สมาธิ-ปัญญาภาคปฏิบัติภาวนา
วันที่ 22 สิงหาคม 2529 เวลา 19:00 น. ความยาว 60.25 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๙

สมาธิ-ปัญญาภาคปฏิบัติภาวนา

ผู้ฝึกหัดเริ่มปฏิบัติจิตตภาวนา ในขณะฟังเทศน์ไม่จำเป็นต้องส่งจิตออกมาสู่ภายนอก เช่นออกมาหาผู้เทศน์ มาฟังเสียงอยู่ข้างนอก คือจากปากผู้เทศน์ ไม่ได้ถนัดเหมือนกับทำความรู้สึกไว้กับตัว คือทำสติให้รู้อยู่กับใจโดยเฉพาะเท่านั้น ใจเมื่อตั้งตัวอยู่ด้วยสติก็เหมือนคนอยู่ในบ้านไม่หลับไม่นอน แขกคนเข้ามาจะทราบทันที นี่กระแสเสียงของอรรถของธรรมที่ท่านแสดงไปก็เทียบกันกับแขก จะเข้าไปสัมผัสจิตที่เรามีสติควบคุมอยู่นั้นทันที ๆ แล้วสืบเนื่องกันไปโดยลำดับ

ความรู้ที่สัมผัสสัมพันธ์กันกับกระแสของธรรมไม่ขาดวรรคขาดตอน สามารถที่จะทำจิตให้สงบเย็นลงได้ในขณะที่ฟังและเป็นสมาธิได้ในขณะนั้น เพราะภาคปฏิบัติจิตตภาวนาเกี่ยวกับการฟังเทศน์นี้ เป็นภาคปฏิบัติอันดับหนึ่งในวงปฏิบัติทั่ว ๆ ไป ไม่ว่าจะอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน ภาวนา การฟังเทศน์ด้วยการภาวนาเป็นอันดับหนึ่ง นี่หมายถึงภาคปฏิบัติ ผู้เทศน์เทศน์ทางภาคปฏิบัติ ไม่ใช่เทศน์ปริยัติ ที่เล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ไปอะไร ๆ ฉะนั้นจิตผู้มีความสงบหรือมีพื้นฐานของสมาธิอยู่แล้ว จะเทศน์เรื่องอะไร จิตท่านก็ไม่ส่งไปด้วย จะอยู่โดยลำพังและรู้อยู่กับตัวนั้น ก็สงบได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเทศน์นั้นเลย

แต่ส่วนมากทางด้านปฏิบัติย่อมจะเทศน์ทางภาคปฏิบัติคือจิตตภาวนา ดังที่เราได้ยินได้ฟังเรื่อยมาอย่างนี้ ในครั้งพุทธกาลท่านเทศน์อย่างนั้น เพราะเป็นภาคปฏิบัติล้วน ๆ มากกว่าทางด้านปริยัติ การปฏิบัติทางด้านจิตตภาวนาเป็นพื้นฐานแห่งการปฏิบัติศาสนาของพระในครั้งพุทธกาล ปริยัตินั้นมีเพียงเล็กน้อย ไม่ได้เป็นเนื้อเป็นหนังจริง ๆ เหมือนภาคปฏิบัติ เพราะฉะนั้นการเทศน์ท่านจึงมักจะเทศน์ทางภาคปฏิบัติจิตตภาวนา เริ่มแต่สมาธิไป ไม่ว่าสมาธิขั้นใด ขั้นพื้น ๆ เช่น ขณิกสมาธิ สงบได้ชั่วขณะ ๆ อุปจารสมาธิ สงบแล้วออกมารู้สิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องนิมิต

ที่ท่านว่าอุปจารสมาธินั้น หมายถึงรวมเฉียด ๆ นั้นแหละ ผู้ที่จะเข้าใจเรื่องอุปจารสมาธินี้ต้องเป็นผู้ปฏิบัติ ต้องเป็นผู้มีจิตเป็นสมาธิและเข้าใจในอุปจาระด้วยภาคปฏิบัติของตัวเอง คือในขณะที่จิตสงบลงไปแล้ว แทนที่จะเข้าอยู่เป็นความสงบแนบแน่นกลับไม่เข้า เข้าไปนิดเดียวแล้วก็ออกรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ตามจริตนิสัยของผู้เช่นนั้น นี่ท่านเรียกว่าอุปจารสมาธิ สมาธิประเภทนี้ไม่ได้เป็นทุก ๆ รายไป เป็นเฉพาะผู้มีนิสัยที่เกี่ยวข้องกับรู้สิ่งภายนอก ดังที่ท่านปรากฏในนิมิต เห็นอันนั้นเห็นอันนี้ รู้นั้นรู้นี้ต่าง ๆ ดังที่ว่าเป็นเปรต เป็นผี เป็นเทวบุตรเทวดาเข้ามาเกี่ยวข้องท่าน นี่ละเกี่ยวกับอุปจาระนี้เอง จึงมีได้สำหรับท่านผู้มีนิสัยอย่างนี้

ส่วนมากนักปฏิบัติมักจะเป็นขณิกะอยู่เสมอในภาคปฏิบัติเรา คือสงบลงไปแล้วก็มียิบแย็บ ๆ ความปรุงความแต่งของจิตเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่ในนั้นแหละ ทั้ง ๆ ที่พื้นฐานของจิตนั้นมีความแน่วแน่ มีความละเอียด มีความมั่นคงเป็นฐานของสมาธิจริง ๆ แต่อาการของจิตนั้นมักจะเป็นขณิกะ ๆ อยู่เสมอ นี่หมายความว่าจิตมีคิดมีปรุงอย่างละเอียด ๆ อย่างแผ่วเบาที่สุด ในวงสมาธิของผู้ที่มีจิตเป็นสมาธิแล้วมักจะเป็นเช่นนั้นเป็นส่วนมาก

แต่ยังไงก็ตาม ผู้ปฏิบัติทั้งหลายไม่พึงจะมายึดเอาคำอธิบายนี้ไปเป็นเหตุเป็นผล หรือเป็นอารมณ์แก่จิตใจของตน มากยิ่งกว่าการปฏิบัติตนเพื่อความสงบเย็นใจ แล้วปรากฏผลขึ้นมากับตนเอง นั้นแลเป็นสิ่งที่แน่นอนมากกว่าการได้ยินได้ฟังจากท่านสอน หรือจากท่านอธิบายให้ฟัง นั่นเป็นความแน่นอน

แล้วประการหนึ่งจิตที่สงบเหมือนตกเหวตกบ่อก็มี อันนี้ก็เกี่ยวกับอุปจาระ พอลงเต็มที่แล้วถอยออกมารู้อย่างหนึ่ง มันเป็นอุปจาระ คือ อุป แปลว่าเข้าไป ถ้าจะแปลตามศัพท์ จาร แปลว่าเที่ยว เข้าไปแล้วไม่เข้าไปในองค์สมาธิจริง ๆ ถอยออกมารู้นั้นรู้นี้ กระแสของจิตเที่ยวออกไป ท่านจึงเรียกว่าอุปจารสมาธิ ส่วน อปฺปนา หมายถึงความแนบแน่น

ขณะฟังขอได้ตั้งความรู้สึกด้วยความมีสติอยู่กับใจตัวเอง ไม่จำเป็นต้องมาจดจ่อกับผู้เทศน์ภายนอกนี้ เมื่อจิตมีสติอยู่กับตัวแล้วก็จะทราบอยู่ที่นั่น ความสัมผัสธรรมจากกระแสเสียงของท่านกับความรู้สึกของเราที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่โดยลำดับลำดา จะทำให้จิตเพลินตัวไปกับกระแสเสียงนั้น แล้วสงบหรือละเอียดลงไปโดยลำดับ ๆ ภายในจิต จนกลายเป็นจิตสงบได้ให้เห็นอย่างชัดเจน นี่วิธีการภาวนาการฝึกจิต

ภาคปฏิบัติเป็นภาคที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติหายสงสัยในธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าส่วนภายในภายนอก หยาบละเอียด เป็นสิ่งที่จะให้ผู้ปฏิบัตินั้นหายสงสัยได้โดยลำดับลำดา ผิดกันกับภาคปริยัติที่เราศึกษาเล่าเรียนอยู่มากทีเดียว คือภาคปริยัติมีแต่การจดจำล้วน ๆ จดจำได้มากน้อยเพียงไร ก็เท่ากับสร้างความสงสัยสนเท่ห์ไม่แน่นอนใจไปตลอดอยู่นั้นเอง คือไม่เป็นที่แน่ใจจากความเรียนความจำได้นั้น แต่ภาคปฏิบัติไม่เป็นเช่นนั้น เช่นสมาธิจิตสงบขนาดใดก็เข้าใจตัวเอง อ๋อ ท่านว่าสมาธิเป็นอย่างนี้เอง นั่นรู้แล้ว เข้าใจไปโดยลำดับ ไม่ว่าจะเป็นสมาธิขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียดแนบแน่นขนาดไหน เป็นสิ่งที่ประจักษ์กับใจหายสงสัย นี่ละท่านเรียกว่าความจริง คือเราไปเจอเอาจริง ๆ

ทีแรกเราก็เจอในปริยัติ อ่านตามตำรับตำรา ได้แต่ชื่อ ได้แต่ความคาดเอาไว้ เหมือนกับว่าเป็นกรุยหมายป้ายทางอะไรทำนองนั้น แต่ครั้นแล้วก็เป็นความสงสัยสนเท่ห์เคลือบแคลงอยู่นั้นแหละ ไม่หาย เรียนไปมากไปน้อยเพียงไรก็ตาม จนกระทั่งถึงนิพพาน ก็ยิ่งจะสร้างภาพเรื่องนิพพานขึ้นอีก ทั้ง ๆ ที่นิพพานไม่มีภาพอย่างที่วาดไว้นั้น สวรรค์ไม่มีภาพ นรกไม่มีภาพ อย่างที่เราวาดไว้นั้น มันก็วาดกันได้อย่างสบาย ๆ เพราะความเคยชินของจิตเป็นเช่นนั้น ด้วยเหตุนี้เองการเรียนมากน้อยจึงไม่พ้นที่จะวาดภาพหลอกตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องสงสัยอยู่นั่นแล

แต่การกล่าวทั้งนี้ เราไม่ได้ประมาททางด้านปริยัติ เป็นแต่ว่าให้ทราบเรื่องปริยัติเป็นไปในทางแถวนั้น แต่ทางภาคปฏิบัติเป็นไปในทางแถวนี้ แยกทางกันอย่างนี้ต่างหาก นี่ภาคปฏิบัติพอได้ปรากฏขึ้นเพียงจิตสงบเท่านั้นก็มีความตื่นเต้น มีความดีอกดีใจอะไรพูดไม่ถูก หากทราบชัด ๆ ว่าจิตสงบเป็นเช่นนี้ หรือจิตเป็นสมาธิเป็นเช่นนี้ นี่หมายถึงความจริงที่ปรากฏกับตัวเองจากภาคปฏิบัติ

จากนั้นก็เป็นเรื่องของปัญญา ปัญญาไม่ใช่จะเกิดเอาเฉย ๆ ตามธรรมดานิสัยของเรา ๆ ท่าน ๆ เว้นนิสัยของท่านผู้เป็นอุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู คือผู้ที่จะรู้ได้อย่างรวดเร็ว อันนั้นเราจะเอามาเทียบหรือเอามาเป็นแบบเดียวกันกับเราไม่ได้ ผิดกันอยู่มาก ส่วนมากที่ท่านพูดถึงว่าปัญญานี้ต้องได้อาศัยการพินิจพิจารณา พาเดินพาคิดพาอ่านไตร่ตรองเหตุผลกลไกต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องอรรถเรื่องธรรม มี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อสุภะอสุภัง เป็นพื้นฐานของการดำเนินทางด้านปัญญา

ไม่ใช่จิตเป็นสมาธิแล้วจะเป็นปัญญาเอง พูดเช่นนั้นคือผู้จิตไม่เคยมีสมาธินั่นเอง พูดแบบเดา ๆ จะเกิดได้เองเฉพาะท่านผู้ที่เป็นอุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู เป็นสมาธิเป็นปัญญาไปโดยลำดับในขณะนั้น ๆ จนกระทั่งถึงบรรลุธรรมต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้ามีจำนวนมากมาย นี่เป็นได้จริง ปัญญาเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันกับสมาธิ

คือสมาธิได้แก่ความสงบไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวายกับเรื่องโลกเรื่องสงสาร มีความสงบเย็นอยู่ภายในจิตของตัวเอง แล้วก็ไตร่ตรองตามกระแสธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไป นั่นละเหมือนกับว่าปัญญาก้าวเดินไปตาม เรียกว่าตามเสด็จก้าวไปเรื่อย จิตสงบแน่วไปกับสายอรรถสายธรรมคลองอรรถคลองธรรม ไม่ออกไปทางโลกทางสงสาร มีความสงบตัวละเอียดลอออยู่ในนั้น ปัญญาก็ก้าวเดินไปตามที่ท่านแสดง นั่นเป็นปัญญาของท่านผู้ที่มีอุปนิสัยที่จะรู้อย่างรวดเร็ว เช่น อุคฆฏิตัญญูบุคคล วิปจิตัญญูบุคคล

ขนาดพวกเรานี้จะต้องได้อาศัยการพาดำเนิน พาค้นคว้า พาพิจารณาเสียก่อน เช่นเดียวกับเราฝึกหัดเด็กให้ทำงาน และควบคุมงานกับเด็กไม่ให้เด็กเถลไถล เพราะเด็กยังไม่ทราบผลของงาน จึงไม่มีแก่ใจที่จะทำงานทั้งหลายให้ได้ผลขึ้นมา ต้องอาศัยการควบคุมจากผู้ใหญ่เสียก่อน ไม่อย่างนั้นเด็กก็เถลไถล นี่ก็เหมือนกันปัญญาขั้นเริ่มแรกยังไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ผู้เป็นสมาธิแล้วจึงมักติดสมาธิคือความสงบใจ เพราะจิตสงบนี้ไม่มีอะไรเข้าไปกระทบกระเทือน อยู่สบาย ๆ เลยกลายเป็นจิตขี้เกียจไปเสียได้ ถ้าเราพูดถึงธรรมะขั้นสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง

ถ้าไม่เกี่ยวกับเรื่องธรรมะขั้นสูง ที่มีความละเอียดหรือคุณภาพสูงยิ่งกว่านี้แล้ว สมาธิเป็นที่กล่อมใจได้ดีมาก บรรเทาความทุกข์ทั้งหลายได้เป็นอย่างดี เพราะคิดภายนอก ตา หู จมูก ลิ้น กาย สัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งใด ๆ ย่อมไปกระเทือนถึงใจเสมอ นี่ก็เป็นความวุ่นวายอันหนึ่ง เป็นความกระเพื่อมหรือเป็นการรบกวนจิตอย่างหนึ่ง

เราไม่ต้องพูดถึงเรื่องอารมณ์ที่เป็นขึ้นเพราะอำนาจแห่งสมุทัย มันพาคิดพายุ่งเหยิงวุ่นวายกับรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ให้เกิดความทุรนทุราย ให้เกิดความรักความชอบใจความกำหนัดยินดีนั้นเลย เราพูดแต่เพียงความสัมผัสสัมพันธ์ธรรมดานี้ มันก็กระทบกระเทือนจิต เมื่อจิตได้เป็นสมาธิแล้วนะ ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิแม้จะดิ้นตายไปก็ตาม ดิ้นไปเหมือนฟุตบอลก็ตาม จะไม่ทราบเหตุผลกลไกของตัวเองว่าเป็นอย่างไร

ก็เหมือนอย่างไม่ว่าใครละ ดูใจเราก็รู้เองว่าจิตไม่เป็นสมาธิเป็นยังไง มันอยู่เฉย ๆ ได้เมื่อไร มันหมุนตัวของมันอยู่ด้วยอำนาจของสมุทัยผลักดันให้ไปตลอดเวลา ไปทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรส อารมณ์อดีตนี่เป็นของสำคัญ เอามายุ่งเหยิงวุ่นวาย เฉพาะอย่างยิ่งกามราคะเป็นสำคัญมากทีเดียว กวนมากที่สุดต่อจิตที่ไม่มีสมาธิ

เมื่อจิตมีสมาธิแล้วย่อมสงบ สิ่งเหล่านี้สงบไปหมดประหนึ่งว่าไม่มี เพราะมีอาหารคือความสงบเย็นใจเป็นเครื่องดื่มแทนสิ่งเหล่านั้น จึงไม่ไปยุ่งกับสิ่งเหล่านั้น ทีนี้เมื่ออาศัยความสงบนานไป ๆ กระทบเรื่องอะไร เช่น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็เป็นเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจกระเพื่อมจิตใจ เหมือนกับเป็นการรบกวนความสงบของตัวเองที่อยู่ในสมาธินั้นเสีย เลยไม่อยากคิด แล้วเข้ามาสู่สมาธิทำแต่สมาธิ มีแต่ความสงบแน่วอยู่ยังงั้น นี่ติดได้อย่างนี้ผู้ที่ติดสมาธิ

จนกระทั่งวันตายก็ไม่มีปัญญา ถ้าไม่พาก้าวทางด้านปัญญา จะรอให้สมาธิเป็นปัญญาขึ้นมาเองนั้นเป็นไปไม่ได้ว่างั้นเลย นักปฏิบัติในวงปฏิบัติจะต้องยันกันตรงนี้อย่างชัดเจน ในจิตใจของเนยยบุคคลอย่างพวกเรา ๆ ท่าน ๆ เว้นท่านผู้ที่เป็นขิปปาภิญญาเสีย คือท่านผู้ที่รู้เร็วนั้นเป็นไปด้วยกัน ถ้าธรรมดาแล้วต้องได้พาพินิจพิจารณา

จนกระทั่งปัญญาได้ปรากฏตัวขึ้นมา มีผลจากการพิจารณาทางด้านปัญญาขึ้นมาเป็นลำดับลำดา นั่นแสดงว่าเริ่มเห็นผลของงานแล้ว จากนั้นไปปัญญาก็จะค่อยไหวตัว เริ่มรู้จักหน้าที่การงานของตัวเอง เช่นเดียวกับผู้ใหญ่เรานี่ ทำการทำงานไม่ต้องมีใครมาบังคับบัญชา เพราะทราบผลของงานแล้วย่อมจะทำไปโดยลำพัง นี่ก็เหมือนกันพอปัญญาได้เห็นผลของงานตัวเองแล้ว ก็ย่อมจะก้าวไปโดยลำดับ นี่ท่านว่าปัญญาเริ่มเกิด เห็นได้ชัด

พอปัญญาเริ่มเกิดแล้ว ในความที่เคยติดในสมาธิไม่อยากยุ่งเหยิงวุ่นวายกับสิ่งใด ๆ แม้ทางด้านปัญญาอันจะเป็นทางถอดถอนก็ตาม จิตก็เห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งเหยิงวุ่นวายไปเสียนั้น ถอนตัวออกมาจนกระทั่งปัญญาได้ก้าวตัวออกไปจริง ๆ แล้ว มิหนำซ้ำกลับมาโทษสมาธิว่านอนตายอยู่เฉย ๆ นั่นเพราะคุณค่าทางผลที่เกิดขึ้นจากด้านปัญญานั้น มีคุณค่ามากกว่าสมาธิขึ้นเป็นลำดับ ๆ จึงสามารถที่จะมาตำหนิสมาธิ แม้ว่าเคยมีความสุขความสงบเย็นใจมาแต่ก่อนก็ตาม ทราบได้อย่างชัดภายในจิตใจของตัวเอง ถึงกับว่ามัวแต่สมาธินอนตายอยู่เฉย ๆ นั่น

ทีนี้มาเห็นโทษแห่งการติดในสมาธิแล้วว่ามานอนตายอยู่เฉย ๆ พูดถึงขนาดนั้น หรือว่าคิดถึงขนาดนั้นกับตัวเอง ตำหนิตัวเอง คือตำหนิสมาธิของตัวเองที่เคยเป็นมาแต่ก่อน เมื่อได้เห็นเหตุเห็นผล เห็นคุณค่าของทางด้านปัญญาแล้วเป็นอย่างนั้น และต่อจากนั้นไปก็ก้าวละ นั่นละท่านว่าปัญญาเกิด หลักปฏิบัติทราบได้อย่างนี้ เป็นอย่างนี้ และปัญญาประเภทนี้ไม่ขึ้นอยู่กับอะไร ใครจะมาสอนก็ตามไม่สอนก็ตาม ต้องเป็นเรื่องของตัวเองผลิตขึ้นมาเอง เกิดขึ้นเอง พิจารณาไปเอง แก้ไขถอดถอนกิเลสไปเองโดยลำดับลำดา เป็นอัตโนมัติของตัวเอง นี่เป็นปัญญาที่หาที่ไหนไม่ได้ เรียนที่ไหนไม่ได้เลย

แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านประทานอุบายให้แล้วเท่านั้น ก็ยังได้อุบายจากพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าสาวก ๆ แปลว่าผู้สดับตรับฟังก็ตามนะ พอถึงปัญญาขั้นนี้แล้วจะไม่ไปสนใจอะไรกับใครนักเลย จะหมุนตัวเป็นลำดับลำดาไป นอกจากถึงขั้นหรือถึงระยะที่มันติด เกิดความฉงนสนเท่ห์สงสัยไม่แน่ใจ นั่นละเหมือนกับว่าเจอกองทัพสมุทัย เจอกองทัพของข้าศึกซึ่งเราไม่เคยเห็นไม่เคยพบว่ากองทัพจะมีกำลังขนาดนี้ นั่นถ้าเราเทียบ แล้วหาอุบายวิธีการที่จะแก้ไขถอดถอนหรือว่าปราบปรามสิ่งนั้นไม่ได้ นั่นละถึงจะประหวัดแล้ววิ่งเข้าหาครูหาอาจารย์ทีหนึ่ง ๆ

เช่นอย่างพระสาวกที่ได้สดับตรับฟังประพฤติปฏิบัติอยู่ในป่าในเขา แล้วมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่ออรรถเพื่อธรรมทั้งหลาย หรือเพื่อทูลถามปัญหาก็อย่างนี้เอง ออกจากนั้นแล้วจะไม่ยุ่งอีกเหมือนกัน จะมีแต่ความหมุนตัวเป็นเกลียวไปอยู่ภายในหัวใจ นี้แหละเรียกว่าปัญญาอัตโนมัติ หรือจะเรียกว่าภาวนามยปัญญาก็ได้ไม่ผิด

ปัญญานี้พิจารณาเองเกิดขึ้นเอง พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ในนั้น ไม่มีอะไรเหมือนปัญญาประเภทนี้ การแก้การถอดถอนกิเลสก็ถอดถอนไปในตัวของปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้น ๆ นั่นแล เพราะฉะนั้นในเรื่องการแก้ไขถอดถอนกิเลสหรือปราบกิเลสให้สิ้นซากลงไป จึงแน่เป็นลำดับลำดาไปไม่สงสัย มีแต่กำลังใจที่จะพุ่ง ๆ ต่อความพ้นทุกข์เท่านั้น นี่ละพระสาวกทั้งหลายท่านเป็นอย่างนี้ เมื่อได้ยินได้ฟังจากพระพุทธเจ้าแล้วมาบำเพ็ญโดยลำพังตนเอง จนเป็นผลขึ้นมาตามลำดับลำดา นับแต่สมาธิขึ้นมาถึงขั้นปัญญา และถึงขั้นปัญญาที่กล่าวนี้

อยู่ที่ไหนท่านก็เพลิน วันคืนยืนเดินนั่งนอนท่านจะมีแต่งาน มีแต่งานรบงานฆ่ากิเลสทั้งมวล เว้นแต่หลับเท่านั้น แล้วเรื่องของกิเลสที่จะผลิตตัวขึ้นมาเป็นเครื่องสังหารธรรมทั้งหลายเหมือนอย่างแต่ก่อน หรืออำนาจของสมุทัยหมุนจิตให้เป็นวัฏจิตเหมือนอย่างแต่ก่อนนั้น นับวันด้อยลงโดยลำดับลำดา หาทางที่จะหมุนตัวขึ้นมา ผลิตตัวขึ้นมาเป็นกิเลสตัณหาอาสวะเหมือนอย่างแต่ก่อนไม่ได้

เพราะอำนาจของปัญญานี้เป็นเหมือนน้ำไหลไฟสว่างจ้าเข้ามา ๆ กองทัพธรรมนี้เรียกว่าเผาไหม้เข้าไปโดยลำดับลำดา เกินกว่าที่กิเลสทั้งหลายจะมาตั้งบ้านตั้งเรือนสร้างวัฏฏะจากวัฏจิตขึ้นภายในจิตใจนั้นได้ นี่ท่านจึงแน่ในความพ้นทุกข์ของท่าน นี่ละความเพียรเมื่อเป็นไปถึงขนาดนั้นแล้ว อิริยาบถทั้งสี่ไม่มีคำว่าเว้นความเพียร เว้นแต่หลับเท่านั้น พอตื่นขึ้นมาความเพียรก็เป็นไปเอง ระหว่างธรรมกับกิเลสนั่นเองละพูดง่าย ๆ ฟัดฟันกันไปเรื่อย ๆ ไปโดยลำดับลำดา ประเภทไหนที่ขาดไปแล้วสิ้นไปแล้วรู้ ๆ เป็นลำดับลำดา ส่วนที่เบาบางไปก็รู้และเห็นชัดภายในจิตใจ และแน่ชัดในความจะหลุดพ้นของตนว่าแน่นอน นี่ละปัญญาขั้นสังหารกิเลส เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นจากภาวนามยปัญญา

จากนั้นไปก็ก้าวเข้าสู่มหาสติมหาปัญญา นี่หมายถึงปัญญาอันแก่กล้า สติปัญญาอันแก่กล้าซึ่งเกิดมาจากภาวนามยปัญญานั่นแล จนกระทั่งสังหารกิเลสที่มีอยู่ภายในจิตใจอันเป็นส่วนละเอียดหมดโดยสิ้นเชิงไม่มีอะไรเหลือ นั่นละสติปัญญาขั้นนี้ถึงจะปล่อยตัวเป็นไปโดยหลักธรรมชาติเอง ไม่ต้องมีใครบังคับ ต่างอันต่างจริง

เพราะทุกข์ก็ดี สมุทัยก็ดี นิโรธก็ดี มรรคก็ดี ต่างอันเป็นสัจธรรม ต่างอันเป็นสมมุติด้วยกัน แต่เป็นเครื่องแก้กัน มรรคเป็นเครื่องแก้สมุทัย นิโรธดับก็คือดับทุกข์อันเป็นผลเกิดขึ้นจากสมุทัยนั่นแล เมื่อทั้งสี่อย่างนี้ได้ทำหน้าที่ของตนโดยสมบูรณ์แล้วก็ผ่านไป เพราะฉะนั้นสติปัญญาอันอยู่ในองค์มรรค หรืออยู่ในองค์อริยสัจเช่นเดียวกัน จึงต้องผ่านไปเช่นเดียวกันกับทุกข์กับสมุทัยที่ผ่านหรือสลายตัวไปเช่นนั้น

สติปัญญาที่นำมาใช้อยู่ธรรมดานี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นธรรมดา ๆ อาศัยเพียงเล็กน้อย ๆ เท่านั้น ไม่ใช่สติปัญญาประเภทที่ฆ่ากิเลส ประเภทที่ฆ่ากิเลสก็ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น สูงสุดของสติปัญญาที่ฆ่ากิเลสก็คือมหาสติมหาปัญญา เหมาะสมกับกิเลสประเภทที่ว่าละเอียดสุดก็ได้แก่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เท่านั้น เมื่อธรรมชาติที่ละเอียดสุดในฝ่ายสมุทัยนี้ได้สลายตัวลงไปเพราะอำนาจแห่งมรรคมีสติปัญญาเป็นสำคัญแล้ว ก็หมดปัญหาไปด้วยกัน

อันหนึ่งที่นอกเหนือไปจากอริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี้คืออะไร นั่นคือธรรมชาติที่บริสุทธิ์ จิตที่บริสุทธิ์ อันนั้นไม่ได้สลายไปตามทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เพราะทั้งสี่นี่เป็นสมมุติ แต่ธรรมชาติที่บริสุทธิ์นั้นเป็นวิมุตติจึงไม่เกี่ยวข้องกัน นี่ภาคปฏิบัติ

นี่ละธรรมของพระพุทธเจ้าท่านสอนให้ถึงขีดสุดของวัฏจิตวัฏจักร จนวัฏจิตนี้กลายเป็นธรรมจักรคลี่คลายตัวของตัวออก ที่แต่ก่อนมัดตัวเองเข้าไป จึงเรียกว่าวัฏจิต สมุทัยเป็นเครื่องผูกมัด มรรคคลี่คลายออกโดยลำดับลำดา จนกระทั่งหมดโดยสิ้นเชิงไม่มีอะไรเหลือ เหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วน ๆ แล้วก็สิ้นปัญหาโดยประการทั้งปวง

ขึ้นชื่อว่าสมมุติใด ๆ เข้าไปเกี่ยวข้องในจิตที่บริสุทธิ์นั้นไม่ได้อีกแล้ว แม้ท่านมีชีวิตอยู่ก็เพียงทรงธาตุทรงขันธ์รับผิดชอบกันไปเพียงเท่านั้น ไม่ได้รับผิดชอบด้วยอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นเหมือนอย่างแต่ก่อนมาเลย ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ภารหาโร จ ปุคฺคโล เป็นต้น ขันธ์ทั้งห้าเป็นภาระอันหนัก นี้หนักได้ทั้งปุถุชน เป็นภาระรับผิดชอบได้ทั้งพระอริยบุคคลขั้นพระอรหันต์ แต่ท่านรับผิดชอบเฉย ๆ ท่านไม่ได้อุปาทาน แต่สามัญชนธรรมดาเราทั้งหนักด้วย ทั้งอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นก็เป็นภาระอันหนักที่ต้องแบกด้วยกันด้วย แต่ท่านผู้สิ้นไปแล้วท่านมีแต่ความรับผิดชอบในขันธ์เท่านั้นเอง

สัญชาตญาณนี้หากมีต่อกันอยู่เช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่ไม่ยึดไม่ถือก็มีต่อกัน ยกตัวอย่างเช่น เราเดินไปตามถนนหนทางนี้เราลื่นมันจะหกล้มลองดูซิ จะพยายามช่วยตัวเองจนสุดความสามารถนู้นแหละ หากว่าล้มก็สุดวิสัยแล้วถึงจะยอมล้ม ถ้าไม่สุดวิสัยแล้วจะช่วยตัวเองตลอด นี่อาการเช่นนี้ หรือเดินไปตามทางนี่ มองลงไปเห็นรากไม้แต่เข้าใจว่าเป็นงูและจะโดดผึงในทันที ทั้ง ๆ ที่กำลังจะก้าวเหยียบลงอยู่นั้นแหละ แต่ไม่ก้าวไม่เหยียบ โดดผึงข้ามไป นี่ก็เป็นสัญชาตญาณแห่งความรับผิดชอบของจิตประเภทนี้เหมือนกันกับจิตทั่ว ๆ ไป เป็นแต่ต่างกันที่ตรงความรู้ ไม่สะทกสะท้าน ไม่ตื่นไม่ตกใจ ไม่เสียอกเสียใจ ไม่ตื่นเต้น เหมือนจิตสามัญธรรมดาเราเท่านั้น

ส่วนสามัญธรรมดาเรา ถ้าลงได้ถึงขนาดที่โดดผึงด้วยความเข้าใจว่าจะเหยียบหลังงูนี้ จิตจะเป็นอย่างไรบ้างใครก็ทราบ ร้อนวูบทันทีใช่ไหมล่ะ นั่น และมีความตื่นเต้น มีความตกใจเป็นกำลัง เห็นได้ชัดในขณะนั้น แต่จิตของท่านผู้บริสุทธิ์แล้วไม่ได้มี ถึงจะเป็นก็ตาม จะช่วยตัวเองขนาดไหน เช่น ความลื่นยังงี้ จะหกล้มก้มกราบลงไปก็ตาม ยังไงจิตของท่านก็ไม่มีในเรื่องเหล่านั้น นี่ละต่างกันที่ตรงนี้เท่านั้นเอง จึงเรียกว่าสัญชาตญาณ อันนี้เป็นของมีมาดั้งเดิมไม่ถอน ไม่เคยปรากฏว่าอันใดถอน

หลักธรรมชาติที่เป็นความยึดมั่นถือมั่นนั้นออกจากโมหะอวิชชาพาให้ยึดมั่นถือมั่น เมื่อธรรมชาตินั้นได้ผ่านไปแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นถึงจะบังคับให้ยึดก็ไม่ยึด เพราะไม่มีอะไรมาเป็นสาเหตุให้บังคับ อันที่เป็นสาเหตุให้บังคับก็คือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นั่นเป็นตัวสาเหตุแท้ ๆ ให้บังคับ ให้ยึดมั่นถือมั่นโดยหลักธรรมชาติของตัวเอง พอธรรมชาตินั้นได้ผ่านนี้หมดสิ้นไปแล้ว จึงไม่มีอะไรที่จะยึดมั่นถือมั่น

การเรียนจิต เรียนเรื่องของเรานี้เป็นของสำคัญมากทีเดียว ผู้นี้ละผู้จะเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารไม่ใช่ผู้ใด จิตแต่ละดวง ๆ นี้เองที่มีเชื้อฝังอยู่ภายใน เชื้อแห่งความเกิดมีอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าสัตว์ว่าบุคคล สัตว์น้ำสัตว์บก สัตว์บนฟ้าอากาศที่ไหน ขึ้นชื่อว่าสัตว์แล้ว มีธรรมชาตินี้ฝังอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นวิญญาณทั่วแดนโลกธาตุนี้ จึงไม่มีวิญญาณดวงใดว่างจากความเกิดแก่เจ็บตาย หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปในภพน้อยภพใหญ่หรือว่าเป็นนักท่องเที่ยว ไม่มีความว่างจากความเป็นนักท่องเที่ยว

เว้นจิตของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เท่านั้น เพราะอันนั้นหมดเชื้อแล้ว แล้วก็หายกังวล นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต ท่านว่าดับสนิท ความหิวความกระหายอะไรจึงไม่มีเหลือ ดับสนิทหมด นั่นท่านไม่เรียกว่าจิตวิญญาณเสีย ถ้าลงถึงขั้นนั้นแล้วท่านไม่เรียกละ มีแต่ว่าปรินิพพาน ๆ คือรอบหมด ๆ ดับรอบหมดจริง ๆ ขึ้นชื่อว่าพิษภัยอันใดที่พาให้เกิดตาย ๆ เหมือนอย่างที่เป็นมาแล้ว ดับรอบไม่มีอะไรเหลือเลย ท่านว่าอย่างนั้นธรรมชาติที่บริสุทธิ์เอาอะไรไปดับ ท่านไม่ได้พูดถึงธรรมชาติที่บริสุทธิ์ดับรอบนี่นะ หมายถึงสิ่งแวดล้อมอันเป็นสมมุติทั้งหลายนี้ดับรอบต่างหาก

การที่จะแก้ การที่จะรู้เรื่องวิถีทางเดินของจิต ความคิดความปรุงของจิต ความสำคัญของจิตที่ก่อความวุ่นวายให้เราอยู่ตลอดเวลานี้ จึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องใช้ความพินิจพิจารณาด้วยสติปัญญาอย่างมากทีเดียว เฉพาะอย่างยิ่งคือนักบวชเราเท่านั้น ที่จะเป็นผู้ได้ทำหน้าที่เหล่านี้ เพื่อความรู้ในวิถีจิตของตัวเองได้โดยลำดับ ๆ จนกระทั่งได้อย่างชัดเจน เพราะหน้าที่การงานอะไร ๆ ก็ไม่มีมาบีบบังคับเหมือนฆราวาสญาติโยมเขา

งานของพระในครั้งพุทธกาลจึงมีแต่เรื่องงานเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา งานฆ่ากิเลส ไม่มีคำว่างานสั่งสมกิเลสเหมือนสมัยปัจจุบันนี้ สมัยปัจจุบันนี้ไม่ว่าเราว่าท่านมันกลับตรงกันข้ามไปแล้ว ว่างานจะฆ่ากิเลสนี้รู้สึกว่ามันอะไร มันเคอะ ๆ เขิน ๆ เหมือนของแปลกประหลาด เหมือนของไม่มีในโลก แต่ว่าถ้างานสั่งสมกิเลสนี้มันสนุก เพราะใครก็อยากทำ ๆ อันเป็นเรื่องของการสั่งสมกิเลส ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้พูดว่าเราต้องการสั่งสมกิเลสก็ตาม หลักธรรมชาติมันหากพาให้เป็นอยู่อย่างนั้น เลยกลายเป็นเรื่องบวชมาสั่งสมกิเลสไปเสียแทนที่จะฆ่ากิเลส

ถ้าเราอยากจะทราบว่าจิตมันสั่งสมกิเลสสั่งสมยังไง ให้มีสติ เอ้าดูเข้าไป จะเห็นได้อย่างชัดเจน ๆ ปรุงทีไรปั๊บก็เหมือนกับว่ามันคว้ามาเต็มมือแล้ว ปรุงอะไรพับคว้ามาเต็มมือแล้ว คว้าเอาฟืนเอาไฟมาด้วย อำนาจของการคว้าได้แก่กิเลสสมุทัยพาให้คว้านั่น เต็มมือ ๆ มีแต่ความทุกข์ความทรมานภายในจิตใจ เมื่อสติก็รู้แล้วปัญญาจะนอนตัวอยู่ได้อย่างไร มันก็รอบตัวทันที ๆ ออกจากนั้นมันก็ไม่ได้สั่งสม

เพราะฉะนั้นจิตที่ก้าวเข้าสู่ทางด้านปัญญาแล้ว กิเลสจึงไม่สามารถที่จะสั่งสมตัวเองขึ้น หรือผลิตตัวเองขึ้นได้เหมือนอย่างแต่ก่อน อย่างน้อยก็จะสะดวกเหมือนอย่างแต่ก่อนไม่ได้ แต่เราไม่อยากจะพูดว่าเป็นอย่างนั้น มีแต่จะพูดว่ามันค่อยกุดด้วนลงไป ๆ เท่านั้น เช่นสิ่งที่มีอยู่แล้วมันกุดด้วนลงไป สิ่งที่ยังไม่มีเกิดไม่ได้ เราอยากพูดอย่างนี้ให้เต็มหัวใจ เพราะเคยเป็นอย่างนั้นจริง ๆ นี่ แล้วประจักษ์เสียด้วยนะ เพราะฉะนั้นการเทศนาว่าการจึงพูดตามเหตุตามผล ตามความสัตย์ความจริงที่ปรากฏให้หมู่เพื่อนฟัง เราไม่ได้โอ้ได้อวด เราพูดตามหลักความจริงที่ได้เคยประพฤติปฏิบัติมาอย่างไร มันปรากฏที่ใจนี้ทั้งนั้นไม่ว่าธรรมว่ากิเลสไม่ว่าอะไร

ใจเป็นภาชนะอันใหญ่โตมาก เป็นปัญหาอันสำคัญมากทีเดียว เมื่อถึงขั้นจะรู้แล้วอะไรปิดไว้ไม่อยู่เลย สิ่งไม่เคยรู้ก็รู้ สิ่งไม่เคยเห็นก็เห็น จนเป็นเรื่องที่ว่าอัศจรรย์พูดง่าย ๆ ไม่มีอะไรจะอัศจรรย์เกินจิตกับธรรมเห็นกันเจอกัน จิตกับกิเลสเจอกัน จิตกับเหตุการณ์ต่าง ๆ เจอกันแหละ อันนี้มีตามีหูมีเท่าไรก็เถอะไม่เห็นจะว่าไง เมื่อไม่ถูกช่องถูกทางที่จะเห็น เพราะฉะนั้นศาสดาองค์เอกจึงไม่มีอะไรเสมอ ไม่มีใครเสมอได้เลย ยอมกราบอย่างราบเลย เหตุใดจึงรู้ถึงขนาดนั้น ๆ ไม่มีใครสอนเลย ทำไมพระองค์รู้ได้ ๆ

ไอ้เรานี้ต้องสอนแทบเป็นแทบตาย ในตำรับตำรามีกี่ตำรับตำราแบกก็แบกไปไม่ไหว มันหนักขนาดนั้นยังแก้ตัวเองไม่ได้นี่ จะว่าโง่ขนาดไหนพวกเรานี่น่ะ มันอยากจะพูดอย่างนั้น เมื่อถึงขั้นที่ควรจะรู้แล้วเป็นอย่างนั้นจริง ๆ นี่ ไม่ควรจะรู้ก็รู้ ไม่ควรจะเห็นก็เห็น สิ่งที่ไม่ควรเป็นเป็นขึ้นมาได้ประจักษ์กับใจ ๆ เพราะมันเหมาะจังหวะ ๆ กัน

ในเมื่อธรรมได้เกิดขึ้นที่ใจแล้วมีแต่เรื่องธรรม จะกระดิกพับก็เป็นธรรมออก ๆ ทำหน้าที่ออกทำการทำงาน ทำการทำงานคือฆ่ากิเลส เบิกทางตัวเองออกไป สิ่งที่ไม่เคยรู้ก็รู้ สิ่งที่ไม่เคยเห็นก็เห็น มันเบิกกว้างออกไป ๆ มันมีอะไรปิด ก็มีแต่กิเลสเท่านั้นปิด นั่นเมื่อสรุปลงมาแล้วอะไรปิด

ดินฟ้าอากาศไม่ได้ปิดหัวใจนี่นะ มืดแจ้งไม่ได้ปิดหัวใจ ดินน้ำลมไฟไม่ได้ปิดหัวใจ กิเลสเท่านั้นปิดหัวใจ นั่นเวลาเอากันจริง ๆ แล้วมันเห็นโทษของกันและกัน พอกิเลสเบิกออก ๆ มันก็กว้างออก ๆ จิตก็สว่างไสวออกมา สิ่งที่ไม่รู้ไม่เห็นที่ถูกปิดกำบัง ใครปิด ก็กิเลสนั่นแหละปิดจะเป็นอะไรไป ฟาดกิเลสออกหมดแล้วก็เห็น ก็เหมือนอย่างเมฆกำบังพระอาทิตย์นั่นแหละ พระอาทิตย์ดับที่ไหน สว่างจ้าอยู่อย่างนั้น แต่ว่าถูกเมฆกำบัง เมฆหนาเมฆบางก็เห็นได้อย่างชัดเจนอย่างนี้เห็นไหมล่ะ ถ้ามันปิดจริง ๆ มันก็มืดไปหมดละซิ เวลามันเปิดขึ้นมาแล้วก็เห็นชัดเจน

อันนี้ก็เหมือนกัน เรื่องกิเลสปิดหัวใจก็ปิดอย่างนั้น เมื่อถึงขั้นที่ธรรมได้ผลิตตัวออกมา แสงสว่างกระจ่างแจ้งออกมามากเท่าไรก็ยิ่งเห็นชัด ๆ สิ่งทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้หาที่ค้านไม่ได้นี่ ก็เมื่อพระพุทธเจ้าก็เห็นเราก็เห็น แล้วเราค้านเราได้ไหม เมื่อเราค้านเราไม่ได้เราจะเอาอะไรไปค้านพระพุทธเจ้าล่ะ ของจริงอันเดียวกันนี่ นั่นน่ะซีมันยอมรับเอาความรู้ความเห็นตามความเป็นจริงจากภาคปฏิบัตินี้ เป็นเครื่องยอมรับเป็นเครื่องยืนยันกัน มันเป็นอย่างนั้น

จึงว่าไม่เหมือนอะไรนะปัญญาประเภทนี้ ไม่เหมือนอะไรและไม่มีอะไรเหมือน ท่านจึงว่าโลกุตรปัญญา โลกุตรธรรม ธรรมเหนือโลก เหนือได้ด้วยอันนี้เอง ถ้าไม่มีอันนี้แล้วเหนือไม่ได้ ถ้าลงมีสติมีปัญญาประเภทนี้แล้วเหนือ นับวันเหนือโดยลำดับลำดา แล้วข้ามโลกได้เพราะสติปัญญาประเภทนี้แล

พระพุทธเจ้าน่ะสยัมภู ๆ ทรงรู้เอง เปิดขึ้นมาเอง ขุดค้นขึ้นมาเอง ความหนาแน่นของกิเลสหนาแน่นขนาดไหน พระองค์เปิดออกมาได้ ผุดโผล่ออกมาได้ แล้วก็มาสั่งสอนสาวก เปิดหูเปิดตาของสาวก ก็รู้ได้เป็นลำดับลำดา ดังพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นปฐมสาวก จากนั้นก็เปิดเผยออกหมดโลกธาตุ กว้างขวางออกไปโดยลำดับลำดา รู้ตามเห็นตาม ๆ ได้ผ่านพ้นไป ๆ

จิตดวงใดก็ตามถ้าลงได้พ้นเรื่องวัฏจักรวัฏจิตภายในตัวเอง คือ อวิชฺชาปจฺจยา นี้แล้ว เป็นอันว่าแน่นอน ๆ หายสงสัยหายห่วง ท่านถึงว่า ทุกฺขํ นตฺถิ อชาตสฺส ทุกข์ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด ท่านว่าอย่างนั้น ให้เห็นดูซิว่าทุกข์ไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด ผู้เช่นไรล่ะผู้ไม่เกิด จิตเช่นไรล่ะไม่เกิด ให้เห็นชัด ๆ ในเจ้าของซิจะสงสัยพระพุทธเจ้าไปไหน จิตประเภทใดน่ะจิตที่ไม่เกิด ก็เมื่อทราบชัดว่าจิตประเภทนี้ไม่เกิดแล้ว ทุกข์ประเภทนี้ที่เคยมีมานี้จะไม่มี นั่น ทุกข์ประเภทที่กิเลสเคยผลิตขึ้นมานี่ก็ไม่มีเพราะกิเลสหมดไป ก็รู้กันอย่างนั้น ทุกข์ไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด หมายถึงไม่เกิดเอาภพเอาชาตินั่นเอง

ให้พากันตั้งใจปฏิบัตินะ วันคืนวันหนึ่ง ๆ ไม่มีธุระหน้าที่การงานอะไร เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ฆ่ากิเลสภายในใจเจ้าของซิ ไปเสียดายอะไรกับโลกกับสงสาร มันมีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ดินฟ้าอากาศมีอยู่เห็นอยู่อย่างนี้ตื่นอะไรมัน ในตัวของเรานี้ก็ดิน น้ำ ลม ไฟ มีหรือไม่มี อากาศมีหรือไม่มีอยู่ในนี้ หายใจเข้าหายใจออกเป็นอะไร ถ้าไม่เป็นลมเป็นแล้งเป็นอากาศอยู่ในตัวของเรา คือช่องว่าง มันเต็มอยู่ในนี้หมดแล้วตื่นหาอะไร

ดินก็ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ แล้วเราเคยสัมผัสสัมพันธ์มาตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งป่านนี้ ไม่อิ่มตัวบ้างเหรอ ถ้ามีธรรมเข้าไปจับแล้วจะอิ่มทันที ๆ ถ้ามีแต่กิเลสลากไป ๆ จนตายกี่กัปกี่กัลป์ก็ไม่อิ่ม เหมือนเราไม่อิ่มการเกิดตายนั่นแหละ

การเกิดตายไม่อิ่มเพราะอะไร เพราะธรรมชาตินั้นไม่พาให้อิ่ม นตฺถิ ตณฺหาสมา นที อะไรที่จะหิวโหยยิ่งกว่าตัณหาไม่มีละ ธรรมชาตินี้หิวโหยไม่มีความอิ่มพอเลย สัตว์โลกทั้งหลายจึงเกิดตายไม่มีความอิ่มพอ ไม่มีความเบื่อหน่าย พอธรรมจับเข้าไป ๆ คัดค้านต้านทานเข้าไป ๆ แล้วเบื่อหน่าย นิพฺพิทา ๆ เบื่อหน่ายต่อความเกิดแก่เจ็บตาย แล้วเสาะแสวงหาคุณงามความดี เสาะแสวงหาได้เท่าไรก็ตัดภพตัดชาติตัดวัฏวน จำนวนของวัฏฏะเข้ามา กี่ภพกี่ชาติย่นเข้ามา ๆ เรียกว่าย่นวัฏจิตย่นวัฏจักรเข้ามาภายในใจของเรานี่ด้วยภาคปฏิบัติ จนกระทั่งถึงหมดไปโดยสิ้นเชิง เพราะตัดภพตัดชาติอยู่ภายในจิตใจนี้โดยสิ้นเชิง นี่ละกองทุกข์หมดที่ตรงนี้นะ

เราอย่าเข้าใจว่ากองทุกข์จะมีอยู่ที่ไหน ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ไม่ใช่กองทุกข์ หาให้เจอ นักปฏิบัติหาให้เจอ ตามหลักธรรมพระพุทธเจ้า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ตรัสไว้ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าองค์ใดก็ตามไม่ใช่ศาสดาองค์หลอกลวง เห็นแล้วจึงมาสอน รู้แล้วจึงมาสอนโลก บรมสุขก็รู้แล้วจึงมาสอนโลก มหันตทุกข์ก็รู้แล้วจึงมาสอนโลก ศาสดาองค์ใดที่สอนแหวกแนวกันไม่เคยมี เพราะรู้อย่างเดียวกัน เห็นอย่างเดียวกัน สอนแบบเดียวกัน

เรายังจะแหวกแนวอยู่เหรอ เราเป็นลูกศิษย์เทวทัต ลูกศิษย์ของกิเลส ก็ต้องแหวกธรรมเสมอ ต้องต่อสู้กับธรรม ให้เราทราบใจของเราอย่างนี้ เราจะได้เป็นลูกชาวพุทธ เป็นลูกศิษย์ตถาคต เห็นโทษของกิเลสก็เรียกว่าลูกศิษย์ตถาคต ถ้ายังไม่เห็นโทษของกิเลส เห็นคุณค่าของกิเลส หรือปล่อยให้มันหลอกไปเรื่อยลวงไปเรื่อย กล่อมไปเรื่อย อย่างนี้มันก็ลูกศิษย์กิเลสลูกศิษย์เทวทัตนั่นเอง แล้วทำลายเจ้าของด้วยนะเทวทัต

มีงานอะไรวันหนึ่ง ๆ ในวัดนี้ผมไม่ได้รับหมู่เพื่อนมากินมานอนอยู่เฉย ๆ มาโก้เก๋อยู่เฉย ๆ นะ รับมาสั่งมาสอนมาอบรม ให้เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาฆ่ากิเลสนะ ทางจงกรมมันจะเป็นดงเสือไปแล้วเดี๋ยวนี้ ไม่รู้จักทางจงกรมเสียแล้วนะจะว่าไง เราเดินไปที่ไหนเราดูแต่ทางจงกรมของพระขี้เกียจนี่นะ เดินไปโน้นเดินไปนี้ เดินไปดูเป็นยังไง ใครทำยังไง ๆ อยู่ เพราะได้เคยปฏิบัติมาแล้วนี่ ทำยังไงกิเลสถึงจะถลอกปอกเปิก ทำยังไงกิเลสถึงจะตาย ทำยังไงมันถึงจะจมไม่ต้องพูดแหละ มันมีแต่สร้างความล่มจมให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลา สงสัยที่ไหนตรงนี้น่ะ ใครจะดิ้นหนีบ้าง หรือดิ้นเข้าไฟ หรือดิ้นออกจากไฟมีไหมนั่น

สอนก็สอนเต็มภูมินะ ไม่ได้ปิดบังลี้ลับอะไรเลย นอกจากการเทศน์ให้ฟังสด ๆ ร้อน ๆ นี้แล้วก็ยังมีเทปยังมีหนังสือ มันน่าจะได้เป็นคติเตือนใจเจ้าของ ไตร่ตรองตั้งเอาความสัตย์ความจริงเข้าสู่ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ก็น่าจะได้ความจริงออกมา ถ้าไม่เหลาะ ๆ แหละ ๆ เหลว ๆ ไหล ๆ เสียเท่านั้น อย่างนั้นก็ช่วยไม่ได้จะทำยังไง

ที่สอนหมู่เพื่อนนี้ผมเรียนตรง ๆ ผมไม่ได้สงสัยนี่ ผมสอนด้วยความแน่ใจจริง ๆ ไม่ได้ลูบ ๆ คลำ ๆ เอามาสอนนี่ เวลามันเป็นยังงั้นอยู่ก็ไม่ได้สอนใคร แม้สั่งสอนตัวเองยังสอนไม่ได้จะว่าไง เวลามันลูบ ๆ คลำ ๆ สอนตัวเองก็ไม่ได้ เรียนมาเป็นมหาก็เป็นจะว่าไง แล้วมันสอนเจ้าของไม่ได้ นี่เรียกว่าลูบ ๆ คลำ ๆ

ศาสตราวุธน่ะมีเต็ม แต่จะจับชิ้นไหนมารบมาฟันช่วยตัวเองไม่มี ไม่มีปัญญาจะจับมา ปล่อยให้แต่กิเลสกลืนเอา ๆ โน่นต่อเมื่อไปหาครูบาอาจารย์มีหลวงปู่มั่นเป็นองค์เอกละในสมัยปัจจุบันนี้ ท่านชี้ลง ๆ ในหัวใจนั่น บอกวิธีบอกอุบายต่าง ๆ ลงที่หัวใจทุกจุดทุกบททุกบาทเลย นั่นจึงค่อยลืมหูลืมตาขึ้นมาเรื่อย ๆ เพราะความตั้งใจ นั่น เวลางู ๆ ปลา ๆ มันสงสัย เป็นยังงั้นนะ

เจ้าของก็เรียนมามันก็ปฏิบัติไม่ได้ สอนเจ้าของไม่ได้ แก้เจ้าของไม่ได้ เวลาเช่นนั้นก็ไม่ได้สอนใคร แม้แต่สอนเจ้าของก็ไม่ได้จะไปสอนคนอื่นได้ยังไง แต่เวลานี้เป็นยังไงก็ได้พูดให้ฟังแล้วทุกอย่าง หมู่เพื่อนมาหานี่ก็มาด้วยความเป็นเองมาตามอัธยาศัย เราก็สอนเต็มภูมิของเรา สงสัยหรือไม่สงสัยก็เทศน์แล้ว พูดกันก็ฟังแล้วรู้เรื่องกันแล้วนี่จะให้พูดให้ว่ายังไงอีก

สอนก็บอกว่าสอนเต็มภูมิไม่ได้มีอะไรลี้ลับ เต็มภูมิไม่มีอะไรเหลือเลย ภายในหัวใจนี่ไม่มีอะไรเหลือ สอนหมู่เพื่อนหมด เปิดออกมาให้เห็นอย่างเต็มที่เต็มฐานเลย แล้วก็จะให้ผมหาอะไรมาให้อีก สอนว่าให้เพียรก็ฟังซิ ฆ่ากิเลสด้วยความเพียร ไม่ได้ฆ่ากิเลสด้วยความเกียจคร้านนี่นะ แล้วจะเอามาขัดกับธรรมยังไง ไอ้ความเกียจคร้านท้อแท้อ่อนแอไม่ใช่ธรรม ๆ

คลื่นกระแสของนรกจกเปรตมันมากต่อมากนะทุกวันนี้ พระเราถึงได้พังทลาย ๆ ไปตามกระแสหรือคลื่นของนรกจกเปรตนี้ ที่มันไหลเข้ามาท่วมท้นเข้ามา โอ๊ย จนหาที่แหวกออกไปไม่ได้นี่ อะไร ๆ ก็เป็นแต่เรื่องกิเลสฆ่าคนฆ่าพระฆ่าเณรไปเสียทั้งหมดเห็นไหม ผลิตขึ้นมาทุกวันนี้เราเห็นไหม อย่างวัดเรานี้เอาเข้ามาดูซิไฟฟ้า เป็นยังไงไฟฟ้า เอาเข้ามาเป็นยังไง หาความสะดวกสบายว่าไฟฟ้ามาจะสว่าง แน่ะ นี่ละอุบายของกิเลสมันขึ้นมาตรงนี้นะ เอาไฟฟ้าเข้ามานี้จะสว่าง แล้วต่อไป โอ๊ย ถ้าได้ตู้เย็นเข้ามาจะดี ตู้เย็นนั่นละเป็นสายทางเดินของเทวทัตของวิดีโอ แน่ะ มันจะเข้ามาทำลาย

เข้าจนกระทั่งกุฏิพระเห็นไหมทุกวันนี้ ถ้าไม่เห็นไปดูเอา ถ้าว่านี่หาอวดอุตริไปดูซิ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ส่งเสริมธรรมะหรือเป็นสิ่งที่สังหารธรรมะให้ฉิบหาย ถ้าหากว่าธรรมะมีอยู่ในใจทำไมจะไม่รู้ คนทุกคนรู้ทุกคน พระขนาดพวกเรา ๆ ท่าน ๆ ทำไมจะไม่รู้ว่าสิ่งนี้เป็นภัย แล้วทำไมถึงดื้อถึงด้านทำถึงขนาดนั้น เอามาทำได้อย่างนั้น อย่างหน้าด้าน นั่นเห็นไหม นี่ละกิเลสมันตัวหน้าด้าน ถ้าลงได้เข้าครอบหัวใจใดแล้ว มันจะไม่ให้เห็นบุญเห็นบาปอะไรเลย เห็นแต่ความอยากความทะเยอทะยานเท่านั้น ดูเอาซิ

พระพุทธเจ้าท่านสอนให้หลีกให้เร้น อู๋ย รุกฺขมูลเสนาสนํ ฟังซิ ให้ไปอยู่ในป่าในเขาในถ้ำเงื้อมผา สถานที่ใดที่เป็นที่พลุกพล่านวุ่นวายด้วยผู้คนอย่าไปอยู่ นั่นท่านสอน แม้ที่สุดต้นไม้ที่เป็นที่หาอยู่หากิน เช่น มันมีผลหมากรากไม้สุก พวกสัตว์พวกนกอะไรมาหากินอยู่ที่นั่นก็อย่าไปอยู่ สถานที่นั้นมันวุ่นวายท่านว่า ท่าน้ำเป็นที่ขึ้นลงของผู้คนหญิงชายก็อย่าไปอยู่ใกล้แถวนั้น วัดที่สร้างใหม่ก็อย่าไปมันวุ่นวาย

ให้หาที่อยู่ที่สงบสงัดวิเวกนะ ให้ประกอบความพากเพียรทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอน ตลอดถึงการพักผ่อนก็บอกไว้หมด ในอปัณณกปฏิปทาสูตร ท่านแสดงไว้เป็นสูตรจริง ๆ เอามาสวดมนต์อยู่นี่ ผู้สวดก็สวดอยู่นี่ เวลานั้นให้พัก เวลานั้นให้เดินจงกรม ให้นั่งสมาธิภาวนา ท่านสอนไว้โดยละเอียดลออมากที่สุด

ท่านไม่ได้บอกว่าให้กว้านเอาสิ่งเหล่านี้มาเผาหัวนะ ท่านไม่ได้ว่านี่ สิ่งเหล่านี้ละเป็นสิ่งที่เผาหัว เผาหัวใจพระนั่นแหละจะเผาหัวใจใคร เรื่องเหล่านี้มันเรื่องของโลกไม่ใช่เรื่องของธรรมเอาเข้ามาทำไม ถ้ารู้อยู่ ถ้าเรามีความละอายอยู่เอามาทำไม ถ้าเราละอายในความเป็นพระของเราอยู่เอามาทำไม นี่คือมันหน้าด้านนั่นเอง

กิเลสลงถ้ามีขึ้นมาตรงไหนจะทำให้ด้านนะ หน้าด้าน ๆ ไปเลย หิริโอตตัปปะไม่มี นั่น จะว่ายังไง แล้วนั้นก็มีนี้ก็มี เขาก็มีเราก็มี ก็ไปแข่งกัน เป็นเรื่องของกิเลสไปเสียหมดเลยว่าไง น่าทุเรศไหม จะก้าวไปไหนก็ไม่ได้ละนี่น่ะ จะหาทางไปไม่ได้นะ มีแต่ข้าศึกเต็มรอบด้านพูดง่าย ๆ ธรรมเกิดได้ยังไง พอพูดเรื่องอรรถเรื่องธรรมขึ้นมา กิเลสมันหน้าด้านมันก็หัวเราะธรรมน่ะซิ พูดเรื่องอรรถเรื่องธรรมขึ้นมานี่ หัวเราะนะกิเลสหน้าด้าน นั่นละกิเลสหัวเราะธรรมดูเอา ใครเป็นก็ตามดูเอา กิเลสหัวเราะธรรมเป็นยังงั้นแหละ

เอาละเลิกละนะ

พูดท้ายเทศน์

ในบุพพสิกขามีอยู่ว่า พระอรหันต์นอนหลับแล้วไม่ฝัน ว่างั้น ผมก็เป็นแต่เพียงจำเอาไว้ไม่ได้พิจารณา พระอรหันต์นอนหลับแล้วไม่ฝัน นี่อันหนึ่ง อันหนึ่งในหนังสือก็มีดูเหมือนจะหลายเล่มอยู่นะ ที่ว่าผู้ที่สำเร็จพระอรหันต์แล้วต้องบวชภายใน ๗ วัน ถ้าไม่ได้บวชภายใน ๗ วันแล้วต้องตายว่างั้น นี่อันหนึ่ง

ในหลักธรรมชาติแล้ว ผู้นั้นจะรู้ตัวเองในหลักธรรมชาติ อะไรจะต้องมีขีดมีคั่นมีบังคับบัญชากันกดกันถึงขนาดว่า ถ้าไม่ได้บวชแล้วเลย ๗ วันไปแล้วตาย คือจะอยู่ได้ภายใน ๗ วันผู้สิ้นกิเลสแล้วถ้าไม่บวช เลย ๗ วันไปตาย นี่นะในหนังสือนี่ผมก็เห็น ไม่ใช่คุยเฉย ๆ เราเห็นจริง ๆ นี่นะนี่ก็ดี แต่ผมไม่ได้ใช้ความพิจารณาอะไรมากนักแต่ก่อน ก็เหมือนที่ว่าพระอรหันต์นอนหลับแล้วไม่ฝัน นี่อันหนึ่ง ที่ว่าผู้สำเร็จอรหัตภูมิแล้วต้องบวชภายใน ๗ วัน ไม่บวช..ตาย นี่ก็เห็น ทีนี้ก็มาทำให้อดคิดไม่ได้นะทุกวันนี้ ให้คิดเหมือนกัน

เรื่องความฝันนี้ก็เป็นเรื่องของธาตุของขันธ์นี่ทำไมฝันไม่ได้ นี่เป็นเรื่องของขันธ์ ๕ แท้ ๆ ขันธ์ ๕ เป็นสิ่งที่กระดุกกระดิกได้เหมือนทั่ว ๆ ไป ทำไมพระอรหันต์จะฝันไม่ได้ นี่ซิเอาเหตุผลมาจับกันตรงนี้ เอ้า พิจารณาธาตุขันธ์ให้ชัดเจนซิ ทั้งจิตด้วยทั้งขันธ์ ๕ นี้ด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ด้วย ท่านบรรลุมรรคผลนิพพานท่านสังหารขันธ์ ๕ นี้ให้ฉิบหายไปแล้วเหรอ ขันธ์ ๕ นี้จึงดีดดิ้นไม่ได้ การดีดดิ้นได้ก็ฝันได้ล่ะซิ นั่นจะว่าไง ขันธ์เป็นขันธ์นี่ทำไมจะฝันไม่ได้ นี่ซิมันน่าคิดอยู่ คิดละซิที่นี่ ใครจะว่าเป็นทิฐิก็ตาม มันคิดก็บอกว่าคิด..เรา

พูดตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ ก็อย่างพ่อแม่ครูจารย์มั่นเรานี่ วันนั้นท่านไม่ค่อยสบายแล้วท่านนอนหลับ ท่านละเมอไป ธาตุขันธ์มันไม่ค่อยสบาย พอนอนหลับไปท่านฝัน ท่านฝันละเมอไป เอ้อ ๆ เราเดินจงกรมอยู่ข้าง ๆ นั่นเราก็ปุ๊บปั๊บ แต่ท่านเร็วนะ เพราะท่านคงได้ยินเสียงเราเดินปุ๊บปั๊บ ๆ ไป ใคร ท่านว่างั้น เราก็กราบเรียนท่านว่า ผมมาหา เสียงพ่อแม่ครูจารย์นี่เสียงผิดปกติ เราว่างั้น อ๋อผิดละซิ…ฝันเมื่อกี้นี้ ท่านว่า นั่นฟังซิ

ท่านฝันเรื่องเกี่ยวกับหมา ท่านว่าให้หมา ท่านดุหมาไล่หมาลักษณะอย่างนี้ นี่หมายถึงหนองผือ ท่านกั้นห้องศาลาอยู่ ก็เพราะท่านไม่สบายนั่นเองละ ท่านเป็นหวัด หวัดก็เป็นหวัดใหญ่ด้วย ผมจึงมาเดินจงกรมแอบ ๆ อยู่ข้าง ๆ นั่น เพราะธาตุขันธ์ท่านไม่ดีก็ทราบ พระเณรก็ทราบกันนี่ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ดึกเท่าไรนัก ผมมาเดินจงกรมอยู่ข้าง ๆ ศาลา ตรงไปทางห้องท่านพักนั่นแหละ ผมเดินจงกรมอยู่ข้าง ๆ ได้ยินเสียงผิดปกติ เอิ๊กอ๊าก ผมเลยปุบปับจะวิ่งขึ้นไปหาท่านนั่นแหละ พอรองเท้าผมปุบปับ ๆ ท่านได้ยินเสียง ท่านก็เลยกึ๊กกั๊กขึ้น ใครมานั่น ท่านว่างั้น นั่น

แล้วพ่อแม่ครูจารย์มั่นเรานี่เป็นอะไร ฟังซิ ใครจะว่าท่านเป็นอะไร เอาตรงนี้ยันกัน พระธาตุท่านเห็นไหมล่ะ นั่นเครื่องยืนยันกัน ท่านฝันหรือไม่ฝันว่างี้ ยังไงก็ตามถึงท่านไม่มาเป็นพยานก็ตาม ผมก็ยังแน่ใจอยู่ว่าเรื่องธาตุขันธ์เป็นธาตุขันธ์ นี่อย่างที่พูดตะกี้นี้ ความเป็นอรหันต์ของแต่ละองค์ ๆ ของพระอรหันต์ทั้งหลายนั้น มีอะไรที่ไปกระเทือนกับขันธ์ ๕ พอจะให้ขันธ์ ๕ แสดงตัวไม่ได้ล่ะ นั่น ขันธ์ ๕ เป็นขันธ์ ๕ ก็ต้องแสดงอยู่เป็นธรรมดา เมื่อเป็นเช่นนั้นทำไมจะฝันไม่ได้ การฝันก็เป็นความแสดงของขันธ์ ๕ นี่นะ นี่อันหนึ่ง

อันหนึ่งที่ว่า ถ้าสำเร็จธรรมขั้นสูงสุดคืออรหัตภูมิแล้ว ถ้าไม่ได้บวชจะตายภายใน ๗ วันนี้ก็เหมือนกัน ทำให้คิดเหมือนกันนะ วิสุทธิธรรมหรือวิสุทธิจิตนี้เป็นเพชฌฆาตฆ่าขันธ์ ๕ เชียวเหรอ นั่น อันนี้ไม่ใช่เป็นเพชฌฆาตนี่นะ สิ่งใดที่ควรไม่ควรพระอรหันต์ท่านจะรู้ของท่านเอง ถึงขั้นนี้แล้ว จะไม่มีใครมาบอกก็ตาม ท่านจะรู้วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องขันธ์ของท่าน เหตุใดจะต้องไปตายภายใน ๗ วันวะ นี่อันหนึ่ง จะว่าบ้าก็บ้าแล้วผม เอ้า มันเกินเหตุเกินผลก็ต้องอย่างนั้นซิ

วิธีการจดจารึกนี่สำคัญอยู่นะ เอาแต่ความจำล้วน ๆ อะไรมาก็อาจจะจำสุ่มสี่สุ่มห้าจดมาเรื่อย ๆ อย่างนั้นก็ได้ เราก็ไม่ได้ประมาท เราอาจเป็นทางสันนิษฐาน อะไร ๆ ก็จดมาเรื่อยจารึกมาเรื่อยด้วยความจำ ๆ ไม่มีความจริงเข้าไปแทรกกันบ้างแล้วก็ลำบากเหมือนกันนะ มีความจริงคือตัวผู้ไปจดจารึกนั้นน่ะ ถ้ามีความจริงภายในจิตใจ มีภูมิจิตภูมิธรรมแล้ว จะได้ธรรมะละเอียดมามากมาย จะไม่มีแต่ความจำล้วน ๆ มา

พระพุทธเจ้าท่านพาช่วยโลก ช่วยจนสุดท้ายนะ..พระพุทธเจ้า เช่นอย่างสุภัททปริพาชก..ช่วยจนสุดท้าย เทศน์ให้ฟัง แล้วก็ให้พระอานนท์ไปบวช ให้ได้เป็นปัจฉิมสาวกในคืนวันนี้เป็นวันสุดท้ายของเรา และพอบวชแล้วก็ให้ออกไปทำความเพียรอยู่ข้างนอก นั่นฟังซิ พระองค์ทรงเล็งเห็นอุปนิสัยแล้วนี่ ก็ได้บรรลุธรรมในคืนวันนั้น คืนวันพระพุทธเจ้าปรินิพพานนั่น ก็ได้เป็นปัจฉิมสาวก ก็อย่างนั้นเอง สงสารถึงขนาดนั้น

เรามาที่นี่ก็เพื่อปริพาชกคนนี้คนหนึ่งละอานนท์ นั่นฟังซิ เพื่อรักษาเหตุการณ์ประการหนึ่ง เหตุการณ์คือพระบรมธาตุของพระองค์ หรือพระสรีระของพระองค์ ตอนนั้นดูยังจะไม่เป็นบรมธาตุหรือยังไงก็ไม่รู้แหละ พระสรีระของพระองค์เวลาถูกเผาไปแล้วนั่นน่ะ ถ้าไปนิพพานเมืองใหญ่เขาจะไม่แบ่งกัน แล้วจะเกิดศึกกัน พระองค์ทรงทราบไว้หมด จึงต้องไปปรินิพพานในเมืองกุสินารา แล้วก็ได้แจกกันอย่างที่เห็นนั่นน่ะ

วันหนึ่ง ๆ ตามปกติผมอยู่ตามลำพังคนเดียวของผม ผมไม่ต้องการอะไรยุ่งนะ ประชาชนญาติโยมที่มาผมทนเอา ผมอุตส่าห์เอาเฉย ๆ นะที่มาหาผมนี่ จึงเข้าหาได้บ้างไม่เข้าได้บ้าง วันหนึ่ง ๆ เราอยู่โดยลำพังเราคนเดียว ๆ เหมาะ พอดี๊พอดี ยุ่งกับนั้นยุ่งกับนี้ โอ๋ย ไม่สบาย

เอาละที่นี่เลิกกันละ มีเท่านั้นละ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก