โลกุตรจิต โลกุตรธรรม
วันที่ 21 ตุลาคม 2528 เวลา 19:00 น. ความยาว 53.52 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

โลกุตรจิต โลกุตรธรรม

โลกุตรธรรม แปลว่าธรรมเหนือโลก นี่ท่านแยกออกมาพูด สิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันธรรมเหนือโลกนั้นคือใจ ถ้าเราอยากจะทราบว่าโลกุตรธรรมคือธรรมเหนือโลกเป็นอย่างไร ก็ต้องหมายถึงใจผู้ปฏิบัติตนได้สัมผัสสัมพันธ์กับธรรมขั้นนั้น ๆ ขึ้นไป จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้นภายในจิตใจ ทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมหมดภายในใจ...ธรรมทุกขั้น นั่นละท่านว่าโลกุตรจิต โลกุตรธรรม เต็มภูมิของจิตของธรรม เป็นเครื่องยืนยันกันได้ที่ใจ หากใจยังไม่สัมผัสเมื่อไร แม้คำว่าโลกุตรธรรม แปลว่าธรรมเหนือโลก ๆ ก็สักแต่ความจำ ความคาดความหมาย หาความแน่ใจยังไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้สิ่งที่จะยืนยันกัน จึงเป็นเรื่องของการปฏิบัติด้วยจิตตภาวนาเป็นสำคัญ

เมื่อจิตได้สัมผัสสัมพันธ์ธรรมขั้นใดเข้าไปย่อมทราบได้ชัดเจน ๆ ความพิสดารของจิตกับธรรมที่สัมผัสกันนั้นพิสดารเอามากทีเดียว ดังที่พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านแสดงไว้ ตามปัญหาที่ได้เคยออกมาแล้วนั้นว่า ธรรมที่จดจารึกในคัมภีร์ใบลานนั้นเท่ากับน้ำในตุ่มในไห แต่ธรรมที่ไม่ได้จดจารึกมีอยู่โดยหลักธรรมชาตินั้น เท่ากับท้องฟ้ามหาสมุทรสุดสาคร หาประมาณไม่ได้เลย นี่เป็นอย่างนั้น อันนี้ใครจะเป็นผู้ยืนยัน ก็ท่านเป็นผู้แสดงออกมาก็คือพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นนั้นเอง จิตของท่านนั้นเองเป็นผู้ยืนยัน เป็นผู้สัมผัสเป็นผู้รับทราบธรรมทั้งหลายอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ได้คำนึงถึงพระไตรปิฎกไม่พระไตรปิฎกใด ๆ ทั้งนั้น เนื่องจากความจริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำว่าพระไตรปิฎก แต่ขึ้นอยู่ระหว่างจิตกับธรรมที่เหมาะสมกัน ซึ่งควรจะเกิดขึ้นได้ในแง่ใด ๆ เท่านั้นเป็นสำคัญมากยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด

เพราะฉะนั้นจึงไม่มีสิ่งใดมากีดกันหรือกีดขวาง ระหว่างธรรมกับจิตไม่ให้สัมผัสกันได้เลย ขอให้ปฏิบัติถึงขั้นที่ควรจะทราบเรื่องธรรมทั้งหลายเถอะ ต้องทราบได้อย่างนั้นแน่นอน และก็ทราบตามภูมิวิสัยด้วย คือภูมิวิสัยจะกว้างแคบขนาดไหนก็ต้องรู้เห็นธรรมเต็มภูมิ ๆ ของตน ยกตัวอย่างเช่น พระสารีบุตรเว้นพระพุทธเจ้าเสีย พระสารีบุตรเป็นผู้เฉลียวฉลาดทางด้านปัญญา หรือท่านผู้ที่บรรลุจตุปฏิสัมภิทาญาณ นี่ท่านเหล่านี้แตกฉานมากทีเดียว หมายถึงธรรมเกิดนั่นเอง ธรรมไม่เกิดเอาอะไรมาแตกฉาน เกิดอยู่ตลอดเวลา แย็บออกมานิดเดียวเท่านั้น สิ่งที่เป็นเหตุจะให้คิดให้อ่านหรือจะให้ธรรมเกิดนั้น เป็นเกิดขึ้นเรื่อย ๆ นี่เป็นอย่างนี้

วิสัยของจิตเราจึงจะมาแข่งขันกันไม่ได้ เช่นเดียวกับภูมินิสัยวาสนานั่นเอง ภูมิของจิตของธรรมที่จะรู้ธรรมมากน้อยตามนิสัยวาสนาของตนก็ย่อมเป็นเช่นนั้น ไม่ว่าจะอิริยาบถใดเกิดอยู่อย่างนั้นตลอด จะมีอะไรเป็นสาเหตุให้เกิดก็เกิด ไม่มีอะไรเป็นสาเหตุก็เกิด เกิดโดยลำพังของตน คือไม่มีขอบเขต ไม่มีอะไรที่จะมาบีบบังคับไม่ให้เกิด เพราะนอกเหนือไปจากโลกสมมุตินี้ทั้งปวงแล้ว จิตเป็นอิสระเต็มที่แล้ว เป็นบ่อเกิดแห่งธรรมทั้งหลายอยู่แล้วทำไมธรรมจะไม่เกิด จิตกับธรรมเป็นอันเดียวกันแล้ว นี่ละถ้าหากจะพูดถึงพระไตรปิฎกก็คือนี้ละพระไตรปิฎกโดยแท้ แม้ท่านไปจดจารึกออกว่าเป็นสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ก็ออกไปจากไหน ถ้าไม่ออกไปจากหัวใจที่บรรจุพระไตรปิฎกทั้งสามนี้ไว้เต็มโดยสมบูรณ์แล้ว เอาอะไรไปออกเป็นปิฎกนั้น ๆ

ปิฎก ก็แปลว่า ตะกร้า แปลว่าภาชนะนั่นเอง ไตรก็แปลว่า ๓ ภาชนะสำหรับใส่หลักธรรม ๓ ประเภท ได้แก่ พระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎก พระอภิธรรมปิฎก สิ่งเหล่านี้ออกไปจากไหน ถ้าไม่ออกไปจากใจดวงที่บรรจุปิฎกทั้งสามนี้ไว้อย่างสมบูรณ์แล้วเอาอะไรไปออก พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมไปตรัสรู้ที่ปิฎกไหน ไม่ได้ตรัสรู้ในพระทัยจะไปตรัสรู้ที่ไหน ในพระทัยนี้แหละเป็นที่อยู่แห่งอริยสัจทั้งสี่ อยู่ตรงนี้ผลิตกันขึ้นตรงนี้ ทุกข์ สมุทัย เป็นข้าศึกฝ่ายลบ พูดง่าย ๆ ฝ่ายทำลาย สมุทัยเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา มรรคท่านสรุปออกมามี ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นสำคัญ นี่คือสิ่งสังหารสิ่งทำลายสมุทัยเพื่อให้ดับลงไปแล้วปรากฏเป็นนิโรธขึ้นมา นั่น

เมื่อกิเลสประเภททั้งปวงที่เรียกว่าสมุทัย ๆ ได้สิ้นซากลงไปหมดแล้ว ไม่มีอะไรกีดกันไม่มีอะไรกีดขวางจิต ไม่มีอะไรมาแย่งเกิดภายในจิต แต่ก่อนมีแต่เรื่องของสมุทัยเกิดภายในจิต เกิดอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกับธรรมเกิดนั่นแล ในเวลาที่สิ่งเหล่านี้มีอำนาจมีกำลังมากเกิดอยู่ตลอดเวลาหาอิริยาบถไม่ได้ สิ่งที่ไม่น่าคิดก็คิด สิ่งไม่น่าปรุงก็ปรุง สิ่งไม่น่ารู้มันก็รู้ของมันไปตามเรื่องตามราว รู้แบบสมุทัยนะไม่ใช่รู้แบบธรรม ไม่ใช่รู้แบบมรรคหรือรู้แบบธรรม พูดง่าย ๆ เช่น มรรคสัจ หรือนิโรธสัจ เรียกว่าธรรมประเภทหนึ่ง หากรู้ไปตามแถวของสมุทัย เป็นทุกข์ขึ้นมา รู้ขึ้นมา ป้อนเอาทุกข์ออกมาเรื่อย ๆ เพราะสมุทัยเป็นผู้ขุดผู้ค้นให้ก่อทุกข์ขึ้นมา นี่เกิดอยู่เรื่อย ๆ อย่างนั้น

จิตใจของสามัญชนทั้งหลายพ้นไปไม่ได้ แม้แต่ขณะเรานั่งภาวนามันยังแย็บออกไปได้สบาย ๆ เอาไปกินสบาย ๆ เอาไปกินต่อหน้าต่อตา บางทียังนั่งร้องห่มร้องไห้ก็ยังเป็นไปได้ น้ำตาไหลน้ำตาร่วงเป็นไปได้ เพราะอำนาจสติปัญญาของเราซึ่งเป็นฝ่ายธรรมนี้สู้มันไม่ได้ มันเอาไปกินต่อหน้าต่อตา บีบบังคับเราต่อหน้าต่อตา

ถ้าพูดถึงบทนี้แล้วรู้สึกว่ามันเคียดมันแค้น ผมเองเป็นเช่นนั้นนะ เคยเคียดแค้นต่อกันจนนั่งน้ำตาร่วงอยู่ก็มี เพราะอำนาจอันนี้มันมากมันเหนือธรรมของเรา เช่น วิริยธรรม สติธรรม ปัญญาธรรม เป็นสำคัญ ไม่ทันมันเลย มันเอาต่อหน้าต่อตา สติมีก็ตามแต่กำลังของสติไม่พอกับกำลังของมัน ปัญญามีก็จริงแต่กำลังของปัญญาไม่เท่ากำลังของมัน มันก็ฉุดก็ลากบีบบังคับเอาต่อหน้าต่อตาด้วยพลการนั่นเอง นี่ละที่มันน่าเคียดน่าแค้นเอาจริง ๆ เคียดไม่ลืมแค้นไม่ลืมก็คือเรื่องระหว่างทุกข์สมุทัยกับเรา นี่เวลามันเกิด-เกิดอย่างนั้นภายในจิต เราจะไปหาดูแบบแผนดูตำรับตำราที่ไหนจะมีไหม ท่านจดจารึกไว้ไหมสิ่งเหล่านี้ ท่านพูดไว้ไหมอย่างนี้ เอ้า เกิดอยู่ทุกแห่งทุกหน หลักธรรมชาติเป็นเช่นนี้

ผู้ปฏิบัติเท่านั้นจะทราบ พระพุทธเจ้า พระอรหัตอรหันต์ทั้งหลายเท่านั้นจะทราบเรื่องเหล่านี้ได้ดี ทีนี้ผู้จดจารึกเราก็ไม่แน่ใจนัก แต่เราไม่ประมาทนะว่าจะเป็นพระประเภทใดคนประเภทใดไปจดจารึก จึงจะสามารถเอาเรื่องเหล่านี้ออกมาได้ทุกแง่ทุกมุมของทุกข์ ของสมุทัย ของมรรค ของนิโรธ ถ้าหากว่าผู้ที่จดจารึกเป็นพระอรหัตอรหันต์แล้วไม่ต้องสงสัย จะขุดจะค้นได้มาทุกแง่ทุกมุมของสมุทัยที่เกิดขึ้นภายในจิต รอบจิตมันเกิดตั้งแต่เรื่องของสมุทัยทั้งนั้น ผู้ที่จดจารึกจะเอาออกมาได้หมดแล้วก็รอบจิต เวลามรรคกับนิโรธมีอำนาจปราบสมุทัยได้และได้โดยสิ้นเชิงแล้วอยู่ที่ไหนก็เกิด ธรรมก็เกิด-เกิดตลอดเวลา เริ่มมาตั้งแต่ภาวนามยปัญญาเกิดมานี้ก็จะเอาออกมาได้หมดเลย ท่านก็พูดกลาง ๆ ไว้แถวภาวนามยปัญญามีเท่านั้นแหละ ก็ตีความหมายไปหมด เราก็ควรจะพิจารณาเอาให้ได้รู้เรื่องรู้ราว แต่ยังไงก็ตามไม่พ้นที่ว่านี้แหละ

การจดจารึกเป็นสำคัญมาก ผู้จดจารึกเป็นคนประเภทใด เรื่องธรรมทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นวิสุทธิธรรมทั้งนั้น ออกจากพระทัยของพระพุทธเจ้าที่บริสุทธิ์ หรือจะกล่าวถึงเรื่องพระอรหันต์องค์ใด พระอรหันต์รูปนั้นก็เป็นพระอรหันต์แล้วนี่ เป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งนั้น แต่ผู้ที่จดจารึกเป็นคนประเภทใด เป็นผู้บริสุทธิ์เหมือนกันหรือไม่ ถ้าเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วสามารถจะถอดออกมาได้ เราอยากจะพูดเต็มปากว่า ได้โดยสิ้นเชิง สิ่งไม่รู้ก็ตาม มันเกี่ยวโยงกันกับธรรมชาติที่เรารู้เราเห็นอยู่ภายในจิตของเรา เพราะฉะนั้นจึงขุดค้นออกมาได้หมด มันเกี่ยวโยงกันตรงไหน กระเทือนกันไปหมด ได้ออกมาหมดเลย

ถ้าหากว่าจิตไม่เป็นเช่นนั้นแล้วก็จะได้มาแต่ความจำลอย ๆ ไป ไม่ถึงเหตุถึงผลถึงพริกถึงขิงถึงความสัตย์ความจริง ทั้งฝ่ายสมุทัย ทั้งฝ่ายมรรค ทั้งฝ่ายนิโรธ ตลอดถึงสิ่งที่หลุดพ้นจากสัจธรรมทั้งสี่ออกมา เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิงนั้นคืออะไร จะไม่ได้สิ่งเหล่านี้ออกมาพูดอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลย ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วได้หมด พระพุทธเจ้าไม่บอกก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เหล่านี้เป็นต้น มรรค ๔ ผล ๔ ใครก็รู้ไม่ใช่เหรอ อย่างโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล จนกระทั่งถึงอรหัตมรรค อรหัตผล แล้วนิพพาน ๑ พูดทำไม นั่น นี่มันเกี่ยวโยงกัน เมื่อมรรค ๔ ผล ๔ ไปถึงนั้นแล้ว อะไรที่เป็นที่สิ้นสุดลงไปจากสิ่งที่ยังเป็นสมมุติอยู่นี้ กิริยาอาการเหล่านี้ยังต่อเนื่องกันอยู่ ยังไม่หยุดกิริยา ยังเป็นสมมุติอยู่ เมื่อถึงขณะที่หยุดกิริยาแล้วคืออะไร คือนิพพาน ๑ นั่น มันเป็นยังไงถึงจะพูดไม่ได้

ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ได้รับสั่งไว้ว่านิพพาน ๑ แล้ว ยังไงพระพุทธเจ้าต้องถูกติงหรือถูกคัดค้านจากพระสาวกว่า ทำไมอันหนึ่งพระองค์จึงไม่แสดงเอาไว้ นั่น เพราะรู้เหมือนกัน เห็นเหมือนกัน ถึงไม่บอกก็ตามจะต้องพูดถึงจุดที่ควรจะบอก พูดถึงจุดที่เด่นอยู่ในหัวใจคือนิพพาน ๑ เมื่อสิ้นไปจากอาการ มรรค ๔ ผล ๔ นี้แล้ว นั้นละนิพพาน ๑ เป็นที่ยุติ หมดสมมุติแล้ว ในระหว่างมรรคกับผลวิ่งถึงกัน ๆ เช่นอย่างอรหัตมรรค อรหัตผล จริมรรคจิต ท่านว่าไว้ในตำรา ว่าไว้เราก็จำไม่ได้เราไม่รู้

จริมรรคจิตคืออะไร นั่น คือชั่วขณะของจิตที่พลิกจากมรรคไปถึงผลปั๊บ กิริยาแห่งการที่แสดงต่อกันอยู่ในขณะนั้นถึงผลก็ตาม ถ้ากิริยานี้ยังไม่หยุดยังเป็นสมมุติ พอไปถึงผลโดยสมบูรณ์แล้วหยุดกึ๊กลงไป นั้นแหละนิพพาน ๑ ในขณะเดียวกันนั้นแหละ พอหยุดกึ๊กก็เป็นนิพพาน ๑ ขึ้นมา อันนั้นพระพุทธเจ้าทำไมไม่แสดงไว้ นั่น จะต้องถูกคัดค้าน นี่คือต่างองค์ต่างจริง ต่างองค์ต่างรู้เห็นจริงด้วยกันแล้ว จะเป็นอย่างนั้นด้วยกันทุกองค์ ค้านกันไม่ได้ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย

นี้ละคำว่าพระอรหันต์ยอมรับพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์ ๆ ว่าพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอกจริงไหม และศาสนาของพระพุทธเจ้ามีเจ้าของจริงไหม มีตัวมีตนจริงไหม จะไม่ยอมรับยังไง ในเมื่อหลักสัจธรรมเป็นเครื่องประกาศกังวานถึงความเป็นพระพุทธเจ้า และความเป็นผู้บริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าเกิดจากสัจธรรม และธรรมทั้งนี้ออกมาจากความบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าทั้งนั้นทำไมจะไม่เชื่อ นี่ซิหลักใหญ่

เราพูดถึงเรื่องอริยสัจ เช่น สมุทัยสัจ ทุกขสัจ เวลามันเกิด-มันเกิดรอบหัวใจอยู่ตลอดเวลา ไม่มีในคัมภีร์ไหนก็ตามหลักธรรมชาติเป็นเช่นนั้น แต่พอมรรคสัจก้าวเข้าไป ๆ เอ้า จะล้มลุกคลุกคลานก็ตามเถอะ ยังไงก็ไม่พ้นที่จะเอาให้ได้ เมื่อฟิตไม่ถอยฝึกซ้อมไม่ถอยเดี๋ยว ๆ ก็ก้าวขึ้นไป ๆ สุดท้ายเรื่องของมรรคสัจก็ทำงานบนหัวใจ ทางทุกขสัจ สมุทัยสัจอ่อนตัวลงไป ๆ มรรคสัจก็ทำงานก้าวหน้า ๆ ถ้าว่าสมาธิกับปัญญาก็กลมกลืนไปแล้ว ทีแรกมีแต่สมาธิเสียก่อน เช่น อุปจารสมาธิ หรือขณิกสมาธิ อัปปนาสมาธิ จากนั้นก็ปัญญา ตรุณวิปัสสสนา ปัญญาอ่อน ๆ จากนั้นก็แก่กล้าสามารถขึ้นไป ๆ จนกลายเป็นภาวนามยปัญญา

ทีนี้เอาละในหัวใจดวงนั้นมีแต่ธรรมทั้งนั้นก้าวเดิน มีแต่ธรรมทั้งนั้นเกิด มีแต่ธรรมทั้งนั้นทำงาน กิเลสน้อยลงไป ๆ จนกระทั่งกิเลสจะหาที่ทำงานไม่ได้ โผล่ตัวออกมาไม่ได้ โผล่ออกมาเป็นถูกสัจธรรมนี้ฟันแหลก ๆ นั่นถึงเวลาแล้ว ทีนี้พอกิเลสทั้งหลาย เอ้า มีอวิชชาเป็นต้นได้วอดวายลงไปจากใจแล้ว อะไรจะเกิดที่นี่ มีแต่ธรรมล้วน ๆ ใจดวงนั้นเป็นธรรมทั้งดวงเป็นธรรมทั้งแท่งแล้ว มีแต่ธรรมทั้งนั้นเกิด กิเลสเกิดขึ้นมาได้ยังไงมันหมดแล้ว นี่ละที่นี่ที่ว่าธรรมเกิด ไม่เพียงแต่ว่าได้ฆ่ากิเลสหมดไปแล้วธรรมจะยุติในการเกิด เกิดตลอดจนกระทั่งถึงวันท่านนิพพาน เกิดไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ นั่นเอาซิ ท้องฟ้ามหาสมุทรเทียบกันได้ ไม่เทียบได้ยังไงเกิดอยู่ตลอดเวลา

ใจจึงเป็นสิ่งที่สัมผัสสัมพันธ์อันสำคัญ เป็นเครื่องยืนยันว่าโลกุตรธรรมเป็นอย่างไร เพียงแต่เราพูดว่าโลกุตรธรรม ว่าธรรมเหนือโลก ๆ ยังไม่ทราบละว่าเหนือแค่ไหน ถ้าใจก็เป็นผู้ยืนยัน ใจเป็นผู้รับทราบ ใจเป็นผู้สัมผัสโลกุตรธรรม ตั้งแต่พระโสดาขึ้นไปท่านก็ว่าโลกุตรธรรม เริ่มเหนือโลกไปแล้ว จนกระทั่งถึงอรหัตบุคคล เป็นโลกุตรบุคคลเป็นโลกุตรธรรม นั่นละก้าวขึ้นไป ๆ มีใจเท่านั้นเป็นเครื่องยืนยัน ไม่มีอะไรเป็นเครื่องยืนยันได้ พอใจรู้เท่านั้นจะทราบได้ตลอดทั่วถึงหมดว่าโลกุตรธรรมเป็นยังไง เหมือนกับโลกไหม จะเหมือนยังไง ถ้าเหมือนก็ต้องบอกว่าโลกละซิ

เราพูดถึงเรื่องธรรมเกิดเป็นเช่นนั้น ผู้ไม่ปฏิบัติจะไปรู้เรื่องอะไรว่าธรรมเกิดธรรมไม่เกิด แม้แต่กิเลสเกิดเต็มหัวใจยังไม่รู้ จะเอาธรรมมาอวดได้ยังไงว่าธรรมเกิดธรรมไม่เกิด นั่น ต้องผู้ปฏิบัติธรรมเท่านั้น เพียงเรียนรู้เฉย ๆ ไม่สามารถ ก็จะได้แต่ความจำ เรียนในพระไตรปิฎกก็เอาซี เรียนพระสุตตันตปิฎกก็เป็นความจำในพระสุตตันตปิฎก ในวินัยปิฎกก็เป็นความจำในวินัยปิฎก อภิธรรมปิฎกก็เป็นความจำล้วน ๆ ถึงจะยอดธรรมขนาดไหนแต่ก็เป็นความจำอยู่ดี ๆ ไม่เป็นมรรคเป็นผลเป็นสมบัติของตนได้เลยเพราะเป็นความจำ ต่อเมื่อได้ประพฤติปฏิบัติตัวเมื่อไรแล้ว นั้นแหละจึงจะเป็นของจริงขึ้นมา เป็นสมบัติของตนโดยแท้ ไม่ว่าจะเป็นพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ หัวใจนี้ทรงไว้หมดแล้วด้วยความจริง นั่นมันถึงจริง

การปฏิบัติธรรมต้องเอาจริงเอาจัง ไม่จริงไม่จังไม่รู้นะ แล้วงานในโลกนี้งานไหนก็เถอะ เอ้า ใครจะประกอบงานใดก็ตาม ถ้ายังไม่ได้ย้อนเข้ามาสู่งานจิตตภาวนาเสียก่อน จะยังไม่ทราบว่างานอะไรหนักกว่ากัน พอได้ก้าวเข้ามาสู่จิตตภาวนาเท่านั้น นี่ละงานรอดตาย งานเดนตาย เหลือตายถึงรู้ ในสมัยปัจจุบันของเรานี้ส่วนมากมักจะเป็น ทุกขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา ทั้งปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า ถ้าเป็นผลไม้ก็เป็นรุ่นที่สองที่สามมา รุ่นหนึ่งรุ่นแรกก็พวก อุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู ท่านผู้ที่ออกแนวหน้า ถ้าเป็นวัวก็อยู่ปากคอกแล้ว พอพระองค์ประกาศศาสนธรรมเท่านั้นก็แจ่มเลยแจ้งเลย เหมือนกับเปิดประตูคอก ท่านเหล่านี้จะออก ถ้าเป็นวัวก็ออกก่อน ก่อนเพื่อน ๆ หลั่งไหลออกมาก่อน นี่ประเภทที่ว่าบัวพ้นน้ำ บัวผิวน้ำ บัวพ้นน้ำเป็นอย่างนั้น

พวกเรานี่ขออย่าให้เป็นบัวใต้น้ำ เอาให้เป็นบัวที่พร้อมที่จะพ้นได้เหมือนกันในวันต่อ ๆ ไปด้วยความอุตส่าห์พยายามของพวกเรา อย่าไปลดละความพากเพียร มันก็ต้องรู้ต้องเห็นต้องได้เหมือนกัน

จะยากหรือง่ายก็ตามให้ทำความเข้าใจกับตนเองว่า สมบัติหรือนิสัยวาสนา กรรมเป็นของแต่ละคน ๆ ถ้าจะเทียบก็นาของเราทำยาก เราจะไปทำนาคนอื่นที่เห็นว่าง่ายกว่าเราไม่ได้ จะยากหรือง่ายก็คือนาของเราเราต้องทำ สวนของเราเราต้องทำ งามหรือไม่งาม ดีหรือไม่ดีพื้นที่ของมัน มันก็เป็นของเรา เราก็ต้องจำยอมทำด้วยดี ไอ้นี่นิสัยวาสนาของเราจะควรหนักก็ต้องยอมรับว่าหนัก เบาขนาดไหนก็รู้ หนักขนาดไหนก็รู้ เป็นวรรคเป็นตอน ผ่านไป ๆ เหมือนกับเราเดินทางไปนี่ ผ่านที่สูงที่ต่ำที่ลุ่มที่ดอนไปเรื่อย ๆ ที่ราบรื่นดีงามก็มี ที่ขรุ ๆ ขระ ๆ ก็มี นี่การดำเนินปฏิปทาก็เหมือนกันเช่นนั้น ถึงวาระที่มันยุ่งยาก ยามมันลำบากแทบเป็นแทบตายก็มี แต่ส่วนมากมักเป็นเช่นนั้นคือลำบาก ๆ

ที่ยังไม่รู้ไม่เห็นอะไรนี้เป็นลำบากประเภทหนึ่ง คือยังไม่มีต้นทุนปรากฏเป็นเครื่องดูดดื่มภายในจิตใจ ให้อบอุ่นภายในจิตใจว่าเจ้าของได้มีสมบัติอย่างนั้น ๆ คือธรรมสมบัติภายในจิตใจไม่ปรากฏนี่ละสำคัญ แล้วก็ตะเกียกตะกายเพราะอยากได้อยากรู้อยากเห็น อันนี้ลำบากประเภทหนึ่ง พอได้เหตุได้ผลขึ้นไปพอประมาณ ได้หลักได้เกณฑ์ เรียกว่าเป็นสมบัติของตนขึ้นมาบ้างแล้ว นี่ก็เป็นทุกข์ประเภทหนึ่ง

แต่ทุกข์เหล่านี้ต่อไปก็จะเป็นเหตุให้ความหวังหนักแน่น เป็นเครื่องดึงดูด เป็นเครื่องฉุดลากไป ความลำบากลำบนอะไรไม่ค่อยได้คิดละ ยากลำบากขนาดไหนก็ไม่ค่อยสนใจ มีแต่ความมุ่งมั่นที่จะให้ถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ยิ่งความพากเพียรต้องได้หนักแน่น หรือจิตใจมีความแน่นหนามั่นคง มีความเฉลียวฉลาดมากเข้าจนกลายเป็นภาวนามยปัญญาไปแล้ว นั้นละที่นี่หมุนติ้ว ๆ ยากลำบากขนาดไหนก็รู้แต่ไม่ถอยนี้อันหนึ่ง นี่มันมีหวัง ผลมันมีอยู่แล้วภายในใจ ไอ้ที่ยังไม่มีผลยังไม่ปรากฏผลนั่นซี ถึงปรากฏมาบ้างก็ถูกลบล้างจากฝ่ายอธรรมเสีย ๆ อันนี้อันหนึ่งก็ลำบาก พากันทราบเอาไว้ผู้ปฏิบัติ

เมื่อสรุปแล้วงานจิตตภาวนางานฆ่ากิเลสนี่แหละเป็นงานที่หนักมากที่สุด ต้องใช้สติกับปัญญา ต้องใช้กำลังวังชา ไม่ใช่ไม่ใช้นะ เช่น นั่ง เอ้านั่งจนก้นพอง ไม่ใช้กำลังยังไง ไม่ใช้ทางร่างกายยังไง เดินจงกรมจนขากะเผลกจะว่าไง มันอ่อนมันเพลีย ล้วนแล้วแต่ได้ใช้กำลังทั้งนั้น ขาจนเดินกะเผลก ๆ มันอ่อนไปหมดแล้ว มันเหนื่อยมันเพลีย ต้องได้หยุด นั่งก็จนก้นพอง มันไม่ยากยังไงทางร่างกาย

ทีนี้ทางจิตใจก็ต้องถูกบังคับบัญชา เพราะกิเลสมันก็บังคับหัวใจเราจะให้เป็นไปตามแนวทางของมัน ไอ้เราก็บังคับที่จะให้เป็นไปในทางของธรรม ต่างฝ่ายต่างสู้กันนี่ก็หนัก บางครั้งถึงกับเกิดความสลดสังเวชถึงน้ำตาร่วงก็มี ผมเป็นมาทั้งนั้นไม่ได้พูดเฉย ๆ เคยเป็นมาแล้ว เป็นถึงขนาดที่น้ำตาร่วงก็มี บางทีก็ถูกกิเลสแหย่เอา แก้หมัดของกิเลสไม่ตกเราต้องแพ้นี่ แล้วอุบายอันใดที่จะแก้หมัดของกิเลสให้ตกไป นั่นเราต้องได้ค้นมาเอาจนได้ จนชนะไปได้และผ่านไปได้ ๆ เป็นเปลาะ ๆ ไป หรือเป็นระยะ ๆ ไป นี่การปฏิบัติ

แม้จะทุกข์ยากขนาดไหนก็ช่างเถอะ เพียงทุกข์ในธาตุในขันธ์ เราทุกข์มีประโยชน์ มีธรรมสมบัติเป็นสมบัติของเรา ทุกข์ก็ทุกข์ ยอมทุกข์เถอะ ไอ้ทุกข์อยู่ในวัฏสงสารหาประมาณหาขอบหาเขตหาเหตุหาผลไม่ได้ หาต้นหาปลายไม่ได้นี่ซิ มันทุกข์ยากมันลำบากจริง ๆ

จิตแต่ละดวง ๆ นี่น้อยเมื่อไรเรื่องการเกิดแก่เจ็บตายในวัฏสงสารนี้ ในสามแดนโลกธาตุนี้โลกไหนเราไม่ได้ไปเกิดมีไหม ไม่มีที่จิตดวงนี้จะไม่ไปเกิด ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ไม่ว่านรกก็ดี สวรรค์ก็ดี มันเคยทั้งนั้นแหละ หมุนไปเวียนมาอยู่นี้ เพราะอำนาจแห่งบาปบุญที่มีมากมีน้อย หมุนเวียนกันไปหมุนเวียนกันมา หลักสำคัญก็คือมีเชื้อของจิตเชื้อของความเกิดได้แก่อวิชชา นี้สำคัญมากทีเดียว ตัวนี้ตัวพาสัตว์ให้เกิด ฝังอยู่ภายในจิตใจอย่างแนบสนิท นี่ละสำคัญมาก

ท่านว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ฟังซิ อวิชฺชาปจฺจยา ชาติ อวิชฺชาปจฺจยา ภโว ลงไปนั้นเลย อย่าต่อไปกิริยาอันนั้นกิริยาอันนี้ต่อกันไปเถอะ ลงตรงนี้เลย อวิชชานั่นแหละพาให้สร้างภพสร้างชาติว่างั้น แล้วก็ ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ ไปเลยต่อ ๆ ไป นี้เองละไม่ใช่อะไร เอ้า พิจารณานักปฏิบัติ ไม่รู้อวิชชาแล้วจะไม่เห็นความแจ้งชัดในจิตใจ และจะตัดสินโดยตัวเองไม่ได้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิดอีก จะไปเกิดในภพใดชาติใดก็ตัดสินไม่ได้

ต้องเอาภาคปฏิบัติเข้าไปจับซิ มันจะทราบไปตั้งแต่เริ่มปัญญานี่ แม้แต่เพียงจิตเป็นสมาธิ จิตก็รู้ตัวว่านี้คือจิต นั้นคือธาตุคือขันธ์ คือรูป คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้คือจิต พอทราบ พอเริ่มทราบ พอถึงขั้นปัญญาแล้วทราบได้ชัดว่านี้คือรูป นี้คือเวทนา นี้คือสัญญา นี้คือสังขาร นี้คือวิญญาณ เป็นส่วนหนึ่งนอกไปจากจิต ทราบไปโดยชัดเจน จนกระทั่งถึงปัญญาขั้นละเอียดแล้วทราบหมด นั่น รูปก็ทราบ ปล่อยได้ด้วย เวทนาทางกายก็ทราบ สลัดปัดทิ้งได้ด้วย สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มีความสำคัญมั่นหมาย ความปรุงความแต่งของจิตก็ทราบเป็นวรรคเป็นตอน ไม่ได้ยึดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นี่เรียกว่ารู้เท่าได้

ส่วนที่ยังเหลือก็คือเวทนาอันละเอียดที่ฝังอยู่ภายในจิต มันยังถอนไม่ได้ ท่านว่าสุขเวทนา เมื่อสุขเวทนามีทุกขเวทนาก็ต้องมี มีอยู่ภายในจิตที่ละเอียดนั่นแหละเพราะอวิชชามี นั่นแหละบ่อแห่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา มันอยู่ในอวิชชานั่นแหละ ถอนอวิชชาออกไปปึ๊ดเดียวเท่านั้นหมด เรื่องเวทนาหายหน้าไปหมด ไม่ต้องไปหาดูพระไตรปิฎกก็ได้ ดูในหัวใจเจ้าของนี่รู้ชัดเจน พระพุทธเจ้าชี้ลงมาที่นี่ ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ ท่านว่าอะไร เอหิปสฺสิโก ๆ ความจริงทั้งหลายท้าทายอยู่ในองค์สัจธรรมนี้ ดูลงตรงนี้ซิเรื่องของจิตใจ สติปัญญาหยั่งลงไปตรงนี้ทำไมจะไม่ทราบ เมื่ออวิชชาพังลงไปเท่านั้นภพชาติทราบหมด เกิดความสลดสังเวชน้ำตาร่วงเหมือนกัน

ใครก็เถอะมาถึงขั้นนี้แล้ว แม้พระพุทธเจ้าก็ทรงน้ำพระเนตรร่วง นั่นเห็นไหม ท่านพูดถึงปลงธรรมสังเวช ท่านพูดกิริยาของขันธ์กระเพื่อม ๆ รับในเวลาจิตได้หลุดพ้น พออวิชชากระเด็นออกจากใจเท่านั้น ไม่เคยเห็นก็ตาม มันจะทราบทั้งความอัศจรรย์ ไม่เคยอัศจรรย์ก็เห็นแล้วที่นี่ ขาดสะบั้นไปจากกัน นี่คือจิตพ้นแล้วจากโทษ พ้นแล้วจากบ่อแห่งความเกิดตายทั้งหลาย ในภพน้อยภพใหญ่ภพไหนก็ตาม จำได้ไม่ได้ประมวลเข้ามาสู่อวิชชาพาให้เป็นทั้งนั้น นั่นรู้ได้ชัดขนาดนั้นนะ ที่นี่พออวิชชา พูดภาษาให้เต็มปากของเราว่าอวิชชาตาย พออวิชชาตายเท่านั้น ไม่มีใครพาไปเกิดอีกแล้ว ต่อจากนี้ไปไม่มี ทุกฺขํ นตฺถิ อชาตสฺส เมื่อความเกิดไม่มีแล้วทุกข์จะเอามาจากไหน ทุกข์ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด ท่านก็บอกชัด ๆ อยู่แล้วนั่น

เราอยากเกิดนักหรือ อยากตายนักหรือ อยากทุกข์นักหรือผู้ปฏิบัติ ทุกข์ด้วยการลำบาก ทุกข์ด้วยข้อวัตรปฏิบัติ ทุกข์ด้วยการเดินจงกรมนั่งสมาธิ ทุกข์อันนี้มีที่หมายมีจุดหมายปลายทาง ทุกข์มีความหมาย ทุกข์เพื่อความสุข ท่านว่า ทุกฺขสฺสานนฺตรํ สุขํ สุขเกิดในลำดับแห่งทุกข์ นี้จะทุกข์ก็ตามแต่ก็เป็นความทุกข์ที่จะให้เกิดความสุขนี่ ฟาดลงไปซินักปฏิบัติ

การเกิดแก่เจ็บตายอยู่ในภพน้อยภพใหญ่นี้มันเป็นของแน่นอนเมื่อไร เราจะต้องรับเคราะห์โดยไม่ต้องสงสัยละ ต้องรับตลอดไป ออกจากนี้ปั๊บพร้อมเสมอที่จะเกิด จะเกิดในภพใดชาติใดเราต้องเป็นผู้รับผิดชอบเราทั้งหมด ไม่มีใครมารับผิดชอบให้เรา การสลัดปัดออกเสียซึ่งเชื้อทั้งหลายที่พาให้เกิดเท่านั้น เราจะเป็นผู้แน่ใจที่สุด ไม่ว่าจะนั่งจะนอนจะยืนจะเดิน ไม่มีละคำว่าอดีตอนาคต สมมุติทั้งหมดขาดสะบั้นลงไปพร้อม ๆ กันหมด ที่จะคาดโน้นคาดนี้ไม่มี ขอให้รู้โลกุตรจิตโลกุตรธรรมเถอะ เป็นอันเดียวกันนี้แล้วเป็นพอ

นี่ละพระพุทธเจ้าท่านรู้ธรรมท่านรู้อย่างนี้ ท่านไม่ได้รู้เล่น ๆ ท่านไม่ได้รู้แบบลูบ ๆ คลำ ๆ พอจะมาสอนศาสนาลูบ ๆ คลำ ๆ ให้โลกทั้งหลายลูบคลำกำตาไปตามกันนะ ท่านสอนด้วยความรู้แจ้งเห็นจริงจริง ๆ จึงว่า โลกวิทู ๆ รู้ทั้งโลกนอก รู้ทั้งโลกใน รอบทั้งโลกนอก รอบทั้งโลกใน รอบประจักษ์พระทัยของพระพุทธเจ้า สาวกทั้งหลายปฏิบัติตามรู้รอบเหมือนพระพุทธเจ้าแล้วยอมรับ กราบพระพุทธเจ้าตลอดเลย

ศาสนานี้สร้างคนให้ได้หลุดพ้นจากกองทุกข์มีจำนวนมากเท่าไร ๆ แต่ละครั้ง ๆ ของพระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ในแดนมนุษย์นี่มีมากขนาดไหน นั่นละท่านว่าเอาสัตว์ทั้งหลายพ้นจากความเป็นนักโทษ ความเกิดแก่เจ็บตาย เวียนว่ายในวัฏสงสาร พ้น ๆ ผู้ที่ยังไม่พ้นก็แทนกันขึ้นมาเรื่อย ๆ คนนั้นผ่านไปแล้ว คนนี้เข้าแทนที่ ๆ เรื่อย อุปนิสัยก็สร้างมาทุกวันทุกปีทุกเดือนทุกภพทุกชาติในชาติที่ควรจะสร้างได้ เมื่อมาพบพระพุทธศาสนาอย่างนี้ยิ่งเป็นของเยี่ยมแล้วนี่ เราได้มาสร้างอำนาจวาสนาบุญญาภิสมภาร สร้างบารมี ยิ่งเพิ่มเข้าไป บารมีก็สูงขึ้นไปเรื่อย เอ้า คนนั้นขึ้นระดับนั้น คนนี้ขึ้นระดับนี้ สุดท้ายก็เป็น อุคฆฏิตญญู วิปจิตัญญู ได้วันใดวันหนึ่งแน่นอนไม่ต้องสงสัย

ทีแรกก็อยู่โน้นเสียก่อน เนยยะ ครั้นต่อมาก็ก้าวขึ้นมา ๆ เพราะสร้างอยู่เสมอ เหมือนกับเราเทน้ำใส่ตุ่ม เทไม่หยุดไม่ถอย มันก็เต็มของมันขึ้นมาได้เอง อันนี้ก็สร้างอยู่ไม่หยุดไม่ถอยทำไมจะไม่เต็ม เมื่อถึงขั้นแล้วเอาไว้ไม่อยู่ อุคฆฏิตัญญู จะเป็นใครก็ตามต้องเป็นเราได้คนหนึ่งแน่นอน ด้วยการปฏิบัติของเราการบำเพ็ญของเราไม่สงสัย อุคฆฏิตัญญู ก็ดี วิปจิตัญญู ก็ดี จะต้องเป็นสมบัติของเราในวันหนึ่งแน่นอน หากว่าเราเป็นผู้ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติไม่ประมาทเสียเท่านั้นแหละ ฉะนั้นขอให้ทุกท่านตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ กำจัดสิ่งที่เป็นข้าศึกอยู่ในหัวใจของเราทุกท่านนี่แหละ ไม่อยู่ที่ไหนนะ

อย่าไปมองดูดินฟ้าอากาศว่าเป็นเพราะสิ่งนั้น เป็นเพราะสิ่งนี้ มันไม่เป็นเพราะสิ่งอะไรละ เป็นเพราะกิเลสมันหลอกคนให้คนไปลูบคลำอยู่นู่น ตะครุบเงานู่น ไม่ได้ตะครุบตัวมันนะ ตะครุบเงามัน มันหลอกออกไปนอก ๆ นู่น อันนั้นเป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นอย่างนี้ อันนั้นไม่ดีอย่างนั้น อันนี้ไม่ดีอย่างนี้ ติดินติฟ้าติลมติแล้ง ติอันนั้นติอันนี้ ติเขาติเราติยุ่งไปหมด ส่วนที่เป็นจุดสำคัญควรจะเกาควรจะติมันไม่ให้ติ ให้เราได้เห็นจุดของมัน กิเลสมันฉลาดขนาดนั้น จึงต้องสร้างสติปัญญาให้ทัน พอมันแพล็บออกมารู้ทันที ๆ มันปรุงเรื่องอะไรขึ้นมา เรื่องนั้นไม่สำคัญ สำคัญที่ความปรุงนี้เกิดขึ้นแล้ว

ใครเป็นผู้พาให้มันเกิด ถ้าไม่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา จะเป็นอะไร เป็น สงฺขารา ไปหรือ นั่น สงฺขารา คืออะไร คือความปรุง ปรุงออกมาด้วยอำนาจของอวิชชา แน่ะ ท่านจึงว่าสังขารก็เป็นสมุทัย สัญญาก็เป็นสมุทัย เพราะอวิชชาเป็นตัวสมุทัยใหญ่อยู่แล้ว อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ฟังซิ อวิชฺชาปจฺจยา วิญฺญาณํ มันก็เป็นเรื่องสมุทัยทั้งนั้น เพราะอวิชชาเป็นสมุทัย มันปรุงอะไรก็ตาม สำคัญอะไรก็ตาม ได้ยินได้ฟังได้เห็น มีแต่เรื่องจะกว้านเข้าไปสู่สมุทัยทั้งหมด เมื่อสติปัญญาไม่ทันมัน มันเอาไปกินหมดนั่นแหละ ต่อเมื่อสติปัญญาได้ทันเท่านั้นละ เอ้าทีนี้มันจะปรุงเรื่องอะไร สัมผัสเรื่องอะไร ปรุงเรื่องอะไรขึ้นมา สำคัญมั่นหมายขึ้นมา มันจะทันกันพับ ๆ เป็นขึ้นมาในหัวใจนี่เองของผู้บำเพ็ญตน จึงเรียกว่าสติปัญญาอัตโนมัติ สติปัญญาอย่างเกรียงไกร หรือมหาสติมหาปัญญา หาที่ไหนหาในแบบเป็นแบบ หาในตำรับตำราเป็นตำรับตำรา เป็นความจดความจำไม่ใช่ความจริง หาในหัวใจของเรานี้ซินักปฏิบัติ จะได้เห็นความจริงภายในจิตใจ

เห็นนี่แล้วหายสงสัยทุกอย่างนั่นแหละ โลกจะกว้างขนาดไหนก็ตามไม่มีปัญหาอะไรเลย ตัวปัญหาจริง ๆ ก็คือตัวกิเลสตัวสมุทัยนั่นละตัวสร้างปัญหา ให้เราหลงโลกหลงสงสาร ให้เราได้รับความทุกข์ความยากความลำบากไม่มีวันจืดจาง หลงกิเลสตัณหาหลงไม่มีวันจืดจาง ไม่มีวันเบื่ออิ่มพอเลยนี้ มีกิเลสเท่านั้นมันหลอกเรา เมื่อพังอันนี้ลงไปแล้วอะไรจะมาหลอก อยู่ไหนอยู่ได้หมด สบายไปหมด

จะเป็นจะตายก็รู้แล้วว่าเรื่องธาตุเรื่องขันธ์สลายลงไป แล้วมันไปไหน ตั้งแต่ยังไม่สลายก็รู้อยู่แล้วว่านี้คือธาตุดิน นี้คือธาตุน้ำ นั้นธาตุลม นั้นธาตุไฟ นี้คือวิญญาณ นี้คือสังขารมันแย็บ ๆ ตามกิริยาของสมมุติ มันก็แสดงของมันไปอย่างนั้นจะว่ายังไง ธรรมชาติที่บริสุทธิ์แล้วนั้นขึ้นกับอะไร ไม่ได้ขึ้นกับสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้เป็นอาการ สิ่งเหล่านี้เป็นสมมุติ เมื่อถึงขั้นที่บริสุทธิ์แล้วไม่มีปัญหาอันใดของดวงใจที่บริสุทธิ์นั้น ก็มีแต่เรื่องธาตุเรื่องขันธ์ที่ยิบแย็บ ๆ ไปตามสภาพของตน เมื่อถึงกาลเวลาแล้วก็พังไปตามเรื่องของมันสงสัยไปไหน ตั้งแต่ยังไม่ตายก็รู้กันอยู่ ตายแล้วจะหลงไปไหน

นักปฏิบัตินักรู้ต้องรู้อย่างนั้นซิ พระพุทธเจ้าถึงว่ารู้ เอาให้มันจริงมันจัง นี่เราพูดถึงเรื่องขันธ์นะ เอ้าที่นี่ย้อนเข้ามา ขันธ์เหล่านี้เวลาพักเป็นยังไง ปกติธรรมดาขันธ์นี้จะต้องแสดงอาการยิบแย็บ ๆ อยู่อย่างนั้น เหมือนหางจิ้งเหลนขาดนั่น ดูหางจิ้งเหลนขาดก็แล้วกัน มันจะดุ๊กดิ๊ก ๆ ของมัน จะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ตามหลักธรรมชาติของมัน แต่ถ้าอวิชชาเป็นตัวการอยู่แล้วมันมีเจ้าของนะนั่น ปรุงอะไรไปเป็นเรื่องของสมุทัยทั้งหมด ทีนี้พออวิชชาดับไปแล้วธรรมเป็นเจ้าของ ธรรมไม่ยึดนี่ นั่น จิตที่บริสุทธิ์แล้วเป็นเจ้าของ

คำว่าเจ้าของ ๆ ก็ว่าสมมุติเอาเฉย ๆ นะ ไม่ได้ไปยึดว่าเป็นเจ้าของ คือเอามาใช้ เพราะอันนี้เป็นเครื่องมือของกิเลส เป็นสมบัติของวัฏสงสาร นี่ละวัฏขันธ์ พูดง่าย ๆ เอ้า พอจิตได้ผ่านไปแล้ว จิตได้หลุดพ้นแล้ว กิเลสพังลงไปแล้ว เอาอันนี้มาใช้แทนกิเลสเท่านั้นเองไม่ได้ถือ แต่เราพูดพอให้เป็นความเหมาะสม พอเป็นสมมุติดีงามก็เรียกว่าธรรมเป็นเจ้าของ ไม่ได้ยึดเหมือนกิเลสเป็นเจ้าของ แล้วเอานี้มาใช้ก็รู้มันอยู่อย่างนี้จะว่าไง

ทีนี้เวลาเราพัก เอ๊า เวลาจิตพักธาตุพักขันธ์เป็นยังไง มันสงบตัวลงไป ตามปกติมันก็สงบหนึ่ง สังขารความคิดดับ สัญญาความหมายดับ อะไร ๆ มันก็ดับ เหลือแต่ความรู้ ความรู้นี่พูดไม่ได้นะ เพียงที่ว่ายังไม่สิ้นชีพยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม ในขณะที่จิตพักขันธ์นี่เราจะพูดว่ายังไงกับขันธ์นี้ไม่ได้ ธรรมชาตินั้นก็พูดไม่ได้ นั่นทำไมจึงเป็นยังงั้นฟังซิ พูดไม่ได้เลยขณะนั้น ความละเอียดขนาดไหนมันพูดไม่ออก นั่น เวลาหยุดพักไม่เกี่ยวกับธาตุกับขันธ์เลย หลักธรรมชาติความจริงอันใดให้อยู่ตามธรรมชาติความจริงของตน ขันธ์ก็เลยไม่ดิ้น จิตนั้นเป็นยังไง ถ้าว่ารู้มันก็รอบโลกธาตุนี่เสียหมด ถ้าว่ารู้ครอบไปหมดเลย เอ๊า ถ้าว่าไม่มี ไม่มีอะไรเลย หรือมีสักแต่ว่ารู้เท่านั้น ถ้าหากว่าจะแย็บออกมาพูดนะ แต่ท่านไม่แย็บ ท่านขี้เกียจแย็บ แล้วมาพูดทำไม เรื่องของท่านโดยตรงไม่ได้เกี่ยวกับผู้ใดแล้ว ท่านไม่จำเป็นจะต้องเอามาพูดแหละ อะไรท่านก็รู้ของท่านอยู่เต็มหัวใจแล้วมีปัญหาอะไร

อย่างพระพุทธเจ้าหรือพระสาวกบางองค์ท่านเข้านิโรธสมาบัติ นั่นละท่านเข้าอย่างนั้นแหละ พักขันธ์หมดเลย นี่ก็เป็นสมมุติทั้งหมดนะ ที่พระพุทธเจ้าทรงเข้าสมาบัติแล้วจนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ นี้ก็เป็นสมมุติ พระจิตนั้นเป็นวิมุตติแล้ว อันนี้เป็นสมมุติ เข้าก็เข้าไปอย่างนั้น ชั่วระยะ ๆ แล้วก็ผ่าน ๆ หาย ๆ ออกจากขันธ์จากสมมุตินี้ไปเลย จากนั้นพูดไม่ได้ ถึงไม่สูญก็พูดไม่ได้ ไม่มีอะไรพาดพิงพอที่จะพูดว่าเสด็จตรงนั้นเสด็จตรงนี้ นี่ละเรื่องขันธ์กับจิตที่บริสุทธิ์เป็นเช่นนั้น

เอาให้เห็นซิเรา เป็นยังไงพระพุทธเจ้าแสดงไว้สด ๆ ร้อน ๆ เหมือนพระพุทธเจ้าประทับอยู่ตรงหน้าเรา เราอ่านตำรับตำราอ่านแบบแผนฉบับใดก็ตาม เรื่องใดก็ตาม เรื่องทุกข์ เรื่องสมุทัย นิโรธ มรรค เหมือนพระพุทธเจ้าประทานพระโอวาทแก่เราอยู่ตลอดเวลา กังวานอยู่ในหัวใจของเรานี้ พระพุทธเจ้านิพพานไปที่ไหน นี่ละเรื่องธรรมกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคือธรรม องค์พระสรีระนั้นเป็นอันหนึ่ง เรื่องธาตุเรื่องขันธ์เราอย่ามาพูดอันนั้น เรือนร่างของพระพุทธเจ้าคือธาตุขันธ์อันนั้นสลายลงไป ใคร ๆ ก็สลาย แต่ธรรมชาติที่เป็นพุทธะแท้คืออะไรนั่นซิ พุทธะแท้ก็คือธรรม แล้วธรรมที่เรารู้อยู่เวลานี้กับธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นเป็นยังไง มันเกี่ยวโยงกันอยู่นี่ พอทราบอันนี้พับก็ยอมรับทันที ๆ อยู่ตรงนั้นไม่อยู่ตรงไหนนี่นะ ท่านจึงว่า อกาลิโก

อกาลิโก คืออะไร อกาลิกจิต อกาลิกธรรม นั่นเอง มีกาลมีสมัยที่ไหนจิต ธรรมมีกาลมีสมัยที่ไหน เมื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ฉะนั้นขอให้ทุกท่านตั้งใจประพฤติปฏิบัติ

เอาละเท่านี้รู้สึกเหนื่อยแล้ว


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก