โลกสงสารเขาก็มี ผมก็เคยปฏิบัติมาอย่างนั้น สำหรับความจำเป็นในวัดก็มีแยกไว้ประเภทหนึ่ง สำหรับช่วยโลกเขาดังที่เคยปฏิบัติเรื่อยมาก็แยกอีกประเภทหนึ่งไว้ใช้ แต่การเงินการทองนี้มันเป็นภัยผมจึงไม่ค่อยจะพูดอะไร ทั้งเป็นข้าศึกต่อพระด้วย แต่เป็นความจำเป็นที่เกี่ยวข้องกันก็ได้ถูไถไปอย่างนั้นละ ว่าเก็บไว้ที่นั่นว่าเก็บไว้ที่นี่อย่างนี้พูดไม่ได้เพราะเป็นภัย

เคยเห็นไม่ใช่เหรอ สิ่งเหล่านี้กับหัวใจของคนมันมีบาปมีนรกที่ไหน เราก็เห็นแล้วในวัดทั้งหลาย ไม่ทราบว่าปล้นว่าจี้ว่าอะไรเต็มไปหมดในวงกรรมฐาน เหล่านี้ก็แสดงถึงเรื่องความรอบคอบไม่รอบคอบในการรักษาในการพูด การรักษาเท่านั้นคำเดียวนี้ก็พอแล้วแหละ จึงลำบากที่จะพูดอย่างนั้นพูดอย่างนี้ มันเสีย การปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักธรรมหลักวินัยนั้นละเป็นที่เหมาะ และนอกจากนั้นให้เหมาะกับความปลอดภัยอีกด้วย

เณรมีกี่องค์นี่ มายังไงอีกหลายเณรเรื่อย ๆ เณรก็เพิ่มพระก็เพิ่ม ทางลดไม่มีนี่ กองกันอยู่นี้เฉย ๆ เกิดประโยชน์อะไร ยั้วเยี้ย ๆ งานการอะไรก็ไม่คิดไม่อ่าน มันเหมือนกับเขาเรียกเปรตหัวกุ้น เปรตคอขาด คือไม่ใช้หัว กลิ้งไปเลย มีหัวอยู่ก็ไม่ใช้แล้วจะเอาความฉลาดมาจากไหน

ออกพรรษานี่ใครอยากจะออกไปเที่ยวภาวนาหาที่สงบสงัดก็ไปนะ ผมไม่ได้ห้าม ก็ไม่ทราบจะห้ามเพื่ออะไร นอกจากที่ไหนเป็นที่เหมาะสมในการประกอบความพากเพียรเท่านั้น เอ้าไป ว่าอย่างนั้นเลย ผมพร้อมเสมอที่จะส่งเสริมหมู่เพื่อนในทางที่เป็นผลเป็นประโยชน์ เฉพาะอย่างยิ่งคือจิตตภาวนา พอออกพรรษาแล้วก็เข้าป่าเข้าเขาเลย แต่ก่อนหากเป็นมาอย่างนั้น อย่างสมัยที่เราอยู่กับพ่อแม่ครูจารย์มั่นเป็นอย่างนั้น

ธรรมะมักเกิดหรือเกิดในที่แร้นแค้นกันดาร ในที่ลำบากลำบน ในที่กลัว ๆ เราเชื่ออันนี้ เพราะอะไรก็ตามถ้าเราไม่สัมผัสสัมพันธ์ดูก่อนแล้วจะไม่ทราบ เราต้องเป็นผู้เข้าไปปฏิบัติ สัมผัสสัมพันธ์ดูด้วยตัวเองของเรานั้นแหละถึงจะทราบได้ดี ยกตัวอย่างเช่น ในพระโอวาทที่พระองค์สอนเป็นอนุศาสน์สุดท้ายนั้นว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา, ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย นี่เป็นต้นนะ บรรพชาอุปสมบทแล้วให้อยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ ต่อจากนั้นไปก็ตามป่าชัฏ ในถ้ำ เงื้อมผา ซึ่งเป็นที่สงัดวิเวกทั้งนั้น นี่ท่านบอกอนุศาสน์เครื่องพร่ำสอนผู้บวชใหม่ ให้ทำความอุตส่าห์พยายามอย่างนั้นตลอดชีวิตเถิด

ฟังซิมีน้ำหนักทุกบท ๆ ถ้าฟังด้วยความใช้สติความพินิจพิจารณาทางด้านปัญญาแล้ว เราจะเห็นความหนักแน่นแห่งธรรมเหล่านี้ว่าเป็นที่แน่ใจตายใจได้ พึ่งเป็นพึ่งตายได้ จากธรรมบทนี้โดยไม่ต้องสงสัยถ้าได้ปฏิบัติตามอย่างนั้น บรรพชาอุปสมบทแล้วให้เธอทั้งหลายไปอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ ชายป่าชายเขา ตามถ้ำเงื้อมผา ป่าช้าป่ารกชัฏ แล้วอุตส่าห์พยายามอยู่อย่างนั้นตลอดชีวิตเถิด สิ่งที่เหลือเฟือท่านก็บอก วิหาโร ปาสาโท หมฺมิยํ คุหา ว่าไป อันนี้เป็นสิ่งเหลือเฟือท่านก็ไม่ห้าม แต่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จำเป็น ที่เหมาะสมที่สุดดังที่กล่าวนี้

ทีนี้เราฟังเฉย ๆ ว่าอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ ชายป่าชายเขา โดยที่เราไม่ได้เข้าไปสัมผัสสัมพันธ์ ไม่ได้เข้าไปอยู่ทดลองดู เราจะไปทราบความหมายของสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร พระพุทธเจ้าผู้ทรงสอน พระองค์ทรงสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้มาแล้วจนได้ผลเป็นที่พอพระทัย จึงได้นำพระโอวาทเหล่านี้มาสอนโลกมาสอนพระเรา พวกเราเป็นแต่เพียงฟัง ไม่ได้สัมผัสสัมพันธ์ คือไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมเหล่านี้ แล้วเราจะไปทราบความหมายลึกตื้นหยาบละเอียดของธรรมเหล่านี้ได้อย่างไร ไม่ทราบ ต้องเป็นผู้ปฏิบัติคือเราต้องเป็นผู้ปฏิบัติเอง เราต้องเข้าสัมผัสสัมพันธ์เอง คือเราต้องไปอยู่เองตามที่ว่านี้

การอยู่รุกขมูลร่มไม้ในป่าในเขาในถ้ำเงื้อมผา อันเป็นสถานที่น่าหวาดเสียวน่ากลัวเปลี่ยวเปล่า เป็นยังไงจิตใจเวลาอยู่อย่างนั้น เอ้า ย่นเข้ามาอีก เช่นการอยู่ร่มไม้ไม่มีที่ป้องกันภัยอะไรเลย หากว่ามีก็เพียงแค่กันแดดกันฝนด้วยมุ้งด้วยกลดเท่านั้น ไม่ได้มีฝาอะไรพอที่จะอยู่ด้วยความแคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายทั้งหลาย การอยู่เปลี่ยว ๆ ในร่มไม้เช่นนั้น กับการอยู่ในที่กำบังมีที่หลบภัยอย่างนั้น ความรู้สึกของเราจะต่างกันอย่างไร ต้องไปสัมผัสสัมพันธ์เองถึงจะรู้

ทีนี้เมื่อเราไปอยู่ในร่มไม้ไม่มีที่กำบังเพื่อความหลบภัยทั้งหลาย มีเสือเป็นต้นนะ แล้วเป็นยังไงที่นี่ ความรู้สึกมันจะว้าเหว่ มันจะหวาดจะเสียว มันจะกลัวรอบตัวเลย เพราะที่ไหนก็ไม่มีที่เกาะที่ยึด จิตจะไปยึดไปเกาะตรงไหนพอเป็นที่พึ่งก็ไม่มี เพราะไม่มีจริง ๆ ที่เกาะ เช่นกระดานฝาอย่างนี้เป็นต้นก็ไม่มี เป็นยังไงที่นี่ความรู้สึก นี่ละมันกลัวมาก เมื่อกลัวมากจิตไม่มีที่เกาะ หาเกาะตรงไหนว่าจะปลอดภัยก็ไม่มี ก็ถอยเข้ามาเกาะธรรมซิ

จะธรรมบทใดก็ตาม จะเป็นพุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือบทใดก็แล้วแต่เถอะ นี่ละธรรมเป็นเกราะกำบัง จิตเกาะเข้าติดนี้ปั๊บ จะเป็นจะตายก็มอบไว้กับธรรมนี้แล้วก็เด่นขึ้น ๆ สร้างความมั่นคง สร้างความอาจหาญชาญชัยขึ้นกับใจของตน สร้างความสงบขึ้นภายในจิตใจด้วยคำบริกรรม ด้วยการฝากเป็นฝากตายนั้น จนปรากฏเด่นชัดขึ้นภายในจิตใจเลย

นี่เรียกว่าได้สัมผัส สัมผัสทั้งความกลัวในรุกขมูลเช่นนั้น สัมผัสทั้งอรรถทั้งธรรม ความกล้าหาญชาญชัยเป็นขึ้นภายในจิต ถ้าลงได้สัมผัสด้วยตัวเองแล้วต้องทราบ นอกจากนั้นยังทำให้ทราบความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงไว้อีกว่าเป็นอย่างไรบ้าง ตลอดถึงข้ออื่น ๆ ในอนุศาสน์ ๔ มีจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช ให้เรานำไปปฏิบัติตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสอนทุกแง่ทุกมุมทุกข้อที่มีแล้ว เราจะสัมผัสเองทุกอย่าง ๆ พร้อมกันนั้นยังทราบความมุ่งหมายด้วย นี่เราพูดถึงเรื่องเราได้ทำดูเราก็ทราบความหมายทั้งสถานที่ดังที่ว่านี้ ทั้งรสแห่งธรรมที่ปรากฏขึ้นภายในจิต เพราะอยู่ในสถานที่เช่นนั้น

ธรรมทั้งหลายก็เหมือนกัน ที่ท่านแสดงว่าสมาธิ ว่าปัญญา วิมุตติหลุดพ้น เมื่อเราได้สัมผัสเข้าไปตั้งแต่เริ่มจิตเป็นสมาธิ สมาธิขั้นใดเริ่มเข้าไปโดยลำดับลำดา จนกระทั่งถึงสมาธิที่ละเอียดสุด สุดกำลังของสมาธิเท่านั้น ก้าวจากนั้นไปไม่ออกพูดง่าย ๆ เพราะสมาธิที่เต็มภูมิแล้วย่อมติด เช่นเดียวกับน้ำเต็มแก้ว จะให้เลยนั้นไปไม่ได้ พอสมาธิเต็มภูมิก็รู้ชัด ส่วนปัญญาเมื่อได้ออกภายในจิตตภาวนาของเรานี้ ออกในแง่ใด ๆ แล้ว จะส่อแสดงถึงเรื่องความเสด็จไปของพระพุทธเจ้าโดยอรรถโดยธรรม ตลอดถึงความพ้นทุกข์ของพระองค์ ก็จะทราบไปโดยนัยเดียวกันนี้เอง คือมันวิ่งถึงกัน ๆ

ปัญญาแก้กิเลสเป็นปัญญาประเภทใด เมื่อปัญญาปรากฏขึ้นในใจของเรา และแก้กิเลสอยู่ภายในใจดวงเดียวกันนี้เป็นอย่างไร ก็ทราบไปถึงเรื่องของพระพุทธเจ้าทรงแก้กิเลสเหมือนกัน เราแก้กิเลสได้ทะลุปรุโปร่งหมดด้วยปัญญาประเภทใดบ้าง จิตของเราก็หยั่งถึงเรื่องของพระพุทธเจ้า ที่ทรงผ่านพ้นไปก่อนแล้วด้วยพระปัญญา และนำมาสั่งสอนเราโดยไม่ต้องสงสัย คือมันหยั่งถึงกัน ๆ เลย เพราะความสัมผัสของเรานี้เป็นของสำคัญมาก ถ้าอะไร ๆ ก็ไม่สัมผัส เชื่อก็เชื่ออย่างนั้นแหละ ไม่ได้เชื่ออย่างฝังใจแน่ใจตายใจ ความเชื่อจากหลักความจริงนี้ลึกซึ้งมากนะ เป็นก็เป็น ตายก็ตาย ไม่มีคำว่าถอน ความเชื่อจากความจริงกับความจำจึงต่างกัน

เอาละพอ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก