จิตตภาวนาเป็นหัวใจของพุทธศาสนา
วันที่ 29 สิงหาคม 2529 เวลา 19:00 น. ความยาว 85.06 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๙

จิตตภาวนาเป็นหัวใจของพุทธศาสนา

ในฤดูพรรษา เป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการประกอบความพากเพียร เพราะไม่มีการเข้า ๆ ออก ๆ ของพระทั้งในวัดและนอกวัดที่ยุ่งอยู่ตลอด ในพรรษาเช่นนี้เรื่องเหล่านี้ไม่ค่อยมี การประกอบความเพียรจึงสะดวก และการงานก็ไม่ให้มี เราระมัดระวังมากเรื่องการก่อสร้าง ซึ่งเป็นข้าศึกกับทางด้านจิตตภาวนา ในครั้งพุทธกาลท่านระมัดระวังอยู่มากทีเดียว ไม่ได้เหมือนสมัยทุกวันนี้ ที่ถือการก่อสร้างเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นจิตเป็นใจเป็นศาสนาจริง ๆ ดูว่าเป็นอย่างนั้นในความรู้สึกของผู้สร้างผู้ทำ ไม่ว่าประชาชนญาติโยมและพระเณรในวัดมักเป็นเช่นนั้น จนกลายเป็นว่าศาสนาคือการสร้างวัตถุเหมือนกันกับโลกที่เขาสร้างกัน

ศาสนาคือกุฏิที่หรูหราสวยงาม ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในวัดอันเป็นด้านวัตถุแล้ว มีแต่ความหรูหราสวยงามทั้งนั้น ศาสนาเลยกลายเป็นเรื่องอย่างนั้นขึ้นมา ถ้าคนไม่เข้าใจเรื่องศาสนา เขาจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นศาสนาอย่างแท้จริง วัดใดไม่มีอย่างนั้นเขาถือว่าวัดนี้เหมือนกับไม่ใช่วัด พระขี้เกียจขี้คร้าน เพราะไม่สร้างศาสนา คือความยุ่งเหยิงวุ่นวายนั้นแหละที่เขานับถือว่าเป็นสิริมงคล เพราะเขาไม่รู้ไม่เข้าใจ

ความจริงของศาสนาแล้วมีแต่จิตตภาวนาเป็นสำคัญมากทีเดียว เป็นเนื้อเป็นหนังเป็นจิตเป็นใจเป็นหลักศาสนาอย่างแท้จริง ในวงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มุ่งมั่นต่อสิ่งเหล่านี้มากที่สุดยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด การสร้างก็มีบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนมากก็เป็นประชาชนญาติโยมเขาทำให้ไม่ได้ใหญ่โตอะไรนักนะ

เราไปดูซิตามฐานของพระคันธกุฎีของพระพุทธเจ้าในอินเดีย ที่เขามาเล่าให้ฟัง เราก็เอามาคิดเหมือนกัน ใหญ่โตที่ไหน ท่านระมัดระวังมาก เช่นอย่างนางวิสาขาจะสร้างวัดสร้างวิหารอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ทรงมอบให้พระโมคคัลลาน์เป็นผู้คอยดูแลตักเตือน เพราะพระโมคคัลลาน์นั้นเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีอะไรจะเสียหายเกี่ยวกับเรื่องการก่อสร้าง ส่วนพระทั้งหลายไม่ปรากฏว่าได้เข้าไปเกี่ยวข้องเลย ก็มีพระโมคคัลลาน์เท่านั้นคอยแนะนำช่างเขา นอกนั้นก็มีแต่ชี้ให้เข้าป่าเข้าเขา ตามร่มไม้ ในถ้ำ เงื้อมผาต่าง ๆ เพื่อภาวนาอย่างเดียว นั่นละหลักศาสนาแท้เป็นอย่างนั้น

ท่านก็กล่าวไว้ว่าคันถธุระ วิปัสสนาธุระ อันเป็นของคู่เคียงกัน แต่หลักใหญ่ของศาสนาที่ท่านทรงมุ่งมั่นจริง ๆ ก็คือจิตตภาวนา ด้านนามธรรมเป็นสำคัญมากยิ่งกว่าด้านวัตถุ ถ้าจะว่าไม่มีก็ความจำเป็นยังมี พระก็มาจากคน ประชาชนญาติโยมเขามีบ้านมีเรือน พระก็ต้องมีที่พักที่อาศัย จำเป็นก็ต้องสร้างต้องทำขึ้นพอได้อยู่อาศัยเพื่อจิตตภาวนาเป็นสำคัญ แต่ไม่ได้เพื่อความหรูหราโก้เก๋ มีชื่อมีเสียงมีเกียรติยศจากการก่อการสร้างอย่างนั้น มุ่งทางด้านจิตตภาวนาเป็นสำคัญมาก

เพราะฉะนั้นในอนุศาสน์จึงไม่เว้น เวลาบวชแล้วสอนรุกขมูล อยู่ร่มไม้ชายป่าชายเขาไปเป็นลำดับลำดา พบกันพูดแต่เรื่องอรรถเรื่องธรรมเรื่องจิตตภาวนา ไม่ได้พูดถึงเรื่องการก่อการสร้าง การได้การเสีย การซื้อถูกขายแพง เรื่องโลกเรื่องสงสาร อันเป็นเรื่องของฆราวาสเขาทำกันพระไม่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่ประพฤติปฏิบัติกำจัดกิเลสออกจากใจของตนโดยถ่ายเดียวเท่านั้น

เพราะฉะนั้นการอยู่ด้วยกันมีจำนวนมากน้อยจึงมีความสะดวก ไม่วุ่นวาย ไม่เกี่ยวกับเรื่องทิฐิมานะฐานะสูงต่ำอะไร อันเป็นเรื่องที่จะมาโดนกันได้ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลสมันโดนได้ง่าย กระทบกระเทือนกันได้ง่าย ไม่เหมือนเรื่องธรรม ถ้าเรื่องธรรมแล้วอยู่เท่าไรก็อยู่กันได้สบาย เพราะมุ่งเหตุมุ่งผลมุ่งความถูกต้องดีงามเท่านั้นเป็นหลักใหญ่

นี่เราอยู่ด้วยกันถึงจะมีมาก สถานที่สงบสงัดในการบำเพ็ญเพียรก็เห็นว่าพอเหมาะสม ที่จะประกอบความเพียรได้สะดวกสบายอยู่แล้ว จึงควรเข้มงวดกวดขันในเรื่องความเพียรของตน เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เป็นของสำคัญมากสำหรับพระ กำจัดเรื่องของกิเลส ถ้าไม่มีศาสนาเป็นเครื่องเยียวยารักษาหรือเป็นเครื่องแก้ไขหรือต้านทานแล้ว คนทั้งโลกสัตว์ทั้งโลกจะเสียเพราะเรื่องของกิเลสนี้ อย่างฉิบหายป่นปี้อย่างไม่มีปัญหาเลย นั่น แต่นี้ที่พอมีดีมีชั่วพอหาเลือกได้บ้าง ก็เพราะมีศาสนา เฉพาะอย่างยิ่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี่ละสำคัญมาก ที่จะกำจัดมันได้อย่างไม่ต้องสงสัย หรือหมดไปจากจิตใจเสียจริง ๆ ไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะอำนาจแห่งธรรมนี้

การปฏิบัติกำจัดสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อใจคือกิเลสนี้ เราพึงทราบเสมอตามที่สอนไว้แล้วว่า กิเลสไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องที่ใหญ่โตมากที่สุด มีอำนาจมาก มีความฉลาดแหลมคม ไหวพริบตลบตะแลงนี้ไม่มีอะไรเกินกิเลส เรียกว่าสัตว์โลกทั้งหลายไม่รู้เลยก็ว่าได้ อุบายวิธีการต่าง ๆ ที่ปกครองสัตว์โลก ที่ฉุดลากสัตว์โลกให้เป็นไปในแง่ต่าง ๆ เราไม่มีทางทราบได้

เราอย่าพูดแต่เรื่องของโลกทั่ว ๆ ไปเลย เราดูหัวใจเรากับกิเลส ทั้ง ๆ ที่เราก็เข้าใจในตัวเองว่ามีธรรมเป็นเครื่องกำจัด มีธรรมเป็นเครื่องทดสอบ มีธรรมเป็นคู่แข่งกัน มีธรรมเป็นเครื่องรบกันกับกิเลสอยู่แล้วภายในจิตใจ ตามความรู้สึกของตน แม้เช่นนั้นเรายังไม่ทราบเวลาเผลอ ฟังซิ เวลาเผลอนั่นแลเป็นเวลาที่กิเลสต่อยเรา ทั้ง ๆ ที่ตั้งหน้าตั้งตาจะไม่ให้เผลอแต่มันเผลอไปได้อย่างไร นี่ละความที่เราไม่ทราบว่ามันเผลอไปได้อย่างไรนั้นแหละ คือความฉลาดแหลมคมของกิเลสมันเหนือธรรมเรา คือสติปัญญาเราไม่เพียงพอ จึงต้องได้แพ้มันอยู่เสมอ ๆ นี่ละเราดูหัวใจเรานี้เท่านั้นไม่ต้องไปดูที่อื่นซึ่งเป็นเหมือน ๆ กัน

แต่เรานี้เข้าสู่แนวรบแล้ว และมีธรรม และรู้สึกว่าตัวมีธรรมด้วย เอามาต่อสู้กับกิเลสยังแพ้มันโดยไม่รู้สึกตัวเลย ๆ เป็นอย่างไรบ้าง มีไหมในหัวใจของพระวัดเรานี้ ผมน่ะแน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าไม่สงสัย มีอยู่อย่างนี้ แพ้อยู่อย่างนี้ เป็นอยู่อย่างนี้ แหลมคมไหมกิเลส ท่านทั้งหลายทราบไหม วันนี้ขอพูดอย่างเต็มหัวใจ เพราะได้ปฏิบัติต่อกิเลส ต่อสู้กับกิเลสมาเต็มหัวใจ

บางครั้งแทบว่าจะตายจริง ๆ ผมเคยเป็นมาแล้ว หนักขนาดไหนแหลมคมขนาดไหนกิเลส อุบายวิธีการทุ่มเทลงถึงชีวิตจิตใจก็มอบในบางครั้งจนจะไม่มีเหลือเลย เอ้า ถึงไหนถึงกัน นั่นถึงขนาดนั้นแหละถึงจะพอมียิบ ๆ แย็บ ๆ เหมือนฟ้าแลบ..สติปัญญาของเรา แต่เมื่อฟัดเมื่อเหวี่ยงกันอยู่เสมอ ด้วยความมุ่งมั่นขันแข็งในหัวใจเราแล้ว กิเลสจะเก่งขนาดไหนก็เถอะมันมีที่จะแพ้เราได้โดยไม่ต้องสงสัย ไม่เช่นนั้นจิตจะหลุดพ้นจากกิเลสหรือธรรมจะปราบกิเลสให้ราบกลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ขึ้นมาไม่ได้

ยกพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง นั่นก็คือพระองค์ปราบกิเลสให้เรียบราบภายในจิตใจหมดด้วยอุบายแห่งธรรมนั้นเอง แล้วก็มาประกาศอุบายวิธีการต่าง ๆ ทางฝ่ายเหตุ ที่จะต่อสู้กับกิเลสด้วยวิธีใด พร้อมกับผลที่ได้รับในเมื่อกิเลสได้หมอบราบลงไปแล้ว ให้บรรดาสาวกทั้งหลายได้ยินได้ฟัง ตลอดถึงสัตว์ทั่วโลกดินแดนในพุทธบริษัทของพระองค์ได้ยินได้ฟัง และได้ประพฤติปฏิบัติตามเรื่อยมาจนกระทั่งถึงพวกเรานี้ ล้วนแล้วแต่ธรรมเป็นธรรมชาติที่มีฤทธิ์มีเดชมีอำนาจฉลาดแหลมคมเหนือกิเลสทั้งนั้น เมื่อเรานำมาใช้ด้วยความสนใจจริง ๆ ตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้เป็นระยะ ๆ หรือเป็นขั้นเป็นตอน ให้พอเหมาะพอควรแก่การปราบกิเลสซึ่งมีขนาดหรือว่ามีน้ำหนักต่างกัน

เราดูในหัวใจของเรานี้ว่าเป็นอย่างไร วันหนึ่ง ๆ มีความรู้สึกตัวกับความเผลอเมื่อเทียบกันแล้ว ในวันหนึ่งของผู้ตั้งใจภาวนาในสงครามระหว่างกิเลสกับธรรมบนหัวใจนี้ อันไหนมีมากกว่ากัน ช่องแห่งความไม่เผลอกับช่องแห่งความเผลอ เอ้าเอาตรงนี้ นั่นเราพิจารณาซิ นั่นละเราเผลอมากน้อยเพียงไร ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่ากิเลสน่ะได้เปรียบเรามากน้อยเพียงนั้น และมีคะแนนสูงกว่าเรามากน้อยเพียงนั้น นี่เป็นเครื่องวัดในหัวใจเราเอง

สติธรรมเป็นเครื่องวัดในเบื้องต้น ต้องสติธรรมก่อน สติเป็นของสำคัญในการประกอบความพากเพียร ถึงจะยังแก้ไม่ได้ก็ตาม สติต้องวางเป็นรากเป็นฐานจริง ๆ เมื่อสติได้ตั้งขึ้นแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวโยงกันอันขึ้นชื่อว่าธรรม ๆ แล้วจะตาม ๆ กันมา เราจะเห็นได้เวลาเราฝึกหัด ทั้ง ๆ ที่ล้มลุกคลุกคลานให้มันต่อยอยู่ตลอดเวลา ช่องแห่งความเผลอนั้นวันหนึ่งอย่างน้อย ๘๐% ช่องแห่งความไม่เผลอนั้นมีประมาณ ๒๐% ในความรู้สึกของเราที่ว่าได้ต่อสู้กันเต็มที่ ๆ ในวันหนึ่งคืนหนึ่ง ก็เรียกว่ายังล้มลุกคลุกคลาน

แต่การประพฤติปฏิบัติ การต่อสู้ด้วยความมุ่งมั่นไม่ลดละถอยหลัง สติก็ดีขึ้น ความสงบปรากฏขึ้นมาเป็นผลเป็นเครื่องสนับสนุนให้มีความพอใจ ให้มีความเอิบอิ่ม ให้มีความผาสุกสบายภายในจิตใจ ขณะที่จิตได้รับความสงบตัวเพราะกิเลสอ่อนข้อลงไปในขณะนั้น แล้วเป็นพลังอันหนึ่งของจิตที่จะให้มีแก่ความพากเพียร เป็นระดับสูงหรือเข้มข้นขึ้นไปกว่านั้น

ทีนี้เราพูดย่น ๆ เข้ามาเลยว่า เมื่อความเพียรของเราไม่หยุดไม่ลดละ นั่นละเราพอที่จะเทียบพอที่จะวัดกันได้ ในช่องว่างให้กิเลสต่อยเอา ๆ กับช่องว่างที่เราต่อสู้กับกิเลสด้วยความรู้สึกตัวนี่ เมื่อถึงระดับสูงขึ้นไปแล้วเราจะเห็นได้ชัดว่า ธรรมนี้มีความเสมอขึ้นไปเรื่อย ๆ มีระดับสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงไม่มีช่องว่าง

ดังที่ท่านแสดงไว้ว่าสติปัญญาอัตโนมัติ นั่นละที่นี่ท่านว่า ไม่มีช่องว่างแล้วนี่ คือเป็นเรื่องของสติเรื่องของปัญญาตลอดอิริยาบถเว้นแต่หลับเท่านั้น นี่เราจึงเทียบกันได้กับย้อนหลังในขณะที่เรากำลังตั้งแล้วล้มลง ลุกขึ้นล้มลง ล้มลุกคลุกคลาน ในเวลาที่เผลอตัวนั้นเป็นอย่างนั้น กับในเวลาที่ไม่เผลอโดยอัตโนมัติเพราะกำลังเพียงพอ มาจากขั้นล้มลุกคลุกคลาน เป็นเครื่องหนุนมาโดยลำดับลำดาจนถึงขั้นเป็นอัตโนมัติแล้วก็เทียบได้ละที่นี่ เผลอหรือไม่เผลอก็รู้

นี่ละเป็นจังหวะของธรรมที่เริ่มเกิดแล้ว และในขณะเดียวกันก็เริ่มสังหารกิเลสประเภทต่าง ๆ ซึ่งฝังจมอยู่ภายในจิตใจนี้ อย่างน้อยก็ถลอกปอกเปิกไปเสียก่อนละ จากนั้นก็เลือดเยิ้ม ๆ ยิ่งเข้าไปกว่านั้นก็มีแต่ความห้าวหาญ มีแต่ความเก่งกล้าสามารถภายในจิตใจ ไม่มีความสะทกสะท้าน ไม่มีวันไม่มีคืน มีแต่ความหวังเต็มหัวใจว่าต้องหลุดพ้นจากทุกข์ในไม่ช้า หรือต้องเอาให้หลุดพ้นจากทุกข์ ปราบกิเลสให้ราบคาบในไม่ช้า

คำว่าถอยหลัง หรือคำว่าท้อแท้ หรือคำว่ากลัวกิเลส คำว่าขี้เกียจขี้คร้านไม่มีเลย นี่เป็นเครื่องวัดเครื่องเทียบกันในขั้นอย่างน้อยขั้นนี้ กับขั้นต้นที่ล้มลุกคลุกคลาน เราทราบได้แล้วว่ามันมีทางต่อสู้กันได้อย่างนี้โดยลำดับ ๆ มา ช่องนั้นกิเลสต่อยเราทั้งนั้น มาถึงช่องนี้แล้วมีแต่ความเพียร มีแต่ธรรมทั้งหลายต่อยกิเลส ฟัดกันลงไปเรื่อย ๆ แล้วก็ทำให้ทราบได้ว่า ความเผลอนั้นคืออำนาจของกิเลส นั่นทำให้ทราบย้อนหลังไปได้ กิเลสทำให้เผลอ ไม่ใช่ธรรมหรืออะไรทำให้เผลอ ธรรมท่านไม่ทำให้เผลอ สติตั้งขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ถ้าไม่ถูกกิเลสตีต่อยเตะให้ล้มไปเสีย ให้แตกกระจายไปเสียเท่านั้น แล้วความเผลอจะมีเรื่อย ๆ เพราะกิเลสมีอำนาจมาก นั่น

ความโง่เพราะไม่มีปัญญาก็เพราะอำนาจของกิเลสปิดบังเอาไว้ ไม่ให้สติปัญญาเคลื่อนตัวออกมาได้เลย นี่ในขั้นที่มันปิดมันปิดจริง ๆ ขั้นที่มีกำลังมาก กิเลสมีกำลังมากจริง ๆ แต่ยังไงก็ตามอย่าลืมว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ นั่นเป็นเครื่องยืนยันรับรองกันแล้วในวงปฏิบัติ เป็นองค์ศาสดาเป็นผู้แสดงเสียเอง คนจะหลุดพ้นจากทุกข์ไปได้เพราะความเพียร ฟังซิ ความเพียรมีความมุ่งมั่นเป็นของสำคัญมากทีเดียว ความมุ่งมั่นนี้เป็นเหมือนกับแม่เหล็กเครื่องดึงดูดความพากเพียร ความอดความทน ความอุตส่าห์พยายามทุกด้านทุกทาง เข้ามาสู่ความมุ่งมั่นเป็นรากใหญ่ เป็นรากฐานสำคัญ

นี่เราพูดถึงเรื่องระหว่างกิเลสกับธรรม อยู่ในหัวใจของเราดวงเดียวกันนี้ ระยะหนึ่งเป็นอย่างหนึ่ง อีกระยะหนึ่งเป็นอย่างหนึ่งในหัวใจดวงนี้ที่มีความเพียรต่อสู้กันอยู่นั้นแล จนกระทั่งไม่มีเลยคำว่าขี้เกียจขี้คร้าน ทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นเรื่องของกิเลส ทีนี้พูดได้เต็มปากว่า นี้เป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวล มีแต่ความมุ่งมั่น มีแต่ความขยันหมั่นเพียร ขยันก็เลยพูดไม่ถูกเสีย เพราะเลยนั้นไปแล้ว

เพราะความเห็นภัยในทุกข์ทั้งหลายที่ได้เกิดขึ้นจากอำนาจของกิเลส เห็นจริง ๆ เห็นเต็มหัวใจ เห็นคุณของธรรมที่ปราบกิเลสเครื่องก่อภัยก็เห็นชัด ๆ ก็ยิ่งจะสั่งสมธรรมมีสติธรรม ปัญญาธรรม เป็นต้น ด้วยความเพียรในแง่ต่าง ๆ ให้หนักมือขึ้นโดยลำดับลำดา จึงไม่อาจจะพูดได้ว่าขยันหมั่นเพียร คือเลยนั้น

จิตทั้งดวงหมุนติ้วเป็นธรรมจักรไปหมด จะว่าขยันหรือไม่ขยันก็พูดไม่ถูก นั่นท่านจึงเรียกว่าอัตโนมัติของความเพียร ความเพียรก็เป็นอัตโนมัติ ผลปรากฏเป็นสติปัญญาขึ้นมาเรื่อย ๆ แก่กล้าขึ้นมาเรื่อย ๆ แต่เป็นเหตุในการที่จะฟัดกับกิเลส เป็นผลอันหนึ่งขึ้นมาเสียก่อน แล้วก็เป็นเหตุที่จะต่อสู้กิเลสได้ด้วยสติปัญญาประเภทนี้ ๆ สุดท้ายกิเลสก็พังหมดไม่มีอะไรเหลือภายในจิตใจเลย

แล้วเป็นยังไงที่นี่เราเทียบ เอ้า ตั้งแต่เบื้องต้นที่ประพฤติปฏิบัติมาและเป็นระยะ ๆ เรื่องความรู้สึกในความเป็นอยู่ของตัวเองทั้งที่กิเลสเต็มหัวใจ กับการประกอบความพากเพียรมาโดยลำดับลำดาและกิเลสเบาบางลงไป

ถ้าจะพูดเป็นเครื่องรับกันก็ว่า ธรรมมีความแน่นหนามั่นคงขึ้นโดยลำดับ ดูกันได้ชัดเจน เพราะนี้เป็นสัจธรรมจะลืมไปไม่ได้ การประกอบความพากเพียร พื้นเพของจิตเป็นมาอย่างไรเป็นลำดับลำดามาจนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น จะมองเห็นประจักษ์ภายในจิตใจของตัวเอง เพราะเป็นสัจธรรมจะลืมกันไม่ได้ นั่น สัจธรรมฝังอยู่ที่นี่ อยู่กับหัวใจนี้เอง เพราะใจเป็นผู้รับทราบ ทราบอยู่นี่ ทราบอยู่ทุกระยะ ทั้ง ๆ ที่กิเลสมีอยู่ก็เป็นสัจธรรม ทั้ง ๆ กิเลสสิ้นไปแล้ว สิ่งที่เป็นสัจธรรมก็เป็น หากไม่ติดไม่พันกันเหมือนแต่ก่อน ระหว่างจิตกับสัจธรรมไม่ติดพันกันเหมือนแต่ก่อนเท่านั้นเอง ทุกขสัจนี่ก็เห็นอยู่ สิ่งที่เป็นทุกข์ตามธาตุตามขันธ์ เช่นความเจ็บปวดในธาตุในขันธ์เราก็เห็นอยู่แน่ะ นี่ก็เรียกว่าสัจธรรมประเภทหนึ่ง จึงเป็นของไม่ลืมได้ รู้กันอยู่ ๆ อย่างนั้น จนกระทั่งวาระสุดท้ายเทียบกันได้ชัดเจนในใจดวงเดียวนั้นแล

เมื่อสรุปความแล้วใจนี้เป็นของฝึกได้ เป็นของทรมานได้ ดัดแปลงได้ ตามแต่ความสามารถความฉลาดแหลมคมของผู้ฝึกหัดดัดแปลงตนเอง จะควรได้มากน้อยเพียงไร และนอกจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับครูกับอาจารย์ ที่คอยให้การแนะนำสั่งสอนโดยความถูกต้องแม่นยำไม่ผิดพลาด ผู้ดำเนินก็ดำเนินด้วยความสัตย์ความจริง แล้วจิตใจก็ก้าวขึ้นสู่ความเจริญเรื่อย ๆ กิเลสก็ค่อยอ่อนตัวลงไป ๆ ผลสุดท้ายก็ขาดสะบั้นลงหมดไม่มีอะไรภายในจิตใจเลย

ที่นี่ใจที่เต็มไปด้วยกิเลสเป็นคลังของกิเลส กับใจที่เป็นคลังของธรรม ในจิตดวงเดียวกันนั้นต่างกันอย่างไรบ้าง ผู้นั้นก็ไม่สงสัย แต่ก่อนเป็นคลังของกิเลส เปลี่ยนสภาพจากนั้นด้วยอำนาจแห่งความพากเพียร ก็กลายเป็นคลังแห่งธรรมขึ้นมา จิตกับธรรมก็เป็นอันเดียวกัน ท่านว่า เอโก ธมฺโม จิตอันใดธรรมก็อันนั้น เป็นอันเดียวกัน ท่านให้ชื่อออกมาว่าวิมุตติหลุดพ้น คือพ้นจากสิ่งที่เคยเป็นมาแต่ก่อนอันเป็นเรื่องสมมุติทั้งนั้นทีเดียวภายในจิตใจ และพ้นจากนั้นออกมาแล้วก็ไม่มีอะไร นี่ก็เพราะอำนาจแห่งความเพียร

ทุกท่านที่มาที่นี่ ก็ตั้งหน้าตั้งตามาประพฤติปฏิบัติกำจัดกิเลสของตัวเอง ให้ตัวเองนั้นแหละเป็นผู้สอดส่อง เป็นผู้เพ่งโทษเพ่งกรณ์ตัวเอง มันบกพร่องตรงไหนให้แก้ไขตรงนั้น ด้วยความจริงใจของตัวเองอย่าเหลาะ ๆ แหละ ๆ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ให้ดูหัวใจตนอยู่เสมอ เรื่องทั้งปวงจะเกิดขึ้นจากความกระเพื่อมของจิตที่คิดออกมา ในเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้วเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา คิดเป็นเรื่องของใครจะเป็นดีเป็นชั่ว มันก็มีความได้ความเสียขึ้นกับใจของเรานี้แหละ ทั้ง ๆ ที่คนอื่นที่เราคิดถึงเขา เขาไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลยทั้งดีทั้งชั่วของเขานั้นแหละ แต่ความได้ความเสียมันเป็นขึ้นภายในจิตใจของเราผู้คิดผู้ปรุงนี้เป็นของสำคัญ จึงต้องได้ระมัดระวังความคิดความปรุงของเจ้าของ

สังขารมันคิด สัญญาความหมาย หมายเป็นอดีต สัญญาอดีตที่เคยเกี่ยวข้องกับผู้ใด ดีชั่วประการใด สัญญามักจะหมายไปโน้น แล้วก็เอามาเป็นอารมณ์เสียใจดีใจ นี่ละเป็นเรื่องทุกข์เรื่องสมุทัยขึ้นกับใจของตัวเอง สติไม่มีก็ไม่เป็นมรรค แก้ไม่ได้ ปัญญาไม่มีแก้ไม่ตก เกิดอยู่เรื่อย ๆ นี่อาการของจิตเช่นนี้เกิดอยู่เสมอในหัวใจของแต่ละดวง ๆ ให้พึงระมัดระวัง

เราอย่าเข้าใจว่าเราอยู่เฉย ๆ ไม่เกิดเรื่องกับผู้ใด มันเกิดเรื่องวันยังค่ำนั่นแหละ มันหากเป็นอยู่ในตัวของเราเอง วาดภาพขึ้นมาแล้วหลอกตัวเองว่าดีบ้างชั่วบ้าง อารมณ์อดีตนั่นละมากที่สุดยิ่งกว่าอนาคต เรื่องอนาคตก็มี แต่ส่วนมากจะอดีตก็ตามอนาคตก็ตามเป็นเรื่องของสมุทัย คือเรื่องของกิเลสที่จะก่อทุกข์ทั้งมวลให้แก่ตัวของเรานั้นแล ถ้าไม่มีสติถ้าไม่มีปัญญาดูหัวใจของเรา ซึ่งเป็นตัวเหตุตัวการตัวเจ้าเรื่องเจ้าราว มันอยู่ที่ตรงนี้นะ

เราอย่าเข้าใจว่าดินน้ำลมไฟ ฟ้าแดดดินลมที่ไหน เป็นเรื่องเป็นราว เป็นเหตุเป็นผล จิตใจมันไปยุ่งกับเขาต่างหาก สิ่งเหล่านั้นมีมาตั้งกัปตั้งกัลป์ไหนก็ไม่รู้แหละ เราตายไปแล้วมันก็มีอยู่ เรามีกิเลสไปคิดกับเขายุ่งกับเขามันก็มีอยู่นี้ ไม่คิดกับเขาก็มีอยู่นี้ สิ้นกิเลสไปแล้วสิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่นี้ มันเป็นขึ้นกับหัวใจเรานี้ต่างหาก เป็นผู้คิดผู้ปรุงเจ้าเรื่องเจ้าราว

เพราะฉะนั้นจงให้มีสติ สังเกตดูอาการของจิตตัวเองที่มันจะเอาเรื่องอะไรมาเผาเจ้าของ…ให้ดู มันเผาอยู่ตลอดเวลาถ้าไม่มีสตินะ ถ้ามีสติก็ไม่เผา ระมัดระวังอยู่เสมอ พอมันปรุงขึ้นเรื่องราวใดก็เหมือนกับไฟจะปรากฏขึ้นก็ดับด้วยน้ำคือสติ มันก็ระงับไป ๆ ใจเมื่อไม่มีเรื่องวุ่นวายตัวเองก็สงบลงได้ ความสงบของใจเป็นผลขึ้นให้มีความสบาย

แต่เรามันไม่อยากสบาย เพราะอำนาจของกิเลสมันฉุดมันลาก มากกว่าที่จะเสาะแสวงหาความสบายเพราะมันลืมตัว คิดเรื่องอะไรก็ลืมตัวไปหมด ส่วนมากคิดแต่เรื่องชั่วเรื่องสมุทัย ทำให้ลืมตัว ๆ ทั้งวันในวงของผู้ภาวนานั่นแหละ แต่ไม่รู้ตัวว่าเราลืมตัวไปกับเรื่องของสมุทัย

ในทางจงกรมก็ลืมตัวอยู่ต่อหน้าต่อตา นั่งสมาธิก็ลืมตัวอยู่ต่อหน้าต่อตา เราก็ไม่ทราบว่าเราลืมตัวไปกับสิ่งเหล่านี้ แล้วตรงไหนล่ะที่เราฆ่ากิเลสได้ ตรงไหนที่เรารั้งกิเลสไว้ให้อยู่บ้าง ตรงไหน ถ้าสติไม่มีก็เรียกว่าความเพียรไม่มี ก็มีแต่เรื่องถลอกปอกเปิกไปกับมัน จนกระดูกก็จะไม่มีเหลือ อย่าว่าแต่หนังแต่เนื้อเลย มันขาดสะบั้นไปหมด เพราะกิเลสมันลากมันถูไปนั่นเอง

เราทราบไหมว่าละเอียดขนาดไหนกิเลส นี่ละเป็นของสำคัญมากทีเดียว มันเกิดในหัวใจของแต่ละดวง ๆ ของผู้ปฏิบัตินี้แหละ คนอื่นเราไม่ต้องพูด ไม่ใช่สิ่งเกี่ยวข้องที่เราจะต้องพูด นี่เรามาเกี่ยวข้องกันเป็นความจำเป็นที่จะต้องพูดให้รู้จักเหตุจักผล และวิธีแก้ไขของสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเกิดขึ้นกับตัวของเราอยู่ทุกขณะ อย่าว่าทุกวันทุกคืนเลย ทุกขณะ มันเกิดอยู่ตลอดเวลา ให้ระมัดระวังเจ้าของเสมอ

ให้ทำความเข้าใจกับตนในการประกอบความพากเพียร จิตนี้รับทราบตลอดเวลาแล้วยังอยากทราบตลอดเวลา ไม่มีความบกบางหรือสงบตัวลงได้เลย เรายังเสียดายตลอดเวลาในความคิดของเรา เสียดายหาอะไร นั่น เวลาเราจะทำความพากเพียร คิดปรุงก็ปรุงเป็นอรรถเป็นธรรม เราไม่ต้องไปสนใจคิดกับเรื่องโลกเรื่องสงสาร เพราะเราเคยคิดเคยปรุงมาแล้วเรื่องเหล่านี้

เรื่องเหล่านี้แลทำให้เรายุ่งเหยิงวุ่นวาย ไม่ใช่ให้เราขึ้นสวรรค์ชั้นพรหมแล้วไปนิพพานด้วยเรื่องเหล่านี้ มันเรื่องหลอกลวงหัวใจเจ้าของนั้นแหละ มันปรุงออกไปเป็นภาพเหมือนอย่างภาพยนตร์นั่น ฉายไปจากฟิล์มจากแฟมแล้วไปติดอยู่บนผ้านั่น ว่าจอว่าแจ ไปหลงบ้ากันอยู่โน่น มันอะไรกัน นี่ก็เหมือนกันนั่นแหละมันออกไปจากนี้ไปเป็นรูปคนนั้นเรื่องคนนี้ยุ่งไปหมด ดูทั้งวันทั้งคืน เพลินบ้าอยู่ยังงั้นแหละ ดูภาพยนตร์ของตัวเอง ภาพยนตร์ที่ฉายอยู่ในหัวใจนี่ ไปสัญญาอดีตไปสัญญาอนาคตยุ่งไปหมด ไม่มีสติสตังดูเลย

อันนี้ให้ท่านทั้งหลายจำเอาไว้นะ คำพูดนี้จะเป็นความจริงแค่ไหน ขอให้ปฏิบัติเข้าไป เมื่อถึงขั้นละเอียดที่ควรจะทราบต้นตอของมัน ไม่มีใครบอกก็ตาม สนฺทิฏฺฐิโก พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แล้ว จะประกาศป้างขึ้นภายในหัวใจ โอ้โฮ นั่นหลงภาพหลงกลมายาของกิเลสตัวเองที่หลอกออกไปข้างนอก ไปดูเสียจนไม่รู้เนื้อรู้ตัว มันเกิดขึ้นจากไหนรู้แล้วที่นี่ มันพับขึ้นจากจิตเท่านั้นเอง ถ้าเรารู้ไม่ทันมันก็ไปเป็นภาพหลอกเราเหมือนอย่างฉายภาพยนตร์นั่นน่ะ

ภาพยนตร์เขายังทราบมันออกไปจากฟิล์มอยู่นะ ไอ้เรามันไม่ทราบ ฟิล์มคืออะไร ก็คือหัวใจนั่นแหละ ตัวสมุทัยเป็นเจ้าฉากจัดฉากทุกอย่างนั่นแหละ มันให้ฉายอย่างนั้นให้ฉายอย่างนี้ ฉายแต่เรื่องให้เราจมให้เราเพลิน อ้าปากงับไม่ได้นั่นน่ะจะว่าไง น้ำลายก็ลืมกลืนไปหมด เวลาได้เพลินกับภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นในหัวใจเจ้าของโดยสมุทัยเป็นผู้จัดฉาก นั่นเห็นไหม

ดูเอาซิตรงนี้ ถ้าเวลาจิตเพียงพอทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว และสติสตังทันแล้วยังไงก็รู้เรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้นจึงบอกว่าให้จำให้ดีนะ ท่านทั้งหลายก็มุ่งต่ออรรถต่อธรรมอย่างยิ่ง ให้จำคำนี้ให้ดี ผมตายไปแล้วคำนี้จะกังวานในหัวใจท่านทั้งหลาย หากเป็นผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้เห็นอรรถเห็นธรรมเข้าไปโดยลำดับ จะพ้นจากธรรมข้อนี้ไปไม่ได้ จะต้องรู้

กลมายาของกิเลสที่ออกจากหัวใจเรา ไปฉายเป็นสัญญาอารมณ์ให้เรารู้ให้เราดูเพลินเป็นบ้าอยู่นั่น มันออกจากไหนนี่ ไม่ต้องมีใครบอกก็ทราบ มันทราบในหัวใจนี่แหละ คือสติทันปัญญาทันมันทราบ ต้นเหตุมันออกไปจากไหน ออกไปจากใจ นั่น แล้วก็ทราบ พอทราบแล้วก็พยายามดูต้นตอมันนี่ เหมือนกับช่องที่ท่านสามเณรสอน พระโปฐิละ นี่สามเณรเป็นพระอรหันต์ โปฐิละแปลว่าใบลานเปล่า เรียนเปล่า ๆ หาความจริงไม่ได้ มีแต่ความจำเต็มหัวใจ มีแต่ชื่อตัวจริงไม่มี ถ้าเป็นธนาคารก็มีแต่บัญชีไม่มีตัวเงินอยู่ในธนาคารพูดง่าย ๆ ว่าอย่างนั้น

แล้วสอนพระโปฐิละว่า มีจอมปลวกอยู่แห่งหนึ่งและมีช่องอยู่ ๖ ช่อง ให้ท่านปิดเสีย ๕ ช่องนะ เหลือไว้ช่องเดียวและจ้องดูอยู่นั้น แล้วจะเห็นเหี้ยใหญ่ตัวหนึ่งซึ่งอยู่ในจอมปลวกนั้น มันจะออกเที่ยวหากินจะออกช่องนั้นแหละ เมื่อเราปิดช่องทั้งหลายไว้เหลืออยู่ช่องเดียวแล้ว มันจะโผล่ขึ้นมานั้นแล้วก็จะจับได้ ท่านว่าฟังซิ

๖ ช่องคืออะไร ตาช่องหนึ่ง หู จมูก ลิ้น กาย ๕ ช่องแล้ว ใจเป็นช่องที่ ๖ ให้ดูอยู่ตรงจิตว่างั้น แล้วก็เห็นเหี้ยใหญ่คือสมุทัยนั่นละมันปรุงขึ้นมา เหี้ยใหญ่ ๆ จะว่าอะไร ก็ท่านเทียบเฉย ๆ แล้วมาในวงปฏิบัติของเราก็เมื่อมันเข้าใจหมด ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มันสัมผัสสัมพันธ์กับเรื่องอะไร สติปัญญากลั่นกรองทราบหมด ปล่อยวางได้หมดโดยลำดับ

มันจะไปไหนเมื่อไม่มาทราบในหัวใจตัวเองที่ปรุงแต่งขึ้นมานี่ นี่ละตัวเหี้ยอยู่ตรงนี้ สมุทัยอยู่ตรงนี้ มันปรุงจิตใจของเราออกเป็นฉากเหมือนกับเขาฉายหนังนั่นเห็นไหม ทีนี้สติปัญญาทันก็รู้น่ะซิ มันเกิดขึ้นจากที่นี่ ๆ แล้วก็ทันกัน พอทันกันพับมันก็ดับพร้อม ๆ สติปัญญาตามต้อนเข้าไปเรื่อย ๆ จนเห็นเหตุเห็นผลกัน แล้วพังกันหมดทั้งจอมปลวกไม่มีอะไรเหลือเลย

จอมปลวกภายในนะไม่ได้หมายถึงจอมปลวกใหญ่อันนั้น จอมปลวกภายในนี่ เอาให้แหลกหมดเลย ช่องมันออก เหี้ยใหญ่คือสมุทัยมันออกช่องไหน มันออกจากใจ พิจารณาลงไปดังที่เคยพูดแล้วนั่นแหละ เมื่อถึงขั้นรวมตัวแล้วอะไรออกมาทันหมดรู้หมด ไม่ว่าอะไรจะปรุงขึ้นมา จะปรุงเรื่องอะไร เรื่องอดีตอนาคต พอกระเพื่อมพับก็เหมือนกับเตือนสติปัญญาพร้อม ๆ ในขณะเดียวกัน เพราะสติปัญญาพร้อมตัวอยู่แล้วที่จะทราบในสิ่งทั้งหลายที่สัมผัสสัมพันธ์กัน แม้แต่ไม่มีอะไรมาสัมผัสสัมพันธ์ สติปัญญาขั้นนี้จะไม่นอนตัวเลย ทราบอยู่ตลอดเวลา นั่นเป็นอย่างนั้น นี่ละการประพฤติปฏิบัติที่จะฆ่ากิเลสต้องเป็นอย่างนี้

สติปัญญาขั้นจะฆ่ากิเลสต้องเป็นขั้นที่แปลกประหลาดอัศจรรย์ยิ่งนัก ไม่มีอะไรเหมือนสติปัญญาขั้นนี้เลย แต่เป็นสติปัญญาในหลักธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองเป็นเอง เราไปปรุงแต่งให้เป็นสติปัญญาขึ้นมาเหมือนโลกทั้งหลายไม่ได้ สติปัญญาขั้นนี้จึงเรียกว่าเป็นสติปัญญาอัศจรรย์ นี้ละเป็นสติปัญญาที่กิเลสพัง ที่กิเลสกลัวที่สุดคือสติปัญญาขั้นนี้

ใครก็ตามถ้าลงได้ก้าวถึงสติปัญญาขั้นภาวนามยปัญญาแล้ว อย่างไรกิเลสจะต้องพัง บ้านแตกสาแหรกขาดทีเดียวละไม่สงสัย ตัวนี้ตายวันนี้ ตัวหน้าตายวันนั้น ตัวนั้นตายวันนั้น ๆ ตายไปเรื่อย ๆ ไม่มีเวลาไม่มีรอ การฆ่ากิเลสฆ่าทุกอิริยาบถ ยืนก็ฆ่า เดินก็ฆ่า นั่งก็ฆ่า ด้วยสติปัญญาประเภทนี้ เว้นแต่หลับเท่านั้น มีแต่การฆ่าการผลิตกิเลสขึ้นไม่มี แล้วกิเลสจะเอามาจากไหนกี่โลกธาตุจะมากองอยู่ในหัวใจอันเดียวนี่พอที่จะฆ่าไม่ไหว มันก็เกิดขึ้นในหัวใจดวงเดียวนี่ เวลาอยู่ก็อยู่ในหัวใจดวงเดียวนี่ สติปัญญาเกิดขึ้นที่นี่ ฟาดฟันกันที่นี่ แหลกลงที่นี่ พังกันลงที่นี่หมดแล้วจะเอาอะไรมาเป็นกิเลส จะเอาอะไรมาเป็นวัฏฏะ

วัฏจิตที่เคยเป็นมาแต่ก่อนเห็นชัดแล้ว วัฏจิตที่หมุนไปเพราะอะไร ก็เพราะธรรมชาติอันนี้เอง ที่ตัวมันจัดฉากเก่ง ๆ นี้ พังตัวจัดฉากนี้ลงไปแล้วเสร็จเลย ไม่มีอะไรเหลือ เอ้า อยู่ไหนอยู่เถอะที่นี่แสนสบาย ไม่มีอะไรกวนเลย ตาก็ดูอย่างเต็มหูเต็มตาไม่มีกิเลสมากวน ไม่มีกิเลสตัวมาคอยหยิบคอยฉวยเอาไปกิน หูก็ฟังได้เต็มหู ทุกสิ่งทุกอย่างที่สัมผัสสัมพันธ์ฟังได้เต็มหัวใจ โดยไม่ต้องระมัดระวังว่ากิเลสจะมาแทรกมาแซงมาหยิบฉวยเอาไปกินให้เป็นประโยชน์ของมัน นั่นจึงว่ากิเลสตายตายอย่างนั้นแหละ ต้องเห็นด้วยกันชัดเจนไม่ต้องสงสัย

เอ้า เป็นขึ้นในหัวใจใดต้องทราบแบบที่พูดนี้แหละไม่เป็นอื่น ต้องเป็นอย่างนี้แน่นอนไม่สงสัย แม้พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปนานสักเท่าไรก็ตามอย่างทุกวันนี้ ความจริงนี้ไม่ได้เป็นกาลเป็นสถานที่เวล่ำเวลา ท่านจึงว่า อกาลิโก ๆ เป็นความจริงล้วน ๆ ไม่มีกาลสถานที่เข้ามาเกี่ยวข้องเลย เมื่อปรากฏขึ้นในที่ใดในหัวใจของบุคคลผู้ใด สนฺทิฏฺฐิโก บอกประกาศป้างขึ้นในนั้นเลย อ๋อ อย่างนี้เหรอ นั่น นี่ละการปฏิบัติธรรม

เอาให้จริงให้จังซินักปฏิบัติเรา อย่าเหลาะ ๆ แหละ ๆ นะ มองดูหมู่เพื่อนอย่างที่ผมเคยพูด มันแปลก ๆ อยู่ทำให้สะดุด ตาเห็นก็สะดุด หูได้ยินก็สะดุด มันทำไมมันสะดุด ถ้าควรชมจะได้ชมนี่นะ อันนี้มันไม่ควรชม เพราะอะไร เพราะเราเป็นผู้ที่จะคอยดูแลหมู่เพื่อนบกพร่องที่ตรงไหน ๆ ไม่ได้หมายถึงจะเพ่งโทษเพ่งกรณ์หมู่เพื่อนอะไรนะ

คอยดูคอยฟังอะไร ๆ เพราะเราเป็นผู้สอน สอนด้วยความเมตตาด้วยความสงสารจริง ๆ ไม่ได้มีอะไรมาเกี่ยวข้องอยู่ในหัวใจดวงนี้ สอนด้วยความเมตตาสงสาร จะดุจะด่าว่ากล่าวประเภทใดมีแต่ธรรมล้วน ๆ ที่มาสอนหมู่สอนเพื่อน ทุ่มกันลงด้วยธรรม ไม่ได้เอากิเลสมาทุ่มเลยนี่ เราพูดจริง ๆ เต็มหัวใจเรา

เวลากิเลสเต็มหัวใจเราก็ทราบ เป็นยังงั้นก็รู้ หากว่ากิเลสหมดจากหัวใจแล้วทำไมจะไม่รู้ล่ะ นั่น เวลาเป็นไปกับด้วยกิเลสยังรู้ เวลาจิตสมมุติว่าจิตพ้นจากกิเลสแล้ว มันเต็มไปด้วยอะไรที่นี่ ถ้าสมมุติว่าเต็มไปด้วยธรรมล้วน ๆ ทำไมจะไม่รู้ล่ะ หัวใจดวงนี้พร้อมที่จะรู้อยู่แล้วทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องรู้ซิ

นี่มันจะหมดแล้วนะผู้ที่จะทรงมรรคทรงผลเวลานี้ ให้โลกเหยียบเอา ๆ แหลกไปหมดแล้วนะ ไม่มีอะไรเหลือแล้ว คนดีจะไม่เหลือจะทำยังไง ก็มีแต่ฟืนแต่ไฟเท่านั้นเองที่จะเผาหัวใจของสัตว์โลก ของเราของท่านของใครก็ตาม มีธรรมเท่านั้นเป็นเครื่องดับกันหรือเป็นเครื่องกำจัดสิ่งเหล่านี้ได้ ไม่มีอย่างอื่นอย่างใดที่จะดับได้เลย เราต้องผลิตขึ้นมาซิความดี ขึ้นมาภายในจิตใจ ความจมอยู่ในวัฏสงสารนี้จมไปด้วยความทุกข์ความทรมานทั้งนั้นละ เราอย่าเข้าใจว่าจมด้วยความสุขความสบายเลย ตื่นเต้นอะไร ดูให้ชัดเจนซิ ให้เห็นในหัวใจแล้วก็ดีดผางเท่านั้นเอง

พูดไปว่าจะไม่เร่งมันหากเป็นของมันเอง รู้สึกมีเหนื่อย ๆ เอาละพอ

พูดท้ายเทศน์

จะยังไงช่างหัวมันเถอะ เวลากิเลสเหยียบหัวเราไม่เห็นไปดูนาฬิกา มันเหยียบเอา ๆ แต่เวลาจะพูดเรื่องอรรถเรื่องธรรมมองดูแต่นาฬิกา ชะแง้ ๆ อยู่นั้น มันอะไรก็ไม่รู้ ทีกิเลสเหยียบหัวไม่มีเวลาไปมองอย่างว่านั่นซิ มันเหยียบคอลงตม มันออกมาแสดงอย่างนี้ก็เห็น เห็นได้ชัด มันออกมาสู่วัตถุหยาบ ๆ ก็เห็นชัด เช่น เป็นสัตว์เป็นคนมันเห็นได้ชัด ที่ละเอียดมองไม่เห็นนี่ซิมันมากต่อมากนะ

วิญญาณดวงไหนก็ตามมันก็มีอันนี้เป็นเจ้าอำนาจ ๆ อยู่ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นมันถึงไม่พ้นจากการท่องเที่ยววกเวียน อันนี้พาให้เป็นไป ท่านถึงเรียกวัฏจิต คือพาจิตให้หมุน วัฏจิตวัฏจักรเป็นเหมือนกงจักรหมุนไป ครั้นพอเชื้อที่พาให้หมุนนี้หมดไปจากใจแล้ว ปัญหาทั้งมวลก็ลดฮวบลงร้อยเปอร์เซ็นต์เลย นั่น เพราะธรรมชาตินี้เป็นเจ้าปัญหาเป็นเจ้าเรื่อง พออันนี้หมดไปปัญหาทั้งมวลก็หมด สิ้นสุดลงในขณะเดียวกันเลย ไอ้เรื่องปัญหาหรือเรื่องอันเดียวกันหมด ทีนี้ท่านจะตื่นอะไร

ดูซิสิ่งเหล่านี้เราว่ามี ๆ เราน่ะพูดไปเองนะ จิตดวงนี้ละไปพาดพิงปั๊บว่าอันนั้นมีอันนี้มี อันนั้นเป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นอย่างนี้ อันนั้นสีขาว สีแดง สีดำ อันนั้นใหญ่ อันนี้เล็ก อันนั้นยาว อันนี้สั้น อันนั้นสีดำ สีขาวอะไรว่ากันไป มีแต่เจ้าคึกเจ้าคะนองนี่มันเที่ยววาดไปหมด แล้วมันก็อยู่กับสิ่งเหล่านี้ เพลินกับสิ่งเหล่านี้ กับดินฟ้าอากาศทั้งร้อนทั้งหนาว มันไปติเองของมันแหละ มันก็อยู่กับสิ่งเหล่านี้แหละ คืออยู่กับภาพเจ้าของที่ไปวาดสิ่งเหล่านี้นะ ธรรมชาตินั้นเขาไม่รู้เรื่องอะไรกับตัวนี้แหละ แต่ตัวนี้หากไปวาดเอาเอง ก็ไปตื่นอารมณ์เจ้าของนี่แหละสำคัญ ตื่นอารมณ์เจ้าของ

ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ก็ต้องเป็นอยู่อย่างนี้แหละ ไม่ว่าใครก็ตามต้องเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น เพลินอยู่กับสิ่งเหล่านี้ เจ้าของละไปวาดภาพเอา ธรรมชาตินั้นเขาไม่รู้นี่ว่ามีหรือไม่มี ว่าเขาเป็นอะไร ๆ เขาไม่รู้ ไอ้เราเป็นผู้วาดภาพเสียเอง เป็นผู้คิดผู้แต่งผู้สำคัญมั่นหมาย แล้วก็ไปหลงความสำคัญมั่นหมายของตัวเองนั่นแหละ แล้วยึดเอาสิ่งเหล่านี้แหละมาเป็นเครื่องเล่นเหมือนกับตุ๊กตา เด็กเล่นตุ๊กตานั่นแหละ จะเป็นอะไรไป เราตื่นอารมณ์ก็เหมือนกันนั้น

พอรอบกันแล้วมันไม่ตื่นนี่ เมื่อไม่ตื่นแล้วก็เหมือนโลกไม่มี ถ้าว่ามีก็ทราบเสียว่าอันนี้มันแย็บออกไปว่ามี ถ้าอันนี้ไม่แย็บอะไรจะมี อะไรจะมาเกี่ยวข้อง แน่ะ นั่นเรื่องมันเห็นชัด ๆ กันอย่างนั้น อันนั้นมีอันนี้มี ก็คืออันนี้แย็บออกไป ๆ ถ้าอันนี้ไม่มีไม่แย็บก็เหมือนไม่มี ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านั้นก็มีตามหลักธรรมชาติของเขานั้นแหละ

เช่นอย่างเรานอนหลับสนิท ก็ดูเอาซิว่าร่างกายเรามีหรือไม่มี เราอย่าว่าถิ่นฐานบ้านเรือนอะไรต่ออะไรที่นอกไปจากกายนี้เลย เราพูดเฉพาะร่างกายของเรานี้ว่ามีหรือไม่มี มันไม่ได้รับทราบสิ่งเหล่านี้ว่ามีหรือไม่มี ตอนนั้นจิตมันเข้าภวังค์แห่งความหลับสนิท ไม่แสดงอาการอะไรเลยในขณะที่หลับสนิทนั่น จึงไม่มีอะไรทั้งนั้น ตัวอวิชชาจริง ๆ ก็ไม่ได้ทำงาน

คำว่าฝันนั่นไม่ได้หลับสนิทนะ หลับสนิทต้องไม่ฝัน นั่นละที่เรียกว่าหลับสนิท แล้วอะไรมีตอนนั้นว่าซิ ถ้าหลับแล้วมันอยู่ตั้งกัปตั้งกัลป์มันก็หลับได้นี่ เพราะไม่มีอะไรเข้าไปยุ่งไปเกี่ยวนี่ คิดดูซิเราหลับในคืนหนึ่งน่ะ เราทราบไหมว่าหลับนานเท่าไร ไม่ทราบ ตื่นขึ้นมาจึงมาคาดมาเดาต่างหาก ในขณะที่หลับมันไม่ทราบนี่ นั่นละมันดับหมดทุกสิ่งทุกอย่างด้วยเวลานั้น จะเป็นความทุกข์ความทรมานทางจิต เรื่องราวอะไร ๆ ก็ตามที่มันเต็มหัวใจนั้น ขณะที่หลับสนิทจริง ๆ แล้วมันปลงหมดไม่มีอะไรเหลือเลย ปล่อยหมด

ผมก็เคยพูดกระมัง ดูเหมือนในหนังสือก็เคยมี เคยพูดว่า สามัญคนธรรมดาเรานี้ ถ้าเป็นข้อเปรียบเทียบนะ พอที่จะเทียบได้บ้าง ก็เราได้ชมนิพพานตอนที่หลับสนิทนั้นแล้ว นิพพานของคนมีกิเลสก็คือตอนหลับสนิท นั่นละพอเป็นเครื่องเทียบได้ เรียกว่านิพพานของคนมีกิเลส คือตอนหลับสนิทไม่มีอะไรต่างหาก อวิชชาก็ไม่ได้เสกสรรปั้นยอกันละ เวลานั้นไม่มีอะไรจะมาเสกกันเลย เงียบเลยนะ

ทีนี้พอตื่นขึ้นมามันก็ทำงานละที่นี่ไม่ว่าจิตใคร ทุกคนเป็นอย่างนั้น เรื่องเงียบท่านก็เงียบของท่าน แต่ไม่ใช่เงียบสูญนะ สิ่งที่ละเอียดเหนือสมมุติโดยประการทั้งปวงก็เป็นอย่างนั้น ไอ้สิ่งที่ยิบแย็บ ๆ เหมือนอะไร…หิ่งห้อยหิ่งเห้ยนั้น มันก็เป็นเรื่องของธาตุของขันธ์ เป็นอีกอันหนึ่ง พอธาตุขันธ์ปล่อยแล้ว เรื่องทั้งปวงที่ไปเกี่ยวข้องกับธาตุกับขันธ์นี้ก็ไปพร้อม ๆ กันหมดไม่มีเหลือ นั่นละปรินิพพานแล้วท่านว่า อันนี้ไม่มีอะไรไปพาดพิงก็พูดไม่ได้

อย่างพระอนุรุทธะตามเสด็จพระพุทธเจ้าในขณะที่จะปรินิพพาน จนกระทั่งปรินิพพานแล้วนั่นแหละ เราก็ดูเอาอย่างนั้น ในประวัติมีนี่ ในตำรับตำรามีนี่ พระอนุรุทธะเก่งในทางเจโตปริยญาณหรือปรจิตวิชชา รู้วาระจิต รู้จิตของคนอื่น เวลาพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เพียงเสด็จเข้าสู่ปฐมฌานเรื่อยไป ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ฌาน ๔ นี้เป็นรูปฌาน แล้วก็ก้าวเข้าไปถึงอากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ นี่เป็นอรูปฌาน ๔

จิตก้าวเข้าไป ๆ ผ่านไป ๆ ผ่านไปตรงไหนพระอนุรุทธะรู้หมด ๆ จนกระทั่งเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ดับสัญญาและเวทนาทั้งหมด สงบพระองค์อยู่นั้น พระทั้งหลายก็สงสัย มีพระอานนท์เป็นต้นนี้สงสัยถามพระอนุรุทธะว่า นี่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วเหรอ พระอนุรุทธะก็ตอบทันทีว่ายัง นั่นฟังซิ เวลานี้เข้าประทับอยู่ที่สัญญาเวทยิตนิโรธ

เพราะผู้ดูดูอยู่นี่ เห็นอยู่นี่ นั่นละพระจิตที่บริสุทธิ์นั่นดูซิสูญไหม ถ้าสูญพระอนุรุทธะเห็นได้ยังไง นั่นเอายันกันตรงนี้ซิ พระอนุรุทธะก็เป็นพระอรหันต์แต่เก่งทางปรจิตวิชชา ตามเสด็จตามพระจิตของพระพุทธเจ้า ตามเสด็จในเวลาเข้าฌานเรื่อย ๆ พอเคลื่อนไหวออกมาก็บอก เคลื่อนออกมาจากสัญญาเวทยิตนิโรธเรื่อยมาจนกระทั่งถึงพระจิตอันบริสุทธิ์ธรรมดา แล้วก้าวเข้าอีก

พอก้าวเข้าฌานคราวนี้ก็ถึงแค่จตุตถฌานซึ่งเป็นรูปฌาน ๔ พอผ่านจากรูปฌาน ๔ แล้วก็ไม่ก้าวเข้าไปอรูปฌาน ๔ เพราะทั้งสองอย่างนี้เป็นสมมุติด้วยกัน พระจิตที่เป็นวิมุตติก็ผ่านออกตรงกลาง เมื่อผ่านออกไปไม่มีอะไรพาดพิงแล้ว ก็พูดไม่ได้ว่าไปโน้นไปอยู่ที่โน่นที่นี่ เพราะไม่มีที่พาดพิง รูปฌาน อรูปฌาน เป็นสมมุติ สัญญาเวทยิตนิโรธก็เป็นสมมุติ พระจิตเข้าไปเกี่ยวข้องกับสมมุติใดก็บอกได้ว่า เวลานี้อยู่ตรงนั้น ๆ

พอออกจากสมมุตินี้โดยประการทั้งปวงแล้วนั่นพูดไม่ได้ จิตดวงนั้นแหละ จิตดวงบริสุทธิ์นั่นแหละ เวลาไม่มีอะไรพาดพิงแล้วก็พูดไม่ได้ แล้วสูญไหมล่ะ ฟังซิ แต่อยู่ในนี้มีสิ่งที่พาดพิงอยู่นี้ก็พูดได้ว่า พระจิตของพระพุทธเจ้าเวลานี้เสด็จไปตรงนั้น ๆ พระจิตที่บริสุทธิ์นั่นไปไหนก็รู้หมด เพราะมีสมมุติเป็นเครื่องพาดพิงกันพอให้ได้พูด พอออกจากนั้นแล้วไม่มีสมมุติก็ ทีนี้ปรินิพพานแล้วเท่านั้น นั่นชัด ท่านผู้รู้นิพพานพูดเรื่องนิพพานพูดได้เต็มปากซิ ก็พระอรหันต์เป็นผู้สอุปาทิเสสนิพพาน จิตเป็นนิพพานทั้ง ๆ ที่ยังมีธาตุมีขันธ์อยู่นี้ พูดได้เต็มปาก

เรื่องที่กล่าวมาเหล่านี้เป็นเรื่องสด ๆ ร้อน ๆ ในหัวใจของผู้ปฏิบัตินะ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เลยการอาจการเอื้อมการตะเกียกตะกายของผู้ปฏิบัตินะ ธรรมเป็นสวากขาตธรรม ตรัสไว้เพื่อพวกเรา พวกปฏิบัตินี่แหละ ไม่ได้ตรัสเพื่อใคร สวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบแล้ว ผู้ปฏิบัติดำเนินให้ชอบเถิดจะไม่สงสัยในเรื่องผลที่จะพึงได้รับ พระพุทธเจ้าแท้ ๆ เป็นผู้ตรัสไว้เป็นผู้สอนไว้นี่

พระอนุรุทธะนี้ก็เป็นเชื้อกษัตริย์ พระอนุรุทธะ พระอานนท์ เหล่านี้เป็นเชื้อกษัตริย์ในวงศ์พระศาสดานั่นแหละ เสด็จออกบวชเสียหมดเลย เป็นพระอรหันต์ล้วน ๆ ในหนังสือว่าสกุลพระสารีบุตรนี้ นางสารีมีลูก ๗ คน เป็นลูกชายทั้งนั้นอย่างนั้นไม่ใช่เหรอ ถ้าจำไม่ผิดเข้าใจว่างั้น ฟังว่าออกบวชดูเหมือนจะเป็นพระอรหันต์หมดหรือว่าไง ลืม ๆ ไปตรงนี้ พระเรวัตตะก็ใช่ พระเรวัตตะนี้ชอบอยู่ในป่าในเขา และอภินิหารเก่ง

วัดนี้ไม่ให้มีงานอะไร เพราะสงวนหมู่เพื่อนเพื่อให้ได้ภาวนา แล้วผมไม่ชอบมาแต่ไหนด้วย ไม่ใช่ขี้เกียจเรื่องงานทั้งหลาย แต่เรื่องภาวนาเป็นของสำคัญมาก นั่นเราถือเอาตรงนั้นเลย จึงเป็นเรื่องขี้เกียจ เรื่องยุ่งกับการสร้างนั้นสร้างนี้ไม่เอา เอาแต่อันนี้

เวลาเราปฏิบัติก็ไม่ได้สร้างอะไรนะ เรียนก็ตั้งหน้าตั้งตาเรียน พอหยุดจากเรียนแล้วก็ไปตามคำสัจอธิษฐานของเราที่ตั้งเอาไว้ แล้วออกเลย ออกก็ออกจริง ๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการก่อการสร้างอะไรทั้งนั้นเลยเรื่อย ๆ อยู่ในป่าก็ป่าจริง ๆ อยู่ในเขาก็เขาจริง ๆ สู้จริง ๆ เพราะฉะนั้นมันถึงไปคิดเรื่องอาหารการกินที่เป็นของป่าของเขา ที่เราเคยกินในป่าในเขา มันทำให้ระลึกถึงคุณค่าของสิ่งเหล่านี้นะ

เอ้อ ที่นี่พระพุทธเจ้าทรงลืมพระเนตรบูชาต้นโพธิ์นี่ มันวิ่งถึงกันนะในเรื่องเหล่านี้ เพราะท่านเห็นคุณค่า เห็นบุญเห็นคุณของต้นโพธิ์ ตั้ง ๗ อาทิตย์แน่ะ แห่งละ ๗ วัน ผมก็ลืม ๆ ในพุทธประวัติก็มีที่ยกต้นโพธิ์ขึ้นเป็นคู่เคียงของศาสนานั่นน่ะ นี่ละก็คือพระองค์ทรงเห็นคุณค่าของต้นโพธิ์ พูดภาษาของเรานี้ก็เรียกว่าเห็นบุญเห็นคุณ จึงแสดงกตัญญูขึ้นมาต่อต้นโพธิ์ที่พระองค์ตรัสรู้

ทีนี้อาหารชนิดใดที่เราเคยขบเคยฉันมา ตั้งแต่เวลาต่อสู้กับกิเลสแบบสมบุกสมบัน แบบรอดเป็นรอดตายมานั้น มีอาหารประเภทใดบ้าง นี่ซิพอมาเจอเข้าทีไรมันไม่ได้ชินนะ มันหากเป็น สะดุดกึ๊ก ๆ เลย พวกหน่อไม้ พวกผักอะไร..ผักกระโดนกระเดน ผักเครื่องของป่านั่นแหละ มันสะดุด ๆ นะ มันเหมือนกับว่าเป็นคู่มิตรคู่สหายคู่พึ่งเป็นพึ่งตายกันมาแต่ก่อน มันเป็น มันไม่ได้ชินนี่ ทุกวันนี้ก็ไม่ชิน

ผักอะไร เขาเรียกโหระพาระเพออะไร หอม ๆ นั่น นั่นก็มีอยู่บนเขานะ มีอยู่ตามน้ำซับน้ำครำ พวกนี้มีแต่มันเป็นเถาวัลย์ไม่ใช่เป็นต้นนะ คือมันเป็นเถาเกิดอยู่ตามน้ำซับน้ำครำ เขาเรียกน้ำครำ ให้โยมแหละเขาไปเด็ดมากิน วันละยอดสองยอดเรื่อย แน่ะ ถ้าวันไหนมีพริกมีอะไรก็ให้เขาไปเด็ดเอามากิน เพราะเราอยู่อย่างนั้น อยู่ใกล้ ๆ มันก็มี บางแห่งอยู่ใกล้ ๆ กับที่เราฉันเลยก็มี

พระกรรมฐานไปอยู่ที่ไหนต้องมีน้ำ ไม่มีได้เหรอ แล้วก็ผักมันมีหลายชนิด อย่างธรรมลี นี่เป็นนักกินผัก คนจังหวัดเลย เรายังสู้ธรรมลีไม่ได้นะ เรื่องนักกินผัก อู๋ย กินได้หมด กินเกลี้ยง แตกฉาน ผักชนิดต่าง ๆ มีเยอะนะในป่า องค์หนึ่งรู้อย่างหนึ่ง ๆ นั่นแหละที่ได้กินผักหลายต่อหลายชนิด ก็เพราะองค์หนึ่งรู้อย่างหนึ่ง ๆ เวลาเอามากินน่ะ เคยพบกับเพื่อนกับฝูงหลายจังหวัดต่อหลายจังหวัดนี่นะ องค์นั้นชำนาญกินผักอันนั้น องค์นี้ชำนาญผักอันนั้น ๆ องค์นั้นชำนาญผักอันนั้น ทีนี้หลายองค์ต่อหลายองค์ พบกันหลายครั้งหลายหนก็จำได้ซี มันก็กว้างขวางไปเอง

นี่ทุกวันนี้ ผักเหล่านั้นมาผ่านนี้มันจะสะดุดหัวใจ มันไม่ได้ชินนะ อย่างผักกระโดนอย่างนี้ก็เหมือนกัน นั่นผมกิน ผักอะไรหอม ๆ ที่ว่าโหระพาระเพอ มันอยู่ตามน้ำซับน้ำครำ แล้วก็หน่อไม้ อยู่ในป่ากินแต่หน่อไม้ ถ้าเป็นหน้านี้นะหน้าหน่อไม้ สำคัญที่ผักนั่นแหละ ไปบิณฑบาตก็เราไปหาอย่างนั้นนะ ไม่ใช่มันไม่มีหนา หรือเราไปถูกที่แร้นแค้นกันดาร ไม่ใช่อย่างนั้นนะ เป็นเพราะเราไปหาเอง

บ้านไหนคนนับถือมาก ๆ ยุ่งมาก อาหารการบริโภคมาก เขากวนไม่ได้ภาวนา ก็เราหาภาวนาอย่างเดียวนี่ เพราะฉะนั้นที่ไหนที่เห็นว่าเป็นความสะดวกในการภาวนาเราจึงชอบที่นั่น ก็ที่คนไม่ยุ่งนั่นเอง เมื่อคนไม่ยุ่งอาหารก็ไม่ค่อยมีละ และนอกจากนั้นยังไปหาบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ๓-๔ หลังคาเรือนบ้าง ๙ หลัง ๑๐ หลังคาเรือนบ้าง ก็อยู่อย่างนั้น ถ้าเราไม่ฉันกี่วันนี้ก็ไม่ได้พบคนละ พบแต่เราคนเดียวนี่ เขาก็ไม่มา มาหากันอะไร เขาก็ไม่ใช่เป็นคนยุ่งกับพระด้วย เราก็ไปหาที่เช่นนั้นด้วย แน่ะก็อยู่สบาย

นั่นแหละที่ได้ฟัดกับกิเลสทั้งวันทั้งคืนเห็นดำเห็นแดงกัน ข้าวไม่กินภาวนายิ่งดี หลายวันกินทีหนึ่ง หลาย ๆ วันถึงกินทีหนึ่ง สมาธิก็แน่ว พอทางด้านปัญญานี้ก็เหมือนกัน ปัญญาก็คล่องตัวถ้าอดอาหารนะ มันช่วยกันจริง ๆ นี่หมายถึงสำหรับผมเอง จะว่านิสัยหยาบอะไรก็แล้วแต่เถอะ เรื่องอาหารนี้สำคัญมากกับเรา เพราะฉะนั้นเราจึงได้ท้องเสีย เพราะเราชอบอด เนื่องจากว่าอดอาหารแล้วภาวนามันช่วยได้นี่นะ ไม่ได้บังคับบัญชาอะไรกันมากนักนี่

ถ้าฉันอิ่ม ๆ แล้ว โอ้โห ขี้เกียจก็มาก นอนก็เก่ง ราคะตัณหาก็มักเกิด ได้ระวังอันนี้ละมากนะ คือธาตุขันธ์เวลามันคึกคะนองมันเป็นของมันนะ เราไม่ได้ไปคึกคะนองกับมัน ไม่ได้ไปสนใจยินดีไยดีกับมันก็ตามนะ แต่เรื่องธาตุเรื่องขันธ์เป็นเครื่องเสริม มันแสดงออกมาเราก็รู้ อย่างอาหารดี ๆ ตามสมมุตินิยมนี้ด้วยแล้ว พวกผัด ๆ มัน ๆ โห เก่งมากนะ ได้ระวัง ผมไม่ได้กินแหละ ถึงจะไปในเมืองในที่ไหน จำเป็นก็กินนิด ๆ ระวังขนาดนั้นนะ

อาหารสัปปายะ อาหารเป็นที่สบาย ในธรรมที่ท่านสอนไว้ว่าที่สบาย สบายในการภาวนาต่างหากนี่ ไม่ได้สบายเพื่อราคะตัณหาเกี่ยวกับธาตุขันธ์นี่นะ อาหารสัปปายะคืออาหารเป็นที่สบายในการภาวนา กินแล้วธาตุขันธ์ก็ไม่กำเริบ การภาวนาก็สะดวกสบาย นั่นอาหารสัปปายะ ท่านหมายเอาอย่างนั้นต่างหาก เพราะฉะนั้นจึงต้องได้ระมัดระวัง โอ๊ย กินแบบนักโทษนั่นแหละพูดง่าย ๆ

เรายังไม่ลืมท่าน….วัดนรนาถฯ ท่านพูด เอ้อ ท่านพูดแปลกนะ คุยกับท่าน ท่านพูดเป็นธรรมะน่าฟังอยู่นะ เพราะท่านสนใจภาวนาตลอดนี่ ท่านว่า โอ๊ ผมอยู่ในกรุงเทพฯ นี่ ไม่ได้ฉันอาหารกรุงเทพฯ ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกนะท่านอาจารย์ ว่าอย่างนั้นนะ ทำไมถึงไม่ฉันร้อยเปอร์เซ็นต์ โอ๊ย ถ้าฉันพวกอาหารประเภทโลก ๆ ไม่ได้นะ แก่ปานนี้ราคะมันก็แสดงเหมือนกัน คือมันเสริมท่านว่า ต้องได้ระมัดระวัง ฉันของแห้ง ๆ เหิ้ง ๆ ไปอย่างนั้นแหละท่านว่า อยู่ในกรุงเทพฯ ก็จริง หยิบเล็ก ๆ น้อย ๆ ไป ไม่ได้ฉันอะไรเต็มเม็ดเต็มหน่วยแหละ

แต่ธาตุขันธ์มันชอบ ท่านก็ว่าอย่างนั้นแหละ ท่านก็พูดถูกนี่ แต่ธรรมไม่ชอบนั่นซิท่านว่า ฉันลงไปแล้วมันก็เป็นโทษกับเรานี่แหละ การภาวนาไม่สะดวก ท่านว่าอย่างนี้ คือท่านภาวนาอยู่เป็นประจำทุกวัน ถ้าฉันแห้ง ๆ ฉันอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปอย่างนั้นแล้วภาวนาก็สะดวก นั่น จิตใจก็ไม่ดิ้นไม่ดีด เพราะไม่มีอะไรเสริมมัน ธาตุขันธ์ไม่เสริมมันท่านว่า นั่น

ผมก็ เอ๊ ท่านพูดน่าฟัง เพราะเป็นคำพูดที่เราเคยปฏิบัติอยู่แล้วมาดั้งเดิมตั้งแต่เราออกปฏิบัติ เราปฏิบัติอย่างนั้นนี่ เวลาท่านพูดตรงกับความจริงทำไมจะไม่ยอมรับกัน เอ้อ มันเข้าทีแล้วนี่พูดนี่น่ะ เพราะเราเป็นอย่างนั้นนี่ อดอยากขาดแคลนจริง ๆ ในหัวใจของเรานี่ บังคับให้มันอดอยาก จนกระทั่งพรรษาที่ ๑๖–๑๗ ล่วงไปแล้วนี่แหละถึงได้ปล่อย ก็เป็นจังหวะหรือเป็นเวลาที่ธาตุขันธ์ไม่ค่อยจะดูดดื่มกับอาหารอะไรนักล่ะนะ อายุ ๓๖–๓๗ ไปแล้วนะ อย่างนั้นก็ฉันไปมันถึงค่อยสะดวก เรียกว่ามันไม่มีอะไร ฉันสบาย

จากนั้นมาก็เสริมมัน เสริมธาตุขันธ์ คือมันไม่อยากจะขบจะฉันอะไร ต้องได้ส่งเสริม เช่นนมอย่างนี้ แต่ก่อนผมไม่แตะเลยนะนม ตั้งแต่เรียนหนังสืออยู่มันก็เป็น รู้ชัด ๆ จึงไม่เอา เรียนหนังสืออยู่ผมก็ไม่เอานะ ไม่ฉัน ได้มาเวลาเขาเอามาถวาย..มี เรียนหนังสือเขามาถวายนี้ก็เอาถวายครูบาอาจารย์ไป เราไม่เอา

อย่างทุกวันนี้ฉันลงไปมันก็เหมือน ๆ อะไร มันไม่ได้เสริมนี่ ฉันอะไรลงไปที่ว่ามันเคยเสริมแต่ก่อน ๆ มันไม่ได้เรื่องทั้งนั้นแหละเดี๋ยวนี้อาหารการบริโภค เพราะธาตุขันธ์มันอ่อนตัวพอแล้ว มีแต่จะทรุดลงไปเรื่อย ๆ แต่ก่อนได้ระวังกันทุกอย่างนั่นแหละ ไม่ระวังไม่ได้นักภาวนา จะเห็นแก่ลิ้นแก่ปากไม่ได้นะ ต้องได้มองดูธรรมอยู่ตลอดเวลา อยากขนาดไหนก็ไม่เอาถ้าเห็นว่าเป็นข้าศึกต่อธรรมแล้ว ต้องได้บังคับกันอยู่ตลอด นั่นแหละถึงได้เรียกว่าเป็นเหมือนนักโทษ

การฝึกจิตทรมานเจ้าของนี่มันเหมือนนักโทษดี ๆ นี่เคยทำมาแล้วไม่ใช่มาพูดเฉย ๆ นะ เราเคยทำมาแล้ว ก็พูดได้อย่างเต็มปากละซิ อยู่ในป่าในเขาอยู่เงียบ แหมมันสงัดเอาจริง ๆ นะ ปรากฏว่าใจดวงนี้น่ะมันเหมือนครอบโลกธาตุนี่ ความสว่างกระจ่างแจ้งของจิต ความสงัดของจิตนะ มันเหมือนไม่มีอะไรในโลกนี้เลย มันกังวานอยู่แต่ความรู้เจ้าของนี่ปรากฏว่า นั่นฟังซิ แล้วไม่มีอะไรก็มันกังวานอยู่ด้วยความรู้

คือความรู้นี่เด่นขนาดนั้นนะ มันกังวานอยู่ด้วยความรู้ สว่างกระจ่างแจ้งเป็นแบบอัศจรรย์พูดไม่ถูก อยู่คนเดียวอย่างนั้น ๆ เหมือนมันครอบโลกธาตุไปหมดด้วยความรู้ที่สว่างไสวที่ โอ๊ย พูดไม่ถูก เรื่องเงียบนี่เงียบขนาดนั้นนะ ก็ไม่มีอะไร ในเขาจะไปมีอะไร มันถึงได้เห็นชัดในหัวใจของเรา

เวลาเริ่มภาวนาทีแรก ก็เมื่อหัวใจทำงานตุบตับ ๆ ก็ฟัง ทีนี้พอมันเพลินในเรื่องการภาวนาไปแล้วเลยหายเงียบไปเลย ไอ้ตุบตับ ๆ ก็หายเงียบไป ผลสุดท้ายร่างกายก็หายไปตาม ๆ กันเลย นั่นถึงวาระมันหายมันหายไปอย่างนั้นนะ จิตมันรู้ ไม่ทราบว่ารู้อยู่ทางสูงทางต่ำรู้ยังไงต่อยังไง หากปฏิเสธไม่ได้นะคำว่ารู้นี่น่ะ หากไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์ว่ารู้อยู่สูงอยู่ต่ำอยู่กับอะไร อยู่กับร่างกายหรือไม่ร่างกาย

นี่พูดถึงเวลาฝึกทรมานเจ้าของ อาหารต้องมีแต่อาหารอย่างว่าละ เช่น ข้าวเปล่า ๆ ไม่ต้องพูดละ จนชิน..เรื่องฉันข้าวเปล่า ๆ อยู่ในป่าในเขา บางทีถ้าสมมุติว่าเขาตำน้ำพริกมาให้เขาก็ใส่ปลาร้าเสีย ปลาร้าก็เป็นปลาร้าดิบ อย่างนี้ก็ฉันไม่ได้เสียจะว่ายังไง เพราะไม่ได้มีใครตามมานี่ เขาจะตามมาอะไร เราก็ไม่ให้เขาตามนี่ เราไม่ต้องการยุ่ง บางทีเขาก็ตำน้ำพริกให้สักห่อหนึ่งมา น้ำพริกถ้ามีแต่พริกล้วน ๆ เราก็ฉันได้ แต่นี้มีปลาร้าอยู่นั้น ปลาร้าดิบนี่เขาไม่ใส่ปลาร้าสุก ก็กินไม่ได้เสีย

นี่พูดถึงเรื่องการขบการฉัน ฉันข้าวเปล่า ๆ มันฉันได้มากแค่ไหน สองสามคำก็อิ่มแล้วจะไปฉันได้มากอะไร ทีนี้เดินจงกรมตัวปลิวไปเลย นั่งภาวนานี่เป็นหัวตอ ไม่มีโงกมีง่วง มันก็บ่งให้เห็นได้ชัด ๆ ว่า เพราะอาหารนั่นเองทำให้โงกให้ง่วง นี่มีแต่ข้าวเปล่า ๆ มันก็ไม่ง่วง แล้วประการหนึ่งข้าวเปล่า ๆ มันไม่ฉันได้มากนี่ ถ้ามีกับดี ๆ ก็ฉันได้มาก ฉันได้มากก็นอนมาก ขี้เกียจมากน่ะซี โงกง่วง นั่งสัปหงกงกงันไปละ ก็เคยเป็นอยู่แล้ว รู้อยู่ ไปอยู่อย่างนั้นมันไม่นี่ ฉันอาหารอย่างนั้นนี่นะ

นี่ละบังคับเอานะ เราไม่ชอบแต่ธรรมท่านเป็นอย่างนั้น เราชอบธรรมเราต้องดำเนินตามธรรม อาหารที่ไหนมันก็มีนี่นะ เราเข้ามาทำไมอย่างนี้ แน่ะ เรามาหาธรรม เมื่อหาธรรมก็ดำเนินตามธรรมซิ นี่มันบังคับให้เป็น เพราะฉะนั้นจึงอดบ้างอิ่มบ้าง อยู่ไป ขอให้ใจได้สะดวกสบาย

บางทีนี้ก็พูดมันสุดมันสิ้นไปเสียว่า บางทีมันเป็นเหมือนกันนะ ทั้ง ๆ ที่ราคะตัณหาก็มีอยู่นะ แต่เวลาไปอยู่ในแดนทรมานอย่างนั้น มันเหมือนกับเป็นพระอรหันต์น้อย ๆ ขึ้นมา ไม่มีอะไรเลยในหัวใจ ปรากฏว่ามันเหมือนเป็นพระอรหันต์น้อย ๆ ขึ้นมาองค์หนึ่งในเขาในป่า จิตมันสว่างไสวมัน โอ๋..นี่เห็นชัด ๆ อยู่นี่ มันเป็นเรื่องอัศจรรย์อยู่ในหัวใจเจ้าของ มองลงไปนี้มันสว่างจ้าอยู่ ซึ่งแต่ก่อนมันมืด มันเป็นถ่านไฟดำ ๆ เราก็เห็นอยู่ ถ่านไฟแดง ๆ ด้วยไฟเราก็เห็นอยู่ อันนั้นมันไม่เป็น มันสว่างจ้าอยู่ในหัวอกนี่ ความรู้มันมีอยู่ตรงนี้

เพราะฉะนั้นถึงยันกับพวกปริยัติทั้งหลาย ปริยัติเรียนต้องขึ้นสมองเราบอก ถ้าเป็นภาคความจำต้องขึ้นสมอง สมองทำงานความจำจนสมองทื่อ เราก็เคยเรียน มีแต่บังคับจะให้เรียน ๆ ให้จำ ๆ จนกระทั่งสมองทื่อไม่ทำงานเลย หยุดเอาเฉย ๆ คือสมองไม่ทำงานให้ มันทื่อหมด

ทีนี้เวลามาภาคปฏิบัตินี้มันไม่ได้ขึ้นสมองนะ มันอยู่กึ่งกลางนี่ เห็นชัดขนาดนี้จะว่าไง ก็มันเห็นอยู่นี่ ภาคความจำมันอยู่สมอง ภาคความจริงมันเข้าอยู่ในหัวใจ อยู่ตรงกลางนี่ พอจิตสงบก็สงบตรงนี้นี่ สงบอยู่ตรงนี้ ที่นี่เวลาสว่างไสวก็สว่างไสวตรงนี้ มันหนักมันเบาขนาดไหนในเรื่องอารมณ์ของจิตที่เกี่ยวข้องกับจิต ก็เป็นอยู่ตรงกลางนี้ ไม่ได้เป็นอยู่บนสมองนี่นะ มันก็เห็นได้ชัดล่ะซิ ตลอดไปเลย จนกระทั่งมันจะสว่างขนาดไหน ละเอียดขนาดไหน มันก็เป็นอยู่ตรงกลาง ๆ อยู่งั้น ไม่ได้ขึ้น นี่เห็นได้ชัดทีเดียว

ที่ท่านกล่าวไว้ในบาลีเป็นพุทธพจน์นะ ท่านกล่าวไว้ว่าจิตนั้นอยู่ตรงกลาง และอยู่ในหัวใจเป็นที่อันหนึ่งของจิตว่างั้น ท่านว่า คูหาสยํ หทยํ ในหัวใจมันอยู่ตรงกลาง ในเวลาจิตสงบ เริ่มจากสงบเข้าไป ๆ มันก็รู้อยู่ภายใน ๆ นี่ไม่ได้มารู้ข้างบนนะ มันเป็นอยู่ข้างในตรงกลาง ๆ นี้ จนกระทั่งถึงความสว่างไสว ไม่ว่าขั้นของสมาธิที่สงบตัวก็อยู่ตรงนี้ ขั้นของปัญญาที่เบิกอะไรต่ออะไรออก ก็สว่างไสวอยู่ภายในนี้ ละเอียดเข้าไปขนาดไหนก็อยู่ตรงกลาง ๆ ตลอดเลย ไม่ได้เคยปรากฏว่าอยู่บนสมอง นอกจากเรียน นั่นเห็นได้ชัดเรียน ว่าสมองทำงานจริง ๆ ภาคภาวนานี้ไม่มีขึ้นสมองเลย อยู่ตรงกลาง

แล้วก็เห็นเป็นสักขีพยานอีก ตอนที่ว่าจะตายนั่น ตอนที่ถ่าย ๒๕ หน อาเจียน ๒ หนนั่นมันก็อยู่ตรงนี้ โอ๋ เวลาอาเจียนนี่มันพุ่งไปติดฝาโน่นนะความแรงของมัน อาเจียนนี่เศษอาหารนี่พุ่งจากนี้ติดฝา ทีนี้ก็อ่อนลงทันทีเลยนะ อ่อน มันจะไปละ เห็นได้ชัดทีเดียวอ่อนลง ๆ อย่างรวดเร็ว แล้วความรับผิดชอบของร่างกายส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ในตัวของเรานี้นะ ข้างล่างก็ขึ้นมา ข้างบนก็ลงไป ลงไปตรงกลางนี่นะ ความรับผิดชอบของจิตที่ซ่านออกไปตามร่างกายส่วนต่าง ๆ นี้หดตัวเข้ามาอย่างรวดเร็วทีเดียว ข้างล่างก็ขึ้นมานี่ เรานั่งอยู่เขียงส้วม แต่แปลกอยู่ไม่ล้มนะ ก็มันรู้ตัวอยู่ไม่ได้เผลอนี่ เวลามันหดเข้ามา มันหดเข้ามาตรงกลาง ศีรษะเรานี้ก็ลงมานี้ ข้างล่างก็ขึ้นมามาอยู่ตรงกลาง

จากนั้นมาก็ปล่อยเลย หมด ร่างกายก็เป็นเหมือนท่อนไม้ท่อนฟืน ตาไม่ใช่ตาบอดนะ มันเลยบอด คือฟังแต่ว่าท่อนไม้ท่อนฟืนก็แล้วกันเถอะ ตาจึงไม่มีความหมาย ตาก็เป็นฟืนไปหมด หูเป็นฟืนไปหมดนั่นแหละ คือไม่มีคำว่าบอด มันเลยบอด เพราะบอดเช่นเราหลับตานี้เรายังเห็นดำ ๆ หูหนวกเราอุดหูเรานี้ยังได้ยินเสียงอื้อ ๆ ของมัน อันนี้มันเป็นท่อนไม้ท่อนฟืนไปเลย ประสาทส่วนต่าง ๆ หมด นั่นฟังซิ แล้วก็เป็นท่อนไม้ไปหมด

เวทนาของกายที่เป็นอย่างสาหัสนั้นก็ดับวูบหมดเลยไม่มีอะไรเหลือ ร่างกายดับ ทุกขเวทนาในร่างกายที่มันอ่อนลงมา ตอนมันจะตายนั่นละที่ร่างกายเวทนาที่เป็นอย่างสาหัสนั่นละมันอ่อนตัวลง ๆ คือเวทนามันเต็มที่แล้วมันอ่อนตัวลง ๆ คือมันจะไป พออ่อนตัวลงมันก็เข้าไปจุดกลางแล้วก็ดับเลยเวทนา ทุกขเวทนาที่เป็นอย่างสาหัสดับวูบลงพร้อมกันกับกายหมดความหมายนะ พอกายหมดความหมายทุกขเวทนาก็หมดความหมาย หมดไม่มีอะไรเหลือเลย นั่นฟังซิ ยังเหลือแต่ความรู้อันเดียวเท่านั้น ความรู้นั้นเราก็พูดไม่ถูกนะ คือตอนที่มันผ่องใสเราก็รู้ว่ามันผ่องใส แต่ก่อนรู้กันทุกระยะ ๆ แต่ตอนนั้นคำว่าผ่องใสหรือเศร้าหมองมันก็ไม่มี ในตอนที่ว่ามันจะตายนั้นน่ะ ก็เรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้แหละจะว่าอะไร มันเป็นไปล่ะ

ทีนี้พอมันมีสักแต่ว่ารู้เท่านั้น แต่แปลกอยู่นะ สังขารมันยังใช้ได้อยู่ ความปรุงของจิตยังใช้ได้อยู่ ทั้ง ๆ ที่ตา หู จมูก ลิ้น กายทุกส่วนเป็นท่อนไม้ท่อนฟืนไปหมดแล้ว หมดความหมายแล้ว แต่ทำไมสังขารนี้อยู่ในวงขันธ์มันปรุงได้ เห็นได้ชัด ๆ นี่จะว่ายังไง ถ้าว่าขัดแย้งกันตรงไหนก็ยอมรับว่ามันขัดแย้ง เพราะมันปรุงได้อยู่นี่ ร่างกายทุกส่วนหมดความหมายไปแล้ว แต่ความปรุงอันนี้…หรือมันเกี่ยวกับจิตอย่างว่านะ เพราะปรุงออกมามันก็ออกมาจากจิต สัญญาก็ออกมาจากจิตก็ถูก

มันปรุงของมันว่า หือ จะไปเดี๋ยวนี้เชียวหรือ ตอนมันหดเข้ามาแล้วเรียบร้อยหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ว่าเหมือนมันยังเปอร์เซ็นต์เดียว เรียกว่า ๙๙% ก้าวเข้ามาถึง ๙๙% พอ ๑๐๐% ก็ดีดพับออกเลย ประโยคหลังประโยคสุดท้ายก็จิตเคลื่อนออก แต่นี้ยังไม่เคลื่อน แต่มันปรุงได้ทั้ง ๆ ที่มีแต่ความรู้ที่สักแต่ว่ารู้ ร่างกายก็หมดความหมาย เวทนาก็หมดความหมายไม่มีอะไรเหลือแล้ว ก็เหลือแต่สักแต่ว่ารู้ แล้วมีอันหนึ่งปรุงขึ้นมาว่า หือ จะไปเดี๋ยวนี้เชียวหรือ เอ้า ไปก็ไป ว่างั้นนะ

แปลกอยู่นะ เอ้า ไปก็ไป กำหนดปั๊บลงไปอีก เหมือนกับจะเสริมให้มันไป จะช่วยให้มันไปเลย เอ้า จะไปก็ไป มันก็ตั้งท่าไปตั้งหน้าไป พูดง่าย ๆ นะ แต่แล้วมันกลับไปสนับสนุนกัน พอจ่อจิตเข้าไปตั้งท่าจะไปอยู่นี้ อยู่กับผู้รู้เท่านั้นไม่ได้อยู่กับอะไร เท่านั้นแหละ แล้วทำไมความรับผิดชอบของจิตนี้ซ่านออกไปอีกนะ แทนที่จะไปกลับไม่ไป ซ่านออกไปอีกนะ ทางนี้ก็ขึ้นมา ทางนั้นก็ลงไปข้างล่าง ลงไปทั่วสรรพางค์ ออกทั่วสรรพางค์ร่างกายอย่างรวดเร็วเลย หือ ไม่ไปหรือ ไม่ไปก็อยู่ซี ว่างั้น เอ๊ มันก็คิดได้นี่นะมันแปลกอยู่นะ สังขารนี้มันปรุงได้

ทีนี้พอความรู้นี่ซ่านออกไปทั่วสรรพางค์ร่างกายแล้ว ตาก็เริ่มรู้ว่ามันฝ้าฟาง หูก็เริ่มรู้ได้ยินเสียงอย่างนั้นละ นี่มันออกไป พอความรับผิดชอบมันออกไปสู่อวัยวะส่วนต่าง ๆ ประสาทส่วนต่าง ๆ มันก็รับทราบของมัน แต่ก่อนนี้เงียบหมดเลยมีแต่รู้อันเดียว นั่นละ ๙๙% ถ้าสมมุติว่าจิตมัน ถ้าเป็นอาการอีกสมมุติหนึ่ง คือสมมุติสุดท้ายก็ว่า แสดงอาการสุดท้ายเปอร์เซ็นต์ที่ร้อย ก็เรียกว่าแย็บ ความเคลื่อนของจิตที่ออกจากร่างนี้ไปเลย ๑๐๐% เขาเรียกว่าตายเลย

นี่ก็ทำให้คิดเหมือนกันว่า คนเราถ้ามีสติดี ๆ มีสติอยู่แล้วเราจะทราบ เวลาตายนี้คนเวลาจะตายจริง ๆ เวทนาจะดับหมดนะ เวทนาจะไม่มีเหลือเลย ทุกขเวทนาจะดับหมด ถ้าจะตายจริง ๆ ในขณะที่จะตาย ก่อนจะตายนั้นจะเห็นชัดเจนว่าเวทนานี้ดับหมด แล้วจิตถึงจะเคลื่อนตัวออก จิตดวงนี้เคลื่อนออกละ แต่นี้มันไม่รู้อย่างนั้นซิคนเรา บางทีทึ้งเนื้อทึ้งตัว เลยไม่รู้ว่าทุกขเวทนาเป็นยังไง มันหมดสติสตังไปเลยนั้นก็มีเยอะ ถ้ามีสติแล้วก็อย่างว่านี่ ต้องรู้

เวลาจะตายจริง ๆ นี้ทุกขเวทนาต้องดับหมดไม่มีอะไรเหลือ แล้วจิตถึงจะเคลื่อนออก นั่นหมายถึงการถ่ายที่ว่าถ่าย ๒๕ หนนี้ แต่โรคหัวใจผมนี้ไม่ถึงนั่นนะ เพียง ๙๘ เท่านั้นไม่ถึง ๙๙% คำว่า ๙๘ เป็นยังไง เราจะพูดได้แค่ ๙๘ กับ ๑๐๐% คือต่ำลงมากว่านั้นเราพูดไม่ถูกนะ อันนี้มันมีจุดที่พูดได้ เช่นอย่าง ๙๘% นี่มันรวมตัวเข้าไป โรคหัวใจนี่นะ เวลามันอ่อนตัวเต็มที่แล้วมันรวมตัวเข้าไป มันไปเหนื่อย ละเอียดอยู่ที่ตรงหัวใจ นอกนั้นมันปล่อยมาหมดนะ ปล่อยหมด แต่ตรงนี้มันไม่ปล่อยนี่ คืออวัยวะส่วนละเอียดที่เป็นทุกขเวทนาส่วนละเอียดนี่ มันเป็นอยู่ในหัวใจนี้ เป็นอยู่ตรงกลางพูดง่าย ๆ มันไม่ปล่อย จึงเรียกว่า ๙๘%

ถ้าหากว่ามันจะไปจริง ๆ มันต้องปล่อยนี้อีกทีหนึ่งแล้วเป็น ๙๙ อย่างที่ว่านั่นละ จากนั้นใจก็ออกจากร่าง นี่โรคหัวใจเป็นแค่ ๙๘ คือมันปล่อยเข้าไปหมดแล้ว ก็เหลืออยู่นี้อย่างละเอียด จุดที่มันอ่อนเพลียเต็มที่ มันมาอยู่ตรงนี้ กายเวทนาส่วนละเอียดมันมีอยู่ตรงกลางหัวอก ส่วนเหล่านั้นมันปล่อยมาหมด แต่ก่อนมันเหนื่อยมาหมดเหล่านี้ มันเหนื่อย ๆ ทีนี้มันปล่อยความเหนื่อยเหล่านั้นมาหมด มาเหนื่อยตรงกลางหัวอกจุดเดียวนี้ จึงเรียกว่า ๙๘% ออกจากนั้นแล้วมันนับไม่ได้ ผมไม่สามารถจะพูดได้ว่ากี่เปอร์เซ็นต์ มันเห็นได้ชัดเฉพาะ ๙๙ กับ ๙๘% นั้น จิตจะเคลื่อนตัว

พากันตั้งใจภาวนานะอย่านอนใจ นอนใจกับนอนจมมันอันเดียวกันแหละ ให้เราได้เบาใจกับหมู่เพื่อนที่ตั้งหน้าตั้งตาประกอบความพากเพียร อย่าให้ได้หนักใจกับหมู่เพื่อน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้มาเพื่อมุ่งอรรถมุ่งธรรมทั้งนั้น ส่วนหยาบ ๆ อย่าให้มากระเทือนกันนะ ส่วนหยาบ ๆ กิเลสหยาบ ๆ อย่าให้ออกมาเพ่นพ่านในวงพระวงเณรวงปฏิบัติเรา มันขายขี้หน้าแท้ ๆ นะ มันขายจริง ๆ ความกระทบกระเทือน ความทะเลาะเบาะแว้ง ความไม่ลงรอยกัน เหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลสตัวหยาบ ๆ อย่าให้มันออกมาในวงธรรมะของเราเป็นอันขาด จะเป็นการขายเนื้อขายตัวอย่างมาก อย่างเหลวแหลกเลย ดูไม่ได้ จะเป็นเหมือนกับจารึกเข้าสู่หัวใจ จนกระทั่งวันตายก็ลืมไม่ได้อย่างนี้ ถ้าเป็นชนิดอย่างนี้

ผมถ้าอยู่คนเดียวอารมณ์อันเดียวนี้มันอยู่ได้สบาย ไม่ยุ่งกับอะไร ออกจากนั้นก็เข้าทางจงกรม เดินจงกรมบ้างอะไรบ้างตามภาษาของเจ้าของนั่นแหละ อย่างนั้นสบาย หากไม่จำเป็นจริง ๆ ผมไม่อยากเกี่ยวกับแขกกับคนหรืออะไร ๆ แต่มันหากจำเป็นจะว่ายังไง เขาก็มาด้วยน้ำใจอันหนึ่ง เราก็เล็งเห็นน้ำใจของเขา หัวใจเขานั่นแหละเรื่องมัน เช่นเดียวกับเราเคยเห็นหัวใจเราที่มุ่งต่อครูบาอาจารย์ทั้งหลาย นั่นเอาหัวใจเจ้าของออกกางแล้วก็ปฏิเสธกันไม่ได้ปัดกันไม่ได้คนเรา ก็ต้องยอมรับกัน ยากลำบากก็ต้องถูไถกันไปอย่างที่เป็นมานี้แหละจะว่ายังไง

อย่าว่าแต่ประชาชนญาติโยมเลย แม้แต่พระเณรทั้งหลายนี้ทำไมใครจะไม่ทราบว่ามากขนาดไหน นี่ถ้าธรรมดาจะรับกันไว้ทำไมเอานักหนา นั่น แต่ก็รับด้วยเหตุนี้เองละ ขอให้ท่านทั้งหลายได้เห็นใจ ที่ผมได้รับไว้ก็ด้วยใจที่บริสุทธิ์จริง ๆ ด้วยความเมตตาต่อหมู่ต่อเพื่อน

และผู้ที่แนะนำสั่งสอนทุกวันนี้ก็ไม่ใช่คุยนะ มันหายากนะ สอนภาคปฏิบัติทางด้านจิตใจ ไอ้สอนสุ่มสี่สุ่มห้างู ๆ ปลา ๆ นี้เราก็เคยได้ยินมาแล้วเคยเห็นมาแล้ว เราไม่อยากฟัง ถึงเราจะขี้ริ้วขี้เหร่โง่ขนาดไหนเราก็ไม่อยากฟังคำประเภทนั้น เราอยากฟังอย่างถึงใจ ๆ อย่างพ่อแม่ครูจารย์มั่นที่ท่านเทศน์ให้ฟัง นั่นถึงใจจริง ๆ จนกระทั่งวันตาย ผมไม่มีอย่างอื่น มีแต่ความดูดดื่มจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของท่านที่ผ่านไป เพราะมันถึงใจ

เอาละเลิกกัน


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก