อย่าให้กิเลสหัวเราะ
วันที่ 19 กันยายน 2528 เวลา 19:00 น. ความยาว 80.47 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๒๘

อย่าให้กิเลสหัวเราะ

คำว่าธรรมมีอยู่นั้น มีอยู่หรือมีมาดั้งเดิม มีอยู่ตลอดเวลา อกาลิโก นั่นท่านว่าธรรมมีอยู่ เหมือนสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ เป็นต้น มันมีอยู่ก็มีอยู่อย่างนั้น มีเครื่องสัมผัสรับทราบก็ทราบกันได้โดยลำดับ นอกจากไม่มีเครื่องรับทราบเท่านั้น คำว่าธรรมมีอยู่ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ธรรมความจำ จำมาจากตำรับตำรา จำมาจากครูบาอาจารย์ท่านสอนจำได้ อันเป็นภาคความจำนั้น ไม่ใช่ความสัมผัสธรรม ความสัมผัสธรรมความปรากฏธรรม จะสัมผัสและปรากฏขึ้นภายในใจของผู้ปฏิบัติเท่านั้น เพราะฉะนั้นธรรมในความจำจึงเป็นประเภทหนึ่ง ธรรมในความจริงที่เกิดขึ้นจากภาคปฏิบัตินั้นเป็นประเภทหนึ่ง

เบื้องต้นอาศัยธรรมในความจำนี้ก่อนพอเป็นพื้นเป็นฐานเป็นแนวทาง เช่นอย่างครูอาจารย์หรืออุปัชฌาย์ท่านสอน มอบอาวุธอันสำคัญให้คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่ให้เอาไปพินิจพิจารณา เราจำได้แล้วจากอุปัชฌาย์อาจารย์ หรือฟังเทศน์จากครูจากอาจารย์เราจำได้ นี่เรียกว่าเป็นภาคความจำไม่ใช่ความจริง ไม่ใช่ธรรมประจักษ์ใจ เป็นความจำต่างหากประจักษ์ใจ ความจำ-จำได้เท่าไร มากน้อยเพียงไร ไม่สามารถที่จะถอดถอนกิเลสออกได้เลย เป็นแต่เพียงความจำอยู่เท่านั้น ภาคปฏิบัติต่างหากซึ่งสืบเนื่องไปจากความจำที่เรียกว่าปริยัติ ซึ่งได้ศึกษาจดจำมาแล้ว และนำความจดจำนั้นไปปฏิบัติ ดำเนินตามเข็มทิศทางเดินของตำราของธรรมคือความจำนั้น แล้วปรากฏผลขึ้นมาภายในใจของตัวเอง

เช่น ท่านสอนว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ในธรรมบทใดก็ตามที่ถูกจริตของเรา เรานำมาเป็นคำบริกรรม พิจารณาใคร่ครวญในอาการเหล่านี้ จนปรากฏขึ้นมาเห็นไปตามความจริงที่ท่านสอนนั้น และกลายเป็นจิตสงบขึ้นมาในขณะที่ภาวนา นี่ท่านเรียกว่าธรรมปรากฏ ได้แก่สมาธิธรรม จิตเริ่มปรากฏเป็นความสงบเย็นใจมากน้อย เรียกว่าได้เริ่มสันติธรรม เริ่มสงบมากน้อยเป็นลำดับลำดา จนถึงความละเอียดของจิตที่เกิดขึ้นจากจิตตภาวนาของเรา นั่นก็เรียกว่าธรรมเกิด ธรรมปรากฏ ธรรมสัมผัสใจ เมื่อธรรมในเบื้องต้นได้สัมผัสแล้ว ก็เป็นพื้นเป็นฐานหรือเป็นต้นทุน ที่จะขวนขวายเพื่ออรรถเพื่อธรรมขั้นละเอียดยิ่งไปกว่านั้น คือขั้นปัญญา

ปัญญาคือความเฉลียวฉลาดความคิดความอ่านไตร่ตรอง ในเบื้องต้นต้องพาคิดพาอ่านไตร่ตรองเสียก่อน แม้มีสมาธิคือความสงบเย็นใจแล้ว ยังต้องได้ใช้ความบังคับบัญชาให้พิจารณาคลี่คลายสิ่งทั้งหลาย เช่น เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น ที่เคยบริกรรมหรือที่เคยพินิจพิจารณามานั้นเป็นอย่างไร

ที่อุปัชฌายะท่านมอบให้นั้นความจริงแท้เป็นอย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่กับทุกคนไม่น่าสงสัยถ้าตามหลักความจริงแล้ว แต่มันก็ติด มันเห็นตรงกันข้ามไปเสีย ติดหมดอาการทั้งห้า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อันเป็นกองรูป มันติดไปหมด นี่เป็นหลักธรรมชาติของฝ่ายต่ำซึ่งฝังจมอยู่ภายในจิตใจให้เชื่อ บังคับให้เชื่ออยู่ในตัวของมันเอง บังคับให้ยึดให้ถืออยู่ในตัวของมันเอง โดยที่เราไม่สามารถจะทราบความจริงจากมันได้แม้แต่น้อยเลย ถ้าไม่ได้ปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้

เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนในเบื้องต้นว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ แก่นักบวช ไม่ว่าสามเณรไม่ว่าเป็นพระ จะบริกรรมคำนั้นก็บริกรรม หรือจะคลี่คลายดูสิ่งที่บริกรรมนั้น เช่น เกสา โลมา เป็นต้น ดูตามลักษณะ ตามที่อยู่ที่เกิดของมัน ที่อยู่ของมันเป็นยังไง น่ารักน่าชอบใจน่าติดไหม เหตุใดจิตจึงติดเอานักเอาหนา ติดจนกระทั่งไม่สนใจที่จะแกะกันออกแยกกันออกเลย ถือทั้งหมดว่าเป็นเราเป็นของเรา ทั่วโลกดินแดนถือกันอย่างนั้น เพราะอำนาจของกิเลสมัดจิตใจให้ติดพันกับสิ่งเหล่านี้ อันเป็นความต่ำทรามของมันเอง แต่กลายเป็นเรื่องความสูงไป นี่ละความหลงของใจเรา

จึงต้องได้พิจารณาคลี่คลายดู นี่แหละเริ่มปัญญา เมื่อคลี่คลายเข้าไปเรื่อย ๆ พิจารณาอยู่ไม่หยุดไม่ถอย ถือเป็นการเป็นงาน เป็นความเพียรประจำชีวิตของนักบวช ย่อมจะทราบตามความจริงได้โดยลำดับ ถึงจะช้าหรือเร็วไม่สำคัญ สำคัญต้องทราบความจริงไปโดยลำดับตามที่ท่านสอนไว้แล้ว นี่เรียกว่าปัญญาเกิด ปัญญาเกิดย่อมจะเห็นโทษแห่งความยึดมั่นถือมั่นแห่งความรักความชังในวัตถุ หรืออารมณ์ทั้งหลายได้โดยลำดับ จึงเรียกว่าปัญญา ปัญญานี้เกิดขึ้นจากภาคปฏิบัติ เมื่อปรากฏทางภาคปฏิบัติแล้ว ย่อมจะสลัดปัดทิ้งกันออกโดยลำดับ เช่น คลายความยึดมั่นถือมั่นเป็นต้น เมื่อรู้ชัดแจ้งแล้วจะยึดจะถือไว้ได้อย่างไร ความยึดความถือความสำคัญว่าสกลกายทั้งหมด ทั้งรูปธรรมนามธรรมมีอยู่ภายในกายนี้ ย่อมถือว่าเป็นเราเป็นของเราเสียทั้งสิ้น นี่มันถือได้อย่างไร

เราก็ไม่ทราบว่ามันถือได้อย่างไร แต่ก็ถืออย่างนั้นมาโดยหลักธรรมชาติของมัน ไม่ต้องมีโรงร่ำโรงเรียนสอนกัน เพราะกิเลสเป็นตัวครูเอกอยู่แล้ว มันสอนอยู่ทุกอาการของจิตที่เคลื่อนไหว สอนให้คิดเรื่องนั้นสอนให้คิดเรื่องนี้ สอนให้ยึดให้ถือ มันสอนมันแนบมันสนิทติดกันอยู่เช่นนั้นเราไม่มีทางทราบได้เลย นี่ละวิชาของฝ่ายต่ำซึ่งเป็นข้าศึกของธรรมของจิต เป็นอยู่อย่างนี้ทุกภพทุกชาติทุกดวงวิญญาณ หากมีอยู่ของมันเอง

เราจะหาเรียนวิชาไหนมาแก้มาปลดมาคลี่คลาย มาแยกออกจากจิต ระหว่างจิตกับสิ่งต่ำทรามที่มันแทรกสิงกันอยู่นี้ เราจะทำอย่างไรมันถึงจะออกได้ ไม่มีวิชาใด มีวิชาอันเดียวที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน คือความดี เอาพูดวงกว้าง ๆ ก็ได้แก่การบำเพ็ญคุณงามความดีทั้งหลาย นี่เป็นอุปกรณ์แต่ละอย่าง ๆ เป็นเครื่องสนับสนุนกันเข้าไป การให้ทาน การรักษาศีล การภาวนา เหล่านี้แหละที่จะทำให้รู้ให้เห็นให้แยกแยะได้ สุดท้ายก็ไหลรวมลงไปสู่จิตตภาวนา จิตตภาวนาก็ปรากฏเป็นความสงบเย็นใจขึ้นมาเพราะคำภาวนาของตน หรือเพราะการภาวนาของตน จะภาวนาด้วยธรรมบทใดก็ตาม มีสติจดจ่อต่อเนื่องกับงานของตนอยู่โดยสม่ำเสมอ นั่น จิตย่อมสงบได้ ไม่นอกเหนือไปจากสติเครื่องบังคับนี้ได้เลย นี่ก็เป็นวิชาอันหนึ่งที่จะเริ่มให้รู้สิ่งทั้งหลายที่กล่าวมานั้น ที่ว่าหลง ๆ ยึด ๆ มันหลงเพราะเหตุอะไร ๆ

นี่ละก้าวแรกที่จะเริ่มเข้าไปรู้ความหลง ความยึด ความสำคัญของตน และในขณะเดียวกันเราจะได้ทราบกลมายาของกิเลสประเภทต่าง ๆ ที่มันแทรกมันสิงอยู่ในความคิดความปรุง เพราะมันอยู่กับดวงใจอยู่แล้ว อาการของจิตที่แสดงออกมาในอาการใด จึงเป็นเรื่องความควบคุม หรือความผลักดันของมันที่พาให้แสดงออกมาเท่านั้น ธรรมจึงไม่มีโอกาสที่จะแสดงขึ้นมาได้ ในขั้นเริ่มแรกเป็นอย่างนั้น

ใครจะอยากมาเกิดในกองทุกข์ความทรมาน ใครอยากจะทุกข์ในโลกนี้ แม้แต่สัตว์ก็กลัวกันทั้งนั้นกลัวทุกข์ กลัวล้มกลัวตาย มนุษย์เราทำไมจะไม่กลัว แต่ก็จำเป็น ทั้ง ๆ ที่กลัวอยู่นั่นแหละมันก็เป็นทุกข์ให้เห็นอยู่ต่อหน้าต่อตา เกิดที่ไหนก็คือความทุกข์ที่นั้น กี่ภพกี่ชาติเพราะอำนาจแห่งกิเลสพาให้เกิด ก็คือความแบกทุกข์อยู่ทุกภพทุกชาตินั่นแล เมื่อยังไม่ทราบเป็นเช่นนี้ จึงต้องอาศัยวิธีการดังที่แสดงมา คือจิตตภาวนา

จิตตภาวนาเป็นภาคค้นคว้า เป็นภาควินิจฉัยใคร่ครวญให้เห็นเหตุเห็นผลเห็นตามหลักความจริง ฝ่ายต่ำพาให้เป็นไปอย่างไร ธรรมคือฝ่ายสูงได้พิจารณาตามนั้น จิตที่ไม่เคยสงบก็สงบภายในใจ จิตสงบย่อมไม่ถามใครหากรู้เอง เพราะผิดแปลกสิ่งทั้งหลาย เราไม่เคยรู้ก็ตาม พอจิตได้หยั่งเข้าสู่ความสงบแล้วย่อมทราบในตนเอง

เมื่อสงบท่านก็สอนให้พิจารณาทางด้านปัญญา คลี่คลายดูทุกสิ่งทุกอย่างบรรดาอวัยวะ อาการของอวัยวะทุกส่วนก็ได้ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งก็ตาม ขอให้ถนัดภายในใจเถอะหากจะลุกลามไปหมด เพราะเป็นสัจธรรมคือความจริงอันเดียวกัน เหมือนกัน การพิจารณาคลี่คลายไปโดยลำดับลำดา นี่ละคือทางเดินของปัญญา ทางเดินของธรรมที่จะเกิดขึ้นโดยลำดับ เกิดขึ้นแบบนี้แหละ

แต่เราต้องระวังส่วนมากไม่ทราบ ฝ่ายต่ำที่แทรกอยู่ในวงความเพียรของเรา ทั้ง ๆ ที่ทำความเพียรอยู่นั่นแหละ มันคอยฉุดคอยลาก คอยกระซิบกระซาบให้ไปตามแถวแนวทางของมันจนได้ เดี๋ยวก็ล้มเหลว ๆ ถ้าเราทราบว่าความกระซิบกระซาบ ความผลักความดันของมันที่แสดงอยู่ทุกระยะนั้นว่าเป็นภัยว่าเป็นโทษแล้ว ใครจะไปนอนใจกับมันนักหนาเล่า

เกิดมาวันใด ตื่นขึ้นมาวันใด เป็นมืดเป็นแจ้งมากี่ปีกี่เดือนจนกระทั่งถึงบัดนี้ และได้มาบวชในศาสนาว่ามาศึกษาเล่าเรียนมาประพฤติปฏิบัติ ก็ยังไม่พ้นที่จะให้มันกล่อมหัวใจเอาจนได้นี่ซิ จะว่ามันหยาบยังไง มันละเอียดขนาดนั้นละฝ่ายต่ำที่เป็นข้าศึกของธรรม จึงต้องได้ใช้อุบายพินิจพิจารณากันอย่างเต็มที่เต็มฐานเต็มความสามารถ สติมีเท่าไรตั้งลงไป ปัญญามีมากมีน้อยเพียงไรฝึกหัดค้นคิดพินิจพิจารณาลงไปให้เห็นตามความจริง พอเข้าใจในสิ่งใดตามหลักความจริงแล้ว เช่น เข้าใจในสกลกาย จะเป็นฝ่ายอสุภะคือความปฏิกูลโสโครกก็ดี จะเป็นฝ่าย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี นี่เรียกว่าธรรมเกิด เกิดขึ้นมาโดยลำดับลำดา เข้าใจ ๆ นี่ทางที่จะให้รู้เรื่องของสิ่งพัวพันภายในจิตใจ จนกระทั่งถอดถอนออกได้ คือจิตตภาวนาเป็นยอดแห่งการบำเพ็ญทั้งหลายในบรรดาความดี

การอบรมสั่งสอนแต่ละบทละบาทแต่ละครั้งละคราวต่อหมู่ต่อเพื่อนนั้น มีความหวังอย่างยิ่ง มีความหวังอย่างเต็มใจที่อยากจะให้หมู่เพื่อนได้รู้ได้เห็น ตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศสอนไว้ โดยที่พระองค์ทรงได้บรรลุถึงจุดหมายปลายทางโดยสมบูรณ์แล้ว และนำธรรมทั้งเหตุทั้งผลที่ทรงรู้ทรงเห็นทรงปฏิบัติมาแล้วนั้นมาประกาศสอนโลก ธรรมเหล่านั้นไม่เป็นธรรมที่น่าสงสัย ไม่เป็นธรรมที่ผิดพลาดอะไรเลย เป็นธรรมที่ถูกต้องถ่องแท้ไม่มีอะไรเสมอละ ผู้สอนก็สอนเป็นสวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบทุกอย่าง สำคัญที่ผู้ปฏิบัติตามนี่ซี ไม่ปฏิบัติตามสวากขาตธรรม มันพลิกตาลปัตรกันไป ตรงกันข้ามไปเสีย ผลจึงไม่ค่อยเกิดหรือไม่เกิด

เมื่อสักครู่นี้ได้พูดถึงว่าธรรมมีอยู่ตลอดอนันตกาล ผู้สัมผัสธรรมคืออะไรได้อธิบายแล้ว คือใจ เราพูดสรุปลงมาก็คือ สมถธรรม วิปัสสนาธรรม จากนั้นก็ถึงวิมุตติธรรมไปโดยลำดับ ธรรมที่กล่าวเหล่านี้ไม่นอกเหนือไปจากใจผู้ที่จะรับสัมผัส หรือผู้จะรับรู้ด้วยภาคปฏิบัติของตน เราอย่าได้คาดได้หมายว่าสถานที่นั่นธรรมจะเกิด สถานที่นี่ธรรมจะเกิด เวลาโน้นธรรมจะเกิด เวลานี้ธรรมจะเกิด เราอย่าคาดอย่าหมายไป มันไม่ทันกับกลมายาของกิเลสที่หลอกลวงเรา เพราะอาการเหล่านั้นเป็นความแทรกสิงของกิเลสทั้งนั้นแหละ

กิเลสอยู่ที่ไหนให้ปักลงไป กิเลสอยู่ที่จิต บงการอยู่ที่จิต กิเลสสอนเราให้โง่ ตัวกิเลสนั้นฉลาดที่สุดภายในจิต ครอบหัวใจเราอยู่ตลอดเวลา นี่ความจริงเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร หยั่งลงสู่จิตซึ่งเป็นที่สถิตหรือที่ฝังจมอยู่แห่งกิเลสทั้งหลาย ให้เป็นที่เข้าใจว่าธรรมอยู่ที่ตรงนี้ กิเลสปิดธรรมไม่ให้ปรากฏ เปิดกิเลสออกมากน้อยเพียงไรก็จะปรากฏธรรมมากน้อยเพียงนั้น เหมือนกับสถานที่นี่มันมืด เปิดไฟขึ้นสถานที่นี่ก็แจ้งเองสว่างเอง แรงไฟมีกำลังมากน้อยเพียงไรก็จะรู้กัน นี่กำลังของสติปัญญามีมากน้อยเพียงไรก็จะทราบกันภายในจิตดวงนี้ ไม่นอกเหนือไปจากนี้เลย

การปฏิบัติธรรมอย่าลดหย่อนอ่อนข้อ อย่าถือวันถือเวลาถือสถานที่มาเป็นเครื่องอ้างอิงพึ่งพิง ซึ่งเป็นเครื่องหลอกลวงตนเปล่า ๆ ให้ถือความเคลื่อนไหวของจิต สติติดแนบอยู่กับใจ ปัญญาควรจะใช้ในกาลใดเวลาใดให้ใช้ ไม่ต้องอ้างกาลสถานที่เวล่ำเวลาใด ๆ สมกับกิเลสมันฝังจมอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน การแก้การถอดถอนสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อใจ ย่อมจะแก้ลงได้ในจุดเดียวกันไม่สงสัย

ให้ได้ทราบบ้างซิว่าธรรมเกิด ๆ ตามที่ท่านสอนไว้นั้นว่าธรรมเกิด ธรรมปรากฏ ปรากฏที่ไหน ได้พูดแล้วว่าความจำไม่ใช่ธรรมเกิด ความจำคือความจำเกิดเฉย ๆ จำได้เฉย ๆ ธรรมเกิด-เกิดขึ้นจากภาคปฏิบัติที่เนื่องมาจากความจำได้นั้น ปริยัติคือจำได้จากการศึกษาเล่าเรียน ปฏิบัติคือการดำเนินเป็นภาคปฏิบัติ ผลปรากฏขึ้นมามากน้อยนั้นแหละถึงจะเป็นผล เป็นผลไปโดยลำดับลำดาจนถึงความหลุดพ้น นั่นเรียกว่าวิมุตติธรรมได้ปรากฏแล้วภายในใจ

การปฏิบัติการภาวนาทำอย่างไรกันมันถึงเหมือนคนตายแล้ว ไม่มีวี่มีแววอะไรเลย นี่ก็แปลกใจเหมือนกัน อยู่กับหมู่เพื่อนมาก็นาน การปฏิบัติจิตตภาวนาต่างคนก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ แล้วผลเป็นยังไง เห็นมีแต่ล้มเหลว ๆ มันก็ไม่ตรงกับความมุ่งหมายของผู้สอนผู้อบรม เพราะการสอนเหล่านี้เราสอนด้วยความทุ่มเทจริง ๆ ไม่ได้สอนด้วยความรักความสงวนธรรมแง่ใดไว้เลย สอนหมู่สอนเพื่อนสอนเต็มสติกำลังความสามารถ ไม่ว่าทางเหตุคือการดำเนิน ได้ดำเนินมาอย่างไรก็พูดให้ฟัง เพื่อเป็นคติเครื่องเตือนใจได้ยึดไว้เป็นหลักตามจริตนิสัยของตนจะยึดได้ในแง่ใด ๆ ตลอดถึงผลที่ปรากฏ ปรากฏมากน้อยเพียงไรก็ไม่เคยปิดบังลี้ลับ พูดอย่างเต็มปาก พูดอย่างอาจหาญ ไม่สะทกสะท้านต่อความจริงทั้งหลาย เพราะการปฏิบัติก็ได้ปฏิบัติมาอย่างนั้น นี่ภาคเหตุ ผลที่ปรากฏจากการปฏิบัติ ปรากฏอย่างไรก็พูดตามเรื่องนั้นให้ฟัง เพื่อเป็นแนวทางของผู้ศึกษาอบรมทั้งหลาย จะได้ยึดเป็นหลักเป็นเกณฑ์ ผลจะปรากฏขึ้นโดยลำดับลำดาจากความเพียรหนีไปไม่พ้น นอกจากเราจะเหลวไหลเสียอย่างเดียวเท่านั้น

เราอยากเห็นหมู่เพื่อนมีความเข้มแข็งในความพากความเพียร อันเป็นเครื่องชำระกิเลส เราไม่อยากเห็นความคึกความคะนองที่แสดงออกทางกิริยามารยาท เพราะอันนี้เป็นเรื่องของกิเลสโดยตรง เป็นเรื่องของวัฏวน ไม่ใช่เป็นของอัศจรรย์อะไรเลย ใคร ๆ ก็มีสิ่งเหล่านี้ แต่เรื่องของธรรมคือความสงบเย็นใจเป็นอย่างน้อย ถึงความเฉลียวฉลาดปราดเปรื่องภายจิตใจนั้นเป็นของสำคัญมาก และเป็นความมุ่งหมายของเราผู้เป็นนักบวช ตลอดถึงครูอาจารย์ที่สอน-สอนเพื่ออย่างนั้นจริง ๆ สอนเพื่อให้รู้ให้เห็นให้เข้าใจในธรรมทั้งหลาย แต่เป็นยังไงถึงไม่ปรากฏ นี่มันน่าแปลกอยู่นะ

การฝึกการปฏิบัติมาต่างองค์ก็นานทำไมถึงไม่ปรากฏ คำว่าธรรมเกิดนั้นก็ได้ยินแต่ชื่อเฉย ๆ ว่าธรรมเกิด เพียงจำได้เท่านั้น ธรรมปรากฏก็ได้ยินแต่ครูแต่อาจารย์ท่านสอน สมาธิเกิด ปัญญาเกิด ก็ได้ยินแต่ในตำรับตำรา เห็นแต่ในตำรับตำราครูบาอาจารย์สอน แต่ตัวของเราเองไม่ปรากฏว่าเป็นสมาธิคือความสงบใจ เป็นปัญญาคือความแยบคาย ขับไล่กิเลสออกจากจิตโดยลำดับลำดา จนกระทั่งถึงขั้นบริสุทธิ์วิมุตติพระนิพพานประจักษ์ใจ มันไม่ปรากฏเป็นเพราะอะไร

ธรรมนี้เป็นธรรมสด ๆ ร้อน ๆ แท้ ๆ เช่นเดียวกับกิเลสมันสด ๆ ร้อน ๆ อยู่ตลอดเวลาภายในจิตใจ ทำให้เราหลงได้ตลอดไปเลย ไม่ได้ว่ากิเลสอันนี้เป็นของเก่า อันนั้นเป็นของใหม่ อันนั้นเคยสัมผัสสัมพันธ์กันมาแล้วเท่านั้นครั้งเท่านี้หนกี่ปีกี่เดือน ตั้งแต่วันเกิดมาก็สัมผัสสัมพันธ์กับมันมาแล้วอย่างจำเจ แต่ก็ไม่พ้นที่จะลืมตัวหรือดูดดื่มกับมันตลอดมา นี่กลับเป็นยังงั้น ส่วนธรรมเป็นยังไงไม่ได้กล่อมใจบ้างเหรอ มีแต่กิเลสกล่อมใจและไม่มีความเบื่อหน่าย ติดจมไปอยู่ตลอดเวลาไม่มีความอิ่มพอ นั่นละเรื่องของกิเลสที่ฝังจมภายในจิตใจของสัตว์โลกทำให้จมตลอดเวลา ถ้าเป็นเมาก็เรียกว่าเมาไม่มีวันสร่างเลย เมาทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอน เมาทุกภพทุกชาติ เมาทุกวัย เป็นตลอดเวลา

แม้เราเป็นนักบวชก็ยังเมาแบบนั้นแล้วเราจะหวังพึ่งอะไร เพราะเรื่องความเมาความหลงเหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวล ไม่ใช่เรื่องของธรรมในวงปฏิบัติของเราเลย เราจะทำอย่างไรธรรมถึงจะปรากฏขึ้นมา สมกับเรามาตั้งใจอบรมศีลธรรมจากครูจากอาจารย์ และประกอบความพากเพียรให้ธรรมได้ปรากฏ ธรรมเหล่านี้จะลี้ลับอยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจเช่นเดียวกัน ตัวที่มันเปิดเผยอยู่ตลอดเวลาธรรมกระดิกไม่ได้นั้นก็มีอยู่ภายในใจ แสดงอยู่ตลอดเวลาเหมือนกับว่าท้าทายธรรม ว่าใครมีธรรมยังไงเอามาต่อกรกันกับข้า เหมือนอย่างนั้น ข้าคืออะไร ก็คือกิเลสตัณหาอาสวะประเภทต่าง ๆ ที่ฝังจมครอบหัวใจเราใจท่านอยู่นี้แล มันแสดงอย่างอาจหาญไม่สะทกสะท้านเพราะกำลังของมันมีมาก

เมื่อไรเราถึงจะได้แสดงความอาจหาญไม่สะทกสะท้าน ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญาของเรา จนกระทั่งถึงด้วยวิมุตติหลุดพ้น ไม่มีความสะทกสะท้านหวั่นไหวกับสิ่งทั้งหลายที่เคยเป็นข้าศึกมานี้เลย ได้ฟาดฟันหั่นแหลกกันลงแตกกระจายภายในจิตใจได้เห็นประจักษ์ และเป็นธรรมสด ๆ ร้อน ๆ ไม่มีคำว่าล้าสมัย ไม่มีคำว่าครึ ไม่มีคำว่าเดือนนั้นปีนั้นปีนี้ สถานที่โน่นที่นี่ เห็นแต่ความประเสริฐเต็มหัวใจ

เมื่อกิเลสได้หลุดลอยไปหมดแล้ว ไม่ต้องบอกว่าใจดวงนี้ประเสริฐขนาดไหน ที่ไม่ประเสริฐที่ไม่เป็นของอัศจรรย์ ก็คือเรื่องของกิเลสเข้าไปครอบเท่านั้นเอง กิเลสประเสริฐที่ตรงไหน มันหลอกให้เราหลงต่างหากมันไม่ใช่เป็นผู้ประเสริฐ ไม่ใช่เป็นหลักธรรมชาติที่ประเสริฐ ธรรมต่างหากเป็นธรรมชาติที่ประเสริฐ แต่เมื่อมันฝังจมในหัวใจของสัตว์ใดจะเคลิ้มหลับไปตามทั้งนั้น เราอย่าอวดดีหนาว่ากิเลสเป็นของแก้ไม่ยาก เป็นของง่าย ๆ ปอกกล้วยก็ยังง่ายกว่านี้ เราอย่าไปคิด อะไรก็ตามสิ่งที่เราคิดเราอ่านนี้เป็นสิ่งที่ตื้น ๆ ทั้งนั้นยังหลงกันอย่างจมไปเลย ๆ มันฉลาดแหลมคมขนาดนั้นนะ เมื่อธรรมยังไม่เกิด เมื่อธรรมยังไม่ปรากฏจะมีแต่สิ่งเหล่านี้เลิศเลออยู่ภายในใจ ตามความรู้สึกของสัตว์โลกทั่ว ๆ ไปเป็นเช่นนั้น ต่อเมื่อธรรมได้ปรากฏขึ้นที่ใจเพราะภาคปฏิบัติ นั้นแหละที่นี่เราจะได้เห็นเป็นคู่แข่งกัน

ธรรมปรากฏขึ้นมาเช่นนี้ กิเลสเคยปรากฏกับเราเป็นยังไง นั่น รสชาติของกิเลสอาสวะกับรสชาติแห่งธรรมแปลกต่างกันอย่างไร เริ่มไปตั้งแต่สมาธิยับยั้งตัวได้ เหมือนเรามีเกาะมีดอนมีที่พักผ่อนอาศัย ให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขเป็นกาลเป็นเวลา เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วย่อมเป็นเช่นนั้น ไม่ได้ถูกไฟที่กิเลสมันเผาอยู่ตลอดเวลาตลอดไป ยังมีเวลาพักได้ นี่เมื่อธรรมได้ปรากฏขึ้น รสของธรรมที่ปรากฏขึ้นแม้แต่ความสงบนี้ เราจะได้เห็นโทษแห่งความฟุ้งซ่านความวุ่นวายของเราอย่างถนัดใจเชียว

เมื่อเรายังไม่เห็นความสงบใจซึ่งเป็นข้าศึกของกัน หรือเป็นคู่เปรียบเทียบกัน เราก็ไม่เห็นโทษของความฟุ้งซ่าน ความวุ่นวาย ความส่ายแส่ของจิต เพราะไม่เคยสงบ ผลแห่งความสงบไม่เคยปรากฏ ก็ไม่ทราบจะเอาอะไรไปแข่งกัน เอาอะไรไปเทียบกัน เมื่อความสงบได้ปรากฏขึ้น ย่อมจะเทียบได้ในขณะนั้นทันทีเลย อ๋อ ความสงบเป็นอย่างนี้เหรอ ไม่เคยได้ประพฤติปฏิบัติไม่เคยได้ปรากฏเลย ได้ปรากฏแล้วทีนี้ เป็นอย่างนี้ละหรือ จิตจะมีความกระหยิ่มยิ้มย่องดูดดื่มในผลของตน คือผลแห่งธรรมได้ปรากฏขึ้นแล้ว

เป็นเหตุให้มีแก่ใจที่นี่ ความพากความเพียรก็รวมตัวมา ความอุตส่าห์พยายามหนักเอาเบาสู้ทั้งนั้นมาพร้อม ๆ กัน นี่ละรสแห่งธรรมได้เกิดแล้วเป็นคู่แข่งของกิเลสได้เป็นอย่างดี เพียงสมาธิธรรมก็เอาเถอะ เรายังไม่ได้พูดถึงธรรมอันละเอียดมากยิ่งกว่านั้นเลย เพียงสมาธิธรรมนั้นก็ปราบความฟุ้งซ่านได้เรียบ เห็นโทษแห่งความฟุ้งซ่านด้วยความสงบของใจของธรรมนี้ประจักษ์ใจตัวเอง แน่ะ

นี่ละที่นี่รสแห่งธรรมชำนะซึ่งรสทั้งปวง หรือไม่ว่ากิเลสประเภทใด จะเริ่มชนะกันไปเรื่อย ๆ นี่ท่านว่าธรรมเกิด ที่นี่เริ่มนะธรรมเริ่มเกิด จะว่าภาวนามยปัญญาก็ได้ที่นี่ ปัญญาเกิดตลอดเมื่อถึงขั้นเกิดแล้ว สติกับปัญญาเป็นคู่เคียงกันไป อะไรมาสัมผัสสติซึ่งพร้อมอยู่แล้วจะรับทราบทันที ๆ ปัญญาวิ่งตามแก้ตามไข ตามฟาดฟันหั่นแหลกกันไปโดยลำดับลำดา นี่ท่านว่าธรรมเกิด ปัญญาเกิด หรือภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดในเวลาภาวนาทุกอิริยาบถ เลยกลายเป็นภาวนามยปัญญาไปทั้งนั้น

แต่ก่อนกิเลสเกิด เกิดในใจดวงนี้เกิดทุกเวล่ำเวลา จะได้เห็นไม่ได้เห็นก็ตาม ได้ยินไม่ได้ยินก็ตาม อดีตที่ผ่านมาแล้วกี่ปีกี่เดือน ระลึกได้เมื่อไรเป็นใหม่เอี่ยม ๆ ติดอย่างเอี่ยมเหมือนกัน นั่นกิเลส รสของกิเลส ทีนี้พอธรรมะมีกำลังแล้ว จิตดวงนี้แลซึ่งเป็นสถานที่ผลิตงานของกิเลสวัฏจักรวัฏจิตมาดั้งเดิมได้กระจายตัวออกไป พลังของธรรมได้เกิดขึ้น ๆ ทีนี้ธรรมเลยเกิดขึ้นที่ใจ

เมื่อธรรมเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไร กิเลสจะค่อยเหือดแห้งไป ๆ สุดท้ายก็มีแต่ธรรมทำงานของตัวเอง ผลิตตัวเองขึ้นมาโดยลำดับลำดาเป็นธรรมจักร แต่ก่อนเป็นกิเลสวัฏฏ์ ทีนี้กลายเป็นธรรมวัฏฏ์ เป็นธรรมจักรหมุนกิเลสแหลกไป ๆ โดยลำดับลำดา อยู่ที่ไหนก็เกิดถึงวาระที่ธรรมเกิดแล้วปิดไม่อยู่ เป็นหลักธรรมชาติเป็นอัตโนมัติ หมุนไปอย่างนั้นตลอดจนกว่ากิเลสจะบรรลัยเสียเมื่อไร ธรรมจักรคือปัญญาที่หมุนตัวเป็นธรรมจักรนี้จึงจะหยุด ถ้าหากกิเลสยังไม่สิ้นซากไปหมดแล้ว ปัญญาอันนี้จะหมุนตัวตลอดทีเดียว ทั้งคิดทั้งค้นหาเหตุหาผลหาตัวกิเลส เจอกันเข้าก็ฟันกันเลยอยู่ตลอดเวลา

นี่เรียกว่าธรรมเกิด เกิดในหัวใจนี่แหละไม่ได้เกิดที่ไหน เกิดที่ใจของเรารู้ ๆ นี่ แต่ก่อนรู้มันรู้เป็นโลกเป็นสงสาร รู้เป็นโทษเป็นกรรมไปหมด พอธรรมได้เกิดแล้วรู้เป็นเหตุเป็นผลเป็นอรรถเป็นธรรม รู้แจ้งแทงทะลุไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งแทงทะลุปรุโปร่งไปหมดไม่มีอะไรเหลือภายในจิตใจเลย นั่นละปัญญาประเภทนี้ถึงจะพักตัวหรือหยุด หยุดตามหลักธรรมชาติของตัวเอง เพราะหมดแล้วในบรรดาข้าศึกทั้งหลายที่เคยต่อสู้กันมา ไม่มีอะไรเป็นข้าศึกแล้ว ใจกับธรรมเป็นอันเดียวกัน กลมกลืนเป็นอันเดียวกัน กิเลสไปไหน หายหมดทีนี้ เห็นได้ชัดรู้ได้ชัด

แต่ก่อนจิตมันเคยหมุนวิ่งไปสู่รูป สู่เสียง สู่กลิ่น สู่รส เป็นอุปาทานมาเผาตัวเองอยู่ตลอดเวลาไม่มีคำว่าบกบาง ถึงเช่นนั้นมันยังขวนขวายหามาพอกพูนเสียจนล้นหัวใจ ทุกข์ก็ล้นหัวใจ มันยังไม่ทราบ ต่อเมื่อสติปัญญาที่เรียกว่าธรรมเกิด ๆ สมาธิก็เกิด ปัญญาทุกขั้นก็เกิด เกิดเต็มที่แล้วพังทลายกิเลสวัฏฏ์ออกหมดไม่มีสิ่งใดเหลือเลย นั่นเห็นประจักษ์ ไม่มีแล้วคำว่าข้าศึก เอามาจากไหนข้าศึก ก็เอามาจากกิเลสนั่นเอง กิเลสอยู่ที่จิต ข้าศึกก็ต้องเกิดขึ้นที่จิต ๆ เมื่อกิเลสได้บรรลัยไปหมดจากจิตแล้วข้าศึกจะมาจากไหน ในหัวใจทั้งดวงมีแต่ธรรม ธรรมกับใจเป็นอันเดียวกัน กิเลสจะเกิดขึ้นได้ยังไง มันก็รู้ชัดไม่ต้องถาม ถามอะไรถามพระพุทธเจ้าเมื่อถึงขั้นที่รู้แล้ว

ก็เหมือนกับเรารับประทานอาหารหรือฉันจังหันนี้ มันเผ็ดมันเค็มใครก็รู้ด้วยลิ้นด้วยปากของตัวเองทุกคน จำเป็นอะไรจะต้องไปถามกันว่า นี้รสเป็นยังไง นั้นรสเป็นยังไง อิ่มก็รู้ด้วยตัวเองจำเป็นจะต้องไปถามใครวะ เพราะความจริงมีอยู่กับทุกคน สิ่งที่จะรับความจริงมีอยู่กับทุกคน ความจริงต่อความจริงเจอกันเข้ามันก็เป็นความจริงล้วน ๆ ไม่ได้ถามใคร

อันนี้ก็เหมือนกัน เมื่อสติปัญญาฟาดฟันหั่นแหลกกิเลสตัณหาอาสวะทุกประเภทขาดสะบั้นไปจากจิตใจแล้ว ก็เหลือแต่ธรรมชาติที่บริสุทธิ์พุทโธ อ๋อ นี่พุทโธเป็นอย่างนี้ละเหรอ พระพุทธเจ้าที่ได้เคยกราบเคยไหว้ท่าน คาดคะเนท่านว่าอยู่ที่ไหน ๆ คืออันนี้ละเหรอ และที่ว่าธรรมเกิดหรือธรรมมีอยู่ตลอดเวลามีอยู่ที่ไหน มีอยู่ที่นี่ละเหรอ ไม่มีที่ไหนที่จะรับรองยืนยันกันนอกจากที่จิตเท่านั้น เมื่อถึงขั้นนี้มี พระสงฆ์สาวกคืออะไร ก็คือธรรมบริสุทธิ์นี้ ยืนยันกันตลอดในหัวใจของผู้นั้นแหละ ไม่ได้ถามว่าพระพุทธเจ้าเป็นยังไง ท่านนิพพานไปนานสักเท่าไร นั้นเป็นกาลเป็นเวลาตามสมมุตินิยมเท่านั้น

พอจิตบริสุทธิ์แล้วมันก็หมดเองไอ้เรื่องอดีตอนาคต แม้แต่ปัจจุบันยังรู้เท่า ไม่ติดไม่พันกับสิ่งใดเลย นั่นละเป็นใจอิสระใจประเสริฐ ไม่มีอะไรประเสริฐยิ่งกว่าใจ แก้ให้ได้นะ กิเลสไม่เป็นของประเสริฐอะไรแหละ ถ้าหากเป็นของประเสริฐใครก็เลิศประเสริฐกันหมด ในสามแดนโลกธาตุนี้เป็นที่อยู่ของสัตว์ที่มีกิเลสทั้งนั้น กิเลสแทรกอยู่ทุกหัวใจ เพราะฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายจึงหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงในการเกิดแก่เจ็บตายอยู่ตลอดไม่มีต้นไม่มีปลาย ท่านว่า อนมตคฺโค คือทางไม่มีเบื้องต้นเบื้องปลาย หาไม่เจอ วัฏวนของจิตแต่ละดวง ๆ มันเหมือนมดไต่ขอบด้งท่านว่า ไต่มาแล้วก็มาเจอของเก่า มันก็ว่าเป็นของใหม่ ไต่ไปอีก ไต่ไปไต่มาวนอยู่ขอบด้งอันเก่านั่นแหละ

อันนี้ขอบด้งคือวัฏจักร ได้แก่อะไร กามโลก รูปโลก อรูปโลก นี่ขอบด้งของวัฏจักร จิตหมุนไปหมุนมาอยู่นี้ ให้ฉิบหายไม่ฉิบหาย กิเลสจะทรมานให้ได้รับความทุกข์ขนาดไหนยอมรับว่าทุกข์ ๆ แต่ไม่ฉิบหายก็คือใจนี้เอง ทีนี้เมื่อเวลาชำระอันนี้ออกหมด ความหมุนของใจแต่ก่อนเป็นยังไงเราก็ทราบมาแล้ว ความไม่หมุนของใจบัดนี้เป็นอย่างไรเพราะเหตุไร ก็ทราบได้ชัดเจน ผู้ปฏิบัติต้องทราบ ท่านว่า สนฺทิฏฺฐิโก ๆ พระองค์ไม่ได้ผูกขาด ทราบเต็มหัวใจด้วยกันทุกคน เพราะฉะนั้นเราจึงอย่าไปคาดว่าพระพุทธเจ้านิพพานนานแล้วเท่านั้นปีเท่านี้เดือน ธรรมสมัยโน้นกับธรรมสมัยนี้ กิเลสสมัยโน้นกับกิเลสสมัยนี้มันก็ทิ่มแทงหัวใจผูกมัดหัวใจคนสัตว์ และธรรมเครื่องแก้เครื่องถอดถอนก็ทำหน้าที่แก้หน้าที่ถอดถอนกิเลสได้เหมือนกันหมดไม่เลือกกาลสมัย ถ้าเรานำมาใช้

ทำไมการแก้กิเลสจะไปหาเวล่ำเวลาสถานที่ กาลโน้นกาลนี้ ให้กิเลสหลอกเล่นอยู่ได้หรือนักปฏิบัติ มันหลอกว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานนานมาแล้ว ธรรมะหมดเขตหมดสมัยแล้ว ก็กิเลสไม่หมดสักทีสมัย ไม่เห็นพูดกันตรงนี้ล่ะ เอาให้มันหมดต่อหน้าต่อตาประจักษ์ใจของเราซีนักปฏิบัติ มันจะได้รู้ได้เห็น

นี่พูดอะไรพูดเต็มหัวใจ อยากให้หมู่เพื่อนได้รู้ได้เห็น เพราะไม่ได้โอ้ได้อวด เพราะไม่ได้ไปหาลูบหาคลำมาจากไหน พูดให้มันเต็มเม็ดเต็มหน่วยนี้แหละ ถอดมาจากหัวใจนี่ ทั้งเหตุเราก็เคยเป็นอยู่ในหัวใจนี้แล้ว ผลปรากฏมากน้อยเพียงไรก็ปรากฏอยู่ในหัวใจนี้แล้ว ทำไมจะผิดไป นำของจริงมาพูดแท้ ๆ จึงพูดได้อย่างอาจหาญ เราไม่สะทกสะท้านเรื่องการแสดงธรรมต่อหมู่ต่อเพื่อนเพราะเป็นกันเอง หวังความสุขความเจริญหวังความหลุดพ้นจากทุกข์ด้วยกัน การแสดงด้วยอรรถด้วยธรรม ด้วยเหตุด้วยผลอย่างเต็มอกเต็มใจ อย่างถึงพริกถึงขิง เพื่อให้ถึงพริกถึงขิงสำหรับผู้ฟังทั้งหลาย ให้ถึงเหตุถึงผลถึงอรรถถึงธรรมทำไมจะผิดไป นอกจากกิเลสมันจะมากระซิบกระซาบ มาหลอกให้วิ่งไปตามทางของมันลงไปหมดเท่านั้นเอง

นี่ก็หมดไป ๆ จะทำยังไง ผมวิตกมากจริง ๆ นะไม่ใช่ธรรมดา ครูบาอาจารย์ที่คอยให้อรรถให้ธรรมชี้แนวทางที่ถูกต้องแม่นยำ ไม่มีใครเกินอาจารย์ทั้งหลายที่ท่านผ่านไปแล้วเหล่านี้ นับแต่พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นลงมา จากนั้นก็ครูบาอาจารย์องค์นั้น ๆ ส่วนมากมีแต่ลูกศิษย์ของท่านทั้งนั้นที่ผ่านไป ๆ หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่พรหม มีแต่อย่างเพชรน้ำหนึ่ง ๆ ทั้งนั้น หลวงปู่บัว หนองแซง หลวงปู่ขาว วัดถ้ำกลองเพล หลวงปู่คำดี หลวงปู่แหวน หลวงปู่ทั้งหมดเหล่านี้ท่านเป็นอะไร ถ้าในครั้งพุทธกาลจะว่าท่านเป็นพระอะไร ก็ว่าเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น ถ้าไม่ใช่คนตาบอดหูหนวกอย่างพวกเรา ๆ ท่าน ๆ นี้ไปคอยโจมตี เรื่องกิเลสชอบจะโจมตีธรรม ชอบจะทำลายธรรม ถ้าเป็นเรื่องความดีแล้วขึ้นชื่อว่าตัวกิเลสแล้วจะไม่เชื่อเลย นอกจากธรรมเท่านั้นจะเชื่อ

หมดไป ๆ ครูบาอาจารย์ที่ว่า แล้วยังเหลืออยู่ไหนที่นี่ เราจะมานอนใจอยู่เหรอ การแนะนำสั่งสอนทางด้านจิตตภาวนาเป็นของสำคัญมาก ถ้าไม่รู้ไม่เห็นได้ผ่านมาแล้วสอนไม่ถูก เรียนมา ๙ ประโยคก็เรียนมาเถอะ มีแต่ความจำเฉย ๆ ความจริงไม่ปรากฏแล้วเอาอะไรไปสอนใคร ลูบ ๆ คลำ ๆ ทั้งนั้นละ แต่ถ้าลงได้ปรากฏเป็นความจริงขึ้นภายในใจของตัวเองด้วยภาคปฏิบัติแล้วไม่สงสัย จะรู้ชัดเจนทีเดียว การเทศน์การแนะนำสั่งสอนหรือการแก้ไขปัญหาทุกแง่ทุกมุม จะไม่ผิดไม่พลาดไม่ทำผู้มาศึกษาให้ผิดหวัง จะได้เป็นขวัญใจตลอดไปเลย นี่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายเหล่านั้นท่านเป็นอย่างนั้น เวลานี้ก็หมดไป ๆ เราจะลูบ ๆ คลำ ๆ ไปไหนที่นี่ หมดไป ๆ แล้ว

อำนาจของกิเลสมันยิ่งรุนแรงขึ้นทุกวัน ๆ ไม่ว่าทั่ว ๆ ไป ไม่ว่าในหัวใจของเราเอง เพราะสิ่งที่จะส่งเสริมให้มันเกิด มันมีกำลังมากขึ้นนั้นมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า การประกาศศีลประกาศธรรม คือความดีงามทั้งหลาย เพื่ออวดกิเลสบ้างจะไม่มีนะเดี๋ยวนี้ เราอยากจะพูดว่าไม่มี มีก็อย่างว่านั่นแหละพอให้กิเลสหัวเราะ ว่าถือพุทธก็ถือพอให้กิเลสหัวเราะจะว่าไง เป็นพระเป็นสงฆ์ก็พอให้กิเลสหัวเราะนั่นน่ะ ไม่พอให้กิเลสร้องไห้ได้เลย

เอาซีฟาดลงไปซี พระพุทธเจ้าท่านสอนยังไง สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส ศีลอบรมแล้วสมาธิย่อมเกิดได้มีได้ สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา เมื่อมีสมาธิเป็นเครื่องหนุนแล้ว ปัญญาย่อมเป็นไปได้ เกิดได้ แน่ะ ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ จิตที่ปัญญาซักฟอกให้เรียบร้อยแล้วย่อมหลุดพ้นจากกิเลสโดยชอบ นั่นว่าไง ท่านว่าไว้นี่อยู่ที่ตรงไหน อยู่ที่หัวใจเรานี่นะ ให้กิเลสได้หมอบได้ราบได้แตกกระจัดกระจายจากหัวใจบ้างซี อย่าให้มันได้หัวเราะ

ปฏิบัติเดินจงกรมก็ให้กิเลสหัวเราะ นั่งสมาธิภาวนาก็หลับครอก ๆ ให้กิเลสหัวเราะ เดินจงกรมก็เถ่อไปโน้นหัวใจ สติสตังไม่มีให้กิเลสหัวเราะ นั่งภาวนาให้กิเลสหัวเราะ อิริยาบถ ๔ ว่าตนทำความเพียร มีแต่เรื่องประโยคให้กิเลสหัวเราะ ๆ เป็นประโยชน์อะไร วิเศษศักดิ์สิทธิ์อะไร ไม่อายมันจนอยากมุดลงดินแล้วเหรอถ้าหากว่าธรรมดาทั่ว ๆ ไป ทำอะไรงานอะไรมีแต่งานให้กิเลสมันหัวเราะ ๆ ไม่น่าอับอายขายหน้ามากไปแล้วเหรอ พิจารณาซินักปฏิบัติเรา

เอาให้กิเลสมันร้องห่มร้องไห้สักทีซิ ให้มันพินาศฉิบหายไปจากหัวใจเรานี้เป็นยังไง ที่นี่ธรรมเกิดที่ไหน พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วธรรมเกิดได้ไหม พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วกิเลสทำไมมันเกิดได้เกิดในหัวใจคน ทีนี้ภาคปฏิบัติของเราฟัดกันลงไปกับกิเลส พระพุทธเจ้านิพพานแล้วธรรมะเกิดขึ้นได้ไหม กิเลสตายไปได้ไหม ให้มันเห็นประจักษ์ในใจของเราซินักปฏิบัติ เพราะธรรมนี้สด ๆ ร้อน ๆ แท้ ๆ อยู่ในหัวใจ ดังกังวานอยู่ในนี้ มีแต่กิเลสมันปิดมันหุ้มห่อไว้เท่านั้น เบิกออกซี

ได้รับความสุขความสบายจากการอยู่การกินการหลับการนอน นั้นโลกทั้งหลายมีมาด้วยกัน ก็แค่นั้นแหละ เหมือนนักโทษในเรือนจำก็กินอิ่ม มันหากเป็นนักโทษอยู่นั้นจะว่าไง เหมือนสัตว์พาหนะนี่เลี้ยงมันให้มันกิน แต่ถึงวาระเขาเอาไปฆ่า ๆ เป็นประโยชน์อะไร มันดีอะไรพอที่จะนอนใจ อันนี้หมุนเวียนไปในวัฏจักรวัฏจิตนี้มันกี่ภพกี่ชาติหาประมาณไม่ได้ ก็เพราะความประมาทของเรานั่นเอง ให้ธรรมแทรกเข้าไปทำลายขั้วหัวใจของกิเลสบ้างซี ให้มันพังทลายออกไปจากใจ ทุกฺขํ นตฺถิ อชาตสฺส ทุกข์ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด จิตถ้าไม่ไปเที่ยวเกิดที่โน่นที่นี่จะหาทุกข์มาจากไหน เป็นอิสระเต็มตัวแล้วไม่ต้องเกิด มีแต่ความบริสุทธิ์ล้วน ๆ ในหลักธรรมชาติของตน นั่น

เหมือนว่าไกลแสนไกลจนเอื้อมไม่ถึงคำว่ามรรคผลนิพพาน เลยทวีปไหนไปทวีปไหน ๆ คิดให้กิเลสมันหลอกมันกล่อมไป ทั้ง ๆ ที่กิเลสฝังจมอยู่ในหัวใจเรา ไกลหรือใกล้ที่ไหนรู้กันอยู่ทุกเวลา ควรที่ธรรมจะฟาดลงไปตรงนั้นแท้ ๆ ถ้ามีหัวให้มันหัวแตกไปให้เห็นประจักษ์ใจนี่เป็นไร อยู่ไกลไหมกิเลส มันหุ้มห่ออยู่ที่จิต จิตของใครถ้าไม่จิตของเรา ฟาดลงที่หัวใจเราทำไมจะไม่ฟาดหัวใจกิเลสล่ะ เมื่อหัวใจกิเลสแตกไปแล้วจะเอาอะไรมาเกิดอีก มันไม่มีอะไรเกิดและก็ไม่มีอะไรสูญ นั่น ปรมํ สุขํ ได้แก่อะไร ได้แก่จิตที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ แล้วนั่นแหละ คำว่า ปรมํ สุขํ ปรมํ สุขํ จิตไม่บริสุทธิ์ล้วน ๆ จะ ปรมํ สุขํ ไม่ได้ เพราะ ปรมํ สุขํ นี้เป็นหลักธรรมชาติไม่ใช่สุขเวทนา เป็นธรรมชาติที่อยู่กับความบริสุทธิ์ของจิตเอง

พูดไป ๆ ก็รู้สึกเหนื่อย พากันเอาจริงเอาจังซี จะมาคุ้นมาเคยมาสนิทติดจมกันอยู่เฉย ๆ นี่กลายเป็นแบบโลกไปนะ มองเห็นอากัปกิริยาอะไรแสดงออกมีแต่เรื่องคึกเรื่องคะนอง เรื่องอรรถเรื่องธรรมไม่ค่อยมี นี่ละที่สลดสังเวช ผู้สอน-สอนแทบเป็นแทบตาย ผู้แสดงออกก็แสดงออกให้กิเลสหัวเราะตลอดเวลา มันหันหลังให้ธรรมให้การอบรมนี่ซิจะไม่ให้สลดสังเวชยังไง ดูหมู่ดูเพื่อนไม่ได้ดูเพื่อยกโทษยกกรณ์นี่ เพราะเราเป็นผู้สอนเพื่อให้ดีเอง แล้วไปยกโทษให้หมู่เพื่อนเพื่อหาประโยชน์อะไร เราสอนเพื่อให้ดี แต่กิริยาอาการที่แสดงมานั้นไม่ได้เข้าในวงการสอน หากเป็นวงของกิเลสสอนทั้งนั้น นี่ซิมันน่าสลดสังเวชตรงนี้แหละ

เอาเพียงแค่นี้แหละ เหนื่อยแล้ว


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก