คำว่าครั้งพุทธกาลกับสมัยปัจจุบันมีความแปลกต่างกัน ครั้งพุทธกาลหมายถึงเวลาที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ สมัยปัจจุบันนี้มีแต่พระโอวาทคำสั่งสอน พระองค์เองก็ทรงดับขันธปรินิพพาน ตามเรื่องของธาตุขันธ์ซึ่งเป็นเรื่องของสมมุติ นี่ความต่างกันอย่างหนึ่ง ความต่างกันอันดับสองก็คือ ครั้งพุทธกาลท่านมีความมุ่งมั่น และถือการปฏิบัติธรรมเพื่อรู้แจ้งแทงทะลุในธรรมทั้งหลาย เป็นรากฐานอันสำคัญในวงพระศาสนา ในวงของพุทธบริษัทและพระภิกษุ ภิกษุณี ตลอดสามเณร
พอมาสมัยปัจจุบันนี้ทางภาคปฏิบัติรู้สึกว่าเบาบางมากแทบจะว่าไม่มี ซึ่งเกิดจากความไม่สนใจเป็นส่วนมาก ถือเอาการร่ำการเรียนเป็นมรรคเป็นผลไปเสีย โดยไม่ได้คำนึงว่านั้นเป็นเพียงความจำ คือการเรียนเพื่อความจำ อันดับต่อไปจึงเป็นภาคปฏิบัติเพื่อจะตักตวงเอามรรคเอาผลขึ้นมา แต่นี้ถือเอาภาคปริยัติคือการศึกษาเล่าเรียนนั้นเป็นมรรคเป็นผลเสียเลยในความรู้สึก เพราะฉะนั้นผู้ที่เรียนได้มากน้อยจึงมีความภาคภูมิใจโอ่อ่าจนลืมเนื้อลืมตัว ทั้ง ๆ ที่กิเลสก็ไม่ได้หลุดลอยหรือถลอกปอกเปิกแม้แต่นิด นอกจากกิเลสพองตัวขึ้นมาเพราะความจำได้เท่านั้น นั่นละต่างกันอย่างนี้
หากการศึกษาเล่าเรียนเพื่อการปฏิบัติมีอยู่ดังสมัยพุทธกาลแล้ว การตักตวงเอามรรคผลนิพพานก็ต้องมีอยู่เช่นเดียวกัน หากจะต่างกันอยู่บ้างก็คือผู้เชี่ยวชาญต่อการแนะนำสั่งสอนนั้นอาจจะมีมากน้อยต่างกัน เมื่อมีมากน้อยต่างกันเช่นนี้ การศึกษาทางภาคปฏิบัติก็ย่อมไม่สะดวกเหมือนมีครูมีอาจารย์ คอยแนะนำตักเตือนสั่งสอนด้วยความเชี่ยวชาญเฉลียวฉลาด โดยที่ได้ผ่านมาแล้วทั้งฝ่ายมรรคและฝ่ายผลดังครั้งพุทธกาลท่านดำเนิน นี่ความต่างกันมีเท่านี้
ส่วนศาสนธรรมนั้นคงเส้นคงวา สภาพทั้งหลายที่มีอยู่ตามหลักธรรมที่สอนไว้ประกาศเอาไว้นั้นไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง พอที่จะมาแก้ไขดัดแปลงให้เป็นอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมา ดังที่ว่าบาปมีบุญมี นรกมีสวรรค์มี นิพพานมี หรือพูดย่น ๆ เข้ามาก็ว่ากิเลสและธรรมมีอยู่ภายในใจ เป็นสิ่งที่มีมาดั้งเดิม มีอยู่แล้วเช่นเดียวกันหมด ต่างแต่ความรู้ความเห็นของคนที่จะนำมาแยกมาแยะ มาปฏิบัติแก้ไขดัดแปลงมากน้อยต่างกันเพียงไรหรือไม่เท่านั้น
ศาสนาจึงกลายเป็นเรื่องต่างกัน ว่าครั้งพุทธกาลกับครั้งนี้ไกลกันอย่างลิบลับราวฟ้ากับดิน ดีไม่ดีอาจจะสุดเอื้อมหมดหวังในความรู้สึกของคนเป็นส่วนมากก็ได้ เรายังแน่ใจด้วยว่าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะความรู้สึกทั้งหลายนี้ถูกทุ่มเทไปในทางอื่นเสีย มากกว่ามากที่จะมาคิดให้เป็นผลเป็นประโยชน์ ตามหลักความจริงแห่งศาสนธรรม เราพูดอย่างนี้พูดในวงชาวพุทธเรา ไม่ได้พูดถึงคนที่ไม่เคยสนใจต่อพุทธศาสนาอะไรเลย พูดในวงชาวพุทธซึ่งมักจะทุ่มเทจิตใจไปในทางอื่นเสียมาก นี่แหละความรู้สึกของใจมันต่างกันเช่นนี้กับครั้งพุทธกาล ผลจะพึงได้รับจึงมีความแปลกต่างกันอยู่มากทีเดียว
หากมีผู้สนใจใฝ่อรรถใฝ่ธรรมด้วยภาคปฏิบัติ เช่นเดียวกับทางด้านปริยัติด้วยแล้ว ผลจะสืบต่อกันมาโดยลำดับลำดาไม่ขาดวรรคขาดตอน ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนกระทั่งถึงสมัยปัจจุบัน และยังจะสืบต่อไปเรื่อย ๆ เพราะธรรมทั้งสามอย่างนี้เกี่ยวโยงกันแยกกันไม่ออก คือปริยัติ ได้แก่การสำเหนียกศึกษาหรือเล่าเรียนด้วยความสนใจอยากรู้อยากเห็นจริง ๆ แล้วใฝ่ต่อการปฏิบัติ จากนั้นก็เป็นภาคปฏิบัติ ดังที่พระอุปัชฌาย์ท่านสอนให้ทุก ๆ องค์ในขณะที่บวช จะบวชเป็นเณรก็ตาม บวชเป็นพระก็ตาม นั่นคือภาคปริยัติอยู่แล้ว กรรมฐาน ๕ ที่พระอุปัชฌาย์มอบให้ นั้นแลคือพื้นเพแห่งปริยัติที่อุปัชฌาย์มอบให้กุลบุตรผู้บวชใหม่
เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่เรียกว่าอนุโลม ให้พิจารณาอนุโลมอย่างนั้น ๆ ท่านสอน ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา นี่คือปฏิโลม ให้กำหนดพิจารณาใคร่ครวญสิ่งเหล่านี้ถอยหน้าถอยหลัง ท่านเรียกว่าอนุโลมปฏิโลม สิ่งเหล่านี้มีอยู่ภายในกายของเรารอบตัวหรือเต็มตัวไม่มีอย่างอื่น มีแต่สิ่งเหล่านี้เกี่ยวโยงกันเต็มไปหมดในร่างกายของเรา ตโจ นั่นครอบไว้แล้ว นี่ท่านเรียกว่าภาคพื้นปริยัติที่อุปัชฌาย์มอบให้ เป็นเรื่องสำคัญมาก
อุปัชฌาย์แต่ละองค์ ๆ ที่จะบวชกุลบุตรสุดท้ายภายหลัง ต้องเป็นผู้สำเหนียกศึกษาสนใจในกรรมฐานทั้งห้านี้เป็นอย่างน้อยทุก ๆ องค์ จึงจะบวชกุลบุตรสุดท้ายภายหลังได้ และสอนไปตามแนวนี้ นี่คือภาคปริยัติ เราจะเข้าใจว่าไม่ได้เรียนเหรอ เรียนแล้วนี่ ครั้งพุทธกาลท่านเรียนอย่างนี้เรียนจากอุปัชฌาย์ แล้วก็เรียนจากครูจากอาจารย์แขนงต่าง ๆ วิธีปฏิบัติ
พอเสร็จแล้วก็ รุกฺขมูลเสนาสนํ นั่นฟังซิ อุปัชฌาย์บอกให้ พระพุทธเจ้าประทานให้อย่างนั้นรับสั่งอย่างนั้นว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย คือเราพูดเป็นภาษเรียบ ๆ ธรรมดา ๆ ก็จะกลายเป็นธรรมเนียมไปเสียว่า บรรพชาอุปสมบทแล้วพึงอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ ต่อจากนั้นก็ชายป่าชายเขาตามถ้ำเงื้อมผา พึงทำความอุตส่าห์พยายามอยู่อย่างนั้นตลอดชีวิตเถิด
แต่ผู้ที่สอนเพื่อความเอาจริงเอาจัง โดยเห็นว่ากิเลสเป็นข้าศึกเป็นภัยจริง ๆ ต่อจิตใจของสัตว์โลกแล้ว จะมาสอนแบบคนสุภาพอ่อนโยนให้กิเลสหัวเราะได้ยังไง ก็ต้องสอนลงแบบจริงแบบจังทีเดียว ตรงไหนที่กิเลสจะสะเทือนหัวใจ กิเลสจะถลอกปอกเปิก จะเดือดร้อนวุ่นวายระส่ำระสาย จนถึงแตกบ้านแตกเมืองออกจากจิตใจ ต้องเน้นหนักศาสตราอาวุธคือพระโอวาทคำสั่งสอนลงตรงนั้น ถ้าเป็นอุปัชฌาย์ก็โอวาทคำสั่งสอนตีลงตรงนั้น ๆ ให้ถึงใจกุลบุตรสุดท้ายภายหลังผู้มาบวชกับอุปัชฌาย์นั้น ๆ ว่า โน่นน่ะป่าเห็นไหม ที่นั่นละที่กิเลสกลัว ตลาดเทศบาล ๑ เทศบาล ๒ นั่นเป็นที่สั่งสมของกิเลส นั่นมันแก้กันเข้ามาพลิกกันเข้ามาดังนี้
หลักธรรมกับกิเลสมันอยู่คนละเกลียว มันติดพันกันอยู่นั้นอยู่ในจิตดวงเดียว อยู่คนละฉาก เพราะฉะนั้นการแก้จึงต้องให้เน้นให้หนัก การสอนต้องเน้นหนัก ไม่เน้นหนักผู้ฟังจะมีความรู้สึกเน้นหนักหรือถึงใจได้อย่างไร และผู้สอนต้องเป็นผู้เข้าใจนั่นแหละเป็นอันดับแรกทีเดียว เข้าใจเรื่อง เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เข้าใจเรื่องกรรมฐานได้เป็นอย่างดี อย่างครั้งพุทธกาลท่านเป็นอุปัชฌาย์ มีแต่พระอรหันต์ทั้งนั้นเป็นอุปัชฌาย์ นั่น ขนาดพระอรหันต์เป็นอุปัชฌาย์ทำไมจะไม่เด็ดไม่เดี่ยว ทำไมจะไม่เน้นหนักถึงจุดอันสำคัญ ๆ ของกิเลสแต่ละตัว ๆ มันซุ่มซ่อนมันหลบซ่อนหากินอยู่ที่ตรงไหนบ้าง ท่านต้องทราบหมด และวิธีตีต้อนกิเลสฆ่ากิเลสท่านก็ทราบหมด เพราะฉะนั้นการแสดงออกแต่ละบทละบาทของท่านผู้สิ้นกิเลสอาสวะ หรือท่านฆ่ากิเลสตายหมดเรียบร้อยแล้วภายในใจนั้น จึงเน้นหนักหรือจึงกระจ่างแจ้ง จึงแตกฉานมากทีเดียว ผิดกับคนทั้งหลายเป็นอันมาก
สอน รุกฺขมูลเสนาสนํ ก็ชี้บอกโน้นป่าโน้นเขา นั้นละกิเลสจะพังทลายลงไปที่จุดนั้นละ ตรงไหนที่ไม่ล่อแหลม ตรงไหนที่ไม่น่าหวาดน่ากลัวกิเลสก็ไม่กลัว ตรงไหนไม่ล่อแหลมกิเลสก็ไม่ล่อแหลม ตรงไหนไม่น่ากลัวกิเลสก็ไม่น่ากลัว ตรงไหนไม่กลัวตายกิเลสก็ไม่กลัวตาย ตรงไหนที่เรากลัวตายนั้นแหละกิเลสก็กลัวตายเหมือนกัน ตรงไหนที่เราอดอยากขาดแคลนกิเลสจะอดอยากขาดแคลน ตรงไหนที่เรากลัวตายหรือเราจะตาย นั้นละกิเลสจะตายที่ตรงนั้นละ นั่น มันย้ำกันลงอย่างนั้น ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าย้ำลง ๆ เพราะเหตุใดจึงย้ำลง ก็ผู้ที่ท่านมาสอนอย่างนั้นท่านเข้าใจหมดแล้ว คือเข้าใจตามวิธีที่ว่านั้นทั้งนั้น
ไปอยู่ที่ไหนถ้าไม่เห็นกำลังของตัวเอง ไม่เห็นกำลังของความกลัวเสียก่อน จะไม่เห็นกำลังของความกล้าที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ ไม่เห็นกำลังของกิเลสต่อสู้กับธรรมแล้ว จะไม่เห็นกำลังของธรรมและจะไม่เห็นความแพ้ความชนะกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องเอาให้เน้นให้หนัก เช่น สอนเข้าอยู่ในป่าในเขาก็สอน นั่นน่ะ ๆ ๆ ชี้เข้าไป ๆ นั่นละเป็นสถานที่ที่กิเลสจะเดือดร้อนวุ่นวาย กิเลสจะระส่ำระสาย กิเลสจะแตกแม่แตกลูกแตกบ้านแตกเมือง สาแหรกภพชาติขาดจากจิตใจของเราจะขาดที่ตรงนั้นแหละ ตรงที่เราพากลัว ๆ เรากลัวตาย เรากลัวอดอยากขาดแคลน ตรงนั้นละกิเลสกลัวเหมือนกัน ถ้าเราเห็นว่าเป็นความสุขความสบาย นั้นคือความสุขความสบายของกิเลส ไม่ใช่ความสุขความสบายของเรา มันเอาเราเป็นฉากเฉย ๆ
ด้วยเหตุนี้ผู้ปฏิบัติจึงต้องมีความกระทบกระเทือนในร่างกายและจิตใจ เช่นเดียวกับเขาขึ้นต่อกรหรือต่อยกันบนเวที เขาไม่ได้ต่อยเวที นักมวยเขาต่อยกันต่างหาก แต่เวทีก็พ้นความกระทบกระเทือนไปไม่ได้ ต้องกระทบกระเทือนอยู่โดยดี นี่ก็ร่างกายจิตใจเป็นเวทีของระหว่างกิเลสกับธรรมต่อสู้กัน จึงต้องมีความกระทบกระเทือน เอ้า กระทบกระเทือนไปเถอะ นั่นถ้าเป็นนักปฏิบัติแล้วให้ได้เห็นเรื่องเห็นราว จะทุกข์จะยากจะลำบากขนาดไหนให้มันเห็นให้มันรู้ สิ่งเหล่านี้เป็นหินลับปัญญา ถ้าไม่ทุกข์เสียก่อนไม่เกิดปัญญา เมื่อถึงขั้นจนตรอกจนมุมแล้วนั้นแหละเกิดปัญญา ปัญญาเกิดตรงนั้น ไม่มีที่พึ่งอาศัยแล้วจิตก็วิ่งเข้าหาตัวเองช่วยตัวเอง นั่นละท่านว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ
แต่ก่อนเราเองก็ไม่เข้าใจแปล อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ว่า ตัวนั้นแลเป็นที่พึ่งของตัว ท่านว่าอย่างนี้ ก็เลยคิดไปหาแต่เรื่องจะพึ่งคนอื่น ถ้าไม่พึ่งคนอื่นมันจะได้เหรอ แน่ะมันคิดไปอย่างนั้นเสีย ทั้ง ๆ ที่นิสัยของสัตว์โลกก็ชอบจะพึ่งคนอื่นอยู่แล้วไม่ได้หวังพึ่งตัวเอง ควรที่จะมาพึ่งตัวเองดังที่พระพุทธเจ้าสอนเสียมั่ง ให้ได้เห็นเหตุเห็นผลมันไม่คิด แต่พอเข้าทางจนตรอกจนมุมแล้วมันเป็นไปได้ นี่เราพูดถึงเรื่องภาคปริยัติท่านสอนอย่างนั้น
พอสอนเรื่อง เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ กรรมฐานที่ตั้งแห่งงาน เมื่อแปลออกแล้วเป็นฐานที่ตั้งแห่งงาน งานเพื่อตัดภพตัดชาติ งานอันวิเศษวิโส หรืองานกองทุกข์ทั้งหลายระหว่างกิเลสกับธรรมหรือกับจิตจะต่อสู้กันนี้ จะทุกข์ที่สุดก็คืองานอันนี้ และรื้อภพรื้อชาติให้พ้น ให้ขาดสะบั้นจากจิตใจถึงบรมสุขได้ก็คืองานอันนี้ ดังนั้นถึงว่ากรรมฐาน ๆ แปลว่าที่ตั้งแห่งงาน งานของพระ งานของผู้ที่จะรื้อตนออกจากวัฏสงสาร จะไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดในภพในชาติ ดังสัตว์ทั้งหลายที่เกลื่อนอยู่ในสามโลกธาตุนี้อีกต่อไป จึงควรเข้มข้นในเรื่องความพากความเพียร ความอดความทนควรอดควรทน
ทุกข์เพราะอำนาจของกิเลสก็เคยทุกข์มาแล้ว สุขเพราะอำนาจของกิเลสก็เคยสุขมาแล้ว เป็นยังไงได้รับความวิเศษวิโสยังไงบ้าง จะทุกข์เพราะอำนาจแห่งการต่อสู้กับกิเลสก็ให้เห็นบ้างซิ และเวลาได้รับความสุขความสบายเพราะอำนาจแห่งธรรม ก็ให้รู้ให้เห็นภายในจิตใจของเรานี่
นี่ละเมื่อได้เรียนกรรมฐานนี้แล้ว เอ้า รุกฺขมูลเสนาสนํ สถานใดที่เป็นป่าเป็นเขาลำเนาไพร ที่เปลี่ยวเป็นที่สงัดงบเงียบไม่มีอะไรยุ่งกวนใจ ให้เข้าสู่สถานที่นั้น เอาธรรมเป็นธรรมาวุธ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้เป็นเครื่องศาสตราอาวุธที่ต่อสู้กับกิเลสตัณหา คือพิจารณาในนี้เป็นชัยสมรภูมิ เกสา เป็นยังไง โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นยังไงที่อยู่ในตัวของเรา ที่นี่จิตขุดค้นลงไปตรงนั้น พิจารณาลงไปตรงนั้น ด้วยความจดจ่อต่อเนื่องกัน จิตเมื่อไม่มีที่ไปที่มาถูกบังคับบัญชาอยู่เสมอด้วยความจนตรอกจนมุมแล้วย่อมทำงานให้ เมื่อได้ทำงานแล้วจะไม่ทราบความจริงยังไง ปัญญาต้องหยั่งเข้าหาความจริง เมื่อหยั่งเข้าหาความจริงต้องรู้ความจริง เมื่อรู้ความจริงแล้วทำไมจะไม่อาจหาญจิตใจของเรา
ดังภาคปริยัติเราเรียนมา ๆ จำได้หมายรู้ตามบทตามบาทอรรถบาลีนั้น เป็นอีกอย่างหนึ่งนะ ความจำได้นั้นไม่ได้มีความอาจหาญอะไรเลย หากจำได้หากไม่อาจหาญ หากไม่คล่องตัว ถึงแปลก็ไม่คล่องตัว รู้ก็ไม่คล่องตัวเพราะเพียงจำได้ แต่พอมาปฏิบัติได้เข้าอกเข้าใจ ท่านว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น เห็นประจักษ์ภายในจิตใจของตนด้วยสติด้วยปัญญาจริง ๆ แล้วมันอาจหาญ อย่าว่าแต่อาการ ๕ นี้เลย หมดอาการ ๓๒ มันก็อาจหาญ เพราะสติปัญญาฟาดฟันหั่นแหลกเข้าไปจนแตกกระจัดกระจายหมด ไม่มีอะไรเหลือภายในขันธ์ ๕ นี้เลย จิตที่ขึ้นชื่อว่าปัญญาได้หยั่งลงไปแล้วที่ตรงไหน ต้องแตกกระจัดกระจายไปด้วยความรู้แจ้งแทงทะลุไปหมด ทีนี้เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วทำไมจะไม่อาจหาญ ร่างกายเป็นยังไง เราพิจารณามารู้ได้ยังไง เห็นได้ยังไง ด้วยปัญญาชัดเจนไม่ต้องไปถามใครเลย มันทราบด้วยปัญญาของตัวเอง
ออกจากนี้เราจะพิจารณาถึงเรื่องเวทนา เวทนานี่สำคัญมากนะ รูปขันธ์ก็สำคัญอย่างหนึ่ง แต่เวลาจนตรอกจนมุมจริง ๆ มันมักจะเวทนา คือทุกขเวทนาเป็นของสำคัญ เมื่อทุกข์มาก ๆ แล้วนั้นละปัญญามันก้าวเดิน ถ้าผู้มีใจกล้าหาญจริง ๆ แล้ว ทุกขเวทนาจะเป็นหินลับปัญญาได้เป็นอย่างดีทีเดียว ขุดค้นลงไปที่ทุกขเวทนา เอ้า ทุกข์เกิดที่ตรงไหน สมมุติว่าทุกข์เกิดที่ขาหรือที่เข่ามากกว่าเพื่อน เอ้า กำหนดลงไปที่เข่ามีอะไร มีหนังหุ้ม แน่ะ กำหนดดูหนังเป็นยังไง หนังเป็นทุกข์ไหม ถ้าว่าหนังเป็นทุกข์ ทุกข์ดับไปทำไมหนังยังมีอยู่ นี่ปัญญาจ่อเข้าไป ๆ หรือเนื้อเป็นทุกข์ หรือเอ็นเป็นทุกข์ กระดูกเป็นทุกข์ ย้อนหน้าย้อนหลังว่าอะไรเป็นทุกข์ จิตจ่อลงไปตรงนั้น ปัญญาหยั่งลงไปตรงนั้นจนเห็นความจริง ไม่เห็นความจริงย้อนหลังกลับมาดูจิต ย้อนหน้าย้อนหลังพลิกไปพลิกมา
เวทนาเป็นยังไง คำว่าทุกขเวทนา เขารู้ความหมายของเขาไหม เขาว่าเขาได้ให้ทุกข์แก่เราไหม เขาว่าเขาบีบคั้นเราไหม คำว่าทุกข์ ๆ น่ะเป็นยังไง แล้วหนังเป็นต้นเขาว่าเขาเป็นทุกข์ไหม ดูหนังอีกตัวที่เราว่าเป็นทุกข์ หนังก็สักแต่ว่าหนัง มีอยู่ตั้งแต่ทุกข์ยังไม่เกิด ทุกข์ก็มีความเกิดขึ้นแล้วดับไปตามธรรมชาติของมัน มันไม่มีความรู้สึกในตัวของมันเลย และไม่มีความหมายในตัวของเราด้วย
จิตเป็นยังไง จิตเมื่อเวลาพิจารณาเข้าไปจริง ๆ ก็สักแต่ว่ารู้เท่านั้น มีสัญญาอารมณ์เท่านั้นเป็นความหมาย ไปหมายว่านั้นเป็นทุกข์นี้เป็นทุกข์ สุดท้ายก็มาว่าเราเป็นทุกข์ เราเลยไปแบกเอาทุกข์ทั้ง ๆ ที่ร้อน ๆ ทั้งที่เป็นทุกข์ ทั้ง ๆ ที่กลัว ๆ นั้นเข้ามาใส่หัวใจเข้าอีก ยิ่งเป็นทุกข์ทรมานขึ้นมากมายถ้าสติปัญญาไม่ทัน ถ้าสติปัญญาทันแล้วก็เนื้อเป็นเนื้อ หนังเป็นหนัง เอ็นเป็นเอ็น กระดูกเป็นกระดูก เป็นความจริงของใครของเราอยู่เท่านั้น
เวทนาคือความทุกข์ก็เป็นสักแต่เวทนาอยู่เท่านั้น ไม่เป็นอันอื่นอันใดเลย ไม่มีความหมายในตัวเอง อาการเหล่านั้นก็ไม่มีความหมายในตัวเอง และไม่มีความหมายในจิต มีแต่จิตไปให้ความหมายเขา จิตก็คือตัวหลงไปสำคัญมั่นหมาย มันออกจากอะไรจึงไปหลง ก็ตัวอวิชชานั้นแล แต่เรายังไม่กล่าว มันไปสำคัญว่านั้นเป็นทุกข์นี้เป็นทุกข์ แล้วก็กว้านเอาสิ่งเหล่านั้นเข้ามาเผาตัวเอง แต่นี้พอมันเข้าใจได้อย่างชัดเจนแล้ว อาการแต่ละอาการเป็นตัวเอง เป็นของตัวเอง ๆ เป็นความจริงของตัวแต่ละอย่าง ๆ ทุกขเวทนาก็เป็นความจริงของตัวเท่านั้น จิตก็มาย้อนรู้ตัวเองเสีย จิตก็สักแต่ว่าจิต
เมื่ออาการไม่หลอกแล้วก็ไม่มีอะไรมาหลอกตัวเอง จิตก็เป็นของจริงอันหนึ่ง เวทนาเป็นของจริงอันหนึ่ง กายส่วนต่าง ๆ เป็นของจริงอันหนึ่ง ต่างอันต่างจริง เมื่อต่างอันต่างจริงแล้วนั้นแหละที่นี่ไม่กระทบกันเลย เป็นความจริงตามสภาพของตน ไม่มีอะไรมากระทบกระเทือนกัน เพียงเท่านี้เราก็ทราบความจริงในการพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ หรือพิจารณาเวทนา หรือพิจารณาขันธ์ มีรูปขันธ์กับเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ก็ทราบไปในตัวนั้น สังขารขันธ์ผู้ปรุงผู้หลอกตัวเอง สัญญาขันธ์ผู้หลอกตัวเอง ก็ทราบไปในตัวด้วยการพินิจพิจารณาของเรา มันรู้ชัดเจนอยู่ภายในตัวเองนั้นแล นี่คือความจริงที่เกิดจากการพิจารณา
เมื่อได้รู้ได้เห็นชัดเจนถึงขนาดนั้นแล้ว เกิดความกล้าหาญชาญชัยภายในจิตใจ เพราะได้รู้ได้เห็น อ๋อ การพิจารณารู้ขันธ์รู้ทุกขเวทนารู้อย่างนี้เหรอ ไม่ต้องถามใคร อาจหาญชาญชัยมากทีเดียว และรู้ไปจนกระทั่งถึงอนาคต ถึงขันธ์จะแตก อย่าว่าแต่ทุกข์ในปัจจุบันที่เป็นอยู่เวลานี้เลย แม้ทุกข์ในเวลาจะตายมันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราวะ นั่น ต้องเป็นเวทนาหน้าเก่าที่เคยเป็นอยู่บัดนี้ และในบัดนี้เราได้ทราบชัดหมดแล้วเรื่องเวทนาจะเป็นยังไง ๆ เป็นข้างหน้าก็คือ ทุกฺขํ อริยสจฺจํ อันเดียวกัน เราตื่นไปที่ไหนก็ในปัจจุบันนี้ไม่ตื่น อนาคตจะเป็นอะไรถ้าไม่เป็นอยู่ในขันธ์อันนี้น่ะ อนาคตก็ไม่ตื่น นั่นเมื่อทราบชัดแล้วเกิดความกล้าหาญ
นี่ละพิจารณาแยกออกไปจนกระทั่งถึงไม่มีอะไรตายโน่น เมื่อรู้ได้ชัดแล้วตายอะไร ส่วนรูปนี่เป็นเรื่องของธาตุ ๔ ส่วนแข็งคือหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เหล่านี้เป็นต้น มันก็เป็นส่วนธาตุดิน แตกกระจายไปแล้วก็ลงไปสู่ธาตุเดิมของตน น้ำก็ลงไปเป็นน้ำตามเดิม ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟตามเดิม อันไหนตายไม่เห็นมี ไฟตายไปไหนฉิบหายไปไหน ดินฉิบหายไปไหน ลมฉิบหายไปไหน มีอยู่ตามสภาพของตน จิตผู้รู้ ๆ ผู้กลัวตายนี้ฉิบหายไปไหน เมื่อพิจารณาชัดเข้าไปเท่าไรจิตยิ่งเด่นชัด มันตายได้ยังไงธรรมชาติอันนี้ มันก็รู้ได้ชัด ๆ ว่าจิตนี้ไม่ตาย เพียงเท่านี้ก็รู้แล้วว่าจิตไม่ตาย
เราอย่าด่วนพูดถึงขั้นวิมุตติหลุดพ้นเลย เพียงขั้นนี้เท่านั้นก็ทราบได้อย่างเด่นดวงว่าจิตก็ไม่ตาย หายความกลัว กลัวอะไร เมื่อจิตก็ไม่ตายแล้วกลัวอะไร มันกลัวบ้าไปเฉย ๆ แน่ะ โอ๋ย หลอกกันทั้ง ๆ ที่ใครก็ไม่มีเจตนาหลอก แต่หลอกก็เพราะความหลงพาให้เป็นไปเช่นนั้น เมื่อจิตได้หยั่งทราบเสียหนหนึ่งเท่านั้น คราวหลังเกิดความกล้าหาญชาญชัย ถึงจิตจะไม่รวมลงไปขนาดนั้น ไม่ได้รู้แจ้งเห็นจริงขนาดนั้นก็ตาม จิตจะไม่มีความสะทกสะท้านหวั่นไหวเลย และจะไม่สงสัยในความจริงที่เคยรู้เคยเห็นมาแล้วนั้น นี่เป็นบทเป็นบาทเป็นทางเดินอันราบรื่นดีงามของผู้ที่เคยได้รู้ได้เห็นแล้ว และเป็นต้นทุนอันสำคัญในการพิจารณา นี่ละเกิดความกล้าหาญชาญชัยมากทีเดียว
ผู้ได้เห็นความจริงอย่างนี้แล้วไม่หวั่น แม้ทุกขเวทนาจะครอบเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยถึงจะตายก็ตาม จะไม่มีสะทกสะท้านหวั่นไหวเลย เพียงมีกิเลสอยู่ก็ตามเถอะ ความจริงของจิตมีอยู่เป็นตัวของตัวอยู่ ไม่ได้ไปสะทกสะท้าน ไม่ได้ไปอาจไปเอื้อมหรือไปพึ่งพิงร่างกายส่วนนั้นส่วนนี้ มันไม่ได้พึ่งนี่ ถอยเข้ามาอยู่ในตัวของตัวเองด้วยความรู้ตามเป็นจริงในสิ่งทั้งหลายแล้วอยู่ ๆ ถึงจะแตกก็แตก สภาพใดไม่ทนเอ้าแตกไป สภาพที่ทนเอ้าอยู่ นั่นให้รู้ชัดเจนอย่างนั้นซินักปฏิบัติ
ธรรมพระพุทธเจ้าท่านสอนจริง ๆ รู้จริง ๆ เห็นจริง ๆ จึงมาสอนโลก ไม่ใช่มาสอนแบบหลอกลวง เราปฏิบัติมีแต่เรื่องแบบหลอกตัวเอง เดินจงกรมหย็อก ๆ ก็หลอกตัวเองกลัวจะมากไป นั่งสมาธิภาวนาก็หลอกตัวเอง ทำความพากความเพียรมีแต่หลอกตัวเอง ให้กิเลสมันหลอกเลยไม่ได้ธรรมของจริง มีแต่เรื่องหลอก ๆ จะได้เรื่องได้ราวอะไรกัน ประพฤติปฏิบัติต้องเอาให้มันจริงมันจังซิ นี่ละท่านว่าภาคปริยัติแล้วก็ภาคปฏิบัติ เป็นอย่างนี้
ปฏิเวธคืออะไร คือความรู้แจ้ง รู้แจ้งไปโดยลำดับลำดา ดังที่กล่าวมานี้ก็คือความรู้แจ้งเป็นประเภท ๆ จนกระทั่งถึงความรู้แจ้งแทงทะลุหมดไม่มีอะไรเหลือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชฺชาปจฺจยา วิญฺญาณํ อวิชฺชาปจฺจยา...จนกระทั่งถึงสิ้นสุดไม่มีอะไรเหลือ อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ ดับ ๆ ๆ ไปหมด นั่นยิ่งสุดยอดเลย จะตายก็ตามจะเป็นอยู่ก็ตาม จะไม่มีความสะทกสะท้าน จะไม่มีความกลัวตาย ไม่มีความกล้าหาญ ความกล้าก็หมด ความกลัวก็หมดเพราะเป็นเรื่องสมมุติด้วยกัน มันตอบรับกันในระหว่างสมมุติเฉย ๆ เมื่อจิตได้ถึงขั้นบริสุทธิ์ขั้นเป็นตัวของตัวเด่นอย่างเต็มที่สมบูรณ์ โดยที่สมมุติทั้งหลายมีขันธ์เป็นต้นเข้าเกี่ยวข้องไม่ได้แล้ว กลัวอะไรกล้าอะไร
ความกลัวก็เป็นสภาพอันหนึ่ง ความกล้าก็เป็นสภาพอันหนึ่ง ในขณะที่ดำเนินปฏิปทานั้น ความกลัวกับความกล้าต้องฟัดต้องเหวี่ยงกันไป เป็นคู่แข่งกัน เหมือนกับนักมวยถ้าต่อยกันต้องหวังมีแพ้มีชนะกันอยู่โดยดี นี่การต่อสู้ระหว่างกิเลสกับธรรมก็ต้องมีการแพ้การชนะ และมีความกล้าหาญชาญชัยหรือการกลัวกันเป็นธรรมดา แต่เมื่อได้ถึงขั้นหลุดพ้นหรือได้ชัยชนะเต็มที่แล้ว กล้าก็ไม่มีกลัวก็ไม่มี เอ้า เป็นก็อยู่ ตายก็ตายไปซิ อะไรตายก็รู้หมดแล้ว ไม่มีอะไรที่จะสะทกสะท้านในหลักธรรมชาติของจิตอันนั้น นั่น
พิจารณาให้ถึงดูซิเรื่องเหล่านี้น่ะ เราอย่าไปคอยเอาเวลาตาย นี่สอนกันทั้ง ๆ ที่รู้ ๆ อยู่นี้ การปฏิบัติก็ปฏิบัติทั้ง ๆ ที่มีชีวิตอยู่นี้ ให้รู้ทั้ง ๆ ที่มีชีวิตอยู่นี้ แล้วจะเป็นยังไงระหว่างขันธ์กับจิต เมื่อถึงขั้นวิมุตติหลุดพ้นจริง ๆ ในหลักธรรมชาติของตนแล้ว ไม่มีอะไรที่จะสะทกสะท้านในจิตดวงนั้นน่ะจริงไหม เอาให้รู้ซิ
เราพูดนี่พูดด้วยความเต็มอกเต็มใจ พูดเพื่อให้หมู่ให้เพื่อนได้ประพฤติปฏิบัติ ให้เห็นว่านี่น่ะ ๆ มรรคผลนิพพานไม่ได้อยู่ที่ไหน ๆ อยู่ในวงสัจธรรมทั้งสี่ สัจธรรมทั้งสี่คืออะไร ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อยู่ที่ไหน อยู่ที่กายกับจิต อยู่ที่ขันธ์ ๕ ธรรมชาติที่รู้ ๆ นี้ก็อยู่ในท่ามกลางแห่งขันธ์ ๕ นี้ ให้รู้ชัดในสิ่งเหล่านี้แล้วจะหายสงสัยไปหมดนั่นแหละ พระพุทธเจ้าองค์ไหนที่ว่ามาตรัสรู้ ๆ เราจะหายสงสัยไปหมด ว่านิพพาน ๆ ไปไหน ถ้าลงได้เอาความบริสุทธิ์ตลอดถึงการประพฤติปฏิบัติของตนโดยลำดับลำดา ทั้งเหตุทั้งผลสมบูรณ์เต็มที่แล้วมาเป็นเครื่องยืนยันภายในจิตใจแล้ว จะสงสัยพระพุทธเจ้าไปที่ไหน ไม่ว่าการดำเนินของพระองค์ ไม่ว่าการรู้แจ้งแทงทะลุของพระองค์ ตลอดถึงสาวกทั้งหลาย จะผิดไปจากธรรมชาตินี้ได้อย่างไร มันเป็นเครื่องยืนยันกันอยู่อย่างนี้ นั่นแหละที่ว่า อกาลิโก ๆ อกาลิกจิต อกาลิกธรรม ไม่มีกาลไม่มีสถานที่ไม่มีเวล่ำเวลา เป็นความจริงตลอดเวลาอยู่กับความจริงของตัวเอง เมื่อจิตได้รู้ความจริงแล้ว จริงจริง ๆ อย่างนั้นไม่มีทางที่จะสงสัย
นี่ละครั้งพุทธกาลก็ตาม ครั้งไหนก็ตาม ขอให้ดำเนินตามหลักศาสนธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้วนี้เถอะ ให้พิจารณาลงในธาตุในขันธ์ ในสัจธรรมหรือสติปัฏฐาน ๔ อริยสัจ ๔ สติปัฏฐาน ๔ อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่กายที่จิตของเรานี้ ครอบอยู่นี้ แบกกันไปมาอยู่นี้ ใจมีแต่เรื่องแบกกิเลสไปด้วย ไม่ได้แบกธรรมคือสติปัญญารู้แจ้งแทงทะลุในตัว นี่สำคัญ จึงไม่ค่อยรู้เรื่องราวอะไร ๆ
ท่านว่าปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ถ้ามีความสนใจสม่ำเสมอเหมือนกันแล้ว ผลของธรรมทั้งสามนี้จะเกี่ยวโยงกันไปไม่ว่าสมัยใด ปริยัติคือการศึกษาเพื่อเข้าอกเข้าใจในแนวทางที่จะถอดถอนกองทุกข์ออกจากใจ คือกิเลสอันเป็นเชื้อที่ผลิตทุกข์ขึ้นมา ให้รู้วิธีการ แล้วก็เป็นภาคปฏิบัติดำเนินงานด้วยความสนใจเช่นเดียวกัน เหตุใดจะไม่รู้ไม่เห็น ธรรมไม่ได้ปิดบังต่อผู้ใดเลย มีอยู่ตลอดเวลา อกาลิโก
ฝึกหัดดัดแปลงเจ้าของเข้าซิ มาเคยมาชินชาหน้าด้านอยู่อะไรกับกองทุกข์ ความสุขผิว ๆ ของกิเลสมันฉาบทาเอาไว้นี้ ความสุขอันหายกังวลวุ่นวายทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าประกาศสอนอยู่ตลอดเวลาทำไมไม่สนใจ ให้มันถึงใจบ้างซินักปฏิบัติ ถึงใจไม่มีความเบื่อหน่ายอิ่มพอก็คือเรื่องของกิเลส มันปิดมันบังอยู่ทั่วโลกดินแดนนี้ ใครประเสริฐในโลกนี้มีไหม เราก็เอามาเทียบบ้างซิ ยกจากตัวเราออกไปสู่แดนโลกธาตุมีใครวิเศษมากกว่ากัน มีตรงไหน ๆ มีที่ไหน อันส่วนให้ชื่อให้นามยศถาบรรดาศักดิ์ หรือศฤงคารบริวารทรัพย์สมบัติเงินทองนั้น ให้ไปตามธรรมชาติ ๆ นั้น ว่าคนนั้นจะมีสุขคนนี้จะมีสุขเพราะมียศถาบรรดาศักดิ์ เพราะมีเงินทองข้าวของบริษัทบริวาร ก็ว่ากันไปอย่างนั้นแหละ
หลักธรรมชาติของจิตถ้าได้ถูกกิเลสบีบอยู่แล้วอย่าเข้าใจว่าจะมีสุขเลย นี้คือหลักธรรมชาติแท้ นี่แก้ให้ตกตรงนี้ ถ้าไม่แก้ออกเสียแล้วแก้ทุกข์ไม่ตก จะต้องบีบคั้นอยู่นั้นแหละ อย่างน้อยเป็นไฟเผาขี้แกลบเห็นไหม มันเผาอยู่ภายในจิตใจ กิริยามารยาทแสดงออกมาเป็นอย่างหนึ่ง ไม่ได้เหมือนกันนะ กิเลสมันมีกลมายาหลายด้านหลายทางเหมือนกัน มันสุมอยู่ภายในจิตใจนั้นแหละ เหมือนไฟไหม้แกลบ กองแกลบนั่นเป็นอย่างหนึ่ง อันนี้เป็นด้วยกันทุกคน ไม่ว่าชาติชั้นวรรณะใดจะเป็นเหมือนกันหมด
เอ้า เรียนให้ถึงถ้าอยากจะทราบ พอได้พังอันนี้ออกแล้วจะอยู่ยังไง นี่ก็ตรงกันข้ามกันอีกละ อยู่ยังไงมันก็คือความหมดเชื้อ ความหมดห่วงหมดใย ความเป็นบรมสุข ความหายห่วงหายกังวลทั้งหมดโดยประการทั้งปวง ในสามแดนโลกธาตุนี้ไม่มีอะไรเป็นที่เยื่อใยเลย ก็คือจิตดวงที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ แล้วเท่านั้น นั้นแหละผู้ทรงความสุขคือผู้นั้น ไม่ใช่ผู้ที่กล่าวมาเหล่านั้น จึงไม่เห็นว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นของประเสริฐ
สิ่งประเสริฐคือธรรมชาติที่บริสุทธิ์หลุดพ้นแล้วนี้ ดัง พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ที่เรากราบไหว้ทุกวัน ธมฺมํ คือธรรมอันประเสริฐ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ นี่ประเสริฐจริง สมชื่อสมนามที่เรากล่าวอ้างว่าประเสริฐจริง นอกนั้นก็เป็นธรรมดาไม่ว่าท่านว่าเราในโลกสมมุติก็ต้องตั้งกัน เราไม่ได้ตำหนิตอนนี้ แต่เราเทียบเอาหลักความจริงเข้ามาพูดกันต่างหาก เราไม่ได้ลบล้างสิ่งที่กล่าวมาเหล่านั้น มันมีมาดั้งเดิมจะทำยังไง โลกสมมุติมีก็ต้องมีสิ่งเหล่านี้ แต่เราอย่าหลงถ้าเป็นนักปฏิบัติ เราอย่าหลงกลมายาของกิเลสของวัฏวน ของสมมุติทั้งหลายที่เป็นมาอย่างนั้น ๆ ให้เรารู้ทางออกทางเข้า รู้ทางแก้ทางปลดเปลื้องตนเองจะได้พ้นภัย ถ้าไม่รู้แล้วไม่พ้น ยังไงก็จมอยู่นี้จนได้นั่นแหละ
เรื่องเกิดเรื่องตายเราไม่ต้องสงสัยในตัวของเรา เอาตัวของเรานี้เป็นเครื่องประกันเลยทีเดียว ไม่ว่าดวงวิญญาณใด ไม่มีว่างจากความเกิดตาย เป็นอย่างนี้ทุกดวงวิญญาณ ถ้า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ไม่ได้ถูกพังทลายออกไปด้วยข้อปฏิบัติดังที่กล่าวมาแล้วนี้ เรายันได้ขนาดนี้เลย เอ้า ตายก็ตาย เราไม่เคยมีความหวั่นไหว ได้เห็นชัดเจนประจักษ์ใจแล้วเท่านั้นไม่ว่าใครแหละ จะอาจหาญเหมือนกันหมด พระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวกเป็นสักขีพยานพระองค์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ๆ ดูซิถึงขนาดที่พระสารีบุตรได้พูดว่า แม้พระพุทธเจ้าเราก็ไม่เชื่อ ว่างั้น เพราะเหตุไรจึงไม่เชื่อ ก็เชื่อพระสารีบุตรที่เป็นขึ้นภายในตัวเอง เป็นหลักสักขีพยานของพระพุทธเจ้า นั่น ไม่เชื่อ แต่เป็นสักขีพยานของพระพุทธเจ้าได้เป็นอย่างดี นั่นละ สนฺทิฏฺฐิโก อ๋อ เป็นอย่างนี้เอง จำเป็นอะไรจะต้องให้พระพุทธเจ้ามาบอกมาประกาศ มายืนยันมารับรองล่ะ เพราะ สนฺทิฏฺฐิโก พระองค์ประกาศยืนยันไว้แล้วอย่างไร นี้คืออันนี้เอง นี่ที่ว่าไม่เชื่อพระพุทธเจ้า
ดังที่เราเคยพูดให้ฟังแล้วในปริยัติมี จนพระตาบอดหูหนวกพระปุถุชนทั้งหลาย ยกโทษพระสารีบุตรว่าไม่เชื่อพระพุทธเจ้า เป็นถึงขนาดพระอรหันต์และอัครสาวกเบื้องขวาทำไมไม่เชื่อพระพุทธเจ้า และไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็รับสั่งว่า เป็นยังไงสารีบุตร ได้ทราบว่าเธอไม่เชื่อเราตถาคตใช่ไหม ใช่พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ได้เชื่อความสัตย์ความจริงในหัวใจของข้าพระองค์โดยเด็ดขาด ด้วยสันทิฏฐิกธรรมของข้าพระองค์ เอ้อ ใช่แล้วสารีบุตร ใช่แล้ว นั่น สันทิฏฐิกะหมายถึงอะไร คือรู้เองเห็นเองดังพระพุทธเจ้าสอนไว้ มันก็เป็นสักขีพยานของพระองค์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ นี่สาวกทั้งหลาย
เอ้า รู้เข้าไปซิองค์ไหนรู้ ไม่ว่าวันไหน ๆ วันนี้ก็เอาเถอะ ถ้าจะเป็นสักขีพยานพระพุทธเจ้าไม่ได้แล้วมีเหรอในโลกนี้ สวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบถึงขนาดนั้นทีเดียว ยืนยันทีเดียว อาจหาญต่อหลักความจริงทั้งหลาย พระองค์สอนเพื่อหลักความจริงทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่ธรรมจะไปอุตริบอกว่ามี ถ้าเป็นของไม่มีแล้วไม่มี ถ้ามีบอกว่ามีลบล้างไม่ได้ ก็คือศาสดาองค์เอกแต่ละองค์ ๆ ที่มาตรัสรู้ธรรมแดนแห่งความจริงทั้งหลายนี้เอง ตามความจริงไม่เอียง สอนตามแบบแห่งความมีความเป็นทั้งหลาย สอนแบบเดียวกันนั้นหมด
ผู้ปฏิบัติ-ปฏิบัติให้รู้จริงเห็นจริงตามนั้นแล้วค้านได้ยังไง ก็เมื่อมารู้มาเห็นอย่างเดียวกันแล้วค้านกันได้ยังไง นอกจากคนหนึ่งหูหนวก คนหนึ่งตาบอด คนหนึ่งไม่มาเห็น มันค้านกันได้ หูหนวกมันก็บอกไม่ได้ยินเสีย ตาบอดมันก็บอกไม่เห็น และผู้ไม่มามันก็บอกไม่เห็น อันนี้ค้านกันได้ แต่ผู้ที่ตาดีหูดีมาเห็นด้วยกันมารู้ด้วยกัน เช่นอย่างรู้ในธรรมทั้งหลายนี่ รู้แบบเดียวกันแล้วค้านกันได้ยังไง แม้แต่ตาเนื้อ ๆ เรานี้ไปเห็นด้วยกันแล้วยังค้านกันไม่ลง ต่างคนต่างลงเสียงเดียวกัน เพราะเห็นด้วยกัน รู้ด้วยกัน ได้ยินด้วยกัน พูดเป็นภาษาเดียวกัน เข้าใจด้วยกัน มันก็รู้ด้วยกัน ยอมรับกันหมด นั่น
อันนี้ก็เหมือนกัน ธรรมพระพุทธเจ้าเป็นธรรมที่ยอมรับ เพราะแสดงตามหลักความจริง ไม่มีตรงไหนจะคัดค้าน นอกจากคนหูหนวกตาบอดอย่างพวกเรา ๆ ท่าน ๆ นี้มันค้านพระพุทธเจ้า ก็คือกิเลสพาให้ค้าน เราเองเราก็ไม่ตั้งใจอยากจะค้าน เราหากไม่ทราบว่าเราเป็นเครื่องมือของกิเลส เอาไปค้านพระพุทธเจ้า เอาเครื่องมือเราไปต่อสู้พระพุทธเจ้าเอง ทั้ง ๆ ที่เราเป็นชาวพุทธลูกศิษย์ตถาคต มันต่อสู้ครูโดยไม่รู้สึกตัว มันมีอยู่ในหัวใจของเรานั่นแหละ เพราะกิเลสพาให้ต่อสู้นี่ เอาให้จริงจังซิจะได้เห็นหมดเรื่องเหล่านี้ หนีจากภาคปฏิบัติไปไม่พ้นแหละ สติปัญญาหยั่งให้ดีตั้งให้ดี
อย่าเสียดายเวล่ำเวลา อย่าเสียดายความเกิดแก่เจ็บตาย มันไม่ไปไหนแหละ มันเกิดแก่เจ็บตายวกเวียนกันไปมาอยู่นี้ตลอดกัปตลอดกัลป์ คือเราแต่ละท่าน ๆ เราแต่ละราย ๆ นี่สงสัยไปไหน ที่จะออกจากนี้ซิเป็นของสำคัญ เอ๊า บึกบึนซิ ด้วยข้อปฏิบัติกำจัดกิเลสทั้งหลาย นี้ละตัวภัยคือกิเลส ไม่มีอะไรเป็นภัยยิ่งกว่ากิเลสเป็นภัยต่อจิตใจ มันพาให้วกเวียนเปลี่ยนแปลงไปทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่น่าเป็นมันก็เป็น แต่แล้วมันก็หลอก สิ่งใดที่จะจริงมันหลอก สิ่งใดที่จะปลอมมันเอามาย้อมจิตใจของเรา สัตว์โลกถึงหลงไม่มีความอิ่มพอในความหลงความเคลิบเคลิ้ม รักก็ไม่อิ่มพอ โกรธไม่อิ่มพอ เกลียดไม่อิ่มพอ ถ้าเป็นเรื่องของกิเลสแล้วไม่อิ่มพอ ถ้าเป็นเรื่องของธรรมแล้วกิเลสให้อิ่มพอทันที ให้เบื่อให้หน่าย นั่น เมื่อกิเลสมีกำลังมากเป็นยังงั้น แต่พอธรรมมีกำลังมากแล้วฟัดกับกิเลส เอาอีกละที่นี่ รู้กันตรงกันข้ามนะ เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ไปเลย
จิตใจดวงนี้กิเลสเอาไปถลุงเสียแหลก ธรรมเข้าไปแทรกไม่ได้เลย ในระยะที่กิเลสเรืองอำนาจเป็นอย่างนั้น ในหัวใจของเราแต่ละดวง ๆ รู้ในนี้แหละ เวลานั้นเราจะรู้ในภาคปฏิบัติของเราเอง พอก้าวเข้าสู่ภาคปฏิบัติ พอจิตเริ่มเป็นสมาธิ จิตเริ่มเป็นปัญญาเข้าไป นั้นละที่นี่เริ่มนะ จิตดวงนี้จะเป็นสถานที่ทำงานแห่งธรรม กิเลสจะเริ่มค่อยเสื่อมค่อยคลายค่อยพังทลายลงไปโดยลำดับ ๆ ต่อไปจิตดวงนี้กลายเป็นโรงงานของการผลิตธรรมไปเลย สติปัญญาหมุนตัวเป็นเกลียวทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอน นั่นละที่นี่ เอาละที่นี่ คำว่าความขี้เกียจขี้คร้านอันเป็นเรื่องของกิเลสหายหน้า ๆ เท่านั้น เราก็เห็นโทษของกิเลสละซิ อ๋อ เรื่องของกิเลสเป็นอย่างนั้น เรื่องกิเลสเป็นอย่างนั้น ๆ รู้กันไปหมดเลยทีเดียว พอธรรมได้ขึ้นแล้วมองเห็นหมด นั่นละท่านว่าธรรมอัตโนมัติ สติปัญญาอัตโนมัติ ทำงานอยู่ภายในของจิต กิเลสพังลง ๆ สุดท้ายกิเลสมีอยู่ที่ไหนไม่ได้ นี่ละงานไม่ว่าง ไม่ว่างจากการค้นคว้า ไม่ว่างจากการทำลายกิเลส
ขึ้นชื่อว่ากิเลสมีอยู่ตรงไหน งานการบำเพ็ญธรรมเพื่อฆ่ากิเลสนี้จะไม่มีเวลาว่างเลย มหาสติมหาปัญญาในครั้งพุทธกาลท่านว่าอย่างนั้น สติปัญญาอัตโนมัติคือหมุนตัวเป็นเกลียวไปเอง ไม่ว่าจะยืนจะเดินจะนั่งจะนอน ไม่มีการได้ตั้งสติ หากเป็นตามหลักธรรมชาติของตนเองเป็นอยู่อย่างนั้น นี่คือจิตถึงขั้นที่หมุนตัวเองแล้วจะทราบหมดกลมายาของกิเลส ทราบไปโดยลำดับลำดา จนกระทั่งกิเลสพังไม่มีอะไรเหลือเลยแล้ว ธรรมจักรที่หมุนตัวเป็นเกลียวด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรนี้ จะหยุดตัวลงไปเองไม่ต้องบอก เพราะสติปัญญาศรัทธาความเพียรเรานี้ไม่ใช่บ้านี่นะ
ธรรมสอนคนให้เป็นบ้าเมื่อไร กิเลสต่างหากสอนคนให้เป็นบ้า เมื่อกิเลสสิ้นสุดลงไปด้วยอำนาจแห่งธรรมาวุธแล้วมันก็ยุติกันเอง เรียกว่าได้ชัยชนะแล้วไปรบกับอะไรอีก แน่ะ ชัยชนะอย่างเด็ดขาด นี่ละที่นี่หมดเรื่องกังวลแห่งความเกิดแก่เจ็บตาย ไม่ต้องไปถามหาที่ไหน ป่าช้าที่นี้เราทำลายหมดแล้ว ป่าช้าภายในจิตใจไม่ทำลายนี้เกิดเรื่อยตายเรื่อยนะ มันเอาเชื้อป่าช้าภายในจิตนี้พาไปเกิดไปตายไม่สงสัย พาสัตว์เกิดสัตว์ตายอยู่ทุกดวงวิญญาณเลย
เพราะฉะนั้นวิญญาณในสามแดนโลกธาตุนี้ จึงไม่ว่างความเกิดความตายของสัตว์โลก ตามภพภูมิอันหยาบอันละเอียดเท่านั้น กามภพ รูปภพ อรูปภพ ฟังซิ เว้นแต่อนาคามีถึงสุทธาวาส ๕ ชั้นนั่น เป็นยังไงสุทธาวาส ๕ ชั้น อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา นี่เป็นที่บรรจุของพระอนาคามีตั้งแต่ได้ระดับแห่งความเป็นพระอนาคามี ถ้าท่านสอบก็ได้ ๕๐% ไปแล้ว เรียกว่าได้ ๕๐% แล้วจะค่อยก้าวเขยิบขึ้นไปเรื่อย ๖๐% , ๗๐%...เรื่อยขึ้นไปโดยหลักธรรมนี้นี้โดยอัตโนมัติของจิตของผู้บำเพ็ญ เพราะฉะนั้นท่านผู้ที่สำเร็จพระอนาคามี ก้าวขึ้นถึงขั้นสุทธาวาส ๕ ชั้นนี้แล้วจึงไม่กลับ คือหมุนไปตัวเรื่อย ๆ
เช่นเดียวกับผลไม้ที่แก่ แก่ได้ระดับแล้วจะไม่เน่าไม่เฟะ จะแก่ไปเรื่อย ๆ จะบ่มก็ตามไม่บ่มก็ตามจะแก่ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งสุก จิตที่แก่ตัวก็เป็นเช่นนั้น อยู่ได้ระดับในอัตโนมัติของตัวเองที่จะบ่มตัวเองโดยหลักธรรมชาติด้วยธรรม กิเลสค่อยหมดไป ๆ โดยหลักธรรมชาติ ก้าวขึ้นไป ๆ เลื่อนจากอวิหาแล้วอตัปปา แล้วก็สุทัสสา สุทัสสี ไปตามภูมิของจิตของธรรม ถึงอกนิฏฐา ผ่านจากนั้นก็นิพพาน นี่ท่านเหล่านี้ไม่กลับ ถ้าลงได้เป็นอัตโนมัติภายในจิตในธรรมแล้วไม่กลับ ภูมิของพระอนาคามีนี้เป็นภูมิอัตโนมัติไปเรื่อย ๆ เลย ท่านผู้สำเร็จพระอนาคามีจึงไม่วกเวียนมาเกิดอีกต่อไป
นี่แหละอำนาจของกามจึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดเลย พาหมุนไปขนาดนั้น พอออกจากนั้นแล้วก็ไปเรื่อยไปโดยหลักธรรมชาติของตนเอง ถ้าหากว่าเราจะเทียบก็เหมือนกับอวกาศไม่มีเครื่องดึงดูด มันไปเรื่อย ๆ เลยจนกระทั่งถึงที่สุด เมื่อถึงที่สุดแล้วมันก็รู้เอง อยากให้รู้ในนี้แหละ อย่าไปหมายนะ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อย่าไปหมาย นั้นเป็นที่บรรจุของจิตที่อยู่ในระดับใดเท่านั้น จงบำเพ็ญตนของตนให้อยู่ในระดับที่จะก้าวขึ้นสู่ความสิ้นทุกข์โดยลำดับภายในจิตนี้เถอะ ให้รู้ตรงนี้ อวิหาตรงนี้ อตัปปา สุทัสสา สุทัสสีตรงนี้นะ อยู่ภายในจิตนี้ก่อน เมื่อทราบนี้แล้วเราจะไม่ต้องพูดถึงข้างหน้านั่น กำลังของเราขนาดไหน ๆ จะก้าวไปได้ขนาดไหนจะรู้ภายในตัว ๆ นี่ แล้วสุดท้ายก็รู้ภายในตัวนี้หมดจดไม่มีอะไรเหลือเลย นี่เหรอความสิ้นทุกข์ เป็นอย่างนี้เหรอ
อะไรเป็นเครื่องก่อทุกข์ ทุกวันนี้มีอะไรอยู่ภายในหัวใจนี่ มันจะมีอะไร ก็มีแต่กิเลสตัวเดียวเท่านั้นแหละ เมื่อกิเลสสิ้นซากลงไปแล้วไม่มีอะไรก่อเรื่องแหละ ก็มีแต่ขันธ์ ๕ ยุบยิบ ๆ เป็นเหมือนหางจิ้งเหลนขาดเท่านั้นเองมันดิ้นของมันอยู่ ไม่มีเจ้าของนี่ อวิชฺชาปจฺจยา ซึ่งเป็นตัวที่ให้เกิดอุปาทานยึดมั่นถือมั่นตายไปแล้ว เอาอะไรมาเป็นเจ้าของ ขันธ์ ๕ ไม่มีเจ้าของ ธรรมเป็นผู้เอามาใช้เท่านั้น ท่านถึงจะเป็นเจ้าของท่านก็ไม่ยึดนี่ธรรม จิตเป็นความบริสุทธิ์แล้วเอาขันธ์ ๕ นี้มาใช้
ขันธ์ ๕ นี้คือวิบากของกิเลส เป็นสมบัติของกิเลส เมื่อกิเลสตายไปแล้วธรรมก็เอามาใช้ นั้นละท่านใช้ไปประกาศศาสนธรรมสอนโลก พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วเอาขันธ์นี้แหละไปสั่งสอนโลก เสด็จไปโน้นโปรดที่นี่ เสียงก็เสียงของขันธ์ ๕ จะว่ายังไง ประกาศธรรมสอนโลก พระสาวกทั้งหลายประกาศศาสนาก็เอาขันธ์ ๕ นี่ ท่านอาศัยสมบัติของกิเลสคือขันธ์ ๕ นี้ไปใช้ทางด้านทำประโยชน์แก่โลกแก่สงสาร แต่ท่านไม่ยึดนี่ พอสิ้นวาระของมันหมดกำลังแล้วขันธ์ ๕ นี้พังทลาย ท่านก็ปล่อยไปตามหลักธรรมชาติ นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต ดับรอบ หมดความกังวลเสียที ไม่ต้องยุ่ง นั่นละผู้ดับจริงดับอย่างนั้น ดับไม่ได้ดับล่มดับจมไปไหนนี่ ดับบรมสุข นั่น
มันอยู่ที่ไหนเวลานี้ อยู่กับผู้รู้ ๆ นี่ ปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมอยู่ที่ตัวของเรานี่ กิเลสก็อยู่ในปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรม อยู่ที่ไหน มันแทรกอยู่ในนี้ แก้ลงที่ตรงนี้ซิไปคิดอะไรเรื่องพุทธกาล อย่าไปคิดถึงเรื่องวัย เรื่องชราคร่ำคร่า เรื่องการเกิดการตายของเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อำนาจวาสนาน้อย ให้กิเลสมันหลอกไป ๆ มันจะให้ออกหนีจากหลักเกณฑ์ที่จะฆ่าหัวมันน่ะ ฟันลงมาตรงนั้นซินักปฏิบัติ เอาให้มันจริงมันจังในการประพฤติปฏิบัติจะได้หายกังวล บรมสุขไม่ต้องถาม เมื่อกิเลสสิ้นซากไปเสียอย่างเดียวเท่านั้นอยู่ไหนได้หมด เป็นได้ตายได้ไม่มีปัญหาอะไรเลย เจ้าจอมปัญหาก็คือกิเลสอย่างเดียว ผู้ปฏิบัติเอาให้จริงให้จังอย่างนั้นซิ
เดี๋ยวนี้ความรู้สึกของชาวพุทธเรา กลายเป็นเรื่องความสุดเอื้อมหมดหวังแล้วในเรื่องมรรคผลนิพพาน ในเรื่องบุญเรื่องกุศล เรื่องบาป นรก สวรรค์ ถูกกิเลสกลืนไปหมด กิเลสมีนรกสวรรค์ที่ไหน กิเลสมีแต่หลอกโลกว่าไม่มี ๆ ทั้งนั้น หลอกโลกหลอกใคร หลอกจิตเรานั่นแหละ ธรรมท่านสอนไว้มันไม่ยอมรับ เพราะกิเลสกับธรรมเคยเป็นข้าศึกกันมาแต่ไหนแต่ไร แล้วมันจะไปยอมรับความจริงยังไง กิเลสไม่เคยยอมรับความจริง ต้องหลีกเลี่ยงต่อความจริงเสมอไป จึงชื่อว่ากิเลสตัวหลอกลวง ถ้าเป็นลัทธิก็คือลัทธิตัวหลอกลวงเราดี ๆ นั่นแหละ มันไม่ยอมรับความจริง มีแต่หลอกตะพึดตะพือ หลอกเอาเบ็ดเกาะปากจะว่ายังไง เอาเหยื่อล่อนิด ๆ นึงแล้วตวัดทีเดียวเสร็จ ๆ ๆ มีแต่จำพวกหลอกนี้ทั้งนั้นละกิเลส
ธรรมท่านไม่หลอก ว่าอะไรจริงหมด ๆ จริงมาแต่ครั้งพุทธกาลฉันใด เดี๋ยวนี้ก็จริงฉันนั้นเหมือนกัน จึงว่ามัชฌิมา ๆ มัชฌิมาปฏิปทา เหมาะสมตลอดเวลา ทั้งการปราบปรามกิเลส ทั้งการเป็นสุขเป็นทุกข์อะไรมันตลอดเวลา มีความจริงเท่ากันไม่มีอดีตอนาคต ขอให้ทุกท่านตั้งใจประพฤติปฏิบัตินะ
การอยู่ด้วยกันไม่ใช่เป็นของแน่นอน อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ดีดเส้นบรรทัดไว้เต็มเนื้อเต็มตัว เต็มใจเต็มร่างกายจิตใจของเราทุก ๆ ท่าน ไม่มีใครบกพร่องด้วยกัน ไม่จากกันเวลาเป็นก็จากกันเวลาตาย มีความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง ทำงานของตัวเองอยู่ตลอดเวลาก็คือกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ในธาตุในขันธ์ของเรานี่แหละ ในจิตในใจของเรานี้แหละไม่ใช่ที่อื่นที่ไหน เราอย่าไปว่าอันนั้นไม่เที่ยงอันนี้ไม่เที่ยง ร่างกายของเรามันก็ไม่เที่ยง จิตใจของเรามันก็ไม่เที่ยง เมื่อมีสิ่งไม่เที่ยงแทรกแฝงกันอยู่แล้วต้องเป็นทุกข์ทั้งนั้น เมื่อจิตได้ถอนตัวออกจากสิ่งเหล่านี้แล้ว อะไรจะเที่ยงไม่เที่ยงจิตไม่ได้สนใจ จิตไม่แบกไม่หาม จิตเป็นธรรมชาติของตัวเองด้วยความบริสุทธิ์ นั่น เรื่องสมมุติกับวิมุตติจึงต่างกันอย่างนี้ สมมุติมันจะดิ้นไปทางไหนก็ดิ้นไปเถอะ วิมุตติแล้วไม่ดิ้นด้วยนะ จริงตามหลักธรรมชาติของตัวเอง
การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร จึงขอยุติเพียงแค่นี้ รู้สึกเหนื่อย