ตีให้แตกด้วยอริยสัจ
วันที่ 9 ตุลาคม 2528 เวลา 19:00 น. ความยาว 54.1 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

ตีให้แตกด้วยอริยสัจ

พระพุทธศาสนาเรามีอริยสัจ ๔ เป็นเครื่องยืนยันหลักความจริงของศาสนา พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาจากอริยสัจ ๔ โดยตรง พระสาวกทั้งมวลอุบัติขึ้นมาจากอริยสัจ ๔ ทั้งนั้น อริยสัจจึงเป็นเครื่องยืนยันหลักศาสนาว่าเป็นศาสนาที่แท้จริง ไม่มีผิดพลาดคลาดเคลื่อนแม้แต่น้อย พระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของศาสนาก็เป็นอย่างแท้จริง ไม่ใช่พระพุทธเจ้าปลอม ๆ เพราะอริยสัจไม่ใช่ของปลอม เป็นของจริงล้วน ๆ ผู้ปฏิบัติตามหลักอริยสัจได้มากน้อยเพียงไร จะมีหลักใจได้มากน้อยเพียงนั้น คือคำว่าหลักใจได้แก่ หลักใจที่หยั่งเข้าสู่ความจริงซึ่งมีอยู่ในโลกในธรรมทั้งหลาย มีความเข้าใจในอริยสัจ ๔ นี้มากน้อย ก็ชื่อว่าเป็นผู้เข้าใจทั้งทางธรรมและทางโลกมากน้อยตามส่วนโดยลำดับลำดา ดังที่ท่านแสดงหลักแห่งจิตหลักแห่งธรรมของผู้ได้บรรลุจากการพิจารณาอริยสัจนี้ว่า พระโสดา พระสกิทา พระอนาคา พระอรหัตหรืออรหันต์ นี่ละเป็นหลักเครื่องยืนยันของผู้ปฏิบัติธรรม มีอริยสัจเป็นสำคัญมาก

พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์อุบัติขึ้นจากอริยสัจ ๔ นี้ พระสาวกทั้งมวลอุบัติขึ้นจากอริยสัจ ๔ เพราะฉะนั้นอริยสัจ ๔ จึงเป็นเครื่องยืนยันหลักความจริงของธรรมทั้งหลายด้วย ของผู้เป็นเจ้าของศาสนาด้วย ได้แก่ พระพุทธเจ้า ตลอดพระสงฆ์สาวก หรือว่าเป็นเครื่องยืนยันของพระไตรสรณาคมน์นี้ด้วย คือ พุทธ ธรรม สงฆ์ นี้ออกมาจากอริยสัจทั้งนั้น ผู้รู้ธรรมเห็นธรรม ไม่รู้อริยสัจไม่เรียกว่ารู้ธรรมเห็นธรรม เพราะฉะนั้นอริยสัจธรรมทั้งสี่ จึงเป็นเครื่องยืนยันหลักความจริงของศาสนาและผู้เป็นเจ้าของศาสนาว่า เป็นผู้ปฏิบัติรู้แจ้งแทงทะลุในอริยสัจทั้งสี่แล้วโดยสมบูรณ์ จึงสามารถประกาศศาสนธรรมได้โดยถูกต้องแม่นยำไม่มีที่สงสัย และยังผู้ประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนที่ประกาศให้แก่บรรดาสัตว์นั้น ได้บรรลุโดยลำดับลำดาไม่มีข้อสงสัยแต่อย่างใด ดังพระพุทธเจ้าของเราประกาศมาแล้ว ในวงปัจจุบันนี้ได้แก่พระสมณโคดมของเรา

ศาสนานี้ไม่ใช่ศาสนาคาดคะเน ผู้รู้ศาสนาไม่ใช่รู้ด้วยความคาดคะเนด้นเดาเหมือนอย่างโลก ๆ ทั้งหลายที่อนุมานกันบ้างอะไรบ้าง การเรียนก็มีอนุมาน ความจดความจำเป็นเรื่องอนุมาน แต่เรื่องของปัญญาที่ทราบตามหลักความจริงแห่งอริยสัจนี้ไม่ใช่อนุมาน เรียกว่าเจอความจริงโดยลำดับ ๆ อย่างแท้จริง ทุกข์ก็เข้าใจเรื่องทุกข์ประจักษ์ใจ สมุทัยก็รู้โทษของมันอย่างถึงใจด้วยมรรค คือสติปัญญาได้พิจารณาสอดส่องมองทะลุหมดแล้ว สมุทัยจึงได้ดับลงไป ผลแห่งสมุทัยคือความทุกข์ย่อมดับลงได้ด้วยนิโรธ ท่านว่านิโรธคือความดับทุกข์ ก็เพราะอำนาจของสมุทัย นี่แหละเป็นเครื่องยืนยันของศาสนา และผู้ปฏิบัติก็เป็นเครื่องยืนยันในตัวเราอีก

แต่ละท่าน ๆ ที่ได้ปฏิบัติตามหลักอริยสัจนี้ โดยถูกต้องแม่นยำและสมบูรณ์แบบแล้ว ย่อมจะสามารถประกาศตนได้อย่างชัดเจน ทั้ง ๆ ที่เราไม่เคยรู้เคยเห็นมาก่อนเลยก็ตาม แต่จะประกาศกังวานความจริงขึ้นภายในจิตใจของผู้ได้บรรลุธรรมทั้งหลายจากอริยสัจนี้ ความซาบซึ้งถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของศาสนา ก็จะซาบซึ้งในองค์อริยสัจนี้เป็นสำคัญ เพราะนี้เป็นสักขีพยานให้ทราบทั้งพระพุทธเจ้า ทั้งการทรงผ่านไปของพระองค์ด้วยอริยสัจ ตลอดถึงพระสงฆ์สาวกทั้งหลายที่ได้บรรลุธรรมจนถึงขั้นอรหัตอรหันต์นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่หยั่งเข้าถึงอริยสัจทั้งสี่นี้โดยสมบูรณ์แล้ว

ธรรมะที่ว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้นก็อุบัติขึ้นมาจากอริยสัจ ๔ นี้ เป็นหินลับหรือเป็นสถานที่ขุดคุ้ยหรือขุดค้นขึ้นมา ไม่มีที่อื่นเป็นที่เกิดแห่งธรรมทั้งหลาย มีอริยสัจเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นอริยสัจทั้งสี่นี้จึงเป็นเครื่องยืนยันของศาสนา พร้อมทั้งเจ้าของศาสนาได้โดยถูกต้องแม่นยำ ไม่มีข้อข้องใจสงสัยในผู้ปฏิบัติทั้งหลายแม้จะไม่เห็นองค์ศาสดาก็ตาม ไม่เห็นพระอรหัตอรหันต์ทั้งหลายที่ท่านได้บรรลุผ่านไปแล้วก็ตาม แต่ได้ปรากฏธรรมทั้งหลายขึ้นที่ใจของตน ด้วยการขุดค้นอริยสัจให้รู้แจ้งแทงทะลุโดยสมบูรณ์ประจักษ์ใจ นี้เป็นสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด

เพราะฉะนั้นธรรมภาคปฏิบัติที่จะเป็นเครื่องยืนยันตนเองได้ และเป็นเครื่องยืนยันพระพุทธเจ้า เรียกว่าเชื่อพระพุทธเจ้าหรือเชื่อพระธรรมทั้งหลายได้ ก็ต้องออกมาจากการปฏิบัติของตัวเองที่เป็น สนฺทิฏฺฐิโก ด้วยการปฏิบัตินี้แลเป็นสำคัญ นี่ไม่คาดไม่ด้นไม่เดา เป็นความรู้ประจักษ์จากภาคปฏิบัติ รู้อันนี้ไม่เหมือนรู้สิ่งใดทั้งนั้น รู้ได้ด้วยความจำมาจากครูจากอาจารย์นั่นเป็นอย่างหนึ่ง ดังที่ท่านกล่าวไว้ในกาลามสูตร นั่นไม่ใช่ธรรมเล็กน้อย ไม่ใช่ธรรมธรรมดา เป็นธรรมที่ลึกซึ้งมากทีเดียว ว่าไม่ให้เชื่อด้วยเหตุนั้น ๆ ไม่ให้เชื่ออย่างนั้น ๆ ที่ท่านพูดไว้ตั้ง ๙ อย่าง ๑๐ อย่าง ไม่ให้เชื่อตามครูตามอาจารย์ ไม่ให้เชื่อตามคนที่เชื่อถือได้ ไม่ให้เชื่อโดยบอกเล่ากันไปโดยลำดับลำดา อะไรก็ตามถ้าเชื่อแบบนั้นไม่จัดว่าเป็นความเชื่อที่แท้จริงในหลักของ สนฺทิฏฺฐิโก เลย

ท่านหมายถึง สนฺทิฏฺฐิโก เป็นสำคัญ จึงปฏิเสธเรื่องความรู้ความเห็นทั้งหลาย หรือความเชื่อทั้งหลายเหล่านั้นเสียโดยสิ้นเชิงไม่ให้มีเหลือไว้เลย เพราะจะให้รู้ขึ้นภายในจิตใจด้วย สนฺทิฏฺฐิโก เท่านั้น จะรู้มากรู้น้อยรู้ขนาดไหนต้องรู้ด้วย สนฺทิฏฺฐิโก คือประจักษ์ ๆ กับตัวเองโดยไม่ต้องถามใคร เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นกับใจและรู้ชัดภายในจิตใจของตนโดยลำดับในขั้นแห่งธรรมทั้งหลาย เป็น สนฺทิฏฺฐิโก ไปโดยลำดับลำดาจนถึง สนฺทิฏฺฐิโก อันสุดยอดคือวิมุตติหลุดพ้น นี่ภาคปฏิบัติเป็นอย่างนี้

ท่านจึงว่าความจำเป็นอย่างหนึ่ง ความจริงเป็นอย่างหนึ่ง ความจำที่เราศึกษาเล่าเรียนมาได้มากน้อย นั่นเป็นภาคความจำ ยังไม่เรียกว่าเป็นการฆ่ากิเลส ยังไม่เรียกว่าเป็นการชำระกิเลส ต่อเมื่อได้นำความจำนั้นเข้ามาประพฤติปฏิบัติตามหลักที่ท่านสอนไว้นั่นแหละ เรียกว่าเป็นภาคปฏิบัติ เมื่อได้ก้าวเข้าสู่ภาคปฏิบัติแล้วอย่างไรก็จะรู้จะเห็นภายในตัวของเรา เช่น ท่านสอนว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น อาการเหล่านี้เป็นอย่างไร นี่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ เป็นการคลี่คลายสภาพทั้งหลายเหล่านี้ออกด้วยภาคปฏิบัติ และจะทำให้รู้ละที่นี่เป็นยังไง ๆ ก็จะรู้เข้าใจโดยลำดับลำดาไป ถ้าพูดถึงเรื่องอสุภะอสุภังปฏิกูลโสโครก ก็ไม่มีอะไรที่จะปฏิกูลโสโครกยิ่งกว่ากายเรากายมนุษย์ ไม่ว่าภายนอกภายใน นี่เห็นด้วยภาคปฏิบัติต้องเห็นจริง ๆ อย่างนี้ ไม่ใช่ภาคคาดคะเน

ท่านสอน ๆ ไว้กลาง ๆ ว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ไม่ได้บอกว่าเป็นสุภะคือความสวยงาม และไม่ได้บอกว่าเป็นอสุภะคือความไม่สวยไม่งาม เป็นของปฏิกูลโสโครก ท่านว่าไว้กลาง ๆ ผู้ปฏิบัติให้จับวัตถุที่ท่านสอนนั้น อาการที่ท่านสอนนั้น เข้าสู่ปัญญาหรือน้อมเข้าสู่ปัญญา หรือนำปัญญาเข้าคลี่คลายในสิ่งทั้งหลายที่ท่านบอกว่า เกสา เป็นอย่างไร โลมา นขา ทันตา ตโจ แต่ละอย่าง ๆ หรืออย่างใดอย่างหนึ่งที่เราพิจารณาถนัดชัดเจนในอาการใดเป็นอย่างไร นี่พิจารณาลงอย่างนั้น นี่แหละท่านเรียกว่าภาคปฏิบัติ

เมื่อพิจารณาลงไปแล้วอาการนั้น ๆ เป็นอย่างไร จะทราบด้วยปัญญาของตนเอง เรื่องปฏิกูลเป็นลักษณะอย่างไร จะบอกขึ้นโดยทางปัญญาโดยลำดับลำดา คำว่า อนิจฺจํ ความไม่เที่ยง ความแปรสภาพเป็นอย่างไร ก็จะซาบซึ้งภายในปัญญาของตัวเอง ทุกฺข นั่นก็เหมือนกัน อนิจฺจํ อนตฺตา เหล่านี้เป็นสิ่งที่จะต้องทราบด้วยปัญญา ทราบด้วยภาคปฏิบัติ ไม่ใช่ทราบด้วยความจำ ความจำจำไว้เท่านั้น เหมือนกับเส้นบรรทัด ขีดเส้นบรรทัดแล้วก็เขียนไปตามเส้นบรรทัด ความจำจำไว้เช่นนั้นแล้วปัญญาคลี่คลายไปตามความจำนั้น และก็จะปรากฏขึ้นภายในจิต เมื่อรู้แจ้งชัดเจนตามหลักความจริงตามส่วนแล้วย่อมจะปล่อยจะวางละถอน นี่เป็นผลขึ้นมาโดยลำดับ ท่านว่าปฏิเวธ เมื่อรู้แจ้งแทงทะลุแล้วย่อมปล่อยวางไปโดยลำดับลำดา จนกระทั่งถึงรู้แจ้งแทงตลอดไปหมด ตลอดทั่วถึงทั้งสกลกายและอาการของขันธ์ทั้งห้านี้โดยลำดับลำดา ด้วยสติปัญญาจากภาคปฏิบัติ

นี่ท่านเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก ของผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่ความจำ ความจำเราจำมาแล้ว พอมาคลี่คลายทางด้านปัญญาแล้ว จะเกิดความรู้ความเห็นขึ้นภายในจิตใจอย่างนี้ อย่างพระพุทธเจ้าท่านทรงรู้ พระสาวกอรหัตอรหันต์ท่านรู้ ท่านรู้อย่างนั้นเอง รู้ภาคปฏิบัติมาโดยลำดับลำดา จึงสอนให้ผู้นับถือพุทธศาสนาทั้งหลายได้มีภาคปฏิบัติด้วย ถึงจะได้รับรสแห่งพระสัทธรรมตามหลักศาสดาที่สอนไว้

เรามีแต่ความจำเฉย ๆ ก็ไม่ผิดอะไรกับเรื่องเราจำสิ่งทั้งหลาย อันนั้นเป็นนั้น ๆ ก็มีเพียงเท่านั้น จะให้ยิ่งไปกว่านั้นก็ไม่ได้ ต้องเป็นภาคปฏิบัติถึงจะพิสดารเข้าไปโดยลำดับ นี่ก็เหมือนกัน ทางด้านจิตใจต้องอาศัยภาคปฏิบัติพินิจพิจารณา สติเป็นสำคัญมาก ถ้าขาดสติแล้วพึงทราบว่าขาดความเพียร เราอย่าถือการเดินจงกรมเพียงก้าวไปก้าวมา การนั่งสมาธิภาวนาอยู่เฉย ๆ โดยหาสติไม่ได้นั้นว่าเป็นเรื่องของความเพียร ไม่ใช่ความเพียร

ความเพียรเป็นพื้นฐานแท้มีสติเป็นสำคัญ แม้ปัญญาจะยังไม่เกิด แต่สติต้องมีกำกับรักษา เช่น เราเริ่มต้นฝึกหัดภาวนากล่าวคำบริกรรม หรือนึกคำบริกรรมว่า พุทโธ หรือธรรมบทใดก็ตาม สติต้องให้อยู่กับคำบริกรรมนั้น ๆ ตลอดไป นี่ท่านเรียกว่าความเพียร เช่น กำหนด อานาปานสติ ลมหายใจเข้าออก ก็ให้สติรู้อยู่ ทำความรู้สึกตัวอยู่ว่าหายใจเข้าหายใจออก ไม่ส่งความรู้สึกนี้ไปที่ไหน ๆ นอกจากรู้อยู่กับลมที่หายใจเข้าหายใจออกเท่านั้น นั้นเรียกว่าสติ และไม่คาดไม่หมายผลที่จะปรากฏขึ้นมากน้อยหยาบละเอียดเพียงไร ไม่จำเป็นต้องไปคาดไปหมาย จะหนีจากหลักแห่งปัจจุบันซึ่งเป็นสถานที่เกิดแห่งความจริงทั้งหลาย

ให้ตั้งลงในหลักปัจจุบันนี้ เมื่อตั้งลงไปที่ตรงนี้ไม่เผลอ ความไม่เผลอสืบต่อเนื่องกันโดยลำดับลำดา ย่อมจะปรากฏเป็นความสงบเย็นขึ้นมาภายในใจ ถ้าเป็นลมหายใจย่อมจะเบาไปเช่นเดียวกัน เพราะจิตพาให้เบา จิตพาให้ละเอียด อาการทั้งหลายย่อมละเอียด นี่ท่านเรียกว่าความเพียรด้วยสติ

ผู้ประกอบความเพียรอย่าอิดหนาระอาใจในการตั้งสติ อย่าอิดหนาระอาใจในการประกอบความเพียรด้วยความมีสติ อยู่ไหนก็ตามให้ระมัดระวังจิตของตน ซึ่งคล่องต่อความคิดความปรุงด้วยอำนาจของกิเลสเป็นไหน ๆ อันนี้เป็นหลักธรรมชาติของจิตที่มีกิเลสเป็นเจ้าอำนาจฝังอยู่ภายในจิตใจ ใจทั้งดวงจึงกลายเป็นโรงงานผลิตของกิเลสทั้งหลายขึ้นมา ซึ่งเป็นของมีอยู่แล้วเพิ่มพูนขึ้นโดยลำดับลำดา และเป็นไปอย่างรวดเร็ว เป็นไปโดยหลักธรรมชาติ โดยไม่ต้องถูกบังคับบัญชาสั่งการสั่งงานอะไร หากเป็นเรื่องของธรรมชาตินั้นทำงานของตัวโดยลำดับลำดา ด้วยความคล่องแคล่วคล่องตัวมาแต่ไหนแต่ไร เพราะฉะนั้นจึงต้องลำบากในการที่จะแก้ไขดัดแปลงความรู้สึกเช่นนั้น ให้เป็นความรู้สึกอย่างอื่น จากความรู้สึกในหลักธรรมชาติของกิเลสทั้งหลายนั้นเสีย กลายมาเป็นความรู้สึกแห่งธรรม นี่จึงยากจึงลำบากสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

เช่น เรามาฝึกหัดภาวนาเบื้องต้น จิตนี้วอกแวกคลอนแคลน รวดเร็วต่อความคิดความปรุง ต่อความรู้ความเห็นความสัมผัสสัมพันธ์ต่าง ๆ ไม่มีอะไรเร็วยิ่งกว่าจิตที่หาสติไม่ได้ เพราะอำนาจแห่งการบังคับของกิเลสอยู่ภายใน จึงต้องลำบากลำบนไม่ใช่น้อย ในขณะที่เราฝึกหัดเบื้องต้นเป็นเช่นนั้น ไม่ว่าใคร ๆ จะเป็นเหมือนกันหมด แต่เรื่องความอุตส่าห์พยายามหรือความมุ่งมั่นเป็นสำคัญมาก ความมุ่งมั่นต่อผลที่จะพึงได้รับต่อผลที่ตนพึงหวัง นั่นเป็นรากฐานอันสำคัญมาก เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวความพากเพียร ความอุตส่าห์พยายาม หรือความเพียรทุกด้านให้หมุนไปได้ แม้จะยากลำบากก็หมุนไปได้ ช้าหรือเร็วก็ตามต้องหมุนไปได้ ด้วยอำนาจแห่งความมุ่งมั่นเป็นสำคัญดึงดูดพาให้เป็นไป

นั่นละที่นี่ เมื่อเราใช้ความพยายามความเพียรอยู่โดยสม่ำเสมอ ไม่อิดหนาระอาใจต่อความเพียรเพราะอำนาจของกิเลสมันผลักมันดัน ย่อมจะเห็นความสงบเย็นใจ ย่อมจะเห็นความแปลกประหลาดภายในจิตใจของเรา ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ควรจะรับสัมผัสความแปลกประหลาดอยู่แล้ว เป็นแต่เพียงว่าความพากเพียรของเรายังไม่ถึง หรือสติปัญญาของเรายังไม่สามารถเท่านั้น พอที่จะเปลี่ยนความรู้สึกซึ่งเคยเป็นเรื่องของกิเลส มาเป็นเรื่องของธรรมได้โดยคล่องตัวเหมือนกิเลสมันคล่องตัวของมัน เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยความพากเพียรดำเนินอยู่โดยสม่ำเสมอ

อย่าสำคัญว่าตนบวชมานาน อย่าเป็นความเคยชินในความเพียรว่าตนเคยทำความเพียรมาแล้ว อย่าเคยชินในความมีอายุพรรษามากน้อย เหล่านี้เป็นเรื่องความสำคัญมั่นหมายอันจะเป็นทางให้สำคัญตนในทางที่ผิด และให้ย่อหย่อนต่อความพากเพียรโดยลำดับลำดา หาความเป็นสาระทางด้านธรรมะไม่ได้ จึงต้องเป็นผู้ใหม่อยู่เสมอ นั่นแหละนักปฏิบัติต้องเป็นผู้ใหม่ ตื่นเนื้อตื่นตัวอยู่เสมอทางความพากความเพียร ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นผู้ใหม่เสมอ ความเป็นผู้ใหม่คือความมีสติไม่นอนใจ

สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ทั้งมวลนั้น จะประมวลกันมาทราบที่ใจนี้ไม่ไปทราบที่อื่น ธรรมนั้นมีอยู่แล้ว ไม่สงสัยเรื่องว่าธรรมไม่มี แต่สำคัญที่จิตนี้มีอะไรปิดบังไว้ จึงไม่สามารถที่จะสัมผัสสัมพันธ์ธรรมได้ตามที่ธรรมมีอยู่ จึงต้องได้ใช้การประกอบความพากเพียรขุดค้นลงเต็มที่เต็มฐานเต็มสติกำลังความสามารถ นี่ละเป็นทางที่จะให้สัมผัสสัมพันธ์ธรรมทั้งหลาย ตั้งแต่สมถธรรมคือความสงบเย็นใจ ความสงบเย็นใจจากการภาวนาจากความพากเพียรนี้ เราจะเห็นได้ภายในใจของเราเอง ในขณะนั้นจิตที่เคยวุ่นวายจะสงบตัวลง เพราะอำนาจแห่งความเพียรระงับดับกันแล้วก็จะหยั่งเข้าสู่ความสงบเย็นใจ

เพียงเท่านี้เราก็เห็นความแปลกประหลาดภายในใจ เพราะแต่ก่อนมาหรือพูดว่าตั้งแต่วันเกิดก็ได้ เราไม่เคยเห็นใจนี้มีความสงบตัวโดยลำพังเลย เพิ่งมาสงบตัวด้วยความพากเพียรในวันนี้หรือในขณะนี้เท่านั้น พอปรากฏเป็นความสงบเย็นขึ้นมา ความสงบอันนี้จะเป็นรสชาติที่แปลกประหลาดยิ่งกว่ารสชาติสิ่งใด ที่เราเคยได้สัมผัสสัมพันธ์มาแล้ว นั้นแลเป็นสิ่งที่จะเพิ่ม ๑) ความเชื่อในธรรมทั้งหลายจะเด่นขึ้น ๒) ความพากเพียรหรือความเพียรทุกด้านจะเพิ่มกำลังขึ้นโดยลำดับ ให้เราได้หนุนความพากเพียรมีกำลังแก่กล้าสามารถขึ้นไปโดยลำดับลำดา

ความสงบเย็นใจก็จะมีกำลังมากขึ้น ๆ ในเมื่อได้รับการอบรมหรือการบำรุงส่งเสริมอยู่เสมอจะไม่ลดน้อยลง และจะมีความละเอียดแห่งความสงบเข้าไปโดยลำดับลำดา จนเป็นที่แน่ใจว่า อ้อ นี่จิตสงบเป็นเช่นนี้เชียวหรือ เราไม่เคยเห็นความสงบของใจ บัดนี้ได้เห็นแล้วและยังประจักษ์อยู่ตลอดเวลาด้วย ไม่ว่ายืนว่าเดินว่านั่งว่านอน มองดูฐานของจิตจะเป็นฐานแห่งความสงบราบเรียบอยู่ภายในตัวเอง แม้จะคิดปรุงแต่งหน้าที่การงานหรือหรือเรื่องอะไร ๆ ได้อยู่ก็ตาม แต่พื้นฐานแห่งความสงบของใจนั้นจะไม่ละตัวเอง จะเป็นพื้นแห่งความสงบเย็นใจอยู่ตลอด นี่เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ

เมื่อสงบหลายครั้งหลายหนเข้าไปก็สร้างพลังให้ตัวเองขึ้น จนกลายเป็นฐานแห่งความมั่นคงขึ้นมา เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ นั่นละที่เราเคยเห็นในตำรับตำรา อ่านเป็นความจดความจำในตำรับตำราว่า สมาธิคือความตั้งมั่น มันตั้งมั่นที่ไหนน่ะ สมาธิก็มาเห็นที่ใจเพราะใจเป็นผู้ปฏิบัติ ใจเป็นผู้จดจำคำว่าสมาธิคือความตั้งมั่นมาสู่ตัวของเรา และปฏิบัติตามความจดจำนั้นด้วยภาคปฏิบัติ นั่งสมาธิทำจิตให้เป็นความสงบด้วยสติ จนกลายเป็นความสงบขึ้นมา ๆ หลายครั้งหลายหนจนกลายเป็นสมาธิขึ้นมาภายในจิตใจ เพราะการสร้างฐานให้ตัวเองจากความสงบที่สงบครั้งนั้น ๆ รวมตัวเข้ามาเป็นเช่นนี้ นี่ท่านเรียกว่าจิตเป็นสมาธิ เห็นได้ภายในใจ นี่ก็เป็น สนฺทิฏฺฐิโก อันหนึ่ง เห็นได้ชัดไม่ต้องไปถามผู้ใดเลย รู้ได้ภายในใจของตัวเอง นี่เป็นขั้นหนึ่ง

เพียงความสงบเท่านั้นก็เป็นพื้นฐานแห่งปัญญา ที่จะพิจารณาคลี่คลายสภาวธรรมทั้งหลายได้ตามขั้นแห่งสมาธิที่จะหนุนปัญญาได้ ไม่ใช่ว่าจิตเป็นสมาธิเต็มที่แล้วจึงจะพิจารณาปัญญาโดยถ่ายเดียวเท่านั้น จิตเป็นสมาธิขั้นใดภูมิใดก็ควรแก่ปัญญาขั้นนั้น ๆ ที่จะพิจารณาคลี่คลายสภาวธรรมทั้งหลาย ให้มีความรู้แจ้งเห็นจริงไปโดยลำดับได้ และเป็นคู่เคียงไปโดยลำดับลำดา สมาธิมีความสามารถแก่กล้ามากเท่าไร ปัญญาก็ยิ่งพิจารณาได้อย่างรวดเร็ว นี่ละหลักของสมาธิเป็นเช่นนี้ก็รู้ด้วยตัวเอง และเรื่องของปัญญาที่ว่ารู้ยังไงเห็นยังไงก็จะรู้ ในเมื่อสมาธิเป็นเครื่องหนุนไว้แล้ว ท่านจึงเรียก สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาที่สมาธิเป็นเครื่องอบรมหรือเป็นเครื่องหนุนแล้ว ย่อมมีความแกล้วกล้าสามารถ คล่องตัวในการพินิจพิจารณา ท่านว่ามีอานิสงส์มากก็คือมีพลังนั่นเอง มีความแกล้วกล้าสามารถ มีความคล่องตัวปรากฏขึ้นโดยลำดับลำดา

เพราะจิตที่เป็นสมาธิแล้วไม่มีความหิวโหยในอารมณ์อันใดภายนอกซึ่งเคยเป็นมา มีความอิ่มตัวอยู่ภายในวงสมาธิ เมื่อพาพิจารณาทางด้านปัญญา จิตย่อมทำงานตามการพิจารณานั้น ตามที่สั่งเสียหรือตามที่บังคับบัญชาให้ทำนั้น ไม่ระเหเร่ร่อนวุ่นวายไปกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ด้วยความหิวโหยอารมณ์ต่าง ๆ เหมือนคนที่ไม่มีสมาธิภายในใจ จิตจึงเป็นของสำคัญที่จะต้องให้มีความสงบ เพื่อเป็นบาทฐานของทางด้านปัญญา ปัญญาจะได้ทำหน้าที่ของตัวโดยสะดวก เพราะจิตไม่ฟุ้งซ่านรำคาญ ไม่หิวโหยกับอารมณ์แล้วแส่ส่ายทางโน้นแส่ส่ายทางนี้ ขัดแย้งกันไปทางโน้น ขัดแย้งกันไปทางนี้ เพราะจิตสงบแล้วไม่ยุ่ง นั่นท่านว่าสมาธิอบรมปัญญา สมาธิเป็นเครื่องหนุนปัญญาให้มีความสามารถแกล้วกล้า มีความคล่องตัว

ทีนี้เมื่อพิจารณาทางด้านปัญญา สิ่งใดที่ไม่เคยรู้เคยเห็นจะรู้จะเห็นขึ้นมาโดยลำดับลำดาไม่มีทางสิ้นสุดเช่นเดียวกัน ส่วนสมาธินั้นมีสิ้นสุดได้ เมื่อบำเพ็ญสมาธิให้ละเอียดเต็มที่ของสมาธิ ถึงขั้นอัปปนาแล้วมีเท่านั้นไม่ก้าวต่อจากนั้นไปเลย คือกำหนดลงไปถึงแค่ท่านเรียกว่าอัปปนา คือแนบแน่นได้ตามต้องการ พอกำหนดลงถึงนั่นแล้วก็อยู่ จะให้ละเอียดยิ่งกว่านั้นไปก็เป็นไปไม่ได้ เพียงเท่านั้นแล้วก็ถอยออกมาแล้วก็เข้าไปเท่านั้น ๆ นั่นท่านว่าสมาธิ จะให้ละเอียดยิ่งกว่านั้นไม่ได้ นี่อยู่ตัว เรียกสมาธิเต็มภูมิเป็นเช่นนั้น

ส่วนปัญญาไม่สิ้นสุด พิจารณาเท่าไรยิ่งแยบคายไปโดยลำดับลำดา สรุปความลงว่าจนกระทั่งกิเลสพังทลายลงหมดไม่มีอะไรเหลือภายในใจเลย เป็นจิตที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ แล้วปัญญานี้ถึงจะพอตัวแล้วหยุด ถ้ายังไม่ถึงขั้นนี้ปัญญาจะไม่มีหยุดยั้ง จะมีความละเอียดแหลมคมไปโดยลำดับลำดา เช่นเดียวกับกิเลสที่มันละเอียดแหลมคมมากต่อหัวใจของสัตว์โลกหรือหัวใจของเราเอง ฉะนั้นสติปัญญาจึงต้องใช้ความพินิจพิจารณาให้มาก ถึงขั้นที่จะพิจารณา-พิจารณาเอาจริงเอาจัง

เมื่อถึงขั้นที่จะพักสงบเช่นเดียวกับเราพักงานเราต้องพัก ไม่พักไม่ได้ ทำแต่งานอย่างเดียวตายได้คนเรา ไม่รับประทาน ไม่พักผ่อนนอนหลับย่อมตายได้ ถึงจะได้งานก็ตามแต่ก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย สุดท้ายก็หมดกำลัง จึงต้องอาศัยพักผ่อนนอนหลับ รับประทานอาหารให้สบายแล้วประกอบการงานต่อไป สลับกันไปเรื่อย ๆ เช่นนี้

การพิจารณาทางด้านปัญญาก็เหมือนกัน เวลาสงบจะพักทางด้านสมาธิก็พัก ไม่ต้องกังวลกับสิ่งใด ขึ้นชื่อว่าปัญญาไม่ยุ่งในขณะที่จะทำจิตให้เป็นสมาธิคืออารมณ์อันเดียว พักตัวด้วยความสงบก็เข้าพักเสีย มีแต่อารมณ์แห่งสมาธิอย่างเดียวแล้วอยู่ด้วยความสงบเย็นใจ พอถึงวาระที่ควรจะออกจากความสงบเพราะมีกำลังพอสมควรแล้ว ก็ออกพิจารณาคลี่คลายทางด้านปัญญา ปัญญาก็หมุนตัวไปเรื่อย ๆ ด้วยการพินิจพิจารณา

ปัญญานี้มีหลายขั้น ตั้งแต่ขั้นอสุภะอสุภังไปโดยลำดับจนกระทั่งถึง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ทั้งส่วนหยาบส่วนกลางส่วนละเอียด ปัญญาจะเดินตลอดทั่วถึงไปหมด เช่น ขันธ์หยาบ ปัญญาก็จะพิจารณาทางด้านอสุภะเป็นส่วนมาก ขันธ์หยาบคืออะไร รูปขันธ์ที่เห็นว่าเป็นของสวยของงามน่ารักใคร่ชอบใจน่ากำหนัดยินดี นี่เป็นความสำคัญของกิเลสที่เสี้ยมสอนมาแต่กาลไหน ๆ ทำสัตว์โลกให้ตื่นให้หลงอยู่ไม่มีวันอิ่มพอ ไม่มีวันเห็นโทษของมัน ปัญญาจึงต้องสอดแทรกเข้าไปตรงนั้น แก้ความที่ว่าสวยงาม มันสวยงามยังไงดูให้เห็น หาความสวยงามให้เห็น ถ้ามีจริง ๆ มันจะเห็นมันจะพบในสิ่งนั้นแหละ

แต่เวลาพิจารณาเข้าไปที่ไหน ๆ ที่ว่าสวยงาม ไม่มีปรากฏ มีแต่อสุภะอสุภังเต็มเนื้อเต็มตัว ทำไมจะทนต่อความจริงได้ ต้องยอมรับว่าหาความสวยงามไม่มีในสกลกายนี้ มีแต่ความอสุภะอสุภังเต็มเนื้อเต็มตัวของเรา ทั้งเป็นทั้งตายเป็นอสุภะอยู่ด้วยกันทั้งนั้น นี่คือหลักของปัญญา พิจารณาคลี่คลายในขั้นหยาบคือรูปขันธ์ ส่วนมากพิจารณาถึงเรื่องอสุภะอสุภัง จากนั้นก็แปรสภาพลงไปก็เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ เป็นยังไง บีบบังคับขนาดไหนดูเอาก็รู้ อนตฺตา เป็นสาระสำคัญควรจะถือว่าเป็นเราเป็นของเราได้ที่ไหน ทั้งรูปกายของเรานี่ ทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขาร ทั้งวิญญาณ อาการเหล่านี้

เมื่อเลื่อนจากรูปขันธ์นี้ไปแล้วมักจะพิจารณาเป็นไตรลักษณ์ ไม่ย้อนหรือไม่พิจารณาเป็นอสุภะ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องสุภะอสุภะ ซึ่งมีเฉพาะเรื่องของกายนี้เท่านั้นที่สำคัญมั่นหมายไปต่าง ๆ จึงต้องแก้ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นของสวยของงามนั้น ด้วยการพิจารณาอสุภะอสุภังแก้กัน พอขั้นนี้สมบูรณ์ภายในจิตใจ คือประจักษ์กับปัญญาอย่างชัดเจนแล้ว ย่อมปล่อยวางทั้งสุภะคือความสำคัญว่าสวยว่างามด้วย ทั้งอสุภะที่สำคัญว่าไม่สวยไม่งามด้วย ไม่สนใจไม่ยึดในเงื่อนใดเงื่อนหนึ่ง พอตัวในการพิจารณา แล้วผ่านไปในท่ามกลางแห่งความพอดีของตัวเอง นั่นท่านเรียกว่าปัญญา ผ่านไปนั้นแล้วไปพิจารณาอะไร ก็เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั่นขันธ์ละเอียด คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เรียกว่านามขันธ์

นามขันธ์นี่พิจารณาด้วยไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ก็ตาม ทุกฺขํ ก็ตาม อนตฺตา ก็ตาม ขอให้มีความถนัดชัดภายในจิตใจ ถนัดใจแน่ใจในอาการใด ชอบใน อนิจฺจํ ก็ดี ใน ทุกฺขํ ก็ดี ใน อนตฺตา ก็ดี พิจารณาอันนั้นส่วนใดส่วนหนึ่งได้ หากวิ่งถึงกันหมด เพราะธรรมเหล่านี้เกี่ยวโยงกัน นี่เรียกว่าปัญญา หยั่งทราบตามความเป็นจริงในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ แล้วย่อมปล่อยวางเช่นเดียวกันกับรูป คือรูปกายของเรานี้ แล้วก็เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งห้านี้เป็นอาการอันหนึ่งของจิตเท่านั้นไม่ใช่จิต นักภาวนาจะทราบเองโดยไม่ต้องสงสัย ยิ่งถึงขั้นพิจารณาทางด้านปัญญาด้วยแล้วทราบได้อย่างชัดเจนว่ารูปนี้คืออะไร ไม่สงสัย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่าง ๆ เป็นธรรมชาติของมัน เป็นอาการของจิตแต่ละอย่าง ๆ เท่านั้น หาความเป็นจิตมีที่ไหนไม่ นี่ทราบได้อย่างชัดเจนแล้วปล่อยวางได้ตามเป็นจริง ลงได้ตามเป็นจริงของมัน นี่แหละหลักของการพิจารณาทางด้านปัญญา ท่านเรียกว่าภาคปฏิบัติ รู้ต้องรู้อย่างนี้จึงรู้จริงเห็นจริง รู้อย่างนี้พิจารณาอย่างนี้เรียกว่าพิจารณาอริยสัจ

การที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นอะไร เป็นการพิจารณาอริยสัจทั้งนั้น อสุภะอสุภังคืออะไร สมุทัยมันว่าสวยว่างาม นั่น อสุภะความไม่สวยไม่งามคือมรรค สับกันเข้าไปฟันกันเข้าไปเอาให้แหลกแตกกระจายลงไป หาความสวยงามก็ไม่ได้ มันเป็นสภาพแห่งธาตุอันหนึ่งหรือดินน้ำลมไฟเท่านั้น หาความสวยงามที่ไหนได้ในดินในน้ำในลมในไฟ นี่จึงเรียกว่าอริยสัจ นี่ละการพิจารณา

ตะกี้ได้พูดแล้วว่า หลักพุทธศาสนาคือหลักอริยสัจเป็นเครื่องยืนยัน การพิจารณาก็ต้องพิจารณาตามหลักอริยสัจนี้ให้เห็นตามความเป็นจริง ในรูปก็พิจารณาอย่างนี้ นี่ก็เรียกว่าพิจารณาอริยสัจเหมือนกันอันหนึ่ง และเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไม่เป็นอริยสัจแล้วจะเป็นอะไรไป พิจารณาให้เห็นชัดตามความเป็นจริง และถอนตัวออกมาจากนั้น เรียกว่าปล่อยวางลงตามสภาพแห่งความเป็นจริงของมัน เมื่อปล่อยวางลงไปแล้วจิตก็เด่นละซิ

ท่านกล่าวไว้ในธรรมบทว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตเดิมแท้ผ่องใสเป็นประภัสสร แต่อาศัยกิเลสจรมาจิตนี้จึงเศร้าหมอง ท่านว่า นี่ขั้นของจิตของผู้ชำระประภัสสร ก็มีแต่จิตดวงเดียวเท่านั้น อาการทั้งห้านี้ก็ทราบแล้วว่าเป็นอาการ และไม่ยึดมั่นถือมั่นในอาการทั้งหลายเหล่านี้ด้วย นอกจากเวทนาจิตที่มีอย่างละเอียด ที่มันยังไม่สามารถ แต่ยังไงก็ไม่พ้นเรื่องการพินิจพิจารณาประภัสสร ที่จะพังไปด้วยกันได้ด้วยปัญญาเหมือนกัน นี่ละการพิจารณา อริยสัจทั้งนั้นนะนี่นะ ที่กล่าวมาทั้งหมด

ทีนี้คำว่า “ประภัสสร” คืออะไร อวิชชาไม่ใช่อริยสัจจะเป็นอะไรไป นั้นแหละตัวสมุทัย รากแก้วของสมุทัยคืออวิชชา นั่นละที่ว่าประภัสสร ๆ ที่ใสสว่างกระจ่างแจ้ง ท่านว่าอุปกิเลส ๑๖ อะไรที่กล่าวนั้น นี่ละรวมตัวลงมาเป็นอันนี้มาอยู่ที่นี่ ทราบได้ด้วยภาคปฏิบัติ เพียงเราเรียน-เรียนเท่าไรก็เรียนเถอะ เรียนจนกระทั่งวันตายหาความหายสงสัยไม่ได้เลย ต้องเป็นภาคปฏิบัติเป็นสำคัญ

เมื่อพิจารณาทางภาคปฏิบัติด้วยอริยสัจธรรม ผ่านอริยสัจธรรมเข้าไปแล้วจะเจอกันโดยลำดับ พิจารณาเรื่องสมุทัยสัจอันเป็นจอมกษัตริย์วัฏจักรนี้ด้วยมรรคสัจ คือมหาสติมหาปัญญา ฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไปที่ตรงนั้นแตกกระจายไม่มีอะไรเหลือแล้ว ไหนที่นี่เรื่องที่เคยเป็นอุปสรรค เรื่องที่เคยเป็นข้าศึกต่อหัวใจเราคืออะไร ทำไมจะไม่ทราบ ก็คืออวิชชาอันเดียวเท่านั้นเป็นตัวใหญ่ เป็นจอมกษัตริย์ทั้งหลายแห่งวัฏจิตนี้ และอาการทั้งหลายทำให้หลงหมดก็เพราะรากเหง้าเค้ามูลคืออวิชชาพาให้หลง นั่นมันก็ทราบ เมื่อได้ถอดถอนหมดไม่มีอะไรเหลือ แม้กระทั่งอวิชชาแตกกระจัดกระจายออกจากใจหมดแล้ว มีอะไรมาข้องภายในใจที่นี่ จะมีอะไร

นั่นละท่านว่า อวกาศของจิต อวกาศของธรรม เวิ้งว้างไปหมด ข้างนอกก็ว่าง ข้างในก็ว่าง ข้างนอกก็ปล่อยวาง ข้างในก็ปล่อยวาง ไม่ยึดถือไว้โดยประการทั้งปวง ทั้งภายนอกภายในเวิ้งว้างไปหมด นั่นเรียกว่า อวกาศของจิต อวกาศของธรรม อยู่ที่ไหนก็อยู่ อวิชชาแตกกระจัดกระจายไปแล้วไม่มีที่ยึด ยึดอะไรกัน ยึดหาอะไร ยึดหาภพหาชาตินั่นแหละ ถ้าลงยึดอยู่ต้องเป็นภพเป็นชาติภายในใจรู้ชัด ๆ นี่ละภาคปฏิบัติ

ไม่เคยรู้ก็ตามเมื่อถึงขั้นรู้ปิดไม่อยู่ เมื่อถึงขั้นเชื่อแล้วปิดไม่อยู่ เรื่องเชื่อ-เชื่อธรรมทั้งหลาย อริยสัจเป็นตัวยืนยัน เป็นหลักธรรมที่ยืนยันแห่งความรู้แจ้งแทงทะลุทั้งหลายโดยไม่ต้องสงสัย ทีนี้ก็สะเทือนไปถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของศาสนา มีหรือไม่มีพระพุทธเจ้า เอ้า อันนี้มีหรือไม่มีที่รู้อยู่ภายในเวลานี้ นั่นมันบอก ใครเป็นคนสอนไว้ให้เราได้รู้อย่างนี้ถ้าไม่ใช่ศาสดา ศาสดาไม่ผ่านนี้แล้วจะเอาอะไรมาสอนเรา นั่นมันยอมรับ ๆ โดยลำดับลำดา สาวกอรหัตอรหันต์ทั้งหลายล้วนแล้วแต่ผ่านอริยสัจนี้ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาหรือศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าจึงไม่มีที่สงสัย เทียบกันได้กับว่าตลาดแห่งมรรคผลนิพพาน เอ้า ก้าวเข้าไปตลาดที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสินค้าต่าง ๆ ขอแต่ว่าเรามีเงินหรือไม่เท่านั้น จะเอาอะไรไปซื้อเอาเลย นับตั้งแต่สตางค์หนึ่งขึ้นไปถึงหมื่นถึงแสนถึงล้านบาท ซื้อได้หมดของในร้านในตลาดไม่อดไม่อัดไม่อั้น อันนี้ฉันใด เรื่องมรรคผลนิพพานในศาสนาพุทธเรานี้ฉันนั้นเหมือนกัน มีทุกแง่ทุกมุมทุกด้านเหมือนกันหมดสำหรับต้อนรับสัตว์ทั้งหลาย ตั้งแต่ทานบารมี ศีลบารมี เรื่อย...ทาน ศีล ภาวนา โดยลำดับลำดา เอา เราจะสร้างอะไรสร้างลงไป สติก็เอาตั้งแต่ล้มลุกคลุกคลาน ปัญญาก็เริ่มแต่ล้มลุกคลุกคลานไปจนกระทั่งมีความเฉลียวฉลาด แตกแขนงไปไม่มีสิ้นสุด จนถึงวิมุตติพระนิพพานหลุดพ้นไปโดยสิ้นเชิง นี่แหละท่านว่ามรรคผลนิพพานเต็มที่

ในศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าคือตลาดแห่งมรรคผลนิพพาน กระจายอยู่ภายในหัวใจนี่นะไม่ได้อยู่ที่ไหน เราอย่าเข้าใจว่ามีอยู่ตามตู้ตามหีบตามคัมภีร์ นั้นมีแต่ชื่อของมรรคผลนิพพาน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั้นมีแต่ชื่อ ท่านสอนเข้ามาที่หัวใจเรานี้ ให้ปฏิบัติที่หัวใจนี้ กิเลสอยู่ที่หัวใจเรานี้เวลานี้ ไม่ได้อยู่ที่หนังสือ ทุกข์ก็ไม่ได้อยู่ที่หนังสือ ไม่ได้อยู่ที่คัมภีร์ สมุทัยตัวกิเลสราคะตัณหาไม่ได้อยู่ที่คัมภีร์ นิโรธคือความดับทุกข์ก็มีแต่ชื่อในคัมภีร์ ไม่มีตัวทุกข์ไม่มีตัวดับทุกข์ มรรคคือความรู้แจ้งแทงทะลุด้วยสติปัญญานั้นมีแต่ชื่อของสติปัญญา สติปัญญาจริง ๆ อยู่ในหัวใจของเรา กิเลสจริง ๆ อยู่ที่หัวใจ การฆ่ากิเลสฆ่าที่หัวใจด้วยความพากเพียร หรือด้วยสติปัญญาที่เป็นอริยสัจฝ่ายมรรค พังทลายลงไปในทุกข์ สมุทัย ที่เป็นฝ่ายผูกมัดภายในหัวใจแตกกระจายลงไปแล้ว นี้แหละท่านว่าทรงมรรคผลนิพพาน ทรงที่นี่ไม่ได้ทรงที่ไหน รู้แจ้งแทงทะลุรู้ตรงนี้ไม่รู้ที่ไหน

เอาให้จริงจังนักปฏิบัติ อย่าเหลว ๆ ไหล ๆ อย่าหลอกตัวเอง วันนั้นหลอกไปวันนี้หลอกไป เลยจะไม่ได้เรื่องได้ราวนะพวกเรา ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายตื่นโลกตื่นสงสารไป ไม่ได้ดูหัวใจของเจ้าของ มันมีอะไรมาหลอกให้ตื่นอยู่นั้นน่ะเวลานี้ เอาธรรมจับเข้าไปซิ สติปัญญาจับเข้าไปซิจะได้รู้เรื่องรู้ราว พระพุทธเจ้าสอนให้ดูใจเป็นสำคัญที่สุด ใจน่ะเป็นตัวก่อเหตุก่อเรื่องก่อราวก่อทั้งวันทั้งคืน อยู่เฉย ๆ ได้เมื่อไรจิตนั้นน่ะ ดูซิ ถ้ามีสติจะต้องรู้ จิตอยู่เฉย ๆ เมื่อไร มีแต่ก่อเรื่องก่อราว เรื่องไหนที่ผ่านมากี่กัปกี่กัลป์ก็ปีกี่เดือน มันเอามาอุ่นหลอกเจ้าของอยู่นั้นไม่มีความจืดจาง ไม่มีเห็นว่านี้เป็นเดน ๆ ไปแล้วนะอย่ามาหลอกเรา ไม่เคยมี ถ้าลงเป็นเรื่องของกิเลสหลอกแล้ว กินวันยังค่ำคืนยังรุ่งกินจนจะตาย ให้กิเลสมันหลอกเอาให้กิน ๆ

พูดง่าย ๆ เอายังงี้แหละ ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยกับความโง่ของพวกเรา เรื่องกิน ๆ นี่กิเลสหลอกอะไรกินหมด ไม่มีคำว่าอันนั้นเป็นเดน อันนี้เป็นเดน ให้ทราบด้วยอำนาจของปัญญาบ้างไม่มีเลย มีแต่ติดทั้งนั้น ปรุงเรื่องอะไรขึ้นมาก็ตาม สด ๆ ร้อน ๆ ในนั้นทีเดียวแหละ ถูกหลอกถูกต้มทั้งวันทั้งคืน ไม่ว่าจะเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เครื่องสัมผัส ทั้งใกล้ทั้งไกล ทั้งในทั้งนอก ทั้งอดีตอนาคต มันหากมาปรุงขึ้นในวงปัจจุบันหลอกให้หลงอยู่นั้นน่ะในจิตนี้

เพราะฉะนั้นจิตจึงเป็นตัวเรื่อง เป็นตัวก่อเหตุที่สุดอยู่ตรงนี้ เพราะสมุทัยอยู่ที่นั่น เมื่อสติปัญญาซึ่งเป็นฝ่ายมรรคฟันกันลงไป ฟันลงไปมันจะเห็นเรื่องกันทั้งหมด และสุดท้ายใจดวงนี้เลยกลายเป็นสถานที่ทำงานแห่งธรรม ฟาดกิเลสแหลกลงไปหมด แต่ก่อนเป็นสถานที่ทำงานของกิเลสผลิตผลประโยชน์ขึ้นมาแก่ตัวของมันเอง พอสติปัญญาฝ่ายธรรมมีกำลังมากขึ้นมาโดยลำดับก็พังกิเลสลงไป ใจดวงนี้เลยกลายเป็นสถานที่ทำงานแห่งธรรมผลิตธรรมขึ้นมาภายในจิตใจ เลยกลายเป็นอวกาศของจิตอวกาศของธรรมขึ้นที่ใจของผู้นั้นโดยไม่ต้องสงสัย นี่ละการปฏิบัติธรรม

เราหาที่ไหนหาธรรมเวลานี้ อยู่ที่ไหนธรรมถ้าไม่อยู่ที่หัวใจ ถามซิกิเลสอยู่ที่ไหน และอะไรปิดไม่ให้รู้ธรรมเห็นธรรม นอกจากกิเลสเท่านั้นมีอะไรปิด ฟันกิเลสลงไปด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรลงไปแล้ว ไม่ได้บอกธรรมอยู่ที่ไหนจะรู้เอง ใจเท่านั้นเป็นผู้ที่จะรอสัมผัสสัมพันธ์กับธรรมทั้งหลาย อย่างอื่นสัมผัสไม่ได้ ถ้าใจนี้พร้อมเสมอ ขอให้ได้เปิดเผยตัวเองออกมาเถอะ ยังไงจะรับรู้รับทราบไม่ว่าธรรมขั้นใด จะประกาศกังวานขึ้นที่หัวใจดวงนี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงขอให้ทุก ๆ ท่านได้ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติเต็มสติกำลังความสามารถ เราอย่าตื่นภพตื่นชาติ เราอย่าตื่นวัฏสงสาร อย่าตื่นเรื่องความเกิดแก่เจ็บตาย อย่าตื่นโลก มันเกิดแก่เจ็บตายมาอย่างนี้กี่กัปกี่กัลป์แล้วในรายของเราคนหนึ่ง ๆ เท่านั้นแหละ นี่ไม่สงสัย พูดตรง ๆ พอได้ค้นเรื่องอริยสัจให้แตกกระจายภายในหัวใจนี้แล้วไม่สงสัย นี่พูดจริง ๆ

การแนะนำสั่งสอนหมู่เพื่อนนี้ก็พูดด้วยความจริงใจจริง ๆ ไม่ได้ลูบ ๆ คลำ ๆ เอามาพูดนะ เวลาโง่มันก็โง่หัวใจดวงนี้ เวลาฉลาดไม่ต้องบอก ไม่ว่าหัวใจดวงใดถึงขั้นฉลาดแล้วฉลาดเองเหมือนกัน เมื่อถึงขั้นฉลาดแล้วไม่โง่นะ ถ้าโง่กิเลสจะพังได้ยังไง ใจต้องเป็นใจที่ฉลาดซิกิเลสถึงจะพัง เอ้า ผลิตขึ้นมาความฉลาด มีอยู่ในหัวใจของทุกคน พระพุทธเจ้าสอนไว้ทุกคน สติปัญญาอยู่ที่ไหน สอนพวกเรานี้ทั้งนั้น เราเป็นลูกศิษย์ตถาคต ไม่ใช่ลูกศิษย์เทวทัตทำลายศาสนาอยู่ภายในวงของพระของตัวเอง ที่หยิ่งอยู่ว่าตัวมีความพากความเพียร ความเพียรขี้หมาอะไร มีแต่ความเพียรของกิเลสมันฟัดหัวเรานั่นแหละ ถ้าสติไม่มีเป็นอย่างนั้นนะ

เอาละการแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก