สิ่งใดก็ตามเพียงแต่ได้ยินข่าวคราวไปอย่างนั้น ใจก็ไม่ค่อยสนิท แม้จะเชื่อก็เจือไปด้วยความสงสัย ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย หลักธรรมของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน อันนี้ขึ้นอยู่กับจิตใจนิสัยของคนของสัตว์โลก ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับหลักธรรมที่ทรงแสดงไว้ว่า ใครจะได้ยินก็ตามไม่ได้ยินก็ตาม ธรรมย่อมเป็นของจริงเสมอไป แต่คนที่เชื่อถือจากการได้ยินได้ฟังหรือจากการบอกเล่า ย่อมจะลดความเชื่อลงเป็นธรรมดา
แม้ที่สุดเราศึกษาเล่าเรียนจากตำรับตำรามาอย่างประจักษ์ตา ก็ยังยึดถือเอาประโยชน์จากสิ่งที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งนี้ก็เพราะความสงสัยนั้นแหละ เข้าไปแทรกสิงเข้าไปแย่งชิงเพื่อประโยชน์ของมันอยู่เป็นลำดับลำดา ในบรรดาธรรมที่ได้ยินได้ฟังได้ศึกษาเล่าเรียนมา ความเชื่อในธรรมที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมา จึงไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่พ้นความสงสัยที่จะแบ่งกินจนได้แหละ
คำว่าสงสัยก็หมายถึงผลลบนั่นเอง ไม่ใช่เป็นผลบวกแก่ผู้ที่สงสัย จึงต้องได้อาศัยการได้เห็นได้ยิน เห็นด้วยตาได้ยินด้วยหูของเรานี่มันชัดเจน ดังผู้ที่ได้เห็นพระพุทธเจ้าประจักษ์ตานั่นละ ได้ยินได้ฟังพระโอวาทต่อพระพักตร์ของพระองค์นี่เป็นที่หายสงสัย ทั้งพระรูปพระโฉมพระอาการต่าง ๆ ที่ทรงแสดงออก ตลอดถึงศัพท์สำเนียงการแสดงอรรถธรรมต่าง ๆ เป็นที่แน่ใจ เพราะเห็นด้วยตาตนเองด้วย ได้ยินด้วยหูตนเองด้วย และเป็นธรรมของจริงเต็มส่วนด้วย ผู้ฟังจึงมักสำเร็จหรือสำเร็จมรรคผลนิพพานรวดเร็วกว่าที่ได้ยินได้ฟังมาจากตำรับตำรา ถ้าเทียบส่วนมากส่วนน้อยก็เรียกว่า ส่วนที่ได้ยินได้ฟังจากพระองค์เองนั้นมีจำนวนมากมีผลมากยิ่งกว่าที่เราได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมดา ซึ่งไม่เห็นพระองค์ เห็นเพียงตามตำรับตำราเท่านั้น นี่ละความผิดกัน
การศึกษาเล่าเรียนมาแล้วจำจนติดปากติดใจ ก็ช่วยตัวเองไม่ได้จากความเรียนความจำมานั้น ตัวเองก็ไม่แน่ใจนี่ซิ จนกว่าได้ไปเห็นครูเห็นอาจารย์ที่ท่านพาดำเนินท่านพาปฏิบัติ ถ้าเป็นสมัยที่เลยพุทธกาลมาไม่มีพระพุทธเจ้าหรือพระสาวกอรหัตอรหันต์มากมายเหมือนแต่ก่อน ก็ต้องอาศัยครูอาจารย์ที่ท่านพาดำเนิน นี่ละพอเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจได้ แต่ถ้าเป็นครั้งพุทธกาลแล้วก็ไม่ต้องสงสัย พระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกก็ดี ทรงแสดงและแสดงธรรมให้ผู้ฟังทั้งหลายฟังนั้นย่อมเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งอรรถทั้งธรรมที่แสดงออก ทั้งผู้ฟังก็ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยในการสดับตรับฟังด้วยความเชื่อความเคารพเลื่อมใสจริง ๆ จากอรรถธรรมที่แสดงให้ถึงใจ นี่ละความแปลกต่างกันเป็นอย่างนี้
แล้วก็เป็นจังหวะที่พอเหมาะพอดีกับพระพุทธเจ้าที่จะลงมาตรัสรู้แต่ละพระองค์ ตามตำนานเป็นอย่างนั้น ว่าพุทธบริษัทหรือสัตว์โลกที่อยู่ในภูมิ อุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู คือภูมิที่มีอุปนิสัยสามารถที่จะบรรลุธรรมทั้งหลาย นั้นมีอยู่จำนวนมากในระยะที่พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้นั้น นี่ละเป็นเครื่องบวกกันเข้า จึงพร้อม ๆ อะไรก็พร้อม
พระพุทธเจ้าก็ศาสดาเต็มองค์ ธรรมก็เต็มพระทัย มีแต่ของจริงล้วน ๆ สาวกจึงได้บรรลุอย่างรวดเร็ว และเป็นสาวกเต็มองค์อีกเช่นเดียวกันในการสั่งสอนประชาชนพระเณรทั้งหลายเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งอากัปกิริยาการแสดงออก ทั้งอรรถทั้งธรรมที่แสดงออก เป็นอรรถเป็นธรรมด้วยกันทั้งนั้น ผู้ฟังจึงได้ผลเป็นที่พอใจ นานมาก็ค่อยจางไป ๆ ก็เหมือนอย่างผลไม้ที่รุ่นแรก รุ่นที่สอง ที่สาม ในต้นไม้ต้นเดียวกันนั่นแหละ มันเป็นรุ่น ๆ รุ่นหัวปีมันก็ดี รุ่นรองลงมาก็ยังพอดี ยังพอใช้พอเป็นประโยชน์ รุ่นที่สามที่สี่ไปแล้วก็มักจะเหลวไหล ทั้งที่เป็นผลไม้เช่นเดียวกันกับที่เป็นมาแล้ว แต่ก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเต็มคุณภาพเหมือนผลไม้ที่เป็นรุ่นแรกรุ่นสอง
เวไนยสัตว์ก็เช่นเดียวกันเป็นรุ่น ๆ รุ่นพระพุทธเจ้าตรัสรู้และสั่งสอนอยู่นั้น เป็นรุ่นที่ว่าพร้อมแล้ว ๆ ครั้นนานมา ๆ ก็ค่อยหมดไป ค่อยจางไป ๆ ยังเหลืออยู่ก็มีจำนวนน้อย บรรดาผู้มีอุปนิสัยมีน้อยมาก เหมือนการแนะนำสั่งสอน ผู้มาแนะนำสั่งสอนก็มีจำนวนน้อยมากอีกเช่นเดียวกัน ที่จะสอนให้เต็มเหตุเต็มผลเต็มอรรถเต็มธรรมถูกต้องตามหลักความจริง ดังที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายท่านพาดำเนินและสอนกันมา มันหากผิดกันไปอย่างนั้น ๆ
นี่ศาสนาก็ก้าวเข้าจะสามพันแล้ว ๒,๕๐๐ กว่าปีก็ครึ่งศาสนา เราเทียบดูซิ ถ้าเป็นกลางปีไปแล้วเป็นยังไง ฝนหัวปีต้นปี จนกระทั่งกลางปี แล้วปลายปีไปเป็นยังไง ถ้าพึ่งฟ้าพึ่งฝนมันก็จะหมดไป ๆ นี่เป็นลักษณะที่ว่าเรียวแหลม ส่วนความจริงนั้นไม่เคยเรียวแหลม แต่อุปนิสัยของสัตว์โลกนั่นซิมีเหลื่อมล้ำต่ำสูง แล้วค่อยเรียวแหลมไปตามโดยลำดับลำดา
มาสมัยทุกวันนี้ผู้ปฏิบัติอรรถธรรมที่ถูกต้องตามหลักศีลหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้จริง ๆ ก็รู้สึกว่ามีน้อยดังที่เราเห็นอยู่นี่แล อันนี้หลอกกันไม่ได้ ต้มกันไม่ได้ เป็นความสัตย์ความจริงที่ต่างคนต่างก็ได้เห็นได้สัมผัสสัมพันธ์ว่าเป็นอย่างไรบ้าง การปฏิบัติของพุทธบริษัทมีภิกษุบริษัท เป็นต้น เกี่ยวกับอรรถธรรมศีลธรรมทั้งหลายนั้น กับตำรับตำราเข้ากันได้ไหม ตรงกันไหม ทั้ง ๆ ที่เห็นอยู่อย่างนี้แหละ กิเลสมันหากมีตัวดื้อด้านสันดานทราม มันก็แหวกแนวของมันไปจนได้ ถ้าหากไม่เห็น ไม่มีตำรับตำราดูเลยก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่นี้ทั้ง ๆ ที่รู้ ๆ เห็น ๆ อยู่มันก็ฝืนไปจนได้ ฝืนความถูกต้องดีงามไปจนได้ นี่ละที่มันฝืนออกจากทาง คือทางมรรคทางผล เมื่อฝืนออกจากทางที่ถูกต้องดีงามเข้าสู่ทางที่ผิดแล้ว จะเอาความถูกต้องดีงาม เอามรรคเอาผลนิพพานมาจากไหน อย่างไรมันก็เป็นไปไม่ได้เพราะไม่ถูกทาง
สิ่งเหล่านี้เราผู้ปฏิบัติจึงพึงคำนึงเสมอ อย่าได้ลดละเรื่องความสังเกตปฏิปทาเครื่องดำเนินที่ท่านสอนไว้ในตำรับตำราก็ดี จากครูบาอาจารย์ที่ท่านพาดำเนินมาก็ดี ให้ยึดเป็นหลักเป็นเกณฑ์เอาไว้ เมื่อเจ้าของเห็นว่าเป็นความถูกต้อง และครูอาจารย์นั้นท่านก็สอนและดำเนินด้วยความถูกต้องตามอรรถธรรมแล้ว ผู้ปฏิบัติตามจึงไม่ควรฝืนอย่างยิ่ง การฝืนก็คือการรับประทานของแสลงนั่นเอง มันต้องผิด แสลงกับโรคจนได้ และทำให้โรคกำเริบไม่สงสัย
ความผิดจากอรรถธรรม ก็ทำให้ธรรมในหัวใจของเจ้าของกำเริบหรือเสื่อมทรามลงไป มีแต่กิเลสตัณหาอาสวะแสดงความรุนแรงความเจริญขึ้นในหัวใจของสัตว์โลก เมื่อกิเลสแสดงความเจริญขึ้นในหัวใจของสัตว์โลก ความรุ่มร้อนซึ่งเป็นผลก็ต้องแสดงขึ้นตาม ๆ กันห้ามไม่ได้ เมื่อเหตุพาให้เป็นไปแล้ว
นี่ปัจจุบันนี้เราคิดดูซิ ไม่กี่ปีมานี้ครูบาอาจารย์ร่วงโรยไปเท่าไรแล้ว ที่เป็นครูบาอาจารย์ล้วนแล้วแต่ที่เป็นที่เคารพเลื่อมใส เป็นที่พึ่งเป็นพึ่งตายทั้งนั้น ก็ผ่านไป ๆ ดังที่เห็นกันอยู่นี้ จึงไม่ควรนอนใจสำหรับผู้ที่กำลังตั้งใจอบรมศึกษาอยู่ ให้พยายามตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติตนเอง อันเรื่องความขี้เกียจขี้คร้าน ความอ่อนแอ ความท้อแท้เหลวไหลเหล่านี้ เป็นเรื่องของกิเลสโดยตรงอยู่แล้วก็ทราบกันอย่างชัด ๆ ไม่ควรที่จะไปชินชากับมัน
การรับเพื่อนฝูงไว้ก็รับเพื่อให้ได้ศึกษาอบรมนั่นเอง ผู้ที่อยู่เป็นเวลาหลาย ๆ ปีก็มีอยู่ที่นี่ ไม่ทราบว่าความประพฤติปฏิบัติเป็นอย่างไร หรือว่ามาเป็นก้างขวางคอหมู่เพื่อนอยู่ก็ได้เราก็ไม่ได้แน่ใจนะ หรือเป็นทัพพีขวางหม้ออยู่ก็ได้ หลายปีหลายเดือนเท่าไรก็ยิ่งขวางมาก ๆ เข้าไป ยิ่งเป็นผีตัวใหญ่ในวัดนี้เราก็ไม่แน่ใจได้เหมือนกัน เมื่อทางจิตใจไม่เป็นไปมันจะต้องมีทางใดทางหนึ่ง เขาเรียกว่า แหวกแนวพาให้เป็นไปได้ นี่อย่าให้เห็นอย่าให้ได้พบนะ พูดเตือนไว้เสมอ ไม่พึงหวังไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง การทนทุกข์ทรมานในการรับหมู่รับเพื่อน การอบรมสั่งสอนหมู่เพื่อน เราไม่มีความประสงค์อย่างยิ่งกับสิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้ ขอจงอย่าให้ได้พบได้เห็น ให้ต่างคนต่างตั้งใจประพฤติปฏิบัติ
กิเลสอย่าเสียดาย ความถือทิฐิมานะว่าตนรู้ตนฉลาด ตนมีฐานะหรือตนมีอายุพรรษาอาวุโสอะไรเหล่านี้ ตลอดถึงยศศักดิ์สมบัติบริวาร อย่าเอามาอวดกัน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของโลก พระที่มาบวช สละสิ่งเหล่านี้หมดแล้ว อย่าไปคว้าเอาสิ่งสกปรกโสมมอันเป็นเดนแล้วนั้นมาทำลายตนและทำลายเพื่อนฝูงในวงพระศาสนาให้เสียหายไปตาม ให้ได้รับความกระทบกระเทือนระส่ำระสายไปเพราะสิ่งเหล่านี้เข้าไปทำลาย ให้พากันระมัดระวังให้มาก อย่าให้มีในวงปฏิบัติเรา เพราะเป็นวงที่ละเอียดมาก ไม่มีอะไรเกินวงปฏิบัติแหละ
ปริยัติผมก็เคยได้เรียน อยู่กับคณะปริยัติผมก็เคยได้อยู่ จะพูดว่าเข้านอกออกในเราก็ยอมรับได้เต็มหัวใจ เพราะเราเคยเป็นจริง ๆ ทางด้านปริยัติเราก็เข้า ได้เรียน ไม่ว่าวัดราษฎร์วัดหลวงไปหมด เข้าไปทั้งนั้นแหละ ได้อยู่ได้ศึกษา ทางด้านปฏิบัติเราก็ได้ออกมาดังที่เห็นนี้ การปกครองหรือการอยู่ร่วมกันในระหว่างปริยัติกับปฏิบัตินี้ต่างกันอยู่มาก ปริยัติไม่ค่อยมีอะไรนัก เพราะใคร ๆ ก็ทราบแล้วว่าขั้นนั้นภูมินั้น ยังไม่จัดว่าเป็นขั้นละเอียด ขั้นเอาจริงเอาจัง ขั้นเข้าด้ายเข้าเข็ม ขั้นเอาเป็นเอาตาย
แต่การปฏิบัตินี้เป็นขั้นที่เอาจริงเอาจัง เข้าด้ายเข้าเข็ม เอาเป็นเอาตาย ระหว่างกิเลสกับธรรมในหัวใจของเราผู้ปฏิบัติโดยแท้ จึงไม่ควรให้สิ่งใดที่ตนก็ทราบ ตนก็เข้าใจว่าเป็นกิเลส แล้วนำมาแสดงเหยียบย่ำทำลายหัวใจตน แล้วกระจายออกไปกระทบกระเทือนแก่ตา หู จิตใจเพื่อนฝูง ให้ได้รับความกระทบกระเทือน อันนี้ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะภาคปฏิบัตินี้เป็นภาคที่เอาเป็นเอาตายกับสิ่งที่เป็นข้าศึกคือกิเลสทุกประเภท ไม่ได้ไว้หน้ามันเลย แต่ทำไมจึงต้องให้มันมาออกแสดงฤทธิ์เดชอยู่บนเวทีแห่งภาคปฏิบัติ หรือแห่งเวทีของสงครามระหว่างมันกับธรรมเล่า นอกจากจะเอาให้มันบรรลัยลงไป
อะไรก็ตามเมื่อแสดงความหงุดหงิดขึ้นมาภายในจิตใจ ให้ทราบว่าตัวหงุดหงิดนั้นแหละ ตัวจะก่อข้าศึกขึ้นมา เวลานี้ได้ก่อขึ้นแล้วภายในหัวใจตัวเราเอง ได้ทำความทุกข์ความเดือดร้อนให้ปรากฏแล้วภายในใจเรา เราอย่าระบายฟืนไฟที่อยู่ในหัวใจนี้ออกไปเผาคนอื่น เพราะเท่าที่เผาเราในขั้นเริ่มแรกที่ยังไม่กระจายไปที่อื่น ก็ทราบชัดเจนแล้วว่าไม่ใช่ของดี คือกิเลสโดยแท้ เป็นไฟของกิเลสโดยแท้
โทสคฺคินา นั่นฟังซิ ความไม่พอใจ ความโกรธ ความฉุนเฉียว เหล่านี้ท่านเรียกว่า โทสคฺคินา ไฟคือโทสะมันแสดงขึ้นแล้ว อย่าให้มันได้มีอำนาจแผลงฤทธิ์ออกไปจากจุดนั้น จากใจดวงนั้น ให้พยายามห้ำหั่นมันลงทันที ให้เห็นโทษแห่งความโกรธของตนยิ่งกว่าจะเห็นโทษของคนอื่น ตำหนิคนอื่น โกรธให้คนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องความผิดในตัวเองโดยแท้ ไม่ใช่เป็นเรื่องความผิดของผู้อื่น
บางทีเขาดีอยู่ เราไปเป็นความสำคัญขึ้นมาแล้วไม่พอใจในเขา เหล่านี้มันก็ผิดในตัวของเราเอง แม้เขาก็ผิดแต่เราก็แสดงความผิดขึ้นเผาเราอีก และกระทบกระเทือนกันอีก ก็ยิ่งผิดทั้งสองฝ่าย ไม่มีใครดีเลย เอาเป็นคติตัวอย่างไม่ได้ ไม่สมชื่อสมนามว่าทั้งสองนี้มาปฏิบัติด้วยกัน
เพราะฉะนั้นภาคปฏิบัติจึงเป็นภาคที่ละเอียดมาก เป็นภาคที่ใช้สติปัญญาเอามากมายยิ่งกว่าภาคใด ๆ ถ้าไม่ได้ใช้สติปัญญาสังเกตสอดรู้อยู่กับต้นเหตุคือใจแล้ว ปฏิบัติไปเท่าไรก็ตาม เราจะไม่ได้เหตุได้ผลได้อรรถได้ธรรม และได้ฆ่ากิเลสเป็นลำดับลำดาไปตามธรรมท่านว่าเป็นเครื่องฆ่ากิเลสนั้นเลย แต่จะกลายเป็นเรื่องคุ้ยเขี่ยหากิเลสมาเผาเราโดยถ่ายเดียวเท่านั้น เพราะสติไม่มี ถ้าสติก็เป็นสติเรื่องของกิเลสไปเสีย เป็นศาสตราวุธของกิเลสเสีย ไม่ใช่สติธรรม เป็นสติของกิเลส ปัญญาก็ไม่ใช่ปัญญาธรรม เป็นปัญญาของกิเลส มันก็นำมาทำลายตัวเองได้
คำว่าปัญญา โลกิยปัญญา โลกุตรปัญญา พระพุทธเจ้าทรงสอนแล้ว ถ้าเราจะแยกออกมาใช้ธรรมดานี้ก็คือว่า ปัญญาฝ่ายธรรมกับปัญญาฝ่ายโลกนั้นต่างกัน ปัญญาฝ่ายธรรมมีความสอดส่องมองดูสิ่งที่เป็นภัย เมื่อทราบอย่างใดแล้วระงับดับกัน สลัดปัดทิ้งกันทันทีทันใด ถึงจะไม่ได้ในทันทีทันใด ก็พยายามเอาจนเต็มเหนี่ยวไม่ทอดธุระ นั่นเรียกว่าปัญญา เพื่อความแก้ความไขความถอดความถอนสิ่งไม่ดีของตนจริง ๆ
สติสอดรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่เคยชินหรือไม่ชินชากับสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย ซึ่งเกิดขึ้นจากใจและฝังอยู่ที่ใจนั่นแล นี่คือผู้ปฏิบัติต้องใช้ความพินิจพิจารณาอยู่อย่างนี้จึงจะสมว่าปฏิบัติ ไม่ใช่เดินจงกรมหย็อก ๆ แล้วก็ว่าตัวทำความเพียร เดินนั่นมันเดินเป็นลักษณะบ้าเดินก็ได้ ถ้าไม่มีสติแล้วก็เหมือนบ้าเดินผิดไปอะไร นั่งก็เหมือนกันเป็นหัวตออยู่อย่างนั้น ความรู้สติไม่ได้ควบคุม มีแต่นั่งเฉย ๆ เดินเฉย ๆ กิริยาแห่งความเพียรคือสติไม่ปรากฏภายในจิตใจเลย จะเรียกว่าเป็นความเพียรได้อย่างไร ไม่เรียก ไม่ผิดอะไรกับโลกเขาที่เขาไม่ได้ทำความพากเพียร นี่ละคำว่าต่างกันต่างตรงนี้เอง ระหว่างผู้ประกอบความพากเพียร และระหว่างสติของโลกปัญญาของโลก กับสติของธรรมปัญญาของธรรม ต่างกันอย่างนี้แล
ไม่ใช่โลกจะไม่มีสติ โลกมีเหมือนกัน ปัญญาก็มีเหมือนกัน แต่มันเป็นภัย มันเป็นเครื่องมือของกิเลสจึงต้องเป็นภัย ถ้าสติปัญญาอันเป็นเครื่องมือของธรรมแล้วจะไม่เป็นภัยแก่ตนเอง นี่ละสติปัญญาประเภทเหล่านี้ละ เป็นสติปัญญาที่แก้ความเป็นภัยของตัวออกได้โดยลำดับลำดา
ความฉลาดแหลมคมใดก็ตาม ถ้ายังไม่ได้ผ่านการต่อสู้กับความฉลาดแหลมคมของกิเลสให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เอาจนกระทั่งถึงขั้นบรรลัยไปแล้ว เราอย่าด่วนคุยว่าเราฉลาด จะเรียนมาจบโลกไหนไตรเพทใดก็ตาม ปริญญาใดก็ตาม มันเป็นปริญญาของกิเลสยื่นความเสกสรรปั้นยอหลอกให้เท่านั้น ก็เช่นเดียวกับเขาโยนข้าวสุกให้สุนัขกินนั่นแลจะผิดกันอะไร ความฉลาดใดที่ได้หลุดพ้นหรือได้ทำลายสิ่งที่เป็นข้าศึก ตัวฉลาดแหลมคมครอบโลกธาตุคือกิเลสนี้แล้ว ธรรมนั้นแล สติปัญญานั้นแล เรียกว่าสติปัญญาที่ฉลาดแหลมคมหรือเกรียงไกรโดยแท้ไม่สงสัย เจ้าของก็ไม่สงสัย แม้จะไม่เสกสรรปั้นยอตัวเองก็ทราบชัดเจน จึงว่าไม่สงสัยว่าเป็นความฉลาดโดยแท้ ไม่เป็นภัยแก่ตัวเอง
จิตที่เป็นภัยต่อตัวเองอยู่ตลอดเวลานี้เพราะอะไร ไม่ใช่คนโง่เขลาเบาปัญญานะ มันฉลาดเหมือนกัน แต่ฉลาดในเรื่องของโลก ฉลาดในเรื่องก่อไฟเผาตัว ฉลาดไปตามแถวของกิเลส มันก็ต้องเสาะหาตั้งแต่ความไม่ดีนั่นแหละ ใส่ตัวเองและใส่คนอื่นยุ่งไปหมด ถ้าไม่มีธรรมเข้าแทรกแล้ว มีแต่กิเลสล้วน ๆ อย่าเข้าใจว่าจะทำโลกทั้งโลกนี้ให้มีความร่มเย็นเป็นสุขเลย เพราะฉะนั้นโลกกับธรรมจึงต้องอยู่ด้วยกันมาโดยลำดับลำดา
เราจะเสกสรรปั้นยอว่าธรรมมีหรือไม่มีก็ตาม ธรรมในหลักธรรมชาติที่เป็นเครื่องแก้ไขดัดแปลงกันหรือบรรเทากันยังมี ยังพอมี โลกถึงอยู่กันได้ ถ้ากาลใดสมัยใดจิตเป็นโลกล้วน ๆ ไม่มีธรรมภายในจิตใจเลย นั่นก็เท่ากับว่าเราเป็นโรคภัยไม่มีหยูกมียาไม่มีหมอรักษาเลย คอยแต่วันตายเท่านั้น นี่ละเรื่องของกิเลสจึงแหลมคมมากทีเดียว ละเอียดลออมากที่สุดไม่มีอะไรเกิน สามแดนโลกธาตุนี้จึงอยู่ใต้อำนาจของกิเลสโดยประการทั้งปวง
ใครจะว่าฉลาดขนาดไหน ก็ฉลาดอยู่ในวงของกิเลสที่ครอบหัวอยู่นั้น ไม่ได้นอกเหนือไปจากกิเลสนี้เลย แต่เรื่องของธรรมนั้นผิดกันอยู่มากทีเดียว เมื่อได้นำมาต่อกรกับกิเลสประเภทต่าง ๆ จนกระทั่งถึงขั้นบรรลัยออกหมดจากหัวใจไม่มีสิ่งใดเหลือแล้ว นั้นแลจึงชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดเลิศโลก ดังพระพุทธเจ้าของเราหรือพระสาวกอรหัตอรหันต์ ถึงจะไม่เหาะเหินเดินฟ้าก็ตามเถอะ คือเลิศอยู่ภายในจิตใจนั้นโดยไม่ต้องเสกสรรปั้นยอกันเลย เพราะเคยจมอยู่กับสิ่งสกปรกโสมม สิ่งเลวทรามทั้งหลาย สิ่งต่ำช้าหาคุณค่าไม่ได้มานานแสนนานแล้ว ด้วยอำนาจแห่งความต่ำช้าเลวทรามนั้นแหละมันครอบไว้ ไม่มีทางออกได้เลย
แต่เมื่อธรรมได้โผล่ขึ้นภายในจิตใจแล้ว ผุดตัวขึ้นมาได้ ดีดออกมาได้ จนกลายเป็นผู้เหนือกิเลส เรียกว่า โลกุตรธรรม เป็นสติปัญญาที่เหนือโลก เหนือกิเลสอาสวะทั้งหลาย ทำลายมันเสียจนสิ้นซากภายในจิตใจแล้ว นั่นจึงจัดว่าฉลาด ถ้าจะจัดนะ แต่หลักธรรมชาติจริง ๆ แล้วท่านไม่นิยมว่าท่านโง่หรือท่านฉลาด ท่านไม่ไปสำคัญมั่นหมายกับกิริยาอาการเหล่านั้นแหละ ท่านอยู่ตามความเป็นจริง ปราชญ์ทั้งหลายท่านจึงไม่ตื่นเต้น ใครจะมาสรรเสริญก็ตาม มานินทาก็ตาม น้ำหนักในทั้งสองอย่างนี้มีเท่ากัน
ถ้าเทียบก็เหมือนน้ำเต็มแก้วแล้ว จะเอาน้ำอะไรมาเทก็ล้นออกหมดไม่ค้าง นี่จิตที่เต็มอรรถเต็มธรรมแล้วก็เหมือนกัน ธรรมเต็มหัวใจแล้วก็ไม่รับทั้งคำสรรเสริญคำนินทา หากเป็นหลักธรรมชาติอย่างนั้นเอง ไม่ใช่ตั้งท่าตั้งทางจะไม่รับ ตั้งท่าตั้งทางจะสลัด ไม่ใช่อย่างนั้น นั่นยังเป็นท่าต่อสู้ หลักธรรมชาติของจิตของธรรมแท้จะไม่มีคำว่าตั้งท่าต่อสู้ หากเป็นหลักธรรมชาติของตัวเองอย่างนั้น ดีผ่านมาก็เพียงรับทราบแล้วหายไปในหลักธรรมชาติของมัน ชั่วก็เหมือนกัน นินทาสรรเสริญมาก็ตกไปพร้อม ๆ กัน
ท่านกล่าวไว้ในธรรมบทหนึ่งว่า อันนี้น่าคิดอยู่มาก เพราะอันนี้อยู่ในหลักธรรมบท เปรียญ ๓ ประโยคนี้ต้องผ่านธรรมบทนี้ ทีนี้จะพูดเป็นภาษาไทยเลยว่า เปือกตมคือกิเลสที่ตั้งอยู่ในจิตของพระอรหันต์ ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้นาน และตกไปในทันทีทันใด เช่นเดียวกับน้ำที่ตกลงบนใบบัวแล้วกลิ้งตกไปเช่นนั้นเหมือนกัน โดยที่ว่าใบบัวก็ไม่ตั้งใจจะสลัดน้ำ ใจก็ไม่ตั้งใจจะสลัดกิเลส พอปรากฏขึ้นหากดับไปตามหลักธรรมชาติของมันเช่นนั้น ถ้าจะแยกออกมาพูดอีกประเภทหนึ่ง ก็เมื่อกิเลสมันสิ้นเสียจริง ๆ แล้ว กิเลสอะไรที่จะมาตกในใจของพระอรหันต์แล้วถึงได้กลิ้งตกอย่างนั้นล่ะ นั่น
นี่หมายถึงว่าฐานของจิตจริง ๆ แล้วบริสุทธิ์เต็มที่ แต่คำว่าเปือกตกคือกิเลสตั้งอยู่ในจิตพระอรหันต์แล้ว ก็คือหมายถึงว่าขันธ์ที่แสดงออกมาแย็บ ๆ ชั่วขณะ ๆ ซึ่งเคยเป็นเครื่องมือของกิเลส เป็นกิเลสมาดั้งเดิมนั่นแล มันแสดงออกมาในขณะนั้น แต่ไม่ใช่ตัวกิเลสแท้ เป็นกิริยาของขันธ์ ท่านเอามาพูดเฉย ๆ เพื่อให้เข้าใจ พอปรากฏขึ้นแล้วก็ดับไปพร้อมกันกับขณะที่สังขารเป็นต้นนะ ความปรุงคิดเกิดขึ้นแล้วดับไป เกิดขึ้นนั่นละ เหมือนกับว่าเปือกตมคือกิเลสได้ตกในจิตของพระอรหันต์ ย่อมกลิ้งตกไปในขณะนั้น โดยไม่ต้องสลัดปัดทิ้งมันเลย มันหากเป็นของมันเอง นี่ก็คือว่าอาการสมมุติอยู่ในขันธ์นั้นแล จะเป็นกิเลสที่ไหนมาจากไหนไม่มี
เพราะคำว่ากิเลสแท้ ๆ นั้นได้แก่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นั้นได้พังลงไปแล้วตั้งแต่ขณะได้บรรลุธรรม ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าหรือสาวกองค์ใดได้บรรลุ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา จะพังไปเหมือนกันหมด ไม่มีอวิชชาตัวใดจะถูกยกเว้นไว้ว่าให้ยังเหลืออยู่พอให้เป็นกิเลสได้ตั้งอยู่บนจิตพระอรหันต์ไม่มี นี่จึงว่ากิเลสอันนี้พอยกขึ้นมาเทียบได้ก็คือว่ากิเลสในขันธ์เท่านั้นเอง ที่ปรากฏขึ้นในขณะที่ขันธ์แสดงตัวแย็บ ๆ เพียงเท่านั้น พอให้จิตรับทราบ รับทราบแล้วก็ดับไป ๆ
เพราะคำว่าจิต ๆ นั้นไม่ใช่หัวตอ ดีก็รับทราบ ชั่วก็รับทราบ ถ้าหากว่ากิเลสมีอยู่เป็นพื้นภายในจิตใจนั้นแล้วจะติด จะยินดีจะยินร้าย แต่พื้นฐานของจิตจริง ๆ นั้นบริสุทธิ์แล้วกิเลสไม่มี จึงไม่ได้รับความยินดียินร้าย เป็นแต่เพียงว่ารับทราบดีชั่ว ๆ สิ่งที่น่ารักน่าชังรับทราบ ๆ ดับไปพร้อม ๆ นี้แลท่านว่าเปือกตมคือกิเลสตั้งอยู่ในจิตของพระอรหันต์ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้นาน กลิ้งตกไปในทันทีทันใด ก็หมายถึงอันนี้เอง นี่มีอยู่ในคัมภีร์
เราก็ได้คิดแต่ก่อน เอ๊ พระอรหันต์นี่ว่าสิ้นกิเลสแล้ว ทำไมเปือกตมคือกิเลสตั้งอยู่ในจิตพระอรหันต์แล้วยังกลิ้งตกไปอย่างนี้ล่ะ เวลามาพิจารณาหลังจากได้ผ่านทางด้านปฏิบัติแล้ว ก็ทำให้ได้คิดเรื่องเหล่านี้แหละ ก็มายอมรับกันตรงนี้โดยไม่สงสัย ยอมรับว่าคำว่าเปือกตมคือกิเลส จะเป็นอะไรไปถ้าไม่ใช่กิริยาของขันธ์ที่ไปสัมผัสสัมพันธ์กับความรู้นั้นเท่านั้น ไปสัมผัสในขณะนั้น ๆ ดับไปเอง ๆ ไม่ต้องมีใครมาบังคับ ไม่ต้องได้สลัด เช่นเดียวกับน้ำที่ท่านว่าน้ำกลิ้งลงบนใบบัว ตกลงบนใบบัว ย่อมกลิ้งตกไป ต่างอันต่างไม่ได้ตั้งใจกัน ใบบัวก็ไม่ได้ตั้งใจไม่ซึมซาบน้ำ ไม่ได้ตั้งใจสลัด แต่หากเป็นหลักธรรมชาติของมันอย่างนั้น แน่ะ ท่านเทียบเอาไว้
กับอันหนึ่งที่ท่านแสดงไว้ นี่ก็ในธรรมบทนั้นเหมือนกันว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตเดิมแท้เป็นประภัสสร ท่านว่ายังงี้ แต่เพราะกิเลสที่จรมาจึงทำให้จิตเศร้าหมอง อย่างนี้ก็มีในวงปริยัติ เถียงกันเสียตาดำตาแดง ไอ้เราก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นนักเถียงเขา ก็ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร หลับตามาเถียงกันไม่ใช่ลืมตาเถียงกัน เถียงวันยังค่ำมันก็ไม่เห็นหน้ากันนี่ มันจะไปหายสงสัยกันยังไง ต่างคนต่างหลับตามาเถียงกันก็เท่านั้นแหละ
แต่เวลาผ่านทางด้านปฏิบัตินี้มันก็เข้าใจของมันเอง ไม่มีใครบอกก็ตามมันหากเข้าใจ เช่น จิตประภัสสรยังงี้ จิตประภัสสรของจิตธรรมดานั้นก็หมายถึงอวิชชาสงบตัว นั่นมีอยู่สองภาคนะ คำว่าจิตผ่องใส จิตสงบอวิชชาพักตัว อวิชชาไม่มีเครื่องมือออกหากิน ไม่มีทางออกหากิน ไม่มีเครื่องมือใช้ ก็เหมือนอย่างเข้าปฏิสนธิวิญญาณใหม่ ๆ จิตสงบตอนนั้นก็เป็นจิตเดิมผ่องใส คือสงบอยู่ตามหลักธรรมชาติ ไม่ใช่ผ่องใสด้วยการได้ขัดได้เกลาอะไรแหละ หมายเอาความสงบของจิต เวลานั้นยังไม่ได้ใช้กิริยา คือไม่มีทางออก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ยังไม่แก่กล้าจะว่าไง เพราะเพียงปฏิสนธิเท่านั้น ยังใช้งานอะไรไม่ได้นี้อันหนึ่ง อันสำคัญที่สุดก็คือจิตอวิชชา นี่ผ่องใสแท้อันนี้
ให้เห็นชัด ๆ ยังงั้นซิการปฏิบัติมันถึงไม่สงสัย กี่หมื่นกี่แสนกี่ล้านคนไม่เห็นก็ตามเถอะ เราเห็นคนเดียวเราก็หายสงสัยคนเดียวนั่นแหละ เอ้า เรายกตัวอย่างเช่นอย่างวัดป่าบ้านตาดนี่ ใครไม่เคยเห็นเลยทั่วประเทศไทย เรามาเห็นคนเดียวเราจะสงสัยไปยังไงว่าวัดป่าบ้านตาดไม่มีได้เหรอ ก็ต้องยอมรับว่ามีทันทีเลย รายเดียวเราก็ชัด ไม่ต้องไปหาถามผู้ใดที่เขาไม่รู้ไม่เห็นพอจะมาเป็นสักขีพยานเราได้ให้มันเสียเวลาแหละ ตาเราเคยใช้มาเท่าไร หูเคยใช้มาเท่าไร ใจเราเคยใช้มาเท่าไร ดูมันดูพับเดียวเท่านั้นเข้าใจ
นี่ก็เหมือนกันคำว่าประภัสสร ๆ อันนี้เราแน่ใจว่าท่านหมายถึงธรรมชาติอันนี้ เพื่อไม่ให้ภิกษุทั้งหลายติด ก็สอนภิกษุทั้งหลายแท้ ๆ นี่จะไปสอนอะไรถึงโน้น จิตธรรมดา ๆ ที่จมปลักอยู่โน้นไปพูดถึงมันทำไม ตั้งแต่ธรรมะในบางแง่มีคนถาม พระองค์ยังบอกว่าเป็นอจินไตย ไม่ทรงรับสั่งอะไรเลย นี่ดูซิ จิตนี้เดิมแท้ ๆ มันเป็นยังไงมายังไง อันนี้เป็นอจินไตย ตอบไปทำไมเสียเวลาไม่เกิดประโยชน์
ท่านจึงยกเรื่องขึ้นมาเหมือนกับหนามยอกเท้า เราจะไปถามหาสกุลหนามอยู่ จนกระทั่งถึงฝ่าเท้ามันเน่าเฟะไปหมดงั้นเหรอ กับการรีบถอนหนามออกจากเท้า บ่งหนามออกจากเท้า อันไหนดีกว่ากัน นั่น การรีบบ่งหนามออกจากเท้านั้นแหละ เป็นฐานะที่เหมาะสมอย่างยิ่งกว่าที่จะไปถามหาสกุลหนาม ว่ามาจากสกุลอะไร ๆ ซึ่งทำความเสียหายแก่ตนเปล่า ๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร นั่น
นี่เราพูดถึงเรื่องจิตเดิมมาจากไหน ๆ จิตทีแรกมันจะเป็นจิตเป็นมายังไง นี่พระพุทธเจ้าบอกว่า เป็นอจินไตย อย่าไปถาม ให้แก้ตรงที่มันจะเป็นประโยชน์ ท่านบอก นี่ละตรงที่เป็นประโยชน์ ก็คือแก้จิตตรงนี้ละ เช่นประภัสสร นี่สอนภิกษุทั้งหลาย ท่านจะไปสอนอะไรจิตแห่งโน้น จิตที่นอกเขตนอกแดนนอกเหตุนอกผลนอกบัญชี ท่านจะไปสอนทำไม อันนี้เป็นความแน่ใจของเรา เพราะท่านไม่ได้บรรยายไปว่า จิตประเภทนั้นประเภทนี้ ท่านบอกแต่ประภัสสรเฉย ๆ ทีนี้เวลาปฏิบัติเข้าไปก็ไปเจอเอาอย่างนั้น
จิตประภัสสรนี่คือจิตอวิชชา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ถูกตัดไปหมดแล้ว ตาก็สักแต่ว่าเห็นเท่านั้น หูสักแต่ว่าได้ยิน ไม่สามารถที่จะซึมซาบเอา ความดี ความชั่ว ความรัก ความชัง เข้าไปฝังในจิตใจได้เหมือนอย่างแต่ก่อนเลย นี่ละทางเดินของอวิชชามันออกไม่ได้พูดง่าย ๆ เพราะถูกตัดไปหมดแล้วดังที่เคยเทศน์แล้วนั้น
จากนั้นก็ย่นเข้าไปถึงกาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันนี้ก็เป็นแต่เพียงอาการ ๆ อันหนึ่ง ๆ เมื่อเราพิจารณารอบแล้วมันก็เป็นอาการนั้นจริง ๆ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่จิต เป็นอาการอันหนึ่งเท่านั้น และก็รู้ชัดเจนด้วยว่าสิ่งนี้เป็นอาการ ๆ ไม่ประสานกันกับใจเลย นี่รู้ได้ชัดไม่มีใครบอกก็ตาม เจ้าของรู้คนเดียวก็หายสงสัย เช่นเดียวกับเรามาเห็นวัดป่าบ้านตาดนี่หายสงสัย คนกี่ล้านคนไม่เคยเห็นก็ตาม เรามาเห็นเพียงคนเดียวก็หายสงสัย อันนี้ก็เหมือนกัน จิตถ้าได้ปฏิบัติตามแบบที่พระพุทธเจ้าทรงสอนแล้วไม่สงสัย เมื่อไปเจอเข้าแล้วเป็นอย่างนี้ มีแต่ความผ่องใส
ความผ่องใสที่จิตชำระได้ ความผ่องใสที่ตัดขาดจากความเยื่อใยทั้งหลาย และความเกี่ยวกับความระโยงระยางกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสทั้งหลายออกได้หมดโดยประการทั้งปวงแล้ว มันก็เหลือแต่ความผ่องใสอย่างเดียวเท่านั้น นั่น ไม่ติดไม่ต่อไม่ประสานกันกับ ตา รูป เสียง กลิ่น รส ก็ไม่ประสานกัน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ กับจิตก็ไม่ประสานกัน หากอยู่ด้วยกัน หากรู้กันอยู่อย่างนั้น นี่เพียงเท่านี้ก็รู้ชัดแล้วว่าไม่ใช่อันเดียวกัน ระหว่างจิตกับขันธ์เหล่านี้ ท่านจึงบอกว่าขันธ์ ๆ
ขันธ์แปลว่ากอง แปลว่าหมวด แปลให้มันตรง ๆ ก็คือว่ากองนั่นเองละ เป็นกองหนึ่ง ๆ ใจนี่เป็นอันหนึ่ง พอตัดเข้าไปจนกระทั่งไม่มีอะไรเหลือ มันหากเป็นไปตามหลักธรรมชาติของการพิจารณา มันหมดไป ๆ ขาดเข้าไป ๆ จนกระทั่งถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ กับจิต ก็ขาดจากกันให้เห็นชัด ๆ ซึ่งไม่เคยเห็นไม่เคยคาดเคยคิดว่ามันจะขาดจากกันได้ ไม่เคยคาดเคยคิดว่าจะรู้เท่าทันได้อย่างนั้น มันก็รู้เท่าได้จะว่าไง มันหากเป็นของมันเอง ปล่อยของมันเอง ไม่ยึดโดยหลักธรรมชาติ รู้อยู่เห็นอยู่อย่างนั้น แต่สิ่งที่มันยึดมันเป็นอันเดียวกันก็คือเรื่องจิตอวิชชา มันไม่ทราบ นั่น นี่ซิความสำคัญ นี่ละละเอียดที่สุด ว่าอวิชชาคือจอมกษัตริย์วัฏจักร เป็นสิ่งที่แหลมคมละเอียดมากที่สุดไม่มีอะไรเกิน
เราว่ารูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่สัมผัสสัมพันธ์กันว่าเป็นความละเอียด มันไม่ได้ละเอียด แต่จิตของเรามันหยาบจึงรู้ไม่ได้ แต่พอได้ฝึกจิตเข้าไปมันก็รู้ ๆ เข้าไป จนกระทั่งถึงอาการของขันธ์ห้า อย่าว่าแต่รูป เสียง กลิ่น รส กับตา หู จมูก ลิ้น กาย ประสานกันเลย แม้แต่ขันธ์ห้ากับจิตมันยังไม่ประสานนี่จะว่าไง เมื่อมันรู้มันรู้จริง ๆ อย่างนั้น
แต่จิตกับอวิชชานี้มันประสานกันเราไม่รู้นะ นี่สำคัญมากที่สุด นี่ละที่ว่าประภัสสร ๆ เห็นได้ชัดทีเดียว นี่ประภัสสรที่เคยถกกันแต่ก่อนแต่ปริยัติมา ว่าถ้าจิตผ่องใสจริงๆ แล้วจะเกิดทำไม ก็มันผ่องใสมันไม่ใช่บริสุทธิ์นี่ แน่ะ มันก็มีที่ตอบกันพับทันทีเลย ตอนผ่องใสนี่มันผ่องใสก็เห็นได้ชัด แต่มันไม่บริสุทธิ์ พอถึงขั้นบริสุทธิ์คืออวิชชาพังลงไปเท่านั้นละ มันก็เป็นจิตบริสุทธิ์ จิตที่บริสุทธิ์นี่ไม่ควรจะเกิดแล้วที่นี่ ไม่เกิด ไม่ว่าแต่ไม่ควรแหละ ไม่เกิดร้อยทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ยันกันได้เลย เจ้าของนั่นละจะยันเอง เจ้าของนั่นละเป็นนักเกิด เจ้าของนั่นละเป็นนักสืบต่อกับเรื่องภพเรื่องชาติทั้งหลาย ตัวนั้นเรารู้ชัด ๆ นี่
แต่ว่าถึงขั้นมันปล่อยมันวางของมัน มันตัดมันขาดสะบั้นลงไปจนกระทั่งไม่มีเชื้อเหลืออยู่ภายในจิตใจแล้วมันจะเอาอะไรไปเกิด เห็นชัด ๆ อยู่นั้นน่ะ นั่นละที่นี่จิตบริสุทธิ์นี่ไม่เกิดละ อันนั้นมันจิตผ่องใสนั่นน่ะ มันผิดกัน พอเข้าภาคปฏิบัติแล้วก็ยอมรับเลย อ๋อ เป็นอย่างนี้ นั่น ท่านว่าประภัสสร ๆ มันก็เป็นอย่างนี้เอง อ๋อ เป็นอย่างนี้เอง มันยังไม่บริสุทธิ์นี่ พอถึงขั้นบริสุทธิ์แล้วคำว่าประภัสสรมันไม่มีนี่ ความผ่องใสกับคำว่าบริสุทธิ์นี่มันต่างกัน ให้รู้ด้วยเจ้าของนั่นแหละชัดเจนดี นี่ภาคปฏิบัติ
เอาซิ ทุกวันนี้ก็เอาซี ปฏิบัติซิ นี้เป็นสด ๆ ร้อน ๆ นี่ มีอดีตอนาคตที่ไหน มันครึมันล้าสมัยที่ไหน ใจเราแท้ ๆ นี้เรารับผิดชอบใจของเราแท้ ๆ วิธีปฏิบัติก็แก้กันตรงที่ว่านี่ อย่างที่ว่านี้ ทำไมจะแก้ไม่ได้ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติลงไปซิ ให้มันรู้มันเห็นซิจะได้หายสงสัย เรื่องภพเรื่องชาตินี่เป็นยังไง เป็นประโยคใหญ่หลวงไหม เป็นสาเหตุอันใหญ่โตไหม คือมหาเหตุนั่นเองความเกิดจะเป็นอะไรไป ก่อกองทุกข์ความยากความลำบาก ทั้งหมดไปจากความเกิดนี้ทั้งนั้นทีเดียว สัตว์โลกนี้ได้รับความทุกข์เพราะความเกิด ไม่เกิดไปเสียก่อนจะเอาอะไรไปเป็นความทุกข์ความทรมาน
เกิดไหนก็เกิดเถอะถ้าลงว่าเกิดแล้ว เรื่องความทุกข์ต้องติดแนบไปตามภพหยาบภพละเอียดไม่สงสัย ภพละเอียดก็ต้องมีความทุกข์อันละเอียดอยู่นั้น ภพหยาบก็มีความทุกข์อันหยาบ เราก็ทราบกันแล้วตรงนี้ ถ้าภพละเอียดเช่นอย่างไปเกิดเป็นอินทร์เป็นพรหม ยังงี้ก็ภพละเอียด ก็เป็นทุกข์ละเอียด นั่น เพราะกิเลสยังครองอยู่ กิเลสครองที่ตรงไหนก็มีทุกข์อยู่ตรงนั้น กิเลสส่วนละเอียดก็ทำทุกข์ให้ละเอียดแก่สัตว์โลก จนกระทั่งกิเลสพังเสียหมดไม่มีอะไรเหลือแล้ว นั้นแหละที่นี่ถึงจะไม่เกิดและไม่มีทุกข์เรื่องของจิตนั้นน่ะ
ฉะนั้นจึงกล้าพูดว่า เวทนา ๓ ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับจิตเลย ฟังซิ ทุกขเวทนาก็ตาม สุขเวทนาก็ตาม อุเบกขาเวทนาก็ตาม จะมีอยู่ในเพียงขันธ์เท่านั้น รูปขันธ์นี้เท่านั้น ไม่สามารถที่จะเข้าสู่จิตของพระอรหันต์ได้เลยในเวทนาทั้งสามนี้ จิตเวทนาจึงไม่มี นั่นฟังซิ เอาอะไรมามีก็ไม่ประสานกับอะไรแล้ว ธรรมชาติอันนั้นพ้นจากสมมุติโดยประการทั้งปวงแล้ว เวทนา อนิจฺจา เวทนา อนตฺตา ว่าไปทำไม อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นั่นฟังซิ มันก็เป็นโลกล้วน ๆ เห็นชัด ๆ อยู่เป็นอันหนึ่งอยู่นั้น อันนั้นเป็นวิมุตติหลุดพ้นแล้วจากสมมุติทั้งปวง เหล่านี้เป็นสมมุติ ให้มันเห็นชัด ๆ ซิปฏิบัติธรรม นั่นละท่านว่าหมดกังวล ท่านว่าหมดภาระ ตั้งแต่ขณะที่จิตได้ผ่านพ้นภาระมหาเหตุอันใหญ่หลวงนี้ไปได้แล้วเท่านั้น ก็รับผิดชอบอยู่เพียงขันธ์อันนี้เท่านั้น ไม่มีอะไรมากกว่านี้ ขันธ์อันนี้ละเป็น ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ไปอีกแง่หนึ่ง
ในเบื้องต้น ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ทั้งความรับผิดชอบในขันธ์ด้วย ทั้งความยึดถือขันธ์นี้ว่าเป็นเราเป็นของเราด้วย แน่ะ หนักสองประเภท ทีนี้พอจิตได้สลัดความยึดมั่นถือมั่นอุปาทานออกจากตัวอวิชชาหลงนี้เสียอย่างเดียวเท่านั้น ก็มีแต่เรื่องความรับผิดชอบเท่านั้น ความรับผิดชอบเฉย ๆ ท่านไม่ได้ยึดถือ ไม่ได้แบกไม่ได้หาม มีความรับผิดชอบโดยหลักธรรมชาติของขันธ์ ระหว่างขันธ์กับจิต นี่ก็เรียกว่า ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ไปในแง่หนึ่ง คือแบกความรับผิดชอบนั้นแหละเอาไว้
ถึงไม่แบกอุปาทานก็ตาม ต้องมีความรับผิดชอบเย็นร้อนอ่อนแข็ง หิวกระหาย ทุกข์นั้นเจ็บนั้นปวดนี้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องรับทราบกันอยู่โดยดี ๆ เพราะอยู่ด้วยกันทำไมจะไม่รับทราบกัน ต้องกระเพื่อมกันอยู่ธรรมดา รับทราบ ๆ แต่พอได้ปล่อยนี้ออกหมดโดยประการทั้งปวงแล้วเท่านั้น ที่นี่บรมสุข ๆ ถามหาที่ไหน ดูหัวใจเจ้าของที่บริสุทธิ์นั้นเท่านั้นก็รู้แล้ว จะไปถามหานิพพานที่ไหน ถ้าไม่ใช่บ้านิพพานน่ะ
แล้วนิพพานวัดผ่าศูนย์กลางยาวเท่านั้นยาวเท่านี้ ลึกเท่านั้นเท่านี้ มันบ้าทั้งนั้นแหละ ไปผ่าศูนย์กลางที่ไหน ดูในหัวใจเจ้าของที่บริสุทธิ์แล้วมันมีศูนย์กลางที่ตรงไหน ศูนย์ขอบที่ตรงไหน ศูนย์กลางที่ตรงไหน วัดผ่าตรงไหนไปถึงตรงไหนถ้าไม่ใช่บ้าเท่านั้น ให้มันเห็นชัด ๆ ยังงั้นซิ ยันได้เลย
พระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวสอนโลกได้สามแดนโลกธาตุ เป็นยังไงใครไปค้านพระพุทธเจ้าได้มีไหม นั่นละความจริงที่เห็นแล้วถึงพูดออกมาเอาอะไรมาค้านกัน อย่างต่างคนต่างเห็นด้วยกันแล้วเอาอะไรมาค้านกัน พระอรหันต์ต่างองค์ต่างรู้จิตดวงนี้ด้วยกันแล้วเอาอะไรมาค้านกัน มันค้านกันก็ค้านแต่พวกตาบอดหูหนวก ค้านทั้ง ๆ ที่เถียงวันยังค่ำแต่ตาไม่ลืมน่ะซี มันไม่เห็นนี่จะว่าไง นั่นละท่านว่าบรมสุข ๆ แสนสบายอยู่นั้นละที่นี่
ตั้งแต่นั้นไม่มีละคำว่ากาลสถานที่เวล่ำเวลาจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับธรรมชาตินั้น ท่านถึงว่าหายกังวล จะเคยทุกข์เคยลำบากมาด้วยการเกิดแก่เจ็บตายมากี่ภพกี่ชาติก็ตาม พอถึงขั้นที่บริสุทธิ์แล้วเรียกว่าตัดขาด ตัดสะพานกันแล้วกับเรื่องกองทุกข์ทั้งหลายที่เคยเกี่ยวโยงกันมา หมดแต่เพียงเท่านี้ ไม่มีใครมาบอกก็ตาม ขอให้จิตดวงนี้ได้เป็นของตัวเองเถอะ ดังที่กล่าวว่า วัดป่าบ้านตาดนี่ใครไม่เคยเห็นก็ตาม กี่ร้อยกี่พันคนกี่ล้านคนก็ตาม เราเห็นคนเดียวก็ไม่สงสัยแล้ว นั่น อันนี้ก็เหมือนกัน ท่านจึงบอกว่า สนฺทิฏฺฐิโก ๆ ละเอียดมากนะ คำว่า สนฺทิฏฺฐิโก นี่ละเอียดที่สุดเลย สุดยอดว่างั้นเลย
นี่ละศาสนาพระพุทธเจ้า ทันสมัยที่สุดเลย เป็นศาสนาคู่บ้านคู่เมืองคู่โลกคู่สงสาร ที่ว่าเป็นศาสนามาดั้งเดิม ๆ ตั้งแต่พระพุทธเจ้าองค์นั้น ๆ นี่ร้อยทั้งร้อย พันทั้งพัน ล้านทั้งล้าน ของศาสดาที่สอนศาสนาแบบนี้ ด้วยความบริสุทธิ์อย่างนี้ เป็นศาสนาที่บริสุทธิ์โดยแท้ ไม่มีข้อข้องใจ ไม่มีทางสงสัย นี่ละเป็นศาสนาแท้ รื้อขนสัตว์โลกให้พ้นจากทุกข์ได้โดยไม่ต้องสงสัย สร้างบารมี เอ้า สร้างลงไป เป็นบารมีโดยแท้ เพราะเป็นพื้นเพอันดีอันถูกต้องดีงามแล้ว ไม่ผิดไม่พลาด นี่ศาสนาของคนสิ้นกิเลสเป็นเช่นนี้
ส่วนศาสนาของคนมีกิเลสเราไม่ต้องพูด ก็เหมือนเรา ๆ ท่าน ๆ นี้แหละ มันเป็นยังไงคนมีกิเลส รู้อะไรเห็นอะไรมันแจ้งไหมมันชัดไหม นั่น สิ้นกิเลสเสียอย่างเดียวรู้เห็นมันก็ชัดเท่านั้นเอง มันต่างกัน ความรู้อันเก่านี่แหละ เวลามันรู้ทั้ง ๆ ที่มีกิเลสเป็นอีกอย่างหนึ่ง พอรู้ด้วยความสิ้นกิเลสแล้วก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ใจดวงนี้แหละ พูดไม่ถูก แต่หากรู้ว่ามันต่างกันยังไง นี่ละเราจึงจะแก้จากจิตที่มันเคยเป็นมานี่ บ่อเกิดแก่เจ็บตาย บ่อความทุกข์ความทรมาน มันอยู่ที่ความรู้อันนี้แหละ พาไปเกิดที่นั่นเกิดที่นี่ แต่ไม่ยอมตายนะจิตดวงนี้ ไม่ยอมฉิบหาย หากเข้าร่างนั้นร่างนี้ไปตามอำนาจแห่งกรรม กรรมดีกรรมชั่ว มีแง่หนักเบาขนาดไหน
คนเราสัตว์ทั้งหลายก็ดีอยู่เฉย ๆ ได้ยังไง มันต้องได้สร้างกรรมทำกรรม สร้างกรรมดีกรรมชั่วนั้นแหละ จะรู้ตนว่าสร้างไม่สร้างก็ตาม แต่หลักธรรมชาติก็เป็นการสร้างอยู่นั้นแหละจะว่ายังไง เป็นบาปเป็นบุญ คือเป็นสุขเป็นทุกข์หนักเบามากน้อยเพียงไร ไม่จำเป็นจะต้องมีเจตนาทุกประการทุกประเภทไปมันก็เป็นของมันอยู่นั้น จึงเรียกว่าเป็นหลักกรรม ลบไม่ได้ นี่ละสัตว์ทั้งหลายไปเกิด
เกิดไม่เพียงเกิดเฉย ๆ ตามหลักอวิชชาพาให้เกิดนะ มันยังเกิดไปตามแขนงของวิบากกรรมอีกด้วย ใครสร้างกรรมดีคนนั้นจะไปเกิดที่ดี ใครสร้างกรรมชั่วช้าลามกไว้มากคนนั้นจะไปเกิดเหมือนกัน แต่ไปเกิดในที่ชั่วช้าลามกได้รับความทุกข์ความทรมานมาก นั่นฟังซิ นี้ละหลักธรรมชาติแท้ ๆ ใครแก้ไม่ได้ เพราะเป็นหลักความจริง ไม่มีใครจะมาแก้ได้ นอกจากสอนให้เป็นไปตามนั่นเท่านั้น
อย่างนรกมีอย่างนี้ ใครจะไปลบล้างนรกได้ล่ะ พระพุทธเจ้าองค์ใดมาตรัสรู้ มากี่หมื่นกี่แสนกี่ล้านพระองค์ แล้วองค์ไหนที่มีความสามารถที่จะไปลบล้างนรกได้ เพราะลบล้างไม่ได้นั่นเองท่านจึงสอนวิธีปลีกวิธีแวะ อย่าไปอย่าทำ ทำนี้จะไปอย่างนั้น แน่ะ ถ้าเป็นสิ่งที่ลบล้างได้ สิ่งที่ทำลายได้ ไม่มีใครที่จะเมตตาสงสารโลกยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ๆ แหละ จะต้องไปทำลายให้หมด อันใดขึ้นชื่อว่าจะเป็นความทุกข์ความลำบากแก่สัตว์โลกแล้วจะไปทำลายให้หมด ให้สัตว์โลกได้อยู่แสนสบาย สมกับว่า มหาการุณิโก นาโถ หิตาย สพฺพาปาณินํ พระองค์มีความเมตตาสงสารแก่โลกทำประโยชน์ให้แก่โลกมากมายที่สุด หาประมาณไม่ได้ ให้มันสมอันนี้ ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์จะสามารถทำลายนรกได้นะ แต่นี้มันทำไม่ได้ เพราะเป็นหลักธรรมชาติ เป็นของมีอยู่เป็นอยู่ นั่นละสิ่งที่มีอยู่มันแก้ไม่ได้ก็ต้องหลีก สอนให้หลีก
ถ้าสิ่งไหนที่มันลบมันล้างได้เช่นกิเลสนี้ ก็สอนให้ลบให้ล้างให้แก้ให้ถอดให้ถอน นี่ก็บอกอย่างนั้นเห็นไหมล่ะ อันนี้สอน สอนให้แก้ให้ถอดให้ถอนให้ลบให้ล้าง เรื่องความเกิดตายนี่เป็นเรื่องกองทุกข์ จะไม่ให้เกิดได้ไหม แน่ะ ได้ สอนวิธีไม่ให้เกิด นั่น ท่านก็สอนดังที่เราพูดกันอยู่เดี๋ยวนี้ กิเลสนั่นละเป็นตัวเชื้อพาให้เกิดก็รู้กันอยู่ ถอนกิเลสออกหมด เชื้อพาให้เกิดก็ไม่มี ก็ นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ เท่านั้นเอง
สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นและนำมาสอนโลกนี้ แหม เป็นสิ่งที่ลึกลับเอามากจริง ๆ นะ เกินกว่าที่จะเชื่อถือพูดง่าย ๆ นะ เพราะไม่ใช่ภูมิที่จะไปเชื่อถืออย่างนั้นได้นี่ นี่ละที่พระองค์ทรงท้อพระทัยไม่ใช่อะไรนะ แต่ก่อนพระองค์ก็ไม่ทรงรู้ทรงเห็น พระจิตไม่ได้เป็นอย่างนั้น ๆ แต่ก่อน แต่เวลาทรงรู้ทรงเห็นแล้ว ทั้งความบริสุทธิ์ ทั้งสิ่งทั้งหลายรอบด้านที่ทรงรู้ทรงเห็น เป็นวิสัยของพุทธะ พระองค์จะทรงรู้ทรงเห็น รู้ไปหมด โลกวิทู ๆ
เช่นอย่างท่านแสดงไว้ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ ฟังซิกี่ชั้นพูดมานั้นน่ะ ญาณํ อุทปาทิ ก็ชั้นหนึ่ง ละเอียดมากที่สุด แน่ะ ปญฺญา อุทปาทิ เป็นอีกอย่างหนึ่ง วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ สว่างไปหมด โล่งไปหมดเลย ว่างเวิ้งว้างไปหมดเลย อาโลโก อุทปาทิ ท่านว่างั้น เป็นความละเอียด อย่างญาณอะไร ๑๐ อย่างก็เหมือนกัน ใครจะไปรู้ แต่เราเพียงเท่าหนูตัวหนึ่งก็ยังแปลกประหลาดอัศจรรย์ เอ๊ จิตดวงนี้นะ
เข้าใจหรือเปล่าที่เทศน์วันนี้ เข้าใจหรือเปล่าล่ะ เข้าใจเหรอ นั่นละเทศน์ภาคปฏิบัติ เรื่องจิตเทศน์อย่างนั้นละ ให้พิจารณาเอานะ เทศน์ปริยัติเป็นอีกอย่างหนึ่ง เทศน์ปฏิบัติเป็นอีกอย่างหนึ่ง ผมก็เรียนตรง ๆ ผมเทศน์ได้ ทางปริยัติผมก็เทศน์ได้ เพราะผมเคยเทศน์อยู่แล้ว เนื่องจากเราก็เคยเรียนปริยัติอยู่แล้ว เทศน์ปฏิบัติก็อย่างที่เห็นนี่ละ แต่อะไรก็ตามมันไม่สนิทใจเหมือนเทศน์ภาคปฏิบัติ สำหรับนักปฏิบัติแล้วจะไปเทศน์ปริยัติให้ฟังนี้ไม่ได้ เข้ากันไม่ได้เลย เทศน์ภาคปฏิบัติมันถึงใจ ๆ
พระที่มาศึกษาอบรมพอสมควรแล้วก็ให้ขยับขยายกันนะ มากเกินไปมันไม่เหมาะ ไม่ค่อยเกิดผลเกิดประโยชน์อะไรแหละ เราคิดไม่ใช่เราไม่คิด ที่เราพูดอย่างนี้เราคิดแล้วเราถึงพูด อยู่มาก ๆ ไม่ดีเลย ให้ต่างคนต่างตั้งอกตั้งใจ วันหนึ่ง ๆ ผมก็พยายามไม่ให้มีงานมีการเพื่อจะให้ได้ภาวนากัน จึงไม่ค่อยให้พาสร้างโน้นสร้างนี้ยุ่งเหยิงวุ่นวาย ทำอะไรก็เป็นปลีก ๆ ย่อย ๆ ไปยังงั้น ไม่ให้ไปเกี่ยวข้อง ไม่ให้ไปยุ่งกันทั่วทั้งวัดนะ เพราะผมถือเรื่องการปฏิบัติจิตตภาวนาเป็นสำคัญ เป็นงานชิ้นเอก เป็นงานชิ้นเอาเป็นเอาตายจริง ๆ ไม่เหมือนงานอื่นซึ่งทำไปชั่วกาลเวลา ด้วยความจำเป็นเล็กน้อยเท่านั้นก็ให้หยุด
งานนี้มันงานสำคัญ งานรื้อภพรื้อชาติ รื้อมหันตทุกข์ออกจากหัวใจ ไม่ใช่งานธรรมดา ผู้วิเศษ ๆ คือผู้ที่ทำงานนี้สำเร็จนี่ วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ นั่น พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว คือเสร็จกิจในพระศาสนา กิจของพระศาสนาคืออะไร ก็คือจิตตภาวนานี้ เสร็จอยู่สบายที่นี่ แสนสบายจริง ๆ ไม่มีอะไร ไม่มีคำว่าอดีตอนาคต ทั้ง ๆ ที่จิตมันเคยยุ่งกับอดีตอนาคตเป็นเนื้อเป็นหนังจริง ๆ ยุ่งกับเรื่องคิดนั้นคิดนี้ ยุ่งอดีตอนาคต เรื่องได้เรื่องเสีย เรื่องเกิดเรื่องตาย เรื่องนรกเรื่องสวรรค์ เรื่องอะไรจิปาถะ มันกว้านเข้ามาคิดเผาเจ้าของอยู่ตลอดเวลา โดยที่ว่าสิ่งเหล่านั้นคืออะไร อยู่ที่ไหน จริงหรือไม่จริง ความคิดมันไม่ได้คำนึงนะว่าความคิดเหล่านี้ผิด จริงหรือไม่จริง แต่มันก็เคลิ้มไปตามความคิดเจ้าของนั่นแหละ นี่มันเป็นอย่างนั้นนะ
เมื่อสิ่งที่พาหมุนพาวุ่นวายออกจากใจแล้ว ใจก็ไม่วุ่นละที่นี่ เคยคิดมาอย่างนี้สักเท่าไร ร้อยทั้งร้อยมันปลงลงร้อยทั้งร้อยเลยจะว่าไง ถ้าจะเหลือก็ยังเหลืออยู่แต่ความปรุงประจำขันธ์เท่านั้นยิบแย็บ ๆ นิดหน่อยเท่านั้น มันไม่ได้เป็นอะไรอันนี้ ยิบ ๆ แย็บ ๆ เท่านั้น จะเอาเหตุเอาผลเอาเรื่องเอาราวอะไรให้เรามันไม่ได้นี่ มันเป็นธรรมชาติ เหมือนหางจิ้งจกขาดนี่จะว่าไง มันดิ้นของมันอยู่งั้นไม่มีความหมาย ไม่หลงมันแล้วมันจะมีความหมายอะไร มันก็อยู่ตามประสาของมัน ถ้าไปหลงมันก็เป็นพิษอีกแหละ เจ้าของวาดหลอกเจ้าของ มันมีอะไร หลงอารมณ์เจ้าของเหมือนบ้า ให้ผ่านนี้ไปซีก็รู้เอง ว่าไม่เหมือนบ้าจะเหมือนอะไร เดี๋ยวนี้กำลังเป็นบ้ามันก็ไม่รู้เจ้าของว่าเป็นบ้าละซิ ให้ผ่านนี้ไปซิมันก็รู้ว่าบ้าน่ะซิ
ปรุงอยู่งั้นแหละทั้งวันทั้งคืน ปรุงนั้นปรุงนี้ โอ้โฮย เรื่องมันล่วงไปตั้งกัปตั้งกัลป์ พอได้ยินที่ไหนก็กว้านเอามามาปรุงสด ๆ ร้อน ๆ มาเผาเจ้าของเป็นบ้าซิ นี่พวกบ้าถึงว่า บ้าความคิดความปรุงหลอกเจ้าของ ฟาดกิเลสอยู่ในจิตนี้ให้พังทลายลงไป ให้เหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ ของจิตแท้ๆ เป็นยังไงที่นี่ นั่นมันต่างกันไหมกับที่เป็นบ้าอยู่แต่ก่อนนั่นน่ะ ไม่ต่างจะเรียกว่าแต่ก่อนมันเป็นบ้ายังไง เดี๋ยวนี้มันดีหรือไม่ดีก็รู้เอง แน่ะ ต้องอย่างนี้ซิ จิตหลอกเจ้าของ ปรุงหลอกเจ้าของ อดีตล่วงมากี่ปีกี่เดือนแล้วมันไปอุ่นมา ไม่รู้ว่าเรื่องนั้นอยู่ไหน ไปปรุงขึ้นมาอยู่ภายในใจนี้ หลอกอยู่ภายในใจนี้ อนาคตนั่นฟังซิ อยู่ไหนก็ไม่รู้ละ อนาคตยังไม่มาถึงเอามาปรุงยุ่งเจ้าของ เพราะมันมีตัวพาให้เป็น ฉากลึก ๆ มันมีอยู่นั้น มันก็ผลักดันออกมาน่ะซิ
การขบการฉันให้สำรวม ตาสำรวมในบาตร และเวลาฉันจังหันนี้ตาเหม่อมองไปที่ไหน ๆ นั่นความไม่มีสติ และเสียศักดิ์ศรีของผู้ฉันในบาตรเป็นอันมากทีเดียว นี้เราเคยเตือน มองดูแพล็บ ๆ มันขวางตานะ เพราะเราไม่เคยปฏิบัติอย่างนั้นมา ปตฺตสญฺญี ปิณฺฑปาตํ มันก็มีทั้งสองภาคไม่ใช่รึ ปตฺตสญฺญี ปิณฺฑปาตํ อันหนึ่งเป็นภาครับบิณฑบาตไม่ใช่รึ ปฏิคฺคเหสฺสามีติ สิกฺขา กรณียา คือรับบาตร ทำความสัญญาอยู่ในบาตรในขณะที่รับบาตรนั่น ปตฺตสญฺญี ปิณฺฑปาตํ ภุญฺชิสฺสามีติ สิกฺขา กรณียา เวลาฉันจังหันก็ให้ทำความสำคัญอยู่ในบาตร ตาก็มองอยู่นี้ อย่าไปเถ่อไปทางโน้นเถ่อไปทาง นี้ มองโน้นมองนี้
มองดูเห็นหมู่เพื่อนทำให้ขวางตาอยู่นี่ดูไม่ได้นะ ผมเห็นอยู่นี่ เราเคยทำความเข้าใจเจ้าของตั้งแต่วันฉันในบาตรมาแล้ว เราทำเอาจริงเอาจังนี่นะ ทำความเข้าใจกับเจ้าของ จะไปฉันเหม่อ ๆ มอง ๆ ดูนั้นดูนี้ ทั้งเคี้ยวทั้งกลืนหาสติสตังไม่ได้ โอ้ เสียศักดิ์ศรีของกรรมฐาน อย่างน้อยเป็นอย่างนั้น อย่างมากก็เหลว ความเลื่อนลอย ดูในนั้นในบาตร ปตฺตสญฺญี ทำความเข้าใจ ทำความสำคัญอยู่ในบาตร สำรวมอยู่ในบาตรนั่น ฉันก็อย่าให้ได้ยินเสียงจุ๊บ ๆ จิ๊บ ๆ ให้ระมัดระวังกิริยาอาการของการขบการฉัน ใน ๒๖ ข้อเสขิยวัตรท่านก็บอกไว้แล้ว ท่านสอนหมดการขบการฉันการขับการถ่าย โอ้โห สอนละเอียดลออมาก พระวินัยละเอียดมากทีเดียว ถ้าหากเราดำเนินตามพระวินัยแล้วจะมีที่ต้องติที่ไหนพระเรา มีแต่ความสวยงามทั้งนั้นแหละ ที่โลกเขาต้องติหรือเพื่อนฝูงได้ต้องติ แสลงหูแสลงตา เพราะความไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัยนั่นเองมันเลยไม่น่าดู อย่ามาทำให้เห็นนะ
พระมากไปนี่ มากไปมันเหลวไหล อืดอาดก็อืดอาด ดูไม่ได้มันขวางตา ทุกวันนี้ลูกตาก็จะแตกแล้วนะมองดู มันหากเป็นอยู่ในนั้นแหละไม่ทราบเป็นยังไง ยิ่งสับยิ่งปนกันมาใหม่ หน้าใหม่เรื่อย ๆ ยิ่งไปใหญ่นะ
เอาละเลิก