จิตที่หมักหมมอยู่ด้วยกิเลสอาสวะคือสิ่งสกปรกของจิต ย่อมเป็นจิตที่มัวหมองและมืดดำ รู้ก็สักแต่ว่ารู้ไปตามวิสัยของความมัวหมองมืดดำเท่านั้น ไม่มีอะไรแปลกต่างยิ่งกว่านั้นไป ไม่ว่าจะเป็นจิตดวงใดของผู้ใด ขึ้นชื่อว่าจิตที่กิเลสยังครอบงำอยู่แล้วต้องเป็นเช่นนี้ จิตที่มีความหนาบางต่างกันก็เพราะความครอบงำของกิเลสมีความหนาบางต่างกัน แต่ยังไงก็ต้องทำให้ใจมัวหมอง ให้มองไม่เห็นชัดเจนแจ่มแจ้งตามความจริงในสิ่งทั้งหลายอยู่นั่นแล ตลอดถึงความมืดตื้อดื้อด้านสันดานเลว ไม่ยอมฟังเหตุฟังผลอรรถธรรม ไม่เชื่อบาปบุญคุณโทษนรกสวรรค์ใด ๆ ทั้งสิ้น ที่เรียกว่าความมืดตื้อของจิตชนิดปิดตาย
จิตที่มีความเชื่อต่อเหตุต่อผลต่ออรรถต่อธรรมต่อบุญต่อบาป เป็นจิตที่พร้อมจะรับเหตุรับผลรับอรรถรับธรรมได้ แม้จะมัวหมองมองไม่ชัดเจนเต็มความรู้ที่ควรจะมองได้ชัดเจนก็ตาม แต่ยังมีหวังที่จะแจ่มแจ้งชัดเจน หรือสว่างมากขึ้นกว่านั้นโดยลำดับเมื่อได้รับการอบรมศึกษาอยู่เสมอ นี่หมายถึงจิตที่มีกิเลสเข้าเคลือบแฝงหรือหุ้มห่อ ย่อมเป็นเช่นนี้ทุก ๆ ดวง ผิดกับจิตที่บริสุทธิ์หลุดพ้นอยู่มากมาย จะเทียบว่าเป็นคนละโลกก็รู้สึกว่ายังไกลอยู่นั่นแล แยกออกมาพูดไม่ถูกตามความจริงนั้น เพราะไม่มีอะไรจะยกมาเปรียบเทียบ นั่นแลความรู้ที่บริสุทธิ์เป็นเช่นนั้น คือไม่มีอะไรเข้าไปเคลือบแฝงเลย
สิ่งที่เคยมีก็คือสมมุติ กิเลสก็เป็นสมมุติ ละเอียดขนาดไหนก็ยังเป็นสมมุติ ยังเป็นสิ่งเคลือบแฝงไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่ธรรมชาติของจิตแท้ เป็นสิ่งที่เคลือบที่แฝงจิตอยู่โดยดี จึงเรียกว่าสมมุติ จิตอันนี้แหละที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ว่าแต่พระพุทธเจ้าของเรา ตามหลักธรรมท่านกล่าวไว้อย่างนั้น ว่าจะตามดูจิตดวงนี้น่ะว่าเคยเกิดเคยมีมาตั้งแต่เมื่อไรนั้น ท่านบอกเป็น อจินไตย อย่าไปคำนึงคิดถึงมันเลย ถึงจะรู้ขนาดไหนถ้าจะนำมาพูดให้เหมาะให้ถูกต้องกับความจริงนั้นแก่โลก โลกจะไม่มีทางเข้าใจเลย และไม่เกิดผลเกิดประโยชน์อันใดเลย จึงเรียกว่าเป็นอจินไตย ไม่ควรคิดเสียดีกว่า
ท่านเทียบเหมือนกับหนามยอกเท้าเรา ให้รีบบ่งออกเสีย อย่าไปถามหาสกุลหนามนี้ว่ามาจากไหน ๆ และเคยเกิดเป็นหนามนี้มานานเท่าไร มาจากสกุลใดเมื่อไร จะเสียเวลาเปล่า ๆ ให้รีบบ่งหนามนั้นออกเสียแล้วหายาใส่ นี่เป็นผลที่จะพึงได้รับโดยไม่ต้องสงสัย การค้นคว้าหาหรือคิดหาเหตุหาผลของสกุลหนามทั้งหลายนั้นจะไม่มีอะไรเป็นผลดีเกิดขึ้นเลย นอกจากจะทำเท้าของเราให้เน่าเฟะไปเปล่า ๆ นี่ละท่านเทียบ จิตดวงนี้ก็เหมือนกันเช่นนั้นท่านว่า เวลานี้มันขวางอยู่กับอะไร ขวางเพราะเหตุใด สิ่งที่ขวางพระองค์ก็แสดงบอกแล้ว และจะถอดถอนสิ่งที่มันกีดมันขวางนี้ออกด้วยวิธีใด นี่พระองค์ก็สอนไว้แล้วเป็นศาสนธรรมด้วยกัน
กิเลสเป็นเหมือนกับเสี้ยนกับหนามยอกฝ่าเท้าเรา ธรรมะเป็นเครื่องบ่ง เช่นเป็นเข็มหรือเป็นหนาม วิธีการบ่งหนามออกก็สอนหมด และนำยามาใส่ให้ความระมัดระวังรักษา คือจิตใจอย่าส่งส่ายแส่ไปหาสิ่งที่เป็นภัย เช่นเดียวกับเราแกว่งเท้าหาหนามไม่พ้นจะได้เหยียบหนามบ่อย ๆ ให้ระมัดระวังเท้าของตัวเอง ยาก็ใส่เสีย การอบรมจิตใจก็อบรม การระมัดระวังไม่ให้จิตใจส่ายแส่ไปหาสิ่งที่เป็นขวากเป็นหนามก็ให้ระมัดระวัง ท่านสอนไว้หมด
สติเป็นธรรมรักษาใจได้เป็นอย่างดี ปัญญาเป็นสิ่งที่รอบคอบขอบชิด พินิจพิจารณาหาเหตุหาผล เป็นช่องทางที่จะออกจากสิ่งปิดบังหรือสิ่งแวดล้อมภายในจิตใจของตนได้โดยลำดับลำดา ให้นำมาใช้ ธรรมทั้งสองนี้ให้แนบสนิทติดอยู่กับใจของตน นี่คืออุบายวิธีการที่ท่านสอนโดยถูกต้อง ผู้มีความรักใคร่ต่อสติต่อปัญญาเพื่อความปลดเปลื้องตนเองจะเห็นทาง พ้นจากขวากจากหนามคือกิเลสประเภทต่าง ๆ ไปโดยลำดับ
ให้ระมัดระวังใจของตน ต้องฝืนความเสียดาย ฝืนความอยาก อยากเห็น นั่นฟังซิ อยากเห็นอยากดู อยากได้ยินได้ฟัง อยากดมกลิ่นลิ้มรส อยากสัมผัสสัมพันธ์ สิ่งที่เคยเป็นมาทั้งหลายและยังไม่เคยเป็นก็ตาม ส่วนมากเป็นสิ่งที่เคยเป็นทั้งนั้นแหละ เพราะเป็นสัญชาตญาณของจิตที่สัมปยุตด้วยกิเลส ย่อมเป็นสิ่งเกี่ยวพันกันทันทีทันใด อยากรู้อยากเห็นอยากสัมผัสสัมพันธ์ นี่ให้ระวังความอยาก ให้ฝืนความอยาก อยากดูก็ไม่ดู ความไม่ดูความฝืนความอยากนั้นแลเป็นธรรม เครื่องกั้นกางหวงห้ามตนไม่ให้ก้าวเข้าสู่พิษภัยทั้งหลาย แล้วจิตก็ไม่เป็นอันตราย ไม่ว่าอยากดูอยากเห็น ไม่ว่าอยากได้ยินสิ่งที่เป็นภัยนั้น ให้ห้ามความอยากนั้นด้วยสติด้วยปัญญา พินิจพิจารณารู้โทษของมัน เห็นโทษของมัน และอย่าใกล้ชิดอย่าสนิทอย่าคุ้นอย่านอนใจกับสิ่งที่เคยเป็นภัย จะไม่เป็นคุณต่อผู้ใดทั้งนั้น สิ่งที่เคยเป็นคุณ-เป็นคุณ สิ่งที่เคยเป็นโทษ-เป็นโทษตามหน้าที่ของมัน ในหลักธรรมชาติเป็นเช่นนั้น ให้พากันระมัดระวังรักษา
การปฏิบัติจิตต่อสิ่งที่ยื้อแย่งแข่งดีกับธรรมอยู่นี้เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะเวลานี้กำลังฝ่ายต่ำมันมากยิ่งกว่ากำลังฝ่ายสูง คืออรรถคือธรรม ที่จะเข้าไปรักษาจิตใจ ฉุดลากจิตใจไว้จากสิ่งเหล่านั้น ไม่ให้สิ่งเหล่านั้นฉุดลากเอาไปเป็นอาหารของตน หรือเอาเป็นเครื่องใช้ของตน เอาเป็นเครื่องมือของตนได้ จึงเป็นเรื่องยาก แต่ยากขนาดไหนเราอย่ามาคิดเอาความยากที่เห็น ๆ อยู่นี้ มันเป็นความคิดที่ตื้นเกินไป ไม่สมกับผู้ปฏิบัติศาสนธรรมอันเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งกว้างขวางมากยิ่งกว่ากิเลสนี้เป็นไหน ๆ ความที่หลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้ไปโดยลำดับลำดาเท่านั้นเป็นจุดมุ่งหมายของผู้ดำเนิน นี่แหละชื่อว่าเป็นจุดมุ่งหมายของผู้มีธรรม คือสติธรรม ปัญญาธรรมเป็นสำคัญ
ปัญญานี้สอดส่องมองทะลุไปถึงไหนแล้วจะเพิ่มความมีแก่ใจ เพิ่มความพากความเพียรให้มีกำลังมากขึ้น ความอุตส่าห์พยายามทุกด้านทุกทาง ความอดความทนจะเพิ่มขึ้น เพราะอำนาจของปัญญาเป็นเครื่องไตร่ตรองเห็นเหตุเห็นผลแล้วจะคืบคลานไปได้โดยไม่ต้องสงสัย สำหรับนักบวชเรายิ่งเป็นสิ่งที่ควรอย่างยิ่งที่จะประพฤติปฏิบัติตนอย่างนั้น
ให้เราทราบไว้เสมอว่าฝ่ายต่ำซึ่งครอบอยู่ในหัวใจนั้น ไม่เคยขยายตัวออกห่างจิตใจเลย เพราะเป็นสิ่งที่มันรักมากที่สุด และธรรมชาตินั้นก็ไม่เคยอยู่กับอะไร ไม่เคยสนิทติดใจอะไรยิ่งกว่าสนิทติดใจกับจิต และถือจิตเป็นเครื่องใช้ที่อยู่อาศัยของตน เพราะฉะนั้นมันจึงรักมาก ถ้าเป็นคนก็เรียกว่าเป็นผู้รักในสิ่งนี้มาก หึงหวงมาก แต่นี้มันเป็นนามธรรม เป็นธรรมชาติอันหนึ่งที่แทรกอยู่ในจิตนั้น ตัวเองก็มองไม่เห็น มีแต่รู้ ๆ อยู่เฉย ๆ เช่น รักเกิดขึ้นมันก็ทำให้พอใจเสีย แน่ะ นี่แหละถ้าธรรมชาตินี้แล้วต้องกล่อมใจให้พอใจไปตาม โกรธก็พอใจโกรธ อยากโกรธ รักก็พอใจรัก อยากรัก ไม่เพียงว่าอยากถอนความรักนะ ยังอยากรักเข้าไปอีก ความที่รักอยู่ในขณะนั้นมันก็พอใจอยู่แล้ว ยังอยากจะเพิ่มความรักเข้าไปอีก เพราะมันทำให้ดื่มเข้าไปอย่างนั้นเองถึงได้แก้ยาก มันกล่อมอยู่อย่างลึก ๆ
เมื่อสติปัญญายังเข้าไปถึงสิ่งเหล่านี้ขนาดใดเพียงใดแล้ว มันจะกล่อมจิตอยู่ตลอดเวลา ได้เห็นก็ตามไม่ได้เห็นก็ตาม มันหากมีอยู่ภายในตัวของมัน ในขณะที่ไม่ได้เห็นไม่ได้ยิน ก็เป็นรสเป็นชาติอันหนึ่งที่จะกล่อมจิตใจของเราด้วยธรรมารมณ์ คือเอาสิ่งที่ได้เห็นได้ยินได้ฟังนั้นแหละเข้ามาครุ่นมาคิดอะไรต่าง ๆ อยู่ภายในจิตนี้ ให้เคลิบเคลิ้มหลงใหลไปกับมันอยู่ตลอดเวลาไม่มีความอิ่มพอเลย ยิ่งได้เห็นได้ยินได้ฟังเข้ามาอีกก็ยิ่งเพิ่มเป็นความคิดความอ่าน เป็นสัญญาอารมณ์เข้าไปอีก ให้ติดให้จมไปเรื่อย ๆ ไม่มีคำว่าจะเบื่อหน่ายอิ่มพอ หากไม่นำธรรมเข้าไปแทรกไปกีดกันไปหวงห้าม จนถึงกับได้ปรากฏผลแห่งธรรมขึ้นมา เป็นคู่แข่งกันกับรสชาติอันนั้น นั้นแหละถึงจะค่อยห่างเหินออกไปได้
ดังผู้มีสติปัญญามีความสามารถโดยลำดับลำดาแล้ว ความรักพอปรากฏขึ้นพับจะรู้ทันทีว่าเป็นตัวภัย นั่น ต่างกันกับแต่ก่อนจิตดวงนั้นแหละ ความชัง ความโกรธ ความเกลียด พอแสดงแย็บขึ้นมาจะรู้ว่าเหมือนกับไฟกระเด็นมาติดตัวของเรา ดอกไฟกระเด็นมามากน้อยก็ทราบว่าเป็นไฟและทราบว่าเป็นโทษ ได้ระมัดระวังทันที สลัดปัดทิ้งทันที ๆ นี่ละสติปัญญาที่ทัน ทันความรัก ความชัง ความเกลียด ความโกรธ ทันกันอย่างนี้ และทันด้วยเห็นโทษด้วยไม่ใช่ทันเฉย ๆ ทีแรกก็เริ่มทันก่อน ต่อไปก็เริ่มเห็นโทษโดยลำดับลำดา แม้ไม่แสดงขึ้นมาก็เห็นโทษ ก็มีแต่จะแก้จะไข มีแต่จะถอดจะถอนโดยถ่ายเดียว นี่เรียกว่าสติธรรม ปัญญาธรรม มีกำลังขึ้นมาแล้ว
ทีนี้ความสงบใจที่ปราศจากสิ่งก่อกวนทั้งหลาย จากธรรมชาติอันต่ำทรามนั้นค่อยเบาไป ๆ สันติธรรมก็ปรากฏเด่นชัดขึ้นภายในจิตใจ นั่นเรียกว่าสันติคือความสงบใจ นอกจากสงบแล้วยังเห็นความผ่องใส ความสว่างกระจ่างแจ้งภายในจิตใจของตน เป็นสง่าราศีอยู่ภายในตัวตลอดเวลาอีกด้วย นี่แหละเรียกว่าผลของธรรมได้ปรากฏขึ้นมาแล้ว สิ่งเหล่านั้นเมื่อเอามาเทียบเคียงกันแล้ว ธรรมชาตินี้เหนือกว่าแล้วที่นี่ ถึงจะยังละไม่ได้ก็ทราบว่าเหนือกว่า เมื่อทราบว่าเหนือกว่าอยู่แล้วก็ยิ่งจะมีแก่ใจ พยายามระมัดระวังรักษาหรือถอดถอนไปโดยลำดับลำดา จนกระทั่งไม่มีอะไรเหลือ เอ้า เราสรุปเอาเลย หมดโดยประการทั้งปวง ขึ้นชื่อว่าความรักจะรักอะไรก็ตาม ความชัง ความเกลียด ความโกรธอะไรก็ตาม เป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวล รู้เท่าทันด้วย แน่ะ ละขาดออกจากจิตใจด้วย จึงไม่มีอะไรกวนใจ
ทีนี้เราก็ทราบได้ชัดว่าสิ่งที่เคยกวนใจมาแต่ก่อนคืออะไร ก็คือจอมกษัตริย์วัฏจักรเหล่านี้เองจะเป็นอะไรไป นั่นมันชัดแล้ว เมื่อธรรมชาตินี้ได้พังไปโดยลำดับลำดา ความสงบก็ยิ่งแน่นเข้าไป ๆ เห็นสารคุณของใจโดยลำดับ พูดง่าย ๆ ก็ว่าความเห็นโทษก็เห็นอย่างถึงใจ ความเห็นคุณก็ถึงใจ เมื่อเป็นเช่นนั้นเรื่องความเพียรนี้เป็นไปเองทั้งวันทั้งคืนเว้นแต่หลับเท่านั้น นี่ท่านเรียกความเพียรอัตโนมัติ หรือเรียกว่าภาวนามยปัญญา หมุนตัวเป็นเกลียวไป เหมือนกับกิเลสที่เคยหมุนตัวอยู่ภายในจิตใจของเราแต่ก่อน มันเอาดวงใจดวงนี้เป็นโรงงาน และทำงานของมันทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอนเว้นแต่หลับเท่านั้น เป็นงานของกิเลสบนหัวใจทั้งมวล
มันผลิตแต่เรื่องกองทุกข์ขึ้นมาให้ได้รับความทุกข์ความทรมาน มันแทรกขึ้นมาความเพลิดความเพลินให้เราหลง เพื่อจะจมลงในกองทุกข์นั้นแล หลงจะหลงไปไหน หลงเพื่อลงในกองทุกข์ ไม่ใช่หลงเพื่อไปมรรคผลนิพพานที่ไหน ความหลงที่มันหลอกขึ้นมาปรุงแต่งขึ้นมาให้มีความเพลิดความเพลิน มีรสมีชาติบ้างเล็กน้อยก็รสชาติเพื่อจะให้จม ไม่ใช่รสชาติเพื่อจะให้ผ่านพ้นไปถึงมรรคผลนิพพาน พ้นจากเงื้อมมือของมันเลย จากนั้นก็มีแต่ความทุกข์กองทุกข์ มันเห็นได้ชัดภายในจิตใจ นี่ท่านเรียกว่าเห็นโทษ
ที่นี่เห็นคุณของธรรม ธรรมไม่เคยปรากฏว่าได้สร้างความทุกข์ความลำบากอะไรให้แก่เรา ความลำบากลำบนเพราะการต่อสู้นั้นเป็นฤทธิ์ของกิเลส อำนาจของกิเลส กำลังของกิเลสต่อสู้ต่างหาก มันก็รู้ได้ชัด พอถึงขั้นที่อำนาจของธรรมมีหรือธรรมมีอำนาจ สติมีอำนาจ ปัญญามีอำนาจแกล้วกล้าสามารถแล้วก็เห็นได้ชัด ๑ ทำให้ขาดไปโดยลำดับลำดาจากใจนั้น ๑ จนกระทั่งถึงขาดสะบั้นออกหมดไม่มีภายในจิตใจเลย นั่นละที่นี่ใจจึงกลายเป็นธรรมทั้งดวงขึ้นมา จะว่าใจบริสุทธิ์ก็ได้ จะว่าธรรมบริสุทธิ์ภายในใจก็ได้ ในเวลามีธาตุมีขันธ์มีสมมุติเป็นคู่แข่งกันอยู่ เช่นธาตุขันธ์ กิเลสอาสวะในโลกสงสารนี้มันมีสมมุติอยู่ หรือเป็นคู่เทียบเคียงหรือเป็นคู่แข่งกันอยู่ เราก็เรียกว่าเป็นสมมุติ ถ้าว่าจิตบริสุทธิ์ก็ได้ ว่าธรรมทั้งดวงก็ได้ ไม่มีขัดมีข้องไม่มีขัดมีแย้ง ว่าอะไรได้หมด พอผ่านสมมุติโดยประการทั้งปวงไปแล้ว ไม่มีอะไรที่จะมาพูดกัน นี่ละท่านว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เราจะหานิพพานที่ไหน
เวลานี้จิตถูกอะไรย่ำยี ถูกกิเลสย่ำยี วุ่นเพราะอะไร วุ่นเพราะกิเลส เราก็รู้ว่าวุ่น เราก็รู้ว่าทุกข์มากน้อย ก็รู้ผู้รู้อยู่นี่น่ะ มันอยู่ใต้อำนาจของกิเลส พอพ้นจากอำนาจของมันเสียหมดแล้ว ไม่มีอะไรกวนแล้วก็บรมสุข นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ท่านว่าสุขอย่างยิ่ง คือสุขไม่ใช่สุขแบบโลกนะ ไม่ใช่สุขแบบประเดี๋ยวประด๋าวแล้วหายไป สุขเช้าตอนเย็นเป็นทุกข์ สุขตอนบ่ายตอนค่ำเป็นทุกข์ สุขเวลานี้เวลาต่อไปเป็นทุกข์ ไม่ใช่สุขอย่างนี้ อันนี้เป็นสุขเวทนา เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เต็มตัวของมัน สุขอันนั้นเป็นบรมสุข เป็นสุขในหลักธรรมชาติแห่งจิตที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ คำว่าบรมสุขนี้เราก็พูดเฉพาะที่ยังมีธาตุมีขันธ์เท่านั้น ออกจากนั้นแล้วท่านไม่จำเป็นจะต้องพูดกัน พูดหาอะไร ขอให้ถึงที่ของมันก็แล้วกัน ไม่มีใครถามใครแหละ
เช่นอย่างเรานอนหลับสนิทนี่ใครถามใครล่ะ เวลานั้นห่วงอะไรไหม มีไหมความรู้สึกว่ามีลูกมีเมียมีหลานมีเหลน มีสมบัติพัสถาน มีความรู้ความฉลาด ความโง่เขลาเบาปัญญา มีอำนาจวาสนามากน้อย มีความรู้สึกยังไง แม้ที่สุดในสกลกายของเราก็ยังไม่เห็นสำคัญกันเลย แล้วสงสัยไหมในขณะที่หลับนั้นเป็นยังไง หลับสนิทนั้นน่ะ นี่ละคนมีกิเลสเราพอจะเทียบกันได้เล็กน้อยกับเรื่อง นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ เรายกอันนี้ไปเทียบเท่านั้น คนมีกิเลสก็พอทราบกันได้ด้วยกันทุกคน เพราะเคยหลับสนิทมาด้วยกัน
คำว่าหลับนี้เป็นของคู่ควรกันกับธาตุขันธ์ในบุคคลแต่ละคน มีอะไรในระยะนั้น ถึงจะหลับไปตั้งกัปตั้งกัลป์ก็ไม่มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องเลย นั่น อย่าว่าเราหลับจากนี้ไปถึงพรุ่งนี้เช้าถึงเวลาตื่นนั้นเลย หลับไปตั้งกัปตั้งกัลป์ก็เป็นเช่นนั้นถ้าลงว่าหลับสนิทแล้ว ตั้งกัปตั้งกัลป์มีอะไรเข้ามาขัดมาแย้งไหมไม่มี นี่ที่ว่านิพพานเที่ยงหมายถึงอะไร เราเทียบได้แค่นี้ละ เอาเพียงหลับแค่นี้ละไปเทียบ เราก็พอจะมองเห็นเงื่อนมองเห็นเค้าบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ
การปฏิบัติเรานี้เพื่อความจริง ให้เห็นสด ๆ ร้อน ๆ ว่านิพพานเป็นยังไง พระพุทธเจ้าไม่ใช่นักโกหก สาวกทั้งหลายไม่ใช่นักโกหก พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ พระพุทธเจ้าที่เราฝากเป็นฝากตายกับท่านอยู่เวลานี้ไม่ใช่ผู้โกหก ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ล้วนแล้วแต่ท่านผู้บรมสุขด้วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่ผู้โกหกโลกโกหกสงสาร เมื่อจิตหลุดพ้นจากกิเลสเสียอย่างเดียวเท่านั้นเป็นไปแบบเดียวกันหมดเลย สงสัยที่ไหน เช่นเดียวกับเราหลับสนิทแล้วไม่มีอะไรนั่นแหละ พอเทียบกันได้เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่อย่าถือเป็นความจริงไปเป็นอุปสรรคต่อจิตใจของตน ถ้าคิดไม่ถูกมันผิดไปได้เรื่องเหล่านี้น่ะ เรายกมาเป็นข้อเปรียบเทียบเท่านั้น ในหนังสือท่านเขียนไว้ว่าปุถุชนเราเสวยนิพพานได้เวลาหลับสนิท นั่นพอเทียบกันได้ เราก็พูดอย่างนั้นเหมือนกัน
อะไรเป็นเครื่องที่จะนำเราให้ถึงพระนิพพานได้ ให้ถึงความบริสุทธิ์ได้ เราหามาซิในโลกนี้มีอะไร ทั้งตาก็เห็นอยู่เต็มตานี้แหละ หูได้ยินเต็มหูนี้แหละ สิ่งแวดล้อมเต็มทุกด้านทุกทาง มีไหมบกพร่อง มีตลอดเวลา แล้วมีสิ่งใดที่จะเป็นเครื่องพยุงจิตใจของเราให้ถึงซึ่งมรรคผลนิพพานให้หลุดพ้นได้ ไม่มีเลย นั่น บอกว่าไม่มีเลยนอกจากธรรมเท่านั้น แน่ะ ธรรมใครสอนไว้ถึงจะถูกต้องแม่นยำ พุทธะเท่านั้น พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะสอนธรรมให้ถูกต้องแม่นยำ ถึงจุดหมายปลายทางแก่ผู้ปฏิบัติตาม จุดหมายปลายทางก็มีนิพพานเป็นหลักสำคัญ นี่พระองค์รู้แล้ว พระองค์ได้ทรงละแล้วด้วยปฏิปทาของพระองค์เอง ทรงรู้ทรงเห็นแล้วจึงนำความรู้ความเห็นนั้นมาสอนพวกเราจึงไม่ผิด ถูกต้องแม่นยำทุกแง่ทุกมุม
นี่ละธรรมที่จะนำเราให้หลุดพ้นจากทุกข์ มีในสวากขาตธรรมเท่านั้นไม่มีในที่อื่น สวากขาตธรรมนี้เราก็เคยได้อ่านได้ยินได้ฟังอยู่ทุกเวล่ำเวลา ให้พากันเจริญให้มากทำให้มาก อย่าขี้เกียจขี้คร้านอ่อนแอ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลสมันคว่ำกินหงายกินเราไม่รู้ นั่งสมาธิภาวนามันก็คว่ำกินหงายกินอยู่ในขณะที่นั่ง เดินจงกรมมันก็คว่ำกินหงายกิน แต่เราไม่รู้เพราะสติไม่ทัน ปัญญาไม่มีเพียงพอที่จะรู้มัน พอรู้พับมันอิ่มแล้ว มันปล่อยแล้วถึงรู้ เอ้า พอเผลอมันเอาอีก ถ้าว่ามันอิ่มเราเผลอเมื่อไรมันเอาอีก แน่ะ เพราะฉะนั้นมันจึงไม่พอ กิเลสมันพอเมื่อไร เผลอก็ไม่เคยพอ มันกินอยู่ตลอดเวลา
เอ้า สร้างสติปัญญาขึ้นให้ดีขึ้นให้มาก ถ้าอยากจะทราบว่าคำนี้เป็นความจริงหรือไม่ เพราะเมื่อถึงขั้นแล้วไม่เผลอ ไม่มีคำว่าเผลอ ถึงจะยังสู้ไม่ได้ก็ไม่มีคำว่าเผลอ เอาจนได้เอาจนแหลก นี่เราจะทราบ อ๋อ สติปัญญาทันเป็นอย่างนี้ แต่ก่อนสติปัญญาไม่ทัน มันคว่ำกินหงายกิน กินตลอดเวลาไม่ว่ายืนไม่ว่าเดินไม่ว่านั่งว่านอน เพราะเราเผลอได้ตลอดอิริยาบถนี่ ไม่ว่าจะยืนจะเดินจะนั่งจะนอนเผลอได้ทั้งนั้น แล้วกิเลสก็ล้วงเข้าไปกินได้ทั้งนั้นแหละ เครื่องในของเราไม่มีอะไรเหลือ พอสติปัญญาทันเข้าไปแล้วความเพียรหากหนุนกันไปเอง
เหมือนกับเชือกที่ฟั่นเป็นเกลียวเดียวกันนั่นแหละ พอฟั่นเป็นเกลียวเดียวกันแล้วหมุนตัวเข้าไปเป็นกำลังอันเดียวกันหมด สติก็ดี ปัญญาก็ดี ความพากเพียรก็ดี ความอดความทนก็เหนียวแน่นแก่นนักรบไม่มีถอย พอถึงขั้นนี้แล้วเป็นสายยาวเหยียดอันเดียวกันเลย เป็นปัจจุบันธรรมปัจจุบันจิตอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้คิดย้อนหน้าย้อนหลังว่าเราเผลอตอนไหนไม่เผลอตอนไหน และต่อไปนี้เราจะเผลอหรือไม่เผลอ เราจะต้องระมัดระวังตัวเรา ไม่มีคำว่าระวังกลัวมันจะเผลอ
นั่นท่านเรียกว่าสติปัญญาอัตโนมัติ เป็นอย่างนั้นแล เมื่อถึงขั้นเป็นแล้วเป็นได้ด้วยกัน จิตทุกดวงนี้เป็นได้ทั้งนั้นไม่มีคำว่าล้าสมัย ขอให้ดำเนินตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้นี้เถอะจะเป็นไปอย่างนี้ เวลาล้มลุกคลุกคลานมันล้มได้ด้วยกันทุกคนนั่นแหละ เวลามันคว่ำกินหงายกินให้กิเลส มันคว่ำกินหงายกินได้เหมือนกัน ถึงวาระที่มันจะคว่ำกินหงายกินไม่ได้ และถึงวาระมันจะพังจากหัวใจก็มีอีกเหมือนกันถ้าเรามีความเพียร สำคัญที่ความเพียรอยู่ภายในใจของเรานี้
อย่าไปคิดว่าเฒ่าว่าแก่ว่าคร่ำคร่าชรา เป็นเรื่องของอุบายกิเลสมันหลอกให้ห่างเหินจากความเพียร น้อยอกน้อยใจบ้าง ทำให้ขี้เกียจให้สุดเอื้อมหมดหวังบ้าง ล้วนแล้วแต่เรื่องของกิเลสหลอกลวงเราให้ไปทางของมัน เอาจริง ๆ มันเร็วขนาดนั้นแหละ ไม่ทัน จึงเรียกว่ามันคว่ำกินหงายกิน เมื่อถึงขั้นมันคว่ำไม่ได้หงายไม่ได้แล้วจะรู้เองในทุกคนนั่นแหละ ผู้ปฏิบัตินี้แหละไม่ใช่ผู้ใด ผู้ไม่ปฏิบัติมันจะตายกี่กัปกี่กัลป์ก็คนเก่านั่นแหละตายเกิด ๆ อยู่นั้น ไม่มีคำว่าล้าสมัย ว่าตายอะไรหนักหนาแล้วหยุดเสียมั่งซิ ไม่มี กิเลสไม่เคยมีล้าสมัย มีแต่เรื่องพาสัตว์ให้เกิดตาย ๆ อยู่ตลอดไป ถ้าธรรมไม่ฉุดไม่ลากเอาไว้แล้วจะเป็นอย่างนี้ตลอดไปเลยทีเดียว นี่ก็เป็นอจินไตย
จิตแต่ละดวงวิญญาณแต่ละดวงนี้ไม่มีคำว่าเบื้องต้นเบื้องปลาย ถ้าไม่มีธรรมเข้าไปตัดสินเข้าไปแก้แล้ว เบื้องต้นจะไม่มีเบื้องปลายจะไม่มี พอธรรมเข้าไปตัดสินให้เท่านั้นแหละขาดสะบั้นไปหมดเลย เออ เอาละที่นี่ นั่นเห็นไหมในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรท่านแสดงไว้ แสดงว่ายังไง วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ กิจที่ควรจะทำ คือกิจการฆ่ากิเลสนี้ เราได้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ ปชานาติ กิจอื่นที่จะทำให้ยิ่งกว่านี้อีกไม่มี เพราะได้รู้แจ้งเห็นจริงหมดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว นั่น นี่แหละท่านว่าตัดสินกับกิเลส ตัดสินกับวัฏจักรวัฏจิต กลายเป็นวิวัฏจิตขึ้นมา นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว ตั้งแต่บัดนี้ต่อไปความเกิดอีกของเราไม่มีแล้วในจิตดวงนี้ นั่น
แต่ก่อนพระพุทธเจ้าท่านได้เคยเปล่งพระอุทานเมื่อไรสักที ไม่เคยเปล่ง นี่ละ สนฺทิฏฺฐิโก เมื่อแสดงเต็มที่แล้วไม่เคยเปล่งก็ได้เปล่ง เพราะรู้อย่างนั้นเห็นอย่างนั้นเป็นอย่างนั้นจริง ๆ จิตนี่ เมื่อเวลามันขาด-ขาดจริง ๆ จิตดวงนี้แหละ พอขาดสะบั้นลงไปแล้วก็มีธรรมชาติที่บริสุทธิ์เท่านั้น บริสุทธิ์นี้หายไปไหนที่นี่ สูญไปไหน มีแต่กิเลสเท่านั้นสูญไปหมดจากใจ เป็นจิตที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ เมื่อได้บริสุทธิ์ล้วน ๆ แล้วจะไปวุ่นหากับเรื่องเงาของกิเลสให้เสียเวล่ำเวลาไปทำไม ว่าสูญหรือไม่สูญ เป็นยังไงไปยังไง ไปเกิดที่ไหนหรือไม่เกิดที่ไหน ถามไปทำไม
เรื่องเกิดตายของเราสงสัยอะไร มันเกิด ๆ ตาย ๆ กี่กัปกี่กัลป์มาแล้ว เป็นบ้ามากี่กัปกี่กัลป์แล้วกับเรื่องสูญไม่สูญ เมื่อถึงขั้นบริสุทธิ์แล้วเรายังเป็นบ้าไปไหนอีก ขั้นบริสุทธิ์ไม่ใช่ขั้นพาคนเป็นบ้านี่นะ ขั้นพาคนเต็มยศของคน เต็มยศของจิต เต็มยศของธรรม วิเศษที่สุดก็คือจิตที่บริสุทธิ์เท่านั้น เอาให้มันถึงพริกถึงขิงถึงเหตุถึงผลซิ
อย่ามาอยู่เก้ง ๆ ก้าง ๆ อย่ามาให้หนักใจนะ ผมสอนหมู่สอนเพื่อนสอนเต็มอกเต็มใจ สอนด้วยทิ้งลงมาหมดไม่มีอะไรเหลือเลย ถ้าเข็นหมดให้หมดไม่มีอะไรเหลือ แม้จะลำบากลำบนอยู่ในวันหนึ่ง ๆ อย่างนี้ ความคิดห่วงใยถึงหมู่เพื่อนผมไม่เคยละ นอกจากมาไม่ได้อบรมไม่ได้ก็ทนไปอย่างนั้นด้วยความจำเป็น ความเป็นอารมณ์กับหมู่เพื่อนเป็นอยู่ตลอดเวลาจะทำยังไง ก็หมู่เพื่อนมุ่งมาหาเพื่อการอบรมสั่งสอนจะให้ทำยังไงไม่อบรมสั่งสอน พระก็รับมากขึ้นโดยลำดับลำดา ก็เพราะเห็นเหตุนี้เองแหละไม่ใช่อะไร ครูบาอาจารย์ทั้งหลายอันเป็นที่แน่นอนเป็นที่ตายใจ เป็นที่อบอุ่นในการอบรมสั่งสอนให้ลูกศิษย์ลูกหาได้พึ่งร่มเงาของท่าน ท่านก็ล่วงไป ๆ อย่างที่เราเห็นอย่างนี้จะว่าไง และต่อไปก็จะไม่มี ๆ ก็เลยแย้มประตูเปิดรับบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เลยกลายเป็นพังประตูเข้ามาถึง ๔๐ กว่าปีนี้ ผมก็ยังทนจะว่าไง
ให้ตั้งใจปฏิบัติ อย่ามากีดมาขวางหมู่เพื่อนอยู่นะ กีดขวางตัวเองแล้วยังไม่แล้ว ยังกีดขวางหมู่เพื่อน เหล่านี้มีอยู่มากนะให้ระวัง มาปฏิบัติธรรมต้องปฏิบัติตัวเอง ต้องระวังตัวเอง อย่าเห็นผู้อื่นผู้ใดเป็นภัยยิ่งกว่าตัวเอง เป็นภัยต่อตัวเองและเป็นภัยต่อผู้อื่นด้วย ถ้าต่างคนต่างเห็นอย่างนี้แล้วก็ชื่อว่าเป็นผู้มองดูจุดที่จะเกิดเรื่องคือหัวใจ สติไม่มีแล้วมันแสดงได้มันแผลงฤทธิ์ได้กิเลสนี่ มันไม่ไว้หน้าใครทั้งนั้นแหละ ถ้ามีธรรมเข้าไปกำจัดมันก็ยอม ถ้าไม่มีธรรมแล้วมันเอาคนได้ทันที และยังเติบโตเร็วที่สุดด้วย
ธรรมชาติเช่นนี้เรียกว่า โอปปาติกะ