ศาสนธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศสอนไว้ นั่นคือทางดำเนินเพื่อความราบรื่นดีงาม ทั้งในความเป็นอยู่และอนาคตที่จะเป็นไปในกาลข้างหน้า จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้นสิ้นปัญหาโดยประการทั้งปวง นี่ท่านแสดงไว้โดยสมบูรณ์แล้ว ไม่มีข้อบกพร่องแม้แต่น้อย ในบรรดาศาสนธรรมที่ประกาศสอนโลกไว้นี้ เฉพาะผู้มีกฎเกณฑ์ ผู้มีหลักภายในจิตใจเกี่ยวกับทางด้านปฏิบัติจิตตภาวนา ด้วยความเข้มงวดกวดขันตัวเอง ผู้นี้คือผู้จะก้าวให้หลุดพ้นจากสิ่งที่เคยเป็นภัยต่อความเป็นมาของตนไปโดยลำดับ จนพ้นไปเสียโดยสิ้นเชิง
ในบรรดาโอวาทที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้นั้น เราทั้งหลายก็เรียน แต่ความจำได้โดยไม่มีผู้พาดำเนิน กับความมีครูมีอาจารย์ผู้พาดำเนินนั้น เป็นสิ่งที่ผิดแปลกกันอยู่มาก เพราะฉะนั้นท่านจึงมีไว้ทั้งปริยัติ คือการศึกษาเล่าเรียนวิธีการดำเนิน และการดำเนิน คือภาคปฏิบัติตามศาสนธรรมที่เราได้ศึกษาเล่าเรียนมา ผลก็แสดงออกเป็นปฏิเวธธรรม คือรู้ไปโดยลำดับลำดาจากภาคปฏิบัติของตนจนถึงขั้นรู้แจ้งแทงตลอด นี่ท่านแสดงไว้โดยสมบูรณ์
แม้เช่นนั้นก็ยังต้องอาศัยผู้พาดำเนิน เพราะเพียงจำได้วิธีการต่าง ๆ ที่ท่านประกาศสอนไว้ หรือมีในคัมภีร์ใบลานตามหนังสือต่าง ๆ ถ้าไม่มีผู้พาดำเนินก็ไม่ทราบจะหยิบยกเอาอันใดมาก้าวมาเดิน มาดำเนินมาปฏิบัติ นี่สิ่งที่ขัดข้องแก่ผู้ดำเนินขัดข้องอย่างนี้ เพราะหลักของธรรมแท้ที่พระพุทธเจ้าได้นำมาประกาศสอนโลกทั้งหลายนี้ ไม่ว่าธรรมขั้นใด ตั้งแต่ธรรมพื้น ๆ จนกระทั่งถึงธรรมอันสุดยอด เป็นธรรมที่เกิดจากภาคปฏิบัติของพระพุทธเจ้าล้วน ๆ ไม่ได้ทรงศึกษาสำเหนียกจากผู้หนึ่งผู้ใด หรืออาจารย์ใด ๆ เลย
เพราะฉะนั้นการที่ผู้ปฏิบัติตาม ที่จะให้เป็นไปตามความมุ่งหมายของตนโดยถ่ายเดียวนั้น จึงเป็นการลำบากเมื่อปราศจากครูอาจารย์ผู้พาดำเนิน ในครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าก็คือพระองค์เองเป็นผู้ประกาศธรรมสอนสาวก ตั้งแต่ปฐมสาวกมีเบญจวัคคีย์ทั้งห้าเป็นต้น จนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย ถึงปัจฉิมสาวกมีสุภัททะเป็นที่สุด ในคืนพระองค์จะปรินิพพาน ได้บรรลุธรรมเป็นปัจฉิมสาวกอรหันต์ขึ้นมา ล้วนแล้วแต่แสดงภาคปฏิบัติ วิธีปฏิบัติ และพาดำเนินด้วยพระองค์เองอีกด้วย
อันดับต่อมาก็คือพระสาวกที่ได้สดับจากพระพุทธเจ้าและดำเนินตามพระองค์ จนได้ผลเป็นที่พอใจแล้ว ก็เป็นครูเป็นอาจารย์ เป็นคติตัวอย่างพาดำเนิน ทั้งการแสดงวิธีการ ทั้งการพาดำเนิน เช่น พาเดินจงกรม พานั่งสมาธิภาวนาให้เห็น และแสดงธรรมวิธีการปฏิบัติจิตตภาวนาเป็นอย่างไร จนกระทั่งถึงธุดงค์ ๑๓ ข้อ นั่นล้วนแล้วแต่เป็นภาคปฏิบัติและมีผู้พาดำเนินมาด้วยแล้วทั้งนั้น เบื้องต้นก็พระพุทธเจ้าทรงพาดำเนิน ถัดมาก็คือพระสาวกทั้งหลาย
ธุดงค์ ๑๓ ข้อคืออะไร นั่นแหละคือแนวทางที่จะกำจัดปัดเป่าสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อธรรมทั้งหลายซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจของเรา ให้หมดสิ้นไปโดยลำดับ ด้วยการปฏิบัติต่อธรรมทั้งหลายเหล่านี้ เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหลายมีธุดงควัตรเป็นต้น จึงเป็นธรรมจำเป็นสำหรับเราทั้งหลายที่จะพึงปฏิบัติ เพื่อกำจัดสิ่งที่เป็นภัยต่อจิตใจให้หมดสิ้นไปโดยลำดับ ด้วยธุดงควัตรเหล่านี้ และยังต้องมีผู้พาดำเนินให้เห็นเป็นคติตัวอย่างมาเป็นลำดับลำดาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ เช่น บิณฑบาตเป็นวัตร เป็นกิจวัตรตามหน้าที่ของพระผู้ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน เสาะแสวงหามาด้วยกำลังปลีแข้งของตนมาเลี้ยงอัตภาพ เพื่อการประพฤติพรหมจรรย์ กำจัดกิเลสอาสวะทั้งหลายภายในจิตใจของตนไปโดยลำดับลำดา
การฉันก็ไม่ฉันพร่ำๆ เพรื่อๆ ไม่ได้เห็นแก่รสแก่ชาติ เห็นแก่ความเอร็ดอร่อย ฉันพอยังอัตภาพให้เป็นไปเท่านั้น ไม่หนักในรสในชาติยิ่งกว่าการหนักในธรรมทางด้านปฏิบัติโดยทางจิตใจ มีอะไรมาบริโภคขบฉันตามเกิดตามมี นอกจากนั้นยังต้องใช้ความระมัดระวัง ว่าอาหารชนิดใดที่จะเป็นภัยต่อจิตตภาวนาของตนอีกด้วย เพราะอาหารบางอย่างให้คุณทางธาตุขันธ์ แต่เป็นภัยทางด้านจิตใจ เราก็ต้องได้ระมัดระวัง เช่น ฉันลงไปแล้วธาตุขันธ์มีกำลังวังชา แต่จิตใจอ่อนแอลงไปก้าวไม่ออก
เพราะอำนาจของธาตุขันธ์ซึ่งเจือปนกับกิเลส อันเป็นเครื่องมือของกิเลสอยู่แล้ว มันทับถมให้ก้าวได้โดยไม่สะดวก นั้นเราก็จำต้องได้ระงับหรือได้งด หรือได้ลดให้น้อยลงไปโดยลำดับ แม้จะหิวจะอยากสักขนาดไหนก็ตาม นั่นไม่ใช่เรื่องของธรรม กลายเป็นเรื่องของตัณหาไปได้เมื่อกิเลสแทรกอยู่ตรงไหน ความอยากแม้จะอยากในอาหารก็ตาม กิเลสมักจะแทรกให้เป็นตัณหาไปได้เช่นเดียวกัน เพราะการฉันนี้มีสองประเภท ฉันด้วยอำนาจของตัณหาก็มี ฉันด้วยอำนาจแห่งความหิวของธาตุของขันธ์พอเยียวยาไป ประทัง ๆ ไปวันหนึ่ง ๆ ดังที่ ปฏิสงฺขา โยนิโสฯ ท่านแสดงไว้นั่นก็มี นี่ก็มีผู้พาฉัน พาดำเนิน ไม่ยังงั้นก็ไม่ทราบ
และฉันในบาตรฉันอย่างไร ทำไมจึงต้องฉันในบาตร โลกเขาฉันในภาชนะด้วยความสดสวยงดงาม ด้วยความหรูหรา ด้วยความสง่าผ่าเผย ด้วยความมีเกียรติยศชื่อเสียงด้วยการรับประทาน เช่น อาหารสำรับหนึ่งหรือโต๊ะหนึ่งราคาเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ เขารับประทานกัน นั่นเรื่องของโลกเป็นเช่นนั้น แต่เรื่องของธรรมต้องแปลกจากโลก การฉันในบาตรเพื่อการระคนปนเป ลบล้างสิ่งที่กิเลสเคยเสกสรรปั้นยอว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าออกเสียหมด รสชาติอันใดก็ตามอันเป็นเรื่องของกิเลสยุยง ปัดทิ้งให้หมด เหลือแต่รสชาติแห่งธรรม คือฉันเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปนี้เท่านั้น ไม่ได้สนใจกับเรื่องความเอร็ดอร่อยอะไรมากยิ่งกว่าธรรม
การฉันอาหารผสมกันนี้เพื่อตัดความนิยมของรสของชาติ ความสำคัญว่ามีคุณค่ามีราคาในรสในชาติทั้งหลายออก เพื่อจะไม่ให้ธาตุขันธ์พอกพูนด้วยอาหารการบริโภคมากไป ที่เรียกว่าฉันเกินประมาณ นี่ก็มีส่วนด้วย ฉันด้วยความสักแต่ว่าฉันพอยังชีวิตอัตภาพให้เป็นไปในวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น เป็นหลักใหญ่ของการฉันในผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ท่านจึงมีหลายประเภท บอกไว้ว่าชั้นเยี่ยมก็คือ อาหาร ไม่ว่าคาวว่าหวานระคนปนเปเข้าเป็นอันเดียวกันหมด นั่น นี่เป็นอาหารประเภทที่หนึ่งของผู้ปฏิบัติ ประเภทที่สอง ก็วางไว้ในบาตร มีหวานมีคาวอยู่คนละแห่ง ที่สามไป อาจจะมีอะไรกั้นไว้ เช่น อาหารนั้นกั้นอาหารไว้ก็ได้ เช่น มีกล้วยหรือมีผักมีอะไรกั้นไว้อย่างนี้ก็มี เหล่านี้ก็มีครูมีอาจารย์พาดำเนิน
ผู้นำจึงเป็นของสำคัญมากทีเดียว ทางภาคปฏิบัติยิ่งสำคัญ ฉันก็ฉันหนเดียวไม่ต้องยุ่งยากวุ่นวาย และฉันในบาตร ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จะตัดอำนาจของความยินดีในอาหารการบริโภค เพื่อให้ใจได้เข้าสู่ธรรม หมุนเข้าสู่ธรรมเป็นสำคัญ ฉันหนเดียวเท่านั้นไม่ยุ่งยากวุ่นวาย นี่หลักใหญ่ในครั้งพุทธกาลท่านฉันมื้อเดียวเท่านั้น ที่อนุโลมก็คือ เช่น ข้าวต้ม ท่านว่ายาคู ๆ คือข้าวต้ม ดื่มน้ำข้าวต้ม ไม่ใช่เป็นข้าวต้มทั้งเนื้อยังงั้น น้ำข้าวต้มเฉย ๆ ก่อนบิณฑบาต มีได้ในครั้งพุทธกาล ในตำรับตำรามี ถ้ามีคนทำถวาย
แต่ส่วนมากสำหรับความรู้สึกของเราเองนี้ คิดว่าเป็นผู้ที่ท่านปลดเปลื้องภาระอะไรหมดสิ้นไปแล้วภายในจิตใจโดยประการทั้งปวง เพียงแต่เยียวยาธาตุขันธ์ให้เป็นไปในวันหนึ่งๆ เพื่อทำประโยชน์แก่โลกเท่านั้น จึงจะมาสนใจกับเรื่องข้าวต้มอะไรเหล่านี้ ถ้าผู้ปฏิบัติแล้วจะไม่สนใจเลย วุ่นวายเปล่า ๆ
สำหรับความรู้สึกของเราในเวลาปฏิบัติก็ดี ในทุกวันนี้ก็ดี สิ่งที่จะมาทำก่อนเวล่ำเวลา เช่น เอาข้าวต้มมาให้ฉัน เอานี้มาให้ฉันก่อนเวลาหรือก่อนบิณฑบาตนี้ เราไม่เล่นด้วยตั้งแต่กาลไหน ๆ มา เพราะถือว่าเป็นความรำคาญ และขัดต่อการดำเนินของผู้ที่ต้องการเพื่อความพ้นทุกข์โดยเด็ดขาดเท่านั้นประจำใจ เมื่อความรู้สึกขนาดนี้ที่มีน้ำหนักมากภายในหัวใจเต็มหัวใจอยู่แล้ว เกินกว่าที่เราจะไปคิดในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ให้มาเป็นเครื่องยุ่งเหยิงวุ่นวาย ท่านจึงไม่ยอม นี่ความรู้สึกของเราแน่ใจว่าเป็นอย่างนั้น เพียงแต่เราตัวเท่าหนูนี้ก็ยังเป็น ไม่ยุ่งกับอะไรจนกระทั่งเป็นนิสัยติดมาถึงทุกวันนี้
เรื่องธุดงค์แต่ละข้อ ๆ ที่กล่าวมาเป็นสิ่งสำคัญมาก ช่วยบังคับจิตใจ ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม หรือความฟุ้งเฟ้อเห่อคะนองในปัจจัยทั้งหลายให้ลดน้อยถอยลงมาโดยลำดับ เพราะอำนาจแห่งธุดงควัตร หรือธรรมธุดงค์เป็นเครื่องกำจัด
ถือผ้าบังสุกุลอย่างพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ท่านถือตลอดชีวิตเลยตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ใครจะถือได้อย่างท่าน คิดดูซิทำไมท่านรักท่านสงวนเอานักหนา ทั้ง ๆ ที่ท่านก็สิ้นกิเลสมาตั้งแต่ปีไหน ๆ แล้วดังที่เขียนไว้แล้วในประวัติของท่าน ท่านยิ่งรักท่านยิ่งสงวน เทิดทูนสมบัติที่พระพุทธเจ้าประทานให้เป็นไหน ๆ ทีเดียว นั่นไม่ใช่ท่านสงวนไว้เพื่อชำระกิเลสของท่าน แต่ท่านสงวนไว้ด้วยความเทิดทูน ด้วยความเห็นบุญเห็นคุณมหาคุณในพระโอวาท หรือขนบประเพณีของพระพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์ทั้งหลายที่พาดำเนินมา ท่านจึงเทิดทูนไว้ด้วยธุดงควัตรเหล่านี้ไม่ลดละปล่อยวางเลย เช่น บังสุกุลนี้ มีแต่บังสุกุลทั้งนั้น
ได้เห็นท่านใช้ผ้าที่มีผู้ถวาย มีท่านเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ของท่านมาแต่ก่อน ไปถวายผ้าอังสะซึ่งเป็นผ้าป่านที่ท่านได้กรอเอง และกราบเรียนให้ท่านทราบด้วยว่า เป็นฝีมือของท่านกรอเอง ปั่นป่านนั่นเอง ให้เขาทอให้ว่ายังงั้น ท่านรับใช้ให้ให้เห็นต่อหน้าต่อตา มีเท่านั้น ตั้งแต่ไปอยู่กับท่านมา นี่ตอนที่แก่ ๆ แล้วนะ ไม่ยังงั้นท่านก็ยังไม่ยอม นี่คิดดูซิ เราเคยเห็นไหมครูบาอาจารย์องค์ไหนที่ทำแบบฉบับโดยสมบูรณ์ดังหลวงปู่มั่นหรือพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นนี้ เรานี้เทิดทูนท่านสุดหัวใจทีเดียว เพราะเห็นด้วยตา
ท่านรักธุดงควัตรเพราะเห็นคุณค่าจากธุดงค์ ท่านได้หลุดพ้นไปนี้จากธุดงควัตร อยู่ในป่าท่านก็ได้รับความลำบากลำบนและฆ่ากิเลสให้ตายในป่า ท่านก็เห็นคุณค่าของการอยู่ป่า ฉันจังหันไม่รู้กี่วันถึงจะได้มีกับวันหนึ่ง ท่านก็พอใจฉัน ฉันแล้วตัวปลิวเวลาเดินจงกรมท่านว่า เพราะไม่มีอาหารมีแต่ข้าวจะไปอิ่มยังไง อิ่มข้าวเปล่า ๆ กับอิ่มด้วยอาหารผสมกันนี้ต่างกันอยู่มาก ผมก็เคยอิ่ม อิ่มข้าวเปล่า ๆ กับอิ่มด้วยมีกับผิดกันอยู่มากทีเดียว นี่เราก็ยอมรับท่าน นี่นะธุดงควัตรไปโดยลำดับลำดาจนกระทั่ง ถึงเนสัชชิธุดงค์ ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องชำระกิเลสอันเป็นข้าศึกต่อธรรมทั้งนั้น
นี่คือทางดำเนินของผู้ที่จะหลุดพ้น ด้วยเจตนาหวังหลุดพ้นจริง ๆ และยึดธุดงควัตรเป็นชีวิตจิตใจ เป็นทางดำเนินจริง ๆ จึงไม่เห็นธุดงค์นั้นว่าเป็นของครึเป็นของล้าสมัย ดังสมัยที่กิเลสมันพอกหัวใจคนให้ลืมตัว หัวใจพระให้ลืมตัวเท่านั้น จึงจะพูดอย่างนั้นออกมาได้ และมีความรู้สึกอย่างนั้นได้ ถ้าหากเป็นคนเป็นพระที่ยังรู้จักดีจักชั่ว รู้จักความเป็นพระของตนอยู่แล้ว จะตำหนิธุดงค์เหล่านี้ไม่ได้เลย เพราะพระพุทธเจ้าพระองค์ใดท่านสอน ท่านสอนเพื่อแก้กิเลสทั้งนั้น ไม่ได้สอนเพื่อผูกมัดจิตใจของสัตว์ด้วยกิเลสประเภทต่าง ๆ โดยการสั่งสมเพราะโอวาทของท่าน..ไม่มี
ธุดงควัตรนี้พระสาวกทั้งหลายก็ได้สำเร็จขึ้นมาเพราะธุดงค์นี้ทั้งนั้น มีองค์ใดที่ไปหาสำเร็จอยู่ในตลาด อย่างสมัยทุกวันนี้เขาว่า เทศบาล ๑ เทศบาล ๒ มีที่ไหน มีแต่สำเร็จอยู่ในป่าในเขา นี้เป็นธุดงควัตรหรือไม่ฟังซิ ท่านดำเนินตามธุดงค์หรือไม่ ในป่าโน้น เขาลูกนี้ ถ้ำนั้น เงื้อมผานี้ ด้วยการฉันหนเดียวหรืออดบ้างอิ่มบ้าง เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ธุดงค์เป็นเครื่องกำกับท่านทั้งนั้น นั่นเราดูซิ
การพิจารณาการภาวนาของผู้มีธุดงค์กำกับ ย่อมเป็นไปด้วยความราบรื่นดีงาม จิตใจก็ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เป็นไปด้วยความสงบง่ายกว่าคนที่ไม่มีธุดงควัตร เพราะฉะนั้นธุดงควัตรจึงสมกับนามที่ท่านแปลไว้ว่า เป็นเครื่องชำระกิเลส ธุดงควัตร ๆ เป็นเครื่องชำระกิเลส กิเลสที่เกี่ยวกับธุดงค์จะต้องชำระนี้มีอะไรบ้าง มันเต็มหัวใจของเราด้วยกันทุกคนนั่นแหละ ธรรมะที่จะแก้ด้วยอำนาจของธุดงควัตรจึงต้องมีด้วยกัน
แบบแผนเหล่านี้ต้องมีครูมีอาจารย์พาดำเนิน เช่น อยู่รุกขมูลร่มไม้ อยู่รุกขมูลร่มไม้กับอยู่ที่มุงที่บังต่างกัน นี่ก็เคยอยู่ เพราะเป็นความเปลี่ยว เมื่อเปลี่ยวแล้วจิตย่อมกลัว เพราะเป็นภัยง่ายกว่าอยู่ในที่มุงที่บังถ้าพูดถึงความเป็นภัย ใจต้องระมัดระวัง ใจมีความระแวงอยู่ตลอดเวลาในเวลาที่อยู่รุกขมูล คืออยู่โคนต้นไม้เท่านั้น ทีนี้เมื่อใจมีความระเวียงระวังอยู่ สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมย่อมมีสติ สติย่อมเกิดขึ้นในขณะที่ระเวียงระวัง จึงยืนก็ตาม เดินก็ตาม นั่งก็ตาม นอนก็ตาม จนกระทั่งหลับ จะไม่ปราศจากสติ เพราะกลัวเผลอตัวแล้วเสียท่าหากเกิดอันตรายอย่างไรขึ้นมา นี่ธุดงควัตรข้อนี้มีความจำเป็นอย่างไรกับจิตใจของพวกเราทั้งหลาย ฟังให้ดีนะ
ไปอยู่ในสถานที่เปลี่ยวเท่าไร ยิ่งทำให้มีความตั้งเนื้อตั้งตัว ช่วยตัวเองเข้าโดยลำดับ ไม่ได้นอนใจเหมือนอยู่กับเพื่อนกับฝูงครูบาอาจารย์ เกลื่อนกล่นวุ่นวาย เต็มไปด้วยสิ่งที่พอกพูนกิเลสทั้งหลายดังที่เราทั้งหลายอยู่กันเวลานี้ นี่อย่าเข้าใจว่าการอยู่เหล่านี้เป็นสิ่งที่เหมาะสมดีแล้ว ดังที่โลกเขานิยมชมเชยว่าวัดป่าบ้านตาดนี้ เป็นสำนักที่มีกฎมีเกณฑ์ มีข้อปฏิบัติมีข้อวัตรอันดีงาม สงบเสงี่ยมเจียมตัว มองดูพระเณรองค์ใดก็สวยงาม สวยงามจริงในสิ่งที่สวยงาม แต่สิ่งที่ไม่สวยงามซึ่งตัวเราเองก็ยังมองไม่เห็น อย่าว่าแต่คนอื่นมองไม่เห็นเลย นั้นยังมีอยู่แยะภายในหัวใจของเรา ที่ยังไม่ได้ชำระด้วยธุดงค์ดังกล่าวมาเหล่านี้ มีอยู่มากมายในหัวใจนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายได้สำนึกเอาไว้ในข้อนี้
เข้าในป่าในเขาลึกเข้าไปเท่าไร น่ากลัวอันตรายเท่าไร จิตของเรายิ่งเด่น ๆ เพราะความระมัดระวังตนมีมาก สติก็มีมาก เมื่อสติมีแล้วปัญญาทำไมจะไม่เกิด ขอให้มีสติเป็นพื้นฐานเถอะ ปัญญาจะเกิดขึ้นโดยลำดับลำดานั่นแล นี่ก็เป็นธุดงค์นั้นแลเป็นเครื่องชำระจิตใจของเราโดยลำดับลำดา
เนสัชชิ ที่ไม่นอนก็เพื่ออะไร ไม่นอนก็เพื่อจะทำความเพียร อยู่อิริยาบถ ๓ ยืน เดิน นั่งภาวนา เวลาจำเป็นเข้าจริง ๆ เพราะไม่ได้นอน มันก็ต้องค้นคว้าด้วยความตั้งอกตั้งใจ นี่จึงต้องว่ามีครูบาอาจารย์เป็นผู้คอยพาดำเนิน ไม่เช่นนั้นก็ปฏิบัติไม่ถูก แล้วครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ค่อยร่วงโรยไป ๆ สุดท้ายภายหลังมีแต่ลูกศิษย์ลูกหาเก้ง ๆ ก้าง ๆ เลยมีลักษณะเป็นขายก่อนซื้อ ๆ ไปมากโดยลำดับลำดา นี่จะทำความเสื่อมเสียแก่ตนและวงธุดงคกรรมฐานไปโดยลำดับนะ ให้พากันคิดไว้ในข้อเหล่านี้
อย่างไรก็ตามในเวลาเช่นนี้ ที่เราปฏิบัติอยู่นี้ อย่าสนใจกับสิ่งใดผู้ใดมากกว่าการประกอบความพากเพียรเพื่อชำระกิเลสภายในจิตใจ ให้จิตใจของเราเด่นขึ้นด้วยสมาธิ เด่นขึ้นด้วยปัญญา ตามขั้นแห่งสมาธิและปัญญาขั้นนั้น ๆ แล้วจะได้เห็นคำที่ท่านสอนไว้อันเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งมาก สำหรับผู้ไม่ปฏิบัติจะไม่มีวันรู้วันเห็นเลย คืออะไร คือภาวนามยปัญญา นี่เป็นหลักที่ลึกซึ้งมาก ละเอียดมากที่สุด เพียงเราจะมาคิดมาคาดเอาเฉย ๆ จะไม่ได้เหตุได้ผลไม่ได้เรื่องได้ราว ส่วนสุตมยปัญญาเราพอที่จะคาดคะเนเอาได้ คือได้เกิดสติปัญญาระลึกรู้สึกขึ้นมาในขณะที่ได้ยินได้ฟัง จะเป็นผู้ใดพูดหรือเสียงมาจากที่ไหนก็ตาม เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วเกิดสติปัญญาขึ้นมา นั้นท่านเรียกว่าสุตมยปัญญา จินตามยปัญญา คิดอ่านไตร่ตรองเรื่องราวทั้งหลายก็เกิดสติปัญญาขึ้นมา
แต่คำว่าภาวนามยปัญญานั้น ดีไม่ดีในวงศาสนาของเรานี่แล ผู้เรียนศาสนาเรียนธรรมะของพระพุทธเจ้าอยู่นี้แล จะไม่ยอมเชื่อภาวนามยปัญญาว่าเป็นของเกิดได้มีได้อย่างไร เพราะตนไม่เคยได้ภาวนาจนถึงเกิดผล คือภาวนามยปัญญาประจักษ์กับใจ ก็ไม่ทราบว่าจะเอาความเชื่อธรรมข้อนี้มาจากไหน นอกจากจะประกาศไปด้วยความไม่เชื่อของตน ว่าเป็นของไม่จริงไปเท่านั้น หรือไม่สนใจเพราะความไม่เชื่อ แม้จะไม่ประกาศให้ผู้ใดฟังก็ตามว่าอันนี้เป็นโมฆะ หรือนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้ อย่างนี้แล้วก็ไม่มีความสนใจที่จะทำภาวนาให้เห็นธรรมข้อนี้เกิดขึ้นประจักษ์ใจ นี่เป็นสิ่งที่ลึกลับมาก มีผู้ปฏิบัติเพื่อความตั้งอกตั้งใจ เพื่อความพ้นทุกข์จริง ๆ เท่านั้น จะปรากฏปัญญาที่เกิดขึ้นจากที่ว่าภาวนามยปัญญานี่ขึ้นที่ใจ
เพราะภาวนามยปัญญานี้ไม่เหมือนปัญญาใดทั้งนั้น ไม่เหมือนสุตมยปัญญา ไม่เหมือนจินตามยปัญญา เป็นหลักธรรมชาติ เป็นใหญ่ในตัวเองด้วยคำว่าภาวนามยปัญญานี้เท่านั้น นี่จึงเป็นปัญญาที่เกิดขึ้นจากภาวนาโดยแท้ หรือจึงเป็นภาวนามยปัญญาโดยแท้ เมื่อได้เจอเข้าเห็นเข้าแล้วก็จะรู้เอง ยอมรับเอง
และจะเริ่มยอมรับไปโดยลำดับลำดา เพราะเชื่อความสามารถของสติปัญญาที่เกิดขึ้นโดยลำดับลำดานี้ และในขณะที่สติปัญญานี้เกิดในลำดับลำดา มีความแก่กล้าไปโดยลำดับ และสังหารกิเลสไปพร้อม ๆ กันในระยะนั้น ๆ นี่ยิ่งจะเห็นความชัดเจน ความเชื่อในศาสนา เชื่อในพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย ว่าท่านดำเนินไปสด ๆ ร้อน ๆ ด้วยวิธีการปราบกิเลสอย่างนี้แล ๆ นั่น นี่ละเป็นภาวนามยปัญญาโดยแท้ ใครจะไปสอนก็ไม่ได้ขั้นนี้ เป็นตัวของตัวเองขึ้นมาด้วยอำนาจแห่งการอบรมอยู่เสมอ เริ่มแรกตั้งแต่สมาธิเป็นเครื่องหนุน หรือสมาธิเป็นกำลังเป็นพื้นฐานที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้นได้ แล้วคิดค้นด้วยปัญญา
เริ่มแรกตั้งแต่พิจารณาอาการใดก็ตาม ในสกลกายของเรา หรือนอกสกลกายเรา เพราะเป็นสัจธรรมด้วยกันทั้งนั้น ถ้าพิจารณาให้เป็นธรรมโดยทางสติปัญญาแล้วเป็นธรรมด้วยกัน นับตั้งแต่ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เอ้า เข้าไปถึงอวัยวะภายในทุกชิ้นทุกส่วน มันเป็นยังไง นี่เรียกว่าเริ่มปัญญา พิจารณาปัญญาเข้าถึงภายใน ขยายออกมาภายนอก ตลอดทั่วถึงด้วยการพินิจพิจารณาแยบคาย ให้รู้ให้เห็นตามจริงที่มีอยู่ในสกลกายทั้งภายนอกภายในนี้
จิตที่มีสมาธิเป็นเครื่องหนุนหรือมีสมาธิเป็นต้นทุน ย่อมไม่หิวโหยในอารมณ์ต่าง ๆ เพราะอิ่มตัว เมื่อนำจิตที่อิ่มตัวด้วยสมาธินี้ออกพิจารณาทางด้านปัญญา โดยมีการบังคับกันทางสติ ให้ตั้งหน้าตั้งตาทำ เพราะในขั้นเริ่มแรกจิตยังไม่เห็นคุณค่าของปัญญาว่าจะสามารถอย่างไรบ้าง ทั้งยังไม่รู้ว่าปัญญาคืออะไร และการฆ่ากิเลสด้วยปัญญานั้นฆ่าอย่างไร ไม่เห็นคุณค่าทั้งสองอย่าง จึงต้องได้ถูกบังคับกัน
ต่อเมื่อได้ถูกบังคับกันไปเรื่อย ๆ จิตก็ย่อมจะรู้จะเห็นโดยทางปัญญา และเริ่มรู้ไปเรื่อย ๆ นั่นแหละที่นี่จะเริ่มสนใจว่าปัญญานี้เกิดขึ้นมาเพื่ออะไร เกิดขึ้นมาเพื่อฆ่ากิเลส สังหารกิเลส ซึ่งอยู่ในฉากเดียวกันคือจิตใจดวงเดียวกันนี้ แน่ะ เริ่มทราบชัดไปโดยลำดับ นี่ที่เรียกว่าปัญญาเริ่มคิดเริ่มไหวตัวเริ่มเกิด พอเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ผลปรากฏขึ้นเรื่อย ๆ เหตุคือปัญญาก็เกิดขึ้นเรื่อย ค้นคิดสิ่งที่เป็นข้าศึกให้เห็นให้เจอขึ้นมาเรื่อย ๆ สังหารกันไป
เมื่อปัญญาเริ่มไหวตัวกิเลสก็เริ่มวุ่นวาย นี่ละภาวนามยปัญญาเริ่มไหวตัวตั้งแต่ขั้นนี้ไปเรื่อย ๆ ไปเลย จนมีความเชื่อมีความมั่นใจในปัญญาที่จะฆ่ากิเลสทุกประเภท ตั้งแต่กิเลสประเภทหยาบถึงประเภทละเอียดสุด ด้วยปัญญาตั้งแต่ประเภทนี้ขึ้นไปโดยลำดับนั่นแหละ ที่นี่ปัญญาจะไหวตัวจนลืมตัว คือลืมพักผ่อน ท่านก็บอกไว้แต่ผู้ปฏิบัติมักจะลืม เพราะสิ่งที่เป็นอยู่ภายในจิตของตนนั้น เป็นไปด้วยความสด ๆ ร้อน ๆ
ส่วนปริยัติท่านบอกไว้ว่า จิตที่ควรพักผ่อน จิตเวลาพิจารณามาก ๆ ย่อมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ให้เข้าพักจิตในสมาธิภาวนาเสีย ท่านว่าอย่างนี้มีในปริยัติ ท่านบอกไว้ เมื่อมีกำลังแล้วจึงออกสู่แนวรบ คือพิจารณาทางด้านปัญญาอีกต่อไป นี่เป็นความที่เหมาะสมพอดีพองาม แต่จิตมักจะเห็นความสด ๆ ร้อน ๆ ในการฆ่ากิเลสของตนนั้น เป็นงานอันสำคัญยิ่งกว่าการจะพักผ่อนเสีย เพราะฉะนั้นจิตจึงมักจะเตลิดเปิดเปิงถึงกับได้รับความทุกข์มากเป็นบางเวลา เพราะงานของจิตไม่หยุดก็มี นี่แหละท่านเรียกว่าภาวนามยปัญญา
จะไม่เจอที่ไหน จะไม่มีอะไรเหมือนปัญญาประเภทนี้ที่เกิดขึ้นกับการภาวนา กับนักภาวนาทั้งหลาย และปัญญาเหล่านี้แลจะเป็นเครื่องสังหารกิเลสทุกประเภทภายในจิตใจ ไม่มีปัญญาใดจะสามารถ เป็นปัญญานี้เท่านั้นที่จะสามารถสังหารได้โดยลำดับลำดา จนกระทั่งไม่มีกิเลสเหลืออยู่ภายในจิตใจเลย นั้นแลคำว่าภาวนามยปัญญานี้ถึงจะยุติตัวลงไปโดยหลักธรรมชาติของตนเองไม่สงสัย
เพราะฉะนั้นผู้สิ้นกิเลสส่วนมากจึงต้องสิ้นด้วยจิตตภาวนาหรือภาวนามยปัญญา เว้นท่านผู้ที่เป็น ขิปปาภิญญา เสีย ซึ่งก็เป็นภาวนามยปัญญาเหมือนกัน แต่รวดเร็วและหลุดพ้นได้อย่างง่ายดาย ไม่ได้สั่งสมตัวให้ก้าวเดินไปเป็นลำดับลำดาเหมือนผู้ดำเนินธรรมดาทั้งหลาย เรียกว่าผู้ ทันธาภิญญา คือผู้รู้ช้า และเดินอย่างเต็มภูมิเต็มสติกำลังของตัวเองทุกระยะทุกวรรคทุกตอน เห็นไปหมดรู้ไปหมด เรียกว่าเรียงลำดับลำดากันไปได้ในสายทางที่จิตก้าวเดินไป แต่จิตที่เป็น ขิปปาภิญญา นั้น แม้จะเป็น ภาวนามยปัญญาก็รวดเร็ว ถ้าเราจะว่าเอามาเรียงอย่างนี้ไม่ได้ก็ถูก ทั้ง ๆ ที่ท่านก็ไปตามแถวนี้แล หากไปเพราะความรวดเร็วของจิต ต่างกันอย่างนี้
ธรรมที่กล่าวมาเหล่านี้อยู่ที่ไหนเวลานี้ เราเห็นแต่อยู่ในคัมภีร์เพราะเราไม่สนใจนำมาใช้นำมาดำเนิน จึงไม่ปรากฏขึ้นที่ใจของเรา ดังที่ปรากฏในใจของสาวกทั้งหลายท่านผู้เป็นสรณะของพวกเรา ธรรมะที่กล่าวมาเหล่านี้สด ๆ ร้อน ๆ อยู่ภายในจิตใจ เช่นเดียวกับกิเลสที่เป็นธรรมชาติสด ๆ ร้อน ๆ อยู่ภายในหัวใจสัตว์นั้นแลไม่มีอะไรแปลกต่างกัน วาระใดที่สิ่งใดทำงาน สิ่งนั้นต้องทำงานได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยของตัวเองเมื่อไม่มีสิ่งที่คัดค้านต้านทานกัน
ในระยะนี้กิเลสมันต้านทานธรรม มันจึงก้าวเดินออกด้วยความสะดวกสบายทุกแง่ทุกมุม ทุกระยะของจิตที่เคลื่อนไหว เราไม่มีสติปัญญาต้านทานมันเราจึงยอมแพ้ ความแพ้กิเลสเป็นของดีเมื่อไร แม้แต่เขาเล่นกีฬาแพ้กันเขายังเป็นความทุกข์ไม่ใช่น้อย นี่การต่อสู้กับกิเลสมีแต่ความแพ้ ๆ เราไม่อายตัวเองบ้างเหรอผู้ปฏิบัติทั้งหลาย
การภาวนาต้องพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงหาอุบายต่าง ๆ สอนจิตใจของตน เพียงสักแต่ว่าทำไปตามหน้าที่อะไร ๆ ขนบประเพณีเฉย ๆ มันก็เป็นเรื่องของกิเลสกะให้นั่นเอง กำหนดให้เดิน กำหนดให้ทำความเพียรนั่นเอง ไม่ใช่ธรรมกำหนดให้ทำ ถ้าเป็นธรรมกำหนดให้ทำแล้ว สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา นั่นแหละ คือสติจำต้องปรารถนาในที่ทั้งปวง นั่นคือความเพียรตลอดกาล ผู้ปฏิบัติต้องเป็นอย่างนั้น
จิตไม่เคยมีความสงบเลยเราจะหาสาระอะไรจากคำว่าธรรม ๆ ของพระพุทธเจ้า เพราะจิตไม่เคยรู้ไม่เคยสัมผัส คำว่าสมาธิจิตก็ไม่เคยสัมผัส ไม่เคยรู้ไม่เคยเป็น เอาความสุขจากอะไร อยู่ไปวันหนึ่งคืนหนึ่งก็มีแต่มืดกับแจ้งดังที่เห็นกันนี้วิเศษวิโสอะไร หลับตื่นขึ้นมาแต่ละวัน ๆ เราเจออะไรทุกวันนี้ เจอแต่ของที่เคยเจอแล้วทั้งนั้น ไม่เห็นมีของใหม่ที่ไหนพอจะตื่นเต้นเพลินไปกับมัน นี้ก็มีแต่อุ่นของเก่ามากินกันตลอด กินสิ่งเป็นเดน คืออารมณ์ทั้งหลายที่เป็นเดน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ของเก่านี้แหละ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส หรือธรรมารมณ์ทั้งหลายก็ของเก่า ไม่มีอะไรเป็นของใหม่ แต่มันใหม่สำหรับคนที่โง่เขลาเบาปัญญา ไม่มีสติปัญญาพินิจพิจารณาอย่างพวกเรานี่แล ก็ต้องหลงกันอยู่เช่นนี้ ไม่มีอะไรเห็นว่าเป็นของเก่า มีแต่ใหม่เรื่อย ๆ โดนอยู่เรื่อยตลอด และไม่มีวันเข็ด
ถ้าสติปัญญาได้เกิดขึ้นบ้างทำไมจะไม่เข็ด ก็สิ่งเหล่านี้เคยโดนมาเท่าไรแล้ว จิตดวงนี้เคยโดนทุกข์มาเท่าไร เคยถูกบีบคั้นมาเท่าไร ประมวลเข้ามาในวงปัจจุบันในระหว่างสติปัญญาต่อสู้กับกิเลสอยู่นั้น มันก็เห็นกันอย่างชัดเจนหาความสงสัยไม่ได้ นั้นละจิตที่มีกำลังมีกำลังตรงนั้นแหละ เห็นทุกข์ก็เห็นจริง ๆ เห็นภายในจิตใจ สิ่งที่ก่อทุกข์ก็เกิดขึ้นกับจิตใจนั้นแหละไม่เกิดขึ้นที่ไหน
ท่านว่าสมุทัย ๆ คืออะไร กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา แน่ะ มันคิดแต่เรื่องเหล่านี้แหละ นี้ละท่านว่าสมุทัย เสยฺยถีทํ ๆ คืออะไร หลักใหญ่ก็คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา และที่มันเป็นอยู่ในปัจจุบันจริง ๆ ในหัวใจของเราตลอดเวลาก็คือ กามตัณหา ราคะตัณหา นี่ละสำคัญมากทีเดียว ไม่มีคำว่าเข็ดว่าหลาบ ไม่มีคำว่าของเก่า ไม่มีคำว่าเป็นเดนไปแล้ว ใหม่เอี่ยมตลอด เจอเมื่อไรเป็นติด ได้ยินเมื่อไรเป็นติด สัมผัสเมื่อไรเป็นติด ไม่มีวันจืดจาง นี่จึงว่าเป็นรสที่สำคัญมากของวัฏจักร
รสของวัฏจักรมันกล่อมได้สนิทจริง ๆ ถ้าไม่มีธรรมเข้าไปเหยียบย่ำทำลาย ไม่มีธรรมเข้าไปแยกธาตุกัน จะไม่มีวันแยกตัวออกได้จากสิ่งเหล่านี้เลย กี่กัปกี่กัลป์ก็อยู่นั้นแหละ หาประมาณไม่ได้ หาเวล่ำเวลาไม่ได้ มีเงื่อนต้นเงื่อนปลายที่ไหน ถ้าไม่เอาสติธรรม ปัญญาธรรม เข้าไปพิสูจน์กันด้วยความพากเพียรของเราแล้ว จะไม่เห็นต้นเห็นปลายของสิ่งเหล่านี้ว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไร และกล่อมหัวใจเราอยู่นานสักเท่าไรแล้ว และมีวันไหนปรากฏยิบแย็บเหมือนแสงหิ่งห้อยว่าอิ่มตัวพอตัวแล้ว หรือเข็ดแล้วมีไหม มันไม่มี ถ้าไม่เอาสติปัญญาเข้าไปจับ
เริ่มตั้งแต่จิตพอสงบตัวเข้าไปเป็นสมาธินี้แหละจะพอทรงตัวได้บ้าง ไม่กวัดแกว่งจนเกินเนื้อเกินตัว จนลืมเนื้อลืมตัว ธรรมดาของจิตที่ไม่มีสมาธิเลยนี้ ย่อมกวัดแกว่งตัวเองตลอดเวลา เผาผลาญตัวเองอยู่นั้นแหละทั้งวันทั้งคืน ส่วนมากมักจะคิดแต่เรื่องเหล่านี้แหละ เรื่องราคะตัณหา เพราะอันนี้รุนแรงมาก ในโลกนี้จมเพราะอันนี้ไม่ใช่อะไรนะ
เราจะเห็นได้ในจิตของขั้นพระอนาคามีที่สิ้นจากนี้ไปแล้ว มันก็เหมือนบ้านร้างละนี่ เพราะฉะนั้นพระอนาคามีท่านจึงไม่กลับมาเกิดอีกเพราะไม่มีอะไรรุนแรง อันนี้รุนแรงมากที่สุด ดึงดูดมากที่สุด ถ้ากล่อมก็กล่อมได้สนิทติดหัวใจไม่มีวันที่จะเห็นโทษเห็นภัย เฒ่าแก่จนจะตายก็ตายแต่ธาตุแต่ขันธ์ แต่ตัวกิเลสตัวนั้นมันไม่ยอมอ่อนตัวของมันลงไปเลย ถ้าไม่ฆ่ามันด้วยสติปัญญาดังที่กล่าวมาแล้วนี้ นี่แหละเครื่องกล่อมใจสัตวโลก
ถ้าได้สมาธิพอสงบตัวแล้วก็พอจะยับยั้งได้บ้างละที่นี่ จากนั้นก็คลี่คลายทางด้านปัญญา เอ้า มีทุนแล้ว ถ้าลงมีความสงบเย็นใจได้แล้วนั้นละมีทุนละที่นี่ เอ้า ทุกข์ก็ทุกข์ด้วยการพินิจพิจารณา เราทุกข์ด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา ให้มันพาฉุดพาลากไปนี้ทุกข์มากยิ่งกว่านี้ เราทุกข์เพราะการบังคับจิตใจให้พิจารณาทางด้านปัญญานี้จะทุกข์ขนาดไหน เมื่อมีความสงบเย็นใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว นี่ละจำให้ดีตรงนี้
เอาให้ได้ให้สงบ ถ้าไม่สงบแล้วจะไม่เห็นโทษของธรรมชาติที่ว่านี้ จนกระทั่งกัปใดกัลป์ใดก็ตามเถอะไม่มีความหมายทั้งนั้นละ หัวใจดวงนี้จะต้องถูกถีบถูกเตะถูกยันอยู่ตลอด เผาอยู่ตลอด ด้วยกิเลสตัณหาอันนี้แหละ พาให้สัตวโลกเวียนว่ายตายเกิด จะตายเกิดที่ไหน ก็จิตนี้แหละมันกลิ้งไปกลิ้งมาเหมือนฟุตบอลนั่นละ
พออันนี้ผ่านไปแล้วได้เท่านั้นละ จิตนี้ก็ไม่มีอะไรที่จะดึงดูด มีดึงดูดก็ดึงดูดอยู่ภายในตัวเอง นั่นท่านเรียกว่าอวิชชา คือดึงดูดเกี่ยวกับสิ่งใด ๆ นั้นหมดไปแล้ว หมดปัญหา เช่นราคะตัณหานี้ไม่ได้ไปดึงดูดกับสิ่งใดอีกแล้ว จะมีความดึงดูดอยู่เฉพาะลำพังตัวเอง คือพอใจในจิตของตัว พอใจในความเป็นอยู่ของตัวคือจิตดวงเดียวนั้นเท่านั้น ดูดดื่มอยู่นั้น พอใจอยู่นั้น นั่นถ้าว่าดูดก็ดูดอยู่แต่เพียงเท่านั้น ไม่มีอะไรมาสืบต่อให้ดูดต่อไป ให้ดึงดูดต่อไป ให้ซึมซาบต่อไป...ไม่มี มีเท่านั้น
ดังพระอนาคามีท่าน ตั้งแต่ได้ระดับพระอนาคามีขึ้นไปแล้ว ท่านไปเกิดในพรหมโลก ๕ ชั้น คือ สุทธาวาส ๕ ชั้น อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา คือเลื่อนระดับของจิตไปเป็นลำดับลำดาโดยหลักธรรมชาติของตัวเอง เหมือนผลไม้ที่แก่แล้วก็เริ่มจะสุกไปเรื่อย ๆ นั่นเมื่อพอตัวแล้วเป็นอย่างนั้น ไม่มีคำว่าจะไม่สุก จะเป็นอื่นไม่มีมีแต่จะสุก เมื่อแก่เต็มที่ควรจะสุกได้แล้ว นั่นละจิตที่ควรจะสุกได้โดยลำพังตนเองก็คือจิตพระอนาคามี ท่านจึงไม่ต้องกลับมาเกิดอีก เป็นหลักธรรมชาติอยู่ภายในตัวเอง มันหากกลั่นหากกรองกันอยู่ในตัวนั้นแล แล้วแก่ไปในตัว ๆ และผ่านพ้นไป ๆ จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้นไปเลย
เอาซิจิตถ้าเป็นแล้วทำไมจะไม่รู้ ถ้าไม่เป็นด้นมาพูดไม่ได้นะธรรมชาตินี้น่ะ มันเป็นในเจ้าของมันก็รู้เท่านั้นเอง ธรรมพระพุทธเจ้าไม่ใช่ธรรมโกหก ขอให้สัมผัสเข้าไปเถอะ ท่านว่า สนฺทิฏฺฐิโก พอเจอตรงไหนแล้วจะยอมรับพระพุทธเจ้าทันที ๆ ยกตัวอย่างเช่นเรื่องของพระอนาคามี นี่ละคือธรรมได้ระดับแล้วที่จะหลุดพ้นโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ถ้าเป็นสอบก็ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปแล้ว เอาละที่นี่เริ่มหมุนตัวไปเรื่อย ๆ ถ้าในปัจจุบันนี้ก็เรียกว่าปัญญาเริ่มหมุนตัวแล้ว เริ่มหมุนตัวฆ่าธรรมชาติอันนี้ได้แล้วพูดง่าย ๆ
ถ้าท่านพ้นจากนี้ไปเวลาตายทั้ง ๆ ที่ยังไม่สิ้น ก็จิตอันนี้ได้ระดับแล้ว ได้เป็นตัวของตัวแล้ว ที่จะต้องหมุนไปโดยลำดับลำดาเป็นอัตโนมัติจนถึงพระนิพพานพูดง่าย ๆ เป็นเอง ไม่มีอะไรดึงดูด ดึงดูดเฉพาะตัวเองไม่ไปดึงดูดกับอะไร ดึงดูดกับตัวเอง พอใจในความเป็นของตัวเองพูดง่าย ๆ ว่าอย่างนั้นละ คือพอใจในความเป็นของตัวเองอยู่อย่างละเอียด ๆ เราจะทราบได้ก็เวลากำจัดกันได้แล้ว นั่น ทีนี้หมดไม่มีอะไรที่จะมาดึงดูด
ตอนที่ดึงดูดตัวดึงดูดโดยเฉพาะ คือหมายความว่า ก็เหมือนกับว่ามีรสมีชาติสมมุติแทรกอยู่ในนั้นอย่างละเอียด ๆ พอธรรมชาติอันนั้นกระจายออกไปแล้ว ก็ไม่มีคำว่ารสชาติของสมมุติที่เข้าไปเจือปนในจิตดวงนั้นเลย เป็นบรมสุขล้วน ๆ ท่านว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ก็คือจิตดวงที่บริสุทธิ์นั้นละ ปรมํ สุขํ จะเป็นอะไรไป
รู้ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ตายนั่น ใครจะไปคอยเอานิพพานเวลาตายอย่างเดียว พระพุทธเจ้าสอนให้รู้ให้เห็นเวลายังมีชีวิตอยู่นี้ องค์นั้นบรรลุที่นั่น องค์นั้นบรรลุอยู่ในถ้ำนั้น เงื้อมผานั้น เขาลูกนั้น ๆ มีแต่บรรลุเป็น ๆ ทั้ง ๆ ที่เป็นอยู่นั่น อันส่วนนั้นเป็นผลพลอยได้ต่างหาก ที่ได้ชั้นได้ภูมิไปแล้วอย่างพระอนาคามีท่านก็สิ้นไปเสียแล้วจึงค่อยผ่านไปทีหลัง หรือไปได้นิพพานในวาระต่อไปนั้น อันนั้นเป็นผลพลอยได้
เราควรจะเอาให้ได้ในนี้ให้เห็นชัด ๆ ประจักษ์ตาของเรานี่ซิ นิพพานเป็นยังไง ความสิ้นกิเลสเป็นยังไง พระพุทธเจ้าหลอกคนเมื่อไร ปฏิบัติให้เห็นตามนี้ลองดูซิทำไมจะไม่ยอมพระพุทธเจ้า ศาสนาใดที่จะเลิศยิ่งกว่าพุทธศาสนานี่วะ เพราะพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาของผู้บริสุทธิ์จริง ๆ พระพุทธเจ้าเอกจริง ๆ ด้วยภาคปฏิบัติ เอกจริง ๆ ด้วยสาวกตามเป็นพยานได้เลย
สาวกทุกองค์ยอมรับพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์ ๆ เป็นเครื่องยืนยัน เป็นพยานพระพุทธเจ้าทั้งนั้น จากอะไร จากอริยสัจ ๔ นั่น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี่ละเป็นเครื่องกลั่นกรองให้ถึงขั้นบริสุทธิ์ได้ นี้เป็นเครื่องยืนยัน
พุทธศาสนามีเต็มสมบูรณ์ อริยสัจ ๔ แน่ะ หลุดพ้นจากจุดนี้ ๆ และยอมรับพระพุทธเจ้า เป็นผู้สอนอริยสัจไว้เสียเอง สาวกทั้งหลายก็รู้ ๆ ดังที่ท่านสอนไว้ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มีใครเป็นผู้สอน ฟังซิ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรท่านสอนว่ายังไงสอนเบญจวัคคีย์ นั่นละพระพุทธเจ้าสอน ท่านทรงรู้แล้วท่านถึงสอนนี่ว่าไง พระองค์ท่านก็ปฏิบัติตามวงอริยสัจ ทุกฺขํ อริยสจฺจํ สมุทัย อริยสจฺจํ นิโรธ อริยสจฺจํ มคฺค อริยสจฺจํ อยู่ที่ไหน ก็อยู่ในธัมมจักฯ ท่านแสดงไว้นั่น นั่นท่านรู้แล้วท่านเอามาแสดง ทีนี้สาวกทั้งหลายปฏิบัติหรือรู้ตามนั้นแล้วก็ยอมรับพระพุทธเจ้าเท่านั้นซิ
นี่ศาสนาเอก มีตนมีตัวมีเจ้าของจริง ๆ ผู้เป็นเจ้าของศาสนาเป็นผู้บริสุทธิ์จริง ๆ จึงได้นำศาสนานี้มาประกาศอย่างแจ้งอย่างชัดด้วยความบริสุทธิ์ใจ ธรรมจึงเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ ประกาศทุก ๆ ชิ้นทุกอันเป็นสวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบแล้วหมด
นั่นล้าสมัยไปไหน ธรรมอยู่ที่ไหน ที่กล่าวเหล่านี้ ทุกข์อยู่ที่ไหน อยู่ในหัวใจเราใช่ไหม ล้าสมัยไปไหน สมุทัยตัวเสนียดจัญไรเป็นข้าศึกอยู่ต่อเราทุกวันนี้ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา อยู่ที่ไหน มันคิดอยู่ที่ใจใครของใคร นั่นละสด ๆ ร้อน ๆ อยู่ไหม สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ที่แสดงอยู่ตะกี้นี้ เดี๋ยวนี้ ๆ น่ะไปหามาจากไหนมาแสดง แล้วใครจะเป็นผู้รับทราบเรื่องของสติปัญญา และใครจะฟื้นสติปัญญาที่มีอยู่กับใจนี้ขึ้นมาถ้าไม่ใช่เราผู้ฟังอยู่เห็นอยู่เวลานี้สด ๆ ร้อน ๆ น่ะ ทำไมจะไม่ทันกัน มันอยู่ในจิตดวงเดียวกันนี่
จะไปคิดให้กิเลสมันหลอกหัวเราะเราอยู่ทำไมว่าเฒ่าว่าแก่ ว่าโง่เง่าเต่าตุ่น ว่าอำนาจวาสนาน้อย บทเวลากิเลสบีบหัวใจทำไมไม่เห็นเจ้าของว่าวาสนาน้อย กิเลสมันมาบีบ และน่าเบื่อหน่ายเหลือเกินกิเลสนี้ ทำไมไม่เบื่อมันบ้าง อันนี้มันไม่มี ถ้าเวลาจะปฏิบัติตามอรรถตามธรรมแล้วให้กิเลสมาหลอกต้มเอาเรื่อย ๆ อำนาจวาสนาน้อย ขี้เกียจขี้คร้าน มีแต่เรื่องของกิเลส เรายอมรับไปหมด ใช้ได้เหรอผู้ปฏิบัติเราทั้งหลาย
นี่พูดจริง ๆ ถ้าจะว่าโมโหก็โมโหนะ ธรรมเป็นของจริง ฆ่าได้จริง ๆ ฆ่ากิเลส ทำไมเวลาพวกเรามาทรงอรรถทรงธรรมจึงเป็นของปลอมไปหมด เพราะหัวใจมันพาให้ปลอมนี่ ธรรมก็เลยกลายเป็นของปลอม เงือดเงื้ออยู่ก็ฟันไม่ลงเพราะมือไม่พาฟัน มีดนี้จะคมกริบขนาดไหนก็กริบอยู่งั้นแหละ ไม่เห็นเป็นท่าเป็นทางอะไรเพราะคนเงือดเงื้อเฉย ๆ ไม่ฟันก็ไม่สำเร็จประโยชน์
ปรมาณู ๆ ก็เอาซิ ถ้าไม่ทิ้งมันก็อยู่งั้นแล้ว เหมือนอย่างเขาเก็บอยู่ทุกวันนี้เป็นไรไป นั่นเครื่องปราบ เราพูดถึงข้อเทียบเคียง นี่ศีล สมาธิ ปัญญา มีเท่าไรก็อยู่งั้นแล้ว เราไม่คิดไม่ค้นขึ้นมาฟาดฟันหั่นแหลกแล้วจะสำเร็จประโยชน์มาจากไหน ให้มันเห็นหัวใจเจ้าของดูซิ เห็นอันนี้เท่านั้นละพอหมดเลย
ในสามแดนโลกธาตุนี้ ไม่มีอะไรมีความหมายยิ่งกว่าหัวใจดวงประเสริฐนี่ ได้เด่นดวงขึ้นมาในตัวเองแล้วพอหมดเลย นี่ละท่านว่าเมืองพอ แต่นี้มันไม่พอ มันหิวมันอยาก มันจะตายเพราะความหิวความอยาก กิเลสพาหิว กิเลสพาอยาก กิเลสไม่ให้มีเมืองพอ แล้วก็ไม่เข็ดไม่หลาบ คนไหนที่ว่ามีความสุขเพราะความอยากมีไหม อยากมากทุกข์มาก อยากน้อยทุกข์น้อย ไม่อยากจึงไม่ทุกข์ มีเท่านั้น กิเลสตัวพาให้อยาก ธรรมไม่ได้อยาก ถึงขั้นพอตัวแล้วพอตลอดเวลา อกาลิโก คืออะไร ก็คือจิตดวงนี้
พากันตั้งอกตั้งใจนะ มาอย่ามาขี้เกียจขี้คร้านอ่อนแอ อย่ามาถือทิฐิมานะ อวดดีอวดฉลาดด้วยทิฐิมานะอันเป็นเรื่องของกิเลสล้วน ๆ อย่าเอามาขายในตลาดธรรมของพระพุทธเจ้า แล้วกรรมฐานเสียด้วยซ้ำ ขายเป็นที่น่าเกลียดที่สุดเลย เอาของเลวที่สุดมาอวดว่าเป็นของดี นี่เป็นเรื่องของกิเลสแท้ ๆ ที่โลกถือกัน ธรรมท่านไม่ถือ ท่านปล่อย ธรรมท่านขยะแขยงมาก
เราผู้ปฏิบัติธรรมอย่าเห็นดีในสิ่งเหล่านี้แล้วนำออกมาอวดนะ ไม่เป็นของดีมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว จึงต้องได้เก็บ จึงต้องได้ชะได้ล้าง ได้ปราบปรามมันให้สิ้นซากไป ถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นของดีธรรมนี้จะไม่มีในโลก เพราะธรรมสู้กิเลสไม่ได้ธรรมย่อมหมดไปในโลก แต่นี้ธรรมมีอยู่ในโลกก็เพราะธรรมนี้สู้กิเลส พระพุทธเจ้าเคยพาสู้มาแล้ว เคยปราบกิเลสมาแล้ว เลิศมาแล้วพระพุทธเจ้าไม่ทราบว่ากี่ล้านพระองค์ นั่น กิเลสไม่ได้ปรากฏว่ามันเลิศนี่นะ ธรรมต่างหากเลิศ
ให้ระวังให้ดีมันเร็วที่สุดนะ อยู่ในหัวใจนั่นแหละ มันจะแย็บออกมาทันที ๆ แม้แต่มันเกิดอยู่ในหัวใจก็น่าอายเจ้าของแล้วนะ ไอ้เรื่องกิเลสอวดดิบอวดดีอวดรู้อวดฉลาดอวดนั้นอวดนี้น่ะ มันมีตั้งแต่อวดลมอวดแล้งไม่มีความจริงนะ ตัวเองนั้นก็เลว ๆ มันอวดออกมาเมื่อไร ขณะมันแสดงขึ้นมานั้นน่ะตัวเลวมันออกแล้วนั่น มันแสดงลวดลายอยู่ภายในตัวแล้ว ถ้ายิ่งมากระจายกับหมู่กับเพื่อนแล้วนั้นละมันยิ่งมาขายตลาดมากที่สุดเลย ไม่มีใครที่จะให้อภัยได้แล้วไอ้แบบนี้ ให้พากันจำเอาไว้นะ เรามาปฏิบัติธรรมอย่าให้ปรากฏให้เห็น เอาให้มันแหลกให้เห็นต่อหน้าต่อตา
นี่ยิ่งมีหมู่เพื่อนมาก ๆ ด้วยกันต้องได้ระมัดระวังให้มากนะ เพราะนี้มีแต่คลังกิเลสทั้งนั้นมาอยู่นี่ด้วยกันนี่น่ะ เราอย่ามาเหมาตัวว่าดีอย่างเดียวลม ๆ แล้ง ๆ ว่าตัวเป็นพระตัวเป็นเณร อายุพรรษาเท่านั้นเท่านี้นะ กิเลสมันไม่ได้เสกสรรปั้นยออะไรละ ว่าอายุพรรษาเท่านั้นเท่านี้ ว่าเป็นพระเป็นเณร เพราะกิเลสเป็นกิเลสไม่ได้เป็นพระ มันเป็นข้าศึกต่อเราอยู่ตลอดเวลา เราเผลอเมื่อไรมันเป็นต่อยทีเดียวละ ถ้าเราเผลอมากก็ระบาดสาดกระจายไปให้หมู่เพื่อนได้รับความลำบากลำบน ทุเรศ น่าสลดสังเวช ไปจากเราผู้ที่สำคัญตนว่าเก่ง ๆ และนำเอาธรรมชาตินี้ออกอวดนั่นแหละจะเป็นอะไรไป
มันจะได้หอวิมานอันวิเศษวิโสมาจากไหน...กิเลส ฟังแต่ว่ากิเลสเป็นไรไป ท่านก็แปลไว้แล้วว่า กิเลสเครื่องเศร้าหมองมืดตื้อ มันมืดอยู่ที่ไหน มันก็มืดอยู่ที่ใจ มันไม่มีที่อยู่ละ มันอยู่ที่ใจ...กิเลส มันไม่ไปอยู่ดินฟ้าอากาศ มันไม่อยู่ เราอย่าสำคัญว่ากิเลสจะไปอยู่นั้นอยู่นี้นะ มันอยู่ที่หัวใจ บีบอยู่ที่หัวใจ เพราะฉะนั้นอะไรจะมีก็ตามเป็นความสำคัญ ก็เป็นเรื่องของกิเลสต่างหากพาให้สำคัญ แล้วมันก็มาทุกข์อยู่กับหัวใจเจ้าของนั่นละ ฟาดมันออกเสียหมดจนไม่มีอะไรเหลือภายในจิตใจแล้ว โล่งไปหมดเลย นั่นละที่นี่ทุกข์หรือสุขก็รู้เอง รู้เอง ๆ
เอาละพอ เหนื่อย